ฉบับที่ 254 ฟาสต์แฟชันยังคงฟาสต์ฟอร์เวิร์ด

        หลายคนคงได้ยินข่าวเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่าสหภาพยุโรปประกาศข้อเรียกร้องต่ออุตสาหกรรมแฟชัน ขอให้ผลิตสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนและความสะดวกในการซ่อมแซมหรือรีไซเคิล รวมไปถึงการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค เช่น ระยะเวลาการใช้งาน หรือหลักฐานสนับสนุนว่าสินค้าตนเองรักษ์โลกอย่างไร    
        สหภาพยุโรปมีสถิติการนำเข้าเสื้อผ้าสูงที่สุดในโลก และในช่วงสิบปีที่ผ่านมามูลค่าการนำเข้าสินค้าประเภทเสื้อผ้าของยุโรปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 62 เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะกระแสฟาสต์แฟชันที่แพร่ขยายไปทั่วโลก ปัจจุบันผู้คนสามารถซื้อเสื้อผ้าได้บ่อยและมากกว่าเดิม ด้วยราคาที่ถูกลง รวมถึงคอลเลคชันใหม่ๆ ที่ออกมาดึงดูดใจลูกค้าอยู่ตลอดเวลาจนเสื้อผ้าที่มีอยู่ดูเอ๊าท์ไปโดยปริยาย และถ้าเบื่อหรือไม่ชอบก็แค่ซุกมันไว้หรือไม่ก็ทิ้งไปแล้วซื้อใหม่ สถิติระบุว่าคนในสหภาพยุโรปทิ้งเสื้อผ้ากันคนละประมาณ 11 กิโลกรัมต่อปี  
        แต่นั่นก็ยังไม่เท่าไรเมื่อเทียบกับประเทศที่มีการบริโภคเสื้อผ้าต่อคนเป็นอันดับหนึ่งของโลก อย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีอัตราการทิ้งเสื้อผ้าของประชากรอยู่ที่ 37 กิโลกรัมต่อคนต่อปี  ในขณะที่ออสเตรเลียตามมาเป็นอันดับสอง ด้วยสถิติการซื้อเสื้อผ้าคนละ 27 กิโลกรัม และทิ้งในอัตรา 23 กิโลกรัมต่อปี 
        ผู้บริโภคอาจไม่คิดว่าการมีเสื้อผ้าล้นตู้จะส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากมายนัก เมื่อไม่มีพื้นที่จัดเก็บ ก็แค่นำไปบริจาคให้มูลนิธิต่างๆ หรือขายเป็นเสื้อผ้ามือสองหาเงินเข้ากระเป๋า บริษัทที่รับซื้อเสื้อผ้าเก่าเพื่อส่งออกไปขายยังประเทศอื่นก็มี ... แต่เดี๋ยวก่อน รู้หรือไม่ว่าร้อยละ 10 ของก๊าซเรือนกระจกในโลกเรามาจากขยะเสื้อผ้าที่ชาวโลกร่วมสร้างกันปีละไม่ต่ำกว่า 92 ล้านตัน (เทียบเท่ากับการนำเสื้อผ้าหนึ่งคันรถบรรทุกไปเทลงบ่อขยะหรือเตาเผาทุกหนึ่งวินาที) และหากไม่มีความพยายามใดๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงเทรนด์นี้ นักวิชาการคาดการณ์ว่าโลกเราจะมีขยะเสื้อผ้า 134 ล้านตันในปี 2030 
        แม้การรีไซเคิลดูจะเป็นทางออก แต่ปัจจุบันมีเสื้อผ้าเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เข้าสู่กระบวนการดังกล่าว ด้วยความซับซ้อนของดีไซน์เสื้อผ้ายุคนี้ ส่วนประกอบตกแต่ง เส้นใยหลากหลายชนิด รวมถึงสีเคมีที่ใช้ย้อม ล้วนเป็นอุปสรรคที่ทำให้การรีไซเคิลเป็นเรื่องยากและมีต้นทุนสูง   
        ในขณะที่อีกร้อยละ 80 ของเสื้อผ้าเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังประเทศที่สามเพื่อขายเป็นเสื้อผ้ามือสอง แต่เรื่องมันไม่ง่ายอย่างที่คิด ฉลาดซื้อขอพาคุณไปดูเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศกานา ที่กำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะเสื้อผ้า


 

หน้าผาหลากสี
        ทุกสัปดาห์จะมีเสื้อผ้าใช้แล้วจากยุโรป อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย จำนวน 60 ตู้คอนเทนเนอร์ (หรือประมาณ 15 ล้านชิ้น) ถูกส่งเข้ามายังเมืองอักกรา เมืองหลวงของกานา ฮับเสื้อผ้ามือสองที่ใหญ่ที่สุดในอัฟริกาตะวันตก และที่ตั้งของตลาดคันตามันโตที่มีแผงค้าเสื้อผ้ามือสองกว่า 5,000 แผง 
        ก่อนหน้านี้ ทุกครั้งที่มีการเปิดกระสอบ (ที่ผู้ค้าทุนหนาซื้อมาในราคา 95,000 เหรียญ) พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยจะกรูกันเข้ามาแย่งกันหยิบฉวยเสื้อผ้าแบรนด์เนมที่สามารถนำไปขายทำราคาได้สูงๆ แต่เดี๋ยวนี้แค่แย่งให้ได้เสื้อผ้าสภาพดีพอขายได้ก็เก่งมากแล้ว 
        เพราะปัจจุบันในบรรดาเสื้อผ้าใช้แล้วที่นำเข้ามายังกานา มีเพียงร้อยละ 60 เท่านั้นที่สภาพดีพอที่จะนับเป็นสินค้าส่วนที่เหลือต้องคัดทิ้งเป็นขยะ ที่สำคัญยังมีส่วนที่เป็นขยะอยู่แล้วปะปนมาในกระสอบด้วย 
        ภาระนี้จึงตกเป็นของชาวเมืองที่นี่ ศักยภาพในการกำจัดขยะของเมืองอักกราอยู่ที่วันละ 2,000 ตัน เมื่อขยะทั่วไปของเมืองรวมกับขยะเสื้อผ้าอีก 160 ตันต่อวัน จึงเกินความสามารถที่จะจัดการได้ ส่วนที่เหลือจึงถูกนำไปเผา แต่เนื่องจากปริมาณของมันมหาศาลจึงไม่สามารถเผาได้หมด เสื้อผ้าที่เหลือจากการเผาก็จะถูกนำไปกองรวมกันให้เผชิญแดดลมและความชื้นไปตามสภาพ เกิดเป็นกองขยะริมชายฝั่งทะเล ที่ถูกอัดแน่นพอกพูนขึ้นทุกวันจนดูคล้ายกับหน้าผาหลากสี ที่กลายเป็นแลนด์มาร์กของเมืองนี้ไป 
        แต่มันคงจะไม่ถูกพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในเร็วๆ นี้ เพราะนอกจากจะเป็นมลพิษทางสายตาแล้ว พลาสติกหรือสารเคมีจากสีย้อมที่รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำยังสร้างความลำบากให้กับชีวิตชาวบ้านที่ต้องอาศัยใช้น้ำและชีวิตของสัตว์น้ำในทะเลด้วย 
        ประเทศในอัฟริกาประเทศอื่นก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน บางแห่งรุนแรงจนรัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซง เช่น กรณีของรวันดา ที่ตัดสินใจแบนการนำเข้าเสื้อผ้าเหล่านี้ไปเลย เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและปกป้องอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในประเทศ ในขณะที่เคนยา และแทนซาเนีย กลับไม่สามารถทำอย่างนั้นได้เพราะติดเงื่อนไขที่ทำไว้กับสหรัฐอเมริกา หากไม่รับขยะเหล่านี้ ก็จะต้องพบกับปัญหาเศรษฐกิจที่จะตามมา


 
ฟาสต์แฟชันยังคงฟาสต์ฟอร์เวิร์ด >>> 
        ตั้งแต่ปี .. 2000 เป็นต้นมา แบรนด์เสื้อผ้าจากฝั่งยุโรปที่เคยจำหน่ายเสื้อผ้าปีละ 2 ซีซัน ก็สามารถผลิตออกมาวางขายได้ถึงปีละ 12 ถึง 24 คอลเลคชัน และเป็นที่รู้กันของสายแฟว่าเดี๋ยวนี้มีเสื้อผ้าออกใหม่ทุกสัปดาห์ (เท่ากับ 52 ไมโครซีซัน เลยทีเดียว
        นอกจากนี้การเปิดตัวของร้านเสื้อผ้าออนไลน์ที่รองรับการสั่งซื้อตลอด 24 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น SHEIN ร้านเสื้อผ้าออนไลน์ (ประเภทไม่มีหน้าร้าน) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทมียอดขาย 6,200 ล้านเหรียญในปี 2020 และ 15,000 ล้านเหรียญในปี 2021 และความร้อนแรงนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา บริษัทซึ่งมีมูลค่า 100,000 เหรียญสหรัฐ ยังสามารถระดมทุนได้อีก 1,000 ล้านเหรียญ 
        ตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ SHEIN คือสหรัฐฯ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงในวัยต่ำกว่า 25 ปี เรื่องนี้สอดคล้องกับงานวิจัยที่ระบุว่ากลุ่มคนที่ซื้อเสื้อผ้ามากที่สุดคือวัยรุ่นผู้หญิง เขาพบว่าคนกลุ่มนี้ซื้อเสื้อผ้าปีละ 50 ถึง 60 ชิ้น และในจำนวนนี้มีมากกว่าร้อยละ 10 ที่ไม่เคยหยิบออกมาใส่
        กระแสสังคมโซเชียลที่กระตุ้นการซื้อด้วยวาทกรรมของมันต้องมีภาพการหิ้วถุงพะรุงพะรังเดินหัวเราะร่าเริงออกจากร้าน รวมถึงการนำเสนอว่าการซื้อเสื้อผ้าเพื่อมาใส่ (เพียงครั้งเดียว) ในโอกาสพิเศษนั้นเป็นเรื่องปกติ ล้วนมีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ 
        งานสำรวจจากอังกฤษพบว่า หนึ่งในสามของสาวๆ ที่นั่นมองว่าเสื้อผ้าที่สวมใส่แล้วหนึ่งหรือสองครั้ง ถือเป็นเสื้อผ้าเก่า”  ในขณะที่หนึ่งในเจ็ดบอกว่าการปรากฏตัวซ้ำในภาพถ่ายด้วยชุดเดิมเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้
ที่น่าสนใจคือ คน Gen Z และมิลเลนเนียล ที่ขึ้นชื่อว่าตระหนักถึงปัญหาภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนหน้า และให้การยอมรับเสื้อผ้ามือสองมากกว่าคนรุ่นก่อน กลับไม่ตั้งคำถามว่าถ้าเสื้อผ้าราคาถูกขนาดนี้ คนที่เกี่ยวข้องในสายการผลิต (เช่น เกษตรกร เจ้าของโรงงาน พนักงานโรงงาน ธุรกิจขนส่ง) จะได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมหรือไม่
                                                                        
ข้อมูลอ้างอิง
https://ecdpm.org/talking-points/sustainable-fashion-cannot-stop-eu-borders/?fbclid=IwAR0QRttzmKb8VB7cT2p0_N4ObdoNBWKEDOZTbgW1GJEy0DaZ-zNiJW63DTY
https://www.abc.net.au/news/2021-08-12/fast-fashion-turning-parts-ghana-into-toxic-landfill/100358702?fbclid=IwAR2HZoRrPYBNtPLrsd0vN1V1dGSiJf7a4tXiNleJ7QP00bHoh_DT8lAtM1g
https://www.abc.net.au/news/2021-06-11/textile-waste-consumption-under-estimated/100184578?fbclid=IwAR08GFcy-Y-PJAwx6Qris5Qk7l_cwZ-_KQZb9UovsdXeSjnEJqJ1Fa6jOfM
https://www.scmp.com/lifestyle/fashion-beauty/article/3173201/why-does-gen-z-buy-so-much-fast-fashion-if-theyre-so?fbclid=IwAR1kNqi92pJPbFdett3nJH6Z99Dq8LQlMu7iJ3lJ5RUW15s-EEWoaF3oSR0
https://www.bbc.com/future/article/20200710-why-clothes-are-so-hard-to-recycle
https://fashiondiscounts.uk/fast-fashion-statistics/

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

0 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค เสื้อผ้า เสื้อผ้ามือสอง ขยะเสื้อผ้า แฟชัน

ฉบับที่ 277 3 เรื่องโซลาร์เซลล์บนหลังคา : จากบ้านตัวเองถึงเวียดนามและแอฟริกาใต้

หนึ่ง หลังคาบ้านตนเอง แบบไหนละติดตั้งแล้วคุ้มทุน        สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เคยทำข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลให้เร่งดำเนินการสนับสนุนให้ผู้บริโภคสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตนเองด้วยระบบที่เรียกว่า “หักลบหน่วยไฟฟ้า หรือ Net Metering” ซึ่งเป็นระบบที่ลงทุนที่ประหยัดที่สุด ที่ไม่ต้องติดตั้งมิเตอร์เพิ่ม แต่ใช้มิเตอร์ตัวเดิมแบบจานหมุนที่มีอยู่แล้วเพราะไฟฟ้าสามารถเดินได้ 2 ทางอยู่แล้ว พูดง่ายๆก็คือเป็นการแลกไฟฟ้ากันระหว่างเจ้าของบ้านกับการไฟฟ้า  เมื่อถึงเวลาคิดบัญชีรายเดือน หากไฟฟ้าจากสายส่งไหลเข้าบ้านมากกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากหลังคาบ้าน เจ้าของบ้านก็จ่ายเพิ่มเฉพาะในส่วนที่เกิน ระบบนี้มีการใช้กันประมาณ 68 ประเทศทั่วโลก  รัฐบาลไทยเราก็เคยมีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการไปแล้วเมื่อ 27 กันยายน 2565 แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างว่าไม่สามารถปฏิบัติได้และได้รายงานคณะรัฐมนตรีในเวลาต่อมา         ความจริงเมื่อประมาณ 4-5 ปีมาแล้ว กระทรวงพลังงานเคยออกระเบียบเพื่อรับซื้อไฟฟ้าที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ขายไฟฟ้าให้ผู้บริโภคในราคาประมาณ 4 บาทกว่าๆ นอกจากนี้ยังรับซื้อเป็นเวลาเพียง 7 ปีเท่านั้น (ภายหลังได้ขยายเพิ่มเป็น 10 ปี)  ทั้ง ๆที่อายุการใช้งานของโซลาร์เซลล์อยู่ได้นานถึง 25 ปี ดังนั้น โครงการนี้จึงไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน หรือเรียกว่าล้มเหลวก็ว่า เพราะ รับซื้อในราคาต่ำเกินไป ต่ำกว่าที่รับซื้อจากโซลาร์ฟาร์มเสียอีก และรับซื้อเพียง 10 ปีเท่านั้น         ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป 2 ประการ คือ (1) ค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าขายให้ผู้บริโภคมีราคาแพงขึ้นกว่าเดิม (2) ค่าติดตั้งโซลาร์เซลล์มีราคาลดลงจากเมื่อ 4-5 ปีก่อน   (3)  เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายอยู่ทุกวันนี้มีอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก อัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยจะยิ่งสูงขึ้น ดังนั้น หากเราติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองจำนวนหนึ่ง จึงถือเป็นการตัดยอดจำนวนไฟฟ้าที่ต้องซื้อลง  อัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยก็จะถูกตามลงมาด้วย ผมจึงขอเสนอแนวคิดที่ปฏิบัติได้จริงมาให้ผู้อ่านพิจารณา         ผมขอยกตัวอย่างจริงนะครับ สมมุติว่า เราใช้ไฟฟ้าจำนวน 800 หน่วยต่อเดือน (บ้านชนชั้นกลางที่อยู่กัน 4-5 คน) ถ้าเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.2 เราจะต้องจ่าย (ในช่วงเมษายน-กรกฎาคม) จำนวน  3,909.53  บาท เฉลี่ย  4.89 บาทต่อหน่วย แต่ถ้าเราใช้เพียง 470 หน่วย จะจ่ายค่าไฟฟ้า 2,207.98 บาท เฉลี่ย 4.70 บาทต่อหน่วย  ต่างกัน 19 สตางค์ต่อหน่วย จำนวนไฟฟ้าที่หายไป 330 หน่วย ทำให้เราจ่ายค่าไฟฟ้าลดลง 1,701.55 บาท (เฉลี่ย 5.16 บาทต่อหน่วย)  ไฟฟ้าส่วนที่หายไปนี้มาจากการคิดว่า เราสามารถผลิตได้จากโซลาร์เซลล์ขนาด 3 กิโลวัตต์ ซึ่ง 1 กิโลวัตต์จะผลิตได้ปีละ 1,320 หน่วย หรือเดือนละ 110 หน่วย นั่นเอง         คราวนี้เราเห็นแล้วนะครับว่า ยอดหน่วยไฟฟ้าที่อยู่บน(คือหน่วยที่ 471-800) ราคา 5.16 บาทต่อหน่วย ในขณะที่  470 หน่วยแรก มีอัตรา 4.70 บาทต่อหน่วย   การคิดจุดคุ้มทุนสำหรับผู้อยู่บ้านตอนกลางวันเป็นส่วนใหญ่         มี 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณา (1) เรามีการใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันมากแค่ไหน เพราะไฟฟ้าที่ผลิตได้อยู่ในช่วงที่ดวงอาทิตย์ส่องแสงถึง  ถ้าใช้ไฟฟ้าในช่วงนี้น้อยก็ไม่เกิดประโยชน์  (2) จะคุ้มทุนในเวลากี่ปี โดยสมมุติว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่เราสามารถผลิตได้เท่ากับ 5.16 บาทต่อหน่วย         เท่าที่ผมทราบต้นทุนในการติดตั้งขนาด 3 กิโลวัตต์ในปัจจุบันประมาณ 95,000 บาท ด้วยอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานที่ทางการไฟฟ้ารับรอง แผงโซลาร์มีอายุการใช้งาน 25 ปี แต่อุปกรณ์บางชิ้นมีอายุการใช้งานประมาณ 12 ปี อาจจะต้องเปลี่ยนหรือลงทุนใหม่เฉพาะอุปกรณ์ชิ้นนั้น (คือ อินเวิร์ทเตอร์ราคาประมาณ 2 หมื่นกว่าบาท) แต่เอาเถอะ ผมขอสมมุติว่าค่าลงทุนตลอดโครงการ 25 ปี ด้วยเงิน 95,000 บาท         ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ขนาด 1 กิโลวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,320 หน่วย ดังนั้น ในเวลา 4.7 ปี โซลาร์เซลล์ขนาด 3 กิโลวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าคิดเป็นมูลค่า 3X1,320X5.16X4.7 เท่ากับ 96,038 บาท  หรือคุ้มทุนภายใน 56 เดือน แต่ขอย้ำนะครับว่า โครงการนี้เหมาะสำหรับคนที่อยู่บ้านตอนกลางวันและพยายามใช้ไฟฟ้าที่ตนผลิตได้ให้หมด เช่น เปิดแอร์ ซักผ้า รีดผ้า ฯลฯ        คราวนี้มาคิดกรณีที่บางท่านอาจจะไม่มีเงินลงทุน ก็มีทางออกครับ มีธนาคารอย่างน้อย 2 แห่ง ปล่อยเงินกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ย 4.9% ต่อปี สมมุติว่าเรามีเงินดาวน์ 1.5 หมื่นบาท และผ่อนส่วนที่ต้องกู้ 80,000 บาทนาน 60 เดือน สิ้นเดือนแรกซึ่งเป็นเดือนที่ผ่อนมากที่สุดเท่ากับ 1,660 บาท(ในจำนวนนี้เป็นเงินต้น 1,333.33 บาท) เงินค่าไฟฟ้าที่เราลดลงมาได้เดือนละ 1,701.55 บาทก็เพียงพอกับค่าผ่อนครับ เมื่อครบ 60 เดือนเราก็ผ่อนหมด ที่เหลืออีก 20 ปีถือว่าเราได้ชุดโซลาร์เซลล์มาฟรีๆ น่าสนใจไหมครับ สอง รัฐบาลเวียดนามวางแผนส่งเสริมโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านและสำนักงาน 50% ภายใน 2030         จากเรื่องที่หนึ่ง เราจะเห็นว่ารัฐบาลไทยได้พยายามกีดกันการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์โดยผู้บริโภค แต่รัฐบาลเวียดนาม โดยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือ PDP8 (ประกาศใช้เมื่อพฤษภาคม 2023 และใช้งานในช่วง 2021-2030)  ได้กำหนดว่า “อย่างน้อย 50% ของบ้านพักอาศัยและอาคารสำนักงานต้องติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองภายในปี 2030” รวม 2,600 เมกะวัตต์ โดยใช้สายส่งที่มีอยู่แล้วซึ่งไม่จำเป็นต้องปรับปรุงใหม่แต่อย่างใด(หน้า 5)         เล่ามาแค่นี้ ทำให้เราเห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเวียดนาม หมายเหตุ ถึง บก. กรุณาอย่าเลื่อนภาพไปที่อื่น เพราะผู้อ่านจะไม่เข้าใจกับเนื้อหาที่เขียนครับ         เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2024 คุณ Geordin Hill-Lewis นายกเทศมนตรีเมือง Cape Town (มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน) ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านและอาคารพาณิชย์ทั้งหมดอย่างไม่จำกัดจำนวน ทั้งนี้เพื่อช่วยแก้ปัญหาไฟฟ้าดับเนื่องจากมีการใช้ไฟฟ้ากันมากเกินในบางช่วงเวลา (Loadshedding) ก่อนหน้านี้ (ในช่วง 15 เดือนของปี 2022-2023) ชาวเมือง Cape Town ได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพิ่มขึ้นถึง 349% (จาก 983 เมกะวัตต์เป็น 4,412 เมกะวัตต์-ข่าว Bloomberg)         นายกเทศมนตรียังกล่าวเสริมอีกว่า “Cape Town จะเป็นเมืองแรกที่ได้ปรับยุทธศาสตร์พลังงานอย่างเป็นทางการเพื่อยุติเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ และการกระทำที่สำคัญที่สุดคือการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยการจ้างงาน...ในระยะสั้นภายใน 2026 เราได้วางแผนป้องกันไฟฟ้าดับไว้ 4 ระยะคือ (1) เราได้เปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์ที่วางใจไม่ได้ (2) จากการใช้พลังงานฟอสซิลที่มีราคาแพงไปสู่การกระจายแหล่งอุปทาน (supply) ที่เชื่อถือได้ (3) ทำให้ราคาไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ และ (4) นำไปสู่แหล่งพลังงานที่ทำให้เป็นกลางทางคาร์บอน”         ผมได้นำเสนอใน 3 เรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์บนหลังคา คือ (1) การกีดกันโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านของรัฐบาลไทย ด้วยเหตุผลต่างๆนานา และทางออกของผู้บริโภครายบุคคล (2) การส่งเสริมที่เป็นแผนพลังงานชาติของรัฐบาลเวียดนาม และ (3) การส่งเสริมของรัฐบาลแอฟริกาใต้และนายกเทศมนตรีเมือง Cape Town ครบถ้วนแล้วครับเพื่อเป็นการตอกย้ำในข้อมูลดังกล่าว ผมจึงขอตบท้ายด้วยข้อมูลเชิงสถิติ ถึงจำนวนไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ต่อหัวประชากรของบางประเทศ ในปี 2014 กับ 2022  ดังภาพข้างล่างนี้         ท่านผู้อ่านรู้สึกอย่างไรกับข้อมูลนี้ครับ เมื่อปี 2014 เราเคยผลิตได้มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แต่อีก 8 ปีต่อมา เรากลับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึงกว่า 2 เท่าตัว  นอกจากนี้ ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ของไทย กว่าร้อยละ 98 ผลิตมาจากโซลาร์ฟาร์มซึ่งเป็นกลุ่มทุนพลังงาน แทนที่จะสนับสนุนผู้บริโภครายปัจเจกด้วยโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านของตนเองสาม ตัวอย่างจากเมือง Cape Town ประเทศแอฟริกาใต้ 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 เอาใจสายเทรด (2) ทำความรู้จักกราฟแท่งเทียน

        วันนี้ยังคงเอาใจสายเทรดกันต่อ ด้วยการทำความรู้จักแบบคร่าวๆ กับกราฟชนิดหนึ่ง ต่อให้เป็นคนที่ไม่สนใจการลงทุนหรือการเทรดก็มีโอกาสผ่านหูผ่านตากันมาบ้างตามหน้าสื่อธุรกิจ-เศรษฐกิจ เจ้ากราฟประเภทนี้แทบจะเป็นกติกาท่าบังคับที่สายเทรดต้องเรียนรู้ ไม่งั้นจะไปต่อยาก         กราฟนี้มีชื่อว่า Candlestick Chart หรือกราฟแท่งเทียน         มันก็คือกราฟที่เป็นแท่งๆ มีสีเขียวกับสีแดง ยาวบ้าง สั้นบ้าง ที่เรียงต่อๆ บางช่วงก็ไต่ขึ้น บางช่วงก็ทรงๆ ออกด้านข้าง บ้างช่วงก็ไต่ลง และด้านบนกับด้านล่างก็มักจะมีเส้นตรงขีดขึ้นหรือลงต่อจากตัวแท่งเทียนเลยถูกเรียกว่า ไส้เทียน นี่แหละที่เรียกว่ากราฟแท่งเทียนและสายเทรดทุกคนต้องทำความรู้จักและตีความนัยที่เจ้าแท่งสีเหล่านี้กำลังบอกแนวโน้มของราคาหุ้นในอนาคต         เจ้าแท่งเทียนนี่บอกอะไร? มันบอก 4 อย่างคือราคาซื้อขายแรกในช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่ใช้วาดแท่งเทียน, ราคาสุดท้ายที่มีการซื้อขายในช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่นำมาวาดแท่งเทียน, ราคาสูงสุด และราคาต่ำสุด         ตัวแท่งเทียนเป็นตัวบอกราคาเปิดและราคาปิดของหุ้นตัวหนึ่งๆ ในวันนั้นๆ ส่วนไส้เทียนคอยบอกว่าในวันนั้นๆ ราคาหุ้นที่นำมาวาดกราฟซื้อ-ขายกันที่ราคาสูงสุดและต่ำสุดเท่าไหร่ ถ้าราคาสุดท้ายของหุ้นในวันนั้นปิดสูงกว่าราคาเปิด แท่งเทียนก็จะเป็นสีเขียว (บางที่ใช้แท่งโปร่งๆ แทนสีเขียว) แต่ถ้าราคาสุดท้ายปิดต่ำกว่าราคาเปิด แท่งเทียนก็จะเป็นสีแดง         ทีนี้ก็จะมีคนถามว่า แล้วถ้าราคาปิดกับราคาเปิดเท่ากันล่ะ? กราฟแท่งเทียนของวันนั้นก็จะไม่มีตัวแท่งเทียน มีแค่ขีดแนวนอนพาดทับไส้เทียน รูปจะออกมาคล้ายกากบาท ซึ่งเส้นแนวนอนที่ว่าจะอยู่กลาง ค่อนไปทางด้านบน หรือค่อนไปทางด้านล่างก็ขึ้นกับการซื้อ-ขายหุ้นในวันนั้น         หรือพูดให้ง่ายๆ เข้า กราฟแท่งเทียนก็คือตัวบอกปริมาณความต้องการซื้อและขายหุ้นตัวหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง ทั้งยังบอกสภาพทางจิตวิทยาหรืออารมณ์ของตลาดต่อหุ้นตัวนั้น ซึ่งช่วยให้เห็นลักษณะการซื้อ-ขาย รวมถึงแนวโน้มในอนาคต เช่น แรงซื้อจำนวนมากทำให้ราคาหุ้นปิดสุดท้ายสูงกว่าราคาเปิด หรือถ้าราคาปิดของวันกับราคาต่ำสุดของวันก็แปลว่ายังมีแรงขายต่อเนื่อง แต่ตลาดหุ้นดันปิดทำการซะก่อน มันก็จะพอตีความได้ว่าวันรุ่งขึ้นอาจมีแรงขายทำให้หุ้นตัวนี้ราคาตกลงไปอีก เป็นต้น         พอเอากราฟแท่งเทียนของหุ้นสักตัวมาสร้างกราฟในช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้นเช่นสักหนึ่งสัปดาห์ หนึ่งเดือน หรือสามเดือน นักเทรดก็จะพอเห็นแนวโน้มในอนาคตแล้ววางแผนเทรดหุ้นเพื่อทำกำไร ...ก็ต้องลองไปหาหนังสืออ่านต่อกันเอง         แต่โปรดจำไว้ข้อหนึ่ง ไม่มีใครเดาใจตลาดได้ วันนี้เป็นแบบนี้ พรุ่งนี้กลับกลายเป็นหนังคนละม้วน ดังนั้น จงวางแผนเทรดให้ดี รู้ว่าจะเขาเมื่อไหร่และรู้ว่าเมื่อไหร่ถึงเวลาต้องออก

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 ว่าด้วย “รายการส่งเสริมการขาย” ในโลกของบริการมือถือ

        ในความหมายทั่วไป รายการส่งเสริมการขายหมายถึงข้อเสนอพิเศษที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราวเพื่อการส่งเสริมการขาย หรือ Sale Promotion โดยเป็นวิธีการทางการตลาดที่ใช้เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าสนใจและตัดสินใจซื้อสินค้าในทันที ดังนั้นข้อเสนอพิเศษดังกล่าวจึงต้องมีลักษณะ “ว้าว” มากพอที่จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นและเป็นเรื่องเร่งด่วน นั่นคือเป็นโอกาสที่ต้องรีบคว้าไว้ หากชักช้าอาจพลาดได้         โดยทั่วไปแล้ว รายการส่งเสริมการขายจึงมีลักษณะชั่วคราว จัดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ และบางครั้งมีการตั้งวัตถุประสงค์หรือกลุ่มลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง รูปแบบหลักที่มีการใช้มากที่สุดก็คือ การลด แลก แจก แถม         แต่สำหรับรายการส่งเสริมการขายในโลกของบริการมือถือ จะมีลักษณะที่แตกต่างออกไปในทางตรงกันข้ามเลยทีเดียว กล่าวคือจะเป็นเรื่องของการเสนอขายบริการในลักษณะที่มีการรวมรายละเอียดของบริการต่างๆ เป็นชุด  และเสนอขายเป็นการปกติทั่วไป ไม่มีทั้งการลด แลก แจก แถม และไม่มีความพิเศษหรือเร่งด่วนจนต้องรีบคว้าเอาไว้ หรือต้องรีบตัดสินใจ         ความหมายของรายการส่งเสริมการขายในบริการมือถือแท้จริงแล้วจึงค่อนข้างจะตรงกับคำว่า แพ็กเกจ (Package) ที่แปลว่าการซื้อขายเหมาเป็นชุด ซึ่งในวงการก็มีการใช้สองคำดังกล่าวในลักษณะทดแทนกันอยู่แล้ว         และรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือก็จะมีอยู่มากมายหลายๆ แพ็กเกจ         เมื่อรายการส่งเสริมการขายบริการมือถือคือชุดของบริการที่บรรจุรายละเอียดบริการต่างๆ เอาไว้ จึงเท่ากับเป็นกรอบกำหนดปริมาณและคุณภาพของบริการ เช่นว่า ในแพ็กเกจ ก. อาจใช้บริการโทรได้ 100 นาทีและใช้อินเทอร์เน็ต 5G ความเร็วสูงสุดได้ 10 GB ดังนั้น ในโลกของการให้บริการมือถือ แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายจึงเป็นส่วนที่ใช้ในการโฆษณา ซึ่งจุดนี้เป็นจุดหนึ่งที่เป็นประเด็นปัญหาอย่างยิ่ง         ดังที่ผู้บริโภคทั่วไปคงรู้สึกได้ว่า ในวงการโทรคมนาคมด้านบริการมือถือ มีการโฆษณาที่เข้าข่ายเกินจริง มีการใช้คำหรือข้อความโฆษณาลักษณะ เร็วสุด, แรงสุด, ทั่วไทย ฯลฯ กันเป็นปกติ และยังมีปัญหาลักษณะการยัดเยียดโฆษณาจนเป็นการรบกวนผู้บริโภคด้วย โดยเฉพาะการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาลักษณะของการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายไม่ชัดเจนเพียงพอด้วย ตัวอย่างเช่น รายการส่งเสริมการขายมีข้อกำหนดว่าโทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง แต่มีเงื่อนไขในรายละเอียดพ่วงด้วยว่า ส่วนที่ฟรีนั้นจำกัดเฉพาะในส่วน 30 นาทีแรกของการโทรแต่ละครั้งเท่านั้น แต่ในการโฆษณาหรือแจ้งรายการส่งเสริมการขายดังกล่าวไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขรายละเอียดนี้         ปัญหาประการสำคัญในส่วนนี้คือ การไม่ได้รับบริการที่เป็นไปตามรายการส่งเสริมการขาย ทั้งๆ ที่ในทางกฎหมายแล้ว แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา โดยคุณภาพบริการที่ใช้งานได้จริงต้องเป็นไปตามที่พรรณนาหรือบรรยายไว้ในการโฆษณารายการส่งเสริมการขาย เรื่องนี้มีปัญหามากในส่วนบริการอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้ความเร็วตามกำหนด หรือใช้ได้ไม่ครบตามปริมาณที่กำหนด         ปัญหาอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายที่ผู้บริโภคมักประสบเป็นเรื่องของการเปลี่ยนรายการส่งเสริมการขาย โดยมีปัญหาทั้งในลักษณะไม่สามารถเปลี่ยนได้ หรือถูกทางบริษัทผู้ให้บริการเปลี่ยนให้โดยพลการ ปัญหาทั้งสองลักษณะเท่ากับเป็นการจำกัดหรือละเมิดสิทธิการเลือกบริการของผู้บริโภค ทำให้ต้องผูกติดอยู่กับแพ็กเกจใดแพ็กเกจหนึ่ง หรือถูกบังคับใช้แพ็กเกจตามความพึงพอใจของบริษัทผู้ให้บริการ         ปัญหาประการหลังสุดนี้ขัดกับสิทธิผู้บริโภคประการที่ 2 ใน 5 ประการที่พระราชบัญญัติฃคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้ว่าเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ต้องได้รับความคุ้มครอง นั่นคือ สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ แต่ในส่วนของกฎหมาย กสทช. ไม่มีข้อกำหนดโดยตรงในเรื่องนี้ มีเพียงข้อกำหนดที่ว่า กรณีผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอใด จะถือว่าตกลงใช้บริการไม่ได้         ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณา แม้กสทช. จะไม่ได้มีกฎหมายกำกับควบคุม แต่ในมิติของการให้ข้อมูลที่เพียงพอ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 6 กำหนดไว้ว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจนและครบถ้วน ผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย ซี่งตรงกับสิทธิของผู้บริโภคตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้เป็นสิทธิประการที่ 1 นั่นคือ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ         ส่วนประเด็นเรื่องการให้บริการที่ต้องเป็นไปตามสัญญา รวมถึงโฆษณา เป็นไปตามหลักที่ว่า โฆษณาถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ดังนั้น เมื่อรายการส่งเสริมกำหนดไว้อย่างไร บริการที่ผู้บริโภคได้รับย่อมต้องเป็นไปตามนั้น         ในโลกของบริการมือถือ รายการส่งเสริมการขาย จึงไม่ใช่การส่งเสริมการขาย แต่คือสาระสำคัญของบริการที่ผูกโยงกับปัญหาที่ผู้บริโภคอาจประสบและเกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 สามสิ่งที่ต้องรีบจัดการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคเอไอ

        คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าบทความที่กำลังอ่านอยู่นี้ไม่ใช่สิ่งที่เขียนขึ้นโดยเอไอ        มันไม่ใช่ฝีมือของเอไอหรอก แต่ถ้าใช่ คุณก็ควรมีสิทธิรู้ไม่ใช่หรือ         ประเด็นเรื่องความโปร่งใสและการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคในยุคของปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ๆ ได้ (Generative AI / เจนเนอเรทีฟเอไอ) ก็มีความเข้มข้นขึ้นทุกวัน ธุรกิจนี้มีผู้เล่นน้อย มีบริษัทเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ผูกขาดการเป็นเจ้าของข้อมูลและโมเดลต่างๆ ของเอไอ เราทำนายว่าในอนาคตจะมีข้อกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น เราจึงกำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิดจากมุมมองของผู้บริโภค ในขณะที่ตลาดหลักๆ ที่มีการใช้เอไอ มุ่งความสนใจไปที่การต่อต้านการผูกขาดทางการค้า         สิ่งที่ชัดเจนคือปัญญาประดิษฐ์แบบใหม่นี้จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา ตั้งแต่กฎหมาย บรรทัดฐาน และค่านิยมต่างๆ ทำให้ความโปร่งใสเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง การคุ้มครองผู้บริโภคแบบเดิมจึงไม่เพียงพอ ต้องมีการคิดใหม่ทำใหม่เพื่อให้เท่าทันพัฒนาการทางเทคโนโลยีล่าสุด         คำแนะนำของสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค เน้นความสำคัญของความโปร่งใสในการให้ข้อมูลแก่ผู้คนเพื่อการตัดสินใจอย่างเหมาะสม และทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถกำหนดและบังคับใช้ระเบียบต่างๆ ได้         การปรับปรุงเรื่องความโปร่งใสของเอไอได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าผู้คนจะได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงจากเทคโนโลยีใหม่นี้ การคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพจึงต้องเป็นส่วนหนึ่งของทั้งสามขั้นตอนต่อไปนี้         1. การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์         รายงานการตรวจสอบโดยคณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐฯ พบว่าผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องวิธีการที่ใช้ในการสร้างเอไอและการนำเอาข้อมูลต่างๆ ไปใช้ โมเดลส่วนใหญ่ของเจเนอเรทีฟเอไอต้องอาศัยชุดข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อฝึกฝนและเรียนรู้ เราต้องตั้งคำถามว่าโมเดลปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ถูกสร้างและบำรุงรักษาอย่างไร และเป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่         ตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่ใช้เพื่อฝึกฝนโมเดลเอไอได้รับการจัดเก็บอย่างถูกต้องตามกฎหมายและได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลหรือไม่ การจ้างงานมนุษย์เพื่อทำหน้าที่จำแนกข้อมูลและใส่หัวข้อเป็นไปอย่างถูกต้องตามจริยธรรมหรือไม่ ทรัพยากรด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องได้รับการจัดการอย่างรับผิดชอบหรือไม่ นักพัฒนาควรเปิดเผยข้อมูลว่าด้วยสิ่งที่ตนเองใช้ในการสร้างเครื่องมือสำหรับผู้บริโภค แบบเดียวกับการติดฉลากผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ผู้คนเข้าใจว่ามีอะไรอยู่ในอาหาร เสื้อผ้า หรือยารักษาโรค         2. การเผยแพร่และจัดจำหน่าย         เมื่อโมเดลเอไอถูกสร้างขึ้น มันควรถูกนำมาใช้โดยคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก         การพัฒนาโมเดลเอแแบบปิดหรือเปิดกลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในกรณีโมเดลแบบเปิด โค้ดต้นฉบับหรือคำสั่งในโปรแกรมจะเป็นสิ่งที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่ว่าใครก็สามารถนำไปใช้ได้ ขณะที่โมเดลแบบปิดจะเป็นของส่วนตัวและมีลิขสิทธิ์         ทั้งสองรูปแบบต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากคนที่เห็นด้วย มันน่าตื่นเต้นที่จะได้เห็นเครื่องมือใหม่ๆ ที่สังคมสามารถนำมาใช้ได้ แต่เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสม เราจำเป็นต้องรู้ว่าเมื่อโมเดลดังกล่าวถูกปล่อยออกไป มันจะส่งผลต่อสังคมอย่างไร         นักพัฒนาหรือผู้ที่นำผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปใช้ ได้คำนึงถึงความเสี่ยงหรือเปิดเผยความเสี่ยงของมันให้สังคมรู้หรือไม่ มีการอนุญาตให้บุคคลภายนอก เช่น นักวิจัย หรือหน่วยงานกำกับดูแล เข้าไปตรวจสอบคำกล่าวอ้างเหล่านั้นโดยอิสระหรือไม่ ในกรณีของโมเดลแบบเปิด มีการกำหนดเกณฑ์ว่าใครสามารถนำโค้ดไปสร้างต่อ หรือกำหนดสิ่งที่สามารถทำได้กับโค้ดดังกล่าวหรือไม่         เราเคยได้ยินข่าวว่าโมเดลของปัญญาประดิษฐ์แบบเปิดถูกนำมาใช้เพื่อสร้างภาพลามกอนาจารโดยบุคคลที่อยู่ในภาพไม่ได้ให้ความยินยอม สภาผู้บริโภคแห่งนอร์เวย์ได้ออกคำเตือนโดยละเอียดว่าด้วยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันสามารถสร้างข้อมูลปลอมหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้องได้ปริมาณมหาศาล เป็นการติดอาวุธให้กับมิจฉาชีพในการสร้างเรื่องหลอกลวงผู้บริโภค และมันยังทำให้การหลอกลวงออนไลน์เป็นเรื่องที่ยากแก่การตรวจสอบด้วย งานวิจัยพบว่าจากคนหนึ่งร้อยคน มีผู้ที่สามารถบอกได้ว่าเนื้อหาที่อ่านเป็นฝีมือของเอไอเพียง 50 คนเท่านั้น         ที่การประชุมใหญ่ระดับโลกของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลในปี 2023 เราได้เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ กำหนดให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเพียงพอจากภัยดังกล่าวบนแพลตฟอร์มเทคโนโลยีในคำประกาศเพื่อหยุดการหลอกลวงออนไลน์ (Global Statement to Stop Online Scams) สิ่งที่ต้องมีคือกฎระเบียบและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกัน ตรวจจับ สกัดกั้น และรับมือกับการหลอกลวงเหล่านี้         ผู้ที่กำลังพัฒนาระบบเอไอจะต้องตระหนักและรายงานสิ่งที่ตนเองรู้เกี่ยวกับอันตรายที่สามารถเกิดขึ้น         3. การกำหนดความรับผิดชอบ         เราจำเป็นต้องเค้นถามให้ได้คำตอบว่ามีขั้นตอนกระบวนการที่เข้มข้นพอเพื่อแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ และมีการกำหนดระดับความรับผิดชอบหรือระดับการคุ้มครองอย่างเหมาะสมทั้งในภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม แล้วหรือยัง ทั้งนี้รวมถึงสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับการชดเชยเยียวยา การเปิดเผยเรื่องการขออนุญาตเข้าถึงฐานข้อมูลของรัฐ และการละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น         พูดง่ายๆ คือ ถ้าระบบเอไอสร้างปัญหาให้กับมนุษย์ เราจะโทษใคร และใครมีหน้าที่แก้ไขปัญหาดังกล่าว เรื่องความรับผิดต้องระบุให้ชัดเจน         เรื่องศักยภาพของเอไอและเทคโนโลยีอื่นๆ ในการทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือสร้างอคติ มีคนพูดถึงค่อนข้างมาก แต่ยังไม่มีใครพูดถึงคนที่ต้องเป็นผู้รับผิด รวมถึงการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม เราจำเป็นต้องอภิปรายกันอย่างเข้มข้นในเรื่องวิธีการสนับสนุนหรือท้าทายการตัดสินใจโดยอัลกอริธึมของเอไอ เช่น การให้บริการเงินกู้ บริการสุขภาพ การทำประกัน หรือการจ้างงาน เป็นต้น         เอไอเข้าครอบคลุมทุกพื้นที่         เราต่างก็รู้ดีถึงพลังของเอไอในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราในแบบที่เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพ แต่ระดับความเร็วของการเปลี่ยนแปลงและภาวะไร้การควบคุมทำให้เราต้อง เร่งกำหนดนโยบายเชิงรุกเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค         ในปี 2024 นี้ เราต้องพิจารณากันให้ถี่ถ้วนว่ามีการลงมือทำอะไรไปแล้วบ้างและคิดหาวิธีที่ดีที่สุดในการใช้โอกาสอย่าง “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” ซึ่งเราได้กำหนดหัวข้อเรื่อง “เอไอที่เป็นธรรมและรับผิดชอบต่อผู้บริโภค” หรือการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่ดาวอส รวมถึงการประชุม G20 ที่ริโอเดอจาเนโร เพื่อให้เกิดการพูดคุยและสร้างการเปลี่ยนแปลง         ความพยายามด้านกฎหมายที่สำคัญ เช่น “พรบ. เอไอของสหภาพยุโรป” ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ในปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการรับรู้และการสนับสนุนจากภาครัฐ และแรงขับเคลื่อนในเรื่องแนวคิดการคุ้มครองผู้บริโภค         เราต่างก็ต้องการใช้ประโยชน์จากพลังของเทคโนโลยี ถ้าเราทำอย่างรับผิดชอบ เจนเนอเรทีฟเอไอ สามารถสร้างประโยชน์ได้มากมายโดยมีผลกระทบน้อยที่สุด แต่หากไม่มีการพูดคุยหรือจำกัดขอบเขตของความเสี่ยงเหล่านี้ ผลที่ได้อาจต่างไปโดยสิ้นเชิง         เราต้องดูแลผู้บริโภคเดี๋ยวนี้

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)