ฉบับที่ 253 น้ำส้มกล่องหมดอายุ

        มินิมาร์ท หรือร้านสะดวกซื้อ ทำให้เราสามารถหาซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น เราก็สะดวกด้วย อยากได้อะไรก็สามารถเข้าไปซื้อได้เลย แต่บางทีความสะดวก ง่าย รวดเร็ว อาจไม่ได้หมายถึงว่า เราควรจะวางใจจนไม่รอบคอบ ทั้งในฝ่ายของผู้ประกอบการและผู้ซื้อ เรามาดูกรณีนี้กัน
 
        ภูผา อยากดื่มน้ำส้มหวานๆ เย็นๆ ให้ชื่นใจสำหรับหน้าร้อนอันแสนทรมาน จึงแวะเข้าร้านสะดวกซื้อระหว่างเดินไปทำงาน ด้วยความรีบ (เพราะสายแล้ว) เขาเดินปรี่เข้าไปหยิบน้ำส้มในตู้แช่มา 1 กล่อง แล้วรีบไปจ่ายเงินโดยความรวดเร็ว พอถึงสำนักงานหลังจากสแกนนิ้วเข้าสถานที่ทำงานได้เรียบร้อย ก็เจาะกล่องน้ำส้มดูดอย่างว่องไว แต่แล้วก็ต้องหน้าเบ้เพราะพบว่ารสชาติแปลกๆ เขาจึงหมุนกล่องไปดูวันหมดอายุที่นี้แหละรู้เลยว่าทำไม น้ำส้มถึงรสชาติแปลกๆ นั่นก็เพราะว่า น้ำส้มกล่องนี้หมดอายุไปแล้ว 2 วันอ้าว หมดอายุแล้วเอามาวางขายได้ไง”  ภูผาไม่เข้าใจว่าทำไมร้านสะดวกซื้อถึงเอาสินค้าหมดอายุมาขายให้เขา ร้านสะดวกซื้อน่าจะตรวจสอบให้ดีกว่านี้นะ ออกจะเป็นร้านมากสาขาใหญ่เสียขนาดนั้น แม้ราคาน้ำส้มกล่องไม่กี่บาท แต่เขาไม่รู้ว่าเขาจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างไหม เพราะว่าไม่อยากให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไป จึงมาขอคำปรึกษามูลนิเพื่อผู้บริโภค
 
แนวทางการแก้ไขปัญหา
        ศูนย์พิทักษ์สิทธิ แนะนำว่าผู้ร้องสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ดังนี้
        1. ถ่ายรูปกล่องน้ำส้ม ถ่ายให้เห็นฉลากสินค้าวันผลิตวันหมดอายุ ล็อตการผลิต พร้อมเก็บกล่องน้ำส้มและใบเสร็จจากร้านสะดวกซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วยป้องกันใบเสร็จลบเลือน)
        2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความ ร้องทุกข์กล่าวโทษ ที่สถานีตำรวจบริเวณใกล้ที่ทำงาน เพื่อเป็นหลักฐาน
        3. ให้ติดต่อร้านสะดวกซื้อที่ซื้อน้ำส้มมา ขอให้ทางร้านแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยต้องคิดให้ดีว่าจะให้ร้านสะดวกซื้อรับผิดชอบอย่างไร เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า, ขอเงินคืน, จ่ายค่าเสียเวลา, ค่าขาดประโยชน์, ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น
        4. ถ้าไม่สามารถตกลงกับร้านสะดวกซื้อสาขาที่เกิดเหตุได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับบริษัท (สำนักงานใหญ่) โดยบรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า
        กรณีจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 แห่งพระราชบัญัติอาหาร .. 2522 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค น้ำส้ม หมดอายุ อาหารหมดอายุ น้ำส้มกล่อง ร้านสะดวกซื้อ

ฉบับที่ 275 ประกันมะเร็งต้องอ่านเงื่อนไขดีๆ

        มะเร็งเป็นโรคร้ายแรงที่การรักษานั้นค่อนข้างยาก ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งมีสถิติที่พรากชีวิตคนไทยในแต่ละปีค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทประกันภัยหลายแห่งจัดรูปแบบกรมธรรม์เพื่อคุ้มครองเรื่องการรักษามะเร็ง มาเป็นตัวเลือกสำหรับผู้บริโภค         เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นข้อเตือนใจจากคุณน้ำ ซึ่งเข้ามาขอคำปรึกษาในคดีหนึ่ง แต่เรื่องที่เล่านี้เป็นประสบการณ์เก่าที่เธอเคยประสบจากการทำประกันโรคมะเร็ง ซึ่งผ่านมาหลายปีแล้ว เมื่อมองย้อนไปคุณน้ำพบว่าตัวเองพลาดที่ไม่ได้อ่านเงื่อนไขให้ดีจึงเสียโอกาสที่จะได้รับการคุ้มครองจากการทำประกันมะเร็ง ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงได้ขออนุญาตนำเรื่องนี้มีเล่าเพื่อฝากไว้ให้ผู้บริโภคได้ใช้เป็นบทเรียน         คุณน้ำ เริ่มต้นทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชน เธอจึงวางแผนการใช้เงินอย่างรัดกุม นอกจากค่าใช้จ่ายรายเดือน เธอได้วางแผนการออมเงินด้วย ทั้งออมเงินแบบฝากกับธนาคาร และการทำประกันชีวิตหลายฉบับเพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ โดยคาดการณ์ว่าเพื่อเป็นการใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบไม่ลำบาก ทั้งนี้ ประกันชีวิต  1 ฉบับในหลายฉบับที่ทำคือ ประกันมะเร็ง เพราะคิดว่า มะเร็งเป็นโรคที่ต้องใช้เงินในการรักษาสูงมาก หากเป็นหนึ่งในความเสี่ยงก็ควรทำประกันไว้ก่อน แม้ว่าค่าเบี้ยประกันจะค่อนข้างแพง         จากวันแรกๆ ที่เริ่มงานผ่านมาจนถึงหลังวัยเกษียณ เมื่อเธอเกษียณได้ไม่นาน แพทย์ตรวจพบว่าเธอเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น คุณน้ำตกใจแต่ก็รู้สึกว่า เอาน่ายังดีนะที่เธอได้ทำประกันมะเร็งเอาไว้ เธอจึงติดต่อตัวแทนบริษัทประกันเจ้าของกรมธรรม์ ต่อมาตัวแทนประกันซึ่งได้ขอเอกสารรายละเอียดที่หมอตรวจพบโรคมะเร็งพร้อมกับรายละเอียดการรักษาต่างๆ ไปจากเธอได้ไม่นานนัก ก็แจ้งกับเธอว่า บริษัทไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ได้ เพราะมะเร็งระยะที่กรมธรรม์คุ้มครองคือ ระยะที่ 2          คุณน้ำได้ฟังก็ถึงขั้นตกใจมาก เพราะที่เข้าใจมาตลอดคือ เมื่อตรวจเจอว่าเป็นมะเร็ง บริษัทจะคุ้มครอง ทันที แต่ตัวแทนบริษัทได้อธิบายว่า ในเอกสาร/เงื่อนไขสัญญาเขียนว่า จะคุ้มครองในระยะที่สอง ซึ่งคุณน้ำก็ได้แต่คิดว่า เมื่อแพทย์ตรวจพบมะเร็งแพทย์ก็ต้องเริ่มรักษาทันที ซึ่งไม่น่าจะมีใครรอให้โรคพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 2  จึงเริ่มรักษาเพื่อหวังให้ประกันคุ้มครองแน่นอน         นี่เป็นบทเรียนที่คุณน้ำประสบมา จึงขอนำมาฝากเตือนผู้บริโภคท่านอื่นๆ ว่า เมื่อจะทำประกันโรคร้ายแรง อย่างเช่น มะเร็ง ต้องอ่านรายละเอียดของประกันมะเร็งด้วยว่า มีความคุ้มครองครอบคลุมถึงประเด็นไหนบ้าง  เช่น มะเร็งทุกอวัยวะไหม หรือเฉพาะบางอวัยวะ หรือเจอมะเร็งจ่ายทันที คุ้มครองมะเร็งทุกระยะ รักษามะเร็งทุกขั้นตอน ฯลฯ ถามต่อตัวแทนประกันให้อธิบายอย่างละเอียด ตลอดจนซักถามตัวแทนประกันให้ละเอียดรอบคอบถึงข้อจำกัดต่างๆ  รวมทั้งต้องปรึกษาแพทย์เมื่อพบคำศัพท์เฉพาะทางทางการแพทย์ด้วย         ที่ควรพิจารณต่อมาคือ เรื่องเบี้ยประกันและวงเงินคุ้มครองเหมาะสมหรือเปล่า โดยต้องประเมินวงเงินคุ้มครองว่า หากเจ็บป่วยขึ้นมาวงเงินที่จะได้รับนั้น เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาลหรือการใช้จ่ายระหว่างการรักษาตัวหรือไม่ เช่น หากต้องการรักษากับโรงพยาบาลเอกชนก็จะต้องประเมินว่าค่าใช้จ่ายย่อมสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ เพื่อจะได้เลือกแผนประกันที่วงเงินคุ้มครองเหมาะสมที่สุด เป็นต้น         เลือกด้วยความรอบคอบว่าเราอยากได้เงินคุ้มครองลักษณะไหน เช่น ในกรณีที่เป็นการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล อาจเหมาะกับผู้ที่ยังไม่มีประกันสุขภาพและต้องการให้ประกันคุ้มครองเฉพาะการรักษาพยาบาลตลอดการรักษา ขณะที่ประกันแบบจ่ายเงินทันทีที่ตรวจพบมะเร็งนั้น อาจเหมาะกับผู้ที่มีประกันสุขภาพอยู่แล้วแต่ต้องการเงินก้อน เพื่อนำไปใช้ในการรักษาส่วนเกินจากประกันสุขภาพหรือนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นต้น         อย่างไรก็ดีสำคัญที่สุดคือ อย่าพลาดการอ่านเงื่อนไขสัญญาให้ละเอียดเพื่อให้สิทธิประโยชน์ที่เราจะได้รับนั้นคุ้มค่ากับการลงทุน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 เจอแมลงสาบในแพ็คน้ำดื่ม อีกแล้ววว

        ขึ้นชื่อว่า น้ำดื่มสะอาด ก็ต้องสะอาด เพราะเราบริโภคเข้าไปในร่างกายอยู่ทุกวันแต่กรณีของคุณหยาด เมื่อเธอซื้อน้ำดื่มบรรจุแพ็ค กลับเจอแมลงสาบเข้าไปอยู่ในแพ็คเสียอย่างนั้น แล้วแบบนี้จะจัดการอย่างไรดี        เรื่องนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ  คุณหยาดได้ซื้อน้ำดื่มตามปกติแต่ในครั้งนี้กลับพบแมลงสาบตัวเบ้อเริ่มเข้าไปนอนตายสนิทอยู่ในแพ็คน้ำดื่ม ... แถมยังอยู่ตรงใกล้ปากขวดน้ำเสียด้วย  คุณหยาดไม่มีความรู้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรเพราะแมลงสาบไม่ได้เข้าไปอยู่ในขวดน้ำดื่มแต่อยู่ในแพ็คน้ำซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากโรงงานที่ผลิต หรือทางร้านค้าที่จัดจำหน่าย แต่คุณหยาดมองว่าเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะผู้บริโภคควรได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคอาหารทุกชนิด เมื่อข้างขวดมีฉลากระบุข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน คุณหยาดจึงส่งเรื่องเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทันทีแนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณหยาดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำกับคุณหยาดว่า เมื่อพบเจอสินค้าอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่ปลอดภัย คุณหยาดสามารถแจ้งร้องเรียนได้ทั้งกับ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้ลงตรวจสอบสถานที่ไม่ว่าจะเป็นแหล่งจำหน่าย ร้านค้า และโรงงานที่ผลิตได้ ซึ่งหลังจากให้คำปรึกษากับคุณหยาดแล้ว มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  เพื่อขอให้ตรวจสอบสถานที่ผลิต รวมถึงสำเนาไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อตรวจสอบสถานที่จำหน่ายด้วย         ทั้งนี้ในเรื่องน้ำดื่มบรรจุแพ็คต้องสะอาดและถูกสุขลักษณะเป็นไปตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 ที่กำหนดให้น้ำบริโภคและเครื่องดื่มเป็นอาหารควบคุม ต้องมีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน ไม่พบจุลินทรีย์ที่อันตรายต่อสุขภาพ และต้องมีฉลากแสดงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง  ฉลาก ประชาชนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะกรรมการอาหารและยา > กองอาหาร > กฎหมายอาหาร >น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  https://food.fda.moph.go.th/food-law/f2-drinking-water

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 โดนคิดค่าสินค้าไม่ตรงกับป้ายราคา

        เชื่อว่าผู้บริโภคหลายๆ คน เมื่อถึงเวลาต้องจับจ่ายใช้สอยสินค้าเข้าบ้าน การไปเดินห้างค้าปลีกหรือเดินไปซูเปอร์มาร์เก็ตน่าจะเป็นตัวเลือกแรกๆ เพราะมีสินค้าครบครันในราคาที่อาจมีลด มีแถม แต่หากเมื่อถึงเวลาจ่ายเงิน “ราคาที่จ่าย ดันไม่ตรงกับราคาป้าย” คงเป็นเรื่องที่ไม่โอเคเลยใช่ไหมล่         เหมือนกับคุณจู ที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เธอเล่าว่าได้ไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งแถวบ้าน วันนั้นเธอได้ซื้อเห็ดชิเมจิ ยี่ห้อ Mao Xiong มา 1 ถุง ราคาที่ติดตามป้ายบนชั้นวาง 9 บาท แต่พอถึงเวลาจ่ายเงิน ราคาเห็ดที่ติดป้ายว่า 9 บาท ราคาจริงดัน 13 บาท อ้าว...ไม่ตรงตามป้ายที่ติดซะงั้น! เธอจึงมาสอบถามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าแบบนี้คือการหลอกลวงประชาชาชนหรือไม่ และควรทำอย่างไรดี?                แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ติดต่อไปหาผู้ร้อง เธอแจ้งว่าหลังเกิดเหตุการณ์ได้ให้พนักงานตรวจสอบราคาสินค้าอีกครั้ง เนื่องจากราคาไม่ถูกต้องและทางพนักงานก็ยอมแก้ไขใบเสร็จให้ถูกต้องและคืนเงินเรียบร้อยแล้ว เธอจึงไม่ติดใจอะไร เนื่องจากทางซูเปอร์มาร์เก็ตก็ได้แก้ไขปัญหาให้เธอแล้ว         แต่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยากแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้บริโภคบางรายที่เจอปัญหานี้เช่นกัน ดังนี้หากเจอกรณีราคาสินค้าไม่ตรงตามป้าย สามารถโทรร้องเรียนไปที่สายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทำการร้องเรียน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ อย่าลืมถ่ายรูปราคาบนป้ายสินค้า และเก็บใบเสร็จที่จ่ายเงินเพื่อเป็นหลักฐานอีกด้วยในการร้องเรียนอีกด้วย เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมาย         สำหรับ ผู้ที่แจ้งเบาะแสนั้น ทางหน่วยงานมีรางวัลนำจับให้ ในกรณีมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งผู้ร้องจะได้รับรางวัลนำจับร้อยละ 25 ของค่าปรับ         นอกจากนี้ อย่าลืมรักษาสิทธิผู้บริโภคของตัวเองด้วยการตรวจเช็กราคาความถูกต้อง สินค้าที่ซื้อครบถ้วนหรือไม่ ก่อนออกจากร้านทุกครั้งจะดีที่สุด              

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 ซิมฟรี ไม่มีอยู่จริง

        ในประกาศของ กสทช. ระบุไว้ชัดเจน เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 6 กำหนดให้ ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการใช้บริการโทรคมนาคมในของแต่ละบริการให้ชัดเจนและครบถ้วน และผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้ผู้บริโภคทราบและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ในการเข้าทำสัญญาและเลือกใช้บริการได้อย่างถูกต้อง         ถ้าทุกค่ายมือถือทำตามมาตรฐานนี้ คุณแก้วคงไม่ต้องมาเสียความรู้สึกจากความไว้วางใจในครั้งนี้         คุณแก้วเป็นลูกค้าของค่ายมือถือสีแดงมานานแล้ว จู่ๆ วันหนึ่งมีพนักงานค่ายมือถือนี้โทร.มาเสนอว่าจะส่งซิมโทรศัพท์มาให้ที่บ้าน เป็นแบบจ่ายรายเดือน 250 บาท ซึ่งถ้าได้รับแล้วยังไม่ใช้ก็ไม่เก็บเงิน สนใจไหม คุณแก้วเห็นว่าเป็นซิมฟรีถ้าไม่ใช้ก็ไม่เสียเงิน จึงตอบตกลง ก็มันฟรีเผื่อจะได้ใช้ประโยชน์ในวันหนึ่ง         หลังส่งสำเนาบัตรประชาชนให้ไปตามที่พนักงานบอกว่าจะใช้เป็นหลักฐานในการรับซิมแจกนี้ จากนั้น 2 อาทิตย์ พนักงานก็โทร.มาถามว่าได้รับซิมหรือยัง เธอก็ตอบไปว่าได้รับแล้ว คิดว่าเรื่องคงจบตรงนี้ใช่ไหม แต่ไม่นานเธอถูกเรียกเก็บเงินจากซิมเบอร์นี้ เป็นเงิน 89.70 บาท ทั้งๆ ที่เธอยังไม่เคยแกะซองและนำซิมมาใช้เลยด้วยซ้ำ         “ตอนแรกยังนึกไปออกว่าเป็นเบอร์ใครนะคะ แต่พอคิดไปคิดมาก็เลยไปหยิบซิมที่ได้แจกมาดู โป๊ะเชะ! เป็นเบอร์เดียวกัน” คุณแก้วเล่าแบบติดโมโห ไหนพนักงานบอกว่ายังไม่ใช้ซิมก็ยังไม่ต้องจ่ายไงล่ะ เธอจึงโทร.ไปถามคอลเซ็นเตอร์ทันที พนักงานตอบว่า “ถึงจะใช้หรือไม่ใช้ ถ้าเกินกำหนดเวลาก็ต้องเสียเงินค่ะ” รู้สึกเหมือนโดนหลอก เธอจึงขอยกเลิกซิมเบอร์นี้ แต่พนักงานไม่ยอมให้ยกเลิกจนกว่าเธอจะจ่ายเงินตามใบแจ้งหนี้เสียก่อน แม้เป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่เธอจะไม่ยอมถูกเอาเปรียบเด็ดขาด จึงโทร.มาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อพิจารณาในส่วนของสัญญาใช้บริการระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้บริโภคนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายได้แสดงเจตนาเสนอสนองถูกต้องตรงกัน แต่ในกรณีนี้ คุณแก้วไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับทางบริษัทแต่อย่างใด เธอให้สำเนาบัตรประชาชนไปก็เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการรับซิมแจกฟรีตามที่พนักงานบอกเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่เกิดเป็นสัญญาการให้บริการหรือใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการรายเดือนเกิดขึ้นระหว่างค่ายมือถือสีแดงกับคุณแก้ว         ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้คุณแก้วทำหนังสือบอกยกเลิกสัญญาและปฏิเสธการชำระเงินที่มีใบแจ้งหนี้ส่งมา โดยส่งถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทของค่ายมือถือนี้ เพื่อให้ยุติการเรียกเก็บค่าบริการพร้อมระบุเหตุผลว่า ตั้งแต่ได้รับซิมมายังไม่เคยได้ใช้ซิมแต่กลับมีใบแจ้งหนี้ส่งมา หรือการให้บริการไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ แล้วส่งไปแบบไปรษณีย์ตอบรับเท่านั้น เพื่อให้มีหลักฐานในการตอบรับจากค่ายมือถือ โดยสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ กสทช. ด้วย หรือจะโทรศัพท์แจ้งยกเลิกการบริการที่ศูนย์ของซิมฟรีนั้นก็ได้ แต่วิธีนี้จะไม่มีหลักฐานเหมือนกับการส่งจดหมาย

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)