ฉบับที่ 211 เปิดร้านชำ ไม่ให้ชีช้ำ

ร้านขายของชำมักเป็นสถานที่ ที่มีคนมาร้องเรียนให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบบ่อยๆ ประเด็นที่ร้องเรียนก็หลากหลาย เช่น มีการขายยาด้วย มีสินค้าไม่ถูกต้อง มีสินค้าหมดอายุ ฯลฯ

เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงมีกิจการร้านขายสินค้าอยู่บ้าง ยิ่งขนาดร้านใหญ่ สินค้าที่จำหน่ายก็ยิ่งเยอะ โอกาสพลาดไปมีสินค้าที่สุ่มเสี่ยงหลงหูหลงตาในร้าน ทั้งเจตนาหรือไม่เจตนา คงเป็นความเสี่ยง ถูกร้องเรียนให้ชีช้ำ ถือโอกาสนี้ เตือนผู้อ่านที่เป็นเจ้าของร้านขายของชำให้ไม่พลาด ชีวิตจะได้ไม่ต้องไปปวดหัวกับการถูกดำเนินคดีภายหลัง

ลูกค้าเรียกหาอาจจะพาชีช้ำ : เจ้าของร้านชำที่ดีย่อมเอาใจใส่ลูกค้า ยิ่งลูกค้าต้องการสินค้าอะไร เจ้าของร้านแทบจะพลีกายถวายชีวิตไปขวนขวายหามาขายในร้านให้ได้ ตั้งสติก่อนเที่ยวไปหามานะครับ ร้านขายของชำ แม้จะมีสินค้าได้หลากหลาย แต่หากลูกค้าอยากได้ยาต่างๆ ท่องไว้ให้ขึ้นใจเลยว่า สินค้าพวกยาเอามาขายในร้านไม่ได้นะครับ มียากลุ่มเดียวเท่านั้นที่กฎหมายอนุญาต คือ”ยาสามัญประจำบ้าน” วิธีสังเกตง่ายๆ คือ ดูฉลากให้ละเอียดครับ ยาสามัญประจำบ้านจะมีข้อความแสดงบนฉลากว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” ถ้าไม่มีอย่าให้มันมาเสนอหน้าอยู่ในร้านเราเด็ดขาด เดี๋ยวความเสี่ยงจะตามมา อาจติดคุกติดตะราง ได้ไม่คุ้มเสียครับ

ยี่ปั่วมั่วๆก็ชีช้ำได้ : ร้านขายของชำบางร้านจะไปซื้อสินค้ามาจากยี่ปั้ว บางทียี่ปั้วแนะนำสินค้าแปลกๆ ให้เอามาขายที่ร้าน  บอกว่ากำลังนิยม รับรองขายดีแน่นอน  อย่ารีบหลงเชื่อนะครับ เช็คให้ดีก่อน สินค้านั้นต้องไม่ใช่ยา หรือหากเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ก็ต้องระวัง ถ้าฉลากไม่ครบ หรือสรรพคุณระบุเป็นยาหรือโฆษณาเกินจริง อย่าใจอ่อนรับมาขาย  เพราะอาจจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย

ของฝากขาย ซ้ำร้ายจะกลายเป็นเหยื่อ : หลายครั้งที่ไปตรวจร้านขายของชำ และเจอสินค้าที่ไม่ถูกต้อง เช่น เครื่องสำอางที่ไม่มีเลขจดแจ้งหรือฉลากไม่ครบ อาหารที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง พอถามแหล่งที่มา เจ้าของร้านมักบอกว่ามีเซลล์มาฝากวางขาย หากขายไม่หมดเซลล์จะมาเก็บกลับคืนภายหลัง ระวังให้ดีนะครับ ตรวจสินค้าที่เขาฝากวางให้ดี หากสินค้านั้นไม่มีข้อมูลแสดงว่าได้รับอนุญาตถูกต้อง หรือฉลากไม่ครบถ้วน อย่ารับวางไว้ที่ร้านเด็ดขาด มีเรื่องทีไร เซลล์หายหัวทุกที

ชื่อแปลกๆ อย่าแหกตาตื่นไปซื้อ : จากประสบการณ์ที่ไปตรวจร้านขายของชำ พบเครื่องสำอางที่แปลกทั้งชื่อและชนิด เช่น ครีมนมเบียด กลูตาผีดิบ เยลลี่ลดอ้วน ฯลฯ ส่วนใหญ่สินค้าพวกนี้ฉลากไม่ค่อยถูกต้องตามกฎหมาย สอบถามผู้ขายว่าไปซื้อมาจากไหน ได้ข้อมูลว่าเห็นมันดังในอินเทอร์เน็ต เลยซื้อจากออนไลน์มาขาย  ตั้งสติครับ ลำพังแค่ชื่อสินค้าที่มันผิดปกติแบบนี้ คงไม่มีหน่วยงานไหนอนุญาตแน่นอน อย่าหาของร้อนจากออนไลน์มาใส่ร้านตัวเองเลยครับ

ยังไงใช้ คาถา 4 สงสัย 2 ส่งต่อ ตรวจสอบสินค้าต่างๆ จะได้ไม่พลาดให้ชีช้ำนะครับ (1) สงสัยไม่มีหลักฐานการอนุญาต? (2) สงสัยขาดข้อมูลแหล่งที่มา? (3) สงสัย : โฆษณาเวอร์เกินไป? (4) สงสัยใช้แล้วผิดปกติ? (1) ส่งต่อข้อมูลเตือนภัย (2) ส่งต่อเจ้าหน้าที่

แหล่งข้อมูล: ภก.ภาณุโชติ ทองยัง

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ร้านขายของ

ฉบับที่ 276 ไซบูทรามีน คืนชีพ

        ข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่จังหวัดอ่างทอง เมื่อกลางปี 2562 ผลชันสูตรพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผลการตรวจเลือดพบว่ามียา 4 ชนิด (ที่มีการผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนักที่ผู้เสียชีวิตรับประทาน) ได้แก่ ฟูลออกซิทีน (Fluoxetine) บิซาโคดิล (bisacodyl) ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (hydrochlorothaiazide) และ ไซบูทรามีน (cybutramine) ยาทั้ง 4 ชนิด ออกฤทธิ์ร่วมและเสริมกันทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเสียชีวิต นำไปสู่การปราบปรามการแอบลักลอบปลอมปน “ไซบูทรามีน” ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคืออำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพราะมีข้อมูลว่าเป็นต้นทางการลักลอบนำเข้าสารไซบูทรามีนจากประเทศเพื่อนบ้าน มีการตรวจค้นและพบวัตถุดิบสารไซบูทรามีนและการปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักจำนวนมากหลายยี่ห้อ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว         ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2566 เครือข่ายเฝ้าระวังในจังหวัดเชียงราย รายงานว่าพบการกลับมาจำหน่ายและพบการบริโภคผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ “Lishou” และ “Bashi”ในหลายพื้นที่ โดยผลิตภัณฑ์ที่พบใครั้งล่าสุดนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ยี่ห้อนี้เคยตรวจพบการปลอมปนสารไซบูทรามีน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เคยดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายธุรกิจการลักลอบผลิตยาลดความอ้วนไม่ได้หมดไป ยังคงคืนชีพดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การกลับมาระบาดครั้งนี้ยังพบว่ามีการโฆษณาขายในตลาดออนไลน์อย่างเปิดเผย        ขอเตือนภัยมายังผู้บริโภคให้สังเกตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทานอยู่ว่าได้ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หรือแม้จะมีเลข อย. หากรับประทานไปแล้วน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วหรือผอมเร็ว ให้ระวังว่าอาจมีสารไซบูทรามีนปลอมปนควรหยุดรับประทาน แล้วให้ส่งผลิตภัณฑ์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านตรวจสอบและดำเนินการต่อไปเพื่อความปลอดภัย         ไซบูทรามีนคืออะไร : ไซบูทรามีนคือสารเคมีที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง (สมอง) ที่ทำให้ไม่รู้สึกหิว อิ่มเร็วและกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย จึงมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยนำมาลักลอบปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก แต่เนื่องจากสารนี้มีผลข้างเคียงต่อร่างกายทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับและท้องผูก ที่สำคัญมีรายงานผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต ประเทศไทยจึงจัดไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และยกเลิกทะเบียนตำรับยาที่มีสารนี้ไปแล้วตั้งแต่ ปี 2553

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 กระท่อมอำพราง

        หลังจากที่รัฐสภาได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) ถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไปแล้ว ทำให้พืชกระท่อมไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ ประชาชนทั่วไปจึงสามารถครอบครอง ปลูก และขายใบสดได้เสรี หรืออาจนำมาต้มเป็นน้ำกระท่อมเพื่อดื่มเองหรือแจกจ่ายได้  ภาพที่เราเห็นทั่วไปในระยะแรกๆ คือ มีการนำใบพืชกระท่อมมาวางจำหน่ายในที่ต่างๆ รวมทั้งตามริมถนน         “แต่ระยะหลัง ไม่ได้มีแค่ใบพืชกระท่อมที่วางขาย หลายพื้นที่พบว่ามีการต้มน้ำกระท่อมใส่ขวดขายด้วย” ซึ่งข้อเท็จจริงตามกฎหมาย การนำพืชกระท่อมไปทำเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อขายนั้น พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ยังไม่ปลดล็อกให้นำพืชกระท่อมไปทำอาหารหรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ (อ้างอิงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 ) พ.ศ.2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย)         “แม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลยก็เป็นสิ่งที่ห้ามผลิต เพื่อจำหน่ายตามประกาศฉบับนี้” การฝ่าฝืน โดยผลิต และขายอาหารที่พ.ร.บ.อาหารห้าม มีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือนถึง 2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท         มีข้อมูลว่าที่สมุทรสงคราม ตำรวจได้ดำเนินการตรวจจับการขายน้ำกระท่อมซึ่งผู้ขายใช้วิธีอำรางเพื่อหลีกเลี่ยงโดย โดยนำน้ำกระท่อมไปใส่ในขวดน้ำเชื่อมสำหรับปรุงอาหาร (syrup) แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและสาธารณสุขสงสัย เลยส่งน้ำเชื่อมขวดดังกล่าวไปวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ ผลการตรวจพบว่ามีส่วนผสมยาแผนปัจจุบัน Diphenhydramine HCl และ Chlorpheniramine ในน้ำเชื่อมขวดดังกล่าว สรุปง่ายๆ คือ “ต้มน้ำกระท่อมแล้วนำมาผสมกับยาแก้แพ้แบบ 4x100 ที่เคยระบาดในกลุ่มเยาวชนแล้วตบตาตำรวจโดยนำไปบรรจุในขวดน้ำเชื่อมแทน”         ส่วนกรณีที่สงสัยว่า จะนำพืชกระท่อมไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยแจ้งว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆนั้น ต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข เพราะมี พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ควบคุมอยู่เช่นกัน         ในขณะที่การควบคุมยังทำได้ไม่เต็มที่ ผู้บริโภคพบเห็นการขายพืชกระท่อมแบบผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือศูนย์ดำรงธรรมติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เลย เพื่อความปลอดภัยของลูกหลานเราเอง 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 274 กาแฟโด่..กินแล้วโด่หรือดับ?

        “ชายวัย 69 พาสาวคู่ขาเข้าม่านรูด ดื่มกาแฟโด๊ปพลังก่อนช็อกดับคาห้องพัก จากการสอบสวนได้ข้อมูลว่าก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์กับสาวคู่ขา ชายคนนี้ได้ดื่มกาแฟยี่ห้อหนึ่ง เพื่อเพิ่มสมรรถภาพให้อวัยวะแข็งตัว ซึ่งแพทย์คาดว่าอาจจะส่งผลต่อการสูบฉีดของหลอดเลือดที่มากเกินไป จนทำให้ชายคนนั้นเกิดอาการช็อกหมดสติ และเสียชีวิต”          จากข่าวที่เผยแพร่ทางสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2566 ภญ.โศภิต สุทธิพันธ์ได้สืบค้นข้อมูลในระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพของ อย. พบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ไม่มีการขออนุญาตกับ อย. แต่กลับพบว่ามีการขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งก่อนหน้านี้ด่านอาหารและยาจังหวัดนราธิวาส ได้เคยพบและได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาตรวจวิเคราะห์ ผลการตรวจพบ “ซิลเดนาฟิล (Sildenafil)”ในผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ (HPVC) ของ อย. ได้เคยติดตามเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกิดขึ้นจากเว็บไซต์ของหน่วยงานที่กำกับดูแลของต่างประเทศ พบข้อมูลว่า Health Sciences Authority (HSA) สาธารณรัฐสิงคโปร์ ได้ตรวจพบสารนี้ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเช่นกัน           นอกจากนี้ในปี 2564 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการรับประทานผลิตภัณฑ์กาแฟยี่ห้อหนึ่งซึ่งไม่ระบุเลขสารบบอาหาร ชื่อและปริมาณของส่วนประกอบสำคัญ คำเตือนในการบริโภค ครั้งที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ ซึ่งได้ส่งให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 ตรวจวิเคราะห์ ผลการตรวจพบ “ทาดาลาฟิล (Tadanafil)” ในผลิตภัณฑ์ และได้รายงานข้อมูลให้ อย.เฝ้าระวังทั่วประเทศไปแล้ว         ปัจจุบัน ซิลเดนาฟิล และ ทาดานาฟิล จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ จึงไม่สามารถหาซื้อผ่านทางอินเตอร์เน็ต หรือ หาซื้อตามร้านขายยาได้เอง ผู้ซื้อจะต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น         ซิลเดนาฟิล เป็นยาที่ใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย แต่ยานี้ไม่ได้ช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศและไม่ช่วยให้มีเพศสัมพันธ์ได้นานขึ้น แต่กลับมีผลข้างเคียง คือ ทำให้ปวดศีรษะ หน้าแดง ร้อนวูบวาบ คลื่นไส้ ตาพร่ามัว มองเห็นแสงสีฟ้าสีเขียว และอาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้ ส่วนทาดาลาฟิล (tadalafil) อยู่ในกลุ่มเดียวกับซิลเดนาฟิล ออกฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือด ซึ่งมีข้อควรระวังในการใช้ในผู้ป่วยโรคตับและไต ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ โรคหัวใจล้มเหลว โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บหน้าอกแบบไม่คงที่ ผลิตภัณฑ์อาหารที่พบการปลอมปนซิลเดนาฟิล และ ทาดานาฟิล จัดเป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยแก่การบริโภค ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายจะมีความผิดตามกฎหมาย         ดังนั้น ผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อหรือซื้อกาแฟสำเร็จรูปพร้อมบริโภคที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเสริมสมรรถภาพทางเพศผ่านทางสื่อออนไลน์ เพราะเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากการปลอมปนยาที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และ อย.ไม่เคยอนุญาตให้มีการโฆษณาในลักษณะดังกล่าว หากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับด้านสมรรถภาพทางเพศควรปรึกษาแพทย์ และหากพบการซื้อขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านอินเตอร์เน็ต หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือ แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศทันที

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 273 แพ้กัญชาในอาหารเสี่ยงล้างไต ช็อค เสียชีวิต

        หลังจากที่กัญชาถูกปลดล็อคจากยาเสพติดเป็นสมุนไพรควบคุมทำให้หลายคนหันมาใช้และซื้อ-ขายกัญชากันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการใส่กัญชาลงในอาหาร จึงทำให้พบผู้ป่วยที่มีอาการแพ้กัญชาพบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รุนแรงถึงไตวาย ช็อคหรืออาจเสียชีวิตจากฤทธิ์ของสารในกัญชา           ประกาศกรมอนามัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในสถานประกอบกิจการอาหาร กำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร มีการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ การจัดเก็บ จัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพ และความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค โดยการแสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาตามประเภทการประกอบอาหาร  เพื่อให้มีสาร THC ไม่เกินกว่าร้อยละ 0.2 เช่น อาหารทอด แนะนำให้ใช้ ใบสด 1-2 ใบต่อเมนู อาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำใช้ใบสด 1 ใบต่อเมนู แสดงคำเตือนให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง ได้แก่ เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี  สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้สูงอายุ , ผู้ที่แพ้กัญชา มีคำเตือนผลข้างเคียง  ฯลฯ นอกจากนี้ร้านอาหารต้องขอรับใบอนุญาตสถานที่จำหน่ายอาหาร รวมถึงต้องใช้กัญชาจากแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น  แต่พบว่าปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานเฉพาะที่ตรวจสอบสาร THC ในอาหารหรือเครื่องดื่ม ผู้บริโภคจึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าร้านอาหารใช้ปริมาณใบกัญชาตามที่กำหนดหรือไม่ และกรมอนามัยไม่มีอำนาจลงโทษผู้ประกอบการหากเกิดข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ         ด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ผลิตภัณฑ์อาหารและยาต้องมีเลขอนุญาต ผู้ที่ใช้ส่วนประกอบของกัญชาเป็นส่วนผสมในอาหารของอุตสาหกรรมต้องขออนุญาตจดแจ้งเลขทะเบียนกับ อย. ฉลากต้องแจ้งว่าผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของกัญชา หากผลิตภัณฑ์ไม่มีการจดแจ้งจะมีความผิดเรื่องการจำหน่ายอาหารที่ไม่ขึ้นทะเบียน อย. รวมถึงถ้าผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการบริโภคอาหาร เข้าข่ายเป็นอาหารที่ไม่มีความปลอดภัย มีโทษตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 แต่ปัจจุบันมาตรการควบคุมการผลิตหรือการจำหน่ายอาหารในระดับพื้นที่หรือทางออนไลน์ยังไม่ทั่วถึง         ผลการวิจัยเรื่อง ความรู้ความเข้าใจและความตระหนักของผู้ประกอบการร้านอาหารและวิสาหกิจชุมชนต่อมาตรการทางกฎหมายและกรรมวิธีกรผลิตอหารทีมีกัญชาเป็นส่วนผสม ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการ 320 คนในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีผู้ประกอบการ 12.6% เข้าใจว่าสามารถใช้ทุกส่วนของกัญชา ผสมลงในอาหาร เครื่องดื่ม ขนมได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ขณะที่ 23.9% คิดว่าสามารถนำกัญชาจากแหล่งใดก็ได้มาประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย และผู้ประกอบการเกิน 50% ไม่ทราบว่าการผสมกัญชาลงในอาหารต้องระมัดระวังเรื่องสารปนเปื้อน เช่นสารโลหะหนัก สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือเชื้อจุลินทรีย์ที่มีโทษ         สรุปภาพรวมเรื่องกัญชาในอาหาร ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจวิธีการใช้กัญชาในอาหารเพียงพอ ยังไม่มีกฎหมายควบคุมกำกับกัญชาโดยเฉพาะ ประกาศ ข้อกำหนด หรือมาตรการของหน่วยงานรัฐต่างๆที่ใช้ยังมีช่องโหว่หรือข้อจำกัดในการตรวจสอบเฝ้าระวังควบคุมให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด ดังนั้นผู้บริโภคยังคงต้องอาศัยความรู้และใช้สิทธิผู้บริโภคในระวังคุ้มครองตนเองควบคู่ไปกับมาตรการของหน่วยงานรัฐข้างต้น

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)