แหล่งข้อมูล: สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค เบอร์โทร โทรศัพท์ มือถือ
ชายคนหนึ่งรู้สึกมาโดยตลอดว่า มือถือแบบเติมเงินที่เขาใช้ มักถูกตัดเงินไม่ค่อยตรงตามการใช้งาน ในความเข้าใจของเขา โปรฯ หรือแพ็กเกจ หรือรายการส่งเสริมการขายที่เขาใช้ คิคค่าโทรนาทีละ 70 สตางค์ แต่เงินในระบบที่เขาเติมไว้มักถูกตัดออกไปเกินปริมาณการใช้งานทำให้เงินหมดลงเร็วเกินควรอย่างไม่สัมพันธ์กับการใช้งาน แต่เขาก็ไม่มีหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขารู้สึกว่าเกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพียงใด จนกระทั่งวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2565 เขาโทรออก 1 ครั้งโดยใช้เวลาคุยประมาณ 50 วินาที ก่อนการโทรครั้งนั้นเขาได้ตรวจสอบเงินคงเหลือในระบบ และพบว่ามีจำนวน 197.45 บาท แต่หลังการโทร เงินคงเหลืออยู่ที่ 196.64 บาท ซึ่งเขาได้เก็บภาพหน้าจอยอดเงินคงเหลือทั้งสองช่วงนั้นไว้เป็นหลักฐาน รวมถึงบันทึกประวัติการโทรรายการดังกล่าว ด้วยหลักฐานเหล่านี้ เขาจึงร้องเรียนเข้ามายัง กสทช. ข้อเรียกร้องของเขาคือ ต้องการให้บริษัทผู้ให้บริการคืนเงินที่เก็บไปเกิน และมีหนังสือชี้แจงรายละเอียด พร้อมทั้งขอให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย คือตรวจสอบว่ามีการทำผิดหรือไม่ หากผิดก็ขอให้ลงโทษด้วย น้ำเสียงของการร้องเรียนกรณีนี้จึงผสมผสานทั้งการพิทักษ์สิทธิประโยชน์ส่วนตนกับการธำรงความเป็นธรรมและความถูกต้อง สำหรับข้อมูลที่ทางบริษัทชี้แจงมา บ่งบอกให้รู้ว่า โปรฯ ที่ผู้ร้องใช้คือนาทีละ 75 สตางค์ โดยยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นจำนวนที่เรียกเก็บจึงเป็นอัตราที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ข้อชี้แจงของบริษัทถือว่าฟังขึ้นและมีความกระจ่างในทางหลักการเหตุผล ดูเผิน ๆ แล้ว เรื่องร้องเรียนนี้จึงสมควรที่จะยุติลงได้ ถ้าหากว่าจะไม่มีปีศาจอยู่ในรายละเอียด กล่าวคือ เมื่อนำยอด 197.45 เป็นตัวตั้ง ลบด้วย 196.64 เท่ากับว่าราคาที่บริษัทเก็บในการโทร 1 นาทีนั้นคือ 81 สตางค์ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ vat ที่เก็บไปจึงอยู่ที่ 6 สตางค์ แต่ด้วยอัตรา vat ของไทย 7% เมื่อคิดเทียบกับต้นเงิน 75 สตางค์แล้ว vat ต้องอยู่ที่ 5.25 สตางค์ ราคาของการโทรรายการนี้รวม vat จึงอยู่ที่ 80.25 สตางค์ หรือถ้าไม่ต้องการให้มีเศษ ก็ควรเก็บที่ 80 สตางค์เท่านั้น เนื่องจากหลักการปัดเศษทางภาษีใช้หลักเดียวกับคณิตศาสตร์ทั่วไป นั่นคือถ้าน้อยกว่า 5 ต้องปัดลง เนื่องจากผู้ร้องเรียนสำคัญผิดว่า ตนเองใช้โปรฯ นาทีละ 70 สตางค์ อีกทั้งยังคิดเลขผิด จึงนิยามปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเป็นการเรียกเก็บค่าบริการเกินกว่าแพ็กเกจหรือสัญญา แต่ผลการตรวจสอบทำให้พบว่า ปัญหาของกรณีนี้เป็นเรื่องการปัดเศษภาษีโดยไม่ถูกต้อง แม้ความไม่ถูกต้องที่ว่าจะทำให้ผลลัพธ์ในเชิงตัวเงินก่อให้เกิดส่วนต่างเพียงไม่ถึง 1 สตางค์ แต่กรณีนี้กลับสะท้อนประเด็นปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า การปัดเศษเช่นนี้ดูจะเป็นแนวปฏิบัติปกติของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มิติที่เป็นที่รู้กันมาก่อนหน้าแล้วก็คือ การปัดเศษเรื่องเวลาการโทร และที่จริงแล้วก็มีการปัดเศษในเรื่องปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตด้วย โดยอุตสาหกรรมนี้เลือกปัดเศษในทิศทางปัดขึ้นเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นยังไม่ใช่การปัดในระดับยอดรวม แต่ปัดเศษในทุก ๆ ครั้งของการโทรเลยทีเดียว ในเรื่องของการปัดเศษเวลาการโทร ทั้งๆ ที่เมื่อหลายปีก่อน มีกระแสการรณรงค์เรื่องการคิดค่าโทรหรือค่าใช้บริการโทรคมนาคมโดยรวม “ตามจริง” ในความหมายที่ว่า ใช้เท่าไรก็คิดเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมและ กสทช. กลับอธิบายเรื่องนี้ไปในแนวทางที่ว่า เป็นเรื่องของการจัดโปรฯ หรือแพ็กเกจ ซึ่งโปรฯ แบบนาทีทำให้คิดอัตราค่าบริการต่ำได้ และการมีโปรฯ ทั้งแบบนาทีและวินาที ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น จนปัจจุบันการคิดค่าบริการแบบปัดเศษจึงยังคงเป็นแนวปฏิบัติปกติเพียงแต่ในตลาดเพิ่มการมีโปรฯ หรือแพ็กเกจแบบคิดค่าบริการเป็นวินาทีให้เลือกใช้ด้วย กลับมาในกรณีการปัดเศษ vat เป็นที่ชัดเจนว่า กรณีที่เกิดขึ้นก็เป็นการปัดเศษลักษณะรายครั้งเช่นเดียวกัน ส่วนต่างระดับเศษเสี้ยวของสตางค์ที่แสนเล็กน้อยนี้ แท้แล้วจึงไม่เล็กน้อยเลยเมื่อคิดเป็นยอดในเชิงสะสมที่ผู้บริโภคแต่ละคนต้องจ่ายและยิ่งเป็นจำนวนมากมายมหาศาลอย่างยิ่งสำหรับในมุมของผู้รับ ในเมื่อจำนวนผู้ใช้บริการมือถือในประเทศนี้มีมากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศเสียด้วยซ้ำ 0.75 สตางค์ต่อการโทร 1 ครั้ง สมมติโทรเพียงวันละสองครั้ง ส่วนต่างก็จะกลายเป็น 1.5 สตางค์ต่อวัน และกลายเป็นปีละกว่า 5 บาท หากคูณด้วยจำนวนคนเพียง 10 ล้านคน เงินส่วนต่างที่เริ่มจากเสี้ยวสตางค์ก็จะเป็นจำนวนมากถึงปีละ 50 ล้านบาท กรณีนี้คืออีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพลังของเรื่องร้องเรียน โดยที่การลงแรงของผู้บริโภคที่ละเอียดละออคนหนึ่ง ทำให้ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นได้ถูกสะท้อนออกมา
ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ข่าวธนาคารในฝั่งตะวันตกล้ม ทั้ง Silicon Valley Bank หรือ SVB กับ Signature Bank ในสหรัฐฯ และธนาคาร Credit Suisse ในฟากยุโรป สร้างความปั่นป่วนรวนเรในตลาดหุ้น ดาวน์โจนส์ร่วม หุ้นไทยก็ร่วงไปเกือบร้อยจุด แล้วค่อยๆ ฟื้นกลับแบบแกว่งๆ จังหวะที่หุ้นตก บรรดารายย่อยในไทยก็แห่กันเข้าซื้อ อันนี้บอกไม่ได้ว่าซื้อไปทำอะไร หมายความว่าบอกไม่ได้ว่าซื้อหุ้นดีราคาถูกหรือซื้อเพื่อเก็งกำไร แต่ดูจะเข้าตำราที่ว่าให้ทำตรงกันข้ามกับอารมณ์ตลาดในเวลานั้น ได้ผลแค่ไหนก็ขึ้นกับประสบการณ์การลงทุนของแต่ละคน มันเป็นจังหวะที่ทั้งสายเทรด สายคุณค่า และสายลูกผสมมองเห็นโอกาสนั่นแหละ เรื่องนี้ยืนยันได้อย่างหนึ่งว่านักออม นักลงทุน ไม่ว่าจะรายใหญ่ รายย่อย รายย่อยมาก จะสายไหนๆ การติดตามข่าวสารเป็นสิ่งที่ควรทำ จะนั่งเฝ้าหน้าจอแบบนักข่าวเศรษฐกิจหรือตามห่างๆ อย่างห่วงๆ ขึ้นอยู่กับวิธีที่คุณลงทุน และอีกเรื่องคือการบริหารกระแสเงินสด จะน่าเสียดายแค่ไหนถ้าโอกาสมาถึง แต่ไม่มีเงินไว้ไขว่คว้าโอกาส หลายครั้งหลายหนที่โลกและไทยเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ แล้วก็มีคนล้มละลายและเป็นเศรษฐีจากวิกฤต วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2550 สร้างเศรษฐีมาแล้ว ถ้าคุณติดตามข่าวแต่ไม่มีกระแสเงินสด คุณก็คว้าโอกาสได้ยาก (อย่ากู้เงินคนอื่นมาลงทุน) ถ้าคุณมีกระแสเงินสด แต่ไม่สนใจจะรับรู้หาข้อมูลข่าวสาร คุณก็อาจเจ็บตัวหรือไม่สามารถได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจากวิกฤต ยกตัวอย่าง เวลาเกิดวิกฤตมักเริ่มจากข่าวไม่ใหญ่มากก่อนจะลุกลามออกไป คุณมีเงินสด แต่คุณไม่รู้ว่าวิกฤตใหญ่แค่ไหน วิกฤตจริงหรือเปล่า หรือจะมีวิกฤตกว่าหรือไม่ มันจะทำให้จังหวะที่คุณเข้าผิดพลาด เอาง่ายๆ พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นข่าวโด่งดัง คุณรีบเข้า กะว่าได้หุ้นดีราคาถูกแน่ แต่แล้วก็พบว่านี่ยังไม่ใช่จุดหนักสุดของวิกฤต คุณควรได้หุ้นดีราคาถูกกว่านั้น แต่ไม่ได้ เขาถึงต้องดูจังหวะและแบ่งไม้ไงล่ะ แบ่งไม้คืออะไร มันคือการที่คุณไม่ใช่เงินสดในมือซื้อหุ้นที่ต้องการแบบทีเดียวหมดหน้าตัก เพราะคุณไม่มีทางคาดเดาตลาดได้ ถ้ามันลงไปอีก คุณก็ยังมีเงินสดเหลืออยู่ให้เข้าซื้อเพื่อมาถัวเฉลี่ยต้นทุนการซื้อหุ้นรอบก่อน ประมาณนั้น ฟังดูง่าย แต่ทำยาก ต้องใช้ประสบการณ์ ใครยังทำไม่ได้ก็ซื้อกองทุนแล้วกัน ยิ่งถ้าทำ DCA ก็ไม่ต้องรอจังหวะ แค่ต้องอาศัยความอดทนและวินัย แต่ถึงที่สุดก็ยังต้องใส่ใจกับข่าวสารและกระแสเงินสดอยู่ดี
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมเสวนาออนไลน์ Just Energy Transition Talk ครั้งที่ 1 ที่ The Cloud กลุ่ม RE100 และป่าสาละ จัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนผ่านตัวแทนจากแต่ละภาคส่วน ว่า ‘ทำไมต้องเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม?’ ผมไปในฐานะตัวแทนสภาองค์กรผู้บริโภค ตั้งใจและเตรียมตัวเต็มที่เลย ผมไปบรรยายพร้อมกับสไลด์อัปเดตข้อมูลด้านพลังงานกว่า 40 หน้า ผมยกคำพูดของดร.เฮอร์มานน์ เชียร์ ผู้ที่ทำงานอย่างไม่ย่อท้อเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลก ที่ว่า “การปล่อยให้พ่อค้าพลังงานฟอสซิลเขียนนโยบายพลังงาน ก็เหมือนกับการปล่อยให้พ่อค้าบุหรี่เขียนแผนรณรงค์การไม่สูบบุหรี่” มาย้ำอีกครั้ง และเสนอภาพให้เห็นว่าการทำนโยบายพลังงานของประเทศเราหรือทุกประเทศ ล้วนถูกผูกขาดอยู่ด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แล้วก็มีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็คือพ่อค้าพลังงานฟอสซิลนั่นเอง นี่ก็คือความไม่เป็นธรรมข้อแรก ทุกวันนี้เทคโนโลยีพลังงานหลายอย่างมาบรรจบกันในทางที่ดีและราคาถูกลง ซึ่งวิศวกรกลุ่มหนึ่งของ “Institute for Local Self Reliance” (ILSR) ที่ผมติดตามมานานแล้ว เขาบอกว่าเราใช้เทคโนโลยี 5 อย่างคือ แบตเตอรี่ โทรศัพท์มือถือ โซล่าเซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และกังหันลม ที่เปรียบเหมือน 5 จอมเทพนี้ที่มาปราบระบบพลังงานแบบเก่าที่เราใช้อยู่ตอนนี้ได้เลย ตอนนี้เริ่มมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าทำได้จริง เช่น การผลิตไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีประชากร 40 ล้านคน ที่นั่นใครก็ตามที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้สามารถส่งไฟฟ้าเข้าสายส่งได้โดยไม่จำกัดจำนวน แสงอาทิตย์มาก่อนใช้ก่อน ลมมาก่อนใช้ก่อน ใช้เต็มที่ไปเลย พอไม่มีแดดแล้วก็ไปเอาไฟฟ้าจากก๊าซมา อย่างบ้านเราผมว่าไฟฟ้าจากชีวมวลเยอะมาก ทำกันดีๆ เอามาใช้ตอนหัวค่ำที่เปลี่ยนผ่านตรงนั้นก็ได้แล้ว จริงๆ รัฐทำได้ทุกอย่าง ถ้าอยากจะทำนะ หรืออย่างที่หมู่บ้าน Wildpoldsried ทางตอนใต้ของเยอรมัน มีประชากร 2,500 คน สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าที่เขาใช้ถึง 8 เท่าตัว ตอนที่ได้ 5 เท่าตัว ผมจำตัวเลขได้ว่าเขาขายไฟฟ้าได้ปีละ 4 ล้านยูโร ณ วันนี้อาจจะเป็น 6-7 ล้านยูโรแล้วก็ได้ เขาได้ผสมผสานหลายอย่าง มีกังหันลม มีโซล่าเซลล์ 190 กว่าหลัง อาคารสำนักงานข้าราชการก็ใช้โซล่าเซลล์หมด แล้วเอาเงินมาแบ่งกันตามสัดส่วน คราวนี้กลับมาดูในบ้านเรา ผมได้ยกตัวอย่างเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ผู้นำประเทศเราบอกว่ามีน้อย ไม่เสถียร กลางคืนจะเอาอะไรใช้ แต่ปรากฎมีข้อมูลสำรวจของนักวิทยาศาสตร์พบว่า พลังงานแสงอาทิตย์นั้นมีมากกว่าที่มนุษย์ทั้งโลกใช้ถึงหมื่นเท่าตัว และจากที่ผมได้เล่าไปแล้วถึงมติ ครม. 27 ก.ย. 65 (ซึ่งเป็นช่วงที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการณ์นายกรัฐมนตรี) ที่ให้ติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านโดยใช้ระบบหักลบกลบหน่วย (Net Metering) ได้ ซึ่งเป็นระบบที่ประหยุดที่สุด ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม ติดเข้าไปได้เลย แล้วแลกไฟฟ้ากันในราคาที่เท่ากัน สิ้นเดือนก็มาคิดบัญชีกัน ใครจ่ายมากจ่ายน้อยก็ว่ากันไปตามนั้น แต่มาถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในทางปฏิบัติเลย ประเทศไทยเราผลิตไฟฟ้าจากก๊าซมากที่สุดถึง 54% ถ้าเราเปลี่ยนจากก๊าซเป็นแดด จะประหยัดเงินได้ 3 แสนล้านต่อปี นี่เห็นชัด แก้จน สร้างความมั่นคงให้กับประเทศได้ทันทีเลย และทั้งๆ ที่ธรรมชาติของสายส่งไฟฟ้านั้น ไฟฟ้าสามารถเดินได้ 2 ทาง เข้าบ้านเราก็ได้ ออกจากบ้านเราได้ 2 แต่ตลอดมามันเดินทางเดียว คือจากโรงไฟฟ้ามาเข้าบ้านเราอย่างเดียว แล้วเงินของเราก็เดินทางเดียวเหมือนกัน คือจากกระเป๋าเราไปเข้ากระเป๋านายทุน เราก็เลยจนลงๆ เจ้าของโรงไฟฟ้าก็รวยเอา รวยเอาจนรวยที่สุดในประเทศไทยแล้ว ปัจจุบันไทยมีการสำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 60% แสดงว่าไฟฟ้าล้นเกิน โดยปกติประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าเขาวัดกันที่อัตราการใช้ประโยชน์ คือดูว่าใน 1 ปี มี 8,760 ชั่วโมง มีการเดินเครื่องเต็มที่คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเวลาดังกล่าว โดยปกติโรงไฟฟ้าถ่านหินกับโรงไฟฟ้าก๊าซ เขาจะใช้อัตราการใช้ประโยชน์ 90% ของเวลาเต็มศักยภาพ ที่น่าแปลกใจคือโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ได้ผลิตถึง 100% ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ได้เพียง 35% ต่ำมาก ในจำนวนนี้มี 5-6 แห่งยังไม่ได้เดินเครื่องเลย แต่ได้เงินไปในรูปของค่าความพร้อมจ่าย นี่คือสัญญาที่เป็นปัญหา สัญญาไม่เป็นธรรม เราทำสัญญายาว 25 ปี ในรูปไม่ซื้อก็ต้องจ่าย เมื่อโลกมีปัญหา เช่น โควิด-19 ประเทศมีปัญหาก้ปรับตัวไม่ได้ ทั้งๆ ที่มีรายงานวิจัยชิ้นหนึ่งขององค์กรพลังงานสากล (IEA) ที่กระทรวงพลังงานของไทยร่วมทำวิจัยอยู่ด้วย ก็เสนอไว้ชัดเจนในเรื่องให้มีความยืดหยุ่น และเพิ่มพลังงานหมุนเวียนด้วย แต่ปรากฏว่ากระทรวงพลังงานเราไม่ทำตามผลงานวิจัยที่ตัวเองไปทำ เราทำสัญญาแบบไม่ยืดหยุ่น เทคโนโลยีก็เป็นแบบที่ตายตัว ทั้งๆ ที่โลกทุกวันนี้เป็น VUCA World แล้ว มีทั้งความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และกำกวม แต่เรายังไปยึดอาของเก่า สัญญาเก่า 25 ปี เทคโนโลยีเก่า ในภาพรวมของพลังงานไทย เราชูคำขวัญ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แต่ปรากฏว่าการพึ่งตนเองด้านพลังงานของเรากลับลดลง ในปี 2554 เราเคยพึ่งตัวเองได้ 46% จากข้อมูลกระทรวงพลังงาน แต่ตอนนี้เราพึ่งตัวเองได้เพียง 24% เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงอนาคต จะยั่งยืนได้ยังไง แล้วคนจะไม่จนลงได้อย่างไง จนทั้งระดับครอบครัวและระดับประเทศ เพราะต้องซื้อทุกอย่าง ทั้ง ๆ ที่แสงอาทิตย์ไม่ต้องซื้อ แต่ว่าถูกกฎระเบียบห้ามหมด พ่อค้าพลังงานฟอสซิลมายืนบังแดดอยู่ ประเทศไทยพูดถึงความมั่นคงทางพลังงานคือ มีใช้ มีพอ ราคาถูก แต่ที่จริงแล้วยังต้องมีมิติของคาร์บอนต่ำ เรื่องประสิทธิภาพ เรื่องท้องถิ่นที่ต้องให้คนท้องถิ่นเป็นผู้ควบคุมทั้งนโยบายและรายได้ รวมถึงมิติความเป็นธรรมอื่นๆ ด้วย สรุปภาพรวมที่ผมนำเสนอในวันนั้นก็คือ เรื่องนโยบายเป็นเรื่องใหญ่เลย เรื่องแนวคิดพวกนี้ ทำยังไงให้ประชาชนเป็นผู้เขียนนโยบายพลังงาน ซึ่งผมเชื่อว่าโลกนี้ทุกอย่างมีทางออก ถ้าไม่เห็นแก่ตัว มีทางออกแน่นอน
เร็วๆ นี้มีดราม่าในแวดวงตลาดหุ้น เมื่อเทรดเดอร์นาม อรรถวัติ ศิริสิทธิธงไชย หรือ บอย ท่าพระจันทร์ โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวแซะ ‘ลุง’ คนหนึ่ง ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าคือ นิเวศน์ เหมวชิรวรากรณ์ นักลงทุนสายวีไอ เรื่องมีอยู่ว่า ลุงเขียนคอลัมน์ถึงหุ้น ‘Corner แตก’ คือหุ้นที่ถูกต้อนเข้ามุม ถูกกวาดซื้อจากนักลงทุนรายใหญ่ที่ไม่ได้สนใจพื้นฐานของหุ้นตัวนั้น แล้วก็เป็นไปตามวงจรนั่นแหละ รายย่อยก็แห่ซื้อตาม หุ้นเลยวิ่งขึ้นเอาๆ ดันราคากันขึ้นไป แต่พอผลประกอบการไม่ได้ออกมาสวยหรูเหมือนราคาหุ้น มันก็ถูกเทขาย หุ้นตก รายย่อยตกใจ ก็ขายตามๆ กัน จากหุ้นพุ่งแรงกลายเป็นดิ่งแรง ไม่ต้องห่วงรายใหญ่นะ พวกนี้ฟันกำไรกันไปแล้วเพราะเข้ามาก่อน มีสำนวนในวงการว่าใครมาช้าก็ต้องจ่ายรอบวง คนก็คาดเดาจากสตอรี่กันไปว่าลุงคงหมายถึงหุ้นตระกูล J แน่ๆ ซึ่งเป็นหุ้นที่บอย ท่าพระจันทร์ ชอบเข้าไปซื้อ พอเป็นแบบนี้เขาเลยแซะกลับเบาๆ ว่าลุงคนนี้ก็ชอบทำตัวเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและเชียร์ให้คนไปลงทุนในหุ้นเวียดนาม แล้วเรื่องนี้สลักสำคัญยังไง? ไม่สลักสำคัญอะไรหรอก ก็แค่มีเกร็ดเล็กๆ สำหรับทบทวนตัวเอง หนึ่ง-ทั้งสองคนนี้มีสไตล์การลงทุนคนละแบบ พูดยากว่าสไตล์ไหนดีกว่า (ตราบใดที่ยังไม่ทำเรื่องผิดกฎหมาย) จะมีก็แต่สไตล์ที่ใช้สำหรับตัวเอง สอง-ไม่ว่าจะลงทุนสไตล์ไหนอย่าเผลอลงทุนในสิ่งที่ตนเองไม่รู้ จะเป็นหุ้นตระกูล J หรือตระกูลอะไรก็ตาม จะเป็นหุ้นเวียดนามหรือหุ้นบราซิล เอธิโอเปีย บลาๆๆ คุณจำเป็นต้องทำความเข้าใจสิ่งที่คุณจะลงทุนด้วยตัวคุณเอง สาม-อย่าลงทุนตามใคร ถ้าคุณชอบการเทรด คุณก็ต้องดูกราฟ ดู volume วิเคราะห์นั่นนี่ และหาจังหวะเข้าซื้อและหาจังหวะออกเอง เพราะเวลาคุณซื้อตามกระแส คุณไม่รู้หรอกว่าคุณตามมาเป็นคนที่เท่าไหร่ ถ้าตามมาปลายแถวแล้วอาจจะเจ็บตัวหนักมาก ถ้าคุณเป็นสายคุณค่า คุณก็ต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานของหุ้น สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ไม่ใช่เชื่อตามเซียนเพราะเซียนก็ผิดได้ ถ้าไม่มีเวลาขนาดนั้นและไม่คิดว่าจะต้องรวยรวดเร็ววันนี้พรุ่งนี้ก็ใช้กองทุนรวมเป็นเครื่องมือดีกว่า แต่ต่อให้เลือกวิธีนี้ก็ยังต้องศึกษาทำความเข้าใจอยู่ดี ไม่ใช่ดุ่มๆ ซื้อ อย่างน้อยก่อนซื้อ เขาก็ต้องให้คุณทำแบบประเมินความเสี่ยงว่ารับได้แค่ไหน ถ้าซื้อกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่คุณทำแบบประเมินได้ คุณก็ต้องยอมรับความเสี่ยงนั้นด้วยตนเอง จะไปโทษคนขายไม่ได้ นิทานเรื่องนี้ก็สอนให้รู้ว่าประมาณนี้แหละ
ความคิดเห็น (0)