แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค หน้ากากอนามัยเด็ก หน้ากาก เชื้อโรค ไวรัส โควิด-19 เด็ก
แคมเปญผู้บริโภคที่รักชี้คะแนนการสำรวจนโยบายสาธารณะฯ ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยขยับสูงขึ้น ใครคือตัวท็อป ? ภาพรวมของการประเมินนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เปิดเผยต่อสาธารณะของผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ต 8 รายใหญ่ของไทย มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นในทุกหัวข้อตัวชี้วัด หลักเกณฑ์การประเมินในปี 2564 แบ่งออกเป็น 7 ตัวชี้วัดหลัก ได้แก่ นโยบายด้านความโปร่งใสและความรับผิด, นโยบายแรงงาน ,นโยบายด้านผู้ผลิตรายย่อย, นโยบายด้านความเท่าเทียมทางเพศ, นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม, นโยบายด้านความปลอดภัยทางอาหาร และ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค โดยมีผู้ประกอบการค้าปลีกชั้นนำของไทย 8 ราย ได้แก่ โลตัส, แม็คโคร, บิ๊กซี, ท็อปส์, ฟู้ดแลนด์, ซีพี เฟรชมาร์ท, กูร์เมต์ มาร์เก็ต และวิลล่า มาร์เก็ท ผลจาก “รายงานการประเมินนโยบายและแนวทางปฏิบัติของห้างค้าปลีกที่เปิดเผยต่อสาธารณะ” พบว่าภาพรวมของคะแนนการประเมินเฉลี่ยในทุกตัวชี้วัดเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการห้างค้าปลีกหลายราย ได้ประกาศนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา เช่น มีการประกาศนโยบายการจรรยาบรรณคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) และนโยบายที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเมื่อรวมคะแนนทั้ง 7 ตัวชี้วัด โลตัสได้อันดับหนึ่ง ด้วยคะแนน 35.83 คะแนน จาก 165 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 21.72 บิ๊กซีตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยคะแนน 24 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 14.54 และซีพี เฟรชมาร์ท ตามมาเป็นอันดับ 3 ด้วยคะแนน 20 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 12.12 สำหรับหมวดที่ห้างค้าปลีกได้คะแนนมากที่สุด คือ หมวดสิ่งแวดล้อม ได้คะแนนค่าเฉลี่ย 25.54% ขณะที่หมวดเพศเป็นหมวดที่ห้างค้าปลีกได้คะแนนน้อยที่สุด ได้คะแนนค่าเฉลี่ย 3.00% โดยมีเพียง โลตัส ท็อปส์ และแม็คโคร ที่ได้คะแนนบางส่วนในหมวดนี้ อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบคะแนนค่าเฉลี่ยตั้งแต่เริ่มดำเนินการโครงการประเมินนโยบายสาธารณะของห้างค้าปลีกในปี 2561 (หมวดด้านสังคม) และ ปี 2562 (หมวดด้านสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค) จะพบว่า คะแนนเฉลี่ยโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยหมวดด้านสังคมคะแนนเฉลี่ยโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 2.58% ในปี 2561 เป็น 5.45% ในปี 2564 ส่วนหมวดด้านสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคเพิ่มจาก 5.79% ในปี 2562 เป็น 13.29% ในปี 2564 จาก “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” สู่แคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก” ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2561 องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย กินเปลี่ยนโลก และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผนึกกำลังสำรวจซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าใหญ่ในประเทศไทยจำนวน 7 ราย ในชื่อแคมเปญว่า “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” ซึ่งในการสำรวจคะแนนปีแรกนั้น (การให้คะแนนวัดจาก 4 หัวข้อประกอบด้วย 1.สิทธิแรงงาน 2.สิทธิสตรี 3.เกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย 4.ความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสังคม) พบว่า เรื่องสิทธิสตรีเป็นด้านที่ได้คะแนนน้อยที่สุด โดยมีเพียง Tesco Lotus เพียงรายเดียวที่ได้คะแนนให้หัวข้อดังกล่าว (1 คะแนน) ส่วนหัวข้อที่น่าจับตามองเพราะมีสัญญาณเชิงบวกคือ ด้านเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย (ดูผลการสำรวจได้ที่ นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 209 ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยกับนโยบายสาธารณะด้านสังคม) ในปีต่อมา 2562 หลังจากผ่านการทำงานด้านความคิดกับสังคมและผู้ประกอบการ คะแนนของซูเปอร์มาร์เก็ตไทยเริ่มดีขึ้นมานิดๆ จากปีแรกที่ทำการสำรวจ 8 ราย แต่ขอสงวนสิทธิ 1 ราย เหลือเพียง 7 รายที่แถลงข่าวต่อสาธารณะ ซึ่ง 4 ใน 7 มีคะแนน ส่วนอีก 3 รายไม่มีคะแนนปรากฎ อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 นี้ ผู้ประกอบการที่เคยไม่ยินยอมเรื่องการสำรวจก็ยินดีให้ความร่วมมือ ดังนั้นการสำรวจในครั้งที่สองจึงเป็นการสำรวจด้วยหัวข้อเดิม (4 ด้าน) ในผู้ประกอบการ 8 ราย พบว่า แม้คะแนนยังต่ำอยู่ และวิธีการทำงานส่วนใหญ่จะเป็นแค่แนวทางด้านซีเอสอาร์มากกว่าการกำหนดไว้เป็นนโยบาย ซึ่งจะถือว่าเป็นข้อผูกมัดที่กำหนดให้บริษัทต้องปฏิบัติตาม แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น (ดูผลการสำรวจได้ที่ นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 222 ผลประเมินซูเปอร์มาร์เก็ต) ในปีที่สาม คณะทำงานเปลี่ยนชื่อแคมเปญจาก “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” สู่ “ผู้บริโภคที่รัก” เพราะตระหนักดีถึงบทบาทของผู้บริโภคว่าแท้จริงแล้วพลังของผู้บริโภคเองนั่นแหละที่จะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งได้ โดยในการสำรวจครั้งที่สามนี้ คณะทำงานได้สำรวจในสองหัวข้อใหม่ ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่กำหนดโดยคณะทำงานเอง (เดิม 4 หัวข้อเป็นเกณฑ์ที่คิดขึ้นโดยองค์การอ็อกแฟม) ได้แก่ หัวข้อเรื่องสวัสดิการผู้บริโภค และสวัสดิการด้านสิ่งแวดล้อม เป้าหมายหลักก็คือ เป็นข้อมูลที่จะช่วยให้ผู้บริโภค ได้เข้าถึงอาหารปลอดภัยและขณะเดียวกัน ก็รช่วยส่งเสริมความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เมื่อดูที่ตารางผลคะแนน พบว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งมีการประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติในด้านผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ต่อสาธารณะ แต่ในภาพรวมถือว่า ยังต้องปรับปรุง(ดูรายละเอียดได้ที่นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 222) หมายเหตุ วิธีการประเมิน ประเมินโดยพิจารณาจากนโยบายของซูเปอร์มาร์เก็ต ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะที่ตรวจสอบและเข้าถึงได้ เช่น เว็บไซต์ ,รายงานประจำปี หรือรายงานต่างๆท่านสามารถดูรายละเอียดต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์ Dear Consumers | ผู้บริโภคที่รัก หรือ (1) ผู้บริโภคที่รัก | Facebook
ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอเอาใจทั้งสายเขียวและสายสปอร์ต ด้วยผลทดสอบ “ประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายต่อศีรษะ” ของหมวกนิรภัยสำหรับผู้ใช้จักรยาน คุณอาจสงสัย ... จะทดสอบไปทำไม สินค้าแบบนี้ต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยก่อน จึงจะวางขายในตลาดได้ ไม่ใช่หรือ คุณเข้าใจถูกต้องแล้ว หมวกนิรภัยทั้งหมดที่เรานำมาทดสอบนั้นผ่านมาตรฐานที่มีในปัจจุบัน เพียงแต่มาตรฐานดังกล่าวกำกับเฉพาะการลดแรงกระแทกกับพื้นในแนวตั้งฉาก และเกณฑ์ที่ให้ “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน ก็วัดจากประสิทธิภาพในการป้องกัน “การบาดเจ็บรุนแรงต่อศีรษะ” เท่านั้น องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ซึ่งประกอบด้วยองค์กรสมาชิกที่เป็นองค์กรผู้บริโภคจากประเทศต่างๆ) จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสตราสบวร์ก ประเทศฝรั่งเศส และ Certimoov องค์กรที่รณรงค์เรื่องความปลอดภัยของหมวกนิรภัยจักรยาน ทำการทดสอบครั้งนี้ขึ้นตามวิธีทดสอบที่พัฒนาให้สอดคล้องกับลักษณะการเกิดอุบัติเหตุของคนขี่จักรยานมากขึ้น เช่น เวลาที่ถูกรถยนต์ชนแล้วตัวลอยขึ้นไปจนศีรษะกระแทกกับกระจกหน้ารถ เป็นต้น ในการทดสอบครั้งนี้นอกจากจะวัดประสิทธิภาพการป้องกันการบาดเจ็บเมื่อศีรษะกระแทกในแนวตั้งฉาก (ด้านหน้า/ด้านหลัง/ด้านข้าง) แล้ว ยังทดสอบการกระแทกกับพื้นเอียง 45 องศา (ด้านหน้า/ด้านหลัง/ด้านข้าง) อีกด้วย ทั้งหมดเป็นการทดสอบด้วยเครื่องมือในห้องปฏิบัติการ และเก็บข้อมูลด้วยเซนเซอร์ในหัวหุ่นยนต์ทดสอบ นอกจากนี้ยังเพิ่มเกณฑ์ที่อ้างอิงงานวิจัยด้านชีวกลศาสตร์ รวมถึงนำ “อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ” หรือ “อาการโคม่าในระยะสั้น” มาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำข้อเสนอในการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย และเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น จากหมวกนิรภัยที่เปิดตัวในปี 2021 จำนวน 27 รุ่น ที่นำมาทดสอบ เราพบว่ากลุ่มที่ดีที่สุดได้ไป 70 คะแนนจากคะแนนเต็มร้อย ในขณะที่กลุ่มที่ได้คะแนนน้อยที่สุดนั้นได้ไป 80 คะแนน สนนราคาก็มีให้เลือกหลากหลายตั้งแต่ 1,100 บาท ไปจนถึง 6,700 บาท ข่าวดีคือหมวกนิรภัยประสิทธิภาพดีในราคาไม่เกิน 2,000 บาทนั้นมีอยู่จริง และเรายังได้ข้อสรุปเช่นเคยว่าของแพงไม่จำเป็นต้องดี และของดีไม่จำเป็นต้องแพง แต่หากของชิ้นไหนถูกมากก็อย่าเพิ่งวางใจ ว่าแล้วก็พลิกไปดูผลการทดสอบกันเลย · ขอย้ำว่าการจัดอันดับครั้งนี้เป็นเรื่อง “ความปลอดภัย” ล้วนๆ เรื่องความสวยงามหรือความรู้สึกสบายเวลาสวมใส่ ต้องแล้วแต่ความพึงพอใจของผู้ใช้ สิ่งสำคัญคือการทดลองสวมก่อนตัดสินใจ และราคาที่เราแจ้งเป็นราคาที่องค์กรสมาชิกในยุโรปซื้อจากร้านทั่วไปเป็นหน่วยเงินยูโร ที่เราแปลงมาเป็นหน่วยเงินบาท ก่อนซื้อโปรดตรวจสอบอีกครั้งเช่นกัน ---------- กฎหมายว่าด้วยการสวมหมวกนิรภัย ปัจจุบันมีเพียงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เท่านั้นที่มีกฎหมายบังคับให้ผู้ที่ขับขี่จักรยาน (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) สวมหมวกนิรภัย ในขณะที่กฎหมายประเทศมอลต้าใช้บังคับกับผู้ใหญ่เท่านั้น ส่วนสวีเดน สโลเวเนีย และสาธารณรัฐเช็ก นั้นบังคับเฉพาะในกลุ่มเด็ก บางประเทศอย่างสเปนบังคับการสวมหมวกเมื่อขับขี่จักรยานในเขตเมือง แต่ยกเว้นให้กรณีที่ถีบขึ้นเขา บางประเทศอย่างเนเธอร์แลนด์ก็มีจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่มีการ “บังคับสวมหมวก” เนื่องจากรัฐบาลต้องการส่งเสริมการใช้จักรยาน การรณรงค์ให้คนสวมหมวกนิรภัยนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ทำให้คนรู้สึกว่าการใช้จักรยานเป็นเรื่องอันตราย และไม่อยากใช้จักรยาน ในออสเตรเลียก็มีกลุ่ม Bicycle Network ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนกฎหมายบังคับสวมหมวก โดยอาจมีช่วงทดลอง 5 ปี ให้บุคคลอายุเกิน 17 ปีสามารถเลือกได้ว่าจะสวมหมวกนิรภัยหรือไม่ และรัฐจะต้องใส่ใจลด “ตัวอันตราย” ที่แท้จริงสำหรับนักปั่น ซึ่งพวกเขาบอกว่ามันคือรถยนต์นั่นเอง
การมาเยือนของโควิด-19 อาจทำให้หลายคนรู้สึกว่าการเดินห้างมัน “เอ้าท์” และการใช้เวลากับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงด้วยการบุกป่าฝ่าลำธารน่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอเอาใจ “ขาลุย” อีกครั้งด้วยผลทดสอบเปรียบเทียบรองเท้าเดินป่าแบบหุ้มข้อ สำหรับคนที่กังวลเรื่องความเสี่ยงจากอาการเท้าแพลงเพราะสะดุดรากไม้หรือก้อนหิน (ก่อนหน้านี้เราได้นำเสนอผลการทดสอบรองเท้าเดินป่าแบบธรรมดาไว้ในฉบับที่ 222 แถมด้วย “เป้เดินป่า” ในฉบับที่ 216 และ 245) ครั้งนี้มีรองเท้าถูกส่งเข้าแข่งขันทั้งหมด 16 รุ่น (สนนราคาตั้งแต่ประมาณ 2,300 ไปจนถึง 11,200 บาท)* โดยองค์กรผู้บริโภคจากออสเตรีย สวีเดน สโลเวเนีย และ สาธารณรัฐเช็ค ข้อตกลงเบื้องต้นคือต้องเป็นรองเท้าเดินป่าที่เหมาะกับการสวมใส่ในทุกฤดูกาล และมีทั้งรุ่นสำหรับผู้หญิงและผู้ชายคะแนนจากการทดสอบแบ่งออกเป็น 2 ด้านคือ 1. คะแนนจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ (ร้อยละ 70) - การกันน้ำ (ทดสอบโดยการแช่รองเท้าที่ระดับความลึกของน้ำถึงกึ่งกลางระหว่างรูร้อยเชือกที่หนึ่งและสอง เป็นเวลา 4 ชั่วโมง แล้วนำมาชั่งน้ำหนัก) การรักษาอุณหภูมิ และการระบายอากาศ - ความทนทานต่อการขีดข่วนหรือสึกหรอ (กาว เชือกผูก พื้นรองเท้าด้านในและด้านนอก) - ประสิทธิภาพในการกันลื่น บนพื้นผิวเซรามิกและกระเบื้องดินเผา ทั้งขณะเปียกและแห้ง (วัดค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน) - การดูดซับแรงกระแทก 2. คะแนนจากความเห็นของผู้ทดลองสวมใส่ (ร้อยละ 30)ใส่/ถอดสะดวก ผูกเชือกง่าย สวมใส่สบาย กระชับ ไม่กัดเท้า เดินได้อย่างมั่นใจทั้งบนพื้นผิวที่เปียกและแห้ง ใส่แล้วรู้สึกไม่ร้อน ไม่อับชื้น และทำความสะอาดง่าย เป็นต้น * อ้างอิงจากราคาที่ซื้อเป็นหน่วยยูโร * ในการทดสอบครั้งนี้ใช้รองเท้ารุ่นละ 5 คู่ (1 คู่ ส่งเข้าห้องแล็บ 2 คู่สำหรับอาสาสมัครหญิง และอีก 2 คู่ สำหรับอาสาสมัครชาย) อัตราค่าทดสอบอยู่ระหว่าง 312.42 – 356.42 ยูโร (ประมาณ 12,000 – 14,000 บาท) ต่อตัวอย่าง รุ่นที่มีหนังเป็นส่วนประกอบจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่า
ยุคนี้อะไร อะไร ก็เดลิเวอรี่ ผู้บริโภคยุคใหม่จะจับจ่ายใช้สอยก็ง่ายดาย เพราะผู้ประกอบการหลายเจ้าเร่งพัฒนาสินค้าบริการให้ตอบโจทย์กับคนยุคใหม่มากมาย เช่น การสั่งซื้อสินค้าของสด ของแห้งหรือของใช้ผ่านแอปพลิเคชันที่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กลายเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์มากๆ อย่างไรก็ตามผู้บริโภคบางคนอาจมีข้อสงสัย ว่าการเลือกซื้อสินค้าผ่านทางแอปพลิเคชันกับซื้อตามห้างสรรพค้าเองมีข้อแตกต่างกันอย่างไร ทั้งในเรื่องของเงื่อนไขการสั่งซื้อ สินค้ามีความสดใหม่หรือไม่ ราคาแพงหรือถูกกว่า การบริการจัดส่งแพ็คสินค้าต่างๆ หลังสั่งซื้อและวันหมดอายุ ทางฉลาดซื้อจึงได้ทดลองการสั่งซื้อสินค้าประเภท อาหารสด อาหารแห้ง ของใช้ จาก 10 แอปพลิเคชันออนไลน์ ช่วงเวลา 14-21 กันยายน 2564 เพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยดังกล่าว มาติดตามกันเลย เราสำรวจแอปพลิเคชันอะไรบ้าง 1. Tops Online สินค้าจาก Tops 2. Tesco Lotus สินค้าจาก Tesco Lotus 3. BigC สินค้าจาก BigC 4. Makro สินค้าจาก Makro 5. CP Freshmart สินค้าจาก CP Freshmart 6. Freshket สินค้าจากทางแอปพลิเคชันจัดส่งเองไม่สามารถระบุได้ 7. HappyFresh สินค้าจาก Gourmet Market 8. Line man Powered By Happyfresh สินค้าจาก Gourmet Market 9. FoodPanda (Pandamart) สินค้าจาก Pandamart 10. Grab (GrabSupermarket) สินค้าจาก Tops วิธีการทดสอบ 1. สำรวจเงื่อนไขวิธีการสั่งซื้อ และทดสอบสั่งซื้อสินค้าประเภท อาหารแห้ง/อาหารสด/ของใช้ (การสั่งซื้อสินค้าเป็นไปตามเงื่อนไขของแอปพลิเคชัน) เลือกวิธีการจัดส่งแบบรับสินค้าในวันถัดไปและเลือกชำระเงินปลายทางทุกแอปพลิเคชัน (ที่มีตัวเลือกชำระปลายทาง) 2. หลังสั่งซื้อดูการแพ็คสินค้าว่ามีการแยกอาหารสด/อาหารแห้ง/ของใช้ หรือไม่ 3. สำรวจวันหมดอายุของสินค้ามีวันหมดอายุหรือไม่ เปรียบเทียบราคาสินค้าจากแอปพลิเคชันกับห้างสรรพสินค้า(ราคาสินค้าอาจเป็นไปตามช่วงเวลาที่บริษัทกำหนด)ผลทดสอบ 1. ทุกแอปจัดส่งได้ก่อนระยะเวลาที่กำหนด เรื่องการจัดส่งและการแพ็คสินค้า พบว่า ทุกแอปพลิเคชันที่ทำการสั่งซื้อมีการจัดส่งได้ก่อนระยะเวลาที่กำหนด 9 แอปพลิเคชันมีให้เลือกกำหนดเวลาจัดส่งในวันถัดไป มี 1 แอปพลิเคชัน Makro ไม่สามารถเลือกเวลาในการจัดส่งได้เพราะทางบริษัทเลือกเวลาจัดส่งเอง 3-5 วัน ในการจัดส่ง ส่วนการแพ็คสินค้า พบว่า Makro ไม่มีการแพ็คสินค้าแยกของสดของใช้ 2. 7 แอปพลิเคชันมีชำระเงินปลายทาง มี 3 แอปพลิเคชันไม่มีตัวเลือกชำระเงินปลายทาง ได้แก่ Freshket,Grab By (GrabSupermarket), Makro 3. มีให้เลือกการจัดส่งรูปแบบถุงใช้ซ้ำ ลดโลกร้อน เกือบทุกแอปพลิเคชัน 4. ไม่พบสินค้าหมดอายุนำมาจัดส่ง พบเพียงขนมปังเนยสด 35 กรัม 6 ชิ้นจาก Makro ที่มีวันหมดอายุในวันถัดไปทันที 5. ราคามีโปรโมชั่นพิเศษหากซื้อครบตามเงื่อนไขกำหนด ราคาสินค้าจากการเปรียบเทียบกับที่วางจำหน่ายปกติในห้างค้าปลีก พบว่า Tops Online ,Tesco Lotus , HappyFresh ,Line man Powered By Happyfresh ราคาถูกกว่าสินค้าในห้างเล็กน้อย อย่างไรก็ตามการสั่งซื้อหากครบตามจำนวนที่บริษัทกำหนดเป็นเงื่อนไข ทั้ง 10 แอปพลิเคชันจะมีโปรโมชั่นจัดส่งฟรีและส่วนลดเยอะกว่าจากการเดินเลือกซื้อที่ห้างข้อสังเกต - สินค้าของสดส่วนใหญ่จะผลิตในวันที่ส่ง และ CP Freshmart ไม่มีของใช้ - การลงทะเบียนทุกแอปพลิเคชันไม่มีกรอกเลขบัตรประชาชน - ส่วนใหญ่เกือบทุกแอปพลิเคชันสามารถเลือกขอใบกำกับภาษีได้ มี 1 แอปพลิเคชัน คือ Freshket ที่มีการออกใบเสร็จกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ทันทีหลังสั่งซื้อ - แอปพลิเคชัน Makro เหมาะสำหรับร้านค้าเพราะต้องซื้อในปริมาณมากขั้นต่ำ 1,000 บาทขึ้นไป - การบริการลูกค้า กรณีสินค้าที่สั่งหมด พบว่าทุกแอปพลิเคชันมีการโทรศัพท์มาเพื่อสอบถามการเปลี่ยนสินค้า ยกเว้น Freshket ที่มีระบบคืนเงินทันทีหากสินค้าหมด สรุปผลการสำรวจ ฉลาดซื้อมองว่าในเรื่องราคาสินค้าที่แตกต่างกันนั้น อาจขึ้นอยู่กับช่วงเวลาโปรโมชันที่ทางบริษัทกำหนด ความสะดวกสบายในการสั่งซื้อคือ ข้อดี ที่ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นทางเลือกเพื่อไม่ต้องเสียเวลากับการไปเดินห้าง บางครั้งราคาส่วนลดทางแอปพลิเคชันมีเยอะกว่า แต่กรณีที่เป็นแอปพลิเคชันที่ไม่ใช่ของห้างโดยตรงเอง สินค้าจะมีให้เลือกน้อยกว่า
ความคิดเห็น (0)