ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ สำรวจพบส้มไทยมีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง

        สภาองค์กรของผู้บริโภค ไทยแพน ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ สำรวจพบส้มไทยมีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง ตอกย้ำปัญหาส้มพิษยังไม่ถูกแก้ไข เสนออาจต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิตใหม่




        สภาองค์กรของผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสารเคมีเกษตรตกค้างในส้มและน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท แบ่งเป็นส้มจำนวน 60 ตัวอย่างและน้ำส้ม 10 ตัวอย่าง พบว่า ส้มที่มาจากการปลูกในประเทศจำนวน 41 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ทุกตัวอย่าง (100%) ส่วนส้มที่มาจากการนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง (84.21%) มีเพียง 3 ตัวอย่างที่มีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท พบ 50% ของกลุ่มตัวอย่างมีการตกค้างของสารพิษ 
        วันนี้ (10 มีนาคม 2565) ในงานแถลงข่าวผลการตรวจสารเคมีเกษตรตกค้างในส้มและน้ำส้ม นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ส้มเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในการบริโภค แต่ส้มก็เป็นผลไม้ที่มีโรคและศัตรูพืชมาก ทำให้การเพาะปลูกต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชมากชนิดตามไปด้วย ปัญหาที่ตามมาคือ ทุกครั้งที่มีการสำรวจการตกค้างของสารพิษในส้มในหลายปีที่ผ่านมา จะพบการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐานมาโดยตลอด ทั้งจากการติดตามเฝ้าระวังของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไทยแพน หรือจากผลการทดสอบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเอง และทุกครั้งที่มีการสะท้อนสถานการณ์ปัญหาก็จะมีการเคลื่อนไหวหลายอย่างทั้งจากหน่วยงานราชการ เกษตรกร ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อจะติดตามว่า ส้มไทยปลอดภัยต่อการบริโภคมากน้อยแค่ไหน มพบ.และไทยแพน  จึงได้รับการสนับสนุนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ทำการสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทยอีกครั้ง   
        การสุ่มเก็บตัวอย่างส้ม คณะทำงานเลือกช่วงเวลาระหว่างวันที่ 3-10 มกราคม 2565 จากแหล่งผลิตทั้งในและต่างประเทศ โดยครอบคลุมช่องทางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ ตลาดค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์  เป็นตัวอย่างส้ม 60 ตัวอย่าง และน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง รวมเป็น 70 ตัวอย่าง   สำหรับส้ม เน้นเก็บตัวอย่างส้มให้ครอบคลุมสายพันธุ์ส้มที่จำหน่ายในช่วงเวลา ซึ่งจำแนกเป็นสายพันธุ์ทางการค้าได้ทั้งสิ้น 13 สายพันธุ์ ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง ส้มเขียวหวาน 12 ตัวอย่าง ส้มโชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มแมนดาริน 8 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มนาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มเมอร์คอท 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง ส้มกัมควอท 1 ตัวอย่าง ส้มซันคิสท์ 1 ตัวอย่าง ส้มเอินชู 1 ตัวอย่าง และส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และหากจำแนกตามแหล่งผลิตจะเป็นส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง ส้มที่ปลูกในประเทศไทย 41 ตัวอย่าง ทั้งนี้ 12 ตัวอย่างใน 41 ตัวอย่างที่ปลูกในประเทศ เป็นตัวอย่างที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) 11 ตัวอย่าง และ ThaiGAP 1 ตัวอย่าง และตัวอย่างน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง ได้แก่ Aro, Tipco, Chabaa, UFC, Malee, DoiKham, Sunfresh, Harvey Fresh, Green Garden และ Smile 
        ทั้ง 70 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์สารพิษตกค้างแบบ multi-residue analysis ครอบคลุมสารพิษตกค้างจำนวน 567 รายการ ที่ห้องปฏิบัติการ TÜV SÜD ITALY ประเทศอิตาลี ซึ่งได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025
จากรายงานผลการวิเคราะห์ พบว่า 

รายการวิเคราะห์ ชนิดและปริมาณค่าสารพิษตกค้าง สามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ https://thaipan.org/action/2519  และสามารถดาวน์โหลด ผลทดสอบส้ม

        1.    ส้มทั้ง 60 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างในทุกตัวอย่าง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดกำหนดไว้ใน ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 .. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 419) .. 2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติ อาหาร .. 2522 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) พบว่า มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 57 ตัวอย่าง หรือ คิดเป็น 95% ของกลุ่มตัวอย่าง  และพบว่า 5% หรือ 3 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ ส้มเขียวหวาน จากบิ๊กซี บางใหญ่ , Holy Fresh ส้มพันธุ์ เมอร์คอท จากกูเมต์มาร์เก็ต และ เป็นส้มเช้ง ร้านเจ๊อ้อย 201 ผลไม้ ตลาดไท ซึ่งทั้งสามตัวอย่างเป็นส้มนำเข้าจากต่างประเทศ
        2.    จากตัวอย่างน้ำส้มในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง มี 5 ตัวอย่างที่ไม่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่  น้ำส้มโชกุน ตรา Tipco, น้ำส้ม 100% ตรา UFC,  น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรามาลี (ส้มจากแม่สิน) และน้ำส้มนำเข้า ตรา Sunfresh และ Harvey Fresh อีก 5 ตัวอย่างที่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่ น้ำส้มเขียวหวานพร้อมเกล็ดส้ม 100% ตราARO , น้ำส้มสายน้ำผึ้ง 100% ตรา CHABAA, น้ำส้ม 98% ตราดอยคำ, น้ำส้มพร้อมเนื้อส้ม 100% ตรากรีนการ์เด้น และ น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรา SMILE ทั้งนี้จากการตรวจสอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 356 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  พบว่าไม่มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับสารพิษตกค้างไว้ จึงไม่มีค่ามาตรฐานสำหรับเปรียบเทียบกับปริมาณสารพิษตกค้างที่พบ 
        ด้านนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไทยแพน ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมจากรายงานผลการวิเคราะห์ว่า หากจำแนกตามแหล่งผลิต จะพบว่า ตัวอย่างส้มที่มาจากการปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง หรือคิดเป็น 100% ในขณะที่ส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 84.21% อีก 3 ตัวอย่างมีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 
        สำหรับกลุ่มตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ สายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง เขียวหวาน 9 ตัวอย่าง โชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มน้ำตาล 1 ตัวอย่าง และส้มเขียวหวาน 1 ตัวอย่าง ซึ่งทุกตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  โดยในจำนวนนี้เป็นผลผลิตที่มาจากแปลง GAP (Good Agriculture Practices) ที่ได้รับรองโดยกระทรวงเกษตรฯ 11 ตัวอย่าง เป็นผลผลิตที่มีมาจากแปลงที่มีการรับรอง ThaiGAP โดยสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 1 ตัวอย่าง และไม่ระบุการรับรองมาตรฐานใดๆ 29 ตัวอย่าง ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ แมนดาริน 5 ตัวอย่าง ส้มไต้หวัน 3 ตัวอย่าง เมอร์คอท 2 ตัวอย่าง นาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง เอินชู 1 ตัวอย่าง กัมควอท/กิมจ๊อ 1 ตัวอย่าง ซันคิสต์ 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง สายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง มีเพียงส้มสายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และส้มเมอร์คอท 1 ตัวอย่าง ที่พบสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีก 16 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 



        สำหรับชนิดสารพิษตกค้างที่พบจากตัวอย่างส้มทั้งหมดรวม 48 ชนิด เป็นสารกำจัดแมลง 31 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 13 ชนิด และสารกำจัดไร 4 ชนิด มีรายละเอียดดังนี้
        1. สารกำจัดแมลงที่พบตกค้างมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ Imidacloprid, Ethion และ Profenofos โดยพบในส้ม 56, 52 และ 49 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 93.33%, 86.67% และ 81.67% ตามลำดับ
        2. ในขณะที่สามอันดับแรกของสารป้องกันและกำจัดโรคพืชคือ Benomyl/Carbendazim, Hexaconazole และ Prochloraz โดยพบใน 48, 42 และ 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 80.0%, 70.0% และ 51.67% ตามลำดับ
        3. สารกำจัดไรที่พบตกค้างมากที่สุด คือ Propargite พบใน 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 51.67% 
        4. พบการตกค้างของ Chlorpyrifos-ethyl ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้แล้ว) 50% ของกลุ่มตัวอย่าง โดยตกค้างในส้มที่ผลิตในประเทศ 22 ตัวอย่าง และส้มนำเข้า 8 ตัวอย่าง 
        กรณีที่พบการตกค้างของสารคลอร์ไพริฟอสที่แบนแล้วในตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ อาจเป็นไปได้ที่จะมีสารที่ค้างอยู่เป็นสต็อกของเกษตรกรหลังจากมีการแบนอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เกิดขึ้นจากการลักลอบนำเข้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะต้องดำเนินการนางสาวปรกชลกล่าว 
        นางสาวทัศนีย์ กล่าวเสริมว่า หากดูจากรายงานผลการวิเคราะห์ในครั้งนี้ มันยังคงสะท้อนสถานการณ์ปัญหาการตกค้างของสารพิษในส้มว่าไม่ได้ดีขึ้น ส้มเกือบทุกตัวอย่างที่สุ่มมามีการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐาน ดังนั้นคงจะต้องขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้มีส่วนในห่วงโซ่ของการผลิตส้ม ได้โปรดช่วยกันหาทางเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน หรืออาจจะต้องถึงขั้นเปลี่ยนระบบการผลิตครั้งใหญ่หรือไม่ 
        นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่าการเฝ้าระวัง ทดสอบสินค้าและบริการเป็นอำนาจหนึ่งของสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งกำหนดให้สภาฯ มีฐานะเป็นผู้แทนผู้บริโภค และมีอำนาจดำเนินการเพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค  การสนับสนุนการทดสอบเรื่องส้มในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคได้มีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจบริโภคสินค้าหรือบริการ และหลีกเลี่ยงสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัยหรืออาจกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค ทั้งนี้ ตนเองมองว่า กระทรวงสาธารณสุขควรดำเนินการเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในน้ำส้มและผลิตภัณฑ์น้ำผักผลไม้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะจนมั่นใจว่าไม่มีการตรวจพบสารตกค้าง และประกาศให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลทุกครั้ง อีกทั้งต้องการเสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในการผลิตพืชอาหารอย่างเข้มงวดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตั้งแต่ต้นทางของการผลิตอาหาร 
        สรุปข้อเสนอจากรายงานการสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทย

ข้อเสนอต่อภาครัฐ
        1.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 
            ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ลักลอบนำเข้า ครอบครอง หรือมีไว้จำหน่ายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะสารเคมีที่ประเทศไทยยกเลิกการใช้หรือไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนแล้ว 
            ปฏิรูประบบการรับรอง GAP  เพื่อให้มั่นใจว่าผลผลิตหรือสินค้าที่ได้รับการรับรองจะไม่ตรวจพบการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน 
            ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรรมอินทรีย์เพื่อให้เป็นทางเลือกในการผลิตของเกษตรกรและผู้บริโภค 
        2.กระทรวงสาธารณสุข 
            เพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผักผลไม้ที่ด่านนำเข้า
            พัฒนากลไกเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในระดับพื้นที่และประเทศ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 
            ควรยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีน้ำส้มหรือน้ำผลไม้ในภาชนะบรรจุปิดสนิท รวมถึงประเมินความเสี่ยงจากการบริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้ป่วย

ข้อเสนอต่อภาคเอกชน ผู้จัดจำหน่าย

        1. ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ตลอดจนร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นแหล่งจัดจำหน่ายส้มขนาดใหญ่ควรสนับสนุนข้อมูลเรื่องที่มาของส้ม ที่นำมาจำหน่ายอย่างโปร่งใส  (Traceability) เพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบแหล่งผลิต สารเคมีที่ใช้ การเก็บเกี่ยว การบรรจุ ฯลฯ ได้อย่างสะดวกด้วยเทคโนโลยีเช่นการสแกนคิวอาร์โค้ด     
        2. ผู้ผลิตที่นำส้มมาแปรรูป ควรคำนึงถึงแหล่งที่มาตลอดจนการคัดเลือกวัตถุดิบอย่างเป็นระบบเพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนสารพิษตกค้างในผลิตภัณฑ์ 
        ทางเลือกและการแก้ปัญหาของผู้บริโภค 
            เลือกการสนับสนุนส้มที่ผลิตโดยวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมี หรือผลผลิตที่ทราบที่มาและเชื่อถือได้ว่ามาจากระบวนการผลิตที่ปลอดภัย 
            ล้างส้มทุกครั้งที่บริโภค แม้ไม่สามารถลดปริมาณของสารเคมีที่ตกค้างได้ทั้งหมด เพราะมีสารเคมีประมาณครึ่งหนึ่งที่ดูดซึมไปสู่เนื้อส้มได้ แต่ก็เป็นการลดปริมาณของสารเคมีได้ระดับหนึ่ง
            ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตร หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปการผลิต การจัดจำหน่าย และกลไกการกำกับดูแลสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้มีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

0 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ส้ม สารพิษ สารพิษตกค้าง ส้มไทย น้ำส้ม

“การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปและการโฆษณา ณ สถานที่ขายเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพ”

ผลสำรวจตัวอย่างเนื้อหมู-ไก่ ชนิดพรีเมียม และปกติ พบบางรายการปกปิดข้อมูลด้านความไม่ปลอดภัยจากสารอันตราย ไม่ยอมแจ้งบนฉลาก         วันนี้ ( 13 มีนาคม 2567 ) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และภาคีเครือข่ายนักวิชาการ ได้จัดแถลงผลการศึกษาเรื่อง “การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปและการโฆษณา ณ สถานที่ขายเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพ” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)         การสำรวจฉลาก นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวถึงวิธีการเก็บตัวอย่างว่า ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ ที่ระบุว่าเป็นสินค้าพรีเมียม มีการอ้างถึงขั้นตอนเลี้ยงด้วยกระบวนการพิเศษและปลอดภัยจากสารต่างๆ ทำให้ราคาขายแพงกว่าเนื้อสัตว์ในกระบวนการเลี้ยงปกติ โดยเก็บเนื้อหมูส่วนสะโพก (สันนอก สันใน) และอกไก่ลอกหนัง จากซูเปอร์มาร์เก็ตในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นเนื้อหมูจำนวน 7 ตัวอย่าง อกไก่ 5 ตัวอย่าง และเก็บตัวอย่างเนื้อหมูส่วนสะโพกและอกไก่ แบบปกติที่บรรจุในภาชนะบรรจุอย่างละ 1 ตัวอย่างในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อนำมาเปรียบเทียบราคาจำหน่ายในช่วงเวลาเดียวกัน (เดือนกันยายน 2566) รวมเป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง จากการเปรียบเทียบราคาพบว่า ราคาแพงกว่าราคาปกติประมาณสองเท่า         1.เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 290 – 500 บาท ต่อกิโลกรัม ในขณะที่เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดธรรมดา สันนอกคัด จำหน่ายภายในห้างฯ ราคาอยู่ที่ 225 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 สันนอกจะมีราคาอยู่ที่ 130 บาทต่อกิโลกรัม         2.เนื้ออกไก่ลอกหนังชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 215 – 400 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เนื้ออกไก่ชนิดธรรมดา จำหน่ายภายในห้างฯ อกไก่ลอกหนัง ราคาอยู่ที่ 208 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 อกไก่จะมีราคาอยู่ที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม         ผลวิเคราะห์การสำรวจฉลากเนื้อหมูสด-เนื้อไก่สด อ.ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ได้นำข้อมูลจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ฉลากเนื้อหมูสด-ไก่สด ชนิดพรีเมียม และชนิดธรรมดา ช่วงเดือนกันยายน 2566 ทำการวเคราะห์ประเด็นการใช้ยาปฏิชีวนะ และสารอื่นๆ ปรากฏว่า รูปแบบฉลากที่สำรวจชนิดพรีเมียม มีทั้งแจ้ง และ ไม่แจ้ง บนฉลาก ส่วนชนิดธรรมดา ไม่มีการแจ้งใดๆ         การวิเคราะห์ฉลาก ยังมีข้อสังเกต ดังนี้         มีความหลากหลายของการแสดงฉลาก         การแสดงฉลากในเรื่องยาปฏิชีวนะของเนื้อหมูและเนื้อไก่ ...พบว่าเนื้อหมูและไก่เกรดพรีเมียม 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) มีการแสดงข้อความในฉลากที่สื่อว่าไม่ใช้เลยตลอดการเลี้ยง และ 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) ที่ฉลากมีการกล่าวอ้างว่าไม่เจอโดยใช้ข้อความหลายรูปแบบ เช่น ‘ปลอดยาปฏิชีวนะ’ แตกต่างจาก ‘เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ’ ในขณะที่เนื้อหมูและเนื้อไก่แบบธรรม 2 ตัวอย่าง (ร้อยละ 14.3) ไม่ได้ระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ         บางยี่ห้อเน้นที่รางวัลที่ได้รับ ทำให้ผู้บริโภคสนใจคำว่าชนะรางวัล มากกว่าคุณค่าทางโภชนาการ         ข้อความคำแนะนำเป็นภาษาอังกฤษ อ่านยาก ควรเป็นภาษาไทยเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจ         ข้อสังเกตสำคัญ ประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวกับเรื่องยาปฏิชีวนะ มีการใช้คำสองความหมายคือ “เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ (RAISED WITHOUT ANTIBIOTICS)” ซึ่งแตกต่างจากคำว่า “ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะตกค้าง (ANTIBIOTICS CONTROLLED หรือ ANTIBIOTICS FREE)” มีการใช้คำกล่าวอ้างที่มีรูปแบบหลากหลายอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เช่น มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง แต่หยุดการใช้ก่อนเชือดจนไม่มีการตกค้างอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดูเลยได้ ควรมีการกำหนดมาตรฐานและการตรวจสอบก่อนอนุญาตให้ใช้คำดังกล่าว และควรมีการกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง ทั้งในฉลากทั้งเนื้อสัตว์แบบพรีเมียม และไม่พรีเมียม รวมทั้งระบุถึงมาตรฐานฟาร์มที่เป็นที่มาของเนื้อสัตว์ดังกล่าว         ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รายงานข้อสังเกตจากฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูป การโฆษณา ณ สถานที่ขายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า “ประเทศไทยมีการกำหนดฉลากผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ประเภทลูกชิ้น ไส้กรอก แหนม หมูยอ กุนเชียง และผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตทำนองเดียวกันนี้ที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 243) พ.ศ. 2544 เรื่อง ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และมีการกำหนดฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ แต่ประกาศนี้ก็ไม่ใช้กับอาหารสดที่ไม่ผ่านกรรมวิธีใดๆ หรืออาหารสดที่ผ่านกรรมวิธีการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด ซึ่งอาจแช่เย็นหรือไม่แช่เย็นและบรรจุในภาชนะที่สามารถมองเห็นสภาพของอาหารสด ฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปขาดการควบคุม จึงส่งผลให้ผลการสำรวจฉลากพบการแสดงฉลากที่หลากหลาย ขาดความชัดเจน ทั้งขนาดตัวอักษร รูปแบบการแสดงข้อความ ตลอดจนความชัดเจนของการสื่อความหมายของข้อความ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดได้ จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าบทบาทหน้าที่ในการกำหนดมาตรการด้านฉลากดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือหน่วยงานอื่น”         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนประเด็นด้านโฆษณาอาหารนั้น ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้การแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร ต้องได้รับอนุญาตก่อนการโฆษณา ซึ่งหากพิจารณาตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2564 การใช้คำว่า “สด” “ธรรมชาติ” “ผลิตภัณฑ์อินทรีย์” “ออร์แกนิก” “อนามัย” “ถูกสุขอนามัย” “สะอาด” “คุณภาพ” เข้าข่ายบัญชีหมายเลข 3 ของประกาศนี้ ซึ่งเป็นลักษณะการโฆษณาที่เข้าข่ายลักษณะเป็นคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารที่ต้องยื่นคำขออนุญาตโฆษณาอาหาร หากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาถือว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปเป็นอาหารที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 การกล่าวอ้างในลักษณะนี้ก็ควรจะต้องมีการตรวจสอบโฆษณาทั้งเรื่องการขออนุญาต หรืออย่างน้อยก็ควรมีบทบาทในการตรวจสอบสิ่งที่กล่าวอ้างนั้นเป็นความจริงหรือไม่         รายละเอียดด้านการลงพื้นที่เก็บภาพการโฆษณา ณ แหล่งขาย นางสาวทัศนีย์กล่าวว่า ไปสำรวจโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อหมูและเนื้อไก่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 44 ร้าน 29 พื้นที่ สำรวจทั้งในซูเปอร์มาเก็ต ร้านตั้งเดี่ยวนอกห้างสรรพสินค้า ร้านค้าในตลาด ร้านสะดวกซื้อ และแผงในตลาดสด ...เมื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยเทียบกับหลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พบว่าการโฆษณาที่เข้าข่ายการแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร โดยมีการแจ้งคุณภาพของสินค้า พบ 16 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 36.3) โดยรูปแบบการแจ้งคุณภาพอาจจะกล่าวเพียงประเด็นเดียวหรือหลายประเด็น ดังนี้ ร้านขายได้กล่าวถึงความสะอาด 8 ร้าน, สด 6 ร้าน, คุณภาพ 4 ร้าน, อนามัย 2 ร้าน, ชุ่มฉ่ำ 2 ร้าน คำว่าพรีเมี่ยม 1 ร้าน และเลี้ยงด้วยโปรไบโอติกส์อย่างละ 1 ร้าน ข้อสังเกตในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ต จะมีการอนุญาตให้สินค้าแต่ละชื่อการค้าโฆษณาตัวเอง พบ 8 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 18.18) นอกจากนี้ยังพบการโฆษณาว่าปลอดภัย 6 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 13.63) การโฆษณาว่าปลอดสารเร่งเนื้อแดง พบ 4 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 9.09) การโฆษณาว่าไม่ใช้ฮอร์โมน พบ 2 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 4.55) การโฆษณาสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK พบ 16 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 36.3) แต่ร้านที่มีสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK มีแจ้งคุณภาพของสินค้าเพียง 8 ร้านเท่านั้น การแจ้งคุณค่าทางโภชนาการของเนื้อสัตว์ที่ขาย พบเพียง 1 ร้าน และการกล่าวอ้างอื่น เช่น การกล่าวอ้างด้านกระบวนการเลี้ยงดูที่เป็นธรรมชาติ พบคำว่า “100% organic” การรับรองตนเอง พบคำรับรองประกันคุณภาพในบริษัท “มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ” “วงจรคุณภาพและความสดของแผนกเนื้อสัตว์”         นักวิชาการด้านกฎหมาย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ มองว่า “หากมองในมุมกฎหมายการโฆษณาลักษณะนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นปัญหาด้านกฎหมายได้ หากมองในมุมของผู้บริโภคก็ต้องการทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายเชื่อถือหรือไว้วางใจได้หรือไม่ หากไม่ทราบข้อมูลจากผู้ขายเลยก็อาจขาดข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ หากผู้ขายให้ข้อมูลมา แต่ไม่สามารถตรวจสอบหรือยืนยันได้ว่าเรื่องใดจริงหรือเท็จผู้บริโภคก็ถูกเอาเปรียบได้เช่นกัน”         ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สรุปผลการศึกษาดังกล่าวข้างต้น มีข้อสังเกตว่าฉลากมีความหลากหลายของการนำเสนอ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้อง คำว่า’ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง’ ที่มีความหมายแตกต่างจากคำว่า’ปลอดจากยาปฏิชีวนะ’ นอกจากนี้ยังพบความแตกต่างของการใช้คำต่าง ๆ เช่น วันหมดอายุ มีขนาดเล็กมาก รวมถึงการระบุสรรพคุณของเนื้อสัตว์ จากการวิเคราะห์กฎหมาย ระเบียบ กติกา อาจมีช่องว่างของการควบคุมฉลากเนื้อสัตว์ดิบประเภทหมูและไก่ เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์แปรรูปแปรรูปหรือไม่ จึงมีช่องว่างของการใช้คำโฆษณาผลิตภัณฑ์ เพื่อทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ เช่นคำว่า ปศุสัตว์ OK หมายถึงอะไรบ้าง การเคลมคุณสมบัติบนฉลากผลิตภัณฑ์ หรือ การแสดง ณ จุดจำหน่ายนี้ มีหน่วยงานใดมีหน้าที่ตรวจสอบบ้าง มีหน่วยงานใดทำหน้าที่ควบคุม การกำหนดราคาสินค้าพรีเมียม มาตรฐานต่างๆ         ดังนั้นจึงมีข้อเสนอเกี่ยวกับฉลากเนื้อสัตว์สด และการโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ ดังนี้         1. ควรมีเจ้าภาพรับผิดชอบในการกำหนดลักษณะฉลากเนื้อสัตว์สดและการโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ ซึ่งอาจจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค         2.ควรมีข้อกำหนดในการใช้คำให้ชัดเจน เนื่องจากพบการใช้คำโฆษณานี้มีความหลากหลาย มีทั้งการกล่าวอ้างด้านกระบวนการเลี้ยงดูที่เป็นธรรมชาติ และการกล่าวอ้างด้านไม่พบสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจที่แตกต่างกันได้ เช่น คำว่า “ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะ” อาจสื่อความหมายได้ตั้งแต่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดู หรือมีระยะหยุดยาก่อนการฆ่า หรือมีการใช้ยาแต่มีเนื้อสัตว์พบยาปฏิชีวนะตกค้างไม่เกินที่กำหนดในกฎหมาย จึงควรมีข้อกำหนดในการใช้คำให้ชัดเจน เช่น “Raised without antibiotics” (ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะทุกขั้นตอนของการเลี้ยง)         3.ควรมีหน่วยงานที่ติดตามและตรวจสอบการกล่าวอ้าง เพื่อไม่ให้เกิดการกล่าวอ้างเกินจริง ซึ่งจูงใจให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ และการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวอาจมีผลทำให้ราคาสินค้าเกินกว่าความเป็นจริงได้ โดยเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เข้ามาตรวจสอบการโฆษณาดังกล่าว         4.มีระบบฐานข้อมูลการตรวจสอบฉลากของสินค้า และ 5. การให้ความรู้กับผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม>

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อสุ่มวิเคราะห์ “หมึกกรอบ”ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล พบกว่าร้อยละ 57 ปนเปื้อนฟอร์มาลิน

        วันนี้ ( 14 มิถุนายน 2566 ) ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า การสุ่มตรวจสอบ “หมึกกรอบ”  ปนเปื้อนฟอร์มาลิน เป็นหนึ่งในงานเฝ้าระวังสินค้าและบริการของ นิตยสารฉลาดซื้อ ตามโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสุขภาพ จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เนื่องจากในทุกๆ ปีจะมีข่าวการพบสารฟอร์มาลินในอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารทะเล         จากข้อมูลของกรมอนามัย ปีงบประมาณ 2563  พบว่า จากผลการตรวจวิเคราะห์ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนทั้งหมด 14,046 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของฟอร์มาลิน 705 ตัวอย่าง โดยพบมากที่สุดใน หมึกกรอบ ร้อยละ 31.35 รองลงมาคือ หมึกสด  ร้อยละ 2.36  แมงกะพรุน ร้อยละ 1.55 และ กุ้ง ร้อยละ 0.14 ตามลำดับ ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 (พ.ศ.2561) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือ ฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ และถ้าตรวจพบการกระทำดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         สรุปผลการทดสอบ “หมึกกรอบ” จำนวน 14 ตัวอย่าง สุ่มเก็บจากแหล่งจำหน่ายสินค้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ได้แก่ ตลาดสด 8 แห่ง , ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง ,และ ร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง ส่งวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 ซึ่งดำเนินการช่วงเดือนเมษายน 2566 พบปนเปื้อนฟอร์มาลิน 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 57.14 โดยปริมาณฟอร์มาลิน พบตัวอย่างที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์  สูงเป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 และ 3  พบจากตลาดสด (  ดูผลทดสอบจากhttps://chaladsue.com/article/4269/ )          ดร. แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษาศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากถามว่า ฟอร์มาลินมีอันตรายอย่างไรต่อร่างกาย ข้อมูลที่พอเชื่อถือได้จากอินเทอร์เน็ตกล่าวโดยรวมว่า อาการระยะสั้นจากการสูดดมเข้าไปจะมีผลต่อระบบหายใจ คือ แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก หากสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด และอาจเสียชีวิตได้ หากสัมผัสกับฟอร์มาลินโดยตรงจะมีผลต่อระบบผิวหนังหลังสัมผัสคือ ทำให้เกิดผื่นคัน จนถึงผิวหนังอาจไหม้ หรือเปลี่ยนเป็นสีขาวได้ และหากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินเข้าไปในปริมาณมาก อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว         วิธีเลือกซื้อเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัยจากฟอร์มาลิน สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการซื้อเนื้อสัตว์ต่าง ๆ จากร้านค้าที่ไม่มีการแช่ในตู้เย็น สามารถใช้วิธีการดมกลิ่น ถ้าอาหารนั้นมีกลิ่นฉุนแสบจมูกให้สงสัยว่ามีฟอร์มาลินอยู่ (ปัญหามักเกิดกับอาหารทะเลซึ่งเหม็นคาว) ซึ่งมีนักวิชาการคนหนึ่งกล่าวว่า สามารถกำจัดฟอร์มาลินที่ปนเปื้อนบนเนื้อได้ด้วยการใช้น้ำด่างทับทิมหรือ potassium permanganate เพื่อเปลี่ยนฟอร์มาลดีไฮด์ในฟอร์มาลินให้เป็นกรดฟอร์มิคหรือกรดมดได้ แต่ควรคำนึงด้วยว่า เนื้อสัตว์ที่ชุบฟอร์มาลินนั้นมักไม่ถูกสุขอนามัยที่ดีมาก่อน จึงต้องใช้ฟอร์มาลินกลบเกลื่อนความไม่สด ดังนั้นจึงไม่สมควรนำเนื้อดังกล่าวมาบริโภคและไม่ควรโยนให้สัตว์เช่น หมาหรือแมวกิน         อ่านผลทดสอบฟอร์มาลินใน “หมึกกรอบ”เพิ่มเติมได้ที่ https://chaladsue.com/article/4269/

อ่านเพิ่มเติม>

เสนอหน่วยงานกำกับติดฉลากปลอดภัย “สปอร์ตบรา” เทียบมาตรฐานสากล เพื่อเป็นทางเลือกผู้บริโภค หลังฉลาดซื้อสุ่มตรวจพบสารก่อมะเร็งในบางยี่ห้อ

เสนอหน่วยงานกำกับติดฉลากปลอดภัย “สปอร์ตบรา” เทียบมาตรฐานสากล เพื่อเป็นทางเลือกผู้บริโภค หลังฉลาดซื้อสุ่มตรวจพบสารก่อมะเร็งในบางยี่ห้อ        พบฟอร์แมลดิไฮด์ 1 ตัวอย่าง จาก 8 ตัวอย่าง แต่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (น้อยกว่า 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และตรวจพบสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว พบสาร 2 ชนิด ได้แก่ BENZIDINE ปริมาณ 17.74 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ 4-METHYL-m-PHENYLENEDIAMINE ปริมาณ 37.32 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ใน 1 ตัวอย่าง  (มาตรฐานสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว แต่ละตัวต้องไม่เกิน 30 มก./กก.) นักวิชาการชี้ สารก่อมะเร็ง 2 ชนิดที่พบ แม้จะไม่เกินมาตรฐานหรือเกินเพียงเล็กน้อยก็มีโอกาสเกิดอันตรายต่อร่างกาย เสนอหน่วยงานกำกับดูแลต้องให้ผู้ผลิต ติดฉลากว่ามีสารเคมีที่เป็นอันตรายหรือไม่ ยกระดับมาตรฐานเทียบเท่าในยุโรปที่หากพบสารเคมีอันตรายปนเปื้อนจะนำสินค้าออกจากตลาดทันทีวานนี้ 28 เมษายน 2566 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ร่วมกับ  ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สปอร์ตบรา จำนวน 8 ยี่ห้อ ที่สุ่มตัวอย่างจากร้านค้าและห้างสรรพสินค้าทั่วไปในระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2565   ผลการทดสอบตรวจพบสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว พบสาร 2 ชนิด ได้แก่ BENZIDINE ปริมาณ 17.74 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ 4-METHYL-m-PHENYLENEDIAMINE ปริมาณ 37.32 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในตัวอย่างยี่ห้อ Wacoal รุ่น Motion Support WR 3448 (มาตรฐานสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว แต่ละตัวต้องไม่เกิน 30 มก./กก.) อีก 7 ตัวอย่างไม่พบสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว        นอกจากนี้ยังพบฟอร์แมลดิไฮด์ใน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ GENTLEWOMAN sports club ปริมาณ 26.83 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (น้อยกว่า 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) อีก 7 ตัวอย่างไม่พบฟอร์แมลดิไฮด์ ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า“สารที่ตรวจพบทั้ง 2 ชนิดเป็นสารที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง อาจส่งผลต่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และอาจทำให้เกิดการเป็นหมัน การตรวจพบสารดังกล่าว แม้จะเป็นไปตามมาตรฐานก็ยังมีโอกาสทำให้เกิดอันตรายได้        “กระบวนการที่เราจะได้รับอันตราย มี 2 กระบวนการ คือหนึ่ง กระบวนการ migration เมื่อสีย้อมผ้าหลุดออกมาสู่สิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียงกับเรา และสอง กระบวนการ penetration คือการซึมผ่าน ทั้งสองกระบวนการทำให้สารเคมีซึมผ่านร่างกายเราได้ทั้งนั้น เนื่องจากสารเหล่านี้ไม่ได้ลดน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป ยังปล่อยออกมาสม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ความชื้น หรือระยะเวลาที่เราสัมผัส จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไม่มีสารเคมีเหล่านี้”“เรื่องสารเคมีอันตราย เราไม่มีโอกาสได้เลือก ถ้าไม่มีข้อมูลการทดสอบ สิ่งหนึ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลสามารถทำได้คือให้ผู้ผลิตติดฉลากว่ามีสารเคมีที่เป็นอันตรายหรือไม่ เป็นการประกาศตัวเองของผู้ผลิต ในกรณีของยุโรป มีกติกาว่าหากพบสารเคมีอันตรายปนเปื้อนในสินค้า จะต้องนำสินค้านั้นออกจากตลาดทันที บริษัทต่างๆ ก็ปฏิบัติตาม”“ภาครัฐต้องกำกับดูแลตั้งแต่กระบวนการผลิต การออกกฎหมายที่มีความเข้มข้น ทำให้ผู้ผลิตมีความระมัดระวัง และทำให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ไม่มีสารเคมีเป็นของแถม ผมคิดว่าถึงเวลาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะให้ความสำคัญและปรับลดค่าสารเคมีต่างๆ ที่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย โดยอาจทบทวน ทุก 5 ปี หรือ 10 ปี ถ้าประเทศเรามีมาตรฐานในประเทศดี สินค้าของเราก็จะได้รับความน่าเชื่อถือไปด้วย ผมจึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่ดูแล ออกมาทบทวนมาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอ” คุณทัศนีย์  แน่นอุดร   บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า การสวมใส่สปอร์ตบราได้รับความนิยมกว้างขวาง ไม่ได้ใส่แค่ตอนออกกำลังกาย แต่เป็นแฟชั่นการแต่งตัวด้วย ซึ่งหากยิ่งใช้ประจำยิ่งต้องพิจารณาถึงคุณภาพ รูปทรง ความทนทานต่างๆ  การทดสอบของฉลาดซื้อพบว่า สินค้าที่ดีที่สุด ไม่ใช่สินค้าที่ราคาแพงที่สุด ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อจากการศึกษาข้อมูลประกอบอย่างมีเหตุผล         “ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีการใช้สารเคมีตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่การผลิตเส้นใยจนไปถึงเมื่อทิ้งยังปนเปื้อนไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ เมื่อสินค้าได้ผลิตออกมาแล้ว ยังมีกำลังคนในการเฝ้าระวังน้อย การร่วมกันป้องระวังตั้งแต่ด่านแรก ย่อมดีกว่า”   ติดตามอ่าน “ผลทดสอบสปร์ตบรา” ฉบับเต็มได้ใน https://www.chaladsue.com/article/4212

อ่านเพิ่มเติม>

ฉลาดซื้อ เปิดเผยผลทดสอบอาหารเม็ดแมวโต พร้อมย้ำ! ไฟเบอร์สูงไม่จำเป็นต่อแมว เพราะแมวเป็นสัตว์กินเนื้อ

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อทดสอบคุณค่าทางโภชนาการอาหารแห้งสำหรับแมวโต อายุ 1 ปี เปรียบเทียบคุณภาพอาหารแมว 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีน้อยยิ่งดี กลุ่มที่มีมากเกินไปไม่ดี และกลุ่มที่ยิ่งมีมากยิ่งดี ในภาพรวมมีคุณภาพที่ดีขึ้น และการทดสอบครั้งนี้พบ “ไมโคทอกซิน” ในยี่ห้อเดียวและมีปริมาณน้อยลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการทดสอบในปี 2559 พร้อมแนะนำว่า อาหารไฟเบอร์สูงไม่จำเป็นต่อร่างกายของแมวเพราะแมวเป็นสัตว์กินเนื้อ หากมีไฟเบอร์มากกว่า 1% หมายความว่าผู้ผลิตอาจใส่เพิ่มลงไปเพื่อลดต้นทุน                  วันนี้ ( 21 เมษายน 2566 ) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ  ภายในการทำงานของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์เป็นสมาชิกหนึ่งของครอบครัวกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ครัวเรือนเหล่านี้มีลักษณะการใช้จ่ายคล้ายครัวเรือนที่มีบุตรหลานมีการเลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีที่สุดให้สัตว์เลี้ยง  ส่งผลให้ตลาดอาหารเพื่อสัตว์เลี้ยงเติบโตและมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง Kantar Worldpanel หน่วยงานที่ศึกษาพฤติกรรมการเกี่ยวกับการซื้อสินค้าเพื่ออุปโภค บริโภค ศึกษาข้อมูลในประเทศไทย พบว่าครัวเรือนที่เลี้ยงแมวเติบโตมากกว่าครัวเรือนที่เลี้ยงสุนัขแต่สัดส่วนที่เลือกใช้อาหารแบบหีบห่อยังน้อยกว่าครึ่งทำให้ยังเป็นโอกาสที่ยังสามารถเติบโตขึ้นได้ของอาหารสำเร็จ บริษัทต่างๆ จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแมวหลากหลายสูตรเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคมาเลือกซื้ออาหารเม็ดมากยิ่งขึ้น        นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือก “อาหารสำเร็จรูปแบบแห้งสำหรับแมวโต อายุ 1 ปีขึ้นไป” จำนวน 12 ตัวอย่าง ในเดือนมกราคม 2566 มาสำรวจฉลาก และส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารพิษที่ไม่ควรมี และสารอาหารต่างๆ ที่ควรมีอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้ออาหารเม็ดให้แมวได้อย่างคุ้มค่า ให้โภชนาการที่ดีต่อแมวได้            นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อกล่าวว่าศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเคยทดสอบเปรียบเทียบอาหารสำเร็จรูปแบบแห้งสำหรับแมวมาแล้วในฉบับที่ 183 ปี 2559 เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพการผลิตอาหารแมวอย่างต่อเนื่องและปัจจุบันตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงยังได้เติบโตขึ้นมาก มีการโฆษณาคุณสมบัติที่ดีต่อร่างกายหลายรูปแบบ ผู้บริโภคจึงยิ่งควรมีข้อมูล องค์ความรู้โภชนาการที่เหมาะสมกับแมวเพื่อที่สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม คุ้มราคา   การตรวจหาในการเปรียบเทียบคุณภาพอาหารแมวครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่         1. กลุ่มที่มีน้อยยิ่งดี คือ ไมโคทอกซิน HT-2 และ T-2 สหภาพยุโรปกำหนดให้มีในอาหารแมวได้ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแมว การทดสอบครั้งนี้ ไม่พบ HT-2 ในทุกตัวอย่าง และพบ T-2 ปริมาณน้อยกว่า 10 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ในยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท          - ไฟเบอร์พบว่าทุกยี่ห้อมีมากกว่า 1% ยี่ห้อมีโอ รสปลาทูน่า มีน้อยที่สุดคือ 1.99% ส่วนยี่ห้อบิ๊กซี แฮปปี้ ไพรซ์ โปร รสทูน่า มีมากที่สุดคือ 4.17%  ซึ่งองค์กรทดสอบระหว่างประเทศให้ข้อสังเกตไว้ในฉลาดซื้อฉบับที่ 183 ว่าอาหารแมวไม่ต้องมีไฟเบอร์ก็ได้ เพราะแมวเป็นสัตว์กินเนื้อ หากมีไฟเบอร์มากกว่า 1% หมายความว่าผู้ผลิตอาจใส่เพิ่มลงไปเพื่อลดต้นทุน          2. กลุ่มที่มีมากเกินไปไม่ดี อ้างอิงจากปริมาณความต้องการสารอาหารสำหรับแมว พิจารณาตามปริมาณอาหารแมวแบบแห้ง 100 กรัม ที่ European Pet Food Industry Federation (FEDIAF 2021) แนะนำไว้เป็นขั้นต่ำคือ มีโซเดียม 80 มิลลิกรัม (0.08 กรัม) และแมกนีเซียม 40 มิลลิกรัม (0.04 กรัม) (หากแมวได้รับโซเดียมมากเกินไปจะเสี่ยงเป็นโรคไต และถ้าได้แมกนีเซียมมากเกินไปอาจเป็นนิ่วในไตได้) ผลทดสอบพบว่า         - ทุกตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมมากกว่า 80 มิลลิกรัม/100 กรัม ยี่ห้อเพียวริน่า ฟริสกี้ส์ รสรวมมิตรปลาทะเล มีมากที่สุด คือ 687.36 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อบิ๊กซี แฮปปี้ ไพรซ์ โปร รสทูน่า มีน้อยที่สุดคือ 393.58 มิลลิกรัม        - ทุกตัวอย่างมีปริมาณแมกนีเซียมมากกว่า 40 มิลลิกรัม/100 กรัม ยี่ห้อเพ็ทส์ เฟรนด์ รสทูน่า มีมากที่สุดคือ 164.02 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท มีน้อยที่สุด คือ 75.86 มิลลิกรัม         3. กลุ่มที่ยิ่งมีมากยิ่งดี อ้างอิงจากปริมาณความต้องการสารอาหารสำหรับแมว พิจารณาตามปริมาณอาหารแมวแบบแห้ง 100 กรัม ที่ FEDIAF 2021 แนะนำไว้เป็นขั้นต่ำคือ มีทอรีน 100 มิลลิกรัม(0.10 กรัม) ทอรีนเป็นกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายแมวไม่สามารถผลิตเองได้ หากได้รับน้อยเกินไปอาจทำให้แมวตาบอด ขนหรือฟันร่วงก่อนเวลาอันควร รวมถึงมีความปกติของระบบสืบพันธุ์ โปรตีน 25 กรัม ไขมัน 9 กรัม แคลเซียม 400 มิลลิกรัม (0.40 กรัม) และฟอสฟอรัส 260 มิลลิกรัม (0.26 กรัม) สรุปผลทดสอบ         - ทุกตัวอย่างมีทอรีนมากกว่า 100 มิลลิกรัม ยกเว้นยี่ห้อโปรไดเอ็ท รสทูน่า มี 93.19 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อที่มีทอรีนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ยี่ห้อรอยัล คานิน เอฟเอชเอ็น โฮม ไลฟ์ อินดอร์ 27 (197.09 มิลลิกรัม), วิสกัส รสปลาทูน่า (191.17 มิลลิกรัม) และมีโอ รสปลาทูน่า (187.90 มิลลิกรัม)         - ทุกตัวอย่างมีโปรตีนมากกว่า 25 กรัม ยี่ห้อสมาร์ทฮาร์ท โกลด์ รสทูน่ามีลแอนด์บราวน์ไรซ์ มีมากที่สุดคือ 35.44 กรัม ส่วนยี่ห้อรอยัล คานิน เอฟเอชเอ็น โฮม ไลฟ์ อินดอร์ 27 มีน้อยที่สุด คือ 26.95 กรัม         - ทุกตัวอย่างมีไขมันมากกว่า 9 กรัม ยี่ห้อแม็กซีม่า มีมากที่สุด คือ 22.4 กรัม ส่วนยี่ห้อเพ็ทส์เฟรนด์ รสทูน่า มีน้อยที่สุด คือ 10.1 กรัม         - ทุกตัวอย่างมีแคลเซียมมากกว่า 400 มิลลิกรัม ยี่ห้อบิ๊กซี แฮปปี้ ไพรซ์ โปร รสทูน่า มีมากที่สุด คือ 2,035.37 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท มีน้อยที่สุด คือ 813.08 มิลลิกรัม         - ทุกตัวอย่างมีฟอสฟอรัสมากกว่า 260 มิลลิกรัม ยี่ห้อสมาร์ทฮาร์ท โกลด์ รสทูน่ามีลแอนด์บราวน์ไรซ์ มีมากที่สุด คือ 1,382.41 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท มีน้อยที่สุด คือ 695.47 มิลลิกรัม          ด้านราคาเมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณอาหารเม็ดแมว 1 กรัม พบว่ายี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท ราคาแพงที่สุด คือ 0.38 บาท ส่วนยี่ห้อโลตัส รสปลาทูน่า ราคาถูกที่สุด คือ 0.08 บาท       ข้อสังเกตจากการทดสอบครั้งนี้พบ ไมโคทอกซิน ในยี่ห้อเดียวและมีปริมาณน้อยลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการทดสอบในปี 2559 ซึ่งอาจสะท้อนได้ว่าผู้ผลิตอาหารแมวใส่ใจคุณภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามยังพบว่ามีไฟเบอร์มากกว่า 1 % ในทุกตัวอย่างเช่นเดียวกับการทดสอบในครั้งที่แล้ว ตัวอย่างส่วนใหญ่มีธัญพืชเป็นส่วนประกอบ ซึ่งแมวจะย่อยยากและอาจเกิดอาการแพ้ได้         - ด้านความชื้นทุกตัวอย่างมีความชื้นไม่มากกว่าร้อยละ 14 ของน้ำหนัก ตามที่กรมปศุสัตว์กำหนดไว้      - ทุกตัวอย่างระบุข้อมูลคุณภาพของอาหารสัตว์ทางเคมี (โปรตีน ไขมัน และกาก) ไว้ตรงกับผลวิเคราะห์ที่ได้จากห้องปฏิบัติการ มีเพียงยี่ห้อโปรไดเอ็ท รสทูน่า ที่ฉลากระบุว่ามีโปรตีนไม่น้อยกว่า 30% แต่ผลวิเคราะห์ออกมาได้ 29.83% (ซึ่งน่าจะพออนุโลมกันได้)         นางสาวทัศนีย์ ยังกล่าวต่ออีกว่า นอกจากเลือกอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วนเหมาะสมกับร่างกายและช่วงอายุของแมว ยังสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่แมวได้ด้วยการสร้างนิสัยการกินอาหารที่ถูกต้อง แมวบางตัวมีนิสัยกินจุ กินยากหรือกินอาหารบ่อยครั้ง ซึ่งแก้ไขหรือปรับพฤติกรรมการกินของแมวได้ด้วยการให้อาหารเป็นเวลาแน่นอน และจำกัดปริมาณให้เหมาะสม แมวโตกินอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ในแมวเด็ก 3 ครั้ง เพราะการทดสอบยังพบ โซเดียมและแมกนีเซียมในปริมาณสูงเกินระดับมาตรฐานในทุกตัวอย่าง การให้อาหารเม็ดจึงยิ่งควรระมัดระวัง จำกัดปริมาณเพราะสารทั้งสองทำให้แมวเสี่ยงเป็นโรคไต และนิ่วในไตได้ ซึ่งการดูแลเรื่องอาหารจะนำไปสู่การลดโรคได้ ตรงนี้อาจจะช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลในอนาคตได้ติดตามอ่าน“ผลทดสอบคุณค่าทางโภชนาการในอาหารสำเร็จรูปแบบแห้งสำหรับแมวโต อายุ 1 ปีขึ้นไป” ฉบับเต็มได้ใน https://www.chaladsue.com/article/4234 และโหลดไฟล์กราฟฟิกผลทดสอบได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1CZtJSsLJdxBFRmgeuP5nSl1uBQx9Of3U/view?usp=share_linkข้อมูลประกอบข่าวฉลาดซื้อแนะ        - ก่อนซื้อทุกครั้งตรวจสอบว่ามีเลขทะเบียนอาหารสัตว์ 10 หลักเพื่อแสดงว่าอาหารผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์แล้ว ดูส่วนผสมและสารอาหาร สารปรุงแต่งที่ต้องระวังไหม แสดงปริมาณอาหารที่แนะนำต่อวันหากมีมาตรฐานรับรองจากหน่วยงานที่เชื่อถือจะยิ่งดี ที่สำคัญคือต้องระบุวันหมดอายุไว้ชัดเจน         - อาหารเม็ดแมวมี 2 ประเภทหลัก ๆ คือสูตรโภชนาการครบถ้วนสำหรับแมวที่สุขภาพดี หาซื้อได้ทั่วไป และสูตรป้องกันโรคที่ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงเฉพาะจุดสำหรับแมวป่วย ควรซื้อจากโรงพยาบาลสัตว์ และได้รับคำแนะนำจากสัตวแพทย์ก่อน         - แม้ซื้ออาหารเม็ดแมวถุงใหญ่จะคุ้มกว่าถุงเล็ก แต่หากเก็บไว้นานเกินไปจนทำให้กลิ่น รสชาติและสัมผัสของอาหารเม็ดเปลี่ยนไป แมวอาจไม่ยอมกิน ก็น่าเสียดาย จึงควรเลือกซื้ออาหารเม็ดแมวในปริมาณที่แมวสามารถกินหมดได้ภายใน 1 เดือนเพื่อรักษาความสดใหม่ไว้         - แมวแต่ละตัวมีโอกาสแพ้สารแตกต่างกัน เช่นอาจแพ้ธัญพืช โปรตีนจากสัตว์ สารกันบูดและสารกันความชื้นต่าง ๆ หากสังเกตว่าแมวกินอาหารแล้วมีอาการผิดปกติ เช่นผื่นขึ้น ตุ่มขึ้น ตาบวม น้ำมูกน้ำตาไหล ให้เปลี่ยนอาหาร ถ้าไม่ดีขึ้นให้รีบพาไปรักษาและนำอาหารนั้นไปให้สัตวแพทย์ดูด้วย         - ไม่ควรซื้ออาหารแมวที่มีสีสันฉูดฉาดเกินไป เพราะอาจมีส่วนผสมที่ทำให้แมวเสี่ยงเป็นโรคไตได้        - ไม่ควรเทอาหารแมวค้างคืนหรือเททิ้งไว้นานจนเกินไป เพราะอาหารจะเสื่อมสภาพและเป็นแหล่งของเชื้อโรคแทนได้        - แม้แมวเป็นสัตว์กินเนื้อที่ไม่จำเป็นต้องได้รับไฟเบอร์สูงมากเท่าสัตว์กินพืช แต่ไฟเบอร์ก็มีประโยชน์สำหรับแมวที่มีปัญหาท้องผูก และแมวอ้วนลงพุงที่จำเป็นต้องลดน้ำหนัก

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)