ฉบับที่ 202 ซื้อสินค้าทางออนไลน์ ซื้อง่าย แต่ห้ามจ่ายเร็ว


ข้อได้เปรียบของการซื้อสินค้าออนไลน์  
1. อยากได้สินค้าสักชิ้น  ไม่รู้ว่าจะหาซื้อได้จากที่ไหน ลองค้นกูเกิลดู รู้เลยว่าที่ไหนมีขายบ้าง ทั้งที่ขายในประเทศและต่างประเทศ 
2. มีสินค้าที่ต้องการอยู่ในใจ ลองค้นหาทางออนไลน์ สามารถเปรียบเทียบราคาได้ในเวลาไม่นาน ได้สินค้าที่ราคาคุ้มที่สุด 
3. เมื่อเจอสินค้าที่ถูกใจในราคาที่พึงพอใจ ในเวลาดึกดื่นที่ร้านค้าปิดหมดแล้ว จะเดินทางไปซื้อก็ไกล รถติด พรุ่งนี้ก็ทำงานทั้งวัน กังวลว่าไปถึงร้านแล้วสินค้าจะหมด 
4. ในการซื้อของทางออนไลน์ ผู้ซื้อมีเวลาพิจารณาไตร่ตรอง ไม่มีความกดดันต่าง ๆ สามารถหาข้อมูลและพิจารณาจากรีวิวหรือความคิดเห็นของผู้ซื้อคนอื่น


สรุปคือ ซื้อง่าย จะเห็นว่าการซื้อสินค้าทางออนไลน์นั้นแสนจะสะดวกสบาย สามารถตอบสนองความต้องการค้นหาสินค้าได้ง่าย ประหยัดเวลาที่ต้องเดินทางหาสินค้า ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ได้สินค้าในราคาที่พึงพอใจ ซื้อสินค้าได้ตลอดเวลา ประหยัดเวลา มีความแน่นอนว่าสินค้าไม่หมดสต๊อก ไม่มีความกดดันในการตัดสินใจซื้อ เพราะดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก ทำให้การซื้อขายสินค้าไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบเดิม ๆ อีกต่อไป แค่เรามีอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตก็สามารถซื้อของได้จากทั่วทุกมุมโลก ส่งผลให้ตลาดการซื้อขายของออนไลน์เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ 


และนอกจากความสะดวกสบายแล้ว ปัจจัยด้านราคาก็เป็นตัวดึงดูดที่สำคัญ เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นว่าการซื้อของออนไลน์มักทำให้ได้สินค้าที่มีราคาคุ้มค่ามากขึ้น ดังนั้นการตกลงซื้อจึงมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ในกระบวนการชำระค่าสินค้าหรือบริการออนไลน์ก็ยังง่ายดายไม่ซับซ้อน เช่น โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารออนไลน์ หรือเพียงกรอกรหัสของบัตรเครดิต/บัตรเดบิตก็ทำให้เราสามารถทำธุรกรรมซื้อขายผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้แล้ว รวมทั้งเรายังสามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย


เหรียญมีสองด้าน 

ถึงจะง่ายอย่างไร ก็ยังต้องใช้หลักพึงระวังในการซื้อสินค้าทางออนไลน์ เพราะทำให้เสียเงิน เสียประโยชน์กันมานักต่อนักแล้วเช่นกัน  แล้วมีอะไรบ้างที่ต้องระวัง มาดูกัน

1. การหลอกลวง โดยผู้ขายตั้งใจมาหลอก ไม่มีสินค้า แต่ล่อลวงให้ผู้ซื้อสินค้าจ่ายเงินค่าสินค้า แล้วไม่จัดส่งสินค้าตามสัญญา

2. ได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามข้อสัญญา เช่น สินค้าที่ได้ไม่ตรงตามคำโฆษณาหรือตามที่ตกลงกัน สินค้าปลอม สินค้าชำรุด เกิดอันตรายจากสินค้า การจัดส่งล่าช้า ได้รับสินค้าไม่ทันเวลาที่จะใช้งาน

3. การคืนสินค้ามีความยุ่งยาก เช่น ขั้นตอนยุ่งยาก เสียเวลาและค่าใช้จ่าย ได้รับเงินคืนล่าช้า ได้รับเงินคืนไม่เต็มจำนวนหรือไม่ได้รับเงินคืนเพราะทำไม่ถูกขั้นตอนที่ผู้ขายกำหนดไว้ล่วงหน้า หรือไม่ได้รับเงินคืนเพราะผู้ขายปฏิเสธด้วยเหตุผล ข้ออ้างต่าง ๆ

4. ความปลอดภัยเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว 

5. อาจถูกผู้ขายฟ้องร้องเพราะไม่พึงพอใจสินค้าและโพสต์ข้อความตำหนิผู้ขาย


การซื้อของออนไลน์ หรือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ในปัจจุบัน มีอยู่ 2 แบบ คือ

1. ผู้ประกอบการ กับ ผู้บริโภค (Business-to-Consumer : B2C) เป็นรูปแบบที่มีการทำธุรกรรมมากที่สุดและเป็นที่รู้จักมากที่สุด โดยที่ผู้ประกอบการจะจัดช่องทางการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทเอง เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มเติม  เช่น สินค้าของร้านภัทรพัฒน์ที่วางจำหน่ายในร้านค้า 5 สาขาและตัวแทนจำหน่าย ก็มีช่องทางเว็บไซต์  http://www.patpat9.com เพื่อให้ผู้ซื้อสั่งซื้อทางออนไลน์  เป็นการขายโดยตรงระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค


2. ผู้บริโภค กับ ผู้บริโภค (Consumer-to-Consumer : C2C) เป็นช่องทางขายผ่านทาง marketplace  เป็นรูปแบบที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับผู้บริโภคได้โดยอิสระ ซึ่งผู้ให้บริการจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเก็บค่าใช้บริการบางส่วน ตัวอย่างเว็บไซต์ในต่างประเทศ เช่น eBay.com และในประเทศไทย เช่น kaidee.com / tarad.com นอกจากนี้ยังรวมถึงการขายสินค้าและบริการผ่านทางช่องทางเว็บบอร์ดอื่น ๆ เช่น pantip.com โดยผู้บริโภคและผู้บริโภคติดต่อกันเองเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า มักเป็นสินค้าราคาถูกหรือเป็นสินค้าที่หาไม่ได้แล้วในท้องตลาดทั่วไป


ถ้าให้เปรียบเหมือนการซื้อขายในรูปแบบทั่วไป B2C ก็คือการซื้อขายปลีกระหว่างลูกค้ากับร้านค้าของผู้ประกอบการที่น่าเชื่อถือ มักไม่มีปัญหาเรื่องการหลอกลวงเพราะผู้ประกอบการมีตัวตนจริง มีสินค้าจริง มีข้อกำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดการสั่งซื้อสินค้าที่ชัดเจน แต่ผู้บริโภคที่จะทำการซื้อขายออนไลน์ในรูปแบบนี้จะต้องระมัดระวังในการอ่านรายละเอียดการสั่งซื้อสินค้าเพราะจะเป็นข้อมูลที่ทางผู้ขายกำหนดเอาไว้ตายตัว เจรจาหรือต่อรองเปลี่ยนแปลงไม่ได้ นอกจากนี้จะต้องคำนึงถึงเงื่อนไขในการเปลี่ยนคืนสินค้ากรณีไม่พึงพอใจสินค้า สินค้าไม่เป็นไปตามรูปภาพ-คำบรรยาย สินค้าชำรุดบกพร่อง 


ส่วน C2C ก็คือการซื้อขายของตามตลาดนัด หาบเร่แผงลอย หรือตลาดเปิดท้ายขายของ หรือการประกาศขายของตาม classified ในหนังสือพิมพ์ นิตยสารที่ผู้ซื้อผู้ขายได้ติดต่อกันโดยตรง ต่อรองราคากันได้ แต่การเปลี่ยนคืนสินค้า บริการหลังการขายนั้นมีน้อยมาก ทำใจไว้ก่อนได้เลย  


คู่มือเพื่อการช้อปปิ้งออนไลน์อย่างปลอดภัย

ท่องเอาไว้ทุกครั้ง “ซื้อของออนไลน์ ซื้อง่าย อย่าจ่ายเร็ว”!!!


1. “อย่าจ่ายเร็ว”!!! จากเหตุเพราะผู้ขายตั้งใจมาหลอก ล่อลวงให้ผู้ซื้อสินค้าจ่ายเงินค่าสินค้าแล้วไม่จัดส่งสินค้าตามสัญญา

ส่วนมากผู้ขายที่ตั้งใจมาหลอก มักจะประกาศขายสินค้าที่ราคาถูกเกินกว่าราคาตลาดมากเกินไป หรือมักเป็นสินค้าประเภทพรีออเดอร์เพราะผู้ขายไม่มีสินค้าอยู่กับตัวเอง จะประกาศขายก่อนและรอให้มีลูกค้ามาสั่งซื้อสินค้า มักเป็นสินค้าราคาแพง ผู้ขายส่วนใหญ่มักให้ผู้ซื้อโอนเงินส่วนหนึ่งเพื่อเป็นค่ามัดจำไว้ก่อน เพื่อป้องกันการสั่งจองแล้วยกเลิก และผู้ขายบางรายอาจทำหน้าที่เป็นนายหน้าที่คอยประสานงานระหว่างร้านค้ากับผู้ซื้อ ผู้ขายอาจจะไม่ตั้งใจมาหลอก แต่หากมีปัญหาแล้วผู้ขายไม่สามารถหาซื้อสินค้าให้ได้ เมื่อเงินอยู่กับตัวเขาแล้ว คงยากที่จะได้เงินคืน


การซื้อสินค้าจากผู้ขายแบบ C2C โดยเฉพาะช่องทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม(ไอจี) หรือโพสต์ขายของตามเว็บบอร์ด e-Classified เช่น ห้องต่างๆ ในเว็บไซต์พันทิป ต้องระวังให้มากๆ เพราะเราไม่รู้จักตัวตนของเขา หากมีปัญหาเขาก็ปิดเพจ บล็อกเมสเซนเจอร์ ไอจี ไลน์ เราก็ไม่สามารถติดตามตัวเขาได้เลย แม้บางครั้งผู้ขายจะให้ดูรูปบัตรประชาชน ก็อาจจะเป็นบัตรของใครก็ได้ หากโอนเงินไปแล้วมีปัญหา แม้เราจะมีเลขบัญชีที่สามารถสอบถามธนาคารได้ว่าเจ้าของบัญชีคือใคร แต่จะเอาเงินออกจากบัญชีนั้นทำได้ยากเย็นแสนเข็ญ ธนาคารไม่ยินยอมทำให้ จะไปแจ้งความกับตำรวจก็ลำบาก ดังนั้นตั้งสติก่อนที่เราจะตกลงใจสั่งซื้อและโอนเงิน 


วิธีที่รอบคอบคือ เราต้องตรวจสอบตัวตนร้านค้าก่อน โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือ ชื่อ ที่อยู่ หรือช่องทางการติดต่อ ต้องชัดเจน ตรวจสอบประวัติร้านค้า สามารถดูได้จากรีวิวการขายของในเพจหรือเฟซบุ๊ก พิจารณารายละเอียดการซื้อขาย ข้อความที่ผู้ขายคุยกับผู้ซื้อ ร้านค้ามีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา หรือนำชื่อร้านค้า ชื่อผู้ขาย ชื่อบัญชีการโอนเงินชำระสินค้า มาค้นหาใน google.com หรือ pantip.com เพื่อตรวจสอบประวัติและข้อมูลของร้านค้า และที่สำคัญควรสืบค้นข้อมูลการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขายตรงกับทาง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) พยายามซื้อจากร้านค้าเปิดเผยตัวตน จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุกิจการค้า ที่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified (เครื่องหมาย DBD Registered  คือ เครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าออกให้แก่พาณิชยกิจประเภทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จดทะเบียนพาณิชย์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อยืนยันการมีตัวตนอยู่จริงของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และนิติบุคคล สำหรับเครื่องหมาย DBD Verified คือ เครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณสมบัติ ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และแสดงว่าเว็บไซต์นั้นมีคุณภาพผ่านเกณฑ์ประเมินตามมาตรฐานคุณภาพธุรกิจ e-Commerce ของกรมพัฒนาธุกิจการค้า)


สรุป ตรวจสอบตัวตนของร้านค้า /  ผู้ขายจดทะเบียนกับสคบ. กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified / ราคาไม่ต่ำกว่าราคาทั่วไปอย่างผิดสังเกต



2. “อย่าจ่ายเร็ว”!!! เพราะอาจได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามข้อสัญญา สินค้าที่ได้ไม่ตรงตามคำโฆษณาหรือตามที่ตกลงกัน สินค้าปลอม สินค้าชำรุด เกิดอันตรายจากสินค้า การจัดส่งล่าช้า ได้รับสินค้าไม่ทันเวลาที่จะใช้งาน


ก่อนตกลงใจสั่งซื้อ อ่านข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ให้เข้าใจทุกครั้ง ได้แก่ ข้อมูลรายละเอียดของสินค้า ข้อมูลการจัดส่งสินค้า ระยะเวลาในการจัดส่งสินค้า ผู้จัดส่งสินค้า ซึ่งหากผู้ขายให้ข้อมูลที่ไม่ครบ ควรติดต่อสอบถามเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น อีเมล ไลน์ และควรเก็บหลักฐานการสนทนาทุกครั้ง และสำหรับสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ จะต้องมีเครื่องหมาย อย. 


จำไว้ว่า ผู้ซื้อมีสิทธิในการยกเลิกการซื้อสินค้าที่เรียกว่า “สิทธิในการเลิกสัญญา” ทั้งในกรณีทั่วไปและในกรณีพิเศษ(withdrawal right หรือ right of withdrawal หรือสิทธิในการยกเลิกสัญญาได้ตามอำเภอใจ) ซึ่งการใช้สิทธินี้บางทีในต่างประเทศจะเรียกว่า “cooling-off period” เพราะการสั่งซื้อของออนไลน์เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการซื้อขายแบบดั้งเดิมที่มีหลักกฎหมายว่า “ผู้ซื้อต้องระวัง!!” โดยผู้ซื้อต้องระวังในการเลือกดูสินค้า พินิจพิเคราะห์ พิจารณาผู้ซื้อมีหน้าที่ที่ต้องระวังก่อนที่จะทำการตกลงซื้อสินค้า แต่การซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้ซื้อไม่สามารถพินิจพิเคราะห์ ตรวจสอบสินค้าได้ในขณะซื้อ ผู้ซื้อจึงมีสิทธิดังกล่าว สำหรับระยะเวลาในการใช้สิทธิเลิกสัญญาอาจแตกต่างกันไป(ในสหภาพยุโรปกำหนดไว้ 14 วัน) ดังนั้นก่อนที่ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อ ต้องศึกษาข้อมูลระยะเวลาของการใช้สิทธิในการเลิกสัญญานี้ให้ละเอียด 


ดังนั้นก่อนซื้อสินค้า ตรวจสอบกันเสียก่อนว่าผู้ขายมีระบบการติดตามตรวจสอบสถานะการจัดส่งสินค้าแบบไหน อย่างไรและผู้ส่งจะให้ข้อมูลรายละเอียดของเลขที่พัสดุแก่เราได้หรือไม่และจะได้เมื่อใด ผู้บริโภคต้องสอบถามผู้ขายเพื่อให้ได้ข้อมูลรายละเอียด ระยะเวลาจัดส่งสินค้า ระยะเวลาในการขนส่ง และข้อกำหนดที่ชัดเจนว่าผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบหากสินค้าชำรุดหรือสูญหายในระหว่างการจัดส่งสินค้ามาถึงมือผู้บริโภค และเพื่อให้ทราบข้อมูลรายละเอียด สถานะการจัดส่งสินค้า ผู้ขายจะต้องมีข้อมูลรายละเอียดของการจัดส่งพัสดุให้ผู้บริโภคอย่างเราสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง 

 

นอกจากนี้ควรเลือกการชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้าเพราะมั่นใจได้แน่ว่าได้รับสินค้าแน่ๆ อีกทั้งยังสามารถตรวจดูสินค้าว่าเป็นไปตามที่สั่งซื้อหรือไม่ด้วย เพราะหากไม่ใช่สินค้าตามลักษณะที่เราสั่งซื้อไป เราปฏิเสธไม่รับสินค้าและไม่จ่ายเงินได้


สำหรับกรณีจัดส่งสินค้าล่าช้านั้น หากผู้ซื้อติดต่อไปผู้ขายส่วนมากมักจะขอโทษ จากประสบการณ์จริงของผู้เขียนที่ได้สั่งสินค้าจากเว็บไซต์ขายสินค้าที่มีมาตรฐานและได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified ผู้เขียนต้องติดต่อยืนยันและเรียกร้องให้ดำเนินการชดเชยเยียวยาความเสียหาย จึงจะได้รับการชดเชยเยียวยาเป็นคูปองส่วนลดในการสั่งซื้อสินค้าในคราวต่อไป แต่ถ้าผู้เขียนไม่ได้เรียกร้อง ทางผู้ขายก็มักจะเพิกเฉย 


แต่การซื้อสินค้าจากผู้ขายแบบ C2C ผู้ขายที่ไม่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified ผู้ขายอาจจะไม่สนใจที่จะให้เราใช้สิทธิยกเลิกการสั่งซื้อหรือชดเชยเยียวยาในการจัดส่งล่าช้า เราจึงควรเจรจาต่อรอง แจ้งความประสงค์กำหนดวันรับสินค้ากับผู้ขายไว้ก่อนและเก็บหลักฐานข้อตกลงไว้  หากผู้ขายไม่ยินยอม ทางที่ดีเราไม่ควรซื้อ แต่หากเราซื้อไปแล้วโดยไม่มีข้อตกลงนี้ เราควรยืนยันสิทธิของเราโดยเก็บหลักฐานการสั่งซื้อและรายละเอียดต่างๆ ร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สคบ. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แต่การดำเนินการในขั้นตอนนี้อาจเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจจะมากกว่าค่าสินค้าก็ได้ ทางที่ดี “กันไว้ดีกว่าแก้” เลือกซื้อจากผู้ขายที่น่าเชื่อถือและมีข้อกำหนดในการใช้สิทธิยกเลิกการซื้อของเราอย่างชัดเจน และรับผิดชอบในการจัดส่งล่าช้า


สรุป อ่านรายละเอียดต่าง ๆ ให้เข้าใจ / มีข้อสงสัยสอบถามเป็นลายลักษณ์อักษรและเก็บหลักฐานไว้ / ซื้อสินค้าที่ยอมให้ยกเลิกหรือคืนสินค้าได้ / มีการจัดส่งเลขพัสดุภัณฑ์หรือเครื่องมือที่สามารถติดตามสถานการณ์จัดส่งสินค้า / เก็บหลักฐานการสั่งซื้อ การสนทนาต่าง ๆ / เลือกซื้อสินค้าที่ให้ชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้า


3.  “อย่าจ่ายเร็ว”!!! เพราะการคืนสินค้ามีความยุ่งยากจนผู้ซื้ออาจจะถอดใจแล้วปลอบตัวเองว่า “ถือว่าฟาดเคราะห์ไป” การคืนสินค้าอาจมีขั้นตอนยุ่งยาก เสียเวลาและค่าใช้จ่าย ได้รับเงินคืนล่าช้าหรือได้รับไม่เต็มจำนวน ไม่ได้รับเงินคืนเพราะทำไม่ถูกขั้นตอนที่ผู้ขายกำหนดไว้ล่วงหน้าหรือผู้ขายปฏิเสธด้วยเหตุผล ข้ออ้างต่าง ๆ


การสั่งซื้อสินค้าแบบชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้าเป็นทางเลือกที่ดีและปลอดภัย แต่ถ้าผู้ขายไม่มีบริการดังกล่าว ผู้ซื้อต้องได้ข้อมูลจากผู้ขายก่อนสั่งซื้อสินค้าว่าสามารถคืนสินค้าได้และผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าจัดส่งสินค้าคืน พร้อมรายละเอียดต่าง ๆ ในการคืนสินค้า เช่น กล่องบรรจุจะต้องอยู่ในสภาพดี (เวลาแกะกล่องจะได้เปิดหีบห่ออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ฉีกขาด) ผู้เขียนมีประสบการณ์สั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified และพบปัญหาจากการคืนสินค้าเนื่องจากข้อกำหนดที่ยุ่งยากซับซ้อนจน ส่งสินค้าคืนไปใช้เวลาเกือบ 1 เดือนจึงได้รับคำตอบว่าไม่สามารถรับคืนสินค้าได้เพราะบรรจุภัณฑ์อยู่ในสภาพที่ไม่เรียบร้อย ไม่ตรงตามข้อกำหนด


สำหรับผู้ขายที่เป็นแบบ C2C ที่ไม่ได้จดทะเบียนกับสคบ.หรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified (คล้าย ๆ กับพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ขายที่ผู้ซื้อต้องระมัดระวังมากๆ มีความเสี่ยงสูง มาตรฐานและวิธีการในการรับเปลี่ยน/คืนสินค้าก็จะแตกต่างกันไป ไม่มีผู้ใดควบคุม การคืนสินค้ากับกลุ่มผู้ขายประเภทนี้มีความยากลำบาก ไม่แน่นอน หากเราส่งสินค้าคืนเขาไปแล้วและไม่ได้รับเงินคืน สินค้าก็ไม่ได้-เงินก็ไม่ได้คืน ต้องติดต่อร้องเรียนตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยยื่นเอกสารหลักฐานต่างๆ ซึ่งทำให้ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก อาจจะไม่คุ้มกับราคาค่าสินค้าก็ได้ ดังนั้นสอบถามให้แน่ชัด ใช้ความระวัดระวังไว้ให้มาก ๆ


อีกวิธีการที่อยากแนะนำคือ การชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ระหว่างที่ยังไม่ได้ชำระเงินค่าใช้จ่ายตามยอดบัตรเครดิต ผู้ซื้อยังพอมีเวลาที่จะดำเนินการปฏิเสธการจ่ายเงินกับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตได้ โดยต้องทำตามขั้นตอนที่เจ้าของบัตรเครดิตกำหนด เช่น ทำหนังสือบอกกล่าวยกเลิกสัญญาซื้อขายไปยังผู้ขายและส่งเอกสารหลักฐานที่ติดต่อกับผู้ขายให้กับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อพิจารณาปฏิเสธการจ่ายเงิน ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการจะใช้ระยะเวลาประมาณ 15-30 วัน แม้จะไม่ได้เป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยก็ยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้เขียนขอแนะนำ


สำหรับการคืนสินค้าและรับเงินคืนทางบัตรเครดิต หากเป็นการซื้อสินค้าสกุลเงินต่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินขณะถูกเรียกเก็บเงินและคืนเงินอาจจะไม่เท่ากัน หากเราได้รับเงินคืนเข้าบัญชีบัตรเครดิตในจำนวนเงินไทยบาทที่ไม่กัน เราสามารถดำเนินการขอคืนส่วนต่างโดยติดต่อกับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต


สรุป เลือกบริการชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้า / อ่านและตกลงรายละเอียด ขั้นตอนการคืนหรือเปลี่ยนสินค้าให้เข้าใจ / หากชำระราคาก่อนได้รับสินค้าควรเลือกชำระเงินด้วยบัตรเครดิต


4.“อย่าจ่ายเร็ว”!!! เพราะอาจโดนล้วงข้อมูลสำคัญส่วนตัว หรือด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว 


ก่อนส่งคำสั่งซื้อให้ตรวจดู URL เพราะปัจจุบันการซื้อขายออนไลน์ ส่วนใหญ่จะใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือบัญชีธนาคารออนไลน์ จึงมีเว็บไซต์ที่หลอกลวงหรือทำเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อเลียนแบบจนเราแทบจะไม่ทันสังเกตเห็นความต่างกันเลยก็ว่าได้  หากพลาดไป เว็บไซต์ดังกล่าวอาจนำข้อมูลส่วนตัว รายละเอียดเกี่ยวกับบัญชีธนาคาร บัตรเครดิตไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นขณะจะทำการสั่งซื้อต้องสังเกต URL หรือชื่อเว็บไซต์โดยละเอียด เพราะจะมีแตกต่างกันบางจุดชื่อ URL ของร้านค้าหรือหน้าเว็บไซต์ที่ใช้ตัดเงินผ่านบัตรเครดิต และให้ตรวจสอบว่าเว็บไซต์ที่เรากำลังใช้ทำธุรกรรมการสั่งซื้อของออนไลน์อยู่นั้น โดยเฉพาะหน้าที่แสดงวิธีการจ่ายเงินให้ตรวจสอบว่าเป็น HTTPS หรือไม่


5.“อย่าจ่ายเร็ว”!!! ต้องเก็บหลักฐานการซื้อขาย เงื่อนไขที่ตกลงกัน และหลักฐานการชำระเงิน เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนเองซึ่งหากมีปัญหาเกิดขึ้น 


หากพบปัญหาควรติดต่อไปยังผู้ขายก่อน เพื่อแจ้งให้ทราบและให้ผู้ขายแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นการซื้อผ่านเว็บไซต์(Website) ก็จะมีขั้นตอนและเงื่อนไขในการรับผิดชอบของเว็บไซต์(Website) กำหนดไว้แล้ว สามารถติดต่อไปยังคอลเซ็นเตอร์(Call Center) หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์(Website) แต่ถ้าเป็นการซื้อผ่านโซเชียลมีเดีย(Social Media) เฟซบุ๊ก(Facebook) อินสตาแกรม(Instagram)  ไลน์ (Line) ต้องติดต่อไปยังผู้ขายซึ่งเป็นการช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้นก่อน ถ้าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขจนพอใจก็ควรร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่รับเรื่องร้องเรียนโดยนำหลักฐานต่างๆ เช่น ใบสั่งซื้อสินค้า ข้อความสนทนาการซื้อสินค้าระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ข้อมูลร้านค้า หลักฐานการชำระเงิน รูปถ่ายสินค้า และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มาประกอบคำขอร้องเรียน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วมาก ยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ การแก้ปัญหาในขั้นตอนนี้จะมีระยะเวลาดำเนินการพอสมควร ผู้เขียนจึงขอแนะนำให้ผู้ซื้อเน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ปัญหา ท่องให้จำขึ้นใจทุกครั้งที่ซื้อของออนไลน์ 


“ซื้อของออนไลน์ ซื้อง่าย อย่าจ่ายเร็ว”!!!

----------------------------------


หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน  

1. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) รับเรื่องร้องเรียน ให้คำแนะนำปรึกษาด้านปัญหาสินค้าและบริการทั่วไปที่เกิดจากการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ การแก้ปัญหากับคู่กรณี และขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ มาแก้ปัญหา รวมทั้งให้การช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

ที่อยู่ 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400, เว็บไซต์ (Website) :  www.consumerthai.org

อีเมล (E-mail):  complaint@consumerthai.org, โทรศัพท์ 02-2483734-7, โทรสาร 02-2483733


2. ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ 1212 (Online Complaint Center: OCC)  ให้คำแนะนำปรึกษาด้านปัญหาที่เกิดจากการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ เป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือในการรับ-ส่งการแจ้งเบาะแสหรือเรื่องร้องเรียนระหว่างหน่วยงานความร่วมมือ ตลอดจนให้คำแนะนำ คำปรึกษา และประสานไปยังผู้เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาโดยครอบคลุม 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมถึงการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญหาที่เกิดจากการซื้อขายทางออนไลน์ ภัยคุกคามไซเบอร์ ตลอดจนปัญหาทางออนไลน์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

สายด่วน 1212, เว็บไซต์ (Website)  :  http://www.1212occ.com,  โมบาย แอป (Mobile App) :  1212 OCC

อีเมล (E-mail): 1212@mict.go.th, โทรสาร : 02-1275789


3. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มมครองผู้บริโภค (สคบ.) รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจ โดยเน้นการคุ้มครองมิให้ผู้ประกอบการโฆษณาเกินจริง ต้องติดฉลากสินค้าอันตรายและสัญญาที่ทำกับลูกค้า หากไม่เป็นธรรม สคบ. มีอำนาจเข้าไปดูแล

ที่อยู่ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10120

สายด่วน 1166, เว็บไซต์ (Website) :  http://complain.ocpb.go.th/OCPB_Complains

อีเมล (E-mail):  consumer@ocpb.go.th


4. กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ กำกับดูแลและสอดส่องพฤติกรรมการใช้เครื่องชั่ง ตวง วัด ในการซื้อหรือขายสินค้าอุปโภคให้เกิดความเป็นธรรม การกำหนดราคาสินค้า และรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับราคา ปริมาณสินค้า และความไม่เป็นธรรมทางการค้า

ที่อยู่ 44/100 ถนนนนทบุรี 1 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี

สายด่วน 1569, เว็บไซต์ (Website) :  http://app-transport.dit.go.th/frontend/index.php

อีเมล (E-mail):  1569@dit.go.th, โทรศัพท์ 02-5076111, โทรสาร 02-5475361


5. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับเรื่องราวร้องทุกข์ปัญหาด้านอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และเครื่องสำอาง ไม่ได้มาตรฐาน ผิดมาตรฐาน ไม่ได้รับใบอนุญาต ตลอดจนการโฆษณาส่งเสริมการขายไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญ 

ที่อยู่ ตู้ ปณ. 52 ปณจ. นนทบุรี 11000

สายด่วน 1556, เว็บไซต์ (Website) :  www.fda.moph.go.th, โมบาย แอป (Mobile App) :  ORYOR

อีเมล (E-mail):  complain@fda.moph.go.th, โทรศัพท์ 02-5907354-5, โทรสาร 02-5918472

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ช้อปปิ้ง ออนไลน์ ปลอดภัย

ฉบับที่ 277 ‘ร่างผังเมืองกรุงเทพ’ รัฐธรรมนูญท้องถิ่นที่ไม่มีประชาชนอยู่ในนั้น

        “การที่ผังเมือง คือ ธรรมนูญท้องถิ่นนี้ ผังเมืองจึงไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์วิจารณ์ไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของความเป็นมืออาชีพของผู้จัดทำ แต่ความเป็นมืออาชีพของการจัดทำเป็นเรื่องของการตอบคำถามได้ไหมว่าประชาชนอยู่ตรงไหนของโครงสร้างอำนาจในการกำหนดทิศทางและควบคุมการพัฒนาเมือง”         พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เขียนอธิบายเรื่องผังเมือง ผังเมืองกรุงเทพฯ (1) โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ไว้ในเว็บไซต์มติชนได้น่าสนใจและเป็นคำถามสำคัญว่า ‘ประชาชนอยู่ตรงไหนของโครงสร้างอำนาจในการกำหนดทิศทางและควบคุมการพัฒนาเมือง’         ผังเมืองกรุงเทพฯ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นผังเมืองที่ทำมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งโดยปกติแล้วควรมีการปรับปรุงทุกๆ 5 ปี แต่กลับล่วงเลยมา 10 กว่าปี การปรับปรุงผังเมืองกรุงเทพรอบนี้มี 2 คำถามใหญ่ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเห็นพ้องกัน นั่นก็คือการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและผังเมืองใหม่ดังกล่าวกำลังเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนหรือไม่ เมื่อคนกรุงฯ ไม่มีสิทธิในผังเมืองของตนเอง         “ถูกเวนคืนบ้านเพื่อไปสร้างถนน 6 เลน 1,400 หลังคาเรือนกับโครงการสร้างถนนลอยฟ้าแค่ 20 กิโลเมตร ถัดมาปัจจุบันเรามีถนนวงแหวนรอบนอกกาญจนาภิเษก มีถนนราชพฤกษ์ มีถนนกัลปพฤกษ์ คนฝั่งธนฯ ไม่ได้ข้ามไปฝั่งธน คนฝั่งธนฯ ข้ามไปฝั่งพระนคร เรามีสถานีรถไฟฟ้าประมาณ 3 สาย ถ้าท่านยังอ้างว่ารถติดอยู่ แล้วประชาชนจะอยู่ตรงไหนคะ คำนึงถึงประชาชนบ้างมั้ย ทางขึ้น ทางลง บริเวณเอกชัยโดนหน้ากว้างทั้งหมด 250 เมตร ประมาณ 10 หลังคาเรือนที่โดนแค่หน้ากว้างแล้วก็โดนตลอดทั้งซอย อีกกี่ชีวิตคะ แล้วทำไมไม่ฟังเสียงการขยายถนนท้องถิ่นที่มีอยู่” คำบอกเล่าของ ดาลิน สิริสุวรรณกิจ ผู้ได้รับผลกระทบจากร่างผังเมือง         เธอยังกล่าวอีกว่าถนนท้องถิ่นที่ใช้เชื่อมต่อกับเส้นหลักเพื่อความคล่องตัวในการเดินทางกลับไม่ถูกสร้าง แต่กลับจะสร้างถนนลอยฟ้าที่ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ ซ้ำยังถูกไล่ที่โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน พ.ศ.2566 โดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ         อีกฝากหนึ่งของเมืองกรุง ภูวนันท์ ภูวนัตตรัย ตัวแทนชุมชนซอยสุขุมวิท 53 ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการอาคารสูงที่จะมาสร้างในซอยแคบไม่เกิน 10 เมตร ทั้งที่กฎหมายกำหนดว่าในซอยที่กว้างไม่เกิน 10 เมตรสามารถสร้างอาคารได้ไม่เกิน 8 ชั้น หากจะสร้างสูงกว่านั้นถนนต้องมีความกว้าง 10 เมตรขึ้นไป และถ้าจะสร้างอาคารใหญ่ที่สูงเป็นพิเศษถนนต้องเกิน 18 เมตร แต่ปัจจุบันกลับมีความพยายามเลี่ยงกฎหมาย เขากล่าวต่อว่า         “แล้วการที่จะประกาศแก้ผังเมืองตรงนี้มีสิ่งที่ผมห่วงกังวลเป็นพิเศษเพราะมีแผนที่จะขยายถนนหลายสายเพิ่มความกว้างจากเดิมให้กลายเป็น 12 เมตร 18 เมตร เป็นความกังวลที่ผมขออนุญาตไม่ไว้วางใจ ท่านนายกฯ ปัจจุบันก็มาจากบริษัทอสังหาฯ ท่านผู้ว่าฯ ก็เคยอยู่บริษัทอสังหาฯ ที่ปรึกษากรุงเทพมหานครก็อยู่บริษัทอสังหาฯ เพราะมีความเป็นไปได้ที่ความพยายามที่จะขยายถนนเหล่านี้อาจจะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และเมื่อสร้างก็จะสร้างผลกระทบมากกับประชาชนทั่วทั้งกรุงเทพ”         นอกจากนี้ ประเด็น FAR (Floor Area Ratio) BONUS หรือมาตรการสร้างแรงจูงใจแก่ภาคเอกชนในการพัฒนาเมืองด้วยการทำโครงการให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตามเงื่อนไขที่กรุงเทพมหานครกำหนด โดยประชาชนได้รับประโยชน์แลกกับสิทธิประโยชน์ในการก่อสร้างพื้นที่อาคารเพิ่มเติมตามที่กฎหมายกำหนด ภูวนันท์ยังกล่าวว่าไม่ไว้ใจและไม่เชื่อว่านักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะทำจริง เนื่องจากที่ผ่านมามีกรณีจำนวนมากตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่เกิดการทำผิดกฎหมาย แต่ผู้บังคับกฎหมายทั้งกรุงเทพมหานครและหน่วยงานอื่นๆ ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดได้ เช่น กรณีโรงแรมเอทัส ซอยร่วมฤดี ที่สร้างในซอยแคบ หรือหลายโครงการในซอยทองหล่อที่ไม่สร้างถนนรอบโครงการสำหรับรถดับเพลิงแต่ใช้ประโยชน์เป็นที่ส่วนตัวก็ไม่มีการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายทั้งที่ศาลสั่งตัดสินเกิน 10 ปีแล้ว ผังเมืองกรุงเทพฯ ไม่ได้ผ่านการศึกษาอย่างรอบด้าน         ปัญหาสำคัญของร่างผังเมืองกรุงเทพคือไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนมาตั้งแต่ต้น แต่มีการร่างผังขึ้นก่อนแล้วจึงเปิดรับฟังความเห็นประชาชนว่าจะรับหรือไม่รับร่างผังเมืองฉบับนี้ คนกรุงเทพฯ ทั้งที่มีที่อยู่ในกรุงเทพฯ และเป็นประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานจึงเหมือนถูกมัดมือชก วีระพันธ์ จีนะวัฒน์ สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า         “ร่างผังเมืองที่ทำออกมาก่อน พ.ร.บ.ปี 2562 ชอบหรือไม่ ไม่ได้ผ่านกระบวนการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านและผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน แล้วจะใช้เป็นฐานในการทำกระบวนการต่อได้อย่างไร ทำไม่ออกแบบผังเมืองเพื่อประชาชน เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง คุณภาพชีวิตของประชาชนอยู่ตรงไหน จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวและลดความหนาแน่นได้อย่างไร”        วีระพันธ์ยังชี้ให้เห็นจุดอ่อนต่างๆ ของร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ที่ขาดการมีส่วนร่วมนี้อีกหลายจุด เช่น ไม่ควรให้ผู้พัฒนาเลือกใช้พื้นที่ได้อย่างอิสระในทุกพื้นที่เพราะพื้นที่แต่ละพื้นที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน, ต้องมีการระบุโซนพื้นที่ที่จะให้ FAR Bonus ที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละพื้นที่และควรเพิ่มมาตรการ FAR Bonus ส่งเสริมและอุดหนุนด้านการเกษตรในพื้นที่ที่ต้องการรักษาพื้นที่สีเขียวทั้งสองด้านของผังเมืองกรุงเทพ หรือแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เขาไม่เห็นด้วยเพราะไม่มีมาตรการสนับสนุนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเอื้อต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาพรวม โดยเฉพาะในระยะเวลา 5-7 ปีจากนี้ไป เพราะหากดำเนินการตามร่างที่กำหนดมาจะเร่งให้เกิดความหนาแน่นของเมืองเพื่อสนับสนุนการพัฒนามากกว่าสนับสนุนพื้นที่เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นต้น         “ต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน” วีระพันธ์กล่าวสรุป “มีมาตรการสนับสนุนให้เกิดคุณภาพชีวิต มีพื้นที่สีเขียวเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างเพียงพอ มีพื้นที่ย่านชุมชนท้องถิ่นเพื่อรักษาเอกลักษณ์ของย่าน มีพื้นที่ในการรักษาสิทธิธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้พอเหมาะกับสิทธิการพัฒนา มีระบบสาธารณูปโภคอย่างเพียงพอ มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยกระจายอยู่ในพื้นที่เมือง ต้องทำผังเฉพาะให้เสร็จสิ้นหลังทำผังเมืองรวมแล้ว” ร่างผังเมือที่ศักดิ์สิทธิ์เฉพาะกับคนที่ไม่มีอำนาจ         ด้านพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอข้อคิดที่สำคัญในการทำผังเมืองซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจในการร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ไม่ได้คำนึงถึง เขากล่าวว่าผังเมืองเปรียบได้กับรัฐธรรมนูญฉบับท้องถิ่นซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่าใครมีอำนาจในเมือง ขณะที่ผังเมืองเป็นสิ่งที่ต้องคุ้มครองประชาชนได้ซึ่งผังเมืองที่มองเห็นแต่สีต่างๆ ปะปนกันไม่สามารถบอกได้เลยว่าจะคุ้มครองหรือจะให้อำนาจประชาชนได้อย่างไร         โดยหลักการแล้วผังเมืองต้องทำหน้าที่ 2 ประการคือกำหนดทิศทางการพัฒนาและควบคุมการพัฒนาซึ่งร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ไม่มี และเมื่อผังเมืองคือรัฐธรรมนูญท้องถิ่นก็ย่อมต้องทำให้ประชาชนทุกคนอ่านเข้าใจ สามคือผังเมืองต้องมีความศักดิ์สิทธิ์บางประการ พิชญ์ลงรายละเอียดว่าร่างผังกรุงเทพฯ ที่เป็นอยู่ศักดิ์สิทธิ์เฉพาะกับคนที่ไม่มีอำนาจ ขณะที่คนมีอำนาจเมื่ออ่านผังนี้จะรู้ทันทีว่าตนจะแสวงหาประโยชน์อย่างไร         “บ้านผมอยู่ดีๆ ก็มีใบมาบอกว่าจะมีคอนโดมาสร้าง จะสร้างได้ยังไงในซอยที่มีถนนอยู่แค่สี่เลน แต่จะสร้างคอนโด 30 ชั้น ประเด็นคือเราจะมีสิทธิเมื่อมันมากระทบเราและนี่คือหัวใจของผังเมืองไทย ทุกอย่างจะขึ้นกับคำว่าเจ้าของที่ดิน ถ้าคุณไม่ใช่เจ้าของที่ดินคุณไม่มีสิทธิอะไรเลยในเมืองแห่งนี้ซึ่งมันมีปัญหาอยู่ การไม่มีสิทธิอะไรเลยไม่ใช่เพราะเราไม่มีประโยชน์ต่อเมืองนี้ เมืองนี้มันโตได้ด้วยการที่ไม่ให้สิทธิ์เรา โดยการเอาประโยชน์จากเรา คนจำนวนมากในเมืองนี้ไม่ใช่คนที่อยู่ในกรุงเทพแต่ได้รับผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าเขาอยู่เขาไม่มีโฉนดที่ดิน ไม่มีความเป็นเจ้าของที่ดิน แต่เขามีสิทธิที่จะอยู่ในเมืองนี้ได้เพราะเขาทำประโยชน์ให้เมือง เขาขายของก็ทำให้ต้นทุนในเมืองถูกลง ประชากรแฝงไม่ใช่คนที่ซื้อของในเมืองนี้และจ่ายภาษีบริโภคซึ่งเป็นแกนของภาษีเมืองหรือครับ อันนี้คือพื้นที่ที่คุณจะเคลมได้ว่าคุณมีสิทธิ์ที่จะอยู่ในเมืองนี้”         พิชญ์ยังตั้งคำถามอีกว่าร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับนี้สามารถควบคุมและกำหนดทิศทางการพัฒนาได้จริงหรือไม่และอะไรคือศูนย์กลางหรือมูลค่าที่ดินหรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ถ้ามองในแง่มูลค่าที่ดินจะพบว่าผังเมืองใหม่จะเพิ่มมูลค่าที่ดินเพราะมันเพิ่มและอนุญาตให้มีการพัฒนาที่ดินในบริเวณตึกสูงได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่มีการกำหนดพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ไม่มีการกำหนดสิทธิของประชาชนที่จะมีโอกาสอยู่ในเมืองมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือถ้าเพิ่มพื้นที่ที่มีความหนาแน่เพิ่มขึ้น คนที่เคยเช่าก็ต้องออกหรือต้องไปแอบซุกอยู่ตามที่ต่างๆ         พิชญ์กล่าวย้ำอีกครั้งว่าผังเมืองคือรัฐธรรมนูญท้องถิ่นที่กำหนดความสัมพันธ์ของประชาชนทุกคน ประชาชนจึงต้องเป็นจุดตั้งต้นว่าอยากได้เมืองแบบไหน ต้องพูดคุยกันก่อน แล้วคนที่เขียนผังต้องเขียนตามความต้องการของประชาชน ไม่ใช่เขียนเสร็จแล้วให้ประชาชนบอกว่าเอาหรือไม่เอา         “เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญตอนนี้คือต้องยุติการปรับปรุงผังเมืองกรุงเทพฯ แล้วเขียนใหม่บนหลักคิดที่ว่าทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตร่วมกัน” ประชาชนต้องจับปากกาและขีดผังเมืองเอง         ด้านอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ซึ่งกล่าวในนามภาคประชาชนก็คิดไม่ต่างจากคนอื่นๆ ที่เห็นว่า การจัดทำร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่กลับรับฟังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาอย่างกรณีการขยายซอยเล็กให้ใหญ่ขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างคอนโดมีเนียมขนาดใหญ่          “ส่วนเรื่องที่มีการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว อย่างเช่นบึงรับน้ำคู้บอนในโซนเขตคันนายาว อันนี้ใช้งบประมาณแผ่นดินเลยในการเข้าไปรับฟังความคิดเห็น พี่น้องประชาชนโหวตว่าอยากได้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่รับน้ำจำนวน 130 ไร่ รับน้ำได้ 870,000 ลูกบาศก์เมตร ปรากฏว่าบึงรับน้ำคู้บอนไม่อยู่ในผังเมือง แล้วตอนนี้กลายเป็นบ้านจัดสรรที่ถูกจัดสรรไปแล้ว กำลังจะเตรียมการก่อสร้าง”         อรรถวิชช์เห็นว่าภาคประชาชนจะต้องมีสิทธิ์จับปากกาและขีดสีเมืองกรุงเทพมหานคร เขายกตัวอย่างว่าเขตพื้นที่อนุรักษ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีเพียง 2 ประเภทคือเขียวลายสำหรับอนุรักษ์ชนบทและเกษตรและสีน้ำตาลอ่อนสำหรับการอนุรักษ์เพื่อศิลปวัฒนธรรม จะสังเกตเห็นว่าไม่มีสีที่ขีดขึ้นเพื่ออนุรักษ์พื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยของเขตเมือง สิ่งนี้ทำให้เห็นการเติบโตของเมืองที่พิสดารอย่างการขยายถนนเพื่อสร้างบ้านหรือคอนโดมีเนียมได้         จากกระแสและการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ทำให้คณะกรรมาธิการของรัฐสภาได้เชิญผู้ว่าราชาการกรุงเทพมหานครไปสอบถามเรื่องนี้ทำให้การประกาศร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ถูกเลื่อนออกไปจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม โดยทางผู้ว่าฯ ระบุว่าระหว่างนี้จะให้ทุกเขตเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมในเขตของตนเอง         ในส่วนของภาคประชาชน นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เครือข่ายกำลังเดินหน้าให้ข้อมูลและความรู้แก่ประชาชน รวมถึงการทำงานความคิดผ่านกับเครือข่ายผู้บริโภคและร่วมสังเกตการณ์ว่าแต่ละเขตมีการรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ ถ้ามี มีการให้ข้อมูลเพียงพอหรือเปล่า ซึ่ง ณ ตอนนี้เท่าที่ทราบยังไม่มีเขตใดเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 PFAS อุบัติภัยสารเคมีอันตรายที่เข้าสู่มนุษย์ทุกช่องทาง

        ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกหวั่นวิตกและส่งสัญญาณเตือนถึงอันตรายของสารเคมีกลุ่ม PFAS หรือ Per- and Polyfluoroalkyl Substances  อย่างแพร่หลาย         ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงจะพาไปทำความรู้จักถึงอันตรายและการรับมือที่เราจะสามารถทำได้ PFAS  คืออะไร         PFAS  (per-and polyfluoroalkyl substances)        เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีคุณลักษณะมีพันธะทางเคมีระหว่างอะตอมของคาร์บอนและฟลูโอรีน ที่ยึดเหนี่ยวกันแน่นมากทำให้มีความเสถียรสูงและสลายตัวยาก สารเคมีกลุ่ม PFAS คุณสมบัติสำคัญคือต้านความร้อน น้ำมันและน้ำได้ดี  ปัจจุบันสารเคมีกลุ่มนี้มีมากถึง 14,000 ชนิดและถูกนำมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม         PFAS เป็นสารเคมีที่มนุษย์สร้างขึ้น ถูกค้นพบตั้งแต่ใน ค.ศ. 1940 คุณสมบัติด้านความทนทาน ยากต่อการสลายตัว และเมื่อสลายแล้วยังแปรเปลี่ยนสภาพเป็นอีกสารหนึ่งได้ตลอดเวลา ดังนั้นทั่วโลกจึงขนานนาม สารเคมีกลุ่มนี้ในอีกชื่อว่า “สารเคมีตลอดกาล”          PFAS  พบได้ทั้งในดิน แหล่งน้ำ สัตว์น้ำ เช่น ปลา อาหารแปรรูป น้ำดื่ม เสื้อผ้า อุปกรณ์เครื่องครัว บรรจุภัณฑ์บรรจุอาหาร เช่น กล่องพิซซ่า ถุงใส่ป๊อบคอร์น ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น แชมพู เครื่องสำอาง ไหมขัดฟันและยังอีกมากมาย  อันตรายของสารเคมี  PFAS         ราว 4 เดือนผ่านมาแล้วที่ทีมข่าวของสำนักข่าว Bloomberg ได้ลงไปสอบสวนถึงการปนเปื้อนของ PFAS  ในชุมชนแห่งหนึ่งซึ่งอยู่บนหมู่เกาะแฟโร         หมู่เกาะแห่งนี้อยู่แอตแลนติกเหนือ ชาวบ้านในชุมชนประกอบอาชีพประมงมากว่าร้อยปี พวกเขายืนยันว่าในพื้นที่ไม่มีการประกอบอุตสาหกรรมเคมีใดๆ เลยแต่ตอนนี้สารเคมี PFAS กลับกำลังปนเปื้อนในชุมชนของเขาอยู่เต็มไปหมด         PFAS  เดินทางไปแล้วทุกๆ ที่แม้ในพื้นที่ห่างไกลจนอาจยากจะจินตนาการถึง ด้านผลกระทบต่อสุขภาพยิ่งชัดเจน แต่เมื่อย้อนมองกลับไปยังพื้นที่จุดต้นกำเนิดของสาร  PFAS        ณ ฝั่งตะวันออกของรัฐมินิโซตาใกล้กับสำนักงานใหญ่ของบริษัท 3M บริษัทที่เริ่มผลิตสารเคมีมาตั้งแต่ปี 1902 ซึ่งในปี 1960 บริษัทได้ฝังกลบสารเคมีขนาดใหญ่ไว้ในพื้นที่ ต่อมาสารเคมีดังกล่าวได้รั่วไหลลงสู่สิ่งแวดล้อมเป็นบริเวณกว้าง สิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ แต่สถิติมะเร็งในเด็กในพื้นที่บริเวณนี้ต่างหากที่ส่งเสียงดังเพราะเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ          เอมี่ (Amy) มารดาของบุตรสาวชื่อ Lexi ที่เป็นมะเร็งตั้งแต่วัยเด็กเล่าว่าเธอเริ่มสงสัยว่า บุตรสาวเป็นมะเร็งจากสภาพแวดล้อมในเมืองโอ๊คเดล รัฐมินนิโซตา เพราะเธอดื่มน้ำจากแหล่งน้ำในชุมชน นอกจากนั้น Lexi ยังได้รับประทานปลาจากทะเลสาบในพื้นที่โดยรอบอยู่เสมอเพราะคนในครอบครัวชอบตกปลา และนั่นอาจทำให้เธอต้องกลับมาฉุกคิดว่าสภาพแวดล้อมที่เธออยู่นี้ อาจไม่ได้ปลอดภัยต่อลูกน้อย เมื่อต้องสัมผัสทั้งน้ำดื่มและอาหาร ที่ล้วนมาจากแหล่งน้ำในพื้นที่อยู่อาศัย Lexi ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งตั้งแต่เธอยังเด็ก และต้องเข้ารับการบำบัดในโปรแกรมอย่างเคร่งคัดกว่า 5ปี  ปัจจุบันอาการของ Lexi ดีขึ้น แต่เด็กหลายคนไม่โชคดีเหมือนเธอ เมื่อสถิติข้อมูลระบุว่าผู้เสียชีวิตในเมืองโอ๊คเดล จากปี 2003 – 2015 กว่า 171% นั้น เสียชีวิตจากมะเร็งเมื่อเปรียบเทียบการการเสียชีวิตนอกพื้นที่การปนเปื้อน  PFAS ไม่เพียงทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง         การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในขณะนี้พบว่า PFAS ส่งผลต่อการลดอัตราการเจริญพันธุ์  การทำงานของตับ ระบบเลือดและหัวใจ เพิ่มความดันในหญิงตั้งครรภ์ ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า  ลดภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ในการปกป้องคุ้มครองโรคให้อ่อนแอลง         การแพร่กระจายของ PFAS ได้กระจายกว้างออกไปอย่างมากในปัจจุบัน ในปี 2023  หน่วยงานสำรวจเชิงธิรณีวิทยาของรัฐบาลกลางสหรัฐ เผยแพร่ผลงานวิจัยล่าสุดที่บ่งชี้ว่า น้ำประปากว่าเกือบครึ่งประเทศมีการปนเปื้อนสาร PFAS  และไม่เหมาะสำหรับการบริโภค เพราะเสี่ยงทำให้เกิดโรคต่างๆ ทั้งโรคมะเร็ง ไทรอยด์ โรคอ้วน ทำลายตับและระบบฮอร์โมนของร่างกาย         ปี 2023 เช่นเดียวกันที่นักวิทยาศาสตร์จาก Environmental Working Group ได้ตรวจตัวอย่างปลาน้ำจืด 500 ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาเป็นปลาน้ำจืด 44 สายพันธุ์ เช่น กลุ่มปลากะพง ปลากดอเมริกัน ปลาคอด ซึ่งเป็นปลาที่นิยมนำมาทำเป็นอาหาร ผลการศึกษาพบกลุ่มตัวอย่างมีปริมาณสารเคมี PFAS เฉลี่ย 9,500 นาโนกรัมต่อเนื้อปลา 1 กิโลกรัม ทำให้ปลาน้ำจืดมีสารเคมีตกค้างสูงมากกว่าปลาทะเลถึง 280 เท่า         นักวิทยาศาสตร์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการบริโภคปลาน้ำจืดหนึ่งครั้งต่อปีอาจเท่ากับการดื่มน้ำ ที่มีสารเคมี PFAS เป็นเวลาหนึ่งเดือน ซึ่งเป็นการรับเคมีในปริมาณที่สูงและอันตราย        ทั่วโลกร่วมส่งเสียงเตือนอันตรายของ PFAS             แม้ชื่อสารเคมี PFAS จะเริ่มปรากฏในหน้าสื่อต่างๆ ในช่วงระยะ  5 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเข้าสู่การรับรู้ของผู้คนมากขึ้นแล้ว กลับถูกนักวิทยาศาสตร์กล่าวถึงกันอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะทั้งงานวิจัยตลอดจนการออกมาเรียกร้องของนักวิทย์ซึ่งพยายามให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ควบคุมการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มนี้ มีมานานกว่า 10 ปี แต่กลับไม่เคยได้รับการขานรับ  ทั้งที่มันอันตรายต่อมนุษย์อย่างมาก         ในปี 2022 นักวิทยาศาสตร์อิสระกว่า 110 คนได้รวมตัวกันออกมาเตือนถึงอันตรายของ PFAS ในน้ำดื่ม ทั้งยังตอกย้ำว่า มาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มที่กำหนดให้มีสาร PFOA และ PFOS ซึ่งเป็นสาร 2 ชนิดในกลุ่มสารเคมี PFAS ที่พบได้บ่อยไม่ได้เป็นมาตรฐานที่ทำให้ประชาชนปลอดภัยจาก PFAS ได้         ปัจจุบันประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจาก PFAS  และเริ่มมีมาตรการ ควบคุม จำกัด ไปจนถึงการห้ามใช้สาร PFAS ในหลายระดับที่แตกต่างกัน  สหภาพยุโรป         ในสหภาพยุโรปการกำกับควบคุมการใช้สารเคมีอยู่ภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วย สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน โดยองค์การจัดการสารเคมีแห่งสหภาพยุโรป European Chemical Agency (ECHA) ได้สร้างระเบียบเครื่องมือกลไกให้ประเทศสมาชิกร่วมปฎิบัติตามอนุสัญญาฯ เพื่อปกป้องทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม          ปัจจุบันการควบคุมการใช้สารเคมี PFAS ในสหภาพยุโรปมีหลายระดับ บางชนิดมีการห้ามใช้แล้วเช่น การห้ามใช้ PFAS ในโฟมกันไฟตั้งแต่ปี 2011 และยังคงอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านการห้ามใช้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดกลุ่มที่ให้ใช้อย่างจำเป็น ซึ่งมีการกำกับ ควบคุมอย่างเคร่งครัด     สหภาพยุโรป เป็นภูมิภาคแรกๆ ที่ตื่นตัว เห็นถึงอันตรายของสาร PFAS และแม้จะมีความต้องการให้ยุติการใช้ PFAS อย่างสิ้นเชิงแต่ยังเป็นเรื่องยากเพราะได้เผชิญกับการแทรกแซงของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมต่างๆ อย่างหนักมาโดยตลอด   สหรัฐอเมริกา         ปัจจุบันหลายรัฐในสหรัฐอเมริกาได้ ผ่านกฎหมายเพื่อ ‘ห้าม’ หรือ ‘จำกัด’ การใช้สาร PFAS แล้วโดยรัฐแคลิฟอร์เนียได้ห้ามใช้ PFAS ทั้งหมดในเครื่องสำอางในเดือน ตั้งแต่กันยายน 2022 โดยมีช่วงเปลี่ยนผ่านสำหรับการบังคับใช้หลังวันที่ 1 มกราคม 2025  และไม่นานนี้เอง รัฐมินิโซต้าได้ผ่านกฎหมายห้ามใช้ PFAS โดยตั้งใจในผลิตภัณฑ์ต่างๆ และให้เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป จนถึงในปี 2032 ซึ่งได้กำหนดให้เป็นปีที่บรรลุการไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้สาร PFAS  โดยสมบูรณ์          อย่างไรก็ตามหลายรัฐของสหรัฐอเมริกายังมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เช่น นอร์ทแคโรไลนา ช่วงปลายปี 2023  ที่สหประชาชาติหรือ UN ถึงกับตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ลงตรวจสอบและเตือนภัยให้ประชาชนทราบถึงอันตรายของสารเคมี PFAS ในภูมิภาคนี้หลังพบว่า โรงงาน The Fayetteville โดยบริษัท Chemours เป็นแหล่งสำคัญที่ปล่อย PFAS ออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยแม้ UN ได้ส่งจดหมายถึงบริษัทและระบุถึงงานวิจัยที่ตรวจพบสารเคมี PFAS ของ Chemours ในปลาและพืชผล รวมถึงตัวอย่างเลือดของคนในคนในภูมิภาคนี้กว่า 97% แต่ก็ยังไม่รับการตอบรับที่จะเฝ้าระวังให้มากขึ้น         ในรัฐเทกซัสในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เกษตรสองรายยังได้ยื่นฟ้องบริษัทSynagro บริษัทจัดการของเสียขนาดใหญ่ที่ได้นำโคลนหมักมาขายให้เกษตรโดยอ้างว่าเป็นดินโคลนที่มีสารอาหารใช้ทดแทนเป็นปุ๋ยทางเลือกได้และราคาถูกกว่า แต่เมื่อเกษตรนำมาโคลนเหลวเข้ามาใช้แล้ว ไม่นานสุขภาพก็เริ่มแย่ลง สัตว์เลี้ยงตายลง สารเคมีปนเปื้อนในน้ำดื่ม ปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ที่ส่งออกจำหน่ายด้วย         การเข้าไปทดสอบโดยองค์กร PEER หรือ Public Employees for Environmental Responsibility ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรยังพบว่าในฟาร์มของเกษตรกรดังกล่าว ในน้ำดื่มปนเปื้อน PFAS มากกว่าค่ามาตรฐานถึง 13,000 เท่า ปนเปื้อนในเนื้อสัตว์เกินระดับที่ปลอดภัยถึง 250,000 เท่า สิ่งที่น่าตกใจ คือ ความเสียหายที่ยิ่งใหญ่นี้กำลังแพร่ไปข้ามรัฐในอเมริกาเมื่อมีการขายโคลนในลักษณะนี้ไปในหลายๆ ที่ เกษตรกรจึงยื่นฟ้องต่อบริษัท Synagro เนื่องจากบริษัท ควร/น่าจะคาดหมายได้ หรือตรวจสอบก่อนว่าสินค้าที่ขายออกไปมีความปลอดภัยต่อชีวิต ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือไม่         ในสหรัฐอเมริกาสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมหรือ EPA ได้จัดตั้งสภาด้าน PFAS ขึ้นมาโดยตรง ตั้งแต่ปี  2021 เพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อปกป้องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมจากผลกระทบจาก PFAS และรัฐบาล ได้ทุุ่มงบประมาณเพื่อกำจัดสาร PFAS และควบคุมผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกปี  นิวซีแลนด์        ปัจจุบันนิวซีแลนด์ได้ผ่านกฎหมายห้ามใช้สารเคมี PFAS ในเครื่องสำอางโดยให้มีผลตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป ปัจจุบันจึงนับเป็นช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่าน ให้ภาคผู้ผลิตมองหา คิดค้น สารทดแทนใหม่  นิวซีแลนด์นับเป็นประเทศแถวหน้าที่ปกป้องประชาชนเชิงรุกจากสารเคมี PFAS ทั้งนี้เพราะคณะวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Auckland  ได้ตรวจเครื่องสำอางที่นำเข้าภายในประเทศพบว่าถึง 90% ปนปื้อนสาร PFAS จึงทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงอันตรายร่วมกันอย่างชัดเจน  ออสเตรเลีย         ตั้งแต่ปี 2023 ประเทศออสเตรเลียประกาศที่จะเป็นประเทศที่ควบคุมการใช้ PFAS ทั้งตั้งแต่การผลิตภายในประเทศ การนำเข้าและการส่งออก  ควบคุมในแผนงานเจ็ดอุตสาหกรรมสารเคมีใน  ออสเตรเลียที่ห้ามใช้สารเคมีที่จะส่งผลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง โดยรัฐบาลจะประกาศรายชื่อสารเคมี ที่ห้ามใช้ภายในวันที่ 1 ก.ค. 2025 กลุ่มธุรกิจสารเคมีทั้งหมดจึงต้องหาสารตัวเลือกอื่นๆ มาใช้ทดแทน โดยจะให้มีการใช้สารเคมี PFAS เพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น        ก่อนหน้านี้ รัฐบาลออสเตรเลียได้พัฒนาโปรแกรมให้ภาคธุรกิจ ยุติการใช้สารเคมี PFAS แบบสมัครใจมาแล้วและยังกำหนดการใช้อย่างเคร่งครัดในโฟมกันไฟ การประกาศแผนการควบคุม PFAS ครั้งล่าสุดจึงเป็นการยกระดับขึ้นอีกขั้นของความจริงจังในการปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน         สถานการณ์ของ PFAS ในประเทศไทย        ในปี 2566 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ห้ามใช้สารPFAS รวมถึงอนุพันธ์ของสาร 13 รายการ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2566 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง พ.ศ. 2566         เช่นเดียวกับประเทศในสหภาพยุโรปและอาเซียน เนื่องจากจัดเป็นสารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์โดย ต่อมา อย.ยังได้ตรวจสอบเครื่องสำอางที่ขออนุญาตจดแจ้งในประเทศไทยแล้ว ไม่พบการใช้สาร PFAS (Per- and polyfluoroalkyl substances) หรือสารเคมีอมตะ         อย่างไรก็ตามการใช้สารเคมี PFAS ในเครื่องสำอางเป็นเพียงอุตสาหกรรมหนึ่งเท่านั้น ปัจจุบันมีการนำสาร PFAS ไปใช้เป็นวัตถุตั้งต้นทั้งในอุตสาหกรรมพลาสติกเครื่องปรับอากาศ สิ่งทอ ยานยนต์ ปิโตรเคมี ไฟฟ้า รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมทางการแพทย์และอีกมากมาย         เดือน กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มูลนิธิบูรณะนิเวศและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ร่วมกับ เครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ หรือ IPEN ศึกษาทดสอบการปนเปื้อนของสาร PFAS "สารเคมีตลอดกาล" ในผลิตภัณฑ์สิ่งทอใน 13 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งตัวอย่างเสื้อผ้าเข้าทดสอบ จากทั้งหมด 13 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศในยุโรป 7 ประเทศ (เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ สหราชอาณาจักร เซอร์เบีย มอนเตเนโกร) 4 ประเทศในเอเชีย (บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ไทย) สหรัฐอเมริกา และเคนยา         ผลการตรวจวิเคราะห์เสื้อผ้าทั้งหมดจาก 13 ประเทศรวม 72 ตัวอย่าง (แจ็กเก็ต 56 ตัวอย่าง และเสื้อผ้าประเภทอื่นอีก 16 ตัวอย่าง) พบว่ามี 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 65.3) ที่มีสาร PFAS หรือมีระดับ EOF ที่บ่งชี้ว่ามีสารดังกล่าว และจากแจ็กเก็ต 56 ตัวอย่าง มีถึง 35 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62.5) ที่มีสารเคมี PFAS หรือมีระดับ EOF ที่บ่งชี้ว่ามีสารดังกล่าว ทั้งนี้พบเสื้อกลุ่มแจ็กเก็ต 16 ตัวอย่าง มีปริมาณสารเคมี PFAS เกินระดับที่สหภาพยุโรปกำหนด         ในกรณีของประเทศไทยพบการปนเปื้อนในทุกตัวอย่างที่ส่งไป 6 ตัวอย่าง หากเปรียบเทียบกันระหว่างตัวอย่างที่มีสาร PFAS สูงที่สุดของแต่ละประเทศในเอเชียด้วยกัน จะพบว่า ตัวอย่างที่ ที่ซื้อจากอินเดียมีปริมาณ PFAS สูงสุด (702.2 นาโนกรัม/กรัม) ตามด้วยตัวอย่างจากไทย (379.9 นาโนกรัม/กรัม) ในขณะที่ตัวอย่างจากบังคลาเทศและศรีลังกามีสาร PFAS ในปริมาณ 6.8 และ 2.7 นาโนกรัม/กรัม ตามลำดับ         การศึกษาวิจัยครั้งนี้ IPEN และเครือข่ายองค์กรสมาชิก จึงได้เสนอต่อรัฐบาลทุกประเทศ เร่งดำเนินการดังนี้         1.ออกประกาศห้ามใช้สารเคมี PFAS ในเสื้อผ้าและสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ         2. สนับสนุนการพัฒนาข้อกำหนดในการควบคุมสารเหล่านี้ทั้งหมดในระดับสากล (รวมถึงฟลูออริเนตโพลีเมอร์แบบสายโซ่ด้านข้างและฟลูออโรโพลิเมอร์) และปฏิบัติตามอย่างกลไก         3. บังคับให้มีการเปิดเผยวัสดุและสารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ เช่น ออกกฎหมายที่บังคับให้ผู้ผลิตแจ้งส่วนประกอบในสินค้าต่อประชาชนทั่วไป ร้านค้าปลีก และหน่วยงานกำกับดูแล         4. วางแผนและส่งเสริมให้เกิดผลประโยชน์ทางธุรกิจ การสนับสนุนทางการเงิน และการช่วยเหลือต่างๆ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปใช้ทางเลือกที่ปลอด PFAS โดยดูแลให้การเปลี่ยนผ่านนั้นเป็นไปอย่างยุติธรรมต่อพนักงานและชุมชน         5.เพิ่มทรัพยากรและศักยภาพของศุลกากรในการตรวจวิเคราะห์สินค้านำเข้าที่มีการใช้หรือปนเปื้อนสาร  PFAS         ในมุมมองของ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มองว่า เนื่องจากมีการใช้สาร PFAS ในหลากหลายอุตสาหกรรม การที่หน่วยงานรัฐแม้มีงบประมาณจำกัด แต่ได้ตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้า เช่นที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ได้ตรวจสาร PFAS ในเครื่องสำอาง การตรวจสินค้าอุปโภค บริโภคที่สาร PFAS มีความเสี่ยงจะเข้าสู่ร่างกายในลักษณะนี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง ช่วยให้ประชาชน ได้เฝ้าระวังอันตรายและสุขภาพ จึงควรการดำเนินให้เกิดความต่อเนื่องและหลากหลายสินค้า และสำหรับกลุ่มผู้ผลิต เมื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การยุติการใช้สาร PFAS อาจจะใช้เวลายาวนาน         ปัจจุบันการมีฉลากที่ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคว่าสินค้าที่ซื้อหรือใช้ มีสาร PFAS ชนิดใดและปริมาณเท่าใด พร้อมทั้งแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการใช้สินค้าดังกล่าว        จึงเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มดำเนินการได้แล้วตั้งแต่วันนี้ เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนทุกคน                                   

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 5 เรื่องเตือนภัยผู้บริโภค ปี 2567

        ปี พ.ศ. 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับร้องเรียนจากประชาชนทั้งหมด 1,600 เรื่อง ครอบคลุมทั้งเรื่อง บริการสุขภาพ, อาหาร ยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ, สื่อและโทรคมนาคม ,สินค้าและบริการทั่วไป , อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย , การเงิน การธนาคาร , บริการขนส่งและยานพาหนะและเรื่องพลังงานกับสิ่งแวดล้อม ในจำนวนเหล่านี้เรื่องที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ หมวดสินค้าและบริการทั่วไป มีมากถึง 630 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 39 จากทุกข์ของผู้บริโภคทั้งหมดที่ร้องเรียนเข้ามา  ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยตลอดปี 2567 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงขอย้ำเรื่องสำคัญ 5 เรื่องที่ประชาชนควรระวังตัวก่อนตกเป็นเหยื่อสูญเงินทรัพย์สิน    1.มิจฉาชีพหลอกจากการซื้อของออนไลน์         กลุ่มที่ถูกหลอกจากการซื้อของออนไลน์มีหลายลักษณะ ไม่ว่าซื้อของแล้วไม่ได้ของเลยหรือซื้อของแล้วได้ไม่ตรงตามสินค้าที่สั่ง สั่งสินค้าแล้วได้รับแต่ไม่มีคุณภาพเพียงพอให้ใช้งานได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วในสินค้าและบริการทุกประเภท ไม่ว่าจะของใช้ โทรศัพท์มือ เสื้อผ้า อาหาร และบริการหลายประเภท เช่น ที่พักโรงแรม รีสอร์ทต่างๆ         ตัวอย่างล่าสุดของเรื่องร้องเรียนจากความเดือดร้อนของ เพจปลอม ที่เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือ ผู้เสียหายนั้นถูกมิจฉาชีพจาก เพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa โพสต์ภาพข้อความและที่พักที่หาดเจ้าสำราญ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี หลอกให้จองที่พัก โดยเมื่อผู้เสียหายเห็นรูปที่พักในเพจสวยถูกใจ จึงติดต่อไปสอบถามรายละเอียดเพื่อจองที่พักในช่วงเดือน ธันวาคม ปี 2566 ที่ผ่านมาซึ่งแอดมินเพจก็ตอบกลับมาอย่างรวดเร็วและเสนอส่วนลด 3,300 บาท หากเธอโอนเงินค่าที่พักเข้ามาทันที เมื่อผู้เสียหายโอนเงินแล้วต่อมาทางเพจยังแจ้งให้โอนค่าประกันความเสียหายของที่พักอีก 5,000 บาท ผู้เสียหายไม่ได้คิดมากอะไรนัก คิดว่าเงินประกันย่อมได้คืนในตอนสุดท้าย จึงโอนเงินให้อีกเป็นครั้งที่ 2 รวมโอนเงินไปทั้งสิ้น 14,700 บาท  ต่อมาผู้เสียหายจึงพบว่า ความจริงเมื่อเดินทางไปตามแผนที่ไม่พบที่พักดังกล่าว (BEACH VIEW pool Villa) แต่กลับเป็นที่พักของโรงแรมชื่อ Canary Good Pool Villa ซึ่งเจ้าของได้ดำเนินการแจ้งความแล้วเช่นกันที่ถูกมิจฉาชีพนำรูปไปใช้           “ถามว่าทำไมเราถึงเชื่อและหลงโอนเงินไปให้ คือในเพจเขาเหมือนจริงทุกอย่าง มีรูปห้อง มีรูปคนมาเข้าพัก มีรีวิว มีการกดไลค์ มีผู้ติดตามทุกอย่าง เราเลยเชื่อ ตอนนี้เราได้ดำเนินการแจ้งความไปแล้วแต่ถึงตอนนี้ยังไม่ได้เงินคืนเพราะตำรวจออกหมายเรียกไปแล้วแต่เขายังไม่มาเราก็กำลังติดตามเรื่องอยู่” ผู้เสียหายเล่าให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น         มิจฉาชีพหลอกให้ซื้อของและบริการส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบของการสร้างเพจปลอมหรือบัญชีโซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น ในแพลตฟอร์ม TikTok  ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อขายบนแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบผู้ขายสินค้าหรือบริการได้ มีที่อยู่แน่ชัด ผู้ขายมีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญและมีระบบการระงับการเงิน การประกันเงินที่เพียงพอเมื่อความเสียหายเกิดขึ้น  2.สินค้าและบริการที่ซื้อขายล่วงหน้า         กลุ่มเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากที่สุดทั้งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและที่สภาองค์กรของผู้บริโภคที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ สินค้าและบริการที่ซื้อขายล่วงหน้าครอบคลุมหลายเรื่อง เช่น การเข้าใช้บริการคลินิกเสริมความงาม การซื้อบัตรคอนเสิร์ต การสมัครใช้บริการฟิตเนส บริการท่องเที่ยว รวมถึงการทำสัญญาประกันภัยประเภทต่างๆ ด้วย         สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับ ‘ข้อสัญญา’ แต่ไม่มีกฎ ระเบียบที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สินหลายลักษณะอย่างมาก บางกรณีแม้ความเสียหายอาจเป็นจำนวนไม่มาก แต่เมื่อประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อก็ทำให้มิจฉาชีพได้เงินไปจำนวนมาก         กรณีการเข้าใช้บริการคลินิกเสริมความงามเกิดได้ทั้งตั้งแต่ถูกล่อลวงให้ใช้บัตรเครดิตแม้ต่อมาผู้บริโภคจะขอยกเลิกก็ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก อาจต้องเสียเงินไปบางส่วนแล้ว บางกรณีประชาชนถูกชักชวนให้ซื้อคอร์สเสริมความงามแต่ต่อมาถูกยกเลิกสัญญา หรือสถานเสริมความงามปิดตัวลงไม่สามารถใช้บริการได้ และหลายกรณีเข้าใช้บริการแล้วต่อมากลับพบว่า คลินิกใช้ยาไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ หลายกรณีประชาชนเกิดความเสียหายขึ้นกับร่างกายจากการรับบริการแต่ถูกปฏิเสธความรับผิดชอบ ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องเพื่อให้เกิดการชดใช้ค่าเสียหายซึ่งกินเวลาเนิ่นนาน         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังได้รับเรื่องร้องเรียนสินค้าและบริการประเภทประกันภัยมากขึ้นเช่นกัน ทั้งการจ่ายเบี้ยประกันภัยไปแล้วหลายปีแต่เมื่อเจ็บป่วยกลับไม่ได้รับการคุ้มครองตามสัญญาประกัน  และบางกรณีได้ครบกำหนดสัญญาประกันแต่ไม่ได้รับผลตอบแทนครบตามที่สัญญาประกันได้โฆษณาไว้  3.ความปลอดภัยของ แอปพลิเคชัน การเงิน การลงทุนต่างๆ         แม้เรื่องนี้ยังมีร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิไม่มากนัก  แต่เราเห็นว่าปัจจุบันและในอนาคตคนรุ่นใหม่ๆ จะสนใจการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ในสกุลเงินที่หลากหลายมากขึ้น ประชาชนจึงต้องศึกษาปัญหาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอยู่สม่ำเสมอติดตามปัญหาว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วผู้เสียหายได้รับการเยียวยาชดเชยหรือไม่และจะต้องดำเนินการอย่างไร          กรณีที่มีผู้ร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือผู้เสียหายได้ซื้อขายคริปโต (สกุลเงินดิจิทัล) ผ่านแพลตฟอร์มสีเขียว มาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีแล้วก็ไม่มีปัญหาใดๆ แต่ต่อมาในเดือน ธันวาคม 2565 กลับได้รับข้อความแจ้งเตือนว่า   "เหรียญของท่านได้รับการถอนเรียบร้อยแล้ว" โดยพบว่าเหรียญถูกสั่งถอนจนไม่มีเหรียญเหลืออยู่ในบัญชีเลย แม้ผู้เสียหายจะแจ้งตำรวจให้ดำเนินคดี  และทางแพลตฟอร์มสีเขียวได้ดำเนินการส่งข้อมูลรายละเอียดให้ตำรวจเพื่อประกอบสำนวนคดีแล้ว แต่ผู้เสียหายก็ยังไม่ได้รับเงินคืนยังต้องต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อป้องสิทธิของตัวเอง 4.  สื่อและโทรคมนาคม         หลังบริษัท ทรู และดีแทคได้ควบรวมจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 และ กสทช. ได้กำหนดเงื่อนไข / มาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนากิจการโทรคมนาคม แต่จากการสำรวจโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ สภาองค์กรของผู้บริโภคที่สำรวจประชาชนกว่า 2,924 รายพบว่า80% ของผู้ใช้บริการพบปัญหาการใช้งาน โดยเครือข่ายที่พบปัญหามากที่สุด คือ ทรู 47% ดีแทค 34% เอไอเอส 18% และ อื่น ๆ 1% โดย 5 ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า (29%) สัญญาณหลุดบ่อย (19%) ต้องใช้โปรโมชันใหม่ที่แพงขึ้น เมื่อโปร ฯ เดิมหมด (14%) ค่าแพ็คเกจเท่ากันหมด ไม่มีตัวเลือก (12%)  คอลเซ็นเตอร์โทรติดยาก (10%)         ปัจจุบันนอกจากปัญหาสำคัญ 5 เรื่องดังกล่าวแล้ว ประชาชนยังคงร้องเรียนปัญหาอื่นๆ เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับบริษัทผู้ให้บริการค่ายสัญญาณมือถือ เช่น การถูกหลอกให้เปิดเบอร์โทรศัพท์  กรณีไม่เคยเปิดใช้งานเบอร์ดังกล่าว แต่ถูกเรียบเก็บค่าบริการซึ่งมีอย่างต่อเนื่อง  รวมถึงประชาชนได้น้อยในหลายพื้นที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจาก การย้ายเสาสัญญาณจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเสาสัญญาณภายหลังการควบรวมธุรกิจดังกล่าวด้วย   5.การซื้อ - เช่าอสังหาริมทรัพย์ คอนโด ที่อยู่อาศัย         ปัญหากลุ่มนี้มีหลายลักษณะ เริ่มตั้งแต่การจองคอนโด ที่อยู่อาศัย ที่สุดท้ายคอนโดก็สร้างไม่เสร็จตามกำหนดสัญญา หรือแม้แต่เมื่อเข้าอยู่อาศัย เป็นเวลาไม่นานก็อาจเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความรับผิดชอบจากบริษัทเจ้าของโครงการได้ มีกรณีถูกเรียกเก็บค่าส่วนกลางมากขึ้น หรือไม่ได้ใช้พื้นที่ส่วนกลางตามสัญญาเพราะมีไม่เพียงพอ  หรือกรณีที่อยู่ไปยาวนานแล้วก็อาจเป็นคอนโดที่ผิดกฎหมายได้ ดังที่เราได้เห็นจากกรณีแอชตัน อโศก มาแล้ว  ......................................................... ผู้บริโภคจะป้องกันตัวเอง ได้อย่างไร           คุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนะนำว่า จากปัญหาที่ประชาชนจำนวนมากถูกมิจฉาชีพหลอกให้ซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ ขอเรียกร้องให้แพลตฟอร์มที่เป็นช่องทางการขาย รวมถึงบริษัทขนส่ง ควรร่วมเข้ามากำหนดมาตรการกำกับดูแลด้วย โดยควรมีระบบที่สามารถบันทึก บัญชีของมิจฉาชีพหรือผู้ขายที่ใช้ส่งของ ควรมีระบบที่ช่วยกันตรวจสอบว่าหากถูกตีกลับบ่อยครั้ง อาจมีระงับบัญชีชั่วคราว ระงับการโอนเงินให้ร้านค้าเพื่อนำเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหายได้ทันท่วงที         “แพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้ง Facebook และ TikTok เราจะเห็นว่าเป็นพื้นที่ของการซื้อขายไปแล้ว แต่การจัดทำระบบเพื่อความปลอดภัย การตรวจสอบเพื่อยืนยันตัวตนของร้านค้ายังพัฒนาไม่มากเท่าแพลตฟอร์มที่พัฒนามาเพื่อการซื้อขายจริงๆ เราจึงเรียกร้องว่าหากประชาชนใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อทำการซื้อขายแล้วเจ้าของแพลตฟอร์มก็ควรจะต้องยกระดับ มาตรการความปลอดภัยมากขึ้นด้วย ให้มีความปลอดภัยที่เพียงพอ”         ในด้านอสังหาริมทรัพย์ คอนโด ที่อยู่อาศัยนฤมลสะท้อนว่ากฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้เอื้อที่จะคุ้มครองผู้บริโภคเลย ผู้บริโภคเป็นผู้เช่าซื้อ ผ่อนไปนาน 3 เดือนหรือ 20 ปี สถานะไม่ได้ต่างกันหากยังผ่อนไม่หมดหรือแต่เมื่อผ่อนหมดไปแล้วผู้บริโภคก็จะใช้อำนาจขัดทรัพย์ไม่ได้ กฎหมายยังมีช่องว่างที่ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบอยู่มาก         กรณีที่มีเรื่องฟ้องคดีแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังพบว่าปัจจุบันมีปัญหาที่บริษัทเจ้าของโครงการยังสามารถโอนถ่ายทรัพย์สินไปเสียก่อน หรือ ทำให้บริษัทล้มละลาย ทำให้ผู้บริโภคที่เสียหายไม่ได้รับการชดเชย เยียวยา ซึ่งเรื่องนี้นฤมลสะท้อนว่าเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง จะต้องร่วมมือกันในอีกหลายฝ่ายเพราะต้องเป็นนโยบาย มีการแก้ไขกฎหมายที่ชัดเจน ประชาชนถึงจะได้รับการคุ้มครองได้         คุณธนทรัพย์  ชิตโสภณดิลก  เจ้าหน้าที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และแจ้งเบาะแส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) กล่าวถึงปัญหาประชาชนถูกดูดเงินออกจากแอพพลิเคชั่น การเงิน การลงทุนต่างๆว่า ปัญหาดังกล่าวเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2564 และเป็นปัญหาอย่างมากในปี 2565 ปัจจุบันแม้จะมีแนวโน้มลดลงแต่ประชาชนยังต้องระมัดระวัง          “คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) มีฝ่ายงานที่กำกับดูแลความปลอดภัยของผู้ประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิตัลอยู่แล้ว ระบบในแอพลิเคชั่นมีการให้ยืนยันตัวตนทุกครั้งที่มีการฝาก - ถอน แต่ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นเราต้องให้ความรู้กับประชาชน เพื่อให้เกิดการรู้เท่าทัน โดยภาพรวมที่ผ่านมา ลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิตัล มักจะถูกโจรกรรมโดยการเข้าไป พิชชิ่ง คือการกดเข้าเว็บไซต์ที่มิจฉาชีพสร้างมาเพื่อหลอกหากไม่ได้ดูให้ดีเพราะชื่อโมเดนของเว็บไซต์จะคล้ายกันมากเช่นเว็บไซต์  zintmes เขาจะปลอมเป็น zintmess  เมื่อเข้าไปแล้วก็จะมีช่องให้กรอกข้อมูล Username และ Password เหมือนกัน หากเผลอกรอกข้อมูลนี้ไปแล้วมีโอกาสสูงอย่างมากที่มิจฉาชีพจะมีข้อมูลของผู้เสียหายและเข้ามาในบัญชีจริง โอนถ่ายเงินไปซื้อเหรียญอื่น และโอนต่อไปเรื่อยๆ จนไปต่างประเทศ การสืบว่า บัญชีปลายทางเป็นบริษัท หรือเป็นใคร เป็นอำนาจของเจ้าหนี้ที่ตำรวจแล้ว หากไปต่างประเทศจึงปรากฏตามข่าวว่าตำรวจยังสามารถดำเนินการได้ล่าช้า”         ด้านปัญหาที่ประชาชนเข้ารับบริการจากคลินิกเสริมความรับ และได้รับความไม่เป็นธรรม ถูกปัดความรับผิดชอบจากความเสียหายที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้ข้อมูลกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า สคบ. มีกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนในเรื่องนี้ คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2563 หากประชาชนมีหลักฐานการจ่ายเงินและยังไม่ได้เข้าใช้บริการก็ย่อมสามารถขอรับเงินคืนได้  ซึ่งตามมาตรา 11 พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ระบุให้การโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา หากประชาชนพบเห็นการโฆษณาจากที่ใดให้เก็บหลักฐานไว้ และเมื่อมีหลักฐานการจ่ายเงินเป็นหลักฐานประกอบอีก กฎหมายจะถือว่าสัญญาเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว แม้ว่าประชาชนจะไม่ได้ทำสัญญาที่เฉพาะเจาะจงก็ตาม หากภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือยกเลิกประชาชนไม่ได้รับสินค้าหรือใช้บริการ ก็ถือว่าผิดสัญญา สามารถนำหลักฐานการโฆษณา การจ่ายเงิน ในการฟ้องเรียกเงินคืนได้ นอกจากนี้ ยังมี พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 หากประชาชนศึกษาไว้จะเป็นประโยชน์ช่วยคุ้มครองสิทธิของตนเองได้  ทำยังไงไม่ให้ถูกหลอก          ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร รอง สว. (สอบสวน) กก.2 กองบังคับการปราบปราม  การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ข้อมูลกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า 5 อันดับสูงสุดของเรื่องที่มีการแจ้งความออนไลน์เข้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือการหลอกให้ซื้อสินค้าและบริการ หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หลอกให้รักโรแมนส์สแกม และการโดนหลอกผ่านคอลเซนเตอร์           " สำนักงานตำรวจเรามีโครงการ CIB เตือนรักระวังภัย 4 ห้องหัวใจระวังโจรเพราะมี 4 มิจฉาชีพเข้ามาในรูปแบบของความรักคือ 1.1.Romance Scam หลอกให้รัก หลอกให้โอน ด้วยการปลอมเป็นชาวต่างชาติ หน้าตาดี หลอกว่าจะบินมาแต่งงาน ส่งของมีค่ามาให้ ให้เราโอนเงินค่าดำเนินการ 2.Hybrid Scam หลอกให้ลงทุน ด้วยการปลอมโปรไฟล์ให้ดูดี เข้ามาตีสนิทพูดคุยเชิงชู้สาว ก่อนจะใช้คารมคำหวานหลอกให้ลงทุน 3.Sextortion ข่มขู่กรรโชกทางเพศ ด้วยการหลอกให้ถ่ายรูปโป๊ ชวนแลกภาพโป๊เปลือยก่อนจะนำไปแบล็กเมล์ ข่มขู่จะปล่อยภาพหลุดแลกเงิน 4.Dating fraud ลวงให้ออกเดท ด้วยการ หลอกให้เหยื่อไว้ใจ ขอนัดเจอ ก่อนล่อลวงไปข่มขืน กักขัง คิดถึงสัมพันธ์ออกแบบจำลอง และทำร้ายร่างกาย”         ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร ให้คำแนะนำ/ ข้อสังเกตเพื่อให้ประชาชน ป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพไว้ดังนี้        ·     เพจปลอมที่หลอกขายสินค้า หรือให้จองที่พักมักจะลดราคาสินค้ามากเป็นพิเศษ ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าท้องตลาดมากจนผิดสังเกต         ·     บัญชีที่ให้โอนเงินหากเป็นโรงแรมหรือที่พัก ควรเป็นชื่อโรงแรมหรือบริษัทโดยตรง ไม่ใช่ชื่อบุคคล         ·     เมื่อติดต่อพูดคุยเพื่อสอบถามรายละเอียดในการซื้อสินค้าหรือบริการแนะนำให้ประชาชนขอเบอร์โทรศัพท์และหมั่นโทรไปสอบถามข้อมูลให้บ่อยครั้งที่สุด เพราะโดยปกติเบอร์โทรศัพท์ของมิจฉาชีพจะตั้งระบบให้ไม่สามารถโทรกลับ หรือติดต่อได้โดยง่าย          ·     หากประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกว่าเป็นตำรวจหรือหลอกว่าเข้าไปพัวพันกับคดียาเสพติดใดๆ อย่าตื่นตระหนกแต่ให้ขอข้อมูลจากมิจฉาชีพว่ามาจากสถานีตำรวจใดและให้ประชาชนตรวจสอบกลับไปที่สถานีตำรวจดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มิจฉาชีพอ้างถึงได้ติดต่อมาจริงหรือไม่         ·     มิจฉาชีพที่เข้ามาหลอกไม่ว่าจะทั้งในเพจปลอม หรือ คอล เซ็นเตอร์มักมีลักษณะเร่งรัดให้ตัดสินใจโดยเร็วโดยการยื่นข้อเสนอ จูงใจต่างๆ หรืออาจทำให้ตระหนก ตกใจไม่มีเวลาคิดตรวจสอบข้อมูลจนรีบโอนเงินไป        ·     ประชาชนควรหมั่นติดตาม ข่าวสารแจ้งเตือนภัยมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ อย่างสม่ำเสมอเหมือนกันการฉีดวัคซีนการเตือนภัยให้ตัวเอง หากทำไม่สม่ำเสมออาจไม่เท่าทันรูปแบบของมิจฉาชีพที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปทุกวัน         ·     ให้ประชาชนมีสติในการซื้อ ไม่โลภ หากสินค้าราคาถูกกว่าตลาดมากๆ ควรมองว่าเป็นเรื่องผิดสังเกตเพราะปัจจุบัน มีการปลอมสินค้าทุกรูปแบบ เช่น ผงชูรส ผงซักฟอก เป็นต้น  และควรซื้อสินค้าจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ การซื้อในแพลตฟอร์มออนไลน์ควรซื้อในแพลตฟอร์มที่มีการตรวจสอบตัวตนของผู้ขาย   มีมาตรการความปลอดภัย           ·     ปัจจุบัน ประชาชนควรเพิ่มเติมความรู้เท่าทันเทคโนโลยีต่างๆ เช่น รู้ว่า ใช้ AI สร้างบุคคลคนหนึ่งขึ้นมาได้จริง หรือการการพูดคุยกับ มิจฉาชีพทางคอล เซ็นเตอร์นานๆ แม้หลายคนมองเป็นเรื่องสนุกแต่เทคโนโลยีจะสามารถปลอมเสียงของเราไปหาประโยชน์กับรายชื่อผู้ติดต่อในมือถือของเราได้  

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่274 ปี 2567 สู่ประเทศไทยที่ธุรกิจโทรคมนาคมผูกขาดแล้วโดยสมบูรณ์

        วันที่ 1  มีนาคม 2567  จะครบรอบระยะเวลา 1 ปี  หลังบริษัททรู และดีแทค ดำเนินการควบรวมเป็นบริษัทใหม่ร่วมกันเสร็จสมบูรณ์ อย่างเป็นทางการในชื่อ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)”        ปัจจุบันกว่า 10 เดือนภายหลังการควบรวม สถานการณ์ไม่ผิดแผกและยังใกล้เคียงกับหลายคำเตือนที่หลากหลายฝ่ายได้ส่งเสียงเตือน ก่อน กสทช.ส่งสัญญาณ ไฟเขียวให้เกิดกการควบรวม ครั้งสำคัญในครั้งนี้        คือตลาดและอุตสาหกรรมโทรคมคมในประเทศไทย จาก 3 ราย จะเหลือเพียง 2 รายที่มีส่วนแบ่งตลาดที่ใกล้เคียงกัน ส่งผลต่อการแข่งขันอย่างเสรี ไม่อาจมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเปิดให้บริการได้อีกแล้วโดยง่าย และผลกระทบต่างๆ สุดท้ายย่อมตกถึงประชาชน         แรกเริ่มผลกระทบที่ประชาชนได้รับ ไม่ได้เด่นชัดมาจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แต่มาจากศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือ 101 Public Policy Think Tank ที่ได้ติดตามศึกษาวิจัยในชื่อว่า "กสทช. กับการ (ไม่?) บังคับใช้ตามมาตรการควบรวม TRUE-DTAC" เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา         งานศึกษาชิ้นนี้ได้สัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดตามมาตรการการควบรวมที่ กสทช. กำหนดให้บริษัทต้องดำเนินการและเรื่องสำคัญคือ การลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของทั้งสองค่ายที่จะต้องลดลงร้อยละ 12  ใน 90 วัน แต่ข้อค้นพบจากงานวิจัยครั้งนี้กลับไม่เป็นไปอย่างนั้น         รายงานวิจัยซึ่งสำรวจประสบการณ์ผู้บริโภคจำนวน 99 หมายเลข จาก "ทุกค่ายมือถือ" ใน 50 จังหวัดทุกภูมิภาค (ระบบเติมเงิน 48 หมายเลข และระบบรายเดือน 51 หมายเลข) พบว่า หลังจากการควบรวมของทรู-ดีแทค ผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมไทยทั่วประเทศจ่ายค่าบริการโทรศัพท์มือถือโดยเฉลี่ยลดลงราว 0.5-3.1% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการรวมธุรกิจ แต่นาทีการโทรและปริมาณอินเทอร์เน็ตมือถือที่ผู้บริโภคได้รับก็ลดลงด้วยเช่นกัน         อย่างไรก็ตาม เมื่อดูเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้เครือข่ายของทรูและดีแทค กลับพบว่ากลุ่มนี้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยรวมราว 2.9% โดยกลุ่มที่ใช้แพ็กเกจแบบรายเดือนจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นสูงถึง 12.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยที่นาทีการโทรได้เพิ่มเพียง 1.4% เท่านั้น ส่วนปริมาณอินเทอร์เน็ตที่ได้รับกลับลดลง 3.3%         ราคาค่าบริการจริง ๆ ยังลดลงไม่ถึงตามเกณฑ์ 12% ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาจจะลดลงไปเพียง 2-3% เท่านั้น...หรือหากมองว่านาทีการโทรได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนปริมาณอินเทอร์เน็ตที่ได้รับกลับลดลงด้วย...ค่าบริการย่อมไม่เคยลดลงเลย         อีกฟากหนึ่ง ผลเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการไม่ได้อยู่เพียงในรายงานวิจัยชิ้นนี้เท่านั้น เมื่อประชาชนส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมากขึ้นๆ อย่างต่อเนื่อง ถึงปัญหาจากการใช้บริการสัญญาณมือถือ ทั้งความเร็วอินเตอร์เน็ตที่มีปัญหา ต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น และอีกหลากหลายปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญและอาจเป็นสัญญาณถึงปัญหาอื่นอีกมากมายที่ยังไม่ได้รวบรวมให้สังคมได้รับรู้ จึงเป็นที่มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับสภาผู้บริโภค จัดทำแบบสำรวจ เรื่อง ผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนของผู้บริโภคที่ใช้บริการทุกเครือข่าย ตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566         การสำรวจครั้งนี้ มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 2,924 ราย ผลการสำรวจพบ 5 ปัญหาใหญ่คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า , สัญญาณหลุดบ่อย ,โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น, ค่าแพ็กเกจ ราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก, และ call center โทรติดยาก โดยร้อยละ 81 ที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้ใช้บริการค่ายมือถือที่ควรวมธุรกิจโทรคมนาคม         นอกจากผลสำรวจความคิดเห็น ผู้ใช้บริการทุกเครือข่ายหลังควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม  ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2566 นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาดำเนินโครงการทดสอบการใช้งาน call center ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ได้แก่ AIS, DTAC, NT และ TRUE โดยเก็บข้อมูลการทดสอบในระหว่างวันที่ 5 - 17 กันยายน 2566         เพื่อเฝ้าระวังมาตรฐานการให้บริการ  Call Center หลังทรูและดีแทคได้ควบรวมกิจการเมื่อวันที่ 1 มี.ค. และประชาชนจำนวนมากยังหวังพึ่ง Call Center ในการสอบถามข้อมูล รับปัญหา และแก้ไขปัญหาให้พวกเขา          การทดสอบครั้งนี้สำรวจในกลุ่มผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,116 ราย โดยใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือของทั้ง 4 เครือข่าย และเบอร์โทรศัพท์พื้นฐาน (02) โทร.ติดต่อ call center ของทุกค่ายมือถือ         ผลการทดสอบตอกย้ำถึงปัญหา call center โทรติดยาก โดยพบว่า ระยะเวลานานสุดที่จับคือนานถึง 28.10 นาที เมื่อใช้เบอร์เครือข่าย NT โทร.ไปยัง call center ของ TRUE call center ของ TRUE ยังเป็นค่ายมือถือที่ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยนานสุดทุกขั้นตอน         นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ และรองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ฝ่ายเผยแพร่ ผู้ริเริ่มโครงการทดสอบการใช้งาน call center ของมือถือค่ายต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หลังบริษัททรูและดีแทคได้ควบรวมธุรกิจตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566เผยด้วยความห่วงกังวลว่า บริการ Call Center เป็นช่องทางสำคัญที่คอยรับเรื่อง แก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภค การควบรวมธุรกิจที่ไม่มีการปรับเพิ่มการให้บริการ ยิ่งทำให้ Call Center กระจุกตัวและมีสัดส่วนน้อยลงเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้บริการที่ค่ายมือถือต้องดูแลมากขึ้นหลังการควบรวมจึงต้องไม่ลดมาตรฐานลง ด้วยการมีเจ้าหน้าที่ call center ที่เป็นมนุษย์อย่างเพียงพอตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ใช่บริการด้วย AI เพียงอย่างเดียวซึ่งเป็นข้อเสนอที่ประชาชนได้เสนอผ่านการสำรวจด้วยเช่นกัน         ย้อนกลับไปดู กสทช. ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง                 ก่อนเสียงร้องเรียนถึงปัญหาจากการใช้บริการค่ายมือถือของประชาชนจะดังขึ้นเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปดูกันสักนิดว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล โดยตรง ได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง         ตั้งแต่เริ่มแรก แม้ กสทช.มีท่าทีหลีกเลี่ยงบทบาทหน้าที่ของตนเอง ด้วยการยืนยันว่า กสทช. มีอำนาจหน้าที่เพียง ‘รับทราบ’ การควบรวมธุรกิจครั้งนี้เท่านั้น           อย่างไรก็ตามแม้ในวันที่  20 ต.ค. 2565  กสทช. จะใช้อำนาจเพียง ‘รับทราบ’ แต่มติดังกล่าว ยังมาพร้อมกำหนดเงื่อนไข/ มาตรการเฉพาะ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคมที่ กสทช. วางกำหนดไว้เองคือ        1.  การกำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ย                •  อัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลงร้อยละ 12                •  ให้มีทางเลือกของราคาที่แยกรายบริการ                •  ให้นำส่งข้อมูลต้นทุนและข้อมูลที่จำเป็นโดยให้มีหน่วยงานตรวจสอบ                •  ให้ประกาศให้ผู้ใช้บริการรับทราบ เพื่อมีการตรวจสอบและมีบทลงโทษกรณีทำไม่ได้         2.  การกำหนดราคาค่าบริการ โดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์ (Average Cost Pricing)                •  จัดให้มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญเพื่อทำหน้าที่สอบทาน (Verify) ความถูกต้องของข้อมูลตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน โครงสร้างอัตราค่าบริการ และนำมาคำนวณหาต้นทุนเฉลี่ย (AC) และต้นทุนส่วนเพิ่ม (MC) ที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันของแต่ละรายบริการ และข้อมูลต่างๆ เมื่อมีการรวมธุรกิจให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยผู้ยื่นคำร้องรวมธุรกิจเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดพร้อมจัดจ้างที่ปรึกษา         3.  การคงทางเลือกของผู้บริโภค                •  กำหนดให้บริษัท TUC และบริษัท DTN ยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี         4.  สัญญาการให้บริการ                •  บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างบริษัทและผู้ใช้บริการ รวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับตามที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์และได้รับการยินยอมจากผู้ใช้บริการแล้ว         5.  การประชาสัมพันธ์การให้บริการเพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ ภายหลังการรวมธุรกิจ                •  บริษัทต้องประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการคงไว้ซึ่งคุณภาพในการให้บริการและค่าบริการที่เป็นธรรม และจะต้องกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการหลังการรวมธุรกิจ โดยสำนักงาน กสทช. อาจกำหนดแนวทางและระยะเวลาการดำเนินการ รวมถึงเงื่อนไขในการปฏิบัติในเรื่องการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้บริษัท TUC และบริษัท DTN ดำเนินการต่อไป          ฉัตร คำแสง หนึ่งในคณะวิจัย ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือ 101 Public Policy Think Tank ชี้ว่า ข้อมูลภายหลังการควบรวมคือ เครือข่ายคู่แข่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการควบรวมครั้งนี้ ซึ่งก็คือเอไอเอส ยังมีการปรับเปลี่ยนราคา ปริมาณการโทรและอินเทอร์เน็ตมือถือให้เท่ากับกลุ่มทรู-ดีแทคด้วย รายงานการดำเนินการของทรู-ดีแทค ชี้ว่า อาจไม่ได้มีการปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะตามที่รายงานต่อ กสทช. และข้อมูลยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของการแข่งขันที่ลดลงในตลาดโทรคมนาคมที่อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงเสนอแนะว่า กสทช. ควรนำข้อมูลอื่น ๆ เช่น ข้อมูลสำรวจประสบการณ์ที่ผู้บริโภคได้พบเจอ มาประกอบการพิจารณาด้วย         "ทั้ง 3 เจ้า แพ็กเกจแทบจะก๊อป (copy) วางกันหมด มันเห็นหลักฐานอยู่ว่า การแข่งขันที่ลดลงทำให้ผู้บริโภคไม่ได้ประโยชน์จากการควบรวมครั้งนี้ตามที่โฆษณา" นักวิจัย 101 PUB ระบุ         ณัฐวดี เต็งพาณิชย์กุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)   ผู้รวบรวมผลกระทบจากการรวมธุรกิจ ทรู- ดีแทค และเสนอต่อคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 กล่าวว่า “ หลังประกาศควบรวมธุรกิจวันที่ 1 มี.ค. 2566 เพียง วันที่ 3 มี.ค. เราก็พบว่ามีการสำรวจราคาแพ็กเกจทั้ง 3 เครือข่าย มีการปรับราคาแพ็คเกจมือถือรายเดือนทั้ง 3 เครือข่าย จนเท่ากันหมด เคสร้องเรียนที่เข้ามาที่มูลนิธิ ยังมีทั้งปัญหาความเร็วอินเตอร์เน็ตลดลง, เน็ตไม่พอต้องซื้อแพคเกจเสริม หลังการควบรวมสัญญาณอ่อน  ใช้ได้บางพื้นที่ ไม่ครอบคลุม ถูกเปลี่ยนโปรโมชั่นโดยไม่ได้แจ้งล้วงหน้าและต้องจ่ายราคาสูงขึ้น ปัญหาการเปลี่ยนสิทธิพิเศษ ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้ร้องเรียนมีหลักฐานเข้ามาประกอบชัดเจน”         ที่ผ่านมากสทช.  ได้จัดแถลงข่าวด่วน วันที่19 ธ.ค.66 กสทช.ในเรื่อง ”เกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้บริโภค หลังทรู – ดีแทค ถูกร้องเรียนเรื่องคุณภาพ - บริการ “ ยืนยัน ค่าบริการเฉลี่ยลดลง 12 เปอร์เซ็นต์ หลังทรูควบรวมดีแทค ยังไม่พบปัญหาตามที่ผู้บริโภคร้องเรียนทุกกรณี ที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินการการยุบเสาไปยังพื้นที่ซึ่งครอบคลุมมากกว่า จึงทำให้สัญญาณให้บริการไม่เสถียรในบางช่วงเวลาและไม่ได้สื่อสารให้ผู้ใช้บริการในพื้นที่ทราบ โดย กสทช. ได้สุ่มตรวจความเร็วของอินเทอร์เน็ตในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ยืนยันได้ว่า คุณภาพการให้บริการไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ นี่คือเสียงจากนาย ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ และ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.         อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากภาพรวมการทำงานของ กสทช. กลับไม่ได้ราบรื่น เรียบร้อยตามถ้อยแถลงดังกล่าวเมื่อการประชุมของ กรรมการของ กสทช. ไม่อาจขึ้นได้ สะท้อนความขัดแย้งภายในจนไม่อาจขับเคลื่อนวาระสำคัญที่ กสทช.จะต้องดำเนินการมาตลอดปี 2566 โดยประชุมของ กรรมการ กสทช. ล่มต่อเนื่องถึง 7 ครั้ง  ซึ่งแม้จะมีความพยายามจัดการประชุมให้เกิดขึ้นสำเร็จโดยเป็นการประชุม 3 วันต่อเนื่องในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาคือ วันที่ 20 25 และ 26 ธันวาคม 2566 แต่ในการประชุมครั้งแรกของปี 2567 คือวันที่ วันที่ 10 ม.ค.ยังมีวาระเพื่อพิจารณา 52 วาระ ทั้งยังมีวาระที่ค้างพิจารณาอยู่ถึง 72 วาระ  วาระสำคัญจำนวนมากเป็นเรื่องสำคัญ เร่งด่วนที่ควรพิจารณาให้แล้วเสร็จเมื่อ 4- 6 เดือนมาแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ลุล่วงได้         การทำงานของ กสทช.ที่ผ่านมาจึงทั้งล่าช้า ไม่อาจตัดสินใจเรื่องสำคัญจนคั่งค้างจำนวนมาก ไม่เท่าทันต่อความเดือดร้อนของประชาชน การกำกับติดตามการดำเนินการของบริษัทที่ไม่เป็นไปอย่างเชิงรุก รอให้บริษัทรายงานผลการดำเนินการเข้ามาให้พิจารณาเท่านั้น  อะไรที่ยังเป็นความหวังอยู่บ้าง         แม้ประชาชนได้รับปัญหา และมีภาระที่ต้องจ่ายมากขึ้นจากการควบรวมธุรกิจของทรูและดีแทคแล้ว และการทำงานของ กสทช. ยังล่าช้า ไม่อาจให้ความชัดเจนและเชื่อมั่นต่อสังคมได้ อย่างไรก็ตามในรอบปีที่ผ่านมา ยังมีสัญญาณที่ดีในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค เมื่อศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ขอให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช. ที่อนุญาตให้ควบรวมกิจการของทรู-ดีแทค ที่ออกมาเมื่อเดือน ต.ค. 2565 โดยศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่าแม้เป็นการยื่นฟ้องพ้นเวลาแต่มีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการเป็นวงกว้าง ถือเป็นการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะ         “บริการโทรคมนาคม เป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด อีกทั้งการลงทุนในการประกอบกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมจึงมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย จึงทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ การที่ผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมจะควบรวมธุรกิจกันหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม  มีผลทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบในวงกว้าง จึงถือได้ว่าการฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง กรณีจึงเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามนัยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับฟ้องคดีไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 52 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว         การที่ศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบมความนั่น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป ”  ข้อความดังกล่าวนี้คือคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด          “ข้อมูลจากสำนักบริหารและจัดการเลขหมายโทรคมนาคม ในปี 2565 หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทั้ง ทรูและดีแทค รวมกันแล้วมีมากกว่า  77,000,000 เลขหมาย การควบรวมธุรกิจครั้งนี้จึงส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ตอนนี้คดีนี้จึงเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาลปกครองชั้นต้นแล้ว และเราจะรวบรวมผลกระทบต่อประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชั้นศาลต่อไป ”         “การดำเนินการหลังจากนี้ เรากำลังทำแนวทางเพื่อการทดสอบความเร็วของอินเตอร์เน็ต (Speed Test) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเราตระหนักดีว่าเราจะต้องทำงานบนฐานข้อมูลที่ชัดเจน รัดกุมมากขึ้น เช่นที่เราได้ทำในการสำรวจที่ผ่านมา ทำให้ความเดือดร้อน ปัญหาต่างๆ ถูกรวบรวมและสื่อสารมาได้อย่างมีพลัง และเราจะดำเนินการอีกหลายอย่าง เราจะไม่ทำให้เรื่องนี้เงียบเพียงเพราะ กสทช. หรือบริษัทออกมาบอกว่าเขาได้ดำเนินการอะไรแล้วบ้าง แต่ความเดือดร้อนยังมีอยู่ ถึงทุกวันนี้เรายุติการสำรวจไปแล้วแต่เรื่องร้องเรียนปัญหาจากการใช้บริการค่ายมือถือก็ยังเข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิฯ อยู่ต่อเนื่อง ” นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวถึงสิ่งที่จะดำเนินการต่อไป         โดยที่ผ่านมา วันที่ 22 ธันวาคม 2566 นฤมล ได้ร่วมกับ นายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายคณะทำงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รวมถึง คณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช. เพื่อเรียกร้องให้ กสทช. เร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวม TRUE – DTAC พร้อมแนบหลักฐานผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากเครือข่ายมือถือทุกระบบ จำนวน 2,924 ราย        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า การดำเนินการที่ดีที่สุดในเวลานี้เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการมือถือให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค และการแข่งขันในตลาด คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กสทช. ควรกำกับดูแลให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการเฉพาะ ที่ กสทช. ได้เป็นผู้กำหนดวางแนวทางไว้ด้วยตนเองอย่างเข้มงวด         นอกจากเงื่อนไข/ มาตรการเฉพาะ ที่ กสทช.ได้วางไว้แล้วสิ่งที่ในวันนี้ กสทช.ไม่อาจปฏิเสธได้แล้วอีกต่อไปจะต้องดำเนินการเปิดรับฟังเสียงและข้อเสนอแนะจากประชาชน ที่วันนี้พร้อมเข้ามีส่วนร่วมและทุกปัญหาที่ร้องเรียน มีหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้         เพราะเพียงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดำเนินการสำรวจเพียงช่องทางออนไลน์ระหว่างวันที่   9 - 23 พฤศจิกายน 2566 ประชาชนยังสามารถให้ข้อเสนอได้ต่อทั้ง กสทช.และบริษัทผู้ให้บริการอย่างชัดเจน         จึงไม่ยากเลยที่ กสทช. จะดำเนินการรับฟังข้อเสนอเหล่านี้ไปตรวจสอบ หากวันนี้ กสทช.มองเห็นแล้วว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนแล้วจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)