ฉบับที่ 206 ไขมันทรานส์และพลังงาน ในโดนัทรสช็อกโกแลต

ไขมันทรานส์และพลังงาน ในโดนัทรสช็อกโกแลตแม้หลายคนจะยกให้โดนัทจะเป็นของว่างแสนอร่อย จนบางครั้งก็กินเพลินจนลืมไปว่าในความอร่อยที่แสนหวานนั้น ให้พลังงานสูงไม่แพ้การรับประทานอาหารจานหลักเลยทีเดียว และที่มากไปกว่านั้นยังทำให้เราเสี่ยงต่อการได้รับไขมันทรานส์อีกด้วย โดยสำหรับเจ้าไขมันทรานส์(Trans fat) หรือกรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty acid) นั้น เป็นกรดไขมันชนิดหนึ่งที่เกิดจากกระบวนการแปรรูป พบมากในการผลิตอาหารทอด ครีมเทียม หรือพวกขนมอบ เบเกอรี่ที่มีมาการีน/เนยขาว เพราะสามารถทำให้อาหารเก็บได้นาน ทนความร้อน ไม่มีกลิ่นหืนและต้นทุนการผลิตต่ำ อย่างไรก็ตามไขมันทรานส์กลับเป็นถูกจัดให้เป็นไขมันตัวร้าย เนื่องจากสามารถเพิ่มระดับระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL: low-density lipoprotein) ที่มีผลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจและความดัน รวมทั้งสามารถทำให้มีการอักเสบของผนังหลอดเลือด ซึ่งทำให...

สมาชิกอ่านต่อ...

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

1000 point

LINE it!

ฉบับที่ 204 ไขมันทรานส์ ในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง

ตามที่สัญญากันไว้ว่าเราจะกลับมาพบกันอีกครั้ง กับผลการทดสอบไขมันทรานส์ในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง หลังจากเล่มที่ผ่านมาเราได้เสนอผลการตรวจสอบ ปริมาณพลังงานและน้ำตาลในเครื่องดื่มดังกล่าวไปแล้ว ไขมันทรานส์(Trans fat) หรือกรดไขมันทรานส์(Trans Fatty acid) เป็นกรดไขมันชนิดหนึ่งที่เกิดจากกระบวนการแปรรูป พบมากในการผลิตอาหารจำพวกขนมอบ เบเกอรี่ที่มีมาการีน/เนยขาว อาหารทอดหรือครีมเทียม เพราะสามารถทำให้อาหารเก็บได้นาน ทนความร้อน ไม่มีกลิ่นหืนและต้นทุนการผลิตต่ำอย่างไรก็ตามไขมันทรานส์กลับเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต่างเฝ้าระวัง เพราะสามารถส่งผลร้ายเช่นเดียวกับกรดไขมันอิ่มตัว โดยทำให้ระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี(LDL: low-density lipoprotein) เพิ่มสูงขึ้น และลดระดับโคเลสเตอรอลชนิดดี(HDL: high-density lipoprotein) ในเลือดลง ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งยังเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ จอประสาทตาเสื่อม โรคนิ่วในถุงน้ำดีและการอักเสบ อันเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคติดต่อไม่เรื้อรังทั้งหลายดังนั้นหลายประเทศจึงออกกฎหมายกำกับปริมาณไขมันทรานส์ในอาหาร เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา(USFDA) กำหนดให้อาหารทุกประเภทที่วางจำหน่ายและมีส่วนประกอบของกรดไขมันดังกล่าว ต้องระบุการใช้กรดไขมันทรานส์ไว้บนฉลากโภชนาการ รวมทั้งต้องมีปริมาณไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ทั้งนี้ภายหลังก็ได้ออกกฎหมายใหม่ให้เข้มงวดขึ้น โดยควบคุมการผลิตอาหารให้มีไขมันทรานส์เป็น 0% หรือห้ามไม่ให้มีไขมันทรานส์ในอาหารอีกเลย(หลังวันที่ 16 มิถุนายน 2561) เนื่องจากตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ซึ่งถือเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับแรกๆ ของประชากรโลก องค์การอาหารและยา(อย.) บ้านเราตระหนักในผลร้ายของไขมันทรานส์เช่นกัน โดยล่าสุดทาง อย. ได้ออกประกาศว่ากำลังอยู่ในระหว่างการยกร่างกฎหมาย ที่ห้ามนำส่วนประกอบอาหารที่มีไขมันทรานส์มาผลิตอาหาร หรือห้ามเติมสารไฮโดรเจนลงไปในกระบวนการผลิตน้ำมัน โดยคาดว่าจะสามารถใช้กฎหมายดังกล่าวได้ภายในเดือนเมษายน 2561 (ที่มา https://www.prachachat.net/economy/news-90978)ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงอาสาช่วยตรวจสอบปริมาณไขมันทรานส์ในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง 15 ยี่ห้อ 22 ตัวอย่าง โดยอ้างอิงตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่แนะนำให้หลีกเลี่ยงการบริโภคกรดไขมันทรานส์ คือ ไม่ควรบริโภคเกินกว่า 2.2 กรัม/วัน หรือควรพบความเข้มข้นสูงสุดไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ซึ่งผลการทดสอบจะเป็นอย่างไร เราลองไปดูกันผลการทดสอบไขมันทรานส์ในทั้ง 15 ยี่ห้อ 22 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจพบว่า มีปริมาณกรดไขมันทรานส์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตามมีเพียง 1 ยี่ห้อที่มีปริมาณกรดไขมันดังกล่าวสูง คือ เครื่องดื่มข้าวกล้องงอก ผสมธัญพืช 7 ชนิด สูตรไม่ผสมน้ำตาล ยี่ห้อ โกเด้นท์ มีปริมาณไขมันทรานส์มากที่สุดคือ 2.43 กรัม/ 100 กรัม(0.7 ต่อหน่วยบริโภค)  ส่วนตัวอย่างที่เหลือพบว่ามีไขมันทรานส์อยู่ในปริมาณน้อย ซึ่งอาจพบได้ในธรรมชาติและไม่เกินคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก  ตารางแสดงผลการทดสอบอย.เตรียมประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อย.ได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. …. เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร (ฉบับที่ 3) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (1) และมาตรา 6 (5) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 โดยให้เพิ่มความลงในข้อ 2 ของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ. 2536) เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร ลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ในข้อ 2.13 “ห้ามใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (ไขมันทรานส์) “ยกเว้น” การใช้ในการผลิตอาหารเพื่อการส่งออก”การออกประกาศฉบับดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า “ไขมันทรานส์ (trans fatty acids)” จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (partially hydrogenated oil) จะเพิ่ม “ความเสี่ยง” ของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น อย.จึงได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวขึ้น โดยขณะนี้ตัวร่างอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ โรงงานผลิตวัตถุดิบอาหาร, โรงงานผลิตน้ำมันพืช, โรงงานผลิตนม-เนย-เบเกอรี่ และโดนัท ฯลฯ ที่ใช้กระบวนการผลิตที่มีไขมันทรานส์เกิดขึ้น“เราเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของสำนักอาหาร อย. รวมถึงการส่งหนังสือไปยังองค์การการค้าโลก (WTO) ด้วย และให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่งความคิดเห็นกลับมายัง อย. ภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ หลังจากนั้น อย.จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดสรุปเสนอคณะกรรมการอาหาร ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน หากความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน อย.จะเร่งประกาศฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา” น.ส.ทิพย์วรรณกล่าวที่มา https://www.prachachat.net/economy/news-90978**อัพเดท**เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ระบุว่า โดยปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (8) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ข้อ 1 ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2561ปิยะสกล สกลสัตยาทรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 203 พลังงานและน้ำตาลในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง

เชื่อว่าหลายคนนิยมรับประทานเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง ซึ่งมีหลากหลายประเภทให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็นนมถั่วเหลือง โกโก้ ช็อกโกแล็ต ชานม หรือไมโล โอวันติน เนื่องจากเครื่องดื่มเหล่านี้มักมาในรูปแบบทรีอินวัน ทำให้มีรสชาติที่กลมกล่อม และเพียงแค่เราฉีกซองเติมน้ำร้อนก็สามารถรับประทานได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานอีกด้วย อย่างไรก็ตามด้วยรสชาติที่อร่อย พร้อมขนาดซองที่ไม่ใหญ่มากนักของเครื่องดื่มประเภทนี้ อาจทำให้ผู้บริโภคหลายคนอร่อยเพลิน จนลืมตรวจสอบปริมาณพลังงานและน้ำตาลที่เราจะได้รับ ซึ่งแน่นอนว่าหากเราได้รับพลังงานและน้ำตาลสูงเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน สามารถส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวานจากการได้รับน้ำตาลเกิน 24 กรัม/วัน หรือโรคหัวใจจากการได้รับไขมันไม่ดีสะสม รวมทั้งโรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้นฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขออาสาตรวจสอบน้ำตาลและพลังงานในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง จาก 15 ยี่ห้อยอดนิยมจำนวน 22 ตัวอย่าง รวมทั้งทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ ซึ่งจะแสดงผลในเล่มถัดไป สรุปผลการสำรวจฉลากจากตัวอย่างเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผงที่นำมาทดสอบทั้งหมด 15 ยี่ห้อ จำนวน 22 ตัวอย่าง พบว่า 1. มี 1 ตัวอย่าง ไม่มีฉลากโภชนาการคือ มัช ชานมปรุงสำเร็จชนิดผง 2. ยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุด คือ ซองเดอร์ เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูปผสมงาดำ รสจืด มีปริมาณน้ำตาล 0 กรัม/หน่วยบริโภค ในขณะที่ยี่ห้อที่ให้ปริมาณน้ำตาลมากที่สุดคือ เอ็ก ซอง ชาปรุงสำเร็จ รสนม ชนิดซอง ปริมาณน้ำตาล 22 กรัม/หน่วยบริโภค3. ยี่ห้อที่ให้พลังงานน้อยที่สุดคือ ซุปเปอร์ ชานมปรุงสำเร็จ ให้พลังงาน 70 กิโลแคลอรี่/หน่วยบริโภค ในขณะที่ยี่ห้อที่ให้พลังงานมากที่สุดคือ เอ็ก ซอง ชาปรุงสำเร็จ รสนม ชนิดซอง ให้พลังงาน 190 กิโลแคลอรี่/หน่วยบริโภค4. นอกจากนี้ยังพบว่ามี 1 ยี่ห้อที่ไม่มีเลขสารบบอาหารคือ Royal Myanmar Teamix ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ซื้อจากห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน (กูร์เมต์ มาร์เก็ต)ข้อสังเกต- การแสดงฉลากอาหารจากตัวอย่างที่นำมาทดสอบทั้งหมดพบว่า 1 ตัวอย่างที่ไม่มีเลขสารบบอาหาร อาจเข้าข่ายผิดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ที่กำหนดไว้ว่า การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุที่ผลิตเพื่อจำหน่าย นำเข้าเพื่อจำหน่ายหรือที่จำหน่าย ต้องแสดงข้อความเป็นภาษาไทย และอย่างน้อยจะต้องมีข้อความแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้ (เว้นแต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะยกเว้นให้ไม่ต้องระบุข้อความหนึ่งข้อความใด) 1.ชื่ออาหาร 2.เลขสารบบอาหาร 3.ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต หรือผู้แบ่งบรรจุหรือผู้นำเข้าหรือสำนักงานใหญ่ (แล้วแต่กรณี) 4.ปริมาณของอาหาร 5.ส่วนประกอบที่สำคัญ 6.คำเตือน/ ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร 7.ชื่อวัตถุเจือปนอาหาร (ถ้ามี) 8.ข้อความ “แต่งกลิ่นธรรมชาติ/ สังเคราะห์” (ถ้ามี) และ 9.แสดงวันเดือนปี ผลิต/หมดอายุนอกจากนี้ตัวอย่างที่ไม่มีฉลากโภชนาการหรือไม่ระบุฉลากโภชนาการภาษาไทย อาจสร้างความสับสนให้ผู้บริโภคบางส่วนได้ เนื่องจากฉลากโภชนาการมีความสำคัญในแง่ของของการให้ข้อมูลและความรู้ ด้านคุณค่าทางโภชนาการอาหารกับผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อเป็นทางเลือกในการบริโภคอาหารในแต่ละวันให้เหมาะสมกับที่ร่างกายต้องการตารางแสดงผลการสำรวจฉลากภาษีน้ำตาล ปัจจุบันตลาดเครื่องดื่มในไทยมีมูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจัยหลักของการเติบโตนี้มาจากการขายเครื่องดื่มที่มีรสหวาน แม้ว่าภาครัฐจะมีการเพิ่มอัตราภาษีน้ำตาลจากร้อยละ 6.9 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 8.9 ในปี 2557 แต่ก็ยังสวนทางกับจำนวนคนเป็นโรคอ้วนที่มีมากขึ้นจากร้อยละ 34.7 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 37.5 ในปี 2557 ดังนั้นรัฐจึงได้มีการเพิ่มภาษีน้ำตาลในอาหารชนิดต่างๆ ในปี 2560 ที่ผ่านมา โดยหวังให้เป็นมาตรการหนึ่ง ในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของผู้บริโภคให้หันมาลดการทานหวาน มัน เค็ม  โครงสร้างการจัดเก็บค่าความหวานนั้น จะแบ่งออกเป็น 6 ระดับ ได้แก่ ค่าความหวาน 0-6 กรัมต่อ 100 มล. ไม่ต้องเสียภาษี ค่าความหวาน 6-8 กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 10 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน  8-10 กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 30 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน 10-14  กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 50 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน 14-18 กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร และค่าความหวาน 18 กรัมต่อ 100 มล.ขึ้นไป เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร โดยให้เวลาภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มปรับตัวเป็นระยะเวลา 2 ปี ก่อนจะเริ่มเก็บจริงในวันที่ 1 ต.ค. 2562

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 198 น้ำตาลและพลังงาน ในกาแฟซอง ทรีอินวัน

กาแฟซอง 3 in 1 เป็นกาแฟปรุงสำเร็จชนิดผงที่ผู้บริโภคในบ้านเราให้การตอบรับเป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะสะดวก เพียงฉีกซองใส่แก้วเติมน้ำร้อนก็ดื่มได้แล้ว ยังมีรสชาติที่อร่อยถูกปากในราคาไม่แพงมากอีกด้วย โดยเหตุผลหลักที่ทำให้กาแฟประเภทนี้รสชาติดีก็มาจากส่วนประกอบหลัก 3 อย่างคือ กาแฟ ครีมเทียมและน้ำตาล ซึ่งผสมผสานมาแล้วพร้อมกับวัตถุเจือปนอาหารต่างๆ อย่างลงตัว ทำให้ได้รสชาติที่กลมกล่อม อำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคที่ไม่อยากชงกาแฟดื่มเองได้เป็นอย่างดีอย่างไรก็ตามด้วยรสชาติที่อร่อยและขนาดซองที่ไม่ใหญ่มากนัก ทำให้ผู้บริโภคหลายคนลืมไปว่าในกาแฟทรีอินวันเหล่านี้อาจมีปริมาณน้ำตาล ไขมันและให้พลังงานสูง ซึ่งหากบริโภคมากเกินไป สามารถทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวานจากการได้รับน้ำตาลเกิน 24 กรัม/วัน หรือโรคหัวใจ จากการได้รับไขมันไม่ดีสะสม รวมทั้งโรคไขมันในเลือดสูงได้ เราจึงต้องระมัดระวังในการดื่มกาแฟประเภทนี้ ฉลาดซื้อจึงขออาสาตรวจสอบปริมาณน้ำตาลและพลังงาน ของกาแฟปรุงสำเร็จชนิดผง  3 in 1 จาก 15 ยี่ห้อยอดนิยมจำนวน 18 ตัวอย่าง หลังจากในเล่มที่ผ่านมาเราเคยทดสอบ คาเฟอีนและน้ำตาลในกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่มหรือกาแฟกระป๋องกันไปแล้ว ซึ่งผลทดสอบจะเป็นอย่างไร ลองไปดูกันเลยสรุปผลการสำรวจฉลากจากกาแฟปรุงสำเร็จชนิดผง แบบ 3in1 ที่นำมาทดสอบทั้งหมด 15 ยี่ห้อ 18 ตัวอย่าง พบว่า1. ยี่ห้อที่มีปริมาณพลังงานมากที่สุดคือ เอ็ก ชอง ไวท์ คอฟฟี่ ทาริก ทรี อิน วัน ให้พลังงาน 185 กิโลแคลอรี/40 กรัม และเนสกาแฟ เบลนด์ แอนด์ บรู ริช อโรมา ให้พลังงาน 90 กิโลแคลอรี/19.4 กรัม ในขณะที่ยี่ห้อที่มีปริมาณพลังงานน้อยที่สุดคือ มัซ เอสเปรสโซคอฟฟี่ ให้พลังงาน 65 กิโลแคลอรี/18 กรัม2. ยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุดคือ เอลี่คาเฟ่ คลาสิค มีน้ำตาล 13.8 กรัม/20 กรัม และยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุดคือ มัซ เอสเปรสโซคอฟฟี่ มีน้ำตาล 0 กรัม/18 กรัม(ใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล)3. ยี่ห้อที่มีปริมาณไขมันมากที่สุดคือ เอ็ก ชอง ไวท์ คอฟฟี่ ทาริก ทรี อิน วัน มีไขมัน 7 กรัม/40 กรัม และยี่ห้อที่มีปริมาณไขมันน้อยที่สุดคือ บัดดี้ดีน ทรีอินวัน เอ็กซ์ตร้าโรสท์ มีไขมัน 0 กรัม/18 กรัม4. มี 7 ยี่ห้อที่ไม่สามารถตรวจสอบปริมาณพลังงาน น้ำตาลหรือไขมันได้ เนื่องจากไม่มีฉลากโภชนาการ ได้แก่ 1. อาราบัส ทรีอินวัน ออริจินัล 2. เฟรนช์ คาเฟ่ ริช โกลด์ 3. จีเซเว่น คอฟฟี่มิกซ์ 4. กาแฟเขาทะลุ สูตรเอสเพสโซ่ 5. กาแฟเขาทะลุ สูตรดั้งเดิม 6. เบอร์ดี้ โรบัสต้า และ 7. มอคโคน่า ทรีโอ เอสเปรสโซ่ตารางแสดงปริมาณพลังงาน น้ำตาลและไขมันในกาแฟ ทรีอินวันสำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 สารปรุงแต่งในผลิตภัณฑ์กาแฟ ทรีอินวัน การใส่สารปรุงแต่งหรือวัตถุเจือปนอาหาร มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีเนื้อสัมผัสที่ดี คงตัว สะดวกในการขนส่งและเก็บรักษา และทำให้มีสีสันที่คล้ายธรรมชาติ ได้แก่ 1.สารควบคุมความเป็นกรด2.สารป้องกันการจับตัวเป็นก้อน3.อิมัลซิไฟเออร์ คือ สารที่ทำให้ส่วนผสมที่ปกติไม่สามารถผสมกันได้ สามารถรวมตัวกันได้ เช่น น้ำกับน้ำมัน และช่วยยืดอายุการเก็บรักษา4.สารช่วยทำละลาย 5.สารที่ทำให้คงตัว 6.สารเพิ่มปริมาณ(มอลโตเดกซ์ตริน) คือ คาร์โบไฮเดรตโมเลกุลใหญ่ (Polysaccharide) 7.สี กลิ่น เลียนแบบธรรมชาติตลาดกาแฟในปี 2557 กาแฟ 3 in 1 ครองส่วนแบ่งของตลาดกาแฟ ด้วยมูลค่าตลาด 15,000 ล้านบาท และมีการเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้นำทางการตลาดคือ เนสกาแฟ มีส่วนแบ่งที่ร้อยละ 63 ตามมาด้วยซูเปอร์กาแฟ ส่วนแบ่งที่ร้อยละ 12 ที่เหลืออีกร้อยละ 10 เป็นของเบอร์ดี้และมอคโคน่า อย่างไรก็ตามตลาดกาแฟ 3 in1 จะมีผู้ผลิตรายใหม่เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น ดาว คอฟฟี่ อาราบัส ของดัชมิลล์ ทำให้กลายเป็นตลาดที่มีความแข่งขันสูงมากที่มา: http://marketeer.co.th/archives/38718

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 174 พลังงานที่ซ่อนอยู่ในแซนวิชแฮมชีส

ลองคิดกันดูเล่นๆ ว่าในเวลาที่เราเร่งรีบและหิวไปพร้อมๆ กัน อาหารอะไรจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด ไม่แน่ว่าเมนูที่มาแรงเป็นอันดับแรกอาจจะหนีไม่พ้น “แซนวิช” อาหารหลักของคนอังกฤษ ที่ได้แพร่หลายความนิยมมาสู่คนไทยในวงกว้าง เพราะเป็นอาหารที่รับประทานได้อย่างสะดวก (ขนมปังประกบกัน สอดไส้ด้วยเนื้อสัตว์ที่ชอบ ราดซอสที่ต้องการก็เสร็จ) แถมยังอยู่ท้องอีกด้วย อย่างไรก็ตามด้วยขนาดเล็กกะทัดรัดของแซนวิช จึงอาจทำให้ใครหลายคนคิดไปว่าอาหารชนิดนี้มีพลังงานน้อย เป็นแค่อาหารว่างแคลอรีต่ำ ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปพิสูจน์กันว่า จริงๆ แล้วแซนวิชมีปริมาณไขมันและพลังงานมากน้อยแค่ไหน โดยจะขอเลือกแซนวิชไส้แฮมชีส ซึ่งเป็นไส้ที่ถูกปากคนส่วนใหญ่มากที่สุดมาทดสอบจำนวน 13 ยี่ห้อสรุปผลการทดสอบ- จากตัวอย่างที่นำมาทดสอบ แซนวิสไส้แฮมชีสที่มีค่าพลังงานมากที่สุด(ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค) คือยี่ห้อ Bread Talk 395 กิโลแคลอรี เพราะเป็นขนมปังชุบไข่ รองลงมาคือยี่ห้อ S&P 316 กิโลแคลอรี และแซนวิชไส้แฮมชีสที่มีค่าพลังงานน้อยที่สุดคือยี่ห้อ Victory 110 กิโลแคลอรี - สำหรับตัวอย่างแซนวิชไส้แฮมชีสที่มีปริมาณไขมันมากที่สุด(ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค)คือ ยี่ห้อ Flavor Field 17 กรัม และปริมาณไขมันน้อยที่สุดคือ ยี่ห้อ Puff & Pie และ UFM ที่มีค่าไขมัน 5 กรัมเท่ากัน- มีแซนวิชไส้แฮมชีส 7 ตัวอย่างที่มีปริมาณพลังงานมากกว่าการรับประทานข้าวสวย 1 จานหรือมากกว่า 240 กิโลแคลอรี แสดงให้เห็นว่าบางครั้งการรับประทาน แซนวิชก็ไม่สามารถเป็นอาหารว่างมื้อเบาๆ แคลอรีต่ำได้       ตามหลักโภชนาการปริมาณพลังงานที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน ไม่ควรเกิน 2,000 กิโลแคลอรี และสำหรับของว่างหรืออาหารว่างควรมีค่าพลังงานไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ร่างกายต้องการหรือประมาณ 150-200 กิโลแคลอรี โดยปริมาณพลังงานที่เกินความจำเป็นของร่างกายจะถูกสะสมกลายเป็นไขมัน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วนและโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ ความดัน เบาหวานสูตรคำนวณพลังงานที่น้อยที่สุดร่างกายต้องการในแต่ละวัน หรือในกรณีที่ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย สามารถคำนวณได้ดังนี้BMR สำหรับผู้ชาย = 66 + (13.7 x น้ำหนักตัว (กิโลกรัม))+(5 x ส่วนสูง (เซนติเมตร))-(6.8 x อายุ)BMR สำหรับผู้หญิง = 665 + (9.6 x น้ำหนักตัว (กิโลกรัม))+(1.8 x ส่วนสูง (เซนติเมตร))-(4.7 x อายุ)เช่น สมมติให้ ก เป็นผู้หญิง อายุ 22 ปี ส่วนสูง 155 ซม. น้ำหนัก 45 กก. BMR จะเท่ากับ 665+(9.6 x 45)+(1.8 x 155)-(4.7 x 22) = 1,273 กิโลแคลอรี**สูตรคำนวณ Basal Metabolic Rate (BMR) ของ Harris Benedict Formula ในกรณีที่วันนั้นเราไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย-----------------------------------------------------------------แซนวิชมาจากไหนจากหนังสือตำนานอาหารโลก คำว่า แซนวิช มีที่มาจากการตั้งตามชื่อของ จอห์น มอนทากิว (John Montague 1781-1792) หรือ เอิร์ลแห่งแซนวิชที่ 4 (4th Earl of Sandwich) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกองทัพเรืออังกฤษและมีนิสัยชอบเล่นการพนัน โดยเขาได้คิดค้นรูปแบบของอาหารชนิดนี้ขึ้นมา ด้วยการนำเนื้อประกบขนมปัง 2 แผ่น เพื่อให้นิ้วของเขาไม่มันจนเกิดตำหนิบนไพ่ให้คู่แข่งเดารูปแบบการเล่นได้ ซึ่งไม่นานอาหารดังกล่าวก็ได้รับความนิยมตามโต๊ะพนันของอังกฤษจนแพร่หลาย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวอังกฤษอย่างรวดเร็วแม้แซนวิชจะอยู่ท้องแต่มีสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับต่อวันน้อยไปหน่อย เพราะส่วนมากมักประกอบด้วยแป้งและไขมัน จึงควรเพิ่มสารอาหารด้วยการเติมผักที่ชอบเช่น ผักสลัด ผักกาดหอม มะเขือเทศ และควรเลือกแซนวิชที่ใช้ขนมปังโฮลวีท (Whole wheat bread) เพราะมีสารอาหารและใยอาหารมากกว่าขนมปังขัดขาว  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ความคิดเห็น (0)