นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 181 เสียงผู้บริโภค

เจ็บป่วยฉุกเฉิน ยังคงต้องสำรองจ่ายแม้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” ที่ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษา ในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทุกแห่งโดยไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า ซึ่งประกาศไปเมื่อปี 2555 แต่ก็ยังเกิดปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินบางราย ไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้สามีของผู้ร้องเป็นโรคหัวใจ ซึ่งขณะที่กำลังเดินทางอยู่บนสถานีรถไฟฟ้าก็เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ทำให้หมดสติ ต่อมาจึงได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยกู้ชีพ นำส่งไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในขณะนั้นคือ โรงพยาบาลพระราม 9 แต่ภายหลังเข้ารับการรักษา สามีของเธอก็ได้เสียชีวิตลง อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ไม่ได้จบแค่นั้น เมื่อทางโรงพยาบาลให้วางเงินมัดจำนวนเกือบ 80,000 บาท เป็นค่ารักษาพยาบาล แม้ผู้ร้องจะแจ้งว่าขอใช้สิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่ก็ได้รับคำตอบว่าให้เบิกคืนได้ที่...

สมาชิกอ่านต่อ...

250 point

LINE it!

  เรื่องเกี่ยวข้อง:

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 179 เสียงผู้บริโภค

คอนโดมิเนียม สร้างทับที่สาธารณะคงมีใครหลายคนที่น่าจะเลือกคอนโดมิเนียมจาก ทำเลที่ตั้ง เป็นปัจจัยหลัก โดยอาจจะให้เอื้อประโยชน์ในด้านการเดินทาง เช่น ติดสถานีรถไฟฟ้า หรือให้มีความสะดวกสบายในการพักผ่อน เช่น เงียบสงบ อยู่แถวชานเมืองที่ไม่วุ่นวายมากนัก อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่เรามักมองข้ามคือ ที่ดินของคอนโดนั้นๆ เป็นกรรมสิทธิ์ของใคร เพราะคงไม่มีใครคิดว่าคอนโดมิเนียมหรูราคาแพง จะสร้างทับที่ดินสาธารณะ ซึ่งเราไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของได้ แม้จะจ่ายเงินซื้อคอนโดนั้นแล้วก็ตาม เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับผู้ร้องที่ทำสัญญาจองซื้อคอนโดของโครงการ คีรีมายา เรสซิเดนส์ อัตตา เดอะคอนโด ที่ จ.นครราชสีมา โดยคอนโดดังกล่าวมีราคากว่า 7 ล้านบาท ซึ่งเขาได้ผ่อนดาวน์ไปแล้วประมาณ 1 ล้านบาท อย่างไรก็ตามภายหลังก็ได้รับเอกสารแจ้งจากสำนักงานที่ดินปากช่องว่า คอนโดดังกล่าวได้มีการรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ เป็นพื้นที่จำนวน 163 ไร่ และปิดกั้นเส้นทางสาธารณะ จำนวน 48 ไร่ และผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ก็ได้แจ้งว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านสามารถใช้เส้นทางดังกล่าวได้ แต่หลังจากทางโครงการก่อสร้างเสร็จ ก็ได้ปิดกั้นเส้นทางดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเดินทางเข้าออกได้อีกเลย และผู้ร้องยังพบข่าวที่เคยลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 ก.ย. 58 ว่า คอนโดดังกล่าวมีการปล่อยเช่า ให้เป็นคอนโดมิเนียมรายวัน (โรงแรม) ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. โรงแรม พ.ศ. 2478 เขาจึงส่งเอกสารขอคำชี้แจงถึงกรณีต่างๆ ไปยังโครงการ ก่อนจะดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดเป็นของตัวเอง เพราะกังวลว่าจะมีผลต่อข้อตกลงเรื่องการเช่า อย่างไรก็ตามทางโครงการก็ไม่ได้ส่งหนังสือชี้แจงตอบกลับมา เพียงแต่แจ้งว่าการที่ผู้ร้องไม่ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนด จะถือว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย ทำให้ผู้ร้องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ เพราะอาจเป็นเหตุให้บริษัทบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดก็ได้ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องยังไม่ต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดดังกล่าว และทำหนังสือถึงโครงการอีกครั้งว่า ให้มีการตรวจสอบกรณีต่างๆ ให้มีความชัดเจนก่อน เพราะหากโครงการทำผิดกฎหมายจริง ก็เท่ากับว่าเป็นการผิดสัญญากับผู้บริโภค ซึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญาดังกล่าวได้ นอกจากนี้ทางศูนย์ฯ ก็ทำหนังสือสอบถามไปยังจังหวัด เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้หากพิสูจน์ได้ว่า มีการสร้างคอนโดลุกล้ำลำน้ำสาธารณะจริง ทางบริษัทก็ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยอาจจะรื้อและสร้างใหม่ให้กับผู้ซื้อก็ได้ แนะข้อควรรู้เบื้องต้นก่อนตัดสินใจซื้อคอนโด1. ตรวจสอบพื้นที่ตั้ง โดยสามารถสอบถามไปยัง กรมที่ดิน (ควรอยู่ในย่านเดียวกัน) ว่าที่ตั้งของคอนโดดังกล่าว เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลจริงหรือไม่ เพราะหากเป็นพื้นที่สาธารณะ เราไม่สามารถครอบครองได้ นอกจากนี้รัฐยังสามารถเวนคืนได้ทุกเมื่อ แม้ว่าเราจะเป็นเจ้าของคอนโดนั้นแล้วก็ตาม 2. ประเมินกำลังการผ่อนของตนเองในอนาคต ว่าสามารถชำระค่างวดจนครบได้หรือไม่ หรือควรให้มีการระบุในสัญญาว่า หากเรากู้ธนาคารไม่ผ่าน จะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้รับความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย เช่น มีการคืนเงินจองล่วงหน้า หรือคืนเงินดาวน์ที่จ่ายไปแล้ว3. ไม่ซื้อคอนโดที่ยังไม่ก่อสร้าง เพราะอาจเกิดปัญหาจ่ายเงินแล้วเรียบร้อย แต่ไม่มีการก่อสร้างจริงได้4. ศึกษารายละเอียดโครงการที่ประกาศขาย ในเรื่องโครงสร้างและความน่าเชื่อถือ5. ศึกษาสัญญาจะซื้อจะขาย โดยควรมีการรับประกันโครงสร้างด้วย6. ดูคุณภาพจากสถานที่จริง ไม่ใช่แค่ในโฆษณา 7. ไม่รับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อโครงการยังไม่แล้วเสร็จ หรือไม่สร้างตามแบบแปลนที่โฆษณาไว้ นอกจากนี้ก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์ ต้องตรวจสอบสภาพห้องให้เรียบร้อยทั้งการก่อสร้างและมาตรฐาน  รถมือสอง สภาพ(ภายนอก)เยี่ยมตาดีได้ตาร้ายเสีย สำนวนนี้คงใช้ได้ดีกับผู้ที่กำลังจะซื้อรถยนต์มือสอง เพราะหากเราเลือกผิดคันก็ต้องคอยตามซ่อมปัญหาจุกจิกต่างๆ จนพาให้เหนื่อยใจได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาการซ่อมถี่ ผู้ขับส่วนมากจึงมักทดลองขับก่อนตกลงซื้อ เพราะลำพังแค่คำโฆษณาจากผู้ขายอย่างเดียว ก็ไม่ได้รับประกันว่ารถจะดีจริง อย่างไรก็ตามหากเราเจอคันที่ชอบสุดๆ แต่เจ้าของเต็นท์ ไม่ยอมให้ทดลองขับ เราควรทำอย่างไร ผู้ร้องรายนี้ถูกใจรถมือสอง ยี่ห้อ Nissan CEFIRO จากเต็นท์รถแห่งหนึ่งย่านลาดปลาเค้า 28 เมื่อพูดคุยสอบถามกับเจ้าของเต็นท์ก็ได้รับการโฆษณาว่า รถคันดังกล่าว อยู่ในสภาพดี เครื่องยนต์พร้อมใช้งาน ไม่ต้องซ่อมหรือทำอะไรเพิ่มเติมเลย ซึ่งหากต้องการรถก็เพียงแค่มัดจำไว้จำนวน 5,000 บาทเท่านั้น อย่างไรก็ตามก่อนมัดจำผู้ร้องต้องการทดสอบสภาพรถก่อน แต่เจ้าของเต็นท์กลับแจ้งว่า ไม่ให้มีการทดลองขับแต่อย่างใด ด้วยความที่ถูกใจรถคันดังกล่าว เพราะสภาพภายนอกดูดีสมคำบอกเล่าของเจ้าของ และเชื่อว่าสภาพภายในก็คงดีเช่นนั้นจริงๆ จึงตกลงมัดจำไว้ และมารับรถในไม่อีกกี่วันถัดมา ซึ่งเหตุการณ์ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด เพราะหลังจากขับรถคันดังกล่าวออกมาจากเต็นท์ไม่ถึง 500 เมตร ห้องเครื่องของรถส่งเสียงดังและสั่นสะเทือนแรงมาก ทำให้วิ่งกระตุกตลอดเวลา เมื่อโทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าของก็ได้รับคำตอบว่า ให้ลองเติมน้ำมันกับแก๊สดูก่อน ซึ่งผู้ร้องก็ได้ทำตาม โดยเสียค่าน้ำมันและแก๊สไปจำนวน 1,000 และ 550 บาท ตามลำดับ อย่างไรก็ตามอาการของเครื่องยนต์ก็ยังคงเหมือนเดิม และรถก็เริ่มวิ่งต่อรอบต่ำมาก ขับได้ไม่เกิน 80 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งๆ ที่เป็นเครื่องยนต์ 3,000 ซีซี 6 สูบ  ผู้ร้องจึงโทรศัพท์กลับไปสอบถามเจ้าของเต็นท์รถคันดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งก็ได้แนะนำวิธีแก้ไขปัญหาว่า ให้ขับรถไปก่อน แล้วไปเปลี่ยนน้ำมันเครื่องกับน้ำมันเกียร์ ซึ่งหากอาการยังไม่ดีขึ้นค่อยโทรศัพท์ติดต่อกลับมาใหม่ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ร้องจึงตัดสินว่าจะขอคืนรถคันดังกล่าว และโทรศัพท์ไปเลิกสัญญากับไฟแนนซ์ โดยให้เหตุผลว่า รถไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตามที่เจ้าของเต็นท์กล่าวอ้าง ต่อมาวันรุ่งขึ้นจึงนำรถเจ้าปัญหานี้กลับมาคืนที่เต็นท์ และขอเงินมัดจำจำนวน 5,000 บาทคืน แต่เจ้าของเต็นท์ดังกล่าวไม่ยอมคืนเงินให้ บอกเพียงว่าจะตรวจซ่อมให้เอง ผู้ร้องก็ตกลง ซึ่งหลังจากช่างประจำเต็นท์ตรวจสอบแล้วเรียบร้อย ก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ว่าอาการดังกล่าวเกิดจากอะไร แต่ก็ยังยืนยันที่จะไม่คืนเงินค่ามัดจำให้ ดังนั้นผู้ร้องจึงมาขอให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องทำจดหมาย ขอคืนรถยนต์กับทางเต็นท์พร้อมทั้งคืนเงินค่ามัดจำ เพราะมีการหลอกลวงผู้บริโภคด้วยการโฆษณาชวนเชื่อว่า รถอยู่ในสภาพดี พร้อมใช้ พร้อมให้ถ่ายรูปรถคันดังกล่าวเป็นหลักฐาน และแจ้งไปความลงบันทึกประจำวัน จากนั้นจึงนัดเจรจาไกล่เกลี่ย หลังการเจรจา ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะเจ้าของเต็นท์อ้างว่า รถคันดังกล่าวน่าจะหัวเทียนมีปัญหา ซึ่งน่าจะเกิดจากการล้างเครื่องแล้วน้ำเข้าไป หากเปลี่ยนหัวเทียนก็จะสามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งผู้ร้องเกิดความไม่ไว้วางใจเสียแล้ว จึงไม่ต้องการรถยนต์คันดังกล่าว ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป แต่ผู้ร้องพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีอาจยืดเยื้อและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม จึงขอยุติเรื่อง โดยต้องจำใจเสียเงินให้กับกลโกงของเจ้าของเต็นท์รถรายนี้ไป Course เสริมความงาม ที่ไม่ได้อยากสมัครสาวๆ จำนวนไม่น้อยเลยที่มักจะถูกหว่านล้อม ตามติดประชิดตัว เมื่อเดินผ่านหน้าบูธขายผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งก็มีบางส่วนที่รอดตัวกลับบ้านสตางค์อยู่ครบ แต่อีกบางส่วนก็กลายเป็นสมาชิกไปแบบงงๆ ก็มี ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องหลายคนที่มาร้องเรียนกับศูนย์พิทักษ์สิทธิ กรณีที่หนึ่ง สมัครเพราะเกรงใจ สำหรับประเด็นนี้มีผู้ร้องหลายคนที่พบปัญหา เช่น คุณ ก ตกลงสมัครรับบริการเสริมความงามของ บริษัท A โดยชำระเงินด้วยบัตรเครดิตไปจำนวน 25,000 บาท เมื่อกลับบ้านก็คิดได้ว่า พลาดที่เกรงใจสมัครไป จึงต้องการยกเลิก เมื่อโทรศัพท์กลับไปแจ้งที่สถานบริการดังกล่าว พนักงานก็ตอบกลับว่า ไม่สามารถยกเลิกและคืนเงินได้แล้ว หรือ คุณ ข ที่ถูกพนักงานชักชวนให้ใช้บริการเสริมความงาม ของบริษัท S พูดคุยกันไปได้สักพัก ผู้ร้องก็ได้ตกลงเข้าโปรแกรมลดน้ำหนัก โดยชำระเงินผ่านบัตรเครดิต จำนวน 30,000 บาท อย่างไรก็ตามเมื่อกลับมาถึงบ้าน ก็ฉุกคิดได้ว่าไม่ต้องการที่จะเข้าร่วมโปรแกรมดังกล่าว และทางครอบครัวก็ไม่สนับสนุน จึงต้องการเงินคืน ซึ่งกรณีนี้ผู้ร้องอ้างว่า เป็นการสมัครเข้าร่วมแบบไม่ได้ตั้งใจแนวทางการแก้ไขปัญหาหลังจากที่ผู้ร้องเข้ามาร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงชี้แจงถึงกรณีที่จะบอกเลิกสัญญาได้ คือ เราต้องมีเหตุผลในการยกเลิก เช่น ทำให้เราได้รับความเสียหาย หรือไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่ทำไว้ในสัญญา แต่หากผู้ร้องต้องการยกเลิกจากเหตุผลที่ว่า ไม่ต้องการเล่นต่อแล้ว หรือไม่ต้องการใช้บริการต่อแล้ว เพราะ ครอบครัวไม่ต้องการ หรือหลงเข้าไปทำเพราะคำพูดของผู้ขาย ก็ไม่สามารถที่จะยกเลิกได้เนื่องจาก ผู้ขายยังไม่ได้ทำผิดสัญญา ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เราเสียเงิน ไปกับสิ่งที่ไม่ได้ต้องการแบบฟรีๆ ก็ต้องเลิกเกรงใจคนอื่น แล้วกล้าที่จะพูดปฏิเสธกรณีที่สอง เผลอให้เอกสารสำคัญของตนเอง เช่น บัตรเครดิต บัตรประชาชน สำหรับกรณีนี้ผู้ร้องรายหนึ่ง ถูกพนักงานขายชักชวนให้ตรวจสภาพหน้าฟรี ของสถาบันเสริมความงาม S และได้ขอดูบัตรเครดิตจำนวน 3 ใบ เพื่อนำไปแลกของรางวัล (Gift voucher) ซึ่งหลังจากตรวจสภาพผิวหน้าเสร็จ ก็ได้มีการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น การลดน้ำหนัก การยกกระชับสัดส่วน โดยเสนอราคาพิเศษให้อยู่ที่ 30,000 บาท โดยภายหลังได้มีการนำเอกสารต่างๆ มาให้เธอเซ็น ซึ่งไม่ได้แจ้งว่าเป็นเอกสารเกี่ยวกับอะไร ด้านผู้ร้องที่ไม่ได้ตรวจสอบเอกสารก่อน ก็หลงเชื่อตกลงเซ็นชื่อเรียบร้อย และมารู้อีกว่า ตัวเองได้ตกลงเข้าโปรแกรมเสริมความงามราคา 30,000 บาท ของสถาบันดังกล่าวไปแล้วเรียบร้อย แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้อง ส่งหนังสือยกเลิกสัญญาถึงสำนักงานใหญ่ของบริษัทดังกล่าว ซึ่งผู้ร้องได้ระบุเหตุผลที่ขอยกเลิกว่า ไม่สามารถเข้าร่วมโปรแกรมดังกล่าวได้ เพราะต้องไปต่างประเทศ พนักงานจึงตอบกลับด้วยการ ขยายเวลาการรับบริการให้อีก 1 ปี หรือ เสนอให้เธอเปลี่ยนเป็นสินค้าตามจำนวนเงิน ซึ่งผู้ร้องไม่ต้องการข้อเสนอดังกล่าว ทำให้มีการนัดเจรจาที่มูลนิธิ ทั้งนี้ภายหลังการเจรจาดังกล่าว บริษัทฯ ก็ได้ยื่นข้อเสนอให้อีกครั้ง คือ 1. ปรับเปลี่ยนคอร์สเป็นผลิตภัณฑ์ จำนวน 30,000 บาท 2. โอนคอร์สดังกล่าวให้ผู้อื่น 3. ขยายเวลาการรับบริการ หรือ 4. ปรับเปลี่ยนเป็นรับผลิตภัณฑ์ 15,000 บาท และคืนเงินอีก 15,000 บาท ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับข้อเสนอสุดท้าย เหตุการณ์จึงยุติลง อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าปัญหาเกิดจากเอกสารสำคัญของเราตกอยู่ในมือของผู้อื่น ซึ่งหากเราไม่ตรวจสอบให้ดีก่อนเซ็นชื่อยืนยันเอกสารเหล่านั้น ก็สามารถทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ ไม่เหมือนที่คุยกันไว้ กรณีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการขายประกันภัยอีกแล้ว โดยเป็นการขายประกันสุขภาพผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งพูดคุยเข้าใจตรงกันเรียบร้อย เกี่ยวกับเงื่อนไขการเอาประกันภัยต่างๆ แต่สุดท้ายสิ่งที่ผู้บริโภคคิด กับสิ่งที่ตัวแทนบอกไม่หมดก็ยังเกิดขึ้นอยู่ดีผู้ร้องถูกชักชวนให้ทำประกันภัยของบริษัท พรูเด็นเซียล ประกันชีวิต ผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งภายหลังตัวแทนขายประกันภัยได้บอกเงื่อนไขการเอาประกันภัยต่างๆ ผู้ร้องจึงตกลงสมัคร โดยให้มีการหักเงินผ่านบัตรเครดิต อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้รับกรมธรรม์ ก็พบว่าเนื้อหาไม่ได้ครอบคลุมการรักษาอย่างที่เธอต้องการ และราคาก็ไม่คุ้มค่ากับการคุ้มครองดังกล่าว จึงต้องการยกเลิกการทำสัญญา แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งหนังสือบอกเลิกสัญญา ซึ่งสามารถดาวโหลดแบบฟอร์มเอกสารฟรีได้ที่เว็บไซต์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (www.consumerthai.org) และส่งไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทประกันภัยดังกล่าว ซึ่งสามารถส่งข้อมูลที่เขียนแล้ว มาให้ศูนย์ฯ ช่วยตรวจสอบความถูกต้องก่อนได้ ทั้งนี้หลักการในการยกเลิกการสมัครประกันภัยนั้น สามารถยกเลิกได้เมื่อเราพบว่าเนื้อหาในกรมธรรม์ ไม่เป็นไปตามที่ตัวแทนเคยบอกไว้ ซึ่งต้องยกเลิกภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับกรมธรรม์ดังกล่าว ด้านบริษัทฯ เมื่อได้รับเรื่องก็ทำการยกเลิกสัญญา และคืนเงินให้ผู้ร้องเรียบร้อย  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 178 เหลี่ยมไฟแนนซ์

“เมืองไทยเรานี้แสนดีหนักหนาในน้ำมีปลาในนามีข้าว” แต่ผู้บริโภคไทยกลับไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็น เพราะผู้บริหารประเทศไทย ไม่เคยสนใจคนไทยด้วยกัน “ต้องรอให้ต่างชาติมาให้ใบแดงใบเหลือง” ถึงจะหูตาเหลือกลุกขึ้นมาแก้ไข แต่ถ้าเป็นความเดือดร้อนของคนไทยก้นไม่ร้อน “รอไปก่อนนะ” ชี้กันชัดๆ ดังเรื่องต่อไปนี้ วินัย(นามสมมุติ) มาหารือว่า เมื่อประมาณ 6 เดือนที่แล้ว เขาได้ตัดสินใจเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์มา 1 คัน โดยตกลงผ่อนชำระเดือนละ 2,350 บาท เป็นเวลา 24 เดือน วินัยเล่าต่อว่าเขาผ่อนตรงตามสัญญา มาแล้ว 6 งวด(เหลือ 18 งวด) อยู่ๆ ก็ได้รับหนังสือจากไฟแนนซ์ ที่เขาผ่อนรถอยู่ เปิดอ่านก็พบว่า ทางบริษัทเสนอโปรโมชั่นใหม่ ให้กับเขา โดยมีข้อความสำคัญที่เสนอมา คือชื่นชมที่เขาผ่อนตรงตามสัญญา บริษัทเห็นว่าเพื่อเป็นการลดภาระในการชำระค่างวดลงบ้างในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี บริษัทยินดีเสนอทางเลือกในการปรับเปลี่ยนสัญญาเพื่อเป็นการลดภาระในการจ่ายค่างวดของผู้เช่าซื้อดังกล่าวลง จากเดิมที่เคยจ่ายเดือนละ 2,350 บาท ปรับลดลงเป็นเดือนละ 2,069 บาท โดยเงื่อนไขใหม่ระบุชัดเจนว่าผ่อนงวดละ 2,060 บาท โดยผ่อนต่อจากสัญญาเช่าซื้อเดิมที่ชำระไว้แล้วต่อไปอีก 27 งวด วินัยบอกอีกว่า ถ้าดูเผินๆ ก็จะมองได้ว่า เป็นความปรารถนาดีของบริษัทที่มีต่อลูกค้าชั้นดีอย่างเขา แต่เท่าที่อ่านและวิเคราะห์โปรโมชั่นนี้ แยกแยะเล่ห์เหลี่ยมของบริษัทไฟแนนซ์ได้ดังนี้   1. โปรโมชั่นนี้จะเลือกเฉพาะลูกค้าที่จ่ายค่างวดตรงเวลา ซึ่งบริษัทเห็นว่ามีกำลังทรัพย์ที่จะจ่ายแน่นอน 2. โปรโมชั่นนี้ เป็นลักษณะโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้ผ่อนชำระเข้าใจได้ว่า ตนเองจะจ่ายเงินน้อยลง 3. โปรโมชั่นนี้ เสนอมาอย่างหว่านแห หากผู้เช่าซื้อไม่เท่าทันก็จะกลายเป็นเหยื่อทันที เพราะผลจริงๆ หลังจาก บวก ลบ คูณ หาร แล้ว จะยิ่งเห็นชัดเจนว่าข้อเสนอนั้นไม่ใช่ความหวังดี แต่เป็นข้อเสนอแบบ”ลับ ลวง พราง” เป็นเล่ห์เหลี่ยมของบริษัท เพื่อสร้างความสับสนให้กับผู้เช่าซื้อ ต้องจ่ายเงินให้บริษัทเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว ดูง่ายๆ คือเอายอดที่ต้องผ่อนเดิมเดือนละ 2,350 บาท มาคูณค่างวดที่เหลืออีก 18 เดือน เขาจะจ่ายเงินอีกเพียง 42,300 บาท แล้วก็ลองเอาตัวเลขที่บริษัทเสนอมาให้ผ่อนเดือนละ 2,069 บาท มาคูณ 27 เดือน ผู้เช่าซื้อต้องจ่ายอีก 55,863 บาท ซึ่งมีส่วนต่างที่ผู้เช่าซื้อต้องจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 13,563 บาท เห็นชัดๆ ว่าหากผู้เช่าซื้อหลงเชื่อ ทำตามข้อเสนอของบริษัท ผู้เช่าซื้อเป็นเพียงเหยื่อ ผู้ได้ประโยชน์คือบริษัท เรื่องนี้เป็นแค่ประเด็นตัวอย่าง ที่สามารถชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค ของประเทศไทย “อ่อนแอ ไร้การควบคุม” จริงๆ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 177 ประกันฯ ที่ไม่มั่นคง

คปภ.และบริษัทประกันภัย โหมรณรงค์ให้คนไทยทำประกันภัยกันอย่างครึกโครม  โดยที่จริงๆ แล้วเรื่องประกันภัย ประกันสุขภาพ  ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่รอให้ “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) แก้ไขอย่างจริงจัง    วันก่อนพี่จิ๋ม(นามสมมุติ) มาร้องเรียนว่า  ถูกบริษัทประกันภัยชื่อดัง  ส่งหนังสือมาบอกเลิกสัญญา  ทั้งๆ ที่ได้ซื้อประกัน ในราคา 2 หมื่นกว่าบาทต่อปี มาตั้งแต่ ปี 2552 และซื้อต่อเนื่องมาจนถึง  ตุลาคม 2558   ก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญา(พร้อมแนบเงินที่เหลือปีสุดท้ายส่งมาด้วย)   เมื่อถามต่อก็ได้ทราบว่าเหตุผลที่ถูกบอกเลิกสัญญาคือ  กล่าวหาว่าผู้ซื้อประกันปกปิดข้อมูลการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆมากมาย   ทั้งเบาหวาน ความดัน ฯลฯ ทั้งที่ตอนทำประกันผู้ซื้อยังไม่ได้เป็นโรคเรื้อรังอะไร    ผู้ร้องทุกข์เล่าให้ฟังอีกว่า ในหนังสือที่ส่งมาแจ้งอีกว่า รู้ข้อมูลการเป็นโรคของผู้ซื้อแล้วตั้งแต่เดือน มีนาคม 2558  แต่ไม่มีการแจ้งให้ผู้ซื้อประกันทราบ   นอกจากไม่แจ้งให้ผู้ซื้อทราบแล้ว  ยังเรียกเก็บเงิน   ไปอีกเมื่อ 30 กันยายน 2558   แล้วก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญาในเดือนตุลาคม  ในปีเดียวกัน  ที่เจ็บใจมากคือ  ลงเงินซื้อประกันฯไปตั้งแต่ปี  2552  จนถึงปัจจุบัน รวมๆ แล้วประมาณ 150,000  บาท แต่บริษัทคืนให้เฉพาะเงินที่ลงไปปีล่าสุดเท่านั้น  อย่างนี้เท่ากับหรอกให้เราซื้อประกัน  พอเราเป็นโรคก็ไม่ ก็ปฏิเสธการดูแล  ด้วยการบอกเลิกสัญญาดื้อๆ แบบนี้     เรื่องลักษณะนี้ไม่ได้เกิดกับคุณจิ๋มคนเดียว แต่เกิดขึ้นกับอีกหลายๆ คน  คำถามคือเรื่องแบบนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือฉ้อโกงกันแน่(เรื่องนี้คงต้องรอคำตอบจากคำสั่งศาล) หากอ้างกฎหมายผู้ซื้อประกันหากสู้ยาก เพราะกฎหมายประกันวินาศภัย ข้อหนึ่ง เขียนไว้กว้างๆ ว่า “หากบริษัทเห็นว่ามีความเสี่ยงสามารถบอกเลิกสัญญาได้”  ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องร่วมกันผลักดันคือ  ต้องให้ คปภ. กำหนดระเบียบกติกาที่ชัดเจน  ในการบอกเลิกสัญญาประกันภัยฯ  ว่าลักษณะไหนบ้างที่บริษัทจะบอกเลิกสัญญาได้  และลักษณะไหนที่ห้ามบอกเลิกสัญญา   ถ้าบริษัทฯ ใดละเมิดต้องจัดการให้เป็นตัวอย่าง  ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อ  และเบื่อการซื้อประกันฯ เพราะไม่เป็นผลดีทั้งผู้ซื้อประกันฯ และบริษัทประกันภัย  ก็ขอเรียกร้องให้ คปภ.ขยับเรื่องนี้ให้จริงจังเสียที

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 176 สูงวัย ไม่โอเค...สักนิด

ผลจากที่องค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภค  ร่วมกันส่งเสียงถึงความไม่เป็นธรรมในหลายเรื่อง  ทำให้ช่วงนี้มีข่าวที่น่าพอใจของผู้บริโภคปรากฏในสื่อต่างๆ หลายเรื่อง  เช่น  คำตัดสินของศาลปกครองกลาง    “กรณีมูลนิธิผู้บริโภคและเครือข่ายชนะคดีที่ฟ้องการขึ้นค่าทางด่วนโทลล์เวย์  ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค”  และ  “การระงับโฆษณาประกันสุขภาพผู้สูงอายุที่โฆษณา ไม่ตรงกับสัญญากรมธรรม์”    ต้องยอมรับว่านี่คือความก้าวหน้าของประเด็นผู้บริโภค  แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้  จะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าผู้บริโภคไม่ร่วมมือลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง  เพราะยังมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับประกันภัยด้านสุขภาพเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ    ต้นเดือน กันยายน 2558  คุณอี๊ด(นามสมมุติ)มาหารือว่า  ได้ทำประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ คุ้มครองสุขภาพด้วย  ส่งเงินปีละประมาณ 2 หมื่นบาท ต่อเนื่องมา 2 ปี  พอเข้าปีที่ 3 มีปัญหาปวดไหล่มาก  หมอตรวจแล้วบอกว่า ต้องผ่าเพื่อรักษา  เขาจึงไปปรึกษากับตัวแทน ที่ขายประกันภัยให้เขา  ตัวแทนแนะนำให้ไปผ่าที่กรุงเทพฯ เลย”เรามีประกัน” เมื่อตัวแทนแนะนำเขาก็เข้าไปผ่าที่ รพ.ใน กทม. นอนพักฟื้นอยู่ 5 วันมีค่าใช้จ่าย  1 แสนบาทเศษ   พอประสานงานกับตัวแทนประกันฯ เพื่อใช้สิทธิ ตัวแทนไม่พูดอะไรเมื่อฟังว่าค่ารักษาเท่าไหร่  เงียบไปเลย  โทรไปก็ไม่คุยด้วย  สรุปจ่ายเงินเองไปก่อน   พอกลับมาสมุทรสงครามได้ไปประสานกับบริษัทประกันเพื่อเคลียร์ค่าใช้จ่าย   ปรากฏว่า บริษัทปฏิเสธการจ่ายสินไหมทดแทน  ด้วยเหตุผล ผู้เอาประกันมีประวัติเกี่ยวกับแขนข้างที่ผ่าตัดที่ “เคยตกต้นไม้ มาก่อน” แต่ไม่แจ้งต่อผู้ขายประกัน  คุณอี๊ดบอกต่ออีกว่า  จริงๆ บอกตัวแทน(ขนาดโฆษณาบอกว่าไม่ถามเรื่องสุขภาพนะ อันนี้บอกเองเลย) แล้วตัวแทนบอกไม่เป็นไร ทำได้ เขาก็จ่ายเงินซื้อประกันมาอย่างต่อเนื่อง   สุดท้ายยังตกลงกันไม่ได้  ต้องดำเนินการขั้นตอนต่อไป     บทเรียนเรื่องนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าผู้บริโภค  ให้ความสำคัญกับคำบอกเล่าของตัวแทนขายประกันมากกว่า  “การอ่านกรมธรรม์” เพราะถ้าอ่านเขาจะทราบ “วงเงินในการรักษา”แต่ละครั้งในกรมธรรม์กำหนดไว้เท่าไร  เพราะถ้ามีค่าใช้จ่ายมากกว่าที่กำหนดในกรมธรรม์  ส่วนต่างนั้นผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบเอง   รวมถึงข้อยกเว้นต่างๆ ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์  เพื่อให้ทราบว่าเขาคุ้มครองอะไรเราบ้าง  และการคุ้มครองนั้นคุ้มค่าเงินที่เราต้องจ่ายไปหรือไม่     การอ่านกรมธรรม์ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง  อ่านแล้วพบว่า ไม่โอเค ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิขอยกเลิกกรมธรรม์ได้    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ความคิดเห็น (0)