ฉบับที่ 253 จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี : ไทยกับพม่ารักกันตรงไหน ให้เอาปากกามาวง



หากจะถามว่า แม่น้ำที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของไทยหรือสยามประเทศคือแม่น้ำอะไร ทุกคนก็คงตอบได้ทันทีว่า แม่น้ำเจ้าพระยา และหากจะถามบนข้อสงสัยเดียวกันว่า แล้วแม่น้ำสายหลักของพม่าหรือสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาคือแม่น้ำสายใด เราก็คงตอบได้เช่นกันว่า แม่น้ำอิรวดี
ฃโดยหลักทางภูมิศาสตร์แล้ว แม่น้ำสองสายดังกล่าวไม่ได้มีเส้นทางที่จะไหลมาเชื่อมบรรจบกันได้เลย แต่หากพินิจพิจารณาในเชิงสังคมการเมืองแล้ว เส้นกั้นพรมแดนเกินกว่าสองพันกิโลเมตรระหว่างรัฐชาติ กลับมีสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมบางเส้นที่ผูกโยงข้ามตะเข็บชายแดนกันมาอย่างยาวนาน
ด้วยเหตุฉะนั้น พลันทีช่องทีวีสาธารณะอย่างไทยพีบีเอสออกอากาศละครโทรทัศน์ที่ตั้งชื่อเรื่องแบบดูดีมีรสนิยมว่า จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี ผู้เขียนก็เริ่มสงสัยใคร่รู้ว่า สายสัมพันธ์ทางความคิดและความหมายที่ข้ามแว่นแคว้นแดนดินระหว่างไทยกับพม่าจะถูกตีความออกมาเยี่ยงไร         
        โดยโครงที่วางไว้เป็นละครแนวโรแมนติกดรามาแบบข้ามภพชาตินี้ ผูกโยงเรื่องราวชีวิตของนางเอกสาว นุชนาฏ ผู้มีภูมิลำเนาอยู่พระนครศรีอยุธยา ได้เริ่มต้นงานใหม่เป็นผู้ช่วยเชฟประจำโรงแรมใจกลางกรุงย่างกุ้ง เป็นเหตุให้เธอได้มาพบเจอกับพระเอกหนุ่ม ปกรณ์ หัวหน้าเอ็กเซ็กคูทีฟเชฟคนไทย ที่ทั้งแสนจะเจ้าระเบียบและโผงผางตรงไปตรงมา แต่ภายใต้ท่าทีขึงขังจริงจังนั้น เขาก็เป็นคนที่มุ่งมั่นในวิชาชีพการทำอาหารยิ่งนัก 
        และเหมือนกับชื่อเรื่อง จากเจ้าพระยาสู่อิรวดีเมื่อตัวละครนุชนาฏผู้ที่หลุดไปจากบริบทของสังคมไทยที่หลอมตัวตนมาตั้งแต่เกิด และได้ไปพำนักอยู่ในนครย่างกุ้ง เธอก็ได้เริ่มเห็นอีกด้านหนึ่งของพม่าที่แตกต่างไปจากภาพจำของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถูกกล่อมเกลาและติดตั้งจนเป็นสำนึกในโลกทัศน์ของคนไทย 
        แม้จะยังคงแบกเอาอคติต่อพม่าในฐานะภาพเหมารวมอันฝังตรึงในห้วงคำนึงแบบไทยๆ มาไว้ในความคิดของเธอตั้งแต่แรกก็ตาม แต่การที่นุชนาฏได้มาสัมผัสประสบการณ์ใหม่และเป็นประสบการณ์จริงจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น ประสบการณ์ตามภาพจำที่เผชิญหน้ากับประสบการณ์ตรงจากของจริงจึงก่อเกิดเป็นคำถามมากมายในใจที่เธอเริ่มมองพม่าผิดแผกไปจากเดิม         
        เริ่มต้นตั้งแต่ที่ปกรณ์ต้องประกอบอาหารเพื่อต้อนรับ อูเทวฉ่วย มหาเศรษฐีใหญ่ของพม่า ที่วางแผนจะเข้ามาเทคโอเวอร์กิจการโรงแรมที่เขาทำงานอยู่ และเมนูอาหารพื้นเมืองที่ต้องจัดเตรียมในครานี้ก็คือ โมฮิงกา ทั้งปกรณ์และนุชนาฏจึงต้องร่วมกันสืบเสาะค้นหาว่า ตำรับอาหารที่ชื่อโมฮิงกานั้นคืออันใด มีรสชาติเช่นไร และจะปรุงแต่งอย่างไรจึงจะสร้างความประทับใจให้กับนายทุนใหญ่ผู้นี้ได้ 
        เพราะที่ผ่านมาคนไทยมีภาพจำที่หยั่งรากฝังลึกว่า พม่าเป็นศัตรูอันยิ่งใหญ่ของรัฐชาติสยามประเทศ ภาพที่ฝังลึกดังกล่าวนี้จึงเป็นยิ่งกว่ากำแพงที่สกัดไม่ให้เราปรารถนาจะก้าวข้ามเพื่อไปทำความรู้จักหรือเรียนรู้ความเป็นไปของผู้คนที่อาศัยอยู่ฝั่งตรงข้ามพรมแดนสมมติทางภูมิศาสตร์ 
        ดังนั้นภาพที่ตัวละครเอกทั้งคู่ต้องดั้นด้นสืบค้นหาสูตรการปรุงโมฮิงกา ก็มีนัยที่เสียดสีในทีว่า เผลอๆ จะเป็นคนไทยนี่เองที่ไม่อยากข้องแวะ หรือแทบจะไม่รู้จักเสียเลยว่า วัฒนธรรมการกินการอยู่ของผู้คนที่แค่ข้ามฝั่งเส้นแบ่งภูมิศาสตร์ไปนั้น เขา เป็นอยู่คือ หรือใช้ชีวิตวัฒนธรรมกันอย่างไร 
        แล้วความซับซ้อนของโครงเรื่องก็เพิ่มระดับขึ้นไปอีก เมื่อนุชนาฏได้มาเดินเล่นที่ถนนพันโซดันในนครย่างกุ้งกับเพื่อนใหม่ชาวพม่าอย่าง ซินซิน และเธอได้มาสะดุดตากับหนังสือเก่าที่ตีพิมพ์วรรณกรรมเรื่อง อิเหนา ฉบับพม่า ความลึกลับของหนังสือโบราณนี้เองทำให้นุชนาฏได้หลุดเข้าไปอยู่ในโลกที่แปลกตาเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน 
        เพราะไม่ใช่แค่การได้แยกตัวเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ใหม่ที่ไม่คุ้นเคยเท่านั้น แต่การหลุดย้อนเข้าไปสู่ห้วงเวลาแห่งอดีตก็ทำให้นุชนาฏค้นพบว่า เมื่อชาติภพปางก่อนเธอคือ ปิ่น หญิงสาวชาวกรุงศรีอยุธยาหรือ โยเดียซึ่งถูกกวาดต้อนมาอยู่ที่อังวะ เมื่อสยามประเทศต้องเสียกรุงครั้งที่สองให้กับพม่า ปิ่นได้มาเป็นข้าหลวงประจำตำหนักของ เจ้าฟ้ากุณฑลและ เจ้าฟ้ามงกุฏ พระราชธิดาใน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่พลัดถิ่นมาในเวลาเดียวกัน  
        การได้มาสวมบทบาทใหม่เป็นนางปิ่นผู้ข้ามภพชาติ ทำให้นุชนาฏได้ตระหนักในข้อเท็จจริงที่ว่า ความขัดแย้งในสนามทางการเมืองระหว่างไทยกับพม่าเมื่อครั้งอดีต (หรือแม้แต่สืบต่อมาจวบจนปัจจุบัน) ดูจะเป็นการต่อสู้ต่อรองผลประโยชน์เฉพาะในกลุ่มชนชั้นนำผู้ยึดครองอำนาจรัฐเอาไว้ หากทว่าในระดับของสามัญชนคนธรรมดาทั่วไปแล้ว ชีวิตทางสังคมวัฒนธรรมดูจะเป็นอีกด้านที่ผิดแผกแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง 
        ยิ่งเมื่อนุชนาฏในร่างของปิ่นได้มาเจอกับ สะสะหรือที่ใครๆ ต่างเรียกกันว่า หม่องสะศิลปินลูกครึ่งมอญ-พม่า ผู้ทำหน้าที่สร้างสรรค์ละครหลวงในราชสำนักอังวะ และปลุกปั้นให้ปิ่นได้เป็นนางรำในโรงละครหลวง อันนำไปสู่การประสานนาฏยศิลป์ของสองวัฒนธรรมผ่านท่าร่ายรำที่ทั้งคู่ออกแสดงร่วมกันหน้าพระที่นั่ง ไปจนถึงการเพียรพยายามแปลบทนิพนธ์อิเหนามาเป็นภาษาพม่า ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มคนตัวเล็กๆ ที่อยู่ในวังวนแห่งการช่วงชิงผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง
ด้วยประสบการณ์ที่หลุดเข้าไปในอีกห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ นุชนาฏจึงได้ทบทวนหวนคิดว่า แท้จริงแล้ว อคติความชิงชังที่ฝังอยู่ในโลกทัศน์ของคนไทยต่อประเทศเพื่อนบ้าน อาจจะถูกสร้างขึ้นบนสมรภูมิแห่งอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง หาใช่เป็นความขัดแย้งในพื้นที่สังคมพลเมืองแต่อย่างใด 
        อันรักกันอยู่ไกลถึงสุดขอบฟ้า เหมือนชายคาเข้ามาเบียดดูเสียดสี อันชังกันนั้นใกล้สักองคุลี ก็เหมือนมีแนวป่ามาปิดบัง…” ดังนั้นเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน ชนชั้นนำทางการเมืองก็ยังคงใช้วาทกรรมความชิงชังแบบเดิมมาปิดกั้นไม่ให้คนไทยสนใจใคร่รู้จักความจริงด้านอื่นของเพื่อนบ้านในอุษาคเนย์ จนนำไปสู่ภาพเหมารวมว่า พม่าก็ไม่ใช่อื่นใดนอกจากเป็นปรปักษ์หรือศัตรูในจินตกรรมความเป็นชาติของไทยเท่านั้น 
        เหมือนกับฉากเริ่มต้นเรื่องที่นุชนาฏตั้งแง่รังเกียจคำพูดของซินซินที่เรียก อยุธยา บ้านเกิดของเธอว่า โยเดีย อันเนื่องมาแต่ภาพจำที่ถูกกล่อมเกลาสลักฝังไว้ในหัวว่า คำเรียกโยเดียหมายถึงการปรามาสดูถูกคนไทยว่าเป็นพวกขี้แพ้ หากแต่ซินซินกลับให้คำอธิบายไปอีกทางหนึ่งว่า คำเรียกเช่นนี้หาใช่จะมีนัยว่าไทยเป็นศัตรูคู่ตรงข้ามแต่อย่างใด เพราะในมุมมองของคนพม่าแล้ว ศัตรูในจินตนาการที่ตัวใหญ่กว่า น่าจะเป็นชาติตะวันตกที่เคยฝากบาดแผลความทรงจำไว้ตั้งแต่ยุคลัทธิล่าอาณานิคม 
        จาก เจ้าพระยา สู่ อิรวดีก่อนที่ฉากจบตัวละครจะออกจาก อิรวดี ย้อนกลับมาสู่ดินแดนราบลุ่มริมน้ำ เจ้าพระยา แต่สำหรับผู้ชมแล้ว จินตนาการแบบใหม่ที่ท้าทายภาพจำต่อประเทศเพื่อนบ้าน คงไม่มากก็น้อยที่น่าจะทำให้เราลองหันกลับมาอ่านบทนิพนธ์อิเหนาฉบับแปล ลองดูนาฏยกรรมพม่า หรือลองลิ้มรสเมนูโมฮิงกากันด้วยความรัก หาใช่ด้วยรสชาติความชิงชังเพียงเพราะไม่รู้จักหรือไม่อยากจะคุ้นเคย

แหล่งข้อมูล: สมสุข หินวิมาน

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค เจ้าพระยา ไทย พม่า

ฉบับที่ 266 ที่สุดของหัวใจ : จำก็ไม่ได้ ลืมก็ไม่ลง

         “บาดแผล” หมายถึงอะไร หากเป็นบาดแผลทางกายแล้ว ในทางการแพทย์มักหมายถึงการบาดเจ็บทุกชนิดที่ส่งผลต่อการแตกสลายของผิวหนังหรือเยื่อบุร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เลือดออก และนำไปสู่การติดเชื้อได้ แต่หากเป็นบาดแผลทางใจนั้นเล่า จักหมายความว่าอะไร?         ในทางจิตวิทยา บาดแผลทางใจถูกตีความว่าเป็นโรคทางจิตเวช อันเกิดขึ้นภายหลังจากได้รับความบอบช้ำทางจิตใจ อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงวัยเด็กหรือบางห้วงแห่งชีวิต แต่ทว่ากลับสลักแน่นและฝังรากลึกอยู่ในความทรงจำของคนเรา จนนำไปสู่อาการที่แม้ไม่อยากจะจดจำ แต่ก็ยากจะสลัดทิ้งไปจากห้วงคำนึง         อาการอิหลักอิเหลื่อของบาดแผลทางใจที่เรียกกันว่า “จำก็ไม่ได้ ลืมก็ไม่ลง” เฉกเช่นนี้ ก็คงพ้องกับอาการที่เกิดขึ้นกับ “เกื้อคุณ” และ “อัญมณี” ที่กว่าจะลงเอยกับความรัก ก็ต้องผ่านบททดสอบการเยียวยาบาดแผลแห่งจิตใจกันอย่างสะบักสะบอม ในละครโทรทัศน์แนวดรามาเข้มข้นอย่าง “ที่สุดของหัวใจ”         จุดเริ่มต้นของเรื่องเกิดขึ้นเมื่ออัญมณีผู้เป็นหลานสาวคนเดียวของตระกูล “จางวางประวาส” ตัดสินใจสอบชิงทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะต้องการเอาชนะ “คุณประวิทย์” ผู้เป็นปู่ ซึ่งมีอุปนิสัยชอบเอาตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล และเชื่ออยู่เสมอว่า ผู้หญิงไม่มีทางที่จะก้าวหน้าทัดเทียมบุรุษเพศได้         หลังจากทะเลาะกันจนบ้านแทบแตก เพราะปู่เห็นคุณค่าแต่กับ “ชนุตม์” หลานชายผู้เป็นพี่น้องต่างมารดากับเธอ อัญมณีก็เลือก “เก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า” ไปเสี่ยงชีวิตตายเอาดาบหน้าที่ต่างแดน เพื่อหลีกหนีจากสภาพชีวิตที่แม้จะเป็นหลานแท้ๆ แต่ก็ถูกเลือกปฏิบัติประหนึ่งคนใช้ในบ้านเท่านั้น         ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ภาพก็ตัดสลับมาที่พระเอกหนุ่มเกื้อคุณ หลานชายของ “กมลาสน์” เจ้าของอาณาจักรธุรกิจ “ซีอิสรา” แม้ชีวิตที่ลงตัวของเขาดูจะรุ่งโรจน์ก้าวหน้าทางหน้าที่การงานก็ตาม แต่ในวันที่เกื้อคุณวางแผนจะขอ “พิมรตา” หญิงสาวคนรักแต่งงาน เขากลับถูกสะบั้นรักทิ้งอย่างไร้เยื่อใย         เมื่ออดีตแฟนสาวหันไปเข้าสู่ประตูวิวาห์กับชนุตม์หลานชายเจ้าสัวแห่งตระกูลจางวางประวาส และในวันที่เกื้อคุณผิดหวังกับความรักจนนอนเมามายอยู่ข้างกองขยะท่ามกลางฝนตกพรำๆ เขาก็ได้เจอกับอัญมณีที่เดินมาหยิบยื่นกางร่มให้ พร้อมกับเขียนข้อความเป็นกำลังใจใส่กระดาษแผ่นเล็กๆ ว่า “อย่ารักใครจนลืมว่าตัวเองมีค่าแค่ไหน…ขอให้คุณมีชีวิตใหม่ที่ดีนะคะ”         แม้ร่มคันนั้นกับข้อความในกระดาษแผ่นเล็กๆ จะช่วยให้เกื้อคุณผ่านพ้นวันที่ทุกข์สาหัสถาโถมเข้ามาในชีวิต แต่กระนั้น เขาก็ยังเลือกที่จะไม่เปิดใจให้กับผู้หญิงคนไหนอีกเลย จะมีก็เพียงความทรงจำที่ลางเลือนถึงใบหน้าหญิงสาวผู้เป็นกำลังใจเล็กๆ ในวันที่พิมรตาฝากบาดแผลอันเจ็บปวดไว้ในหัวใจของเขาเท่านั้น         เจ็ดปีที่ผ่านไปในห้วงชีวิตของตัวละครเอก ช่างเหมือนกับเนื้อเพลงที่ว่า “กี่คำถามที่มันยังคาในใจ เธอรู้ไหมมันทรมานแค่ไหน” ซึ่งกลายเป็นความรู้สึกลึกๆ ที่คุกรุ่นอยู่ในซอกหลืบแห่งจิตใจของทั้งอัญมณีและเกื้อคุณ         หลังจากไปชุบตัวเรียนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ อัญมณีก็กลับมาปรากฏตัวเป็นคนใหม่ในชื่อของ “ดร.แอน จาง” และเข้าทำงานเป็นที่ปรึกษาบริษัทซีอิสราของคุณกมลาสน์ การโคจรมาพบกันอีกครากับ ดร.แอน ทำให้เกื้อคุณเกิดอาการหัวใจเต้นแรงขึ้นอีกครั้ง แม้ว่าในอีกด้านหนึ่ง เขาก็ยังไม่สามารถเยียวยาบาดแผลที่พิมรตาฝังฝากลงไปในจิตใจได้ทั้งหมด         แต่ทว่า ในวันที่ความสัมพันธ์กับรักครั้งใหม่ของเกื้อคุณกำลังผลิบานอยู่นั้น พิมรตากลับปรากฏตัวมา และได้สะกิดบาดแผลที่เริ่มจะตกสะเก็ดจนก่อกลายเป็นบาดแผลใหม่ขึ้นอีกครั้ง         หลังจากที่เลิกรากับเกื้อคุณไป พิมรตาก็ค้นพบว่า ตนเองนั้น “เลือกผิด” แม้ฉากหน้าอันหวานชื่นของพิมรตากับชนุตม์ผู้เป็นสามีดูจะเป็นที่น่าอิจฉาของแวดวงสังคม แต่หลังฉากนั้น ความรักที่เธอมีให้กับเขาก็ไม่มากพอ ส่วนชนุตม์เองก็แอบไปมีเล็กมีน้อย เพื่อเติมเต็มความสุขทางเพศรสที่ห่างหายไปจากคนทั้งสองมานานแล้ว จนชีวิตสมรสของทั้งคู่เป็นประหนึ่งนาวากลางสมุทรที่ใกล้อัปปางกลางคลื่นลมระลอกแล้วระลอกเล่า         คนรักเก่าที่รีเทิร์นกลับมา คนรักใหม่ที่สานต่อความสัมพันธ์ซึ่งกำลังไปได้ดี ชีวิตบนทางสองแพร่งที่ดูย้อนแย้งทำให้เกื้อคุณอยู่ในวงจรที่ “กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไม่รู้จะถึงที่หมายกันได้หรือไม่” ส่งผลให้พระเอกหนุ่มต้องตั้งคำถามอยู่เป็นระยะๆ ว่า ชีวิตของตนที่เหลือนับจากนี้จะเดินต่อไปข้างหน้ากันเยี่ยงไร         ไม่ต่างจากนางเอกอัญมณี ที่สู้อุตส่าห์ปรับลุคเปลี่ยนอัตลักษณ์ใหม่เป็น ดร.แอน ผู้ที่กำลังมีชีวิตรักที่ลงตัวและชีวิตการงานที่ก้าวหน้า หากทว่าความเจ็บปวดที่ฝังใจว่าอยากจะเอาชนะคุณประวิทย์ผู้ไม่เคยให้ค่าความสามารถในตัวหลานสาว ก็เหมือนชนักปักกลางความรู้สึก และทำให้ความสัมพันธ์ของเธอกับเกื้อคุณเกิดปัญหา เมื่อฝ่ายชายแอบคิดไปว่า อัญมณีเพียงจะใช้ตนเป็นเพียง “หมากตัวหนึ่ง” เพื่อทวงคืนกับคุณปู่เท่านั้น         บนเส้นทางที่อัญมณีต้องการเลือกเดินไปข้างหน้า แต่บาดแผลที่มิอาจสลัดทิ้งได้ ก็ทำให้เธอต้องเปิดแนวรบหลายด้าน ทั้งการต่อสู้กับธรรมเนียมปฏิบัติที่นายทุนใหญ่อย่างคุณประวิทย์ไม่สนใจลงทุนกับลูกหลานในฝ่ายหญิง และกับอดีตแฟนสาวที่กลับมาหลอกหลอนเกื้อคุณชายผู้เป็นที่รักของเธอในปัจจุบัน        ฉากการเผชิญหน้าระหว่างอัญมณีที่ประกาศกับพิมรตาว่า “แฟนเก่าควรอยู่ในที่ของแฟนเก่า อย่างน้อยก็ควรสะกดคำว่าอดีตให้เป็น” แม้ด้านหนึ่งจะตอกหน้าคู่ปรับว่าหมดสิทธิ์เป็นเจ้าของหัวใจของพระเอกหนุ่มไปนานแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่งก็คือการบอกตัวเธอเองด้วยว่า ถ้าชีวิตรักของเธอกับเกื้อคุณจะมูฟออนไปข้างหน้าได้ ก็ควรต้องเลือกลบลืมอดีตบางอย่างที่สร้างความเจ็บปวดไปเสียบ้างนั่นเอง         และนอกจากเกื้อคุณกับอัญมณีแล้ว ตัวละครที่เหลือในเรื่องก็มีความทรงจำบาดแผลที่เป็นเงาหลอกหลอนไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นคุณประวิทย์ผู้มิอาจลดทิฐิจากประเพณีนิยมในการกดทับผู้หญิงผ่านสถาบันครอบครัว หรือพิมรตาที่ในส่วนลึกก็อยากจะเริ่มต้นใหม่กับสามีอีกครั้งแต่ก็ไม่อาจลืมรักครั้งเก่าได้ลง หรือชนุตม์ที่ฝังใจแล้วไปว่าภรรยาไม่เคยรักเขาจริง จนออกไปหาเศษหาเลยกับผู้หญิงไม่ซ้ำหน้า         จนถึงบทสรุปของเรื่อง ที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรมการเสียชีวิตของชนุตม์และพิมรตา หรือการแทบจะล่มสลายของครอบครัวจางวางประวาส หรือความรักอันบอบช้ำครั้งแล้วครั้งเล่าของเกื้อคุณและอัญมณี ก็ทำให้ตัวละครทั้งหลายได้เวลาต้องย้อนหันมาทบทวนบาดแผลและความทรงจำกันจริงจังในฉากจบของเรื่อง         ถ้าดูละครแล้วทำให้เราย้อนเห็นสังคมโดยภาพรวมได้แล้ว กับความขัดแย้งทางสังคมการเมืองที่ฉายเป็นภาพใหญ่ให้ได้สัมผัสอยู่ในทุกวันนี้ บางทีหากเราลองเปิดใจหันกลับไปทบทวนประวัติศาสตร์ความเจ็บปวดเพื่อหาทางออกกันดูบ้าง เราก็อาจจะพบเส้นทางหลุดพ้นไปจากภาวะที่ต้องเผชิญหน้ากับบาดแผลซึ่ง “จำก็ไม่ได้ ลืมก็ไม่ลง” ในเส้นทางอันวิวัฒน์ไปของสังคมไทยได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 265 มัดหัวใจยัยซุปตาร์ : รู้ไหมใครโสด มีเจ้าของ และไม่มองหญิง

        ตัวตนหรืออัตลักษณ์ของคนเรานั้น เผลอๆ ก็อาจไม่ใช่ตัวเราที่มีอำนาจเข้าไปกำหนด และในขณะเดียวกัน หากเราไม่ได้เป็นคนเดียวที่มีอำนาจกำหนด ตัวตนของเราก็มักมีบางส่วนที่สังคมเข้าไปควบคุมหรือกำกับการรับรู้ให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้         เพื่อสาธิตให้เห็นว่า ตัวตนของคนเราจริงๆ จักเป็นเช่นไร หรือถูกสายตาของสังคมรับรู้และตีความความเข้าใจให้กับผู้คนทั้งหลายได้อย่างไรนั้น อาจดูตัวอย่างได้จากตัวละครนางเอก “วาสิตา” หรือที่คนใกล้ชิดมักเรียกเธอว่า “คุณวา” กับบรรดาหนุ่มๆ หลายคนที่แวดล้อมชีวิตของซุปตาร์สาวนางนี้ ในละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้เจือดรามาอย่าง “มัดหัวใจยัยซุปตาร์”         เพราะเป็นนักแสดงและนางแบบตัวแม่ของวงการบันเทิง ดังนั้น ไม่ว่าจะขยับร่างไปทางไหน สายตาของปาปารัซซีและสาธารณชนก็มักจับจ้องมองอยู่มิได้ห่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชีวิตรักซึ่งเป็น “ส่วนตัว” ที่สุดในความเป็นบุคคล “สาธารณะ” ที่คุณวาก็ต้องยอมแลกให้สปอตไลต์มาฉายส่องอยู่ตลอดเวลา         ด้วยเหตุฉะนี้ ฉากเปิดเรื่องจึงฉายภาพคุณวาผู้ถูกจับตาเรื่องความรักกับ “รชานนท์” หนุ่มหล่อไฮโซ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเศรษฐีนีนักธุรกิจอย่าง “นันทพร” โดยที่ทั้งคู่วางแผนจะเข้าสู่ประตูวิวาห์สร้างอนาคตในเร็ววัน แต่ทว่า จุดพลิกผันก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อ “ปรายฟ้า” นางแบบสาวรุ่นน้องมากล่าวอ้างกับคุณวาว่า เธอเป็นภรรยาลับๆ ของรชานนท์ และกำลังตั้งครรภ์ลูกในท้องของเขาอยู่          แม้ชีวิตสาธารณะจะดูก้าวหน้า แต่ชีวิตรักส่วนตัวกลับไม่เป็นไปดังหวัง คุณวาจึงตัดสินใจยกเลิกงานแต่งงานกับรชานนท์ และในความผิดหวังนั้นเอง คุณวาก็ดื่มเหล้าจนเมาขาดสติ และพลั้งเผลอไปมีความสัมพันธ์แบบ one-night stand กับ “รัฐกร” หรือ “กั๊ต” เมคอัพอาร์ติสต์หนุ่มประจำตัวของคุณวา         ด้วยพล็อตเรื่องที่ผูกปมเอาไว้เช่นนี้ จะว่าไปแล้วก็น่าจะจบลงแบบสุขสมหวังแฮปปี้เอนดิ้งได้นับแต่ตอนต้นเรื่อง หากเพียงคุณวากับกั๊ตจะเลือกลงเอยครองคู่กันไปตามครรลองคลองธรรม แต่ทว่า สำหรับคุณวาแล้ว กั๊ตคือชายหนุ่มที่โตมาในฐานะ “เด็กในบ้าน” หลานของ “ป้ารัณ” ที่เลี้ยงดูคุณวามาตั้งแต่ยังเด็กหลังจากที่มารดาของเธอเสียชีวิตลง และที่สำคัญ คุณวาเองก็รักเอ็นดูกั๊ตเหมือนกับน้องชาย หรือเผลอๆ ก็อาจจะมองชายหนุ่มเป็นเพียง “เพื่อนสาว” ตามภาพเหมารวมแบบฉบับของอาชีพช่างแต่งหน้าของศิลปินดารานั่นเอง         เมื่อเป็นดังนี้ เส้นเรื่องของละครจึงผูกโยงให้กั๊ตต้องพิสูจน์ตนเองให้คุณวาประจักษ์แจ้งแก่หัวใจได้ว่า เขามีสถานะเป็น “ผู้ชายแท้” และทั้งรักทั้งหวังดีกับคุณวาเรื่อยมา โดยมีสถานการณ์ต่างๆ มากมายที่จะทำให้นางเอกซุปตาร์เข้าใจผิดในตัวตนของเขาอยู่เป็นระยะๆ         เพราะตัวตนหรืออัตลักษณ์เป็นโฉมหน้าที่มนุษย์เราสามารถเลือกพลิกด้านใดออกมาสื่อสารกับผู้คนรอบตัว และสังคมเองก็มีภาพจำหรือกำหนดการรับรู้อัตลักษณ์ตัวตนของปัจเจกบุคคลแตกต่างกันไป ฉะนั้น เรื่องของตัวตนทางเพศสภาพและเพศวิถีของมนุษย์เองก็ดำรงอยู่ภายใต้ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน         และเพราะทุกวันนี้อัตลักษณ์ทางเพศสภาพก็มีความลื่นไหลและซับซ้อนกว่าที่เราเคยรับรู้กันมา ดังนั้น บนความสัมพันธ์ระหว่างคุณวากับบุรุษเพศผู้รายล้อมรอบชีวิตของเธอ คุณวาจึงต้องเรียนรู้ด้วยว่า ตัวตนตามภาพจำกับตัวตนที่ปัจเจกบุคคลเป็นอยู่จริงนั้น ก็ไม่ต่างจากที่พิธีกรรายการเกมโชว์มักจะถามผู้หญิงซึ่งอยู่ในสนามแข่งขันเลือกคู่ว่า กับผู้ชายที่คุณเห็นอยู่ตรงหน้า “รู้ไหมใครโสด มีเจ้าของ และไม่มองหญิง”         สำหรับผู้ชายคนแรกอย่างกั๊ต ผู้เลือกเพศวิถีแบบ “รักต่างเพศ” และแท้จริงยังเป็น “โสด” แต่เนื่องจากวิชาชีพที่เขาเป็นเมคอัพสไตลิสต์ และยังเป็นช่างแต่งหน้าคู่ใจของคุณวา เธอจึงไม่วางใจในอัตลักษณ์ทางเพศของเขา ถึงแม้ว่าพระเอกหนุ่มจะพูดยืนยันกับซุปตาร์สาวอยู่เนืองๆ ว่า “กั๊ตเป็นผู้ชายนะครับ”         หรือแม้แต่ในวันที่คุณวาเมาเหล้าเผลอพลั้งไปฟีเจอริงเลยเถิดกับกั๊ต แต่ทว่าลึกๆ แล้ว เหตุผลที่ทำให้คุณวารู้สึกผิดและขาดความเชื่อมั่น ไม่ใช่เพราะถลำลึกไปมีอะไรกับ “เด็กในบ้าน” ที่เธอรักเหมือนน้อง หากแต่เพราะเธอคิดว่าตนพลาดไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเกย์หนุ่มช่างแต่งหน้ามากกว่า         ส่วนผู้ชายคนถัดมาก็คือรชานนท์ แม้หน้าฉากชายหนุ่มจะแสดงออกทางเพศวิถีแบบชาย “รักต่างเพศ” ก็ตาม ทว่าหลังฉากของเขาหาใช่จะเป็นชาย “โสด” แต่ตรงกันข้าม เขากลับเจ้าชู้ มีผู้หญิงมากหน้าหลายตา จนแม้แต่คุณนันทพรผู้เป็นแม่ถึงกับนิยามลูกชายคนนี้ว่า “บ้าเซ็กส์” จนไม่ยอมทำงานทำการแต่อย่างใด ดังนั้น แม้จะคบหาออกหน้าว่าเป็นชายคนรักของซุปตาร์สาว แต่ก็ยากจะดูออกว่ารชานนท์ยัง “โสด” หรือเป็นชายที่ “มีเจ้าของ” กันแน่         ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อคุณวาสลัดรักจากรชานนท์ และหันมาแต่งงานกับกั๊ต จากเทพบุตรก็กลายร่างเป็นซาตานตามรังควานคุณวากับกั๊ต จนเป็นเหตุให้ “ทัด” พ่อขอกั๊ตเสียชีวิต รวมทั้งยังลงมือกระทำทารุณกรรมทางร่างกายกับปรายฟ้า ในขณะที่เธออุ้มท้องลูกของเขาอยู่ ภาพของตัวละครชายแบบนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ในหน้าฉากของความเป็นสุภาพบุรุษ ตัวตนที่แท้จริงของคนเราสามารถเหี้ยมเกรียมกันได้เพียงใด         และสำหรับผู้ชายคนสุดท้ายก็คือ “หมอเจ” ญาติผู้พี่ของคุณวา ที่ด้วยสถานภาพทางอาชีพเป็นสูตินารีแพทย์ การปรากฏตัวของเขาต่อหน้าสาธารณชนจึงต้องเลือกแสดงออกทางเพศสภาพแบบ “ผู้ชายแท้” แม้ว่าจริงๆ แล้ว หมอเจก็คือ “เจ้” ของคุณวา และเลือกมีตัวตนเพศวิถี “ไม่มองหญิง” แบบที่เฉพาะคนใกล้ชิดเท่านั้นที่จะตระหนักรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว         ด้วยอัตลักษณ์แห่งเพศสภาพที่ซับซ้อนและลื่นไหลโดยสัมพัทธ์กับข้อกำหนดของแต่ละสังคม จึงไม่น่าแปลกที่เราได้เห็นช่างแต่งหน้าผู้มักมีภาพจำทางสังคมว่าเป็นพวก “ไม่มองหญิง” แต่จริงๆ แล้วกลับเป็น “ชายโสด” ในขณะเดียวกับที่ “ชายโสด” ลูกมหาเศรษฐี กลับมีด้านที่ซุกซ่อนความ “มีเจ้าของ” และเห็นผู้หญิงเป็นเพียงของเล่นในชีวิต และพร้อมๆ กับที่หมอหนุ่มฐานานุรูปดีจนน่าจะดูเป็น “ชายโสด” ในฝันของผู้หญิงทั้งหลาย กลับมีรสนิยมทางเพศเป็น “เก้งกวาง” แอบ “ไม่มองหญิง” แบบหักปากกาเซียน            สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง กูรูที่ช่ำชองก็อาจจะอ่านอัตลักษณ์ทางเพศที่ผันแปรได้ไม่เฉียบขาด ดังนั้นแม้ตัวคุณวาเองจะเป็นซุปตาร์นักแสดง อันเป็นบทบาทอาชีพที่ต้องอยู่กับการมีหน้าฉากหลังฉาก และสวมบทบาทที่แปรเปลี่ยนลื่นไหลไปตามสคริปต์ที่ถูกกำหนดให้เล่น แต่ในเกมที่ต้องอ่านตัวตนทางเพศของชายที่ต้องมาครองคู่ด้วย คุณวาก็ทั้งพลาดทั้งพลั้งจนเกือบจะพ่ายแพ้ในสนามนี้มาแล้ว         จนถึงบทสรุปหลังจากที่คุณวากับกั๊ตได้ลงเอยกันตามสูตรสำเร็จของละครแนวโรมานซ์ เขาและเธอทั้งคู่ก็ได้เรียนรู้ว่า การทายถูกทายผิดในเกมอาจถือเป็นเรื่องปกติเพราะนั่นคือเกม หากทว่าในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้น การตัดสินเพศสภาพด้วยภาพจำแบบเหมารวมก็อาจบดบังตัวตนจริงๆ ของคนเราได้ ด้วยเพราะอัตลักษณ์แห่งปัจเจกบุคคลนั้นมีทั้งลื่นไหล ย้อนแย้ง และผันแปรอยู่อย่างไม่สิ้นไม่สุด

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 264 ลายกินรี : อคติทางเพศกับนิติวิทยาศาสตร์แบบสตรี

          ละครโทรทัศน์แนวสืบสวนสอบสวนของต่างประเทศ มักยืนอยู่บนความคิดที่ว่า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย” แต่การเข้าถึงความจริงในคดีความฆาตกรรมต่างๆ นั้น ก็ต้องอาศัยองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยมาเป็นคำตอบ แต่จะเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อละครแนวพีเรียดอย่าง “ลายกินรี” หันมาผูกเรื่องราวการ “สืบจากศพ” ชนิดย้อนไปในยุคประวัติศาสตร์ก่อนที่วิทยาศาสตร์จะมาเป็นคำตอบกันโน่นเลยทีเดียว         เปิดเรื่องละครย้อนไปในยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เมื่อผัวเมียคู่หนึ่งกำลังตกปลาไปขาย แต่กลับพบศพชายต่างชาติคนหนึ่ง ที่ท่อนบนแต่งกายคล้ายสตรีและมีผ้านุ่งลายกินรีพันติดอยู่กับร่างกาย ส่วนท่อนล่างนั้นเปลือยเปล่า ซึ่งต่อมาละครก็เฉลยว่าเป็นศพของ “กปิตันฌอง” ชาวฝรั่งเศสที่ผูกพันกับราชสำนักยุคนั้น จุดเริ่มเรื่องแบบนี้ดูผิวเผินก็ไม่ต่างจากการวางพล็อตของซีรีส์สืบสวนสอบสวนที่คุ้นเคยกันโดยทั่วไป         แม้จะมีเส้นเรื่อง “สืบจากศพ” เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงว่า ใครกันแน่ที่เป็นฆาตกรฆ่ากปิตันฌอง แต่ในเวลาเดียวกัน เพราะเหตุการณ์ย้อนกลับไปราวสามร้อยกว่าปีก่อน ละครจึงเป็นประหนึ่ง “ห้องทดลอง” ให้ผู้ชมในกาลปัจจุบัน ได้หันมาทบทวนหวนคิดถึงคุณค่าบางอย่างที่ยึดถือกันแนบแน่นในสังคมทุกวันนี้         และค่านิยมหนึ่งที่คดีฆ่ากปิตันฌองได้ตีแผ่ให้เห็นก็คือ การตั้งคำถามต่อตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของผู้หญิง เมื่อต้องดำรงตนอยู่ในวิถีแห่งชายเป็นใหญ่ที่มายาคติหลักของสังคมโอบอุ้มเอาไว้ โดยสะท้อนผ่านความสัมพันธ์ของตัวละครหญิงที่ถูกผูกโยงเข้ากับการเปิดโปงปมที่มาและที่ไปแห่งการฆาตกรรม         ตัวละครผู้หญิงคนแรกที่เกี่ยวพันกับกรณีนี้ก็คือ นางเอก “พุดซ้อน” หญิงสาวที่สืบทอดวิชาชีพหมอรักษาคนไข้จาก “หมอโหมด” ผู้เป็นบิดา แต่เพราะคนในสมัยก่อนโน้นไม่เชื่อมั่นในหมอผู้หญิง พุดซ้อนจึงบังหน้าโดยใช้ชื่อ “หมอมี” ผู้เป็นพี่ชายที่ไม่เอาถ่าน มาเป็นหมอรักษาผู้ไข้แทน         เมื่อชะตาชีวิตของพุดซ้อนถูกลากโยงให้ได้มาตรวจศพของกปิตันฌอง และเธอลงความเห็นว่า ชายชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตก่อนที่จะถูกลากศพมาทิ้งอำพรางในแม่น้ำ พุดซ้อนก็ถูกดูแคลนจาก “หลวงอินทร์” หรือ “ออกญาอินทราชภักดี” เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา พระเอกหนุ่มผู้ไม่เพียงตั้งแง่กับหมอพุดซ้อน แต่ยังใช้ข้ออ้างเรื่องความเห็นของหญิงสาวจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับสยามประเทศ อันจะนำไปสู่ภัยสงครามในยุคที่จักรวรรดิยุโรปเรืองอำนาจอยู่         อย่างไรก็ดี หน้าฉากของวาจาดูถูกเหน็บแนม และข้ออ้างเรื่องความขัดแย้งกับชาติมหาอำนาจ แท้จริงแล้วยังมีเบื้องลึกอีกด้านที่สังคมพยายามกีดกันผู้หญิงออกไปจากการเข้าถึงสรรพวิชาความรู้ของพวกเธอ         ทั้งนี้ หากความรู้แพทยศาสตร์และนิติเวชศาสตร์ถูกขีดขอบขัณฑ์ให้อยู่ใต้อำนาจบัญชาแห่งบุรุษเพศ สังคมก็จะมีความพยายามปิดกั้นศักยภาพของสตรีที่ก้าวล่วงมาใช้อำนาจแห่งความรู้เพื่อสืบสวนคดีความฆาตกรรม ไม่ต่างจากที่พุดซ้อนได้เคยพูดตอกหน้าหลวงอินทร์ว่า “ท่านตั้งป้อมใส่ข้า เพียงเพราะว่าหมอหญิงถูกมองเป็นเพียงหมอตำแยเท่านั้น”         แม้จะถูกด้อยค่าความรู้ที่มี แต่เพราะวิถีแห่งผู้หญิงมีลักษณะแบบ “กัดไม่ปล่อย” เหมือนที่พุดซ้อนกล่าวว่า “พ่อข้าสอนไว้เสมอว่า หากตั้งใจทำสิ่งใด จงมุ่งหน้าทำให้สำเร็จ ยิ่งเกิดเป็นแม่หญิง ยิ่งต้องพิสูจน์ให้คนที่ปรามาสมองให้เห็นจงได้” ดังนั้น เราจึงเห็นภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่าของหมอพุดซ้อนที่พากเพียรใช้องค์ความรู้ต่างๆ ที่ร่ำเรียนมาจากบิดา เพื่อเผยให้ฆาตกรที่ซ่อนตัวอยู่ในเงามืดของเหตุฆาตกรรม         เริ่มต้นตั้งแต่การใช้ความรู้ด้านเภสัชและเคมีโบราณมาทดสอบสารพิษของ “เห็ดอีลวง” ที่คนร้ายใช้วางยาฆ่ากปิตันฌอง การประยุกต์ทฤษฎีด้านนิติวิทยาศาสตร์มาวินิจฉัยรอยมีดที่อยู่บนร่างของศพ ไปจนถึงการใช้ชุดความรู้การผ่าศพที่ทั้งผิดธรรมเนียมจารีตของชาวสยาม และไม่ใช่วิถีปฏิบัติที่ผู้หญิงพึงจักกระทำ         และที่สำคัญ ดังที่คนโบราณมักกล่าวว่า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย” แต่สำหรับพุดซ้อนแล้ว แม้นางเอกของเราก็เรียนรู้อยู่แก่ใจว่า “ความจริง” เองก็อาจนำหายนภัยมาให้เกือบปางตาย แต่เจตจำนงแน่วแน่ของเธอก็ยังคงยืนหยัดใช้ความรู้เพื่อพิสูจน์ “ความจริง” ที่ผู้หญิงก็เข้าถึงได้เช่นกัน         สำหรับตัวละครผู้หญิงคนที่สองก็คือ “มาดามคลารา” ภรรยาของกปิตันฌอง แม้มาดามจะพูดให้การกับหลวงอินทร์ว่า “สามีข้าเป็นคนดี เป็นลมหายใจ เป็นที่รักของข้า” แต่เบื้องหลังคราบน้ำตาที่คลาราแสดงออกให้กับสามีที่เสียชีวิต กลับซุกซ่อนภาพความรุนแรงทางสังคมที่กระทำต่อกายวาจาใจของสตรี ซึ่งแท้จริงแล้วก็หาใช่สิ่งห่างไกลไปจากตัวของผู้หญิงไม่ เพราะความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นได้แม้ในครอบครัว อันเป็นสถาบันหน่วยย่อยที่ใกล้ชิดกับชีวิตของมนุษย์มากที่สุด         ไม่เพียงแต่คลาราจะถูกบิดาจับคลุมถุงชนกับกปิตันฌองอย่างเลี่ยงไม่ได้ ภายหลังแต่งงานเธอก็ต้องขมขื่นกับสามีฝรั่งที่มองว่า “เมียเป็นเพียงสัตวเลี้ยงตัวหนึ่งเท่านั้น” ดังนั้น ทุกครั้งที่น้ำจัณฑ์เข้าปาก และด้วยลุแห่งอำนาจชายเป็นใหญ่ กปิตันฌองก็จะวิปลาสเสียสติลงมือทำทารุณกรรมภรรยา ไปจนถึงทำร้าย “เอี้ยง” สาวใช้จนขาพิการ และยังก่อเหตุข่มขืนแล้วฆ่า “อุ่น” เมียของ “จั่น” ผู้เป็นบ่าวในเรือน         เพราะความอดทนของผู้หญิงมีขีดจำกัด แม้สังคมจะบอกหญิงผู้เป็นภรรยาทั้งหลายว่า “เป็นเมียเราต้องอดทน” แต่ความรุนแรงในครอบครัวที่เหตุปัจจัยมาจากความอยุติธรรมทางเพศ มีผลไม่มากก็น้อยที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของคดีความฆาตกรรมดังกล่าว ดังที่คลาราเองก็พูดเพราะเข้าใจผิดเรื่องตนเป็นคนฆ่าสามีว่า “ข้าไม่เคยเสียใจสักนิดที่ฆ่ากปิตันด้วยมือของข้าเอง”         และสำหรับตัวละครผู้หญิงคนสุดท้ายก็คือ “เจ้าจอมกินรี” เจ้าจอมคนโปรดในรัชสมัยนั้น และเป็นเจ้าของผ้านุ่งลายกินรีที่พบบนศพกปิตันฌอง ซึ่งในตอนจบเรื่องละครก็ได้เฉลยว่า เจ้าจอมกินรีเป็นผู้ชักใยข้างหลังความตายของกปิตันและอีกหลายชีวิตในท้องเรื่อง         แม้ละครอาจตีความว่า การกระทำของเจ้าจอมกินรีเป็นตัวอย่างของคนทรยศต่อชาติบ้านเมือง แต่อีกด้านหนึ่ง ตัวละครนี้ก็แสดงนัยว่า ในขณะที่ใครต่อใครเชื่อว่า การเสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองเป็นคุณค่าที่มีเฉพาะในเพศบุรุษ เจ้าจอมกินรีก็คือผู้พิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้หญิงก็สามารถทำเพื่อชาติได้ แม้ว่าบางครั้งก็ต้องยอมแลกมากับความสูญเสียและถูกตราหน้าจากประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยผู้ชนะหรือบุรุษเพศก็ตาม         แม้ “ลายกินรี” จะมีจุดร่วมไม่ต่างจากละครแนวสืบสวนสอบสวนเรื่องอื่นที่ต้องเผย “ความจริง” เรื่องตัวฆาตกรผู้ฆ่าก็ตาม แต่จากคำพูดของ “คุณหญิงแสร์” ซึ่งกล่าวกับหลวงอินทร์บุตรชายที่ว่า “อคติในหัวใจทำลายแง่งามในชีวิตเสมอ” บางทีคำพูดนี้ก็เป็นบทสรุปดีๆ ที่บอกกับเราด้วยว่า การลดอคติทางเพศลงเสียบ้าง จะทำให้เรามองเห็นตัวตนและเจตจำนงของสตรีที่มุ่งมั่นทำเพื่อวิชาความรู้ ครอบครัว และชาติบ้านเมืองได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 263 คุณชาย : ไม่ต้องมาก ไม่ต้องน้อย แค่เท่าเทียมกับที่ “คน” ควรจะได้รับ

           นักคิดในกลุ่มเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิแห่งสตรี หรือที่รู้จักกันในชื่อของนักทฤษฎีเฟมินิสต์บางคน เคยแสดงทัศนะไว้ว่า ระบอบ “ปิตาธิปไตย” หรือการกำหนดคุณค่าให้กับ “ชายเป็นใหญ่” ได้แผ่ซ่านอยู่ในถ้วนทุกอณูของสังคม และภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่นี้เอง ผู้หญิงกลายเป็นมนุษย์กลุ่มแรกๆ ที่ถูกกดขี่ ลิดรอน จำกัดสิทธิและโอกาส หรืออีกนัยหนึ่ง สตรีก็คือเพศสภาพที่ต้องรองรับทุกขเวทนามากที่สุดในระบบการให้คุณค่าดังกล่าว         แต่ในเวลาเดียวกัน นักทฤษฎีที่ศึกษาสิทธิทางเพศรุ่นหลัง ก็ได้โต้แย้งและขยับขยายมุมมองออกไปด้วยว่า ระบอบปิตาธิปไตยไม่เพียงจะสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้หญิงเท่านั้น แม้แต่กับกลุ่มเพศทางเลือกหรือ “LGBTQ+” ก็ต้องเซ๋นสังเวยและทนทุกข์ทรมานจากระบอบคิดที่ว่านี้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย         เพื่อฉายภาพวิบากกรรมที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งต้องเผชิญเพียงเพราะเลือกเพศสภาพต่างไปจากสังคมกระแสหลักเช่นนี้ เราก็อาจพินิจพิจารณาได้จากตัวอย่างชีวิตของ “เทียน” พระเอกหนุ่มคุณชายใหญ่แห่งกลุ่มทุนจีนธุรกิจ “ตระกูลซ่ง” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “คุณชาย”         เปิดเรื่องมา ละครได้แนะนำให้รู้จักกับตระกูลซ่ง ซึ่งเป็นตระกูลคนจีนที่มีอิทธิพลในสยามประเทศช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ด้วยความที่เป็นผู้นำตระกูลใหญ่ “เจ้าสัวซ่ง” จึงถูกวางตัวให้เป็นประมุขของ “สมาคมห้ามังกร” และตำแหน่งนี้ก็จะผ่องถ่ายมาที่เทียนบุตรชายคนโตของเจ้าสัวซ่งในเวลาต่อมา         แต่ทว่า ปมสำคัญที่ถูกผูกไว้เป็นคุณค่าหลักที่ตัวละครต่างยึดมั่นก็คือ อคติที่มีต่อ “ต้วนซิ่ว” หรือความรังเกียจต่อกลุ่มชายรักชาย ซึ่งแสดงให้เห็นตั้งแต่ฉากเริ่มต้นเรื่อง เมื่อ “เจ้าสัวจาง” หนึ่งในผู้นำตระกูลซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมห้ามังกร ได้ตัดสินใจจบชีวิตตนเองเพราะถูกจับได้ว่าเป็นต้วนซิ่ว เจ้าสัวซ่งและพี่น้องคนอื่นจึงพากันกีดกันเขาจากความเป็นสมาชิกสมาคม แต่ก่อนที่จะตายนั้น เขาได้กล่าวกับเจ้าสัวซ่งว่า “ถึงแม้อั๊วจะเป็นต้วนซิ่ว อั๊วก็มีเกียรติมีศักดิ์ศรี…สักวันอั๊วขอให้พี่ใหญ่รับรู้ความเจ็บปวดที่อั๊วมี”         ฉากการฆ่าตัวตายของเจ้าสัวจาง เป็นรอยประทับที่สร้างบาดแผลให้กับสมาชิกตระกูลซ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียนมีทีท่าจะเป็นต้วนซิ่วเช่นกัน ทำให้ “อาลี่” หรือที่ทุกคนเรียกว่า “นายแม่” มารดาของเทียน และ “อาเจีย” สาวใช้คนสนิทของนายแม่ที่รู้ความลับนี้ ต้องคอยปกปิดมิให้ใครล่วงรู้ ตั้งแต่ที่เทียนยังเด็กจนเขาโตพอจะรับตำแหน่งหัวหน้าสมาคมห้ามังกรสืบต่อจากเจ้าสัวซ่ง         เรื่องราวหลังจากนั้นไม่นานนัก เทียนก็ได้ตกหลุมรัก “จิว” ผู้ชายธรรมดาที่ขายน้ำตาลปั้นยังชีพเลี้ยงน้องๆ สองคน แต่อีกด้านหนึ่ง จิวก็คือนักฆ่าฟรีแลนซ์รับจ้างให้กับ “เจ้าสัวหม่า” อีกหนึ่งในสมาชิกสมาคมห้ามังกรผู้หวังขึ้นมาช่วงชิงตำแหน่งหัวหน้าสมาคมไปจากคนในตระกูลซ่ง         เมื่อมีอำนาจและผลประโยชน์ของตระกูลซ่งเป็นเดิมพัน อีกทั้งเมื่อมีความลับเรื่องต้วนซิ่วที่อาจทำให้สถานะนำของเทียนสั่นคลอน นายแม่จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อมิให้อนาคตของประมุขสมาคมหลุดไปอยู่ในมือของ “หยาง” ผู้เป็นลูกชายของ “จันทร์” เมียรอง และเป็นน้องชายต่างมารดาของเทียน พร้อมๆ กับที่เราได้เห็นภาพสมรภูมิแห่งบ้านตระกูลซ่งที่ลุกเป็นไฟ เพียงเพื่อรักษาความลับในเพศวิถีของเทียน         แต่เพราะสรรพกำลังใดๆ ก็ไม่มีอยู่ในมือ หนทางเดียวที่นายแม่จะปกป้องความลับของบุตรชายได้ก็คือ การใช้ “ความรู้” เป็นอำนาจ ดังนั้น “เห็ดดูดเลือด” อันเป็นวิชาลับของการเพาะเห็ดพิษที่เติบโตบนตัวแมลงทับ ก่อนจะสกัดมาเป็นผง “ว่านแมลงทับ” จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ปลิดชีวิตทุกคนที่ก้าวล่วงมารับรู้ความลับของคุณชายเทียน         แม้จะตระหนักว่า “ความลับไม่เคยมีในโลก” แต่เมื่อนายแม่ได้เริ่มต้นใช้ว่านแมลงทับฆ่าเหยื่อรายแรกอย่าง “ตง” คนงานที่บังเอิญมารู้ความลับเรื่องต้วนซิ่วของเทียน การปกปิดและรักษาความลับก็ได้นำไปสู่เหยื่อฆาตกรรมรายที่สอง…สาม…สี่…ตามมา         อย่างไรก็ดี แม้ในทางกฎหมาย ความผิดฐานฆ่าคนตายอาจมีนายแม่และอาเจียเป็นผู้ต้องหาในคดีความอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ทว่าเบื้องลึกยิ่งไปกว่านั้น เหตุปัจจัยที่ทำให้หลายชีวิตต้องสูญเสียไปเพื่อซ่อนงำความลับเรื่องต้วนซิ่วของคุณชายใหญ่ตระกูลซ่ง ก็มีจำเลยหลักที่มาจากการกำหนดคุณค่าความเป็นมนุษย์ภายใต้ระบอบปิตาธิปไตยอย่างมิอาจเลี่ยงได้ด้วยเช่นกัน         แน่นอนว่า ในทางหนึ่งระบอบชายเป็นใหญ่ได้กดขี่สร้างความเจ็บปวดให้กับตัวละครผู้หญิงทั้งหลาย ตั้งแต่นายแม่และจันทร์ที่ต้องลุกขึ้นมาต่อกรห้ำหั่นกันเพียงเพื่อหาหลักประกันอันมั่นคงให้กับสถานะในบ้านของพวกเธอเอง หรือเมียบ่าวอย่าง “บัว” ที่เพราะเป็นหมัน จึงถูกกดทับคุณค่าจนต้องระเห็จมาอยู่เรือนหลังเล็กของบ้าน หรือ “ไช่เสี่ยวถง” หญิงม่ายที่ต้องดูแลโรงน้ำชาต่อจากสามี ก็ต้องดิ้นรนให้กิจการของเธอดำเนินต่อไปได้ท่ามกลางเสียงดูหมิ่นดูแคลนจากบรรดาเฮียๆ สมาชิกโดยตรงของสมาคมห้ามังกร         แต่เพราะระบอบปิตาธิปไตยไม่เพียงกดกั้นศักยภาพของสตรีเพศเท่านั้น หากยังสร้างบาดแผลและความทุกข์ระทมให้กับชายรักชายที่อยู่ใต้ร่มระบอบดังกล่าวด้วยเช่นกัน ไม่ต่างจากภาพวัยเด็กของเทียนที่ถูกนายแม่เฆี่ยนตีเพียงเพราะเขาแต่งตัวเลียนแบบนางเอกงิ้วที่ชื่นชอบ หรือภาพของเขาในวัยหนุ่มที่นายแม่พยายามจับคลุมถุงชนด้วยหวังจะให้แปรเปลี่ยนรสนิยมทางเพศ ไปจนถึงภาพความรักอันเจ็บปวดและต้องซ่อนเร้นของเขากับจิวที่ทุกคนพากันกีดขวางและประทับตราว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ผิดปกติ         จากอัตวินิบาตกรรมของเจ้าสัวจาง จนถึงเรื่องราวรักต้องห้ามของเทียนกับจิว ทั้งหมดล้วนตั้งอยู่บนจารีตประเพณีที่ว่า เฉพาะเพศวิถีแห่งรักต่างเพศเท่านั้นที่จะสืบต่อระบอบปิตาธิปไตยให้จีรังยั่งยืน ดังนั้นมูลเหตุที่เจ้าสัวซ่งกังวลต่อคำครหาที่ว่าเลี้ยงลูกชายอย่างไรให้เป็นต้วนซิ่ว และไม่เหมาะสมที่จะขึ้นครองบัลลังก์สมาคมห้ามังกรได้ แท้จริงก็เป็นแค่การกลบเกลื่อนข้อเท็จจริงที่ว่า ชายรักชายแบบต้วนซิ่วไม่อาจผลิตทายาทรุ่นถัดไปที่จะเป็นหลักประกันการสืบต่อระบบคุณค่าแบบชายเป็นใหญ่ได้ในอนาคต         ทุกๆ ระบบคุณค่าของสังคม จุดเริ่มต้นก็ล้วนมาจากข้อตกลงที่ผู้คนในยุคหนึ่งสม้ยหนึ่งได้อุปโลกน์ขึ้นเพื่อตอบรับความเป็นไปแห่งยุคสมัยนั้น แต่หากข้อตกลงดังกล่าวไม่สอดรับกับยุคสมัยที่ต่างไป หรือแม้แต่สร้างความบอบช้ำบาดหมางระหว่างมนุษย์ สมาชิกในสังคมก็น่าจะเปลี่ยนแปลงข้อตกลงนั้นๆ ได้เช่นกัน        หากหลายชีวิตต้องสูญเสียไปเพื่อรักษาความลับเรื่องเพศสภาพของเทียน และหากความลับเรื่องต้วนซิ่วก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความดีเลวของมนุษย์แต่อย่างใด บางทีคำสารภาพของพระเอกหนุ่มในฉากขึ้นรับตำแหน่งหัวหน้าสมาคมห้ามังกร จึงเป็นประหนึ่งเสียงจากกลุ่มเพศทางเลือกในสังคมปิตาธิปไตยที่ว่า “ผมไม่เคยต้องการความเห็นใจ หรือต้องการความเข้าใจจากทุกคนเลย ผมแค่อยากเป็นตัวของตัวเอง ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ผมเลือก โดยที่ทุกคนให้เกียรติผม ไม่ต้องมาก ไม่ต้องน้อย แค่เท่าเทียมกับที่คนควรจะได้รับ”

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)