ฉบับที่ 206 แบไต๋ ‘โฆษณาออนไลน์’



โฆษณาออนไลน์...เชื่อได้แค่ไหน

ผู้บริโภคจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่ถูก “หลอก” เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า การซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ต้องอาศัยความ “เชื่อใจ” ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะผู้ซื้อไม่ได้เห็นสินค้าจริงๆ และที่สำคัญคือ ต้องจ่ายเงินไปก่อน ผู้ขายจึงจะส่งสินค้าให้  เรียกว่า ต้อง “ลุ้น” กันหลายต่อ ลุ้นว่า จ่ายเงินแล้ว ผู้ขายจะส่งสินค้ามาให้หรือไม่  จ่ายเงินแล้วจะได้รับสินค้าตามที่สั่งซื้อหรือไม่   จ่ายเงินไปสินค้าจะมีคุณภาพ(ผลลัพธ์) เหมือนอย่างที่ “โฆษณา” ไว้หรือไม่ 


ข้อมูลผลการดำเนินงานตรวจสอบและเฝ้าระวังโฆษณาฯ ปี 2559 ของศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) พบ เครื่องสำอาง (ร้อยละ 47) รองลงมาคือ อาหาร (ร้อยละ 36) และยา ร้อยละ 15 ขณะที่ผลการรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค (มพบ.) โดยสถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการอิสระ พบว่า ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีผู้ร้องเรียนมายังศรป.มากที่สุดคือ เครื่องสำอาง (ร้อยละ 47) ขณะที่ มพบ. พบการร้องเรียนอันดับ 1 คือ อาหาร (ร้อยละ 54)   


ที่น่าสนใจคือ ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สั่งซื้อออนไลน์มากสุดคือ เครื่องสำอาง (ร้อยละ 38) รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลดอ้วน และขาวใส (ร้อยละ 24) โดยเหตุผลที่เลือกซื้อเนื่องจาก โฆษณาจูงใจ พรีเซ็นเตอร์เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง และอาจได้ผลเหมือนโฆษณา  (ร้อยละ 30)  และ เห็นโลโก้ อย. บนตัวผลิตภัณฑ์ มั่นใจว่ามี อย.จึงคิดว่าปลอดภัย (ร้อยละ 25) 


เผยไต๋...โฆษณาออนไลน์ ผิดกฎหมายซ้ำซาก

จากการเสวนาแนวทางการจัดการโฆษณาผิดกฎหมายบนออนไลน์ซ้ำซาก กรณีผลิตภัณฑ์สุขภาพ ส่วนหนึ่งของงานสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย แต่ “ผู้บริโภค” ไม่รู้


หนึ่งในวิทยากรที่มาร่วมเสวนาครั้งนั้นคือ คุณวรรณวิษา ถนอมสินธุ์ ตัวแทนเพจดอกจิก ที่เกาะติดและเฝ้าระวังการโฆษณาออนไลน์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการ “หลอกลวงผู้บริโภค” โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษา บริษัทเมจิก สกิน จำกัด ที่พบการกระทำผิด  พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ภายหลังจากการตรวจค้นโรงงานที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา


ฐานความผิดที่พบในส่วนของ พ.ร.บ.อาหาร คือ  ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง (มาตรา 6  วรรคหนึ่ง) ผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต(มาตรา 14  วรรคหนึ่ง) ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอม(ตามมาตรา 27 (4)) กรณีแสดงฉลากเพื่อลวง หรือพยายามลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในลักษณะพิเศษว่าได้รับเลขสารบบอาหาร ณ สถานที่ผลิตแห่งนี้แล้ว(มาตรา 25(2))  โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต(มาตรา 41 ) ความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง  คือ แสดงฉลากที่มีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง(มาตรา 22 (1)  ฉลากไม่ครบถ้วนถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด(มาตรา 22 วรรค 2 (3) ) 


ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางผิดกฎหมาย ที่พบ เช่น  Linda Drink, Apple Slim, Shi-No-Bi, Fern Vitamin และ Treechada (Underraem Serum) ซึ่งเป็นการรับจ้างผลิตให้บริษัทตรีชฎา) 


“ปัญหาหลักๆ เกิดจาก การโฆษณาผลิตภัณฑ์เกินจริง ไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจำหน่าย ซึ่งในที่นี้มีผู้เสียหายที่ถูกหลอกให้ลงทุนโดยการเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล่านั้น แม้ว่าเจ้าของแบรนด์จะชี้แจงว่า มีเลข อย. แต่ อย.แจ้งว่าเป็นการนำเข้าข้อมูลในสารบบที่ผิด เพราะบริษัทเมจิกสกินไม่ได้ผลิตสินค้าเองตามที่กล่าวอ้าง แต่มีบริษัทอื่นผลิตให้จึงถือว่าทำผิดกฎหมายชัดเจน”  คุณวรรณวิษากล่าว พร้อมยกตัวอย่าง รูปแบบการโฆษณาออนไลน์ ที่เป็นการหลอกลวงผู้บริโภค


หลอกล่อให้...กิน 

กินแล้วผอม กินแล้วขาว กินแล้วสวย.... ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ใช้วิธี  “จูงใจ” ผู้บริโภคให้หลงเชื่อว่าเมื่อบริโภคผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้แล้วจะได้ “ผลลัพธ์” ตามคำโฆษณา ด้วยราคาที่ “ถูก”  ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นและมีความย้อนแย้งกันอยู่ในตัวโฆษณานั้นๆ เช่น 


“หญิงย้วยอยากหน้าเด็กเหมือนอลิส อลิสอยากสวยเหมือนพี่หญิงย้วย (เด็กทานได้ ผู้ใหญ่ทานดี)”   

ขณะที่ด้านหลังซองมีคำเตือนว่า “เด็กและสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน” และด้านหน้าซองมีข้อความว่า “ขาวใสใน 7 วัน”  

“Mezzo 100%  สบู่เมโสหน้าใสเหมือนฉีด นำเข้าจาก Switzerland” 


ทั้งที่ เมื่อตรวจตรวจสอบส่วนประกอบแล้วไม่ใช่สารสกัดจากรกแกะดังที่กล่าวอ้างแต่เป็นสารสกัดจากพืช  

นอกจากนี้ ยังมีการโฆษณา โดยใช้ดาราและ เน็ต ไอดอล เพื่อจูงใจให้ใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งแน่นอนว่า พรีเซ็นเตอร์ย่อมมีความผิดด้วยเช่นกัน



หลอกล่อให้ลงทุน...รวย รวย รวย

เป้าหมายสำคัญของบริษัทเหล่านี้ ไม่ได้เพียงต้องการขายผลิตภัณฑ์ชิ้นต่อชิ้นเท่านั้นแต่มุ่งเน้นโฆษณาเชิญชวนให้คนสมัครเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่าย  ด้วยการลงทุน “หลักร้อย” แต่ได้ค่าตอบแทน “หลักล้าน” เช่น  โรงเรียนสอนรวยหญิงย้วยออนไลน์  “สมัครเป็นตัวแทนจำหน่าย ลงทุนหลักร้อย ! เงินเข้าบัญชี 1.5 ล้าน”  ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นเพียงการแต่งบัญชีธนาคารเพื่อใช้ในการโฆษณาเท่านั้น   มีรูปแบบการขายในลักษณะแชร์ลูกโซ่ คือแบ่งระดับขั้นตามมูลค่าการลงทุน เช่น ตัวแทนรายย่อย ต้องซื้อ 20 ชิ้น ตัวแทนหลัก ต้องซื้อ 1,000 ชิ้น ระดับ VIP ต้องซื้อสินค้า 5,000 ชิ้น เพื่อได้ต้นทุนต่อชิ้นที่ถูกลง  โดยตัวแทนเหล่านี้จะมีลักษณะเป็น “แม่ทีม” ที่ต้องไปแสวงหาเครือข่ายมาเป็น “ลูกทีม” ต่อๆ กันเป็นทอดๆ แต่ละทีมจะมีวิธีจูงใจให้คนสมัครแตกต่างกันไป เช่น จูงใจด้วยสินค้าแบรนด์เนม โทรศัพท์มือถือ ทองคำ หรือแม้แต่การไปเที่ยวต่างประเทศ  พร้อมการรับประกันว่า “ขายไม่ได้ ยินดีคืนเงิน”  ทั้งที่ไม่เป็นเช่นนั้น มีการสอนแต่งบัญชีธนาคาร มีการดึงเน็ตไอดอล หรือดารามาโฆษณาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ มีการสอนเทคนิควิธีไลฟ์สดผ่านสื่อโซเชียล โดยใช้ “หน้าม้า” เพื่อกระตุ้นเร่งเร้าให้รีบตัดสินใจสมัครเข้ามาเป็นตัวแทน 


ดังเช่นที่ คุณณภัทร ทยุติชยาธร ในฐานะผู้เสียหายที่เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เปิดเผยในการเสวนาครั้งนี้ว่า


“ตอนแรกเราสั่งสินค้า 1,000 ชิ้น จ่ายเงินเต็ม 30,000 แต่ได้ของมา 100  ชิ้น ซึ่งเขาบอกว่า ถ้าอยากได้ของมากกว่านี้ต้องเลื่อนระดับขึ้นไปอีก กระทั่งจองไป 5,000 ชิ้น จ่ายเงินไป 135,000 ได้ของประมาณ 1,000 ชิ้น เมื่อของไม่พอ ทำให้เราต้องจองสินค้าเป็น 10,000 ชิ้นเสียเงินอีก 2 แสนกว่า  แล้วบอกให้เรารีบโอนเงินมาภายในวันนี้ๆ เดี๋ยวของไม่เกิน 5 วันส่งมาให้ พอเช้ารับสินค้า บ่ายโมงเขาดีดเราออกจากกลุ่มไลน์ทันที  ไม่ให้เราอยู่ 


“เขาให้เหตุผลว่า เราไปบอกความจริงกับเด็กระดับล่าง เพราะเมื่อเราเข้าไปอยู่ระดับ Super VIP เขาจะสอนวิชามารการไลฟ์สดให้ว่า ก่อนจะไลฟ์สด ลูกต้องเตรียมทีมงานไว้หลายๆ  คน มีมือถือไว้คนละเครื่องสองเครื่อง แล้วโพสต์กันเข้าไปเวลาที่แม่ทีมไลฟ์สด ให้บอกว่า สินค้าเราดีมาก อยากสมัครจัง ซึ่งจริงๆ แล้วหน้าม้าทั้งหมด ส่วนคนที่สมัครจริงๆ จะรู้ได้จากการทิ้งลิงค์ไลน์ไว้ด้านล่าง  เขาจะไลฟ์สดทุกวัน ทำให้ได้ยอดคนสมัครตัวแทนจำหน่ายเพิ่มขึ้น เขาไม่เคยบอกให้เราไปขายเป็นซอง แล้วถามว่าสินค้าที่ได้มา เอาไปทำอะไร ถ้าขายได้ก็ขายไป แต่ถ้าขายไม่ได้ก็ต้องใช้กันเอง” 


ในกรณีของบริษัทเมจิก สกิน  ยังมีการเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์สร้างแบรนด์ของตัวเองด้วย  โดยการโฆษณาว่า “รับผลิต” และ “จำหน่ายสินค้า” อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และเครื่องสำอาง มีการลงรูปโรงงานที่ทันสมัยเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และมีการส่งเสริมการขายเพื่อจูงใจให้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ 


“กรณีความผิดการสวมเลขสารบบ อย.  เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ชิ-โน-บิ ที่ด้านหลังซองระบุว่า  ผลิตโดยบริษัท  เมจิกสกิน จำกัด แต่เมื่อตรวจสอบพบผู้ได้รับอนุญาต คือ บริษัทอินโนว่า แล็บโบราโทรี่  ส่วนผลิตภัณฑ์ Mezzo ที่ระบุว่า บริษัทเมจิกสกินผลิตเองนั้น แท้จริงกลับผลิตที่ บริษัท พี โอ เอส  คอสเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งบริษัทนี้รับผลิต ให้บริษัทเมจิก สกิน ตั้งแต่ปี 2555 โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เพิ่มความขาวใส เช่น โอโม่  ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริมลดน้ำหนักที่เป็นน้ำชง เช่น Apple Slim , Linda Drinks ผลิตที่บริษัท เนเจอร์ นิวทรี”  คุณวรรณวิษา กล่าว 


เห็นได้ว่า นอกจากการ ชวนลงทุน ทั้งที่ไม่มีโรงงานผลิต ชวนกิน ว่ากินแล้วดี สวย ผอม ขาว โดยใช้กลยุทธ์สื่อบุคคล เช่น ดาราและ เน็ตไอดอล  สร้างระบบตัวแทนจำหน่ายขึ้นมาหลอกล่อให้สต๊อกสินค้าจำนวนมาก  แต่ปัญหาที่ดูจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมากที่สุด คงไม่พ้น เรื่องของ “คุณภาพสินค้า” ที่ไม่ได้เป็นไปตามที่โฆษณา หรืออาจจะได้ผลลัพธ์ แต่สุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพ และการ  “สูญเสียชีวิต”  ที่ด้วยเช่นกัน



โลกเปลี่ยน...ผู้บริโภคต้องปรับ   

ในท่ามกลางการหลั่งไหลของข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ยังมีสื่อโฆษณาออนไลน์ที่ทำผิดกฎหมายซ้ำซากอีกจำนวนมาก เห็นได้จากข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ภายหลังจากที่ อย.ออกประกาศเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายผิดกฎหมายและมีสารอันตราย เช่น Abdomen Slim จากการค้นหาในกูเกิ้ลพบมากถึง 6,990,000 รายการ และพบมีขายอยู่ใน Market Place เช่น Lazada  3,650รายการสินค้า  แม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทเมจิก สกิน ภายหลังจากบุกค้นโรงงานก็ยังสามารถพบโฆษณาของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ทั่วไป เช่น บนสะพานลอย ป้ายรถเมล์ ท้ายรถเมล์ เป็นต้น


โลกทุกวันนี้ แค่เห็นแล้ว “เชื่อ” คงไม่พอ หากผู้บริโภคต้อง “ตรวจสอบ” และแสวงหาข้อมูลรวมถึงวิธีการที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า ก่อนที่เราจะแตะสั่งสินค้าและจ่ายเงินไปนั้น สินค้าที่สั่งซื้อจะไม่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเองด้วย  


แหล่งข้อมูล: รัตนา พงษ์วานิชอนันต์

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค โฆษณา ออนไลน์

ฉบับที่ 275 ‘จัดการการเงินส่วนบุคคล’ ต้องวางแผนแบบภาพรวม

        พอถึงช่วยท้ายปี บรรดาธนาคาร บริษัทประกัน และบริษัทจัดการกองทุนฯ ก็ขึ้นโฆษณากันพรึ่บพรั่บให้เรารีบซื้อกองทุนรวม รีบซื้อประกันชีวิต เพื่อจะได้เอาไว้ลดหย่อนภาษี คนที่มีรายได้สูงพอต้องเสียภาษีเลยหาทางลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุดด้วยการซื้อทุกสิ่งอย่างที่ได้รับการแนะนำ         ในแง่การจัดการการเงินส่วนบุคคลการวางแผนภาษีอย่างการลดหย่อนเป็นอะไรที่ต้องคิดคำนึง อันนี้เถียงไม่ได้         แต่ๆๆ อย่าลืมว่าการลดหย่อนภาษีไม่ใช่ทั้งหมองของการจัดการการเงินส่วนบุคคล         ทำไมต้องพูดเรื่องที่น่าจะรู้กันอยู่แล้ว? ก็เพราะบางคนหรือไม่รู้น่ะสิ         มีเคสตัวอย่างคนรู้จักที่จะเล่าสู่กันฟัง เขาเป็นคนที่มีรายได้ต่อเดือนราว 1 แสนบาท เลยถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเยอะ ด้วยความที่ไม่อยากเสียภาษีให้รัฐบาลเพราะไม่เชื่อว่าจะใช้เงินภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขาจึงหาทางลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุด         เขาจึงเลือกซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี เท่านั้นยังไม่พอ ยังซื้อประกันชีวิต แถมยังมีเงินฝากประจำปลอดภาษีที่ต้องฝากให้ครบกำหนดตามเงื่อนไขของธนาคารถึงจะได้ดอกเบี้ยเต็มๆ แบบไม่ต้องแบ่งให้รัฐ         ปัญหาก็คือพอสนใจแต่จะลดหย่อนภาษี ก็เลยใช้เงินไปกับเรื่องนี้เยอะเกินไป แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะได้เงินคืนในตอนท้ายก็เถอะ แต่กลายเป็นว่าสภาพคล่องในแต่ละเดือนต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะไหนจะต้องส่งประกันชีวิต ส่งเงินฝากประจำ แล้วค่าใช้จ่ายเดิมก็มีอยู่แล้ว         บอกหลายครั้งแล้วว่าสภาพคล่องเป็นเรื่องสำคัญ การมีเงินสดในมือเพียงพอสำหรับการจับจ่ายและรับมือเรื่องฉุกเฉินต่างๆ ต้องจัดการให้ดี ยิ่งถ้าไม่มีสินทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินสดได้เร็ว สุดท้ายมันจะพาตัวเองไปสู่วงจรหนี้         เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าต้องจัดการการเงินส่วนบุคคลแบบมองภาพรวมทั้งหมด อย่าแยกออกมาเป็นเรื่องๆ จะลดหย่อนอย่างเดียวแบบกรณีนี้ก็พาลทำให้สภาพคล่องตึง แต่ถ้ามีเงินสดในมือมากเกินกว่าจำเป็นก็ลดโอกาสเพิ่มดอกผลอีก         ย้ำอีกที การจัดการการเงินส่วนบุคคลต้องวางแผนแบบภาพรวม มองทุกองค์ประกอบ เชื่อมโยงเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้แผนการเงินที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในแบบของตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน

        ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คงจำกันได้ว่าคนไทยเราบ่นกันมากว่าค่าไฟฟ้าแพง และน่าจะบ่นกันมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไปเพราะว่าการใช้ไฟฟ้าจะพุ่งตามอุณหภูมิของอากาศที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าของปีนี้จะสูงกว่าของเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้อัตราค่าไฟฟ้าในช่วงถัดไปก็น่าจะสูงขึ้นกว่านี้อีก เพราะถึงเวลาที่ต้องจ่ายหนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ที่รัฐบาลขอให้จ่ายแทนผู้บริโภคไปพลางก่อน ขอย้ำนะครับว่า ค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่ใช่ทั้งหมดของค่าไฟฟ้า แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ กฟผ. จ่ายแทนเราไปก่อน อีกไม่นานเขาก็ต้องเรียกคืน         เรามาดูภาพรวมกันสักนิดครับ เมื่อปี 2565 คนไทยจ่ายค่าไฟฟ้ารวมกัน 8.2 แสนล้านบาท แต่ในปีล่าสุดคือ 2566 ข้อมูลมีแค่ 9 เดือนแรกของปีเท่านั้น แต่ถ้าคิดแบบบัญญัติไตรยางค์ ค่าใช้จ่ายของทั้งปีก็จะประมาณ 9.6 แล้นล้านบาท คือสูงกว่าของปีก่อนถึง 1.4 แสนล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 17%) ทั้งนี้เป็นเพราะว่าราคาก๊าซธรรมชาติได้เพิ่มสูงขึ้นมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในเมื่อประเทศเรามีแหล่งก๊าซฯ เป็นของตนเอง แต่ไม่พอใช้ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาผันผวนมาก จึงมีคำถามง่ายๆ ว่า ทำไมเราไม่เปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งไม่ต้องซื้อ ไฟฟ้าที่ได้ก็ถูกกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ทุกชนิด         นี่แหละครับ คือประเด็นที่เราจะคุยกันเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริโภคใช้ประกอบในการตัดสินใจตามชื่อบทความนี้         เพื่อให้เราเห็นปัญหาชัดขึ้น เรามาดูข้อมูลของประเทศอื่นเพื่อมาเปรียบเทียบกันก่อน ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์มากเป็นอันดับต้นๆของโลก เอาเฉพาะที่ติดตั้งบนหลังคาบ้านอย่างเดียวนับถึงสิ้นปี 2566 มีจำนวนกว่า 3.6 ล้านหลังคา ประเทศนี้มีประชากรเพียง 25 ล้านคน (คิดคร่าวๆก็ประมาณ 8.3 ล้านหลังคา)  โดยในรัฐออสเตรเลียใต้ได้ติดตั้งไปแล้วถึงครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของจำนวนบ้าน (หมายเหตุในหมู่บ้านที่ผมอยู่ ซึ่งอยู่ในจังหวัดนนทบุรีได้ติดตั้งแล้ว 0.8% ของจำนวนบ้านทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงเกือบ 1 เท่าตัว เฮ้!) มีผลงานวิจัยถึงความคิดเห็นของชาวออสเตรเลียว่า ทำไมจึงนิยมติดตั้งโซลาร์เซลล์กันมาก พบว่ามีเหตุผล 3 ข้อ คือ (1) ค่าไฟฟ้าในออสเตรเลียแพงมาก ราคาขายปลีกรวมภาษีแล้วเฉลี่ย 8.20 บาทต่อหน่วย (ของไทย 4.84 บาท,เวียดนาม 2.85 บาท)   (2) เป็นประเทศที่มีแสงแดดมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อพื้นที่ที่เท่ากันจะมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และมากกว่าของประเทศไทยเราประมาณ 10-15% และ (3) เขารู้สึกอายที่ต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดโลกร้อน (คนออสเตรเลียปล่อยก๊าซฯ 15.0 ตันต่อคนต่อปี,ไทย 3.8 เวียดนาม 3.5)         จากข้อมูลของ Our World In Data พบว่าในปี 2565 โดยเฉลี่ย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนามและไทย ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้เฉลี่ยต่อคนได้ 1,484 ,826, 269 และ 70 หน่วย ตามลำดับ  ผมยกเอาข้อมูลของประเทศญี่ปุ่นมาด้วยก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าในประเทศที่แสงแดดไม่ค่อยดีนัก แต่เขาก็ยังให้ความสำคัญที่จะนำพลังงานแสงแดดมาใช้ประโยชน์  โดยน่าจะมีเหตุผลที่คล้ายกับความเห็นของชาวออสเตรเลียที่ได้กล่าวมาแล้ว ปัจจัยสำคัญคืออะไร         ปัจจุบัน รัฐบาลไทยมีกฎระเบียบที่จะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ไม่เหมือนกับประเทศออสเตรเลียและเวียดนาม กล่าวคือ  ใน 2 ประเทศดังกล่าวเขาอนุญาตให้ไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านผลิตได้ในเวลากลางวัน แต่ไม่ได้ใช้หรือเหลือจากการใช้แล้วสามารถไหลย้อนเข้าไปในระบบสายส่งได้ เปรียบเหมือนกับการฝากไฟฟ้าไว้ในสายส่งก่อน พอถึงเวลากลางคืนเจ้าของบ้านก็เอาไฟฟ้าที่ได้ฝากไว้มาใช้ เมื่อครบเดือนก็คิดบัญชีกันตามมิเตอร์ที่บันทึกไว้ หากเราผลิตได้น้อยกว่าที่ใช้ เราก็จ่ายค่าไฟฟ้าส่วนเกินในราคาปกติ หากเราใช้มากกว่าที่ผลิตได้ ทางการไฟฟ้าก็จ่ายส่วนที่เกินไปให้เจ้าของบ้าน ในอัตราค่าไฟฟ้าที่เท่ากับที่ขายให้เรา นักวิชาการเรียกระบบนี้ว่า Net Metering หรือการหักลบหน่วยไฟฟ้า  ปัจจุบันระบบนี้มีการใช้กันแล้วกว่า 68 ประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศร่ำรวยและยากจน เช่น สหรัฐอเมริกาและศรีลังกา เป็นต้น         ประเทศไทยไม่ได้ทำเช่นดังกล่าวนั้น แต่จะรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้ในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย (ในขณะที่ขายให้ผู้บริโภครวมภาษีแล้วประมาณ 4.84 บาทต่อหน่วย) และรับซื้อเพียงระยะเวลา 10 ปีเท่านั้น ในขณะที่อายุการใช้งานจริงนานถึง 25 ปี  ด้วยมาตรการดังกล่าว ต้องลงทุนติดตั้งมิเตอร์เพิ่มอีก 1 ตัว ราคาประมาณ 2 พันบาทซึ่งไม่มีความจำเป็นหากใช้ Net metering   นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่าแบบของวิศวกรไฟฟ้าอีกประมาณ 5 พันบาทเมื่อนโยบายพลังงานของประเทศเราเป็นอย่างนี้ ผู้บริโภคควรจะทำอย่างไร   นอกเหนือจากการร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายให้เหมือนกับประเทศอื่นแล้ว เราลองมาพิจารณารายละเอียดให้ลึกกว่านี้ ดังนี้ หนึ่ง  ต้นทุนในการติดตั้ง         เท่าที่ผมติดตามที่ประกาศขายกันในอินเตอร์เนตและสอบถามจากผู้รับติดตั้งบางราย พบว่า ถ้าติดขนาด 3 กิโลวัตต์จะใช้เงินลงทุนประมาณ 8.4 หมื่นบาท (เมื่อ 5 ปีก่อนประมาณ 1.1 แสนบาท) รวมต้นทุนทั้งหมดประมาณ 91,000 บาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณเดือนละ 110 หน่วยต่อกิโลวัตต์ (ขึ้นอยู่กับพื้นที่ซึ่งก็ไม่แตกต่างกันมากนักสำหรับในประเทศไทย) ดังนั้น หากเป็น 3 กิโลวัตต์ตลอดเวลา 25 ปี จะผลิตไฟฟ้าได้รวม 99,000 หน่วย ต้นทุนเฉลี่ยตลอด 25 ปีเท่ากับ 0.85 บาทต่อหน่วย (91,000 หารด้วย 99,000)  การประมาณการดังกล่าวนี้อาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้างเล็กน้อย และเป็นการคิดโดยไม่รวมค่าดอกเบี้ยหรือค่าเสียโอกาสจากดอกเบี้ย สอง ผลตอบแทนจากการติดตั้ง         ในการคำนวณที่แสดงในตารางข้างล่างนี้อยู่บนสมมุติว่า         (1)        อัตราค่าไฟฟ้าเท่าเดิมทุกอย่าง โดยค่าเอฟทีเท่ากับเดิมคือ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย        (2)        เดิมบ้านที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ใช้ไฟฟ้าจำนวน 600 หน่วยทุกเดือน ค่าไฟฟ้า 2,878.29 บาท เฉลี่ย 4.80 บาทต่อหน่วย        (3)        เมื่อติดตั้งแล้ว แบ่งการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้เองจำนวน 330 หน่วยต่อเดือน เป็น 5 กรณี ๆ แรก ใช้เอง 24% และขาย 76% ในอัตรา 2.20 บาทต่อหน่วย จนถึงกรณีที่ 6 ใช้เอง 76% และขาย 24%         ผลการคำนวณพบว่า กรณีแรก (ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตเอง 24%) จะให้ผลตอบแทนคุ้มทุนในเวลา 7.9 ปี (ดูตารางในภาพ)

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 เบอร์มือถือ...สูญได้...งอกได้ "...ภาพสะท้อนความหละหลวมของผู้ให้บริการ"

        ชายคนหนึ่งประสบเหตุการณ์ระดับ “แจ็กพ็อต” เกี่ยวกับเบอร์มือถือภายในระยะเวลาห่างกันเพียงเดือนเศษ เริ่มจากที่จู่ๆ ในช่วงเย็นวันหนึ่งปลายเดือนพฤษภาคม เขาได้รับ SMS หรือข้อความสั้นว่ามีการลงทะเบียนเบอร์ที่ใช้งานอยู่ตามปกติของเขาโดยบุคคลอื่น จากนั้นซิมการ์ดมือถือของเขาก็ใช้ไม่ได้ขึ้นมา เมื่อติดต่อบริษัทผู้ให้บริการจึงทราบว่าเบอร์ของเขากลายเป็นของคนอื่นแล้ว ดีที่เขาจัดการเรื่องอย่างค่อนข้างรวดเร็วจนเบอร์ดังกล่าวถูกโอนกลับมาเป็นชื่อของเขาอีกครั้งหนึ่งในวันถัดมา แต่ภายในเวลาเพียงคืนเดียวนั้น เบอร์ดังกล่าวก็ถูกนำไปทำธุรกรรมซื้อสินค้าและบริการต่างๆ รวมถึงการเปิดใช้บริการกระเป๋าเงินออนไลน์ รวมทั้งมีการแจ้งย้ายค่ายมือถือแล้วด้วย         ต่อมาในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ชายคนเดิมนี้ก็ประสบปัญหาอีกลักษณะหนึ่ง นั่นคือถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการมือถือในส่วนของเบอร์ที่เขาไม่ได้เปิด ซ้ำร้าย ปลายเดือนเดียวกันยังถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการมือถือเพิ่มเติมอีกเบอร์หนึ่งด้วย ซึ่งเป็นเบอร์ที่เขาทั้งไม่ได้เปิดและไม่ได้ใช้งานเช่นเดียวกัน         นั่นหมายความว่า ในเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียว ชายคนนี้ถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการมือถือถึง 3 เบอร์ ทั้งๆ ที่เขาใช้งานมือถือเพียงเบอร์เดียวและเครื่องเดียว แต่มีเบอร์งอกแฝงมาถึง 2 เบอร์         ทั้งกรณีเบอร์งอกและเบอร์สูญต่างนำมาสู่การเสียทรัพย์ และดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับการฉ้อฉลหรือมิจฉาชีพทั้งคู่ โดยในกรณีเบอร์งอกเป็นเรื่องของการถูกอ้างชื่อใช้บริการโทรคมนาคมแล้วโยนหนี้ให้ ส่วนใหญ่แล้ว กว่าผู้ถูกแอบอ้างใช้ชื่อเปิดเบอร์จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อถึงรอบชำระค่าบริการและถูกเรียกเก็บค่าบริการมาในนามของตน ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเช่นนี้จึงมีภาระต้องลุกขึ้นมาร้องเรียนปัญหา ซึ่งหากเป็นจริงเช่นนั้น คนกลางอย่างผู้ให้บริการมือถือก็มักยกเว้นหนี้ให้         อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาค่าบริการแล้ว การถูกแอบอ้างเปิดเบอร์ยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายอื่นๆ ตามมาได้ไม่ต่างจากกรณีถูกฉกเบอร์ นั่นคืออาจมีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือแล้วสร้างหนี้ไว้ให้ หรือซ้ำร้ายกว่านั้น อาจมีการทำธุรกรรมในลักษณะที่ผิดกฎหมายซึ่งทำให้ผู้ถูกแอบอ้างชื่อต้องพลอยติดร่างแหไปด้วย         นอกจากนี้ ทั้งเรื่องเบอร์สูญและเบอร์งอกต่างก็เป็นเรื่องที่ผู้ใช้บริการไม่อาจระมัดระวังได้เอง และไม่มีแนวทางที่จะดูแลตัวเองได้มากนัก หลักๆ แล้วเป็นเรื่องที่ขึ้นกับกระบวนการขั้นตอนการทำงานของบริษัทผู้ให้บริการ ที่จะต้องมีแนวปฏิบัติที่รัดกุมและมีมาตรการควบคุมให้ผู้ปฏิบัติและผู้เกี่ยวข้องทำตามโดยเคร่งครัด ในขั้นตอนการลงทะเบียนใช้บริการ         ทั้งนี้ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีการกำหนดเอาไว้ชัดเจนให้เป็นหน้าที่ของบริษัทผู้ให้บริการที่จะต้องบริหารจัดการการลงทะเบียนผู้ใช้บริการที่จุดบริการ ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงศูนย์หรือสำนักงานให้บริการลูกค้าของผู้ให้บริการ และร้านค้าหรือจุดให้บริการต่างๆ ที่เป็นตัวแทนในการจัดจำหน่ายสินค้า ทำการตลาด หรือให้บริการใดๆ ในนามบริษัทผู้ให้บริการ         ประกาศฉบับนี้มีการกำหนดเงื่อนไขที่สำคัญๆ ในการลงทะเบียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเอกสารหลักฐานแสดงตัวตน เช่น ในกรณีของบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย อย่างน้อยต้องแสดงเอกสารหลักฐานเป็นบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง หรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง โดยที่ผู้ให้บริการต้องมีการออกแบบมาตรฐานและวิธีการในการลงทะเบียน ให้จุดบริการต่างๆ ต้องตรวจสอบหลักฐาน รวมทั้งพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลของผู้ใช้บริการ ด้วยความรอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม         ในกรณีของชายผู้ประสบเหตุถูกลอบเปิดเบอร์ในชื่อของเขาถึง 2 เบอร์ภายในเดือนเดียว ตามที่เล่าข้างต้น ผลจากการร้องเรียนทำให้พบว่า ต้นเหตุเกิดจากร้านค้าที่เป็นตัวแทนของบริษัทผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ และหลักเกณฑ์ตามที่ กสทช. กำหนด ซึ่งในที่สุด บริษัทผู้ให้บริการก็ได้ยกเลิกสัญญากับร้านค้าดังกล่าว รวมถึงยกเว้นค่าบริการให้แก่ชายที่ร้องเรียน         อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของการตามแก้ไขคลี่คลายปัญหาในภายหลัง โดยที่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้ทำอะไรผิดต้องเผชิญปัญหาและได้รับผลกระทบบางประการไปแล้ว         ส่วนในกรณีเบอร์สูญนั้น นอกจากจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความรอบคอบ เคร่งครัด และรัดกุมในการลงทะเบียนแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องกระบวนการขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ์ในเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเท่ากับเป็นการยกเลิกบริการของคนหนึ่งและเข้าสู่บริการของอีกคนหนึ่ง ดังนั้นจึงควรต้องมีความรอบคอบ เคร่งครัด และรัดกุม เช่นเดียวกัน แต่ในมิติด้านนี้ กสทช. ยังไม่ได้วางกติกาที่ชัดเจน         สำหรับในรายของชายคนดังกล่าว ปรากฏว่า บริษัทผู้ให้บริการมือถือได้ชี้แจงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียนผ่านช่องทางแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการ ซึ่งขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านช่องทางแอปพลิเคชันจะมีเพียงเฉพาะผู้จดทะเบียนเท่านั้นที่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากจะต้องเข้าสู่ระบบด้วยวิธีการกรอกรหัส OTP ส่วนในขั้นตอนการแสดงตนใหม่ ทางบริษัทผู้ให้บริการก็ได้กำหนดให้ผู้ใช้บริการใหม่ต้องถ่ายรูปบัตรประชาชนและถ่ายภาพเซลฟี่ตนเองเพื่อเป็นการยืนยันตัวตนด้วย ทั้งนี้ ทางบริษัทผู้ให้บริการยืนยันว่า ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียน หรือขั้นตอนการลงทะเบียนแสดงตนใหม่ผ่านทางแอปพลิเคชันนั้นมีความปลอดภัย และถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าของเลขหมายที่ประสงค์จะโอนย้ายเลขหมายหรือเบอร์ให้แก่บุคคลอื่น         จากข้อชี้แจงดังกล่าวของบริษัทฯ สะท้อนถึงมุมคิดที่น่าจะมีความผิดพลาดและขาดความสมดุลระหว่างเรื่องการอำนวยความสะดวกกับความปลอดภัย           ความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ที่บริษัทฯ มีมุมมองว่านี่เป็นเพียงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียน ทั้งที่ความหมายแท้จริงเป็นเรื่องของการโอนกรรมสิทธิ์ในเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเกิดจากความยินยอมของเจ้าของหรือคนครอบครองเดิมอย่างชัดเจน การยอมให้ใช้ช่องทางแอปพลิเคชันจึงนับว่าหละหลวมเกินไป เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการสวมรอยโดยบุคคลอื่นเข้ามาแอบอ้างขอเปลี่ยนชื่อและลงทะเบียนใหม่         เช่นเดียวกับเรื่องการยกเลิกบริการที่จำเป็นต้องมีกระบวนการขั้นตอนพิสูจน์ตัวตนของผู้ที่ใช้บริการให้ชัดแจ้งว่ามีความประสงค์เลิกใช้เลขหมายดังกล่าวแล้วจริงๆ ดังนั้น กระบวนการและขั้นตอนในการยกเลิกบริการจึงควรต้องเข้มงวดไม่น้อยกว่าขั้นตอนจากการสมัครหรือลงทะเบียนเข้าสู่การใช้บริการ หรืออาจควรเข้มงวดกว่าด้วยซ้ำไป เนื่องจากในยุคสมัยปัจจุบัน เลขหมายมือถือกลายเป็นสิ่งที่ผูกกับตัวตนของผู้ใช้บริการอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง         การอำนวยความสะดวกเรื่องการเปลี่ยนชื่อคนครอบครองเลขหมายมือถือผ่านแอปพลิเคชันของทางค่ายมือถือจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและควรยกเลิก เพราะตราบเท่าที่เปิดช่องทางนี้ไว้ก็เท่ากับเปิดช่องโหว่ให้เกิดปัญหาการสูญเบอร์ขึ้นได้ โดยที่ฝั่งผู้ใช้บริการไม่มีทางที่จะป้องกันหรือปกป้องตัวเองได้เลย จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น         ทั้งนี้ จะว่าไปแล้ว เรื่องการเปลี่ยนชื่อแล้วลงทะเบียนใหม่ได้ทันทีเช่นนี้เท่ากับรวมเอาทั้งกระบวนการขั้นตอนการยกเลิกบริการและกระบวนการขั้นตอนการลงทะเบียนเข้าสู่บริการเข้ามาเป็นขั้นตอนเดียว จึงไม่ควรเป็นเรื่องปล่อยให้ทำได้อย่างง่ายๆ และขาดการตรวจสอบที่รอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม อย่างที่สุด เพราะมิเช่นนั้นก็จะเกิดการฉกหรือช่วงชิงเบอร์กันได้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการประกอบอาชญากรรมอื่นๆ ตามมาได้อีกมาก

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 274 ชวนคิดเรื่องการประหยัดค่าไฟฟ้าภายในบ้าน

        นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศผิวโลกในปี 2567 จะสูงกว่าของปีที่แล้วซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่มีการจดบันทึกมา  สาเหตุสำคัญเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล) แล้วลอยขึ้นไปทำหน้าที่เป็นผ้าห่มโลก ดังนั้นเมื่อเรายังคงปล่อยก๊าซฯ ต่อไปผ้าห่มก็จะหนาขึ้น โลกจึงร้อนขึ้นตามกลไกที่ตรงไปตรงมาที่เราเข้าใจกันอยู่แล้ว         คราวนี้หันมามองตัวเราเองบ้าง เมื่ออุณหภูมิอากาศสูงขึ้นและจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเยอะด้วย เนื่องจากเราอยู่ในเขตร้อนของโลก เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร  แต่ไม่ว่าจะแก้ไขอย่างไรก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ทั้งจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่มากขึ้นและอัตราค่าไฟฟ้าที่เป็นอัตราก้าวหน้า นั่นคือยิ่งใช้จำนวนมาก อัตราค่าไฟฟ้าก็จะกระโดดขึ้นเป็นเหมือนขั้นบันได บางคนพูดตลกว่า “เห็นใบแจ้งค่าไฟฟ้าแล้วจะหนาว”         เรื่องที่ผมขอชวนคิดในวันนี้เกี่ยวกับการประหยัดค่าไฟฟ้าภายในบ้าน หากท่านใดพิจารณาแล้วเห็นว่าพอจะปฏิบัติได้ก็ลงมือทำเลยครับ ท่านที่ไม่สามารถทำได้ก็ขอเพียงรับรู้และบอกเล่ากันต่อไป         เรื่องมีอยู่ว่า ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 800 หน่วยต่อเดือนควรเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ TOU  ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าคิดตามเวลาที่ใช้ (Time of Use)         กล่าวคือ ตั้งแต่ 4 ทุ่มจนถึง 9 โมงเช้าของวันจันทร์ถึงวันศุกร์และตลอด 24 ชั่วโมงของวันเสาร์และอาทิตย์ (เราเรียกว่าเป็นช่วงนอกพีค Off Peak) อัตราค่าไฟฟ้าจะมีราคาถูกและเป็นอัตราคงที่ด้วย จะใช้มากหรือใช้น้อยก็มีอัตราเท่าเดิม (เฉพาะค่าไฟฟ้าอย่างเดียวหน่วยละ 2.6369 บาทต่อหน่วย) แต่ถ้าใช้นอกเหนือจากช่วงเวลาดังกล่าว(ช่วงพีค) อัตราค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้น (ค่าไฟฟ้าอย่างเดียว 5.7982 บาทต่อหน่วย) ในขณะที่มิเตอร์แบบธรรมดาประเภทผู้อยู่อาศัย 1.2 อัตราค่าไฟฟ้าประมาณ 4.19 บาทต่อหน่วยและเป็นอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้มาก อัตรายิ่งเพิ่มขึ้น        โปรดอ่านช้าๆ อีกครั้งครับ         ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้มิเตอร์แบบ TOU ถ้าเราใช้ไฟฟ้าไม่มากพอ เราจะไม่ได้ประโยชน์ บางกรณีค่าไฟฟ้าจะมากกว่ามิเตอร์แบบเดิมเสียด้วยซ้ำ  สมมุติว่าเราใช้ไฟฟ้าเดือนละ 1,000 หน่วย หากใช้มิเตอร์แบบเดิม (ประเภท 1.2) จะเสียค่าไฟฟ้ารวมในช่วงมกราคมถึงเมษายน 2567 เดือนละ 4,941 บาท   เมื่อเปลี่ยนมาใช้มิเตอร์แบบ TOU  และมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าในพีคและนอกพีค ดังตาราง         อนึ่ง จากข้อมูลของการไฟฟ้านครหลวง พบว่าค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนมิเตอร์ TOU ประเภทแรงดันต่ำ เท่ากับ 6,640 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)  ดังนั้นหากสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าเท่ากับ 200:800 การเปลี่ยนมิเตอร์ก็จะคุ้มทุนในเวลาประมาณ 7 เดือน  หากเปลี่ยนสัดส่วนการใช้เป็น 300:700 ก็จะใช้เวลาประมาณ 10 เดือนจึงจะคุ้มทุน         เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นทางเลือกที่มากขึ้น ผมจึงลองสมมุติสถานการณ์ใหม่ คือ ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 800 หน่วย ถ้าใช้มิเตอร์เดิมจะเสียค่าไฟฟ้าเดือนละ 3,910 บาท ถ้าเปลี่ยนเป็น TOU แล้วมีสัดส่วนการใช้เป็น 200:600 ค่าไฟฟ้าใหม่จะเป็น 3,300 บาท ลดลง 610 บาท นั่นคือ ระยะเวลาคุ้มทุนจะเป็น 11 เดือน         ถ้าใช้ไฟฟ้าเดือนละ 600 หน่วย มิเตอร์เดิมจะจ่ายค่าไฟฟ้ารวม 2,878 บาท แต่ถ้าเป็นมิเตอร์ TOU โดยมีสัดส่วน 200:400 ค่าไฟฟ้าใหม่จะเท่ากับ 2,651 บาท ลดลง 227 บาท ดังนั้นต้องใช้เวลานาน 29 เดือน จึงจะคุ้มทุน ข้อควรระวังและคำแนะนำ          (1)        ต้องมีการวางแผนการใช้ไฟฟ้าตามเวลาที่กำหนด เช่น ซักผ้า (ด้วยเครื่อง) ก่อน 8 โมงเช้า เปิดแอร์นอนหลัง 4 ทุ่ม และรีดผ้าวันเสาร์ เป็นต้น ผู้บริโภคควรพิจารณารายละเอียดอย่างอื่นประกอบด้วย เช่น ในแต่ละวันเราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่นอกบ้านหรือในบ้าน         (2)        จากผลการคำนวณดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าใช้ไฟฟ้าน้อยเดือนละ 600 หน่วย ต้องใช้เวลา 29 เดือนจึงจะคุ้มทัน แต่ถ้าใช้ตั้งแต่เดือนละ 800 หน่วยขึ้นไปยิ่งมีความน่าสนใจ ยิ่งใช้มากยิ่งคุ้มทุนเร็วขึ้น        (3)        ผู้บริโภคที่มีรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ควรเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ TOU ครับ รถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ชาร์จไฟฟ้าครั้งละ 20 หน่วย สามารถแล่นได้ 100 กิโลเมตร ถ้าเราชาร์จแบตเตอรี่หลัง 4 ทุ่ม ก็ยิ่งเพิ่มสัดส่วนการใช้นอกพีคเพิ่มขึ้น ความคุ้มทุนก็จะยิ่งเร็วขึ้น ใช้ไฟฟ้าอัตรา 2.64 บาทต่อหน่วย แล่นได้ 5 กิโลเมตร เฉลี่ยรถยนต์คันนี้ใช้เชื้อเพลิงกิโลเมตรละ 53 สตางค์ ถูกกว่าการใช้น้ำมันหลายเท่าตัว         ถ้าไม่คุ้มแล้วจะเรียกว่าอะไร          อ้อ ขอย้ำอีกครั้งว่านี่เป็นการคิดบนฐานของการประหยัดค่าไฟฟ้าเท่านั้น อันเนื่องมาจากกติกาของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน ตอนต่อไปผมจะชวนคิดเรื่องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ซึ่งเป็นเรื่องของการประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญของโลก โปรดติดตามกันนะครับ

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)