แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค แอปพลิเคชั่น Drops iOS Android
เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนต้องการหาคนแปลเอกสารจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษอย่างเร่งด่วน แถมเอกสารมีจำนวนหน้ามากกว่า 20 หน้า ซึ่งจำนวนหน้ามากขนาดนี้ทำให้ไม่สามารถทำเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดได้ทันแน่นอน ดังนั้นการมองหาคนแปลภาษาจึงตอบโจทย์มากที่สุด แต่เจอปัญหาที่ไม่รู้ว่าจะหาคนแปลเอกสารได้จากที่ไหน เพราะไม่เคยติดต่อแปลเอกสารมาก่อน และไม่มีคนใกล้ชิดเคยใช้บริการการแปลเอกสารเลย แต่ตอนนี้มีคำตอบมาแนะนำผู้อ่านแล้วค่ะ กับแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า Fastwork แอปพลิเคชั่น Fastwork มีประโยชน์อย่างไร Fastwork เป็นแอปพลิเคชั่นที่มีไว้เพื่อเป็นสื่อกลางในการให้บริการฟรีแลนซ์ที่หลากหลายอาชีพ โดยคัดเฉพาะฟรีแลนซ์มืออาชีพกว่า 10,000 ราย มีหมวดหมู่งานให้เลือก 7 หมวดหมู่หลัก ได้แก่ กราฟฟิกและดีไซน์ การตลาดและโฆษณา เขียนและแปลภาษา ภาพและเสียง เว็บและโปรแกรมมิ่ง ปรึกษาและแนะนำ และจัดการร้านค้าออนไลน์ โดยมีฟรีแลนซ์แยกย่อยลงไปตามรูปแบบงานที่ผู้ใช้ต้องการ อาทิเช่น แปลเอกสาร วาดภาพ ออกแบบภาพอินโฟกราฟฟิก สื่อโฆษณาออนไลน์ โปรโมทเพจหรือเว็บ เป็นต้น แอปพลิเคชั่นได้คัดเลือกฟรีแลนซ์ที่มีประสบการณ์และมีประวัติการทำงานในระยะเวลาที่ไม่น้อยเกินไป มีความน่าเชื่อถือ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับคนจ้างงาน นอกจากนี้ยังมีระบบชำระเงินที่ปลอดภัย ถ้าฟรีแลนซ์ไม่ส่งงาน และผู้จ้างงานไม่กดสิ้นสุดงาน ระบบจะยังไม่จ่ายเงินให้กับฟรีแลนซ์ ซึ่งวิธีนี้เป็นการการันตีว่าผู้จ้างงานจะสามารถแก้ไขผลงานจนกว่าจะตรงตามที่ตกลงไว้และได้รับงานอย่างแน่นอน ขั้นตอนการติดต่องานกำหนดไว้อย่างชัดเจน เมื่อค้นหาและเลือกฟรีแลนซ์ที่ถูกใจจากผลงานและความสามารถ และจากการอ่านความคิดเห็นต่างๆ ที่ได้รับจากผู้ที่เคยใช้งานมาก่อนหน้านี้แล้ว ให้กดปุ่มพูดคุยรายละเอียดกับฟรีแลนซ์โดยตรงทางข้อความ เพื่อให้รายละเอียดงานที่ครบถ้วนกับฟรีแลนซ์ โดยฟรีแลนซ์จะสร้างใบเสนอราคาให้ส่งให้ผู้จ้างงานพิจารณายืนยัน เมื่อผู้จ้างงานยืนยันใบเสนอราคาจะเข้าสู่ขั้นตอนการชำระเงิน การชำระเงินผ่าน Fastwork สามารถชำระได้ 3 ช่องทาง ทั้งบัตรเครดิต โมบายแบงค์กิ้ง และจ่ายด้วย Fastwork coin ซึ่งเงินของผู้จ้างงานจะได้รับการคุ้มครองตลอดการจ้างงาน หลังจากนั้นรอเวลาเพื่อให้ฟรีแลนซ์ส่งงาน โดยสามารถกดดูสถานะงานได้ว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว หรือผู้จ้างงานสามารถสอบถามโดยตรงกับฟรีแลนซ์ทางข้อความได้ เมื่อผู้จ้างงานได้รับงาน ให้ตรวจสอบงานที่ได้รับและกด “อนุมัติงาน Final” หากพอใจในผลงาน หรือกด “ขอแก้ไขงาน Final” หากยังไม่พอใจกับงาน ใครต้องการจ้างงานแบบเร่งด่วน ไม่รู้จะไปหาฟรีแลนซ์ที่ไหน แอปพลิเคชั่น Fastwork มีคำตอบให้ นอกจากเข้าแอปพลิเคชั่น Fastwork ในฐานะผู้จ้างงานแล้ว ยังสามารถเข้าใช้บริการในฐานะฟรีแลนซ์ได้อีกด้วย โดยมีขั้นตอนการสมัครง่ายๆ ให้กรอกข้อมูลส่วนตัว เลขบัตรประจำตัวประชาชน เลขที่บัญชี ภาพผลงาน และรออนุมัติจากทีมงานไม่เกิน 48 ชั่วโมงเท่านั้น
ช่วงนี้นั่งฟังข่าววันไหน ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด -19 ยังคงมีให้เห็นอยู่ทุกวัน แถมยังต้องระมัดระวังตนเองให้การ์ดไม่ตกตามมาตรการของรัฐบาลอีก จนทำให้ใครหลายคนอาจต้องทำงานที่บ้าน งดการเดินทางท่องเที่ยว งดการสร้างสรรค์กันอีกระลอก เพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด -19 ให้หมดไปจากประเทศไทยโดยเร็ว “แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม” ขอฮัมเพลงเบาๆ กันสักหน่อย เพราะจะหมุนตัวไปทางไหนก็ไม่ได้ เครียดเหลือเกินกับการต้องมาระวังตัวจนจิตตกคิดตลอดว่า “เป็นหรือยังเนี่ย” เครียดเหลือเกินที่ไม่ได้ออกไปเที่ยวกับเพื่อน เครียดเหลือเกินไม่ได้ทานข้าวกับแฟนมาเนิ่นนานมากแล้ว และเครียดเหลือเกินไม่รู้ว่าบริษัทจะลดเงินเดือนเมื่อไรกันหนอ กลับมาสู่โลกความเป็นจริงกัน ทุกคนต้องพึ่งสุภาษิตที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ดีที่สุด ดังนั้นการขจัดความเครียดและรู้เท่าทันความรู้สึกของตนเองสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดระลอกใหม่ ที่ดูทุกอย่างจะถาโถมมาพร้อมกันเหลือกัน ทุกคนต้องตั้งสติ และตระหนักกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยไม่ตระหนกกับเหตุการณ์ต่างๆ มากจนเกินไป เพื่อคลายความเครียดไม่ให้สะสมจนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตมากไปกว่านี้ ลองหันมาพึ่งแอปพลิเคชั่น Mental Health Check Up ที่จะช่วยเช็คสุขภาพจิตของเราว่าเป็นเช่นไร เพื่อให้รู้เท่าทันและพร้อมปรับเปลี่ยนสุขภาพจิตให้เหมาะสม จนไม่เกิดภาวะเครียด ภาวะซึมเศร้า และจิตตกกันดีกว่า แอปพลิเคชั่น Mental Health Check Up เป็นแอปพลิเคชั่นของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดยออกแบบมาเพื่อประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นด้วยตนเอง และคัดกรองปัญหาโรคจิตเวชที่พัฒนาขึ้น ทำให้ผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว ภายในแอปพลิเคชั่นจะใช้วิธีการประเมินตนเองที่เกี่ยวกับสุขภาพใจหลากหลายหมวด ได้แก่ ประเมินดัชนีวัดความสุข ประเมินความเครียด ประเมินภาวะซึมเศร้า ประเมินความฉลาดทางอารมณ์ EQ ประเมินภาวะติดสุรา ประเมินภาวะความจำ ประเมินภาวะติดเกม ประเมินภาวะหมดไฟในการทำงาน ประเมินพลังสุขภาพจิต RQ โดยก่อนเริ่มใช้แอปพลิเคชั่นจะสอบถามข้อมูลผู้ใช้งาน ดังนี้ ชื่อนามสกุล (ไม่บังคับใส่) อายุ เพศ ที่อยู่ หลังจากนั้นเมื่อเข้ามาในหน้าแรกจะปรากฎวิธีการประเมินตนเองที่เกี่ยวกับสุขภาพใจในหมวดต่างๆ ที่กล่าวมา การทำแบบประเมินจะเป็นในรูปแบบคำถามเชิงจิตวิทยา โดยในแต่ละหมวดจะมีจำนวนข้อแตกต่างกันไป เมื่อตอบคำถามครบทุกข้อแล้ว แอปพลิเคชั่น Mental Health Check Up จะประมวลผลและแจ้งผลการประเมินว่าอยู่ในระดับใด พร้อมคำแนะนำ ในกรณีที่ผลการประเมินออกมาในเชิงลบ อย่างเช่น มีความเครียดปานกลาง คำแนะนำจะอธิบายถึงสาเหตุที่อาจทำให้เกิดความเครียดเกิดขึ้น และเสนอทางแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย อ่านหนังสือ เล่นดนตรี ดูหนัง ฟังเพลง รดน้ำต้นไม้ สวดมนต์ไหว้พระ ทำจิตใจให้สงบ ไม่นึกถึงเรื่องอดีต เป็นต้น ถ้าสถานการณ์ช่วงนี้ทำให้จิตใจว้าวุ่นใจ เครียด ไม่มีสมาธิ ลองใช้แอปพลิเคชั่น Mental Health Check Up เช็คสุขภาพใจของตนเองกันดู อย่างน้อยก็ทำให้รู้ตัวว่าสุขภาพใจอยู่ในภาวะใด จะได้รับมือและฟื้นฟูสภาพจิตใจของตนเองได้ทันถ่วงที
มาถึงเดือนสุดท้ายของปี 2563 ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้การเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ยังคงมีความยากลำบากกันพอสมควร เพราะต้องปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้การ์ดตก ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่สำหรับคนไทยของเราทุกคนที่จะทำเพื่อส่วนรวมให้กับประเทศไทย ดังนั้นการมีข้อมูลสำหรับติดต่อสื่อสารไว้ในมือจะช่วยทำให้สามารถตรวจสอบและติดต่อไปยังสถานที่ใดที่ต้องการได้ทุกที่ เพื่อลดการเดินทางไปด้วยตนเองโดยไม่จำเป็น ฉบับนี้จึงมานำเสนอแอปพลิเคชั่นที่รวบรวมเบอร์โทรศัพท์ที่สำคัญไว้ภายในแอปพลิเคชั่นเดียวกัน ทำให้ลดขั้นตอนการค้นหาในกูเกิ้ลไปได้มากทีเดียว เพราะได้คัดเลือกเบอร์โทรศัพท์ที่ถูกต้องและได้อัพเดทเบอร์โทรศัพท์ตลอดเวลา ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการค้นหาเบอร์โทรศัพท์ในช่วงเวลาสำคัญและเร่งด่วนได้พอตัว และเหมาะกับผู้สูงอายุอีกด้วย แอปพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า Tap2Call สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android ได้ฟรี เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Tap2Call จะเข้าสู่ภายในแอปพลิเคชั่นได้โดยไม่ยุ่งยาก และเมนูที่ปรากฎหน้าแอปฯ สามารถเห็นได้ชัดเจน ตัวอักษรใหญ่ เหมาะกับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องสายตาได้เป็นอย่างดี แถมแอปฯ ไม่มีความซับซ้อน มีสีสันสวยงามน่าใช้มากๆ โดยเบอร์โทรศัพท์ที่ได้รวบรวมไว้ ได้แก่ หมวดสั่งอาหาร หมวดธนาคาร/บัตรเครดิต หมวดโรงภาพยนตร์ หมวดการสื่อสาร หมวดสายการบิน หมวดแท๊กซี่ หมวดโรงพยาบาล หมวดแจ้งเหตุด่วน และหมวดสอบถามข้อมูลทั่วไป หมวดสั่งอาหารจะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ของร้านอาหารยอดนิยม พร้อมเวลาเปิดให้บริการ หมวดธนาคาร/บัตรเครดิตจะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ของธนาคารทั้งหมดไว้ หมวดโรงภาพยนตร์จะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์สาขาต่างๆ ของโรงภาพยนตร์ทุกเครือ หมวดการสื่อสารจะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายโทรศัพท์และบริษัทที่ผลิตโทรศัพท์สมาร์ทโฟน หมวดสายการบิน หมวดแท๊กซี่ หมวดโรงพยาบาลจะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับหมวดนั้นๆ ส่วนหมวดแจ้งเหตุด่วนจะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ไว้อย่างหลากหลาย ได้แก่ ตำรวจทางหลวง กองปราบปราม รถพยาบาล ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะ ศูนย์จราจรอุบัติเหตุ จส.100 ศูนย์ดำรงธรรม ศูนย์นเรนทร ศูนย์ปรึกษาปัญหาชีวิต ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและครอบครัว ศูนย์รับแจ้งข่าวยาเสพติด ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สายด่วนกรมทางหลวง สายด่วนบัตรทอง สายด่วนผู้บริโภคกับ อย. สายด่วนร้องทุกข์ สคบ. เป็นต้น และหมวดสอบถามข้อมูลทั่วไปจะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ทั่วไปที่ไม่สามารถระบุในหมวดที่กล่าวมาทั้งหมดได้ เช่น บขส. ศาลาว่าการ ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว สายด่วนกรมการจัดหางาน เรือด่วนเจ้าพระยา เป็นต้น เมื่อค้นหาเบอร์โทรศัพท์ที่ต้องการติดต่อภายในแอปพลิเคชั่นเจอแล้ว ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสามารถกดโทรออกผ่านทางแอปพลิเคชั่นได้ทันที ตอบโจทย์ทุกความต้องการขนาดนี้ ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Tap2Call ไว้บนสมาร์ทโฟนสักนิด รับรองว่าเบอร์สำคัญต่างๆ จะถูกรวบรวมมาไว้เพื่อให้คุณพร้อมโทรแน่นอน
สุขภาพที่แข็งแรงย่อมเกิดมาจากการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย ดังนั้นอาหารที่เลือกรับประทานในชีวิตประจำวันมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนเองเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ฉบับนี้จึงมาแนะนำการเลือกรับประทานอาหารในแบบฉบับใส่ใจและลงลึกถึงสารอาหารและข้อมูลทางโภชนาการกันดีกว่าค่ะ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีการเปิดตัวแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “FoodChoice” ที่ได้รับการพัฒนาจากกระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอีกหลายฝ่าย และหนึ่งในนั้นคือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แอปพลิเคชั่น “FoodChoice” ตั้งใจมีไว้เพื่อให้ข้อมูลด้านโภชนาการอาหารและเครื่องดื่มให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะจำแนกข้อมูลต่อหนึ่งหน่วยบริโภคของปริมาณสารอาหาร ได้แก่ พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน ให้ข้อมูลในหน่วยช้อนชา และทำให้ผู้บริโภคได้รับทราบเกณฑ์มาตรฐานโภชนาการอีกด้วย ภายในแอปพลิเคชั่นจะมี 3 หมวด ดังนี้ หมวดแรกคือประวัติการค้นหา จะช่วยเก็บข้อมูลที่ได้ค้นหาข้อมูลบนฉลากโภชนาการทั้งหมด หมวดสองใช้สำหรับสแกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์เพื่อให้แอปฯ ประมวลผลข้อมูลบนฉลากโภชนาการ และหมวดสามเป็นข้อมูลทั่วไปของแอปพลิเคชั่น ได้แก่ การใช้งาน เกณฑ์สีและการจัดเรียงข้อมูล หน่วยงานที่ร่วมพัฒนา ช่องทางการติดต่อ และข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้ เมื่อต้องการทราบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ ให้สแกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์นั้นๆ หลังจากนั้นจะปรากฎภาพข้อมูลโภชนาการในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้ง่าย โดยแยกเป็นสารอาหารในปริมาณต่างๆ พร้อมคำแนะนำว่าผลิตภัณฑ์เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับผู้บริโภคที่เป็นโรคใดบ้าง และช่วยเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีการจำแนกสีของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถเลือกบริโภค และกำหนดปริมาณการกินให้เหมาะสมได้ ดังนี้ 1) สีเขียว หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ที่กําหนด 2) สีเหลือง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง 3) สีแดง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ที่สูงเกิน 2 เท่าของเกณฑ์ที่กำหนด 4) สีฟ้า หมายถึง ปริมาณโปรตีน แคลเซียม วิตามินบีสอง ซึ่งเป็นสารอาหารที่ดีแต่มีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์มาก ในกรณีที่ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสแกนบาร์โค้ดบนผลิตภัณฑ์แล้วไม่พบข้อมูล ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสามารถถ่ายรูปของด้านหน้าผลิตภัณฑ์ ข้อมูลโภชนาการ ส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ และเลขอย. 13 หลัก เพื่อแชร์รูปภาพให้ข้อมูลในแอปพลิเคชั่นทันสมัย และครบถ้วนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้บริโภคจะช่วยกันเพิ่มข้อมูลด้านโภชนาการและแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อกัน การใช้แอปพลิเคชั่น “FoodChoice” อย่างน้อยก็ช่วยสร้างให้ผู้บริโภคได้ตระหนักในการเลือกบริโภคและใส่ใจกับข้อมูลโภชนาการที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์ เพื่อประกอบการตัดสินใจที่จะเลือกบริโภคและพิจารณาถึงคุณค่าของสารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวันให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไปและน้อยเกินไป ซึ่งจะช่วยทำให้ร่างกายได้รับแต่อาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์
ความคิดเห็น (0)