ฉบับที่ 191 ฉลาดใช้ชีวิต แบบวีระพันธ์ รังสีวิจิตรประภา


ฉลาดซื้อฉบับแรกของศักราชใหม่ พาไปสัมผัสมุมมองจากคนฉลาดซื้อ ที่ไม่ได้สมาร์ทเพียงแค่ตนเอง แต่ยังมองไปถึงภาพรวมของประเทศด้วย ผศ.ดร.วีระพันธ์ รังสีวิจิตรประภา อาจารย์ประจำภาควิชาไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 


อย่าเพิกเฉยกับการถูกละเมิดสิทธิ

“เราคิดว่าเวลาเราซื้อของ ถ้าของแพงต้องเป็นของดี แต่ความเป็นจริงแล้วนั้น ของไม่ดีแต่ราคาแพงเวลาเราซื้อมาก็จะรู้สึกเจ็บใจ ทำไมเราเสียค่าโง่กับของไม่ดีแล้วยังราคาแพงอีก เหมือนซื้อของปลอมเพราะเราคิดว่ามันคือของจริง พอเรารู้ว่าปลอมมันก็เสียความรู้สึก  แต่ในทางกลับกันถ้าเราซื้อของปลอมแล้วเราได้ของดีมาใช้ผมมองว่า มันก็โอนะ 


ในส่วนการคุ้มครองผู้บริโภคผมมองว่า เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ยกตัวอย่าง ถ้าสมมติเราไม่อยากส่งเสริมการใช้ของปลอมและต้องการสนับสนุนคนที่ทำของจริง  นั่นหมายความว่าเราต้องได้รับความคุ้มครองเพราะเราซื้อของจากร้านที่เราเชื่อถือได้ แต่ถ้าเราได้ของปลอมมามันน่าจะต้องมีมาตรการเพื่อคุ้มครองเรา เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด นี่ก็เป็นการฉลาดบริโภค เพราะเรารู้ทันในเรื่องของราคา สิ่งสำคัญเวลาที่เราจะซื้อ อย่างตัวผมเองไม่ได้แพ้(สารเคมี) อะไรเวลาซื้อก็ไม่ต้องระวัง แต่สำหรับคนที่แพ้เคยพบว่า ตัวเองเคยแพ้อะไรมาบ้างอย่างน้อยสาระสำคัญเหล่านั้น จะต้องสามารถมาตรวจสอบกับสินค้าที่เราจะซื้อว่าไม่มีสารที่เราแพ้จริง ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ถ้าผู้บริโภคมีความรู้ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรแต่ถ้าไม่มีจะทำอย่างไร 


ผมยกตัวอย่าง เช่น มีคนไม่ทราบว่าตัวเองแพ้อาหารทะเลแล้วก็ไปบริโภคอะไรที่เราไม่รู้ว่าเขาใส่สิ่งที่เราแพ้ลงไปด้วยจนกระทั่งมันเกิดอาการแพ้กับเรา ถามว่า สิทธิผู้บริโภคเองกับเรื่องพวกนี้ เขาควรจะทราบก่อนไหม กรณีฉลาดบริโภคก็คือ เราได้ของดีในราคาที่เราพอใจ ราคาไม่เอาเปรียบเราแล้วเราก็ได้รับสิทธิในการคุ้มครองจากการที่เราได้รับความเสียหายจากการบริโภคสินค้านั้น ซึ่งอาจจะผ่านทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) หรือ สคบ. ก็แล้วแต่กรณี ถ้าผ่าน มพบ. ผมมองว่าข้อได้เปรียบที่เป็นจุดแข็ง คือการกัดไม่ปล่อย การติดตาม ถ้าทาง สคบ. ก็ดีในแง่ที่ว่าการเยียวยาและกลไกทางศาล ก็จะมีข้อดีไม่ดีต่างกันนิดหน่อย นอกจากนี้เมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบพิสูจน์แล้วพบว่า ร้านนี้ขายสินค้าที่ติดเครื่องหมายมาตรฐาน แต่ปรากฏว่าติดเครื่องหมายปลอม ก็จะมีกฎหมายในการเล่นงานร้านค้าว่า คุณจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้รับการรับรอง ก็จะมีช่องทางกฎหมายของเขาอยู่ นี่คือสิทธิผู้บริโภคอย่างหนึ่งที่ผู้บริโภคควรทำ 


อย่ามองว่าไม่เป็นไรเป็นความโชคร้ายและเราก็เพิกเฉย มันก็จะเกิดผู้เสียหายรายใหม่เพิ่มมากขึ้นและทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีจริยธรรมก็ยังมีความสุขในการขายของคุณภาพต่ำ เป็นการเอาเปรียบคนอื่นต่อไป ซึ่งผมมองว่าไม่ควรจะไปสนับสนุนเขาแบบนั้น ถ้าเราช่วยกันสอดส่องดูแล เรียกว่าช่วยซึ่งกันและกัน เราก็จะมีแต่สินค้าที่มีคุณภาพในบ้านเรา และกำจัดพวกผู้ประกอบการที่ไม่มีจริยธรรมนั้นให้หมดจากวงการ เราจะได้อยู่ในประเทศที่มีทั้งฉลาดซื้อ ฉลาดเลือก ฉลาดใช้แล้วก็ยังได้รับการคุ้มครองด้วย นี่คือสิทธิของผู้บริโภคที่ควรจะได้รับ


ฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ในแบบดร.วีระพันธ์

คือ ส่วนตัวผมไม่ขับรถ ความคิดที่ไม่ใช้รถส่วนตัวเพราะคิดว่าผมใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ซึ่งมีทั้งรถรับจ้าง รถสาธารณะ ถ้าเราไม่มีภาระอะไรที่ต้องรับผิดชอบหนักๆ การเดินทางโดยรถสาธารณะมันทำให้ชีวิตในการเดินทางของเราดีที่สุด ถ้าการจราจรติดขัดเราก็มีรถไฟฟ้า มีรถใต้ดิน มีมอเตอร์ไซค์หรือแม้แต่เรือ ทุกครั้งเวลาเดินทางต้องถามว่าเราเดินทางไปไหน เวลาไหน ผมก็จะรู้ว่าจะต้องนั่งรถอะไร ขึ้นทางด่วนไหม ต้องต่อรถหรืออะไรก็ว่ากันไป มันก็ทำให้ผมรู้สึกว่าชีวิตมันมีความคล่องตัวดี เพราฉะนั้นผมจึงมองว่าถ้าใช้ชีวิตในเมืองเป็นส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้รถ 


มองให้กว้างขึ้นในประเด็นที่ผมนึกถึง คือ การที่เราไม่มีรถ 1 คันหรือคิดง่ายๆ ว่าทุกวันนี้ปริมาณถนนที่อยู่ในเมืองมันจำกัดแต่ปริมาณรถนั้นมันเพิ่มขึ้น จุดที่เราเรียกว่า จุดอิ่มตัว ก็เป็นปริมาณรถยนต์ต่อเวลานั้นๆ ใน 1 วันมันได้สูงสุดเท่าไร ยิ่งมันเกินตรงนั้นมากเท่าไร การติดขัดก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเราไม่ไปเพิ่มจำนวนตรงนั้นอีก 1 คันนั้น ก็หมายถึงว่าเราก็ไม่ไปเพิ่มการติดขัด กรณีคนโสดที่อยู่คนเดียวส่วนใหญ่นั้น ถ้าลดปริมาณการใช้รถลง สังเกตช่วงวันหยุดยาวปริมาณรถบนถนนเบาบาง การเคลื่อนที่ก็คล่องตัวขึ้นในแง่ว่าเราลด 10 % เราจะใช้เวลาบนถนนน้อยลงเกือบ 2 ชั่วโมง คือ เราต้องปล่อยให้คนที่มีความจำเป็นเขาใช้รถไม่ว่ากัน แต่ถ้าเราไม่จำเป็นต้องเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว เพราะรถไฟฟ้าก็ถึงเราก็ช่วยกันลด และมันทำให้เวลาขับเข้าไปในเมืองพื้นที่จอดไม่มี ก็ไปจอดกันบนถนนยิ่งทำให้เป็นการเพิ่มอุปสรรคในการระบายรถอีก คือถ้าพวกเราช่วยกัน ให้คนในเมืองมองเรื่องนี้แล้วช่วยกันคนละไม้คนละมือมันก็จะแก้ปัญหาเรื่องการจราจรได้เยอะทีเดียว นี่เป็นประโยชน์ที่เรามองเห็น 


กลับมามองประโยชน์อีกด้านหนึ่ง ประโยชน์ในเรื่องของค่าใช้จ่ายเราเอง โดยส่วนตัวผมเองผมมองว่า ถ้าเราซื้อรถยนต์ 1 คันเราต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรอีกจิปาถะ ไม่ว่าจะค่าผ่อนรถ ค่าประกัน ค่าเชื้อเพลิงหรือไม่ว่าค่าบำรุงรักษา ถ้าเราไม่ซื้อค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้ไม่เกิดขึ้น ผมยกตัวอย่างวิธีคิด ซึ่งอาจจะประหลาดๆ นิดหน่อย คือ บ้านผมนั้นอยู่นางเลิ้งผมต้องมาทำงานที่จุฬาฯ ค่ารถที่ผมใช้ทุกวันนี้คือ 80 บาท คิดเป็น 100 ก็ได้ตัวเลขกลมๆ คิดง่าย 100 บาท ไป – กลับวันหนึ่งเท่ากับ 200 บาท  เดือนหนึ่งผมทำงาน 30 วันเลยไม่ต้องหยุดก็ตกเดือนละ 6,000 บาท ผมถามว่า เดือนละ 6,000 บาทผมจ้างคนขับรถได้ไหม มีรถให้ มีคนเติมน้ำมันให้ฟรี มีคนทำประกันให้อีก มีคนจ่ายค่าซ่อมต่างหาก ยังไม่ได้เลย แต่เรามองกลับกันเงินให้คนขับรถเอาที่เท่าไรดีเขาถึงจะโอเค สมมติเขาขอ 18,000 บาท ถ้าเราคิดวันทำงาน 30 วันเท่ากับตกวันละ 600 บาทหรือ 300 บาทต่อเที่ยว เพราะฉะนั้นถ้าใครที่เดินทางโดยแท็กซี่ต่ำกว่า 300 บาทต่อเที่ยว ก็คือผู้ที่เข้าข่ายว่าไม่ควรขับรถ คือนั่งแท็กซี่น่าจะดีกว่า เรื่องปลอดภัยนั้นอีกเรื่องเพราะผู้หญิงบางคนก็ไม่ควรนั่งรถเพราะมันดูจะอันตรายเกินไป เรียกว่ารูปร่างทำร้ายตัวเองอันนี้ก็เข้าข่ายเป็นเรื่องจำเป็นไป 


ผมมองว่า คนไทยมีนิสัยความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า การมีทรัพย์สินบนตัวหรือโชว์ด้วยยานพาหนะดูเป็นคนมีฐานะ ถ้าเราบอกว่า เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องประเด็นหลักของชีวิตก็ไม่จำเป็นต้องมี นี่เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมคิดว่าผมใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเลยไม่จำเป็นต้องมีรถ การไม่มีรถส่งผลดีอีกเรื่องหนึ่งด้วนะ  คือว่าเราไม่ต้องมีรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เมื่อไม่มีรถก็ไม่ต้องออกไปไหน ไม่ต้องไปกินข้าวนอกบ้านเพราะไม่รู้จะไปจะกลับอย่างไร อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไปจ่ายมัน เศรษฐกิจในตอนนี้ถ้าเราออมอะไรได้มากขึ้นอนาคตก็จะสบายมากขึ้น


จะทำอย่างไรให้คนก้าวข้ามความคิดในกรอบเดิมๆ 

ผมเคยเรียนที่เยอรมัน เพื่อนฝรั่งเยอรมันก็เคยมาที่เมืองไทย เขาบอกว่า คนไทยแปลกเรื่องเสียหน้าเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องเสียตังเรื่องเล็ก ผมฟังแล้วก็เห็นด้วยเพราะมองว่า คนไทยนั้นแม้แต่คนเรียนจบใหม่ๆ เงินเดือนยังไม่เท่าไรก็จะผ่อนบ้านแล้ว หลายคนเลยเลือกผ่อนรถก่อน ผมถามว่าจำเป็นต้องใช้รถขนาดนั้นไหม ซึ่งหลายคนอาจจะจำเป็น เช่น คนที่เป็นเซลล์แต่หลายคนเป็นพนักงานบริษัทที่มีบริษัทตั้งอยู่แนวรถไฟฟ้า อยู่ติดถนนใหญ่ คือกลุ่มคนพวกนี้ถ้าเป็นไปได้ก็อยากชวนว่า คนที่ใช้รถอยู่ทุกวันนี้ถ้าลดได้สัก 10 % ผมว่าการจราจรกรุงเทพฯ ก็จะเบาบางได้อีก คือมันเป็นลักษณะของพฤติกรรมหนึ่งที่ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ และเราต้องคิดในแง่หนึ่งที่ผมนึกถึงพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 8 ที่ตรัสว่าให้คิดประโยชน์ของคนอื่นเป็นที่ 1 และคิดถึงประโยชน์ตัวเองเป็นที่ 2 ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือในสิ่งเหล่านี้ 


มีบางคนบอกผมว่า ก็เขามีรถมันก็เลยต้องใช้ ผมจึงบอกไปว่าขายไปเสียจะได้ไม่มี หรือเก็บไว้ใช้ออกนอกเมืองหรือใช้ไปทำงานในที่ที่ไม่ใช่การเดินทางปกติที่ไป - กลับลำบาก เดี๋ยวนี้คนที่อยู่ในหมู่บ้านก็มีเรียกรถ โดยสั่งผ่านแอปพลิเคชั่น ถ้าไม่ได้ลำบากมากมายก็เป็นทางเลือกที่น่าทดลองดูก็ได้ ถ้าการจ้างคนขับคนหนึ่งเงินเดือนสัก 18,000 บาทกับการที่เราจ้างคนขับแท็กซี่แทน ก็เป็นประเด็นที่ผมมองว่านี่คือสิทธิผู้บริโภค ทุกคนมีสิทธิที่จะมีทรัพย์สิน มีรถยนต์แต่ที่ผมมองคือ ตอนนี้ปัญหามันมากมายกับเรื่องรถยนต์ การแก้ปัญหาจราจรไม่ใช่หมายความว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐฝ่ายเดียว วิธีแก้ปัญหาจราจรไม่ใช่การเพิ่มถนน ไม่ใช่เพิ่มทางด่วนแต่วิธีแก้จราจรที่ยั่งยืนที่สุดเลยคือลดจำนวนคนขับรถ ถ้าจำนวนผู้ขับไม่ลด คน 1 คนจะซื้อรถ 10 คันก็ได้แต่ถ้า 1 คนรถ 10 คันไม่ได้ขับแม้แต่คันเดียวมันก็คือ 1 คันหายไป คือการจะทำนโยบายวันคู่วันคี่ ป้ายทะเบียนคู่คี่คือคนมีเงินเขาซื้อได้หมด แต่คนที่ไม่มีต่างหากที่เขาจำเป็นต้องใช้ คนอาจจะไม่มีฐานะมากมายแต่อาจจะเป็นเพราะลูกยังเล็กต้องส่งหลายที่เขาก็คงจะลำบากถ้าไม่มีรถ เราอยากให้คนกลุ่มนี้ต่างหากที่ควรจะขับรถแล้วไม่ต้องไปใส่มาตรการอะไรเลยที่ทำให้คนกลุ่มนี้มีรายจ่ายเพิ่ม เพียงแต่เราเปลี่ยนคนกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าจริงๆ แล้วไม่ได้จำเป็นมากมาย ไม่เห็นต้องมีคำว่าเสียหน้าเลย คนที่เสียหน้าแต่กระเป๋าตังหนาผมว่ามันยังดูดีกว่าคนที่มีหน้าแต่กระเป๋าตังบาง คือถ้ามุกคนเปลี่ยนความคิดตรงนี้ได้ ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรที่ยั่งยืน


บริการรถสาธารณะที่ดีต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกคน 

ส่วนตัวผมขอเปรียบไปที่ประเทศเยอรมัน ที่ผมเคยอยู่นั้น อย่างบ้านเราก็จะมีรถที่ให้บริการรถ BRT ให้บริการเส้นสาทร – นางลิ้นจี่ ซึ่งมีช่องรถของเขาเอง เพราะฉะนั้นเขาวิ่งของเขาได้ ที่เมืองนอกก็จัดบริการอย่างนั้น เมื่อก่อนเรามีรถเมล์เดินทางเดียว ซึ่งปัจจุบันเราก็พยายามจะลดตรงนั้นลงเพื่อให้รถมีพื้นที่สัญจรมากขึ้น ก็เลยทำให้คนที่นั่งรถสาธารณะต้องติดเหมือนคนที่นั่งปกติ เพราะฉะนั้นนโยบายภาครัฐผมค่อนข้างจะเห็นด้วยกับการทำให้มีช่องทางรถโดยสารสาธารณะเองให้คนที่โดยสารสาธารณะเดินทางได้เร็วขึ้นมันจะเท่ากับช่วยดึงดูดให้คนที่ใช้รถประเภทไม่มีความจำเป็นมานั่งรถโดยสารสาธารณะมากขึ้นก็จะเป็นประโยชน์มาก


ผมคิดเรื่องการสร้างจิตสำนึกว่าการช่วยกันคนละไม้คนละมือ เหมือนเวลาเรามีภัยพิบัติก็ยังช่วยกันได้ กรณีอย่างนี้เหมือนกันถ้าเราคิดว่าเราไม่ใช่คนมีฐานะมากมายต้องการลดค่าใช้จ่าย ผมว่าเปลี่ยนพฤติกรรมการขับรถมาเป็นนั่งรถสาธารณะ อย่างน้อยทำให้เราไม่ต้องซื้อของเยอะเพราะซื้อเยอะก็ขนไม่ไหว คิดง่ายๆ ขับรถก็ต้องเหนื่อยต้องรถติดอยู่บนถนน รถสาธารณะเราคำนวณเวลาได้ว่าเราต้องออกจากบ้านกี่โมง ถึงกี่โมงในขณะที่รถยนต์ข้างล่างคาดการณ์อะไรไม่ได้เลยแล้วทำไมเราต้องไปเสียเวลากับถนนข้างล่างเพียงแค่ซื้อความสะดวกสบายเรา 


ผมเคยมีกรณีศึกษาเรื่องหนึ่งเป็นประสบการณ์ของตัวเองเลย คือจะต้องเดินทางโดยเครื่องบินตอน 7 โมงเช้าผมตื่นตอน 6 โมงเช้าผมไปขึ้นเครื่องบินทันด้วยรถแท็กซี่ ผมบอกเขาว่าผมรีบที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมยังมานึกอยู่ว่าถ้าผมขับรถเองไม่มีทางเลยเพราะผมต้องหาที่จอด นี่คือตัวอย่างแล้วระหว่างอยู่บนรถเรายังสามารถทำนั่นทำนี่ได้เพราะเรามีคนขับรถ ถ้าขับเองแค่ก้มมาชำเลืองมือถือมันไม่ใช่แค่เราแล้วมันมีเพื่อนร่วมท้องถนนอีก ยิ่งทำให้ช้าเข้าไปใหญ่ คือแค่เราบริหารชีวิตเรามันไม่เพียงลดอุบัติเหตุแต่เรายังมีเวลาทำงานได้อีกก็เลยเปลี่ยนจากเป็นคนขับมาเป็นคนนั่งดีกว่า แถมยังประหยัดเงินรักษาพยาบาลเขาอีกลูกหลานไปโรงเรียนก็ต้องให้เงินเขาอีก ในเมื่อเขาเป็นคนขับแท็กซี่เราลงจากรถเราจ่ายเงินเขาเสร็จหน้าที่ความรับผิดชอบของเราที่มีต่อคนขับรถก็หมดสิ้น เดี๋ยวนี้มีรถอูเบอร์แต่เราไม่ได้ส่งเสริมให้คนที่ต้องการจะโชว์ความมีหน้าตาว่าเราเป็นคุณนายจะมานั่งแท็กซี่ได้อย่างไร เขาให้เราถามได้เลยว่าเราจะได้รถอะไร มันจะสมหน้าตาเราไหม ถึงได้บอกว่าวิธีที่คิดคือว่าเรามองจากตัวเองเราจำเป็นแค่ไหนกับการที่ต้องมี ถ้าไม่มีแล้วเราเดือดร้อนมากแค่ไหน ถ้าเดือดร้อนก็มีไปเถอะไม่เป็นไรถือว่ามันจำเป็น แต่สำหรับคนที่ไม่จำเป็นต้องมีรถแล้วได้ทราบข้อมูลนี้แล้วอยากเปลี่ยนพฤติกรรมลดการใช้รถ 1 คันอาจจะทำให้บนถนนนี้น่าใช้ขึ้นก็ได้ คิดแค่นี้พอ ไม่ต้องไปคิดถึงขนาดว่าฉันลดแต่คนอื่นไม่ลด รถก็ติดเหมือนเดิม แค่เปลี่ยนจากตัวคุณไปใช้รถไฟฟ้า รถใต้ดินแทนมันก็ไปถึงที่หมายได้เร็วกว่าเดิมแล้ว ให้เปลี่ยนที่ตัวเราไม่ต้องไปนึกถึงคนอื่น ไม่ต้องมองว่ารัฐต้องทำนั่น ทำนี่เพราะมันจะเป็นเงื่อนไขให้เราไม่ทำ แต่ถ้าเราทำสิ่งที่ควรทำก่อนแล้วเงื่อนไขมันตามมามันก็จะช่วยเสริมให้ดีขึ้น 


แล้วทีนี้ในส่วนภาครัฐที่ผมมองว่านโยบายค่าน้ำมัน อย่างประเทศบางประเทศอย่างเช่นสิงคโปร์เองมีนโยบายในเรื่องของการขับรถผ่านในย่านที่เป็น Business เมื่อก่อนเราก็เคยติดถนนสีลมใครผ่านย่านนี้ต้องมีใบอนุญาต ผมมองว่าเป็นนโยบายการแก้ไขมากกว่า ผมคิดอีกอันหนึ่ง คือถ้าเป็นนโยบายในเชิงสมัครใจไม่เวิร์ค อาจจะต้องลองนโยบายการบังคับมาใช้ เช่น การเพิ่มราคาน้ำมันเป็นภาษีเรียกว่าภาษีสิ่งแวดล้อม อย่างเยอรมันใช้ภาษีสิ่งแวดล้อมเหมือนกับคนขับรถคุณเติมน้ำมันไป 1 ลิตรนั้นคุณต้องเสียภาษีสิ่งแวดล้อม 5 บาทอันนี้สมมตินะ แล้วภาษีสิ่งแวดล้อมนี้ไปชดเชยให้กับคนที่นั่งรถสาธารณะ ทุกวันนี้เรามีรถเมล์ฟรีสำหรับประชาชนแต่ทุกวันนี้คนอาจไม่อยากนั่งเพราะมันร้อนเราอาจจะเอาค่าน้ำมันตรงนี้เพื่อไปชดเชยให้คนนั่งรถแอร์ฟรี คือคนที่ยอมเสียสละตัวเองไปนั่งรถสาธารณะจะได้นั่งรถฟรีด้วย ก็เป็นนโยบายที่ทำให้ความคิดเปลี่ยน


ฉลาดในการใช้พลังงาน

ในฐานะอาจารย์ด้านไฟฟ้า เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งปรึกษาผมว่า ค่าไฟที่บ้านแพงมาก ที่บ้านอยู่กัน พ่อแม่ลูก ทั้ง 3 คนนี้ออกจากบ้านตอนเช้ากลับมาบ้านก็นอน ค่าไฟเดือนละประมาณ 6,000 บาท ผมเลยบอกไปว่ามันไม่ปกติคน 3 คนใช้เวลาอยู่บ้านเฉพาะกลางคืนค่าไฟไม่น่าจะเกิน 1,200 บาท พอแพงแบบนี้มันเกิดจากอะไร ผมจึงบอกว่า มันน่าจะเป็นไฟรั่ว ประเด็นไฟรั่วไม่ต้องไปหาใครมาซ่อมมาแก้ไข ตัวเองต่างหากต้องแก้ไข วิธีการที่ผมแนะนำก็คือ หาช่างไฟมาเปลี่ยนคัทเอาท์แล้วก็ทำวงจรเดินสายไปที่ตู้เย็นที่เหลือก็ยกคัทเอาท์ลงทั้งบ้านเลย หรือถ้าใครบอกว่าบ้านใหญ่มันซับซ้อนมากกว่านั้น คือบ้านมีคนอยู่ ยกตัวอย่างอุปกรณ์ที่มีมอเตอร์มีอะไรบ้าง เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ปั๊มน้ำ ตู้เย็นมีหลายตู้ก็รวมของสดไว้ตู้เดียวที่เหลือก็ดึงปลั๊กออก อุปกรณ์ไหนไม่ใช้ก็ดึงปลั๊กออก ถ้าดึงปลั๊กไม่สะดวกผมก็แนะนำซื้อเบรกเกอร์ 2 โพล ไฟรั่วก็เหมือนน้ำรั่วเราต้องเสียค่าน้ำ เพราะฉะนั้นวิธีเดียวคือยกคัทเอาท์ออกมันจะทำให้กระแสไฟไม่ไหล ไฟก็ไม่รั่วเราก็ไม่ต้องไปจ่ายค่าไฟที่ไม่จำเป็น 


หรือปั๊มน้ำเรากลับถึงบ้านเราก็เปิดปั๊มมันทำงาน ก่อนเรานอนเราก็ปิดเราก็มีน้ำไว้ใช้แล้ว ถ้าไฟจะรั่วตอนที่เราเสียบปลั๊กก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราทำแค่นี้ปรับพฤติกรรมเราเองอย่างน้อยค่าไฟก็ลดไปครึ่งหนึ่ง ไม่ต้องไปหาว่ารั่วที่ไหนเพราะมันจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญแต่เราสามารถปรับพฤติกรรมเราได้

แนวทางฉลาดใช้ชีวิตที่อยากแนะนำ

สิ่งหนึ่งที่ผมนึกถึงคือ ฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ ฉลาดเลือกแล้วก็สิ่งสำคัญ คือเราต้องรักษาสิทธิผู้บริโภค สิทธิของผู้บริโภคสิ่งหนึ่งที่เรานึกถึงเสมอเลยก็คือ คุณคาดหวังว่าจะได้อะไรจากสินค้า คุณอ่านแล้วคุณเชื่อแต่เมื่อใช้แล้วไม่เป็นไปตามที่คุณเชื่อต้องเรียกร้องสิทธิ ในฐานะที่อย่างน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อรายใหม่ต้องไปซื้อสินค้าแล้วทุกข์ทรมานเหมือนกับที่เราโดน คือตรงนี้อยากให้ผู้บริโภคนั้นรักษาสิทธิของตัวเอง แต่ไม่ควรจะเป็นลักษณะที่เรียกว่าไปใช้สิทธิมากกว่าที่เราควรมี ขอใช้คำว่าไปซื้อของปลอม ไปซื้อของที่เรารู้อยู่แล้วว่ามันปลอมแล้วมาเรียกร้องว่าทำไมของนั้นไม่ดีเหมือนของจริง อันนี้เราเรียกว่าเรียกร้องเกินสิทธิ หรืออีกอย่างที่ผู้บริโภคควรจะทราบเหมือนกัน คือว่าเมื่อเราซื้อสินค้ามาแล้วปรากฏว่าสินค้ามันทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ ต่อร่างกายหมายถึงเราบาดเจ็บจากการใช้สินค้า  ทางจิตใจก็คือเรารู้สึกไม่ปลอดภัยจากการใช้สินค้า ก็มี PL Law เรามีสิทธิเรามีขั้นตอนกระบวนการ ตรงนี้อยากให้ผู้บริโภครู้จักใช้กัน คือถ้าเป็นไปได้คือเราให้ข้อมูลกับผู้บริโภคว่าสิทธิที่ผู้บริโภคที่ควรจะได้รับการดูแลนั้นมีอะไรบ้าง เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรเราต้องไปร้องเรียนใครเพื่อให้เขามาดูแลให้ หรือตอนนี้ในส่วนตัวเองที่ช่วยงานที่ สคบ. อยู่นั้นกำลังเตรียมเรื่องของ Recall คือกฎหมายที่จะบอกว่าบริษัทที่จะต้องทำหารเรียกคืนสินค้า ซึ่ง Recall ในกลไกที่เรากำลังเตรียมการอยู่นั้นจะเกิดขึ้นกับสินค้าที่มีการประกาศว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย ซึ่งสินค้าไม่ปลอดภัยตอนนี้ที่เราประกาศออกมาแล้วนั้นก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง ถ้าเราเป็นผู้ถือสินค้านั้นอยู่ เราซื้อมาแล้วเรามีใบเสร็จเราก็สามารถที่จะเอาสิ่งเหล่านี้ไปที่ร้านค้าเพื่อที่จะขอเงินคืนได้ อันนี้ก็เป็นเรืองของกฎหมาย Recall แต่ขอเน้นว่ากฎหมาย Recall นั้นเป็นกฎหมายที่จะต้องใช้กับสินค้าที่มีการขึ้นประกาศว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย


แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

300 point

LINE it!






ความคิดเห็น (0)