แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ห้าง อาหรหมดอายุ ร้านสะดวกซื้อ
ปัจจุบันการกดสั่งอาหารออนไลน์ ทำได้ง่ายสะดวก รวดเร็ว เพราะมีผู้ให้บริการให้เลือกมากมาย ตลอดช่วงการระบาดของโรคโควิด -19 ประชาชนหันมาใช้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่กันมากขึ้น และทั้งด้วยการจัดโปรโมชัน คูปอง การสะสมแต้มต่างๆ ยิ่งทำให้ผู้บริโภคนิยมสั่งอาหารเดลิเวอร์รีมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกด้านหนึ่ง ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอร์รี่กำลังสร้างปัญหาสำคัญคือ ขยะพลาสติกจำนวนมาก ที่สำคัญคือขยะจากฟู้ดเดลิเวอรีเหล่านี้ปะปนกับเศษอาหาร จึงไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 242 นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มสำรวจตัวอย่างแอปพลิเคชันสั่งอาหารทางออนไลน์(ฟู้ดเดลิเวอรี) จำนวน 36 แอปพลิเคชัน ในเดือนมีนาคม 2564 เพื่อสำรวจว่าแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรีนั้นมีตัวเลือก ‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’ ให้กับลูกค้าหรือไม่ ดังนั้นเพื่อการเฝ้าระวังต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันฟู้ดดิลิเวอรีมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาอีกหลายราย และเพื่อให้ผู้บริโภคที่มีใจของนักอนุรักษ์ได้มีข้อมูลว่า มีผู้ประกอบการรายใดที่ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกนี้บ้าง ฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และ สสส. จึงทำการสำรวจบริการสั่งอาหารออนไลน์อีกครั้ง โดยครั้งนี้สำรวจ ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ ทั้งที่ให้บริการทั้งในพื้นที่กรุงเทพ และต่างจังหวัดดังเดิมและเพิ่มเติมรายใหม่รวมจำนวนทั้งหมด 41 ราย สำรวจผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีรายใหม่ จำนวน 9 ราย คือ Shopee Food TH , 1376 Delivery, AirAsia Food ,True Food, Foodhunt , Texas Chicken Thailand, Aolaimai ,Frabbit ,Fast Delivery Ubon ระยะเวลาสำรวจ เดือนธันวาคม 2565สรุปผลการสำรวจ - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แบบแอปพลิเคชัน ที่มีตัวเลือก “ลดการใช้พลาสติก” มีจำนวน 5 ราย คือ Burger King, Food Panda, Grab Food , Line Man , AirAsia Food (หรือ Gojek เดิม) - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ผ่านแอปพลิเคชัน แต่ไม่มีตัวเลือก “ลดการใช้พลาสติก” มีจำนวน 22 ราย คือ Shopee Food TH , Foodhunt ,Truefood , 1112 Delivery , 7- Eleven , KFC Thailand , Mc Donald’s , Robinhood , S&P Delivery,The Pizza company, Aolaimai, Ant Delivery, Foodman Delivery Service , Fastfood Delivery ,Weserve ,Win Food Delivery ,Big Food Delivery,Captain Food Delivery, Finvery,FooDee Delivery ,Coffee World Station , Starbucks Thailand - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ออนไลน์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ผ่านช่องทาง เว็บไซต์ ไลน์ และ call center และไม่มีตัวเลือกเพื่อลดการใช้พลาสติกที่ชัดเจน มีจำนวน 8 ราย คือ 1376 Delivery ,Domino’s Pizza ,Fast Delivery Ubon ,Frabbit ,Texas Chicken Thailand , Fuji Japanese Restaurant ,MK delivery,Neo Suki และ แอปพลิเคชันยอดนิยมที่สำรวจแล้วพบว่า ไม่ใช่บริการ ฟู้ดเดลิเวอร์รี่ มีจำนวน 6 แอป คือ CP Fresh Mart , Happy Fresh, Lalamove ,Skootar ,Wongnai ,ครัวคุณต๋อย ข้อสังเกต - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ทั้งผ่านแอปพลิเคชัน และสั่งซื้อผ่าน เว็บไซต์ ไลน์ และ call center ที่ไม่มีตัวเลือกกดไม่รับพลาสติกแต่จะมีช่อง ‘คำขอพิเศษ’ ‘โน้ตไปยังร้านอาหาร’ ‘หมายเหตุ’ ‘ใส่รายละเอียดเพิ่มเติม (ถ้ามี)’ ซึ่งผู้บริโภคสามารถใช้ช่องทางนี้ ปฏิเสธไม่รับพลาสติก รวมไปถึงสื่อสารถึงร้านอาหารได้โดยตรงว่า ไม่ต้องการรับพลาสติกที่ไม่จำเป็น - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ มีโปรโมชั่นเพื่อจูงใจให้กดสั่งซื้อมากมาย ทั้ง มีการจัดส่งฟรี การสะสมแต้ม การลดราคาเมื่อซื้อจำนวนมากหรือ ลดราคาในวันพิเศษต่างๆ เหล่านี้เพื่อกระตุ้นยอดขายแต่ยังไม่พบว่า มีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายพร้อมๆ กับการสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคลดปริมาณขยะจากอาหารเดลิเวอร์รี่ เช่น การสะสมแต้มจากการไม่รับช้อน ซ่อม พลาสติก , คูปองส่วนลดสำหรับลูกค้าที่เลือกไม่รับช้อนส้อมเป็นประจำ เป็นต้น - ร้านอาหารจำนวนมากมีแอปพลิเคชัน และช่องทางรับคำสั่งซื้อออนไลน์ในช่องทางอื่นๆ เช่น เว็บไซต์ ไลน์ Call center ของตนเองแต่ยังมักประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคสั่งซื้อผ่าน ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่ เช่น Grab Food , Line Man เนื่องจากจะได้รับความนิยมได้มากกว่า - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ที่มีทางเลือกให้ผู้บริโภคกดไม่รับพลาสติกทั้งหมดเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่ หลายรายที่ยังไม่มีการพัฒนาระบบตั้งค่าลดการใช้พลาสติดดังกล่าว การที่ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่เห็นความสำคัญมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยให้สังคมตระหนักถึงปัญหาขยะจากอาหารเดลิเวอร์รี่ เพราะผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่ รายหนึ่งเป็นหน้าร้านของร้านอาหารอีกเป็นจำนวนมาก เช่น Foodhunt ที่ให้บริการจัดส่งอาหารให้แก่ Mister Donut , Auntie anne’s , โอโตยะ, ไทยเทอเรส ฯลฯ และ 1112 Delivery ที่ให้บริการจัดส่งอาหาร The Pizza , Bonchon และอีกนับสิบร้านชื่อดัง - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รีในต่างจังหวัดรายหนึ่งสะท้อนว่า “เคยให้บริการผ่านแอปพลิเคชันที่สามารถกดไม่รับพลาสติกได้ เมื่อได้ปรับเป็นการรับคำสั่งซื้อผ่านช่องทางไลน์เพื่อลดต้นทุน ผู้บริโภคมักไม่ระบุวัสดุการจัดส่ง จึงมองว่าระบบการกดไม่รับพลาสติกในแอปพลิเคชันมีส่วนสำคัญที่กระตุ้นผู้บริโภคให้ลดขยะและตระหนักในปัญหาขยะจากอาหารเดลิเวอร์รีได้” ข้อแนะนำ - ผู้บริโภค ควรใช้ตัวเลือกลดขยะพลาสติกในแอปฯ (ถ้ามี) เพื่อเป็นการช่วยในเรื่องการลดปัญหาขยะ - ปัญหาสำคัญของขยะจากฟู้ดเดลิเวอรี คือเป็นขยะพลาสติกที่ปะปนกับเศษอาหารทำให้ไม่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ ผู้บริโภคจึงควรคัดแยกขยะก่อนทิ้งและรวบรวมนำไปให้ในจุดที่บริการรับขยะพลาสติกเพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ หรืออย่างน้อยควรชำระให้ปนเปื้อนน้อยที่สุดก่อนทิ้ง - ปัจจุบัน ร้านอาหารหลายร้าน หากไม่ให้ถุงพลาสติกก็อาจพัฒนาถุงพลาสติกเพื่อให้ผู้บริโภคไปใช้ซ้ำได้นานมากขึ้นที่สุด เมื่อได้รับวัสดุ /ถุงพลาสติกจึงควรนำกลับมาใช้ซ้ำหรือหาทางใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด - เลือกใช้บริการ ร้านอาหาร / ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี ที่มีความรับผิดชอบต่อปัญหาขยะอาหารเดลิเวอร์รีหรือปรับเปลี่ยนมาเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้บริการจัดส่งสั่งอาหารออนไลน์ อาจได้เป็นวิถีใหม่ของคนไทยไปแล้ว อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการและผู้บริโภคควรได้ตระหนักร่วมกันถึงปริมาณขยะจากอาหารเดลิเวอร์รี่กำลังเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล การลดขยะหรือการทำให้ขยะกลับมาใช้ได้จริง จึงต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง
ปัจจุบัน “สปอร์ตบรา” ไม่ได้จำกัดการสวมใส่เฉพาะเพื่อการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเท่านั้น ผู้หญิงหลายคนยังจัดเป็นเสื้อชั้นในเพื่อการสวมใส่ในชีวิตประจำวันด้วย สปอร์ตบรานั้นถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ของการป้องกันสรีระช่วงอกในขณะออกกำลังกายของผู้หญิง เนื่องจากชุดชั้นในธรรมดาไม่อาจรองรับการเคลื่อนไหวของหน้าอกในระหว่างการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาหนักๆ ได้ ซึ่งอาจนำมาถึงการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหรืออาการปวดเมื่อยบริเวณดังกล่าว ยังรวมไปถึงเรื่องความสบายในการสวมใส่ ความคล่องตัวและความมั่นใจที่ชุดชั้นในธรรมดาไม่อาจให้ได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านผลิตภัณฑ์ที่กำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ฉลาดซื้อและโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์สปอร์ตบรา จำนวน 8 ยี่ห้อ จากร้านค้าและห้างสรรพสินค้าทั่วไป ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2565 ส่งตรวจกับห้องทดสอบที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน โดยเป็นการทดสอบด้านความปลอดภัย 2 รายการได้แก่ สีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัวและปริมาณฟอร์แมลดิไฮด์ และอีก 1 รายการเป็นการทดสอบเรื่อง การจัดการความชื้น (Liquid Moisture Management Properties) รวม 3 รายการ หมายเหตุการทดสอบ ในการทดสอบเรื่องการจัดการความชื้น เนื่องจากเนื้อผ้าและวัสดุของสปอร์ตบรานั้นไม่เหมือนเสื้อชั้นในและเสื้อผ้าทั่วไป เพราะประกอบด้วยผ้าผสมหลายชนิดรวมถึงดีไซน์การตัดเย็บที่ต่างกัน ดังนั้นจึงทดสอบการจัดการความชื้นในสามบริเวณได้แก่ ด้านหน้าที่มีฟองน้ำ ด้านหน้าที่ไม่มีฟองน้ำและด้านหลัง (บางชุดวัสดุตรงกลางและด้านข้างต่างกัน) ผลการทดสอบ · ด้านความปลอดภัย สีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว พบ สารสองชนิด ได้แก่ BENZIDINE ปริมาณ 17.74 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ 4-METHYL-m-PHENYLENEDIAMINE ปริมาณ 37.32 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในตัวอย่างยี่ห้อ Wacoal Motion Support WR 3448 (มาตรฐานสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว แต่ละตัวต้องไม่เกิน 30 มก./กก.) อีก 7 ตัวอย่างไม่พบสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว ฟอร์แมลดิไฮด์ พบฟอร์แมลดิไฮด์ 1 ตัวอย่าง ปริมาณ 26.83 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (มาตรฐานต้องน้อยกว่า 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ได้แก่ ตัวอย่างยี่ห้อ GENTLEWOMAN sports club GST060 อีก 7 ตัวอย่างไม่พบฟอร์แมลดิไฮด์ · การจัดการความชื้น ผลการทดสอบพบว่า ค่า One-way transport capability (R) ส่วนใหญ่ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะบริเวณด้านหน้าที่มีฟองน้ำ ส่วนบริเวณด้านหน้าที่ไม่มีฟองน้ำและบริเวณด้านหลัง มี 3 ยี่ห้อที่ผลการทดสอบน่าพอใจ ดูรายละเอียดได้ที่ การเลือกสปอร์ตบรา 1.เลือกตามการใช้งาน ส่วนใหญ่จะแบ่งเป็นสามระดับของการเคลื่อนไหว เช่น การวิ่ง การเล่นกีฬาหนักๆ ควรเลือกชนิด High Support สำหรับการออกกำลังกายที่เคลื่อนไหวไม่มาก เลือกแบบ Medium Support หรือ Light Support ซึ่งเหมาะสำหรับ เวทเทรนนิ่ง บอดี้เวท การปั่นจักรยาน การเล่นโยคะ พิลาทีส เป็นต้น 2.เลือกให้พอดีกับขนาดของหน้าอก การทดลองสวมที่ร้านจะดีที่สุด ทั่วไปแล้วสปอร์ตบราจะมีขนาดที่เล็กกว่าไซส์ชุดชั้นในเล็กน้อย ควรเลือกที่ใส่แล้วไม่อึดอัดหรือคับเกินไป ไม่มีเนื้อส่วนเต้าล้นออกมา และไม่มีตะเข็บที่จะก่อให้เกิดการเสียดสี 3.เลือกจากวัสดุที่ช่วยระบายความชื้นและความร้อนได้ดี จะช่วยทำให้รู้สึกแห้งสบาย ไม่เหนอะหนะในระหว่างการใช้งาน วัสดุที่นิยมในปัจจุบันได้แก่ ไนลอน โพลีเอสเตอร์ สแปนเด็กซ์ ไลครา อีลาสติน 4.สาวที่มีช่วงไหล่กว้างอาจใส่สปอร์ตบราบางรุ่นแล้วรู้สึกว่าสายสปอร์ตบรารั้งตรงไหล่ ใส่นานๆ มีอาการปวดเมื่อยอาจเลือกเป็นประเภทที่ปรับสายได้ เพื่อให้รองรับพอดีกับช่วงไหล่ 5.การดูแลรักษา เนื้อผ้าและวัสดุของสปอร์ตบรานั้นส่วนใหญ่เป็นเส้นใยสังเคราะห์ หากดูแลได้ถูกวิธีจะช่วยให้ใช้งานได้นาน ข้อมูลอ้างอิง 1.มอก.2346-2550 เสื้อผ้าสำเร็จรูป 2.มอก.เอส 6-2561 เสื้อกีฬา
กำหนดการบังคับใช้กฎหมายที่ว่าด้วยการติดตั้งเบาะนิรภัยสำหรับเด็กวัยไม่เกินหกขวบ (คาร์ซีท) ของบ้านเราเริ่มต้นแล้ว ฉลาดซื้อ ฉบับนี้จึงขอนำเสนอผลการทดสอบของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่องค์กรผู้บริโภคในยุโรปซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ได้ทำการทดสอบไว้ และเนื่องจากมีเนื้อที่จำกัด เราจึงขอนำเสนอเพียง 25 รุ่นที่ได้คะแนนสูงสุดจากการทดสอบในปี 2022(ติดตามผลทดสอบคาร์ซีทครั้งก่อนหน้าได้ใน ฉบับที่ 234) การทดสอบซึ่งอ้างอิงตามมาตรฐานใหม่ของยุโรป (R129) แบ่งออกเป็นการจำลองการชนในห้องปฏิบัติการ และการใช้งานจริงโดยผู้เชี่ยวชาญ 3 คน และครอบครัวที่มีเด็กอายุ 3, 6, และ 10 ปีจำนวน 10 ครอบครัว คาร์ซีททุกรุ่นจะถูกนำมาทดลองติดตั้งและใช้งานกับรถ 3 ประเภท ได้แก่ รถแฮทช์แบ็ก 3 ประตู รถ SUV 5 ประตู และรถ MPV คะแนนรวม 100 คะแนนแบ่งออกเป็น - ความปลอดภัย (ร้อยละ 50) เช่น ประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายจากการชนด้านหน้าและด้านข้าง ความแข็งแรงของตัวล็อก การยึดติดกับเบาะรถ และการดูดซับแรงกระแทก เป็นต้น - ความสะดวกในการใช้งาน (ร้อยละ 40) เช่น การติดตั้ง การปรับขนาดให้เข้ากับตัวเด็ก โอกาสที่จะใช้ผิดวิธี และความยากง่ายในการทำความสะอาด เป็นต้น - การออกแบบตามหลักการยศาสตร์ หรือ ergonomics (ร้อยละ 10) ทั้งตัวที่นั่ง พนักพิง ความนุ่มสบาย และการใช้พื้นที่ในรถ เป็นต้น เนื่องจากสหภาพยุโรปห้ามใช้สารเคมีอันตรายหลายชนิดในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก เช่น โพลีไซคลิกไฮโดรคาร์บอน พทาเลท ฟอร์มัลดีไฮด์ สีเอโซ และโลหะหนัก ทีมทดสอบจึงทำการตรวจวิเคราะห์หาสารดังกล่าวบนตัววัสดุหุ้มเบาะและส่วนประกอบอื่นๆ ที่เด็กอาจเลียหรือนำเข้าปากไว้ด้วย ในภาพรวมเราพบว่า คาร์ซีทที่มีจำหน่ายในยุโรปมีทั้งที่คุณภาพดีและด้อยปะปนกัน รุ่นที่ได้คะแนนสูงสุด Cybex AnorisT i-size ได้ไปถึง 81 คะแนน ในขณะที่หลายรุ่นได้คะแนนรวมต่ำกว่า 50 เพราะมีคะแนนความปลอดภัยแค่ระดับ “พอใช้” และบางรุ่นไม่ได้คะแนนเลย* ในกรณีที่เป็นรุ่นเดียวกัน รุ่นที่มาพร้อมกับฐาน (และมีราคาแพงกว่า) มักจะได้คะแนนมากกว่า นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่าการเลือก “แบรนด์” อย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบ เราอาจต้องพิจารณา “รุ่น” ของคาร์ซีทด้วย · เรามัดรวมคาร์ซีทที่ไม่ควรซื้อเอาไว้ที่หน้าสุดท้ายของบทความนี้แล้ว คาร์ซีทรุ่นที่ได้คะแนนรวมในระดับ “พอใช้”Jané iMatrix + iPlatform ComfyGraco Turn2MeBesafe StretchLionelo Antoon PlusSilver Cross Motion All Size 360Chicco Seat2Fit i-SizeRecaro Toria EliteAxkid Minikid 3Chicco Seat3Fit i-SizeCasualplay Backfix i-SizeJoie i-Spin Grow คาร์ซีทรุ่นที่เราไม่แนะนำJané Koos i-Size R1 + iPlatform ComfyUrban Kanga Uptown TV107Lionelo Antoon RWFKinderkraft Comfort UpWalser Kids Expert Noemi
จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในกรุงเทพฯ จำนวน 3,041 คน โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร พบว่าประชาชนร้อยละ 70 เชื่อมั่นเรื่องคุณภาพของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญที่ใช้บริการอยู่ ถึงแม้ว่าจะสังเกตว่ามีการใบแสดงการขออนุญาตประกอบกิจการเพียงร้อยละ 19 เท่านั้น น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นแหล่งน้ำดื่มราคาไม่แพงหากเทียบกับน้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งจากผลสำรวจทำให้ได้คำตอบว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นถึงร้อยละ 70 แต่น้ำจากแหล่งทั้งสองมีการควบคุมกำกับที่ต่างกัน น้ำดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิทควบคุมกำกับด้วย พ.ร.บ. อาหารมี อย.ทำหน้าที่กำกับดูแล แต่น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ แม้เป็นกิจการที่กฎหมายให้อำนาจการควบคุมให้เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ประเภทที่ 3) ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2558 กล่าวคือบังคับให้ต้องมีการขออนุญาตดำเนินกิจการ โดยต้องขอใบอนุญาตจากราชการส่วนท้องถิ่นที่ตู้น้ำดื่มวางไว้เพื่อบริการประชาชน แต่เมื่อลงพื้นที่จริงกลับพบว่า กิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้อง เรียกว่าคนทำถูกต้องตามกฎหมายมีเพียงหยิบมือ แต่ “ตู้เถื่อน” เกลื่อนเมือง ผลสำรวจเรื่องใบอนุญาตประกอบกิจการ 2559 มพบ. สำรวจตู้น้ำดื่มพบว่า ร้อยละ 91.6 ไม่มีใบอนุญาต 2561 กรุงเทพมหานคร สำรวจตู้น้ำดื่มพบว่า กทม. มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวนทั้งสิ้น 3,964 ตู้ แต่มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้องเพียง 160 ตู้ (ร้อยละ 4) 2562 กรุงเทพมหานคร สำรวจตู้น้ำดื่มพบว่า กทม. มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งหมด 6,114 ตู้ มีใบอนุญาตถูกต้อง 4,515 ตู้ หรือร้อยละ 73.85 ไม่มีใบอนุญาต 1,599 ตู้ หรือร้อยละ 26.15 ในปี 2561 กรุงเทพมหานครวางแนวทางไว้หลายอย่างเพื่อผลักดันให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเข้าสู่การกำกับดูแลตั้งแต่เรื่อง การขออนุญาตประกอบกิจการให้ถูกต้อง หากพบว่าไม่มีใบอนุญาตจะใช้กฎหมายบังคับ การตรวจสอบคุณภาพน้ำทุกสามเดือน หากพบว่าน้ำไม่สะอาดตามเกณฑ์มาตรฐานจะมีการแจ้งให้เจ้าของตู้หรือผู้ประกอบกิจการปรับปรุงแก้ไข จัดทำสติกเกอร์ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญสะอาดและปลอดภัย ติดหน้าตู้น้ำดื่มที่ได้ขออนุญาตถูกต้อง เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นได้อย่างชัดเจน หรือการพิจารณาลดค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาต ซึ่งทำให้ในภาพรวมจากการรายงานพบว่า ตู้น้ำดื่มมีการขอใบอนุญาตมากขึ้น แต่ยังนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับการเติบโตของกิจการหรือความนิยมที่พุ่งขึ้นเกือบสองเท่า อย่างไรก็ตามการเติบโตของกิจการตู้น้ำดื่มยังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ เพราะทำง่ายลงทุนไม่มาก อีกทั้งการควบคุมกำกับหย่อนยาน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร จึงยังคงทำหน้าที่เฝ้าระวังสืบเนื่องเพื่อบอกกับสังคมว่า กิจการนี้ต้องได้รับการกำกับดูแลให้ครอบคลุมร้อยเปอร์เซ็นต์ได้หรือยัง ผลสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 2565 การสำรวจแบ่งเป็นสองส่วน 1.อาสาสมัครลงพื้นที่สำรวจตู้น้ำจำนวน 1,530 ตู้ ระหว่างวันที่ 15-31 ส.ค. 2565 จำนวน 1,530 ตู้ ครอบคลุมพื้นที่ 33 เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า มีตู้ที่ไม่ติดใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1,380 ตู้ หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ของกลุ่มตัวอย่าง พบไม่มีฉลากระบุเรื่องการควบคุมคุณภาพการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ 1,334 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 87.2 และไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำจำนวน 1,392 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 91 2.สำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวน 3,041 คน ใน 33 เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผลสำรวจ ดังนี้ · คิดว่าตู้น้ำที่ใช้บริการอยู่สะอาดถูกสุขลักษณะ ร้อยละ 70 · ไม่พบว่ามีการขอใบอนุญาต ร้อยละ 81 เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่าจำเป็นต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ร้อยละ 76 แสดงความเห็นด้วย · สถานที่ตั้งและความสะอาดของหัวจ่าย ส่วนใหญ่พบว่า สะอาด สถานที่ตั้ง ร้อยละ 67 , หัวจ่าย ร้อยละ 58 · สำหรับความมั่นใจว่ามีการเปลี่ยนไส้กรองสม่ำเสมอหรือไม่ พบว่า ไม่มั่นใจถึงร้อยละ 51 (สอดคล้องกับผลสำรวจตู้เรื่องการแสดงฉลากการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ ซึ่งพบว่า ร้อยละ 87.2 ไม่มีการแสดงฉลากทำให้ประชาชนไม่มีข้อมูล)
ความคิดเห็น (0)