ฉบับที่ 228 หลอกลวงแบบเนียนๆ

        ผู้บริโภครายหนึ่งเล่าเหตุการณ์ที่พลาดเสียเงินไปโดยไม่รู้ตัวให้ฟังว่า เพื่อนบ้านมาชวนไปเที่ยว บอกว่างานนี้ฟรีทุกอย่าง เขาจัดล่องเรือชมวิว แนะนำสินค้า เราไม่ซื้อก็ไม่เป็นไรถือว่าได้เที่ยวฟรี ผู้บริโภครายนี้คิดว่าตนเองคงไม่ยอมเสียเงินซื้อแน่ๆ แต่ใจก็อยากเที่ยวฟรี ในที่สุดเลยตกลงไปเที่ยวลงเรือตามที่เพื่อนชวน
        เมื่อขึ้นไปบนเรือ เขาพาล่องแม่น้ำ มีอาหารให้กินฟรีจริงอย่างที่เพื่อนบอกนะ แต่พอเรือล่องไปได้สักระยะหนึ่ง ก็มีคนมาแนะนำสินค้าต่างๆ ส่วนมากเป็นพวกโสม มีทั้งโสมผสมถังเช่า โสมตังจือ โสมเกาหลีสีส้ม ราคาขวดละเกือบสามพันบาท เขาบรรยายสรรพคุณต่างๆ เยอะมาก ฟังแล้วเคลิ้มเลยล่ะ เขาชวนให้เราทดลองซื้อมาใช้ดูก่อนก็ได้ สุดท้ายเราก็ใจอ่อนเอง ซื้อไปหลายอย่าง รวมๆ แล้วเกือบสามหมื่น มาถึงบ้าน นึกไปนึกมา นี่ถ้าเราไม่ไปเที่ยว เราก็คงไม่เสียเงินขนาดนี้ พอเราไป ไอ้ที่คิดว่าฟรี มันไม่ฟรีแล้ว เพราะเราหมดไปสามหมื่น สงสัยเหมือนกันว่า มันคงรวมๆ ค่าเที่ยวค่ากินไปในค่าโสมแน่นอน นึกแล้วเจ็บใจจริงๆ ไม่น่าเสียรู้เลย ไม่กล้าไปเตือนใคร อายเขา
        อีกเรื่องหนึ่ง มาจากน้องเภสัชกรที่ทำงานในชนบททางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเล่าให้ฟังว่า ยุคนี้ผลิตภัณฑ์สุขภาพบุกถึงวัดแล้ว อ้างว่าเป็นสะพานบุญ คนขายพวกนี้มักจะตระเวณไปตามวัด ไปแอบหาข้อมูลว่าพระตามวัดต่างๆ มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง โดยมากจะเล็งไปที่พระที่รูปร่างอ้วนๆ น้ำหนักมากๆ
        แต่พวกนี้ไม่ได้ไปขายผลิตภัณฑ์สุขภาพกับพระ แต่จะไปสังเกตญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด พอมีโอกาสก็จะเข้าไปพูดคุยชวนทำบุญ อ้างว่าผลิตภัณฑ์ของตนเป็นเสมือนผลิตภัณฑ์สะพานบุญ สามารถลดน้ำหนักให้พระสงฆ์ที่ญาติโยมเคารพได้ เมื่อท่านน้ำหนักลดลง ท่านจะได้ไม่ป่วย ไม่เสี่ยงกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ สุดท้ายญาติโยมก็ใจอ่อน บางคนก็เกรงใจ ยอมเสียเงินซื้อผลิตภัณฑ์พวกนี้ถวายพระไปด้วย หมดกันคนละเป็นหมื่น
        ล่าสุด มีผู้บริโภคมาเล่าให้ฟังว่ามีคนมาในช่วงที่ผู้สูงอายุในชุมชนกำลังประชุม บอกว่าจะขอแนะนำความรู้ด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ มีการใช้คอมพิวเตอร์ฉายภาพ เป็นรูปคนสุขภาพดีหน้าตาแจ่มใส แล้วผู้ขายก็บรรยายสรรพคุณสินค้า เป็นผลิตภัณฑ์รากมะเดื่อ และเชิญชวนให้ผู้สูงอายุลองซื้อไปรับประทาน ผู้สูงอายุบางคนก็มีเงินเยอะ พอผู้สูงอายุคนหนึ่งซื้อ ที่เหลือก็เริ่มซื้อตาม สุดท้ายก็ขายได้หลายหมื่น หลังจากวันนั้นเขาก็มาอีก คราวนี้ตระเวณไปถึงบ้าน มาทราบทีหลังว่าขายได้ด้วย บางบ้านซื้อเยอะ รวมๆ หลายบ้าน น่าจะหมดเป็นแสน
        เท่าที่สอบถามข้อมูล ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับอนุญาตแล้ว มีเครื่องหมาย อย. และฉลากถูกต้อง ไม่มีเอกสารใดๆ ที่ผิดกฎหมายหรือโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง แต่พฤติกรรมประกอบการขายที่โอ้อวดเกินจริง โดยใช้คำพูดโน้มน้าว ทำให้ผู้บริโภคที่ใจอ่อน หลงเชื่อ สุดท้ายก็เสียเงินเสียทองมากมาย ในการจัดการเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับผลิตภัณฑ์พวกนี้ทำได้ยาก เพราะเอกสารหลักฐานมักไม่ค่อยชัดเจน นอกจากคำพูดโน้มน้าวระหว่างขายสินค้าเท่านั้น ต้องช่วยกันเตือนผู้บริโภค ให้มีภูมิต้านทาน ให้เท่าทันกับสถานการณ์แบบนี้ ท่องไว้เลยว่า ยาเทวดาไม่มีในโลก ถ้ามันเจ๋งขนาดนี้ ทำไมโรงพยาบาลไม่เอาไปใช้รักษาผู้ป่วย และถ้าได้ผลดีต่อสุขภาพจริง ทำไมมาขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร .. สรุปง่ายๆ คือ หลอกลวงแบบเนียนๆ นั่นเอง

แหล่งข้อมูล: ภก.ภาณุโชติ ทองยัง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม

250 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค เที่ยว เที่ยวลงเรือ แนะนำสินค้า

ฉบับที่ 276 ไซบูทรามีน คืนชีพ

        ข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่จังหวัดอ่างทอง เมื่อกลางปี 2562 ผลชันสูตรพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผลการตรวจเลือดพบว่ามียา 4 ชนิด (ที่มีการผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนักที่ผู้เสียชีวิตรับประทาน) ได้แก่ ฟูลออกซิทีน (Fluoxetine) บิซาโคดิล (bisacodyl) ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (hydrochlorothaiazide) และ ไซบูทรามีน (cybutramine) ยาทั้ง 4 ชนิด ออกฤทธิ์ร่วมและเสริมกันทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเสียชีวิต นำไปสู่การปราบปรามการแอบลักลอบปลอมปน “ไซบูทรามีน” ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคืออำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพราะมีข้อมูลว่าเป็นต้นทางการลักลอบนำเข้าสารไซบูทรามีนจากประเทศเพื่อนบ้าน มีการตรวจค้นและพบวัตถุดิบสารไซบูทรามีนและการปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักจำนวนมากหลายยี่ห้อ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว         ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2566 เครือข่ายเฝ้าระวังในจังหวัดเชียงราย รายงานว่าพบการกลับมาจำหน่ายและพบการบริโภคผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ “Lishou” และ “Bashi”ในหลายพื้นที่ โดยผลิตภัณฑ์ที่พบใครั้งล่าสุดนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ยี่ห้อนี้เคยตรวจพบการปลอมปนสารไซบูทรามีน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เคยดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายธุรกิจการลักลอบผลิตยาลดความอ้วนไม่ได้หมดไป ยังคงคืนชีพดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การกลับมาระบาดครั้งนี้ยังพบว่ามีการโฆษณาขายในตลาดออนไลน์อย่างเปิดเผย        ขอเตือนภัยมายังผู้บริโภคให้สังเกตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทานอยู่ว่าได้ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หรือแม้จะมีเลข อย. หากรับประทานไปแล้วน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วหรือผอมเร็ว ให้ระวังว่าอาจมีสารไซบูทรามีนปลอมปนควรหยุดรับประทาน แล้วให้ส่งผลิตภัณฑ์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านตรวจสอบและดำเนินการต่อไปเพื่อความปลอดภัย         ไซบูทรามีนคืออะไร : ไซบูทรามีนคือสารเคมีที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง (สมอง) ที่ทำให้ไม่รู้สึกหิว อิ่มเร็วและกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย จึงมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยนำมาลักลอบปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก แต่เนื่องจากสารนี้มีผลข้างเคียงต่อร่างกายทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับและท้องผูก ที่สำคัญมีรายงานผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต ประเทศไทยจึงจัดไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และยกเลิกทะเบียนตำรับยาที่มีสารนี้ไปแล้วตั้งแต่ ปี 2553

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 กระท่อมอำพราง

        หลังจากที่รัฐสภาได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) ถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไปแล้ว ทำให้พืชกระท่อมไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ ประชาชนทั่วไปจึงสามารถครอบครอง ปลูก และขายใบสดได้เสรี หรืออาจนำมาต้มเป็นน้ำกระท่อมเพื่อดื่มเองหรือแจกจ่ายได้  ภาพที่เราเห็นทั่วไปในระยะแรกๆ คือ มีการนำใบพืชกระท่อมมาวางจำหน่ายในที่ต่างๆ รวมทั้งตามริมถนน         “แต่ระยะหลัง ไม่ได้มีแค่ใบพืชกระท่อมที่วางขาย หลายพื้นที่พบว่ามีการต้มน้ำกระท่อมใส่ขวดขายด้วย” ซึ่งข้อเท็จจริงตามกฎหมาย การนำพืชกระท่อมไปทำเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อขายนั้น พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ยังไม่ปลดล็อกให้นำพืชกระท่อมไปทำอาหารหรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ (อ้างอิงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 ) พ.ศ.2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย)         “แม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลยก็เป็นสิ่งที่ห้ามผลิต เพื่อจำหน่ายตามประกาศฉบับนี้” การฝ่าฝืน โดยผลิต และขายอาหารที่พ.ร.บ.อาหารห้าม มีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือนถึง 2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท         มีข้อมูลว่าที่สมุทรสงคราม ตำรวจได้ดำเนินการตรวจจับการขายน้ำกระท่อมซึ่งผู้ขายใช้วิธีอำรางเพื่อหลีกเลี่ยงโดย โดยนำน้ำกระท่อมไปใส่ในขวดน้ำเชื่อมสำหรับปรุงอาหาร (syrup) แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและสาธารณสุขสงสัย เลยส่งน้ำเชื่อมขวดดังกล่าวไปวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ ผลการตรวจพบว่ามีส่วนผสมยาแผนปัจจุบัน Diphenhydramine HCl และ Chlorpheniramine ในน้ำเชื่อมขวดดังกล่าว สรุปง่ายๆ คือ “ต้มน้ำกระท่อมแล้วนำมาผสมกับยาแก้แพ้แบบ 4x100 ที่เคยระบาดในกลุ่มเยาวชนแล้วตบตาตำรวจโดยนำไปบรรจุในขวดน้ำเชื่อมแทน”         ส่วนกรณีที่สงสัยว่า จะนำพืชกระท่อมไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยแจ้งว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆนั้น ต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข เพราะมี พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ควบคุมอยู่เช่นกัน         ในขณะที่การควบคุมยังทำได้ไม่เต็มที่ ผู้บริโภคพบเห็นการขายพืชกระท่อมแบบผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือศูนย์ดำรงธรรมติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เลย เพื่อความปลอดภัยของลูกหลานเราเอง 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 274 กาแฟโด่..กินแล้วโด่หรือดับ?

        “ชายวัย 69 พาสาวคู่ขาเข้าม่านรูด ดื่มกาแฟโด๊ปพลังก่อนช็อกดับคาห้องพัก จากการสอบสวนได้ข้อมูลว่าก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์กับสาวคู่ขา ชายคนนี้ได้ดื่มกาแฟยี่ห้อหนึ่ง เพื่อเพิ่มสมรรถภาพให้อวัยวะแข็งตัว ซึ่งแพทย์คาดว่าอาจจะส่งผลต่อการสูบฉีดของหลอดเลือดที่มากเกินไป จนทำให้ชายคนนั้นเกิดอาการช็อกหมดสติ และเสียชีวิต”          จากข่าวที่เผยแพร่ทางสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2566 ภญ.โศภิต สุทธิพันธ์ได้สืบค้นข้อมูลในระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพของ อย. พบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ไม่มีการขออนุญาตกับ อย. แต่กลับพบว่ามีการขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งก่อนหน้านี้ด่านอาหารและยาจังหวัดนราธิวาส ได้เคยพบและได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาตรวจวิเคราะห์ ผลการตรวจพบ “ซิลเดนาฟิล (Sildenafil)”ในผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ (HPVC) ของ อย. ได้เคยติดตามเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกิดขึ้นจากเว็บไซต์ของหน่วยงานที่กำกับดูแลของต่างประเทศ พบข้อมูลว่า Health Sciences Authority (HSA) สาธารณรัฐสิงคโปร์ ได้ตรวจพบสารนี้ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเช่นกัน           นอกจากนี้ในปี 2564 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการรับประทานผลิตภัณฑ์กาแฟยี่ห้อหนึ่งซึ่งไม่ระบุเลขสารบบอาหาร ชื่อและปริมาณของส่วนประกอบสำคัญ คำเตือนในการบริโภค ครั้งที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ ซึ่งได้ส่งให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 ตรวจวิเคราะห์ ผลการตรวจพบ “ทาดาลาฟิล (Tadanafil)” ในผลิตภัณฑ์ และได้รายงานข้อมูลให้ อย.เฝ้าระวังทั่วประเทศไปแล้ว         ปัจจุบัน ซิลเดนาฟิล และ ทาดานาฟิล จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ จึงไม่สามารถหาซื้อผ่านทางอินเตอร์เน็ต หรือ หาซื้อตามร้านขายยาได้เอง ผู้ซื้อจะต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น         ซิลเดนาฟิล เป็นยาที่ใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย แต่ยานี้ไม่ได้ช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศและไม่ช่วยให้มีเพศสัมพันธ์ได้นานขึ้น แต่กลับมีผลข้างเคียง คือ ทำให้ปวดศีรษะ หน้าแดง ร้อนวูบวาบ คลื่นไส้ ตาพร่ามัว มองเห็นแสงสีฟ้าสีเขียว และอาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้ ส่วนทาดาลาฟิล (tadalafil) อยู่ในกลุ่มเดียวกับซิลเดนาฟิล ออกฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือด ซึ่งมีข้อควรระวังในการใช้ในผู้ป่วยโรคตับและไต ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ โรคหัวใจล้มเหลว โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บหน้าอกแบบไม่คงที่ ผลิตภัณฑ์อาหารที่พบการปลอมปนซิลเดนาฟิล และ ทาดานาฟิล จัดเป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยแก่การบริโภค ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายจะมีความผิดตามกฎหมาย         ดังนั้น ผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อหรือซื้อกาแฟสำเร็จรูปพร้อมบริโภคที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเสริมสมรรถภาพทางเพศผ่านทางสื่อออนไลน์ เพราะเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากการปลอมปนยาที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และ อย.ไม่เคยอนุญาตให้มีการโฆษณาในลักษณะดังกล่าว หากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับด้านสมรรถภาพทางเพศควรปรึกษาแพทย์ และหากพบการซื้อขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านอินเตอร์เน็ต หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือ แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศทันที

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 273 แพ้กัญชาในอาหารเสี่ยงล้างไต ช็อค เสียชีวิต

        หลังจากที่กัญชาถูกปลดล็อคจากยาเสพติดเป็นสมุนไพรควบคุมทำให้หลายคนหันมาใช้และซื้อ-ขายกัญชากันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการใส่กัญชาลงในอาหาร จึงทำให้พบผู้ป่วยที่มีอาการแพ้กัญชาพบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รุนแรงถึงไตวาย ช็อคหรืออาจเสียชีวิตจากฤทธิ์ของสารในกัญชา           ประกาศกรมอนามัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในสถานประกอบกิจการอาหาร กำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร มีการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ การจัดเก็บ จัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพ และความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค โดยการแสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาตามประเภทการประกอบอาหาร  เพื่อให้มีสาร THC ไม่เกินกว่าร้อยละ 0.2 เช่น อาหารทอด แนะนำให้ใช้ ใบสด 1-2 ใบต่อเมนู อาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำใช้ใบสด 1 ใบต่อเมนู แสดงคำเตือนให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง ได้แก่ เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี  สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้สูงอายุ , ผู้ที่แพ้กัญชา มีคำเตือนผลข้างเคียง  ฯลฯ นอกจากนี้ร้านอาหารต้องขอรับใบอนุญาตสถานที่จำหน่ายอาหาร รวมถึงต้องใช้กัญชาจากแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น  แต่พบว่าปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานเฉพาะที่ตรวจสอบสาร THC ในอาหารหรือเครื่องดื่ม ผู้บริโภคจึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าร้านอาหารใช้ปริมาณใบกัญชาตามที่กำหนดหรือไม่ และกรมอนามัยไม่มีอำนาจลงโทษผู้ประกอบการหากเกิดข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ         ด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ผลิตภัณฑ์อาหารและยาต้องมีเลขอนุญาต ผู้ที่ใช้ส่วนประกอบของกัญชาเป็นส่วนผสมในอาหารของอุตสาหกรรมต้องขออนุญาตจดแจ้งเลขทะเบียนกับ อย. ฉลากต้องแจ้งว่าผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของกัญชา หากผลิตภัณฑ์ไม่มีการจดแจ้งจะมีความผิดเรื่องการจำหน่ายอาหารที่ไม่ขึ้นทะเบียน อย. รวมถึงถ้าผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการบริโภคอาหาร เข้าข่ายเป็นอาหารที่ไม่มีความปลอดภัย มีโทษตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 แต่ปัจจุบันมาตรการควบคุมการผลิตหรือการจำหน่ายอาหารในระดับพื้นที่หรือทางออนไลน์ยังไม่ทั่วถึง         ผลการวิจัยเรื่อง ความรู้ความเข้าใจและความตระหนักของผู้ประกอบการร้านอาหารและวิสาหกิจชุมชนต่อมาตรการทางกฎหมายและกรรมวิธีกรผลิตอหารทีมีกัญชาเป็นส่วนผสม ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการ 320 คนในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีผู้ประกอบการ 12.6% เข้าใจว่าสามารถใช้ทุกส่วนของกัญชา ผสมลงในอาหาร เครื่องดื่ม ขนมได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ขณะที่ 23.9% คิดว่าสามารถนำกัญชาจากแหล่งใดก็ได้มาประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย และผู้ประกอบการเกิน 50% ไม่ทราบว่าการผสมกัญชาลงในอาหารต้องระมัดระวังเรื่องสารปนเปื้อน เช่นสารโลหะหนัก สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือเชื้อจุลินทรีย์ที่มีโทษ         สรุปภาพรวมเรื่องกัญชาในอาหาร ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจวิธีการใช้กัญชาในอาหารเพียงพอ ยังไม่มีกฎหมายควบคุมกำกับกัญชาโดยเฉพาะ ประกาศ ข้อกำหนด หรือมาตรการของหน่วยงานรัฐต่างๆที่ใช้ยังมีช่องโหว่หรือข้อจำกัดในการตรวจสอบเฝ้าระวังควบคุมให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด ดังนั้นผู้บริโภคยังคงต้องอาศัยความรู้และใช้สิทธิผู้บริโภคในระวังคุ้มครองตนเองควบคู่ไปกับมาตรการของหน่วยงานรัฐข้างต้น

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)