นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 180 เสียงผู้บริโภค

หมู่บ้านในแอ่งกระทะ
หลังเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 บ้านเรือนหลายหลังได้รับความเสียหายหนัก ผู้ประสบภัยบางรายตัดสินใจขายทิ้งบ้านมากกว่าซ่อมแซม แต่หากทั้งขายและซ่อมไม่ได้ เพราะเพิ่งรู้ความจริงทีหลังว่าบ้านอยู่ในพื้นที่ต่ำ ที่ต่อให้ซ่อมแล้วก็ยังต้องผจญกับปัญหาน้ำท่วมขังเช่นนี้ตลอดไป เราควรแก้ปัญหาอย่างไรดี


เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับผู้ร้อง ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้เสียหายจำนวน 465 หลังคาเรือน จากโครงการ ศุภาลัย แกรนด์เลค (Suphalai Grand Lake Village) ที่มีมูลค่าการซื้อขายไม่ต่ำกว่าหลังคาเรือนละ 4 ล้านบาท โดยภายหลังน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 พวกเขาพบว่า เวลาฝนตกจะมีน้ำไหลซึมเข้ามาภายในโครงการตลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อตรวจสอบจึงทราบว่าพื้นที่ของทั้งโครงการต่ำกว่าพื้นที่รอบนอก หรือเป็นแอ่งกระทะนั่นเอง ทำให้สามารถตอบโจทย์ได้ว่าทำไมทั้งๆ ที่มีรั้วกั้นน้ำ จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะรั้วดังกล่าวกลับสร้างในระดับเดียวกันกับพื้นที่รอบนอก


ภายหลังทางโครงการฯ ได้แก้ปัญหาด้วยการนำเครื่องสูบน้ำมาช่วยระบายน้ำออก แต่ก็ยังไม่สามารถระบายน้ำเสียออกจากหมู่บ้านได้ทันกับระดับน้ำขังที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ผู้พักอาศัยจะแจ้งให้โครงการฯ เข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถทำได้ ชี้แจงเพียงว่า สาธารณูปโภคเป็นไปตามมาตรฐานและสามารถใช้งานได้อย่างปกติ ไม่มีความเสียหายหรือก่อให้เกิดปัญหาต่อการอยู่อาศัย โดยได้มีการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินต่ำไว้แล้ว ด้วยการนำท่อน้ำ พีวีซี มาเจาะรูแล้วนำไปฝังดักน้ำตามแนวรั้วด้านหลังบ้านแต่ละหลัง และนำอิฐมอญมาก่อเป็นกระถางต้นไม้ด้านหลังบ้านแล้วใส่ดินในกระถาง


อย่างไรก็ตามผู้ร้องต้องการให้บริษัทฯ ดำเนินการซ่อมแซมรั้วของหมู่บ้านใหม่ หรือหาแนวทางเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำรั่วซึมเข้ามาภายในหมู่บ้านระยะยาว เนื่องจากบริษัทฯ ควรมีหน้าที่ส่งมอบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานให้กับผู้บริโภค จึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอคำแนะนำ

แนวทางการแก้ไขปัญหา
กรณีนี้ผู้ร้องได้ทำสัญญาซื้อขายบ้านพร้อมที่ดินกับโครงการฯ โดยที่ไม่ทราบมาก่อนว่าโครงการฯ มีที่ดินสภาพต่ำกว่าพื้นที่รอบนอกหมู่บ้าน เพราะที่ดินดังกล่าวเคยเป็นบ่อเลี้ยงปลาเก่า และเมื่อมีการก่อสร้างก็ไม่ได้ถมที่ดินเพิ่มเติมให้เท่ากับพื้นที่รอบนอก ทำให้มีน้ำขังเวลาฝนตก โดยน้ำจะซึมผ่านใต้บ้านตลอดเวลา ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้ผู้ร้องเก็บข้อมูลหลักฐานต่างๆ เพิ่มเติม เช่น รูปถ่ายสถานที่ และข้อพิสูจน์เรื่องพื้นที่ต่างระดับดังกล่าว ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ในระหว่างการฟ้องคดี โดยศูนย์ฯ ยังคงติดตามความคืบหน้าต่อไป


ทั้งนี้ก่อนรับโอนบ้านเราควรศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้าน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการซื้อบ้านแล้วไม่ได้บ้านอย่างที่ฝันไว้ ดังนี้
1. พิจารณารายรับรายจ่าย ของตัวเองว่ามีกำลังซื้อหรือผ่อนบ้านได้หรือไม่
2. ศึกษาข้อมูลรายละเอียดโครงการ ที่ประกาศขายบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ว่ามีความน่าเชื่อถือ หรือสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่
3. ไปดูสถานที่จริง ว่าบ้านได้คุณภาพมาตรฐานหรือไม่ ไม่ควรดูตามโฆษณาหรือโบชัวร์อย่างเดียว
4. ศึกษารายละเอียดของสัญญา การจองซื้อบ้าน การโอนกรรมสิทธิ์ หรือการให้ประโยชน์ตอบแทนที่ชัดเจน ซึ่งในสัญญาจองควรระบุว่า หากกู้ธนาคารไม่ผ่านสามารถขอเงินคืนทั้งหมดได้
5. สัญญาการจะซื้อจะขาย ควรจะมีการรับประกันโครงสร้างหรือการรับประกันบ้าน
6. อย่าหลงเชื่อคำโฆษณา หรือคำกล่าวอ้างของพนักงานขาย ที่เร่งให้โอนกรรมสิทธิ์ขณะที่บ้านยังไม่แล้วเสร็จ เพราะผู้ประกอบการอาจละทิ้งงานเพราะไม่มีข้อต่อรองแล้ว บางทีผู้ประกอบการอาจอ้างว่าจะมาซ่อมให้จนหมดอายุการรับประกันบ้านได้ ซึ่งอายุการรับประกันจะนับหนึ่งตั้งแต่วันที่โอนกรรมสิทธิ์ ควรระบุในสัญญาให้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการต้องเข้ามาซ่อมแซมให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด
7. การโอนกรรมสิทธิ์บ้าน หลังสร้างเสร็จแล้วผู้บริโภคต้องตรวจสอบว่า เป็นไปตามแปลนหรือข้อตกลงหรือไม่ หากยังจะผู้สร้างจะได้ปรับแก้ให้ตรงความต้องการที่ตกลงกันไว้
8. ไม่ควรซื้อบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะอาจเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
9. ใช้สิทธิ์เมื่อเกิดปัญหา ทั้งหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือปรึกษาได้ที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ ผ่านทางเว็บไซต์  http://www.consumerthai.org หรือโทรศัพท์ 02-2483737


ที่มา: เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. รู้ไว้ใช้สิทธิ์ก่อนซื้อบ้านต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน. http://www.consumerthai.org

 


อาหารหมดอายุ แต่ทำไมยังวางจำหน่าย
ในคอลัมน์เสียงผู้บริโภคเล่มก่อนๆ เราเคยเสนอประเด็นเรื่อง “ของหมดอายุควรมีอยู่ในห้างหรือไม่” เพราะผู้บริโภคอย่างเรา ไม่ได้มีหน้าที่นำสินค้าที่หมดอายุไปคืน แต่ควรเป็นทางร้านมากกว่าที่ต้องวางขายสินค้าที่ไม่หมดอายุให้กับเรา อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวก็ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ จนเกิดคำถามจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ว่า เมื่อไรที่ปัญหานี้จะได้รับการดูแลอย่างจริงจังจากผู้จัดจำหน่ายสินค้านั้นๆ


กรณีนี้เกิดขึ้นกับผู้ร้องที่ซื้ออาหารจากห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี โดยเขาได้ซื้อฟักทองนึ่ง และปลานิลทอด 4 ตัว เมื่อนำกลับมารับประทานที่บ้าน(ไม่เกิน 20 นาที นับจากเวลาที่ชำระเงินเรียบร้อย) ก็พบว่าฟักทองดังกล่าวมีกลิ่นบูดและมียางเหนียวๆ ติดมือ และปลานิลทอดก็มีกลิ่นเน่าโชยออกมาทุกตัว เขาจึงตัดสินใจเก็บใส่ตู้เย็นไว้ และโทรศัพท์ไปร้องเรียนที่ห้างดังกล่าวในวันรุ่งขึ้น


เมื่อได้รับการแจ้งร้องเรียนพนักงานของทางห้างได้แจ้งว่า ให้นำใบเสร็จมารับเงินคืน แต่ผู้ร้องเห็นว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งทางห้างควรให้ความสนใจมากกว่าประเด็นเรื่องการคืนเงิน เขาจึงขอพูดสายกับผู้บริหารระดับสูง เพราะต้องการให้ห้างดังกล่าวมีความรับผิดชอบมากกว่านี้


อย่างไรก็ตามพนักงานกลับโอนสายให้ผู้จัดการระดับแผนกเป็นผู้รับเรื่องแทน ผู้ร้องจึงตอบกลับไปว่า จะไม่เป็นฝ่ายไปรับเงินคืนที่ห้าง แต่ให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของห้างเป็นผู้มารับสินค้ากลับไปและมารับเรื่องร้องเรียนด้วยตนเองแทน แต่ก็กลับพบว่าคนที่มารับสินค้าเป็นเพียงหัวหน้าแผนกซีฟู้ด ซึ่งได้ขอโทษและคืนเงินให้ ทำให้ผู้ร้องเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เขาจึงนำคลิปที่ถ่ายอาหารดังกล่าวไว้ลงในสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook ส่วนตัว) และเว็บไซต์ยูทูบ เพื่อเผยแพร่ข่าวสาร และร้องเรียนมายังมูลนิธิ เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

แนวทางการแก้ไขปัญหา
ทางศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องทำจดหมายแจ้งรายละเอียด และความประสงค์ส่งไปยังสำนักงานใหญ่ของห้างสรรพสินค้าดังกล่าว และนัดให้มีการเจรจาที่มูลนิธิฯ ซึ่งภายหลังการเจรจาตัวแทนของบริษัทฯ ยืนยันที่นำข้อเสนอต่างๆ ของผู้ร้องกลับไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้มีมาตรฐานในการดูแลสินค้าให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคต่อไป


ทั้งนี้สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการร้องเรียนในประเด็น อาหารหมดอายุ หรือเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ สามารถทำได้ตามขั้นตอนดังนี้
1. เก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้า และใบเสร็จรับเงินมาเป็นหลักฐาน อย่างไรก็ตามในกรณีที่ไม่มีใบเสร็จรับเงิน สิ่งที่สามารถเรียกร้องได้โดยทั่วไปคือการเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ (ขึ้นอยู่กับการต่อรองกับผู้ขาย) ซึ่งควรดำเนินการทันทีที่พบว่าได้บริโภคอาหารหมออายุ หรือเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ
2. ถ่ายรูป ฉลาก (ที่ระบุ ว/ด/ปี ที่ผลิต – หมดอายุ) รูปสินค้า และใบเสร็จรับเงิน
3. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่
4. ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งควรคิดล่วงหน้าว่าต้องการให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไร เช่น เปลี่ยนสินค้าใหม่ คืนเงิน จ่ายค่าเสียเวลา หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติดังกล่าว
5. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร โดยบรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง ถึงประธานกรรมการบริหารที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทนั้นๆ ซึ่งสามารถให้ทางศูนย์ฯ ช่วยตรวจสอบข้อมูลก่อนได้



นำเครื่องเก่ามาแลกใหม่
หลัง เอไอเอส (AIS) ประกาศสิ้นสุดการให้บริการเครือข่าย AIS 2G (GSM Advance และ 1-2-Call 2G) บนคลื่นความถี่ 900 MHz ผู้ที่ใช้บริการเครือข่ายดังกล่าวในระบบ 2G จึงต้องเปลี่ยนซิมและเครื่องโทรศัพท์ใหม่ ให้สอดคล้องกับการใช้งานในระบบ 3G โดยทางเครือข่ายก็ออกโปรโมชั่นมาอำนวยความสะดวกลูกค้าด้วยการให้ “นำเครื่องเก่ามาแลกเครื่องใหม่ฟรี” อย่างไรก็ตามโปรโมชั่นดังกล่าวก็ได้สร้างความสับสนให้กับลูกค้าบางราย เมื่อพนักงานแจ้งว่าให้เปลี่ยนเครื่อง ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น


กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมากับผู้ร้องที่ใช้บริการเครือข่ายดังกล่าว โดยขณะที่เขากำลังโทรศัพท์พูดคุยกับเพื่อน ก็มีสายแทรกจากโอเปอเรเตอร์ถึง 2 ครั้งว่า มือถือของเขาไม่รองรับระบบ 3G ให้นำเครื่องเก่ามาเปลี่ยนที่ศูนย์บริการของ AIS ฟรี ซึ่งหากไม่นำมาเปลี่ยนจะทำให้ใช้งานต่อไปไม่ได้ ภายหลังเขานำมือถือที่ใช้งานอยู่คือ ยี่ห้อ I-mobile รุ่น I-style 2.8 ไปเปลี่ยนเป็น  AIS LAVA ตามคำแนะนำของโอเปอเรเตอร์ดังกล่าว


อย่างไรก็ตามพนักงานที่ศูนย์ฯ กลับแจ้งว่า รุ่นที่เขาต้องการหมด และแนะนำให้เปลี่ยนเป็น ยี่ห้อ I-mobile รุ่น I-style 7.8 DTV แทน โดยให้เพิ่มเงินอีก 1,190 บาท พร้อมจ่ายค่าบริการเหมาจ่ายล่วงหน้าอีก 200 บาท รวมเป็น 1,390 บาท และเซ็นสัญญาผูกมัดการใช้งานกับเครือข่ายดังกล่าว (AIS One - 2 – Call) อีก 1 ปี


ทั้งนี้เมื่อผู้ร้องนำมือถือเครื่องใหม่กลับมาใช้งานก็พบว่า เครื่องมีอาการค้าง เปิด - ปิดเอง (Restart) ตลอดเวลา ความละเอียดภาพหน้าจอไม่ชัดเจน และการเชื่อมต่อสัญญาณ WIFI ก็แย่ลง เมื่อเปรียบเทียบกับมือถือเครื่องเก่าที่เคยใช้งานมา เขาจึงนำมือถือดังกล่าวกลับไปที่ศูนย์ฯ เพื่อแก้ไข พนักงานจึงนำเครื่องใหม่มาเปลี่ยนให้ แต่เป็นยี่ห้อและรุ่นเดิม ซึ่งหลังจากที่เขาลองทดสอบดู ก็พบว่ายังมีปัญหาเหมือนเดิม


ทางศูนย์บริการ จึงแนะนำให้ผู้ร้องนำเครื่องใหม่ที่มีปัญหา ไปซ่อมที่ศูนย์บริการของ I-mobile ด้วยตนเอง โดยการซ่อมดังกล่าวอาจใช้เวลา 1 เดือน ซึ่งผู้ร้องไม่สามารถส่งซ่อมได้ เพราะระหว่างนั้นมีความจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ อย่างไรก็ตามเมื่อแก้ปัญหาไม่ได้ เขาจึงกลับไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโทรศัพท์ยี่ห้อดังกล่าว ซึ่งพบความจริงหลังได้ลองเปรียบเทียบข้อมูลจำเพาะ (Spec) ระหว่างเครื่องรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ว่า ไม่มีความแตกต่างกันมากเท่าไรนัก นอกจากนี้มือถือเครื่องเก่าของเขาก็สามารถรองรับระบบ 3G ได้อยู่แล้ว


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงทำให้ผู้ร้องมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพราะเห็นว่า เครือข่ายดังกล่าวมีการเอาเปรียบผู้บริโภคด้วยการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด สร้างความสับสนให้ลูกค้า และยังใช้วิธีแกมบังคับให้นำเครื่องมาเปลี่ยนใหม่ ทั้งๆ ที่เครื่องเดิมนั้นไม่มีปัญหาในการใช้งานแต่อย่างใด โดยมีข้อเรียกร้องคือ


1. ขอให้ทางบริษัท คืนเครื่องเก่าให้ คือ โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ I-mobile รุ่น I-style 2.8 พร้อมคืนเงินค่าส่วนต่างที่ได้จ่ายไปแล้วจำนวน 1,390 บาท พร้อมยกเลิกสัญญาผูกมัดดังกล่าว
2. ขอให้ทางบริษัท เปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ โดยเป็นรุ่นอื่นที่มีคุณภาพดี ในมูลค่าเทียบเท่ากับโทรศัพท์เครื่องเก่าของเขา และบวกเงินค่าส่วนต่างที่ได้เสียไปประมาณ 2,500 – 3,000 บาท พร้อมกับยกเลิกสัญญาผูกมัดดังกล่าว

แนวทางการแก้ไขปัญหา
ในประเด็นเรื่องโทรศัพท์ใช้งานได้ไม่ดีนั้น ศูนย์พิทักษ์สิทธิ ได้แนะนำให้ผู้ร้องตรวจเช็คระบบของตัวเครื่องโทรศัพท์และ SIM AIS ที่ใช้งานอยู่ก่อน เพราะอาจเกิดจากสัญญาณในพื้นที่การใช้งานนั้นๆ ไม่เสถียร แต่อาการเครื่องค้างยังเหมือนเดิม ส่วนในประเด็นเรื่องข้อเรียกร้องผู้ร้องสามารถทำได้ เพราะบริษัทไม่สามารถบังคับให้ผู้ร้องทำสัญญาผูกมัดดังกล่าว โดยอิงตามประกาศของ กสทช. ที่เคยออกมาชี้แจงสิทธิผู้บริโภคในด้านกิจการโทรคมนาคมว่า การใช้บริการโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตที่มีสัญญาให้ใช้ 6 เดือนหรือ 1 ปี สามารถยกเลิกก่อนได้ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ ซึ่งหากผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคประสบปัญหา จากการใช้บริการโทรคมนาคมสามารถร้องเรียนต่อ กสทช . โดยตรงได้ที่เบอร์ 1200 กด 1 (ฟรี) อย่างไรก็ตามภายหลังผู้ร้องได้มีการไปเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางบริษัทที่ สคบ. ซึ่งยินยอมทำตามข้อเรียกร้องข้อ 2 ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว เรื่องจึงยุติลง


ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ต้องนำเครื่องเก่าไปแลกเครื่องใหม่ ควรศึกษารายละเอียดด้านข้อมูลจำเพาะต่างๆ ของเครื่องเดิมก่อน และเงื่อนไขต่างๆ ในการเปลี่ยนเครื่อง โดยเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของเครื่องข่ายดังกล่าวได้ที่ http://www.ais.co.th/judhai/


ข้อมูลอ้างอิงเรื่อง สิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม : http://tcp.nbtc.go.th/uploads/vdo/pdfPublication/RightConsumer.pdf

 

 

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง:

รวมข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง?

ท่านใดที่กำลังคิดว่ารายได้ของท่านจะต้องเสียภาษีเท่าไร และมีอะไรมาหักลดหย่อนได้บ้าง เราเลยนำเสนอข้อมูลในท่านตามลิงค์ด้านล่าง เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมตัวเสียภาษีปีนี้นะคะ :) การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ 2560   By กรมสรรพากร  https://goo.gl/Y5GxhZโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ ปีภาษี 2560 ค่าลดหย่อน  By Kapook.com   https://goo.gl/MEgCYUวางแผนลดหย่อนภาษีปี 60 ฉบับบุคคลธรรมดา มีอะไรหักได้บ้าง  By plus.co.th  https://goo.gl/Nyfi5Uครม.ไฟเขียวลดหย่อนภาษีเพิ่มเท่าตัว มีผลปีภาษี 2560 ช่วยค่าครองชีพมนุษย์เงินเดือน  By matichon  https://goo.gl/JQAukmปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแจกถ้วนหน้า By thaipublica https://goo.gl/5c25X4ขอบคุณข้อมูลกรมสรรพากร Kapook.complus.co.th matichonthaipublica

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 จ่ายจริงมากกว่าราคาที่แสดงไว้

สินค้าตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ มักมีราคาติดไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าหากต้องการซื้อสินค้าดังกล่าว ต้องจ่ายเงินเท่าไร อย่างไรก็ตามหากเรานำสินค้านั้นๆ ไปจ่ายเงินที่พนักงานคิดเงิน แล้วพบว่าราคาไม่ตรงตามป้าย สิ่งที่เราควรทำคือ ปกป้องสิทธิของตัวเอง ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณจอห์นเป็นชาวต่างชาติที่มักซื้อสินค้าจากร้านค้าวิลล่า มาร์เก็ต (Villa market) เป็นประจำ เพราะร้านดังกล่าวจำหน่ายสินค้าต่างๆ มากมาย ทั้งของสด ของแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือน รวมทั้งสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ วันหนึ่ง ภายหลังจากการเลือกซื้อขนมคบเขี้ยวยี่ห้อหนึ่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งป้ายแสดงราคาว่า 49 บาทต่อถุง แต่เมื่อนำไปชำระเงินกลับพบว่ากลายเป็น 59 บาทต่อถุง คุณจอห์นไม่แน่ใจว่าตัวเองดูราคาผิดไปหรือไม่ ดังนั้นเมื่อชำระเงินเสร็จเรียบร้อย เขาจึงกลับไปถ่ายรูปราคาสินค้าจากชั้นวางขายเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน พร้อมสอบถามไปกับผู้จัดการสาขา ผู้จัดการสาขาได้ชี้แจงกลับมาว่าราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นเก่า อย่างไรก็ตามเมื่อออกมาจากร้านเขาก็ตัดสินใจโทรศัพท์ไปสอบถามที่ร้านดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งพบว่าคำตอบกลับไม่เหมือนเดิม ครั้งนี้ผู้จัดการร้านคนเดิมกลับแจ้งว่า ราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นล่าสุดสำหรับวันนี้ดังนั้นคุณจอห์นจึงตัดสินใจแวะไปร้านค้าดังกล่าว ในอีกสาขาหนึ่งและซื้อสินค้าชนิดเดียวกัน ซึ่งพบว่าบนชั้นวางขายก็ติดราคาไว้ที่ 49 บาท แต่เมื่อนำมาชำระเงินก็ถูกคิดราคา 59 บาทเช่นเดิม เขาจึงเชื่อว่าการกระทำของร้านค้าดังกล่าว ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ได้ส่งเอกสารการร้องเรียนไปยังกรมการค้าภายใน เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมของร้านค้า โดยขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับร้านค้า และขอให้แจ้งผลการดำเนินการกลับมายังศูนย์ฯ โดยสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องมีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน คือ ใบเสร็จรับเงิน และรูปถ่ายราคาสินค้าจากชั้นวางขาย ทำให้ภายหลังได้รับเรื่อง กรมการค้าภายในจึงดำเนินการสั่งปรับ นิติบุคคลของร้านค้า วิลล่า มาร์เก็ต 3,000 บาท และผู้จัดการร้านทั้ง 2 สาขา คนละ 1,500 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลนำจับให้ผู้ร้องอีก ร้อยละ 25 ของราคาปรับ คือ 1,500 บาท

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 โดนเชิดเงินหนีหลังจองรถ

แม้คนส่วนใหญ่ต่างมั่นใจว่าการเช่าซื้อรถยนต์ที่ศูนย์บริการจะมีความปลอดภัย แต่หากเราประมาทเพียงเล็กน้อยก็สามารถโดนเชิดเงินจองรถ ที่จ่ายให้กับตัวแทนของบริษัทไปแล้วก็ได้ คุณสุชาติเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่ง รุ่น พรีเมล่า (Premera) จากศูนย์นิสสัน ราคาประมาณ 530,000 บาท โดยจ่ายค่าจองรถไว้ก่อนจำนวน 5,000 บาท ถัดมาอีก 2 วัน พนักงานของบริษัทได้ติดต่อมาว่า ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่จองรถ ซึ่งหากต้องการรับสิทธิดังกล่าวต้องโอนเงินมาเพิ่มอีก 5,000 บาท เมื่อผู้ร้องได้รับข้อมูลดังนั้นและเชื่อว่าเป็นโปรโมชั่นของบริษัทจริง จึงโอนเงินไปเพิ่ม แต่เหตุการณ์ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะอีก 1 อาทิตย์ถัดมา พนักงานคนเดิมก็โทรศัพท์เข้ามาอีกครั้งเพื่อแจ้งว่า ทางบริษัทต้องการคำยืนยันที่ชัดเจนว่าผู้ร้องยังต้องการรถ ซึ่งทางบริษัทจะนำเข้าหรือสั่งมาให้ตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการ โดยสามารถยืนยันสิทธิได้ด้วยการโอนเงินมาเพิ่มอีก 22,000 บาท หลังจากตัดสินใจสักพัก ผู้ร้องก็หลงเชื่อและโอนเงินไปอีกครั้ง ซึ่งหากรวมๆ แล้ว จำนวนเงินที่ผู้ร้องโอนให้พนักงานคนดังกล่าวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 32,000 บาทเวลาต่อมาคุณสุชาติก็ได้นัดหมายกับไฟแนนซ์ และพนักงานของบริษัทรถที่เขาโอนเงินไปให้ เพื่อให้มาตกลงเรื่องการส่งค่างวดรถ อย่างไรก็ตามพนักงานคนดังกล่าวกลับบ่ายเบี่ยง และอ้างว่าไม่สะดวกทุกครั้งที่เขานัด ทำให้คุณสุชาติเริ่มไม่พอใจและติดต่อกลับไปยังบริษัทฯ เพื่อสอบถามปัญหา ภายหลังการพูดคุยและสอบถามถึงจำนวนเงินที่โอนไปก่อนหน้านี้ ทางบริษัทฯ กลับแจ้งว่า ไม่เคยได้รับเงินที่คุณสุชาติโอนเข้ามาก่อนหน้านี้เลย และเมื่อติดต่อไปยังพนักงานคนดังกล่าวก็พบว่า เขาได้ลาหยุดมาหลายวันแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ตามเมื่อคุณสุชาติถามถึงการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางบริษัทฯ ก็ตอบกลับว่า ไม่สามารถรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ คุณสุชาติต้องเป็นคนจัดการเอง ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เขาจึงไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องเข้ามาปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อต้องการทราบว่าการที่บริษัทฯ ปฏิเสธการรับผิดชอบเช่นนี้ สามารถทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ชี้แจงกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับเหตุการณ์เช่นนี้ คือ ตามหลักกฎหมายตัวการตัวแทน กำหนดไว้ว่า ตัวการย่อมมีความผูกพันกับบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลาย อันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้กระทำไปในขอบเขตแห่งฐานตัวแทนนั้น หมายถึง การที่ตัวแทนได้ไปกระทำการในนามของบริษัท โดยได้กระทำในขอบเขตที่บริษัทให้ทำ ก็ต้องถือว่าทางบริษัทต้องรับผิดชอบกับตัวแทนนั้นด้วย ปกติบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จะต้องมีตัวแทนคนหนึ่งหรือหลายคนกระทำการแทนบริษัท ตามกฎหมายข้อบังคับหรือตราสารที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น1. พนักงานของบริษัท เมื่อได้มีการกระทำแทนบริษัทในกิจการภายในวัตถุประสงค์ของบริษัท พนักงานบริษัทจึงถือเสมือนเป็นตัวแทนของบริษัท2. หากทางพนักงานได้ทำการแทนบริษัท โดยได้รับเงินภายในกรอบวัตถุประสงค์ของบริษัท ทางบริษัทย่อมมีความผูกพัน ในจำนวนเงินที่พนักงานนั้นได้รับ แต่ถ้าหากพนักงานได้ทำการแทนนอกวัตถุประสงค์แล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นผลผูกพันต่อบริษัท3. ตามที่ผู้ร้องได้ทำการโอนเงินให้กับพนักงาน โดยผู้ร้องเข้าใจว่าพนักงานนั้นเป็นตัวแทนและเป็นผู้มีอำนาจเรียกเก็บเงินของบริษัท จึงถือว่าผู้ร้องได้โอนเงินนั้นไปโดยสุจริต โดยถือว่าบริษัทได้ทำการยอมรับให้พนักงานนั้น เป็นตัวแทนของตนในการรับหรือเก็บเงินของผู้ร้อง เพราะฉะนั้นทางบริษัทจึงต้องรับผิดชอบต่อผู้ร้อง ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอกโดยสุจริต จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ร้อง4. หากพนักงานบริษัทได้กระทำการใดที่อยู่ในขอบเขตอำนาจตรงตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ถือว่าเป็นการกระทำแทนบริษัท บริษัทจึงต้องรับผิดชอบในการที่พนักงานนั้นได้กระทำแทนบริษัทไป เสมือนกับทางบริษัทได้กระทำการนั้นด้วยตนเอง จากหลักกฎหมายดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า บริษัทฯ ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบจากการกระทำของพนักงานคนดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เอกสารการจองรถที่ผู้ร้องนำมาเป็นหลักฐานนั้น ไม่ใช่เอกสารการจองฉบับจริงของบริษัท แต่เป็นสำเนาการถ่ายเอกสาร ซึ่งผู้ร้องให้ข้อมูลว่า พนักงานนำใบจองรถที่ถ่ายสำเนามาให้เซ็นชื่อ ซึ่งเขาเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเอกสารการจองรถของบริษัทจริงๆ โดยมารู้ภายหลังว่าพนักงานคนดังกล่าว ได้แอบนำใบจองฉบับจริงไปถ่ายเอกสาร ซึ่งหากเราไม่สังเกตก็อาจทำให้โดนหลอกได้ง่ายๆ  

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 แก้ปัญหารถยนต์ใหม่มือหนึ่งชำรุดบกพร่อง

เมื่อเราซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่ง ย่อมต้องคาดหวังในประสิทธิภาพที่คุ้มค่ากับราคา อย่างไรก็ตามใช่ว่ารถยนต์ใหม่มือหนึ่งทุกคันจะไม่มีปัญหากวนใจ ซึ่งเราควรแก้ไขปัญหาอย่างไรลองมาดูเหตุการณ์นี้กันคุณสุนีย์ต้องการซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่งยี่ห้อ วอลโว่ รุ่น S60 T4F จากบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคาเกือบ 2 ล้านบาท อย่างไรก็ตามภายหลังเธอสังเกตเห็นว่าในใบสั่งจองรถยนต์คันดังกล่าว ประทับตราข้อความว่า “รถทดลองขับ/รถผู้บริหารใช้แล้ว” เมื่อสอบถามไปยังผู้จัดการฝ่ายขายก็ได้รับคำตอบว่า ที่ต้องประทับตราข้อความเช่นนั้น เนื่องจากเป็นโปรโมชั่นพิเศษ เพื่อให้ผู้ร้องผ่อนได้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ ทำให้เธอไม่ติดใจอะไรและตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาอย่างไรก็ตามเมื่อรับรถมาแล้วประมาณ 4 เดือน เธอพบว่ารถยนต์มีอาการสั่นรุนแรงและสตาร์ทไม่ติด ทำให้ต้องส่งเข้าศูนย์ซ่อม ซึ่งภายหลังศูนย์ได้เปลี่ยนแบตเตอรี่ให้ เพราะมีปัญหาเกิดจากแบตเตอรี่เสื่อม ทำให้เธอข้องใจว่า ทำไมรถยนต์ใหม่ถึงมีปัญหาเช่นนี้ เมื่อสอบถามข้อมูลจึงพบว่ารถคันดังกล่าวผลิตในปี 2014 ทำให้อาจมีปัญหาแบบนี้ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุนีย์จึงมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อขอคำปรึกษา เนื่องจากก่อนหน้าที่เธอจะตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าว ได้แจ้งกับพนักงานแล้วว่าต้องการรถรุ่นใหม่ล่าสุด หรือรุ่นที่ผลิตในหรือ 2015 ไม่ใช่รุ่นเก่าเช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องขอข้อมูลการซ่อมที่ผ่านมาทั้งหมดจากศูนย์บริการ เพื่อให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับรุ่นและประวัติต่างๆ พร้อมส่งจดหมายถึง บริษัท วอลโว่ คาร์ ประเทศไทย เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งภายหลังก็ได้รับการยืนยันว่า รถคันดังกล่าวไม่ใช่รุ่นที่ผู้ร้องต้องการ ดังนั้นตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาจองรถ พบว่าหากบริษัทมีการส่งรถไม่ตรงตามสัญญา เช่น ผิดรุ่นดังกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ร้องสามารถคืนรถคันดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเจรจากับทางบริษัทก็ได้รับการชี้แจงว่า รถยนต์รุ่นนี้ไม่มีการผลิตในปี 2015 ซึ่งรถคันนี้เป็นรถใหม่ แต่อาจจอดทิ้งไว้นานจนทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น แต่ยินยอมรับผิดชอบด้วยการคืนเงินที่ลูกค้าจ่ายไป พร้อมปิดไฟแนนซ์ให้ โดยขอหักค่าเสื่อมจำนวน 60,000 บาท ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวจึงยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)