ฉบับที่ 228 ภัยไวรัสว่าน่ากลัว แต่ภัยจากอุบัติเหตุน่ากลัวกว่า

        


        ฉลองปีใหม่แว้บเดียว ตอนนี้ก็เข้ากุมภาพันธ์เดือนแห่งความรัก และยังเป็นเดือนกุมภาพันธ์ยกกำลังสอง ที่มาพร้อมกับ PM 2.5 และไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ตอนนี้แผ่ขยายความหวาดระแวงแพร่กระจายกันไปแล้วทั่วประเทศ  โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่ไปทางไหนก็จะต้องเห็นคนใส่หน้ากากอนามัย  ไม่รู้ว่าใส่เพราะกลัว PM 2.5 หรือกลัวไวรัสโคโรน่า 2019 กันแน่  หรือเพราะกระแสสังคมกดดันให้ทุกคนต้องใส่ ใครไม่ใส่อาจกลายเป็นคนแปลกหน้าและหน้าแปลกในเวลาเดียวกันได้ทันที เรียกได้ว่าเป็นความตื่นตัวครั้งใหญ่ของคนไทยทุกคนเลยก็ว่าได้ 
        ขณะที่ หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกโรงเตือนหวั่นคุมการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า 2019 ไม่อยู่ อาจกระจายผ่านรถสาธารณะ เตือนคนขับและผู้โดยสารต้องสวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ ออกมาตรฐานฆ่าเชื้อคุมเข้มห้องโดยสาร เพราะถ้าผู้ติดเชื้อยังไม่แสดงอาการ ก็ยังไม่สามารถแยกแยะลักษณะท่าทางได้อย่างชัดเจน
มองแง่ดีการตื่นตัวของคนไทยกับ PM 2.5 และไวรัสโคโรน่า 2019 ครั้งนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพบริการของขนส่งสาธารณะกันได้บ้าง บางเรื่องอาจจะดูตลกขบขัน แต่เชื่อเถอะมันถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานะ 
        หนึ่งในเรื่องที่อาจดูตลกคือเราเห็นกรมการขนส่งทางบกนำร่องติดตั้งเครื่องฟอกอากาศเคลื่อนที่แบบทำเองบนหลังคารถเมล์ ก็ไม่รู้วิธีนี้ช่วยอะไรได้บ้าง แทนที่จะติดตั้งภายในรถเมล์แต่ดันเอาไปติดบนหลังคา เราเห็นข่าวเจ้าหน้าที่เร่งทำความสะอาดราวจับ เบาะที่นั่งบนรถเมล์-รถไฟฟ้า แต่ก็ไม่รู้ทำทุกวันหรือเปล่า เราเห็นคนส่วนใหญ่ใส่หน้ากากอนามัยพกเจลล้างมือติดตัว เราเห็นกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐต้องเร่งเปลี่ยนรถเมล์ ขสมก. เป็นรถเมล์พลังไฟฟ้าทั้งหมดภายใน 3 ปี และมีการคาดการณ์ว่า จากการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ รถเมล์ รถตู้ รถทัวร์ จะมีความเสี่ยงที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ปิดและแคบ (closed space) โดยเฉพาะกรณีรถต่างจังหวัดที่ต้องเดินทางไกล เพราะถ้าคืนนี้มีผู้ป่วยโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 1 คนขึ้นรถ 1 คัน เช้ารุ่งขึ้นอาจจะมีคนติดเชื้อกระจายออกไปทุกมุมของจังหวัดปลายทาง ดังที่เราเห็นในกรณีการติดเชื้อบนเรือสำราญในหลายมุมโลกขณะนี้ 
        หันมาคิดอีกมุม แล้วทำไมประเด็นอันตรายจากอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ กลับไม่ตื่นตัวแบบนี้บ้าง ทั้งที่ประเทศไทย ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ 33 คน และที่สำคัญยังไม่มีคนเสียชีวิต!! แสดงว่ารัฐบาลนี้เอาอยู่สินะ แต่อุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย แต่ละวันมีผู้เสียชีวิตมาถึง 50 60 คนต่อวัน บางวันพุ่งสูงถึง 70 คนก็มี รวมแล้วมากกว่า 20,000 คนต่อปี บาดเจ็บอีกวันละ 3,000 คน ครบปีก็หลักล้านคนแล้ว ยังไม่รวมคนเจ็บที่ไม่ไปโรงพยาบาลอีกเท่าไหร่ แบบนี้ไม่น่ากลัวกว่าหรือยังไง ??




        ที่ต้องถามว่าแบบนี้ก็เพราะว่า ขณะที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ของไทยเราหยุดนิ่งที่ 33 คนมาระยะหนึ่งแล้ว เท่ากับว่าประชาชนมีความตื่นตัว รู้เท่าทันว่าจะต้องป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อนี้อย่างไร แต่ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนกลับไม่หยุดนิ่ง และทวีความรุนแรงสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัวเห็นคนเจ็บตายกันอยู่ทุกวัน 
        แน่นอนว่าสาเหตุของอุบัติเหตุทางถนน ส่วนใหญ่มาจากความประมาทที่เกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ไม่สวมหมวกกันน็อค และพฤติกรรมเมาแล้วขับ ขณะที่ผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะส่วนใหญ่ มักคิดว่ามันคงไม่เกิดเหตุอะไรกับตัวเอง เลยไม่คิดว่าต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งที่สาเหตุการเสียชีวิตบนรถโดยสารสาธารณะ ส่วนหนึ่งมาจากการกระแทกกันภายในรถหรือหลุดกระเด็นออกนอกตัวรถ เพราะผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัย อีกอย่างที่สำคัญ คือ คนเรามักคิดว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องเวรกรรม เกิดเหตุทีก็ถือว่าฟาดเคราะห์กันไป หนักเบาก็แล้วแต่บุญกรรมที่ทำมาแต่ชาติปางก่อน ไม่อยากเอาเรื่องเอาราวกับใคร กลัวต้องผูกเวรผูกกรรมกันไปไม่จบสิ้น กลายเป็นเรื่องความเชื่อแทนที่จะเป็นเรื่องความจริง ก็น่าคิดว่า ทำไมตายกันเยอะขนาดนี้ ถึงไม่กลัวกัน 
        แล้วจะทำยังไงในเมื่อความสูญเสียบาดเจ็บยังมีอยู่ต่อเนื่อง ยังนิยมรถผี รถเถื่อน เพราะสะดวกสบายรับส่งถึงหน้าบ้าน ยังพอใจนั่งรถแล้วไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งที่กฎหมายบอกไม่คาดปรับห้าพัน ก็ไม่สนใจเพราะไม่มีจับปรับจริง  ยังพอใจนั่งท้ายกระบะ ห้ามนั่งก็ไม่สนอ้างวิถีชนบทความจำเป็น ยังพอใจเมาก่อนค่อยขับ ห้ามเมาแล้วขับก็ขับทั้งที่เมา สุดท้ายพอเกิดอะไรขึ้นมาก็โทษเวรกรรม ยอมรับชะตากรรมแบบนี้เรื่อยไป 
        ประเทศนี้ที่มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนปีละมากกว่า 20,000 คน ทำไมถึงไม่มีใครกลัว

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ไวรัส อุบัติเหตุ รถโดยสารสาธารณะ

ฉบับที่ 276 โดนบ้านน็อคดาวน์ น็อค

        ปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงานเกิดขึ้นบ่อยครั้ง คราวนี้เกิดขึ้นกับทาสแมว คุณดุจดาว หญิงสาวผู้รักน้องแมวเหมือนลูก ไม่ใช่รักธรรมดาด้วยนะ รักแบบสุดจิตสุดใจเพราะเลี้ยงแมวจรจัดไว้กว่า 10 ตัว         เมื่อปริมาณเหมียวน้อยมากจึงจำเป็นต้องจัดหาพื้นที่เพื่อเหล่านายท่าน ซึ่งคุณดุจดาวเคยเห็นโฆษณาเกี่ยวกับบ้านน็อคดาวน์สำหรับน้องแมว เธอเลยมีความคิดอยากสร้างบ้านน็อคดาวน์ให้ลูกๆ เธอติดต่อไปที่เพจของบริษัท xxx ซึ่งประกาศรับสร้างบ้านทรงนอร์ดิก ที่ดูแล้วสวยงาม แถม ความน่าเชื่อถือก็มีด้วยนะ เพราะมีดาราชื่อดังหลายคนเป็นพรีเซ็นเตอร์ ก็เลยตัดสินใจว่าจ้างบริษัทฯ นี้ทำบ้านน็อคดาวน์ให้แมวของเธอ ซึ่งตกลงการจ้างทำที่ราคา 1.6 แสนบาทเศษ แบ่งจ่าย 2 งวด กำหนดเวลา 20 วัน บ้านเสร็จ         ขณะที่สบายใจแล้วว่าจะมีที่ทางให้เหมียวๆ เธอกลับต้องโทรศัพท์มาร้องเรียนที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  บอกว่า เจอน็อค เข้าเต็มเปา เพราะความไว้ใจเหล่าพรีเซนเตอร์ของเพจแท้ๆ  คือเธอจ่ายเงินค่าจ้างให้บริษัทฯ ไปก่อน เพราะบริษัทอ้างว่าจะส่งมอบสัญญาให้ภายหลังจากก่อสร้างเสร็จแล้ว เรื่องนี้เลยกลายเป็นสัญญาปากเปล่านะสิ         เมื่อไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร คุณดุจดาวจึงเสียเปรียบ เพราะนับตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2566 ที่เริ่มก่อสร้าง... จวบจนถึงปัจจุบัน ( 2567 ) บ้านน็อคดาวน์ของแมวก็ไม่เสร็จเสียที แถมของเดิมที่สร้างไว้ก่อนหน้านี้ (แบบยังไม่เสร็จ) ก็มีปัญหาแทบทุกจุดของบ้าน แล้วตอนนี้ผู้รับเหมาก็หายตัวไปแล้วด้วยก็เลยมาขอคำปรึกษาว่าจะทำยังไงดีเพื่อให้ได้เงินกลับคืนมา หรือให้ผู้รับเหมากลับมาสร้างบ้านให้เสร็จเรียบร้อย แนวทางการแก้ไขปัญหาเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ เมื่อได้ฟังปัญหาจบ จึงให้คำแนะนำเบื้องต้น 3 ข้อ ดังนี้        1. หาก ”ผู้ร้อง”ไม่ต้องการให้ทำจดหมายบอกยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน โดยส่งแบบไปรษณีย์ตอบรับเท่านั้น พร้อมส่งสำเนาถึง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อช่วยติดตามเรื่องและสามารถใช้เป็นหลักฐานทางด้านคดีด้วย        2. ใน จดหมาย “ให้ ผู้ร้อง” กำหนดเงื่อนเวลากำกับให้ชัดเจน เพราะหากเลยกำหนด แต่ผู้รับเหมาไม่ยอมคืนเงิน ขั้นตอนต่อไปมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะเชิญ 2 ฝ่าย มาไกล่เกลี่ย        3. หากกระบวนการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ ผู้ร้องในฐานะผู้เสียหาย สามารถยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ที่ศาลแพ่ง แผนกคดีผู้บริโภค https://civil.coj.go.th/.../category/detail/id/22/iid/334689                                                                                     เบื้องต้นผู้ร้องจะดำเนินการตามข้อแนะนำ หากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมจะแจ้งมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคดำเนินการฟ้องคดีแล้ว ในกระบวนการทางศาลอาจเกิดกระบวนการไกล่เกลี่ยอีกครั้งก็ได้ โดยการฟ้องร้องกรณีนี้สามารถฟ้องได้ทั้งทางแพ่งและอาญา         ในทางแพ่ง: กรณีดังกล่าวเป็นการจ้างทำของ ผู้รับจ้างจะต้องส่งมอบงานให้เสร็จ ตามที่ตกลงกัน การที่ผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบงานได้ จึงถือเป็นการผิดสัญญา ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากผู้รับจ้างที่ผิดสัญญา เช่น เรียกเงินค่าจ้างคืน ค่าปรับหรือเบี้ยปรับส่งมอบงานล่าช้า ค่าเสียหายกรณีชำรุดบกพร่อง เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ว่าจ้างจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)         ในทางอาญา : เมื่อมีการผิดนัดไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างบุคคลสองฝ่ายเกิดขึ้น มักมีปัญหาข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ คู่กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญานั้นมีจะความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ต้องพิจารณา “เจตนาขณะทำสัญญา” ของคู่กรณีฝ่ายที่ผิดสัญญาว่า ขณะที่ทำสัญญามีเจตนาจะปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงที่ให้ไว้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ ถ้าขณะทำสัญญาคู่กรณีฝ่ายที่ผิดสัญญา ไม่มีเจตนาจะปฏิบัติตามสัญญาเลยตั้งแต่แรก เป็นการทำสัญญาเพื่อหวังผลประโยชน์จากคู่กรณีแบบนี้จึงถือ เป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่ถ้าขณะทำสัญญา คู่กรณีฝ่ายที่ทำผิดสัญญานั้น มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญา แต่ภายหลังแล้วไม่ได้ปฏิบัติตาม เป็นเพียงเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง หากจะดำเนินคดีในทางอาญาจึงจะต้องมีหลักฐานชี้ให้ศาลเห็นให้ได้ว่า ขณะทำสัญญาคู่กรณีมีเจตนาฉ้อโกงตั้งแต่แรกแล้ว

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 เจอสิ่งแปลกปลอมในกระปุก “ผิวส้ม” อบแห้ง

        “ผิวส้ม” อบแห้ง ขนมย้อนวัยยุค 90 ยอดฮิต ที่คุณกล้าชื่นชอบเป็นอย่างมากแต่มันกับทำให้คุณกล้าต้องเซ็ง! เพราะดันเจออะไรก็ไม่รู้แปลกๆ ปนมาด้วยนะสิ         คุณกล้าได้มาร้องเรียนและเล่าเรื่องราวให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เขาได้ไปซื้อ “ผิวส้ม แมนดาริน” มาจากร้านขายยาแถวบ้าน 1 กระปุก ราคา 25 บาท หลังจากได้มาเขาและครอบครัวก็แบ่งกันรับประทานจนผิวส้มที่อยู่ในกระปุกเริ่มลดลงไปเรื่อยๆ จนเหลืออยู่ 2 ชิ้นสุดท้าย คุณกล้าบอกว่าใน 2 ชิ้น สุดท้ายนี้ละที่ทำให้เขาถึงกับต้องร้องยี้! เพราะได้เจอกับ “ก้นบุหรี่” ในกระปุกแถมเหมือนก้นบุหรี่จะได้ผ่านการใช้งานมาแล้วซะด้วย จึงทำให้เขาและครอบครัวเริ่มเกิดความกังวล เนื่องจากได้รับประทานไปแล้ว อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนและโรคติดต่ออยู่ด้วยหรือไม่ แค่นึกก็ขนลุกขนพอง แล้วถ้ามีอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในอนาคตได้ จึงอยากได้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้คำแนะนำว่าควรจะทำอย่างไรดี?              แนวทางการแก้ไขปัญหา                    ก่อนหน้าจะเข้าปรึกษากับมูลนิธิฯ คุณกล้าก็ได้ติดต่อไปที่ทางบริษัทผู้จำหน่ายสินค้า “ผิวส้ม อบแห้ง” แล้วแต่ยังเจรจากันไม่ได้ข้อตกลงอันเป็นที่หน้าพอใจ ซึ่งทางคุณกล้าเองนั้นต้องการขอเรียกค่าเสียหายครั้งนี้เป็นมูลค่า 25,000 บาท         ทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อไปทางบริษัทผู้จำหน่ายสินค้าดังกล่าวเพื่อช่วยเจรจากับทางบริษัท ซึ่งทางบริษัทก็ได้แจ้งว่า “ขออภัยในสิ่งที่เกิดขึ้น และให้เหตุผลว่า สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ทางบริษัทสั่งตัวผิวส้มเข้ามาแล้วดำเนินการบรรจุหีบห่อ ซึ่งไม่สามารถควบคุมการบรรจุหีบห่อได้” และจะชดเชยผู้เสียหายเป็นขนมชุดใหญ่ รวมถึงคืนเงินค่าสินค้าและยกเลิกการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวอีกด้วย ถือว่าผู้จำหน่ายมีความรับผิดชอบอยู่พอสมควร         อย่างไรก็ตามทางผู้ร้องคือคุณกล้าได้ปฏิเสธการชดเชยดังกล่าวพร้อมกับได้ทำหนังสือร้องเรียนไปทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบผู้จำหน่ายขนมดังกล่าวอีกด้วย สำหรับคุณกล้าหากประสงค์ในเรื่องการชดเชยค่าเสียหายก็สามารถใช้สิทธิทางศาลได้เช่นกัน         ฝากถึงผู้บริโภคหากพบเจอปัญหาลักษณะเดียวกับคุณกล้า ควรเตรียมเอกสารดังนี้         1. ถ่ายรูปฉลากและตัวสินค้า รวมถึงสิ่งแปลกปลอมที่พบ พร้อมเก็บหลักฐานตัวบรรจุภัณฑ์และใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน         2. นำหลักฐานทั้งหมดเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อเป็นหลักฐาน         3.ติดต่อบริษัทเพื่อเจรจาเรื่องการชดเชยค่าเสียหาย         4.ติดต่อทำหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานกำกับดูแล ด้านอาหารได้แก่ อย. หรือในต่างจังหวัด ร้องเรียนได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เกิดเหตุ 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 จ่ายล่วงหน้าซื้อกิ๊ฟวอชเชอร์ร้านอาหาร หากร้านเจ๊ง ไปแจ้งความขอเงินคืนได้

        กลยุทธ์การตลาดของร้านอาหารมีหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือเสนอขายกิ๊ฟวอชเชอร์ให้ลูกค้าจ่ายเงินล่วงหน้าซื้อโปรโมชั่นที่เชียร์ว่าคุ้มสุดๆ ทำให้ลูกค้าหลายคนตัดสินใจซื้อเพราะคำนวณแล้วว่าคุ้มจริง โดยลืมนึกถึงความเสี่ยงว่าหากจู่ๆ ร้านเจ๊ง แล้วเงินที่เหลือยังจะได้คืนไหม         คุณแพรวก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้นึกถึงความเสี่ยงในข้อนี้ไว้ก่อนเลย เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2566 เธอไปกินบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่นที่ร้านชื่อดังแห่งหนึ่งสาขาพัทยา ซึ่งทางร้านจะขายแบบโปรฯ ในราคา 899 บาท ซื้อ 1 แถม 1 โดยต้องจ่ายเงินก่อน มากินเท่าไหร่ก็หักไปเท่านั้น แรกๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ต่อมาวอชเชอร์เริ่มใช้ไม่ได้ ต้องจองล่วงหน้าและเมนูอาหารก็ไม่ครบ ลดลงไปประมาณ 30%           มีอยู่วันหนึ่ง คุณแพรวแปลกใจที่เห็นพนักงานเต็มร้านแต่กลับไม่รับลูกค้า บอกว่าวัตถุดิบในการทำอาหารไม่เข้ามาที่ร้าน เธอเริ่มสงสัยจึงลองไปเช็กที่สาขาอื่นๆ ก็พบว่าร้านอื่นมีวัตถุดิบครบ และเปิดบริการให้ลูกค้าได้ตามปกติ จากนั้นเข้าไปติดตามในเพจของร้านนี้ ก็พบลูกค้าที่มีปัญหาซื้อกิ๊ฟวอชเชอร์ของร้านนี้ไว้แต่กลับใช้ไม่ได้เพราะร้านปิดเหมือนกับเธอ เข้ามาคุยในเพจและรวมตัวกันราว 200 กว่าคน          คุณแพรวเองซื้อกิ๊ฟวอชเชอร์ไว้ประมาณ 4,000 กว่าบาท พอเห็นท่าไม่ดีจึงไปแจ้งความพร้อมผู้เสียหายในเพจอีกประมาณ 10 คน ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าเลย เมื่อติดต่อทางร้านไป ก็แจ้งว่ากำลังปิดปรับปรุงพื้นที่ให้ดีขึ้น แต่ถ้าลูกค้าคนไหนจะขอเงินคืนก็ยินดีจ่ายให้ภายใน 10 วัน แต่แล้วก็เงียบหายไปอีก                    ต่อมาคุณแพรวได้รู้ว่ามีพนักงานของร้านเข้าไปแจ้งความด้วยว่ายังไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งทางร้านติดค้างไว้อยู่ 3 เดือน และเล่าถึงสาเหตุที่ร้านปิด เป็นเพราะว่าเจ้าของสั่งวัตถุดิบมาทำอาหารแล้วไม่จ่าย จนบริษัทที่ส่งอาหารไม่ส่งวัตถุดิบมาให้ คุณแพรวหวั่นใจว่าเจ้าของร้านอาหารนี้จะเบี้ยวหนี้ที่รับปากไว้ จึงโทรศัพท์ติดต่อมาที่มูลนิธิฯ เพื่อขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ทางเจ้าหน้าที่แนะนำให้คุณแพรวในฐานะผู้เสียหาย แจ้งความเกี่ยวกับการฉ้อโกง เป็นคดีอาญา ให้ตำรวจเรียกคู่กรณีมาคุยกันที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นการกดดันคู่กรณี เนื่องจากถ้าเจ้าของร้านอาหารไม่ต้องการที่จะขึ้นศาลหรือติดคุก ก็อาจจะพยายามหาเงินมาใช้หนี้ให้ได้ในที่สุด         หลังจากที่คุณแพรวได้พาผู้เสียหายประมาณ 10 คน ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยาด้วยกันอีกครั้งตามคำแนะนำแล้ว เพียงไม่นาน ทางเจ้าของร้านอาหารได้ติดต่อมาและตกลงจะคืนเงินทั้งหมดของผู้เสียหายแต่ละคนจนครบทุกคน ล่าสุด คุณแพรวได้รับเงินคืนเรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 ถูกมิจฉาชีพหลอกให้จองที่พัก

        เรื่องราวของมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบของเพจเฟซบุ๊กปลอมหลอกให้โอนเงินจนเสียทรัพย์สินเกิดขึ้นบ่อย แต่ก็ยังมีหลายคนพลาดเพราะความเนียนของมิจฉาชีพ ซึ่งไม่นานนี้คุณพลอยก็ได้ร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเช่นกัน         เรื่องนี้เริ่มจาก คุณพลอย ได้พบ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa โพสต์โฆษณาที่พักที่หาดเจ้าสำราญ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งสวยงาม ถูกใจมาก คุณพลอยสนใจจึงติดต่อไปจองเข้าพักในวันที่ 23-24 ธ.ค. 66 แอดมินเพจ BEACH VIEW pool Villa ก็ตอบกลับอย่างรวดเร็วแจ้งให้คุณพลอยโอนเงินค่าที่พักทันทีแล้วจะได้ส่วนลด 3,300 บาท จากราคาเต็ม 13,000 บาท คุณพลอยจึงโอนเงินค่าที่พักไปทันที จำนวน 9, 700 บาท  แต่เมื่อโอนเงินแล้วแอดมินเพจยังบอกอีกว่า ต้องโอนค่าประกันที่พักอีกจำนวน  5,000 บาท การจองจึงจะสมบูรณ์ คุณพลอยหลงเชื่อเพราะคิดว่าได้โอนเงินไปแล้ว 9, 700 บาท การติดต่อก็ไม่ได้ขาดหาย แล้วเรื่องเงินประกันก็มีเหตุผล ซึ่งเงินประกันย่อมได้คืนหากไม่มีอะไรเสียหายกับที่พัก เธอจึงโอนเงินไปให้อีก 5,000 รวมเป็นเงิน 14,700 บาทถ้วน         แต่เรื่องราวกลับถูกเปิดเผยว่า นี่คือมิจฉาชีพ เมื่อคุณพลอยเดินทางไปยังสถานที่จริงตามที่เพจระบุกลับไม่พบที่พักสวยหรูอย่างที่โพสต์ไว้เลย เวียนหายังไงก็ไม่เจอ เมื่อถามกับโรงแรมใกล้เคียงก็พบว่าไม่มีที่พักชื่อ Beach View Pool Villa และไม่สามารถติดต่อผู้ขายและแอดมินเพจได้อีกแล้ว จึงรู้ว่าถูกหลอก คุณพลอยจึงแจ้งความเพื่อดำเนินคดีที่ สน.สำเหร่ ทันที ต่อมาเมื่อนำไปไปสืบหาความจริงเรื่อยๆ จึงได้พบว่า แท้จริงแล้วภาพสวยๆ ที่อยู่บนโพสต์นั้นเป็นมิจฉาชีพนำภาพของที่พักชื่อ Canary Good Pool Villa มาเนียนหลอกลวงคน ซึ่งเจ้าของที่พัก (เจ้าของภาพ) ดังกล่าวก็ได้แจ้งความเอาผิดกับมิจฉาชีพแล้วด้วยเช่นกัน  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อผู้บริโภครู้ว่าซื้อสินค้าบริการแล้วถูกหลอก  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1.เก็บหลักฐานข้อมูลให้มากที่สุด เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน เช่น เบอร์โทรศัพท์ผู้ขาย , ภาพหน้าร้านเพจ, โปรไฟล์ของพ่อค้าแม่ค้า,บัญชี, ธนาคารที่โอนเงินไป, สลิป และ การโอนเงินชำระค่าสินค้า         2. โทรแจ้งธนาคารอาญัตบัญชีของมิจฉาชีพทันที  เมื่อรู้ตัวว่าถูกโกง ผู้บริโภคสามารถโทรศัพท์ไปที่ศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพของธนาคารต่างๆ ได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง (โดยที่ไม่จำเป็นต้องแจ้งความก่อน) ซึ่งเป็นไปตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี         3. ไปแจ้งความทันที โดยแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า “ขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด” อย่าทำเพียงลงบันทึกประจำวันเด็ดขาด! หรือแจ้งความออนไลน์ที่  www.thaipoliceonline.com         4. ประสานงาน ติดต่อแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ เพื่อนำหลักฐานการแจ้งความ เพื่อแจ้งประสานงานขอข้อมูลมิจฉาชีพ ที่ใช้ทำการสมัคร และเพื่อให้ เพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ ในการตามตัว รวมทั้งเพื่อให้ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการยกระดับความปลอดภัยของผู้ขายสินค้าด้วย             5.ส่งข้อมูลที่ได้เพิ่มมาให้กับตำรวจ เป็นระยะเพื่อตามตัวมิจฉาชีพให้ได้         อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบัน คุณพลอยแม้จะได้แจ้งความกับตำรวจและติดต่อให้ธนาคารอายัดบัญชีธนาคารของมิจฉาชีพแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับเงินคืนแต่อย่างใด ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคขอย้ำว่า การมีความรู้เท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพหรือการป้องกัน เป็นวิธีการที่ดีกว่าการแก้ปัญหาภายหลังแน่นอน  ซึ่งกรณีนี้ที่คุณพลอยถูกมิจฉาชีพหลอกให้จองที่พักในเพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa  มีข้อสังเกตที่ผู้บริโภคสามารถนำไปป้องกันตนเองได้คือ           1. มิจฉาชีพให้คุณพลอยชำระค่าที่พักและค่าจองไปยังบัญชีที่เป็นชื่อบุคคล  ซึ่งหากเป็นโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้อง ชื่อบัญชีจะเป็นชื่อโรงแรมหรือบริษัทโดยตรง        2. เพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa  มีรูปที่พัก ผู้ติดตามจำนวนมาก และยังมีโชว์ภาพผู้เข้าพัก เหมือนจริงทุกอย่างแต่เท่านั้นยังเชื่อไม่ได้ ต้องมีการตรวจสอบชั้นที่ 2 โดยผู้บริโภค ควรโทรศัพท์ไปติดต่อสอบถาม พูดคุยโดยตรงด้วยให้บ่อยครั้ง เพราะมิจฉาชีพส่วนใหญ่มักจะตั้งระบบไม่ให้สามารถโทรกลับได้ง่าย หากเบอร์ไม่สามารถติดต่อได้ หรือติดต่อได้ยาก จุดนี้จะทำให้เห็นพิรุธได้ว่า ไม่น่าเป็นเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของที่พัก โรงแรมที่จะติดต่อได้ง่ายตลอดเวลา         3. หากเห็นว่ามีผู้เข้ามาพูดคุย หรือแสดงความคิดเห็นในเพจ เราควรเข้าไปดูเฟซบุ๊กของผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นด้วยว่า เป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ มีลักษณะของผู้ที่เป็นบุคคลจริงหรือไม่  มีข้อสังเกตว่าหากเป็นมิจฉาชีพมักใช้วิธีการจูงใจหลายรูปแบบ เช่น อ้างว่าจะให้เหล้าหรือไวน์ฟรีจำนวนมากเพื่อเร่งรัดให้ตัดสินใจโอนเงิน

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)