ฉบับที่ 229 ร้อง...โรงเรียนไม่สะอาด

        โรงเรียนนั้นเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของลูก ก่อนคุณพ่อคุณแม่จะให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนไหนก็มีการศึกษาข้อมูลโรงเรียนเป็นอย่างดี ยิ่งลูกยังอยู่ในวัยเล็กๆ การดูแลความปลอดภัย สวัสดิภาพ ความสะอาดของโรงเรียนยิ่งต้องมีมากขึ้นด้วย เพราะเด็กเล็กจะติดเชื้อโรคได้ง่าย 
        คุณภูผามีลูกเล็กสองคน ลูกชายวัยสามขวบหนึ่งคน และลูกสาววัยขวบกว่าอีกหนึ่งคน ลูกชายของเขาอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเข้าโรงเรียนชั้นอนุบาล 1 เขาและแฟนจึงได้เลือกโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงใกล้บ้าน เพื่อง่ายต่อการรับส่ง ในเดือนมิถุนายนเด็กนักเรียนในโรงเรียนเริ่มป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก และลูกชายของเขาก็ติดโรคมือเท้าปากจากโรงเรียน จึงต้องหยุดเรียนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ระหว่างลูกชายหยุดเรียนเขาได้ข่าวจากผู้ปกครองทางไลน์กลุ่มว่าที่โรงเรียนมีเด็กป่วยเพิ่มขึ้นตลอด และก่อนให้ลูกชายกลับไปเรียน เขาได้ไปขอใบรับรองแพทย์อีกครั้งว่าลูกชายหายจากโรคมือเท้าปากแล้ว แต่เมื่อลูกชายไปเรียน กลับติดโรคมือเท้าปากอีกครั้ง และครั้งนี้ลูกสาวก็ติดโรคมือเท้าปากด้วย 
        คุณภูผาต้องเสียค่ารักษาพยาบาลของลูกสองคน 2 ครั้งเป็นเงินเกือบ 100,000 บาท เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เขารู้สึกว่าทางโรงเรียนไม่ได้มีมาตรการป้องกันการติดเชื้อ ทำให้ไม่มีความมั่นใจที่จะให้ลูกของเขาเรียนที่โรงเรียนนี้อีกต่อไป จึงได้ติดต่อไปยังโรงเรียนแจ้งลาออกและขอเงินค่าเทอมคืน  
        หลังจากนั้นภูผาได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งช่วยดำเนินการประสานงานกับโรงเรียน ทางโรงเรียนแจ้งเขาว่าจะคืนเงินค่าเทอมให้เพียง 40% เป็นเงินจำนวน 18,800 บาท จากค่าเทอม 47,000 บาท และค่าแรกเข้าอีกรวมเป็นเงิน 62,000 บาท ทั้งที่ลูกชายของเขาเพิ่งไปเรียนได้เพียง 1 เดือนกว่า เมื่อสช.ประสานงานไปยังโรงเรียน โรงเรียนได้มีมาตรการควบคุมโรคโดยปิดโรงเรียนเพียง 3 วัน ซึ่งตามมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนต้องกำหนดมาตรการโรคโดยปิดชั้น หรือปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลา 5 – 7 วัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่โรงเรียนก็ไม่ได้ทำตามมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ และไม่มีมาตรการคัดแยกเด็กนักเรียนที่ป่วยกับไม่ป่วยออกจากกัน ทั้งยังจัดกิจกรรมเล่านิทาน ให้เด็กนักเรียนหลายห้องมารวมกัน จึงทำให้มีการแพร่เชื้อได้ง่าย ภูผารู้สึกว่าถูกโรงเรียนเอาเปรียบจึงร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
 
แนวทางการแก้ไขปัญหา
        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนะนำว่า ผู้ร้องสามารถขอเงินคืนได้ เพราะกรณีดังกล่าวเป็นการผิดสัญญาจ้าง หากโรงเรียนไม่สามารถทำได้ตามสัญญา ผู้ร้องก็มีสิทธิเรียกเงินในส่วนที่เหลือคืน และการที่โรงเรียนได้มีหนังสือแจ้งผู้ร้องแล้วว่าจะคืนเงินให้ 40 % นั้น ถือว่าเป็นการยอมรับการยกเลิกสัญญาแล้ว เพียงแต่ปัจจุบันไม่สามารถตกลงในเรื่องจำนวนเงินที่จะคืนได้  
        ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้เชิญประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างโรงเรียนและผู้ร้อง โดยผู้ร้องเสนอให้โรงเรียนหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามระยะเวลาที่เข้าเรียนและคืนเงินจำนวน 40,000 บาท แต่ตัวแทนโรงเรียน ยืนยันคืนเงิน 40 % ของเงินค่าเล่าเรียนจำนวน 47,000 บาท เป็นเงินจำนวน 18,800 บาท ซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้ ผู้ร้องจึงขอให้ศูนย์พิทักษ์ช่วยเหลือด้านทนายความในการดำเนินคดีกับโรงเรียน 
        ผู้ร้องได้ดำเนินการฟ้องคดีกับโรงเรียนและเจ้าของโรงเรียนเป็นคดีผู้บริโภค เรื่อง ผิดสัญญาให้บริการทางการศึกษา ต่อมาสามารถตกลงกันได้ โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โรงเรียนตกลงคืนเงินค่าแรกเข้าและค่าเล่าเรียนให้กับผู้ร้องเป็นเงินจำนวน 62,000 บาท

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค โรงเรียน ความสะอาด

ฉบับที่ 277 เปิดคลินิกในปั๊มน้ำมันแบบนี้ก็ได้หรือ

        ความปลอดภัยจากสินค้าและบริการ เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพราะหากปล่อยไว้วันหนึ่งความเสียหายอาจมาถึงตัวเราเองและคนใกล้ตัวเข้าสักวัน         วันหนึ่งเมื่อคุณกองฟางพบว่า ในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองสกลนครมีการเปิดคลิกนิกให้บริการทางการแพทย์ เขารู้สึกแปลกใจ เพราะไม่คิดว่า คลินิกจะสามารถตั้งอยู่ในสถานที่เช่นนี้ได้ เพราะโดยปกติในปั๊มน้ำมันจะพบเห็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านสะดวกซื้อเท่านั้น        เมื่อความสงสัยและประหลาดใจเกิดขึ้นแล้ว มันต้องเคลียร์เพื่อไม่ให้คาใจคุณกองฟางจึงได้พยายามสอบถามข้อมูลจากผู้คนต่างๆ และได้รู้ข้อมูลต่อมาว่าในคลินิกแห่งนี้มีผู้อ้างตนว่าเป็นแพทย์ หรือ มีการทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นแพทย์ ทำการตรวจรักษาโรค จ่ายยา ฉีดยา เช่นเดียวกับแพทย์ ก็ยิ่งทำให้ไม่สบายใจมากขึ้น จากความสงสัยในตอนแรกว่าสถานที่ตั้งคลินิกถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะหน้าร้านมีเพียงป้ายระบุชื่อคลินิกขนาดเล็ก ไม่มีป้ายแสดงชื่อผู้ตรวจ ชื่อประเภทและลักษณะการให้บริการ ไม่มีเลขที่ใบอนุญาต จึงนำมาสู่การตั้งคำถามว่าผู้ตรวจรักษาโรค เป็นแพทย์จริงหรือไม่และคลินิกได้รับอนุญาตเปิดคลินิก ถูกต้องหรือไม่ คุณกองฟางจึงเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่ม  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณกองฟาง พร้อมทำหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร เพื่อให้ตรวจสอบว่าคลินิกดังกล่าวได้จดทะเบียนและเปิดให้บริการอย่างถูกต้องหรือไม่ แล้วการอนุญาตให้เปิดในปั๊มน้ำมันนั้นสามารถทำได้หรือไม่         ต่อมาวันที่ 21 มี.ค. 2567 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้รายงานผลการดำเนินการตรวจสอบการขออนุญาตของคลินิกว่าภายหลังจากที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนครได้ลงพื้นที่ตรวจสอบในวันที่ 12 .ก.พ. พบว่า คลินิกที่ถูกร้องเรียนนี้มีปัญหาจริงหลายประการ เจ้าหน้าที่จึงให้การอนุญาตแบบมีเงื่อนไขโดยให้คลินิกปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ต่อมาพบว่า คลินิกดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้ครบถ้วนในระยะเวลาที่กำหนด  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจึงออกคำสั่งยกเลิกและคืนคำขออนุญาตทำให้คลินิกต้องปิดตัวลง           กรณีนี้มีข้อที่ประชาชนควรรู้คือการเปิดคลินิกให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนอยู่ภายใต้การควบคุม กำกับดูแลตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2551 การเปิดให้บริการคลินิกแต่ละประเภทต่างๆ เช่น คลินิกทันตกรรม  คลินิกกายภาพบำบัด  คลินิกเวชกรรมต่างๆ กฎหมายได้กำหนดมาตรฐานที่ผู้ขอเปิดให้บริการต้องดำเนินการไว้แตกต่างกัน...หากประชาชนพบความผิดปกติ หวาดกลัวว่าจะไม่ปลอดภัยสามารถร้องเรียนเรื่องเข้ามาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร้องเรียนโดยตรงได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของแต่ละพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบ บังคับใช้กฎหมายเช่นกรณีนี้         สำหรับกรณีเรื่องสถานที่ตั้งในปั๊มน้ำมันนั้น กฎหมายไม่ได้ระบุชัดว่าได้หรือไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 ซื้อประกันเดินทางแต่ไม่ได้รับความคุ้มครอง

        ปัญหาเคลมประกันไม่ได้ ประกันไม่จ่ายตามเงื่อนไข หรือจ่ายน้อยกว่าที่ตกลงกันไว้ รวมไปถึงการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำประกันภัยเกิดขึ้นอยู่เสมอ ในครั้งนี้คือเรื่องของคุณพีพีกับการประกันการเดินทาง         คุณพีพีได้ซื้อกรมธรรม์การเดินทางภายในประเทศจาก จากบริษัทแห่งหนึ่ง ในระยะ 4 วัน ไปกลับจากกรุงเทพฯ-ขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.- 3 ธ.ค.2566 คุณพีพีนั้นไม่เคยซื้อประกันการเดินทางมาก่อน แต่ก็ได้ลองศึกษาจากเว็บไซต์ รวมถึงพิจารณาเอกสารต่างๆ ที่บริษัทแนะนำแล้วยังโทรไปสอบถามกับเจ้าหน้าที่หลายครั้ง ทั้งยังจำลองเหตุการณ์ต่างๆ ว่าหากบาดเจ็บกรณีต่างๆ ประกันจะได้ครอบคลุมหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ให้คำตอบยืนยันว่า หากการบาดเจ็บเกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง คุณพีพีสามารถเบิกค่าใช้จ่ายกับประกันได้จนกว่าจะรักษาหาย คุณพีพีจึงตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ดังกล่าว         การประกันคือการคุ้มครองความเสี่ยง ดังนั้นคงไม่มีใครอยากจะบาดเจ็บหรือมีทรัพย์สินเสียหาย แล้วเข้าสู่การเคลมประกัน  การซื้อของคุณพีพีครั้งนี้คือ เพื่อความสบายใจ แต่...วันที่ 1 ธ.ค. 2566 คุณพีพีก็เกิดอุบัติเหตุจักรยานยนต์ล้มจากการที่รถตกหลุมถนนทำให้คุณพีพีมีแผลถลอกที่เข่าซ้าย – ขวา ข้อศอกทั้งสองข้าง แผลถลอกใหญ่ที่หน้าแข้ง ฝ่ามือซ้ายและขวา ฟันหน้าบนบิ่น 1 ซี่และหัก 1 ซี่ และอีกหลายอาการเจ็บปวด คุณพีพีจ่ายค่ารักษาไปทั้งหมด 23,917 บาท แต่บริษัทประกันกลับพิจารณาให้เพียง 4,997 บาท เท่านั้น โดยบริษัทประกันได้อ้างว่าคุ้มครองการบาดเจ็บภายในระยะวันที่ 30 พ.ย.- 3 ธ.ค.2566 เท่านั้น ไม่คุ้มครองการรักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บที่ต่อเนื่องแม้เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ประกันคุ้มครองก็ตาม         คุณพีพีไม่ยอมรับการพิจารณาของบริษัทประกันภัยเพราะก่อนการตัดสินใจซื้อได้โทรศัพท์สอบถามกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลายครั้ง เจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่าหากการบาดเจ็บเกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง คุณพีพีสามารถเบิกค่าใช้จ่ายกับประกันได้จนกว่าจะรักษาหาย รวมถึงสื่อในรูปแบบอื่นๆ ของบริษัทก็ใช้ถ้อยความให้ผู้ซื้อประกันเข้าใจว่าครอบคลุมจนกว่าจะรักษาหาย คุณพีพีจึงเข้ามาขอคำแนะนำและความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพี่อผู้บริโภคว่าควรทำอย่างไรต่อไป เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ตนเอง  แนวทางการไขแก้ปัญหา         หลังจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว มูลนิธิฯ ได้ประสานกับคุณพีพีเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานประสานส่งให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยคุณพีพีได้เข้าร้องเรียนที่ คปภ.ทำให้บริษัทประกันภัยได้เข้ามาชี้แจงข้อปัญหาที่เกิดขึ้นต่อ คปภ. บริษัทยืนยันว่ากรมธรรม์ไม่ครอบคลุมการรักษาต่อเนื่องแต่เกิดจากความผิดพลาดของการสื่อสารภายในของบริษัทเอง จึงพิจารณาให้ “สินไหมกรุณา” ให้กับคุณพีพีจากเดิมที่บริษัทพิจารณาให้เพียง 4,997 บาท คุณพีพีจึงได้รับค่าสินไหมกรุณาแล้วจำนวน 20,000 บาท  อย่างไรก็ตามเมื่อได้พิจารณารายละเอียดของข้อความที่ทำให้ตีความได้กว้างและบริษัทนำมาใช้อ้างว่าไม่ครอบคลุมเพราะไม่มีการระบุไว้ชัดเจนนั้น คุณพีพีได้ส่งร้องเรียนถึงศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านการประกันภัย คปภ. โดยเฉพาะเพื่อให้พิจารณาว่ากรณีของคุณพีพีเป็นการตีความที่ไม่คุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันทางศูนย์ฯ ของ คปภ. กำลังดำเนินการ         “ผลการพิจารณาของ คป. สำคัญมาก ทำให้สังคมรู้ว่าข้อความอะไรในกรมธรรม์ที่คลุมเครือแล้วจะถูกเอาเปรียบได้ แล้วบริษัทจะต้องแก้ไขให้ถูกต้องอย่างไร ซึ่งผมจะติดตามต่อไป เพราะกรมธรรม์ที่ชัดเจนจะทำให้ผู้บริโภคคนอื่นๆ ไม่ตกเป็นเหยื่อแบบผมครับ”

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 ร้านไม่รับผิดชอบ เจาะหูลูกค้าพลาดจนใบหูฉีกขาด

        หากคุณกำลังคิดจะไปใช้บริการเจาะหูตามร้านเครื่องประดับต่างๆ ขอให้อ่านเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์         แม้เหตุการณ์จะผ่านมาปีกว่าแล้ว แต่ยังปรากฏร่องรอยความเสียหายไว้ชัดเจน...วันนั้นคุณโนริตัดสินใจไปใช้บริการเจาะหูที่ร้านเครื่องประดับเงินแห่งหนึ่ง ย่านกลางเมืองกรุงเทพฯ โดยเธอเลือกรูปแบบเป็นการเจาะหูเพื่อดามกระดูกอ่อนใบหูในแนวทแยง (Cartilage) ส่วนบนติดกับขมับ แต่...เกิดข้อผิดพลาด เมื่อใบหูบนส่วนที่เจาะกระดูกออกขาดเนื่องจากทางร้านเจาะหูผิดตำแหน่ง ทำให้ใบหูของเธอฉีกขาด เธอตกใจมากและถามหาความรับผิดชอบ แต่ทางร้านบอกปัดว่าไม่ใช่ความผิดของทางร้าน         วันนั้นเธอจึงไปลงบันทึกประจำวันเรื่องที่ได้รับความเสียหายจากกการใช้บริการเจาะหูจนใบหูขาดนี้ที่สถานีตำรวจไว้ก่อน หลังจากนั้นจึงไปโรงพยาบาลเพื่อรักษา แพทย์แจ้งว่าจะต้องทำการศัลยกรรมเพื่อให้ใบหูกลับมาเป็นปกติ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง เธอจึงได้กลับไปเจรจากับทางร้านอีกครั้ง โดยยืนยันว่าที่ใบหูเธอขาดก็เพราะทางร้านเจาะหูผิดตำแหน่ง แต่ทางร้านก็ยังปฏิเสธเสียงแข็งเหมือนเดิมว่าไม่ได้ทำอะไรผิด         จากวันที่เกิดเหตุการณ์ ขณะนี้ผ่านมาปีกว่าแล้วที่คุณโนริยังไม่ได้รักษาใบหูให้ติดกันเป็นปกติเนื่องจากต้องใช้เงินจำนวนมาก เธอรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือว่าทำอย่างไรจึงจะให้ทางร้านเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ มูลนิธิฯ ได้โทร.กลับไปเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม แล้วให้ผู้ร้องส่งเอกสารมาทางอีเมลของมูลนิธิฯ ได้แก่ สำเนาใบลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ สำเนาใบรับรองแพทย์  ภาพหน้าจอข้อความที่สนทนากับทางร้าน และภาพความเสียหายที่ใบหู จากนั้นทางมูลนิธิฯ ได้ออกหนังสือนัดหมายให้คู่กรณีมาเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยุติข้อพิพาทกันอีกครั้ง (เพราะเคยผ่านการพูดคุยกันมาบ้างแล้ว)         สิ่งสำคัญของการเรียกร้องการเยียวยาเมื่อเกิดความเสียหายจากการใช้บริการต่างๆ  คือผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เสียหายจะต้องเก็บหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นไว้ให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้         กรณีการลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ แนะนำว่าควรเป็นการแจ้งความเพื่อดำเนินคดี เพราะเคสนี้เกิดความเสียหายที่ผู้ร้องเรียนได้รับบาดเจ็บค่อนข้างรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 โดนบ้านน็อคดาวน์ น็อค

        ปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงานเกิดขึ้นบ่อยครั้ง คราวนี้เกิดขึ้นกับทาสแมว คุณดุจดาว หญิงสาวผู้รักน้องแมวเหมือนลูก ไม่ใช่รักธรรมดาด้วยนะ รักแบบสุดจิตสุดใจเพราะเลี้ยงแมวจรจัดไว้กว่า 10 ตัว         เมื่อปริมาณเหมียวน้อยมากจึงจำเป็นต้องจัดหาพื้นที่เพื่อเหล่านายท่าน ซึ่งคุณดุจดาวเคยเห็นโฆษณาเกี่ยวกับบ้านน็อคดาวน์สำหรับน้องแมว เธอเลยมีความคิดอยากสร้างบ้านน็อคดาวน์ให้ลูกๆ เธอติดต่อไปที่เพจของบริษัท xxx ซึ่งประกาศรับสร้างบ้านทรงนอร์ดิก ที่ดูแล้วสวยงาม แถม ความน่าเชื่อถือก็มีด้วยนะ เพราะมีดาราชื่อดังหลายคนเป็นพรีเซ็นเตอร์ ก็เลยตัดสินใจว่าจ้างบริษัทฯ นี้ทำบ้านน็อคดาวน์ให้แมวของเธอ ซึ่งตกลงการจ้างทำที่ราคา 1.6 แสนบาทเศษ แบ่งจ่าย 2 งวด กำหนดเวลา 20 วัน บ้านเสร็จ         ขณะที่สบายใจแล้วว่าจะมีที่ทางให้เหมียวๆ เธอกลับต้องโทรศัพท์มาร้องเรียนที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  บอกว่า เจอน็อค เข้าเต็มเปา เพราะความไว้ใจเหล่าพรีเซนเตอร์ของเพจแท้ๆ  คือเธอจ่ายเงินค่าจ้างให้บริษัทฯ ไปก่อน เพราะบริษัทอ้างว่าจะส่งมอบสัญญาให้ภายหลังจากก่อสร้างเสร็จแล้ว เรื่องนี้เลยกลายเป็นสัญญาปากเปล่านะสิ         เมื่อไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร คุณดุจดาวจึงเสียเปรียบ เพราะนับตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2566 ที่เริ่มก่อสร้าง... จวบจนถึงปัจจุบัน ( 2567 ) บ้านน็อคดาวน์ของแมวก็ไม่เสร็จเสียที แถมของเดิมที่สร้างไว้ก่อนหน้านี้ (แบบยังไม่เสร็จ) ก็มีปัญหาแทบทุกจุดของบ้าน แล้วตอนนี้ผู้รับเหมาก็หายตัวไปแล้วด้วยก็เลยมาขอคำปรึกษาว่าจะทำยังไงดีเพื่อให้ได้เงินกลับคืนมา หรือให้ผู้รับเหมากลับมาสร้างบ้านให้เสร็จเรียบร้อย แนวทางการแก้ไขปัญหาเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ เมื่อได้ฟังปัญหาจบ จึงให้คำแนะนำเบื้องต้น 3 ข้อ ดังนี้        1. หาก ”ผู้ร้อง”ไม่ต้องการให้ทำจดหมายบอกยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน โดยส่งแบบไปรษณีย์ตอบรับเท่านั้น พร้อมส่งสำเนาถึง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อช่วยติดตามเรื่องและสามารถใช้เป็นหลักฐานทางด้านคดีด้วย        2. ใน จดหมาย “ให้ ผู้ร้อง” กำหนดเงื่อนเวลากำกับให้ชัดเจน เพราะหากเลยกำหนด แต่ผู้รับเหมาไม่ยอมคืนเงิน ขั้นตอนต่อไปมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะเชิญ 2 ฝ่าย มาไกล่เกลี่ย        3. หากกระบวนการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ ผู้ร้องในฐานะผู้เสียหาย สามารถยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ที่ศาลแพ่ง แผนกคดีผู้บริโภค https://civil.coj.go.th/.../category/detail/id/22/iid/334689                                                                                     เบื้องต้นผู้ร้องจะดำเนินการตามข้อแนะนำ หากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมจะแจ้งมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคดำเนินการฟ้องคดีแล้ว ในกระบวนการทางศาลอาจเกิดกระบวนการไกล่เกลี่ยอีกครั้งก็ได้ โดยการฟ้องร้องกรณีนี้สามารถฟ้องได้ทั้งทางแพ่งและอาญา         ในทางแพ่ง: กรณีดังกล่าวเป็นการจ้างทำของ ผู้รับจ้างจะต้องส่งมอบงานให้เสร็จ ตามที่ตกลงกัน การที่ผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบงานได้ จึงถือเป็นการผิดสัญญา ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากผู้รับจ้างที่ผิดสัญญา เช่น เรียกเงินค่าจ้างคืน ค่าปรับหรือเบี้ยปรับส่งมอบงานล่าช้า ค่าเสียหายกรณีชำรุดบกพร่อง เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ว่าจ้างจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)         ในทางอาญา : เมื่อมีการผิดนัดไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างบุคคลสองฝ่ายเกิดขึ้น มักมีปัญหาข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ คู่กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญานั้นมีจะความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ต้องพิจารณา “เจตนาขณะทำสัญญา” ของคู่กรณีฝ่ายที่ผิดสัญญาว่า ขณะที่ทำสัญญามีเจตนาจะปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงที่ให้ไว้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ ถ้าขณะทำสัญญาคู่กรณีฝ่ายที่ผิดสัญญา ไม่มีเจตนาจะปฏิบัติตามสัญญาเลยตั้งแต่แรก เป็นการทำสัญญาเพื่อหวังผลประโยชน์จากคู่กรณีแบบนี้จึงถือ เป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่ถ้าขณะทำสัญญา คู่กรณีฝ่ายที่ทำผิดสัญญานั้น มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญา แต่ภายหลังแล้วไม่ได้ปฏิบัติตาม เป็นเพียงเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง หากจะดำเนินคดีในทางอาญาจึงจะต้องมีหลักฐานชี้ให้ศาลเห็นให้ได้ว่า ขณะทำสัญญาคู่กรณีมีเจตนาฉ้อโกงตั้งแต่แรกแล้ว

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)