ฉบับที่ 171 แก้วตาหวานใจ : อุดมคติกับความเป็นจริงของครอบครัว

ในบรรดาเรื่องราวและเรื่องเล่าที่อยู่ในละครโทรทัศน์นั้น ดูเหมือนว่า เรื่องราวเกี่ยวกับ สถาบันครอบครัว เป็นเนื้อหาที่ละครมักจะหยิบยกมากล่าวถึงเป็นอันดับแรกๆ อาจเนื่องด้วยว่าครอบครัวเป็นประเด็นที่ใกล้ชิดกับชีวิตของคนเรามากที่สุด จนช่วงเวลาไพรม์ไทม์มิอาจมองข้ามเรื่องราวดังกล่าวไปได้เลย

            แต่คำถามก็คือ ถ้าภาพอุดมคติของความเป็นครอบครัวจักต้องประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก และสมาชิกครอบครัวที่รักผูกพันกันแน่นแฟ้น อุดมคติแบบนี้กับความเป็นจริงที่เราเห็นในละครจะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพเดียวกันมากน้อยเพียงไร?

            คำตอบต่อข้อคำถามนี้ก็คือ อุดมคติ เป็นภาพที่สังคมคาดฝันว่าอยากไปให้ถึง หรืออาจเป็นจินตกรรมความฝันในความคิดของใครหลายๆ คน แต่ภาพฝันของครอบครัวที่อบอุ่นครบครันพ่อแม่ลูกและหมู่มวลสมาชิกในบ้านนั้น ช่างเป็นภาพที่พบเห็นได้ยากหรือพบได้น้อยมากในละครโทรทัศน์ เหมือนกับภาพชีวิตครอบครัวของ มดตะนอย เด็กสาวตัวน้อยที่เติบโตมาโดยที่ไม่เคยได้พานพบหน้าบิดามารดาของตนเองเลย

            เพราะคุณแม่วัยใสอย่าง แม่กวาง ผู้เป็นมารดา รู้สึกผิดที่ตั้งครรภ์ลูกน้อยตั้งแต่วัยเรียน ดังนั้นหลังจากที่ให้กำเนิดมดตะนอยมาแล้ว เธอจึงหลบลี้หนีหน้าไปอยู่ต่างประเทศ ในขณะที่ พ่อหมึก ผู้เป็นบิดาเอง ก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่า ตนมีลูกสาวกับเขาหนึ่งคน แม่กับพ่อจึงไม่เคยได้เลี้ยงหรือใกล้ชิดกับมดตะนอย และปล่อยให้เด็กสาวตัวน้อยเติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูของ ลุงช้าง พระเอกของเรื่อง

            จนกระทั่งหลายปีผ่านไป พ่อหมึกได้ทราบข่าวจากเพื่อนว่า ตนเคยมีบุตรสาวหนึ่งคนตั้งแต่เมื่อครั้งยังเรียนมหาวิทยาลัย เขาเองก็ต้องการตามหาลูก จึงไหว้วานให้ ไข่หวาน ผู้เป็นน้องสาว เดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อสืบค้นหาที่อยู่ของมดตะนอย

            จะว่าเป็นพรหมลิขิต หรือการผูกเรื่องของนักเขียนบทให้เกิดเงื่อนปมขัดแย้งอย่างไรมิอาจทราบได้ แต่ในที่สุด สาวห้าวผู้รักรถยนต์เป็นชีวิตจิตใจอย่างไข่หวาน ก็มีอันได้มาพำนักพักอยู่ในบ้านของลุงช้างหนุ่มหวานขี้งอนและรักการทำครัวเป็นพ่อบ้านพ่อเรือน โดยมีมดตะนอยกลายเป็นกามเทพสื่อรักตัวน้อยระหว่างลุงช้างกับอาไข่หวานแบบไม่รู้ตัว

            ภายใต้โครงเรื่องแบบที่กล่าวมานี้ ละครได้ผูกโยงฉายให้เห็นภาพของสถาบันครอบครัวเอาไว้อย่างซับซ้อน ทั้ง สะท้อน ภาพความจริงเอาไว้ด้านหนึ่ง ทั้ง ตอกย้ำบรรทัดฐาน เอาไว้อีกด้านหนึ่ง ในขณะเดียวกับที่ ชี้นำ หรือ ตั้งคำถามใหม่ๆ ให้ผู้ชมได้ทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับครอบครัวเอาไว้เช่นกัน

            ในลำดับแรกที่ละคร สะท้อน ภาพความจริงของครอบครัวเอาไว้นั้น ถ้าเราคิดถึงภาพอุดมคติของความเป็นครอบครัวที่ต้องประกอบด้วยพ่อแม่ลูกที่รักใคร่อบอุ่นผูกพัน เพราะลูกมักถูกตีความว่าเป็น แก้วตา ในขณะที่คู่ชีวิตก็มีสถานะเป็น หวานใจ แต่ทว่า ภาพของละครกลับสะท้อนฉายไปที่ความเป็นจริงของสังคมในอีกทางหนึ่งว่า ชีวิตครอบครัวแท้จริงนั้นไม่ได้มีสูตรสำเร็จเหมือนกับภาพอุดมคติดังกล่าวเพียงด้านเดียว ภาพที่พ่อไปทางและแม่ไปทาง อาจเป็นชีวิตที่จริงแท้ยิ่งกว่าของครอบครัวได้เช่นกัน

            แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า เด็กที่เกิดมาภายใต้บรรยากาศครอบครัวแตกแยกจะกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาเสมอไป ตราบเท่าที่ยังมีฟันเฟือนตัวอื่นที่หมุนให้สถาบันครอบครัวขับเคลื่อนต่อไปได้ ครอบครัวก็ยังคงดำเนินไปและผลิตเยาวชนรุ่นใหม่ที่น่ารักและเป็นเด็กดีแบบมดตะนอยได้ไม่ต่างกัน

            ในแง่นี้ เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ครอบครัวที่เป็นไปตามขนบจารีตไม่อาจตอบโจทย์ของคนยุคนี้ได้อย่างสมบูรณ์อีกต่อไปแล้ว แต่ครอบครัวจะเป็นเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับว่า คนแต่ละกลุ่มหรือใครแต่ละคนจะเป็นผู้คิดค้นนิยามและตีความความหมายให้กับครอบครัวของเขาแบบแตกต่างกันไป

            ฉะนั้น เมื่อขาดซึ่งพ่อกับแม่ มดตะนอยก็ยังมีลุงช้างที่ทำหน้าที่แทนทั้งเป็นพ่อและแม่ที่เลี้ยงเด็กน้อยให้เติบโตมาเป็นคนดี หรือแม้แต่ช่วงที่มีไข่หวานมาพำนักอาศัยใต้ชายคาเดียวกัน ไข่หวานก็ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ อาไข่หวาน หากแต่ยังเล่นบทบาทเป็น แม่ในจินตนาการ ของมดตะนอยไปในเวลาเดียวกัน

            ในขณะที่ด้านหนึ่งละครก็ สะท้อน สิ่งที่ กำลังเป็นอยู่ ว่า ชีวิตจริงของครอบครัวร่วมสมัยไม่ได้อบอุ่นหรือเป็นไปตามอุดมคติ แต่ขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกครอบครัวจะตีความและรังสรรค์สายสัมพันธ์ระหว่างกันของตนเองจริงๆ แต่อีกด้านหนึ่ง ในมุมฉากจบของละคร ก็เลือกที่จะรอมชอมด้วยการตอกย้ำกลับไปที่ภาพบรรทัดฐานที่ ควรจะเป็น ของครอบครัวว่า พ่อแม่ลูกที่อยู่พร้อมหน้าค่าตากัน ก็ยังเป็นอุดมคติที่ทุกๆ ครัวเรือนยังวาดฝันเอาไว้

            เพราะฉะนั้น แม้จะพลัดพรากจากแม่กวางและพ่อหมึกไปตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยความพยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อถักทอสายสัมพันธ์ของครอบครัวให้กลับคืนมา ในฉากจบของเรื่อง ละครก็ได้ยึดโยงให้มดตะนอยได้พบพ่อกับแม่ และหวนกลับมาร่วมสร้างครอบครัวที่เชื่อว่า สมบูรณ์ กันอีกครั้ง พร้อมๆ กับที่ลุงช้างและอาไข่หวานก็ได้ลงเอยกับความรัก และเริ่มที่ก่อรูปก่อร่างสร้างครอบครัวในอุดมคติกันไปอีกทางหนึ่ง

            แต่ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ไม่เพียงแต่สะท้อนหรือตอกย้ำเท่านั้น ละครอย่าง แก้วตาหวานใจ ยังได้เลือกใช้เส้นทางการ ชี้นำ หรือ เสนอทางเลือกใหม่ๆ ให้เราได้เห็นด้วยว่า แล้วภาพความจริงที่เราเคยยึดเคยเชื่อกับความสัมพันธ์ที่เวียนวนอยู่ในครอบครัวนั้น จำเป็นต้องเป็นเฉกเช่นนั้นอยู่ทุกครั้งจริงหรือไม่

            ภาพตัวละครอย่างลุงช้างที่ชอบทำครัว เลี้ยงเด็ก หรืองุนงงสับสนทุกครั้งที่เกิดรถเสีย กับภาพที่ตัดสลับมาที่อาไข่หวาน ที่เป็นหญิงห้าว สนใจกับงานช่างงานซ่อมรถยนต์ ล้างจานแตกเสมอๆ ก็เป็นตัวอย่างของภาพที่ตั้งคำถามใหม่ๆ กับคนดูว่า ผู้ชายก็ไม่จำเป็นต้องชอบเรื่องที่ใช้กำลังร่างกายและผู้หญิงก็ไม่จำเป็นต้องรักสวยรักงามรักเรื่องที่ละเอียดอ่อนเสมอไป บทบาททางเพศของหญิงชายในสถาบันครอบครัวพร้อมที่จะสลับไปมาระหว่างกันได้ตลอดเวลา

            ภายใต้การเล่นบทบาทของละครแบบ เหรียญสามด้าน ที่ทั้งฉายภาพสะท้อนสิ่งที่ กำลังเป็น ตอกย้ำภาพที่ ควรจะเป็น และตั้งคำถามใหม่ๆ กับภาพที่ อาจจะเป็น เช่นนี้ ในท้ายที่สุด เมื่อละครจบลง ก็คงทำให้เราได้ฉุกคิดว่า ในอุดมคติของความเป็นครอบครัวนั้น มดตะนอย ลุงช้าง อาไข่หวาน ตัวละครต่างๆ รวมถึงตัวเราเอง จะขับเคลื่อนนำพานาวาชีวิตครอบครัวของแต่ละคนกันไปเช่นไร

                                                                                               

แหล่งข้อมูล: สมสุข หินวิมาน

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ แก้วตาหวานใจ

ฉบับที่ 277 ชีวิตภาคสอง : หากเราได้เจอกันอีกสักครั้ง อยากขอกอดเธอไว้ให้อุ่นเหมือนเก่า

         นักปรัชญากรีกโบราณอย่างเฮราไคลตัสเคยกล่าววาทะที่คลาสสิกบทหนึ่งเอาไว้ว่า “you cannot step into the same river twice” หรือแปลความเป็นภาษาไทยว่า “คุณไม่สามารถจะก้าวลงไปในแม่น้ำสายเดียวกันได้เป็นครั้งที่สอง”                คำคมของเฮราไคลตัสข้างต้นนี้ อธิบายความโดยนัยได้ว่า เวลาไม่เคยหยุดนิ่ง แต่ดำเนินอยู่บนกฎแห่งความเปลี่ยนแปลง แค่เพียงเราก้าวเท้าลงแม่น้ำ สายน้ำก็ไหลไปอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ภายใต้กฎความเปลี่ยนแปลงแห่งเวลาเช่นนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ “สายน้ำจะหวนคืนกลับ” หรืออีกนัยหนึ่ง โอกาสของมนุษย์แทบจะไม่มีทางย้อนกลับมาเกิดเป็นครั้งที่สองได้เลย         แต่จะเป็นเช่นไร หากสายน้ำบังเอิญได้หวนกลับ และโอกาสในชีวิตของคนเราได้ย้อนทวนหวนคืนมาอีกเป็นคำรบที่สอง คำตอบข้อนี้เป็นเส้นเรื่องหลักที่ผูกไว้อยู่ในละครโทรทัศน์แนวดรามาเรื่อง “ชีวิตภาคสอง”         ด้วยพล็อตเรื่องที่ประหนึ่งโชคชะตาเล่นตลกกับผู้ชายสองคนจากต่างรุ่นวัยและต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจสังคม ละครได้เปิดเรื่องด้วยการแนะนำให้ผู้ชมได้รู้จักกับตัวละครแรกคือ “ปรเมศ” พ่อม่ายนักธุรกิจผู้มั่งคั่ง แต่มีความสัมพันธ์อันไม่ลงรอยกับ “ปิ่น” บุตรสาวเพียงคนเดียวของเขา กับอีกตัวละครหนึ่งคือ “สอง” ชายหนุ่มแสนดี แต่มีฐานะยากจนและมีชีวิตหาเช้ากินค่ำไปในแต่ละวัน         แล้วความขัดแย้งของเรื่องก็ยิ่งปะทุหนักขึ้น เมื่อปรเมศตัดสินใจเข้าสู่ประตูวิวาห์อีกครั้งกับ “รตา” หญิงสาวที่มีอายุรุ่นลูก ซึ่งปิ่นเชื่อว่า รตาต้องการแต่งงานกับบิดาสูงวัยของเธอเพียงเพื่อปอกลอกสมบัติจากปรเมศเท่านั้น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างพ่อลูกจึงเพิ่มดีกรีมากขึ้น จนพ่อกับลูกสาวทะเลาะกัน และทำให้ปรเมศเกิดอาการโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลันขึ้นมา         ประจวบเหมาะกับในเวลาเดียวกันนั้น ทางฝั่งของแรงงานรับจ้างรายวันหนุ่มอย่างสอง ก็เกิดอาการโรคหัวใจกำเริบขึ้นเฉียบพลัน จนเข้าขั้นโคม่า และได้เข้ามานอนบนเตียงโรงพยาบาลแห่งเดียวกับที่ปรเมศถูกแอดมิทอยู่นั่นเอง        บนความบาดหมางไม่ลงรอยกันระหว่างพ่อกับลูกนี้เอง นำไปสู่การจากไปแบบกะทันหันของปรเมศ โดยที่ทั้งคู่ยังไม่ได้คลี่คลายความขัดแย้งกัน กลายเป็นปมติดค้างในใจที่ทั้งปรเมศและปิ่นต่างก็เหมือนจะมีเสียงร้องก้องอยู่ว่า “ใจฉันยังคิดถึงเหมือนเคย ไม่มีใครแทนที่เธอได้เลย” ในเวลาเดียวกับที่ปิ่นผู้เป็นบุตรสาวเองก็ยังคงมีข้อสงสัยในสาเหตุการตายของบิดา และคิดว่าเป็นฝีมือการวางแผนฆาตกรรมของรตาที่ต้องการฮุบสมบัติทั้งหมดไว้เป็นของตน         แต่ทว่า ภายใต้ปมในใจที่ค้างคาระหว่างพ่อลูก ภายใต้ปมปริศนาการเสียชีวิตของตัวละครที่ยังไม่คลี่คลาย และภายใต้ห้วงนาทีชีวิตที่มีความเป็นกับความตายเป็นเส้นกั้นแบ่งบางๆ อยู่ระหว่างกลางนั้น ความมหัศจรรย์แห่งโชคชะตาก็บังเกิดขึ้นในชีวิตของผู้ชายทั้งสองคน         ในเสี้ยวชีวิตที่วิญญาณของปรเมศหลุดลอยออกจากร่างนั้น ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่สองได้หมดสิ้นลมหายใจลง เพราะฉะนั้นดวงจิตของเขาจึงถูกโชคชะตา “โอนไฟล์” เข้ามาอยู่ในร่างของสองแทน ในขณะที่ร่างจริงของปรเมศก็ได้ถูกรตาเร่งจัดการฌาปนกิจจนเป็นเถ้าสลายหายไป             “ถ้าเราได้เจอกันอีกสักวัน อยากถาม เธอจำฉันได้อยู่หรือเปล่า เธอจะยิ้มให้ฉันหรือเปล่า…” หลังจากที่ปรเมศได้ “โอกาสที่สอง” หรือ “second chance” ในร่างของชายหนุ่มที่ชื่อว่าสองเช่นนี้ เขาจึงต้องการใช้โอกาสดังกล่าวเพื่อแก้ไขปมขัดแย้งต่างๆ ที่ผูกมัดไว้เมื่อเขายังมีลมหายใจอยู่ในคราแรก         เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า สำหรับกลุ่มทุนที่เป็นชนชั้นนำบนยอดปิรามิดของสังคมไทยนั้น แม้ชีวิตของคนกลุ่มนี้จะประสบความสำเร็จในการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจการเมืองมาช้านานแล้วก็ตาม แต่ในชีวิตทางสังคมนั้น ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันมหาศาลก็คือชนวนเหตุหลักแห่งความขัดแย้งต่างๆ และก็มักลุกลามเข้าไปมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกครอบครัวของคนกลุ่มดังกล่าว         เมื่อชนชั้นนำมีความเปราะบางยิ่งในชีวิตครอบครัว   ดังนั้นการกลับมาสิงสถิตอยู่ในร่างของผู้ชายอีกคน ปรเมศจึงค้นพบข้อเท็จจริงหลายอย่าง ตั้งแต่เงื่อนงำการเสียชีวิตของเขาที่มีรตากับชู้รักอย่าง “จิรัน” สมคบคิดวางแผนฆาตกรรมอยู่เบื้องหลัง และในขณะเดียวกัน รตาเองก็ยังร่วมมือกับทั้ง “อรัญญา” ผู้เป็นมารดา “สิตางค์” ลูกพี่ลูกน้อง และ “เฮียหมง” เจ้าของธุรกิจสีเทา เพียงเพื่อจะยึดครองมรดกทางธุรกิจที่เขาก่อร่างสร้างไว้ให้บุตรสาวมาทั้งชีวิต         ด้วยเส้นเรื่องของการที่มนุษย์ผู้หนึ่งสามารถได้ในสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “second chance” นี้เอง ก็อาจจะไม่เกินการคาดเดาได้ว่า “โอกาสที่สอง” ของปรเมศ ต้องสัมฤทธิ์ผลในท้ายที่สุดแน่นอน เพียงแต่ละครจะทำให้เราลุ้นกันว่า กว่าจะคลี่คลายปมขัดแย้งทั้งหมดได้นั้น ตัวละครทั้งหลายจะมีเส้นทางฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ กันด้วยวิธีการใด         เพราะฉะนั้น เมื่อมาอยู่ในร่างที่ต่างไปจากเดิม แต่สิงไว้ด้วยจิตสำนึกใหม่ที่ต้องการแก้ไขข้อผิดพลาดในครั้งเก่า ปรเมศในร่างของสองจึงคอยช่วยเหลือปิ่นที่ต้องปะทะประมือกับรตาและสหพรรคพวกเกินกว่าครึ่งเรื่อง จนปิ่นเองก็ยิ่งเกิดความสงสัยในตัวตนที่แท้จริงของสอง เพราะไม่เพียงเขาจะรู้เรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับปรเมศ หรือมีพฤติกรรมคล้ายกับบิดา แต่สองยังดูคุ้นเคยและปรับตัวเข้ากันได้ดีกับสุนัข “ไฟเตอร์” ที่ปรเมศรักและเลี้ยงดูมาตั้งแต่ครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่         ยิ่งเมื่อความโหดร้ายของรตาเริ่มอัพเลเวลทับทวีขึ้นเรื่อยๆ ปรเมศในร่างของสองก็คอยทุ่มเทปกป้อง เพื่อใช้ “โอกาสที่สอง” ยืนยันกับลูกสาวของตนว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่มีชีวิตอยู่จนถึงวิญญาณหลุดไปอยู่ในร่างชายหนุ่มรุ่นลูก แต่ความรักที่พ่อมีให้กับปิ่นนั้น “ยังคงเหมือนเดิม ไม่เคย…จางหายไป…”         “มีพบก็ต้องมีจาก” เป็นสัจธรรมที่มิอาจปฏิเสธได้ เหมือนกับภาษิตจีนที่กล่าวว่า “การได้พบกันถือเป็นโชคชะตา การจากลาก็เช่นเดียวกัน” ด้วยเหตุนี้ แม้ในตอนท้ายเรื่อง ความบาดหมางระหว่างพ่อลูกจะแก้ไขไปได้แล้วก็ตาม แต่เพราะปรเมศได้ตัดสินใจใช้ “โอกาสที่สอง” เอาชีวิตของตนปกป้องบุตรสาวในห้วงเวลาความเป็นความตาย ทำให้ทั้งคู่ต้องพลัดพรากจากกันอีกครั้ง ทั้งๆ ที่รู้ว่าคงไม่มี “โอกาสที่สาม…สี่…ห้า…” ให้ได้กลับมาพบลูกสาวของตนครั้งใหม่ก็ตาม         เมื่อฉากละครจบลง และฉากชีวิตของครอบครัวชนชั้นนำของปรเมศและปิ่นได้รับ “โอกาสที่สอง” เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งไม่เข้าใจกันผ่านพื้นที่ของโลกสัญลักษณ์กันผ่านไปแล้ว บางทีก็น่าคิดเหมือนกันว่า แล้วกับมนุษย์ผู้หาเช้ากินค่ำหรือมีสถานะเป็นชนชั้นล่างของสังคมอย่างสองนั้น “โอกาสที่สอง” จะบังเกิดขึ้นในชีวิตของคนกลุ่มนี้เฉกเช่นเดียวกับที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นกับปรเมศได้บ้างหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 กลเกมรัก : สงสารแต่ลูกปลาบู่…

                “สงสารแต่แม่ปลาบู่ อาศัยอยู่ในฝั่งคงคา นางเอื้อยเป็นลูกกำพร้า ถึงเวลามาร่อนรำ…”         นิทานพื้นบ้าน “ปลาบู่ทอง” เล่าถึงชีวิตของ “เอื้อย” เด็กน้อยผู้กำพร้ามารดาตั้งแต่ยังเล็ก แต่ด้วยความรักความผูกพัน แม่ของเด็กหญิงเลยกลับชาติมาเกิดเป็นปลาบู่ทอง แต่ก็มิวายถูก “อ้าย” น้องสาวต่างมารดา ตามราวีจับแม่ปลาบู่ทองมาฆ่ามาแกง กลายเป็นเรื่องเล่ามุขปาฐะชีวิตลำเค็ญที่สืบต่อรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน         แม้ข้อคิดหลักของนิทานเรื่อง “ปลาบู่ทอง” จะยืนยันกับเด็กๆ ว่า ให้รู้จักคิดดีทำดีแล้วจะได้ดี รู้จักให้อภัย ไม่อิจฉาริษยา อดทนยึดมั่นกตัญญูแม้จะถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา หากทว่าสิ่งหนึ่งที่ถูกตอกย้ำซ้ำทวนเอาไว้ในเรื่องราวก็คือ ภาพความน่าสงสารของเด็กกำพร้า เพราะขาดซึ่งพ่อหรือแม่ที่เฝ้าคอยปกป้องดูแล         พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กำหนดความหมายของ “เด็ก” ว่า เป็นบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และนิยามถึง “เด็กกำพร้า” เอาไว้ว่า เป็นเด็กที่บิดาหรือมารดาเสียชีวิต เด็กที่ไม่ปรากฏบิดามารดา หรือไม่สามารถสืบหาบิดามารดาได้         แม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะนิยามความหมายของ “เด็กกำพร้า” เอาไว้แบบกลางๆ แต่ก็เป็นเรื่องชวนประหลาดใจว่า เมื่อภาพเด็กกำพร้ามาปรากฏอยู่ในจินตกรรมของเรื่องแต่งทั้งหลาย เด็กกำพร้ากลับมักถูกกำหนดคุณค่าให้ดูน่าสงสาร และมีชะตากรรมที่ทุกข์ยากลำเค็ญ ไล่เรียงตั้งแต่นิทานคลาสสิกเรื่อง “ปลาบู่ทอง” ไปจนถึงละครโทรทัศน์แนวรักสี่เส้าเรื่อง “กลเกมรัก”         เริ่มต้นเรื่องขึ้นมาด้วยการฉายให้เห็นภาพของ “อนล” พระเอกหนุ่มลูกชายของ “อาทิตย์” รองประธานบริษัท KTP ของตระกูลกำธรภูวนาถ ที่ต้องการเวนคืนที่ดินจากกลุ่มคนจนในสลัม เพราะคุณอาทิตย์มีปณิธานประจำใจที่คอยสอนบุตรชายอยู่เสมอว่า “คนจนก็ไม่ต่างจากมดปลวก ไร้ค่า ไร้ประโยชน์”         แต่ในเวลาเดียวกัน “ภูมิ” ผู้เป็นน้องชายของอาทิตย์ และรั้งตำแหน่งประธานบริษัท KTP กลับไม่เห็นด้วย ทำให้พี่น้องต้องขัดแย้งกัน ไม่ใช่เพียงเพราะความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ยังเป็นเพราะผลประโยชน์ที่แบ่งกันไม่ลงตัว จนเป็นศึกสายเลือดภายในตระกูลเดียวกันของกลุ่มทุนรายใหญ่         ภูมิมีบุตรชายที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับอนลชื่อ “ภีม” ซึ่งมองว่า “บ้าน” ไม่ใช่เพียง “สิ่งที่เป็นอาคารสถานที่อยู่อาศัย” หากแต่เป็น “ทุนของความสุข” สำหรับทุกคนโดยไม่แบ่งชนชั้นหรือฐานะทางสังคม ดังนั้น ไม่เพียงแต่รุ่นพ่อที่ขัดแย้งผลประโยชน์ระหว่างกัน แต่รุ่นลูกก็ยังไม่ลงรอยกันด้วยโลกทัศน์ที่หล่อหลอมมาคนละชุด         ตัดภาพจากฉากชีวิตครอบครัวชนชั้นนำ อีกด้านหนึ่งละครก็จำลองภาพรูปแบบความเป็นครอบครัวซึ่งต่างออกไปของคนอีกกลุ่ม ที่ใช้ชีวิตอยู่ในมูลนิธิเด็กกำพร้าบ้านสายชล กับตัวละครนางเอก “อันดา” และเพื่อนรัก “ลลิษา” ที่เติบโตมาด้วยกัน และแม้จะเป็นเพื่อนรักและสนิทกันมาแต่เด็ก และแม้จะถูกเลี้ยงดูมาโดย “หมอเบญ” ผู้เป็นประหนึ่งแม่บุญธรรมในมูลนิธิบ้านสายชล แต่ชะตาชีวิตของทั้งอันดาและลลิษาก็ไม่ต่างจากเอื้อยและอ้ายในตำนานเรื่องเล่า “ปลาบู่ทอง” เอาเสียเลย                 ในขณะที่อันดาเป็นตัวแทนของสาวน้อยสดใสแสนดี และคอยช่วยเหลือเพื่อนรักทุกครั้งที่ทำผิดและหมอเบญคาดโทษเอาไว้ แต่ทว่ากับลลิษาแล้ว ลึกๆ มีแต่ความอิจฉาริษยา เพราะคิดวาหมอเบญและใครต่อใครต่างพากันมอบความรักความเอ็นดูให้แต่กับอันดาเพียงคนเดียว         และแล้วชะตากรรมของตัวละครทั้งสี่ชีวิตก็มีอันต้องโคจรมาพบกัน เมื่อ “รมิตา” ได้ทราบความจริงจาก “ถาวร” บิดาผู้เป็นนายทุนใหญ่เจ้าของธุรกิจตระกูลอัศวชานนท์ว่า ลูกสาวคนเดียวของเธอยังมีชีวิตอยู่ เธอจึงตัดสินใจออกตามหา ประจวบกับภีมที่ได้รับบาดเจ็บเพราะอุบัติเหตุจากคนปองร้าย ได้หนีมาหลบซ่อนตัวอยู่ใกล้ๆ กับมูลนิธิบ้านสายชล ทำให้ตัวละครทั้งหมดได้เข้าไปผูกพันทั้งกับความลับของบุตรสาวที่หายตัวไปของรมิตา และกับความขัดแย้งที่ปะทุอยู่ในตระกูลเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ไปโดยปริยาย         เพราะเสียงก้องในหัวใจของสาวน้อยผู้กำพร้าบุพการีอย่างลลิษาได้แต่ครวญเพลง “ก็อยากเป็นคนที่ถูกรัก” อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และเพราะเธอแอบไปรู้ความลับที่หมอเบญปกปิดเอาไว้ว่า อันดาน่าจะเป็นบุตรสาวที่สาบสูญไปของรมิตา ลลิษาจึงสวมวิญญาณ “เพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อ” และสวมรอยเป็นลูกสาวมหาเศรษฐี เพื่อแย่งชิงทุกอย่างไปจากอันดา ไม่ต่างจากต่อมริษยาของอ้ายที่มีต่อเอื้อยลูกสาวแม่ปลาบู่ทองแต่อย่างใด         เมื่อมี “mission” อันแน่วแน่ที่จะพรากทุกอย่างมาจากเพื่อนรัก ลลิษาจึงลงมือปฏิบัติการ “กลเกม” ต่างๆ ที่จะทำให้เธอหลุดพ้นไปจากบ่วงในใจของเด็กกำพร้าผู้ที่ไม่เคยมีใคร และยังเป็นผู้ที่ไม่เคยมีอะไร เพื่อให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งได้เข้าไปครอบครองคฤหาสน์หลังใหญ่ที่ใฝ่ฝันมาแต่เด็ก         ไม่ว่าจะเป็นการใช้ล็อคเก็ตของอันดามาสวมอ้างเป็นทายาทเศรษฐีนี ลงทุนกรีดข้อเท้าเพื่อสร้างตำหนิให้เหมือนแผลเป็นของเพื่อนรัก หลอกใช้ “กระทิง” ชายคนรักให้ร่วมมือในปฏิบัติการดังกล่าว ไปจนถึงกำจัดอีกหลายชีวิตที่ล่วงรู้ความลับ รวมถึงฆาตกรรมทั้งหมอเบญผู้อุปการะเลี้ยงดูเธอจนเติบโต และ “ซอนญ่า” ที่แอบเอาดีเอ็นเอของหญิงสาวไปตรวจพิสูจน์ความจริง          ศึกรบที่อันดาต้องเผชิญก็ว่าหนักหน่วงแล้ว ศึกรักที่ต้องประมือกับลลิษาก็ยังหนักหน่วงไม่แพ้กัน เพราะเมื่อลูกพี่ลูกน้องสองคนที่ขัดแย้งกันในกลเกมธุรกิจ มาแอบหลงรักชอบพออันดา ลลิษาที่หวังในตัวของพระเอกหนุ่มจึงเพิ่มดีกรีของเสียงร้องในใจขึ้นไปอีกด้วยว่า “ถ้าเลวแล้วได้ครอบครอง ฉันยอมให้มองว่าร้าย…”         เมื่อกลเกมแห่งธุรกิจมาบรรจบกับกลเกมแห่งความรัก ความขัดแย้งของสองพระเอกหนุ่มลูกพี่ลูกน้องในวงศ์วานเดียวกันที่ฟั่นเกลียวกับความขัดแย้งของหญิงสาวกำพร้าสองคนที่กลายมาเป็น “เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด” จึงกลายเป็นเส้นเรื่องหลักที่ทำให้ผู้ชมได้ลุ้นไปกับบทสรุปว่า ตกลงแล้วข้อขัดแย้งในกลเกมเรื่องรบและเรื่องรักจะคลี่ลายได้อย่างไร และความลับเรื่องปมชาติกำเนิดที่จะทำให้ลูกปลาบู่ทองอย่างอันดากลับคืนสู่อ้อมอกของมารดาจะออกมาในแบบไหน         อนุสนธิจากความลับของอันดาที่มีล็อคเก็ตและตำหนิแผลเป็นช่วยนำพาให้เธอกลับคืนสู่บัลลังก์ครอบครัวอัศวชานนท์ ในขณะเดียวกับที่ลลิษาก็ถูกลงโทษให้ตายตกไปตาม “กลกรรม” ที่ได้กระทำมาตลอดทั้งเรื่อง ก็คงยืนยันอุทาหรณ์เดียวกับนิทานพื้นบ้าน “ปลาบู่ทอง” ที่สอนให้เราคิดดีทำดี และเฉพาะเด็กหญิงที่รู้จักมุ่งมั่นทำความดีเท่านั้น จากเด็กน้อยผู้น่าสงสารก็จะกลายเป็น “เจ้าหญิงในนิยาย” ที่กลับคืนสู่อ้อมอกแม่ และได้อยู่ครองคู่กับ “เจ้าชายรูปงาม” ได้ในที่สุด       ดูละคร “กลเกมรัก” จนจบ ได้แต่รำพึงรำพันอนิจจาน่าเวทนาก็แต่ลูกปลาบู่อย่างลลิษา ผู้ที่ทำแม้ในสิ่งที่ผิด เพียงเพื่อเขยิบสถานะจากเด็กผู้ใฝ่ฝัน “อยากเป็นคนที่ถูกรัก” สักครั้งในชีวิต ถึงที่สุดก็ต้องกลายเป็นคนที่ไม่มีอะไรและไม่เหลือใครสักคน งานนี้ก็คงได้แต่ครวญเพลงบทใหม่ว่า “สงสารแต่ลูกปลาบู่…” แล้วกระมัง

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 พรหมลิขิต : ตกลงคือพรหมลิขิตใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น

        “พรหมลิขิตบันดาลชักพา ดลให้มาพบกันทันใด ก่อนนี้อยู่กันแสนไกล พรหมลิขิตดลจิตใจ ฉันจึงได้มาใกล้กับเธอ…”         บทเพลง “พรหมลิขิต” ที่ขับร้องโดยคุณวินัย จุลละบุษปะ แห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์ เมื่อราว 7 ทศวรรษที่ผ่านมาได้ บ่งบอกนัยความเชื่อของสังคมไทยที่รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งนับถือเทพตรีมูรติทั้งสามองค์ คือ พระพรหมผู้สร้างและควบคุมทุกอย่างที่พระเจ้าได้สร้างขึ้น พระวิษณุผู้ปกป้องโลกและควบคุมโชคชะตาของมนุษย์ และพระศิวะผู้ทำลายทุกชีวิตแต่ก็เป็นผู้ให้ชีวิตใหม่ได้เช่นกัน         เฉพาะกับความเชื่อเรื่องพระพรหมในฐานะเป็นผู้สร้างโลกและลิขิตชะตาชีวิตของบุคคลต่างๆ นับแต่เกิดจนตาย หรือแม้แต่ดลบันดาลให้เกิดความรักระหว่างบุคคลดังเนื้อร้องทำนองเพลงข้างต้นนั้น แม้เมื่อเราแปลคำภาษาอังกฤษ “destiny” ที่มีความหมายถึงอำนาจซ่อนเร้นบางอย่างซึ่งกำหนดอนาคตของปัจเจก คนไทยก็ยังซ่อนซุกร่องรอยไว้ด้วยว่า คงเป็นเพราะพระพรหมท่านที่ได้ขีดเขียนชะตากรรมให้เป็นเช่นนั้นแล         อย่างไรก็ดี เมื่อเรื่องราวของ “destiny” มาปรากฏอยู่ในโลกแห่งละครโทรทัศน์กันบ้าง และตัวละครต่างก็พูดคำว่า “destiny” กันซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดทั้งเรื่อง ก็ชวนให้สงสัยและไขข้อข้องใจว่า มาถึงทุกวันนี้แล้ว “ตกลงยังเป็นพรหมลิขิตอยู่ใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น” กันจริงๆ         กับละครโทรทัศน์แนวเดินทางข้ามเวลาภาคต่อ ที่ขานรับกระแส “ออเจ้าฟีเวอร์” ซึ่งฮือฮาเมื่อราว 5 ปีก่อนหน้าเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” มาสู่ภาคใหม่ในชื่อเรื่อง “พรหมลิขิต” ก็สื่อนัยความหมายไม่มากก็น้อยถึงอิทธิฤทธิ์ของพระพรหมท่านที่จะลิขิตบันดาลหรือกำหนดชะตาชีวิตของตัวละครให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้         เรื่องราวของละครโทรทัศน์ภาคต่อเล่าถึงนางเอก “พุดตาน” ณ กาลสมัยปัจจุบัน มีเหตุบังเอิญไปเจอเข้ากับหีบโบราณลึกลับ พลันที่เธอเปิดหีบนั้น ก็ได้พบกับสมุดข่อยโบราณ ซึ่งก็คือ “มนต์กฤษณะกาลี” ที่ถูกฝังดินไว้ และทันทีที่พุดตานได้สัมผัสกับสมุดข่อยศักดิ์สิทธิ์ ร่างของเธอก็ถูกกลืนหายไปจากปัจจุบันขณะ ย้อนกลับไปปรากฏตัวเมื่อกว่า 300 ปีในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาโน่นเลย         และแล้วตำนานรักโรแมนติกบทใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อพุดตานได้ลืมตามาพบกับ “หมื่นมหาฤทธิ์” หรือ “พ่อริด” พระเอกหนุ่มบุตรชายฝาแฝดของ “ออกญาวิสูตรสาคร” และ “คุณหญิงการะเกด” หรือก็คือ “เกศสุรางค์” ผู้ที่ครั้งหนึ่งก็เคยเดินทางข้ามกาลเวลามา แต่บัดนี้ได้กลายเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาไปเสียแล้ว         ด้วยเป็นภาคต่อของละครโทรทัศน์เรื่อง “บุพเพสันนิวาส” นี้เอง คู่ขนานไปกับการคลี่คลายปมของตัวละครทั้งหลายที่ถูกผูกไว้ตั้งแต่ภาคก่อน เส้นเรื่องของ “พรหมลิขิต” จึงยังคงเดินหน้าถ่ายทอดความรักรุ่นลูกระหว่างพ่อริดกับพุดตาน โดยมีการตั้งคำถามหลักว่า เหตุการณ์อันมหัศจรรย์ที่คนสองคนข้ามเวลามารักกันเยี่ยงนี้เป็นเพราะ “destiny” กันจริงหรือไม่         แม้จุดเริ่มเรื่องพุดตานจะพยายามแย่งสมุดข่อยลึกลับคืนจากพ่อริด เพราะคิดว่าเป็นประตูกาลเวลาซึ่งจะนำพาให้เธอกลับสู่สามร้อยกว่าปีที่จากมาได้ แต่ด้วยเหตุที่ครั้งหนึ่งคัมภีร์กฤษณะกาลีเคยทำให้คุณหญิงการะเกดเกือบต้องตายจากไปตลอดกาล พ่อริดจึงเอาสมุดข่อยต้นเรื่องไปฝากไว้กับ “หมื่นณรงค์ราชฤทธา” หรือ “พ่อเรือง” แฝดผู้พี่ที่พำนักอยู่เมืองสองแควพิษณุโลก อันเป็นเหตุให้พุดตานต้องใช้ชีวิตติดอยู่ในรัชสมัย “ขุนหลวงท้ายสระ” กับดินแดนที่เธอไม่รู้สึกคุ้นเคยแต่อย่างใด         ด้วยเหตุฉะนี้ ใจความหลักของเรื่องจึงวนเวียนอยู่กับการนำไปสู่บทสรุปตอนท้ายว่า ตกลงแล้วพุดตานจะกลับคืนสู่ภพชาติปัจจุบันได้หรือไม่ และยืนยันให้คำตอบที่พ่อริดสงสัยอยู่เนืองๆ ต่อ “destiny” ว่า “ออเจ้ามาที่นี่เพราะพรหมลิขิตกระนั้นหรือ”         ที่น่าประหลาดใจยิ่งก็คือ ในขณะที่พุดตานก็อธิบายถึง “destiny” ให้พ่อริดฟังว่า “คนที่เชื่อเรื่องพรหมลิขิต ไม่เชื่อว่าจะมีอะไรขัดขวางพระพรหมได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพรหมลิขิตไว้” หากทว่า เรื่องราวของละครกลับมีพล็อตที่คู่ขนานกันไปด้วยว่า เหตุปัจจัยที่ตัวละครหลากหลายได้โคจรมาบรรจบพบกันนั้น อีกฟากหนึ่งก็กลับมีกรรมเก่าที่ทำร่วมกันมาแต่ปางก่อนเป็นเงื่อนไขกำหนด         ทั้งนี้ พุดตานผู้เดินทางย้อนเวลาข้ามภพมา จริงๆ ก็คือ “แม่หญิงการะเกด” ที่เพราะทำกรรมไว้แต่ชาติปางบรรพ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็ตั้งแต่ละครภาคก่อน ดังนั้น การที่เธอได้มาพบรักกับพ่อริด พบเจอกับออกญาวิสูตรสาครและเกศสุรางค์ จนถึงกลับมาปะทะคารมกับ “คุณหญิงจำปา” และ “แม่ปริก” หรือมาเจอะเจอกับ “ผิน” และ “แย้ม” บ่าวรับใช้ในอดีต ก็หาใช่เหตุบังเอิญไม่ แต่เป็นเพราะกรรมเก่าที่ยังไม่ได้ชำระปลดเปลื้องไปนั่นเอง         โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวละคร “แม่กลิ่น” หลานสาวของ “ยายกุย” ที่เอาแต่ตั้งแง่รังเกียจกลั่นแกล้งพุดตานแบบไม่รู้ต้นสายปลายเหตุด้วยแล้ว ละครก็มาเฉลยความในตอนท้ายว่า แม่กลิ่นก็คือ “แดง” เจ้ากรรมนายเวรที่เมื่อชาติก่อนเคยถูกการะเกดทำให้ตกน้ำตาย จนชาตินี้พุดตานต้องกลับมาช่วยชีวิตแม่กลิ่นที่กำลังจมน้ำ เพื่อแก้กรรมและอโหสิกรรมให้หลุดพ้นจากวังวนวัฏฏะที่ทำกันมาตั้งแต่ภพภูมิเก่า         อย่างไรก็ตาม แม้ “destiny” ที่พุดตานกับพ่อริดจะร่วมกันสร้างขึ้นด้วยส่วนผสมระหว่าง “พรหมลิขิต” กับ “กรรมลิขิต” ก็ตาม แต่ทว่า ในอีกแง่มุมหนึ่ง ละครก็ได้นำเสนอเส้นขนานคู่ที่สามที่ตั้งคำถามไปอีกว่า แล้วปัจเจกบุคคลอย่างเราๆ มีอำนาจที่จะลิขิตชีวิตของตนเองได้ด้วยหรือไม่         ด้วยเหตุนี้ เมื่อมาถึงฉากตอนท้ายที่พุดตานต้องถูกถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาให้กับขุนหลวง นางเอกสาวก็เลือกประกาศเจตนารมณ์ข้อใหม่กับพ่อริดและใครต่อใครว่า “กฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นต้องเปลี่ยนแปลงได้” และประวัติศาสตร์ที่จะขีดเขียนใหม่ให้เกิดเป็นจริงขึ้นได้ ก็ไม่ใช่รอคอยให้เป็นไปตามยถากรรม แต่ต้องได้มาด้วยจิตสำนึกและลงมือกระทำการโดยตัวของมนุษย์เองเท่านั้น         ดังนั้น ควบคู่ไปกับการพูดคำศัพท์ร่วมสมัยให้กับผู้คนยุคกรุงศรีฯ การลงมือปรุงสำรับอาหารหลากหลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ยั่วน้ำลายผู้ชม หรือการปฏิเสธค่านิยมคลุมถุงชนและหลายผัวหลายเมียแบบโบราณ เราจึงได้เห็นฉากที่ปัจเจกบุคคลอย่างพุดตานลุกขึ้นมาปฏิเสธการเข้าถวายตัว อันเป็นข้อกำหนดที่เคยเชื่อว่ามิอาจเปลี่ยนแปลงได้ จนนำไปสู่บทสรุปความรักที่สมหวังกับชายหนุ่มที่เธอได้รักและได้เลือกจริงๆ         หากจะย้อนกลับไปสู่คำถามว่า แล้วกับ “destiny” นั้น “ตกลงคือพรหมลิขิตใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น” บางทีคำตอบจากละครที่มีชื่อเรื่องว่า “พรหมลิขิต” ก็น่าจะบอกเราได้ว่า พระพรหมอาจจะลิขิตให้คนสองคนรักกัน และกรรมก็อาจลิขิตชีวิตไปตาม “ชะตา(แห่ง)กรรม” แต่กระนั้น ก็ยังเป็นปัจเจกบุคคลที่สามารถลุกขึ้นมาท้าทาย เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ และลิขิตขีดเขียน “destiny” ของตนเอาไว้ได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 274 พนมนาคา : เชื่อในสิ่งที่(ไม่ควร)เห็น เห็นในสิ่งที่(ไม่อยาก)เชื่อ

        เมื่อครั้งสังคมบุพกาลนานมา คนไทยได้ถักทอความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกรอบตัวเอาไว้อย่างซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับสิ่งที่มองเห็นจับต้องได้ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน หรือมนุษย์กับสิ่งของหรือธรรมชาติแวดล้อม ไปจนถึงความสัมพันธ์กับโลกแห่งนามธรรม ที่แม้จะจับต้องไม่ได้ แต่คนเราก็ยึดโยงตนเองกับสายสัมพันธ์ที่มิอาจเข้าถึงได้ด้วยอายตนสัมผัสทั้งห้าด้าน         ตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกนามธรรมที่มองไม่เห็นและสัมผัสไม่ได้นี้ สะท้อนออกมาในลักษณะของความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ เช่น เรื่องของภูตผีปีศาจ วิญญาณ การบูชาทวยเทพเทวดา รวมไปถึงการเคารพบูชาพญานาค หรือที่เรียกว่า “นาคาคติ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นมนุษย์อันผูกโยงความสัมพันธ์กับคู่ตรงข้ามที่มีความเป็นอื่น หรือที่คนเราเรียกว่าเป็น “อมนุษย์”         เสฐียรโกเศศ อันเป็นนามปากกาของพระยาอนุมานราชธน นักปราชญ์ผู้เอกอุทางด้านวัฒนธรรม เคยอธิบายว่า ผีเป็น “อะไรๆ ที่ลึกลับ ซึ่งเรายังไม่รู้และยังคิดไม่ออก ทั้งโดยปกติก็ไม่เคยเห็นตัว หากว่าเคยเห็นผี ก็ต้องเป็นรูปร่างต่างๆ แล้วแต่ผู้เห็น เพราะฉะนั้น ผีจึงเป็นพวกไม่ใช่คน เป็นอมนุษย์อยู่เหนือคน แต่ผีก็มีลักษณะลางอย่างคล้ายคน คือ มีทั้งผีชั้นสูงชั้นต่ำ มีทั้งผีดีผีร้าย”         ด้วยคำอธิบายของปัญญาชนแห่งสยามประเทศในอดีตเช่นนี้ บรรดาอมนุษย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผีหรือพญานาค จึงไม่เพียงแต่มีความเป็นอื่น หากทว่าคือความเป็นอื่นที่มนุษย์เองก็เชื่อโดยมิพักต้องสงสัยหรือสืบถาม แม้ว่าเราจะเคยเห็น หรือไม่เคยเห็น หรือไม่ควรเห็นในสิ่งเหนือธรรมชาติลี้ลับดังกล่าวนั้นก็ตาม         ความเชื่อในความเป็นอื่นที่ไม่ควรเห็น หรือการเห็นในสิ่งเราเองก็มองไม่เห็นหรือไม่ควรเห็นเช่นนี้ ดูจะเป็นความคิดหลักที่กลายเป็นแก่นเรื่องซึ่งเล่าผ่านละครโทรทัศน์แนวแฟนตาซีดรามาอย่าง “พนมนาคา” อันมีเนื้อหาว่าด้วยตำนานพญานาคผู้รอคอยหญิงคนรักแบบข้ามภพข้ามชาติมานับเป็นพันๆ ปี         เรื่องราวของละคร “พนมนาคา” นำเสนอภาพกาลสมัยปัจจุบันของ “เอเชีย” นางเอกสาวผู้เป็นกุมารแพทย์สมัยใหม่ และเบื้องลึกปฏิเสธที่จะเชื่อในเรื่องเร้นลับซึ่งวิทยาศาสตร์มิอาจพิสูจน์ให้ประจักษ์เห็นได้ โดยตั้งแต่เริ่มต้นเรื่องนั้น ความเชื่อมั่นในศาสตร์ความรู้สมัยใหม่ของหมอเอเชียก็ถูกท้าทาย เมื่อคุณหมอสาวที่กำลังรักษาคนไข้อยู่ถูกญาติของคนไข้เอาน้ำมนต์สาดหน้า เพราะเธอไม่เชื่อว่าผู้ป่วยถูกสิ่งเหนือธรรมชาติเล่นงาน และยังไปปรามาสว่าสิ่งที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตาช่างดูไร้สาระงมงาย         ต่อมาละครก็ค่อยๆ เพิ่มบททดสอบอีกหลายระลอกเพื่อสั่นคลอนความยึดมั่นถือมั่นในองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในห้วงสำนึกของหมอเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นฉากที่หญิงสาวพลัดตกจากดาดฟ้าของโรงพยาบาล แล้วทุกอย่างก็หยุดนิ่ง พร้อมกับมีกายทิพย์ของชายหนุ่มรูปงามคนหนึ่งลอยตัวมาโอบรับตระกองเธอลงมาสู่พื้นดิน หรือการที่นางเอกสาวเริ่มรู้สึกลึกๆ ว่า ชายหนุ่มลึกลับคนเดียวกันนี้ เฝ้าติดตาม “ส่อง” ดูชีวิตเธออยู่ในโลกนิมิตหรือโลกคู่ขนานที่เกินกว่าอายตนะทั้งห้าของเธอจะสัมผัสได้         การปะทะกันระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เช่นนี้ ต่อมาได้กลายเป็นเหตุปัจจัยนำพาให้หมอเอเชียเดินทางสู่หมู่บ้านไกลโพ้นริมตะเข็บชายแดนไทย-เขมรที่ชื่อ “พนมนาคา” และ ณ หมู่บ้านอีสานโบราณแห่งนี้เอง ที่เด็กจำนวนมาก รวมทั้งเด็กชาย “วันเนตร” ป่วยเป็นโรคประหลาดคล้ายกับมีเกล็ดงูขึ้นตามตัว ซึ่งชาวบ้านต่างเชื่อกันว่าเป็นเพราะคำสาปของพญานาค ในขณะที่คุณหมอกุมารเวชกลับยืนกรานว่านี่คืออาการของโรคที่ชื่อฟังดูแปลกหูว่า “อิชไธโอซิส”         ในขณะที่กำลังสืบหาสาเหตุต่ออาการป่วยแปลกประหลาดของเด็กๆ ในหมู่บ้านอยู่นั้น ยิ่งค้นหาคำตอบ ก็ยิ่งพบกับเรื่องเร้นลับปาฏิหาริย์ชวนสนเท่ห์ใจขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งหมอเอเชียก็ได้พบกับ “อนันตชัย” ชายหนุ่มลึกลับในภาพนิมิตของเธออีกครั้ง และบังเกิดความรู้สึกว่า เธอกับเขาผูกพันกันมานานแสนนาน         จากนั้นความจริงของเรื่องก็ค่อยๆ เปิดเผยออกมาว่า พระเอกหนุ่มอนันตชัยก็คือ “พ่อปู่” หรือพญานาคผู้คุ้มครองหมู่บ้านพนมนาคา และในอดีตชาตินับพันปีก่อน เอเชียก็คือ “อนัญชลี” หญิงคนรักของเขา แต่เพราะ “อเนกชาติ” พญานาคผู้น้องมีความอิจฉาพี่ชาย และหวังจะครอบครองอนัญชลีเพื่อขึ้นเป็น “นาคาธิบดี” หรือเจ้าผู้เป็นใหญ่ในหมู่พญานาคทั้งปวง จึงวางแผนให้อนัญชลีเข้าใจเขาผิดจนฆ่าตัวตายและกล่าวสัจวาจาสาปแช่งให้ตนรังเกียจอนันตชัยในทุกภพทุกชาติไป         เพราะอนันตชัยเองก็ตระหนักว่า “วันวานมันคืนย้อนมาไม่ได้ และวันพรุ่งนี้ยังไม่รู้ ฉันพร้อมจะอยู่ ฉันพร้อมจะตายเพื่อรักคำเดียว…” เขาจึงติดตามและปกป้องเธอจากอเนกชาติมาแบบข้ามภพชาติ โดยมุ่งหมายจะรื้อถอนไฟล์ความทรงจำที่ผิดพลาด และทำพิธีกรรมถอนคำสาปให้หญิงคนรักได้กลับมาครองคู่กับเขาอีกครั้งในชาติปัจจุบัน         “ไม่ว่าเธอจะเคยเป็นใคร จะผ่านอะไรมาขอจงอย่าเป็นกังวล นี่คือคนของเธอ” อนันตชัยจึงต้องฝ่าฟันกับคำสาปในอดีตที่อนัญชลีได้ปฏิญาณว่า “ไม่ว่าชาติไหนก็จะไม่ขอรักชายคนนี้อีก” และยังต้องฝ่าด่านความรู้สมัยใหม่ เพื่อยืนยันกับเอเชียว่า “ในโลกนี้มีอะไรอีกมากมายที่วิทยาศาสตร์ของคุณพิสูจน์ไม่ได้ สิ่งที่มองไม่เห็นใช่ว่าจะไม่มี” และทำให้เธอเชื่อการมีอยู่ของพญานาคด้วยตนเอง ไม่ใช่เชื่อเพียงเพราะคนอื่นบอกว่ามีจริง         โดยโครงเรื่องที่พระเอกหนุ่มจากต่างภพภูมิเฝ้ารอคอยการกลับมาครองคู่กับหญิงคนรักเช่นนี้ เราก็พอจะคาดเดาฉากอวสานได้ไม่ยากว่า หลังจากผ่านอุปสรรคนานัปการ อนันตชัยก็สามารถกอบกู้และดีลีทไฟล์ความทรงจำอันผิดพลาดคลาดเคลื่อน และลงเอยความรักกับหมอเอเชียได้ในที่สุด ซึ่งตรงข้ามกับอเนกชาติที่ก็ต้องถูกเมืองบาดาลลงโทษไปตามกฎแห่งกรรม         ในด้านหนึ่ง การวางพล็อตเรื่องแบบรักอมตะระหว่างพญานาคากับมนุษย์ปุถุชนก็ไม่ต่างจากการสืบทอดคติความเชื่อลึกๆ ของคนไทย ที่ยอมรับการดำรงอยู่ของสายสัมพันธ์ข้ามเผ่าพันธุ์หรือข้ามวัฒนธรรม         แต่ในอีกทางหนึ่ง เมื่อหมอเอเชียกับผองมิตรที่ทำกรรมร่วมกันในปางก่อนอย่าง “พุ่มข้าวบิณฑ์” และ “สิทธา” ได้สัมผัสเรื่องเหลือเชื่อครั้งแล้วครั้งเล่า และประจักษ์แก่สายตาว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของพ่อปู่นาคราชผสานกับการรักษาโรคด้วยแพทย์แผนใหม่ช่วยเยียวยาให้เด็กๆ พนมนาคาหายขาดจากอาการโรคเกล็ดงูได้ จากที่เคย “ไม่เชื่อแต่ไม่กล้าลบหลู่” ก็กลายเป็น “เชื่อได้โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคำถาม” แต่อย่างใด        กับโลกที่เรามองเห็นและสัมผัสด้วยอายตนะทั้งห้านั้น เรื่องบางเรื่องเราอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และพิสูจน์ไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ทั้งเรื่องชาติภพ บุญกรรม การกลับชาติมาเกิด หรือคติความเชื่อในพญานาค แต่ความรักข้ามภพของอนันตชัยกับอนัญชลีกับความศรัทธาต่อพ่อปู่ที่ชาวบ้านพนมนาคาต่างเคารพ คงให้ข้อสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเห็นหรือไม่เห็น แต่ขอเพียงเชื่อโดยไม่ตั้งคำถาม เราก็สัมผัสถึงได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)