แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค หน้ากากอนามัยเด็ก หน้ากากอนามัย โควิด-19
วันนี้ ( 14 มิถุนายน 2566 ) ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า การสุ่มตรวจสอบ “หมึกกรอบ” ปนเปื้อนฟอร์มาลิน เป็นหนึ่งในงานเฝ้าระวังสินค้าและบริการของ นิตยสารฉลาดซื้อ ตามโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสุขภาพ จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เนื่องจากในทุกๆ ปีจะมีข่าวการพบสารฟอร์มาลินในอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารทะเล จากข้อมูลของกรมอนามัย ปีงบประมาณ 2563 พบว่า จากผลการตรวจวิเคราะห์ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนทั้งหมด 14,046 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของฟอร์มาลิน 705 ตัวอย่าง โดยพบมากที่สุดใน หมึกกรอบ ร้อยละ 31.35 รองลงมาคือ หมึกสด ร้อยละ 2.36 แมงกะพรุน ร้อยละ 1.55 และ กุ้ง ร้อยละ 0.14 ตามลำดับ ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 (พ.ศ.2561) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือ ฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ และถ้าตรวจพบการกระทำดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สรุปผลการทดสอบ “หมึกกรอบ” จำนวน 14 ตัวอย่าง สุ่มเก็บจากแหล่งจำหน่ายสินค้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ได้แก่ ตลาดสด 8 แห่ง , ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง ,และ ร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง ส่งวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 ซึ่งดำเนินการช่วงเดือนเมษายน 2566 พบปนเปื้อนฟอร์มาลิน 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 57.14 โดยปริมาณฟอร์มาลิน พบตัวอย่างที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ สูงเป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 และ 3 พบจากตลาดสด ( ดูผลทดสอบจากhttps://chaladsue.com/article/4269/ ) ดร. แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษาศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากถามว่า ฟอร์มาลินมีอันตรายอย่างไรต่อร่างกาย ข้อมูลที่พอเชื่อถือได้จากอินเทอร์เน็ตกล่าวโดยรวมว่า อาการระยะสั้นจากการสูดดมเข้าไปจะมีผลต่อระบบหายใจ คือ แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก หากสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด และอาจเสียชีวิตได้ หากสัมผัสกับฟอร์มาลินโดยตรงจะมีผลต่อระบบผิวหนังหลังสัมผัสคือ ทำให้เกิดผื่นคัน จนถึงผิวหนังอาจไหม้ หรือเปลี่ยนเป็นสีขาวได้ และหากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินเข้าไปในปริมาณมาก อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว วิธีเลือกซื้อเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัยจากฟอร์มาลิน สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการซื้อเนื้อสัตว์ต่าง ๆ จากร้านค้าที่ไม่มีการแช่ในตู้เย็น สามารถใช้วิธีการดมกลิ่น ถ้าอาหารนั้นมีกลิ่นฉุนแสบจมูกให้สงสัยว่ามีฟอร์มาลินอยู่ (ปัญหามักเกิดกับอาหารทะเลซึ่งเหม็นคาว) ซึ่งมีนักวิชาการคนหนึ่งกล่าวว่า สามารถกำจัดฟอร์มาลินที่ปนเปื้อนบนเนื้อได้ด้วยการใช้น้ำด่างทับทิมหรือ potassium permanganate เพื่อเปลี่ยนฟอร์มาลดีไฮด์ในฟอร์มาลินให้เป็นกรดฟอร์มิคหรือกรดมดได้ แต่ควรคำนึงด้วยว่า เนื้อสัตว์ที่ชุบฟอร์มาลินนั้นมักไม่ถูกสุขอนามัยที่ดีมาก่อน จึงต้องใช้ฟอร์มาลินกลบเกลื่อนความไม่สด ดังนั้นจึงไม่สมควรนำเนื้อดังกล่าวมาบริโภคและไม่ควรโยนให้สัตว์เช่น หมาหรือแมวกิน อ่านผลทดสอบฟอร์มาลินใน “หมึกกรอบ”เพิ่มเติมได้ที่ https://chaladsue.com/article/4269/
เสนอหน่วยงานกำกับติดฉลากปลอดภัย “สปอร์ตบรา” เทียบมาตรฐานสากล เพื่อเป็นทางเลือกผู้บริโภค หลังฉลาดซื้อสุ่มตรวจพบสารก่อมะเร็งในบางยี่ห้อ พบฟอร์แมลดิไฮด์ 1 ตัวอย่าง จาก 8 ตัวอย่าง แต่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (น้อยกว่า 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และตรวจพบสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว พบสาร 2 ชนิด ได้แก่ BENZIDINE ปริมาณ 17.74 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ 4-METHYL-m-PHENYLENEDIAMINE ปริมาณ 37.32 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ใน 1 ตัวอย่าง (มาตรฐานสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว แต่ละตัวต้องไม่เกิน 30 มก./กก.) นักวิชาการชี้ สารก่อมะเร็ง 2 ชนิดที่พบ แม้จะไม่เกินมาตรฐานหรือเกินเพียงเล็กน้อยก็มีโอกาสเกิดอันตรายต่อร่างกาย เสนอหน่วยงานกำกับดูแลต้องให้ผู้ผลิต ติดฉลากว่ามีสารเคมีที่เป็นอันตรายหรือไม่ ยกระดับมาตรฐานเทียบเท่าในยุโรปที่หากพบสารเคมีอันตรายปนเปื้อนจะนำสินค้าออกจากตลาดทันทีวานนี้ 28 เมษายน 2566 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ร่วมกับ ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สปอร์ตบรา จำนวน 8 ยี่ห้อ ที่สุ่มตัวอย่างจากร้านค้าและห้างสรรพสินค้าทั่วไปในระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2565 ผลการทดสอบตรวจพบสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว พบสาร 2 ชนิด ได้แก่ BENZIDINE ปริมาณ 17.74 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ 4-METHYL-m-PHENYLENEDIAMINE ปริมาณ 37.32 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในตัวอย่างยี่ห้อ Wacoal รุ่น Motion Support WR 3448 (มาตรฐานสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว แต่ละตัวต้องไม่เกิน 30 มก./กก.) อีก 7 ตัวอย่างไม่พบสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว นอกจากนี้ยังพบฟอร์แมลดิไฮด์ใน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ GENTLEWOMAN sports club ปริมาณ 26.83 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (น้อยกว่า 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) อีก 7 ตัวอย่างไม่พบฟอร์แมลดิไฮด์ ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า“สารที่ตรวจพบทั้ง 2 ชนิดเป็นสารที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง อาจส่งผลต่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และอาจทำให้เกิดการเป็นหมัน การตรวจพบสารดังกล่าว แม้จะเป็นไปตามมาตรฐานก็ยังมีโอกาสทำให้เกิดอันตรายได้ “กระบวนการที่เราจะได้รับอันตราย มี 2 กระบวนการ คือหนึ่ง กระบวนการ migration เมื่อสีย้อมผ้าหลุดออกมาสู่สิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียงกับเรา และสอง กระบวนการ penetration คือการซึมผ่าน ทั้งสองกระบวนการทำให้สารเคมีซึมผ่านร่างกายเราได้ทั้งนั้น เนื่องจากสารเหล่านี้ไม่ได้ลดน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป ยังปล่อยออกมาสม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ความชื้น หรือระยะเวลาที่เราสัมผัส จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไม่มีสารเคมีเหล่านี้”“เรื่องสารเคมีอันตราย เราไม่มีโอกาสได้เลือก ถ้าไม่มีข้อมูลการทดสอบ สิ่งหนึ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลสามารถทำได้คือให้ผู้ผลิตติดฉลากว่ามีสารเคมีที่เป็นอันตรายหรือไม่ เป็นการประกาศตัวเองของผู้ผลิต ในกรณีของยุโรป มีกติกาว่าหากพบสารเคมีอันตรายปนเปื้อนในสินค้า จะต้องนำสินค้านั้นออกจากตลาดทันที บริษัทต่างๆ ก็ปฏิบัติตาม”“ภาครัฐต้องกำกับดูแลตั้งแต่กระบวนการผลิต การออกกฎหมายที่มีความเข้มข้น ทำให้ผู้ผลิตมีความระมัดระวัง และทำให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ไม่มีสารเคมีเป็นของแถม ผมคิดว่าถึงเวลาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะให้ความสำคัญและปรับลดค่าสารเคมีต่างๆ ที่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย โดยอาจทบทวน ทุก 5 ปี หรือ 10 ปี ถ้าประเทศเรามีมาตรฐานในประเทศดี สินค้าของเราก็จะได้รับความน่าเชื่อถือไปด้วย ผมจึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่ดูแล ออกมาทบทวนมาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอ” คุณทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า การสวมใส่สปอร์ตบราได้รับความนิยมกว้างขวาง ไม่ได้ใส่แค่ตอนออกกำลังกาย แต่เป็นแฟชั่นการแต่งตัวด้วย ซึ่งหากยิ่งใช้ประจำยิ่งต้องพิจารณาถึงคุณภาพ รูปทรง ความทนทานต่างๆ การทดสอบของฉลาดซื้อพบว่า สินค้าที่ดีที่สุด ไม่ใช่สินค้าที่ราคาแพงที่สุด ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อจากการศึกษาข้อมูลประกอบอย่างมีเหตุผล “ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีการใช้สารเคมีตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่การผลิตเส้นใยจนไปถึงเมื่อทิ้งยังปนเปื้อนไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ เมื่อสินค้าได้ผลิตออกมาแล้ว ยังมีกำลังคนในการเฝ้าระวังน้อย การร่วมกันป้องระวังตั้งแต่ด่านแรก ย่อมดีกว่า” ติดตามอ่าน “ผลทดสอบสปร์ตบรา” ฉบับเต็มได้ใน https://www.chaladsue.com/article/4212
ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อทดสอบคุณค่าทางโภชนาการอาหารแห้งสำหรับแมวโต อายุ 1 ปี เปรียบเทียบคุณภาพอาหารแมว 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีน้อยยิ่งดี กลุ่มที่มีมากเกินไปไม่ดี และกลุ่มที่ยิ่งมีมากยิ่งดี ในภาพรวมมีคุณภาพที่ดีขึ้น และการทดสอบครั้งนี้พบ “ไมโคทอกซิน” ในยี่ห้อเดียวและมีปริมาณน้อยลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการทดสอบในปี 2559 พร้อมแนะนำว่า อาหารไฟเบอร์สูงไม่จำเป็นต่อร่างกายของแมวเพราะแมวเป็นสัตว์กินเนื้อ หากมีไฟเบอร์มากกว่า 1% หมายความว่าผู้ผลิตอาจใส่เพิ่มลงไปเพื่อลดต้นทุน วันนี้ ( 21 เมษายน 2566 ) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ภายในการทำงานของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์เป็นสมาชิกหนึ่งของครอบครัวกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ครัวเรือนเหล่านี้มีลักษณะการใช้จ่ายคล้ายครัวเรือนที่มีบุตรหลานมีการเลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีที่สุดให้สัตว์เลี้ยง ส่งผลให้ตลาดอาหารเพื่อสัตว์เลี้ยงเติบโตและมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง Kantar Worldpanel หน่วยงานที่ศึกษาพฤติกรรมการเกี่ยวกับการซื้อสินค้าเพื่ออุปโภค บริโภค ศึกษาข้อมูลในประเทศไทย พบว่าครัวเรือนที่เลี้ยงแมวเติบโตมากกว่าครัวเรือนที่เลี้ยงสุนัขแต่สัดส่วนที่เลือกใช้อาหารแบบหีบห่อยังน้อยกว่าครึ่งทำให้ยังเป็นโอกาสที่ยังสามารถเติบโตขึ้นได้ของอาหารสำเร็จ บริษัทต่างๆ จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแมวหลากหลายสูตรเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคมาเลือกซื้ออาหารเม็ดมากยิ่งขึ้น นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือก “อาหารสำเร็จรูปแบบแห้งสำหรับแมวโต อายุ 1 ปีขึ้นไป” จำนวน 12 ตัวอย่าง ในเดือนมกราคม 2566 มาสำรวจฉลาก และส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารพิษที่ไม่ควรมี และสารอาหารต่างๆ ที่ควรมีอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้ออาหารเม็ดให้แมวได้อย่างคุ้มค่า ให้โภชนาการที่ดีต่อแมวได้ นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อกล่าวว่าศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเคยทดสอบเปรียบเทียบอาหารสำเร็จรูปแบบแห้งสำหรับแมวมาแล้วในฉบับที่ 183 ปี 2559 เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพการผลิตอาหารแมวอย่างต่อเนื่องและปัจจุบันตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงยังได้เติบโตขึ้นมาก มีการโฆษณาคุณสมบัติที่ดีต่อร่างกายหลายรูปแบบ ผู้บริโภคจึงยิ่งควรมีข้อมูล องค์ความรู้โภชนาการที่เหมาะสมกับแมวเพื่อที่สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม คุ้มราคา การตรวจหาในการเปรียบเทียบคุณภาพอาหารแมวครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่มีน้อยยิ่งดี คือ ไมโคทอกซิน HT-2 และ T-2 สหภาพยุโรปกำหนดให้มีในอาหารแมวได้ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแมว การทดสอบครั้งนี้ ไม่พบ HT-2 ในทุกตัวอย่าง และพบ T-2 ปริมาณน้อยกว่า 10 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ในยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท - ไฟเบอร์พบว่าทุกยี่ห้อมีมากกว่า 1% ยี่ห้อมีโอ รสปลาทูน่า มีน้อยที่สุดคือ 1.99% ส่วนยี่ห้อบิ๊กซี แฮปปี้ ไพรซ์ โปร รสทูน่า มีมากที่สุดคือ 4.17% ซึ่งองค์กรทดสอบระหว่างประเทศให้ข้อสังเกตไว้ในฉลาดซื้อฉบับที่ 183 ว่าอาหารแมวไม่ต้องมีไฟเบอร์ก็ได้ เพราะแมวเป็นสัตว์กินเนื้อ หากมีไฟเบอร์มากกว่า 1% หมายความว่าผู้ผลิตอาจใส่เพิ่มลงไปเพื่อลดต้นทุน 2. กลุ่มที่มีมากเกินไปไม่ดี อ้างอิงจากปริมาณความต้องการสารอาหารสำหรับแมว พิจารณาตามปริมาณอาหารแมวแบบแห้ง 100 กรัม ที่ European Pet Food Industry Federation (FEDIAF 2021) แนะนำไว้เป็นขั้นต่ำคือ มีโซเดียม 80 มิลลิกรัม (0.08 กรัม) และแมกนีเซียม 40 มิลลิกรัม (0.04 กรัม) (หากแมวได้รับโซเดียมมากเกินไปจะเสี่ยงเป็นโรคไต และถ้าได้แมกนีเซียมมากเกินไปอาจเป็นนิ่วในไตได้) ผลทดสอบพบว่า - ทุกตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมมากกว่า 80 มิลลิกรัม/100 กรัม ยี่ห้อเพียวริน่า ฟริสกี้ส์ รสรวมมิตรปลาทะเล มีมากที่สุด คือ 687.36 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อบิ๊กซี แฮปปี้ ไพรซ์ โปร รสทูน่า มีน้อยที่สุดคือ 393.58 มิลลิกรัม - ทุกตัวอย่างมีปริมาณแมกนีเซียมมากกว่า 40 มิลลิกรัม/100 กรัม ยี่ห้อเพ็ทส์ เฟรนด์ รสทูน่า มีมากที่สุดคือ 164.02 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท มีน้อยที่สุด คือ 75.86 มิลลิกรัม 3. กลุ่มที่ยิ่งมีมากยิ่งดี อ้างอิงจากปริมาณความต้องการสารอาหารสำหรับแมว พิจารณาตามปริมาณอาหารแมวแบบแห้ง 100 กรัม ที่ FEDIAF 2021 แนะนำไว้เป็นขั้นต่ำคือ มีทอรีน 100 มิลลิกรัม(0.10 กรัม) ทอรีนเป็นกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายแมวไม่สามารถผลิตเองได้ หากได้รับน้อยเกินไปอาจทำให้แมวตาบอด ขนหรือฟันร่วงก่อนเวลาอันควร รวมถึงมีความปกติของระบบสืบพันธุ์ โปรตีน 25 กรัม ไขมัน 9 กรัม แคลเซียม 400 มิลลิกรัม (0.40 กรัม) และฟอสฟอรัส 260 มิลลิกรัม (0.26 กรัม) สรุปผลทดสอบ - ทุกตัวอย่างมีทอรีนมากกว่า 100 มิลลิกรัม ยกเว้นยี่ห้อโปรไดเอ็ท รสทูน่า มี 93.19 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อที่มีทอรีนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ยี่ห้อรอยัล คานิน เอฟเอชเอ็น โฮม ไลฟ์ อินดอร์ 27 (197.09 มิลลิกรัม), วิสกัส รสปลาทูน่า (191.17 มิลลิกรัม) และมีโอ รสปลาทูน่า (187.90 มิลลิกรัม) - ทุกตัวอย่างมีโปรตีนมากกว่า 25 กรัม ยี่ห้อสมาร์ทฮาร์ท โกลด์ รสทูน่ามีลแอนด์บราวน์ไรซ์ มีมากที่สุดคือ 35.44 กรัม ส่วนยี่ห้อรอยัล คานิน เอฟเอชเอ็น โฮม ไลฟ์ อินดอร์ 27 มีน้อยที่สุด คือ 26.95 กรัม - ทุกตัวอย่างมีไขมันมากกว่า 9 กรัม ยี่ห้อแม็กซีม่า มีมากที่สุด คือ 22.4 กรัม ส่วนยี่ห้อเพ็ทส์เฟรนด์ รสทูน่า มีน้อยที่สุด คือ 10.1 กรัม - ทุกตัวอย่างมีแคลเซียมมากกว่า 400 มิลลิกรัม ยี่ห้อบิ๊กซี แฮปปี้ ไพรซ์ โปร รสทูน่า มีมากที่สุด คือ 2,035.37 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท มีน้อยที่สุด คือ 813.08 มิลลิกรัม - ทุกตัวอย่างมีฟอสฟอรัสมากกว่า 260 มิลลิกรัม ยี่ห้อสมาร์ทฮาร์ท โกลด์ รสทูน่ามีลแอนด์บราวน์ไรซ์ มีมากที่สุด คือ 1,382.41 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท มีน้อยที่สุด คือ 695.47 มิลลิกรัม ด้านราคาเมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณอาหารเม็ดแมว 1 กรัม พบว่ายี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท ราคาแพงที่สุด คือ 0.38 บาท ส่วนยี่ห้อโลตัส รสปลาทูน่า ราคาถูกที่สุด คือ 0.08 บาท ข้อสังเกตจากการทดสอบครั้งนี้พบ ไมโคทอกซิน ในยี่ห้อเดียวและมีปริมาณน้อยลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการทดสอบในปี 2559 ซึ่งอาจสะท้อนได้ว่าผู้ผลิตอาหารแมวใส่ใจคุณภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามยังพบว่ามีไฟเบอร์มากกว่า 1 % ในทุกตัวอย่างเช่นเดียวกับการทดสอบในครั้งที่แล้ว ตัวอย่างส่วนใหญ่มีธัญพืชเป็นส่วนประกอบ ซึ่งแมวจะย่อยยากและอาจเกิดอาการแพ้ได้ - ด้านความชื้นทุกตัวอย่างมีความชื้นไม่มากกว่าร้อยละ 14 ของน้ำหนัก ตามที่กรมปศุสัตว์กำหนดไว้ - ทุกตัวอย่างระบุข้อมูลคุณภาพของอาหารสัตว์ทางเคมี (โปรตีน ไขมัน และกาก) ไว้ตรงกับผลวิเคราะห์ที่ได้จากห้องปฏิบัติการ มีเพียงยี่ห้อโปรไดเอ็ท รสทูน่า ที่ฉลากระบุว่ามีโปรตีนไม่น้อยกว่า 30% แต่ผลวิเคราะห์ออกมาได้ 29.83% (ซึ่งน่าจะพออนุโลมกันได้) นางสาวทัศนีย์ ยังกล่าวต่ออีกว่า นอกจากเลือกอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วนเหมาะสมกับร่างกายและช่วงอายุของแมว ยังสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่แมวได้ด้วยการสร้างนิสัยการกินอาหารที่ถูกต้อง แมวบางตัวมีนิสัยกินจุ กินยากหรือกินอาหารบ่อยครั้ง ซึ่งแก้ไขหรือปรับพฤติกรรมการกินของแมวได้ด้วยการให้อาหารเป็นเวลาแน่นอน และจำกัดปริมาณให้เหมาะสม แมวโตกินอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ในแมวเด็ก 3 ครั้ง เพราะการทดสอบยังพบ โซเดียมและแมกนีเซียมในปริมาณสูงเกินระดับมาตรฐานในทุกตัวอย่าง การให้อาหารเม็ดจึงยิ่งควรระมัดระวัง จำกัดปริมาณเพราะสารทั้งสองทำให้แมวเสี่ยงเป็นโรคไต และนิ่วในไตได้ ซึ่งการดูแลเรื่องอาหารจะนำไปสู่การลดโรคได้ ตรงนี้อาจจะช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลในอนาคตได้ติดตามอ่าน“ผลทดสอบคุณค่าทางโภชนาการในอาหารสำเร็จรูปแบบแห้งสำหรับแมวโต อายุ 1 ปีขึ้นไป” ฉบับเต็มได้ใน https://www.chaladsue.com/article/4234 และโหลดไฟล์กราฟฟิกผลทดสอบได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1CZtJSsLJdxBFRmgeuP5nSl1uBQx9Of3U/view?usp=share_linkข้อมูลประกอบข่าวฉลาดซื้อแนะ - ก่อนซื้อทุกครั้งตรวจสอบว่ามีเลขทะเบียนอาหารสัตว์ 10 หลักเพื่อแสดงว่าอาหารผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์แล้ว ดูส่วนผสมและสารอาหาร สารปรุงแต่งที่ต้องระวังไหม แสดงปริมาณอาหารที่แนะนำต่อวันหากมีมาตรฐานรับรองจากหน่วยงานที่เชื่อถือจะยิ่งดี ที่สำคัญคือต้องระบุวันหมดอายุไว้ชัดเจน - อาหารเม็ดแมวมี 2 ประเภทหลัก ๆ คือสูตรโภชนาการครบถ้วนสำหรับแมวที่สุขภาพดี หาซื้อได้ทั่วไป และสูตรป้องกันโรคที่ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงเฉพาะจุดสำหรับแมวป่วย ควรซื้อจากโรงพยาบาลสัตว์ และได้รับคำแนะนำจากสัตวแพทย์ก่อน - แม้ซื้ออาหารเม็ดแมวถุงใหญ่จะคุ้มกว่าถุงเล็ก แต่หากเก็บไว้นานเกินไปจนทำให้กลิ่น รสชาติและสัมผัสของอาหารเม็ดเปลี่ยนไป แมวอาจไม่ยอมกิน ก็น่าเสียดาย จึงควรเลือกซื้ออาหารเม็ดแมวในปริมาณที่แมวสามารถกินหมดได้ภายใน 1 เดือนเพื่อรักษาความสดใหม่ไว้ - แมวแต่ละตัวมีโอกาสแพ้สารแตกต่างกัน เช่นอาจแพ้ธัญพืช โปรตีนจากสัตว์ สารกันบูดและสารกันความชื้นต่าง ๆ หากสังเกตว่าแมวกินอาหารแล้วมีอาการผิดปกติ เช่นผื่นขึ้น ตุ่มขึ้น ตาบวม น้ำมูกน้ำตาไหล ให้เปลี่ยนอาหาร ถ้าไม่ดีขึ้นให้รีบพาไปรักษาและนำอาหารนั้นไปให้สัตวแพทย์ดูด้วย - ไม่ควรซื้ออาหารแมวที่มีสีสันฉูดฉาดเกินไป เพราะอาจมีส่วนผสมที่ทำให้แมวเสี่ยงเป็นโรคไตได้ - ไม่ควรเทอาหารแมวค้างคืนหรือเททิ้งไว้นานจนเกินไป เพราะอาหารจะเสื่อมสภาพและเป็นแหล่งของเชื้อโรคแทนได้ - แม้แมวเป็นสัตว์กินเนื้อที่ไม่จำเป็นต้องได้รับไฟเบอร์สูงมากเท่าสัตว์กินพืช แต่ไฟเบอร์ก็มีประโยชน์สำหรับแมวที่มีปัญหาท้องผูก และแมวอ้วนลงพุงที่จำเป็นต้องลดน้ำหนัก
ปัจจุบันมีการใช้สารเคมีที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในหลายผลิตภัณฑ์รอบตัวเรา ภัยเงียบใกล้ตัวที่สุดที่มักประมาทคือเสื้อผ้าที่เราสวมใส่อยู่ทุกวัน และยิ่งอ่อนไหวขึ้นไปอีกเมื่อเป็นชุดชั้นใน นิตยสารฉลาดซื้อเคยเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชาย (สีดำ) มาตรวจหาสารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง, ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับ/ย่น) และค่าความเป็นกรด-ด่างไปแล้วในฉลาดซื้อฉบับที่ 149 ปี 2556 พบสารฟอร์มัลดีไฮด์ซึ่งเป็นสารเคมีก่อมะเร็งในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน จำนวน 2 ตัวอย่าง จากตัวอย่างที่เก็บตรวจทั้งหมด 11 ตัวอย่าง ในปี 2022 เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพจากเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย อย่างต่อเนื่อง นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชายชนิดสีดำ จำนวน 11 ตัวอย่างทั้งที่ผลิตในประเทศไทยและนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อตรวจหา สารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง (สีเอโซที่ให้อะโรแมติกแอมีน) , ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับ/ย่น) และ ค่าความเป็นกรด-ด่าง อีกครั้งพบผลการทดสอบดังนี้ · มี 3 ตัวอย่างที่ตรวจพบ สารเคมีในสีย้อม โรแมติกแอมีน คือ กางเกงใน GIORDANO, กางเกงใน Me-Style และกางเกงใน DOUBLE GOOSE (ห่านคู่) โดยสารที่ตรวจพบคือ 4,4'-Diaminodiphenylmethane (1 ใน 24 ตัวตาม มอก. 2346-2550) ปริมาณที่พบเกินมาตรฐาน คือ ยี่ห้อ GIORDANO พบปริมาณ 61.40 มก./กก. ยี่ห้อ Me-Style พบ 59.89 มก./กก. สำหรับ DOUBLE GOOSE (ห่านคู่) พบ 14.55 มก./กก. ไม่เกินค่ามาตรฐาน · ตัวอย่างที่พบค่าความเป็นกรด – ด่างในสิ่งทอสูงคือ Me-Style มีค่ากรด - ด่าง 7.26 แต่ไม่เกินมาตรฐาน (มาตรฐานคือช่วงระหว่าง 4-7.5) · ทั้ง 11 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์ แม้ทั้ง การทดสอบของฉลาดซื้อจำนวน 11 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์ แต่สารเคมีอันตรายในกลุ่มเสื้อผ้าสิ่งทอ ยังน่าเป็นห่วง ล่าสุด (29 พ.ย.) กรีนพีซ เยอรมนี แถลงว่าจากการตรวจ สินค้า SHEIN ในหลายแห่งทั่วโลก ทั้งหมด 42 ชิ้น ประกอบไปด้วยเครื่องแต่งกาย รองเท้า ทั้งสำหรับผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก และผลิตภัณฑ์สำหรับทารก พบการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ 7 ชิ้น (คิดเป็น 15%) โดยการพบการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์นี้ผิดเงื่อนไขการจำกัดปริมาณสารเคมีของสหภาพยุโรป นอกจากนี้มีผลิตภัณฑ์ 5 ชิ้นจากทั้งหมดผิดเงื่อนไข โดยปนเปื้อนเกิน 100% หรือมากกว่านั้น และยังมีผลิตภัณฑ์ 15 ชิ้นจากทั้งหมดปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในระดับที่น่าเป็นห่วง (คิดเป็น 32%)…………………………………………………………………………………………………..อันตรายและค่ามาตรฐานของสารที่ดำเนินการตรวจ ( ที่มา อ้างอิงตาม มอก.2346-2550 · ฟอร์มาลดีไฮด์ หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฟอร์มาลีน” คือสารเคมีทำให้ผ้าฝ้ายเรียบ รีดง่าย ยับยาก ยังผสมในสีทาบ้าน พลาสติก รวมถึงการดองศพ ฟอร์มาลดีไฮด์ที่สะสมอยู่ในผ้าจะระเหยออกมาในอากาศส่งผลต่อระบบประสาท ระคายผิวหนัง ทางเดินหายใจ และเป็นต้นเหตุของมะเร็งได้> ปริมาณต้องน้อยกว่า 75 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (เสื้อผ้าสำเร็จรูปชนิดที่ 2) · ค่าความเป็นกรด – ด่างในสิ่งทอ หรือ pH ของผลิตภัณฑ์สิ่งทอเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญ สำหรับผิวหนังมนุษย์ที่มีความเป็นกรดอ่อนๆ เพื่อช่วยป้องกันเชื้อโรค แต่หากค่าความเป็นกรด-ด่าง จากเสื้อผ้าทำให้สมดุลผิวเสียไป ผิวหนังอาจระคายเคืองและเสียความสามารถในการปกป้องผิว ดังนั้นค่าความเป็น กรด-ด่าง ควรต้องอยู่ระหว่าง 4.0 ถึง 7.5 ตามมาตรฐานจึงจะมีความปลอดภัย · สารเคมีในสีย้อม โรแมติกแอมีน 24 ชนิด เป็นกลุ่มสารอันตรายเมื่อสัมผัสผิวหนัง ทำให้ผิวเกิดอาการแพ้จนกระทั่งเกิดมะเร็งได้ บางชนิดทำให้เกิดความผิดปกติต่อพันธุกรรม และเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ> ต้องมีไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม…………………………………………………………………………………………………..อ่านผลทดสอบกางเกงชั้นในชายสีดำ ฉบับเต็มได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/4145 #สิทธิผู้บริโภค#สารเคมีในชุดชั้นใน#FastFashion#WhoMadeMyClothes
ความคิดเห็น (0)