ฉบับที่ 224 รู้เท่าทันสมุนไพรฟิวชั่น

รู้เท่าทันสมุนไพรฟิวชั่น




        เดี๋ยวนี้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพกันทางสื่อต่างๆ อย่างมากมาย ผลิตภัณฑ์สุขภาพส่วนใหญ่ก็เป็นผลิตภัณฑ์หน้าเดิมๆ แต่นำมาปรับรูปโฉมใหม่ เพราะผลิตภัณฑ์สุขภาพก็มีอายุความนิยมสั้นเหมือนสินค้าทั่วไป จึงต้องนำมาปรับเปลี่ยนเพื่อให้ดูเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ จะได้เพิ่มยอดขายและขายต่อไปได้อีกระยะเวลาหนึ่ง ที่กำลังมาแรงมากคือ การนำสมุนไพรหลายๆ ตัวมาผสมรวมกัน หรือที่เราเรียกกันว่า ฟิวชั่น นั่นเอง มารู้เท่าทันสมุนไพรฟิวชั่นกันเถอะ
 
นึกว่ามีแต่อาหารฟิวชั่น 
        เมื่อพูดถึงการฟิวชั่น หลายคนจะคิดถึงอาหารฟิวชั่น บางคนคิดถึงการฟิวชั่นดนตรี การฟิวชั่นเป็นการนำสิ่งต่างๆ ที่ต่างวัฒนธรรม ต่างรูปแบบ มาหลอมรวมกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ รูปแบบการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้องการความแปลกใหม่ และความสร้างสรรค์ การฟิวชั่นจึงตอบสนองวิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดีและรวดเร็ว 
        ในสมัยก่อนเราก็มีการนำวัฒนธรรมอาหาร ดนตรี การแพทย์ของที่อื่น มาปรับใช้กับวิถีชีวิตคน แต่ก็ผ่านการเลือก รับ ปรับ ใช้ และประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย เช่นอาหารหลายอย่างของต่างประเทศก็ถูกปรับเปลี่ยนรูปร่าง รสชาติ ให้เข้ากับคนไทย การแพทย์ดั้งเดิมจากอินเดียที่ผ่านมาทางพระพุทธศาสนาก็ผสมผสานกับการแพทย์พื้นบ้านจนกลายเป็นการแพทย์แผนไทย


           
ตำรับยาไทยเป็นสมุนไพรฟิวชั่นหรือไม่              
        ความจริงแล้วตำรับยาสมุนไพรของไทยก็เป็นการฟิวชั่นสมุนไพรมานานหลายร้อยปี โดยใช้หลักการตั้งตำรับยาตามการแพทย์แผนไทย โดยเน้นเรื่องยาหลัก ยารอง รสของยา ตามสมุฏฐานการแพทย์แผนไทย สมุนไพรบางตัวที่เป็นสมุนไพรต่างประเทศ ก็มีการปรับเอาสมุนไพรภายในประเทศที่มีสรรพคุณเหมือนกันมาทดแทน และเมื่อนำมาใช้รักษาโรคกับคนไทย ก็เก็บประสบการณ์การใช้ ผลที่เกิดขึ้น นำมาปรับใช้ให้เหมาะกับธาตุสมุฏฐานของคนไทย เหมาะกับอุตุสมุฏฐานของประเทศไทย ซึ่งต้องใช้เวลานับชั่วอายุคน
 
สมุนไพรฟิวชั่นที่โฆษณาเป็นการเลือก รับ ปรับ ใช้สมุนไพรให้เหมาะกับสังคมไทยหรือไม่
        การนำสมุนไพรหลายๆ ตัวมาผสมกันเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ ที่มีการโฆษณาขายกันนั้น มีมากมายหลายชนิด เช่น นำสมุนไพรที่มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย ผสมกับสมุนไพรที่มีสรรพคุณต้านการเสื่อม ต้านการอักเสบ ต้านมะเร็ง เป็นต้น มาผสมรวมกัน โดยเชื่อว่า เนื่องจากมีสมุนไพรหลายตัว แต่ละตัวมีสรรพคุณต่างๆ นานา ดังนั้นเมื่อนำมารวมกัน จึงมีสรรพคุณแบบครอบจักรวาล รักษาได้เกือบทุกโรค เหมือนกับสมุนไพรที่พ่อค้าเร่ชอบอวดอ้างว่ากินก็ได้ ทาก็ได้ อาบได้ก็ดี 
        การผสมสมุนไพรหลายๆ ตัวเข้าด้วยกัน โดยเชื่อว่าจะได้มีสรรพคุณหลากหลาย เป็นความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ที่แยกส่วนสิ่งต่างๆ ออกจากกัน และเมื่อนำมารวมกันก็เป็นการรวมสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน รวมสรรพคุณต่างๆ ของสมุนไพร ที่จริงแล้วกล่าวได้ว่า เป็นความคิดแบบธุรกิจการขายสินค้ามากกว่า



 
การแพทย์อื่นๆ มีสมุนไพรฟิวชั่นหรือไม่ 
        การแพทย์ดั้งเดิมของจีน อินเดีย ต่างก็มีตำรับยาสมุนไพรจำนวนมาก แต่การฟิวชั่นใช้หลักทฤษฎีทางการแพทย์ดั้งเดิม ซึ่งยึดหลักร้อน เย็น รสของยา เป็นหลัก ไม่ใช่เอายาสมุนไพรแต่ละตัวมารวมกันตามสรรพคุณ 
        สรุป     สมุนไพรฟิวชั่นที่โฆษณากันทั่วไปนั้น เป็นการฟิวชั่นที่ไม่ได้ใช้องค์ความรู้การแพทย์ดั้งเดิม จึงไม่สามารถเชื่อได้ว่าจะมีสรรพคุณต่างๆ ตามโฆษณา

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค สมุนไพร ตำรับยาไทย

ฉบับที่ 252 รู้เท่าทันโรคขาดธรรมชาติ

        เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2021 มีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 (อังกฤษ: 2021 United Nations Climate Change Conference) หรือรู้จักในชื่อย่อว่า COP26  เป็นการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 จัดขึ้นที่กลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร  เป้าหมายสำคัญของการประชุมคือ การคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส         ปัจจุบัน ความรุนแรงของภัยธรรมชาติเกิดจากหายนะที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ใช่จากภัยธรรมชาติ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเพียงเล็กน้อยจะส่งผลทำให้เกิดหายนะอย่างรุนแรงไปทั่วโลก และมีผลทำให้ภูมิอากาศของแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงและไม่สามารถคาดเดาได้ พายุ น้ำท่วม ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง น้ำทะเลขึ้นสูง ไฟไหม้ป่า ต่างๆ เหล่านี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ  และมนุษยชาติส่วนใหญ่จะยังไม่ตระหนักถึงภัยร้ายจนกว่าจะจะสายเกินแก้ไข         ผลกระทบต่อสุขภาพของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น มีตั้งแต่ เรื่องความมั่นคงทางอาหาร น้ำดื่ม          ผู้สูงอายุ เด็ก สตรี ที่มีโรคเรื้อรัง และผู้ที่ต้องกินยาประจำบางชนิด จะเกิดความเสี่ยงสูงสุด โรคระบาดที่เกิดจากแมลงจะเพิ่มสูงขึ้น อาหารจะมีคุณค่าทางอาหารลดลง         อีกประเด็นหนึ่งที่ ธรรมชาติมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คน และเริ่มมีการกล่าวถึงมากขึ้นในปัจจุบัน คือ อาการของโรคขาดธรรมชาติ          โรคขาดธรรมชาติเกิดจากการที่วิถีชีวิตของคนในปัจจุบันเริ่มห่างไกลหรือสัมผัสธรรมชาติน้อยลง วิถีชีวิตที่อยู่ในเมือง รวมถึงการไม่มีเวลาหรือไม่ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ ทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้แก่ ความเหนื่อยล้า การไม่มีสมาธิ ประสาทสัมผัสต่างๆ ลดลง การขาดความสุขและคุณค่าของชีวิต         เมื่อไปพบแพทย์เพื่อหาโรคหรือความผิดปกติ ก็อาจไม่พบอะไรทางกายภาพที่ผิดปกติ การตรวจเลือด เอกซเรย์ก็ไม่พบความผิดปกติ หมอก็อาจจ่ายยาลดความเครียด ยาบำรุง ทำให้ต้องพึ่งยาแผนปัจจุบันมากขึ้น จนเมื่อไม่กินยาก็ไม่มีความสุข         อาการของโรคขาดธรรมชาติเป็นที่รู้จักกันครั้งแรกเมื่อ ริชาร์ด ลุฟว์ ได้เขียนหนังสือเรื่อง Last Child in the Wood ในปีพ.ศ. 25485 ทำให้ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยชื่อ เด็กคนสุดท้ายในป่า ในปีพ.ศ. 2563 ทำให้คนไทยเริ่มรู้จักคำว่า โรคขาดธรรมชาติ         ต่อมา นายแพทย์ยามาโมโตะ ทัดสึทาเกะ ชาวญี่ปุ่น ซึ่งทำการรักษาผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นที่มีอาการขาดธรรมชาติจำนวนมาก ได้เขียนหนังสือเรื่อง โรคขาดธรรมชาติ ปีพ.ศ. 2557 ซึ่งมูลนิธิเพื่อเด็กพิการร่วมกับสำนักพิมพ์โกมลคีมทอง แปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาไทย ในปีพ.ศ. 2564 เพื่อเผยแพร่ให้รู้จักโรคนี้และการเยียวยารักษา         ธรรมชาติที่ผิดปกติ ภาวะที่โลกร้อนขึ้น ส่งผลทางมหภาคต่อโลกใบนี้อย่างรุนแรง ในขณะเดียวกัน การขาดและห่างเหินขาดธรรมชาติที่แท้จริง ก็ส่งผลต่อมนุษย์ทั้งทางกายภาพและจิตใจ         สุขภาวะของมนุษย์ในปีพ.ศ. 2565 ที่มาถึง นอกจากการฟื้นฟูสภาวะทางจิตใจที่บอบช้ำจากการระบาดของโควิด-19 แล้ว ยังต้องให้ความสำคัญในการฟื้นฟูธรรมชาติรอบตัวเราอีกด้วย เราต้องฟื้นฟูการปลูกป่า การไม่ตัดไม้ใหญ่ที่มีอยู่ การสร้างสวนป่า สวนสาธารณะ และหาเวลาอยู่กับธรรมชาติให้มากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 250 รู้เท่าทันกินเนยถั่ว

กินเนยถั่ว (ลิสง) อันตรายต่อสุขภาพไหม        เนยถั่วลิสงเป็นอาหารยอดนิยมที่ผู้คนใช้ในการประกอบอาหารและของว่างหลายชนิด เป็นอาหารที่ไม่ควรมีคอเลสเตอรอลและเป็นตัวเลือกที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เต็มไปด้วยโปรตีนและไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เพราะเนยถั่วลิสงมีทั้งวิตามินและแร่ธาตุซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตามความที่มันเป็นอาหารที่มีรสมันจัดจึงน่าสงสัยว่าดีต่อสุขภาพจริงหรือ         เนยถั่วลิสงนั้นต่างจากเนยสำหรับทาขนมปัง (หรือ butter ที่ทำจากนมวัว) ตรงที่เนยถั่วลิสงมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบสูงเท่าที่ถั่วลิสงมี แต่เนยทาขนมปังนั้นเป็นไขมันเกือบทั้งหมด โดย 100 กรัม เนยถั่วลิสงมีโปรตีนประมาณ 25 กรัม ในขณะที่เนยทาขนมปังนั้น 100 กรัม มีโปรตีนไม่เกิน 1 กรัม         นอกจากนี้ไขมันในเนยถั่วลิสงยังเป็นไขมันไม่อิ่มตัวสูงหรือ PUFA ซึ่งไม่มีคอเลสเตอรอล ในขณะที่เนยทาขนมปังมีไขมันตามที่นมมีคือ มักเป็นไขมันอิ่มตัวแต่อาจมีไขมันไม่อิ่มตัวได้บ้างตามอาหารที่วัวกินว่า เป็นหญ้าหรือกากถั่วเหลือง กากข้าวโพด ที่สำคัญคือ เนยทาขนมปังมีคอเลสเตอรอลได้เพราะเป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ดังนั้นถ้าเนยถั่วลิสงยี่ห้อใดมีการเติม butter เพื่อให้รสชาติดีโอกาสพบคอเลสเตอรอลในระดับหนึ่งย่อมเป็นไปได้         สิ่งที่ควรคำนึงเมื่อกล่าวถึงกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงในเนยถั่วลิสงคือ สารอาหารนี้ถูกออกซิไดส์ให้เกิดความหืนได้ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จึงอาจจำเป็นต้องมีการเติมสารต้านออกซิเดชั่น (antioxidants) ให้มากพอเพื่อช่วยในการดำรงสภาพของกรดไขมันไม่อิ่มตัว แม้ว่าเนื้อถั่วลิสงเองก็มีสารต้านออกซิเดชั่นธรรมชาติหลายชนิดก็ตามแต่ก็อาจไม่พอ สารต้านออกซิเดชั่นสังเคราะห์นั้นมีหลายชนิดที่อุตสาหกรรมอาหารสามารถเลือกใช้ได้ตามต้องการ เช่น BHA นอกจากนี้เนยถั่วลิสงบางยี่ห้ออาจมีการแต่งสีเพื่อให้มีความสม่ำเสมอของผลิตภัณฑ์ในแต่ละครั้งของการผลิต พร้อมเติมไขมันอื่น ๆ เพื่อให้เนื้อเนยมีความเนียน และที่สำคัญคือ เนยถั่วลิสงอาจต้องมีการเติมสารกันเสียเพื่อกันราขึ้นด้วย         สิ่งที่ต้องแลกกับประโยชน์ของเนยถั่วลิสงคือ ความเสี่ยงในการรับสารพิษจากเชื้อราคือ aflatoxin  (B1, B2, G1 และ G2) ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วลิสงนั้นเป็นที่ยอมรับว่าปลอดจากสารพิษนี้ยาก จึงต้องพยายามคุมให้มีระดับไม่เกิน 20 ส่วนในพันล้านส่วน ซึ่งในทางพิษวิทยาถือว่า มีความเสี่ยงต่ำ         ก่อนซื้อเนยถั่วลิสงควรดูฉลากว่า มีการเติมองค์ประกอบอื่น เช่น น้ำตาลทราย และสารเจือปนต่าง ๆ หรือไม่ แล้วจึงถามตัวเองว่ายอมรับได้หรือไม่ถ้าเนยถั่วลิสงไม่ได้มีเฉพาะถั่วลิสงบดกับเกลือ ซึ่งถ้ารับไม่ได้ก็จำเป็นต้องเลือกเนยถั่วยี่ห้อที่แสดงฉลากว่า ไม่เติมสารเจือปนใด ๆ หรือทำกินเองเพราะทำได้ง่ายมาก         อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริโภคเนยถั่วลิสงคือ เนยถั่วลิสงนั้นอร่อยสุด ๆ การกินมากเกินไปย่อมทำให้อ้วนได้ สมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกา (The American Heart Association) แนะนำให้กินเนยถั่วลิสงได้วันละ 2 ช้อนโต๊ะ ซึ่งมีประมาณ 188 calories เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นวันไหนที่กินเนยชนิดนี้ก็ควรออกกำลังกายเพิ่มขึ้นสักหน่อยเพื่อความสบายใจของแพทย์

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 249 รู้เท่าทันเข็มขัดยืดกระดูกสันหลัง

        มีการโฆษณาขายเข็มขัดยืดกระดูกสันหลังแบบแขวนกับราวในเว็บไซต์จำนวนมาก ทั้งในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศไทย ระบุว่าเพื่อรักษาอาการปวดหลังโดยเฉพาะหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท ซึ่งโดยปกตินักกายภาพบำบัดจะทำการรักษาโดยการดึงหลังด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัด เรามารู้เท่าทันกันเถอะว่า เข็มขัดยืดกระดูกสันหลังนี้ดีจริงหรือไม่ เข็มขัดยืดกระดูกสันหลังแบบแขวนคืออะไร         มีการโฆษณาว่า เข็มขัดยืดกระดูกสันหลังและห้อยแขวนนี้ช่วยลดอาการปวดหลัง ช่วยทำให้ส่วนโค้งส่วนเว้าของกระดูกสันหลังกลับคืนสู่ปกติ ช่วยการคลายเส้นประสาทที่ถูกกดทับ รักษาโรคกระดูกสันหลังได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากกว่าการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ หลายเท่า เข็มขัดนี้รับน้ำหนักตัวได้มากกว่า 150 กก. จึงไม่มีปัญหาในผู้ที่อ้วน มีน้ำหนักตัวมาก ไม่เจ็บรักแร้ ไม่แน่นหน้าอก และใช้ได้กับทุกเพศ ทุกวัย         วิธีการใช้ก็ผูกรัดเข็มขัดรอบบริเวณทรวงอกให้กระชับ เข็มขัดจะมีสายยึดเหมือนห่วงสำหรับโยงกับราวแขวนข้างบน เมื่อห้อยกับราวข้างบนเรียบร้อยโดยให้เท้าทั้งสองข้างพ้นจากพื้น ก็ปล่อยให้น้ำหนักตัวถ่วงลงมา ส่วนบนของลำตัวที่มีเข็มขัดรัดไว้ก็จะห้อยแขวนกับราว ส่วนล่างของร่างกายใต้เข็มขัดลงมาก็จะถ่วงน้ำหนักทำให้กระดูกสันหลังส่วนเอวถูกถ่วงลงล่างด้วยน้ำหนักตัวส่วนล่าง ทำให้เกิดแรงดึงกระดูกสันหลังส่วนล่างเหมือนการดึงด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัด การดึงยืดกระดูกสันหลังเป็นวิธีการรักษามาตรฐานวิธีหนึ่งในการรักษาอาการของกระดูกสันหลัง         การดึงยืดกระดูกสันหลังเป็นวิธีการรักษามาตรฐานวิธีหนึ่งในการรักษาอาการปวดคอ ปวดหลังเรื้อรังโดยเฉพาะการเกิดการกดของรากประสาทสันหลัง การดึงยืดกระดูกสันหลังนั้น เชื่อว่า จะเป็นการคลายการกดรากประสาทและช่วยให้หมอนรองกระดูกสันหลังเกิดการเยียวยาการบาดเจ็บและซ่อมแซมตัวเองได้เร็วขึ้น ในการกายภาพบำบัดจึงใช้การถ่วงดึงด้วยแรงหรือน้ำหนักขนาดต่างๆ ขึ้นกับตำแหน่งของกระดูกสันหลัง         เมื่อมีอาการปวดหลังส่วนล่าง นักกายภาพบำบัดก็จะให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงและใช้เข็มขัดรัดรอบช่วงเอวและเชิงกรานและดึงด้วยแรงหรือถ่วงน้ำหนักไปทางปลายเท้า ดึงแล้วคลาย เป็นระยะ ประมาณ 20 นาที สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง         การยืดกระดูกสันหลังด้วยเข็มขัดแบบแขวน ก็เป็นการดึงยืดกระดูกสันหลังส่วนล่างด้วยน้ำหนักตัวส่วนล่างใต้เข็มขัด และเป็นการดึงยืดแบบถ่วงน้ำหนักตลอดเวลา ไม่เป็นการดึงแล้วคลาย ประสิทธิผลของเข็มขัดยืดกระดูกสันหลังแบบแขวน         พยายามค้นงานวิจัยในวารสารวิชาการต่างๆ ก็ยังไม่พบการตีพิมพ์ผลการศึกษา จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่า เข็มขัดยืดกระดูกสันหลังแบบแขวนนี้ได้ผลดีในการรักษาอาการปวดหลังเรื้อรัง หรือการกดทับรากประสาทสันหลังได้หรือไม่         เข็มขัดยืดกระดูกสันหลังแบบแขวนจัดเป็นเครื่องมือทางการแพทย์เพราะใช้ในการรักษา อย.คงต้องมาดูแลเรื่องการโฆษณาและความปลอดภัยในการใช้

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 248 รู้เท่าทันการหุงข้าวแบบลดน้ำตาลอย่างง่ายๆ

        ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลว่า ไม่สามารถลดน้ำตาลได้ร้อยละ 70 ตามโฆษณา ฉบับนี้เราจะบอกถึงวิธีหุงข้าวแบบธรรมดาที่สามารถลดน้ำตาลได้ง่ายๆ เพียงแค่เปลี่ยนวิธีหุงข้าว เรามารู้เท่าทันกันเถอะวิธีการหุงข้าวแบบธรรมดาที่สามารถลดน้ำตาลในข้าวได้        การหุงข้าวแบบที่ช่วยลดน้ำตาลนั้น มีงานวิจัยใน Pubmed ปี ค.ศ. 2015 ว่า ข้าวที่หุงสุกแล้ว เมื่อนำมาทำให้เย็นลง จะทำให้แป้งของข้าวเกิดการคืนตัว (retrogration) ทำให้เพิ่มปริมาณของแป้งและผลิตภัณฑ์ของแป้งที่ทนต่อการย่อยด้วยเอนไซม์หรือแป้งที่ให้พลังงานต่ำ (resistant starch) ซึ่งจะไม่สามารถถูกย่อยด้วยเอนไซม์และถูกดูดซึมในลำไส้เล็กของมนุษย์ แป้งที่ทนต่อการย่อยจึงเป็นเหมือนเส้นใยอาหาร สามารถผ่านเข้าไปถึงลำไส้ใหญ่และถูกย่อยโดยจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ ได้ผลิตภัณฑ์เป็นกรดไขมันสายสั้นๆ ที่เอื้อต่อการเจริญของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ ช่วยสร้างความแข็งแรงให้แก่เซลล์ผนังลำไส้ใหญ่  ผลจากการย่อยที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ทำให้ร่างกายได้รับปริมาณพลังงานในระดับต่ำกว่าปกติ หรือทำหน้าที่คล้ายกับใยอาหาร ซึ่งหากบริโภคเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน อ้วน หัวใจ และมะเร็ง เป็นต้น         งานวิจัยได้ศึกษา ข้าวขาวที่หุงสุกใหม่ๆ (ข้าวควบคุม) ข้าวขาวที่หุงสุกแล้วทิ้งให้เย็นในอุณหภูมิห้องเป็นเวลา 10 ชั่วโมง (ข้าวทดลอง I) และข้าวขาวที่หุงสุกแล้วแช่ตู้เย็นอุณหภูมิ 4 องศาเซนติเกรด เป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วนำมาอุ่นใหม่ (ข้าวทดลอง II)  ผลการศึกษาพบว่า แป้งที่ทนต่อการย่อยในข้าวควบคุม ข้าวทดลอง I และข้าวทดลอง II เป็น 0.64 กรัม/100 กรัม, 1.30 กรัม/100 กรัม และ 1.65 กรัม/100 กรัม ตามลำดับ และเมื่อทำการศึกษาผลต่อการขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดได้รวดเร็วเพียงใดภายใน 2-3 ชั่วโมง หลังการบริโภคอาหารชนิดนั้น ในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 15 คน พบว่า ข้าวทดลอง II จะมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าข้าวควบคุมและข้าวทดลอง I อย่างมีนัยสำคัญ         โดยสรุป การทำให้ข้าวที่หุงสุกเย็นลงจะทำให้เกิดแป้งที่ทนต่อการย่อย การแช่ข้าวที่หุงสุกในตู้เย็น (อุณหภูมิ 4 องศาเซนติเกรด) เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนนำมาอุ่นให้ร้อน จะช่วยลดดัชนีน้ำตาลของข้าวเมื่อเทียบกับข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ หุงข้าวด้วยน้ำมันมะพร้าวช่วยลดพลังงานจากข้าวได้         นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากสถานีวิทยุบีบีซี ว่า นักวิจัยชาวศรีลังกาสามารถลดแคลอรี่ในข้าวได้ร้อยละ 60 โดยการหุงข้าวในน้ำมันมะพร้าวเป็นเวลา 40 นาที ทิ้งให้เย็นและแช่ข้าวในตู้เย็นเป็นเวลา 12 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม คงต้องรอผลการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่เชื่อถือได้        สรุป     ข้าวที่หุงสุกแล้ว เมื่อนำไปแช่ในตู้เย็นเป็นเวลา 24 ชั่วโมง จะทำให้แป้งของข้าวกลายเป็นแป้งที่ทนต่อการย่อย และถูกดูดซึมน้อยลงในลำไส้เล็ก มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในร่างกายลดน้อยลงเมื่อเทียบกับการกินข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ ผู้ที่เป็นเบาหวาน อ้วน จึงควรลองเปลี่ยนวิธีเป็นรับประทานข้าวหุงสุกที่แช่ตู้เย็น และนำมาอุ่นร้อนหรือเปลี่ยนวิธีการหุงข้าวเพื่อช่วยลดน้ำตาล

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)