ฉบับที่ 179 สะใภ้จ้าว : ผู้หญิงอ่านหนังสือ เพื่อรื้อสร้างประวัติศาสตร์ของตน

มนุษย์เราเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ของตนได้หรือไม่?


    นักคิดหลายคนที่เชื่อในพลังสองมือมนุษย์ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้นเป็นไปได้ แต่มิใช่เป็นไปตามยถากรรม หากแต่ต้องมี “ตัวกลาง” หรือปัจจัยบางอย่างที่จะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวขึ้นมา


    และหากมนุษย์ที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตของตนเอง เกิดเป็น “มนุษย์ผู้หญิง” ด้วยแล้ว แม้จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ผู้หญิงก็สามารถขีดแต่งแปลงหน้าประวัติศาสตร์ของตนเองได้ แต่ก็ต้องมี “ตัวกลาง” ที่เป็นตัวแปรเอื้ออำนวยด้วยเช่นกัน


    ประจักษ์พยานต่อข้อคำถามนี้ เห็นได้จากปมเรื่องหลักที่สองสาวพี่น้องตระกูลบ้านราชดำริอย่าง “ศรีจิตรา” กับ “สาลิน” ได้ถูกผูกโยงให้ต้องคลุมถุงชนเพื่อเป็น “สะใภ้จ้าว” ของ “คุณชายรอง” หรือ “ม.ร.ว.กิติราชนรินทร์” และ “คุณชายเล็ก” หรือ “ม.ร.ว.บดินทราชทรงพล” ตามลำดับ


    เรื่องราวของละครเริ่มต้นจาก “สอางค์” และ “สร้อย” ผู้มีศักดิ์เป็นป้าของสองสาว พยายามผลักดันให้ศรีจิตราถูกคลุมถุงชนร่วมหอลงโรงกับ “คุณชายโต” หรือ “ม.ร.ว.ดิเรกราชวิทย์” แต่ทว่าคุณชายโตกลับรักใคร่ชอบพอและตกแต่งมีลูกกับ “จรวย” เมียบ่าวในวังวุฒิเวสน์แทน


    เมื่อเป็นหม้ายขันหมากพลาดหวังจากคุณชายโต ศรีจิตราก็ถูกจับคู่ครั้งใหม่ให้กับคุณชายรอง ผู้ที่อีกด้านหนึ่งก็เพิ่งจะผิดหวังความรักจาก “หญิงก้อย ม.ร.ว.เทพีเพ็ญแสง” ซึ่งเลือกหนีแต่งงานไปอยู่ต่างประเทศกับ “อัศนีย์” มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งและร่ำรวยกว่า

    แม้ในยุคหนึ่งนั้น การคลุมถุงชนจะถูกใช้อธิบายถึงการประสานประโยชน์และความเหมาะสมลงตัวในความสัมพันธ์ของบ่าวสาว แต่นั่นกลับไม่ใช่ชุดคำอธิบายเดียวกับที่สาลินนิยามเอาไว้ เพราะสาลินเห็นว่าการที่พี่สาวถูกโยนกลิ้งไปมาเป็นลูกบอลเพื่อจับคู่กับคนโน้นทีคนนี้ที ก็คือการที่สังคมพยายามเข้าไปกำหนดชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง โดยที่ผู้หญิงคนนั้นไม่อาจมีปากเสียงหรือต่อสู้ได้แต่อย่างใด


    เพราะสาลินเกิดในครอบครัวบ้านสวนที่บ่มเพาะให้เธอรักการอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก และโตขึ้นเธอก็ได้มาทำงานเป็นบรรณารักษ์ของห้องสมุดประชาชนอีก สาลินจึงเรียนรู้ว่า นางเอกในนวนิยายก็ไม่จำเป็นต้องลงเอยกับคู่หมายที่สังคมกำหนดหรือเชื่อว่าเหมาะสมเสมอไป นางเอกก็มีสิทธิและอำนาจที่จะเป็นผู้ “เลือก” หรือ “มีโอกาสเลือก” ในชีวิตได้เช่นกัน


    ดังนั้น เมื่อพี่สาวต้องถูกบังคับให้แต่งงานครั้งแล้วครั้งเล่ากับผู้ชายที่ไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อน (แม้จะเป็นคุณชายก็เถิด) จนมาถึงคู่หมายคนล่าสุดที่เป็นคุณชายรอง (หรือที่เธอเรียกเขาแบบกระแนะกระแหนว่า “คุณชายชื่อยาว”) การคลุมถุงชนที่มีอีกด้านของเหรียญเป็นเสมือนการบังคับขืนใจผู้หญิงอย่างศรีจิตราให้จำยอม จึงเป็นสิ่งที่สาลินมิอาจรับได้เลย


    ด้วยเหตุนี้ สาลินจึงขัดขวางการแต่งงานนี้ในทุกๆ ทาง และพยายามที่จะส่งเสริมให้คุณชายรองกลับไปคืนดีกับหญิงก้อย ด้วยหวังจะให้พี่สาวหลุดพ้นจากพันธการแห่งการคลุมถุงชนโดยไม่ยินยอม


    แต่ก็เหมือนกับที่คำโบราณกล่าวไว้ว่า “เนื้อคู่กันแล้วก็คงไม่แคล้วกันไปได้” ถ้าสาลินถูกฟ้ากำหนดมาแล้วให้ต้องลงเอยกับคุณชายรอง จากที่เคยคิดว่าเขาเป็นพวกเจ้าชู้ไก่แจ้ หรือจากที่เคยเป็นพ่อแง่แม่งอนในยกแรกๆ ของความสัมพันธ์ สาลินก็เริ่มเรียนรู้และเข้าใจคำพูดของ “เสด็จพระองค์หญิง” ว่า “เวลาอ่านหนังสือ อย่าดูแต่เพียงหน้าปก” เพราะเนื้อในของคนก็เหมือนกับหนังสือที่ต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ทีละหน้าตั้งแต่ต้นจนกว่าจะอ่านจบเล่ม


    ส่วนกรณีของศรีจิตรานั้น แม้เธอจะเป็นผู้หญิงเงียบๆ ที่ดูแล้วเหมือนจะไม่มีปากเสียงและยอมจำนนอยู่ใต้อาณัติความเป็นไปของสังคม แต่แท้จริงแล้ว ศรีจิตราก็ใช่ว่าจะไม่รู้สึกรู้ร้อนรู้หนาวกับการคลุมถุงชนแต่ละครั้งในชีวิตของเธอ


    ดังนั้น เมื่อศรีจิตราค้นพบหัวใจของตัวเองแล้วว่า ถึงแม้จะถูกปฏิเสธและตกเป็นหม้ายขันหมากมาแล้วถึงสองครา เธอก็ไม่ได้เศร้าโศกเสียใจแต่อย่างใด เพราะลึกๆ แล้ว เธอเองก็หลงรักคุณชายเล็กคนสุดท้องของวังวุฒิเวสน์ หาใช่คุณชายโตหรือคุณชายรองไม่


    ประโยคที่ศรีจิตราพูดกับ “อุ่นเรือน” ผู้เป็นมารดาว่า “จะผิดไหมถ้าหนูจะต่อสู้เพื่อหัวใจของหนูเอง” จึงเป็นวลีที่บอกเป็นนัยกับผู้ชมว่า ภายใต้อำนาจกฎเกณฑ์ทางสังคมที่เข้ามาขีดวงชีวิตของตัวละครหญิงผู้นี้ ศรีจิตราก็พร้อมจะลุกขึ้นมารื้อถอนและรื้อสร้างเพื่อขีดเขียนหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตของเธอเองบ้างแล้ว


    และเพราะอ่านหนังสืออยู่เป็นอาจิณ ศรีจิตราจึงลงมือทำตัวเป็นนางเซฮาราซาดผู้เล่านิทานอยู่ถึงพันหนึ่งราตรี ก็เพียงเพื่อพิชิตใจของคุณชายเล็ก ไล่เรียงตั้งแต่ตำนานของนางมัทนาผู้เจ็บช้ำจากความรักจนถูกสาปเป็นดอกกุหลาบในเรื่องมัทนะพาธา นางเงือกน้อยแอเรียลผู้พบจุดจบจากความรักในเรื่องลิตเติ้ลเมอร์เมด จนมาถึงการเผด็จศึกคุณชายเล็กด้วยฉากคาบดอกบัวจากวรรณกรรมนิทานเวตาล


    บทบาทของการอ่านหนังสือ ที่แม้จะเป็นเพียงกระดาษเล่มเล็กๆ ที่ร้อยเรียงเรื่องราวของโลกเอาไว้ แต่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยขยายประสบการณ์และอำนาจของผู้หญิงอย่างศรีจิตราและสาลิน ให้รู้ทันโลกและเข้าใจชีวิตมากยิ่งขึ้น ไม่ต่างไปจากตัวละครผู้หญิงอีกหลายๆ คนในท้องเรื่องอย่างเสด็จพระองค์หญิง อุ่นเรือน คุณยาย จนถึงคุณแม่นม ที่ต่างก็มีโลกทัศน์กว้างไกลออกไปเพราะการอ่านหนังสือนั่นเอง


    แม้การจะได้เป็น “สะใภ้จ้าว” ในชีวิตจริง อาจเป็นเพียงโอกาสของผู้หญิงไม่กี่คนที่จะสมหวังได้เหมือนกับศรีจิตราและสาลิน แต่ทว่า โอกาสแห่งผู้หญิงที่จะลุกขึ้นมาขีดเขียนเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตของตนเองนั้น สามารถบังเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ว่าผู้หญิงเหล่านั้นจะอ่านหนังสือหรือเปิดหน้าต่างประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านโลกสัญลักษณ์และตัวอักษรที่บรรจงเขียนไว้ในทุกเส้นบรรทัด

         

แหล่งข้อมูล: สมสุข หินวิมาน

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ สะใภ้จ้าว

ฉบับที่ 275 พรหมลิขิต : ตกลงคือพรหมลิขิตใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น

        “พรหมลิขิตบันดาลชักพา ดลให้มาพบกันทันใด ก่อนนี้อยู่กันแสนไกล พรหมลิขิตดลจิตใจ ฉันจึงได้มาใกล้กับเธอ…”         บทเพลง “พรหมลิขิต” ที่ขับร้องโดยคุณวินัย จุลละบุษปะ แห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์ เมื่อราว 7 ทศวรรษที่ผ่านมาได้ บ่งบอกนัยความเชื่อของสังคมไทยที่รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งนับถือเทพตรีมูรติทั้งสามองค์ คือ พระพรหมผู้สร้างและควบคุมทุกอย่างที่พระเจ้าได้สร้างขึ้น พระวิษณุผู้ปกป้องโลกและควบคุมโชคชะตาของมนุษย์ และพระศิวะผู้ทำลายทุกชีวิตแต่ก็เป็นผู้ให้ชีวิตใหม่ได้เช่นกัน         เฉพาะกับความเชื่อเรื่องพระพรหมในฐานะเป็นผู้สร้างโลกและลิขิตชะตาชีวิตของบุคคลต่างๆ นับแต่เกิดจนตาย หรือแม้แต่ดลบันดาลให้เกิดความรักระหว่างบุคคลดังเนื้อร้องทำนองเพลงข้างต้นนั้น แม้เมื่อเราแปลคำภาษาอังกฤษ “destiny” ที่มีความหมายถึงอำนาจซ่อนเร้นบางอย่างซึ่งกำหนดอนาคตของปัจเจก คนไทยก็ยังซ่อนซุกร่องรอยไว้ด้วยว่า คงเป็นเพราะพระพรหมท่านที่ได้ขีดเขียนชะตากรรมให้เป็นเช่นนั้นแล         อย่างไรก็ดี เมื่อเรื่องราวของ “destiny” มาปรากฏอยู่ในโลกแห่งละครโทรทัศน์กันบ้าง และตัวละครต่างก็พูดคำว่า “destiny” กันซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดทั้งเรื่อง ก็ชวนให้สงสัยและไขข้อข้องใจว่า มาถึงทุกวันนี้แล้ว “ตกลงยังเป็นพรหมลิขิตอยู่ใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น” กันจริงๆ         กับละครโทรทัศน์แนวเดินทางข้ามเวลาภาคต่อ ที่ขานรับกระแส “ออเจ้าฟีเวอร์” ซึ่งฮือฮาเมื่อราว 5 ปีก่อนหน้าเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” มาสู่ภาคใหม่ในชื่อเรื่อง “พรหมลิขิต” ก็สื่อนัยความหมายไม่มากก็น้อยถึงอิทธิฤทธิ์ของพระพรหมท่านที่จะลิขิตบันดาลหรือกำหนดชะตาชีวิตของตัวละครให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้         เรื่องราวของละครโทรทัศน์ภาคต่อเล่าถึงนางเอก “พุดตาน” ณ กาลสมัยปัจจุบัน มีเหตุบังเอิญไปเจอเข้ากับหีบโบราณลึกลับ พลันที่เธอเปิดหีบนั้น ก็ได้พบกับสมุดข่อยโบราณ ซึ่งก็คือ “มนต์กฤษณะกาลี” ที่ถูกฝังดินไว้ และทันทีที่พุดตานได้สัมผัสกับสมุดข่อยศักดิ์สิทธิ์ ร่างของเธอก็ถูกกลืนหายไปจากปัจจุบันขณะ ย้อนกลับไปปรากฏตัวเมื่อกว่า 300 ปีในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาโน่นเลย         และแล้วตำนานรักโรแมนติกบทใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อพุดตานได้ลืมตามาพบกับ “หมื่นมหาฤทธิ์” หรือ “พ่อริด” พระเอกหนุ่มบุตรชายฝาแฝดของ “ออกญาวิสูตรสาคร” และ “คุณหญิงการะเกด” หรือก็คือ “เกศสุรางค์” ผู้ที่ครั้งหนึ่งก็เคยเดินทางข้ามกาลเวลามา แต่บัดนี้ได้กลายเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาไปเสียแล้ว         ด้วยเป็นภาคต่อของละครโทรทัศน์เรื่อง “บุพเพสันนิวาส” นี้เอง คู่ขนานไปกับการคลี่คลายปมของตัวละครทั้งหลายที่ถูกผูกไว้ตั้งแต่ภาคก่อน เส้นเรื่องของ “พรหมลิขิต” จึงยังคงเดินหน้าถ่ายทอดความรักรุ่นลูกระหว่างพ่อริดกับพุดตาน โดยมีการตั้งคำถามหลักว่า เหตุการณ์อันมหัศจรรย์ที่คนสองคนข้ามเวลามารักกันเยี่ยงนี้เป็นเพราะ “destiny” กันจริงหรือไม่         แม้จุดเริ่มเรื่องพุดตานจะพยายามแย่งสมุดข่อยลึกลับคืนจากพ่อริด เพราะคิดว่าเป็นประตูกาลเวลาซึ่งจะนำพาให้เธอกลับสู่สามร้อยกว่าปีที่จากมาได้ แต่ด้วยเหตุที่ครั้งหนึ่งคัมภีร์กฤษณะกาลีเคยทำให้คุณหญิงการะเกดเกือบต้องตายจากไปตลอดกาล พ่อริดจึงเอาสมุดข่อยต้นเรื่องไปฝากไว้กับ “หมื่นณรงค์ราชฤทธา” หรือ “พ่อเรือง” แฝดผู้พี่ที่พำนักอยู่เมืองสองแควพิษณุโลก อันเป็นเหตุให้พุดตานต้องใช้ชีวิตติดอยู่ในรัชสมัย “ขุนหลวงท้ายสระ” กับดินแดนที่เธอไม่รู้สึกคุ้นเคยแต่อย่างใด         ด้วยเหตุฉะนี้ ใจความหลักของเรื่องจึงวนเวียนอยู่กับการนำไปสู่บทสรุปตอนท้ายว่า ตกลงแล้วพุดตานจะกลับคืนสู่ภพชาติปัจจุบันได้หรือไม่ และยืนยันให้คำตอบที่พ่อริดสงสัยอยู่เนืองๆ ต่อ “destiny” ว่า “ออเจ้ามาที่นี่เพราะพรหมลิขิตกระนั้นหรือ”         ที่น่าประหลาดใจยิ่งก็คือ ในขณะที่พุดตานก็อธิบายถึง “destiny” ให้พ่อริดฟังว่า “คนที่เชื่อเรื่องพรหมลิขิต ไม่เชื่อว่าจะมีอะไรขัดขวางพระพรหมได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพรหมลิขิตไว้” หากทว่า เรื่องราวของละครกลับมีพล็อตที่คู่ขนานกันไปด้วยว่า เหตุปัจจัยที่ตัวละครหลากหลายได้โคจรมาบรรจบพบกันนั้น อีกฟากหนึ่งก็กลับมีกรรมเก่าที่ทำร่วมกันมาแต่ปางก่อนเป็นเงื่อนไขกำหนด         ทั้งนี้ พุดตานผู้เดินทางย้อนเวลาข้ามภพมา จริงๆ ก็คือ “แม่หญิงการะเกด” ที่เพราะทำกรรมไว้แต่ชาติปางบรรพ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็ตั้งแต่ละครภาคก่อน ดังนั้น การที่เธอได้มาพบรักกับพ่อริด พบเจอกับออกญาวิสูตรสาครและเกศสุรางค์ จนถึงกลับมาปะทะคารมกับ “คุณหญิงจำปา” และ “แม่ปริก” หรือมาเจอะเจอกับ “ผิน” และ “แย้ม” บ่าวรับใช้ในอดีต ก็หาใช่เหตุบังเอิญไม่ แต่เป็นเพราะกรรมเก่าที่ยังไม่ได้ชำระปลดเปลื้องไปนั่นเอง         โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวละคร “แม่กลิ่น” หลานสาวของ “ยายกุย” ที่เอาแต่ตั้งแง่รังเกียจกลั่นแกล้งพุดตานแบบไม่รู้ต้นสายปลายเหตุด้วยแล้ว ละครก็มาเฉลยความในตอนท้ายว่า แม่กลิ่นก็คือ “แดง” เจ้ากรรมนายเวรที่เมื่อชาติก่อนเคยถูกการะเกดทำให้ตกน้ำตาย จนชาตินี้พุดตานต้องกลับมาช่วยชีวิตแม่กลิ่นที่กำลังจมน้ำ เพื่อแก้กรรมและอโหสิกรรมให้หลุดพ้นจากวังวนวัฏฏะที่ทำกันมาตั้งแต่ภพภูมิเก่า         อย่างไรก็ตาม แม้ “destiny” ที่พุดตานกับพ่อริดจะร่วมกันสร้างขึ้นด้วยส่วนผสมระหว่าง “พรหมลิขิต” กับ “กรรมลิขิต” ก็ตาม แต่ทว่า ในอีกแง่มุมหนึ่ง ละครก็ได้นำเสนอเส้นขนานคู่ที่สามที่ตั้งคำถามไปอีกว่า แล้วปัจเจกบุคคลอย่างเราๆ มีอำนาจที่จะลิขิตชีวิตของตนเองได้ด้วยหรือไม่         ด้วยเหตุนี้ เมื่อมาถึงฉากตอนท้ายที่พุดตานต้องถูกถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาให้กับขุนหลวง นางเอกสาวก็เลือกประกาศเจตนารมณ์ข้อใหม่กับพ่อริดและใครต่อใครว่า “กฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นต้องเปลี่ยนแปลงได้” และประวัติศาสตร์ที่จะขีดเขียนใหม่ให้เกิดเป็นจริงขึ้นได้ ก็ไม่ใช่รอคอยให้เป็นไปตามยถากรรม แต่ต้องได้มาด้วยจิตสำนึกและลงมือกระทำการโดยตัวของมนุษย์เองเท่านั้น         ดังนั้น ควบคู่ไปกับการพูดคำศัพท์ร่วมสมัยให้กับผู้คนยุคกรุงศรีฯ การลงมือปรุงสำรับอาหารหลากหลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ยั่วน้ำลายผู้ชม หรือการปฏิเสธค่านิยมคลุมถุงชนและหลายผัวหลายเมียแบบโบราณ เราจึงได้เห็นฉากที่ปัจเจกบุคคลอย่างพุดตานลุกขึ้นมาปฏิเสธการเข้าถวายตัว อันเป็นข้อกำหนดที่เคยเชื่อว่ามิอาจเปลี่ยนแปลงได้ จนนำไปสู่บทสรุปความรักที่สมหวังกับชายหนุ่มที่เธอได้รักและได้เลือกจริงๆ         หากจะย้อนกลับไปสู่คำถามว่า แล้วกับ “destiny” นั้น “ตกลงคือพรหมลิขิตใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น” บางทีคำตอบจากละครที่มีชื่อเรื่องว่า “พรหมลิขิต” ก็น่าจะบอกเราได้ว่า พระพรหมอาจจะลิขิตให้คนสองคนรักกัน และกรรมก็อาจลิขิตชีวิตไปตาม “ชะตา(แห่ง)กรรม” แต่กระนั้น ก็ยังเป็นปัจเจกบุคคลที่สามารถลุกขึ้นมาท้าทาย เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ และลิขิตขีดเขียน “destiny” ของตนเอาไว้ได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 274 พนมนาคา : เชื่อในสิ่งที่(ไม่ควร)เห็น เห็นในสิ่งที่(ไม่อยาก)เชื่อ

        เมื่อครั้งสังคมบุพกาลนานมา คนไทยได้ถักทอความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกรอบตัวเอาไว้อย่างซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับสิ่งที่มองเห็นจับต้องได้ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน หรือมนุษย์กับสิ่งของหรือธรรมชาติแวดล้อม ไปจนถึงความสัมพันธ์กับโลกแห่งนามธรรม ที่แม้จะจับต้องไม่ได้ แต่คนเราก็ยึดโยงตนเองกับสายสัมพันธ์ที่มิอาจเข้าถึงได้ด้วยอายตนสัมผัสทั้งห้าด้าน         ตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกนามธรรมที่มองไม่เห็นและสัมผัสไม่ได้นี้ สะท้อนออกมาในลักษณะของความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ เช่น เรื่องของภูตผีปีศาจ วิญญาณ การบูชาทวยเทพเทวดา รวมไปถึงการเคารพบูชาพญานาค หรือที่เรียกว่า “นาคาคติ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นมนุษย์อันผูกโยงความสัมพันธ์กับคู่ตรงข้ามที่มีความเป็นอื่น หรือที่คนเราเรียกว่าเป็น “อมนุษย์”         เสฐียรโกเศศ อันเป็นนามปากกาของพระยาอนุมานราชธน นักปราชญ์ผู้เอกอุทางด้านวัฒนธรรม เคยอธิบายว่า ผีเป็น “อะไรๆ ที่ลึกลับ ซึ่งเรายังไม่รู้และยังคิดไม่ออก ทั้งโดยปกติก็ไม่เคยเห็นตัว หากว่าเคยเห็นผี ก็ต้องเป็นรูปร่างต่างๆ แล้วแต่ผู้เห็น เพราะฉะนั้น ผีจึงเป็นพวกไม่ใช่คน เป็นอมนุษย์อยู่เหนือคน แต่ผีก็มีลักษณะลางอย่างคล้ายคน คือ มีทั้งผีชั้นสูงชั้นต่ำ มีทั้งผีดีผีร้าย”         ด้วยคำอธิบายของปัญญาชนแห่งสยามประเทศในอดีตเช่นนี้ บรรดาอมนุษย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผีหรือพญานาค จึงไม่เพียงแต่มีความเป็นอื่น หากทว่าคือความเป็นอื่นที่มนุษย์เองก็เชื่อโดยมิพักต้องสงสัยหรือสืบถาม แม้ว่าเราจะเคยเห็น หรือไม่เคยเห็น หรือไม่ควรเห็นในสิ่งเหนือธรรมชาติลี้ลับดังกล่าวนั้นก็ตาม         ความเชื่อในความเป็นอื่นที่ไม่ควรเห็น หรือการเห็นในสิ่งเราเองก็มองไม่เห็นหรือไม่ควรเห็นเช่นนี้ ดูจะเป็นความคิดหลักที่กลายเป็นแก่นเรื่องซึ่งเล่าผ่านละครโทรทัศน์แนวแฟนตาซีดรามาอย่าง “พนมนาคา” อันมีเนื้อหาว่าด้วยตำนานพญานาคผู้รอคอยหญิงคนรักแบบข้ามภพข้ามชาติมานับเป็นพันๆ ปี         เรื่องราวของละคร “พนมนาคา” นำเสนอภาพกาลสมัยปัจจุบันของ “เอเชีย” นางเอกสาวผู้เป็นกุมารแพทย์สมัยใหม่ และเบื้องลึกปฏิเสธที่จะเชื่อในเรื่องเร้นลับซึ่งวิทยาศาสตร์มิอาจพิสูจน์ให้ประจักษ์เห็นได้ โดยตั้งแต่เริ่มต้นเรื่องนั้น ความเชื่อมั่นในศาสตร์ความรู้สมัยใหม่ของหมอเอเชียก็ถูกท้าทาย เมื่อคุณหมอสาวที่กำลังรักษาคนไข้อยู่ถูกญาติของคนไข้เอาน้ำมนต์สาดหน้า เพราะเธอไม่เชื่อว่าผู้ป่วยถูกสิ่งเหนือธรรมชาติเล่นงาน และยังไปปรามาสว่าสิ่งที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตาช่างดูไร้สาระงมงาย         ต่อมาละครก็ค่อยๆ เพิ่มบททดสอบอีกหลายระลอกเพื่อสั่นคลอนความยึดมั่นถือมั่นในองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในห้วงสำนึกของหมอเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นฉากที่หญิงสาวพลัดตกจากดาดฟ้าของโรงพยาบาล แล้วทุกอย่างก็หยุดนิ่ง พร้อมกับมีกายทิพย์ของชายหนุ่มรูปงามคนหนึ่งลอยตัวมาโอบรับตระกองเธอลงมาสู่พื้นดิน หรือการที่นางเอกสาวเริ่มรู้สึกลึกๆ ว่า ชายหนุ่มลึกลับคนเดียวกันนี้ เฝ้าติดตาม “ส่อง” ดูชีวิตเธออยู่ในโลกนิมิตหรือโลกคู่ขนานที่เกินกว่าอายตนะทั้งห้าของเธอจะสัมผัสได้         การปะทะกันระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เช่นนี้ ต่อมาได้กลายเป็นเหตุปัจจัยนำพาให้หมอเอเชียเดินทางสู่หมู่บ้านไกลโพ้นริมตะเข็บชายแดนไทย-เขมรที่ชื่อ “พนมนาคา” และ ณ หมู่บ้านอีสานโบราณแห่งนี้เอง ที่เด็กจำนวนมาก รวมทั้งเด็กชาย “วันเนตร” ป่วยเป็นโรคประหลาดคล้ายกับมีเกล็ดงูขึ้นตามตัว ซึ่งชาวบ้านต่างเชื่อกันว่าเป็นเพราะคำสาปของพญานาค ในขณะที่คุณหมอกุมารเวชกลับยืนกรานว่านี่คืออาการของโรคที่ชื่อฟังดูแปลกหูว่า “อิชไธโอซิส”         ในขณะที่กำลังสืบหาสาเหตุต่ออาการป่วยแปลกประหลาดของเด็กๆ ในหมู่บ้านอยู่นั้น ยิ่งค้นหาคำตอบ ก็ยิ่งพบกับเรื่องเร้นลับปาฏิหาริย์ชวนสนเท่ห์ใจขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งหมอเอเชียก็ได้พบกับ “อนันตชัย” ชายหนุ่มลึกลับในภาพนิมิตของเธออีกครั้ง และบังเกิดความรู้สึกว่า เธอกับเขาผูกพันกันมานานแสนนาน         จากนั้นความจริงของเรื่องก็ค่อยๆ เปิดเผยออกมาว่า พระเอกหนุ่มอนันตชัยก็คือ “พ่อปู่” หรือพญานาคผู้คุ้มครองหมู่บ้านพนมนาคา และในอดีตชาตินับพันปีก่อน เอเชียก็คือ “อนัญชลี” หญิงคนรักของเขา แต่เพราะ “อเนกชาติ” พญานาคผู้น้องมีความอิจฉาพี่ชาย และหวังจะครอบครองอนัญชลีเพื่อขึ้นเป็น “นาคาธิบดี” หรือเจ้าผู้เป็นใหญ่ในหมู่พญานาคทั้งปวง จึงวางแผนให้อนัญชลีเข้าใจเขาผิดจนฆ่าตัวตายและกล่าวสัจวาจาสาปแช่งให้ตนรังเกียจอนันตชัยในทุกภพทุกชาติไป         เพราะอนันตชัยเองก็ตระหนักว่า “วันวานมันคืนย้อนมาไม่ได้ และวันพรุ่งนี้ยังไม่รู้ ฉันพร้อมจะอยู่ ฉันพร้อมจะตายเพื่อรักคำเดียว…” เขาจึงติดตามและปกป้องเธอจากอเนกชาติมาแบบข้ามภพชาติ โดยมุ่งหมายจะรื้อถอนไฟล์ความทรงจำที่ผิดพลาด และทำพิธีกรรมถอนคำสาปให้หญิงคนรักได้กลับมาครองคู่กับเขาอีกครั้งในชาติปัจจุบัน         “ไม่ว่าเธอจะเคยเป็นใคร จะผ่านอะไรมาขอจงอย่าเป็นกังวล นี่คือคนของเธอ” อนันตชัยจึงต้องฝ่าฟันกับคำสาปในอดีตที่อนัญชลีได้ปฏิญาณว่า “ไม่ว่าชาติไหนก็จะไม่ขอรักชายคนนี้อีก” และยังต้องฝ่าด่านความรู้สมัยใหม่ เพื่อยืนยันกับเอเชียว่า “ในโลกนี้มีอะไรอีกมากมายที่วิทยาศาสตร์ของคุณพิสูจน์ไม่ได้ สิ่งที่มองไม่เห็นใช่ว่าจะไม่มี” และทำให้เธอเชื่อการมีอยู่ของพญานาคด้วยตนเอง ไม่ใช่เชื่อเพียงเพราะคนอื่นบอกว่ามีจริง         โดยโครงเรื่องที่พระเอกหนุ่มจากต่างภพภูมิเฝ้ารอคอยการกลับมาครองคู่กับหญิงคนรักเช่นนี้ เราก็พอจะคาดเดาฉากอวสานได้ไม่ยากว่า หลังจากผ่านอุปสรรคนานัปการ อนันตชัยก็สามารถกอบกู้และดีลีทไฟล์ความทรงจำอันผิดพลาดคลาดเคลื่อน และลงเอยความรักกับหมอเอเชียได้ในที่สุด ซึ่งตรงข้ามกับอเนกชาติที่ก็ต้องถูกเมืองบาดาลลงโทษไปตามกฎแห่งกรรม         ในด้านหนึ่ง การวางพล็อตเรื่องแบบรักอมตะระหว่างพญานาคากับมนุษย์ปุถุชนก็ไม่ต่างจากการสืบทอดคติความเชื่อลึกๆ ของคนไทย ที่ยอมรับการดำรงอยู่ของสายสัมพันธ์ข้ามเผ่าพันธุ์หรือข้ามวัฒนธรรม         แต่ในอีกทางหนึ่ง เมื่อหมอเอเชียกับผองมิตรที่ทำกรรมร่วมกันในปางก่อนอย่าง “พุ่มข้าวบิณฑ์” และ “สิทธา” ได้สัมผัสเรื่องเหลือเชื่อครั้งแล้วครั้งเล่า และประจักษ์แก่สายตาว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของพ่อปู่นาคราชผสานกับการรักษาโรคด้วยแพทย์แผนใหม่ช่วยเยียวยาให้เด็กๆ พนมนาคาหายขาดจากอาการโรคเกล็ดงูได้ จากที่เคย “ไม่เชื่อแต่ไม่กล้าลบหลู่” ก็กลายเป็น “เชื่อได้โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคำถาม” แต่อย่างใด        กับโลกที่เรามองเห็นและสัมผัสด้วยอายตนะทั้งห้านั้น เรื่องบางเรื่องเราอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และพิสูจน์ไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ทั้งเรื่องชาติภพ บุญกรรม การกลับชาติมาเกิด หรือคติความเชื่อในพญานาค แต่ความรักข้ามภพของอนันตชัยกับอนัญชลีกับความศรัทธาต่อพ่อปู่ที่ชาวบ้านพนมนาคาต่างเคารพ คงให้ข้อสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเห็นหรือไม่เห็น แต่ขอเพียงเชื่อโดยไม่ตั้งคำถาม เราก็สัมผัสถึงได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 273 เกมรักทรยศ : คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด

        ภายใต้ระบอบสังคมแบบปิตาธิปไตยหรือสังคมแบบชายเป็นใหญ่นั้น บุรุษเพศมักมีอหังการว่า ตนมีอำนาจกำหนดชะตากรรมของผู้หญิง และในระบอบสังคมดังกล่าวนี้ ผู้หญิงจำนวนหนึ่งต้องทนทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส จนอาจจะนำไปสู่บทสรุปให้กับผู้หญิงว่า “คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด” ก็เป็นได้         แบบเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่าง “เจนพิชชา” หรือ “หมอเจน” จิตแพทย์สาวชื่อดังในจังหวัดภูเก็ต กับสามีที่อยู่กินกันมานานอย่าง “อธิน” จนมีโซ่ทองคล้องใจสองคนคือ “พัชร์” กับ “พลอย” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “เกมรักทรยศ” ที่ฉายภาพชีวิตคู่ซึ่งต้องภินท์พังลงเพราะความลุแก่อำนาจแบบชายเป็นใหญ่ และด้วยการออกแบบพล็อตเรื่องของละคร ก็อาจทำให้บรรดาสามีทั้งหลายต้องผาดตาสัมผัสผู้หญิงที่นอนร่วมเตียงเคียงหมอนกันด้วยมุมมองแบบใหม่         เปิดฉากละครมาด้วยภาพชีวิตครอบครัวพ่อแม่ลูกที่แสนจะอุดมคติ อบอุ่นลงตัว ควบคู่ไปกับอีกด้านที่อาชีพการงานของหมอเจนก็ดูจะเจริญก้าวหน้าในฐานะแพทย์สาวด้านจิตเวชมือต้นๆ ของโรงพยาบาล จนกระทั่งจุดหักเหของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อหมอเจนไปพบเส้นผมของผู้หญิงติดอยู่บนผ้าพันคอของอธิน เพราะไฟไหม้อย่างไรก็ต้องมีควัน และเพราะหมอเจนมีคติประจำใจว่า “ความโง่ที่สุดของผู้หญิงคือการคิดว่าตนเองฉลาดกว่าคนอื่น” ดังนั้นเธอจึงเริ่มตั้งสมุฏฐานที่ว่า สามีที่เธอไว้ใจน่าจะกำลังนอกใจเธออยู่หรือไม่         ยิ่งสงสัยก็ยิ่งสืบค้น ยิ่งขุดค้นก็ยิ่งทยอยเจอหลักฐาน จากเส้นผมปริศนา มาเจอช่องลับในรถยนต์ เจอรูปลับในโทรศัพท์ เจอพฤติกรรมแปลกๆ ของสามีและคนรอบข้างเธอ เรื่อยไปถึงข้ออ้างที่อธินมักไปเยี่ยมแม่ที่สถานพักฟื้นคนชรา จนกลับบ้านค่ำมืดดึกดื่น         หลังจากปะติดปะต่อจิ๊กซอว์ของเรื่องราว หมอเจนก็บรรลุคำเฉลยว่า เรื่องที่เธอกำลังระแวงว่า สามีแอบไปมี “โลกสองใบ” นั้นมีมูลความจริงอยู่ และก็ค่อยๆ ค้นพบต่อไปด้วยว่า ผู้หญิงที่สวมบทบาทเป็นภรรยาเก็บลับๆ ของอธินก็คือ “เคท” นักศึกษาไฮโซสาวสวยใสซื่อ ลูกผู้มีอิทธิพลด้านธุรกิจของจังหวัด         และที่สำคัญ สมการของเรื่องก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น เมื่อหมอเจนยิ่งสืบค้น เธอก็ยิ่งได้คำตอบที่ซุกซ่อนซ้อนทับลงไปอีกชั้นหนึ่งว่า ไม่ใช่เพียงสามีเท่านั้นที่ปิดบังเรื่องการนอกใจ หากแต่บุคคลรอบตัวของเธอและอธินเอง ต่างก็รู้เห็นเป็นใจ และก็ช่วยกันปกปิดความจริงจนทำให้เธอดูราวกับเป็น “ผู้หญิงโง่ๆ” คนหนึ่ง         ไม่ว่าจะเป็น “ชัช” และ “อันนา” สองสามีภรรยาเพื่อนบ้านที่หมอเจนคิดเสมอว่าเป็นเสมือนญาติพี่น้องที่สนิทที่สุด “โรส” หมออายุรเวทเพื่อนสนิทของอธินและก็เป็นเพื่อนที่หมอเจนมอบความไว้ใจมานาน “จูน” เลขานุการของอธินที่มักมาปรับทุกข์เรื่องชีวิตครอบครัวกับหมอเจน รวมไปถึง “สร้อยสน” มารดาของอธินที่เอาแต่ปกป้องลูกชายโดยไม่คำนึงถึงจิตใจของลูกสะใภ้แต่อย่างใด         เพราะ “คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด” และยิ่งเป็น “ทุกๆ คนที่ไว้ใจ” ซึ่งอยู่ใกล้ชิดรอบตัวที่ใช้ทฤษฎีสมคบคิดทำร้ายจิตใจของเธอด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป แบบที่หมอเจนพูดกับโรสว่า “มันไม่ใช่เส้นผมเส้นเดียวน่ะสิ แต่มันเป็นเส้นผมที่บังตาฉันมาตลอด” ด้วยเหตุนี้ หมอเจนที่ “ตาสว่าง” จึงตัดสินใจแน่วแน่วว่า คงต้องเป็นเธอเองที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อทวงสิทธิ์ในการรับรู้และจัดการกับสามีที่มีบ้านหลังที่สอง         แม้หมอเจนจะเคยกล่าวกับโรสว่า “ความเชื่อใจเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์อันมั่นคง” แต่เมื่อหมดซึ่ง “ความเชื่อใจ” ที่มีต่อสามีและผู้คนรอบข้างไปเสียแล้ว หมอเจนจึงเลือกเดินเกมรุกเพื่อต่อสู้ในสมรภูมิแห่ง “เกมรักทรยศ” ในครั้งนี้                 ในขณะที่หน้าฉากของครอบครัวคือสถาบันที่สมาชิกในบ้านต้องปั้นภาพลักษณ์ให้คนอื่นๆ เห็นเพียงด้านความสุขสมานฉันท์กลมเกลียว ดังสำนวนที่ว่า “ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า” แต่เอาจริงๆ แล้ว หลังฉากของสถาบันครอบครัว บ่อยครั้งก็ไม่ต่างจากสนามรบที่มีการเมืองระหว่างเพศปะทุคุกรุ่นเป็นระยะๆ         ดังนั้น เมื่อฉากหลังเป็นยุทธสงครามจาก “เกมรัก” ที่พรางตาเธอด้วยความ “ทรยศ” หมอเจนจึงมุ่งหมายว่า เธอต้องเอาคืนทุกอย่างทั้งหมดที่เป็นของตนมาเสียจากอธิน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ทรัพย์สมบัติ และลูกทั้งสองคน จะมียกเว้นก็แต่สามีเท่านั้นที่เธอต้องการฟ้องหย่า และไม่คิดที่จะถือครองกรรมสิทธิ์อีกต่อไป         เริ่มต้นจากที่หมอเจนส่ง “เตย” อดีตคนไข้ที่เธอวางใจให้ไปเช่าห้องพักอยู่ข้างห้องของเคท และทำทีตีสนิทเพื่อสืบสาวเรื่องราวความลับหรือแม้แต่ปั่นหัวศัตรูอยู่ตลอดเวลา จากนั้นเธอก็ยอมหลับนอนกับชัช เพราะไม่เพียงต้องการสั่งสอนอันนาให้เข้าใจความเจ็บปวดจากการถูกทรยศโดยคนใกล้ตัวเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการคุมเกมการใช้ “เพศสัมพันธ์” แบบ one-night stand เป็นเครื่องมือทางอำนาจเพื่อแบล็คเมล์ให้ชัชเอาเอกสารบัญชีการเงินที่ติดลบของสามีมาใช้ต่อรองตอนฟ้องคดีหย่าร้างกัน         จนนำไปสู่ฉากที่หมอเจนเปิดโปงวีรกรรมของเคทกลางโต๊ะกินข้าวต่อหน้า “ท่านบุญณ์ญาณ์” และ “คุณหญิงมินตรา” เพื่อกระชากหน้ากาก “ลูกสาวที่แสนดี” ของทั้งคู่ว่า กำลังคบชู้กับอธินจนตั้งท้อง รวมถึงตอกหน้าเคทด้วยวลีเด็ดแห่งยุคว่า “จะตบหน้าฉันอีกเหรอ ตบมาตบกลับนะครั้งนี้ ไม่โกง”         หลังจากที่จัดฉากต่างๆ จนเขี่ยสามีให้ระเห็จออกไปจากชีวิตได้ หมอเจนก็กลับพบว่า “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร” ยิ่งมีจิตสำนึกแบบผู้ชายเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจเป็นเดิมพัน แบบที่อธินก็กล่าวกับตนเองว่า “บางทีผู้ชายก็รับไม่ได้ที่เห็นว่าเมียตัวเองเก่งกว่า ดีกว่า” เพราะฉะนั้นความพ่ายแพ้ในเกมยกแรกจึงทำให้หลายปีที่ผ่านไปเขาก็ยังเลือกจะกลับมาเพื่อทวงคืนแก้แค้นกับภรรยาอีกครั้ง         และเพราะนักจิตวิทยาอย่างหมอเจนก็รู้ถึงสัจธรรมที่ว่า สิ่งที่ผู้ชายทั้งหลายกลัวก็คือ สายตาของคนอื่นที่มองว่าเขาเป็นคนขี้แพ้หรือเป็นคนที่น่าสมเพชเวทนา ดังนั้น ในยกหลังของเกม หมอเจนจึงจัดการวางกลอุบายที่จะสั่งสอนให้อธินในครั้งนี้ไม่เหลือสิ่งใด แม้แต่ครอบครัวใหม่กับเคทและอนาคตของเขา         หากในการเมืองเรื่องอำนาจระหว่างเพศจะทำให้หมอเจนต้องเรียนรู้ความสูญเสีย โดยเฉพาะกับพัชร์บุตรชายที่เลือกจะหนีออกไปจากเกมขัดแย้งของพ่อและแม่ แต่เธอก็ได้คำตอบว่า ระหว่างการรักษาความสัมพันธ์กับสามีที่เป็นเพียง “ผู้ชายห่วยๆ” คนหนึ่ง กับเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะหลุดพ้นจากสายโซ่ที่ร้อยรัดไว้ด้วยบรรทัดฐานของภรรยาที่ดีที่ต้อง “แสร้งโง่” ตลอดเวลา เธอควรจะอยู่กับตัวเลือกข้อใด         คำตอบคงไม่ต่างจากฉากที่หมอเจนเอาเครื่องพ่นไฟมาลนหลอมแหวนแต่งงานจนไม่เหลือซากความทรงจำอัน “ลวงตา” ของอดีต คู่ขนานไปกับประโยคในท้ายเรื่องที่เธอกล่าวกับอันนา และกระแทกมาในใจของผู้ชมได้อย่างน่าขบคิดยิ่งว่า “เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาจากผู้ชายห่วยๆ คนหนึ่ง แต่ทำไมคนที่ต้องลุกขึ้นมาทำสงครามฟาดฟันกันไม่จบไม่สิ้นต้องเป็นพวกผู้หญิงด้วย”

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 272 ดวงใจจอมกระบี่ : แล้วเราก็พบรักกันในเมตาเวิร์ส

                นับแต่เบิกอรุณรุ่งแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา สังคมไทยและสังคมโลกค่อยๆ ก้าวเข้าสู่สังคมแห่งโลกเสมือนจริง ยิ่งในช่วงสักราว 2-3 ปีให้หลังมานี้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก CEO ใหญ่ของเฟซบุ๊ก ได้ประกาศเจตนารมณ์ทักทายชาวโลกด้วยวลีว่า “Hello, Meta” ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า อารยธรรมของมวลมนุษยชาติกำลังเดินทางเข้าสู่โลกแห่ง “เมตาเวิร์ส” กันอย่างแท้จริง         โดยรากศัพท์ “เมตา” หมายถึง “เหนือกว่า” ส่วน “(ยูนิ)เวิร์ส” ก็แปลว่า “จักรวาล” เมื่อรวมกันเข้าก็หมายความได้ว่า เป็นจักรวาลอันเหนือกว่า หรือที่บัญญัติศัพท์คำไทยไว้อย่างเท่ระเบิดว่า “จักรวาลนฤมิต” ซึ่งเป็นประหนึ่งโลกอันแปลกใหม่ ที่เพียงแค่มีเทคโนโลยีสร้างโลกเสมือนจริง มนุษย์เราก็เข้าไปสู่มิติพิศวงหรือทำลายกำแพงการเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง         ปรากฏการณ์ที่เทคโนโลยีเป็นจุดเชื่อมร้อยความจริงเข้าสู่โลกเสมือนแห่งจักรวาลนฤมิตดังกล่าว จะว่าไปแล้วก็คือ วิถีการมองโลกในแบบที่เชื่อว่า ทุกวันนี้เส้นกั้นแบ่งระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องลวงนับวันจะพร่าเลือนลง จนในที่สุดพื้นที่แห่งโลกเสมือนจริงก็มีพลังหลอกล่อยั่วยวนให้มนุษย์เราตกอยู่ใต้อำนาจของจักรวาลเสมือนที่ก่อตัวขึ้นมาใหม่นั่นเอง         ในขณะที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประกาศการก้าวเข้าสู่เมตาเวิร์สอย่างเต็มตัวในโลกตะวันตก ละครโทรทัศน์ของไทยก็ขานรับกับการสร้างให้ตัวละครมากหน้าหลายตาได้เดินทางข้ามภพไปมาระหว่างจักรวาลเหนือจริงกับโลกแห่งมนุษย์ ณ กาลปัจจุบัน แบบที่รับชมกันผ่านละครแนวแฟนตาซีเรื่อง “ดวงใจจอมกระบี่”         และเพื่อให้สอดรับกับความพิศวงงงงวยที่จะปรากฏสู่สายตาผู้ชม ละคร “ดวงใจจอมกระบี่” ก็เลยผูกเนื้อหาเรื่องราวให้ตัวละครอย่าง “หวังอี้เทียน” ที่เคยมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในนวนิยายออนไลน์แนวกำลังภายใน ได้เดินทางพลัดหลุดมาอยู่ในโลกมนุษย์ที่เราๆ เวียนว่ายใช้ชีวิตกันอยู่         จุดเริ่มต้นของเรื่องราวเกิดขึ้นด้วยการเปิดตัวนางเอกสาว “นลิน” ผู้หญิงที่ดูจะเพียบพร้อมทั้งฐานะทางเศรษฐกิจและชื่อเสียงหน้าตาทางสังคม แต่ลึกๆ แล้ว เธอกลับมีชีวิตที่โดดเดี่ยว เพราะพ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก และยังต้องอยู่ด้วยความระแวงระวังภัยจาก “อติรุจ” และ “อิงอร” อาแท้ๆ กับอาสะใภ้ที่จ้องจะทำทุกอย่างเพื่อฮุบมรดกและหุ้นเกินกว่าครึ่งของธุรกิจตระกูลที่นางเอกเราถือครองอยู่         เพื่อจะหาจังหวะชีวิตที่หลบหนีจากสภาวะแปลกแยกไร้ซึ่งสายสัมพันธ์ดังกล่าว นลินจึงชอบอ่านวรรณกรรมจีนออนไลน์ จนมักฝันเฟื่องอยากไปพบรักกับพระเอกจอมยุทธ์ และหลุดไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกแฟนตาซีแบบบู๊ลิ้มที่ชวนตื่นตาตื่นใจ         และแล้ววันหนึ่งโชคชะตาก็ชักนำ เมื่อนลินที่อยู่ในสภาวะเหมือนจะสูญสิ้นซึ่งแรงเกาะเกี่ยวในใจ ก็ได้มาเจอกับตัวละครหวังอี้เทียนที่พลัดตกจากผาชิงดาวในอาณาจักรยุทธภพของนวนิยาย “ตำนานกระบี่เย้ยฟ้า” ที่นลินชื่นชอบและกำลังติดตามอ่านเรื่องราวเป็นตอนๆ จากโลกอินเทอร์เน็ต และนั่นก็เป็นปฐมบทที่ตัวละครในจินตนาการมาปรากฏอยู่แบบตัวเป็นๆ ตรงต่อหน้าของนางเอกสาว         ในขณะเดียวกัน นลินก็มีเพื่อนสนิทเพียงคนเดียวคือ “เรน” และแม้ด้วยวิชาชีพของเรนจะเป็นแพทย์ผู้เติบโตมากับองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่เชื่อในสิ่งที่พิสูจน์จับต้องไม่ได้ หากว่าหมอเรนก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่คลั่งไคล้นิยายเรื่องตำนานกระบี่เย้ยฟ้า ไม่ต่างจากเพื่อนรักของเธอ         แม้จะยึดมั่นในหลักวิทยาศาสตร์ แต่หมอเรนก็รู้วิธีถอดจิตไปสู่โลกเสมือน และทำให้เธอได้ไปพบเจอกับ “ฉีเซิน” สหายร่วมสาบานของหวังอี้เทียน ที่ออกตามหาเพื่อนรักผู้หายตัวไปจากยุทธภพ ทำให้ทั้งหมอเรนและฉีเซินต้องเดินทางสลับไปมาระหว่างโลกแฟนตาซีกับโลกปัจจุบันขณะ จนว้าวุ่นกันไปถ้วนหน้า         ด้วยเหตุที่ทั้งโลกความจริงและโลกจินตนาการต่างก็มีชีวิตของผู้คนที่โลดแล่น และต่างก็มีปัญหาของตัวละครซึ่งดำเนินอยู่ในโลกคู่ขนานทางใครทางมัน โดยทางด้านของหญิงสาวอย่างนลินก็ต้องเผชิญหน้ากับคนร้ายที่หมายปองชีวิตเธอในฐานะผู้ถือครองหุ้นกว่า 50% ของตระกูลดาราลัยกรุ๊ป ในขณะที่หวังอี้เทียนก็ต้องต่อสู้กับ “จอมโจรพรรคดอกไม้แดง” เพื่อรักษาความสงบสุขของยุทธภพ ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นประมุขสูงสุดแห่ง “สำนักคุ้มภัยพยัคฆ์เมฆา”         แต่ทว่า โลกที่ดำเนินไปอย่างคู่ขนานกันแบบนี้ ก็สามารถจะไขว้พันกันจนลางเลือนเส้นกั้นแบ่งแห่งความจริงความลวงจนเจือจางหายไป คล้ายๆ กับประโยคที่หวังอี้เทียนได้พูดกับนลินในคราหนึ่งว่า “ทุกเรื่องราวในโลก ครึ่งหนึ่งอยู่ที่ฟ้า อีกครึ่งหนึ่งอยู่ที่คน”         เพราะฉะนั้น อาจจะด้วยฟ้าลิขิตมาส่วนหนึ่งก็จริง แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นน้ำมือมนุษย์เรานั่นเองที่เป็นผู้สร้างโลกเสมือนในจินตนาการขึ้นมา และโลกเสมือนที่มนุษย์เราสร้างไว้นี่เองก็ทำให้ตัวละครในโลกจริงและโลกไซเบอร์เวิร์ลด์ได้เดินทางข้ามไขว้ไปมาหากันได้ เป็นประหนึ่งประดิษฐกรรมของเมตาเวิร์สภายใต้กลิ่นอายแห่งยุทธจักรบู๊ลิ้ม         จากนั้น เมื่อเส้นทางของนวนิยายกำลังภายในได้มาบรรจบกับชีวิตจริงของมนุษย์เรา ก็ไม่แปลกที่ละครได้หวนคืนไปหยิบยกเรื่องราวและการกระทำของตัวละครแห่งอาณาจักรยุทธภพให้มาปรากฏอยู่ตรงหน้าต่อสายตาของผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นเพลงกระบี่ของจอมยุทธ์ การใช้พัดด้ามติ้วเป็นศาสตราวุธ การเดินพลังลมปราณ การจี้จุดสกัดการเคลื่อนไหวของร่างกาย การลอบวางยาพิษ การประลองยุทธ์เพื่อชำระหนี้แค้น และอื่นๆ อีกหลากหลายที่บรรดาคอหนังจีนกำลังภายในน่าจะรู้สึกคุ้นชินกันเป็นเรื่องปกติ         ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้การกระทำอันคุ้นชินของตัวละครจากโลกยุทธภพดังกล่าว ละครยังได้ย้อนคืนคุณค่าหลักหลายอย่างที่มักปรากฏผ่านละครจีนแนวบู๊ลิ้ม ไม่ว่าจะเป็นคุณธรรมน้ำมิตร เป็นศิษย์ต้องเคารพครู ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูต่อพ่อแม่และบรรพชน รวมไปถึงการได้ยินวลีวาจาและคำพูดที่คมคายจากปากของตัวละคร เริ่มตั้งแต่ “ฟ้าไม่แล้งน้ำใจคนพยายาม” “นั่งไม่เปลี่ยนชื่อ ยืนไม่เปลี่ยนแซ่” “เป็นดั่งขุนเขาแมกไม้ อยู่เพื่อให้ มิใช่เพื่อรับ” “ไม่มีพรสวรรค์ หากตั้งใจฝึกฝนก็สำเร็จวิชาได้” และอื่นๆ อีกมากมาย        จนมาถึงฉากจบเรื่อง ไหนๆ ภาพจำลองของละครได้นำพาโลกบู๊ลิ้มมาบรรจบกับโลกจริงแล้ว ก็คงไม่น่าประหลาดใจนักที่เราจะเห็นคำตอบของเรื่องในแบบที่นลินได้ตัดสินใจไปใช้ชีวิตครองคู่อยู่ในโลกแฟนตาซีกับหวังอี้เทียน สลับกับฉีเซินที่เลือกออกจากโลกนิยายออนไลน์มาสานต่อความรักกับหมอเรนกันในโลกจริง         ถึงที่สุดแล้ว หากความรักไม่ต่างจากตัวแทนแห่งการเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันแล้วไซร้ ปรากฏการณ์อย่างเมตาเวิร์สที่ราวกับจะแร้นแค้นความรู้สึกผูกพันของมนุษย์จริงๆ ก็อาจให้คำตอบแก่ผู้คนที่สายสัมพันธ์โดดเดี่ยวเปราะบางได้ว่า บางทีคนเราก็อาจพบรักกันได้แม้แต่ในโลกเสมือนของเมตาเวิร์สนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)