ฉบับที่ 228 นโยบายคมนาคมขนส่งที่ เป็นธรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยองค์กรภาคประชาชน ในเยอรมนี

             วันนี้ผมขอนำเสนอรูปแบบ การร่วมเสนอนโยบาย โดยองค์กรภาคประชาชน ที่ไม่ใช่พรรคการเมือง ในด้านคมนาคม การจราจร และการเดินทางของประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมา ปัญหาด้านการจราจรและการขนส่ง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตเมือง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องปัญหาคุณภาพอากาศ และปัญหาในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพถูมิอากาศ เนื่องจากการกำหนดนโยบายการคมนาคมและการเดินทาง อยู่ในอิทธิพลของพรรคการเมือง และก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาวะของประชาชน
        ซึ่งการก่อตั้งองค์กรภาคประชาชน ในรูปแบบสมาคมซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งแต่ปี .. 1986 มีหลักการสำคัญ คือ เพื่อเปลี่ยนผู้บริโภคจากผู้ดู ให้เป็นผู้เล่นทางการเมือง การมีองค์กรที่เป็นกลางทางการเมืองในรูปแบบสมาคม จึงมีความจำเป็น และมีความสำคัญ เพื่อทำให้เกิดการสร้างแรงกดดันทางการเมืองขอฃประชาชน โดยเฉพาะกับพรรคการเมือง ที่มักจะมีอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร โดยได้รับอิทธิพลจากบริษัทยักษ์ใหญ่ ด้วยการ Lobby
        สำหรับการทำงานขององค์กรลักษณะนี้ มีนโยบายสนับสนุน ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพิ่มการสัญจรทางเท้า เพิ่มการใช้รถยนต์โดยสารสาธารณะ และลด ละเลิกการใช้พลังงานฟอสซิล และเพิ่มเส้นทางการคมนาคมสัญจร และราคาที่เป็นธรรมประชาชนสามารถจ่ายได้ เพื่อที่จะลดปริมาณการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมให้กับลูกหลานในอนาคตในที่สุด
        สำหรับรูปแบบการทำงานของภาคประชาสังคมที่มีความยึดโยงและใกล้ชิด กับประชาชน ในประเทศเยอรมนี คือ สมาคมเพื่อการคมนาคมแห่งเยอรมนี (Verkehrsclub Deutschland e.V.)
        ตัวอย่างประเด็นการขับเคลื่อน นโยบายด้านการจราจรและคมนาคม
        ·        นโยบาย ด้าน การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สมาคมไม่ได้ต่อต้านการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แต่สนับสนุนและให้ความรู้กับประชาชนในการรู้จักเลือกใช้รถยนต์ส่วนบุคคลอย่างฉลาด ตลอดจนตรวจสอบความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของรถยนต์แต่ละยี่ห้อ เสนอทางเลือกการเดินทางนอกเหนือจากรถยนต์ส่วนบุคคล การลดระดับมลพิษทางด้านเสียงและอากาศ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทาง เพื่อประโยชน์สุขของทุกคน
        ·         นโยบายการเดินทางด้วยระบบราง เนื่องจากวิถีชีวิตของคนในสังคมปัจจุบัน การเดินทางไม่ว่าจะเดินทางไปทำงาน เดินทางท่องเที่ยว เดินทางเพื่อทำการค้า ทำธุรกิจ หรือการเดินทางเพื่อไปพบปะญาติมิตร ในแต่ละวันจะมีผู้คนเป็นจำนวนหลักหลายล้านที่อยู่ระหว่างการเดินทาง ดังนั้น การใช้ระบบรางในการเดินทาง จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญ เนื่องจาเป็นระบบขนส่งคนจำนวนมากที่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ ประเด็นสำคัญที่จะต้องคำนึง คือ เรื่อง ราคาที่ทุกคนสามารถจ่ายได้
    ·        นโยบายการใช้รถไฟฟ้า (Electromobility) ปัจจุบันมีคำถามว่า เป็นกระแส หรือเป็นทางรอดของมนุษยชาติ สำหรับ นโยบายเรื่องรถไฟฟ้า จะต่างจาก รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Personal Car) ที่เรากำลังขับเคลื่อนกันอยู่ สำหรับประชาชนชาวเยอรมันปัจจุบัน มากกว่า 2 ใน 3 ที่เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นแบบ Electromobility และใช้จักรยานไฟฟ้า ไม่น้อยกว่า 4 ล้านคนต่อวัน
        ·        นโยบายการใช้รถบัสในการเดินทางระยะไกล เนื่องจากในปี 2013 ได้เริ่มอนุญาตให้มีการเดินรถบัสสาธารณะ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางไกล นอกเหนือจากการใช้รถไฟ ในอดีตตั้งแต่ปี 1930 มีการห้ามการเดินรถบัส ในเส้นทางที่มีรถไฟให้บริการอยู่แล้ว ยกเว้นเส้นทางไปสู่สนามบิน หรือ เส้นทางในเมืองที่แสดงสินค้า (Expo City) ในกรณีนี้ ทางสมาคมมีจุดยืนในการเลิกระบบผูกขาด ด้วยระบบการเดินทางระบบรางเพียงอย่างเดียว แต่สนับสนุนให้มีทางเลือก ในการเดินทาง เพื่อสนับสนุนการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
        ·        การเดินทางทางอากาศ กระแสการเดินทางทางอากาศที่เป็นที่นิยม ด้วยราคาที่ดึงดูดและล่อใจผู้โดยสาร ทำให้ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากการเดินทางทางอากาศ ตั้งแต่ปี 1990 และถ้าพิจารณากระแสความนิยมการเดินทางทางอากาศทั่วโลก ก็จะส่งผลให้ เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแทบเป็นไปไม่ได้เลย สมาคมมีจุดยืนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางทางอากาศ มาตรการในการจัดการเรื่องนี้ คือ การใช้ระบบ CO2 – Emission trade ซึ่งในปี 2020 จะเริ่มมีการใช้ เครื่องมือนี้ ทั่วโลกในการจัดการกับปัญหาก๊าซเรือนกระจกจาการเดินทางทางอากาศ 
        ·        การเดินทางทางเท้า ซึ่งถือว่าเป็นการเดินทางรูปแบบหนึ่ง ในประเทศเยอรมนีเอง ก็ยังมีนโยบายในการสนับสนุนการเดินทางด้วยการเดิน น้อย และมักให้สิทธิพิเศษกับ รูปแบบการเดินทางด้วยรถ หรือ รถยนต์ในการใช้ถนนสาธารณะ ภายใต้แนวคิด การไหลของการจราจรของรถยนต์ แทนที่จะมีแนวคิดให้ เกิดการไหลของการจราจรแก่คนเดินเท้า ซึ่งสมาคมสนับสนุนให้เกิดการไหลของการจราจรของคนเดินเท้า ซึ่งจากแนวคิดนี้ จะไปสนับสนุนให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี กับผู้คนในเมือง เพราะจราจรคือ ชีวิตของผู้คน ไม่ใช่ชีวิตของรถยนต์
        ·        การขนส่งสินค้า จำนวนสินค้าที่ขนส่งในประเทศเยอรมนีแต่ละปี  คือ 4,500 ล้านตัน หรือเท่ากับ 50 ตัน ต่อประชากรเยอรมนี 1 คน และในรอบ 25 ปี อัตราการขนส่งสินค้า เพิ่มเป็น 2 เท่า ส่วนใหญ่ ใช้การขนส่งผ่านรถบรรทุก ซึ่ง มีการปล่อยก๊าซจากการเผาไหม้ เครื่องยนต์ดีเซล ทางสมาคม จึงเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปนโยบายการขนส่ง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการเรียกเก็บภาษี และค่าธรรมเนียมจากการปล่อยมลพิษ ที่สะท้อนต้นทุนจริงในการขนส่ง และสนับสนุนให้ใช้การขนส่งระบบราง และการขนส่งทางเรือ ในการขนส่งสินค้าที่ต้นทุนต่ำกว่า
        ·        นโยบายสนับสนุนการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดกรปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการคมนาคมขนส่ง เนื่องจาก 90 % ของพลังงานที่ใช้ในระบบคมนาคมขนส่ง มาจาก พลังงาน ฟอสซิล ในประเทศเยอรมนี 1 ใน 5 ของก๊าซเรือนกระจกมาจากการคมนาคมขนส่ง และ 96% มาจากการปล่อยก๊าซจากท่อไอเสียของรถยนต์และรถบรรทุก ซึ่งเยอรมนีมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2050 เพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
        ·        นโยบายอากาศสะอาด สำหรับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอากาศสะอาดคือ ชีวิต มนุษย์และสิ่งแวดล้อมจะดำรงอยู่ได้ภายใต้อากาศที่สะอาด ควันพิษจากรถยนต์ และเขม่าควันดำ เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งและโรคทางเดินหายใจ เป็นต้นทุนของสังคมที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง
        ·        การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเมือง เป็นทางเลือกที่สำคัญ กว่าการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ดังนั้นนโยบายนี้จึงต้องเพิ่มการเข้าถึงให้ทุกคนสามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้ และผู้โดยสารใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวกปลอดภัย ในราคาที่เป็นธรรม
        ·        การเดินทางของผู้สูงวัย และการเดินทางของคนทุกวัย เนื่องจากการเดินทางเป็นส่วนหนึ่งของคุณภาพชีวิตที่สำคัญ และเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการมีส่วนได้ส่วนเสียของสังคม และของปัจเจก ดังนั้นคนสูงวัยก็มีความจำเป็นที่จะสามารถเดินทางได้ ไม่ว่าจะเป็น การเดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะ การใช้ถนน เส้นทาง โดยมีประเด็นในการขับเคลื่อนคือ ความปลอดภัย ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพึ่งพาตนเองได้
        ·        การอบรมให้ความรู้ในเรื่องการคมนาคมและจราจรแก่ เด็กและคนสูงวัย ที่เป็นธรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก เด็กคืออนาคตของชาติ สมาคมให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ การฝึกอบรมกับเด็กและวัยรุ่น และ ผู้สูงวัย ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ต้องอาศัย แนวความคิดใหม่
    ·        การเดินทางแบบหลากหลาย และการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างการเดินทาง (Multimodality and Intelligent Networking on the Ways)
แนวความคิดการเดินทางแบบนี้ คือ ไม่ได้มีรถยนต์ส่วนตัว แต่ มีรถยนต์แบบ car sharing ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและรถโดยสารสาธารณะ ที่เชื่อมต่อโดยผ่านทางเครือข่ายข้อมูลการเดินทาง สำหรับการเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัวในเมืองใหญ่ มีภาระที่ต้องแบกรับมากไม่ว่าจะเป็น ที่จอดรถ เงินประกัน และภาษี
        ·        การเดินทางด้วยรถจักรยาน เป็นรูปแบบการเดินทางที่มีประโยชน์ ทั้งในแง่สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม การเดินทางด้วยจักรยานในเมือง ใช้เวลาน้อยกว่าในการถึงจุดหมาย ดังนั้นสิ่งที่สมาคมเรียกร้อง ในการขับเคลื่อนนโยบายการใช้จักรยานในเมืองคือ มีที่จอดรถจักรยานสาธารณะที่เพียงพอ และปลอดภัย มีการลงทุนสร้างทางจักรยานที่ได้คุณภาพและปริมาณ ของเส้นทางที่เชื่อมต่อกัน และมีกฎหมายที่อนุญาตให้นำรถจักรยานขึ้นไปบนรถโดยสารสาธารณะได้
        ·        นโยบายความปลอดภัยบนท้องถนน ในปี 2017 มีคนเสียชีวิตบนท้องถนนจากอุบัติเหตุ ถึง 3,177 คน อีก 390,000 คน ได้รับบาดเจ็บ การขับเคลื่อนให้เกิดการจำกัดความเร็วบนท้องถนน เป็น เรื่องหนึ่งในอีกหลายเรื่องที่มีความสำคัญ แต่อย่างไร ก็ตามในระดับนโยบายมีการขยับน้อยมากในเรื่อง นโยบายความปลอดภัยบนท้องถนน 
        ·        นอกจากนี้ ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่สมาคมให้ความสำคัญและทำงานขับเคลื่อนอยู่ไม่ว่า จะเป็น เรื่อง การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน การเดินทางและที่อยู่อาศัย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การออกแบบนโยบายการคมนาคมขนส่งสาธารณะ
        ผลงานที่สำคัญ คือ การได้รับการชื่นชมจากคณะกรรมการ UNESCO แห่งเยอรมนี ถึง 2 ครั้ง ในประเด็นการให้ความรู้แก่สาธารณะในเรื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2011/2012 และ ปี 2013/2014
        แนวทางการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม ในประเด็นการคมนาคมขนส่ง ในประเทศเรา สามารถเรียนรู้จากองค์กรนี้ได้ และประยุกต์ให้เข้ากับบริบททางสังคมของประเทศเรา
        แหล่งข้อมูล เวบไซต์ของสมาคมเพื่อการคมนาคมแห่งเยอรมนี (Verkehrsclub Deutschland e.V.) https://www.vcd.org/startseite/

แหล่งข้อมูล: ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง ประธานอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค คมนาคม ขนส่ง สิ่งแวดล้อม

ฉบับที่ 235 แนวความคิดและผลการศึกษาหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (Unconditional Basic Incomes)

        หลักการรัฐสวัสดิการคือ การที่เราเมื่อมีอาชีพมีรายได้ก็ต้องเสียภาษีและส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามสัดส่วนของรายได้ โดยที่เงินที่เรานำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมจะเป็นหลักประกันทางการเงินในกรณีที่เราเจ็บไข้ได้ป่วย เราสามารถใช้เงินจากกองทุนในการรักษาพยาบาล กรณีตกงานหรือเลิกจ้างก็สามารถได้รับเงินทดแทน จนกระทั่งเราได้งานใหม่และมีรายได้กลับคืนมาอีกครั้ง หรือกรณีบำนาญชราภาพเราก็มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน          เงื่อนไขดังกล่าวถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบประกันสังคม ที่หลายๆ ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการได้ใช้กันมาตั้งแต่มีการเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมีการใช้แรงงานมนุษย์และเครื่องจักรอุตสาหกรรมในการผลิตสินค้า ซึ่งรูปแบบดังกล่าวมีข้อจำกัดคือใช้ได้กับคนที่ประกอบอาชีพมีรายได้ประจำเท่านั้น  ปัจจุบันจึงมีแนวคิดในเรื่องการประกันรายได้ขั้นต่ำให้กับทุกคนในสังคมตั้งแต่เกิดจนตาย คือแนวความคิดเรื่องหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (unconditional basic incomes) หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไขคืออะไร         หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข หรือ unconditional basic incomes คือ ประชาชนทุกคนในประเทศ จะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งจำนวนเงินที่จะได้รับนั้นเพียงพอในการดำรงชีพขั้นพื้นฐานเรียกได้ว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการที่จะมีรายได้ดำรงชีพ อย่างไรก็ตามแนวความคิดดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงและสร้างความสงสัยให้กับหลายๆ คนว่า        1. คนเราไม่จำเป็นต้องมีอาชีพมีงานทำต่อไปใช่หรือไม่ ?        2. งานบางประเภทจะสูญหายไปถ้าค่าตอบแทนไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ?        3. หลักการนี้ ไม่สามารถปฏิบัติได้เพราะใช้เงินจำนวนมาก ?        4. หลักการนี้ส่งให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและราคาสินค้าจะแพงขึ้น ?        5. หลักการนี้ไม่ยุติธรรม เพราะคนรวยก็มีสิทธิได้รับเงินเหมือนกัน ?        6. หลักการนี้จะเหมือนกับเป็นการลงโทษคนขยันที่ยังทำงานอยู่ ?        7. หลักการนี้จะเป็นจุดจบของรัฐสวัสดิการ ?        8. หลักการนี้จะนำไปสู่สังคมของความเห็นแก่ตัว ?          จากแนวความคิดและคำถามตลอดจนข้อสงสัยต่อประเด็นดังกล่าวเบื้องต้น ได้มีกลุ่มคนที่สนใจสวัสดิการรูปแบบนี้ ก่อตั้งเป็นสมาคมเพื่อหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานขึ้น (Mein Grundeinkommen e.V. Gemeinnützig) เพื่อทำการทดลองเชิงปฏิบัติการ (Social Experiment) โดยที่องค์กรนี้จะทำหน้าที่ระดมเงินเพื่อนำมาให้กับคนที่ต้องการรายได้ขั้นต่ำที่แน่นอนทุกเดือน เดือนละ 1000 ยูโร เป็นระยะเวลานาน 1 ปี กระบวนการคัดเลือกคนที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ใช้กระบวนการสุ่ม เหมือนกับการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลแต่ไม่ต้องใช้เงินซื้อแต่ต้องลงทะเบียนเพื่อแสดงความประสงค์ในการเข้าร่วมการทดลองโครงการของสมาคมนี้ เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.  2014 มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1.8 ล้านคน        บทเรียนและข้อสรุปที่ได้จากผลการศึกษานี้        1 คนที่ได้รับรายได้ขั้นพื้นฐานโดยที่ไม่มีเงื่อนไขจะเปลี่ยนจากคนที่ไม่มีความเชื่อมั่นมามีความเชื่อมั่นในอนาคตและรู้สึกมั่นคงกับชีวิต ประเด็นนี้ไม่ได้อยู่ที่เงินแต่อยู่ที่การได้รับเงินแบบไม่มีเงื่อนไขคนรู้สึกเป็นอิสระ เมื่อคนในสังคมรู้สึกมั่นคง สังคมก็จะมั่นคง        2 เดิมคนที่มีรายได้น้อยและได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการพบว่า เกิดการเปลี่ยนแปลง คนเหล่านี้เริ่มลงทุนในชีวิตอย่างฉลาดไม่ว่าจะลงทุนในการศึกษามาเรียนเพิ่มวุฒิเพิ่มประสบการณ์ หรือมีอาชีพอิสระเริ่มยอมรับกับความเสี่ยงในการที่จะได้งานที่มีค่าตอบแทนสูงหรือเริ่มซื้อของใช้ที่เดิมอาจไม่มีกำลังซื้อ          สำหรับคนที่มีรายได้ดีอยู่แล้ว และได้รับการเช้าร่วมโครงการนี้พบว่า ตนเองมีอิสระมากขึ้นและเมื่อย้อนกลับมาดูอดีตของตนที่ผ่านมาพบว่า ตนเองต้องเผชิญกับความเครียดและความกลัวในชีวิต ในช่วงปีที่ได้รับเงินจากโครงการชีวิตตนเองผ่อนคลายมีเวลาให้กับตนเองในการทบทวนบทบาทหน้าที่และมีความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าหลายๆ คนจะไม่ได้ใช้เงินจากโครงการนี้เลย         ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงแค่ตัวอย่างจากผลการทดลองทางสังคมในเยอรมนีเกี่ยวกับหลักประกันรายได้ขั้นต่ำสำหรับทุกคน ครั้งหน้าจะมาสรุปผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้กันต่อครับ         แหล่งข้อมูล เวบไซต์ของสมาคม เพื่อหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานขึ้น (Mein Grundeinkommen e.V. Gemeinnützig)https://www.mein-grundeinkommen.de/erkenntnisse/was-ist-es

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 233 ปัญหาการขอยกเลิกเที่ยวบิน ในสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรง (Covid-19)

        ปัญหาการแพร่ของโรคระบาดร้ายแรง ของเชื้อไวรัส โควิด 19 ส่งผลให้ ผู้บริโภคที่ได้จองตั๋ว แพ็คเกจการท่องเที่ยว ซึ่งหมายถึง การเดินทางโดยเครื่องบิน และการจองที่พักในโรงแรม ผ่าน บริษัทตัวแทน พักไม่สามารถบินไปได้ เนื่องมาจากมาตรการของรัฐในการปิดสนามบิน เพื่อลดปัญหาการนำเชื้อไวรัสดังกล่าวเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศ ปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีให้ความสำคัญ         ข้อเสนอของรัฐบาลเยอรมนี ในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และป้องกัน การล้มละลายของภาคธุรกิจ คือการให้ภาคธุรกิจสามารถออกคูปอง มูลค่าเท่ากับราคาของแพ็คเกจ เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น และถ้าสถานการณ์ในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงดีขึ้น ก็สามารถนำคูปองชดเชยนั้นมาใช้ได้ มาตรการนี้ ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมีความเห็นพ้องกับรัฐบาลสำหรับมาตรการดังกล่าว ในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ซึ่งเห็นว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเลือกการได้รับการชดเชย ที่ผู้บริโภคพอใจ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกขอรับคูปอง หรือการขอคืนเป็นเงินสด         ถึงแม้ว่า ประเด็นทางกฎหมายจะชัดเจนแล้วสำหรับ กรณีการชดเชยความเสียหาย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมียอดเงินที่ยังคงค้างอยู่จาก การซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบิน เป็นมูลค่าถึง 4,000 ล้านยูโร ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว ก็ยังคงใช้เล่ห์เหลี่ยมในการเอาเปรียบ และคดโกงผู้บริโภค โดยหลอกผู้บริโภคว่า ไม่สามารถคืนเงินได้ หรือ การคืนเป็นเงินจะต้องเสียค่าธรรมเนียมที่สูงมาก และมักจะขอเวลาในการคืนเงินที่ยาวนานผิดปกติ          จากการติดตามสถานการณ์ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี จึงได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และอาสาเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้บริโภคและประชาชนที่เดือดร้อน          เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ของไทย ก็พบว่า ไม่แตกต่างกัน และในส่วนของคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการ ก็มีมติเห็นชอบในการติดตามประเด็นเรื่องนี้ และกำลังรวบรวมข้อมูลการร้องเรียน ตลอดจนกำลังประสานกับคณะกรรมาธิการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรในการจัดการปัญหา การละเมิดสิทธิผู้บริโภค ต่อประเด็นการชดเชยความเสียหายที่ล่าช้า หรือ การไม่สามารถชดเชยความเสียหายในการยกเลิกสัญญาภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับ การล้มละลายของผู้ประกอบธุรกิจ ที่มีข้อเสนอว่า รัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือผู้บริโภค ในกรณีที่ สายการบินขอให้ภาครัฐช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือมาตรการความช่วยเหลือทางการเงินอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถาการณ์ โควิด 19 โดยเฉพาะสายการบินที่มีสัญชาติไทยเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัทสายการบินนกแอร์จำกัด (มหาชน) และสายการบินนกสกู้ต จำกัด ที่ขอจดทะเบียนเลิกบริษัท ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า        สำหรับข้อมูลการร้องเรียนกรณีปัญหาการยกเลิกตั๋วเครื่องบินทั้งจากการซื้อด้วยตนเอง มีผู้ร้องเรียน 172 ราย และซื้อผ่านเอเจนซี่ จำนวน 71 ราย จากศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (ข้อมูล ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2563)กรณีการซื้อตั๋วเครื่องบินด้วยตนเอง สามารถยุติข้อพิพาทได้ 40 ราย คิดเป็น 23 % กรณีการซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านเอเจนซี่ สามารถยุติข้อพิพาทได้ 13 ราย คิดเป็น 18 %สำหรับการยุติเรื่องร้องเรียนมีหลายกรณีที่น่าสนใจ เช่น        ·  ได้รับเงินคืนเต็มจำนวน        ·  สามารถเก็บเครดิตไว้ใช้ครั้งต่อไป        ·  เก็บวงเงินไว้ใช้ภายใน 2 ปี        ·  สามารถเลื่อนตั๋วโดยสารได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย        ·  ได้รับเครดิตการบิน ชดเชย เป็น 120 %สำหรับการยุติเรื่องที่ซื้อตั๋วโดยสารผ่านเอเจนซี่ ก็มีลักษณะคล้ายๆกันไม่ว่าจะเป็น        · ได้รับเงินคืน        ·  ได้รับเงินคืนผ่านบัตรเครดิต        · ได้รับเงินคืน แต่ถูกหักค่าดำเนินการ/ค่าธรรมเนียม        ·  ได้รับเครดิตเงินคืน ที่สามารถใช้ได้ภายใน 1 ปี        ·  ได้รับการเลื่อนเที่ยวบิน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย          สำหรับรูปแบบการชดเชย เยียวยาผู้โดยสารนั้น จะสังเกตได้ว่า มีช่องทางการคืนเงิน ผ่านบัตรเครดิต ถ้าพิจารณาเพียงผิวเผิน ก็อาจเป็นที่น่าพอใจ แต่ผู้บริโภคต้องคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต ที่ปัจจุบันคิดอัตราดอกเบี้ยไว้สูงมาก ตั้งแต่ 20- 28% และกรณีผู้โดยสาร ต้องการเงินสด การถอนเงินสดจากบัตรเครดิต ก็จะถูกคิดค่าธรรมเนียมการถอนแต่ละครั้ง ประมาณ 3 % จะเห็นได้ว่า ผู้บริโภค/ผู้โดยสาร มีต้นทุนสูงกว่ามากถ้าต้องการเงินสดที่มีวงเงินอยู่ในบัตรเครดิต         ดังนั้น ผมจึงคิดว่า การได้รับเงินชดเชยคืน ควรจะอยู่ในรูปแบบเงินสด เช็คเงินสด หรือ โอนเข้าบัญชี ธนาคารครับสำหรับผู้โดยสารที่ประสบปัญหาเรื่อง การคืนตั๋วโดยสารเครื่องบินก็สามารถ ร้องเรียนผ่านศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้นะครับ เบอร์โทร 02-2483737 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น. – 17.00 น. หรือ สามารถร้องเรียนออนไลน์ ได้ที่www.consumerthai.org ตามหลักการที่ว่า ร้องทุกข์ 1 ครั้งดีกว่า บ่น 1,000 ครั้ง(แหล่งข้อมูล https://www.vzbv.de/pressemitteilung/pauschalreisen-gutscheine-bleiben-freiwillig-erstattungen-lassen-auf-sich-warten )

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 232 วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ศิลปะในการแสดงความเห็นออนไลน์

        ไม่ว่าจะบนโซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มรีวิวเรื่องต่างๆ เราสามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับใคร ในเรื่องใดก็ได้ แต่เพราะเราไม่ได้นั่งอยู่กับคนที่เรากำลังวิจารณ์ รวมถึงการแสดงความเห็นแบบไม่ระบุชื่อ อาจทำให้หลายคนแสดงความเห็นด้วยความโกรธ ความผิดหวัง หรือเกลียดชัง โดยไม่มีการกลั่นกรอง แต่การใช้แพลตฟอร์มบนอินเทอร์เน็ตเพื่อแสดงความคิดเห็นก็ไม่ต่างจากการใช้รถใช้ถนนบนโลกจริง การแสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นออนไลน์ จะต้องคำนึงถึงกฎและมารยาทเช่นกัน         ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออกทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่การเขียนสิ่งที่เป็นโดยไม่ตรงกับความจริงนั้นอาจมีผลทางกฎหมาย แม้แต่เรื่องที่เราอาจจะมองข้าม เช่นการเขียนวิจารณ์ว่า "ผมว่าพิซซ่าร้านนี้ไม่อร่อย" นั้นถือเป็นการแสดงความคิดเห็น แต่ถ้าเขียนว่า "ร้านนี้เอาพิซซ่าแช่แข็งมาอุ่นให้ลูกค้า" อาจเข้าข่ายการใส่ความ หากทางร้านไม่ได้ทำเช่นนั้นจริง ความแตกต่างระหว่าง การแสดงความคิดเห็นและการตั้งข้อกล่าวหา อาจมีเพียงเส้นบางๆ กั้นอยู่         ดังนั้นก่อนจะแสดงความคิดเห็น เราควรคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้        1. ตั้งอยู่บนความจริง        การวิพากษ์วิจารณ์ร้านค้าหรือบริการต่างๆ นั้นได้รับการคุ้มครองตามหลักเสรีภาพในการแสดงออก โดยมีเงื่อนไขว่าต้องทำการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นธรรม พยายามกล่าวอ้างตามข้อเท็จจริง  ระวังอย่าให้อารมณ์มาเป็นตัวกำหนด เพราะอาจทำให้ความเห็นของเรากลายเป็นการใส่ร้าย ซึ่งอาจมีผลทางกฎหมาย        2. การเปิดเผยข้อมูล        เมื่อเข้าใช้ระบบโซเชียลมีเดียต่างๆ ให้คิดอย่างรอบคอบว่าใครอ่านความเห็นของเราได้บ้าง ตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว เพื่อดูว่าใครสามารถเข้ามาดูข้อมูลโปรไฟล์และกิจกรรมของเราได้        3. อย่าใช้อารมณ์นำ        ถ้าเราได้แสดงความเห็นออกไป ที่เข้าข่ายดูถูกเหยียดหยามหรือใส่ร้ายผู้อื่นโดยไม่มีมูลความจริง ขอให้รีบลบโพสต์นั้นโดยเร็วที่สุด อย่าเผยแพร่ข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยัน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับนายจ้างหรือเพื่อนร่วมงาน เพราะถ้าถูกส่งต่อไป อาจทำให้ถูกออกจากงานได้         โดยทั่วไปไม่มีใครต้องกังวลเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็น แม้จะเป็นในด้านลบ ถ้าสิ่งที่กล่าวนั้นเป็นธรรม ตั้งอยู่บนความจริงและเป็นการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ โดยหลักการแล้วการวิจารณ์ไม่ควรมุ่งทำร้ายผู้อื่นหรือเป็นการแก้แค้น        วิจารณ์อย่างไรให้ได้ผล        · แนะนำว่าปรับปรุงอย่างไรได้บ้าง ดีกว่าที่จะเขียนแค่ว่าอะไรต้องปรับปรุง หรือแค่ติว่าอะไรไม่ดี        · วิจารณ์ในสิ่งที่เราได้สัมผัสหรือประสบมาด้วยตัวเองเท่านั้น        · เน้นว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของเราเอง เช่น "ผมคิดว่ากาแฟเข้มไปหน่อย"        · ไม่อ้างข้อเท็จจริงที่เราไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน        · ไม่เปิดเผยชื่อบุคคล (อาจมีข้อยกเว้น)        สำหรับเจ้าของกิจการ หรือผู้ที่ทำงานกับผู้คนนั้น มักจะตกเป็นเป้าหมายของการประเมินและวิพากษ์วิจารณ์เสมอ  โดยทั่วไปผู้มีอาชีพในกลุ่มนี้ ต้องยอมรับคำวิจารณ์เกี่ยวกับบริการของพวกเขา แต่เมื่อพบเจอกับการวิจารณ์ที่ไม่เป็นธรรม อาจใช้วิธีจัดการเบื้องต้นดังนี้         · ในคำวิจารณ์ที่รุนแรง มักมีคำแนะนำที่นำไปใช้ในการปรับปรุงการบริการที่สามารถนำไปใช้ได้ซ่อนอยู่เสมอ        · ระบบโซเซียลหรือแพลตฟอร์มบางแห่ง อนุญาตให้เจ้าของกิจการเข้าไปชี้แจงต่อคำวิจารณ์ได้ ให้รีบเข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริง จะสามารถลดความเสียหายจากความคิดเห็นที่ไม่เป็นธรรมได้        · หากพบคำวิจารณ์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ให้ติดต่อกับทางเจ้าหน้าที่ของแพลทฟอร์มนั้นโดยตรง ถ้าไม่สำเร็จอาจต้องให้ทางกฏหมายจัดการ        · สำหรับเรื่องที่ผิดกฏหมายอย่างชัดเจน ควรไปแจ้งความ         ผู้รับคำวิจารณ์ควรตระหนักว่า การแสดงความคิดเห็นบนอินเทอร์เน็ตมักจะแตกต่างจากการพูดคุยกันแบบตัวต่อตัวเสมอ การที่ไม่ต้องระบุตัวตนอาจทำให้ผู้วิจารณ์ขาดความระมัดระวังในการใช้คำพูด ส่วนทางผู้วิจารณ์เองก็ควรจะระลึกว่าอีกฝั่งหนึ่งก็เป็นคนเหมือนกัน ควรยึดหลักการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้ผู้ถูกวิจารณ์ได้นำความคิดเห็นนั้นไปใช้ปรับปรุงบริการต่อไป

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 231 สภาองค์กรผู้บริโภคเกิดช้า ผู้บริโภคมีแต่เสียประโยชน์ (2)

        อีกบทบาทสำคัญของสภาองค์กรผู้บริโภค คือการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคให้มีความเข้มแข็ง เพื่อทำหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับพื้นที่  โดยช่วยเหลือในการปฏิบัติการในชุมชน เฝ้าระวังการจำหน่ายหรือโฆษณาสินค้าที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น การเฝ้าระวังยาชายแดน หรือการเฝ้าโฆษณาวิทยุที่เกี่ยวกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพชวนเชื่อให้เข้าใจผิดเรื่องการลดความอ้วน รักษาโรค เสริมสมรรถภาพทางเพศ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอกลวงจากโฆษณา  ในทุกวันนี้ เราต้องยอมรับว่าปัญหาผู้บริโภคมีหลากหลาย ลำพังเพียงหน่วยงานรัฐทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ไม่สามารถดูแลช่วยเหลือผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นการมีเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจึงมีความสำคัญในการช่วยสอดส่อง เฝ้าระวัง และรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ของผู้บริโภค ในพื้นที่ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคได้ง่าย และองค์กรผู้บริโภคต่างๆ ก็จะทำหน้าที่เก็บข้อมูล ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือแก่ผู้บริโภคในการแก้ไขปัญหา และเอาผลการดำเนินการต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาขับเคลื่อนในการทำงานระดับจังหวัดหรือภูมิภาค        อย่างไรก็ตาม องค์กรผู้บริโภคที่มีอยู่ ไม่ได้เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่แสวงหากำไร ดังนั้น รายได้ขององค์กรจึงมาจากเงินบริจาค หรือการขายสินค้าเล็กๆ น้อยๆ  และต้องทำโครงการของงบประมาณจากหน่วยงานรัฐ ทำให้มีข้อจำกัดหลายอย่าง จึงจำเป็นต้องมี สภาองค์กรผู้บริโภคในการให้ความสนับสนุนทั้งในเรื่องงบประมาณและพัฒนาคนทำงาน  ซึ่งสภาองค์กรผู้บริโภคก็จะเข้าไปสนับสนุนให้เกิดองค์กรผู้บริโภคที่มีคุณภาพ มีคนทำงานที่มีศักยภาพ เช่น สนับสนุนการจัดอบรมพัฒนาความรู้เกี่ยวกับสิทธิ กฎหมายผู้บริโภคใหม่ๆ พัฒนาการใช้ระบบฐานข้อมูล การทำงานเฝ้าระวัง เป็นต้น  และบ่อยครั้งที่พบว่าผู้บริโภคซึ่งได้รับการช่วยเหลือ อยากนำประสบการณ์และความรู้ของตนเองกลับมาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลืองานองค์กรผู้บริโภค ซึ่งสภาองค์กรผู้บริโภคก็มีส่วนส่งเสริมให้อาสาสมัครผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้นได้รับการพัฒนาศักยภาพความรู้เรื่องสิทธิผู้บริโภค เพื่อมาช่วยเหลือผู้บริโภคคนอื่นๆ ต่อไป         แต่ที่ผ่านมากระบวนการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคมีความล่าช้า เห็นได้จากกฎหมายต้องการเพียง 150 องค์กรที่ผ่านการจดแจ้งมารวมตัวกันเป็นผู้ริเริ่มก่อการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค แต่ ณ วันนี้ เวลาผ่านไปกว่า 8 เดือนมีองค์กรผู้บริโภคมากกว่า 1,000องค์กรขอจดแจ้ง แต่มีเพียง 58 องค์กรเท่านั้นที่มีผ่านการจดแจ้งและได้รับการประกาศชื่อเป็นทางการ  จึงเกิดคำถามต่อการทำงานของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ในฐานะนายทะเบียนกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายเพื่อรับจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภค อาจมีคนสงสัยว่ากฎหมายไม่กำหนดกรอบเวลาในการรับจดแจ้งไว้หรือ คำตอบคือไม่ใช่ การรับจดแจ้งกฎหมายกำหนดเวลาไว้ชัดเจนว่านายทะเบียนต้องเร่งดำเนินการพิจารณาคำขอจดแจ้งให้เสร็จภายใน 60 วัน และหากทำไม่ทันสามารถขอขยายได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน หรือสรุปสั้นๆ คือเต็มที่มีเวลาตรวจสอบนานถึง 4 เดือน แต่ปรากฏว่าจนทุกวันนี้ เวลาที่กฎหมายให้ไว้ก็หมดไปแล้ว หลายองค์กรยังไม่ได้รับการประกาศผลจดแจ้ง หลายองค์กรนายทะเบียนจังหวัดตรวจสอบผ่านแล้ว ส่งชื่อมาให้ สปน.ประกาศ ก็ยังไม่มีการดำเนินการ          บางองค์กรที่ได้รับแจ้งผลว่าไม่ผ่านการจดแจ้ง ก็ถูกตีความกฎหมายในเรื่องการเป็นองค์กรที่ถูกครอบงำหรือจัดตั้งโดยผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล หน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ  ซึ่งการตรวจสอบจะพิจารณาจากเพียงการดูว่ากรรมการคนใด มีชื่อเป็นกรรมการบริษัทที่ไหนบ้าง หรือเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรืออาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐใดบ้าง ไม่ได้มีหลักฐานแสดงให้เห็นชัดว่าบุคคลดังกล่าวมีพฤติกรรมหรือพฤติการณ์ครอบงำหรือได้จัดตั้งองค์กรผู้บริโภคนั้นอย่างไรบ้าง         นอกจากปัญหาการตีความกฎหมายไปในทางจำกัดสิทธิองค์กรผู้บริโภคของนายทะเบียนที่รับจดแจ้งทั้งส่วนกลางและนายทะเบียนจังหวัดแล้ว พบว่ามีการใช้อำนาจเกินกฎหมาย ในหลายจังหวัดนายทะเบียนจังหวัดตรวจสอบองค์กรและออกหลักฐานรับจดแจ้งไปแล้ว แต่ สปน. กลับตรวจสอบเอกสารหลักฐานซ้ำ และให้ขอให้นายทะเบียนจังหวัดกลับไปตรวจสอบใหม่อีกครั้ง ทั้งที่อำนาจในการตรวจสอบและรับจดแจ้งเป็นของนายทะเบียนจังหวัด สปน.ไม่มีสิทธิและมีหน้าที่เพียงแค่ประกาศชื่อองค์กรที่รับจดแจ้ง ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการสร้างขั้นตอนเกินสมควรทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค        จากหลายปัญหาที่กล่าวข้างต้น องค์กรผู้บริโภคก็ได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ สปน. ให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ให้ตรวจสอบและเร่งรัดกระบวนการตรวจสอบของ สปน. รวมถึงการตีความกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิองค์กรผู้บริโภค ร้องเรียนต่อศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับผิดชอบกฎหมายพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภครวมถึงจัดเวทีวิชาการ รวมตัวองค์กรผู้บริโภคไปแสดงเจตนารมณ์ที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อเรียกร้องให้ สปน.เร่งรัดประกาศรายชื่อองค์กรผู้บริโภคให้ครบ 150 องค์กรโดยเร็ว          อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดความล่าช้าในการจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภค ส่งผลทำให้การจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคล่าช้า ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ เนื่องจากปัญหาผู้บริโภคเกิดขึ้นทุกวัน สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นตัวแทนของผู้บริโภคระดับประเทศเป็นพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ดังนั้น หากมีสภาองค์กรผู้บริโภคเร็วเท่าใด ก็ย่อมสามารถป้องกันปัญหา ยุติ ยับยั้งการละเมิดสิทธิที่จะเกิดขึ้นได้เร็วเท่านั้น ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับผู้บริโภค         ผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสภาองค์กรผู้บริโภคได้ด้วยวิธีง่ายๆ เพียงช่วยกันโพสต์ปัญหาผู้บริโภคที่ท่านพบในสื่อสังคมออนไลน์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเฟสบุค อินสตราแกรม หรือทวิตเตอร์ และติดแฮชแท๊ก “สภาองค์กรผู้บริโภค” “สิทธิผู้บริโภค”  

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)