แหล่งข้อมูล: คุณคมเดช โพธิสุพรรณ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค โรงพยาบาล ค่ารักษาพยาบาล
กว่า 20 ปีแล้วที่ประเทศไทยได้มีการพูดถึงสังคมสูงวัย เริ่มตั้งแต่ ในปี 2548 จนถึงปัจจุบันในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปจำนวน 12 ล้าน 6 แสนคนหรือคิดเป็นจำนวนร้อยละ 19.21 ของประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน ... และคาดการณ์กันว่า ในปี พ.ศ. 2573 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.9 หรือการเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศญี่ปุ่น ผู้สูงอายุของไทยจะมีความเป็นอยู่อย่างไร นี่คือน้ำเสียงแห่งความกังวลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังในทุกครั้ง ทุกโอกาสที่มีการพูดถึงสถานการณ์สังคมสูงวัย เมื่อเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังไม่เพียงต่อต่อการดำรงชีพและยังไม่มีความแน่นอนดังที่ล่าสุดได้มีการปรับเกณฑ์กันอีกครั้งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เริ่มรณรงค์สื่อสารเพื่อยกระดับ ‘เบี้ยยังชีพ’ ให้เป็น ‘บำนาญถ้วนหน้า’ ตั้งแต่ระยะแรกที่ประเทศไทยเริ่มมีการพูดถึงเรื่องสังคมสูงวัย ผ่านมากว่า 17 ปี ข้อกังขาต่อความเป็นไปได้เริ่มแผ่วเสียงลง การเลือกตั้งที่ผ่านมายังเป็นนโยบายสำคัญที่พรรคการเมืองหลายต่อหลายพรรคส่งเสียงยืนยันสิทธิที่ผู้สูงอายุไทยควรได้อย่างพร้อมกันที่ตัวเลข 3,000 ต่อเดือน ความสำเร็จครั้งนี้ คุณแสงสิริ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่ายังมีงานที่ต้องทำอีกมากเพื่อไปให้ถึงเส้นชัย...ที่ในวันนี้สถานการณ์ทางสังคมได้ฟูมฟักให้ไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป จุดเริ่มต้นที่เริ่มผลักดันเรื่อง บำนาญถ้วนหน้า เราเริ่มกันช่วงปี 2551 – 2552 ตอนนั้น เราเริ่มมีการพูดถึงกันแล้วว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย เราก็คิดว่า แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรเพราะเราไม่มีหลักประกันทางรายได้เลยซึ่งสำคัญมากที่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตอนนั้น เราจึงมีการยกร่าง พ.ร.บ. ภาคประชาชน ยกระดับ ‘เบี้ยยังชีพ’ ให้เป็นบำนาญถ้วนหน้า มีการระดมรายชื่อ 10,000 รายชื่อเสนอเข้าไปที่รัฐสภา ตอนนั้นคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีเรื่องก็ค้างไว้ ไม่ได้เซ็นต์ ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าสภาแต่เราก็ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เราปรับปรุง พ.ร.บ. ฉบับนี้ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2562 มีประชาชนร่วมลงชื่อกว่า 14,000 รายชื่อ ในรัฐบาลประยุทธ์ แต่ก็ตกไป ไม่ได้เซ็นต์ เพราะเป็นกฎหมายการเงินต้องผ่านนายกรัฐมาตรีถึงจะเข้าสภาได้ จนถึงรัฐบาลปัจจุบันขณะนี้ ต้องบอกว่ารัฐสภาก็มีการศึกษาเรื่องนี้และเราได้เข้าไปเป็นอนุกรรมการฯ ด้วย ทางรัฐสภาได้มีรายงานหนึ่งฉบับหนึ่งออกมาและมีการยกร่าง การแก้ไข พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ เป็น พ.ร.บ. ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ เราเลยนำร่างของกรรมาธิการเป็นตัวยกร่างฉบับที่ 3 ของเรา และปรับปรุงให้เป็นตามแนวทางของฉบับประชาชนที่เรายืนยันหลักการสำคัญเลยคือ หนึ่ง ให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า เป็นสิทธิพื้นฐานให้แก่ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป สอง เราใช้เกณฑ์เส้นความยากจนเป็นหลัก เราจึงเสนอที่ 3,000 บาท มาโดยตลอด เงินตรงนี้ควรจะต้องให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต สถานการณ์ตอนที่เริ่มผลักดันเรื่องนี้ เป็นอย่างไร ช่วงปี 2552 – 2553 เมื่อเราพูดถึงบำนาญถ้วนหน้า รัฐสวัสดิการ คนยังไม่เข้าใจ ไม่ติดหู จนถึงไม่อยากได้ มีการตั้งคำถามเยอะ แต่ประสบการณ์ที่ผ่าน เราพบว่าคนตั้งคำถามเยอะที่สุดเพราะกลัวแทนรัฐว่าจะ ‘เอาเงินมาจากไหน’ ‘เป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าเราจะต้องเก็บภาษีให้สูงๆ เหมือนต่างประเทศ’ มีเสียงที่บอกเลยว่า ทำไมรัฐต้องให้สวัสดิการประชาชน ประชาชนต้องขวนขวายทำงานเก็บเงินเอง แต่เราก็เคลื่อนไหวและสื่อสารถึงความจำเป็นมาตลอด ช่วง ปี 2560 - 2561 คนเริ่มพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการมากขึ้น นักวิชาการจากเมื่อก่อนที่ไม่ได้สนับสนุนเต็มตัวก็มีนักวิชาการหลายคนเข้ามาสนับสนุน เพราะเขามองว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำได้ มีงานวิจัยออกมาทั้งในและต่างประเทศว่า การให้หรือการสนับสนุนเรื่องหลักประกันรายได้ ไม่ว่าจะกับคนกลุ่มไหนจะช่วยทำให้ผู้คนสามารถออกแบบชีวิต วางแผนชีวิต และนำเงินเหล่านั้นไปต่อยอดได้ บริษัทใหญ่ๆ อย่าง อเมซอนก็เคยทดลองให้เงินทางประชาชนในแถบแอฟริกาแบบให้เปล่าต่อเนื่องผลก็เป็นไปตามแบบที่งานวิจัยบอกมา กระแสการพูดถึงเรื่องนี้ตั้งแต่หลังรัฐประหารมีขบวนการเคลื่อนไหวของนักเรียน คนรุ่นใหม่ นักศึกษา ยิ่งมีพูดถึงเยอะมากเพราะคนเริ่มเห็นปัญหาในเชิงโครงสร้างว่า นโยบายของรัฐไม่ได้เอื้อให้คนหลุดพ้นจากวงจนความยากจนได้ ไม่ได้เอื้อให้คนมีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดี คนเลยคิดว่าสิ่งที่ควรเป็นสิทธิและรัฐต้องคิด มีเจตนา เจตจำนงที่จะต้องให้กับประชาชนก็คือเรื่องการมีสวัสดิการ ทั้งหมดนี้ทำให้เรื่องรัฐสวัสดิการถูกพูดถึงมากขึ้น ขณะที่คำถามเรื่องความเป็นไปได้ต่างๆ ก็ลดลง มีงานวิจัย มีข้อมูลออกมาเยอะมากว่าจริงๆ แล้วประเทศของเราควรจัดสรรงบประมาณแบบใดได้บ้าง ในภาพรวมของประเทศตอนนี้ เรามีสวัสดิการให้ประชาชนเรื่องอะไรบ้างและมีปัญหาอย่างไร สวัสดิการที่รัฐจัดให้ประชาชน มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ประชาชนทั่วไป ราว 66 ล้านคน เท่าที่เราทำข้อมูล สวัสดิการที่รัฐจ่ายตรงไปให้กับประชาชนราว 66 ล้านคน ตรงนี้ เช่นเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่ให้กับครอบครัวที่ยากจน อุดหนุนอาหารกลางวันเด็ก สิทธิเรียนฟรี กองทุนเสมอภาค อยู่ที่ 73,000 ล้านบาท หลักประกันสุขภาพมากที่สุดคือ 1.4 แสนล้านบาท ประกันสังคม เบี้ยผู้สูงอายุ กองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งใช้เงินน้อยมากเพียง 300 กว่าล้าน ทั้งหมดนี้เป็นงบประมาณกว่าร้อยละ14.12 ของรายจ่ายรัฐบาล แม้ดูว่าหลากหลายแต่สวัสดิการที่เป็นถ้วนหน้า มี 2 เรื่องเท่านั้น คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กับสิทธิเรียนฟรี นอกนั้นจะเป็นการให้แบบเลือกให้ ขณะที่อีกกลุ่มคือกลุ่มข้าราชการ มีประมาณ 5 ล้านคนได้สวัสดิการจากรัฐคิดแล้วเป็นงบประมาณกว่า ร้อยละ 15.36 เป็นค่ารักษาพยาบาล เงินช่วยเหลือข้าราชการ และสวัสดิการต่างๆ งานวิจัยที่ผ่านมาเราได้เห็นว่า การเลือกให้เฉพาะกลุ่มหรือคนที่ยากจน เช่น งานวิจัยอย่างของ อาจารย์สมชัย หรือของ TDRI บอกชัดเจนว่าจะทำให้คนที่ควรได้จะตกหล่นมากกว่าร้อยละ 20 แล้วคนที่ไม่จำเป็นต้องได้ก็ได้ แล้วต้องใช้งบประมาณเพื่อคัดกรองมากพอๆ กับที่ใช้เพื่อจ่ายสวัสดิการ จริงๆ อาจจะน้อยกว่า แต่ก็เป็นเงินจำนวนที่ไม่น้อยที่ต้องนำมาใช้จ่ายตรงนี้ จึงมีหลักการที่ยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าต้องเป็นสวัสดิการแบบ ‘ถ้วนหน้า ’ เท่านั้น ใช่ และเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลแต่ละสมัยมากๆ เช่น นโยบายของนรัฐบาล ถ้านายกสั่งวันนี้เลย 3,000 บาทเขาก็ต้องจ่าย 3,000 บาท ถ้าวันนี้ปรับเกณฑ์ลด ก็ลดลง และหลายปีมาแล้ว เรายังให้แบบขั้นบันได 600 – 1,000 บาทและไม่ได้เป็นถ้วนหน้า เราผลักดันเรื่องนี้โดยใช้ประสบการณ์จากจากการร่วมผลักดันหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือผลักดันให้เป็นกฎหมายเฉพาะ แล้วจะมีความแน่นอน ความเสมอภาค คือคุณอาจจะทำให้เป็น 3,000 ได้ไหม ถ้าไม่ได้ ได้ 1,500 แล้วค่อยๆ ขยับไปก็ได้แต่ชีวิตประชาชนก็จะมีหลักประกันที่แน่นอน ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้เหมือนตอนนี้ ดังนั้นเราตั้งใจว่าจะระดมรายชื่อเพื่อสนับสนุนกฎหมายกว่า 10,000 รายชื่อให้ทันภายในสิ้นปี 2566 นี้ คิดว่าอะไรทำให้สังคมพูดถึงเรื่อง รัฐสวัสดิการและบำนาญถ้วนหน้ากันมากขึ้นแล้วในตอนนี้ เราเป็นสังคมสูงวัยแล้ว และในปี 2572 คาดว่าจะมีผู้สูงอายุประมาณ 20 ล้านคน ตอนนี้อยู่ที่ 12 ล้านคน แต่เบี้ยยังชีพ ยังเป็นปัญหามาก เรามีความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลประชาชน รัฐบาลใช้งบประมาณกว่า ร้อยละ14 เพื่อจัดสวัสดิการดูแล ผู้คนในสังคมกว่า 66 ล้านคน เมื่อเทียบกับ ข้าราชการและครอบครัวที่มีราว 5 ล้านคนใช้งบประมาณร้อยละ 15.3 งบตรงนี้เมื่อรวมกับ รายจ่ายบุคลากรของกลุ่มข้าราชการอีกเป็น ร้อยละ 40 ของบประมาณเลยแล้วยังเพิ่มอยู่อย่างต่อเนื่อง เราคิดว่า ไม่ใช่ปัญหาว่ามีงบไม่พอแต่เป็นเรื่องที่ไม่บาลานซ์ เป็นปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณของประเทศเรา ยืนยันว่าเรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริงในบ้านของเรา คือทุกวงสนทนาที่เราจัดมา ถามถึงความเป็นไปได้หมด และมีคำตอบที่เหมือนกันอยู่กันอย่างหนึ่งคือ การที่จะมีสวัสดิการนี้ได้ต้องเริ่มเจตจำนงที่รัฐอยากจะทำก่อน รัฐต้องมีไมด์เซ็ตที่ดีว่า สวัสดิการจะเข้ามาช่วยสร้างเศรษฐกิจได้ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แต่ถ้ารัฐไม่มีเจตจำนงจะทำ ก็จะไม่เกิดสักที อย่างเรื่องหลักประกันสุขภาพ เราเริ่มต้นจากหัวละ1,200 บาท ตอนนี้ขยับมาที่ 4,000 ต่อหัว มันค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปได้ งบประมาณเป็นเรื่องที่จัดการได้ รีดส่วนที่ไม่จำเป็นออก เพิ่มการจัดเก็บภาษีในรูปแบบใหม่หรือในรูปแบบเก่าที่มีอยู่แต่ว่ายังไม่มีประสิทธิภาพก็ปรับปรุง งบประมาณที่จะนำมาจัดสวัสดิการมาได้จากหลายแบบ ทั้งปฏิรูปสิทธิประโยชน์ BOI เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ลดงบกลาง ลดโครงการที่ไม่จำเป็น เหล่านี้จะทำให้มีเงินเข้ามาจัดสวัสดิการได้ถึง 650,000 ล้านบาท ความเป็นไปได้มีอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่า รัฐต้องตั้งต้นแล้วต้องทำ หากรัฐไม่มีเจตจำนง ไม่กล้าทำ ก็ไม่เกิด ประชาชนเราเลยต้องไปตั้งต้น ที่ระบบโครงสร้างทางการเมืองว่าเราจะตัดสินใจให้ใครขึ้นมาบริหาร เราจะทำยังไงที่จะทำให้รัฐไม่โกหก คนที่เป็นรัฐบาลขึ้นไปแล้วจะไม่สับขาหลอกก็เป็นหน้าที่ประชาชนที่จะต้อง ตรวจสอบ ถ่วงดุล และเรียกร้อง คือภาคประชาชนเองการได้มาของสวัสดิการประชาชนไม่เคยได้มาด้วยตัวรัฐเองเลย ถ้าดูประวัติศาสตร์เกิดจากการเรียกร้องของประชาชนเอง อย่างเราเองก็ลุกขึ้นมาขับเคลื่อน ข้อมูลล่าสุดเป็นผลการศึกษาของนักวิชาการหลายท่าน ในคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาบอกว่า การจัดให้มีบำนาญถ้วนหน้า จะทำให้ GDP โตไปถึง 4 % ข้อมูลนี้มาจากไหน ใช่ เป็นการศึกษาโดยการใช้ตัวคูณทางการเงิน การคลัง ว่าถ้าทดลองจ่ายเงินบำนาญ ในจำนวนเท่านี้ๆ กี่คนจะส่งผลต่อ GDP แบบไหน อย่างไร ซึ่งเป็นวิธีวิจัย วิธีศึกษาของเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปอยู่แล้ว ในงานวิจัย เราให้โจทย์นักวิจัยว่า ถ้าเรามีเป้าหมายที่จะจ่ายบำนาญให้ผู้สูงอายุทุกคน คนละ 3,000 บาท จะส่งผลกระทบอะไรในเชิงเศรษฐกิจบ้าง และเราได้เห็นจากงานวิจัยว่า ถ้าให้แบบถ้วนหน้า ไม่เลือกว่าจะให้ใครจะใช้งบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท พอคำนวณแล้วพบว่าจ่ายปีแรกยังไม่ส่งผลต่อ GDP ชัดเจน ปีที่ 2 – 3 เริ่มเห็น หลังจ่ายไปปีที่ 5 เห็นผลชัดเจนที่สุด เปรียบเหมือนเราโยนหินลงไปในน้ำก็จะเกิดแรงสั่นสะเทือนเป็นวงกระเพื่อม ถ้าเราโยนลงไปทุกปี มันจะมีแรงกระเพื่อมตลอดจนเมื่อจ่ายถึงปี 9 จะมี GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 4% แล้วประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการแล้วมีสถานการณ์ที่ดีหรือเสียอย่างไรไหม จากงานวิจัยที่มีออกมา มีข้อดีเยอะพอสมควร เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ ประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศด้วย อย่างประเทศในสแกนดิเนเวียเกิดขึ้นในตอนที่เขาประเทศมีวิกฤตทั้งนั้น คือประเทศไม่ได้รวย มีวิกฤต แต่รัฐบาลก็มองว่า การที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตอยู่ได้ รัฐต้องเข้าไปสนับสนุนบางอย่างเข้าไป มันเลยเกิดเป็นวิธีคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ แล้วการเป็นประเทศประชาธิปไตยที่การทุจริตน้อยมากๆ ประชาชนเขาก็ไว้วางใจเชื่อมั่น ว่าจ่ายแล้วรัฐบาลของประเทศเขานำไปจัดสวัสดิการจริงๆ ข้อดีที่แน่นอนอีกอย่างคือ การจัดสวัสดิการเหล่านี้จะช่วยทำให้ คนไม่ต้องไปกังวลต่อปัจจัยพื้นฐาน เขาจะออกแบบชีวิตได้ เขารู้ว่าอยากจะเรียนอะไร โดยไม่สนใจว่ามีรายได้ เท่าไหร่ เราจึงได้เห็นว่ามีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมากในประเทศเหล่านี้ เช่น ฟินแลนด์ ประเทศเหล่านี้สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพดี เพราะว่ามีสวัสดิการจริงๆ บำนาญถ้วนหน้ายังส่งผลลดความยากจนจากรุ่นสู่รุ่นข้อนี้คือแน่นอนมาก คือคนสูงอายุไม่ต้องกังวลว่า 60 ไปแล้วจะอยู่อย่างไร คุณจะได้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้แน่ๆ ข้อเสียก็มี ที่ประเทศญี่ปุ่นพอจำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วคนทำงานน้อยลงกองทุนเขาก็มีปัญหามีการเสนอว่าจะลดการจ่ายบำนาญลงเพื่อที่จะทำให้กองทุนมีเสถียรภาพแต่เรามองว่า เป็นปัญหาที่เป็นโจทย์ในการทำงานออกแบบมากกว่า เป็นปัญหาที่วัดฝีมือของรัฐบาล กลับมาที่บ้านเราที่ยังไม่เริ่มทำสักที ที่อื่นเขาเริ่มทำไปกันเรื่อยๆ เจอวิธีการ เจอปัญหาก็แก้ไข เรียนรู้และพัฒนาให้ดีขึ้นแต่ของบ้านเราสวัสดิการต่างๆ ยังจ่ายแบบเบี้ยหัวแตก ไม่แน่นอน มีคนตกหล่น แล้วไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ลดความยากจนของประชาชนลงได้ สิ่งที่อยากฝาก เราทำหลายทาง ทั้งจัดเวทีสาธารณะ นำเสนองานวิชาการ เข้าไปผลักดันกับคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม รัฐสภา ที่มีการตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อทำข้อเสนอเรื่องนี้ เราสร้างกระแสสังคมให้ประชาชนร่วมกันลงรายชื่อเพื่อสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ เราพูดซ้ำๆ เพื่อให้คนเข้าใจมากขึ้นว่า เป็นสิทธิของประชาชนไม่ต้องไปกังวลแทนรัฐ หนึ่ง ทุกคนต้องยึดหลักการ ยึดมั่นว่าภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 60 ที่มองว่าไม่ดีเลยแต่ก็ยังกำหนดว่าประชาชนควรจะมีสิทธิขั้นพื้นฐานเรื่องอะไรบ้างซึ่งยังเป็นการเลือกจ่าย เราจึงต้องช่วยกันยืนยันหลักการทำให้เป็นสวัสดิการของประชาชนครอบคลุมถ้วนหน้า สอง ระหว่างทางที่ผลักดันเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ เรายืนยันที่จะเสนอกฎหมายประชาชนเรื่องบำนาญถ้วนหน้า ดังนั้นฝากให้ทุกคนที่เชื่อมั่นในหลักการนี้ร่วมกันลงชื่อได้ที่ ‘เพจบำนาญแห่งชาติ ’ ซึ่งมีรายละเอียดบอกไว้ทุกอย่าง เรามีความหวังว่าจะรวบรวมให้ได้ 10,000 รายชื่อเพื่อยื่นต่อรัฐสภาภายในสิ้นปีนี้ ร่วมลงลายมือเสนอ ร่าง พรบ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติฯ ได้ที่เพจ บำนาญแห่งชาติ https://www.facebook.com/pension4all
นับถอยหลัง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2566 นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่ภาครัฐจะเตรียมแผนรับมือสู้กับภัยมลพิษทางการอากาศจากฝุ่น ควันหนา ในช่วง มกราคม - พฤกษภาคม ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักชนิดที่ในปีที่แล้วประชาชนต้องอพยพ ไม่สามารถอยู่ได้ ผลสำรวข้อมูลจาก HDC service กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,648,243 คน พบว่ามลพิษทางอากาศในภาคเหนือทำให้ประชาชนเจ็บป่วยด้วย 5 โรค ได้แก่ โรคผิวหนัง จำนวน 721,613 ราย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 499,259 ราย โรคตาอักเสบ 445,755 ราย อาการหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน 398,229 ราย และ หลอดเลือดสมอง 294,256 ราย ยังไม่กล่าวถึงความเจ็บป่วยของโรคดังกล่าวเมื่อเกิดในกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้มีโรคประจำตัว เด็ก และผู้สูงอายุ ทำให้การกล่าวว่า ประชาชนภาคเหนือเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ...ไม่เกินความจริง วิทยา ครองทรัพย์ เดิมเป็นกรรมการหอการค้าไทยจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยบทบาทที่ได้ประชุม พูดคุย หารือกับหลายฝ่ายทำให้ได้รับรู้และตระหนักถึงปัญหาฝุ่นควัน มลพิษทางอากาศในภาคเหนือมากขึ้นๆ จนทำให้เขาขยับบทบาทของตนเอง เป็นผู้ประสานงานสภาลมหายใจภาคเหนือทำงานเพื่อสื่อสารถึงรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องว่า ‘ถ้ารัฐบาลทำจริง ปัญหานี้หมดไปแน่นอน’ และ อากาศสะอาดเป็นสิทธิของประชาชน ที่มาของการเริ่มทำงาน เริ่มอย่างไร ผมเป็นกรรมการสภาหอการค้าไทย จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2548- 2549 พอได้ประชุมกับหลายฝ่าย เรายิ่งเห็นปัญหาและแนวการแก้ไขปัญหามาตลอดแต่สถานการณ์กี่ปีๆ เราก็วนอยู่ที่เดิม จึงเริ่มเกิดการรวมตัวกันของภาคเอกชนเป็น สภาลมหายใจภาคเหนือ ติดตามปัญหาสะท้อนปัญหาให้ข้อเสนอกับสังคมให้สังคมรู้ว่า ปัญหามีทางออกถ้ารัฐบาลทำจริง ตั้งแต่ปี 2557 ผมเคยรวบรวมรายชื่อแล้วไปยื่นผ่าน เว็บไซต์ Change.com กว่า 15,000 รายชื่อยื่นให้นายกรัฐมนตรีว่าจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไรแต่ไม่เคยได้นำไปใช้เลย ปัญหา คืออะไรบ้าง ขอแยกเป็น 2 เรื่อง คือปัญหามลพิษฝุ่นควันกับการจัดการของภาครัฐ เรื่องมลพิษแน่นอนว่าอันตรายกับสุขภาพของเรามาก คนที่เป็นไซนัสอยู่แล้วไอออกมาเป็นเลือด พ่อแม่ของเพื่อนผมบางคนแก่มากแล้วเสียชีวิตเพราะฝุ่นควันเลย แล้วเมื่อวิกฤตประชาชนมีความพร้อมที่จะรับมือได้ไม่เหมือนกันหลายบ้านไม่มีเครื่องฟอกอากาศนี่คือเรื่องสุขภาพ ปัญหามลพิษในภาคเหนือกระทบทุกส่วนภาคธุรกิจการท่องเที่ยว มุมที่สอง คือการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐ ต้นปีมีการสร้างภาพจัดขบวนจัดฉีดน้ำทำให้ประชาชนก็รู้สึกดีใจ แต่พอถึงเวลาจริงๆ ทุกปี วิกฤตทุกครั้ง เราคนภาคเหนือต้องใส่หน้ากาก 3 M หน้ากากอย่างดีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ทางการแพทย์บอกว่า ต้องสวมไม่เกิน 15 นาทีแต่เราต้องใส่กันตลอดเพราะฝุ่นเข้าไปทุกที่ ซึ่งรัฐมีแผนรองรับฉุกเฉินปัญหาด้านสุขภาวะที่จะแจกหน้ากากอย่างดีให้ประชาชนแต่มีกว่า 20,000 ชิ้นทั้งที่ประชากรเชียงใหม่มีแสนกว่าคนแผนงานที่ทำออกมาจึงแก้ไขรองรับปัญหาไม่ได้จริง และในรัฐบาลล่าสุดเรายังได้เห็นท่าทีของรัฐบาลว่า ยังสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ผลิตแบบสันดาปอยู่ทั้งที่เราควรยกระดับเป็นรถไฟฟ้าและยกระดับมาตรฐานน้ำมันแล้วในเมื่อสภาพอากาศเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนมากขนาดนี้ จึงเกิดการทำงานของ สภาลมหายใจภาคเหนือ เริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อไหร่ ในปี 2557 ผมทำงานรณรงค์เรียกร้องให้ยกระดับการแก้ไขปัญหาฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติ ผ่าน Change .com แต่ตอนนั้นยังไม่มีการตั้งกลุ่มอะไรแต่เรานั่งพูดคุยกันมาต่อเนื่องมีทั้ง นักธุรกิจ นักวิชาการ ถึงจุดหนึ่งการคุยเราก็ตกลงกันว่า เราอยากรวมกลุ่มกันสะท้อนปัญหาและทางออกจากในพื้นที่เป็นเหมือนหอกระจายเสียง ผมเป็นกรรมการหอการค้าเชียงใหม่พยายามนำเรื่องนี้เข้าไปคุยในคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนทั้งระดับจังหวัดและระดับภาคเหนือในปี 2562 จึงรวมตัวกันเป็นสภาลมหายใจเชียงใหม่ แต่เราก็คิดว่าจังหวัดเชียงใหม่ที่เดียวจะไม่พอมีคณะกรรมการระดับจังหวัดไม่พอต้องรวมกันหลายๆ จังหวัด จึงรวมเป็นสภาลมหายใจภาคเหนือ การทำงานมุ่งพยายามผลักดันให้เกิดนโยบายจากรัฐบาลเป็นหลัก สสส. เห็นความสำคัญเรื่องนี้ได้ให้งบประมาณสนับสนุนการทำงานพื้นที่เชียงใหม่ คือ สภาลมหายใจเชียงใหม่และสภาลมหายใจภาคเหนือ การทำงานเรามีความยึดโยงกันมีการประชุมร่วมกันเพื่อเป็นมติร่วมจากจังหวัดภาคเหนือทั้งหมดเพราะเราเชื่อว่า คนภาคเหนือทุกคนรับรู้ว่านี่คือความทุกข์ร่วมของเราทุกคน พอรวมตัวกันทำงานมาจากหลายฝ่ายแล้วเป็นประโยชน์ อย่างไร ประโยชน์มากๆ จากการรวมกันเป็นสภาลมหายใจภาคเหนือคือ เรามีการติดตามร่วมกันแลกเปลี่ยน แชร์ข้อมูลและมีผู้ที่มีความรู้จากหลายฝ่าย ทั้งภูมิศาสตร์ ด้านการแพทย์ การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เราได้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลังไป 10 กว่าปี จนพบว่ามีพื้นที่เผาซ้ำซากกว่า 2 ล้านไร่ในพื้นที่นับ 10 อุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหามลพิษฝุ่นควัน คนที่เขามีความรู้ความสามารถเมื่อได้วิเคราะห์ปัญหาและนำเรื่องออกมาสู่สังคม ประชาชนก็ได้รับรู้ข้อมูลมากขึ้น พอภาครัฐเห็นว่าเราเองก็มีข้อมูลเยอะจากตัวจริงเขาก็เริ่มปรับตัว ข้าราชการเขาก็เริ่มประสาน ช่วยกันคิดช่วยกันทำกับเรามากขึ้นจนกลายเป็นแผนแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผมได้ยื่นให้กับนายกรัฐมนตรี การแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดภาคเหนือ อะไรคือปัญหาหลักๆ ในตอนนี้ ยังไม่มีคณะกรรมการกลไกระดับชาติ ตอนนี้กลไกต่างๆ ทำงานแบบแก้ไขไม่ได้แล้วยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ทำให้ต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่ คือ กฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยซึ่งจะใช้ได้เมื่อเกิดภัยจริงๆ เท่านั้น แต่ถึงเมื่อวิกฤตก็ไม่อาจรับมือได้อย่างการเผาช่วงวิกฤตในภาคเหนือมีเป็นหมื่นจุด จุดหนึ่ง เจ้าหน้าที่นับ10 คน นั่งรถขึ้นไป บางจุดเป็นเขาเป็นหน้าผา ถ้าจะทำจริงๆ ต้องใช้เจ้าหน้าที่เป็นแสนคนแต่เจ้าหน้าที่จริงๆ มีเพียงหลักพันคน นี่คือเรามีกลไกทรัพยากรไม่เพียงพอ การประกาศเป็นวาระแห่งชาติในปี 2562 ก็ไม่ประสบความสำเร็จเลยเพราะยังทำอะไรไม่ได้ ความจริงจังของรัฐบาลดูได้จากการที่ปัจจุบัน พ.ร.บ. อากาศสะอาดยังถูกปัดตกมา 4 ครั้ง ทั้งที่หลายฝ่ายเห็นสอดคล้องกันมานานแล้วต่างคาดหวังว่าเราจะมีกฎหมายอากาศสะอาดออกมาได้ในวันหนึ่ง คนที่ยื่นมีทั้งฉบับจากพรรคการเมือง นักการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาชน แต่สุดท้ายรัฐบาลปัดตกโดยให้เหตุผลว่ากังวลจะเป็นภาระทางงบประมาณ ทำให้มีการยื่นข้อเสนอกับรัฐบาลแล้วในเรื่องอะไรบ้าง เรายื่นข้อเสนอให้นายกเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 16 ก.ย. เรื่องยุทธศาสตร์แก้ปัญหาวิกฤติมลพิษอากาศภาคเหนือระยะเฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาปัญหาวิกฤตฝุ่นควันภาคเหนือให้ทันต้นปี 2567 โดยเป็นตัวแทนของหอการค้า 17 จังหวัด และประชาชนทุกกลุ่มเสนอให้รัฐบาลมีการสั่งการเพื่อบริหารพื้นที่อุทยานที่มีการเผาซ้ำซาก 10 แห่ง รวมถึงฝุ่นควันข้ามพรมแดน เรามีข้อเสนอ 5 ข้อ คือ 1. ให้มีแผนการบริหารการเผาทั้ง 10 แปลงใหญ่ให้มีการมอบหมายและแต่งตั้งผู้รับผิดชอบคณะทำงานที่ชัดเจน 2. ยกระดับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้เป็นการสื่อสารภัยพิบัติระดับเดียวกับกรณีน้ำท่วมสถานการณ์โควิด 3. แก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะของกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้พื้นที่รุนแรงได้รับความช่วยเหลือได้ทันทีและเพื่อมีการกำกับ ป้องกันได้อย่างใกล้ชิด 4. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาขาดเจ้าภาพในการดูแลพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 5. รัฐบาลต้องเร่งรัดแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนต้องมีมาตรฐานการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อควบคุมผู้เพาะปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน ช่วยเล่าถึงการฟ้องคดีที่ศาลปกครองเรียกว่าเป็น คดี PM2.5 และมีคำพิพากษาออกมาแล้ว คดีนี้มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ สภาลมหายใจภาคเหนือ สภาลมหายใจเชียงใหม่และประชาชน เราร่วมกันฟ้องคดีโดยฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้เร่งรัดการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มีความล่าช้ากว่าแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ คือ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ปี 2562 และไม่อาจลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) หรือเรียกว่า PRTR ภายใน 60 วันนับแต่คดีถึงที่สุดซึ่งไม่ใช่คดีแรกที่ภาคประชาชนฟ้องต่อศาลเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศนี้ แต่ใน 2 ปีนี้ ประชาชนฟ้องคดีเรื่องฝุ่น PM2.5 ไปแล้วกว่า 5 คดี ผู้ที่ฟ้องมีทั้งชาวบ้าน ทนายความที่เขาเป็นคนชาติพันธุ์ฟ้องโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีซึ่งเราก็ต้องติดตามการทำหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ต่อไป สิ่งที่อยากฝาก ผมเชื่อมั่นว่า ปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือ “ถ้ารัฐบาลทำจริง ปัญหานี้หมดไปแน่นอน ” เราเปรียบเทียบกับกรณีเกิดโควิด รัฐบาลแทบจะไม่มีข้อมูลในมือว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรแต่เมื่อเอาจริงมีแผนมีการกำกับ ติดตามมีงบประมาณเราเอาอยู่ใน 2 ปี จนระดับโลกยังชื่นชมเรา ผมถึงบอกว่า เรามีศักยภาพ เราทำได้ ปัญหาฝุ่นควันเปรียบเหมือนข้อสอบเก่าแต่ทำไมเราทำไม่ผ่านทุกปี การแก้ไขปัญหาการเผาซ้ำซากในพื้นที่ 10 แปลงใหญ่ หากทำได้ฝุ่นควันจะลดวิกฤตลงถึงร้อยละ 60 – 70 และการทำงานต้องมีความเข้าใจพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่การทำมาหากินของชุมชนผมสื่อสารเรื่องนี้มากว่า 10 ปี รู้ว่าสังคมมีความตระหนักรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ทางออกจะมีอะไรได้บ้าง จึงฝากประชาชนช่วยกันติดตามเพื่อให้มีการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหานี้กันต่อไปเพื่อสิทธิพลเมืองในการมีอากาศที่ดีเป็นพื้นฐานคุณภาพชีวิตของเราจริงๆ
วันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีกลุ่มคดีสำคัญในรอบปี 2566 คือการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้เสียหายที่ซื้อคอนโดมิเนียมจากโครงการ ออลล์ อินสไปร์ กว่า 32 ราย โดยยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งและศาลพระนครเหนือในฐานผิดสัญญา เพื่อเรียกเงินคืนให้แก่ผู้เสียหายทุกคน หนึ่งในผู้เสียหายที่เดินทางไปฟ้องคดีด้วย คือ คุณกิตติพงศ์ สุชาติ ที่ตั้งใจซื้อคอนโคครั้งนี้เพื่ออยู่อาศัยสร้างครอบครัวเมื่อโครงการคอนโดเริ่มมีปัญหา คือการสร้างที่ไม่คืบหน้าทำให้ไม่สามารถเข้าพักอาศัยได้ตามสัญญาที่ทางโครงการระบุไว้เมื่อตอนโฆษณาขายและทำสัญญา ซึ่งเขาเข้าใจในคำอธิบายของบริษัทฯ ในชั้นต้นจึงยังคงให้โอกาสกับทางบริษัทเพราะสิ่งที่ต้องการคือคอนโด ไม่ได้ต้องการเงินคืน แต่สุดท้ายการไร้ความรับผิดชอบของบริษัททำให้เขาทนไม่ไหวต้องลุกขึ้นมาฟ้องคดีเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง คุณกิตติพงศ์เข้าซื้อคอนโด ตั้งแต่เมื่อไหร่ ผมซื้อคอนโดของบริษัทออล อิน สไปร์ ในโครงการ The Excel ลาซาล 17 ตอนที่ซื้อได้เข้าไปดูห้องตัวอย่าง เขามีให้ดูมีเซลล์แกลลอรี่แบบปกติเลย เขาพาไปชมโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ ตอนนั้นน่าจะเริ่มไปประมาณ 50 % แล้ว ผมก็ทำปรกตินะวางเงินดาวน์ แล้วก็จ่ายเป็นงวดๆ ตามสัญญาที่ให้ไว้ ช่วงที่ซื้อประมาณปลายปี 2563 เข้าไปดูโครงการแล้วจอง ต่อมาอีก 2 สัปดาห์ก็นัดทำสัญญากัน และผ่อนชำระงวดแรก ในสัญญาระบุว่าสิ้นเดือน ธ.ค. ปี 2564 เขาจะส่งมอบคอนโด ซึ่งระหว่างนี้ผมก็เข้าไปดูความคืบหน้าที่โครงการเรื่อยๆ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ต่อมาบริษัทก็ได้ส่งจดหมายมาขอเลื่อนการส่งมอบออกไปอีก ผมก็ยังไม่เอะใจอะไรทั้งที่ตอนนั้นผมก็เริ่มได้ยินว่ามีคนเริ่มไปขอเงินคืนกันแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้คืนเงิน ในเนื้อความจดหมาย บริษัทแจ้งอ้างเหตุอะไรจึงขอเลื่อน บริษัทเกิดปัญหาจากโควิดทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักและดำเนินการล่าช้า บริษัทจึงขอเลื่อนการก่อสร้างออกไปก่อนแล้วเดี๋ยวจะมีการแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ประมาณ ต.ค. พ.ย. ก่อนครบสัญญา เขามาแจ้งก่อน ตอนนั้นคนที่ซื้อคอนโด คนอื่นๆ ก็น่าจะได้จดหมายด้วยเช่นกัน แล้วเริ่มแก้ไขปัญหาอย่างไร ตอนนั้น บริษัทเขาก็มีการตั้งเจ้าหน้าที่มาคนหนึ่งคอยประสานกับคนที่ซื้อคอนโด เขาโทรมาหาผมว่าจะสร้างต่อนะจะรอไหม ถ้าไม่รอจะคืนเงิน แต่จะคืนเงินให้เป็นงวดๆ ผมเลยถามว่าจะใช้เวลาสร้างต่อถึงเมื่อไหร่ เขาบอกว่าจะสร้างต่อถึงประมาณตุลาคม 2565 ผมเลยบอกว่า ผมรอ แต่ถ้าสร้างไม่เสร็จ ผมขอเอาเงินคืนแล้วกัน ตอนนั้นในกลุ่มผู้เสียหายก็มีการรวมตัวกันในกลุ่มไลน์แล้ว เฉพาะ โครงการ The Excel ลาซาล 17 ก็มีอยู่ 100 กว่าคนแล้ว ผมก็อยู่ในกลุ่มด้วยตอนบางคนเริ่มมีคนไปออกข่าว ส่วนผมผมกลัวว่าเขาจ่ายเงินคืนเป็นงวดๆ 6 งวด แล้วถ้าจ่ายแล้วหายไป เขาบ่ายเบี่ยงอีก ประกอบกับเขาให้ความมั่นใจด้วยว่าเขาจะสร้างต่อ แล้วจริงๆ ผมอยากได้คอนโดด้วยผมเลยรอ แต่พอถึงช่วง ต.ค. ก็เริ่มวุ่นวายขึ้นอีก ผมเลยบอกว่า งั้นผมขอเงินคืนแล้วกัน แต่ตัวแทนของบริษัทยังยืนยันจะจ่ายคืนเป็นงวดๆ ผมก็บอกว่าผมไม่สะดวก เพราะว่าผมขอเป็นงวดเดียวเลยก้อนเดียวเลย เพราะว่าผมจ่ายไปหมดแล้ว เขาเลยบ่ายเบี่ยงไปเรื่อยๆ จนผู้เสียหายๆ หลายๆ คนรวมถึงผมด้วยไม่ไหวแล้ว ผมเลยมาขอความช่วยเหลือให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยประสานทำเรื่องให้แต่หลังจากนั้นก็ติดต่อบริษัทไม่ได้อีกเลย ซึ่งก่อนหน้านี้ มีผู้เสียหายผู้หญิง 2 คน เคยมาที่มูลนิธิแล้ว เขาเคยบอกแล้วว่า เคยไปที่บริษัทมาแล้ว แต่บริษัทเขาปิดไม่ให้เข้าแล้วต่อเราจึงได้รู้ว่าเขาย้ายที่อยู่บริษัทไปแล้ว แล้วจุดที่คิดว่าไม่ไหวแล้วและตัดสินใจฟ้องคดี คืออะไร ผมมาทราบข่าวอีกครั้ง เมื่อเดือน ก.พ. 66 ว่าบริษัทได้ขายโครงการให้อีกบริษัทหนึ่งไปแล้วซึ่งบริษัทนี้ก็เอาโครงการมาดำเนินการก่อสร้างต่อแล้วก็ขายต่อแล้ว บริษัทที่ผมทำสัญญาด้วยได้เงินกว่า 500 ล้านจากโครงการที่ขายไป แต่เขาไม่ได้ติดต่อเอาเงินมาจ่ายลูกบ้านที่มีปัญหากันอยู่เลย แล้วบริษัทก็ติดต่อไม่ได้ แล้วล่าสุดบริษัทก็แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่าขอย้ายที่อยู่ไปแล้ว แล้วพอตอนที่ติดต่อมาว่าจะคืนเงินให้ผมยังถามว่าแล้วจะให้ผมจะไปเซ็นต์สัญญาที่ไหนซึ่งผมยืนยันว่าขอเงินคืนในงวดเดียว เจ้าหน้าที่ของเขาก็บอกว่า เดี๋ยวจะนัดหมาย วัน เวลา สถานที่ให้เข้าไปทำเรื่องและขอไปปรึกษา บัญชีก่อน แล้วก็เงียบหาย แต่ผมไม่รอแล้ว แล้วการที่บริษัทเอาโครงการไปขายต่อ ทั้งที่ยังมีปัญหากับลูกบ้าน ทำได้ด้วยหรือ ผมคิดว่าการซื้อขายคงทำหนังสือกันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเขาดำเนินการซื้อกัน โดยผมเชื่อว่าบริษัทที่เข้ามาซื้อก็รู้ว่าคอนโดโครงการนี้ยังมีปัญหาอยู่ แต่เป็นทางบริษัท ทางออลล์ อินสไปร์เองที่จะต้องไปเคลียร์กับลูกบ้าน แต่เขา (บริษัทใหม่) รู้ว่ามีลูกบ้านที่ติดอยู่สถานการณ์เป็นแบบนั้น ผมก็ยังงง มันเหมือนลูกบ้านอย่างเราก็มีสัญญายังผ่อนอยู่ แล้วอยู่ดีๆ เอาบ้านไปขายให้คนอื่น คนใหม่ก็มาซื้อด้วย ทั้งๆ ที่รู้นะ มันแปลกมากแล้วกระทบกับสิทธิของผู้บริโภคที่เข้าไปซื้อคอนโดแบบนี้มาก การยื่นฟ้องคดีที่ผ่านมา ผู้เสียหายทุกคน ฟ้องคดีไหม ไม่ทุกคน คือ ปีที่แล้วมีผู้เสียหายกลุ่มหนึ่งราว 20 คน เขาตั้งกลุ่มไลน์ขึ้นมา แล้วเขาจะมีความเคลื่อนไหว ไปออกข่าวร้องทุกข์คนที่เป็นแกนนำสัมภาษณ์ให้ข่าวบ่อยๆ แบบนั้นเจ้าหน้าที่ของบริษัทเขาติดต่อไปคืนเงินให้ก่อนใคร เขาก็ได้เงินคืน เขาแจ้งในไลน์กลุ่มว่าเขาได้เงินคืนแล้วในครั้งเดียวเลย แล้วเขาก็เลยขอออกจากกลุ่มไปหลักๆ กลุ่มนี้เท่าที่ผมคุย คือ ได้เงินคืนครบประมาณ 10 คน กับอีก 10 คน โดนสร้างเงื่อนไขให้ได้รับเงินคืนเป็นงวดๆ บางคนได้งวดเดียวแล้วไม่ได้อีกเลย หายเงียบหรือบางคนไม่ได้สักงวดเลยก็มี เลยมีทั้งคนที่ได้เงินคืนแล้ว แล้วคนที่สุดท้ายมาร่วมกันฟ้องคดี ในฐานะที่เป็นผู้บริโภค แล้วมาเจอผู้ประกอบการที่เป็นแบบนี้ อยากจะเปิดใจเรื่องอะไร ผมมองว่ามันเป็นการเอาเปรียบกัน คุณบริหารล้มเหลวเองให้ผลกระทบมาตกกับลูกค้ามันไม่ถูกต้อง แล้วมองว่าทรัพย์สินคุณก็ยังมีอยู่ ทำไมไม่คิดจะเอามาขายเพื่อชำระหนี้ ถ้ามองภาพรวมนะครับ แต่ถ้ามองในส่วนที่โครงการยิ่งน่าเกลียด ในเมื่อคุณขายโครงการได้เงินมาแล้ว ขายได้เกือบ 500 ล้าน แทนที่คุณจะเอาเงินมาเคลียร์ลูกบ้านก่อน น่าจะครอบคลุมได้หมดเลย ผมนั่งดีดตัวเลขกลมๆ ถ้าเขาขายห้องหมด ประมาณ 200 ล้าน ก็ยังเหลือๆ เขาควรเลือกจะคืนให้คนที่มีผลทางกฎหมายกับเขา ส่วนคนที่เขาไม่ทำอะไรเลย เขาเลือกที่จะเฉยๆ เขาไม่ได้สนใจที่จะคืนเงินเลย อยากบอกอะไรกับคนอื่นๆ ที่เขาอาจจะยังแบบว่า อย่าไปฟ้องเลยไหม คือมีอีกหลายคน ที่เขาไม่ทำอะไรเลย เสพข่าวอย่างเดียวหรือบางคนไปบ่นกับพนักงาน พนักงานเขาก็บอกได้แต่ว่า เขาทำอะไรไม่ได้หรอก เขาไม่มีเงินต้องให้คนที่เขามีอำนาจตัดสินใจมาคุยกับเรา เรามานั่งอ่านไลน์กลุ่มมันก็ไร้สาระ แล้วก็ไปว่าพนักงาน เขาก็ไม่เกี่ยว เขาทำตามหน้าที่ของเขา และยังมีลูกค้าต่างชาติอีก เขาพิมพ์ข้อความมาก็ไม่ค่อยมีคนสนใจแต่พนักงานเขาก็ทำอะไรไม่ได้มาก วันแรกที่ซื้อคอนโด ผมก็ได้ตรวจสอบดีแล้ว แล้วอีกอย่างหนึ่งโครงการก็ขึ้นมา ตั้ง 5 โครงการแล้ว โครงการที่ผมซื้อมันเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้วด้วยนะ ทุกอย่างมันไม่มีทิศทางว่าเขาจะเป็นแบบนี้ เรามั่นใจ ที่อื่นขึ้นตอม่อมาก็โดนแล้วแต่ของผมโครงสร้างมันเสร็จหมดแล้ว เหลือแต่งานออกแบบภายในเฉยๆ แล้วทราบอีกว่าเขาโกงเงินผู้รับเหมาด้วย ผู้รับเหมาเขาเลยหนี ไม่สร้างต่อแล้ว เราทำทุกทางแล้ว ไปกองปราบ ไปร้องกับ สรยุทธ โหนกระแส เราก็ติดต่อไปแล้ว เขาก็รับเรื่องไว้ เขาไม่ได้สนใจอยากจะเอามาตีแผ่ ผู้บริโภคบางคนยอมทิ้งเงินตัวเองเลย ไม่เอาแล้ว หลายๆ คนเริ่มนิ่ง เราก็บอกไปแล้วว่า ถ้านิ่งๆ จะไม่ได้เงินคืนนะ
เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หน่วยงานประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี สภาองค์กรของผู้บริโภค โดยสมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานีได้รายงานผลการเฝ้าระวังอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลินในตลาดชุมชน 19 ตลาด พื้นที่ 8 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยสรุปพบว่า จาก 100 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ พบอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลีน 13 ตัวอย่าง ทั้งในอาหารทะเล ผัก ผลไม้ อาหารแปรรูป เนื้อสัตว์และเครื่องในแปรรูป นี่คือปรากฏการณ์ที่ภาคประชาชนลุกขึ้นมาเฝ้าระวังความปลอดภัยในอาหารครั้งสำคัญ สิรินนา เพชรรัตน์ นายกสมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “ด้านความปลอดภัยด้านอาหาร เราจะไม่ปล่อยให้ผ่านหน้าเราไปได้ โดยไม่ทำอะไร” และ “ถ้าเราช่วยกันทุกฝ่าย ทั้งระบบจะทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ” จุดเริ่มต้นของการทำงานเพื่อคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ เราเริ่มทำงานมาตั้งแต่ปี 2544 ประเด็นหลักที่เราเริ่มทำงานตั้งแต่แรกคือ เรื่องความปลอดภัยในอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องสำอางต่างๆ เพราะเรารู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้ใกล้ตัวผู้บริโภคมากๆ ประเด็นแรกที่เราเฝ้าระวังคือ เรื่องถังน้ำดื่มปลอดภัยขนาด 20 ลิตร และช่วงปี 2544-2545 เราร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ 11 จังหวัดทำคาราวานรณรงค์สถานการณ์เครื่องสำอางไม่ปลอดภัย แล้วตัวเราก็เข้ามาทำงานในจังหวะนี้มาเป็นอาสาสมัครก่อน แล้วก็ทำมาต่อเนื่อง เครือข่ายผู้บริโภคเราขับเคลื่อนร่วมกันมาตลอด ในประเด็น 8 ด้าน หลักๆ เราทำงานมีกรอบร่วมกันแบบนี้ มีเอกภาพ เพียงแต่ในพื้นที่อาจจะมีศักยภาพในการทำงานแต่ละเรื่องได้แตกต่างกันออกไป ถามถึงความสนใจจนถึงตอนนี้ เราเลยทำงานเพื่อผู้บริโภคมา 20 ปีแล้ว ปัญหาไม่ได้หมดไป แล้วมีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ หลากหลายมาก เช่น การใส่ฟอร์มาลินเข้าไปในอาหารมากขึ้น หลายชนิดที่เราคิดว่าจะไม่ได้เห็นเราก็ได้เห็น การเฝ้าระวังความปลอดภัยในอาหารครั้งล่าสุด ทำไมสนใจเรื่องฟอร์มาลิน เราสนใจเรื่องฟอร์มาลินเพราะเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน แล้วในบางพื้นที่สถานการณ์หนักขึ้นด้วย เช่นจะเห็นว่าบางจังหวัดเขาเฝ้าระวังโดยเฉพาะในร้านหมูกระทะเลย แต่การแก้ไขปัญหา เฝ้าระวัง คอยกำกับดูแล ถูกทำให้เป็นบทบาทของบางหน่วยงานเท่านั้น ขณะที่เรามีการกระจายอำนาจ มีหน่วยงานท้องถิ่นที่อยู่ในระดับท้องที่ที่สามารถทำเรื่องนี้ได้ เราก็ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการจัดการปัญหาให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราเลยสนใจสำรวจ เฝ้าระวังในพื้นที่ เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ คือตลาดนัดในชุมชน แล้วจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นพื้นที่ที่ติดทะเล เลยอยากรู้ว่าอาหารทะเลบ้านเรามีการปนเปื้อนฟอร์มาลินไหมนี่คือจุดเริ่มต้น การสำรวจ เฝ้าระวังมีแผนการทำงานอย่างไร พอเราพูดคุยกันว่า อยากจะเฝ้าระวังเรื่องนี้นะเราจึงเริ่มพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผน คือเราไม่ได้คิดว่า อยากตรวจก็ตรวจ เราเองก็ทำความเข้าใจต่อการปนเปื้อนฟอร์มาลินในอาหาร เราเข้าไปขอคำปรึกษา คำแนะนำ ขอความรู้จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานีให้ข้อมูลเราก่อนว่า จริงๆ แล้ว ฟอร์มาลินปัญหามันคืออะไร ปนเปื้อนในอาหารไปเพื่ออะไร ปกติเราเจอฟอร์มาลินที่ไหนบ้างเพราะมันมีปัจจัยหลายอย่างในการที่เราจะตรวจฟอร์มาลิน ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 ได้ส่งบุคลากรมาฝึกอบรมให้เราและเครือข่ายของเรา ในการใช้ชุดทดสอบการเก็บตัวอย่างมาช่วยดำเนินการตรวจตัวอย่างอาหารที่เก็บมาและทบทวนผลการตรวจ ทำให้เราพร้อมจริงๆ ที่จะตรวจเรื่องของอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินได้ ในกระบวนการทำงาน คนทำงาน เครือข่ายก็ได้รับการพัฒนาศักยภาพไปด้วย ใช่ เรามีการพัฒนาศักยภาพคนที่ลงไปเก็บตัวอย่าง ให้เขาเข้าใจเรื่องฟอร์มาลินก่อนว่าคืออะไร เพราะมีทั้งฟอร์มาลินตามธรรมชาติและเติมเข้าไปจนปนเปื้อนนะ แล้วการเก็บตัวอย่างต้องสังเกตอะไร แยกแยะกันอย่างไร เครือข่ายเราจะรู้ สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี ทำงานกับเครือข่ายมาโดยตลอด การเฝ้าระวังครั้งนี้เครือข่ายของเราใน 8 อำเภอเข้ามาช่วยกันทำคือ เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี อำเภอไชยา อำเภอเกาะสมุย อำเภอพุนพิน อำเภอวิภาวดี อำเภอตาขุน อำเภอชัยบุรีและกลุ่มเมล็ดพันธุ์บันเทิง จึงเก็บได้ประมาณ 100 ตัวอย่าง สมาคมฯ ไม่อาจจะทำเองได้ เราไปเก็บทุกอำเภอไม่ได้ ตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ เครือข่ายผู้บริโภคที่อยู่ในอำเภอต่างๆ เป็นกลไกที่จะช่วยสมาคมฯ ในการเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค ช่วงที่เกิดโควิด เครือข่ายเฝ้าระวังเรื่องของการจำหน่ายฟ้าทลายโจร ล่าสุดเราเฝ้าระวังเรื่องถังแก๊สหุงต้มที่หมดอายุ เราก็ทำด้วยกันเป็นเครือข่าย การทำงานกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี เป็นอย่างไร พอมีความร่วมมือกับหน่วยงาน เราคิดว่ามันดีมาก หนึ่งในแง่ของงานวิชาการที่ทำให้เข้าใจบริบทมากขึ้น เพราะฟอร์มาลินในธรรมชาติก็มี บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่เราใช้อยู่ก็มีทำให้เราเห็นประเด็นมากขึ้น สองการสนับสนุนงานเชิงวิชาการของเขาช่วยให้เรามั่นใจต่อการทดสอบตัวอย่างต่างๆ และการสนับสนุนในกระบวนการทดสอบ การเก็บตัวอย่าง ทำให้เราสามารถเก็บตัวอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่ออกมาก็ทำให้มั่นใจได้ว่า ไม่ได้กลั่นแกล้งกัน อย่างน้อยมีกระบวนการเก็บที่ถูกต้องใช้ชุดทดสอบที่ถูกต้อง เราก็คิดว่ามันเป็นการสร้างความมั่นใจให้ทั้งคนทำงานและข้อมูลที่เราได้ผลออกมา ผลการเฝ้าระวังอาหารครั้งนี้ บอกอะไรกับเราคนทำงานบ้าง ผลทดสอบออกมาบอกเลยว่า แม้ว่าเราจะอยู่ใกล้ทะเล แต่ไม่ได้หมายความว่า อาหารทะเลที่ขายในตลาดชุมชนของเราจะไม่มีฟอร์มาลิน แต่จริงๆ แล้วเรื่องความปลอดภัยในอาหารตลอดที่ทำงานมา เราก็พบว่ามันเป็นเรื่องที่มีอยู่มาตลอด แต่กระบวนการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคยังทำแยกส่วน แต่ครั้งนี้เรามีความตั้งใจให้เรื่องการเฝ้าระวังมีการมาบูรณาการกัน มาสร้างองค์ความรู้ที่เราต้องช่วยกันสร้างให้กับผู้บริโภค รับรู้และมีความเข้าใจ หลังจากนี้มีแผนการทำงาน ในระยะต่อไปอย่างไร ตอนนี้หลังจากเราได้รายงานผลการเฝ้าระวัง อาหารปนเปื้อนฟอร์มาลิน ผลการตรวจ 100 ตัวอย่าง พบอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลินกว่า 13 ตัวอย่าง ทั้งในอาหารทะเล ผัก ผลไม้ อาหารแปรรูป เนื้อสัตว์และเครื่องในแปรรูป หลังจากเราได้ข้อมูลมาแล้วเราก็ชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันและเราทำข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักๆ 3 หน่วยงานในพื้นที่ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ รพ.สต. เพราะเขามี อสม. ที่เป็นเครือข่ายทำงานเฝ้าระวังในพื้นที่ได้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เราคิดว่า 3 หน่วยงานหลักที่อยู่ในระดับพื้นที่เข้ามามีบทบาทในการจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ เราเชิญเขาเข้ามาแลกเปลี่ยนกับเราว่าที่ผ่านมา เขาทำงานอย่างไรและพอเราเจอแบบนี้ เราจะช่วยกันทำงานต่อไปอย่างไร และเรามีข้อเสนออยากให้เขากับเรามาทำงานด้วยกัน เป็นขั้นตอนต่อไป เราตรวจครั้งนี้เพื่อขอความร่วมมือกับเขาก่อน ให้รู้สถานการณ์ด้วยกันก่อนว่าตรวจแล้วยังเจอนะ มีนะ แล้วเราจะร่วมกันทำงานอย่างไร เราหวังผลการทำงานร่วมกันในระยะยาว แต่ถ้ายังไม่เกิดการทำอะไรที่เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค เราก็ตรวจซ้ำ และจะเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบ เพื่อให้ประชาชนได้เฝ้าระวังสุขภาพของตัวเองด้วยแต่คือต้องบอกว่าเรื่องนี้ เรามีกฎหมายที่กำกับดูแลพอสมควรเรามีหน่วยงานที่อยู่ในระดับพื้นที่ ท้องถิ่นก็ไม่น้อย หน่วยงานเหล่านี้อาจะต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการให้มากขึ้นบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น คือฟอร์มาลินไม่ได้กินแล้วตายคาปาก แต่ตามกฎหมายใส่ไม่ได้ มันไม่ควรมีในอาหาร เราคิดว่าถ้ามีการบังคับใช้เรื่องนี้อย่างจริงจัง ผู้ประกอบการจะกลัวเกรงเรื่องนี้มากขึ้น เพราะจากการตรวจ เราก็พบว่ามี 1 อำเภอที่ไม่เจอเลย อาสาสมัครเราก็บอกว่า เป็นเพราะเขามีการเฝ้าระวัง / ตรวจอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการเองจึงยังต้องระมัดระวังในการเอาของมาขาย วิธีการนี้ยังช่วยได้ นี่คือการบังคับใช้กฎหมาย ใช้มาตรการทางสังคม ในการที่จะช่วยกันทำให้เรื่องนี้หายไปหรือน้อยลง แต่สุดท้ายมาตรการที่สำคัญอย่างมากด้วย คือทำให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจเรื่องนี้เพื่อป้องกันตัวเองได้ เช่นการล้าง ทำความสะอาด เพราะเราไม่ได้ตรวจเจอแค่ในหมึกกรอบแต่มีในเล็บมือนาง สไบนาง ถั่วงอก ซึ่งหลายครั้งเราไม่ได้ปรุกให้สุก กินดิบๆ เลยก็มี มันยิ่งทำให้ร่างกายรับฟอร์มาลินเข้าไปมาก มองความเข้มแข็งของการทำงานในพื้นที่ว่ามี จุดอ่อน – จุดแข็งที่จะพัฒนาต่อไปอย่างไร ถ้าเรื่องความเข้มแข็งอย่างแรกเลย ในฐานะเราองค์กรที่ทำงานเพื่อคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค เรามีความแน่วแน่ มีจุดยืนในการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ด้านความปลอดภัยด้านอาหาร เราจะไม่ปล่อยให้ผ่านหน้าเราไปได้ โดยไม่ทำอะไร สองเราคิดว่าการทำงานเรื่องนี้ได้ เราต้องมีเครือข่าย ถ้าทำงานแบบไม่มีเครือข่ายเราไม่สามารถจะทำงานตรงนี้ได้เลย เราเก็บไม่ได้หมดแบบนี้ เราต้องยกความดี ขอบคุณเครือข่ายที่เราทำงานด้วยกัน สาม พอเราทำงานมาระดับหนึ่ง เราจะพบว่า งานวิชาการมีความสำคัญมาก ถ้าเรามีกลไกที่เป็นวิชาการมาช่วยเราทำงานได้จะช่วยให้งานเรามีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ส่วนหนึ่งเมื่อเราทำงาน แล้วเราเห็นองคาพยพในการทำงานว่ามีใครบ้าง แล้วเข้าไปชวนเขามาทำงานด้วยกัน พี่มองว่างานคุ้มครองผู้บริโภคจะได้รับการพัฒนา คิดว่าเป็นสี่ส่วนสำคัญที่จะช่วยการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่เข้มแข็ง ความท้าทายที่มองเห็นในการทำงานต่อไป คือเรื่องอะไรบ้าง เราเองก็ติดตามสถานการณ์ภาพรวมในประเทศตลอดว่ามีเรื่องอะไรบ้างแล้วเรากลับมามองในพื้นที่ว่ามีอะไรบ้างเช่นกัน อย่างเรื่องหมูกระทะ เราก็เอ๊ะนะ มีความน่าสนใจหลายเรื่องเป็นประเด็นความท้าทายในระดับชาติก็เป็นความท้าทายที่จะนำมาเฝ้าระวังในพื้นที่ด้วยทำเป็นโมเดลเล็กๆ พื้นที่เล็กๆ อาจจะต้องสอดคล้องกันไปด้วย ส่วนประเด็นในพื้นที่หลายเรื่องก็มีความเฉพาะได้แต่ต้องดูว่าผู้บริโภคมีปัญหาเรื่องนี้มากแค่ไหน เช่น ยาสมุนไพรที่ผลิตในพื้นที่หลายเรื่องมีความท้าทายที่จะเข้าไปจัดการอย่างเป็นระบบ สิ่งที่อยากฝาก เรื่องความปลอดภัยในอาหารเป็นเรื่องสำคัญมากและประเด็นงานคุ้มครองผู้บริโภคหลายเรื่องมากๆ ก็มีความท้าทาย ขณะที่หน่วยงานรัฐที่บทบาทในการกำกับดูแลไม่มีกำลังเพียงพอที่จะทำ อย่างเรื่องอาหารเรามีตลาดจำนวนมากเขาไม่สามารถทำได้จริง แต่การทำงานด้วยกันเฝ้าระวังด้วยกัน เราภาคประชาชนมีความพร้อมในการเฝ้าระวัง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ/ จังหวัด ท่านมีอำนาจอยู่ก็ใช้กฎหมายเข้าไปจัดการ ในบริบทของตัวเองหรือบางหน่วยงานมีความรู้ทางวิชาการเราก็มาช่วยกัน เรามีคน เขามีวิชาการเขามีกฎหมาย ถ้าเราช่วยกันทุกฝ่ายทั้งระบบจะทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น
ความคิดเห็น (0)