แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค กรมธรรม์ ขายประกัน ประกัน คปภ
ทองคำแท้นั้นราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ หลายท่านก็มีสะสมไว้แต่ไม่กล้าเอามาใส่จริง หรือบางท่านก็อยากจะมีเครื่องประดับเป็นทองไว้ใส่โชว์บ้างแต่เงินไม่มากพอ ทางออกสมัยนี้ก็คือ การใส่เครื่องประดับทองชุบ หรือ ทองปลอม แต่ว่าเป็นงานดีมากจนใกล้เคียงกับงานทองจริงเป็นทางเลือก ขนาดมีร้านประกาศชัดเจนว่า ขายทองปลอม ไม่ลอก ไม่ดำ แต่จำนำไม่ได้ ที่เป็นข่าวดังในช่วงเดือนที่ผ่านมา หรือการไลฟ์สดขายทองไมครอน ทางเพจที่เรียกตัวเองว่า ร้านทอง ก็มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งเชิญชวนให้ผู้สนใจงานทองแต่เงินไม่หนาได้แย่งกันเอฟอย่างคึกคัก แต่หลายครั้งหลังจากเผลอพลาดสั่งซื้อไปแล้วสินค้าไม่ได้เป็นอย่างโฆษณาจะทำอย่างไรดีนะ คุณลูกนกติดตามเพจร้านทองแห่งหนึ่ง และได้เข้าไปดูไลฟ์สดบ่อยๆ จนล่าสุดอดใจไม่ไหวทำให้ซื้อทองที่ทางเพจระบุว่า เป็นทองเกรดไมครอน ในราคา 800 บาท ซึ่งทางร้านบอกว่า ไม่ลอก ไม่ดำ แน่นอน “ร้านเขาพูดแบบนี้นะพี่ เขาบอกว่า แหวนทองเพชรจีนวงนี้นะ ราคาเดิมคือ 1,500 บาท แต่ตอนนี้กำลังทำโปรโมชันพิเศษสุด คือขายเพียงแค่ 800 บาทเท่านั้น เป็นงานไมครอนใส่แล้วไม่ลอกไม่ดำ หนูก็สั่งซื้อเลยพี่งานมันดูดีมาก แต่พอได้มาจริงใส่แป๊บเดียวดำปี๊แล้ว” คุณลูกนกบอกข้อมูลเพิ่มว่า ถูกหลอกกันเยอะเลย ผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา ทองเกรดไมครอน หรือ ทองไมครอน คือ ทองที่ข้างในเป็นโลหะแล้วถูกชุบหรือเคลือบผิวด้วยทองคำแท้ กระบวนการชุบเป็นแบบพิเศษ เป็นการชุบด้วยการใช้ไฟฟ้าซึ่งช่วยให้สารละลายทองคำ มีความติดทนนาน และไม่หลุดล่อนออกจากวัสดุที่นำมาชุบอย่างรวดเร็ว เป็นการทำขึ้นมาเพื่อเลียนแบบให้เสมือนทองคำจริงๆ ส่วนใหญ่จะเลียนแบบพวกทองรูปพรรณ พวกสร้อยคอ แหวนสร้อยข้อมือ กำไล ฯลฯ ด้วยขนาดและลวดลายเช่นเดียวกับทองแท้ในร้านค้าทองคำ คำว่า “ไมครอน” คือหน่วยวัดปริมาณความหนาของผิวทองที่เคลือบ ยิ่งปริมาณทองที่เคลือบหนาราคาก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย แต่อย่างไรก็คงทราบกันดีว่า “ของปลอม” ใส่ได้สักพักผิวที่เคลือบไว้จะหลุดลอกไป ไม่เป็นอย่างคำโฆษณาที่ระบุว่า ไม่ลอก ไม่ดำ (ระยะเวลาขึ้นอยู่กับความหนาที่เคลือบ) อย่างไรก็ตามในกรณีของคุณลูกนก เธอรับได้ว่าเป็นทองปลอม แต่ติดที่คำโฆษณาว่า ไม่ลอกไม่ดำนี่แหละ ที่ทำให้รู้สึกว่าเสียท่า ทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิจึงได้แนะนำในเบื้องต้นไปว่า ให้เธอไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าทางเพจได้ขายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพตามคำโฆษณาและประสงค์ให้ทางร้านคืนเงินให้ เมื่อได้ใบแจ้งความแล้วให้ส่งเข้าทางเพจของร้านและลองยื่นเงื่อนไขขอคืนเงินหรือให้ทางร้านรับซื้อทองนี้คืนในราคาที่ขายออกมา ซึ่งทาง มพบ.จะช่วยดำเนินงานประสานให้อีกทางหนึ่ง
ใครไม่เคยชอปปิ้งออนไลน์นี่ต้องเรียกว่า ใจแข็งมาก เพราะทุกวันนี้การขายสินค้าทางออนไลน์ได้เข้ามาเป็นเรื่องธรรมดาๆ ของชีวิตไปแล้ว สังเกตได้จากการเติบโตของธุรกิจการรับขนส่งสินค้า ซึ่งปัจจุบันมีหลายเจ้ามากที่เข้ามาดำเนินธุรกิจ ถ้าใครอยู่บ้านหรือทำงานที่บ้าน ก็คงสังเกตได้ถึงรถมอเตอร์ไซต์ที่วิ่งเข้าออกซอยนั้นซอยนี้ เพื่อส่งสินค้าให้กับผู้บริโภค แน่นอนว่ามันก็เป็นโอกาสด้วยเช่นกันที่มิจฉาชีพจะใช้ช่องทางนี้ทำมาหากินเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งที่กำลังเป็นข่าวคราวอยู่ในเวลานี้คือ การส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง หรือ ที่เรียกว่า COD (Cash on Delivery) คุณปลาย ซึ่งเป็นข้าราชการเกษียณอายุแต่ยังคงมีบทบาทหน้าที่ในด้านการให้คำปรึกษากับหน่วยงานบางแห่งอยู่ รวมถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เล่าเรื่องที่ตนเองก็พลาดเหมือนกันกับเจ้า COD นี้ ดังนั้นจึงอยากให้ทาง มพบ.นำมาเตือนผู้บริโภค วันหนึ่งมีพนักงานบริษัทขนส่งแห่งหนึ่งนำพัสดุแบบ COD มาส่ง ซึ่งคุณปลายก็รับไว้เพราะราคาที่แจ้งเก็บเงินนั้นตรงกันพอดีกับสินค้าที่สั่งซื้อไป ยอมรับเลยว่า “ตนเองไม่ได้พิจารณาให้ดีก่อน พอได้สินค้ามาก็สเปรย์แอลกอฮอล์ที่กล่องสินค้าไว้ก่อนวางทิ้งหนึ่งคืน” ต่อเมื่อแกะสินค้าดูจึงพบว่า ไม่ใช่สินค้าที่สั่ง คุณปลายจึงลองติดต่อกับบริษัทขนส่งเพราะต้องการทราบรายละเอียดว่า ผู้ที่นำสินค้ามาส่งและเก็บเงินตนเองไปนั้นเป็นใคร ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ข้อมูลอะไร ทำให้สงสัยว่าทำไม มิจฉาชีพรายนี้จึงมาส่งถูกและเก็บเงินได้ตรงกับสินค้าที่ตนเองสั่งพอดีขนาดนั้น จึงโทรไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะเกรงว่า ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรของคุณปลายอาจหลุดไปอยู่ในมือมิจฉาชีพ ซึ่งอาจนำไปสู่การส่งสินค้าผิดกฎหมายก็เป็นได้ ซึ่งคุณเจ้าหน้าที่บอกว่า ถ้าแค่ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรไม่น่าจะเป็นอะไร และต่อไปหากมีพัสดุน่าสงสัยมาส่ง หรือเกิดกรณีแบบนี้อีกก็ให้โทรแจ้งทาง สน. ซึ่งจะส่งสายตรวจมาช่วยดูแลให้ นี่ก็ขอบใจทั้งบริษัทขนส่งและทาง สน.ไปแล้ว ส่วนเรื่องเงิน ไม่ได้คิดอะไรมากเพราะราคาไม่สูง แต่ก็อยากฝากเตือนทุกคนไว้ แนวทางการแก้ไขปัญหา ขออนุญาตนำข้อมูลของ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร) มาแจ้งเตือนผู้บริโภค ดังนี้ วิธีป้องกันไม่ให้สูญเงินกับพัสดุเก็บเงินปลายทางที่คุณไม่ได้สั่ง ทำไมมิจฉาชีพ ถึงรู้ ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของเรา ในการส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง 1. ทำเว็บไซต์หลอกขึ้น เช่น เปิดรับสมัครงาน รายได้ดี ใครสนใจกรอกข้อมูลตามลิงก์นี้ โดยให้ใส่ชื่อ-นามสกุล, เลขบัตรประชาชน,ที่อยู่, อายุ, วันเดือนปีเกิด, เบอร์โทร และเลขที่บัญชีธนาคาร เป็นต้น ซึ่งสังเกตได้จากการให้กรอกเลขที่บัญชีธนาคาร ทั้งที่ยังไม่ได้รับเข้าทำงาน ยังไม่ได้จ่ายเงินเดือน 2. เปิดเฟซบุ๊กโพสต์สินค้าประเภทพรีออเดอร์ ของพรีเมียม สินค้าราคาพิเศษ แล้วให้กรอกชื่อ-นามสกุล, ที่อยู่ และ เบอร์โทร. เพื่อใช้สิทธิ์จองสินค้า ซึ่งสังเกตได้จากการออกอุบายจ่ายเงินเมื่อของมาถึง ทำให้เราตายใจว่ายังไม่ต้องเสียเงิน แต่เสียข้อมูลส่วนตัวไปให้แล้ว 3. เป็นไปได้ที่ข้อมูลส่วนตัวของเรา เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ จะรั่วไหลจากบริษัทที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่เกี่ยวกับการค้าขาย หรือบริษัทด้านการขนส่ง ที่อาจจะมีพนักงานของบริษัทเหล่านี้ ลักลอบนำข้อมูลลูกค้าออกไป.วิธีป้องกัน 1. ก่อนจ่ายเงินค่าพัสดุเก็บเงินปลายทาง กรณีรับพัสดุแทน ญาติ เพื่อน หรือ คนรู้จัก ให้โทรสอบถามเจ้าตัวว่า ได้โทรสั่งสินค้าเรียกเก็บเงินปลายทาง จริงหรือไม่ ต้องจ่ายเงินเท่าไร 2. ดูบนกล่องพัสดุ จะมีข้อมูลที่อยู่ เบอร์โทรผู้ส่ง ให้โทรกลับไปตรวจสอบว่า ส่งอะไรมาให้ มีค่าใช้จ่ายเท่าไร ส่วนใหญ่เมื่อโทรกลับจะติดต่อไม่ได้ เพราะเป็นเบอร์โทรปลอม.ที่มา : ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร) บริการเก็บเงินปลายทาง หรือ Cash on Delivery (COD) คือตัวเลือกการชำระเงินรูปแบบหนึ่ง ที่ลูกค้าจะชำระเงินก็ต่อเมื่อพัสดุที่สั่งไปจัดส่งถึงมือลูกค้าแล้วเท่านั้น และพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ก็จะได้รับเงินค่าสินค้าหลังจากลูกค้าชำระเงินกับบริษัทขนส่งเรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทขนส่งแต่ละเจ้าจะคิดค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการเพิ่มเติม
ในยุคที่ข้าวของแพง ค่าแรงถูก คนที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง และยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ หากบังเอิญมีแอปฯ เงินกู้นอกระบบเด้งขึ้นมาบนมือถือของพวกเขา พร้อมเสนอเงื่อนไขที่เชิญชวนให้เชื่อจนยากปฏิเสธ หลายคนกว่าจะรู้ตัวว่าโดนหลอกให้เป็นหนี้เพิ่มก็สายไปซะแล้ว เหมือนอย่างที่คุณอรสากำลังกังวลอยู่ตอนนี้ เธอเล่าว่าได้ทำสัญญากู้เงินจากแอปฯ เงินกู้นอกระบบแห่งหนึ่ง จำนวน 3,000 บาท ซึ่งทางแอปฯ หักค่าบริการไป 1,170 บาท เธอได้รับเงินมาจริง 1,830 บาท โดยก่อนหน้าที่จะตัดสินใจกู้นั้น เธอก็พยายามจะสอบถามรายละเอียดในเงื่อนไขนี้กับทางแอปฯ แต่ติดต่อไม่ได้เลย จึงกดตกลงไปก่อน เพราะวันนั้นจำเป็นต้องใช้เงินจริง ๆ วันนี้สิ่งที่เป็นปัญหาคือ จากตอนแรกทางแอปฯ แจ้งเงื่อนไขว่าให้ผ่อนใช้ได้ภายใน 91 วัน ซึ่งเธอคิดว่าคงพอมีเวลาที่จะหาเงินมาคืนได้ทัน แต่พอหลังจากทำสัญญากู้เงินแล้ว ทางแอปฯ ดันกลับคำ มาบังคับให้เธอคืนเงินเต็มจำนวนทั้งหมด 3,000 บาท ภายใน 7 วัน คุณอรสาสงสัยว่าตัวเองจะโดนแอปฯ เงินกู้หลอกเข้าแล้ว จึงเขียนมาขอคำปรึกษาในเฟซบุ๊กของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา ในกรณีนี้ คุณอรสากู้เงินจากแอปเงินกู้ที่เปิดแบบผิดกฎหมาย แต่ก็ได้เงินมาจริงแม้จะมีเงื่อนไขโหด มพบ. จึงแนะนำให้เก็บหลักฐานต่างๆ และรีบไปแจ้งความกับตำรวจ ทั้งเรื่องที่โดนแอปเงินกู้ลวงให้กู้เงินและเรื่องการทวงหนี้โดยผิดกฎหมายตาม พรบ.ทวงหนี้ เมื่อแจ้งความหรือลงบันทึกประจําวันแล้วให้ถ่ายภาพเอกสารส่งกลับไปให้แอปฯ เงินกู้ดู อย่างไรก็ตามผู้บริโภคต้องจำไว้ว่า ถึงอย่างไรเราก็ได้เงินกู้มาจำนวนหนึ่ง (1,830 บาท) ขอให้เตรียมเงินไว้เพื่อคืนกับผู้ให้กู้ โดยเรียกหรือนัดหมายมาคืนเงินกันต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ควรจ่ายคืนไปทันที เพราะจะมีเรื่องผูกพันกันไปอีกมาก (ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม) และทั้งนี้ทราบด้วยเช่นกันว่า คุณอรสาได้ถ่ายภาพหน้า/หลังบัตรประชาชนซึ่งเป็นข้อมูลสําคัญให้แอปฯ เงินกู้ไปด้วย จึงแนะว่าให้รีบไปทําบัตรประชาชนใหม่ และให้คลายกังวลได้ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าแก๊งเงินกู้ออนไลน์ทำร้ายผู้กู้ อย่างไรก็ตามหากพบปัญหาต่อเนื่องทาง มพบ.ยินดีให้ความช่วยเหลือต่อไป...... ก่อนตัดสินใจใช้บริการแอปเงินกู้ ท่านสามารถตรวจสอบรายชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการ “แอปเงินกู้” โดยนำข้อมูลชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการไปเทียบกับรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต โดยสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ "เช็กแอปเงินกู้" ที่รวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแล และยังมีลิงก์ไปยังเว็บไซต์กระทรวงการคลัง ซึ่งรวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ไว้ในที่เดียว
“เราจะไม่ซื้ออาหารตามร้านค้าทั่วๆ ไปที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยค่ะ และเราก็เชื่อมั่นเสมอว่าจะได้สินค้าที่ดีจากห้างนี้ค่ะ” คุณแพรวคิดแบบนี้มาตลอดตั้งแต่ก่อนที่จะมาเป็นสมาชิกของห้างค้าปลีกแห่งนี้ซะอีก จนกระทั่งความไว้เนื้อเชื่อใจนี้เองที่ทำให้เธอต้องซื้อ”ไข่เน่ายกแผง” กลับมาบ้าน คุณแพรวเล่าให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่า ครอบครัวเธอเป็นลูกค้าประจําที่ห้างค้าปลีกใหญ่ในกรุงเทพฯ นี้ โดยทุกอาทิตย์จะต้องไปจับจ่ายซื้อของสดของแห้งเข้าบ้าน วันเกิดเหตุนั้นเธอหยิบไข่ 1 แผง มี 30 ฟอง ใส่รถเข็นรวมไปกับของอื่นๆ โดยไม่ได้พิเคราะห์อะไรมากเพราะเชื่อใจในมาตรฐานด้านความสด ใหม่ สะอาด ในสินค้าห้างนี้อยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้ตรวจเช็กอะไรมากนัก แต่เมื่อกลับถึงบ้านพอเปิดฝาครอบแผงไข่ออกมาก็ได้กลิ่นเหม็นมาก แล้วก็ต้องผงะตกใจกับกองทัพหนอนไต่ยั้วเยี้ยอยู่ในไข่เน่าแผงนั้น เธอจึงรีบนำไปทิ้ง จนลืมดูวันหมดอายุที่ติดอยู่บนฝาครอบนั้นไปด้วย ถึงจะเสียความมั่นใจไปบ้าง แต่คุณแพรวคิดว่าต้องมีความรับผิดชอบจากผู้ขายนะ เธอจึงรีบโทรศัพท์ไปตามเบอร์ของสาขาที่ให้ไว้บนใบเสร็จทันที แต่...ไม่มีใครรับสาย ก็เลยไปค้นหาเฟซบุ๊กของห้างใหญ่สาขาที่ประสบปัญหานี้ เจอแล้ว ทักแล้ว แต่...ไม่มีแอดมินเพจทํางาน ในที่สุดเธอก็ขวนขวายจนหาเบอร์ติดต่อเพื่อร้องเรียนได้ที่ 1756 ซึ่งพนักงานคอลเซนเตอร์ได้รับเรื่องไว้และแจ้งคุณแพรวว่า “จะประสานไปที่สาขาให้นะคะ คุณลูกค้ารอเลยค่ะจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับแน่นอน” ทว่าสิ่งที่ได้ในวันนั้นคือความเงียบจากห้าง เหลือเพียงความเดือดเนื้อร้อนใจของคุณแพรวเท่านั้น อย่างไรก็ตามในวันรุ่งขึ้น พนักงานประจําสาขาห้างค้าปลีกนี้ติดต่อมาบอกว่า ไข่แผงนั้นน่าจะหลุด QC ให้เธอนําไข่มาเปลี่ยนคืนหรือจะรับเงินคืนก็ได้ แต่คุณแพรวแจ้งไปว่าไม่สะดวก เพราะเธอเพิ่งกลับจากขับรถออกไปซื้อไข่จากห้างอื่นมาเอง พนักงานเลยบอกว่าถ้างั้นวันไหนเธอจะเข้ามาให้โทร.แจ้งก่อนแล้วจะชดเชยให้เธอด้วยไข่แผงใหม่กลับไป คุณแพรวจึงเขียนเล่าเรื่องนี้มาในเฟซบุ๊กของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา ในกรณีนี้คือสินค้าที่ซื้อมาอาจหมดอายุหรือมีสิ่งแปลกปลอม สิ่งแรกที่ต้องทำคือถ่ายรูปตัวสินค้าและฉลาก(เน้นวันผลิต-วันหมดอายุ) เก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้าและใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ถ่ายสําเนาเก็บไว้ด้วย) จากนั้นติดต่อร้านที่ซื้อมาและแจ้งว่าเราต้องการให้เขาดําเนินการอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาพร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน ขอให้จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ แนะนำให้ทําเป็นหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและควรขอให้แสดงคำขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น แต่หากตกลงกันไม่ได้ ให้ทําหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ เล่าสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึง “เจ้าของร้านค้า” หรือกรณีนี้คือผู้บริหารห้างค้าปลีกดังกล่าว ซึ่งขณะนี้คุณแพรวกำลังพิจารณาว่าตนเองต้องการให้ทางห้างชดเชยอย่างไรเพื่อส่งเป็นข้อเสนอกลับไป จากกรณีนี้ขอแนะนำว่า แม้มั่นใจกันมากแค่ไหน แต่ทุกครั้งที่ซื้อสินค้า ผู้บริโภคก็ควรพิจารณาสินค้าให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะสิ่งที่สามารถมองเห็นหรือจับสังเกตได้ง่าย ถ้าพบเจอขณะซื้อสินค้าควรรีบแจ้งให้ทางร้านค้าดำเนินการจัดเก็บออกไปจากชั้นวาง แต่หากเผลอซื้อมาแล้ว ผู้บริโภคต้องเก็บใบเสร็จรับเงินไว้ เผื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันการซื้อและระบุตัวตนได้ว่าเป็นผู้เสียหาย ซึ่งทางร้านค้าก็ยากจะปฏิเสธความรับผิดชอบ
ความคิดเห็น (0)