ฉบับที่ 170 กระแสต่างแดน

รถเมล์ในเมืองหลวง

กระแสต่างแดนฉบับนี้พาคุณไปดูความเคลื่อนไหวของวงการรถโดยสารสาธารณะในเมืองใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเรียกน้ำย่อย ก่อนจะไปพบกับเรื่องเด่นประจำฉบับที่ว่าด้วยสถานการณ์รถเมล์โดยสารในกรุงเทพมหานครของเรา

เริ่มจากสิงคโปร์ ต้องยกให้เขาจริงๆ เรื่องความเป็นเลิศในการจัดบริการสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบขนส่งมวลชนที่นักข่าวหลายสำนักจัดให้อยู่ในสิบอันดับที่ดีที่สุดของโลก แต่เชื่อหรือไม่ว่าคนสิงคโปร์เองยังไม่ค่อยพึงพอใจกับบริการรถเมล์ของเขาเท่าที่ควร เพราะยังต้องรอ “นานเกินไป”

รัฐจึงต้องออกมาตรการ “ทำดีได้ ทำร้ายเสีย” เพื่อเพิ่มอัตราการตรงต่อเวลา ซึ่งก็ถือว่าได้ผลดีทีเดียว ผลการประเมินระหว่างเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาพบว่า เวลารอรถเมล์ลดลงประมาณ 12 – 36 วินาที(ย้ำวินาที)

บริษัท SBS Transit ได้รับเงินรางวัลประมาณ 17 ล้านบาท จากการทำให้รถเมล์ของบริษัทวิ่งตรงเวลาขึ้น อีกบริษัท คือ SMRT Corp ก็ไม่น้อยหน้า ได้ไปประมาณ 8.3 ล้านบาท เช่นกัน

บริษัทจะได้รางวัล 6,000 เหรียญ(ประมาณ 145,000 บาท) ทุกๆ 6 วินาทีของ “เวลารอรถเมล์” ที่ลดลง แต่เดี๋ยวก่อน บริษัทจะถูกปรับ 4,000 เหรียญ(ประมาณ 96,000 บาท ต่อทุกๆ 6 วินาทีที่คนต้องรอนานขึ้นด้วย

และเพื่อให้ได้บริการที่ดียิ่งขึ้น รัฐบาลจึงส่งเสริมการแข่งขันด้วยการเปิดให้เอกชนที่มีรถเมล์ในสังกัดไม่ต่ำกว่า 250 คันเข้าร่วมประมูลเส้นทางเดินรถ ในเบื้องต้นมี 3 แพ็คเก็จ เริ่มจากบูลิมแพ็คเก็จที่มี 26 เส้นทาง ซึ่งข่าวระบุว่ามีผู้สนใจร่วมประมูลถึง 11 เจ้า ตั้งแต่เจ้าเก่าอย่าง SBS Transit และ SMRT Corp ไปจนถึงผู้ประกอบการผลงานเยี่ยมจากจีน อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และออสเตรเลียด้วย ใครจะเป็นผู้ได้เซ็นสัญญาต้องติดตามในปลายเดือนพฤษภาคม

มาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์จัดว่ามีเครือข่ายการขนส่งมวลชนที่ดีอันดับต้นๆ ของภูมิภาคอาเซียน แต่ปัญหาเรื่องการวางผังเมือง สภาพการจราจรที่หนาแน่น และความสะดวกในการเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัว ก็ยังทำให้การปรับปรุงคุณภาพการเดินทางบนท้องถนนโดยรถสาธารณะเป็นเรื่องยาก

ปัจจุบันอัตราการใช้รถสาธารณะเพิ่มขึ้นเพราะผู้คนต้องการลดภาระจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น เลยทำให้ต้องยอมรับสภาพการเดินทางที่ใช้เวลาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ใช้บริการรถเมล์สายต่างๆ (ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ Rapid KL) เพราะยังต้องพบกับสถานการณ์รถขาดช่วง มาช้า หรือวิ่งนอกเส้นทาง แถมยังมีประเด็นเรื่องขาดแคลนพนักงานขับรถด้วย

รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2015 นี้จะต้องมีผู้คนใน Klang Valley (รวมตัวเมืองกัวลาลัมเปอร์) ใช้บริการขนส่งมวลชนไม่ต่ำกว่า 750,000

ไปที่อินโดนีเซียกันบ้าง ล่าสุด บริษัททรานส์จาการ์ตา ผู้ประกอบการรถ BRT ในเขตเมืองจาการ์ตาซึ่งเป็นระบบ BRT ที่ยาวที่สุดในโลก(208 กิโลเมตร) ครอบคลุม 12 เส้นทาง จะเป็นผู้ดูแลการขนส่งสาธารณะทางบกทั้งหมด รวมถึงรถเมล์ร่วมบริการด้วย

คนขับรถร่วมก็สนับสนุนแผนการปรับปรุงบริการรถร่วมโดยบริษัทที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ เพราะปัจจุบันรายได้ของพวกเขาขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสาร จึงเน้นรับคนให้ได้จำนวนมากไว้ก่อน อาจจะละเลยเรื่องบริการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพไปบ้าง

แต่ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารลดลง รายได้ก็ลดลง พขร. รายหนึ่งบอกว่าเมื่อ 4 ปีก่อนเขาเคยหาได้ถึงวันละ 200,000 รูเปีย(ประมาณ 500 บาท) แต่วันนี้ถ้าได้ 100,000 รูเปีย ก็นับว่าโชคดีมากแล้ว จึงคิดว่าถ้ามีเงินเดือนเหมือนพนักงานบริษัทก็ย่อมดีกว่าแน่นอน(พวกเขาจะได้รับโอกาสเข้าทำงานกับทรานส์จาการ์ตา โดยมีเงื่อนไขว่าต้องผ่านการอบรมและรับรองก่อน) เงินเดือนพวกเขาจะเป็นเท่าไรข่าวไม่ได้บอก แต่ที่แน่ๆ ค่าแรงขั้นต่ำในจาการ์ตา คือ 6,000 บาท

บรูไน ประเทศที่คนส่วนใหญ่มีฐานะดีและนิยมใช้รถส่วนตัวก็ประกาศแผนแม่บทเพื่อยกเครื่องขนส่งมวลชนให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพารถยนต์ส่วนตัวและสร้างความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันขนส่งมวลชนในบรูไนมี 3 ประเภทได้แก่ รถโดยสาร รถแท็กซี่ และเรือแท็กซี่ ซึ่งยังมีจำนวนไม่พียงพอ ไม่ครอบคลุมเส้นทาง และยังขาดประสิทธิภาพและคุณภาพ จึงไม่เป็นที่นิยมทั้งในหมู่คนท้องถิ่นและคนต่างชาติ

สิ่งที่จะได้เห็นเป็นอันดับแรกๆ คือเส้นทางรถ BRT จำนวน 4 เส้นทางในเขตบรูไน-มัวรา รวมความยาว 48 กิโลเมตร ที่จะมีรถออกทุก 4 นาที และในนั้นก็มีเส้นทางที่สำรวจพบว่ามีผู้คนใช้มากที่สุดนั่นคือ ระหว่างมัสยิดทอง Masjid Jame'Asr Hassanil Bolkiah Mosque กับโรงพยาบาล Raja Isteri Pengiran Anak Saleha Hospital ที่รองรับผู้โดยสารถึง 60,000 คนต่อวันด้วย

ฟิลิปปินส์ กรมการขนส่งและการสื่อสารของฟิลิปปินส์เชื่อว่า ระบบที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในกรุงโซล ประเทศเกาหลีจะใช้ได้ดีกับการปฏิรูปรถโดยสารในกรุงมะนิลา เขาต้องการลดอุบัติเหตุจากรถประจำทางและเพิ่มความคล่องตัวของการจราจร โดยเริ่มจากการทดลองใช้ระบบการประมูลเส้นทางรถเมล์ C5 ในเขตตัวเมืองของมะนิลา

ระบบเดิมของเขาคือ คนขับรถจะต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับผู้ประกอบการเมื่อจบ “กะ” ของตนเองในแต่ละวัน แต่ในระบบใหม่รัฐจะให้เงินช่วยเหลือกับคนขับในบางเส้นทางเพื่อให้สามารถออกรถตามกำหนดเวลา ไม่ต้องถ่วงเวลาเพื่อรอรับคนหรือขับเร็วขับแซงเพื่อแย่งลูกค้าจากรถคันอื่น  ก่อนหน้านี้เคยมีข้อเสนอจากวุฒิสมาชิกให้จ่ายค่าตอบแทนคนขับรถเป็นเงินเดือนที่แน่นอน และปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้นเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนมาแล้ว

กัมพูชา กัมพูชาเตรียมเปิดบริการรถสาธารณะอีกครั้ง(หลังจากเมื่อ 13 ปีที่แล้วเปิดดำเนินการได้เพียง 2 เดือนก็ต้องพับไป) เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการจราจรในกรุงพนมเปญ ซึ่งมีประชากร 2 ล้านคน มอเตอร์ไซค์ 1 ล้านคัน และรถยนต์อีก 300,000 คัน เขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้คนจะเลิกการใช้มอเตอร์ไซค์แล้วหันมาใช้บริการสาธารณะแทน

รัฐมนตรีท่านหนึ่งให้ความเห็นว่าคราวก่อนที่ไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะผู้คนยังติดกับการมีรถมาส่งถึงหน้าบ้าน ไม่ชอบเดินไกล จึงไม่ชอบขึ้นรถเมล์

อย่างไรก็ดีตั้งแต่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา มีรถปรับอากาศ 10 คันทดลองให้บริการระหว่าง 5.30 น. – 16.30 น. บนถนนมณีวงศ์ ด้วยค่าโดยสาร 1,500 เรียล (12 บาท) ตลอดสาย ซึ่งถูกกว่าการขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง “โมโตดุ๊บ” ถึง 5 เท่า ถ้าได้ผลตอบรับดีเขาก็จะพิจารณาเพิ่มรถและเพิ่มเส้นทางอีกที

เวียดนาม ในเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ การขนส่งมวลชนยังพัฒนาไปไม่ถึงเป้า รถส่วนตัวยังเต็มท้องถนน เวียดนามยังไม่มีระบบรถไฟฟ้าหรือรถ BRT ในเขตเมืองและยังขาดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับรถโดยสารสาธารณะ

นักวิจัยจากโครงการลดความแออัดของการจราจร ระบุว่าในช่วงปี 2011 – 2015 การใช้บริการขนส่งสาธารณะในเมืองนี้จะมีไม่เกินร้อยละ 15 ของความต้องการในการสัญจรไปมาเท่านั้น

ที่ผ่านมาเทศบาลโฮจิมินห์ซิตี้ มุ่งแต่เรื่องการปรับปรุงสภาพรถ(มีการชงเรื่องขอจัดซื้อรถเมล์ใหม่ 1,670 คัน) แต่ถึงจะปรับปรุงสถานีขนส่งหรือเพิ่มบัสเลนแล้วก็ตาม ในปี 2015 นี้คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการรถเมล์เพียง 707 ล้านคน หรือร้อยละ 11.5 ของความต้องการในการเดินทางเท่านั้น

สาเหตุหลักมาจากการไม่จำกัดการใช้รถส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถมอเตอร์ไซค์ กรมการขนส่งจึงเสนอให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถใหม่ เพิ่มภาษี คิดค่าจอดรถ รวมถึงจำกัดพื้นที่จอดรถบนทางเท้าด้วย


แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ รถเมล์ เมืองหลวง

ฉบับที่ 275 กระแสต่างแดน

ส้วมสะเทือนใจ        การรถไฟอินเดียต้องจ่ายค่าชดเชย 30,000 รูปี (ประมาณ 12,900 บาท) ให้กับผู้โดยสารคนหนึ่งที่ได้รับความกระทบกระเทือนต่อร่างกายและจิตใจจากสภาพห้องน้ำบนขบวนรถ         วันที่ 3 กันยายน 2564 ผู้โดยสารคนดังกล่าวขึ้นรถไฟตู้ปรับอากาศชั้นสามจากนิวเดลลีเพื่อไปลงที่เมืองอินดอร์ ซึ่งเป็นการเดินทางข้ามคืนที่ใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมง          แปดโมงเช้าวันต่อมา เขาลุกไปเข้าห้องน้ำเพื่อล้างหน้าและทำธุระส่วนตัว แต่พบว่าไม่มีทั้งน้ำล้างหน้าและน้ำสำหรับกดชักโครก ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสภาพสกปรกสุดทน และเนื่องจากรถไฟเสียเวลา เขาจึงต้องทนปวดท้องอยู่สองชั่วโมงและไปถึงที่ทำงานสายด้วย         แม้จะแย้งว่าห้องน้ำไม่ถือเป็น “บริการ” ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค แต่การรถไฟฯ มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม “กฎบัตรพลเมือง” ที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐจัดหาน้ำใช้ที่สะอาดและห้องน้ำที่ถูกสุขอนามัยให้กับประชาชนและยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้อง 10,000 รูปีด้วย  ยาถูกมีอยู่จริง         เป็นเรื่องปกติที่คนสิงคโปร์จะขับรถข้ามชายแดนไป “ซื้อของ” ที่ยะโฮร์บารู เมืองหลวงของรัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย เพราะนอกจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในซูเปอร์มาร์เก็ตที่นั่นจะถูกกว่า รวมถึงยารักษาโรคก็ถูกกว่าด้วย แถมร้านยาในมาเลเซียก็ไม่ถามหา “ใบสั่งแพทย์” อีก         ตัวอย่างเช่น ราคาของยาลดความดัน Micardis ในสิงคโปร์อยู่ที่ 53 เหรียญ (1,400 บาท) แต่สามารถซื้อได้ในมาเลเซียที่ราคา 62 ริงกิต (470 บาท)         นอกจากความแตกต่างของค่าเงินแล้ว ยาในมาเลเซียยังถูกกว่าเพราะร้านยาซึ่งมีหลายร้านในบริเวณเดียวกันมักจะกระหน่ำลดราคาเพื่อแย่งลูกค้าด้วย         อย่างไรก็ตามช่องข่าว CNA ซึ่งนำเสนอเรื่องดังกล่าวพบว่ายาที่สั่งซื้อจากร้านออนไลน์ในมาเลเซียมักใช้ไม่ได้ผล อาจเป็นเพราะคุณภาพการเก็บรักษาหรือการขนส่ง แถมหลายตัวยังเป็นยาปลอมหรือมีสารต้องห้าม         ทางช่องข่าวแนะนำให้คนสิงคโปร์ประหยัดด้วยการซื้อ “ยาชื่อสามัญ” เพราะเขาทดสอบแล้วพบว่าหลายตัวมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากยาที่มีแบรนด์เลย ถือบัตรไหนดี         กรุงโซลและปริมณฑลมีบัตรขึ้นรถสาธารณะหลายใบให้เลือก เป้าหมายร่วมกันคือลดภาระค่าเดินทางให้คนเมือง แต่สิทธิประโยชน์และเขตพื้นที่ให้บริการนั้นไม่เหมือนกัน         “ไคลเมทการ์ด” บัตรรายเดือนโดยเทศบาลโซล ใช้ขึ้นรถเมล์และรถไฟได้ดินได้ทุกเส้นทางในโซลได้ไม่จำกัด ใบละ 62,000 (ประมาณ 1,650 บาท) และบัตรดังกล่าวจะครอบคลุมพื้นที่เมืองอินชอนด้วยตั้งแต่ปี 2024         “ไอพาส” ของเทศบาลเมืองอินชอน ใช้เดินทางในเมืองนี้ได้โดยไม่จำกัดเที่ยว ผู้สูงอายุสามารถรับเงินคืนร้อยละ 30 จากที่จ่ายไป         “เคพาส” ของกระทรวงที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและการขนส่ง ใช้เดินทางได้ 60 เที่ยวทั่วประเทศ หากใช้รถสาธารณะมากกว่า 15 ครั้งต่อเดือน สามารถขอเงินคืนได้ร้อยละ 30 (สำหรับผู้ที่อายุ 19-34 ปี) ส่วนผู้มีรายได้น้อยจะได้เงินคืนร้อยละ 52         แล้วยังมี “คยองกีพาส” สำหรับใช้ในจังหวัดคยองกี ที่จะเริ่มใช้เดือนพฤษภาคมได้เงินคืนเหมือนกันแต่ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว         ประชาชนเกาหลีหลายคนสงสัยดังๆ จะง่ายกว่าไหม ถ้ารัฐบาลลดราคาตั๋วไปเลย   ไม่ต้องฝัง         เพราะความสะดวกและความประหยัด คนดัทช์ยุคนี้จึงหันมาเลือกใช้บริการพิธีศพแบบเผา แทนที่จะฝังตามธรรมเนียมดั้งเดิม         ที่เนเธอร์แลนด์พิธีศพแบบเผามีค่าใช้จ่าย 6,000 ยูโร (ประมาณ 232,000 บาท) แต่อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มบ้างในกรณีที่ราคาพลังงานแพงขึ้น ในขณะที่การฝังมีค่าใช้จ่ายถึง 9,000 ยูโร (ประมาณ 350,000 บาท)         สถิติระบุว่าร้อยละ 68.4 ของผู้ที่เสียชีวิตในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2023 ได้รับการฌาปนกิจศพ ความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นดูได้จากจำนวนฌาปนสถานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน         ข้อเสียอย่างเดียวคือ ตามขั้นตอนปกติของเนเธอร์แลนด์ ญาติจะต้องรอประมาณหนึ่งเดือนถึงจะสามารถมารับกระดูกกลับได้         หลายคนไม่อยากทิ้งภาระให้ลูกหลานต้องจ่ายค่าดูแลหลุมศพก็จะสั่งเสียไว้ให้เลือกวิธีนี้ ส่วนการกล่าวไว้อาลัยหน้าหลุมศพก็ไม่จำเป็น เพราะปัจจุบันผู้คนนิยมบอกลากันตั้งแต่ก่อนที่ผู้ล่วงลับจะจากไปฟาสต์เฟอร์นิเจอร์        รัฐบาลไต้หวันต้องรีบออกมาเคลียร์ หลังสื่อออกมาเปิดเผยว่าในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2023 ยังมีที่นอนเก่าที่ควรนำไปรีไซเคิลตกค้างอยู่ถึง 140,000 หลัง หมายความว่ามีสปริงที่ยังไม่ถูกนำไปใช้งานและมีผ้าที่สามารถเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงได้ค้างอยู่         กระทรวงสิ่งแวดล้อมบอกว่าที่ผ่านมาเขาก็จัดการรีไซเคิลที่นอนได้ปีละเกือบหนึ่งล้านหลังโดยไม่มีปัญหา แถมบอกอีกว่าเดี๋ยวช่วงตรุษจีนก็จะมีฟูกถูกทิ้งเพิ่มอีกเพราะคนต้องซื้อของใหม่เข้าบ้าน         ผู้แทนกระทรวงฯ อธิบายว่าเครื่องรีไซเคิลของเขานั้น ถ้าจะให้คุ้มค่ากับพลังงานที่เสียไปต้องใส่ฟูกเข้าไปอย่างต่อเนื่องครั้งละไม่ต่ำกว่า 5,000 หลัง มันก็เลยเกิด “ความกอง” อย่างที่เห็น         แต่คำถามคือใครควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย มูลค่าตลาดที่นอนมีมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญ ด้วยยอดขายประมาณ 330,000 หลังต่อปี แต่ที่ผ่านมารัฐยังไม่มีกลไกที่จะทำให้ผู้ประกอบการร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อขยะที่นอนเลย         อีกปัญหาที่ต้องรับมือคือ “ฟาสต์เฟอร์นิเจอร์” ที่ราคาถูก ดีไซน์สวย แต่ใช้งานได้ไม่นาน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 274 กรแสต่างแดน

เงินขวัญถุง         คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเมืองเดลลี สั่งปรับห้างจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป lifestyle เป็นเงิน 3,000 รูปี (ประมาณ 1,300 บาท) และขอให้ห้างคืนเงิน 7 รูปีที่เรียกเก็บเป็นค่าถุงกระดาษ ให้กับลูกค้าด้วย         คณะกรรมการได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่ง ว่าด้วยความบกพร่องในการให้บริการของห้าง ซึ่งอ้างว่าถุงกระดาษมีต้นทุนแพงกว่าถุงพลาสติก (ที่รัฐบาลประกาศห้ามใช้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565) จึงขอเรียกเก็บค่าถุงจากลูกค้า         คำถามคือห้างควรผลักภาระค่าใช้จ่ายไปให้ลูกค้าที่จ่ายเงินค่าสินค้าแล้วหรือเปล่า สำคัญกว่านั้นคือลูกค้าได้รับการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่         จากหลักฐานภาพถ่ายที่ยืนยันว่าห้างไม่ได้แจ้งให้ลูกค้านำถุงมาเอง รวมถึงไม่ได้บอกราคาและประเภทของถุงกระดาษ บริษัทจึงไม่สามารถเก็บค่าถุงที่ใช้ใส่สินค้าที่ซื้อจากทางร้านได้ และต้องจ่ายค่า “ทำขวัญ” ลูกค้าเป็นจำนวนดังกล่าว   ชื่อไฮเอนด์         เทศบาลกรุงโซลขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ลดความยาวและความซับซ้อนของโครงการอพาร์ตเมนท์ หลังผลสำรวจพบว่าชาวเมืองส่วนใหญ่ไม่ถูกใจสิ่งนี้         หลายปีที่ผ่านมาเกิดเทรนด์การตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์เป็นภาษาเกาหลีผสมกับภาษาต่างประเทศ ยำรวมกันทั้งชื่อย่าน ชื่อบริษัทที่ก่อสร้างรวมถึงชื่อแบรนด์เพื่อแสดงถึงความ “ไฮเอนด์” ทั้งที่ชื่อเหล่านี้ไม่ได้การันตีคุณภาพของที่อยู่อาศัย         เทศบาลฯ ได้สำรวจความเห็นประชากรกว่า 1,000 คน และพบว่าร้อยละ 77.3 ไม่ชอบชื่อยืดยาวแบบนี้ บางหมู่บ้านถึงกับร้องขอให้เอาชื่อของตัวเองออกจากชื่ออพาร์ตเมนท์ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวกันด้วย         หลังการพูดคุยมีผู้ประกอบการ 9 ราย (Samsung Hyundai และ Posco ก็อยู่ในกลุ่มนี้) ให้คำมั่นว่าจะตั้งชื่อโครงการให้สั้นและง่ายกว่าเดิม รวมถึงใช้คำภาษาเกาหลีให้มากขึ้น         เทศบาลโซลมีกำหนดจะประกาศ “แนวทางการตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์” ภายในครึ่งปีแรกของปี 2024  ซ่อมกันก่อน         เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนไม่ทิ้งขว้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียหายเพียงเล็กน้อย รัฐบาลฝรั่งเศสจึงให้ “โบนัสช่วยซ่อม” แบบเหมาจ่ายมาตั้งแต่ปี 2022  โดยเงินช่วยเหลือดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการลดขยะและสร้างเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่ประกาศใช้เมื่อปี 2020         สิ่งที่จะเพิ่มมาในปี 2024 คือค่าซ่อมหน้าจอโทรศัพท์ 25 ยูโร (ประมาณ 950 บาท) และค่าซ่อมโน๊ตบุ๊ค 50 ยูโร         รวมแล้วจึงมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าข่ายได้รับเงินช่วยเหลือ 73 รายการ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน กาต้มน้ำ เครื่องทำกาแฟ โทรทัศน์และเครื่องเล่นดีวีดี         เงินช่วยเหลือนี้จะปรากฎเป็นส่วนลดในบิลค่าซ่อมโดยอัตโนมัติ ลูกค้าไม่ต้องลงทะเบียน เพียงแต่ต้องไปใช้บริการกับร้านซ่อมที่เข้าร่วมโครงการ         ฝรั่งเศสตั้งเป้าเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ารับการซ่อมจากปีละ 10 ล้านชิ้น เป็น 12 ล้านชิ้นให้ได้ภายในปี 2027   ไม่ใช่ที่สูบ         อุตสาหกรรมท่องเที่ยวญี่ปุ่นออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการห้ามสูบบุหรี่ให้มากขึ้น โดยอาจระบุ “พื้นที่สูบบุหรี่” ผ่านแอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวในภาษาต่างๆ เป็นต้น         ญี่ปุ่นห้ามการสูบบุหรี่ทั้งในอาคารและกลางแจ้ง (ยกเว้นในพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่) มาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงการระบาดของโควิด 19 จึงไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากนัก แต่เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว จำนวนชาวต่างชาติที่ถูกปรับเพราะ “เดินไปสูบไป” ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในบางเมืองเช่น โกเบ มีถึงร้อยละ 40 ของผู้ฝ่าฝืนที่เป็นนักสูบจากต่างแดน         นอกจากกฎหมายที่ใช้ทั่วประเทศแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมบางแห่งมีค่าปรับสำหรับการสูบบุหรี่ในพื้นที่ด้วย เช่น การสูบบุหรี่ในสวนนารา มีค่าปรับ 1,000 เยน (ประมาณ 240 บาท) โดยเจ้าหน้าที่สามารถแสดงตนและปรับผู้ฝ่าฝืนได้ทันที   ลดเวลาหน้าจอ         กระทรวงเด็กและโรงเรียนของเดนมาร์กเล็งออกกฎหมายห้ามศูนย์รับดูแลเด็กเล็กใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ช่วยเลี้ยงเด็ก         ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ดูแลจะให้เด็กดูหน้าจอแท็บเล็ตหรือโทรทัศน์ไม่ได้ เพียงแต่ต้องจำกัดเวลา เช่น สำหรับเด็กอายุไม่เกินสองปี จะอนุญาตให้ดูหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ตได้ในกรณีที่ “จำเป็นอย่างยิ่ง” เท่านั้น เพราะเด็กเล็กไม่ควรมี “เวลาหน้าจอ” มากเกินไป         ขณะที่เด็กอายุระหว่างสามถึงห้าปีจะอนุญาตให้ใช้หน้าจออย่างเหมาะสม โดยเด็กจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้รับผิดชอบ         สรุปว่าสถานรับเลี้ยงเด็กจะอ้างว่าจำเป็นต้องปล่อยให้เด็กดูจอเพราะ “วันนี้ยุ่งมาก” หรือ “ใกล้เวลาพ่อแม่มารับแล้ว” ไม่ได้ รัฐมนตรีฯ เขามองว่ามันเป็นความบกพร่องในการดูแลเยาวชนของชาติ กระทรวงฯ คาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านเป็นกฎหมายได้ในเดือนกรกฎาคมปี 2024   

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 273 กระแสต่างแดน

ลดแล้วเพิ่ม         หลังจากเนเธอร์แลนด์ปรับลด “ความเร็วจำกัด” บนท้องถนนในเมือง จาก 50 กิโลเมตร เป็น 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจากอุบัติเหตุจราจรกลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21 จากปี 2022         ข้อมูลจากสถาบันความปลอดภัยทางถนน (SWOV) ระบุว่า ปีนี้มีผู้เสียชีวิต 745 คน บาดเจ็บสาหัส 8,300 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 39 ของผู้เสียชีวิต และร้อยละ 70 ของผู้ได้รับบาดเจ็บคือผู้ใช้จักรยาน คนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ยังเป็นผู้สูงอายุอีกด้วย         สาเหตุหลักคือ อุบัติเหตุรถล้มขณะขับขี่ การชนกับจักรยานด้วยกันเอง หรือไม่ก็อุบัติเหตุที่คู่กรณีไม่ใช่พาหนะคันอื่น         เรื่องนี้ค้านกับสิ่งที่ผู้คัดค้านการบังคับสวมหมวกนิรภัยเคยเสนอว่าการบาดเจ็บล้มตายจากอุบัติเหตุจักรยานควรเป็นการทำสภาพถนนให้ปลอดภัยและปรับลดความเร็วจำกัดบนท้องถนน พวกเขาไม่เชื่อในการบังคับสวมหมวกนิรภัย เพราะจะทำให้คนไม่อยากใช้จักรยานไม่เอาหนี้นอก         ช่วงนี้เทรนด์การจัดการหนี้นอกระบบกำลังมา ประเทศร่ำรวยอย่างเกาหลีใต้เพิ่งจะประกาศใช้กฎระเบียบที่เข้มขึ้นพร้อมเพิ่มบทลงโทษเจ้าหนี้เงินกู้ที่คิดดอกแพงลิ่ว จุดประสงค์คือการคุ้มครองลูกหนี้ไม่ให้จมกองหนี้โดยไม่มีทางออก         ลูกหนี้รายหนึ่งกู้เงินมา 250,000 วอน สามเดือนต่อมาหนี้ดังกล่าวงอกเงยขึ้นเป็น 150,000,000 วอน ในขณะที่เจ้าหนี้สาวรายหนึ่งถูกจับกุมดำเนินคดีเพราะเรียกเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 5,000 และยังข่มขู่ลูกหนี้ไปไม่ต่ำกว่า 300 ครั้ง            แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าปัญหาที่แท้จริงคือการเข้าไม่ถึงเงินกู้จากแหล่งทุนถูกกฎหมาย (สมาคมผู้ให้บริการเงินกู้บอกว่าพวกเขาปล่อยกู้ได้น้อยลงเกือบร้อยละ 70) แม้แต่การกู้เงินจากบัตรเครดิตก็ไม่ง่ายเช่นกัน         เกาหลีใต้มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นจากปี 2019 มากกว่าสองเท่าตัว และในปี 2022 มีคนเข้าสู่วงจรนี้ไม่ต่ำกว่า 70,000 คน  ทาสแมวมีเฮ         รัฐบาลสิงคโปร์เสนอให้ยกเลิกการห้ามเลี้ยงแมวในแฟลตของรัฐ หลังใช้กฎหมายดังกล่าวมานานกว่า 30 ปี โดยรัฐบาลให้คำมั่นว่าแผนนี้จะเป็นผลดีทั้งต่อคนที่เลี้ยงและไม่ได้เลี้ยงแมว         ทั้งนี้ภายใต้ร่างกฎหมายใหม่ที่ว่าด้วย “การจัดการแมว” เจ้าของจะต้องนำแมวไปขึ้นทะเบียน ฝังไมโครชิป (ผู้มีรายได้น้อยสามารถขอรับบริการฟรีได้) และปฏิบัติตามมาตรการในการดูแลสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยง เช่น การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมด้วยการติดตั้งลูกกรงหรือตาข่ายป้องกันน้องตกจากตึก เป็นต้น         หลังการประกาศใช้ในครึ่งหลังของปี 2024 ทาสแมวจะมีเวลา 2 ปีในการยื่นเรื่องขอใบอนุญาตขอเลี้ยงแมวที่มีอยู่ (ซึ่งอาจจะมากกว่าสองตัวก็ได้) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากเกินกำหนด ทาสจะถูกปรับ 5,000 เหรียญ (ประมาณ 130,000 บาท)         ส่วนมือใหม่ที่จะเริ่มเลี้ยงแมวก็ต้องเข้ารับการอบรมออนไลน์ว่าด้วยการมีสัตว์เลี้ยงอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ก่อนจะได้รับใบอนุญาตด้วย  ขยะที่ถูกลืม         หลายประเทศมีแผนรับมือกับขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รวม “ก้นบุหรี่” ไว้ในขยะประเภทนี้         งานวิจัยโดยศูนย์ธรรมาภิบาลนานาชาติในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ยังเสนอให้มีการ “แบน” ก้นบุหรี่โดยด่วน เพราะขยะที่ถูกทิ้งในประมาณมากที่สุดในโลกคือก้นบุหรี่ ซึ่งข้อมูลวิชาการยืนยันว่าไม่ได้มีสรรพคุณในการลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ได้อย่างที่เข้าใจกัน         ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศจีนซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคยาสูบรายใหญ่ที่สุดของโลก ค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะจากก้นบุหรี่และซองใส่บุหรี่ในจีนสูงถึงปีละ 2,600  ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 20 ของค่าใช้จ่ายทั้งโลกรวมกัน)         ปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจเป็นเรื่องใหม่ แต่ปัญหาสุขภาพนั้นมีมานานแล้ว จีนมีนักสูบไม่ต่ำกว่า 300 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคอย่างมะเร็ง โรคปอด โรคหัวใจ วันละประมาณ 3,000 คน    เงินไม่ถึง         หน่วยงานควบคุมดูแลการแข่งขันทางการค้าของอิตาลีสั่งปรับบริษัทของบล็อกเกอร์/ดีไซเนอร์ ชื่อดัง เคียร่า แฟร์รานี เป็นเงินล้านกว่ายูโร         การสอบสวนพบว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้นำเงินที่ได้จากการขาย “เค้กการกุศล” ไปมอบให้กับมูลนิธิของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในช่วงคริสต์มาสปีที่แล้ว ตามที่โฆษณาไว้ ด้านบริษัท Balocco ผู้ผลิตเค้กก็โดนปรับไป 420,000 ยูโรเช่นกัน         หน่วยงานดังกล่าวพบว่า มูลนิธิเพื่อการวิจัยและรักษาโรคมะเร็งกระดูกของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองตูริน ได้รับเงินบริจาค 50,000 ยูโร จากบริษัทผู้ผลิตเค้กหลายเดือนก่อนคริสต์มาส แต่หลังจากที่บริษัทของแฟร์รานีออกแคมเปญชวนทำบุญและระดมทุนได้มากกว่าหนึ่งล้านยูโร กลับไม่มีการบริจาคเพิ่มให้อีกเลย             มาดูกันว่าผู้ติดตามเกือบ 30 ล้านคนในอินสตาแกรมของแฟร์รานีจะมีปฏิกิริยากับเรื่องนี้อย่างไร 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 272 กระแสต่างแดน

เงินไม่ถึง         ธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority) ประกาศคืนเงินให้กับผู้ซื้อ “ที่ทับกระดาษ” จากร้านขายสินค้าที่ระลึกของธนาคารเมื่อหกปีก่อน หลังพบว่าสิ่งที่อยู่ด้านในไม่เป็นไปตามที่แจ้งบนฉลาก         ของที่ระลึกดังกล่าวซึ่งอยู่ในรูปลักษณ์ของแก้วบรรจุธนบัตรมูลค่า 1,000 เหรียญฮ่องกงที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย วางจำหน่ายเมื่อต้นปี 2560 ในราคาชิ้นละ 100 เหรียญ (ประมาณ 450 บาท)         ฉลากและการประชาสัมพันธ์ของธนาคาร ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าที่ทับกระดาษคอลเล็คชันนี้ ทำขึ้นจากแบงก์พันเก่าจำนวน 138 ใบ รวมเป็นมูลค่า 138,000 เหรียญ         ล่าสุดธนาคารฯ ออกมายอมรับว่าได้ใส่กรวดเข้าไปเพื่อเพิ่มน้ำหนัก เท่ากับว่าในนั้นมีธนบัตรน้อยกว่าจำนวนที่แจ้ง ข้อมูลที่ให้ไว้จึงไม่ตรงตามความจริง ธนาคารฯ จึงขอแจ้งให้ผู้ที่ซื้อไปมาติดต่อขอรับเงินคืนได้         รายงานระบุว่าที่ทับกระดาษรุ่นดังกล่าวยังมีขายออนไลน์ในราคาระหว่าง 420 – 600 เหรียญ   เอาที่ไหนมาพูด        องค์กรผู้บริโภคสหภาพยุโรปร่วมกับ Consumentenbond องค์กรผู้บริโภคของเนเธอร์แลนด์  และองค์กรผู้บริโภคในอีก 12 ประเทศ  ยื่นขอให้มีการตรวจสอบคำกล่าวอ้างของบริษัทโคคาโคลา และบริษัทเนสท์เล่ เรื่องการรีไซเคิลขวดพลาสติก         เนื้อหาของข้อความที่เป็นปัญหาได้แก่ “100% ของขวดน้ำพลาสติกในยุโรปสามารถรีไซเคิลได้” และ “ขวดน้ำนี้ใช้วัสดุรีไซเคิล 100%”         นอกจากนั้นยังมีการใช้ภาพประกอบที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าขวดน้ำพลาสติกไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย         การกล่าวอ้างแบบข้างต้นถือว่าผิดระเบียบสหภาพยุโรป เพราะไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง         ปัจจุบันยุโรปมีอัตราการรีไซเคิลขวดพลาสติกอยู่ที่ร้อยละ 55 เท่านั้น ในขณะที่อัตราการนำกลับมาใช้ใหม่อยู่ที่ร้อยละ 30 และขยะบริเวณชายหาดของยุโรปส่วนใหญ่คือขวดน้ำพลาสติกนั่นเอง  ไม่หยุดบิน         สมาคมผู้ประกอบการสายการบินของสเปน ยืนยันว่าจะไม่ทำตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลที่ต้องการให้ยกเลิกเส้นทางบินระยะใกล้ที่สามารถเดินทางด้วยรถไฟภายในเวลาไม่เกินสองชั่วโมงครึ่ง         โดยให้เหตุผลว่าจะยกเลิกก็ต่อเมื่อมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ครอบคลุมเมืองหลัก รวมถึงมีรถไฟเชื่อมต่อกับสนามบินหลักอย่างเพียงพอ เช่น เส้นทางระหว่างเมืองมาดริดและบาราคัสควรจะมีรถไฟวันละ 8-10 เที่ยวต่อชั่วโมง ซึ่งในทางปฏิบัติยังต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่าเจ็ดปี         การสำรวจโดยหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมพบว่า ร้อยละ 35 ของเที่ยวบินในสเปน (ที่ส่วนใหญ่ตั้งต้นจากเมืองมาดริด) สามารถถูกยกเลิกได้ และจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 10         รัฐบาลสเปนเริ่มแผนลดเที่ยวบินระยะสั้น (ไม่เกินสี่ชั่วโมง) โดยนำรถไฟความเร็วสูงเข้ามาแทนที่ได้ระยะหนึ่งแล้ว หลังเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้ามาร่วมทำกิจการรถไฟ และดูเหมือนรถไฟของ Iryo และ Ouigo จะมีผลประกอบการดีกว่ารถไฟของรัฐฯ อย่าง Renfe ด้วย  ลดกระดาษ         พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเดนมาร์กอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปลงทะเบียนขอปิดบังข้อมูล “ที่อยู่สำหรับจัดส่งไปรษณีย์” กับกรมทะเบียนกลางได้ โดยคำขอดังกล่าวจะมีอายุครั้งละหนึ่งปี           การกระทำดังกล่าวจะทำให้กรมฯ ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลที่อยู่ของประชาชนให้กับเอกชนรายใดได้ และกฎหมายเดียวกันก็ห้ามผู้ประกอบการส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับผู้อื่น รวมถึงไม่สามารถขอที่อยู่จากกรมฯ ได้ ยกเว้นกรณีติดตามทวงหนี้         ส่วนโบรชัวร์โฆษณาชนิดไม่ได้ระบุชื่อที่อยู่ผู้รับ เขาก็มีทางออกให้เช่นกัน ใครที่ไม่อยากได้กระดาษล้นตู้จดหมายก็สามารถลงทะเบียนเข้าโครงการ “ขอบใจ แต่ขอไม่รับ” แล้วจะได้รับสติ๊กเกอร์ประกาศิตมาติดตู้จดหมาย รับรองว่าใครเห็นก็ไม่กล้าแจก         แน่นอนว่าเรื่องนี้ดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะดีลลดราคาหรือโฆษณาต่างๆ ก็สามารถเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้อยู่แล้ว   รวมกันเราอุ่น         ปัจจุบันมีห้องเช่าจำนวนไม่น้อยในฝรั่งเศสที่ยังใช้ระบบให้ความร้อนจากส่วนกลาง หมายความว่าผู้ “สั่งเปิด” ฮีตเตอร์ ได้คือเจ้าของตึกซึ่งมีหน้าที่ดูแลอาคารให้มีอุณหภูมิเหมาะกับการอยู่อาศัยนั่นเอง         หลักการคือถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 18 องศาเกินหนึ่งวัน ให้ถือว่าเข้าข่าย “หนาวเกินไป” และควรเปิดเครื่องทำความร้อน แม้กฎหมายจะไม่ระบุช่วงเวลาเปิดฮีตเตอร์ แต่ที่ปฏิบัติกันมาคือระหว่าง 15 ตุลาคม ถึง 15 เมษายน ของทุกปี         ใครที่รู้สึกหนาวก่อนนั้นก็สามารถยื่นคำร้องไปขอความเห็นชอบจากกลุ่มผู้เช่าได้ แต่ถ้าเพื่อนบ้านไม่หนาวด้วย หรือไม่อยากจ่ายค่าไฟเพิ่ม ก็ต้องทำใจ ใส่เสื้อหนาวเพิ่มหรือไปซื้อฮีตเตอร์มาใช้เอง         ฟังดูเป็นเรื่องทรมาน แต่วิธีนี้จะทำให้ทุกคนในตึกจ่ายค่าไฟน้อยลง เพราะการเปิดระบบให้ความร้อนตามเวลาที่ตกลงกันไว้กับบริษัทพลังงานจะได้อัตราค่าไฟที่ถูกกว่า และยังประหยัดพื้นที่วางฮีตเตอร์ ที่ผู้เช่าต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงโดยไม่มีคนร่วมแชร์ด้วย

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)