แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ทาเลต บีพีเอ พลาสติกบรรจุอาหาร กล่อง กล่องพลาสติก
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Consumer Council Hongkong (สภาผู้บริโภคฮ่องกง) ได้รายงานผลทดสอบสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ เพื่อเป็นการสื่อสารความเสี่ยงจากการดื่มกาแฟในผลิตภัณฑ์กาแฟที่วางจำหน่ายในฮ่องกง (นอกจากทดสอบอะคริลาไมด์แล้ว สภาฯ ยังทดสอบปริมาณคาเฟอีน สารเคมีการเกษตรและปริมาณสารพิษจากเชื้อรา โอคราทอกซินเอ ด้วย) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งนี้สารอะคริลาไมด์นั้นผู้บริโภคจะได้รับอะคริลาไมด์ที่เกิดตามธรรมชาติจากการปรุงอาหารที่อุณหภูมิสูง เมื่อใช้วัตถุดิบเช่น มันฝรั่ง หรือวัตถุดิบอื่นที่มีกรดอะมิโนแอสปาราจีนสูง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีอะคริลาไมด์ปนเปื้อนในระดับที่วิเคราะห์พบเสมอนั้น ได้แก่ มันฝรั่งทอด แครกเกอร์ บิสกิต และการศึกษาในระยะหลังยังพบอะคริลาไมด์ในมะกอกดำ ลูกพลัมแห้ง ลูกแพร์แห้ง กาแฟคั่ว อีกด้วย สำหรับประเทศไทยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำฐานข้อมูลอาหารไทยที่มีการตรวจพบสารอะคริลาไมด์พบว่าพริกป่นมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ ขนมถุงที่ทำจากแป้งมันฝรั่ง ขนมถุงที่ทำจากมันฝรั่ง เฟรนซ์ฟรายด์ กาแฟสำเร็จรูป และเผือกฉาบ แต่ก็พบว่าเป็นความเสี่ยงในระดับต่ำกว่าระดับที่จะส่งพิษต่อร่างกาย อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยง นิตยสารฉลาดซื้อ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ในฐานะหน่วยประจำจังหวัด สภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งมีภารกิจในการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค สื่อสารความเสี่ยงและแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค จึงได้เก็บตัวอย่างกาแฟ แบ่งเป็นชนิดกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง และกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2565 จากร้านค้า ห้างค้าปลีกและร้านค้าออนไลน์ ส่งห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทดสอบหาสารอะคริลาไมด์ เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ผู้บริโภคที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟ ผลทดสอบ ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ แต่เกณฑ์ของสหภาพยุโรปกำหนดไว้ไม่เกิน 400 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟคั่ว และไม่เกิน 850 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟผงสำเร็จรูป - ผลทดสอบกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง มีปริมาณระหว่าง 135.56 – 372.62 ไมโครกรัม/กิโลกรัม - ผลทดสอบกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง มีปริมาณระหว่าง 298.79 – 954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม โดยมี 2 ตัวอย่างที่พบอะคริลาไมด์ในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ของสหภาพยุโรป ได้แก่ แดวิดอฟฟ์ ริช อโรมา 851.76 ไมโครกรัม/กิโลกรัม , เอจีเอฟ แม็กซิม 954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ฉลาดซื้อแนะ การดื่มกาแฟในปริมาณปกติ โอกาสที่ร่างกายจะได้รับสารอะคริลาไมด์จนเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพนั้นค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ดีแม้ว่าปริมาณที่ผู้บริโภคได้รับสารนี้เข้าไปในปริมาณต่ำอาจไม่มีนัยสำคัญ แต่ความถี่ของการบริโภคอาจทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเป็นอันตรายในระยะยาวจากการสะสม จึงควรลด เลี่ยงอาหารที่ผ่านการใช้ความร้อนในการอบ ปิ้ง ทอด หรือย่างที่ใช้อุณหภูมิสูงเกินไป (งานวิชาการบางชิ้นระบุไม่ควรเกิน 120 องศาเซลเซียส) หรือใช้ระยะเวลานานเกินไป กรณีกาแฟคำแนะนำจากสภาองค์กรผู้บริโภคฮ่องกงแนะว่า ผู้ผลิต ผู้ประกอบการอาจต้องคำนึงถึงวิธีการคั่วเพื่อเพิ่มความปลอดภัย (ลดความเสี่ยงของการเกิดการปนเปื้อนของอะคริลาไมด์ในกาแฟ)
ฉลาดซื้อฉบับที่ 253 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมานำเสนอผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์ไส้กรอก พื้นที่จังหวัดอยุธยาไป ซึ่งในครั้งนั้นเราพบทั้งตัวอย่างไส้กรอกที่ใช้วัตถุเจือปนอาหารที่ห้ามใช้ และที่ใช้สารกันเสียในปริมาณที่เกินมาตรฐานรวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามเพื่อติดตามสถานการณ์ด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลางและฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างไส้กรอกในพื้นที่กรุงเก่าในเดือนพฤษภาคมอีกครั้ง มาดูกันว่าไส้กรอกที่มีขายในจังหวัดอยุธยา จะมีความปลอดภัยมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. ตามโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอก 14 ตัวอย่าง และลูกชิ้น 2 ตัวอย่าง ภายในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยกำหนดขอบเขตจากร้านอาหารบริเวณหน้าโรงเรียน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 และนำส่งวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุเจือปนอาหารประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) กรดซอร์บิก (Sorbic acid) ไนเตรท (Nitrate) และ ไนไตรท์ (Nitrite) ซึ่งใช้เป็นสารกันเสีย สารคงสภาพของสี รวมถึงใช้เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด ว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดไว้หรือไม่สรุปผลทดสอบ 1. สารเบนโซอิก : ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ไม่มีเกณฑ์กำหนดให้ใช้วัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก - พบสารเบนโซอิกในไส้กรอก 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ไส้กรอกไก่สอดไส้ซอสมะเขือเทศ ตรา AFM (48.71 มก./กก.) ไส้กรอกไก่รสนมวนิลา ตรา TFG ไทยฟู้ดส์ (484.31 มก./กก.) และไส้กรอกไก่ รสชีสเนย ตรา เค เอฟ เอ็ม (23.72 มก./กก.) ส่วนในลูกชิ้นพบทั้ง 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ลูกชิ้นปิ้ง"นมสด" SNOWBOY (1153.10 มก./กก.) และลูกชิ้นเอ็นไก่ ลูกชิ้นสุภาพ อยุธยา (1071.90 มก./กก.) 2. สารไนเตรท : ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ไม่อนุญาตให้ใช้สารไนเตรทในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีโดยใช้ความร้อน (ไส้กรอกสุก หมูยอ ไก่ยอ ลูกชิ้น) - พบสารไนเตรทในทั้ง 16 ตัวอย่าง ปริมาณตั้งแต่ 10.71- 42.04 มก./กก. 3. สารไนไตรท์ : ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 อนุญาตให้ใช้สารกลุ่มไนไตรท์ ในปริมาณไม่เกิน 80 มก./กก. - พบสารไนไตรท์ในไส้กรอก 8 ตัวอย่าง มีปริมาณตั้งแต่ < 10.00 – 48.29 มก./กก. ซึ่งไม่เกินมาตรฐานกำหนด 4. สารซอร์บิก : ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 อนุญาตให้ใช้กรดซอร์บิก ซึ่งเป็นสารกันเสียในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีได้ไม่เกิน 1500 มก./กก. โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามใช้ร่วมกับสารกันเสียในกลุ่มไนไตรท์ - พบสารซอร์บิกในไส้กรอก 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ไส้กรอกไก่เวียนนาสอดไส้ชีส ตรา AFM (<1.50 มก./กก.) ไส้กรอกไก่รสเนย ชีสเนย ตรา AFM (2.65 มก./กก.) และไส้กรอกคอกเทลไก่(ปอก) ตรา PCF ( 9.44 มก./กก.) ซึ่งมีปริมาณที่ไม่เกินมาตรฐานกำหนด แต่ทั้ง 3 ตัวอย่างนี้มีการใช้ร่วมกับสารกันเสียในกลุ่มไนไตรท์ด้วย ข้อสังเกต 1. พบไส้กรอก 3 ตัวอย่าง และลูกชิ้น 2 ตัวอย่าง ที่มีเบนโซอิก+ไนเตรท ซึ่งเป็นสารที่ห้ามใช้ 2. ตัวอย่างที่พบว่ามีสารที่ใช้ร่วมกัน 3 ชนิด ได้แก่ ไส้กรอกไก่สอดไส้ซอสมะเขือเทศ ตรา AFM และไส้กรอกไก่ รสชีสเนย ตรา เค เอฟ เอ็ม พบเบนโซอิก+ไนเตรท+ไนไตรท์ ส่วนไส้กรอกคอกเทลไก่(ปอก) ตรา PCF พบไนเตรท+ไนไตรท์+ ซอร์บิก 3. ยี่ห้อ AFM มี 6 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบ พบไนเตรททั้งหมด ไนไตรท์ 4 ตัวอย่าง เบนโซอิก 1 ตัวอย่าง และซอร์บิก 2 ตัวอย่าง 4. ในลูกชิ้นทั้ง 2 ตัวอย่าง มีปริมาณเบนโซอิกมากกว่าที่พบสูงสุดในไส้กรอกประมาณ 2.4 เท่า และไม่ได้แสดงวัน/เดือน/ปี ที่ผลิตและหมดอายุไว้ด้วย ฉลาดซื้อแนะ 1. เลือกซื้อไส้กรอกที่มีฉลากแสดงเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. มีชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน ส่วนประกอบและข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร น้ำหนักสุทธิ และซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ 2. ไม่เลือกซื้อไส้กรอกที่มีสีสดจัดจนเกินไป 3. ถ้าซื้อไส้กรอกแบบพร้อมทานหรือปรุงสำเร็จที่ไม่รู้ว่าเป็นยี่ห้ออะไร อาจขอให้ผู้ขายแสดงหีบห่อบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่นำมาขายเพื่อให้ทราบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเลข อย.หรือไม่ 4. โดยเฉพาะเด็กๆ ไม่ควรกินบ่อยเกินไปและไม่กินปริมาณมากในครั้งเดียว ร่างกายรับสารไนไตรท์ได้ไม่เกิน 0.07 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน หากร่างกายได้รับในปริมาณที่มากจะทำให้มีอาการปวดหัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และอาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์ ถ้ายิ่งได้รับมากเกินไปจะเกิดอาการปวดท้อง กล้ามเนื้อไม่มีแรง และร่างกายขาดออกซิเจนได้
ฉลาดซื้อฉบับที่ 234 ได้เคยนำเสนอเรื่องปริมาณเนื้อผลไม้ในแยมสตรอว์เบอร์รีมาแล้ว คราวนี้ขอเอาใจคนที่ชื่นชอบรสชาติของ “แยมส้ม” และ”มาร์มาเลดส้ม” กันบ้าง “แยมส้ม” จะมีส่วนประกอบหลักคือ เนื้อส้ม น้ำส้ม และน้ำตาล เนื้อเนียนละเอียด รสหวานนำ ส่วน ”มาร์มาเลดส้ม” จะใส่ผิวส้มเพิ่มเข้าไปด้วย จึงเจือรสขมผสมกับรสหวานอมเปรี้ยว เนื้อหยาบกว่ากินแล้วสัมผัสได้ถึงผิวส้มและเนื้อส้ม หอมกลิ่นส้มในปาก นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์แยมส้มและมาร์มาเลดส้มจำนวน 18 ตัวอย่าง ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ จากห้างค้าปลีกและร้านค้าทั่วไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 โดยสำรวจฉลากเพื่อพิจารณา สัดส่วนของปริมาณส้ม (เนื้อส้ม น้ำส้มและผิวส้ม) และปริมาณน้ำตาล พร้อมกับเปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนัก 1 กรัม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ผู้บริโภคเลือกว่ายี่ห้อไหนจะมีรสชาติถูกปาก คุ้มค่าและปลอดภัยสำหรับคุณ ผลการสำรวจ จากการสำรวจฉลากส่วนประกอบของแยมส้มและมาร์มาเลดส้มทั้ง 18 ตัวอย่าง พบว่า 1. สัดส่วนของปริมาณส้มรวม (เนื้อส้ม น้ำส้มและผิวส้ม) => ยี่ห้อดาโบ มีมากที่สุดคือ 70% ส่วนยี่ห้อเบสท์ ฟู้ดส์ มีน้อยที่สุดคือ 20% 2.สัดส่วนของปริมาณน้ำตาลรวม (รวมน้ำตาลที่ให้ความหวานและพลังงานทุกชนิด) => ยี่ห้อแม็คเคย์ มีมากที่สุด คือ 72% ส่วนยี่ห้อทิพทรี มีน้อยที่สุดคือ 10% 3.สัดส่วนของปริมาณน้ำตาลที่ระบุว่าเป็น “น้ำตาล” => ยี่ห้อแม็คเคย์ มีมากที่สุด คือ 72% ส่วนยี่ห้อสตรีมไลน์ มีน้อยที่สุดคือ 9% 4.เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนัก 1 กรัม => ยี่ห้อทิพทรี แพงสุดคือ 1.23 บาท ส่วนยี่ห้อเอ็มไพร์ ถูกสุดคือ 0.20 บาท ข้อสังเกต - ยี่ห้อเซนต์ดาลฟูร์ ไม่ระบุว่ามีน้ำตาลชนิดใดๆ เพิ่มเข้าไปในส่วนประกอบ แต่เมื่อดูที่ฉลากโภชนาการระบุว่ามีปริมาณน้ำตาลต่อหนึ่งหน่วยบริโภค(1 ช้อนโต๊ะ = 15 กรัม) อยู่ 8 กรัม ซึ่งเป็นน้ำตาลจากน้ำผลไม้ - ยี่ห้อสทิ้ว ระบุว่า ‘no sugar added’ ไม่ใส่น้ำตาล แต่ใช้ซอร์บิทอล(วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล) - มี 4 ยี่ห้อ เป็นสูตรลดน้ำตาล (Reduce Sugar) ได้แก่ มายช้อยส์, บอนน์ มาม็อง, สตรีมไลน์ และทิพทรี - ยี่ห้อดอยคำ ปริมาณ 130 กรัม เป็นแบบหลอดบีบที่น่าจะช่วยลดการปนเปื้อน และใส่วัตถุกันเสีย มีคำแนะนำให้เปิดแล้วควรเก็บไว้ในตู้เย็นและบริโภคให้หมดภายใน 2 สัปดาห์ - มี 8 ยี่ห้อระบุว่าใส่วัตถุกันเสีย มี 6 ยี่ห้อแต่งกลิ่น และมี 5 ยี่ห้อแต่งสี ฉลาดซื้อแนะ - ถ้าใครไม่ชอบรสขม ลองเลือกมาร์มาเลดส้มที่มีผิวส้มน้อยหน่อย - ใครที่ชอบรสหวานแต่ไม่อยากอ้วน ลองเลือกแยมส้มที่ให้ความหวานจากน้ำผลไม้ น้ำเชื่อมข้าวโพด หรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอื่น ๆ ซึ่งมีรสหวานและให้พลังงานน้อยกว่าน้ำตาลปกติ แต่ถ้ากินเพลินจนเยอะเกินก็เสี่ยงน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ - เปิดขวดแยมแล้วให้แช่ในตู้เย็น ควรใช้ช้อนสะอาดตักแบ่งใส่ถ้วยก่อนทาขนมปัง เพื่อลดการปนเปื้อน -จดวันที่ที่เปิดขวดแยมส้มครั้งแรกไว้ แยมส่วนใหญ่จะหมดอายุหลังจากเปิด 3 เดือน หรือดูที่ฉลากแนะนำ - ถ้าใครกินไม่บ่อยและไม่ค่อยเยอะ ซื้อขวดเล็กก็พอ จะได้กินหมดก่อนวันหมดอายุ แต่ถ้าใครกินเป็นประจำทุกวันให้ซื้อขวดใหญ่จะคุ้มค่ากว่า - หลายคนเลือกซื้อแยมส้มที่รสชาติอร่อยถูกปากและความคุ้มค่า แต่ก็อย่าลืมคำนึกถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพด้วย ลองเลือกที่มีส้มเยอะ มีน้ำตาลน้อยหรือไม่มีเลย ไม่ใส่วัตถุกันเสีย ไม่แต่งกลิ่นแต่งสี ก็น่าจะดี ข้อมูลอ้างอิงhttps://bestreview.asia/best-orange-jams/
นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปทั้งแบบถ้วยและแบบซองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 31 ตัวอย่าง เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้เลือกซื้อขณะที่อาจต้องกักตัวอยู่บ้านเนื่องในสถานการณ์การระบาดของโควิด ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ปริมาณโซเดียมมีค่าอยู่ระหว่าง 0-1,350 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค และต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2564 สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ได้สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าทั้งโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปและข้าวต้มสำเร็จรูป จำนวน 48 ตัวอย่าง เพื่อดูปริมาณโซเดียมเช่นกัน ซึ่งพบว่ามีค่าอยู่ที่ 0 – 1,420 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค ในโอกาสครบรอบหนึ่งปีของการสำรวจจากสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์โดยใช้ฐานข้อมูลเดิมของทางสมาคมเพื่อนโรคไตฯ เป็นตัวตั้งต้น โดยเก็บตัวอย่างสินค้าชนิดเดียวกันได้จำนวน 19 ตัวอย่าง และตัวอย่างใหม่อีก 5 ตัวอย่าง รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 24 ตัวอย่าง เพื่อสำรวจข้อมูลโภชนาการบนฉลากว่ามีสินค้าตัวใดบ้างที่ผู้ผลิตได้มีการปรับลดปริมาณโซเดียมลง สรุปผลสำรวจ จากการสำรวจฉลากโภชนาการพบว่า ในจำนวน 19 ตัวอย่างที่เป็นสินค้าชนิดเดียวกันกับการสำรวจเมื่อปี 2564 พบว่า ส่วนใหญ่มีค่าปริมาณโซเดียมเท่าเดิม จำนวน 15 ตัวอย่าง มี 2 ตัวอย่างที่ปริมาณโซเดียมลดลง ได้แก่ โอ้โห โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปรสหมู (จาก 680 มก. เป็น 660 มก.) และ โอ้โห โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปรสไก่ (จาก 650 เป็น 490 มก.) และ มี 2 ตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมเพิ่มขึ้น ได้แก่ คนอร์คัพโจ๊ก รสหมูสาหร่าย (จาก 610 มก. เป็น 680 มก.) และ คนอร์คัพโจ๊ก รสหมู (จาก 940 มก. เป็น 960 มก.) ทั้งนี้ค่าปริมาณโซเดียมต่ำสุดที่พบจากผลิตภัณฑ์ คือ 20 มก./หน่วยบริโภค ยี่ห้อ คนอร์คัพโจ๊ก โจ๊กข้าวหอมมะลิ (เจ) และปริมาณสูงสุด คือ 1,280 มก./หน่วยบริโภค ยี่ห้อ มาม่า ข้าวต้มคัพ ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปรสเล้งแซบ
ความคิดเห็น (0)