ฉบับที่ 240 โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ดี มันไม่ดีกับเราทุกคนนั่นแหละ

        ออกตัวกันก่อนว่าไม่ใช่การชี้ชวนให้ซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมตัวไหน แหม่ จะเอาความรู้ที่ไหนมาบอกได้ แล้วถ้ารู้ว่าตัวไหนจะขึ้น ผู้เขียนซื้อไว้เองไม่ดีกว่าเหรอ เรื่องแบบนี้ต้องเรียนรู้เอง เจ็บเอง 
        ที่อยากเล่าสู่กันฟังคือเพิ่งได้ฟังเสวนาวิเคราะห์ทิศทางหุ้นโลก หุ้นไทย และการทำ DCA (เรื่องนี้ต้องพูดแน่ๆ แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้) ของบริษัทหลักทรัพย์เจ้าหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาบางประเด็นน่าสนใจทีเดียว มันเกี่ยวข้องทั้งกับใครที่อยากลงทุนหุ้นและอาการบิดๆ เบี้ยวๆ ของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย 
        เรื่องคือนักวิเคราะห์คนหนึ่งพูดถึงการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปยังหุ้นหรือกองทุนรวมในต่างประเทศ เพราะมีหลายตัว หลายกองน่าสนใจ โดยเฉพาะที่เกาะกับกระแสเมกะเทรนด์ของโลก เช่น สังคมสูงวัย อุตสาหกรรมดิจิทัลหรือเทคโนโลยีล้ำอย่างหุ่นยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด เป็นต้น เดี๋ยวนี้กองทุนรวมหลายกองมีธีมการลงทุนเฉพาะ เช่น กองที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มอี-คอมเมิร์ส กองที่ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี ให้เราเลือกเกาะเทรนด์การเติบโต 
 
        แล้วปัญหาอยู่ตรงไหน?
        นักวิเคราะห์รายนี้บอกว่า เมื่อย้อนกลับมาดูหุ้นไทยเราแทบจะไม่เจอหุ้นที่เกาะเมกะเทรนด์ของโลกเลย แย่กว่านั้นหุ้นจำนวนหนึ่งก็เป็นธุรกิจผูกขาด ธนาคารเป็นตัวอย่างหนึ่ง นี่แหละประเด็นใหญ่ 
        ลองถามนักเศรษฐศาสตร์ เกือบร้อยทั้งร้อยแหละไม่เห็นด้วยกับการผูกขาด มันส่งผลร้ายมากกว่าดี และผลร้ายที่ว่ามันตกอยู่กับประเทศ นักลงทุน จนถึงผู้บริโภคอย่างเรา  
        ทำไมเราจึงไม่ค่อยมีบริษัทใหญ่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ที่ทำวิจัยและพัฒนา ปรับตัวเพื่อเกาะเมกะเทรนด์ของโลก ทั้งที่ได้ประโยชน์เห็นๆ แต่ถ้าเป็นคุณจะเสียเงินมากมายทำไมกับผลในระยะยาวที่ไม่แน่ใจว่าจะประสบผลสำเร็จ ในเมื่อธุรกิจของคุณผูกขาดไปแล้ว ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก ถ้าไม่ซื้อหรือใช้บริการของคุณก็ไม่มีเจ้าอื่นอีกแล้ว คุณแค่นั่งเก็บกินผลประโยชน์จากการผูกขาดก็พอ 
        การผูกขาดยังทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน สมมติว่าในอุตสาหกรรมหนึ่งมีบริษัทใหญ่เพียง 2 บริษัท พวกเขาคงแข่งกันแย่งลูกค้าแหละ แต่ไม่มีนัยสำคัญพอที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบสนองผู้บริโภคได้ดีขึ้น แล้วถ้า 2 บริษัทฮั้วกันอีก ความซวยก็ยิ่งเกิดกับผู้บริโภค จะต่างกันลิบถ้ามีคู่แข่งเป็นสิบๆ ในตลาด ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากมาย บริษัทไหนอ่อนแอก็แพ้ไป  
        นักลงทุนจึงพลอยได้รับผลกระทบจากการผูกขาดไปด้วย มีตัวเลือกในการลงทุนไม่มาก ไม่มีบริษัทที่เกาะเมกะเทรนด์ การเติบโตในอนาคตของบริษัทประเภทนี้อาจไม่ยั่งยืน อย่าคิดว่ากำเงินสดไว้ซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมอย่างเดียวเป็นพอ 
        โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ดี มันไม่ดีกับเราทุกคนนั่นแหละ

แหล่งข้อมูล: บุญคุณต้องทดแทน ไฟแนนซ์ต้องชำระ

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค กองทุน อี-คอมเมิร์ส เศรษฐกิจ เงิน การลงทุน

ฉบับที่ 277 3 เรื่องโซลาร์เซลล์บนหลังคา : จากบ้านตัวเองถึงเวียดนามและแอฟริกาใต้

หนึ่ง หลังคาบ้านตนเอง แบบไหนละติดตั้งแล้วคุ้มทุน        สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เคยทำข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลให้เร่งดำเนินการสนับสนุนให้ผู้บริโภคสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตนเองด้วยระบบที่เรียกว่า “หักลบหน่วยไฟฟ้า หรือ Net Metering” ซึ่งเป็นระบบที่ลงทุนที่ประหยัดที่สุด ที่ไม่ต้องติดตั้งมิเตอร์เพิ่ม แต่ใช้มิเตอร์ตัวเดิมแบบจานหมุนที่มีอยู่แล้วเพราะไฟฟ้าสามารถเดินได้ 2 ทางอยู่แล้ว พูดง่ายๆก็คือเป็นการแลกไฟฟ้ากันระหว่างเจ้าของบ้านกับการไฟฟ้า  เมื่อถึงเวลาคิดบัญชีรายเดือน หากไฟฟ้าจากสายส่งไหลเข้าบ้านมากกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากหลังคาบ้าน เจ้าของบ้านก็จ่ายเพิ่มเฉพาะในส่วนที่เกิน ระบบนี้มีการใช้กันประมาณ 68 ประเทศทั่วโลก  รัฐบาลไทยเราก็เคยมีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการไปแล้วเมื่อ 27 กันยายน 2565 แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างว่าไม่สามารถปฏิบัติได้และได้รายงานคณะรัฐมนตรีในเวลาต่อมา         ความจริงเมื่อประมาณ 4-5 ปีมาแล้ว กระทรวงพลังงานเคยออกระเบียบเพื่อรับซื้อไฟฟ้าที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ขายไฟฟ้าให้ผู้บริโภคในราคาประมาณ 4 บาทกว่าๆ นอกจากนี้ยังรับซื้อเป็นเวลาเพียง 7 ปีเท่านั้น (ภายหลังได้ขยายเพิ่มเป็น 10 ปี)  ทั้ง ๆที่อายุการใช้งานของโซลาร์เซลล์อยู่ได้นานถึง 25 ปี ดังนั้น โครงการนี้จึงไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน หรือเรียกว่าล้มเหลวก็ว่า เพราะ รับซื้อในราคาต่ำเกินไป ต่ำกว่าที่รับซื้อจากโซลาร์ฟาร์มเสียอีก และรับซื้อเพียง 10 ปีเท่านั้น         ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป 2 ประการ คือ (1) ค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าขายให้ผู้บริโภคมีราคาแพงขึ้นกว่าเดิม (2) ค่าติดตั้งโซลาร์เซลล์มีราคาลดลงจากเมื่อ 4-5 ปีก่อน   (3)  เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายอยู่ทุกวันนี้มีอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก อัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยจะยิ่งสูงขึ้น ดังนั้น หากเราติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองจำนวนหนึ่ง จึงถือเป็นการตัดยอดจำนวนไฟฟ้าที่ต้องซื้อลง  อัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยก็จะถูกตามลงมาด้วย ผมจึงขอเสนอแนวคิดที่ปฏิบัติได้จริงมาให้ผู้อ่านพิจารณา         ผมขอยกตัวอย่างจริงนะครับ สมมุติว่า เราใช้ไฟฟ้าจำนวน 800 หน่วยต่อเดือน (บ้านชนชั้นกลางที่อยู่กัน 4-5 คน) ถ้าเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.2 เราจะต้องจ่าย (ในช่วงเมษายน-กรกฎาคม) จำนวน  3,909.53  บาท เฉลี่ย  4.89 บาทต่อหน่วย แต่ถ้าเราใช้เพียง 470 หน่วย จะจ่ายค่าไฟฟ้า 2,207.98 บาท เฉลี่ย 4.70 บาทต่อหน่วย  ต่างกัน 19 สตางค์ต่อหน่วย จำนวนไฟฟ้าที่หายไป 330 หน่วย ทำให้เราจ่ายค่าไฟฟ้าลดลง 1,701.55 บาท (เฉลี่ย 5.16 บาทต่อหน่วย)  ไฟฟ้าส่วนที่หายไปนี้มาจากการคิดว่า เราสามารถผลิตได้จากโซลาร์เซลล์ขนาด 3 กิโลวัตต์ ซึ่ง 1 กิโลวัตต์จะผลิตได้ปีละ 1,320 หน่วย หรือเดือนละ 110 หน่วย นั่นเอง         คราวนี้เราเห็นแล้วนะครับว่า ยอดหน่วยไฟฟ้าที่อยู่บน(คือหน่วยที่ 471-800) ราคา 5.16 บาทต่อหน่วย ในขณะที่  470 หน่วยแรก มีอัตรา 4.70 บาทต่อหน่วย   การคิดจุดคุ้มทุนสำหรับผู้อยู่บ้านตอนกลางวันเป็นส่วนใหญ่         มี 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณา (1) เรามีการใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันมากแค่ไหน เพราะไฟฟ้าที่ผลิตได้อยู่ในช่วงที่ดวงอาทิตย์ส่องแสงถึง  ถ้าใช้ไฟฟ้าในช่วงนี้น้อยก็ไม่เกิดประโยชน์  (2) จะคุ้มทุนในเวลากี่ปี โดยสมมุติว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่เราสามารถผลิตได้เท่ากับ 5.16 บาทต่อหน่วย         เท่าที่ผมทราบต้นทุนในการติดตั้งขนาด 3 กิโลวัตต์ในปัจจุบันประมาณ 95,000 บาท ด้วยอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานที่ทางการไฟฟ้ารับรอง แผงโซลาร์มีอายุการใช้งาน 25 ปี แต่อุปกรณ์บางชิ้นมีอายุการใช้งานประมาณ 12 ปี อาจจะต้องเปลี่ยนหรือลงทุนใหม่เฉพาะอุปกรณ์ชิ้นนั้น (คือ อินเวิร์ทเตอร์ราคาประมาณ 2 หมื่นกว่าบาท) แต่เอาเถอะ ผมขอสมมุติว่าค่าลงทุนตลอดโครงการ 25 ปี ด้วยเงิน 95,000 บาท         ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ขนาด 1 กิโลวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,320 หน่วย ดังนั้น ในเวลา 4.7 ปี โซลาร์เซลล์ขนาด 3 กิโลวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าคิดเป็นมูลค่า 3X1,320X5.16X4.7 เท่ากับ 96,038 บาท  หรือคุ้มทุนภายใน 56 เดือน แต่ขอย้ำนะครับว่า โครงการนี้เหมาะสำหรับคนที่อยู่บ้านตอนกลางวันและพยายามใช้ไฟฟ้าที่ตนผลิตได้ให้หมด เช่น เปิดแอร์ ซักผ้า รีดผ้า ฯลฯ        คราวนี้มาคิดกรณีที่บางท่านอาจจะไม่มีเงินลงทุน ก็มีทางออกครับ มีธนาคารอย่างน้อย 2 แห่ง ปล่อยเงินกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ย 4.9% ต่อปี สมมุติว่าเรามีเงินดาวน์ 1.5 หมื่นบาท และผ่อนส่วนที่ต้องกู้ 80,000 บาทนาน 60 เดือน สิ้นเดือนแรกซึ่งเป็นเดือนที่ผ่อนมากที่สุดเท่ากับ 1,660 บาท(ในจำนวนนี้เป็นเงินต้น 1,333.33 บาท) เงินค่าไฟฟ้าที่เราลดลงมาได้เดือนละ 1,701.55 บาทก็เพียงพอกับค่าผ่อนครับ เมื่อครบ 60 เดือนเราก็ผ่อนหมด ที่เหลืออีก 20 ปีถือว่าเราได้ชุดโซลาร์เซลล์มาฟรีๆ น่าสนใจไหมครับ สอง รัฐบาลเวียดนามวางแผนส่งเสริมโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านและสำนักงาน 50% ภายใน 2030         จากเรื่องที่หนึ่ง เราจะเห็นว่ารัฐบาลไทยได้พยายามกีดกันการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์โดยผู้บริโภค แต่รัฐบาลเวียดนาม โดยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือ PDP8 (ประกาศใช้เมื่อพฤษภาคม 2023 และใช้งานในช่วง 2021-2030)  ได้กำหนดว่า “อย่างน้อย 50% ของบ้านพักอาศัยและอาคารสำนักงานต้องติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองภายในปี 2030” รวม 2,600 เมกะวัตต์ โดยใช้สายส่งที่มีอยู่แล้วซึ่งไม่จำเป็นต้องปรับปรุงใหม่แต่อย่างใด(หน้า 5)         เล่ามาแค่นี้ ทำให้เราเห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเวียดนาม หมายเหตุ ถึง บก. กรุณาอย่าเลื่อนภาพไปที่อื่น เพราะผู้อ่านจะไม่เข้าใจกับเนื้อหาที่เขียนครับ         เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2024 คุณ Geordin Hill-Lewis นายกเทศมนตรีเมือง Cape Town (มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน) ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านและอาคารพาณิชย์ทั้งหมดอย่างไม่จำกัดจำนวน ทั้งนี้เพื่อช่วยแก้ปัญหาไฟฟ้าดับเนื่องจากมีการใช้ไฟฟ้ากันมากเกินในบางช่วงเวลา (Loadshedding) ก่อนหน้านี้ (ในช่วง 15 เดือนของปี 2022-2023) ชาวเมือง Cape Town ได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพิ่มขึ้นถึง 349% (จาก 983 เมกะวัตต์เป็น 4,412 เมกะวัตต์-ข่าว Bloomberg)         นายกเทศมนตรียังกล่าวเสริมอีกว่า “Cape Town จะเป็นเมืองแรกที่ได้ปรับยุทธศาสตร์พลังงานอย่างเป็นทางการเพื่อยุติเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ และการกระทำที่สำคัญที่สุดคือการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยการจ้างงาน...ในระยะสั้นภายใน 2026 เราได้วางแผนป้องกันไฟฟ้าดับไว้ 4 ระยะคือ (1) เราได้เปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์ที่วางใจไม่ได้ (2) จากการใช้พลังงานฟอสซิลที่มีราคาแพงไปสู่การกระจายแหล่งอุปทาน (supply) ที่เชื่อถือได้ (3) ทำให้ราคาไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ และ (4) นำไปสู่แหล่งพลังงานที่ทำให้เป็นกลางทางคาร์บอน”         ผมได้นำเสนอใน 3 เรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์บนหลังคา คือ (1) การกีดกันโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านของรัฐบาลไทย ด้วยเหตุผลต่างๆนานา และทางออกของผู้บริโภครายบุคคล (2) การส่งเสริมที่เป็นแผนพลังงานชาติของรัฐบาลเวียดนาม และ (3) การส่งเสริมของรัฐบาลแอฟริกาใต้และนายกเทศมนตรีเมือง Cape Town ครบถ้วนแล้วครับเพื่อเป็นการตอกย้ำในข้อมูลดังกล่าว ผมจึงขอตบท้ายด้วยข้อมูลเชิงสถิติ ถึงจำนวนไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ต่อหัวประชากรของบางประเทศ ในปี 2014 กับ 2022  ดังภาพข้างล่างนี้         ท่านผู้อ่านรู้สึกอย่างไรกับข้อมูลนี้ครับ เมื่อปี 2014 เราเคยผลิตได้มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แต่อีก 8 ปีต่อมา เรากลับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึงกว่า 2 เท่าตัว  นอกจากนี้ ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ของไทย กว่าร้อยละ 98 ผลิตมาจากโซลาร์ฟาร์มซึ่งเป็นกลุ่มทุนพลังงาน แทนที่จะสนับสนุนผู้บริโภครายปัจเจกด้วยโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านของตนเองสาม ตัวอย่างจากเมือง Cape Town ประเทศแอฟริกาใต้ 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 เอาใจสายเทรด (2) ทำความรู้จักกราฟแท่งเทียน

        วันนี้ยังคงเอาใจสายเทรดกันต่อ ด้วยการทำความรู้จักแบบคร่าวๆ กับกราฟชนิดหนึ่ง ต่อให้เป็นคนที่ไม่สนใจการลงทุนหรือการเทรดก็มีโอกาสผ่านหูผ่านตากันมาบ้างตามหน้าสื่อธุรกิจ-เศรษฐกิจ เจ้ากราฟประเภทนี้แทบจะเป็นกติกาท่าบังคับที่สายเทรดต้องเรียนรู้ ไม่งั้นจะไปต่อยาก         กราฟนี้มีชื่อว่า Candlestick Chart หรือกราฟแท่งเทียน         มันก็คือกราฟที่เป็นแท่งๆ มีสีเขียวกับสีแดง ยาวบ้าง สั้นบ้าง ที่เรียงต่อๆ บางช่วงก็ไต่ขึ้น บางช่วงก็ทรงๆ ออกด้านข้าง บ้างช่วงก็ไต่ลง และด้านบนกับด้านล่างก็มักจะมีเส้นตรงขีดขึ้นหรือลงต่อจากตัวแท่งเทียนเลยถูกเรียกว่า ไส้เทียน นี่แหละที่เรียกว่ากราฟแท่งเทียนและสายเทรดทุกคนต้องทำความรู้จักและตีความนัยที่เจ้าแท่งสีเหล่านี้กำลังบอกแนวโน้มของราคาหุ้นในอนาคต         เจ้าแท่งเทียนนี่บอกอะไร? มันบอก 4 อย่างคือราคาซื้อขายแรกในช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่ใช้วาดแท่งเทียน, ราคาสุดท้ายที่มีการซื้อขายในช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่นำมาวาดแท่งเทียน, ราคาสูงสุด และราคาต่ำสุด         ตัวแท่งเทียนเป็นตัวบอกราคาเปิดและราคาปิดของหุ้นตัวหนึ่งๆ ในวันนั้นๆ ส่วนไส้เทียนคอยบอกว่าในวันนั้นๆ ราคาหุ้นที่นำมาวาดกราฟซื้อ-ขายกันที่ราคาสูงสุดและต่ำสุดเท่าไหร่ ถ้าราคาสุดท้ายของหุ้นในวันนั้นปิดสูงกว่าราคาเปิด แท่งเทียนก็จะเป็นสีเขียว (บางที่ใช้แท่งโปร่งๆ แทนสีเขียว) แต่ถ้าราคาสุดท้ายปิดต่ำกว่าราคาเปิด แท่งเทียนก็จะเป็นสีแดง         ทีนี้ก็จะมีคนถามว่า แล้วถ้าราคาปิดกับราคาเปิดเท่ากันล่ะ? กราฟแท่งเทียนของวันนั้นก็จะไม่มีตัวแท่งเทียน มีแค่ขีดแนวนอนพาดทับไส้เทียน รูปจะออกมาคล้ายกากบาท ซึ่งเส้นแนวนอนที่ว่าจะอยู่กลาง ค่อนไปทางด้านบน หรือค่อนไปทางด้านล่างก็ขึ้นกับการซื้อ-ขายหุ้นในวันนั้น         หรือพูดให้ง่ายๆ เข้า กราฟแท่งเทียนก็คือตัวบอกปริมาณความต้องการซื้อและขายหุ้นตัวหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง ทั้งยังบอกสภาพทางจิตวิทยาหรืออารมณ์ของตลาดต่อหุ้นตัวนั้น ซึ่งช่วยให้เห็นลักษณะการซื้อ-ขาย รวมถึงแนวโน้มในอนาคต เช่น แรงซื้อจำนวนมากทำให้ราคาหุ้นปิดสุดท้ายสูงกว่าราคาเปิด หรือถ้าราคาปิดของวันกับราคาต่ำสุดของวันก็แปลว่ายังมีแรงขายต่อเนื่อง แต่ตลาดหุ้นดันปิดทำการซะก่อน มันก็จะพอตีความได้ว่าวันรุ่งขึ้นอาจมีแรงขายทำให้หุ้นตัวนี้ราคาตกลงไปอีก เป็นต้น         พอเอากราฟแท่งเทียนของหุ้นสักตัวมาสร้างกราฟในช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้นเช่นสักหนึ่งสัปดาห์ หนึ่งเดือน หรือสามเดือน นักเทรดก็จะพอเห็นแนวโน้มในอนาคตแล้ววางแผนเทรดหุ้นเพื่อทำกำไร ...ก็ต้องลองไปหาหนังสืออ่านต่อกันเอง         แต่โปรดจำไว้ข้อหนึ่ง ไม่มีใครเดาใจตลาดได้ วันนี้เป็นแบบนี้ พรุ่งนี้กลับกลายเป็นหนังคนละม้วน ดังนั้น จงวางแผนเทรดให้ดี รู้ว่าจะเขาเมื่อไหร่และรู้ว่าเมื่อไหร่ถึงเวลาต้องออก

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 ว่าด้วย “รายการส่งเสริมการขาย” ในโลกของบริการมือถือ

        ในความหมายทั่วไป รายการส่งเสริมการขายหมายถึงข้อเสนอพิเศษที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราวเพื่อการส่งเสริมการขาย หรือ Sale Promotion โดยเป็นวิธีการทางการตลาดที่ใช้เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าสนใจและตัดสินใจซื้อสินค้าในทันที ดังนั้นข้อเสนอพิเศษดังกล่าวจึงต้องมีลักษณะ “ว้าว” มากพอที่จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นและเป็นเรื่องเร่งด่วน นั่นคือเป็นโอกาสที่ต้องรีบคว้าไว้ หากชักช้าอาจพลาดได้         โดยทั่วไปแล้ว รายการส่งเสริมการขายจึงมีลักษณะชั่วคราว จัดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ และบางครั้งมีการตั้งวัตถุประสงค์หรือกลุ่มลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง รูปแบบหลักที่มีการใช้มากที่สุดก็คือ การลด แลก แจก แถม         แต่สำหรับรายการส่งเสริมการขายในโลกของบริการมือถือ จะมีลักษณะที่แตกต่างออกไปในทางตรงกันข้ามเลยทีเดียว กล่าวคือจะเป็นเรื่องของการเสนอขายบริการในลักษณะที่มีการรวมรายละเอียดของบริการต่างๆ เป็นชุด  และเสนอขายเป็นการปกติทั่วไป ไม่มีทั้งการลด แลก แจก แถม และไม่มีความพิเศษหรือเร่งด่วนจนต้องรีบคว้าเอาไว้ หรือต้องรีบตัดสินใจ         ความหมายของรายการส่งเสริมการขายในบริการมือถือแท้จริงแล้วจึงค่อนข้างจะตรงกับคำว่า แพ็กเกจ (Package) ที่แปลว่าการซื้อขายเหมาเป็นชุด ซึ่งในวงการก็มีการใช้สองคำดังกล่าวในลักษณะทดแทนกันอยู่แล้ว         และรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือก็จะมีอยู่มากมายหลายๆ แพ็กเกจ         เมื่อรายการส่งเสริมการขายบริการมือถือคือชุดของบริการที่บรรจุรายละเอียดบริการต่างๆ เอาไว้ จึงเท่ากับเป็นกรอบกำหนดปริมาณและคุณภาพของบริการ เช่นว่า ในแพ็กเกจ ก. อาจใช้บริการโทรได้ 100 นาทีและใช้อินเทอร์เน็ต 5G ความเร็วสูงสุดได้ 10 GB ดังนั้น ในโลกของการให้บริการมือถือ แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายจึงเป็นส่วนที่ใช้ในการโฆษณา ซึ่งจุดนี้เป็นจุดหนึ่งที่เป็นประเด็นปัญหาอย่างยิ่ง         ดังที่ผู้บริโภคทั่วไปคงรู้สึกได้ว่า ในวงการโทรคมนาคมด้านบริการมือถือ มีการโฆษณาที่เข้าข่ายเกินจริง มีการใช้คำหรือข้อความโฆษณาลักษณะ เร็วสุด, แรงสุด, ทั่วไทย ฯลฯ กันเป็นปกติ และยังมีปัญหาลักษณะการยัดเยียดโฆษณาจนเป็นการรบกวนผู้บริโภคด้วย โดยเฉพาะการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาลักษณะของการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายไม่ชัดเจนเพียงพอด้วย ตัวอย่างเช่น รายการส่งเสริมการขายมีข้อกำหนดว่าโทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง แต่มีเงื่อนไขในรายละเอียดพ่วงด้วยว่า ส่วนที่ฟรีนั้นจำกัดเฉพาะในส่วน 30 นาทีแรกของการโทรแต่ละครั้งเท่านั้น แต่ในการโฆษณาหรือแจ้งรายการส่งเสริมการขายดังกล่าวไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขรายละเอียดนี้         ปัญหาประการสำคัญในส่วนนี้คือ การไม่ได้รับบริการที่เป็นไปตามรายการส่งเสริมการขาย ทั้งๆ ที่ในทางกฎหมายแล้ว แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา โดยคุณภาพบริการที่ใช้งานได้จริงต้องเป็นไปตามที่พรรณนาหรือบรรยายไว้ในการโฆษณารายการส่งเสริมการขาย เรื่องนี้มีปัญหามากในส่วนบริการอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้ความเร็วตามกำหนด หรือใช้ได้ไม่ครบตามปริมาณที่กำหนด         ปัญหาอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายที่ผู้บริโภคมักประสบเป็นเรื่องของการเปลี่ยนรายการส่งเสริมการขาย โดยมีปัญหาทั้งในลักษณะไม่สามารถเปลี่ยนได้ หรือถูกทางบริษัทผู้ให้บริการเปลี่ยนให้โดยพลการ ปัญหาทั้งสองลักษณะเท่ากับเป็นการจำกัดหรือละเมิดสิทธิการเลือกบริการของผู้บริโภค ทำให้ต้องผูกติดอยู่กับแพ็กเกจใดแพ็กเกจหนึ่ง หรือถูกบังคับใช้แพ็กเกจตามความพึงพอใจของบริษัทผู้ให้บริการ         ปัญหาประการหลังสุดนี้ขัดกับสิทธิผู้บริโภคประการที่ 2 ใน 5 ประการที่พระราชบัญญัติฃคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้ว่าเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ต้องได้รับความคุ้มครอง นั่นคือ สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ แต่ในส่วนของกฎหมาย กสทช. ไม่มีข้อกำหนดโดยตรงในเรื่องนี้ มีเพียงข้อกำหนดที่ว่า กรณีผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอใด จะถือว่าตกลงใช้บริการไม่ได้         ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณา แม้กสทช. จะไม่ได้มีกฎหมายกำกับควบคุม แต่ในมิติของการให้ข้อมูลที่เพียงพอ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 6 กำหนดไว้ว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจนและครบถ้วน ผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย ซี่งตรงกับสิทธิของผู้บริโภคตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้เป็นสิทธิประการที่ 1 นั่นคือ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ         ส่วนประเด็นเรื่องการให้บริการที่ต้องเป็นไปตามสัญญา รวมถึงโฆษณา เป็นไปตามหลักที่ว่า โฆษณาถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ดังนั้น เมื่อรายการส่งเสริมกำหนดไว้อย่างไร บริการที่ผู้บริโภคได้รับย่อมต้องเป็นไปตามนั้น         ในโลกของบริการมือถือ รายการส่งเสริมการขาย จึงไม่ใช่การส่งเสริมการขาย แต่คือสาระสำคัญของบริการที่ผูกโยงกับปัญหาที่ผู้บริโภคอาจประสบและเกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 สามสิ่งที่ต้องรีบจัดการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคเอไอ

        คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าบทความที่กำลังอ่านอยู่นี้ไม่ใช่สิ่งที่เขียนขึ้นโดยเอไอ        มันไม่ใช่ฝีมือของเอไอหรอก แต่ถ้าใช่ คุณก็ควรมีสิทธิรู้ไม่ใช่หรือ         ประเด็นเรื่องความโปร่งใสและการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคในยุคของปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ๆ ได้ (Generative AI / เจนเนอเรทีฟเอไอ) ก็มีความเข้มข้นขึ้นทุกวัน ธุรกิจนี้มีผู้เล่นน้อย มีบริษัทเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ผูกขาดการเป็นเจ้าของข้อมูลและโมเดลต่างๆ ของเอไอ เราทำนายว่าในอนาคตจะมีข้อกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น เราจึงกำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิดจากมุมมองของผู้บริโภค ในขณะที่ตลาดหลักๆ ที่มีการใช้เอไอ มุ่งความสนใจไปที่การต่อต้านการผูกขาดทางการค้า         สิ่งที่ชัดเจนคือปัญญาประดิษฐ์แบบใหม่นี้จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา ตั้งแต่กฎหมาย บรรทัดฐาน และค่านิยมต่างๆ ทำให้ความโปร่งใสเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง การคุ้มครองผู้บริโภคแบบเดิมจึงไม่เพียงพอ ต้องมีการคิดใหม่ทำใหม่เพื่อให้เท่าทันพัฒนาการทางเทคโนโลยีล่าสุด         คำแนะนำของสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค เน้นความสำคัญของความโปร่งใสในการให้ข้อมูลแก่ผู้คนเพื่อการตัดสินใจอย่างเหมาะสม และทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถกำหนดและบังคับใช้ระเบียบต่างๆ ได้         การปรับปรุงเรื่องความโปร่งใสของเอไอได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าผู้คนจะได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงจากเทคโนโลยีใหม่นี้ การคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพจึงต้องเป็นส่วนหนึ่งของทั้งสามขั้นตอนต่อไปนี้         1. การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์         รายงานการตรวจสอบโดยคณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐฯ พบว่าผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องวิธีการที่ใช้ในการสร้างเอไอและการนำเอาข้อมูลต่างๆ ไปใช้ โมเดลส่วนใหญ่ของเจเนอเรทีฟเอไอต้องอาศัยชุดข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อฝึกฝนและเรียนรู้ เราต้องตั้งคำถามว่าโมเดลปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ถูกสร้างและบำรุงรักษาอย่างไร และเป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่         ตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่ใช้เพื่อฝึกฝนโมเดลเอไอได้รับการจัดเก็บอย่างถูกต้องตามกฎหมายและได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลหรือไม่ การจ้างงานมนุษย์เพื่อทำหน้าที่จำแนกข้อมูลและใส่หัวข้อเป็นไปอย่างถูกต้องตามจริยธรรมหรือไม่ ทรัพยากรด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องได้รับการจัดการอย่างรับผิดชอบหรือไม่ นักพัฒนาควรเปิดเผยข้อมูลว่าด้วยสิ่งที่ตนเองใช้ในการสร้างเครื่องมือสำหรับผู้บริโภค แบบเดียวกับการติดฉลากผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ผู้คนเข้าใจว่ามีอะไรอยู่ในอาหาร เสื้อผ้า หรือยารักษาโรค         2. การเผยแพร่และจัดจำหน่าย         เมื่อโมเดลเอไอถูกสร้างขึ้น มันควรถูกนำมาใช้โดยคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก         การพัฒนาโมเดลเอแแบบปิดหรือเปิดกลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในกรณีโมเดลแบบเปิด โค้ดต้นฉบับหรือคำสั่งในโปรแกรมจะเป็นสิ่งที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่ว่าใครก็สามารถนำไปใช้ได้ ขณะที่โมเดลแบบปิดจะเป็นของส่วนตัวและมีลิขสิทธิ์         ทั้งสองรูปแบบต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากคนที่เห็นด้วย มันน่าตื่นเต้นที่จะได้เห็นเครื่องมือใหม่ๆ ที่สังคมสามารถนำมาใช้ได้ แต่เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสม เราจำเป็นต้องรู้ว่าเมื่อโมเดลดังกล่าวถูกปล่อยออกไป มันจะส่งผลต่อสังคมอย่างไร         นักพัฒนาหรือผู้ที่นำผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปใช้ ได้คำนึงถึงความเสี่ยงหรือเปิดเผยความเสี่ยงของมันให้สังคมรู้หรือไม่ มีการอนุญาตให้บุคคลภายนอก เช่น นักวิจัย หรือหน่วยงานกำกับดูแล เข้าไปตรวจสอบคำกล่าวอ้างเหล่านั้นโดยอิสระหรือไม่ ในกรณีของโมเดลแบบเปิด มีการกำหนดเกณฑ์ว่าใครสามารถนำโค้ดไปสร้างต่อ หรือกำหนดสิ่งที่สามารถทำได้กับโค้ดดังกล่าวหรือไม่         เราเคยได้ยินข่าวว่าโมเดลของปัญญาประดิษฐ์แบบเปิดถูกนำมาใช้เพื่อสร้างภาพลามกอนาจารโดยบุคคลที่อยู่ในภาพไม่ได้ให้ความยินยอม สภาผู้บริโภคแห่งนอร์เวย์ได้ออกคำเตือนโดยละเอียดว่าด้วยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันสามารถสร้างข้อมูลปลอมหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้องได้ปริมาณมหาศาล เป็นการติดอาวุธให้กับมิจฉาชีพในการสร้างเรื่องหลอกลวงผู้บริโภค และมันยังทำให้การหลอกลวงออนไลน์เป็นเรื่องที่ยากแก่การตรวจสอบด้วย งานวิจัยพบว่าจากคนหนึ่งร้อยคน มีผู้ที่สามารถบอกได้ว่าเนื้อหาที่อ่านเป็นฝีมือของเอไอเพียง 50 คนเท่านั้น         ที่การประชุมใหญ่ระดับโลกของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลในปี 2023 เราได้เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ กำหนดให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเพียงพอจากภัยดังกล่าวบนแพลตฟอร์มเทคโนโลยีในคำประกาศเพื่อหยุดการหลอกลวงออนไลน์ (Global Statement to Stop Online Scams) สิ่งที่ต้องมีคือกฎระเบียบและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกัน ตรวจจับ สกัดกั้น และรับมือกับการหลอกลวงเหล่านี้         ผู้ที่กำลังพัฒนาระบบเอไอจะต้องตระหนักและรายงานสิ่งที่ตนเองรู้เกี่ยวกับอันตรายที่สามารถเกิดขึ้น         3. การกำหนดความรับผิดชอบ         เราจำเป็นต้องเค้นถามให้ได้คำตอบว่ามีขั้นตอนกระบวนการที่เข้มข้นพอเพื่อแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ และมีการกำหนดระดับความรับผิดชอบหรือระดับการคุ้มครองอย่างเหมาะสมทั้งในภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม แล้วหรือยัง ทั้งนี้รวมถึงสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับการชดเชยเยียวยา การเปิดเผยเรื่องการขออนุญาตเข้าถึงฐานข้อมูลของรัฐ และการละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น         พูดง่ายๆ คือ ถ้าระบบเอไอสร้างปัญหาให้กับมนุษย์ เราจะโทษใคร และใครมีหน้าที่แก้ไขปัญหาดังกล่าว เรื่องความรับผิดต้องระบุให้ชัดเจน         เรื่องศักยภาพของเอไอและเทคโนโลยีอื่นๆ ในการทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือสร้างอคติ มีคนพูดถึงค่อนข้างมาก แต่ยังไม่มีใครพูดถึงคนที่ต้องเป็นผู้รับผิด รวมถึงการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม เราจำเป็นต้องอภิปรายกันอย่างเข้มข้นในเรื่องวิธีการสนับสนุนหรือท้าทายการตัดสินใจโดยอัลกอริธึมของเอไอ เช่น การให้บริการเงินกู้ บริการสุขภาพ การทำประกัน หรือการจ้างงาน เป็นต้น         เอไอเข้าครอบคลุมทุกพื้นที่         เราต่างก็รู้ดีถึงพลังของเอไอในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราในแบบที่เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพ แต่ระดับความเร็วของการเปลี่ยนแปลงและภาวะไร้การควบคุมทำให้เราต้อง เร่งกำหนดนโยบายเชิงรุกเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค         ในปี 2024 นี้ เราต้องพิจารณากันให้ถี่ถ้วนว่ามีการลงมือทำอะไรไปแล้วบ้างและคิดหาวิธีที่ดีที่สุดในการใช้โอกาสอย่าง “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” ซึ่งเราได้กำหนดหัวข้อเรื่อง “เอไอที่เป็นธรรมและรับผิดชอบต่อผู้บริโภค” หรือการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่ดาวอส รวมถึงการประชุม G20 ที่ริโอเดอจาเนโร เพื่อให้เกิดการพูดคุยและสร้างการเปลี่ยนแปลง         ความพยายามด้านกฎหมายที่สำคัญ เช่น “พรบ. เอไอของสหภาพยุโรป” ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ในปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการรับรู้และการสนับสนุนจากภาครัฐ และแรงขับเคลื่อนในเรื่องแนวคิดการคุ้มครองผู้บริโภค         เราต่างก็ต้องการใช้ประโยชน์จากพลังของเทคโนโลยี ถ้าเราทำอย่างรับผิดชอบ เจนเนอเรทีฟเอไอ สามารถสร้างประโยชน์ได้มากมายโดยมีผลกระทบน้อยที่สุด แต่หากไม่มีการพูดคุยหรือจำกัดขอบเขตของความเสี่ยงเหล่านี้ ผลที่ได้อาจต่างไปโดยสิ้นเชิง         เราต้องดูแลผู้บริโภคเดี๋ยวนี้

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)