ฉบับที่ 194 รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย

เข้าเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นสัญญาณให้รู้กันว่าโรงเรียนทั่วประเทศกำลังจะเปิดเทอมกันแล้ว ความคึกคักยามเช้าและเย็นของเด็กนักเรียนจะกลับมาให้เห็นกันอีกครั้ง ทุกๆ วันจะมีเด็กหลายคนที่เลือกเดินทางไปโรงเรียนด้วยตัวเอง บางคนเลือกใช้บริการรถโดยสารประจำทาง ขณะที่มีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกวิธีการให้ลูกโดยสารรถรับส่งนักเรียนไปโรงเรียนแทน มีทั้งวิ่งรับส่งในเขตอำเภอ บ้างก็วิ่งรับส่งจากนอกอำเภอเข้าจังหวัด ซึ่งการให้ลูกเดินทางไปกับรถรับส่งนักเรียนจะช่วยทำให้เด็กเดินทางสะดวกสบายขึ้น และทำให้พ่อแม่ประหยัดค่าใช้จ่ายในการไปส่งเด็กที่โรงเรียนอีกด้วย แต่จะมีพ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนรู้หรือไม่ว่า รถรับส่งนักเรียนที่มารับลูกของเราไปโรงเรียนนั้นมีความปลอดภัยแค่ไหน และเราจะเชื่อใจได้อย่างไร


จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกผ่านสื่อออนไลน์ระบุว่าในปี 2558 มีรถรับส่งนักเรียนประเภทรถตู้ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกประมาณ 1,204 คัน และมีรถโรงเรียนสีเหลืองคาดดำที่จดทะเบียนอยู่ประมาณ 807 คัน รวมเป็นรถรับส่งนักเรียนและรถโรงเรียนจดทะเบียนถูกต้องทั่วประเทศประมาณ 2,000 คันเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมากกับปริมาณนักเรียนที่มีอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่ไม่มีข้อมูลเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบว่าแล้วรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ได้ขออนุญาตที่วิ่งให้บริการอยู่ทุกวันนี้มีจำนวนกี่คัน 


  อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยอาสาสมัครเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค พบว่า ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภท รถตู้ และรถกระบะดัดแปลงเพิ่มเติมที่นั่งสองแถว มาใช้รับจ้างรับส่งนักเรียนทั้งในและนอกเขตจังหวัดเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากเป็นรถที่มีขนาดเล็ก เมื่อนำไปรับส่งนักเรียนอาจเกิดความไม่ปลอดภัยกับนักเรียน และไม่มีกฎระเบียบควบคุมในเรื่องความปลอดภัย รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ลักษณะนี้เป็นรถไม่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้มีการปรับปรุงสภาพตัวรถให้มีความปลอดภัยสำหรับใช้รับส่งนักเรียน รวมถึงเป็นรถที่ไม่ได้รับอนุญาต  ส่งผลให้เกิดปัญหา อาทิ พนักงานขับรถไม่มีคุณภาพ การขับรถเร็ว ไม่เคารพกฎจราจร บรรทุกเด็กนักเรียนเกินกว่าที่นั่งของรถที่กฎหมายกำหนด ไม่มีคาดเข็มขัดนิรภัย การปรับเบาะที่นั่งเป็นเบาะยาวในรถตู้ ดัดแปลงสภาพส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรง รถมีสภาพเก่าไม่เหมาะกับการให้บริการ รวมถึงการไม่จัดทำประกันภัยทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ ด้วยลักษณะดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ของการรับส่งนักเรียนอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง  เฉพาะปี 2559 พบว่า มีอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถรับส่งนักเรียนที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียนที่ใช้บริการทั่วประเทศมากถึง 27 ครั้ง มีเด็กได้รับบาดเจ็บ 231 คน และเสียชีวิตถึง 4 คน  


เมื่อเราหันมามองดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะพบว่ามีกฎหมายหรือระเบียบที่สำคัญในการกำกับดูแลรถรับส่งนักเรียนอยู่สองฉบับ คือ กฎกระทรวงกำหนดความปลอดภัยในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร พ.ศ. 2555 ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ 2522 และ กฎกระทรวง ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2526) ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก 2522 


โดยกฎหมายทั้งสองฉบับมีเนื้อหาสาระไปในทางเดียวกัน โดยเป็นแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพวิถีชีวิตการใช้รถรับส่งนักเรียนของชุมชน ด้วยการอนุญาตให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน หรือ รย.2  (รถกระบะที่มีที่นั่งสองแถว หรือ รถตู้) มาจดทะเบียนใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนได้  แต่ต้องมีการรับรองการใช้รถดังกล่าวจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา ซึ่งต้องได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด  ห้ามติดฟิล์มกรองแสงที่กระจกรอบคัน ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่นมั่นคงแข็งแรง ไม่มีพื้นที่ให้นักเรียนยืนในห้องโดยสารเด็ดขาด กรณีเป็นรถสองแถวต้องมีประตูและที่กั้นป้องกันนักเรียนตก ส่วนรถตู้ต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถเท่านั้น และต้องนำรถเข้าตรวจสอบ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ซึ่งจะได้รับอนุญาตเป็นครั้งคราว คือ ครั้งละ 1 ภาคการศึกษาเท่านั้น 


นอกจากนี้รถรับส่งนักเรียนทุกคันที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกต้องติดแผ่นป้ายพื้นสีส้ม มีข้อความตัวอักษรสีดำว่า “รถรับส่งนักเรียน” และไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันหรือสีแดงติดอยู่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถให้เห็นชัดเจน  พร้อมมีอุปกรณ์ส่วนควบเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นกรณีฉุกเฉิน เช่น เครื่องดับเพลิง ค้อนทุบกระจก วัสดุภายในรถส่วนของผู้โดยสารต้องไม่มีส่วนแหลมคม ทางประตูทางขึ้นลงหรือเป็นช่องเปิดต้องมีความปลอดภัย โครงสร้างหลังคามั่นคงแข็งแรง และที่สำคัญผู้ขับรถโรงเรียนต้องได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ หรือเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ซึ่งต้องไม่เคยมีประวัติเสียหายอันเกิดจากการขับรถมาก่อน รวมถึงต้องมีผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้นักเรียนตลอดการรับส่ง หากพบการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้ใช้รถทันที และไม่สามารถขออนุญาตได้อีกจนกว่าจะพ้น 1 ปีไปแล้ว 


แต่ด้วยกฎหมายของประเทศไทยที่กำหนดระเบียบและมาตรฐานการให้บริการของรถรับส่งนักเรียนไว้ในระดับสูง เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัยในการรับส่งนักเรียน จึงไม่น่าแปลกใจหากจะพบว่า รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ที่ให้บริการในปัจจุบัน ยังไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนดไว้ได้  ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง มีการปล่อยปละละเลยหรืออนุโลมมาอย่างต่อเนื่อง เสมือนเป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์ส่วนบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตมาวิ่งรับส่งนักเรียนแบบผิดกฎหมายอย่างทั่วถึงเช่นในปัจจุบัน จนทุกฝ่ายเฉยชากับปัญหาและคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนยอมรับกันไปแล้ว แล้วความปลอดภัยของลูกหลานเราจะเป็นยังไง หากทุกคนเป็นแบบนี้….


แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ รถรับส่ง นักเรียน ปลอดภัย

ฉบับที่ 276 ว่าด้วย “รายการส่งเสริมการขาย” ในโลกของบริการมือถือ

        ในความหมายทั่วไป รายการส่งเสริมการขายหมายถึงข้อเสนอพิเศษที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราวเพื่อการส่งเสริมการขาย หรือ Sale Promotion โดยเป็นวิธีการทางการตลาดที่ใช้เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าสนใจและตัดสินใจซื้อสินค้าในทันที ดังนั้นข้อเสนอพิเศษดังกล่าวจึงต้องมีลักษณะ “ว้าว” มากพอที่จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นและเป็นเรื่องเร่งด่วน นั่นคือเป็นโอกาสที่ต้องรีบคว้าไว้ หากชักช้าอาจพลาดได้         โดยทั่วไปแล้ว รายการส่งเสริมการขายจึงมีลักษณะชั่วคราว จัดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ และบางครั้งมีการตั้งวัตถุประสงค์หรือกลุ่มลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง รูปแบบหลักที่มีการใช้มากที่สุดก็คือ การลด แลก แจก แถม         แต่สำหรับรายการส่งเสริมการขายในโลกของบริการมือถือ จะมีลักษณะที่แตกต่างออกไปในทางตรงกันข้ามเลยทีเดียว กล่าวคือจะเป็นเรื่องของการเสนอขายบริการในลักษณะที่มีการรวมรายละเอียดของบริการต่างๆ เป็นชุด  และเสนอขายเป็นการปกติทั่วไป ไม่มีทั้งการลด แลก แจก แถม และไม่มีความพิเศษหรือเร่งด่วนจนต้องรีบคว้าเอาไว้ หรือต้องรีบตัดสินใจ         ความหมายของรายการส่งเสริมการขายในบริการมือถือแท้จริงแล้วจึงค่อนข้างจะตรงกับคำว่า แพ็กเกจ (Package) ที่แปลว่าการซื้อขายเหมาเป็นชุด ซึ่งในวงการก็มีการใช้สองคำดังกล่าวในลักษณะทดแทนกันอยู่แล้ว         และรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือก็จะมีอยู่มากมายหลายๆ แพ็กเกจ         เมื่อรายการส่งเสริมการขายบริการมือถือคือชุดของบริการที่บรรจุรายละเอียดบริการต่างๆ เอาไว้ จึงเท่ากับเป็นกรอบกำหนดปริมาณและคุณภาพของบริการ เช่นว่า ในแพ็กเกจ ก. อาจใช้บริการโทรได้ 100 นาทีและใช้อินเทอร์เน็ต 5G ความเร็วสูงสุดได้ 10 GB ดังนั้น ในโลกของการให้บริการมือถือ แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายจึงเป็นส่วนที่ใช้ในการโฆษณา ซึ่งจุดนี้เป็นจุดหนึ่งที่เป็นประเด็นปัญหาอย่างยิ่ง         ดังที่ผู้บริโภคทั่วไปคงรู้สึกได้ว่า ในวงการโทรคมนาคมด้านบริการมือถือ มีการโฆษณาที่เข้าข่ายเกินจริง มีการใช้คำหรือข้อความโฆษณาลักษณะ เร็วสุด, แรงสุด, ทั่วไทย ฯลฯ กันเป็นปกติ และยังมีปัญหาลักษณะการยัดเยียดโฆษณาจนเป็นการรบกวนผู้บริโภคด้วย โดยเฉพาะการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาลักษณะของการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายไม่ชัดเจนเพียงพอด้วย ตัวอย่างเช่น รายการส่งเสริมการขายมีข้อกำหนดว่าโทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง แต่มีเงื่อนไขในรายละเอียดพ่วงด้วยว่า ส่วนที่ฟรีนั้นจำกัดเฉพาะในส่วน 30 นาทีแรกของการโทรแต่ละครั้งเท่านั้น แต่ในการโฆษณาหรือแจ้งรายการส่งเสริมการขายดังกล่าวไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขรายละเอียดนี้         ปัญหาประการสำคัญในส่วนนี้คือ การไม่ได้รับบริการที่เป็นไปตามรายการส่งเสริมการขาย ทั้งๆ ที่ในทางกฎหมายแล้ว แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา โดยคุณภาพบริการที่ใช้งานได้จริงต้องเป็นไปตามที่พรรณนาหรือบรรยายไว้ในการโฆษณารายการส่งเสริมการขาย เรื่องนี้มีปัญหามากในส่วนบริการอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้ความเร็วตามกำหนด หรือใช้ได้ไม่ครบตามปริมาณที่กำหนด         ปัญหาอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายที่ผู้บริโภคมักประสบเป็นเรื่องของการเปลี่ยนรายการส่งเสริมการขาย โดยมีปัญหาทั้งในลักษณะไม่สามารถเปลี่ยนได้ หรือถูกทางบริษัทผู้ให้บริการเปลี่ยนให้โดยพลการ ปัญหาทั้งสองลักษณะเท่ากับเป็นการจำกัดหรือละเมิดสิทธิการเลือกบริการของผู้บริโภค ทำให้ต้องผูกติดอยู่กับแพ็กเกจใดแพ็กเกจหนึ่ง หรือถูกบังคับใช้แพ็กเกจตามความพึงพอใจของบริษัทผู้ให้บริการ         ปัญหาประการหลังสุดนี้ขัดกับสิทธิผู้บริโภคประการที่ 2 ใน 5 ประการที่พระราชบัญญัติฃคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้ว่าเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ต้องได้รับความคุ้มครอง นั่นคือ สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ แต่ในส่วนของกฎหมาย กสทช. ไม่มีข้อกำหนดโดยตรงในเรื่องนี้ มีเพียงข้อกำหนดที่ว่า กรณีผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอใด จะถือว่าตกลงใช้บริการไม่ได้         ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณา แม้กสทช. จะไม่ได้มีกฎหมายกำกับควบคุม แต่ในมิติของการให้ข้อมูลที่เพียงพอ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 6 กำหนดไว้ว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจนและครบถ้วน ผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย ซี่งตรงกับสิทธิของผู้บริโภคตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้เป็นสิทธิประการที่ 1 นั่นคือ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ         ส่วนประเด็นเรื่องการให้บริการที่ต้องเป็นไปตามสัญญา รวมถึงโฆษณา เป็นไปตามหลักที่ว่า โฆษณาถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ดังนั้น เมื่อรายการส่งเสริมกำหนดไว้อย่างไร บริการที่ผู้บริโภคได้รับย่อมต้องเป็นไปตามนั้น         ในโลกของบริการมือถือ รายการส่งเสริมการขาย จึงไม่ใช่การส่งเสริมการขาย แต่คือสาระสำคัญของบริการที่ผูกโยงกับปัญหาที่ผู้บริโภคอาจประสบและเกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 สามสิ่งที่ต้องรีบจัดการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคเอไอ

        คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าบทความที่กำลังอ่านอยู่นี้ไม่ใช่สิ่งที่เขียนขึ้นโดยเอไอ        มันไม่ใช่ฝีมือของเอไอหรอก แต่ถ้าใช่ คุณก็ควรมีสิทธิรู้ไม่ใช่หรือ         ประเด็นเรื่องความโปร่งใสและการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคในยุคของปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ๆ ได้ (Generative AI / เจนเนอเรทีฟเอไอ) ก็มีความเข้มข้นขึ้นทุกวัน ธุรกิจนี้มีผู้เล่นน้อย มีบริษัทเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ผูกขาดการเป็นเจ้าของข้อมูลและโมเดลต่างๆ ของเอไอ เราทำนายว่าในอนาคตจะมีข้อกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น เราจึงกำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิดจากมุมมองของผู้บริโภค ในขณะที่ตลาดหลักๆ ที่มีการใช้เอไอ มุ่งความสนใจไปที่การต่อต้านการผูกขาดทางการค้า         สิ่งที่ชัดเจนคือปัญญาประดิษฐ์แบบใหม่นี้จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา ตั้งแต่กฎหมาย บรรทัดฐาน และค่านิยมต่างๆ ทำให้ความโปร่งใสเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง การคุ้มครองผู้บริโภคแบบเดิมจึงไม่เพียงพอ ต้องมีการคิดใหม่ทำใหม่เพื่อให้เท่าทันพัฒนาการทางเทคโนโลยีล่าสุด         คำแนะนำของสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค เน้นความสำคัญของความโปร่งใสในการให้ข้อมูลแก่ผู้คนเพื่อการตัดสินใจอย่างเหมาะสม และทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถกำหนดและบังคับใช้ระเบียบต่างๆ ได้         การปรับปรุงเรื่องความโปร่งใสของเอไอได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าผู้คนจะได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงจากเทคโนโลยีใหม่นี้ การคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพจึงต้องเป็นส่วนหนึ่งของทั้งสามขั้นตอนต่อไปนี้         1. การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์         รายงานการตรวจสอบโดยคณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐฯ พบว่าผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องวิธีการที่ใช้ในการสร้างเอไอและการนำเอาข้อมูลต่างๆ ไปใช้ โมเดลส่วนใหญ่ของเจเนอเรทีฟเอไอต้องอาศัยชุดข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อฝึกฝนและเรียนรู้ เราต้องตั้งคำถามว่าโมเดลปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ถูกสร้างและบำรุงรักษาอย่างไร และเป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่         ตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่ใช้เพื่อฝึกฝนโมเดลเอไอได้รับการจัดเก็บอย่างถูกต้องตามกฎหมายและได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลหรือไม่ การจ้างงานมนุษย์เพื่อทำหน้าที่จำแนกข้อมูลและใส่หัวข้อเป็นไปอย่างถูกต้องตามจริยธรรมหรือไม่ ทรัพยากรด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องได้รับการจัดการอย่างรับผิดชอบหรือไม่ นักพัฒนาควรเปิดเผยข้อมูลว่าด้วยสิ่งที่ตนเองใช้ในการสร้างเครื่องมือสำหรับผู้บริโภค แบบเดียวกับการติดฉลากผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ผู้คนเข้าใจว่ามีอะไรอยู่ในอาหาร เสื้อผ้า หรือยารักษาโรค         2. การเผยแพร่และจัดจำหน่าย         เมื่อโมเดลเอไอถูกสร้างขึ้น มันควรถูกนำมาใช้โดยคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก         การพัฒนาโมเดลเอแแบบปิดหรือเปิดกลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในกรณีโมเดลแบบเปิด โค้ดต้นฉบับหรือคำสั่งในโปรแกรมจะเป็นสิ่งที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่ว่าใครก็สามารถนำไปใช้ได้ ขณะที่โมเดลแบบปิดจะเป็นของส่วนตัวและมีลิขสิทธิ์         ทั้งสองรูปแบบต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากคนที่เห็นด้วย มันน่าตื่นเต้นที่จะได้เห็นเครื่องมือใหม่ๆ ที่สังคมสามารถนำมาใช้ได้ แต่เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสม เราจำเป็นต้องรู้ว่าเมื่อโมเดลดังกล่าวถูกปล่อยออกไป มันจะส่งผลต่อสังคมอย่างไร         นักพัฒนาหรือผู้ที่นำผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปใช้ ได้คำนึงถึงความเสี่ยงหรือเปิดเผยความเสี่ยงของมันให้สังคมรู้หรือไม่ มีการอนุญาตให้บุคคลภายนอก เช่น นักวิจัย หรือหน่วยงานกำกับดูแล เข้าไปตรวจสอบคำกล่าวอ้างเหล่านั้นโดยอิสระหรือไม่ ในกรณีของโมเดลแบบเปิด มีการกำหนดเกณฑ์ว่าใครสามารถนำโค้ดไปสร้างต่อ หรือกำหนดสิ่งที่สามารถทำได้กับโค้ดดังกล่าวหรือไม่         เราเคยได้ยินข่าวว่าโมเดลของปัญญาประดิษฐ์แบบเปิดถูกนำมาใช้เพื่อสร้างภาพลามกอนาจารโดยบุคคลที่อยู่ในภาพไม่ได้ให้ความยินยอม สภาผู้บริโภคแห่งนอร์เวย์ได้ออกคำเตือนโดยละเอียดว่าด้วยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันสามารถสร้างข้อมูลปลอมหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้องได้ปริมาณมหาศาล เป็นการติดอาวุธให้กับมิจฉาชีพในการสร้างเรื่องหลอกลวงผู้บริโภค และมันยังทำให้การหลอกลวงออนไลน์เป็นเรื่องที่ยากแก่การตรวจสอบด้วย งานวิจัยพบว่าจากคนหนึ่งร้อยคน มีผู้ที่สามารถบอกได้ว่าเนื้อหาที่อ่านเป็นฝีมือของเอไอเพียง 50 คนเท่านั้น         ที่การประชุมใหญ่ระดับโลกของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลในปี 2023 เราได้เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ กำหนดให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเพียงพอจากภัยดังกล่าวบนแพลตฟอร์มเทคโนโลยีในคำประกาศเพื่อหยุดการหลอกลวงออนไลน์ (Global Statement to Stop Online Scams) สิ่งที่ต้องมีคือกฎระเบียบและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกัน ตรวจจับ สกัดกั้น และรับมือกับการหลอกลวงเหล่านี้         ผู้ที่กำลังพัฒนาระบบเอไอจะต้องตระหนักและรายงานสิ่งที่ตนเองรู้เกี่ยวกับอันตรายที่สามารถเกิดขึ้น         3. การกำหนดความรับผิดชอบ         เราจำเป็นต้องเค้นถามให้ได้คำตอบว่ามีขั้นตอนกระบวนการที่เข้มข้นพอเพื่อแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ และมีการกำหนดระดับความรับผิดชอบหรือระดับการคุ้มครองอย่างเหมาะสมทั้งในภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม แล้วหรือยัง ทั้งนี้รวมถึงสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับการชดเชยเยียวยา การเปิดเผยเรื่องการขออนุญาตเข้าถึงฐานข้อมูลของรัฐ และการละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น         พูดง่ายๆ คือ ถ้าระบบเอไอสร้างปัญหาให้กับมนุษย์ เราจะโทษใคร และใครมีหน้าที่แก้ไขปัญหาดังกล่าว เรื่องความรับผิดต้องระบุให้ชัดเจน         เรื่องศักยภาพของเอไอและเทคโนโลยีอื่นๆ ในการทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือสร้างอคติ มีคนพูดถึงค่อนข้างมาก แต่ยังไม่มีใครพูดถึงคนที่ต้องเป็นผู้รับผิด รวมถึงการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม เราจำเป็นต้องอภิปรายกันอย่างเข้มข้นในเรื่องวิธีการสนับสนุนหรือท้าทายการตัดสินใจโดยอัลกอริธึมของเอไอ เช่น การให้บริการเงินกู้ บริการสุขภาพ การทำประกัน หรือการจ้างงาน เป็นต้น         เอไอเข้าครอบคลุมทุกพื้นที่         เราต่างก็รู้ดีถึงพลังของเอไอในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราในแบบที่เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพ แต่ระดับความเร็วของการเปลี่ยนแปลงและภาวะไร้การควบคุมทำให้เราต้อง เร่งกำหนดนโยบายเชิงรุกเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค         ในปี 2024 นี้ เราต้องพิจารณากันให้ถี่ถ้วนว่ามีการลงมือทำอะไรไปแล้วบ้างและคิดหาวิธีที่ดีที่สุดในการใช้โอกาสอย่าง “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” ซึ่งเราได้กำหนดหัวข้อเรื่อง “เอไอที่เป็นธรรมและรับผิดชอบต่อผู้บริโภค” หรือการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่ดาวอส รวมถึงการประชุม G20 ที่ริโอเดอจาเนโร เพื่อให้เกิดการพูดคุยและสร้างการเปลี่ยนแปลง         ความพยายามด้านกฎหมายที่สำคัญ เช่น “พรบ. เอไอของสหภาพยุโรป” ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ในปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการรับรู้และการสนับสนุนจากภาครัฐ และแรงขับเคลื่อนในเรื่องแนวคิดการคุ้มครองผู้บริโภค         เราต่างก็ต้องการใช้ประโยชน์จากพลังของเทคโนโลยี ถ้าเราทำอย่างรับผิดชอบ เจนเนอเรทีฟเอไอ สามารถสร้างประโยชน์ได้มากมายโดยมีผลกระทบน้อยที่สุด แต่หากไม่มีการพูดคุยหรือจำกัดขอบเขตของความเสี่ยงเหล่านี้ ผลที่ได้อาจต่างไปโดยสิ้นเชิง         เราต้องดูแลผู้บริโภคเดี๋ยวนี้

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 เอาใจสายเทรด

        ตอนนี้ขอเอาใจสายเทรดหุ้นกันบ้าง ว่าแต่มันคืออะไร มันก็เป็นการสร้างผลตอบแทนจากหุ้นรูปแบบหนึ่งที่ไม่เน้นการถือหุ้นระยะยาวและรอให้ราคาเติบโตไปพร้อมๆ กับบริษัท แต่เน้นการจับจังหวะซื้อและขายหุ้น อ่านกราฟ เข้าใจจิตวิทยาการลงทุน แล้วก็ซื้อมา (ตอนราคาต่ำ) ขายไป (ตอนราคาสูง) ซึ่งราคาต่ำกับสูงนี่ก็ไม่เหมือนกันในแต่ละคนเพราะแผนการเทรดไม่เหมือนกัน         ก็เหมือนเดิมนั่นแหละ คุณต้องรู้ตัวก่อนว่าคุณรักจะเทรดหุ้น มีเวลานั่งดู ศึกษา และวิเคราะห์กราฟ มีแผนการเทรดชัดเจน และและและต้องมีวินัย ข้อนี้ต้องมีเหมือนกันไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนแบบไหน นักเทรดบางคนถึงกับพูดว่า ‘วินัย’ คือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดด้วยซ้ำ         สิ่งที่สายเทรดทุกคนต้องเสาะแสวงหาความรู้ชนิดขาดไม่ได้คือการทำความเข้าใจกราฟและอินดิเคเตอร์ต่างๆ เพื่อดูแนวโน้มของหุ้นที่จะลงมือเทรด หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า แนวรับ-แนวต้าน ตลาดหมี ตลาดกระทิง กราฟแท่งเทียน เอลเลียตเวฟ และอีกมากมาย สิ่งเหล่านี้ต้องเรียนรู้ทั้งสิ้น         มีความรู้ที่ควรต้องมีแล้ว คุณก็ต้องกลับมาวางแผนการเทรดหุ้น หาจังหวะเข้าและออก เพราะถ้าเข้าสุ่มสี่สุ่มห้าคุณอาจต้องเจอคำว่า คนแพ้จ่ายรอบวง ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจการบริหารเงินสดหรือสภาพคล่อง ไม่มีทางที่การเทรดทุกครั้งจะได้กำไร มันต้องมีวันที่ฟ้าไม่เข้าข้าง เกิดสงครามในอีกซีกโลก หรือแม้แต่อ่านกราฟผิดทำให้คุณขาดทุน ซึ่งคุณต้องรู้ตัวเองว่าคุณยอมรับการขาดทุนได้เท่าไหร่         โดยมากแล้วนักเทรดมักจะกำหนดผลขาดทุนเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น 5 เปอร์เซ็นต์ สมมติคุณเทรดหุ้นด้วยเงิน 100 บาท ถ้าหุ้นขึ้นคุณอาจปล่อยให้ let profit run หรือปล่อยให้หุ้นมันวิ่งไปเรื่อยๆ ตามแนวโน้มขาขึ้นของตลาด แต่เมื่อไหร่ที่เงินของคุณขาดทุนลงมาเหลือ 95 บาท ซึ่งก็คือผลขาดทุนที่คุณรับได้และกำหนดไว้ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ จุดนี้คุณต้อง cut loss หรือขายตัดขาดทุนซะตามแผนการเทรดที่วางไว้         อย่าคิดว่า ไม่เป็นไร ขอรออีกนิด เดี๋ยวมันคงเด้งกลับขึ้นมา งั้นซื้อเพิ่มถัวเฉลี่ยไปก่อน หยุด! ห้ามเด็ดขาด เพราะคุณกำลังทำนอกแผนที่วางไว้ เมื่อถึงจุด cut loss ก็ต้องทำ เพื่อปกป้องเงินต้นให้เสียหายน้อยที่สุด การเทรดนอกจากจะไม่กำไรทุกครั้งแล้ว ยังอาจขาดทุนหลายครั้งด้วย         ถ้าคุณไม่มีวินัยในการทำตามแผนการเทรด คุณอาจเสียเงินต้นจำนวนมาก การหวังว่าการเทรดครั้งต่อๆ ไปจะทำให้เงินต้นที่เสียไปทั้งหมดกลับคืนมาพร้อมกำไรนั้นยากมากๆ ก็บอกแล้วว่าวินัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด         ดังนั้น ถามตัวเองว่าเหมาะกับทางนี้หรือไม่ ศึกษาการเทรดหุ้น วางแผนการเทรด บริหารเงินในมือให้ดี และจงมีวินัยกับแผนที่คุณสร้าง

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน

        ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คงจำกันได้ว่าคนไทยเราบ่นกันมากว่าค่าไฟฟ้าแพง และน่าจะบ่นกันมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไปเพราะว่าการใช้ไฟฟ้าจะพุ่งตามอุณหภูมิของอากาศที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าของปีนี้จะสูงกว่าของเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้อัตราค่าไฟฟ้าในช่วงถัดไปก็น่าจะสูงขึ้นกว่านี้อีก เพราะถึงเวลาที่ต้องจ่ายหนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ที่รัฐบาลขอให้จ่ายแทนผู้บริโภคไปพลางก่อน ขอย้ำนะครับว่า ค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่ใช่ทั้งหมดของค่าไฟฟ้า แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ กฟผ. จ่ายแทนเราไปก่อน อีกไม่นานเขาก็ต้องเรียกคืน         เรามาดูภาพรวมกันสักนิดครับ เมื่อปี 2565 คนไทยจ่ายค่าไฟฟ้ารวมกัน 8.2 แสนล้านบาท แต่ในปีล่าสุดคือ 2566 ข้อมูลมีแค่ 9 เดือนแรกของปีเท่านั้น แต่ถ้าคิดแบบบัญญัติไตรยางค์ ค่าใช้จ่ายของทั้งปีก็จะประมาณ 9.6 แล้นล้านบาท คือสูงกว่าของปีก่อนถึง 1.4 แสนล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 17%) ทั้งนี้เป็นเพราะว่าราคาก๊าซธรรมชาติได้เพิ่มสูงขึ้นมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในเมื่อประเทศเรามีแหล่งก๊าซฯ เป็นของตนเอง แต่ไม่พอใช้ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาผันผวนมาก จึงมีคำถามง่ายๆ ว่า ทำไมเราไม่เปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งไม่ต้องซื้อ ไฟฟ้าที่ได้ก็ถูกกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ทุกชนิด         นี่แหละครับ คือประเด็นที่เราจะคุยกันเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริโภคใช้ประกอบในการตัดสินใจตามชื่อบทความนี้         เพื่อให้เราเห็นปัญหาชัดขึ้น เรามาดูข้อมูลของประเทศอื่นเพื่อมาเปรียบเทียบกันก่อน ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์มากเป็นอันดับต้นๆของโลก เอาเฉพาะที่ติดตั้งบนหลังคาบ้านอย่างเดียวนับถึงสิ้นปี 2566 มีจำนวนกว่า 3.6 ล้านหลังคา ประเทศนี้มีประชากรเพียง 25 ล้านคน (คิดคร่าวๆก็ประมาณ 8.3 ล้านหลังคา)  โดยในรัฐออสเตรเลียใต้ได้ติดตั้งไปแล้วถึงครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของจำนวนบ้าน (หมายเหตุในหมู่บ้านที่ผมอยู่ ซึ่งอยู่ในจังหวัดนนทบุรีได้ติดตั้งแล้ว 0.8% ของจำนวนบ้านทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงเกือบ 1 เท่าตัว เฮ้!) มีผลงานวิจัยถึงความคิดเห็นของชาวออสเตรเลียว่า ทำไมจึงนิยมติดตั้งโซลาร์เซลล์กันมาก พบว่ามีเหตุผล 3 ข้อ คือ (1) ค่าไฟฟ้าในออสเตรเลียแพงมาก ราคาขายปลีกรวมภาษีแล้วเฉลี่ย 8.20 บาทต่อหน่วย (ของไทย 4.84 บาท,เวียดนาม 2.85 บาท)   (2) เป็นประเทศที่มีแสงแดดมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อพื้นที่ที่เท่ากันจะมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และมากกว่าของประเทศไทยเราประมาณ 10-15% และ (3) เขารู้สึกอายที่ต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดโลกร้อน (คนออสเตรเลียปล่อยก๊าซฯ 15.0 ตันต่อคนต่อปี,ไทย 3.8 เวียดนาม 3.5)         จากข้อมูลของ Our World In Data พบว่าในปี 2565 โดยเฉลี่ย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนามและไทย ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้เฉลี่ยต่อคนได้ 1,484 ,826, 269 และ 70 หน่วย ตามลำดับ  ผมยกเอาข้อมูลของประเทศญี่ปุ่นมาด้วยก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าในประเทศที่แสงแดดไม่ค่อยดีนัก แต่เขาก็ยังให้ความสำคัญที่จะนำพลังงานแสงแดดมาใช้ประโยชน์  โดยน่าจะมีเหตุผลที่คล้ายกับความเห็นของชาวออสเตรเลียที่ได้กล่าวมาแล้ว ปัจจัยสำคัญคืออะไร         ปัจจุบัน รัฐบาลไทยมีกฎระเบียบที่จะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ไม่เหมือนกับประเทศออสเตรเลียและเวียดนาม กล่าวคือ  ใน 2 ประเทศดังกล่าวเขาอนุญาตให้ไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านผลิตได้ในเวลากลางวัน แต่ไม่ได้ใช้หรือเหลือจากการใช้แล้วสามารถไหลย้อนเข้าไปในระบบสายส่งได้ เปรียบเหมือนกับการฝากไฟฟ้าไว้ในสายส่งก่อน พอถึงเวลากลางคืนเจ้าของบ้านก็เอาไฟฟ้าที่ได้ฝากไว้มาใช้ เมื่อครบเดือนก็คิดบัญชีกันตามมิเตอร์ที่บันทึกไว้ หากเราผลิตได้น้อยกว่าที่ใช้ เราก็จ่ายค่าไฟฟ้าส่วนเกินในราคาปกติ หากเราใช้มากกว่าที่ผลิตได้ ทางการไฟฟ้าก็จ่ายส่วนที่เกินไปให้เจ้าของบ้าน ในอัตราค่าไฟฟ้าที่เท่ากับที่ขายให้เรา นักวิชาการเรียกระบบนี้ว่า Net Metering หรือการหักลบหน่วยไฟฟ้า  ปัจจุบันระบบนี้มีการใช้กันแล้วกว่า 68 ประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศร่ำรวยและยากจน เช่น สหรัฐอเมริกาและศรีลังกา เป็นต้น         ประเทศไทยไม่ได้ทำเช่นดังกล่าวนั้น แต่จะรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้ในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย (ในขณะที่ขายให้ผู้บริโภครวมภาษีแล้วประมาณ 4.84 บาทต่อหน่วย) และรับซื้อเพียงระยะเวลา 10 ปีเท่านั้น ในขณะที่อายุการใช้งานจริงนานถึง 25 ปี  ด้วยมาตรการดังกล่าว ต้องลงทุนติดตั้งมิเตอร์เพิ่มอีก 1 ตัว ราคาประมาณ 2 พันบาทซึ่งไม่มีความจำเป็นหากใช้ Net metering   นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่าแบบของวิศวกรไฟฟ้าอีกประมาณ 5 พันบาทเมื่อนโยบายพลังงานของประเทศเราเป็นอย่างนี้ ผู้บริโภคควรจะทำอย่างไร   นอกเหนือจากการร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายให้เหมือนกับประเทศอื่นแล้ว เราลองมาพิจารณารายละเอียดให้ลึกกว่านี้ ดังนี้ หนึ่ง  ต้นทุนในการติดตั้ง         เท่าที่ผมติดตามที่ประกาศขายกันในอินเตอร์เนตและสอบถามจากผู้รับติดตั้งบางราย พบว่า ถ้าติดขนาด 3 กิโลวัตต์จะใช้เงินลงทุนประมาณ 8.4 หมื่นบาท (เมื่อ 5 ปีก่อนประมาณ 1.1 แสนบาท) รวมต้นทุนทั้งหมดประมาณ 91,000 บาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณเดือนละ 110 หน่วยต่อกิโลวัตต์ (ขึ้นอยู่กับพื้นที่ซึ่งก็ไม่แตกต่างกันมากนักสำหรับในประเทศไทย) ดังนั้น หากเป็น 3 กิโลวัตต์ตลอดเวลา 25 ปี จะผลิตไฟฟ้าได้รวม 99,000 หน่วย ต้นทุนเฉลี่ยตลอด 25 ปีเท่ากับ 0.85 บาทต่อหน่วย (91,000 หารด้วย 99,000)  การประมาณการดังกล่าวนี้อาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้างเล็กน้อย และเป็นการคิดโดยไม่รวมค่าดอกเบี้ยหรือค่าเสียโอกาสจากดอกเบี้ย สอง ผลตอบแทนจากการติดตั้ง         ในการคำนวณที่แสดงในตารางข้างล่างนี้อยู่บนสมมุติว่า         (1)        อัตราค่าไฟฟ้าเท่าเดิมทุกอย่าง โดยค่าเอฟทีเท่ากับเดิมคือ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย        (2)        เดิมบ้านที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ใช้ไฟฟ้าจำนวน 600 หน่วยทุกเดือน ค่าไฟฟ้า 2,878.29 บาท เฉลี่ย 4.80 บาทต่อหน่วย        (3)        เมื่อติดตั้งแล้ว แบ่งการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้เองจำนวน 330 หน่วยต่อเดือน เป็น 5 กรณี ๆ แรก ใช้เอง 24% และขาย 76% ในอัตรา 2.20 บาทต่อหน่วย จนถึงกรณีที่ 6 ใช้เอง 76% และขาย 24%         ผลการคำนวณพบว่า กรณีแรก (ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตเอง 24%) จะให้ผลตอบแทนคุ้มทุนในเวลา 7.9 ปี (ดูตารางในภาพ)

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)