แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค พลังงาน ไฟฟ้า
ชายคนหนึ่งรู้สึกมาโดยตลอดว่า มือถือแบบเติมเงินที่เขาใช้ มักถูกตัดเงินไม่ค่อยตรงตามการใช้งาน ในความเข้าใจของเขา โปรฯ หรือแพ็กเกจ หรือรายการส่งเสริมการขายที่เขาใช้ คิคค่าโทรนาทีละ 70 สตางค์ แต่เงินในระบบที่เขาเติมไว้มักถูกตัดออกไปเกินปริมาณการใช้งานทำให้เงินหมดลงเร็วเกินควรอย่างไม่สัมพันธ์กับการใช้งาน แต่เขาก็ไม่มีหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขารู้สึกว่าเกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพียงใด จนกระทั่งวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2565 เขาโทรออก 1 ครั้งโดยใช้เวลาคุยประมาณ 50 วินาที ก่อนการโทรครั้งนั้นเขาได้ตรวจสอบเงินคงเหลือในระบบ และพบว่ามีจำนวน 197.45 บาท แต่หลังการโทร เงินคงเหลืออยู่ที่ 196.64 บาท ซึ่งเขาได้เก็บภาพหน้าจอยอดเงินคงเหลือทั้งสองช่วงนั้นไว้เป็นหลักฐาน รวมถึงบันทึกประวัติการโทรรายการดังกล่าว ด้วยหลักฐานเหล่านี้ เขาจึงร้องเรียนเข้ามายัง กสทช. ข้อเรียกร้องของเขาคือ ต้องการให้บริษัทผู้ให้บริการคืนเงินที่เก็บไปเกิน และมีหนังสือชี้แจงรายละเอียด พร้อมทั้งขอให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย คือตรวจสอบว่ามีการทำผิดหรือไม่ หากผิดก็ขอให้ลงโทษด้วย น้ำเสียงของการร้องเรียนกรณีนี้จึงผสมผสานทั้งการพิทักษ์สิทธิประโยชน์ส่วนตนกับการธำรงความเป็นธรรมและความถูกต้อง สำหรับข้อมูลที่ทางบริษัทชี้แจงมา บ่งบอกให้รู้ว่า โปรฯ ที่ผู้ร้องใช้คือนาทีละ 75 สตางค์ โดยยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นจำนวนที่เรียกเก็บจึงเป็นอัตราที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ข้อชี้แจงของบริษัทถือว่าฟังขึ้นและมีความกระจ่างในทางหลักการเหตุผล ดูเผิน ๆ แล้ว เรื่องร้องเรียนนี้จึงสมควรที่จะยุติลงได้ ถ้าหากว่าจะไม่มีปีศาจอยู่ในรายละเอียด กล่าวคือ เมื่อนำยอด 197.45 เป็นตัวตั้ง ลบด้วย 196.64 เท่ากับว่าราคาที่บริษัทเก็บในการโทร 1 นาทีนั้นคือ 81 สตางค์ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ vat ที่เก็บไปจึงอยู่ที่ 6 สตางค์ แต่ด้วยอัตรา vat ของไทย 7% เมื่อคิดเทียบกับต้นเงิน 75 สตางค์แล้ว vat ต้องอยู่ที่ 5.25 สตางค์ ราคาของการโทรรายการนี้รวม vat จึงอยู่ที่ 80.25 สตางค์ หรือถ้าไม่ต้องการให้มีเศษ ก็ควรเก็บที่ 80 สตางค์เท่านั้น เนื่องจากหลักการปัดเศษทางภาษีใช้หลักเดียวกับคณิตศาสตร์ทั่วไป นั่นคือถ้าน้อยกว่า 5 ต้องปัดลง เนื่องจากผู้ร้องเรียนสำคัญผิดว่า ตนเองใช้โปรฯ นาทีละ 70 สตางค์ อีกทั้งยังคิดเลขผิด จึงนิยามปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเป็นการเรียกเก็บค่าบริการเกินกว่าแพ็กเกจหรือสัญญา แต่ผลการตรวจสอบทำให้พบว่า ปัญหาของกรณีนี้เป็นเรื่องการปัดเศษภาษีโดยไม่ถูกต้อง แม้ความไม่ถูกต้องที่ว่าจะทำให้ผลลัพธ์ในเชิงตัวเงินก่อให้เกิดส่วนต่างเพียงไม่ถึง 1 สตางค์ แต่กรณีนี้กลับสะท้อนประเด็นปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า การปัดเศษเช่นนี้ดูจะเป็นแนวปฏิบัติปกติของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มิติที่เป็นที่รู้กันมาก่อนหน้าแล้วก็คือ การปัดเศษเรื่องเวลาการโทร และที่จริงแล้วก็มีการปัดเศษในเรื่องปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตด้วย โดยอุตสาหกรรมนี้เลือกปัดเศษในทิศทางปัดขึ้นเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นยังไม่ใช่การปัดในระดับยอดรวม แต่ปัดเศษในทุก ๆ ครั้งของการโทรเลยทีเดียว ในเรื่องของการปัดเศษเวลาการโทร ทั้งๆ ที่เมื่อหลายปีก่อน มีกระแสการรณรงค์เรื่องการคิดค่าโทรหรือค่าใช้บริการโทรคมนาคมโดยรวม “ตามจริง” ในความหมายที่ว่า ใช้เท่าไรก็คิดเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมและ กสทช. กลับอธิบายเรื่องนี้ไปในแนวทางที่ว่า เป็นเรื่องของการจัดโปรฯ หรือแพ็กเกจ ซึ่งโปรฯ แบบนาทีทำให้คิดอัตราค่าบริการต่ำได้ และการมีโปรฯ ทั้งแบบนาทีและวินาที ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น จนปัจจุบันการคิดค่าบริการแบบปัดเศษจึงยังคงเป็นแนวปฏิบัติปกติเพียงแต่ในตลาดเพิ่มการมีโปรฯ หรือแพ็กเกจแบบคิดค่าบริการเป็นวินาทีให้เลือกใช้ด้วย กลับมาในกรณีการปัดเศษ vat เป็นที่ชัดเจนว่า กรณีที่เกิดขึ้นก็เป็นการปัดเศษลักษณะรายครั้งเช่นเดียวกัน ส่วนต่างระดับเศษเสี้ยวของสตางค์ที่แสนเล็กน้อยนี้ แท้แล้วจึงไม่เล็กน้อยเลยเมื่อคิดเป็นยอดในเชิงสะสมที่ผู้บริโภคแต่ละคนต้องจ่ายและยิ่งเป็นจำนวนมากมายมหาศาลอย่างยิ่งสำหรับในมุมของผู้รับ ในเมื่อจำนวนผู้ใช้บริการมือถือในประเทศนี้มีมากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศเสียด้วยซ้ำ 0.75 สตางค์ต่อการโทร 1 ครั้ง สมมติโทรเพียงวันละสองครั้ง ส่วนต่างก็จะกลายเป็น 1.5 สตางค์ต่อวัน และกลายเป็นปีละกว่า 5 บาท หากคูณด้วยจำนวนคนเพียง 10 ล้านคน เงินส่วนต่างที่เริ่มจากเสี้ยวสตางค์ก็จะเป็นจำนวนมากถึงปีละ 50 ล้านบาท กรณีนี้คืออีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพลังของเรื่องร้องเรียน โดยที่การลงแรงของผู้บริโภคที่ละเอียดละออคนหนึ่ง ทำให้ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นได้ถูกสะท้อนออกมา
ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ข่าวธนาคารในฝั่งตะวันตกล้ม ทั้ง Silicon Valley Bank หรือ SVB กับ Signature Bank ในสหรัฐฯ และธนาคาร Credit Suisse ในฟากยุโรป สร้างความปั่นป่วนรวนเรในตลาดหุ้น ดาวน์โจนส์ร่วม หุ้นไทยก็ร่วงไปเกือบร้อยจุด แล้วค่อยๆ ฟื้นกลับแบบแกว่งๆ จังหวะที่หุ้นตก บรรดารายย่อยในไทยก็แห่กันเข้าซื้อ อันนี้บอกไม่ได้ว่าซื้อไปทำอะไร หมายความว่าบอกไม่ได้ว่าซื้อหุ้นดีราคาถูกหรือซื้อเพื่อเก็งกำไร แต่ดูจะเข้าตำราที่ว่าให้ทำตรงกันข้ามกับอารมณ์ตลาดในเวลานั้น ได้ผลแค่ไหนก็ขึ้นกับประสบการณ์การลงทุนของแต่ละคน มันเป็นจังหวะที่ทั้งสายเทรด สายคุณค่า และสายลูกผสมมองเห็นโอกาสนั่นแหละ เรื่องนี้ยืนยันได้อย่างหนึ่งว่านักออม นักลงทุน ไม่ว่าจะรายใหญ่ รายย่อย รายย่อยมาก จะสายไหนๆ การติดตามข่าวสารเป็นสิ่งที่ควรทำ จะนั่งเฝ้าหน้าจอแบบนักข่าวเศรษฐกิจหรือตามห่างๆ อย่างห่วงๆ ขึ้นอยู่กับวิธีที่คุณลงทุน และอีกเรื่องคือการบริหารกระแสเงินสด จะน่าเสียดายแค่ไหนถ้าโอกาสมาถึง แต่ไม่มีเงินไว้ไขว่คว้าโอกาส หลายครั้งหลายหนที่โลกและไทยเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ แล้วก็มีคนล้มละลายและเป็นเศรษฐีจากวิกฤต วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2550 สร้างเศรษฐีมาแล้ว ถ้าคุณติดตามข่าวแต่ไม่มีกระแสเงินสด คุณก็คว้าโอกาสได้ยาก (อย่ากู้เงินคนอื่นมาลงทุน) ถ้าคุณมีกระแสเงินสด แต่ไม่สนใจจะรับรู้หาข้อมูลข่าวสาร คุณก็อาจเจ็บตัวหรือไม่สามารถได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจากวิกฤต ยกตัวอย่าง เวลาเกิดวิกฤตมักเริ่มจากข่าวไม่ใหญ่มากก่อนจะลุกลามออกไป คุณมีเงินสด แต่คุณไม่รู้ว่าวิกฤตใหญ่แค่ไหน วิกฤตจริงหรือเปล่า หรือจะมีวิกฤตกว่าหรือไม่ มันจะทำให้จังหวะที่คุณเข้าผิดพลาด เอาง่ายๆ พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นข่าวโด่งดัง คุณรีบเข้า กะว่าได้หุ้นดีราคาถูกแน่ แต่แล้วก็พบว่านี่ยังไม่ใช่จุดหนักสุดของวิกฤต คุณควรได้หุ้นดีราคาถูกกว่านั้น แต่ไม่ได้ เขาถึงต้องดูจังหวะและแบ่งไม้ไงล่ะ แบ่งไม้คืออะไร มันคือการที่คุณไม่ใช่เงินสดในมือซื้อหุ้นที่ต้องการแบบทีเดียวหมดหน้าตัก เพราะคุณไม่มีทางคาดเดาตลาดได้ ถ้ามันลงไปอีก คุณก็ยังมีเงินสดเหลืออยู่ให้เข้าซื้อเพื่อมาถัวเฉลี่ยต้นทุนการซื้อหุ้นรอบก่อน ประมาณนั้น ฟังดูง่าย แต่ทำยาก ต้องใช้ประสบการณ์ ใครยังทำไม่ได้ก็ซื้อกองทุนแล้วกัน ยิ่งถ้าทำ DCA ก็ไม่ต้องรอจังหวะ แค่ต้องอาศัยความอดทนและวินัย แต่ถึงที่สุดก็ยังต้องใส่ใจกับข่าวสารและกระแสเงินสดอยู่ดี
ทุกวันนี้ เลขหมายหรือเบอร์โทรศัพท์ยิ่งมีความหมายและความสำคัญกับหลายๆ คนยิ่งขึ้น จากผลของการที่ธุรกรรมต่างๆ สามารถทำผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกรรมทางการเงิน การสูญเสียเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้เป็นประจำจึงไม่เพียงส่งผลกระทบเรื่องการสื่อสารทั่วๆ ไป แต่อาจส่งผลต่อชีวิตได้ในหลายๆ ด้าน เมื่อผู้ใช้บริการคนหนึ่งสูญเสียเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 ไป ความปรารถนาที่จะได้รับเบอร์เดิมคืนจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก และเมื่อได้อ่านจดหมายที่คนผู้นั้นร้องเรียนมายัง กสทช. ก็จะตระหนักได้ว่า เรื่องนี้ถึงขั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจก่อให้เกิดความทุกข์แก่เจ้าตัวเลยทีเดียว “หมายเลขดังกล่าวได้มีการทำธุรกรรมด้านการเงิน ระบบการรักษาพยาบาล และเกี่ยวกับเอกสารอื่นๆ ที่มีความสำคัญ ประกอบกับดิฉันสูงอายุ (84 ปี) มีปัญหาด้านสุขภาพ ไม่สามารถเดินทางไปติดต่อสถานที่ต่างๆ” ตอนหนึ่งของจดหมายซึ่งเขียนด้วยลายมือหวัดแต่เป็นระเบียบ ระบุเอาไว้ เบอร์ที่สูญเสียนั้นใช้บริการในระบบเติมเงินล่วงหน้า เนื่องจากไม่ได้เติมเงินเข้าระบบเป็นเวลานาน วันใช้งานจึงหมด โดยบริษัทผู้ให้บริการชี้แจงว่า การตัดบริการนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ส่วนที่ผู้ร้องเรียนแจ้งคือ ใช้บริการไม่ได้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ประเด็นเรื่องนี้จึงนับว่าสอดคล้องกัน ในเบื้องต้นผู้ร้องเรียนแจ้งเรื่องไปทางบริษัทก่อน แต่ได้รับคำตอบว่า หากต้องการเบอร์เดิม ต้องติดต่อภายใน 45 วัน หากเลยเวลาไปแล้ว เลขหมายจะถูกคืนเข้าระบบ กสทช. นั่นเป็นเหตุให้คุณยายลงแรงเขียนจดหมายเข้ามาขอ “ความกรุณา กสทช.” ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน จากการตรวจสอบพบว่า ประเด็นเรื่องเลขหมายดังกล่าวถูกคืนเข้าระบบ กสทช. แล้วนั้นไม่เป็นความจริง ส่วนเรื่อง 45 วันถือเป็นกรอบเวลาสำคัญจริง เนื่องจากตามกติกาที่ กสทช. กำหนด เลขหมายที่ยกเลิกการใช้แล้วจะต้องมีการกักเก็บไว้ 45 วัน ก่อนที่จะนำไปหมุนเวียนให้บริการต่อ เหตุผลก็เพื่อเป็นการทอดเวลาสำหรับการผลัดเปลี่ยน ผู้ใช้บริการที่ได้เบอร์ใหม่ซึ่งเป็นเบอร์เดิมของคนอื่นไปจะได้ไม่ถูกรบกวนโดยญาติมิตรของผู้ใช้คนเดิมหนักหน่วงนัก หลังพ้นเวลา 45 วัน จึงเป็นไปได้ที่เบอร์นั้นจะถูกนำไปขายในตลาดแล้วหรือกระทั่งกลายเป็นเบอร์ที่มีคนใหม่ครอบครองและนำไปใช้แล้ว กรณีเกิดการสูญเสียเบอร์และต้องการขอคืน หากดำเนินการหลังจาก 45 วัน จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ตามประสงค์ เพราะการเรียกคืนย่อมจะกระทบสิทธิของผู้อื่นด้วย ดังนั้น ถึงแม้ว่าการขอคืนภายในกรอบเวลา จะไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะได้รับเบอร์คืนเสมอไป เนื่องจากตามกติกาไม่ได้กำหนดในเรื่องนี้ไว้ จึงค่อนข้างจะขึ้นกับดุลพินิจของบริษัทที่ให้บริการ (ซึ่งนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีประเด็นต้องพิจารณาหลากมิติ ไม่ใช่เรื่องที่จะขีดเส้นชัดๆ ได้ง่ายนัก) แต่การรู้ตัวให้เร็วและเร่งดำเนินการติดต่อแจ้งความประสงค์ย่อมเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะได้เบอร์เดิมคืนมา อย่างไรก็ตามการขอเบอร์คืนเป็นเพียงเรื่องปลายทางมีเรื่องต้นทางที่น่าพิจารณากว่า นั่นคือการรักษาเบอร์ ตามปกติ เรื่องการยกเลิกบริการย่อมเป็นสิทธิของฝ่ายผู้ใช้บริการ มิใช่ของผู้ให้บริการ ทั้งนี้ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ก็กำหนดเป็นหลักไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามผู้ให้บริการยกเลิกการให้บริการโทรคมนาคมตามสัญญา ยกเว้นใน 5 กรณี ได้แก่ 1) ผู้ให้บริการตายหรือสิ้นสุดสภาพนิติบุคคล 2) ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าธรรมเนียมและค่าบริการเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาสองคราวติดต่อกัน 3) มีเหตุอันเชื่อได้ว่าผู้ใช้บริการมีพฤติกรรมฉ้อฉลในการใช้บริการ หรือนำไปใช้ผิดกฎหมาย หรือฝ่าฝืนข้อห้ามในสัญญา 4) ผู้ให้บริการไม่สามารถให้บริการได้โดยเหตุที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และ 5) เป็นการยกเลิกโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ส่วนใหญ่แล้วเหตุที่ทำให้ผู้ให้บริการเป็นฝ่ายยกเลิกสัญญาได้มักเป็นไปตามข้อยกเว้นข้อ 2) นั่นคือเกิดกรณีที่ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคค้างชำระค่าบริการ ซึ่งเรื่องนี้จะได้หาโอกาสกล่าวถึงต่อไป ในฐานะที่เป็นประเด็นหนึ่งที่มักทำให้เกิดข้อพิพาท อย่างไรก็ตามสำหรับระบบเติมเงิน เรื่องการยกเลิกสัญญาโดยฝ่ายผู้ให้บริการสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่านั้น เนื่องจากในตลาดมีการกำหนดสิ่งที่เรียกว่า “วันหมดอายุการใช้งาน” ซึ่งจะถูกกำหนดตามการเติมเงิน โดยที่ในการเติมเงินแต่ละครั้งจะได้ระยะเวลาการใช้งานที่แน่นอนจำนวนหนึ่ง เช่น 30 วัน ดังนั้นแม้ว่ายอดเงินที่เติมไว้จะยังคงเหลือ แต่วันใช้งานก็อาจหมดลงก่อนได้ ดังเช่นในรายของผู้ร้องเรียนวัย 84 ปีข้างต้น บริษัทที่ให้บริการชี้แจงว่า การเติมเงินครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ส่งผลให้ได้วันใช้งาน 60 วัน ดังนั้น ในที่สุดบริษัทจึงตัดบริการ นี่คือช่องว่างที่ทำให้เกิดการสูญเสียเบอร์ ซึ่งเป็นปัญหามานานแล้ว ดังนั้นตั้งแต่มกราคม 2565 กสทช. จึงได้มีมติว่า “ให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในเรื่องการรักษาเลขหมายของผู้ใช้บริการแบบชำระค่าบริการล่วงหน้า กรณีวันใช้งานหมดอายุแต่ยังมีเงินคงเหลือในระบบ ให้หักเงินในระบบเป็นค่ารักษาเลขหมายในอัตราเท่ากับค่าธรรมเนียมเลขหมายที่ กสทช. เรียกเก็บจากผู้ให้บริการ เพื่อให้ผู้ใช้บริการยังสามารถใช้เลขหมายได้ต่อไป” จนกระทั่งกว่าหนึ่งปีผ่านไป มติดังกล่าวก็ยังไม่เกิดผลในโลกความเป็นจริง ด้วยการดำเนินการที่ล่าช้าของสำนักงาน กสทช. ปัญหาซ้ำซากเรื่องการสูญเสียเบอร์ จึงยังคงเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาที่ทำให้การใช้งานโทรศัพท์มือถือของหลายคนเบาบางลง และการทำธุรกรรมหลายๆ อย่างไม่สะดวก เช่น การเติมเงิน หรือแม้แต่การร้องเรียนก็ตาม เรื่องนี้จึงสรุปได้ว่าหากสำนักงาน กสทช. ทำหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ เบอร์ของคุณยายวัย 84 ปีก็คงจะไม่ต้องหลุดมือไป
เร็วๆ นี้มีดราม่าในแวดวงตลาดหุ้น เมื่อเทรดเดอร์นาม อรรถวัติ ศิริสิทธิธงไชย หรือ บอย ท่าพระจันทร์ โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวแซะ ‘ลุง’ คนหนึ่ง ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าคือ นิเวศน์ เหมวชิรวรากรณ์ นักลงทุนสายวีไอ เรื่องมีอยู่ว่า ลุงเขียนคอลัมน์ถึงหุ้น ‘Corner แตก’ คือหุ้นที่ถูกต้อนเข้ามุม ถูกกวาดซื้อจากนักลงทุนรายใหญ่ที่ไม่ได้สนใจพื้นฐานของหุ้นตัวนั้น แล้วก็เป็นไปตามวงจรนั่นแหละ รายย่อยก็แห่ซื้อตาม หุ้นเลยวิ่งขึ้นเอาๆ ดันราคากันขึ้นไป แต่พอผลประกอบการไม่ได้ออกมาสวยหรูเหมือนราคาหุ้น มันก็ถูกเทขาย หุ้นตก รายย่อยตกใจ ก็ขายตามๆ กัน จากหุ้นพุ่งแรงกลายเป็นดิ่งแรง ไม่ต้องห่วงรายใหญ่นะ พวกนี้ฟันกำไรกันไปแล้วเพราะเข้ามาก่อน มีสำนวนในวงการว่าใครมาช้าก็ต้องจ่ายรอบวง คนก็คาดเดาจากสตอรี่กันไปว่าลุงคงหมายถึงหุ้นตระกูล J แน่ๆ ซึ่งเป็นหุ้นที่บอย ท่าพระจันทร์ ชอบเข้าไปซื้อ พอเป็นแบบนี้เขาเลยแซะกลับเบาๆ ว่าลุงคนนี้ก็ชอบทำตัวเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและเชียร์ให้คนไปลงทุนในหุ้นเวียดนาม แล้วเรื่องนี้สลักสำคัญยังไง? ไม่สลักสำคัญอะไรหรอก ก็แค่มีเกร็ดเล็กๆ สำหรับทบทวนตัวเอง หนึ่ง-ทั้งสองคนนี้มีสไตล์การลงทุนคนละแบบ พูดยากว่าสไตล์ไหนดีกว่า (ตราบใดที่ยังไม่ทำเรื่องผิดกฎหมาย) จะมีก็แต่สไตล์ที่ใช้สำหรับตัวเอง สอง-ไม่ว่าจะลงทุนสไตล์ไหนอย่าเผลอลงทุนในสิ่งที่ตนเองไม่รู้ จะเป็นหุ้นตระกูล J หรือตระกูลอะไรก็ตาม จะเป็นหุ้นเวียดนามหรือหุ้นบราซิล เอธิโอเปีย บลาๆๆ คุณจำเป็นต้องทำความเข้าใจสิ่งที่คุณจะลงทุนด้วยตัวคุณเอง สาม-อย่าลงทุนตามใคร ถ้าคุณชอบการเทรด คุณก็ต้องดูกราฟ ดู volume วิเคราะห์นั่นนี่ และหาจังหวะเข้าซื้อและหาจังหวะออกเอง เพราะเวลาคุณซื้อตามกระแส คุณไม่รู้หรอกว่าคุณตามมาเป็นคนที่เท่าไหร่ ถ้าตามมาปลายแถวแล้วอาจจะเจ็บตัวหนักมาก ถ้าคุณเป็นสายคุณค่า คุณก็ต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานของหุ้น สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ไม่ใช่เชื่อตามเซียนเพราะเซียนก็ผิดได้ ถ้าไม่มีเวลาขนาดนั้นและไม่คิดว่าจะต้องรวยรวดเร็ววันนี้พรุ่งนี้ก็ใช้กองทุนรวมเป็นเครื่องมือดีกว่า แต่ต่อให้เลือกวิธีนี้ก็ยังต้องศึกษาทำความเข้าใจอยู่ดี ไม่ใช่ดุ่มๆ ซื้อ อย่างน้อยก่อนซื้อ เขาก็ต้องให้คุณทำแบบประเมินความเสี่ยงว่ารับได้แค่ไหน ถ้าซื้อกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่คุณทำแบบประเมินได้ คุณก็ต้องยอมรับความเสี่ยงนั้นด้วยตนเอง จะไปโทษคนขายไม่ได้ นิทานเรื่องนี้ก็สอนให้รู้ว่าประมาณนี้แหละ
ความคิดเห็น (0)