ฉบับที่ 241 ค่าโดยสารรถไฟฟ้าควรเป็นเท่าไร ?

ค่าโดยสารรถไฟฟ้ากลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง (และน่าจะเป็นอีกในอนาคต) เมื่อก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวการต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวและกรุงเทพมหานครประกาศว่าจะมีการจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในอัตราไม่เกิน 104 บาทตลอดสายตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ซึ่งทั้งสองกรณีนี้สุดท้ายยังไม่เกิดขึ้นเนื่องจากถูกหลายฝ่ายคัดค้าน 
        กรณีดังกล่าวถูกโจมตีว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน ขณะที่ค่าโดยสาร 104 บาทก็สูงจนรับไม่ได้ เพราะหากคิดจากค่าแรงขั้นต่ำแล้วเท่ากับ 1 ใน 3 หมายความว่าคนจำนวนหนึ่งจะไม่สามารถเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนสาธารณะได้ 
        แล้วค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ควรจะเป็นคือเท่าไหร่? 
        ยังไม่มีคำตอบแบบฟันธง แต่ ฉลาดซื้อ ฉบับนี้จะพาไปฟังมุมมองจากหลายฝ่าย ทั้งนักวิชาการ นักการเมือง จนถึงคนทำงานว่าพวกเขาคิดอย่างไร



45-50 บาทต่อเที่ยว

สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ( TDRI ) 
        ราคาที่เหมาะสมถ้าดูในส่วนของรายได้และการจ่ายของกลุ่มรายได้ต่างๆ ถ้าเทียบก่อนว่าค่ารถไฟฟ้าปัจจุบันเหมาะกับกลุ่มรายได้ค่อนข้างสูง คือต้องมีรายได้เดือนหนึ่ง 20,000 บาทขึ้นไปต่อคนถึงจะสามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้เป็นประจำ คำถามต่อไปคือถ้าเราอยากให้กลุ่มรายได้ที่ต่ำลงมา เช่นเงินเดือน 10,000-12,000 บาทขึ้นรถไฟฟ้าได้ ค่ารถไฟฟ้าจะต้องลดลงมากี่เปอร์เซ็นต์ แล้วถ้าเราอยากให้คนที่เงินเดือนต่ำกว่า 10,000 บาทขึ้นรถไฟฟ้าได้ค่ารถไฟฟ้าควรเป็นเท่าไร 
        เราอาจจะมีปัญหาถ้าเราต้องตั้งอัตราค่ารถไฟฟ้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่มรวมถึงกลุ่มรายได้ขั้นต่ำ ซึ่งค่ารถไฟฟ้าเราอาจจะถูกมาก แต่ระบบอาจอยู่ไม่ได้ในระยะยาว สมมติว่า 10 หรือ 15 บาทตลอดสาย แต่ถามว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ รัฐบาลอาจต้องกุมขมับ ถ้าจะให้รัฐบาลกุมขมับน้อยลง มันก็คงเป็นค่าโดยสารที่คิดตามระยะทาง อาจเริ่มต้นที่ 15 บาทเป็นค่าแรกเข้า แล้วยิ่งเดินทางไกลก็อาจจะขึ้นค่าโดยสารหน่อย
        ค่าโดยสารสูงสุดผมยังมองภาพที่ 45-50 บาทต่อเที่ยว ถือว่ายังพอบริหารจัดการได้และให้รัฐอุดหนุนบ้างแต่ไม่มาก ตัวเลข 45-50 บาทต่อเที่ยวไม่ถึงขั้นที่คนมีรายได้ต่ำที่สุดในกรุงเทพฯ เข้าถึงได้ ซึ่งคนกลุ่มนั้นเราอาจจะต้องให้ความช่วยเหลือโดยตรงต่อไป แต่คนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ น่าจะเข้าถึงได้ ซึ่งถ้าได้ตามนี้หมายถึงเราต้องมีระบบตั๋วที่เชื่อมโยงกันระหว่างเส้นทางรถไฟฟ้า สิ่งที่เราพยายามพูดคือเราไม่อยากให้รถไฟฟ้าแต่ละเส้นต่างคนต่างคิดแยกกัน เพราะถ้าเราต้องการเดินทางไกล ผ่านหลายระบบ ค่าโดยสารก็จะสูงมากๆ อันนี้คือกรอบที่ผมเริ่มคิด แต่ถามว่าตัวเลขควรเป็นเท่าไหร่ อันนี้ยังต้องถกเถียงกันอยู่และคงต้องทำวิจัยเพิ่มเติม 
        ส่วน 25 บาทตลอดสายถือว่าค่อนข้างยาก คำถามต่อคือถ้าผมขึ้น 2 สถานีควรเก็บเท่าไหร่ 25 บาทก็ไม่คุ้มในมุมผู้โดยสาร เวลาพูดถึงเรื่องตลอดสาย มันต้องมีนิยามของคำว่าตลอดสายระดับหนึ่ง แล้วเที่ยวเดียว เดินทางสั้นๆ จะคิดค่าโดยสารยังไง 
        สิ่งเหล่านี้ต้องมีการเจรจา คำถามคือรัฐอยากจะทำไหม เพราะรัฐเองก็ลงทุนรถไฟฟ้าค่อนข้างมาก แต่ไม่มีแผนในการควบคุมอัตราค่าโดยสารเลย ปล่อยให้เป็นไปตามสัญญาสัมปทานเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นคำถามคือรัฐจะดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้ สัญญาที่ยังไม่เซ็นก็ต้องเซ็นในรูปแบบที่มีอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม สัญญาไหนที่เซ็นแล้วก็อาจต้องเรียกเอกชนมาเจรจา ถ้ารายได้ไม่เหมาะสม ต้องชดเชย หรือปรับเปลี่ยนสัญญาสัมปทานก็ว่าไป
 
15-45 บาทน่าจะเหมาะสมที่สุด
สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ..บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล 
        ผมคิดว่าอัตรา 15-45 บาทน่าจะเหมาะสม อย่างที่เราเห็นสายสีน้ำเงินตอนนี้ 17-42 บาท บีทีเอส 16-44 บาท ส่วนต่อขยาย 15-45 บาท รวมๆ หลักการคิดค่าโดยสารพิจารณาจากค่าครองชีพพอสมควร แต่ประเด็นคือเราทุกคนอยากให้มันถูกลง เพียงแต่ว่าคำถามนี้ง่ายก็จริง แต่ต้องถามว่าแล้วจะเอาเงินจากไหนมาอุดหนุน ระบบที่เราพัฒนากันมามันเป็นอยู่อย่างไร มีสัญญาผูกไว้หรือไม่ 
        ปัญหาค่าโดยสารแพงเกิดจากการที่รัฐอุดหนุนไม่เพียงพอเพราะการลงทุนแบบไม่พอเพียง รัฐบาลจัดการห่วย หาทางรวยจากขบวนการ 3 . อย่างที่ผมได้อภิปรายไม่ไว้วางใจไป ที่เป็นปัญหาเพราะระบบวางแผนรถไฟฟ้าของเรามาผิดทางคือเราเอาผู้ประกอบการเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ทีนี้ก็เลยเกิดการเจรจาเป็นสายๆ แบ่งเค้กเป็นรายๆ ต่อรองกันเป็นชิ้นๆ และมัดตราสังข์ไว้ด้วยสัมปทาน PPP net cost (เป็นการร่วมกันพัฒนาและให้บริการสาธารณะของภาครัฐและเอกชน โยเอกชนได้รับสิทธิ์ในการจัดเก็บรายได้และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง ซึ่งเอกชนจะต้องรับความเสี่ยงจากผลดำเนินงานทั้งหมด) 30 ปี จึงทำให้การแก้ปัญหาหรือทำให้ถูกลงเป็นเรื่องยากและไม่สมเหตุสมผลในบางประการ 
        พอเราผูกสัญญาสัมปทาน net cost 30 ปีไว้ เอกชนก็ไม่ยอมลดราคาให้ขาดทุนแน่ๆ เพราะมีสัญญาผูกไว้ จึงเป็นเหตุผลที่ผมบอกว่า 15-45 บาทน่าจะเหมาะสมและคนก็รับได้ในปัจจุบันเพราะทุกวันนี้เราก็ใช้กันอยู่เรทนี้ 
        ผมยกตัวอย่าง สมมติว่า PPP net cost ผูกไว้ที่ 45 บาทในท่อนหลัก อยู่ๆ รัฐบอกว่าจะเอาเงินภาษีของทุกคนทั่วประเทศมาช่วยอุดหนุนให้เหลือ 20 บาท การทำอย่างนั้นพอราคาลด ดีมานด์ก็จะเพิ่มขึ้น แต่รัฐต้องไปชดเชยอุดหนุนส่วนต่างให้เอกชนเพราะว่าผูกไว้ด้วย PPP net cost พอเป็นอย่างนั้นก็เหมือนกับรัฐเอาเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศไปเทให้เอกชนให้มีผู้ใช้เพิ่มมากขึ้น ผมจึงบอกว่ามันแก้ยากมากด้วยเงื่อนไขที่เราเป็นอยู่ 
        เพียงแต่การช่วยผู้บริโภคเวลาข้ามสายหรือข้ามระบบจะต้องหาทางแก้ ซึ่งตรงนี้ยังพอทำไหว แต่ตามสัญญาผูกไว้ว่า 45 บาท แล้วอยู่ๆ จะไปลดเหลือ 30 บาทหรือ 20 บาทตลอดสาย บอกตรงๆ เลยว่าเป็นไปไม่ได้ ต่อให้มีเงินพอมันก็เป็นการเทเงินเข้ากระเป๋าเอกชน
 
จุดเริ่มต้นที่เร็วที่สุดคือการทำตั๋วร่วมและเสียค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว
สิริพงศ์  อังคสกุลเกียรติ ..จังหวัดศรีสะเกษ เขต 1 พรรคภูมิใจไทย 
        ประเด็นแรกของผมคือค่ารถไฟฟ้าควรเป็นเท่าไหร่ ตอนนี้ต้องยอมรับว่าสมการในการคำนวณค่าโดยสารรถไฟฟ้าแต่ละสายไม่เหมือนกัน เนื่องจากว่าเป็นคนละสัญญากันหมดเลย กรณีที่เราจะหักหรือบังคับเปลี่ยนสัญญา ผมไม่มั่นใจว่าจะสามารถทำได้ตามข้อกฎหมาย แต่ถ้าตามอำนาจที่อาจทำได้โดยเริ่มต้นด้วยการใช้ระบบร่วม แล้วไปลดค่าแรกเข้าก่อน เช่นเดิมทีวันหนึ่งขึ้น 3 สายก็อาจต้องเสียค่าแรกเข้า 15 บาท 3 ครั้งเป็นเงิน 45 บาท ตรงนี้ต้องลดออกไปเลย 30 บาท เสียแค่ครั้งเดียวคือ 15 บาท ซึ่งแนวทางนี้น่าเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ที่สุด ฉะนั้น ค่าโดยสารควรเป็นเท่าไหร่ก็คือตามระยะทาง ส่วนค่าแรกเข้าเสียเพียงครั้งเดียว 
        ต่อมาในส่วนสายสีเขียวที่เป็นประเด็นอยู่ วันนี้วิ่งตลอดระยะทางอยู่ที่ประมาณ 59 บาท แต่ในสัญญาทั้งหมดที่เขานำเสนอคณะรัฐมนตรีต้องไม่เกิน 65 บาท ซึ่งมีการพูดถึงว่าเนื่องจากสัญญาการวิ่งแต่ละช่วงของ กทม. ก็เป็นสัญญาคนละลักษณะอีกเพราะส่วนตรงกลางหรือส่วนไข่แดง เอกชนรับเหมาหมด แต่ส่วนต่อขยายเขาจ้างวิ่งรถ มันก็คนละสมการกัน ก็จำเป็นต้องออกมาดู แต่ค่าแรกเข้าก็ยังยืนยันว่าควรเสียแค่ครั้งเดียว 
        อย่างไรก็ดี เราเขียนตัวเลขกันมาแล้วว่าสมมติในกรณีที่เขาได้สัมปทานที่ กทม. ให้เอกชนรับสัมปทานเบ็ดเสร็จทั้งหมดไปเลย เขาจะสามารถวิ่งได้ไม่เกิน 65 บาท ดังนั้น ถ้าตลอดสายเกิน 65 บาท มันก็ไม่เมคเซ้นส์ ฉะนั้น สายสีเขียวยังไงก็ต้องไม่เกิน 65 บาท 
        วันที่ได้ฟังผู้ว่าการ รฟม. พูด 20 บาท 40 บาท หรือ 50 บาทตลอดสาย มันย่อมเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่ระยะเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากว่ามีรถไฟฟ้าบางช่วงที่เอกชนลงทุนโครงสร้างและสัญญาจะหมดแล้ว เช่นสีเขียวตอนกลางซึ่งถือเป็นส่วนที่กำไรที่สุด พอสัญญาจะหมดมันสามารถเอากำไรตรงนี้ไปอุดหนุนภาวะขาดทุนตรงอื่นได้ ต้องเข้าใจว่าตอนนี้ระบบของไทยไม่เหมือนเราไปรถไฟฟ้าใต้ดินต่างประเทศ เขาจะไม่ได้ทำ commercial zone เฉพาะตรงส่วนของสถานี แต่เขาจะทำ commercial zone ใต้เมืองไปเลย แล้วพวกนี้รายได้ก็เอามาช่วยค่ารถ แต่ของเรายังไม่มีการจัดเก็บลักษณะนี้ 
        ถ้าถามว่า กทม. จะทำได้ไหม ด้วยการเอาภาษีน้ำมัน ภาษีสรรพสามิตที่ กทม. เก็บได้มาอุดหนุนค่ารถไฟฟ้า อันนี้ก็ต้องแล้วแต่นโยบายผู้บริหารซึ่งควรทำ แต่อย่างหนึ่งที่ควรทำก็คือต้องดูว่าตรงไหนที่กำไร แล้วเอากำไรไปอุดหนุนตรงอื่น อย่างนี้จะลดได้เยอะ 
        จุดเริ่มต้นที่เร็วที่สุดผมจึงคิดว่าควรจะเป็นตั๋วร่วม อาจไม่ใช่ว่าทำตั๋วร่วมออกมาแล้วถูกเลย แต่ผมคิดว่าเป็นการเริ่มต้นของการทำให้ราคาถูกลงได้ ตั๋วร่วมจะรวมถึงรถเมล์ด้วย ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงสิ้นปีนี้
 
25 บาทตลอดสาย
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สภาองค์กรของผู้บริโภค
        ตัวเลขของกระทรวงคมนาคมเขียนไว้ชัดเจนว่าใช้ตัวเลขที่ 49.83 บาท จากตัวเลขนี้ ปี 2602 ทำให้กรุงเทพมหานครสามารถมีรายได้ส่งรัฐทั้งหมด 380,200 ล้านบาท ในฐานะที่มีความรู้ทางคณิตศาสตร์อยู่บ้าง สภาองค์กรผู้บริโภคก็มาทดลองว่าถ้าเราลดราคาครึ่งหนึ่งของ 49 บาทจะยังมีรายได้ส่งรัฐหรือไม่ หรือว่า กทม. จะขาดทุนเท่าไหร่ เลยใช้ตัวเลข 25 บาท พบว่า ยังมีรายได้ส่งรัฐ 23,200 ล้านบาท ทำให้ดิฉันยืนยันว่า 25 บาทเป็นราคาที่ทำได้จริง เพราะเราใช้ค่าใช้จ่ายตัวเดียวกันกับของกระทรวงคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างเดินรถ แล้วเงินส่งรัฐรวมทั้งจ่ายหนี้ทั้งหลายของ กทม. เงินปันผลก็ใช้ตัวเลขเดียวกัน 
        25 บาทตลอดสายใน 2573-2585 เราอาจจะยังคืนหนี้บางส่วนไม่ได้ทั้งหมดเมื่อหักค่าใช้จ่าย แต่เมื่อถึงปี 2602 ก็ยังมีเงินเหลืออยู่ 2 หมื่นกว่าล้าน ดิฉันจึงคิดว่าเงินตรงนี้แม้เราจะเสียดอกเบี้ยเงินที่ติดลบอยู่ 39,800 ล้านบาท ยังไงก็มีเงินเหลือเพราะดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 2 หมื่นล้านอยู่แล้ว เมื่อเป็นแบบนี้ทำให้สภาองค์กรผู้บริโภคมั่นใจว่าราคา 25 บาททำได้จริง แล้วถ้าคุณใช้ 25 บาทจริงดิฉันคิดว่ารายได้จะมากกว่านี้ เพราะพอมันถูก คนจะขึ้นมากขึ้น ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลเลยที่กรุงเทพมหานครจะกำหนดราคา 65 บาท 
        เราคิดภายใต้หลักการว่าบริการขนส่งมวลชนเป็นบริการพื้นฐานของประชาชน ทุกคนต้องขึ้นได้ ราคาจึงควรเป็นราคาที่คนที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำควรขึ้นได้ ถ้าคุณใช้ 25 บาท คนก็จะขึ้นมากขึ้น มันก็ตอบคำถามว่ารถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนสำหรับทุกคน ตัวเลขของทีดีอาร์ไอบอกชัดเจนว่าคนที่ขึ้นรถไฟฟ้าได้ต้องมีเงินเดือนตั้งแต่ 25,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเราไม่เห็นด้วย 
        รัฐบาลต้องรู้ว่ารถไฟฟ้าไม่ได้อยู่หน้าบ้านของทุกคน ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอีก จริงๆ ยังอยากให้ถูกกว่านี้อีกเพราะในต่างประเทศค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรงขั้นต่ำ ของเรา 25 บาท ถ้าคิดไปกลับ 50 บาทก็ยังเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรงขั้นต่ำอยู่ แต่ดิฉันก็โอเค อย่างน้อย 25 บาทก็ดีกว่าปัจจุบันมาก 
        ยังมีอีกวิธีหนึ่งคือ กทม. เก็บภาษีน้ำมันเอ็กซ์ตร้าจากรัฐบาลกลางซึ่ง กทม. มีสิทธิเก็บอยู่แล้ว คุณเก็บเพียง 0.01 หรือ 1 สตางค์ หรือ 10 สตางค์ต่อลิตร คุณก็ได้รายได้เพื่อเอามาทำให้ค่ารถไฟฟ้าถูกลงหรือแม้กระทั่งทำให้รถเมล์มีคุณภาพมากกว่านี้ 
        ตอนนี้เราไม่รับหลักการว่ารถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชน เราคิดว่ารถไฟฟ้าเป็นทางเลือก แต่รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมพูดชัดเจนว่าที่ต้องมีรถไฟฟ้าหลายสายเพราะอยากแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ แต่ถ้าราคารถไฟฟ้า 99 บาท คนขึ้นไม่ได้ มันจะไม่ลดรถติด แต่ถ้าราคา 25 บาทดิฉันเชื่อว่าคนที่อยู่ใกล้รถไฟฟ้าเก็บรถไว้ที่บ้านแน่นอน คุณประสบความสำเร็จในการทำให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชน


 
บริการขนส่งมวลชนต้องเป็นรัฐสวัสดิการ
วรรณา แก้วชาติ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย 
        เราคิดว่าค่าบริการรถสาธารณะควรเป็นเรทที่ใกล้เคียงกันเพราะว่าต้นทุนไม่ได้ต่างกัน พูดถึงตัวเราที่ขึ้นขนส่งสาธารณะทุกวัน ต่อรถต่อวันแบบปกติไปกลับประมาณ 8 ต่อ เพราะต้องขี่มอร์เตอร์ไซค์จากบ้านมาลงปากซอย แล้วเอาจอดไว้ นั่งรถสองแถวมาต่อรถเมล์อีก 2 ครั้ง บางวันก็ต่อเรือ ต่อวินมอเตอร์ไซค์ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 8 ต่อต่อวัน บ้านอยู่หนองจอก ทำงานอยู่วัดเทพลีลา ซึ่งตอนนี้กำลังมีรถไฟฟ้าสายสีส้มที่จะไปมีนบุรีผ่านหน้าราม ค่าเดินทางเฉลี่ยเดือนหนึ่งเกือบ 4,000 บาท ยังไม่รวมค่าบ้าน ค่ากิน แล้วเงินที่เราต้องเก็บออมไว้เผื่อฉุกเฉิน ส่งให้พ่อที่ต่างจังหวัด นี่ไม่มีลูกนะ ถ้ามีลูกก็แทบจะไม่รอด 
        เราคิดว่าค่ารถไม่ควร 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรงขั้นต่ำ ตอนนี้นั่งรถเมล์จากมีนบุรีมาถึงหน้ารามอยู่ที่ประมาณ 25 บาทต่อรอบ แต่ถ้าต้องนั่งรถตู้ยาวมาเลยอาจจะเยอะหน่อยตกที่ 30-40 บาท แต่เราคิดว่าต่อเที่ยวไม่เกิน 25 บาทตลอดสาย ไปกลับ 50 บาท สมมติคิดจากค่าแรงขั้นต่ำที่ 300 มันก็ยังพอมีเงินเหลือที่จะใช้กับค่าใช้จ่ายอื่น 
        เวลาต้องไปประชุมหรือลงพื้นที่ เช่นพื้นที่บางกอกน้อย ต้องนั่งรถสองแถวจากบ้านไปลงมีนบุรีแล้วต่อรถตู้ไปลงจตุจักร แล้วนั่งรถไฟฟ้าต่อไปลงบางขุนนนท์ เฉพาะรถไฟฟ้าประมาณ 42 บาท ถ้าบางวันต้องไปลงพื้นที่แถวทุ่งครุก็ต้องนั่งยาวจากจตุจักรไปลงบางหว้าอันนี้ก็ตกเกือบ 50 บาท ทำให้เรารู้สึกว่าทำไมรถไฟฟ้าคนที่มีรายได้น้อยถึงขึ้นได้ยาก ถามว่าเราอยากขึ้นไหม เราอยากขึ้น แต่ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงมากและไม่เอื้ออำนวยกับเงินในกระเป๋า เราจึงต้องเลือกต่อรถหลายต่อเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่จริงๆ พอบวกกันแล้วก็ใกล้เคียงกับรถไฟฟ้า 
        ทุกคนก็อยากมีรถไฟฟ้าที่ขึ้นได้ อย่างเช่นเขาอาจต้องไปซื้อของที่ตลาดเพราะขายแกงขายอะไร แต่สิ่งพวกนี้เราถูกปฏิเสธ เอาขึ้นรถไฟฟ้าไม่ได้ เขากลัวมีน้ำจะทำให้เป็นปัญหา รถไฟฟ้าตอนนี้มันตอบโจทย์ชนชั้นกลางและอาจจะเป็นชนชั้นกลางระดับบนด้วย ไม่ได้ตอบโจทย์ชนชั้นกลางระดับล่าง สมมติวันนี้ชาวบ้านที่ไปรับจ้างทำความสะอาดเป็นแม่บ้านอาจจะมีอุปกรณ์บ้าง ถามว่าขึ้นรถไฟฟ้าได้ไหม ขึ้นไม่ได้ เพราะขึ้นไปแล้วจะเป็นปัญหา เขาจะไม่ให้เข้า เพราะดูพะรุงพะรัง บางทีทาสีมาแล้วสีติดเต็มตัวเขาก็รู้สึกว่าขึ้นไปคนอื่นก็รังเกียจ เราอยากให้มีรถไฟฟ้าที่ใช้ได้สำหรับทุกคนเหมือนต่างประเทศ ใครจะขึ้นก็ได้ บางอย่างก็ห้ามได้ แต่บางอย่างก็ไม่ควร ถึงเขาจะบอกว่าไม่มีข้อห้าม แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ได้ 
        บริการขนส่งมวลชนต้องเป็นรัฐสวัสดิการ ทุกคนต้องใช้ได้ บนพื้นฐานที่ไม่กระทบกับรายได้และค่าครองชีพ รัฐต้องเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ไม่ใช่โยนภาระให้กับผู้ใช้บริการแล้วไปตอบโจทย์ให้กับนักธุรกิจหรือแหล่งทุนต่างๆ
...........
 
        ค่าโดยสารรถไฟฟ้าควรเป็นเท่าไรยังมีคำตอบหลากหลาย แต่ถ้าถามว่าทำไมมันจึงเป็นอย่างที่เป็นอยู่ดูเหมือนว่าจะมีคำตอบเดียวคือ การสร้างรถไฟฟ้าของรัฐไม่ได้ถูกคิดเป็นระบบในภาพรวมตั้งแต่ต้น เน้นการสร้างหลายสายเป็นหลัก ไม่ได้คำนึงถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและความคุ้มทุนทางการเงิน ผลลัพธ์จึงเป็นดังที่เห็น

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค รถไฟฟ้า ราคา BTS

ฉบับที่ 264 ฟ้องปิดปาก เครื่องมือหยุดผู้บริโภคไม่ให้ส่งเสียง! ตอน 2

        ฉบับนี้ขอนำเสนอตัวอย่างคดีฟ้องปิดปาก อย่างลงลึกมากขึ้นคือ คดีหมายเลขดำที่  723/2565 โดย สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและ นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ  ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ในข้อหาหมิ่นประมาท ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์                   เรื่องราวของคดีนี้เริ่มต้นในช่วงปี 2562 ซึ่งย้อนกลับไปในช่วงเวลาดังกล่าว กระแสหนึ่งที่สังคมจับตาให้ความสนใจอย่างมาก คือ การรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายในการเกษตรคือ  พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งในที่สุดคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2562 ปรับให้ทั้ง 3 สาร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออกและห้ามใช้         ภายหลังมีมติดังกล่าวยิ่งทำให้สังคมให้ความสนใจ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ  ในฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีจึงได้รับเชิญให้ไปแสดงความเห็นในสถานีวิทยุ โทรทัศน์และสื่อต่างๆ เป็นจำนวน ทั้งยังใช้เพจเฟซบุ๊กรณรงค์ ให้ความเข้าใจแก่สังคมเรื่องอันตรายของทั้ง  3 สารเคมี  ในระหว่างนี้เขาได้แชร์โพสต์ของสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยที่มีข้อความว่า “ไม่มีรัฐบาลไหนในโลกใบนี้ที่จะแบนสารแถบสีน้ำเงิน แบบไกลโฟเซตแต่เสนอสารทดแทนแถบสีเหลืองแบบกลูโฟซิเนต” มายังเพจของมูลนิธิชีววิถี   และนั่นคือที่มาของการถูกฟ้องที่เริ่มต้นขึ้น         “โพสต์ดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เป็นการบิดเบือนเพราะไม่ได้พูดถึงภัยอันตรายทั้งหมด  นั่นคือประเด็นหนึ่งที่ได้ทั้งแสดงความเห็น ทั้งโพสต์ในเฟซบุ๊ก รวมถึงอธิบายในสื่อต่างๆ  สีของฉลากไม่ได้พูดถึงพิษเรื้อรัง การก่อกลายพันธุ์ การก่อมะเร็ง”  วิฑูรย์กล่าว โดยประเด็นสำคัญที่ทำให้เขาแชร์โพสต์ดังกล่าวเพราะอยากสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่า ฉลากสีที่กำหนดประเภทของสารเคมี ไม่ได้ให้ข้อมูลอันตรายทั้งหมดของสารเคมีแต่ละชนิด โดยเฉพาะอันตรายในระยะยาวที่จะสะสมในร่างกายจนก่อให้เกิดโรครุนแรงได้หลายโรค  การที่สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยได้สื่อสารและทำให้ประชาชนเข้าใจอันตรายของสารเคมีตามฉลากของสีจึงยังไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่ความจริงทั้งหมด          สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและนางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมฯ มองเรื่องนี้ว่าเป็นหมิ่นประมาท ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จึงยื่นฟ้องวิฑูรย์ในข้อหาหมิ่นประมาท ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์   ขอให้ศาลลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 91,326,328 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(1) , 16   ลงวันที่ฟ้องในศาลชั้นต้นวันที่  17 มีนาคม 2564         “โดยเมื่อพิจารณาจากการที่จำเลยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีที่จัดตั้งซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยด้านทรัพยากร ชีวภาพ เกษตรกรรม อาหาร สิทธิเกษตรกรและชุมชนเพื่อประโยชน์สาธารณด้านสิ่งแวดล้อม  มูลนิธิดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ทั้งจำเลยและบุคคลในมูลนิธิของจำเลยเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการเกี่ยวกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความอันตรายและจากการศึกษาทางวิชาการของจำเลยตามเอกสารหมายเลข จ.5 ได้แบ่งประเภทความอันตรายของสารเคมีเกษตรด้วยแถบสียังไม่สามารถวัดอันตรายของพิษเรื้อรังได้ ประกอบกับคู่มือการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ยังมีการจำแนกความอันตรายจากสารพิษตามหลักเกณฑ์พิษเฉียบพลัน และพิษเรื้อรังไว้ด้วย  ดังนั้นกรณีที่จำเลยกล่าวถ้อยคำทางแอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊คผ่านเพจมูลนิธิชีววิถี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 และวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 เป็นการเตือนให้ตระหนักหรือระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้สารเคมีที่ให้ผลเป็นพิษแก่ผู้บริโภคเป็นไปตามฐานะตำแหน่งการงานที่จำเลยดำรงอยู่ ”                  “เราคิดว่า ผลของคดีนี้ทำให้ผู้ถูกฟ้องมีความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นและทำงานของตัวเองได้อย่างเต็มที่ต่อไปเป็นอิสระจากความกลัวและเป็นการยืนยันว่า การทำเพื่อประโยชน์สาธารณะจะคุ้มครองเราเองจากการฟ้องคดีปิดปาก” จันทร์จิรา  ทนายความกล่าวยืนยันผลของคดี         ด้านวิฑูรย์กล่าวว่า “คำตัดสินของศาลเป็นการยืนยัน  สิทธิของประชาชนที่จะวิพากษ์ วิจารณ์  หรือแสดงความคิดเห็น  ในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ คำตัดสินแบบนี้ควรจะถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในคดีความอื่นๆ  ด้วยที่จะปกป้องประโยชน์ของคนที่ทำงานเรื่องสุขภาพ และเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยต่อไป”           “เพราะในที่สุดแล้วผมคิดว่าการมีคดีแบบนี้เยอะๆ มันไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของสังคมโดยรวมเลย ในท้ายที่สุด คนที่จะสูญเสียประโยชน์ ได้รับผลกระทบ คือสังคมส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ในประเทศ การที่คนเล็กคนน้อยถูกฟ้องร้องในคดีพวกนี้  เพราะฉะนั้นที่จริงแล้วประเทศไทยควรมีทั้งแนวปฏิบัติ แนวกฎหมายที่จะช่วยป้องกันคุ้มครองคนที่เคลื่อนไหวต่อสู้หรือการแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ”

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 263 ฟ้องปิดปาก เครื่องมือหยุดผู้บริโภคไม่ให้ส่งเสียง! ตอนที่ 1

“ที่ใดก็ตาม ไม่มีเสรีภาพของการแสดงออกที่แท้จริง ที่นั่นไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง” นี่คือปรัชญาที่สหภาพยุโรปใช้เป็นแนวทางการยกเลิกความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท มองมาที่ไทย ประเทศที่เสรีภาพการแสดงออกได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2475 แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อประชาชนใช้สิทธิ เสรีภาพ  เพื่อส่งเสียงเรียกร้องสิทธิของตนเอง  อาจกระทบต่อคนหลายฝ่าย อาจเกี่ยวพันไปถึงสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของผู้ประกอบการ  นักการเมือง ข้าราชการ ที่ในอีกด้านหนึ่งพวกเขาก็ย่อมมีสิทธิในการปกป้องรักษาชื่อเสียงเกียรติยศของตนเองด้วยเช่นกัน         ‘การฟ้องปิดปาก’ หรือ SLAPPs (strategic lawsuits against public participation) หรือเรียกว่า  “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” จึงถูกผู้ประกอบการ นักการเมือง ข้าราชการนำมาใช้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง         คดีจากการ‘การฟ้องปิดปาก’  นี้จึงแตกต่างจากคดีทั่วไปตรงที่ผู้ฟ้องไม่ได้มุ่งหมายที่จะชนะคดี แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อขู่อีกฝ่ายให้กลัวหรือทำให้เกิดภาระมากมายจนหยุดการกระทำหรือแกล้งขัดขวางยับยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพของอีกฝ่ายเท่านั้น เช่น ปัจจุบัน ผู้บริโภคหลายรายเพียงรีวิว การใช้สินค้าที่ซื้อมาใช้ด้วยความสุจริตลงในสื่อออนไลน์ กลับถูกประกอบการขู่ฟ้อง ดำเนินคดี ก็เพื่อให้หยุดแสดงความคิดเห็นหรือลบข้อความที่ได้เขียนลงไป         ในเวทีเสวนาเรื่อง “เสวนาปัญหาการถูกฟ้องคดีปิดปาก: ถอดบทเรียนจากการใช้สิทธิของผู้บริโภค” วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า ในต่างประเทศการฟ้องปิดปากเป็นคดีแพ่งเท่านั้น เช่น สหรัฐอเมริกา แต่สำหรับประเทศไทยประชาชนที่ออกมาพูดเพื่อประโยชน์สาธารณะกลับถูกดำเนินคดีทั้งกระบวนการทางแพ่งและอาญา สุดท้ายทำให้ประชาชนที่ใช้สิทธิ ถอดใจ เรากล่าวขอโทษ ถอดบทความต่างๆ ความจริงก็จะไม่ปรากฏ และประโยชน์สาธารณะก็จะเสียไป        “ผมคิดว่า การฟ้องปิดปากมีสมการที่อธิบายได้แบบนี้ เสรีภาพ การแสดงออกซึ่งความคิดของประชาชน กับเรื่องสิทธิของผู้ประกอบการในการมีสิทธิทางธุรกิจ เกียรติยศ  ผมว่าเสมอกัน เสรีภาพของประชาชน เสมอกับเกียรติยศของคนที่เราพูดถึง   ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว  เราไปกล่าวหาคนอื่น เรื่องส่วนตัว เรามีความรับผิด ตรงกันข้าม ถ้าเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิด บวกประโยชน์สาธารณะเข้ามา มันควรจะมากกว่า ชื่อเสียง เกียรติยศของภาคธุรกิจหรือไม่  เราเป็นผู้บริโภคแสดงออกว่า สินค้านี้ไม่ดี เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เขาไม่ได้ทำเพื่อส่วนตัว เขาทำให้บ้านเมืองนี้ดีขึ้น เพื่อธุรกิจจะมีความรับผิดชอบ นำของที่ดีมาขาย ไม่ใช่เอาของไม่ดีมาขายแล้วตัดภาระให้ประชาชน เมื่อมีประโยชน์สาธารณะสุดท้ายจะปรับให้เกิดภาพรวมที่ดีของสังคมที่ได้ ได้ใช้สินค้าและบริการที่ดี ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองมากขึ้นเพราะทุกคนในประเทศไทยต่างเป็นผู้บริโภค เพราะเราต้องซื้อของ และใช้บริการ”          รายงานวิจัยของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พบว่า ตั้งแต่ปี 2540 มีคดีปิดปากอย่างน้อย 212 คดีที่นำเข้าสู่กระบวนการศาล  หนึ่งในสี่ของคดีปิดปากเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ ประชาชนถูกฟ้องร้องจากความพยายามที่จะร้องเรียนเรื่องสภาพการทำงานที่ผิดกฎหมาย เรื่องการใช้ความรุนแรงของตำรวจ หรือ เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  โดยร้อยละ 95 ของคดีฟ้องปิดปากในประเทศไทย เป็นคดีอาญา และผู้ที่เป็นจำเลยส่วนใหญ่ คือ ประชาชนทั่วไป นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอาสาสมัคร ร้อยละ 39  ผู้แทนชุมชนและแรงงาน ร้อยละ 23% นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ร้อยละ16%และ นักข่าวร้อยละ9%  และกิจกรรมหลักที่เป็นสาเหตุสำคัญของการฟ้องร้องคือการแสดงความเห็นออนไลน์ ซึ่งคดีหมิ่นประมาทเป็นข้อกล่าวหาทางอาญา มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 2 ปี และ ปรับ 200,000 บาท หากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง         รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่าเขามองว่า ความหวัง และทางออกของเรื่องนี้คือ กฎหมายมาตรา 329 ที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่ายควรได้นำไปปรับใช้ให้มากขึ้น“มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต(1)   เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม(2)   ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่(3)   ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ(4)   ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล หรือในการประชุมผู้นั้น ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”         “ผมว่าตรงนี้คือกุญแจสำคัญในการที่ผู้บริโภค พิทักษ์สิทธิ์ ไปแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่เป็นความผิด แม้เป็นการใส่ความเขาเหตุผลเพราะ เรากำลังทำเพื่อความเป็นประธรรม ประโยชน์ส่วนร่วม ตามมาตรา 329”         อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติยังเป็นไปได้น้อย ศาลยังขาดข้อมูลว่าผู้ฟ้องมีเจตนาใช้กระบวนการยุติธรรมด้วยความไม่บริสุทธิ์ ทำให้มีคดีเข้าสู่ศาลแม้การฟ้องปิดปากจะเป็นคดีที่ไม่มีมูลเหตุ ถูกออกแบบมาให้มีความซับซ้อน กินระยะเวลายาวนาน และเสียค่าใช้จ่ายราคาแพงสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง ถ้าจำเลยไม่มีฐานะทางการเงินเพียงพอที่จะสู้คดี ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็ไม่มีทางเลือกและจำต้องยอมรับข้อเรียกร้องของโจทก์ ซึ่งมักจะมาในรูปของ การชดใช้ค่าเสียหาย การขอโทษ หรือ การลบข้อความที่ถือว่าละเมิด         การดำเนินคดีในกลุ่มผู้ใช้สิทธิผู้บริโภคก็มีมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอข่าว และ บทความ ในเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่า “ฉลาดซื้อเผยผลสุ่มตรวจ ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ร้อยละ 67 ไม่ผ่านมาตรฐานประกาศ สธ. …” โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ยี่ห้อ เคียวร์ซิส (CUREAYS) ผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยผลการทดสอบ ได้ผล ร้อยละ 69 และ ร้อยละ 64 ตามลำดับ พร้อมระบุข้อสังเกตจากการทดสอบ เรื่องคุณภาพการผลิต พบว่า ยังไม่มีการควบคุมให้ได้มาตรฐาน … บริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด รับผลิตสินค้าให้กับผู้ประกอบการหลายบริษัท แต่จากผลการทดสอบบางยี่ห้อผ่านเกณฑ์ บางยี่ห้อไม่ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏว่า บริษัทผู้ผลิต กลับยื่นฟ้อง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยข้อหา “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” ทั้งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำงานโดยสุจริต เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่กลับถูกข้อกฎหมายฟ้องปิดปาก มาปิดกั้นการทำงานเพื่อผู้บริโภคส่วนใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ และยังมีอีกหลายกรณีของการทดสอบ หรือ เผยแพร่ข้อมูลโดยสุจริตเพื่อ เตือนภัย แต่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลับถูกแทรกแซงจากผู้ประกอบการด้วยวิธีการต่างๆ และจากหลายกรณีที่ผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียน เช่น คดีกระทะโคเรียคิง ครีมเพิร์ลลี่ หรือ คดีสามล้อ ฯลฯ กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปากโดย ปปช.         คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ปัจจุบันมียุทธศาสตร์ ให้ประชาชน ‘ไม่ทำ’ และ ‘ไม่ทน’ ต่อการทุจริต  แต่เมื่อประชาชนที่มาชี้ช่อง เบาะแสกลับถูกดำเนินคดีฟ้องกลับ มากมาย ปปช.ในปี พ.ศ. 2564 จึงเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. ....” หรือ ปัจจุบันมีชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ...” ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งสุดท้าย         นายนิรุท  สุขพ่อค้า  ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวว่า “ปปช. เรามีแนวคิดปกป้องคุ้มครองประชาชนมานานแล้วเราจึงมีกฎหมายในการคุ้มครองพยาน แต่ยังเป็นเรื่องของการคุ้มครองอันตรายทางกายภาพ เนื้อตัว ร่างกาย ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น  ผู้ถูกกล่าวหาเขามีความรู้ก็จะใช้กฎหมายดำเนินคดีกับผู้แจ้งเบาะแส หรือ ภาคประชาชนซึ่งเรื่องการชี้ช่องเบาะแส  บางอย่าง เป็นเรื่องของการก้ำกึ่งระหว่างเรื่องของการหมิ่นประมาทซึ่งเป็นคดีอาญา การที่เขาจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการฟ้องร้อง หรือ ดำเนินคดีปิดปาก มันเป็นการดำเนินการที่ไม่ต้องใช้ทุนอะไร แค่เดินไปยังพนักงานสอบสวน และร้องทุกข์ กล่าวโทษก็ถือว่าเป็นคดีได้แล้ว”         “เรื่องการทุจริตต่อหน้าที่ ปปช. มีหน้าที่รวบรวม พยานหลักฐาน  แต่คนที่จะมีส่วนรู้เห็น ก็มีบทบาทสำคัญที่จะมาช่วย  ปปช. ได้คือภาคประชาชน การฟ้องปิดปากจึงทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเดือดร้อน  ไม่ว่าจะภาคประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง ที่ถูกเจ้าหน้าที่เอาเปรียบ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับความเดือดร้อน เสียหายในเขตพื้นที่อันเกิดจากการทุจริต ในการจัดซื้อจัดจ้าง ถนนชำรุดทรุดโทรมง่าย ภาคประชาชนที่ทำหน้าที่ NGO ทำหน้าที่เป็นสื่อ ทำหน้าที่สอดส่อง ดูแล  การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง เป็นกลุ่มที่หลากหลาย ทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ”          “กฎหมายฉบับนี้จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชรตามคดี 3 ลักษณะกว้างๆ คือ เมื่อคนที่ชี้ช่องถูกดำเนินคดีอาญา ปปช. จะเข้าไปทำงานร่วมกับพนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความร้องทุกข์ฐานหมิ่นประมาท ทางในแพ่ง ปปช. จะตั้งทนายเข้าไปช่วยประชาชน และหากเป็นคดีทางปกครอง ถูกผู้บัญชาดำเนินการทางวินัย ปปช.มีอำนาจที่จะสั่งให้หยุดการดำเนินการทางวินัยได้เลย นี่ค่อนข้างจะเด็ดขาดมาก ทั้ง 3 ลักษณะคดีนี้  ปปช. มีอำนาจที่จะให้ข้อมูล เพื่อให้พนักงานสอบสวน/ อัยการ มีดุลยพินิจ สั่งไม่ฟ้อง และ ปปช.ดำเนินการด้วยงบประมาณของตนเองเพราะมีกองทุนอยู่แล้วจึงมีความพร้อมในการปฏิบัติ เราคาดหวังเต็มร้อยเพราะเรื่องการปราบปรามทุจริตได้ เราทำเองไม่ได้ถ้าประชาชนไม่ร่วมมือให้ข้อมูล เบาะแส หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความสำคัญเป็นลำดับต้นกฎหมายฉบับนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับภาคประชาชนด้วยทุกฝ่าย ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสังคมโลกดีขึ้น ”นายนิรุทกล่าวยืนยัน        ฉบับหน้าติดตามตัวอย่างผู้บริโภคที่ได้รับผลจากการฟ้องคดี “ปิดปาก” และผลของคดีที่น่าสนใจ

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 262 ปี 2565 เศรษฐกิจแย่ แอปกู้เงินออนไลน์หลอกลวงระบาดหนัก พบร้องเรียนมากสุด

        ปี 2565 เศรษฐกิจแย่ แอปกู้เงินออนไลน์หลอกลวงระบาดหนัก พบร้องเรียนมากสุด        2565 เป็นปีที่ผู้บริโภคไทยยังต้องรับมือกับยุคข้าวยากหมากแพง จากผลสำรวจของ EIC (Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์เผยคนรายได้น้อยกระทบหนัก เหตุรายได้ไม่เพิ่ม แต่ค่าใช้จ่ายพุ่ง ทำให้อัตราการออมลดและเกือบครึ่งผิดนัดชำระหนี้ สอดรับกับปัญหาสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ประจำปี 2565 พบว่า ปัญหาการเงินการธนาคาร “ถูกแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์หลอกลวงผู้บริโภค” พุ่งอันดับ 1 และเรื่องที่ปรึกษามากทุกวันคือ “ทำอย่างไรเมื่อไม่มีเงินจ่ายหนี้”         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคของปี 2565  (1 มกราคม - 30 พฤศจิกายน 65) จากจำนวนผู้ร้องเรียน 2,090 ราย พบ อันดับที่หนึ่ง ปัญหาการเงินการธนาคาร/ประกัน 487 เรื่อง (ร้อยละ 23.3)  อันดับที่สอง ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป 415   เรื่อง (ร้อยละ  19.9) และอันดับที่สาม ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม รวม  378  เรื่อง (ร้อยละ  18.1)           อันดับ 1 “ถูกแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์หลอกลวง”         ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ ถูกแอพกู้เงินออนไลน์หลอก มีทั้งกรณีหลอกให้กู้แล้วได้เงินจริงแต่เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และกรณีกู้เงินแต่ไม่ได้เงินแต่กลับต้องเสียเงิน ตามมาด้วยปัญหาหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และเช่าซื้อรถยนต์ เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหลายรายไม่มีรายได้ ตกงาน ทำให้ไม่มีเงินชำระหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อต่างๆ ในปี 2565 ปัญหาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นปัญหายอดฮิตที่ผู้บริโภคเข้ามาปรึกษาที่มูลนิธิฯผ่านช่องทางต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะสอบถามประเด็นเป็นหนี้แล้วไม่มีเงินชำระต้องทำอย่างไร ได้รับหมายศาลผิดนัดชำระหนี้         สำหรับปัญหาประกัน กรณีการเคลมประกันโควิด ทั้งการเคลมประกันล่าช้า โดยลักษณะปัญหาคือ บริษัทประกันหลายที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่กำหนดให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยภายใน 15 วัน กรณียื่นเอกสารครบถ้วน หากผู้เอาประกันยื่นเอกสารไม่ครบถ้วนให้แจ้งภายในวันเดียวกับที่ตรวจพบและให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ยื่นเอกสารครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องบางรายส่งเอกสารครบถ้วนตามที่บริษัทแจ้ง ผ่านมา 3 เดือนยังไม่ได้รับค่ากรมธรรม์ และการที่บริษัทบอกเลิกสัญญา ยกเลิกประกันภัย การติดเชื้อไวรัสโคโร่นา แบบ เจอ จ่าย จบ หรือ โควิด 2 in 1 ระบุจ่ายเงินเบี้ยประกันคืน 15 วัน ทั้งนี้บริษัทจะแจ้งผู้ทำประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโคโร่นา แบบข้างต้นว่า ทางบริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ แบบเจอ จ่าย จบ และ 2 In 1 สืบเนื่องจากภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อโควิดที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและมีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงจนคาดเดาสถานการณ์ไม่ได้ อันดับ 2 “สินค้าชำรุด ไม่ตรงปก โปรโมชันหลอก”         ในขณะที่ผู้บริโภคเผชิญกับปัญหาสินค้าแพง ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาสินค้าชำรุดบกพร่อง สินค้าไม่ตรงปก และโฆษณาเกินจริงอีกด้วย โดยเฉพาะสินค้าที่สั่งทางออนไลน์ เช่น เสื้อผ้า ซึ่งจะได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณาหรือแสดงไว้บนหน้าแพลตฟอร์ม ส่วนกรณีซื้อสินค้าจากร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก พบปัญหาการแสดงราคาผิดและการแสดงโปรโมชันไม่ถูกต้องหรือการจัดวางสินค้าไม่ตรงกับป้ายแสดงราคา ทำให้เกิดปัญหาการเข้าใจผิด เช่น ที่ป้ายแจ้งว่าสินค้าซื้อ 1 แถม 1 แต่เมื่อนำสินค้าไปชำระเงินพนักงานกลับคิดราคาเต็มไม่มีการแถม เป็นต้น         ในส่วนของงานบริการ ผู้บริโภคพบปัญหาหลายด้าน อาทิ การถูกชักชวนให้ซื้อคอร์สบริการความงามต่างๆ หรือการเปิดบูธลวงขายเครื่องสำอางแพงเกินจริง การพบแอพขายสินค้าออนไลน์ที่ขายผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย และการหลอกซื้อบริการโปรแกรมทัวร์ท่องเที่ยวต่างประเทศล่วงหน้าแต่ถูกยกเลิกเที่ยวบินภายหลัง อันดับ 3 “คอลเซนเตอร์และ SMS หลอกลวง” ยังไม่หายไป         เมื่อปี 2564 ปัญหาเอสเอ็มเอสหลอกลวงจากบรรดามิจฉาชีพต่างๆ ครองอันดับหนึ่ง แต่เพราะการกระจายข่าวสารต่อสาธารณะมากขึ้น ทำให้ปัญหาลดความแรงลงมาแต่ไม่ใช่จะไม่มี ปีนี้ก็ยังเข้ามาเป็นอันดับที่ 3 ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทั้งประเด็น SMS สินเชื่อ , บริการกู้เงินออนไลน์ , SMS พนันออนไลน์ , SMS รบกวนหลอกให้กดลิงก์เพื่อล้วงข้อมูล/หลอกหลวงให้โอนเงินเข้าบัญชี                   สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคที่น่าสนใจอื่นๆ         บริการสุขภาพ  เรื่องสิทธิบัตรทอง เรื่องการคิดค่าบริการสูงไม่สมเหตุผลของสถานพยาบาลยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน ตลอดจนเรื่องการฉีด/ไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ยังมีผู้บริโภคบางส่วนสับสน         อาหาร ยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผู้บริโภคยังเสี่ยงกับผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาเกินจริง อาหารเสริมโฆษณาสรรพคุณรักษาโรค อาหารหมดอายุก่อนวันที่แสดงบนฉลาก อาหารที่พบเจอสิ่งแปลกปลอมซึ่งแสดงถึงความไม่สะอาดถูกสุขลักษณะหรือแม้แต่อาหารที่สั่งทางออนไลน์ได้ไม่ตรงกับภาพโฆษณา         บริการขนส่งและยานพาหนะ เมื่อแท็กซี่เริ่มกลับมาให้บริการปกติ สถานการณ์แท็กซี่บอกปฏิเสธผู้โดยสารก็กลับมาเพิ่มในเรื่องร้องเรียนมากขึ้น รวมถึงวินมอเตอร์ไซต์ที่เรียกเก็บค่าบริการเกินราคาที่แสดง ขณะเดียวกันปีนี้กรมทางหลวงเปิดบริการ M-flow ก็พบว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ ว่า         “หลังจากได้เริ่มประกาศใช้ระบบดังกล่าวมีกระแสจากผู้ใช้เส้นทางสับสนในการใช้ช่องทางให้ถูกต้อง เกิดการเบียดแทรกเปลี่ยนเลนช่วงก่อนเข้าด่านเก็บเงิน ส่งผลให้การจราจรหน้าด่านติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วนมากขึ้นกว่าเดิม อีกหนึ่งปัญหาที่พบคือ ผู้ใช้ถนนขาจรที่ไม่ค่อยได้สัญจรผ่านเส้นทางมอเตอร์เวย์สาย 9 หลายคนเลือกใช้ช่องผ่านด่านของ M-Flow ทั้งที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน แต่ต้องชำระค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางต่างๆ ภายใน 2 วัน สำหรับรถที่ใช้บริการผ่าน M-Flow และไม่เสียค่าธรรมเนียมภายใน 2 วัน จะถูกปรับ 10 เท่า หรือคิดเป็นขั้นต่ำ 330 บาทต่อการผ่านทาง 1 ครั้ง ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกว่าค่าปรับดังกล่าวนั้นแพงไป เนื่องจากยังมีผู้ใช้รถใช้ถนนอีกไม่น้อยที่ยังไม่รู้จักกับระบบ M-Flow อีกทั้งวิธีการประชาสัมพันธ์ของกรมทางหลวงที่ไม่สามารถกระจายข่าวสารได้มากพอ จึงสร้างความสับสนและปัญหาในมิติอื่นๆ ที่ตามมาอีกจำนวนมาก”         อีกกรณีที่น่าสนใจคือ ร้องเรียนกรณีสายการบินยกเลิกเที่ยวบินเนื่องจากสถานการณ์โควิดจนถึงปัจจุบันสายการบินยังไม่ได้ดำเนินการคืนแก่ผู้ร้อง ไม่ว่าจะเป็นสายการบินในประเทศและต่างประเทศ ปัญหาที่พบคือสายการบินไม่ยอมคืนเงินแก่ผู้โดยสารแจ้งข้อเสนอให้ผู้บริโภคเลือกเครดิตเดินทางภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งทางเลือกดังกล่าวไม่ตอบโจทย์และเป็นธรรมเก็บผู้บริโภค เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19เป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะดีขึ้นเมื่อไหร่ ผู้บริโภคบางรายไม่ต้องการรับเครดิตตามที่สายการบินเสนอแล้ว สายการบินที่ได้มีการแจ้งร้องเรียนมายังมูลนิธิฯอาทิ สายการบิน Thai VietJet สายการบิน Thai Lion Air เป็นต้น โดยสายการบินที่ถูกร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากได้แก่ สายการบินแอร์เอเชียและแอร์เอเชียเอ็กซ์          อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย เรื่องร้องเรียนมากสุด ได้แก่ ร้องเรียนกรณีบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) สร้างคอนโดไม่เสร็จตามสัญญาเมื่อยกเลิกสัญญาบริษัทฯกลับไม่ยอมคืนเงิน จากกรณีดังกล่าวมีผู้ร้องเดินทางมาร้องเรียนที่มูลนิธิฯด้วยตัวเองจำนวน 40 กว่ารายทั้งหมด 4 โครงการได้แก่ โครงการ ไรส์ พหล - อินทามระ โครงการ ดิ เอ็ก ไฮด์อะเวย์ โครงการ The excella salle 17 โครงการ ดิ เอ็กเซลลาซาล 17 โดยทางมูลนิธิฯได้มีการเปิดรับเรื่องให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายร้องเรียนและได้มีการเข้าพบกับตัวแทนบริษัทฯเพื่อสอบทางแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยตัวแทนบริษัทฯชี้แจงว่า ทางบริษัทฯอยู่ระหว่างการคืนเงินแก่ผู้ร้องโดยขอแบ่งชำระเป็นงวดและทำบันทึกสัญญา ทั้งนี้ปรากฎว่าบริษัทฯไม่ได้มีการชำระเงินงวดแรกตามที่ตกลงไว้ มูลนิธิฯจึงจะดำเนินการฟ้องคดีเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ร้อง        พลังงานและสิ่งแวดล้อม สืบเนื่องจากราคาพลังงานปีนี้ค่อนข้างพุ่งสูง ทำให้เกิดการร้องเรียนเรื่องค่าไฟฟ้าสูงเกินจริง ร้องเรียนกรณีต้องการเรียกค่าเสียหายจากการที่การไฟฟ้านครหลวงถอดมิเตอร์แล้วมิเตอร์ได้รับความเสียหาย

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 261 ‘หนังสือ’ ราคาแพงไปหรือไม่? คำถาม คำตอบ และความคาดหวัง

อาจจะ 20 หรือ 30 ปีก่อน ครั้งที่อินเทอร์เน็ตเริ่มบูมและมีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เกิดคำทำนายว่า ‘หนังสือเล่มจะหายไป’ นักอ่านจะหันมาอ่านหนังสือจากอินเทอร์เน็ตแทน ซึ่งก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นจริง (อย่างน้อยก็ยังไม่เป็นจริง) เพราะหนังสือเล่มมีเสน่ห์ในตัวที่ยังไม่มีสื่อชนิดอื่นเข้ามาแทนที่         ‘คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด’ มายาคติที่ไม่เป็นจริง (อย่างน้อยก็ไม่เป็นจริงแล้ว) แต่ก็ถูกเชื่อกันอยู่พักใหญ่ ปัจจุบันมีข้อมูลทางสถิติยืนยันแล้วว่าคนไทยอ่านหนังสือมากกว่านั้นเยอะ ผลสำรวจการอ่านของประชากรปี 2561 โดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยยังคงอ่านหนังสือเล่มสูงถึงร้อยละ 88 ขณะที่การอ่านจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็สูงขึ้นอย่างน่าจับตา ด้านสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (pubat) ระบุว่าคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 3 เล่มต่อเดือน         มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมชมงานถึง 1,355,893 คน สามารถสร้างรายได้ให้สำนักพิมพ์ที่เข้าร่วมงาน 347,331,734 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50 ถึงร้อยละ 74         แต่ ‘รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำฐานข้อมูลและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาการพิมพ์ (Publishing) ปี 2564’ จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ก็พบข้อมูลที่ดูขัดแย้งกันว่า         ‘ในภาพรวม พบว่าพฤติกรรมคนไทย มักไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอ่านเป็นทุนเดิม เนื่องจากระบบการศึกษาในประเทศ ที่ไม่ได้สนับสนุนให้คนไทยเห็นความสำคัญของการอ่านตั้งแต่ระดับเยาวชน ประกอบกับการเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้ผู้อ่านมีทางเลือกในการเสพสื่ออื่นๆ มากยิ่งขึ้นและพฤติกรรมการเสพสื่อของคนในปัจจุบันที่ใช้เวลาในการเสพสื่อสั้นลง รวมถึงทัศนคติของคนไทยที่มองว่าหนังสือคือสินค้าฟุ่มเฟือยเนื่องจากหนังสือมีราคาสูง ยิ่งทำให้คนไทยยิ่งหันไปเสพเนื้อหาแบบอื่นแทนที่สื่อสิ่งพิมพ์ ประกอบกับการเข้าถึงแหล่งหนังสือต่างๆ เช่น ห้องสมุด โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ไม่ได้สร้างการเข้าถึงให้กับผู้อ่านอย่างเพียงพอ ทำให้ผู้อ่านในต่างจังหวัดเข้าถึงหนังสือได้ยาก’         ‘รวมถึงทัศนคติของคนไทยที่มองว่าหนังสือคือสินค้าฟุ่มเฟือยเนื่องจากหนังสือมีราคาสูง’ ประโยคนี้คือประเด็นสำคัญที่เราจะคุยกัน หนังสือไทยแพงจริงไหม?         “คำว่าแพงหรือไม่แพงเป็นเรื่องสัมพัทธ์ มันขึ้นกับว่าเราจ่ายไหวมั้ย เพราะฉะนั้นถ้าเทียบในระดับราคาหนังสือต่อเล่มต่อค่าครองชีพ เมืองไทยถือว่าแพงแน่ๆ เพราะค่าแรงมันต่ำ แต่ค่าหนังสือมันขึ้นมาเรื่อยๆ ถ้าเทียบกับค่าครองชีพคือแพง ถ้ามองในมุมว่าราคาหนังสือปัจจุบันเทียบกับราคาหนังสือในประเทศอื่นๆ ก็ไม่ถือว่าแพงราคามาตรฐาน แต่ค่าแรงเรามันต่ำเราก็เลยรู้สึกว่าหนังสือแพง อย่างในญี่ปุ่นราคาหนังสือเล่มละ 350-1,000 เยน 1,000 เยนคือเล่มใหญ่ ถือว่าแพงแล้ว ประมาณ 256 บาท (ค่าเงินวันที่ 14 ธันวาคม) แต่ค่าแรงชั่วโมงละ 1,100 เยน ทำงาน 1 ชั่วโมงซื้อหนังสือได้แล้วเล่มหนึ่ง แต่ของไทยทำงานฟาสต์ฟู้ดเหมือนกัน พาร์ทไทม์ ชั่วโมงละ 28-36 บาท มันซื้อหนังสือไม่ได้ เดี๋ยวนี้ราคาเริ่มต้นก็ร้อยขึ้นแล้ว” ธีรภัทร เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (pubat)         “ถามว่ามันขึ้นตามเงินเฟ้อมั้ย ใช่ ทุกสำนักพิมพ์น่าจะเจอเหตุผลเดียวกัน เพียงแต่ว่าปัญหาคำว่าแพงมันไปพันกับเรื่องค่าครองชีพและจีดีพีโดยรวมของประเทศด้วย ถ้าจะพูดถึงรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยกับราคาปกหนังสือ ณ ปัจจุบัน ผมคิดว่ามันก็แพง” มณฑล ประภากรเกียรติ ผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน         “แพงนะ รู้สึกเลยว่าแพงขึ้นมากจากตอนที่ไปเดินงานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุด บางสำนักพิมพ์ราคาสูงมากเลย ในใจทบทวนง่ายๆ อาจจะแบบสามเล่มพัน เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าสองเล่มพันก็มี เลยรู้สึกว่าแพงมากขึ้น ยิ่งหนังสือแปล ยิ่งแพง ต้องยอมรับว่าแพง เป็นของฟุ่มเฟือย” คชรักษ์ แก้วสุราช แอดมินเพจ ‘อ่านเจอ’         “ทำไมถึงแพง บางคนก็ตอบว่าเพราะค่าแรงมันถูก หมายถึงว่ามันไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำ เพราะฉะนั้นหนังสือมันเป็นความฟุ่มเฟือยอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องถูกมองว่าแพง แล้วก็ไม่ใช่ความบันเทิงราคาถูกอีกแล้ว เมื่อก่อนยังพอเป็นไปได้ที่คนทั่วจะสามารถซื้อหนังสืออ่าน ต้องยอมรับแล้วว่ามันสูงขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” กิตติพล สรัคคานนท์ นักเขียน นักออกแบบปก บรรณาธิการ ผู้ก่อตั้งร้านหนังสืออิสระ Books & Belongings และผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ 1001 ราตรี และสำนักพิมพ์ B&B Press ทำไมถึงแพง?         อย่างน้อยคนที่เกี่ยวข้องกับหนังสือในหลายบทบาทก็ยอมรับว่าราคาหนังสือไทยแพง แต่ความแพงนี้มีที่มา เราจะจัดกลุ่มกันดูว่าเป็นเพราะอะไร         ประเด็นแรกคือจำนวนการพิมพ์น้อยทำให้ไม่เกิดการประหยัดจากขนาดการผลิต (economy of scale) ถอยกลับไปประมาณ 10 ปีก่อนการพิมพ์หนังสือเริ่มต้นที่ 3,000 เล่ม ปัจจุบันเริ่มต้นที่ 500-1,000 เล่ม ขณะที่ fixed cost ต่างๆ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าบรรณาธิการ ค่าลิขสิทธิ์ ค่าแปล เป็นต้น สูงขึ้น เมื่อตัวหารน้อยลงราคาขายต่อหน่วยจึงต้องแพงขึ้น         คำถามที่ตามมา เหตุใดยอดพิมพ์จึงลดลงทั้งที่คนอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น ประเด็นนี้มองได้หลายมุม มุมแรก สำนักพิมพ์มีความหลากหลายมากขึ้นตัวเลือกการอ่านมีมากขึ้น ทำให้ยอดขายต่อเล่มต่อปกลดลงจึงต้องพิมพ์จำนวนน้อยลง เชื่อมโยงสู่ขนาดของตลาดในประเทศซึ่งธีรภัทรมองว่ามีขนาดใหญ่พอ แต่สิ่งที่ต้องนำมาคำนวณคือผู้เสพมีตัวเลือกการเสพ content มากกว่าในอดีตมาก หนังสือไม่ใช่แหล่งสาระความรู้และความบันเทิงเดียวเช่นในอดีต         แต่แม้ว่าขนาดตลาดจะใหญ่พอก็ไม่ใหญ่โตเท่ากับตลาดหนังสือในจีน อินเดีย ญี่ปุ่น หรือเวียดนามที่มีจำนวนประชากรไล่ตั้งแต่พันกว่าล้านถึงเกือบร้อยล้านและมีวัฒนธรรมการอ่านที่ค่อนข้างแข็งแรง ยกตัวอย่างญี่ปุ่นที่ยอดพิมพ์เริ่มต้นกันที่ 10,000 เล่ม เมื่อตลาดเล็กกว่าการอ่านน้อยกว่าก็ย้อนกลับไปเรื่องยอดพิมพ์        กระดาษแพงซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดโลก เป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของสำนักพิมพ์ ขณะที่ราคากระดาษในบ้านเราผูกกับราคาในตลาดโลก โดยเฉพาะปี 2565 ราคากระดาษพุ่งขึ้นกว่าร้อยละ 20-30 ในไทยมีผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่อยู่ 2 เจ้า ได้แก่ เอสซีจีและดับเบิ้ลเอเป็นอีกเกรดหนึ่งไม่เหมาะกับการผลิตหนังสือ(ส่วนความเข้าใจผิดที่ว่ากระดาษแพงเพราะเก็บภาษีกระดาษ ธีรภัทรบอกว่าประเทศไทยยกเลิกเก็บภาษีนำเข้ากระดาษตั้งแต่ปี 2535 และหนังสือก็ได้รับยกเว้นไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม) โครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวอะไร?         ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่มักไม่ถูกนำมาคิดในสมการ-โครงสร้างพื้นฐาน เรืองเดช จันทรคีรี ผู้คร่ำหวอดในวงการหนังสือมายาวนาน โพสต์โครงสร้างราคาหนังสือในเฟซบุ๊กของเขาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2021 พบว่า ในราคาหนังสือ 100 บาทจะถูกคิดเป็นค่าสายส่งและหน้าร้านสูงถึงร้อยละ 40-45 เมื่อหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ จะเหลือกำไรคืนสู่สำนักพิมพ์น้อยกว่าร้อยละ 10         ดูแล้วเหมือนสายส่งผู้ทำหน้าที่กระจายหนังสือไปยังร้านหนังสือต่างๆ กำลังเอาเปรียบ แต่ธีรภัทรอธิบายว่าความจริงแล้วเมื่อหักต้นทุนแล้ว สายส่งเหลือกำไรเพียงร้อยละ 2-5 เท่านั้น          ธีรภัทรอธิบายต่อว่าเหตุผลที่ค่าสายส่งสูงเกือบครึ่งหนึ่งของราคาหนังสือเป็นเพราะต้นทุนการขนส่งของไทยสูง กลับไปที่ญี่ปุ่น ค่าสายส่งคิดเป็นร้อยละ 20-30 ของราคาหนังสือเท่านั้น เพราะในญี่ปุ่นใช้วิธีขนส่งหนังสือผ่านรถไฟไปยังหัวเมืองหรือจังหวัดต่างๆ แล้วนำรถบรรทุกมารับเพื่อไปกระจายต่อทำให้ต้นทุนค่าขนส่งถูกกว่าของไทยที่ต้องขนส่งด้วยรถบรรทุกเป็นหลัก         ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพต่ำส่งผลให้ราคาหนังสือแพงกว่าที่ควรจะเป็น         (และแน่นอนว่าค่าแรงขั้นต่ำก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อการเข้าถึงหนังสือ) รัฐควรทำอะไร?         คำถามสำคัญมีอยู่ว่ารัฐควรยื่นมือเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้ราคาหนังสือถูกลงหรือไม่         “ผมเห็นด้วยว่ารัฐต้องเข้ามาช่วย ถ้าคุณไม่สามารถสนับสนุนเรื่องการพิมพ์ได้ คุณควรสนับสนุนเรื่องบุ๊คแฟร์ ทุกสำนักพิมพ์อยากมีพื้นที่ในการปล่อยของ บางสำนักพิมพ์เล็กๆ ขายได้งานหนึ่งก็อยู่ได้ทั้งปี แต่ทำไมเขาต้องมาเสียค่าเช่า อย่างศูนย์สิริกิติ์เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่แต่ก็แพงขึ้นเป็นพื้นที่ของเอกชน ทำไมรัฐไม่เข้ามาเป็นเจ้าภาพในการจัดบุ๊คแฟร์คือ มันควรสนับสนุนด้านการขาย การตลาด        “ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้หนังสือราคาแพงคือกระดาษ ทุกวันนี้กระดาษนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่สามารถผลิตในไทยได้หรือกลุ่มเอสซีจีก็ผลิตน้อยลง หันไปทำธุรกิจอย่างอื่นที่ได้กำไรมากกว่า ถ้าเข้ามาช่วยตรงนี้ได้ผมว่าช่วยสำนักพิมพ์ได้ยี่สิบสามสิบเปอร์เซ็นต์เลยในการลดต้นทุนการผลิต รัฐเข้ามาช่วยส่วนนี้ได้ด้วยการช่วยดีลกับตลาดต่างประเทศให้ราคาถูกลงหรือเรื่องโลจิสติกส์ที่ควรจะถูกลง แต่การจะให้คนในวงการอยู่ได้จริงๆ คุณต้องสนับสนุนตลาดหนังสือ” มณฑล กล่าว         ส่วนกิตติพลกล่าวด้วยความหวังที่น้อยกว่านั้น “ไม่มีผู้นำในรัฐบาลไหนตั้งใจทำให้เรารู้หรอก กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ถ้าเขาทำได้เขาทำตั้งนานแล้ว แต่ทุกวันนี้ยังจู้จี้ว่าประวัติศาสตร์ยังไม่ไทยพอ แสดงว่ามันสวนทางกับเรื่องการศึกษาที่แท้จริงและอย่างที่เราเห็นว่าในตำราในหลักสูตรต่างๆ มันสอนให้เราอ่านได้น้อยลงคิดได้น้อยลงเขียนได้น้อยลง สิ่งที่เราเห็นอยู่ก็เป็นโลกของชนชั้นกลางที่มีโอกาสมากกว่าแต่การศึกษาภาคบังคับทำให้เราพังทุกอย่างที่เราอยากรู้         “พอพูดถึงเรื่องนี้มันไม่มีหรอกแบบล็อตเตอรี่ ฟันด์ของอังกฤษที่ช่วยซัพพอร์ตสิ่งพิมพ์จะไปขอใคร ส่วนใหญ่ก็องค์กรด้านวัฒนธรรมของประเทศอื่นๆ ต่างหากที่จะหยิบยื่นเข้ามา ประเทศที่ยากจนกว่าเราในลาติน อเมริกายังมีงบที่ช่วยซัพพอร์ตด้านวัฒนธรรมเลยให้มากกว่าที่รัฐบาลไทยให้กับคนในประเทศอีก ตรงนี้ทำให้รู้สึกว่าถ้ามีความตั้งใจจริงใจจะทำตั้งแต่แรกเขาทำไปตั้งนานแล้วแต่เขาไม่ได้ต้องการ” ทำไมไม่ควรพึ่งพารัฐ?         ขณะที่ธีรภัทรมีมุมมองที่ต่างออกไปประมาณหนึ่ง “เวลาถกเถียงเรื่องแบบนี้เราชอบมองหนังสือเป็นเรื่องเดียวทั้งหมด ถามว่าเราควรอุดหนุนหนังสือเด็ก หนังสือเพื่อการเรียน เพื่อพัฒนาการให้ราคาถูก เข้าถึงได้มั้ย ผมว่าควร จำเป็น แล้วหลังจากนั้นเขาจะไปซื้อหนังสืออ่านในวัยที่โตขึ้นด้วยศักยภาพของตัวเอง แต่ถามว่ารัฐควรจะอุดหนุนทั้งหมดให้ราคาหนังสือทุกชนิดถูกลงมั้ย ผมไม่เห็นด้วย เพราะมันเป็นเรื่องธุรกิจของแต่ละฝ่าย หนังสือถูกทั้งหมดแล้วต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ในการสนับสนุน มันคุ้มหรือเปล่าในมุมมองของรัฐ”         เขาเห็นด้วยถ้ารัฐจะสนับสนุนด้านพื้นที่การจัดงานหนังสือและตลาดเพื่อให้สำนักพิมพ์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เท่าเทียมมากขึ้น         เขาเห็นด้วยถ้ารัฐจะอุดหนุนราคากระดาษ เนื่องจากใช้งบประมาณไม่มาก สำนักพิมพ์ได้รับประโยชน์ทั่วถึง และแทรกแซงอุตสาหกรรมกระดาษในไทยที่มีผู้เล่นน้อยราย แต่เขาคัดค้านการสนับสนุนสำนักพิมพ์หรือหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง นอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว เขายังมองว่าอันตรายต่อเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการพิมพ์ เพราะหากพึ่งพารัฐมากเกินไปย่อมเท่ากับเปิดช่องโหว่ให้รัฐเข้ามาควบคุมเนื้อหาหนังสือโดยปริยายวิสัยทัศน์ที่ต่างกัน แผน 20 ปีที่ต่างกัน         ‘รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำฐานข้อมูลและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาการพิมพ์ (Publishing) ปี 2564’ คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงของไทยจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 3.64 มีมูลค่ารวมที่ 6 แสนล้านบาทในปี 2567 ทว่าใน Sector หนังสือกับหนังสือพิมพ์และนิตยสารจะมีอัตราการเติบโตคาดการณ์ต่ำสุด         อย่างไรก็ตาม e-book และ audiobook ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง จุดนี้สะท้อนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งต้องติดตามว่าจะส่งผลต่อการอ่านหนังสือเล่มแค่ไหน อย่างไร (ถึงกระนั้น เราอาจต้องนำเรื่อง digital divided หรือช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิตัลมาขบคิดร่วมด้วย)         ในรายงานข้างต้นได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์ของเกาหลีและเยอรมนีไว้ค่อนข้างละเอียด ช่วยให้เห็นว่าทั้งสองประเทศให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการอ่านมากเพียงใด เช่น เกาหลีใต้มีการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบกว่า 20 ปี มีหน่วยงานอิสระอย่าง KPIPA ทำหน้าที่ดูแลโดยเฉพาะ ฯลฯ และทั้งสองประเทศมีนโยบายสร้างนิสัยรักการอ่านและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่านเหมือนกัน         นอกจากนี้ รายงานยังจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาการพิมพ์ ไว้ ผู้อ่านสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่        https://article.tcdc.or.th/uploads/media/2022/6/20/media_6-CEA-Publishing-Final-Report.pdf         เรานำเสนอส่วนนี้อย่างรวบรัดตัดความเพราะพื้นที่จำกัด เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศที่ใส่ใจกับการเรียนรู้ของพลเมืองนั้นมีอยู่ มีการคิด มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และประเทศที่ขาดวิสัยทัศน์ก็มีอยู่เช่นกัน         แผนพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์ 20 ปีของเกาหลีใต้กับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทย...

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)