แหล่งข้อมูล: สมสุข หินวิมาน
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค แนิติวิทยาศาสตร์ สตรี อคติทางเพศ
“บาดแผล” หมายถึงอะไร หากเป็นบาดแผลทางกายแล้ว ในทางการแพทย์มักหมายถึงการบาดเจ็บทุกชนิดที่ส่งผลต่อการแตกสลายของผิวหนังหรือเยื่อบุร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เลือดออก และนำไปสู่การติดเชื้อได้ แต่หากเป็นบาดแผลทางใจนั้นเล่า จักหมายความว่าอะไร? ในทางจิตวิทยา บาดแผลทางใจถูกตีความว่าเป็นโรคทางจิตเวช อันเกิดขึ้นภายหลังจากได้รับความบอบช้ำทางจิตใจ อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงวัยเด็กหรือบางห้วงแห่งชีวิต แต่ทว่ากลับสลักแน่นและฝังรากลึกอยู่ในความทรงจำของคนเรา จนนำไปสู่อาการที่แม้ไม่อยากจะจดจำ แต่ก็ยากจะสลัดทิ้งไปจากห้วงคำนึง อาการอิหลักอิเหลื่อของบาดแผลทางใจที่เรียกกันว่า “จำก็ไม่ได้ ลืมก็ไม่ลง” เฉกเช่นนี้ ก็คงพ้องกับอาการที่เกิดขึ้นกับ “เกื้อคุณ” และ “อัญมณี” ที่กว่าจะลงเอยกับความรัก ก็ต้องผ่านบททดสอบการเยียวยาบาดแผลแห่งจิตใจกันอย่างสะบักสะบอม ในละครโทรทัศน์แนวดรามาเข้มข้นอย่าง “ที่สุดของหัวใจ” จุดเริ่มต้นของเรื่องเกิดขึ้นเมื่ออัญมณีผู้เป็นหลานสาวคนเดียวของตระกูล “จางวางประวาส” ตัดสินใจสอบชิงทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะต้องการเอาชนะ “คุณประวิทย์” ผู้เป็นปู่ ซึ่งมีอุปนิสัยชอบเอาตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล และเชื่ออยู่เสมอว่า ผู้หญิงไม่มีทางที่จะก้าวหน้าทัดเทียมบุรุษเพศได้ หลังจากทะเลาะกันจนบ้านแทบแตก เพราะปู่เห็นคุณค่าแต่กับ “ชนุตม์” หลานชายผู้เป็นพี่น้องต่างมารดากับเธอ อัญมณีก็เลือก “เก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า” ไปเสี่ยงชีวิตตายเอาดาบหน้าที่ต่างแดน เพื่อหลีกหนีจากสภาพชีวิตที่แม้จะเป็นหลานแท้ๆ แต่ก็ถูกเลือกปฏิบัติประหนึ่งคนใช้ในบ้านเท่านั้น ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ภาพก็ตัดสลับมาที่พระเอกหนุ่มเกื้อคุณ หลานชายของ “กมลาสน์” เจ้าของอาณาจักรธุรกิจ “ซีอิสรา” แม้ชีวิตที่ลงตัวของเขาดูจะรุ่งโรจน์ก้าวหน้าทางหน้าที่การงานก็ตาม แต่ในวันที่เกื้อคุณวางแผนจะขอ “พิมรตา” หญิงสาวคนรักแต่งงาน เขากลับถูกสะบั้นรักทิ้งอย่างไร้เยื่อใย เมื่ออดีตแฟนสาวหันไปเข้าสู่ประตูวิวาห์กับชนุตม์หลานชายเจ้าสัวแห่งตระกูลจางวางประวาส และในวันที่เกื้อคุณผิดหวังกับความรักจนนอนเมามายอยู่ข้างกองขยะท่ามกลางฝนตกพรำๆ เขาก็ได้เจอกับอัญมณีที่เดินมาหยิบยื่นกางร่มให้ พร้อมกับเขียนข้อความเป็นกำลังใจใส่กระดาษแผ่นเล็กๆ ว่า “อย่ารักใครจนลืมว่าตัวเองมีค่าแค่ไหน…ขอให้คุณมีชีวิตใหม่ที่ดีนะคะ” แม้ร่มคันนั้นกับข้อความในกระดาษแผ่นเล็กๆ จะช่วยให้เกื้อคุณผ่านพ้นวันที่ทุกข์สาหัสถาโถมเข้ามาในชีวิต แต่กระนั้น เขาก็ยังเลือกที่จะไม่เปิดใจให้กับผู้หญิงคนไหนอีกเลย จะมีก็เพียงความทรงจำที่ลางเลือนถึงใบหน้าหญิงสาวผู้เป็นกำลังใจเล็กๆ ในวันที่พิมรตาฝากบาดแผลอันเจ็บปวดไว้ในหัวใจของเขาเท่านั้น เจ็ดปีที่ผ่านไปในห้วงชีวิตของตัวละครเอก ช่างเหมือนกับเนื้อเพลงที่ว่า “กี่คำถามที่มันยังคาในใจ เธอรู้ไหมมันทรมานแค่ไหน” ซึ่งกลายเป็นความรู้สึกลึกๆ ที่คุกรุ่นอยู่ในซอกหลืบแห่งจิตใจของทั้งอัญมณีและเกื้อคุณ หลังจากไปชุบตัวเรียนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ อัญมณีก็กลับมาปรากฏตัวเป็นคนใหม่ในชื่อของ “ดร.แอน จาง” และเข้าทำงานเป็นที่ปรึกษาบริษัทซีอิสราของคุณกมลาสน์ การโคจรมาพบกันอีกครากับ ดร.แอน ทำให้เกื้อคุณเกิดอาการหัวใจเต้นแรงขึ้นอีกครั้ง แม้ว่าในอีกด้านหนึ่ง เขาก็ยังไม่สามารถเยียวยาบาดแผลที่พิมรตาฝังฝากลงไปในจิตใจได้ทั้งหมด แต่ทว่า ในวันที่ความสัมพันธ์กับรักครั้งใหม่ของเกื้อคุณกำลังผลิบานอยู่นั้น พิมรตากลับปรากฏตัวมา และได้สะกิดบาดแผลที่เริ่มจะตกสะเก็ดจนก่อกลายเป็นบาดแผลใหม่ขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่เลิกรากับเกื้อคุณไป พิมรตาก็ค้นพบว่า ตนเองนั้น “เลือกผิด” แม้ฉากหน้าอันหวานชื่นของพิมรตากับชนุตม์ผู้เป็นสามีดูจะเป็นที่น่าอิจฉาของแวดวงสังคม แต่หลังฉากนั้น ความรักที่เธอมีให้กับเขาก็ไม่มากพอ ส่วนชนุตม์เองก็แอบไปมีเล็กมีน้อย เพื่อเติมเต็มความสุขทางเพศรสที่ห่างหายไปจากคนทั้งสองมานานแล้ว จนชีวิตสมรสของทั้งคู่เป็นประหนึ่งนาวากลางสมุทรที่ใกล้อัปปางกลางคลื่นลมระลอกแล้วระลอกเล่า คนรักเก่าที่รีเทิร์นกลับมา คนรักใหม่ที่สานต่อความสัมพันธ์ซึ่งกำลังไปได้ดี ชีวิตบนทางสองแพร่งที่ดูย้อนแย้งทำให้เกื้อคุณอยู่ในวงจรที่ “กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไม่รู้จะถึงที่หมายกันได้หรือไม่” ส่งผลให้พระเอกหนุ่มต้องตั้งคำถามอยู่เป็นระยะๆ ว่า ชีวิตของตนที่เหลือนับจากนี้จะเดินต่อไปข้างหน้ากันเยี่ยงไร ไม่ต่างจากนางเอกอัญมณี ที่สู้อุตส่าห์ปรับลุคเปลี่ยนอัตลักษณ์ใหม่เป็น ดร.แอน ผู้ที่กำลังมีชีวิตรักที่ลงตัวและชีวิตการงานที่ก้าวหน้า หากทว่าความเจ็บปวดที่ฝังใจว่าอยากจะเอาชนะคุณประวิทย์ผู้ไม่เคยให้ค่าความสามารถในตัวหลานสาว ก็เหมือนชนักปักกลางความรู้สึก และทำให้ความสัมพันธ์ของเธอกับเกื้อคุณเกิดปัญหา เมื่อฝ่ายชายแอบคิดไปว่า อัญมณีเพียงจะใช้ตนเป็นเพียง “หมากตัวหนึ่ง” เพื่อทวงคืนกับคุณปู่เท่านั้น บนเส้นทางที่อัญมณีต้องการเลือกเดินไปข้างหน้า แต่บาดแผลที่มิอาจสลัดทิ้งได้ ก็ทำให้เธอต้องเปิดแนวรบหลายด้าน ทั้งการต่อสู้กับธรรมเนียมปฏิบัติที่นายทุนใหญ่อย่างคุณประวิทย์ไม่สนใจลงทุนกับลูกหลานในฝ่ายหญิง และกับอดีตแฟนสาวที่กลับมาหลอกหลอนเกื้อคุณชายผู้เป็นที่รักของเธอในปัจจุบัน ฉากการเผชิญหน้าระหว่างอัญมณีที่ประกาศกับพิมรตาว่า “แฟนเก่าควรอยู่ในที่ของแฟนเก่า อย่างน้อยก็ควรสะกดคำว่าอดีตให้เป็น” แม้ด้านหนึ่งจะตอกหน้าคู่ปรับว่าหมดสิทธิ์เป็นเจ้าของหัวใจของพระเอกหนุ่มไปนานแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่งก็คือการบอกตัวเธอเองด้วยว่า ถ้าชีวิตรักของเธอกับเกื้อคุณจะมูฟออนไปข้างหน้าได้ ก็ควรต้องเลือกลบลืมอดีตบางอย่างที่สร้างความเจ็บปวดไปเสียบ้างนั่นเอง และนอกจากเกื้อคุณกับอัญมณีแล้ว ตัวละครที่เหลือในเรื่องก็มีความทรงจำบาดแผลที่เป็นเงาหลอกหลอนไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นคุณประวิทย์ผู้มิอาจลดทิฐิจากประเพณีนิยมในการกดทับผู้หญิงผ่านสถาบันครอบครัว หรือพิมรตาที่ในส่วนลึกก็อยากจะเริ่มต้นใหม่กับสามีอีกครั้งแต่ก็ไม่อาจลืมรักครั้งเก่าได้ลง หรือชนุตม์ที่ฝังใจแล้วไปว่าภรรยาไม่เคยรักเขาจริง จนออกไปหาเศษหาเลยกับผู้หญิงไม่ซ้ำหน้า จนถึงบทสรุปของเรื่อง ที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรมการเสียชีวิตของชนุตม์และพิมรตา หรือการแทบจะล่มสลายของครอบครัวจางวางประวาส หรือความรักอันบอบช้ำครั้งแล้วครั้งเล่าของเกื้อคุณและอัญมณี ก็ทำให้ตัวละครทั้งหลายได้เวลาต้องย้อนหันมาทบทวนบาดแผลและความทรงจำกันจริงจังในฉากจบของเรื่อง ถ้าดูละครแล้วทำให้เราย้อนเห็นสังคมโดยภาพรวมได้แล้ว กับความขัดแย้งทางสังคมการเมืองที่ฉายเป็นภาพใหญ่ให้ได้สัมผัสอยู่ในทุกวันนี้ บางทีหากเราลองเปิดใจหันกลับไปทบทวนประวัติศาสตร์ความเจ็บปวดเพื่อหาทางออกกันดูบ้าง เราก็อาจจะพบเส้นทางหลุดพ้นไปจากภาวะที่ต้องเผชิญหน้ากับบาดแผลซึ่ง “จำก็ไม่ได้ ลืมก็ไม่ลง” ในเส้นทางอันวิวัฒน์ไปของสังคมไทยได้เช่นกัน
ตัวตนหรืออัตลักษณ์ของคนเรานั้น เผลอๆ ก็อาจไม่ใช่ตัวเราที่มีอำนาจเข้าไปกำหนด และในขณะเดียวกัน หากเราไม่ได้เป็นคนเดียวที่มีอำนาจกำหนด ตัวตนของเราก็มักมีบางส่วนที่สังคมเข้าไปควบคุมหรือกำกับการรับรู้ให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้ เพื่อสาธิตให้เห็นว่า ตัวตนของคนเราจริงๆ จักเป็นเช่นไร หรือถูกสายตาของสังคมรับรู้และตีความความเข้าใจให้กับผู้คนทั้งหลายได้อย่างไรนั้น อาจดูตัวอย่างได้จากตัวละครนางเอก “วาสิตา” หรือที่คนใกล้ชิดมักเรียกเธอว่า “คุณวา” กับบรรดาหนุ่มๆ หลายคนที่แวดล้อมชีวิตของซุปตาร์สาวนางนี้ ในละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้เจือดรามาอย่าง “มัดหัวใจยัยซุปตาร์” เพราะเป็นนักแสดงและนางแบบตัวแม่ของวงการบันเทิง ดังนั้น ไม่ว่าจะขยับร่างไปทางไหน สายตาของปาปารัซซีและสาธารณชนก็มักจับจ้องมองอยู่มิได้ห่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชีวิตรักซึ่งเป็น “ส่วนตัว” ที่สุดในความเป็นบุคคล “สาธารณะ” ที่คุณวาก็ต้องยอมแลกให้สปอตไลต์มาฉายส่องอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุฉะนี้ ฉากเปิดเรื่องจึงฉายภาพคุณวาผู้ถูกจับตาเรื่องความรักกับ “รชานนท์” หนุ่มหล่อไฮโซ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเศรษฐีนีนักธุรกิจอย่าง “นันทพร” โดยที่ทั้งคู่วางแผนจะเข้าสู่ประตูวิวาห์สร้างอนาคตในเร็ววัน แต่ทว่า จุดพลิกผันก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อ “ปรายฟ้า” นางแบบสาวรุ่นน้องมากล่าวอ้างกับคุณวาว่า เธอเป็นภรรยาลับๆ ของรชานนท์ และกำลังตั้งครรภ์ลูกในท้องของเขาอยู่ แม้ชีวิตสาธารณะจะดูก้าวหน้า แต่ชีวิตรักส่วนตัวกลับไม่เป็นไปดังหวัง คุณวาจึงตัดสินใจยกเลิกงานแต่งงานกับรชานนท์ และในความผิดหวังนั้นเอง คุณวาก็ดื่มเหล้าจนเมาขาดสติ และพลั้งเผลอไปมีความสัมพันธ์แบบ one-night stand กับ “รัฐกร” หรือ “กั๊ต” เมคอัพอาร์ติสต์หนุ่มประจำตัวของคุณวา ด้วยพล็อตเรื่องที่ผูกปมเอาไว้เช่นนี้ จะว่าไปแล้วก็น่าจะจบลงแบบสุขสมหวังแฮปปี้เอนดิ้งได้นับแต่ตอนต้นเรื่อง หากเพียงคุณวากับกั๊ตจะเลือกลงเอยครองคู่กันไปตามครรลองคลองธรรม แต่ทว่า สำหรับคุณวาแล้ว กั๊ตคือชายหนุ่มที่โตมาในฐานะ “เด็กในบ้าน” หลานของ “ป้ารัณ” ที่เลี้ยงดูคุณวามาตั้งแต่ยังเด็กหลังจากที่มารดาของเธอเสียชีวิตลง และที่สำคัญ คุณวาเองก็รักเอ็นดูกั๊ตเหมือนกับน้องชาย หรือเผลอๆ ก็อาจจะมองชายหนุ่มเป็นเพียง “เพื่อนสาว” ตามภาพเหมารวมแบบฉบับของอาชีพช่างแต่งหน้าของศิลปินดารานั่นเอง เมื่อเป็นดังนี้ เส้นเรื่องของละครจึงผูกโยงให้กั๊ตต้องพิสูจน์ตนเองให้คุณวาประจักษ์แจ้งแก่หัวใจได้ว่า เขามีสถานะเป็น “ผู้ชายแท้” และทั้งรักทั้งหวังดีกับคุณวาเรื่อยมา โดยมีสถานการณ์ต่างๆ มากมายที่จะทำให้นางเอกซุปตาร์เข้าใจผิดในตัวตนของเขาอยู่เป็นระยะๆ เพราะตัวตนหรืออัตลักษณ์เป็นโฉมหน้าที่มนุษย์เราสามารถเลือกพลิกด้านใดออกมาสื่อสารกับผู้คนรอบตัว และสังคมเองก็มีภาพจำหรือกำหนดการรับรู้อัตลักษณ์ตัวตนของปัจเจกบุคคลแตกต่างกันไป ฉะนั้น เรื่องของตัวตนทางเพศสภาพและเพศวิถีของมนุษย์เองก็ดำรงอยู่ภายใต้ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน และเพราะทุกวันนี้อัตลักษณ์ทางเพศสภาพก็มีความลื่นไหลและซับซ้อนกว่าที่เราเคยรับรู้กันมา ดังนั้น บนความสัมพันธ์ระหว่างคุณวากับบุรุษเพศผู้รายล้อมรอบชีวิตของเธอ คุณวาจึงต้องเรียนรู้ด้วยว่า ตัวตนตามภาพจำกับตัวตนที่ปัจเจกบุคคลเป็นอยู่จริงนั้น ก็ไม่ต่างจากที่พิธีกรรายการเกมโชว์มักจะถามผู้หญิงซึ่งอยู่ในสนามแข่งขันเลือกคู่ว่า กับผู้ชายที่คุณเห็นอยู่ตรงหน้า “รู้ไหมใครโสด มีเจ้าของ และไม่มองหญิง” สำหรับผู้ชายคนแรกอย่างกั๊ต ผู้เลือกเพศวิถีแบบ “รักต่างเพศ” และแท้จริงยังเป็น “โสด” แต่เนื่องจากวิชาชีพที่เขาเป็นเมคอัพสไตลิสต์ และยังเป็นช่างแต่งหน้าคู่ใจของคุณวา เธอจึงไม่วางใจในอัตลักษณ์ทางเพศของเขา ถึงแม้ว่าพระเอกหนุ่มจะพูดยืนยันกับซุปตาร์สาวอยู่เนืองๆ ว่า “กั๊ตเป็นผู้ชายนะครับ” หรือแม้แต่ในวันที่คุณวาเมาเหล้าเผลอพลั้งไปฟีเจอริงเลยเถิดกับกั๊ต แต่ทว่าลึกๆ แล้ว เหตุผลที่ทำให้คุณวารู้สึกผิดและขาดความเชื่อมั่น ไม่ใช่เพราะถลำลึกไปมีอะไรกับ “เด็กในบ้าน” ที่เธอรักเหมือนน้อง หากแต่เพราะเธอคิดว่าตนพลาดไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเกย์หนุ่มช่างแต่งหน้ามากกว่า ส่วนผู้ชายคนถัดมาก็คือรชานนท์ แม้หน้าฉากชายหนุ่มจะแสดงออกทางเพศวิถีแบบชาย “รักต่างเพศ” ก็ตาม ทว่าหลังฉากของเขาหาใช่จะเป็นชาย “โสด” แต่ตรงกันข้าม เขากลับเจ้าชู้ มีผู้หญิงมากหน้าหลายตา จนแม้แต่คุณนันทพรผู้เป็นแม่ถึงกับนิยามลูกชายคนนี้ว่า “บ้าเซ็กส์” จนไม่ยอมทำงานทำการแต่อย่างใด ดังนั้น แม้จะคบหาออกหน้าว่าเป็นชายคนรักของซุปตาร์สาว แต่ก็ยากจะดูออกว่ารชานนท์ยัง “โสด” หรือเป็นชายที่ “มีเจ้าของ” กันแน่ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อคุณวาสลัดรักจากรชานนท์ และหันมาแต่งงานกับกั๊ต จากเทพบุตรก็กลายร่างเป็นซาตานตามรังควานคุณวากับกั๊ต จนเป็นเหตุให้ “ทัด” พ่อขอกั๊ตเสียชีวิต รวมทั้งยังลงมือกระทำทารุณกรรมทางร่างกายกับปรายฟ้า ในขณะที่เธออุ้มท้องลูกของเขาอยู่ ภาพของตัวละครชายแบบนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ในหน้าฉากของความเป็นสุภาพบุรุษ ตัวตนที่แท้จริงของคนเราสามารถเหี้ยมเกรียมกันได้เพียงใด และสำหรับผู้ชายคนสุดท้ายก็คือ “หมอเจ” ญาติผู้พี่ของคุณวา ที่ด้วยสถานภาพทางอาชีพเป็นสูตินารีแพทย์ การปรากฏตัวของเขาต่อหน้าสาธารณชนจึงต้องเลือกแสดงออกทางเพศสภาพแบบ “ผู้ชายแท้” แม้ว่าจริงๆ แล้ว หมอเจก็คือ “เจ้” ของคุณวา และเลือกมีตัวตนเพศวิถี “ไม่มองหญิง” แบบที่เฉพาะคนใกล้ชิดเท่านั้นที่จะตระหนักรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว ด้วยอัตลักษณ์แห่งเพศสภาพที่ซับซ้อนและลื่นไหลโดยสัมพัทธ์กับข้อกำหนดของแต่ละสังคม จึงไม่น่าแปลกที่เราได้เห็นช่างแต่งหน้าผู้มักมีภาพจำทางสังคมว่าเป็นพวก “ไม่มองหญิง” แต่จริงๆ แล้วกลับเป็น “ชายโสด” ในขณะเดียวกับที่ “ชายโสด” ลูกมหาเศรษฐี กลับมีด้านที่ซุกซ่อนความ “มีเจ้าของ” และเห็นผู้หญิงเป็นเพียงของเล่นในชีวิต และพร้อมๆ กับที่หมอหนุ่มฐานานุรูปดีจนน่าจะดูเป็น “ชายโสด” ในฝันของผู้หญิงทั้งหลาย กลับมีรสนิยมทางเพศเป็น “เก้งกวาง” แอบ “ไม่มองหญิง” แบบหักปากกาเซียน สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง กูรูที่ช่ำชองก็อาจจะอ่านอัตลักษณ์ทางเพศที่ผันแปรได้ไม่เฉียบขาด ดังนั้นแม้ตัวคุณวาเองจะเป็นซุปตาร์นักแสดง อันเป็นบทบาทอาชีพที่ต้องอยู่กับการมีหน้าฉากหลังฉาก และสวมบทบาทที่แปรเปลี่ยนลื่นไหลไปตามสคริปต์ที่ถูกกำหนดให้เล่น แต่ในเกมที่ต้องอ่านตัวตนทางเพศของชายที่ต้องมาครองคู่ด้วย คุณวาก็ทั้งพลาดทั้งพลั้งจนเกือบจะพ่ายแพ้ในสนามนี้มาแล้ว จนถึงบทสรุปหลังจากที่คุณวากับกั๊ตได้ลงเอยกันตามสูตรสำเร็จของละครแนวโรมานซ์ เขาและเธอทั้งคู่ก็ได้เรียนรู้ว่า การทายถูกทายผิดในเกมอาจถือเป็นเรื่องปกติเพราะนั่นคือเกม หากทว่าในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้น การตัดสินเพศสภาพด้วยภาพจำแบบเหมารวมก็อาจบดบังตัวตนจริงๆ ของคนเราได้ ด้วยเพราะอัตลักษณ์แห่งปัจเจกบุคคลนั้นมีทั้งลื่นไหล ย้อนแย้ง และผันแปรอยู่อย่างไม่สิ้นไม่สุด
นักคิดในกลุ่มเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิแห่งสตรี หรือที่รู้จักกันในชื่อของนักทฤษฎีเฟมินิสต์บางคน เคยแสดงทัศนะไว้ว่า ระบอบ “ปิตาธิปไตย” หรือการกำหนดคุณค่าให้กับ “ชายเป็นใหญ่” ได้แผ่ซ่านอยู่ในถ้วนทุกอณูของสังคม และภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่นี้เอง ผู้หญิงกลายเป็นมนุษย์กลุ่มแรกๆ ที่ถูกกดขี่ ลิดรอน จำกัดสิทธิและโอกาส หรืออีกนัยหนึ่ง สตรีก็คือเพศสภาพที่ต้องรองรับทุกขเวทนามากที่สุดในระบบการให้คุณค่าดังกล่าว แต่ในเวลาเดียวกัน นักทฤษฎีที่ศึกษาสิทธิทางเพศรุ่นหลัง ก็ได้โต้แย้งและขยับขยายมุมมองออกไปด้วยว่า ระบอบปิตาธิปไตยไม่เพียงจะสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้หญิงเท่านั้น แม้แต่กับกลุ่มเพศทางเลือกหรือ “LGBTQ+” ก็ต้องเซ๋นสังเวยและทนทุกข์ทรมานจากระบอบคิดที่ว่านี้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย เพื่อฉายภาพวิบากกรรมที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งต้องเผชิญเพียงเพราะเลือกเพศสภาพต่างไปจากสังคมกระแสหลักเช่นนี้ เราก็อาจพินิจพิจารณาได้จากตัวอย่างชีวิตของ “เทียน” พระเอกหนุ่มคุณชายใหญ่แห่งกลุ่มทุนจีนธุรกิจ “ตระกูลซ่ง” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “คุณชาย” เปิดเรื่องมา ละครได้แนะนำให้รู้จักกับตระกูลซ่ง ซึ่งเป็นตระกูลคนจีนที่มีอิทธิพลในสยามประเทศช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ด้วยความที่เป็นผู้นำตระกูลใหญ่ “เจ้าสัวซ่ง” จึงถูกวางตัวให้เป็นประมุขของ “สมาคมห้ามังกร” และตำแหน่งนี้ก็จะผ่องถ่ายมาที่เทียนบุตรชายคนโตของเจ้าสัวซ่งในเวลาต่อมา แต่ทว่า ปมสำคัญที่ถูกผูกไว้เป็นคุณค่าหลักที่ตัวละครต่างยึดมั่นก็คือ อคติที่มีต่อ “ต้วนซิ่ว” หรือความรังเกียจต่อกลุ่มชายรักชาย ซึ่งแสดงให้เห็นตั้งแต่ฉากเริ่มต้นเรื่อง เมื่อ “เจ้าสัวจาง” หนึ่งในผู้นำตระกูลซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมห้ามังกร ได้ตัดสินใจจบชีวิตตนเองเพราะถูกจับได้ว่าเป็นต้วนซิ่ว เจ้าสัวซ่งและพี่น้องคนอื่นจึงพากันกีดกันเขาจากความเป็นสมาชิกสมาคม แต่ก่อนที่จะตายนั้น เขาได้กล่าวกับเจ้าสัวซ่งว่า “ถึงแม้อั๊วจะเป็นต้วนซิ่ว อั๊วก็มีเกียรติมีศักดิ์ศรี…สักวันอั๊วขอให้พี่ใหญ่รับรู้ความเจ็บปวดที่อั๊วมี” ฉากการฆ่าตัวตายของเจ้าสัวจาง เป็นรอยประทับที่สร้างบาดแผลให้กับสมาชิกตระกูลซ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียนมีทีท่าจะเป็นต้วนซิ่วเช่นกัน ทำให้ “อาลี่” หรือที่ทุกคนเรียกว่า “นายแม่” มารดาของเทียน และ “อาเจีย” สาวใช้คนสนิทของนายแม่ที่รู้ความลับนี้ ต้องคอยปกปิดมิให้ใครล่วงรู้ ตั้งแต่ที่เทียนยังเด็กจนเขาโตพอจะรับตำแหน่งหัวหน้าสมาคมห้ามังกรสืบต่อจากเจ้าสัวซ่ง เรื่องราวหลังจากนั้นไม่นานนัก เทียนก็ได้ตกหลุมรัก “จิว” ผู้ชายธรรมดาที่ขายน้ำตาลปั้นยังชีพเลี้ยงน้องๆ สองคน แต่อีกด้านหนึ่ง จิวก็คือนักฆ่าฟรีแลนซ์รับจ้างให้กับ “เจ้าสัวหม่า” อีกหนึ่งในสมาชิกสมาคมห้ามังกรผู้หวังขึ้นมาช่วงชิงตำแหน่งหัวหน้าสมาคมไปจากคนในตระกูลซ่ง เมื่อมีอำนาจและผลประโยชน์ของตระกูลซ่งเป็นเดิมพัน อีกทั้งเมื่อมีความลับเรื่องต้วนซิ่วที่อาจทำให้สถานะนำของเทียนสั่นคลอน นายแม่จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อมิให้อนาคตของประมุขสมาคมหลุดไปอยู่ในมือของ “หยาง” ผู้เป็นลูกชายของ “จันทร์” เมียรอง และเป็นน้องชายต่างมารดาของเทียน พร้อมๆ กับที่เราได้เห็นภาพสมรภูมิแห่งบ้านตระกูลซ่งที่ลุกเป็นไฟ เพียงเพื่อรักษาความลับในเพศวิถีของเทียน แต่เพราะสรรพกำลังใดๆ ก็ไม่มีอยู่ในมือ หนทางเดียวที่นายแม่จะปกป้องความลับของบุตรชายได้ก็คือ การใช้ “ความรู้” เป็นอำนาจ ดังนั้น “เห็ดดูดเลือด” อันเป็นวิชาลับของการเพาะเห็ดพิษที่เติบโตบนตัวแมลงทับ ก่อนจะสกัดมาเป็นผง “ว่านแมลงทับ” จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ปลิดชีวิตทุกคนที่ก้าวล่วงมารับรู้ความลับของคุณชายเทียน แม้จะตระหนักว่า “ความลับไม่เคยมีในโลก” แต่เมื่อนายแม่ได้เริ่มต้นใช้ว่านแมลงทับฆ่าเหยื่อรายแรกอย่าง “ตง” คนงานที่บังเอิญมารู้ความลับเรื่องต้วนซิ่วของเทียน การปกปิดและรักษาความลับก็ได้นำไปสู่เหยื่อฆาตกรรมรายที่สอง…สาม…สี่…ตามมา อย่างไรก็ดี แม้ในทางกฎหมาย ความผิดฐานฆ่าคนตายอาจมีนายแม่และอาเจียเป็นผู้ต้องหาในคดีความอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ทว่าเบื้องลึกยิ่งไปกว่านั้น เหตุปัจจัยที่ทำให้หลายชีวิตต้องสูญเสียไปเพื่อซ่อนงำความลับเรื่องต้วนซิ่วของคุณชายใหญ่ตระกูลซ่ง ก็มีจำเลยหลักที่มาจากการกำหนดคุณค่าความเป็นมนุษย์ภายใต้ระบอบปิตาธิปไตยอย่างมิอาจเลี่ยงได้ด้วยเช่นกัน แน่นอนว่า ในทางหนึ่งระบอบชายเป็นใหญ่ได้กดขี่สร้างความเจ็บปวดให้กับตัวละครผู้หญิงทั้งหลาย ตั้งแต่นายแม่และจันทร์ที่ต้องลุกขึ้นมาต่อกรห้ำหั่นกันเพียงเพื่อหาหลักประกันอันมั่นคงให้กับสถานะในบ้านของพวกเธอเอง หรือเมียบ่าวอย่าง “บัว” ที่เพราะเป็นหมัน จึงถูกกดทับคุณค่าจนต้องระเห็จมาอยู่เรือนหลังเล็กของบ้าน หรือ “ไช่เสี่ยวถง” หญิงม่ายที่ต้องดูแลโรงน้ำชาต่อจากสามี ก็ต้องดิ้นรนให้กิจการของเธอดำเนินต่อไปได้ท่ามกลางเสียงดูหมิ่นดูแคลนจากบรรดาเฮียๆ สมาชิกโดยตรงของสมาคมห้ามังกร แต่เพราะระบอบปิตาธิปไตยไม่เพียงกดกั้นศักยภาพของสตรีเพศเท่านั้น หากยังสร้างบาดแผลและความทุกข์ระทมให้กับชายรักชายที่อยู่ใต้ร่มระบอบดังกล่าวด้วยเช่นกัน ไม่ต่างจากภาพวัยเด็กของเทียนที่ถูกนายแม่เฆี่ยนตีเพียงเพราะเขาแต่งตัวเลียนแบบนางเอกงิ้วที่ชื่นชอบ หรือภาพของเขาในวัยหนุ่มที่นายแม่พยายามจับคลุมถุงชนด้วยหวังจะให้แปรเปลี่ยนรสนิยมทางเพศ ไปจนถึงภาพความรักอันเจ็บปวดและต้องซ่อนเร้นของเขากับจิวที่ทุกคนพากันกีดขวางและประทับตราว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ผิดปกติ จากอัตวินิบาตกรรมของเจ้าสัวจาง จนถึงเรื่องราวรักต้องห้ามของเทียนกับจิว ทั้งหมดล้วนตั้งอยู่บนจารีตประเพณีที่ว่า เฉพาะเพศวิถีแห่งรักต่างเพศเท่านั้นที่จะสืบต่อระบอบปิตาธิปไตยให้จีรังยั่งยืน ดังนั้นมูลเหตุที่เจ้าสัวซ่งกังวลต่อคำครหาที่ว่าเลี้ยงลูกชายอย่างไรให้เป็นต้วนซิ่ว และไม่เหมาะสมที่จะขึ้นครองบัลลังก์สมาคมห้ามังกรได้ แท้จริงก็เป็นแค่การกลบเกลื่อนข้อเท็จจริงที่ว่า ชายรักชายแบบต้วนซิ่วไม่อาจผลิตทายาทรุ่นถัดไปที่จะเป็นหลักประกันการสืบต่อระบบคุณค่าแบบชายเป็นใหญ่ได้ในอนาคต ทุกๆ ระบบคุณค่าของสังคม จุดเริ่มต้นก็ล้วนมาจากข้อตกลงที่ผู้คนในยุคหนึ่งสม้ยหนึ่งได้อุปโลกน์ขึ้นเพื่อตอบรับความเป็นไปแห่งยุคสมัยนั้น แต่หากข้อตกลงดังกล่าวไม่สอดรับกับยุคสมัยที่ต่างไป หรือแม้แต่สร้างความบอบช้ำบาดหมางระหว่างมนุษย์ สมาชิกในสังคมก็น่าจะเปลี่ยนแปลงข้อตกลงนั้นๆ ได้เช่นกัน หากหลายชีวิตต้องสูญเสียไปเพื่อรักษาความลับเรื่องเพศสภาพของเทียน และหากความลับเรื่องต้วนซิ่วก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความดีเลวของมนุษย์แต่อย่างใด บางทีคำสารภาพของพระเอกหนุ่มในฉากขึ้นรับตำแหน่งหัวหน้าสมาคมห้ามังกร จึงเป็นประหนึ่งเสียงจากกลุ่มเพศทางเลือกในสังคมปิตาธิปไตยที่ว่า “ผมไม่เคยต้องการความเห็นใจ หรือต้องการความเข้าใจจากทุกคนเลย ผมแค่อยากเป็นตัวของตัวเอง ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ผมเลือก โดยที่ทุกคนให้เกียรติผม ไม่ต้องมาก ไม่ต้องน้อย แค่เท่าเทียมกับที่คนควรจะได้รับ”
กล่าวกันว่า ผู้หญิงเป็นประหนึ่ง “เหรียญที่มีสองด้าน” ที่ไม่เพียง “การสร้างสรรค์” โลกด้วยความรัก แต่ยังมีพลังแห่ง “การทำลายล้าง” ให้ทุกสิ่งอย่างราพณาสูรได้ ตามตำนานความเชื่อของฮินดูนั้น พระอุมาเทวีชายาแห่งพระศิวะคือตัวแทนของเทพสตรีผู้ปกปักรักษา เป็นมหาเทวีแห่งความรักและคุณธรรมความดีงาม แต่ในอีกปางหนึ่งของพระอุมาเทวีก็คือ พระแม่กาลี ผู้มีพลังทำลายล้างความชั่วร้ายทั้งมวล ดังภาพเคารพที่เรามักเห็นพระแม่กาลีมีร่างอันดูดุดันน่าเกลียดน่ากลัว ถืออาวุธตัดศีรษะประหัตประหารอสูรร้าย เพื่อปกป้องทวยเทพและสามโลกให้รอดพ้นพิบัติภัย เพื่อขานรับกับวิธีคิดว่าด้วย “เหรียญสองด้าน” ของอิสตรีดังกล่าว ละครโทรทัศน์แนวดรามาที่ผูกปมฆาตกรรมความตายอย่าง “สาปซ่อนรัก” ก็ดูจะเป็นตัวอย่างของการฉายภาพพลังสองด้านของผู้หญิง ภายใต้สายสัมพันธ์ของความเป็นแม่ ละครจำลองภาพของตระกูล “ยินดีพงษ์ปรีชา” กลุ่มนายทุนไทยเชื้อสายจีน เจ้าของธุรกิจ “ตลาดยินดี” ที่มั่งคั่งร่ำรวย และแม้จะเป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ แต่คำสาปซึ่งสลักฝังเอาไว้ตั้งแต่ต้นตระกูลยินดีพงษ์ปรีชาที่เล่าขานต่อกันมาแบบไม่รู้ที่มาที่ไปก็คือ คำสาปแช่งให้ตระกูลใหญ่นี้จะเหลือไว้เพียงผู้หญิงและแม่ม่าย ซึ่งจะขึ้นครองอำนาจและขัดแย้งช่วงชิงผลประโยชน์ที่สั่งสมสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยเหตุนี้ ฉากเปิดเรื่องของละครจึงสำทับคำสาปแช่งดังกล่าว เมื่อ “เจ้าสัวพธู” บุตรชายคนสุดท้ายของตระกูลได้ตกตึกลงมาเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ตระกูลยินดีพงษ์ปรีชาเหลือเพียงลูกสะใภ้และบรรดาลูกสาว อันนำไปสู่ศึกสงครามของเหล่าสตรีผู้ห้ำหั่นแย่งชิงสมบัติอันมหาศาลกันชนิดไม่มีใครยอมใคร ในสมรภูมิดังกล่าว ตัวละครหญิงที่เป็นคู่ชกแบบซูเปอร์เฮฟวีเวทสองฝั่งก็คือ “หงษ์” สะใภ้ผู้เป็นภรรยาของเจ้าสัวพธูที่ปรารถนาจะอยู่ “เหนือมังกร” และหวังรวบอำนาจของตระกูลมาอยู่ใต้อุ้งหัตถ์ของเธอ กับ “ภัทรา” บุตรีคนโตที่ไม่เพียงจะลงเล่นสนามการเมืองใหญ่ระดับประเทศ แต่ยังเข้ามาช่วงชิงอำนาจในระบบกงสีของตลาดยินดีที่ตระกูลของเธอบุกเบิกมาตั้งแต่แรกเริ่ม ในฝั่งของหงษ์นั้น ไม่เพียงแต่เธอจะอ้างสิทธิ์ที่สถาปนาตนขึ้นเป็นประมุขของบ้าน ในฐานะสะใภ้ผู้ก่อร่างสร้างอาณาจักรตลาดยินดีมาจนเติบใหญ่รุ่งเรืองเท่านั้น ในอีกด้านหนึ่ง แรงผลักที่ทำให้หงษ์ต้องลงมาเล่นเกมช่วงชิงอำนาจก็คือ “หนูหนิง” ลูกสาวบุญธรรมของเจ้าสัวพธูกับหงษ์ซึ่งเธอรักเยี่ยงลูก ที่ภายหลังละครเองก็เฉลยว่าหนูหนิงเป็นหลานแท้ๆ ที่หงษ์วางแผน “ย้อมแมว” มาเป็นหมากตัวหนึ่งในเกมนี้ ส่วนในฟากของภัทรา ผู้ที่สร้างบารมีจากการเล่นการเมืองท้องถิ่น นอกจากจะถือคติว่าสมบัติของตระกูลต้องเป็นของคนในสายเลือดเดียวกันเท่านั้น ภัทรายังมีดีลสำคัญก็คือ บุตรชายเพลย์บอยเซียนพนันอย่าง “เทียน” ที่เธอคาดหวังจะผลักดันให้เข้ามาท้าประลองช่วงชิงมรดกตระกูลจากหงษ์กับหนูหนิง นอกจากคู่ชกหลักอย่างหงษ์กับภัทราแล้ว สมรภูมิของตระกูลยินดีพงษ์ปรีชาก็ยังมีแนวรบย่อยๆ ของเหล่าตัวละครหญิงอีกหลายนาง ตั้งแต่ “เจิน” ซ้อใหญ่ที่เอาแต่สปอยล์ตามใจ “พริ้ง” บุตรสาวหนึ่งเดียวของเธอ ตามด้วย “พิศ” บุตรีคนรองจากภัทราที่แก้เคล็ดคำสาปตระกูลด้วยการเปลี่ยนเพศสภาพของบุตรชาย “แคท” ให้มีจิตใจเป็นหญิง ไล่เรียงไปจนถึง “ภา” กับ “เพลิน” บุตรสาวสุดท้องสองนางที่วันๆ ไม่ทำอะไรเป็นโล้เป็นพาย แต่ก็ขันอาสามาช่วงชิงความเป็นใหญ่ในตระกูล และแล้วจุดปะทุแห่งความขัดแย้งครั้งใหญ่ก็เริ่มต้นขึ้นในวันเปิดพินัยกรรม เพราะเจ้าสัวพธูได้เขียนพินัยกรรมไว้สองฉบับ โดยฉบับใหม่ได้เผยความจริงว่า “ซัน” นักกฎหมายพระเอกหนุ่มที่ทุกคนต่างคิดว่าเป็นเพียงเด็กในบ้านลูกชายของ “ศักดิ์” คนขับรถ แต่แท้จริงกลับเป็นบุตรชายที่เกิดกับภรรยาอีกคนของเจ้าสัวพธู และมีสิทธิ์ในกองมรดกของตระกูลด้วยเช่นกัน เมื่อตัวหารเพิ่มขึ้น ส่วนแบ่งในกองมรดกก็ลดน้อยลง แต่เพราะอำนาจไม่เคยเข้าใครออกใคร และสิงสู่ให้ทุกคนเขาไปในวังวนของผลประโยชน์ดังกล่าว ดังนั้น ฆาตกรรมและความตายของตัวละครคนแล้วคนเล่าที่โรยร่วงเป็นใบไม้ปลิดปลิว ก็คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ชมได้ลุ้นตลอดเวลาว่า “ใครกันจะเป็นรายต่อไป” ตามเส้นเรื่องหลักของละครเหมือนจะชวนตั้งคำถามว่า ระหว่าง “คำสาป” กับ “กิเลสแห่งรักโลภโกรธหลง” อันใดกันแน่ที่ทำให้สมาชิกของตระกูลยินดีพงษ์ปรีชาเข่นฆ่ากันตายเป็นใบไม้ร่วงเช่นนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน เพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชนชั้นนำของตระกูล เราก็ยังได้เห็นตัวละครเล็กๆ อย่างบรรดาพ่อค้าแม่ขายในตลาดยินดี ที่เลือกสมาทานเป็นลิ่วล้อลูกไล่รับใช้กลุ่มก๊วนย่อยๆ ของชนชั้นนำกันอย่างออกหน้าออกตา ภาพของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องมีสังกัดไม่ต่างจาก “กบเลือกนาย” เหมือนจะสะท้อนข้อเท็จจริงว่า เพราะสงครามของชนชั้นนำมีผลกระทบต่อชนชั้นที่อยู่ฐานรากเสมอ ดังนั้น การเข้าสวามิภักดิ์ต่ออำนาจของใครสักคนในระดับบน ก็น่าจะเป็นหลักประกันความอยู่รอดให้กับคนกลุ่มนี้ ไขว้ขนานไปกับสงครามห้ำหั่นที่มีมรดกมหาศาลเป็นหมุดหมายนั้น ละครได้ย้อนกลับไปสาธิตให้เห็น “เหรียญสองด้าน” ของอิสตรี ทั้งนี้ เหตุผลของหงษ์ที่แม้จะเป็นสะใภ้แต่งเข้าบ้าน แต่ก็พร้อมจะ “ระเบิดพลีชีพ” สู้ตายในศึกครั้งนี้ ก็เพราะเธอผูกใจเจ็บด้วยคิดว่าภัทราคือคนที่ฆ่าลูกชายเธอให้จมน้ำตาย เธอจึงมอบความรักและสร้างหนูหนิงขึ้นมาเป็น “สงครามตัวแทน” ให้กับบุตรชายที่เสียชีวิตไป และเพราะความเป็นแม่มีทั้งด้าน “สร้างสรรค์” และ “ทำลายล้าง” นี่เอง ฉากที่หงษ์ดูแลห่วงใยหนูหนิงก็สะท้อนพลังความรักของแม่ที่จะมอบให้ลูกจนหมดหัวใจ และในทางกลับกัน ก็พร้อมจะล้างบางทุกคนที่ขัดขวางความสุขและการขึ้นเป็นประมุขของบ้านที่หนูหนิงพึงได้รับ แม้ว่าจะต้องสูญเสียกี่ชีวิตต่อชีวิตก็ตาม ไม่ต่างจากภัทราเองที่เมื่อต้องสูญเสียเทียนผู้เป็นบุตรชาย เพราะเล่ห์ลวงของหงษ์ที่ตอกย้ำคำสาปดั้งเดิมของตระกูลยินดีพงษ์ปรีชา ภัทราจึงเปิดศึก “ทั้งรักทั้งแค้นแน่นอุรา” กับหงษ์และหนูหนิง โดยไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดีแต่อย่างใด ก่อนที่ฉากจบจะมีสมาชิกตระกูลเหลือรอดจากสงครามผลประโยชน์เพียงไม่กี่คน ใน “เหรียญสองด้าน” ของความเป็นสตรีเพศนั้น ถ้าเราจะย้อนมองกลับไปสู่ความเชื่อดั้งเดิมเรื่องพระอุมาเทวีที่มีสองด้านของการสร้างสรรค์และทำลายล้างแล้ว เหตุปัจจัยที่พระนางเป็นเยี่ยงนั้นก็เพื่อปกป้องทวยเทพและสรรพชีวิตให้พ้นพิบัติภัย แต่มาในโลกของศึกสายเลือดที่มีเดิมพันเป็นมรดกอันมหาศาลของตลาดยินดีด้วยแล้ว ความรักความแค้นและการเข่นฆ่าตามคำสาปของตระกูลดูจะสืบเนื่องมาแต่อำนาจและผลประโยชน์ส่วนตนหรือกลุ่มก้อนมากกว่ากระมัง ตราบใดที่ผลประโยชน์ยังบดบังตาอยู่เช่นนี้ ทั้งหงษ์ ภัทรา และตัวละครหญิงในอาณาจักรยินดีพงษ์ปรีชา ก็คงต้องครวญเพลงกันต่อไปว่า “คงจะเป็นเหมือนโดนคำสาปที่สั่งให้ยังรักโลภโกรธหลง…จนตาย”
ความคิดเห็น (0)