ฉบับที่ 250 สวัสดีปีใหม่เดินทางปลอดภัย

        ขณะทำต้นฉบับนี้ อีกไม่กี่วันปี 2564 ก็จะจากไป ขณะที่หลายคนต่างหวาดกลัวและกังวลว่าโควิด-19 จะกลับมาอีกมั้ย แต่พฤติกรรมคนส่วนใหญ่กลับละเลยการป้องกันตนเอง และกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติกันแล้ว โดยเฉพาะความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนที่พบว่ากว่า 95 เปอร์เซ็นต์มาจากพฤติกรรมการขับขี่ การขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย (เหมือนเดิม) และกลายเป็นเรื่องตลกร้ายที่ขำไม่ออก เมื่อทุกคนคิดว่าการมาของโควิด-19 นั้นทำให้อุบัติเหตุทางถนนลดลง จึงมีผลทำให้หลายมาตรการของรัฐหย่อนยานลดประสิทธิภาพลงตามไปด้วย 
        แน่นอนว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะมีจำนวนลดน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ รัฐบาลใช้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อหยุดการเดินทางของผู้คนทั้งประเทศ ตลอดจนการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มของมึนเมาเพื่อลดการรวมกลุ่มสังสรรค์ในทุกกิจกรรม รวมถึงการที่ประชาชนส่วนใหญ่ตัดสินใจได้เองว่า ต้องป้องกันตนเองจากสถานการณ์โรคระบาดและลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยในทุกกิจกรรม 
        อย่างไรก็ดีแม้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะน่ากลัว แต่ก็เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ต้องทุ่มเทสรรพกำลังทุกภาคส่วนเพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันมากที่สุด โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งรัฐบาลก็ทำได้แล้วตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และมีผลให้สถานการณ์ความตึงเครียดของโรคระบาดโควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ 
        นับเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลมีมาตรการเข้มข้นเพื่อต้องการหยุดเจ็บหยุดตายและป้องกันทุกชีวิตจากโควิด-19 ให้ได้ แต่เมื่อหันกลับมามองดูสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนที่มีคนเจ็บและตายมากกว่าหลายเท่าตัวตลอดหลายปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ยังไม่เห็นความทุ่มเทของหน่วยงานเจ้าภาพหลักของประเทศและหน่วยงานในสังกัดทุกภาคส่วน ที่มีเป้าหมายร่วมเพื่อจะหยุดเจ็บหยุดตายให้ได้เหมือนโควิด-19หากแต่เป็นเพียงวาทะกรรมอันสวยหรูของผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและสังคมบางกลุ่ม เน้นสร้างสรรค์กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ รณรงค์แบบเดิมทุกปี ที่สำคัญยังทำแค่เพียงช่วงเทศกาลเท่านั้น 
        ขณะที่ประเทศไทยก้าวข้ามผ่านทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน .. 2554 2563 (ที่ล้มเหลว) มาแล้วรอบหนึ่ง และปัจจุบันกำลังเข้าสู่แผนความปลอดภัยทางถนนในทศวรรษหน้า .. 2565 2575 และยังมีแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติภายใต้แผนแม่บทด้านความมั่นคง เพื่อการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัทางถนน มีเป้าหมายเพื่อลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตางถนนลงร้อยละ 50 ในปี .. 2565 และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นโครงสร้างพื้นฐานระบบโลจิสติกและดิจิทัล มีเป้าหมายการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนไว้ไม่เกิน 12 ต่อแสนประชากรในปี .. 2564 - 2570
รวมถึงกรอบการดำเนินงานระดับโลกด้านความปลอดภัยทางถนนที่ประเทศไทยรับมาดำเนินการด้วย เช่น 12 เป้าหมายโลกสำหรับการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน หรือ Global road safety performance targets ปฏิญญาสตอกโฮล์ม (Stockholm Declaration) หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อการขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 
        จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีแผนดำเนินการและแผนปฏิบัติการมากมายหลายระดับชั้น เพื่อเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นไปตามตัวชี้วัดของข้อตกลงที่กำหนดไว้ หากแต่เมื่อขั้นตอนและระบบปฏิบัติงานยังขาดความชัดเจนต่อเนื่องและเชื่อมต่อในแต่ละระดับ หลายฝ่ายจึงมีความเชื่อในทางเดียวกันว่า เป้าหมายการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่กำหนดไว้ไม่เกิน 12 ต่อแสนประชากรภายใน 6 ปีข้างหน้า หรือปี 2570 นั้น ไม่น่าจะทำได้ 
        เพราะหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ในปี 2563 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตของประชากรจากอุบัติเหตุทางถนนอยู่ที่ 27.20 คนต่อแสนประชากร หรือมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่ 17,831 คน ลดลงจากในปี 2562 ที่ 19,904 คน (ส่วนหนึ่งที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดน้อยลงมีผลสืบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19) ซึ่งต่อจากนี้หากจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้เหลือ 12 ต่อแสนประชากรภายในปี 2570 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้นั่นเท่ากับว่าประเทศไทยจะต้องมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเหลือเพียง 8,474 คนเท่านั้น 
        ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว เป้าหมายการลดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ 12 ต่อแสนประชากรเชื่อว่าไม่น่าจะทำได้ หากถอดบทเรียนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาก็อาจจะพอพิสูจน์ให้เห็นว่าความรุนแรงและความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนนั้น เป็นเรื่องที่สามารถป้องกันและลดจำนวนลงได้  อุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ใช่เรื่องเวรกรรมความเชื่อหรือมายาคติของสังคมอีกต่อไป การสร้างมาตรการ เป้าหมาย และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนตรงประเด็นเป็นนโยบายหลักของประเทศ ตั้งแต่ระบบการบังคับบัญชาลงมาถึงส่วนปฏิบัติงาน รวมถึงการสนับสนุนภาคีเครือข่าย และท้องถิ่นเพื่อให้มีการดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วนคือสิ่งที่ควรต้องดำเนินการให้จริงจังได้เท่ากับมาตรการป้องกันโควิด 19 
        แน่นอนว่าเป้าหมายสูงสุดอาจจะเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องการเวลาและความร่วมมือ และปลายทางอาจไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ระหว่างทางตัวเลขผู้เสียชีวิตต้องน้อยลงกว่านี้ให้ได้ เพราะเราคงไม่หวังให้มีโรคระบาดใหม่เพื่อมาหยุดการเจ็บตายจากอุบัติเหตุทางถนนอีกแล้ว

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ปีใหม่ การเดินทาง โควิด-19

ฉบับที่ 277 มือถือหาย 4 ปี แต่โดนเรียกเก็บหนี้ย้อนหลัง

        ปัจจุบันอุปกรณ์ที่สำคัญในชีวิตประจำวันสำหรับใครหลายคนไปโดยปริยาย ก็คงไม่พ้นสมาร์ทโฟนเพราะนอกจากใช้โทร ส่งข้อความ ยังใช้ทำได้ทุกอย่างอีกด้วยไม่ว่าจะทำงาน ทำธุรกรรมทางการเงิน ฟังเพลงหรือเล่นโซเชียลต่างๆ  แต่ถ้ามือถือสุดที่รักที่เป็นแทบจะทุกอย่างเลยของเราดันหายไป และแถมยังโดนเรียกเก็บเงินเงินย้อนหลังอีกล่ะ ควรจะทำอย่างไรดี         เหมือนกับเคสของคุณโรส เธอได้มาปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า มีจดหมายแจ้งหนี้มาถึงที่ทำงานของเธอว่า ให้เธอไปชำระหนี้ค่าบริการซึ่งใช้กับมือถือเครื่องเก่า (ที่หายไป) จำนวน 7,400 บาท ซึ่งเบอร์ที่เคยใช้บริการพร้อมกับโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นระยะเวลามันผ่านไป 4 ปีแล้ว          ตอนที่มือถือหายก็ว่าเสียใจมากแล้ว แต่ก็พยายามทำดีสุดในความคิดของเธอคือ รีบแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจและไปที่สำนักงานใหญ่ค่ายมือถือ ตอนนั้นมันช่วงโควิดที่ห้ามการเดินทางโดยไม่จำเป็น  โดยขอให้ค่ายมือถือช่วยตามหาสัญญาณจากเบอร์ของเธอ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถตามหาสัญญาณได้ จึงต้องทำใจปล่อยไป กระทั่งปัจจุบันมีจดหมายส่งมาที่ทำงานของเธอ ทำให้ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ เพราะยอดดังกล่าวนั้นเธอไม่ได้ใช้สิ เพราะเธอได้เปลี่ยนเครื่องใหม่กับเบอร์ใหม่ไปแล้วด้วย อีกอย่างเครื่องเก่าที่หายเธอก็ผ่อนชำระหมดไปแล้วด้วยซ้ำ        อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเรื่องก็ต้องหาทางแก้ไข เธอเลยต้องไปที่ศูนย์บริการค่ายมือถือดังกล่าว (ดีหน่อยไม่ต้องไปถึงสำนักงานใหญ่) พร้อมกับแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้น ทางบริษัทมือถือจึงได้แนะนำว่าให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ โดยขอให้แจ้งความแบบดำเนินคดี (ขอเอกสารตราครุฑ) ไม่ใช่การลงบันทึกประจำวัน หลังจากนั้นนำหลักฐานมาแจ้งความกับทางบริษัทเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นคุณโรสบอกว่า เธอได้ไปแจ้งความตามที่บริษัทแนะนำและได้นำหลักฐานไปแจ้งต่อบริษัทเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางบริษัทได้แจ้งต่อเธอว่าจะส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบอีกครั้งผลเป็นอย่างไรจะติดต่อไปอีกครั้ง จนปัจจุบันทางบริษัทยังไม่มีการติดต่อกลับมาฉลาดซื้อ อยากแนะนำเพิ่มเติมว่า          1.ในกรณีมือถือหายแนะนำไปแจ้งความแบบต้องการดำเนินคดี (เอกสารที่ตำรวจออกให้จะต้องมีตราครุฑ         2.นำเอกสารไปแจ้งต่อศูนย์บริการค่ายมือถือทันที เพื่อให้พนักงานระงับการใช้งานเบอร์ดังกล่าวไว้ก่อน และป้องกันนำไปแอบอ้างใช้งานอีกด้วย         3.ในกรณีที่ยังไม่หายก็อยากแนะนำให้โหลดแอปพลิเคชันที่สามารถติดตามสัญญาณตัวเครื่องไว้หน่อย เพื่อไว้มีช่องทางในการตามหาได้ และควรตั้งรหัสมือถือไว้ตลอด

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 เปิดคลินิกในปั๊มน้ำมันแบบนี้ก็ได้หรือ

        ความปลอดภัยจากสินค้าและบริการ เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพราะหากปล่อยไว้วันหนึ่งความเสียหายอาจมาถึงตัวเราเองและคนใกล้ตัวเข้าสักวัน         วันหนึ่งเมื่อคุณกองฟางพบว่า ในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองสกลนครมีการเปิดคลิกนิกให้บริการทางการแพทย์ เขารู้สึกแปลกใจ เพราะไม่คิดว่า คลินิกจะสามารถตั้งอยู่ในสถานที่เช่นนี้ได้ เพราะโดยปกติในปั๊มน้ำมันจะพบเห็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านสะดวกซื้อเท่านั้น        เมื่อความสงสัยและประหลาดใจเกิดขึ้นแล้ว มันต้องเคลียร์เพื่อไม่ให้คาใจคุณกองฟางจึงได้พยายามสอบถามข้อมูลจากผู้คนต่างๆ และได้รู้ข้อมูลต่อมาว่าในคลินิกแห่งนี้มีผู้อ้างตนว่าเป็นแพทย์ หรือ มีการทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นแพทย์ ทำการตรวจรักษาโรค จ่ายยา ฉีดยา เช่นเดียวกับแพทย์ ก็ยิ่งทำให้ไม่สบายใจมากขึ้น จากความสงสัยในตอนแรกว่าสถานที่ตั้งคลินิกถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะหน้าร้านมีเพียงป้ายระบุชื่อคลินิกขนาดเล็ก ไม่มีป้ายแสดงชื่อผู้ตรวจ ชื่อประเภทและลักษณะการให้บริการ ไม่มีเลขที่ใบอนุญาต จึงนำมาสู่การตั้งคำถามว่าผู้ตรวจรักษาโรค เป็นแพทย์จริงหรือไม่และคลินิกได้รับอนุญาตเปิดคลินิก ถูกต้องหรือไม่ คุณกองฟางจึงเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่ม  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณกองฟาง พร้อมทำหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร เพื่อให้ตรวจสอบว่าคลินิกดังกล่าวได้จดทะเบียนและเปิดให้บริการอย่างถูกต้องหรือไม่ แล้วการอนุญาตให้เปิดในปั๊มน้ำมันนั้นสามารถทำได้หรือไม่         ต่อมาวันที่ 21 มี.ค. 2567 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้รายงานผลการดำเนินการตรวจสอบการขออนุญาตของคลินิกว่าภายหลังจากที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนครได้ลงพื้นที่ตรวจสอบในวันที่ 12 .ก.พ. พบว่า คลินิกที่ถูกร้องเรียนนี้มีปัญหาจริงหลายประการ เจ้าหน้าที่จึงให้การอนุญาตแบบมีเงื่อนไขโดยให้คลินิกปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ต่อมาพบว่า คลินิกดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้ครบถ้วนในระยะเวลาที่กำหนด  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจึงออกคำสั่งยกเลิกและคืนคำขออนุญาตทำให้คลินิกต้องปิดตัวลง           กรณีนี้มีข้อที่ประชาชนควรรู้คือการเปิดคลินิกให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนอยู่ภายใต้การควบคุม กำกับดูแลตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2551 การเปิดให้บริการคลินิกแต่ละประเภทต่างๆ เช่น คลินิกทันตกรรม  คลินิกกายภาพบำบัด  คลินิกเวชกรรมต่างๆ กฎหมายได้กำหนดมาตรฐานที่ผู้ขอเปิดให้บริการต้องดำเนินการไว้แตกต่างกัน...หากประชาชนพบความผิดปกติ หวาดกลัวว่าจะไม่ปลอดภัยสามารถร้องเรียนเรื่องเข้ามาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร้องเรียนโดยตรงได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของแต่ละพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบ บังคับใช้กฎหมายเช่นกรณีนี้         สำหรับกรณีเรื่องสถานที่ตั้งในปั๊มน้ำมันนั้น กฎหมายไม่ได้ระบุชัดว่าได้หรือไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 ซื้อประกันเดินทางแต่ไม่ได้รับความคุ้มครอง

        ปัญหาเคลมประกันไม่ได้ ประกันไม่จ่ายตามเงื่อนไข หรือจ่ายน้อยกว่าที่ตกลงกันไว้ รวมไปถึงการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำประกันภัยเกิดขึ้นอยู่เสมอ ในครั้งนี้คือเรื่องของคุณพีพีกับการประกันการเดินทาง         คุณพีพีได้ซื้อกรมธรรม์การเดินทางภายในประเทศจาก จากบริษัทแห่งหนึ่ง ในระยะ 4 วัน ไปกลับจากกรุงเทพฯ-ขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.- 3 ธ.ค.2566 คุณพีพีนั้นไม่เคยซื้อประกันการเดินทางมาก่อน แต่ก็ได้ลองศึกษาจากเว็บไซต์ รวมถึงพิจารณาเอกสารต่างๆ ที่บริษัทแนะนำแล้วยังโทรไปสอบถามกับเจ้าหน้าที่หลายครั้ง ทั้งยังจำลองเหตุการณ์ต่างๆ ว่าหากบาดเจ็บกรณีต่างๆ ประกันจะได้ครอบคลุมหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ให้คำตอบยืนยันว่า หากการบาดเจ็บเกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง คุณพีพีสามารถเบิกค่าใช้จ่ายกับประกันได้จนกว่าจะรักษาหาย คุณพีพีจึงตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ดังกล่าว         การประกันคือการคุ้มครองความเสี่ยง ดังนั้นคงไม่มีใครอยากจะบาดเจ็บหรือมีทรัพย์สินเสียหาย แล้วเข้าสู่การเคลมประกัน  การซื้อของคุณพีพีครั้งนี้คือ เพื่อความสบายใจ แต่...วันที่ 1 ธ.ค. 2566 คุณพีพีก็เกิดอุบัติเหตุจักรยานยนต์ล้มจากการที่รถตกหลุมถนนทำให้คุณพีพีมีแผลถลอกที่เข่าซ้าย – ขวา ข้อศอกทั้งสองข้าง แผลถลอกใหญ่ที่หน้าแข้ง ฝ่ามือซ้ายและขวา ฟันหน้าบนบิ่น 1 ซี่และหัก 1 ซี่ และอีกหลายอาการเจ็บปวด คุณพีพีจ่ายค่ารักษาไปทั้งหมด 23,917 บาท แต่บริษัทประกันกลับพิจารณาให้เพียง 4,997 บาท เท่านั้น โดยบริษัทประกันได้อ้างว่าคุ้มครองการบาดเจ็บภายในระยะวันที่ 30 พ.ย.- 3 ธ.ค.2566 เท่านั้น ไม่คุ้มครองการรักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บที่ต่อเนื่องแม้เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ประกันคุ้มครองก็ตาม         คุณพีพีไม่ยอมรับการพิจารณาของบริษัทประกันภัยเพราะก่อนการตัดสินใจซื้อได้โทรศัพท์สอบถามกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลายครั้ง เจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่าหากการบาดเจ็บเกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง คุณพีพีสามารถเบิกค่าใช้จ่ายกับประกันได้จนกว่าจะรักษาหาย รวมถึงสื่อในรูปแบบอื่นๆ ของบริษัทก็ใช้ถ้อยความให้ผู้ซื้อประกันเข้าใจว่าครอบคลุมจนกว่าจะรักษาหาย คุณพีพีจึงเข้ามาขอคำแนะนำและความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพี่อผู้บริโภคว่าควรทำอย่างไรต่อไป เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ตนเอง  แนวทางการไขแก้ปัญหา         หลังจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว มูลนิธิฯ ได้ประสานกับคุณพีพีเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานประสานส่งให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยคุณพีพีได้เข้าร้องเรียนที่ คปภ.ทำให้บริษัทประกันภัยได้เข้ามาชี้แจงข้อปัญหาที่เกิดขึ้นต่อ คปภ. บริษัทยืนยันว่ากรมธรรม์ไม่ครอบคลุมการรักษาต่อเนื่องแต่เกิดจากความผิดพลาดของการสื่อสารภายในของบริษัทเอง จึงพิจารณาให้ “สินไหมกรุณา” ให้กับคุณพีพีจากเดิมที่บริษัทพิจารณาให้เพียง 4,997 บาท คุณพีพีจึงได้รับค่าสินไหมกรุณาแล้วจำนวน 20,000 บาท  อย่างไรก็ตามเมื่อได้พิจารณารายละเอียดของข้อความที่ทำให้ตีความได้กว้างและบริษัทนำมาใช้อ้างว่าไม่ครอบคลุมเพราะไม่มีการระบุไว้ชัดเจนนั้น คุณพีพีได้ส่งร้องเรียนถึงศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านการประกันภัย คปภ. โดยเฉพาะเพื่อให้พิจารณาว่ากรณีของคุณพีพีเป็นการตีความที่ไม่คุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันทางศูนย์ฯ ของ คปภ. กำลังดำเนินการ         “ผลการพิจารณาของ คป. สำคัญมาก ทำให้สังคมรู้ว่าข้อความอะไรในกรมธรรม์ที่คลุมเครือแล้วจะถูกเอาเปรียบได้ แล้วบริษัทจะต้องแก้ไขให้ถูกต้องอย่างไร ซึ่งผมจะติดตามต่อไป เพราะกรมธรรม์ที่ชัดเจนจะทำให้ผู้บริโภคคนอื่นๆ ไม่ตกเป็นเหยื่อแบบผมครับ”

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 ร้านไม่รับผิดชอบ เจาะหูลูกค้าพลาดจนใบหูฉีกขาด

        หากคุณกำลังคิดจะไปใช้บริการเจาะหูตามร้านเครื่องประดับต่างๆ ขอให้อ่านเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์         แม้เหตุการณ์จะผ่านมาปีกว่าแล้ว แต่ยังปรากฏร่องรอยความเสียหายไว้ชัดเจน...วันนั้นคุณโนริตัดสินใจไปใช้บริการเจาะหูที่ร้านเครื่องประดับเงินแห่งหนึ่ง ย่านกลางเมืองกรุงเทพฯ โดยเธอเลือกรูปแบบเป็นการเจาะหูเพื่อดามกระดูกอ่อนใบหูในแนวทแยง (Cartilage) ส่วนบนติดกับขมับ แต่...เกิดข้อผิดพลาด เมื่อใบหูบนส่วนที่เจาะกระดูกออกขาดเนื่องจากทางร้านเจาะหูผิดตำแหน่ง ทำให้ใบหูของเธอฉีกขาด เธอตกใจมากและถามหาความรับผิดชอบ แต่ทางร้านบอกปัดว่าไม่ใช่ความผิดของทางร้าน         วันนั้นเธอจึงไปลงบันทึกประจำวันเรื่องที่ได้รับความเสียหายจากกการใช้บริการเจาะหูจนใบหูขาดนี้ที่สถานีตำรวจไว้ก่อน หลังจากนั้นจึงไปโรงพยาบาลเพื่อรักษา แพทย์แจ้งว่าจะต้องทำการศัลยกรรมเพื่อให้ใบหูกลับมาเป็นปกติ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง เธอจึงได้กลับไปเจรจากับทางร้านอีกครั้ง โดยยืนยันว่าที่ใบหูเธอขาดก็เพราะทางร้านเจาะหูผิดตำแหน่ง แต่ทางร้านก็ยังปฏิเสธเสียงแข็งเหมือนเดิมว่าไม่ได้ทำอะไรผิด         จากวันที่เกิดเหตุการณ์ ขณะนี้ผ่านมาปีกว่าแล้วที่คุณโนริยังไม่ได้รักษาใบหูให้ติดกันเป็นปกติเนื่องจากต้องใช้เงินจำนวนมาก เธอรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือว่าทำอย่างไรจึงจะให้ทางร้านเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ มูลนิธิฯ ได้โทร.กลับไปเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม แล้วให้ผู้ร้องส่งเอกสารมาทางอีเมลของมูลนิธิฯ ได้แก่ สำเนาใบลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ สำเนาใบรับรองแพทย์  ภาพหน้าจอข้อความที่สนทนากับทางร้าน และภาพความเสียหายที่ใบหู จากนั้นทางมูลนิธิฯ ได้ออกหนังสือนัดหมายให้คู่กรณีมาเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยุติข้อพิพาทกันอีกครั้ง (เพราะเคยผ่านการพูดคุยกันมาบ้างแล้ว)         สิ่งสำคัญของการเรียกร้องการเยียวยาเมื่อเกิดความเสียหายจากการใช้บริการต่างๆ  คือผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เสียหายจะต้องเก็บหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นไว้ให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้         กรณีการลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ แนะนำว่าควรเป็นการแจ้งความเพื่อดำเนินคดี เพราะเคสนี้เกิดความเสียหายที่ผู้ร้องเรียนได้รับบาดเจ็บค่อนข้างรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)