สมาชิกอ่านต่อ...
แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค มาสคารา ขนตา
ก่อนจะออกไปเที่ยวผจญแดดร้อนลมแรงที่ไหน อย่าลืมสำรวจวันหมดอายุของครีม/โลชัน/สเปรย์กันแดดที่มีอยู่ โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีอายุประมาณ 2 – 3 ปี แต่ถ้ามันถูกเก็บในบริเวณที่ร้อนมากอย่างคอนโซลหน้ารถ ความสามารถในการป้องกันยูวีอาจเสื่อมไปก่อนเวลาอันควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลิตภัณฑ์มีลักษณะเปลี่ยนไป เช่น แยกชั้น หรือจับตัวเป็นก้อน เราขอแนะนำให้คุณซื้อใหม่ ฉลาดซื้อ ฉบับนี้มีผลทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์กันแดดที่ทำขึ้นในช่วงต้นปี 2565 มาให้สมาชิกได้เลือกกันถึง 25 ผลิตภัณฑ์ (ค่า SPF30 และ SPF50+) ทั้งแบบครีม โลชัน และสเปรย์ สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ที่สามารถหาซื้อได้ในประเทศไทย แม้จะยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ได้คะแนนถึงระดับห้าดาว แต่ “ตัวท็อป” ในการทดสอบปีนี้ก็ได้คะแนนรวมไปถึง 74 คะแนน (เทียบกับ 71 คะแนนของปีที่แล้ว) ข่าวดีคือผลิตภัณฑ์ 25 ตัวนี้ไม่มีสารรบกวนฮอร์โมน หรือสารก่ออาการแพ้ Octocrylene D5 แต่การทดสอบก็ทำให้เรารู้ว่ายังมีผลิตภัณฑ์อีกไม่น้อยที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันยูวีต่ำกว่าที่แจ้งบนฉลากหรือในโฆษณา เป็นการตอกย้ำว่าราคาหรือภาพลักษณ์ไม่สามารถรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้เสมอไป
การล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธี จะช่วยป้องกันโรคระบบทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ และลดจำนวนการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงได้ถึง 50 % แล้วยังเป็นมาตรการหลักในป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย ครั้นจะใช้สบู่ก้อนแบบเดิม ๆ หลายคนก็เกรงจะเสี่ยงรับเชื้อจากการสัมผัสสบู่ก้อนร่วมกันอีก ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ “สบู่เหลวล้างมือ” ที่แม้จะมีราคาสูงกว่า แต่ตอบโจทย์ทั้งความสะอาด ใช้สะดวก และลดการสัมผัสโดยตรง ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคมากขึ้น เมื่อปี 2560 มูลค่าตลาดรวมของสบู่ประมาณ 14,032 ล้านบาท แบ่งออกเป็นกลุ่มสบู่ก้อน 9,120 ล้านบาท กลุ่มสบู่เหลว 4,912 ล้านบาท ต่อมาในปี 2563 มูลค่าตลาดรวมของสบู่เพิ่มเป็นประมาณ 16,000 กว่าล้านบาท แต่กลุ่มสบู่ก้อนกลับลดลงมาที่ 9,000 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มสบู่เหลวสูงขึ้นถึงประมาณ 7,400 ล้านบาท แม้สบู่เหลวล้างมือแต่ละยี่ห้อจะมีส่วนผสมหลากหลายสูตรเพื่อสร้างจุดขายที่แตกต่าง แต่มักยังคงมีสารเคมีจำพวกที่ทำให้เกิดฟอง สารกันเสีย และสารสังเคราะห์อื่นๆ เป็นส่วนประกอบพื้นฐานเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อผู้บริโภคมีพฤติกรรมการล้างมือบ่อยขึ้น อาจเสี่ยงสัมผัสสารเคมีในสบู่เหลวบ่อยขึ้นด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งสนับสนุนโดย สสส. ได้สุ่มเก็บตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ จำนวน 27 ตัวอย่าง 25 ยี่ห้อ จากห้างค้าปลีกและร้านค้าทั่วไปในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในเดือนมีนาคม 2565 เพื่อสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือว่ามีสารเคมีที่ควรระวังหรือไม่ ได้แก่ โซเดียมลอริธซัลเฟต (Sodium Laureth sulfate : SLES ) : สารลดแรงตึงของน้ำ ทำให้เกิดฟอง ถ้าล้างออกช้าหรือล้างออกไม่หมด อาจทำให้ผิวแห้ง และระคายเคืองได้ เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (Methylisothiazolinone : MIT) : สารกันเสียที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วต้องล้างออกเท่านั้น อาจทำให้ผิวระคายเคือง หากแพ้มากจะทำให้ผิวอักเสบและมีผื่นแดงขึ้น พาราเบน (Paraben) : สารกันเสียที่เสี่ยงส่งผลให้เป็นมะเร็ง ไตรโคลซาน (Triclosan): สารกันเสียที่อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีปัญหา หากใช้ระยะเวลานานจะมีความเสี่ยงต่อเชื้อแบคทีเรียดื้อยาด้วย (หมายเหตุ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ยืนยันว่าสารที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั้ง 4 ชนิดนี้มีความปลอดภัย เมื่อใช้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด) สรุปผลสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ จากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ 27 ตัวอย่าง 25 ยี่ห้อ - มี 9 ตัวอย่าง ที่ไม่พบทั้ง SLES, MIT, พาราเบน และไตรโคลซาน ได้แก่ ยี่ห้อคาว แบรนด์ เซเก็ทสึ คะโซกุ แฮนด์ โซป, ลักส์ โบทานิคัล โฟมล้างมือ, บีไนซ์ คิทเช่น แคร์ โฟมมิ่ง แฮนด์ วอช, บิโอเร โฟมล้างมือ, ศารายา ซิลกี้วอช พิ้งกี้ พีช, คากิชิบุ เซคัทซึ แฮนด์ โซป, คิเรอิคิเรอิ โฟมล้างมือ, เอสเซ้นซ์ ออร์แกนิค อโลเวร่า โฟมล้างมือ และคิงส์สเตลล่า เฮลธ์แคร์ แอนตี้แบคทีเรียล แฮนด์ วอช - พบ พาราเบน ใน 1 ตัวอย่าง - ไม่พบ ไตรโคลซาน ในทุกตัวอย่าง - เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร พบว่ายี่ห้อคากิชิบุ เซคัทซึ แฮนด์ โซป แพงสุดคือ 0.44 บาท ส่วนยี่ห้อเซฟการ์ด เพียว ไวท์ ลิควิด แฮนด์ โซป และยี่ห้อ 3เอ็ม สบู่เหลวล้างมือ ถูกสุดคือ 0.17 บาท - ตัวอย่างสบู่เหลวล้างมือที่ฉลาดซื้อเคยสำรวจไว้เมื่อปี 2562 มีค่าเฉลี่ยของราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตรอยู่ที่ 0.33 บาท ขณะที่ผลการสำรวจของปี 2565 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.28 บาท คำแนะนำ - สบู่เหลวล้างมือจัดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ควรเลือกซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ และสังเกตเลขที่ใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางที่ฉลากทุกครั้ง ซึ่งนำไปตรวจสอบผลิตภัณฑ์ได้ที่ www.fda.moph.go.th เพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับเครื่องสำอางปลอมหรือใช้สารเคมีเกินกว่าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด - อ่านฉลากก่อนซื้อ และควรปฏิบัติตามคำเตือนที่ระบุไว้บนฉลาก - สบู่เหลวล้างมือควรมีอายุไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ผลิต - เลือกสูตรที่มีส่วนผสมที่อ่อนโยน ไม่ระคายเคือง และให้ความชุ่มชื่นคืนผิว - ควรเลือกสบู่เหลวที่ไม่มีกลิ่นหรือกลิ่นอ่อนๆ ไว้ล้างมือก่อนปรุงอาหาร เพื่อไม่ให้อาหารติดกลิ่นสบู่ไป - ล้างฟองออกให้เกลี้ยงเพื่อเลี่ยงการสะสมของสารตกค้างที่อาจทำให้ระคายเคืองผิวได้ - ถ้ามีขวดเดิมอยู่แล้ว ครั้งต่อไปควรซื้อแบบถุงเติมเพื่อช่วยลดปริมาณขยะจากขวดพลาสติกข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อ ฉบับที่ 217 ผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือhttps://mgronline.com/goodhealth/detail/9600000088199https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/966/Hand-hygienehttps://my-best.in.th/49271https://www.thestorythailand.com/08/07/2021/33784/
แสงแดดบ้านเราร้อนแรงขึ้นทุกปี ผลิตภัณฑ์กันแดดจึงกลายเป็นอีกหนึ่งไอเท็มที่ทุกบ้านต้องมีไว้ ฉลาดซื้อ ฉบับนี้ขอนำผลทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์กันแดดที่สมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing) ได้ทำไว้ในช่วงต้นปี 2564 มาฝากสมาชิกกันอีกครั้ง คราวนี้เป็นครีม/สเปรย์กันยูวี ที่มีค่า SPF ระหว่าง 15 - 50 ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงขอนำเสนอเพียง 20 ผลิตภัณฑ์เท่านั้น* คราวนี้นอกจากจะให้ความสำคัญกับความสามารถในการป้องกันรังสี UVA/UVB (ร้อยละ 65) ความพึงพอใจของผู้ใช้ เช่น การซึมลงผิว และ ความรู้สึกไม่เหนียวเหนอะหนะ (ร้อยละ 20) แล้ว ทีมทดสอบยังให้ความสำคัญกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 10) และฉลากที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคด้วย (ร้อยละ 5) แม้จะไม่ได้ให้สัดส่วนคะแนนสำหรับการงดใช้สารเคมีที่ส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายมนุษย์ (Endocrine Disrupting Chemicals หรือ EDCs) เนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่ให้การตอบรับและยกเลิกการใช้ไปแล้ว แต่ทีมทดสอบก็พบว่ามีอย่างน้อยสองผลิตภัณฑ์ที่ยังใช้สารเคมีกลุ่มดังกล่าวอยู่ (Hawaiian Tropic Satin Protection SPF 30 และ Lancaster Sun Beauty Sublime Tan)*หมายเหตุ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ส่งเข้าทดสอบ เป็นผลิตภัณฑ์ที่จัดซื้อโดยองค์กรผู้บริโภคในสเปน อิตาลี โปรตุเกส ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ และราคาที่แสดงเป็นราคาที่แปลงจากหน่วยเงินยูโรในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 โปรดตรวจสอบราคาอีกครั้งก่อนตัดสินใจข้อมูลจาก National Ocean Service ภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาhttps://oceanservice.noaa.gov/news/sunscreen-corals.html
สบู่เหลวและแชมพูสำหรับเด็ก เป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีโอกาสสัมผัสผิวหนัง เส้นผม และดวงตาของเด็กอยู่เป็นประจำ คุณพ่อคุณแม่ควรพิถีพิถันในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยจากสารเคมีและส่วนผสมต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองต่อเด็ก โดยเฉพาะเด็กทารกและเด็กเล็ก เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์สบู่เหลวและแชมพูสำหรับเด็ก จำนวน 16 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกและร้านค้าทั่วไปในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในช่วงเดือนกันยายน 2563 - มกราคม 2564 เพื่อสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวและแชมพูสำหรับเด็กว่า มีสารเคมีหรือส่วนผสมที่ควรระวังหรือไม่ ได้แก่ โซเดียมลอริธซัลเฟต (Sodium Laureth sulfate : SLES ) : สารลดแรงตึงของน้ำ ทำให้เกิดฟอง ถ้าล้างออกช้าหรือล้างออกไม่หมด อาจทำให้ผิวแห้ง ผมร่วง และแสบตาได้ เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (Methylisothiazolinone : MIT) : สารกันเสียที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วต้องล้างออกเท่านั้น อาจทำให้ผิวระคายเคือง หากเกิดอาการแพ้จะทำให้ผิวอักเสบและมีผื่นแดงขึ้น พาราเบน (Paraben) : สารกันเสียที่มีรายงานว่าอาจเสี่ยงต่อสุขภาพส่งผลให้เป็นมะเร็ง ไตรโคลซาน (Triclosan): สารกันเสียที่อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีปัญหา หากใช้ระยะเวลานานจะมีความเสี่ยงต่อเชื้อแบคทีเรียดื้อยาด้วย (หมายเหตุ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ยืนยันว่าสาร ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั้ง 4 ชนิดนี้มีความปลอดภัย เมื่อใช้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด) แอลกอฮอล์ : อาจระคายเคืองผิว ทำให้ผิวของเด็กแห้งเกินไปจนเกิดเป็นผื่นได้ น้ำหอม : น้ำหอมสังเคราะห์อาจทำให้เกิดผื่นแพ้ตามผิวหนังและหนังศีรษะ แม้แต่น้ำมันหอมระเหยจากพืชธรรมชาติก็ยังมีโอกาสทำให้เกิดอาการระคายเคืองในเด็กที่ผิวแพ้ง่ายได้ ผลการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวและแชมพูสำหรับเด็ก พบว่า ยี่ห้อ ละมุน ออร์แกนิค และ อะราอุ เบบี้ ไม่มีสารเคมีหรือส่วนผสมที่ควรระวังในการแสดงฉลาก มี 9 ตัวอย่าง ระบุว่ามีโซเดียมลอริธซัลเฟต 5 ตัวอย่าง ระบุว่ามีเมทิลไอโซไทอะโซลิโนน 2 ตัวอย่างระบุว่า มีแอลกอฮอล์ 14 ตัวอย่างระบุว่า มีน้ำหอม และ ไม่มีการระบุใช้พาราเบนและไตรโคลซาน ในทุกตัวอย่าง ข้อสังเกต -เบบี้มายด์ อัลตร้ามายด์ ไบโอแกนิก แม้บนฉลากระบุว่า Alcohol free แต่ในส่วนประกอบมี Benzyl alcohol -น้ำหอมพบมากที่สุด(14 ตัวอย่าง) มีเพียง MooNoi ออร์แกนิคที่ระบุว่าเป็น baby perfume - ในฉลากของ เพียวรี เบบี้ ระบุว่า ‘0% SLS’ ก็คือไม่มีโซเดียมลอริลซัลเฟต (Sodium Lauryl Sulfate : SLS) ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับ SLES แต่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้มากกว่า ซึ่งผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กส่วนใหญ่จะใช้ SLES ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองน้อยกว่า ดังนั้นแม้จะระบุว่า‘0% SLS’ หรือ ‘No SLS’ ก็ต้องดูว่ามี SLES ไหม ถ้ามีก็แสดงว่ายังมีโอกาสที่จะเกิดอาการแพ้ระคายเคืองจากสารที่ทำให้เกิดฟองตัวนี้ได้ - จอห์นสัน ท็อปทูโท เบบี้ บาธ และ อาวีโน่ เบบี้ มีข้อความในฉลากว่า Hypoallergenic แสดงว่าผู้ผลิตได้เลี่ยงการใช้หรือลดอัตราส่วนของสารประกอบที่จะทำให้แพ้ระคายเคืองต่างๆ ที่เชื่อว่าผู้ใช้จะมีโอกาสแพ้ระคายเคืองน้อยลงได้ โดยไม่ได้ระบุว่าผ่านการทดสอบจากแพทย์ผิวหนังแล้วหรือไม่ -จากทั้งหมด 16 ตัวอย่าง มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ทั้งสระผมและอาบน้ำในขวดเดียว 12 ตัวอย่าง และใช้เฉพาะอาบน้ำ 4 ตัวอย่าง หากไม่สังเกตแล้วเผลอหยิบผลิตภัณฑ์ที่ใช้เฉพาะอาบน้ำมาสระผม อาจมีสารประกอบที่ไม่เหมาะกับหนังศีรษะและเส้นผมจนทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้ ข้อแนะนำจากฉลาดซื้อ นอกจากสารเคมีหรือส่วนผสมที่ควรระวัง คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจการแสดงข้อมูลอื่นบนฉลาก ได้แก่ สัญลักษณ์/ข้อความว่าผ่านการทดสอบการแพ้ : ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กควรผ่านการทดสอบ Hypoallergenic หรือการทดสอบอาการแพ้ ภายใต้การควบคุมของแพทย์ผิวหนัง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยให้ผู้บริโภค pH Balance : ค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ควรใกล้เคียงกับผิวเด็ก คือ 5.5 เพื่อช่วยรักษาสมดุลผิวของเด็ก ปกป้องไม่ให้ผิวแห้งและระคายเคืองได้ง่าย สูตรอ่อนโยนต่อดวงตา : เด็กใช้แล้วไม่แสบตา ไม่เคืองตา ให้สังเกตคำว่า no more tear หรือ tear free สารสกัดจากธรรมชาติปลอดสารพิษ (organic) : ทำให้มั่นใจในเบื้องต้นว่าผลิตภัณฑ์นั้นอ่อนโยนและปลอดภัยต่อผิวเด็ก ช่วยลดความเสี่ยงของการแพ้และระคายเคืองที่เกิดจากสารเคมีได้ คำเตือนผู้บริโภค : แสดงถึงความใส่ใจของผู้ผลิตที่เตือนให้ผู้บริโภคระมัดระวังและแนะนำวิธีการใช้ที่ปลอดภัยด้วย วันที่ผลิตและวันหมดอายุ : ต้องระบุให้ชัดเจน ควรมีอายุไม่เกิน 3 ปีนับจากวันที่ผลิต
ความคิดเห็น (0)