ฉบับที่ 137 อายุความสัญญาฝากทรัพย์ (2)

ฎีกา(ที่  8772/2550)ในคดีที่ฝากเงินไว้แล้วไม่ได้ติดต่อกับธนาคารไปเกือบสิบปี เมื่อไปถอนเงินโดนปฏิเสธ จึงฟ้องศาลซึ่งสู้กันถึงฎีกานั้น เรามาตามต่อกันเลยครับ

...ส่วนจำเลยมีนายสมเกียรติซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชี มีหน้าที่ดูแลบัญชีธนาคารและบัญชีลูกค้าทั่วไปของจำเลยมาเบิกความเป็นพยานว่าบัญชีที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นบัญชีแบบสะสมทรัพย์ซึ่งเป็นบัญชีรุ่นแรกที่จำเลยออกให้แก่ลูกค้าโดยยอมให้ใช้เช็คเบิกถอนเงินจากบัญชีได้ด้วยแต่จำกัดจำนวนการใช้เช็คไม่เกินเดือนละ 4 ฉบับ หากใช้เช็คแล้วก็ไม่จำต้องใช้สมุดฝากเงินเพื่อนำมาถอนเงินออกจากบัญชีแต่อย่างใด แต่ยอดเงินในสมุดฝากเงินจะถือเป็นยอดที่ถูกต้องแท้จริงไม่ได้จนกว่าจะได้มีการปรับยอดบัญชีตามระยะเวลาที่จำเลยกำหนดไว้

 

ต่อมาประมาณเดือนกรกฎาคม 2509 บัญชีแบบที่โจทก์ใช้ตามสมุดฝากเงินได้มีการเปลี่ยนชื่อบัญชีจากสะสมทรัพย์เป็นบัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์และให้สาขาของจำเลยทุกสาขามีหนังสือแจ้งไปยังลูกค้าที่ใช้บัญชีประเภทนี้อยู่ว่าจะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าต่อไปแล้ว หากบัญชีของลูกค้าคนใดขาดการติดต่อกับจำเลยแต่ยังคงมีเงินเหลืออยู่ในบัญชี จำเลยก็จะโอนไปไว้ในบัญชีไม่เดินหรือเรียกว่าบัญชีพักเพื่อรอให้ลูกค้ามาติดต่อแล้วจำเลยจะจ่ายเงินคืนไป

ต่อมาในปี 2516 บัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์ถูกยกเลิกเนื่องจากมีความยุ่งยากในการปฏิบัติและโอนเงินทั้งหมดที่มีอยู่ในทุกบัญชีไปเข้าบัญชีไม่เดินหรือบัญชีพักเพื่อให้ลูกค้ามาติดต่อขอรับเงินที่ยังคงเหลืออยู่ต่อไป ตามระเบียบของจำเลยนั้นเอกสารที่เกี่ยวกับการเบิกถอนหรือจ่ายเงินจะเก็บไว้เพียง 10 ปี หลังจากนั้นจำเลยจะทำลายเกี่ยวกับสมุดฝากเงินจะต้องนำไปปรับบัญชีปีละ 2 ครั้ง ทุกสิ้นเดือนมิถุนายนและสิ้นเดือนธันวาคมของทุกปีตามข้อบังคับของธนาคารที่ระบุไว้ในสมุดฝากเงินดังกล่าวเพื่อจะดูว่าลูกค้าได้รับดอกเบี้ยจากธนาคารหรือไม่เพียงใดด้วย แม้หากลูกค้าไม่นำสมุดฝากเงินไปปรับดอกเบี้ยก็ตาม ธนาคารก็จะคิดและลงไว้ในการ์ดบัญชีให้และลูกค้าสามารถนำสมุดฝากเงินไปปรับบัญชีให้ตรงกันแล้วถอนดอกเบี้ยออกจากบัญชีได้ ลักษณะการคิดดอกเบี้ยตามสมุดฝากเงินนั้น หากมีเงินฝากและมีดอกเบี้ยเกิดขึ้น จำเลยก็จะนำเงินฝากและดอกเบี้ยมาเป็นต้นเงินและคิดดอกเบี้ยจากเงินที่นำมารวมนั้นในลักษณะคล้ายๆ กับการคิดดอกเบี้ยทบต้นนั่นเอง

เกี่ยวกับสมุดฝากเงินนั้น หากโจทก์ไม่ได้นำไปตรวจสอบยอดเงินตามที่จำเลยระบุไว้ก็ไม่ทำให้โจทก์เสียสิทธิในการเบิกถอนแต่อย่างใด แต่ธนาคารก็จะต้องตรวจดูว่ามีเงินคงเหลือในบัญชีอยู่หรือไม่เพียงใดด้วย เห็นว่า จำเลยเป็นธนาคารพาณิชย์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์โดยรับฝากเงินและให้ประชาชนทั่วไปกู้ยืมเงินซึ่งในการรับฝากเงินจำเลยจะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่าดอกเบี้ยที่จำเลยเรียกจากผู้มากู้ยืมเงินซึ่งส่วนต่างดังกล่าวจะเป็นผลกำไรของจำเลย

จากข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของนายสมเกียรติพยานจำเลยก็ไม่ปรากฏว่าการรับฝากเงินจากโจทก์เป็นบัญชีแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งจำเลยออกสมุดฝากเงินให้แก่โจทก์ไว้เป็นหลักฐานนั้นได้กำหนดระยะเวลาที่รับฝากไว้แต่ประการใด อีกทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดระยะเวลาที่รับฝากไว้แต่ประการใด อีกทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดระยะเวลาการรับฝากเงินเช่นนี้ไว้แต่อย่างใดด้วย ดังนั้น เมื่อการรับฝากเงินหรือฝากทรัพย์เป็นสัญญาอย่างหนึ่ง หากจำเลยไม่มีเจตนาที่จะรับฝากเงินจากโจทก์ต่อไปแล้ว จำเลยย่อมกระทำได้โดยการบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยก็ไม่เคยบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ สัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามที่จำเลยออกสมุดฝากเงินมอบให้โจทก์ไว้เป็นหลักฐานจึงยังคงมีผลใช้บังคับอยู่

ที่จำเลยนำสืบและอ้างในฎีกาว่าเมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2509 บัญชีแบบที่โจทก์ใช้ตามสมุดฝากเงินนั้นได้มีการเปลี่ยนชื่อจากสะสมทรัพย์เป็นบัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์และให้ทุกสาขาของจำเลยมีหนังสือโดยส่งจดหมายแจ้งไปยังลูกค้าที่ใช้บัญชีประเภทนี้อยู่ว่าจะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าต่อไปแล้ว หากลูกค้าคนใดขาดการติดต่อและยังคงมีเงินเหลืออยู่ในบัญชี จำเลยก็จะนำไปโอนไว้ในบัญชีไม่เดินหรือที่เรียกว่าบัญชีพักเพื่อรอให้ลูกค้ามาติดต่อรับเงินคืนไป จนกระทั่งบัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์ได้ถูกยกเลิกไปในปี 2516 และจำเลยโอนเงินทั้งหมดที่มีอยู่ทุกบัญชีไปเข้าบัญชีไม่เดินหรือบัญชีพักเพื่อให้ลูกค้ามาติดต่อขอรับเงินที่ยังคงเหลืออยู่ และจำเลยจัดเก็บเอกสารเกี่ยวกับการเบิกถอนหรือจ่ายเงินไว้เพียง 10 ปี ตามระเบียบของจำเลย หลังจากนั้นจำเลยก็จะนำไปทำลายนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีหนังสือที่แจ้งไปยังโจทก์ว่าได้เปลี่ยนชื่อบัญชีจากสะสมทรัพย์เป็นบัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์และงดจ่ายดอกเบี้ยให้โจทก์ต่อไปแล้ว...

แหม เข้มข้นจริงๆ ไปติดตามตอนจบในฉบับหน้าครับ


แหล่งข้อมูล: ทนายอาสา

250 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์.สัญญา ธนาคาร

ฉบับที่ 268 พนักงานธนาคารหลอกผู้บริโภคช่วยซื้อหน่วยลงทุน แต่กลับเอาเงินไปส่วนตัว ธนาคารต้องร่วมรับผิดหรือไม่

        ทุกวันนี้ หลายคนคงตั้งคำถามต่อความรับผิดชอบของธนาคาร ว่าเมื่อเราฝากเงินไว้ในบัญชีของธนาคาร ธนาคารควรมีหน้าที่ดูแลเงินของเราให้ดี เพราะเป็นวิชาชีพหนึ่งที่ต้องสร้างความไว้วางใจเพื่อให้คนเอาเงินมาไว้กับตน แต่ตามข่าวจะเห็นได้ว่า เมื่อเกิดปัญหาถูกขโมยข้อมูลและมีการดูดเงินออกจากบัญชี ธนาคารกลับไม่ได้รับผิดชอบ ผู้บริโภคอย่างเราเสียเองต้องไปดิ้นรนแจ้งความดำเนินคดีกับมิจฉาชีพเอง ซึ่งถ้ามองในมุมกฎหมายแล้ว การที่เราเอาเงินไปฝากธนาคาร “เงินที่นำเข้าบัญชีธนาคาร” ถือเป็น “เงินของธนาคาร” ตามสัญญาฝากเงิน เพียงแต่ธนาคารมีหน้าที่ตามสัญญาฝากเงินต้องนำเงินจำนวนเดียวกันกับที่ฝากมาคืนเรา ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจความรับผิดของธนาคาร จึงขอหยิบยกคดีเรื่องหนึ่งซึ่งน่าสนใจมาเป็นกรณีศึกษา          เป็นกรณีธนาคารพาณิชย์ จัดให้มีบริการพนักงานธนาคารเพื่อคอยดูแลลูกค้าคนสำคัญ ไปหาลูกค้าถึงที่เพื่อช่วยจัดการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ของลูกค้า และต่อมาพนักงานธนาคารคนดังกล่าว ไปหลอกให้ลูกค้าคือผู้บริโภคจัดทำเอกสารอ้างว่าจะไปซื้อหน่วยการลงทุน แต่กลับนำใบนำฝาก/โอน มาทำรายการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้บริโภคเข้าบัญชีของบุคคลอื่นโดยมิได้นำไปซื้อหน่วยลงทุน ทำให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนหลายสิบล้านบาท ผู้บริโภคในฐานะเจ้าของเงินและเป็นลูกค้าของธนาคารจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ธนาคารรับผิด          ศาลฏีกาได้ตัดสินให้ธนาคารต้องรับผิดในผลการกระทำของพนักงานธนาคารคนดังกล่าว ในฐานะนายจ้างต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้าง เพราะการที่ธนาคารจัดให้มีพนักงานดูแลลูกค้ารายใหญ่ด้วยการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมกับธนาคารถึงที่ทำการของลูกค้าโดยลูกค้าไม่ต้องมาดำเนินการที่สาขาของธนาคารด้วยตนเอง ถือเป็นบริการอย่างหนึ่งของธนาคารเพื่อประโยชน์ในกิจการของธนาคารเอง ธนาคารจึงสมควรคัดเลือกพนักงานที่ไว้ใจได้มาทำหน้าที่นี้และคอยสอดส่องไม่ให้ทำผิดหน้าที่   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1802/2565         จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ การจัดให้มีพนักงานดูแลลูกค้ารายใหญ่ด้วยการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมกับจำเลยถึงที่ทำการของลูกค้าโดยลูกค้าไม่ต้องมาดำเนินการที่สาขาของจำเลยด้วยตนเอง ถือเป็นบริการอย่างหนึ่งของจำเลยเพื่อประโยชน์ในกิจการของจำเลยเอง ซึ่งจำเลยสมควรคัดเลือกพนักงานที่ไว้ใจได้มาทำหน้าที่นี้และคอยสอดส่องไม่ให้ทำผิดหน้าที่ เมื่อ จ. พนักงานผู้มีหน้าที่ดูแลลูกค้าของจำเลยกลุ่มลูกค้าบุคคลได้รับมอบหมายจากจำเลยให้เป็นผู้ดูแลโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ การที่ จ. อำนวยความสะดวกให้โจทก์ด้วยการนำใบนำฝาก/โอน และใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อถึงที่ทำการของโจทก์ แล้วรับเอกสารดังกล่าวมาดำเนินการต่อที่สาขาของจำเลย ถือเป็นกิจการของจำเลยที่มอบหมายให้ จ. ไปกระทำ มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์มอบหมายให้ จ. เป็นตัวแทนของโจทก์ไปทำธุรกรรมกับจำเลยดังที่จำเลยฎีกา การที่ จ. รู้จักสนิทสนมคุ้นเคยกับโจทก์มาก่อนมีผลเพียงทำให้โจทก์ให้ความไว้วางใจ จ. ในฐานะพนักงานของจำเลยที่มาอำนวยความสะดวกให้โจทก์มากยิ่งขึ้นเท่านั้น หาทำให้ จ. กลับกลายเป็นตัวแทนของโจทก์ไปทำธุรกรรมกับจำเลยไม่ จ. เพียงทำหน้าที่นำเอกสารที่ใช้ในการถอนเงินและซื้อหน่วยลงทุนไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อแล้วรับเอกสารจากโจทก์ไปมอบให้พนักงานของจำเลยที่มีอำนาจหน้าที่ในการทำธุรกรรมนั้น ๆ เป็นผู้ดำเนินการต่อ หาใช่ว่า จ. เป็นผู้รับทำธุรกรรมให้โจทก์ด้วยตนเองไม่         ดังนั้น แม้ขณะทำธุรกรรมดังกล่าว จ. ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้แนะนำการลงทุนดังที่จำเลยฎีกา การกระทำของ จ. ก็ยังอยู่ในขอบอำนาจและในกิจการที่ได้รับมอบหมายจากจำเลย เมื่อ จ. นำใบนำฝาก/โอน มาทำรายการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์เข้าบัญชีของบุคคลอื่นโดยมิได้นำไปซื้อหน่วยลงทุนอันผิดไปจากความประสงค์ของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ จ. ลูกจ้างของจำเลยกระทำไป ในทางการที่จ้างโจทก์สามารถตรวจสอบได้โดยง่ายว่า จ. ได้ซื้อหน่วยลงทุนถูกต้องตามความประสงค์ของโจทก์ในแต่ละครั้งหรือไม่ โดยการเรียกสมุดคู่ฝากบัญชีและสมุดบัญชีกองทุนรวมทั้งเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบทุกครั้งภายหลังจากที่ได้มอบหมายให้ไปทำธุรกรรม ทั้งการโอนเงินตามฟ้องแต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกัน หากโจทก์ได้ตรวจสอบดังเช่นวิญญูชนพึงกระทำก็ย่อมจะทราบได้ตั้งแต่แรกว่ามีการทำธุรกรรมผิดไปจากความประสงค์ของตน ซึ่งอาจจะอายัดเงินในบัญชีของผู้รับโอนกลับคืนมาได้ทันหรืออย่างน้อยก็ทำให้สามารถป้องกันมิให้เกิดความเสียหายซ้ำอีก แต่โจทก์กลับมอบสมุดคู่ฝากบัญชีและสมุดบัญชีกองทุนให้ จ. เป็นผู้เก็บรักษา ทั้งยังปล่อยปละไม่ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมจนเวลาล่วงเลยมานานหลายเดือนจึงทราบเหตุละเมิด ถือได้ว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์ประกอบด้วย         การกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชำระแก่โจทก์มากน้อยเพียงใด จึงต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งละเมิดแล้ว เห็นว่า ความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดขึ้นเพราะฝ่ายจำเลยเป็นผู้ก่อมากกว่า ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์สองในสามส่วน เป็นเงินรวม 14,333,333.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,000,000 บาท นับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ของต้นเงิน 3,666,666.67 บาท นับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 และของต้นเงิน 6,666,666.67 บาท นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2558 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดรวม 21,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน และเมื่อศาลฎีกาแก้ไขจำนวนเงินที่ให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ จึงเห็นสมควรแก้ไขค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยใช้แทนโจทก์เสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีด้วย

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 186 ซื้อขายที่ดินกันปลอมๆ เพื่อให้กู้เงินธนาคารได้ มีผลทางกฎหมายอย่างไร

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่าน กลับมาพบกันอีกครั้งนะครับ ในเล่มนี้อยากจะพูดถึงเรื่องของคนที่มีทรัพย์สินเป็นที่ดินและบ้าน แต่อยู่ไปอยู่มากลายเป็นหนี้ กลายเป็นคนไม่มีเครดิต แล้วกำลังจะถูกเขายึดบ้านยึดที่ไปขาย เมื่อไม่อยากให้ที่ดินและบ้านของตนถูกบังคับใช้หนี้  จึงหาทางออกโดย ไปตกลงกับเพื่อนหรือญาติที่เครดิตดีกว่า ให้นำบ้านและที่ดินไปจำนองเพื่อกู้ยืมเงินธนาคารแทน ซึ่งก็มีเรื่องจริงเกิดขึ้นกับท่านหนึ่ง เขาก็ไปทำสัญญาซื้อขายกันบังหน้า เพื่อให้เพื่อนที่เครดิตดีกว่าไปกู้เงินธนาคารมาให้ โดยมีข้อตกลงกันว่าเจ้าของที่ดินและผู้กู้เงินธนาคารจะเป็นผู้ผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารคนละครึ่งผ่อนหมดจะแบ่งที่ดินคืนครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งตกเป็นของผู้กู้และทำสัญญาเช่าที่ดินกับผู้กู้เงินเป็นประกัน เพื่อให้ผ่อนหนี้เงินกู้ตามสัญญา ต่อมาเจ้าของที่ดินไม่ชำระหนี้ตรงตามกำหนด คนที่กู้เงินและมีชื่อในโฉนดที่ดินจึงนำสัญญาเช่ามาฟ้องขับไล่เจ้าของที่ดินเป็นคดี ซึ่งเรื่องนี้ ได้สู้คดีกันจนถึงศาลฎีกา และศาลได้ตัดสินไว้ว่า สัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินและสัญญาเช่าดังกล่าว ทำกันโดยไม่มีเจตนาจะซื้อขายกันจริง หรือเช่ากันจริง จึงเป็นเจตนาลวง ไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย แต่เรื่องนี้ มีข้อสัญญาบางส่วน ซึ่งศาลมองว่าใช้บังคับกันได้ แยกออกจากสัญญาซื้อขาย หรือเช่าดังกล่าว โดยมองเจตนาแท้จริงว่า ต้องการแบ่งที่ดินกันคนละครึ่ง เมื่อเจ้าของที่ดินผ่อนชำระหนี้ตามที่ตกลง จึงมีฐานะเป็นเจ้าของร่วม ผู้กู้จึงไม่มีสิทธิไปฟ้องขับไล่เจ้าของที่ดิน  โดยมีรายละเอียดตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2952/2554 ดังนี้ สัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาทเป็นสัญญาที่ทำขึ้นโดยไม่มีเจตนาแท้จริงให้ผูกพันกัน เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์และจำเลย เพื่อให้โจทก์นำที่ดินและบ้านพิพาทไปจำนองเป็นประกันหนี้กู้ยืมต่อธนาคาร และให้จำเลยทำสัญญาเช่าเพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคาร สัญญาซื้อขายและสัญญาเช่าดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง เจตนาที่แท้จริงของโจทก์และจำเลยเกิดจาก ส. และจำเลยเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยเนื่องจากเจ้าหนี้จะยึดที่ดินและบ้านที่อยู่อาศัยชำระหนี้ แต่จำเลยและ ส. ไม่สามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารมาชำระหนี้ได้ จึงต้องขอให้โจทก์เป็นผู้กู้ยืมเงินให้เพื่อนำเงินไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของจำเลย เพื่อจะนำที่ดินมาเป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยและ ส. โดยจำเลยและ ส. มีหน้าที่ร่วมกันผ่อนชำระหนี้ที่โจทก์กู้ยืมมาคนละครึ่ง หากจำเลยและ ส. ร่วมกันชำระหนี้จนครบ 10 ปี ตามสัญญาจำนอง หนี้จะหมด จำเลยมีสิทธิได้แบ่งที่ดินส่วนที่จำเลยปลูกบ้านแล้วจำนวนครึ่งหนึ่งของที่ดินทั้งหมดนอกจากส่วนที่กันเป็นถนน ส่วนที่ดินที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจะตกเป็นของ ส. ซึ่งถือเป็นตัวการซึ่งเชิดโจทก์เป็นตัวแทนทำนิติกรรมแทน ส. สัญญาตามบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาซื้อขายที่ดินแม้จะถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท แต่เจตนาที่แท้จริงของโจทก์และจำเลยที่ต้องการให้ ส. และจำเลยมีที่ดินอยู่อาศัยคนละครึ่ง จึงให้จำเลยร่วมผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารครึ่งหนึ่ง เพื่อว่าเมื่อจำเลยร่วมผ่อนชำระหนี้ครบแล้วจะได้แบ่งที่ดินครึ่งหนึ่ง จึงพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีเจตนาจะให้ตกลงในส่วนนี้แยกออกจากสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท ข้อตกลงในส่วนนี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะและมีผลผูกพันโจทก์ว่า เมื่อจำเลยร่วมผ่อนชำระหนี้จำนองแก่ธนาคารแม้เพียงบางส่วนจำเลยก็มีสิทธิในที่ดินพิพาทฐานะในเจ้าของร่วมด้วยเช่นกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทอีกเรื่อง เป็นกรณีโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เอาที่ดินตาม น.ส.3 ก. ของโจทก์ทำสัญญาขายฝากไว้แก่จำเลยเพื่อยืมเงินจากจำเลย 30,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยอ่านหนังสือไม่ออก จึงไม่ทราบว่าสัญญาที่ทำเป็นสัญญาซื้อขายมิใช่สัญญาขายฝาก ในวันเดียวกันที่ทำสัญญาดังกล่าว จำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์ว่าการทำสัญญาซื้อขายข้างต้นนั้นเป็นการขายฝากที่ดินมีกำหนด 2 ปี สัญญาซื้อขายที่ดินจึงเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาขายฝาก ต่อมาโจทก์ขอไถ่ถอนที่ดินจากจำเลย จำเลยไม่ยอมให้ไถ่ถอน จึงมาฟ้องคดีเพื่อให้จำเลยรับเงินจากโจทก์และโอนที่พิพาทคืนโจทก์ ซึ่งศาลก็มองว่าเรื่องนี้ เป็นการทำ “นิติกรรมอำพราง” คือทำสัญญาซื้อขายกันลวงๆ โดยเจตนาแท้จริงที่อำพรางไว้ คือให้เป็นสัญญาขายฝากที่ดิน ซึ่งก็ต้องบังคับตามสัญญาขายฝาก แต่เรื่องนี้ การขายฝากไม่ได้จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลจึงถือว่าที่ดินดังกล่าว ที่จำเลยได้ไปเป็นลาภมิควรได้ จึงต้องคืนที่ดินให้โจทก์  โดยมีรายละเอียดตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 165/2527โจทก์ต้องการกู้เงินจำเลย จำเลยไม่มีเงิน จึงตกลงจดทะเบียนซื้อขายที่พิพาทมี น.ส.3ก. เพื่อจำเลยจะได้นำน.ส.3ก. ไปยืมเงินเพื่อนมาให้โจทก์กู้ หลังจากนั้นอีก4 วันโจทก์มารับเงินจากจำเลย แล้วโจทก์จำเลยทำสัญญาขายฝากที่พิพาทกันเอง ดังนี้ ถือได้ว่าการทำสัญญาซื้อขายที่พิพาทเพื่ออำพรางสัญญาขายฝาก สัญญาซื้อขาย จึงเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณี ที่จะไม่ผูกพันกันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคแรก( ปัจจุบันคือ มาตรา 155 )  ส่วนนิติกรรมขายฝากที่ถูกอำพรางไว้ เมื่อไม่ได้จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 115 กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้โจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลย และจำเลยต้องคืนที่ดินให้โจทก์จากตัวอย่างกรณีพิพาทที่ยกมาให้ศึกษากันนี้ ก็อยากเตือนผู้บริโภคว่า การทำสัญญาใดๆ ก็ตาม เราควรทำอย่างสุจริต ไม่ควรไปเสี่ยงทำสัญญากันหลอกๆ เพื่อให้มีผลผูกพันกันโดยไม่มีข้อสัญญาเป็นหนังสือรับรอง เพราะเมื่อภายหลังเกิดการผิดข้อตกลงกัน สัญญาเหล่านี้จะไม่มีผลใช้บังคับกันได้ และเกิดปัญหาต้องมาพิสูจน์ซึ่งอาจทำได้ยากลำบาก และหากคู่สัญญาของเราเกิดอยากเอาเปรียบเราก็จะทำให้เดือดร้อนได้  หลักที่ว่าสัญญาต้องเป็นสัญญาก็ไม่สามารถนำมาใช้กับกรณีเช่นนี้ได้นะครับ  ซึ่งหากโชคร้ายท่านก็อาจต้องสูญเสียทรัพย์โดยไม่ตั้งใจ ดังนั้นขอให้มีสติก่อนที่จะทำสัญญาใดก็ตาม และทำด้วยความระมัดระวังอ่านข้อสัญญาต่างๆ ให้ดี เพื่อคุ้มครองสิทธิของตนเองไม่ให้ถูกใครมาเอาเปรียบได้นะครับ สำหรับวันนี้ ก็ขอจบเพียงเท่านี้ ไว้พบกันใหม่ในฉบับหน้าครับ สวัสดีครับ

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 138 อายุความสัญญาฝากทรัพย์ (3)

ตอนจบของฎีกา(ที่  8772/2550) เรื่อง  ฝากเงินไว้แล้วไม่ได้ติดต่อกับธนาคารไปเกือบสิบปี เมื่อไปถอนเงินโดนปฏิเสธ ... ตลอดจนการที่จำเลยสั่งยกเลิกบัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์ในปี 2516 แล้วโอนเงินที่ยังคงเหลืออยู่ทุกบัญชีรวมทั้งบัญชีของโจทก์ไปเข้าบัญชีไม่เดินหรือบัญชีพักเพื่อให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกค้าไปติดต่อขอรับเงินที่ยังคงเหลืออยู่คืนดังที่พยานจำเลยเบิกความอ้างมาส่งเป็นพยานหลักฐานยืนยันข้ออ้างข้อเถียงของจำเลยแต่ประการใด คงมีเพียงคำเบิกความของนายสมเกียรติพยานจำเลยเพียงปากเดียวที่กล่าวอ้างขึ้นลอยๆ อีกทั้งยังได้ความจากนายสมเกียรติว่าหากโจทก์ไม่ได้นำสมุดฝากเงินไปตรวจสอบและปรับยอดเงินตามที่จำเลยได้ระบุไว้ในบัญชีของจำเลยก็ไม่ทำให้โจทก์เสียสิทธิในการเบิกถอนเงินแต่อย่างใด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากฎข้อบังคับอันเป็นเงื่อนไขที่จำเลยระบุไว้ในสมุดฝากเงินเป็นเพียงระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้อย่างกว้างๆ มิได้เป็นกฎข้อบังคับที่ใช้อย่างเคร่งครัด   ส่วนที่นายสมเกียรติพยานจำเลยเบิกความว่า ธนาคารจำเลยจะเก็บเอกสารเกี่ยวกับการเบิกถอนหรือจ่ายเงินไว้เพียง 10 ปี หลังจากนั้นจำเลยจะนำไปทำลายตามระเบียบของจำเลยนั้น ก็เป็นระเบียบที่จะต้องปฏิบัติภายในองค์กรของจำเลยเองไม่มีผลที่จะนำมาใช้ต่อสู้คดีกับบุคคลภายนอกหรือเป็นเหตุให้ระยะเวลาการรับฝากเงินของจำเลยสิ้นสุดไปด้วย ส่วนที่จำเลยอ้างในฎีกาว่า อาจเป็นไปได้ที่โจทก์สั่งจ่ายเงินโดยเช็คออกจากบัญชีหมดแล้วและไม่ได้นำสมุดฝากเงินไปปรับยอดเงิน จึงไม่ปรากฏยอดเงินที่จำเลยค้างชำระคืน บัญชีของลูกค้าเช่นจำเลยจึงถูกปิดไปโดยระบบนั้น ก็เป็นการคาดคะเนของจำเลยเองโดยไม่มีพยานหลักฐานใดๆ มานำสืบให้เห็นจริงตามที่อ้างดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้ตราบใดที่จำเลยยังมิได้บอกเลิกสัญญาฝากทรัพย์ซึ่งจำเลยออกสมุดฝากเงินมอบให้โจทก์ไว้เป็นหลักฐาน สัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ตลอดไปดังนี้ แม้โจทก์จะฝากเงินเมื่อปี 2504 การที่โจทก์ขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากแล้วจำเลยไม่ยอมจ่ายเงินให้อ้างว่า ไม่พบว่ามียอดเงินในบัญชี จึงเป็นการผิดสัญญาฝากทรัพย์ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความไว้ ต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ขอถอนเงินในระหว่างเดือนธันวาคม 2544 ถึงเดือนมกราคม 2545 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 10 เมษายน 2545 ยังไม่ถึง 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่คิดดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามฟ้องนั้นชอบแล้วหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่จำเลยรับฝากจากโจทก์ไว้คืนโดยเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 22,596.33 บาท โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นทุกๆ ปี นับตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2507 จนถึงวันฟ้องและคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวทบต้นนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ซึ่งปรากฏว่าจำเลยมิได้ให้การโต้แย้งไว้ว่าดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือเกินความเป็นจริงแต่อย่างใด คงให้การต่อสู้แต่เพียงว่าโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นเอากับจำเลยได้เท่านั้น รวมทั้งมิได้นำสืบหักล้างอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ฟ้อง ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังเป็นยุติตามที่โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ภาระการพิสูจน์ว่าในแต่ละช่วงโจทก์ได้รับดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราเท่าใดและมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้หรือไม่ เป็นหน้าที่ของโจทก์ซึ่งจะต้องนำสืบเพื่อแสดงให้เห็นว่าการคิดดอกเบี้ยของโจทก์เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของธนาคารจำเลยที่เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับลูกค้าที่นำเงินมาฝากกับจำเลยตลอดจนข้อตกลงเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นให้ศาลเห็น เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้ศาลเห็นในประเด็นดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นตามที่โจทก์ขอได้นั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายสมเกียรติพยานจำเลยว่าจำเลยจะคิดดอกเบี้ยให้โจทก์ตามสมุดฝากเงินดังกล่าวปีละ 2 ครั้ง หากมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นก็จะนำดอกเบี้ยและเงินฝากมาเป็นต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่นำมารวมได้นั้นในลักษณะคล้ายๆ กับการคิดดอกเบี้ยทบต้นนั่นเอง และโจทก์สามารถใช้สมุดฝากเงินเบิกถอนดอกเบี้ยออกจากบัญชีได้ ซึ่งข้อเท็จจริงตามที่ได้ความดังกล่าวเจือสมกับคำเบิกความของโจทก์และสอดคล้องกับรายการคิดดอกเบี้ยในสมุดฝากเงินอีกด้วย ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ได้นำสืบพิสูจน์ให้เห็นในเรื่องนี้โดยชัดแจ้งแล้วและเห็นได้ว่าการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยมาจนถึงวันฟ้องเพียงปีละ 1 ครั้งนั้น นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยมากอยู่แล้ว ทั้งนี้เพราะเงื่อนไขตามกฎข้อบังคับที่ระบุไว้ในสมุดฝากเงินนั้น จำเลยจะต้องคิดดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ถึงปีละ 2 ครั้ง อันเป็นกฎข้อบังคับที่จำเลยกำหนดขึ้นเองในการรับฝากเงินจากโจทก์ตามสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลย เมื่อสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวยังมิได้ถูกยกเลิกหรือระงับสิ้นไป จำเลยจึงหามีสิทธิที่จะปฏิเสธความรับผิดตามกฎข้อบังคับดังกล่าวต่อโจทก์ได้โดยลำพัง ทั้งกฎข้อบังคับซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยตามสัญญาฝากทรัพย์ดังกล่าวก็มิใช่ข้อตกลงที่ต้องห้ามตามกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่ประการใด แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยทบต้นถึงวันฟ้องนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินให้แก่โจทก์ตามหนังสือตอบเรื่องบัญชีเงินฝากของจำเลยแล้ว ย่อมถือได้ว่าสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยมีหนังสือดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันดังกล่าวเป็นเงิน 342,318.99 บาท ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน” พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 342,318.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 136 อายุความสัญญาฝากทรัพย์ (1)

ฉบับนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคไปเปิดบัญชีฝากเงินไว้กับธนาคารชื่อดัง เค – แบ็งก์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ไปถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อ ปี พ.ศ. 2507 มียอดเงินฝากคงเหลืออยู่ในสมุดคู่ฝากจำนวน 22,596.33 บาท แล้วก็เก็บสมุดไว้และไม่ได้ไปทำธุรกรรมใดๆ กับธนาคารอีกเลย ต่อมาเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2544 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2545 ผู้บริโภคไปติดต่อถอนเงินจากธนาคารดังกล่าว ธนาคารปฏิเสธและแจ้งว่า ไม่มียอดเงินเหลืออยู่ในบัญชีที่ผู้บริโภคอ้าง ผู้บริโภคจึงไปฟ้องศาลดำเนินคดี คดีนี้มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่น่าสนใจหลายประการ จึงขอนำคำพิพากษาศาลฎีกามาลงให้แบบ “ จัดเต็ม “ ให้เห็นว่าศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไว้อย่างไรบ้าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8772/2550 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่ฝาก 347,070.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นทุกๆ สิ้นปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์   จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 22,596.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 347,070.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ รับฝากเงินจากบุคคลทั่วไปโดยให้ดอกเบี้ยเป็นการตอบแทน เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2504 โจทก์ได้เปิดบัญชีเงินฝากแบบสะสมทรัพย์และนำเงินฝากไว้กับจำเลยที่สาขาพัฒนพงศ์ เป็นบัญชีเลขที่ 1194 หลังจากนั้นโจทก์ได้นำเงินเข้าฝากและถอนออกไปตลอดมาโดยโจทก์ได้ถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้าย 3 ,000 บาท เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2507 ซึ่งในวันดังกล่าวโจทก์ยังคงมีเงินฝากเหลืออยู่ 22,596.33 บาท ปรากฏตามสมุดฝากเงินที่จำเลยทำมอบให้ไว้แก่โจทก์เป็นหลักฐาน หลังจากนั้นโจทก์ก็ไม่ได้ติดต่อกับจำเลยอีกเลย ต่อมาในระหว่างเดือนธันวาคม 2544 ถึงเดือนมกราคม 2545 โจทก์ได้ติดต่อขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวกับจำเลย แต่จำเลยปฏิเสธอ้างว่าไม่พบว่ามียอดเงินคงเหลืออยู่ในบัญชีตามที่โจทก์อ้าง ตามหนังสือตอบเรื่องบัญชีเงินฝากของจำเลย คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่าจำเลยต้องชำระเงินฝากคืนให้แก่โจทก์ และโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องถอนเงินคืนจากจำเลยได้ตลอดเวลา โดยโจทก์มีสมุดฝากเงินมาเป็นพยานสนับสนุน ซึ่งตามสมุดฝากเงินดังกล่าวไม่มีข้อความกำหนดระยะเวลาในการรับฝากเงินไว้แต่อย่างใด … เนื้อหามีความละเอียดมาก เพราะฉะนั้นอ่านกันต่อฉบับหน้านะครับ

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)