แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค สปอร์ตบรา ออกกำลังกาย เล่นกีฬา
ปัจจุบันการกดสั่งอาหารออนไลน์ ทำได้ง่ายสะดวก รวดเร็ว เพราะมีผู้ให้บริการให้เลือกมากมาย ตลอดช่วงการระบาดของโรคโควิด -19 ประชาชนหันมาใช้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่กันมากขึ้น และทั้งด้วยการจัดโปรโมชัน คูปอง การสะสมแต้มต่างๆ ยิ่งทำให้ผู้บริโภคนิยมสั่งอาหารเดลิเวอร์รีมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกด้านหนึ่ง ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอร์รี่กำลังสร้างปัญหาสำคัญคือ ขยะพลาสติกจำนวนมาก ที่สำคัญคือขยะจากฟู้ดเดลิเวอรีเหล่านี้ปะปนกับเศษอาหาร จึงไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 242 นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มสำรวจตัวอย่างแอปพลิเคชันสั่งอาหารทางออนไลน์(ฟู้ดเดลิเวอรี) จำนวน 36 แอปพลิเคชัน ในเดือนมีนาคม 2564 เพื่อสำรวจว่าแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรีนั้นมีตัวเลือก ‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’ ให้กับลูกค้าหรือไม่ ดังนั้นเพื่อการเฝ้าระวังต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันฟู้ดดิลิเวอรีมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาอีกหลายราย และเพื่อให้ผู้บริโภคที่มีใจของนักอนุรักษ์ได้มีข้อมูลว่า มีผู้ประกอบการรายใดที่ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกนี้บ้าง ฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และ สสส. จึงทำการสำรวจบริการสั่งอาหารออนไลน์อีกครั้ง โดยครั้งนี้สำรวจ ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ ทั้งที่ให้บริการทั้งในพื้นที่กรุงเทพ และต่างจังหวัดดังเดิมและเพิ่มเติมรายใหม่รวมจำนวนทั้งหมด 41 ราย สำรวจผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีรายใหม่ จำนวน 9 ราย คือ Shopee Food TH , 1376 Delivery, AirAsia Food ,True Food, Foodhunt , Texas Chicken Thailand, Aolaimai ,Frabbit ,Fast Delivery Ubon ระยะเวลาสำรวจ เดือนธันวาคม 2565สรุปผลการสำรวจ - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แบบแอปพลิเคชัน ที่มีตัวเลือก “ลดการใช้พลาสติก” มีจำนวน 5 ราย คือ Burger King, Food Panda, Grab Food , Line Man , AirAsia Food (หรือ Gojek เดิม) - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ผ่านแอปพลิเคชัน แต่ไม่มีตัวเลือก “ลดการใช้พลาสติก” มีจำนวน 22 ราย คือ Shopee Food TH , Foodhunt ,Truefood , 1112 Delivery , 7- Eleven , KFC Thailand , Mc Donald’s , Robinhood , S&P Delivery,The Pizza company, Aolaimai, Ant Delivery, Foodman Delivery Service , Fastfood Delivery ,Weserve ,Win Food Delivery ,Big Food Delivery,Captain Food Delivery, Finvery,FooDee Delivery ,Coffee World Station , Starbucks Thailand - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ออนไลน์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ผ่านช่องทาง เว็บไซต์ ไลน์ และ call center และไม่มีตัวเลือกเพื่อลดการใช้พลาสติกที่ชัดเจน มีจำนวน 8 ราย คือ 1376 Delivery ,Domino’s Pizza ,Fast Delivery Ubon ,Frabbit ,Texas Chicken Thailand , Fuji Japanese Restaurant ,MK delivery,Neo Suki และ แอปพลิเคชันยอดนิยมที่สำรวจแล้วพบว่า ไม่ใช่บริการ ฟู้ดเดลิเวอร์รี่ มีจำนวน 6 แอป คือ CP Fresh Mart , Happy Fresh, Lalamove ,Skootar ,Wongnai ,ครัวคุณต๋อย ข้อสังเกต - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ทั้งผ่านแอปพลิเคชัน และสั่งซื้อผ่าน เว็บไซต์ ไลน์ และ call center ที่ไม่มีตัวเลือกกดไม่รับพลาสติกแต่จะมีช่อง ‘คำขอพิเศษ’ ‘โน้ตไปยังร้านอาหาร’ ‘หมายเหตุ’ ‘ใส่รายละเอียดเพิ่มเติม (ถ้ามี)’ ซึ่งผู้บริโภคสามารถใช้ช่องทางนี้ ปฏิเสธไม่รับพลาสติก รวมไปถึงสื่อสารถึงร้านอาหารได้โดยตรงว่า ไม่ต้องการรับพลาสติกที่ไม่จำเป็น - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ มีโปรโมชั่นเพื่อจูงใจให้กดสั่งซื้อมากมาย ทั้ง มีการจัดส่งฟรี การสะสมแต้ม การลดราคาเมื่อซื้อจำนวนมากหรือ ลดราคาในวันพิเศษต่างๆ เหล่านี้เพื่อกระตุ้นยอดขายแต่ยังไม่พบว่า มีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายพร้อมๆ กับการสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคลดปริมาณขยะจากอาหารเดลิเวอร์รี่ เช่น การสะสมแต้มจากการไม่รับช้อน ซ่อม พลาสติก , คูปองส่วนลดสำหรับลูกค้าที่เลือกไม่รับช้อนส้อมเป็นประจำ เป็นต้น - ร้านอาหารจำนวนมากมีแอปพลิเคชัน และช่องทางรับคำสั่งซื้อออนไลน์ในช่องทางอื่นๆ เช่น เว็บไซต์ ไลน์ Call center ของตนเองแต่ยังมักประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคสั่งซื้อผ่าน ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่ เช่น Grab Food , Line Man เนื่องจากจะได้รับความนิยมได้มากกว่า - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ที่มีทางเลือกให้ผู้บริโภคกดไม่รับพลาสติกทั้งหมดเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่ หลายรายที่ยังไม่มีการพัฒนาระบบตั้งค่าลดการใช้พลาสติดดังกล่าว การที่ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่เห็นความสำคัญมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยให้สังคมตระหนักถึงปัญหาขยะจากอาหารเดลิเวอร์รี่ เพราะผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่ รายหนึ่งเป็นหน้าร้านของร้านอาหารอีกเป็นจำนวนมาก เช่น Foodhunt ที่ให้บริการจัดส่งอาหารให้แก่ Mister Donut , Auntie anne’s , โอโตยะ, ไทยเทอเรส ฯลฯ และ 1112 Delivery ที่ให้บริการจัดส่งอาหาร The Pizza , Bonchon และอีกนับสิบร้านชื่อดัง - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รีในต่างจังหวัดรายหนึ่งสะท้อนว่า “เคยให้บริการผ่านแอปพลิเคชันที่สามารถกดไม่รับพลาสติกได้ เมื่อได้ปรับเป็นการรับคำสั่งซื้อผ่านช่องทางไลน์เพื่อลดต้นทุน ผู้บริโภคมักไม่ระบุวัสดุการจัดส่ง จึงมองว่าระบบการกดไม่รับพลาสติกในแอปพลิเคชันมีส่วนสำคัญที่กระตุ้นผู้บริโภคให้ลดขยะและตระหนักในปัญหาขยะจากอาหารเดลิเวอร์รีได้” ข้อแนะนำ - ผู้บริโภค ควรใช้ตัวเลือกลดขยะพลาสติกในแอปฯ (ถ้ามี) เพื่อเป็นการช่วยในเรื่องการลดปัญหาขยะ - ปัญหาสำคัญของขยะจากฟู้ดเดลิเวอรี คือเป็นขยะพลาสติกที่ปะปนกับเศษอาหารทำให้ไม่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ ผู้บริโภคจึงควรคัดแยกขยะก่อนทิ้งและรวบรวมนำไปให้ในจุดที่บริการรับขยะพลาสติกเพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ หรืออย่างน้อยควรชำระให้ปนเปื้อนน้อยที่สุดก่อนทิ้ง - ปัจจุบัน ร้านอาหารหลายร้าน หากไม่ให้ถุงพลาสติกก็อาจพัฒนาถุงพลาสติกเพื่อให้ผู้บริโภคไปใช้ซ้ำได้นานมากขึ้นที่สุด เมื่อได้รับวัสดุ /ถุงพลาสติกจึงควรนำกลับมาใช้ซ้ำหรือหาทางใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด - เลือกใช้บริการ ร้านอาหาร / ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี ที่มีความรับผิดชอบต่อปัญหาขยะอาหารเดลิเวอร์รีหรือปรับเปลี่ยนมาเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้บริการจัดส่งสั่งอาหารออนไลน์ อาจได้เป็นวิถีใหม่ของคนไทยไปแล้ว อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการและผู้บริโภคควรได้ตระหนักร่วมกันถึงปริมาณขยะจากอาหารเดลิเวอร์รี่กำลังเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล การลดขยะหรือการทำให้ขยะกลับมาใช้ได้จริง จึงต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง
กำหนดการบังคับใช้กฎหมายที่ว่าด้วยการติดตั้งเบาะนิรภัยสำหรับเด็กวัยไม่เกินหกขวบ (คาร์ซีท) ของบ้านเราเริ่มต้นแล้ว ฉลาดซื้อ ฉบับนี้จึงขอนำเสนอผลการทดสอบของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่องค์กรผู้บริโภคในยุโรปซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ได้ทำการทดสอบไว้ และเนื่องจากมีเนื้อที่จำกัด เราจึงขอนำเสนอเพียง 25 รุ่นที่ได้คะแนนสูงสุดจากการทดสอบในปี 2022(ติดตามผลทดสอบคาร์ซีทครั้งก่อนหน้าได้ใน ฉบับที่ 234) การทดสอบซึ่งอ้างอิงตามมาตรฐานใหม่ของยุโรป (R129) แบ่งออกเป็นการจำลองการชนในห้องปฏิบัติการ และการใช้งานจริงโดยผู้เชี่ยวชาญ 3 คน และครอบครัวที่มีเด็กอายุ 3, 6, และ 10 ปีจำนวน 10 ครอบครัว คาร์ซีททุกรุ่นจะถูกนำมาทดลองติดตั้งและใช้งานกับรถ 3 ประเภท ได้แก่ รถแฮทช์แบ็ก 3 ประตู รถ SUV 5 ประตู และรถ MPV คะแนนรวม 100 คะแนนแบ่งออกเป็น - ความปลอดภัย (ร้อยละ 50) เช่น ประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายจากการชนด้านหน้าและด้านข้าง ความแข็งแรงของตัวล็อก การยึดติดกับเบาะรถ และการดูดซับแรงกระแทก เป็นต้น - ความสะดวกในการใช้งาน (ร้อยละ 40) เช่น การติดตั้ง การปรับขนาดให้เข้ากับตัวเด็ก โอกาสที่จะใช้ผิดวิธี และความยากง่ายในการทำความสะอาด เป็นต้น - การออกแบบตามหลักการยศาสตร์ หรือ ergonomics (ร้อยละ 10) ทั้งตัวที่นั่ง พนักพิง ความนุ่มสบาย และการใช้พื้นที่ในรถ เป็นต้น เนื่องจากสหภาพยุโรปห้ามใช้สารเคมีอันตรายหลายชนิดในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก เช่น โพลีไซคลิกไฮโดรคาร์บอน พทาเลท ฟอร์มัลดีไฮด์ สีเอโซ และโลหะหนัก ทีมทดสอบจึงทำการตรวจวิเคราะห์หาสารดังกล่าวบนตัววัสดุหุ้มเบาะและส่วนประกอบอื่นๆ ที่เด็กอาจเลียหรือนำเข้าปากไว้ด้วย ในภาพรวมเราพบว่า คาร์ซีทที่มีจำหน่ายในยุโรปมีทั้งที่คุณภาพดีและด้อยปะปนกัน รุ่นที่ได้คะแนนสูงสุด Cybex AnorisT i-size ได้ไปถึง 81 คะแนน ในขณะที่หลายรุ่นได้คะแนนรวมต่ำกว่า 50 เพราะมีคะแนนความปลอดภัยแค่ระดับ “พอใช้” และบางรุ่นไม่ได้คะแนนเลย* ในกรณีที่เป็นรุ่นเดียวกัน รุ่นที่มาพร้อมกับฐาน (และมีราคาแพงกว่า) มักจะได้คะแนนมากกว่า นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่าการเลือก “แบรนด์” อย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบ เราอาจต้องพิจารณา “รุ่น” ของคาร์ซีทด้วย · เรามัดรวมคาร์ซีทที่ไม่ควรซื้อเอาไว้ที่หน้าสุดท้ายของบทความนี้แล้ว คาร์ซีทรุ่นที่ได้คะแนนรวมในระดับ “พอใช้”Jané iMatrix + iPlatform ComfyGraco Turn2MeBesafe StretchLionelo Antoon PlusSilver Cross Motion All Size 360Chicco Seat2Fit i-SizeRecaro Toria EliteAxkid Minikid 3Chicco Seat3Fit i-SizeCasualplay Backfix i-SizeJoie i-Spin Grow คาร์ซีทรุ่นที่เราไม่แนะนำJané Koos i-Size R1 + iPlatform ComfyUrban Kanga Uptown TV107Lionelo Antoon RWFKinderkraft Comfort UpWalser Kids Expert Noemi
ปี 2564 นิตยสารฉลาดซื้อเคยทำสำรวจห้างค้าปลีกในประเด็นเรื่องนโยบายและมาตรการการจัดการกับสินค้า อาหารหมดอายุ เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนเข้ามาที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยู่บ่อยครั้ง ในการสำรวจครั้งก่อนมีผู้ประกอบการที่ตอบแบบสอบถามเพียง 3 ราย จาก 11 ราย มาในปี 2565 นี้ หลังจากข่าว “ชาวเน็ตโอด! ห้างดัง ‘เอาเปรียบผู้บริโภค’ โต้เลิกพูดเถอะ ‘ของสดใหม่ทุกวัน’ (ที่มา https://www.dailynews.co.th/news/1607049/ ) ที่กล่าวถึงห้างนำเอาโดนัทที่หมดอายุแล้วมาปิดฉลากใหม่และวางจำหน่าย ซึ่งต่อจากข่าวนั้นมีประเด็นน่าสนใจหลายอย่างตามมา เช่น อย.ระบุว่าเอาผิดห้างไม่ได้ตาม พ.ร.บ.อาหาร ฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน จำเป็นต้องเร่งปรับปรุงกฎหมาย ส่วนการเอาผิดผู้ประกอบการต้องใช้กฎหมายอาญา ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลจากทาง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ นิตยสารฉลาดซื้อ จึงทำหนังสือเพื่อขอข้อมูลเรื่อง ขั้นตอนดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการเกี่ยวกับอาหาร/สินค้าหมดอายุ จากบริษัทที่ดำเนินงานห้างค้าปลีก ร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ 12 ราย ได้แก่ 1.บริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด 2.บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด 3.บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด 4.บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด 5.บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) 7.บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) 8.บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด 9.บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี จำกัด 10.บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) 11.บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด 12.บริษัท สห ลอว์สัน จำกัดทั้งนี้ฉลาดซื้อกำหนดการปิดรับคำตอบวันที่ 10 ธันวาคม 2565 และมีบริษัท 5 รายที่ให้ข้อมูล ดังนี้ · บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด……The Mall · บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ..7 eleven · บริษัท สห ลอว์สัน จำกัด ............ ลอว์สัน · บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด...ฟู้ดแลนด์ · บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด....Lotus ผลการสำรวจ1.นโยบายการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง และช่องทางการร้องเรียน 2.มาตรการ ขั้นตอน การจัดเก็บสินค้า อาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง แหล่งข้อมูล1.หนังสือตอบจากบริษัท 5 ราย2.หน้าเว็บไซต์บริษัทฯ3.สอบถามเพิ่มเติมจากช่องทางลูกค้าสัมพันธ์
จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในกรุงเทพฯ จำนวน 3,041 คน โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร พบว่าประชาชนร้อยละ 70 เชื่อมั่นเรื่องคุณภาพของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญที่ใช้บริการอยู่ ถึงแม้ว่าจะสังเกตว่ามีการใบแสดงการขออนุญาตประกอบกิจการเพียงร้อยละ 19 เท่านั้น น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นแหล่งน้ำดื่มราคาไม่แพงหากเทียบกับน้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งจากผลสำรวจทำให้ได้คำตอบว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นถึงร้อยละ 70 แต่น้ำจากแหล่งทั้งสองมีการควบคุมกำกับที่ต่างกัน น้ำดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิทควบคุมกำกับด้วย พ.ร.บ. อาหารมี อย.ทำหน้าที่กำกับดูแล แต่น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ แม้เป็นกิจการที่กฎหมายให้อำนาจการควบคุมให้เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ประเภทที่ 3) ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2558 กล่าวคือบังคับให้ต้องมีการขออนุญาตดำเนินกิจการ โดยต้องขอใบอนุญาตจากราชการส่วนท้องถิ่นที่ตู้น้ำดื่มวางไว้เพื่อบริการประชาชน แต่เมื่อลงพื้นที่จริงกลับพบว่า กิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้อง เรียกว่าคนทำถูกต้องตามกฎหมายมีเพียงหยิบมือ แต่ “ตู้เถื่อน” เกลื่อนเมือง ผลสำรวจเรื่องใบอนุญาตประกอบกิจการ 2559 มพบ. สำรวจตู้น้ำดื่มพบว่า ร้อยละ 91.6 ไม่มีใบอนุญาต 2561 กรุงเทพมหานคร สำรวจตู้น้ำดื่มพบว่า กทม. มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวนทั้งสิ้น 3,964 ตู้ แต่มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้องเพียง 160 ตู้ (ร้อยละ 4) 2562 กรุงเทพมหานคร สำรวจตู้น้ำดื่มพบว่า กทม. มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งหมด 6,114 ตู้ มีใบอนุญาตถูกต้อง 4,515 ตู้ หรือร้อยละ 73.85 ไม่มีใบอนุญาต 1,599 ตู้ หรือร้อยละ 26.15 ในปี 2561 กรุงเทพมหานครวางแนวทางไว้หลายอย่างเพื่อผลักดันให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเข้าสู่การกำกับดูแลตั้งแต่เรื่อง การขออนุญาตประกอบกิจการให้ถูกต้อง หากพบว่าไม่มีใบอนุญาตจะใช้กฎหมายบังคับ การตรวจสอบคุณภาพน้ำทุกสามเดือน หากพบว่าน้ำไม่สะอาดตามเกณฑ์มาตรฐานจะมีการแจ้งให้เจ้าของตู้หรือผู้ประกอบกิจการปรับปรุงแก้ไข จัดทำสติกเกอร์ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญสะอาดและปลอดภัย ติดหน้าตู้น้ำดื่มที่ได้ขออนุญาตถูกต้อง เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นได้อย่างชัดเจน หรือการพิจารณาลดค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาต ซึ่งทำให้ในภาพรวมจากการรายงานพบว่า ตู้น้ำดื่มมีการขอใบอนุญาตมากขึ้น แต่ยังนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับการเติบโตของกิจการหรือความนิยมที่พุ่งขึ้นเกือบสองเท่า อย่างไรก็ตามการเติบโตของกิจการตู้น้ำดื่มยังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ เพราะทำง่ายลงทุนไม่มาก อีกทั้งการควบคุมกำกับหย่อนยาน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร จึงยังคงทำหน้าที่เฝ้าระวังสืบเนื่องเพื่อบอกกับสังคมว่า กิจการนี้ต้องได้รับการกำกับดูแลให้ครอบคลุมร้อยเปอร์เซ็นต์ได้หรือยัง ผลสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 2565 การสำรวจแบ่งเป็นสองส่วน 1.อาสาสมัครลงพื้นที่สำรวจตู้น้ำจำนวน 1,530 ตู้ ระหว่างวันที่ 15-31 ส.ค. 2565 จำนวน 1,530 ตู้ ครอบคลุมพื้นที่ 33 เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า มีตู้ที่ไม่ติดใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1,380 ตู้ หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ของกลุ่มตัวอย่าง พบไม่มีฉลากระบุเรื่องการควบคุมคุณภาพการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ 1,334 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 87.2 และไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำจำนวน 1,392 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 91 2.สำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวน 3,041 คน ใน 33 เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผลสำรวจ ดังนี้ · คิดว่าตู้น้ำที่ใช้บริการอยู่สะอาดถูกสุขลักษณะ ร้อยละ 70 · ไม่พบว่ามีการขอใบอนุญาต ร้อยละ 81 เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่าจำเป็นต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ร้อยละ 76 แสดงความเห็นด้วย · สถานที่ตั้งและความสะอาดของหัวจ่าย ส่วนใหญ่พบว่า สะอาด สถานที่ตั้ง ร้อยละ 67 , หัวจ่าย ร้อยละ 58 · สำหรับความมั่นใจว่ามีการเปลี่ยนไส้กรองสม่ำเสมอหรือไม่ พบว่า ไม่มั่นใจถึงร้อยละ 51 (สอดคล้องกับผลสำรวจตู้เรื่องการแสดงฉลากการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ ซึ่งพบว่า ร้อยละ 87.2 ไม่มีการแสดงฉลากทำให้ประชาชนไม่มีข้อมูล)
ความคิดเห็น (0)