แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค หุ้น การลงทุน STARK
คนที่เริ่มศึกษาการจัดการการเงินส่วนบุคคล เรื่องแรกๆ ที่มักได้รับคำแนะนำจากโค้ชการเงินหรือหนังสือหนีไม่พ้นการรู้จักตนเอง การวางเป้าหมาย บลาๆๆ และที่ขาดไม่ได้คือการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่มักถูกมองข้ามเพราะรู้สึกยุ่งยาก ไม่เข้าใจ แล้วก็ชอบลืม ก็แค่ใช่จ่ายประหยัดๆ กับแบ่งเงินไปออม ไปลงทุนไม่ได้รึไง? ได้ แต่ไม่ค่อยเวิร์ค เวลาที่บอกว่าใช้จ่ายประหยัดบางทีก็ไม่รู้ว่าเราประหยัดจริงหรือเปล่า เงินส่วนใหญ่หมดไปกับอะไรบ้าง เอาเงินไปออมแล้วมีเงินเหลือใช้จ่ายเท่าไหร่ ฯลฯ บัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือนเลยคล้ายๆ งบการเงินของบริษัทที่คอยบอก คอยเตือนเราว่าตอนนี้ใช้จ่ายกับสินค้าฟุ่มเฟือยเยอะไปแล้ว ตอนนี้สภาพคล่องเหลือเฟือจะทำยังไงกับเงินที่เหลือดี เป็นต้น มันคอยช่วยบอกพฤติกรรมการใช้เงินของเราว่ายังอยู่ในลู่ในทางที่นำไปสู่เป้าหมายทางการเงินของเราหรือเปล่า ปัญหาต่อมาคือแล้วจะทำบัญชียังไง อันนี้ก็ไม่ยาก เพราะเดี๋ยวนี้มีแอปพลิเคชั่นมากมายสำหรับช่วยทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายทั้งแบบฟรีและแบบเสียเงิน เป็นหน้าที่ของคุณที่ต้องไปเลือกว่าแอปไหนเหมาะกับตัวเอง เรื่องที่ต้องรู้คือรายรับ-รายจ่ายต่างหาก เราต้องรู้ว่ารายรับในแต่ละเดือนมีอะไรบ้าง อะไรไม่ใช่รายรับ ตรงกันข้ามแล้วรายจ่ายล่ะคืออะไร อย่าสับสนเป็นอันขาด เพราะบัญชีรายรับ-รายจ่ายเป็นตัวช่วยบอกสภาพคล่องทางการเงินของคุณ ยกตัวอย่าง คุณคิดว่าเงินออมเป็นรายรับหรือรายจ่าย เอาล่ะสิ ถึงตรงนี้ชักเริ่มสับสน เงินที่เราเอาไปฝากธนาคารไว้หรือลงทุนในสินทรัพย์ก็ยังอยู่กับเรา มันก็น่าจะเป็นรายรับสิ ผิด มันคือรายจ่าย เพราะมันคือเงินสดที่เราจ่ายออกไปจากกระเป๋า เหมือนสมการที่นำเสนอกันว่า รายรับ-เงินออม-รายจ่าย=เงินคงเหลือ แม้เงินออมจะไม่ใช่รายจ่าย แต่ก็เป็นเงินที่เรานำออกไปและมีผลต่อสภาพคล่อง แล้วถ้าเดือนนั้นเราใช้จ่ายมือเติบ ชักหน้าไม่ถือหลัง เลยยืมเงินเพื่อนมา อันนี้ถือเป็นรายรับที่เข้าเพิ่มสภาพคล่องซึ่งมีภาระต้องจ่ายคืนทีหลัง แล้วตอนที่จ่ายคืนนั่นแหละมันคือรายจ่าย ในเว็บของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand) หรือ SET แบ่งรายจ่ายเป็น 3 ส่วน คือค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและการลงทุน ค่าใช้จ่ายคงที่ และค่าใช้จ่ายผันแปร 3 อย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร ไม่เฉลย ลองไปค้นหาคำตอบด้วยตัวเองดู ในเว็บยังแนะนำวิธีทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายด้วย รู้แล้วก็ทำซะ
ในช่วงสองปีที่ผ่านมามีคดีฟ้องร้องผู้ประกอบการว่าด้วยการ “แอบอ้างว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือทำให้สังคมเข้าใจว่าบริษัทมีแผนรักษ์โลก ทั้งที่ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนและไม่มีผู้รับผิดชอบด้านนี้โดยตรง รายงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยสถาบันวิจัย Grantham แห่งลอนดอนระบุว่าตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา มีการฟ้องคดีลักษณะดังกล่าวทั้งโดยรัฐบาลและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมรวมกันไม่ต่ำกว่า 2,340 คดี ตัวอย่างเช่น ในอเมริกา เทศมณฑลมัลท์โนมาซึ่งมีประชากรหนาแน่นที่สุดในรัฐโอเรกอน ฟ้องบริษัทน้ำมันและถ่านหินอย่าง เชลล์ บีพี เชฟรอน โคโนโคฟิลิปส์ เอ็กซอนโมบิล และอีกไม่ต่ำกว่าห้าบริษัทเพื่อเรียกค่าเสียหาย 51,000 ล้านเหรียญ ฐานปล่อยมลพิษซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโดมความร้อนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 69 คน บริษัท TotalEnergies ก็ถูกเทศบาลเมืองปารีสและนิวยอร์ก ร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นและสมาคมต่างๆ ฟ้อง ด้วยข้อกล่าวหา “ชกไม่สมศักดิ์ศรี” ในการต่อสู้เพื่อยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แม้แต่หน่วยงานกำกับดูแลก็หนีไม่พ้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมได้กล่าวหาหน่วยงานกำกับดูแลตลาดของอังกฤษว่ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ด้วยการอนุญาตให้บริษัทก๊าซและน้ำมันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ทั้งที่ไม่สามารถอธิบายความเสี่ยงที่จะเกิดกับสภาพแวดล้อมได้ ไม่พียงธุรกิจด้านพลังงานเท่านั้น อุตสาหกรรมการบินก็กำลังถูกสังคมจับตามองเช่นกัน ไม่นานมานี้ผู้ประกอบการสายการบิน 17 บริษัท ถูกองค์กรผู้บริโภคแห่งสหภาพยุโรป (BEUC) ร้องเรียนเรื่องจริยธรรมการตลาด โฆษณาหรือสื่อประชาสัมพันธ์ของบริษัทเหล่านี้มักพูดถึง “โปรแกรมชดเชยการปล่อยมลพิษ” ที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกผิดน้อยลงจากการเดินทางโดยเครื่องบิน แต่ไม่มีแผนชัดเจนว่าจะชดเชยอย่างไร การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายของสหภาพยุโรปว่าด้วยการแข่งขันอย่างเป็นธรรมนั่นเอง นอกจากนี้ BEUC ยังเรียกร้องให้สมาชิกสหภาพยุโรปและหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในแต่ละประเทศร่วมกันสอบสวนสิ่งที่เรียกว่า “ค่าธรรมเนียมสิ่งแวดล้อม” ที่บางสายการบินเรียกเก็บเพื่อเป็นการ “ชดเชยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเดินทางโดยเครื่องบิน” และยังเรียกร้องให้สายการบินคืนเงินดังกล่าวให้ผู้บริโภคด้วย อีกตัวอย่างของการ “ฟอกเขียว” ในอุตสาหกรรมการบินคือกรณีของสายการบิน KLM ที่ชวนผู้บริโภคมาปลูกป่า หรือลงทุนในเชื้อเพลิงเครื่องบินที่ผลิตจากสาหร่าย น้ำมันใช้แล้ว ขยะทั่วไปและขยะการเกษตร ฯลฯ ที่นำมาผสมกับเชื้อเพลิงฟอสซิล จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัท เชื้อเพลิงที่ว่านี้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 80 แต่องค์กรผู้บริโภคมีข้อมูลที่ระบุว่ายังอีกนานกว่าเชื้อเพลิงนี้จะพร้อมเข้าตลาดและกฎหมายยุโรปก็ตั้งเกณฑ์สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกไว้ต่ำมาก ด้านวงการแฟชัน แม้จะทำได้ดีเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นในเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัดทั้งในขั้นตอนการผลิตและการใช้งาน เช่น การนำเทคโนโลยีผลิตเส้นใยต้านจุลชีพมาใช้ในการผลิตที่ทำให้เรามีกางเกงยีนส์ที่ใส่ซ้ำได้หลายสัปดาห์ก่อนจะนำไปซัก เท่ากับการประหยัดน้ำในช่วงชีวิตการใช้งานไปได้ถึงร้อยละ 70 เลยทีเดียว แต่เป้าหมาย “การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่ทุกอย่างสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่มี “ขยะผ้า” นั้นยังอีกห่างไกล ปัจจุบันเสื้อผ้าที่ใช้แล้วหรือขายไม่ได้ยังคงถูกนำไปถมทิ้งในบ่อหรือกองขยะ มีเพียงปริมาณน้อยเท่านั้นที่ถูกนำไปใช้ทำเป็นถุงมือหรือบรรจุในเบาะทำโซฟา ถึงแม้จะยังไม่มีการฟ้องร้องแบรนด์แฟชัน แต่ก็มีรายงานที่ระบุว่าการนำของเสีย/ของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมสิ่งทอมาใช้ใหม่ ยังอยู่ในขั้นตอนการ “ศึกษาวิจัย” เท่านั้น ยังต้องมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้แผนนี้เป็นจริงได้ เช่น การตั้งโรงงานรีไซเคิลศักยภาพสูงในพื้นที่ หรือแม้แต่การมีนโยบายรีไซเคิลที่สอดคล้องกันในแต่ละประเทศ ก็ใช่ว่าจะไม่มีหวัง หลายแบรนด์เสื้อผ้าได้เริ่มใช้พลังงานทางเลือกในการจัดส่งสินค้ามาตั้งแต่ปี 2020 เรื่องนี้ยืนยันได้จากข้อมูลของ Maersk บริษัทจัดส่งสินค้าทางทะเลรายใหญ่อันสองของโลก ที่ระบุว่าร้อยละ 26 ของตู้สินค้า 24,000 ตู้ที่บริษัทจัดส่งด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นตู้สินค้าแฟชัน นอกจากนี้บริษัทค้าปลีกอย่าง Amazon และ Ikea ก็ให้คำมั่นว่าจะเปลี่ยนมาใช้การขนส่งแบบไร้คาร์บอนให้ได้ภายในปี 2040 เช่นกัน ที่น่าจับตาคือความพยายามอย่างเป็นรูปธรรมที่จะลดการแอบอ้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนนานาชาติ I(International Sustainability Standards Board หรือ ISSB) ได้กำหนดมาตรฐาน “การรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ของผู้ประกอบการที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป หนึ่งในมาตรฐานดังกล่าวคือ บริษัทต้องจัดให้บุคคลภายนอกเข้ามาตรวจสอบข้อมูลเรื่องการปล่อยมลพิษ (แบบเดียวกับการตรวจสอบบัญชี) นอกจากนั้น “มาตรการลดโลกร้อน” ของบริษัทก็ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารสูงสุด ไม่ใช่เรื่องที่รับผิดชอบโดยฝ่ายการตลาดหรือฝ่ายสื่อสารองค์กรเหมือนที่ผ่านมา แม้จะเป็นเพียงมาตรฐาน “สมัครใจ” แต่ก็เพิ่มความไว้วางใจและความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ทำให้นักลงทุนมีข้อมูลที่ถูกต้องประกอบการตัดสินใจด้วย เอกสารอ้างอิง https://www.straitstimes.com/world/europe/climate-washing-lawsuits-jump-as-more-activists-challenge-corporate-claims-report-shows https://www.dutchnews.nl/2023/06/klm-climate-claims-targeted-in-eu-wide-consumer-complaint/ https://www.scmp.com/business/article/3226112/green-jeans-hong-kong-maker-says-global-brands-improving-sustainability-circular-denim-lifecycle-far https://www.scmp.com/news/world/europe/article/3226189/fashion-brands-driving-demand-green-shipping-fuels-industry-giant-says https://www.reuters.com/sustainability/new-global-rules-aim-clamp-down-corporate-greenwashing-2023-06-26/
โทรศัพท์บ้าน หรือที่เรียกเป็นทางการว่า “โทรศัพท์ประจำที่” หรือ “โทรศัพท์พื้นฐาน” ทุกวันนี้มีการใช้บริการลดน้อยลงเรื่อยๆ สวนทางกับการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับคนที่ยังเปิดใช้บริการโทรศัพท์บ้าน การใช้ก็น้อยลงเรื่อยๆ เช่นกัน โดยเฉพาะการโทรออก บางคนแทบไม่เคยใช้โทรศัพท์บ้านเพื่อการโทรไปหาผู้อื่นเลย ใช้ก็เพียงการรับสายที่โทรเข้ามาเท่านั้น ซึ่งนับวันเสียงเรียกเข้าก็น้อยลงและห่างหายไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน ด้วยสภาพดังกล่าวที่เป็นแนวโน้มปกตินี้เอง ถึงแม้โทรศัพท์บ้านจะยังคงตั้งอยู่ตรงที่เดิมของมัน และทุกเดือนๆ ผู้ใช้บริการก็จ่ายสิ่งที่เรียกว่า “ค่ารักษาเลขหมาย” จำนวน 100 บาท รวม vat เป็น 107 บาท แต่ผู้ใช้จำนวนมากอาจแทบไม่เคยยกหูโทรศัพท์ขึ้นมาเป็นเดือนๆ หรือหลายๆ เดือน และอาจไม่ทันเอะใจกับความเงียบอันเป็นปกติของ “โทรศัพท์บ้าน” ของตนเอง โดยคิดไปว่าคงเพราะไม่มีใครติดต่อมาทางช่องทางดังกล่าวนั่นเอง อย่างไรก็ตาม จากเรื่องร้องเรียนต่อไปนี้ อาจทำให้คนที่ยังมีโทรศัพท์บ้านอยู่ จำเป็นต้องคิดใหม่และทำใหม่ เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้โทรศัพท์บ้านคนหนึ่งได้ร้องเรียนเข้ามาที่สำนักงาน กสทช. ระบุปัญหาว่า โทรศัพท์บ้านที่บ้านแม่ของเธอใช้ไม่ได้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งในครั้งนั้นเคยแจ้งเหตุไปยังบริษัททีโอทีบริษัทตรวจสอบแล้วแจ้งว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากสายภายในบ้าน จากนั้นทั้งสองฝ่ายต่างก็เงียบหายกันไป ผู้ร้องเรียนบอกเล่าว่า จนกระทั่งกลางปี 2565 แม่ของผู้ร้องเรียนได้บ่นว่าเมื่อไรจะจัดการเรื่องโทรศัพท์บ้าน มีปัญหาผ่านมานานหลายปีแล้ว เธอจึงทดสอบดูด้วยการโทรเข้าเบอร์บ้านแม่ ผลพบว่าสองครั้งแรกมีเสียงอัตโนมัติตอบกลับว่า เลขหมายนี้ยังไม่เปิดใช้บริการ แต่ครั้งหลังพบว่ามีเสียงสัญญาณเรียกดังในหูผู้โทร แต่ไม่ดังที่เครื่องโทรศัพท์แต่อย่างใด นั่นทำให้เธอร้องเรียนไปยังบริษัทผู้ให้บริการอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ผู้ให้บริการเปลี่ยนเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือเอ็นที (NT) แล้ว จากการควบรวมกิจการกันระหว่างบริษัททีโอที กับบริษัท กสท โทรคมนาคม หรือแคท (CAT) คราวนี้ได้รับการชี้แจงจากช่างของบริษัทฯ ว่า เนื่องจากมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า จึงทำให้สายโทรศัพท์ภายนอกชำรุดเสียหาย ต่อมาผู้ร้องเรียนตัดสินใจพาแม่ไปดำเนินการขอยกเลิกการใช้บริการโทรศัพท์บ้านไปเลย พร้อมกับเรียกร้องขอเงินที่จ่ายไปเดือนละ 107 บาทคืนด้วย โดยระบุว่าขอคืนย้อนหลังไปจนถึงปี 2561 ที่เคยมีการร้องเรียนปัญหาครั้งแรก แต่บริษัทฯ ไม่ได้แก้ไขปัญหาให้ หลังจากนั้น ทางบริษัทฯ ได้ติดต่อกลับหาผู้ร้องเรียน แจ้งว่าได้พบสาเหตุของปัญหาคือ เคเบิลปลายทางขาดจากการถูกลักลอบตัดสายตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565!!! กลายเป็นว่า จากเรื่องที่เริ่มด้วยการแจ้งเหตุเสียของผู้บริโภค บทลงเอยกลายเป็นเรื่องบริษัทฯ ถูกลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการลักลอบตัดสายเคเบิลโทรศัพท์เพื่อนำทองแดงไปขาย หรือแม้แต่สายเคเบิลอื่นๆ เช่นสายไฟฟ้า สายรถไฟฟ้า เป็นปัญหาจริงที่เกิดขึ้นและทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างต้องปวดหัวและสูญเสียงบประมาณจำนวนมหาศาล ยกตัวอย่าง บริษัททีโอทีเคยให้ข่าวว่า ผลจากการขโมยตัดสายเคเบิลในปี 2557 เพียงปีเดียว สร้างความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท โดยประมาณร้อยละ 20 นั้นเป็นความเสียหายที่เกิดในเขตกรุงเทพมหานคร อีกทั้งปัญหาดังกล่าวยังกระทบผู้ใช้บริการจำนวนมากและกระทบการสื่อสารในวงกว้าง โดยเฉพาะถ้าสายที่ถูกขโมยเป็นสายเคเบิลขนาดใหญ่ แม้แต่ในปี 2566 นี้ ข่าวอาชญากรรมเกี่ยวกับการจับกุมผู้ลักลอบตัดสายเคเบิลชนิดต่างๆ ก็ยังมีให้เห็นเป็นระยะ แน่นอนว่า ปัญหาดังกล่าวนี้ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายกับบริษัทฯ เป็นหลัก ส่วนผู้บริโภค แม้ว่าโดยทั่วไปอาจถือว่าไม่เดือดร้อน เนื่องจากดังที่กล่าวไปตอนต้นว่า ในระยะหลังโทรศัพท์บ้านก็ดูจะอยู่อย่างเงียบๆ มาจนเป็นปกติไปแล้ว แต่ผู้บริโภคก็มีความเสียหายจากการต้องจ่ายเงินให้แก่สิ่งที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้...อย่างไม่รู้ตัว ทั้งนี้ สำหรับกรณีของผู้ร้องเรียน ในที่สุดบริษัทได้เสนอ “ปรับลดค่าบำรุงรักษาคู่สายโทรศัพท์” ของรอบปี 2565 ให้ ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ร้องเรียนมิได้พึงพอใจต่อข้อเสนอดังกล่าว และตั้งประเด็นที่น่ารับฟังไว้ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า เหตุใดบริษัทจึงไม่แจ้งผู้ใช้บริการ แต่กลับ “ตีเนียน” เก็บค่าบริการเรื่อยมาเดือนแล้วเดือนเล่า เนื่องจากสถานการณ์จริงเป็นเช่นนั้นแล ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคจึงต้องช่วยเหลือตัวเอง ถ้าโทรศัพท์บ้านของใครไม่ส่งเสียงบ้างเลย ก็อาจต้องลองยกหูขึ้นฟังว่ายังมีสัญญาณอยู่หรือไม่ เพราะโทรศัพท์บ้านของท่านอาจกลายเป็น “บริการไร้สาย” ไปเสียแล้ว โดยไร้สายมาตั้งแต่ต้นทาง...จากนอกบ้าน...นั่นทีเดียว
หลักการรัฐสวัสดิการ คือ การที่เราเมื่อมีอาชีพ มีรายได้ ก็ต้องเสียภาษี และส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ตามสัดส่วนของรายได้ โดยเงินที่เรานำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมจะเป็นหลักประกันทางการเงิน ในกรณีที่เราเจ็บไข้ได้ป่วยเราสามารถใช้เงินจากกองทุนในการรักษาพยาบาล กรณีตกงานหรือเลิกจ้าง ก็สามารถได้รับเงินทดแทนจนกระทั่งเราได้งานใหม่และมีรายได้กลับคืนมาอีกครั้ง หรือกรณีบำนาญชราภาพ เราก็มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน เงื่อนไขดังกล่าวถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบประกันสังคม ที่หลายๆ ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการได้ใช้กันมาตั้งแต่มีการเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมีการใช้แรงงานมนุษย์และเครื่องจักรอุตสาหกรรมในการผลิตสินค้าซึ่งรูปแบบดังกล่าว มีข้อจำกัดคือใช้ได้กับคนที่ประกอบอาชีพมีรายได้ประจำเท่านั้น ปัจจุบันมีแนวคิดในเรื่องการประกันรายได้ขั้นต่ำให้กับทุกคนในสังคมตั้งแต่เกิดจนตาย คือแนวความคิดเรื่อง หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (unconditional basic incomes) ในประเด็นและแนวคิดเรื่องการประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไขที่ผมได้เคยนำเสนอในวารสารฉลาดซื้อ เมื่อปี พ.ศ. 2563 ซึ่งอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 แล้วนั้น เป็นรายงานและข้อสรุปการศึกษาและดำเนินการของ สมาคมเพื่อหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานขึ้น ของประเทศเยอรมนี โดยได้พูดถึงประเด็นว่า หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (unconditional basic incomes) คืออะไร โครงการของสมาคมนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 มีผู้เข้าร่วมโครงการจนถึงปัจจุบัน ทั้งสิ้น 3.3 ล้านคน และมีผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้รับรายได้แบบไม่มีเงื่อนไขทั้งสิ้น 1514 คนโดยได้รับเงินประจำเดือน 1000 ยูโรเป็นเวลานาน 1 ปี บทเรียนและข้อสรุปที่ได้จากผลการศึกษานี้ 1 ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงิน แต่เป็นประเด็นของความเป็นอิสระทางการเงินระดับหนึ่งของคนที่ได้รับเงินรายได้แบบไม่มีเงื่อนไข การที่ได้รับเงินหมายถึง คุณได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจในการปฏิบัติการเกี่ยวกับการเงินส่วนตัวของคุณไม่ว่าจะนำเงินไปใช้เพื่อการบริโภคไปลงทุน เก็บออมไว้หรือนำไปบริจาคให้คนอื่น การได้รับความไว้วางใจนำไปสู่การเกิดความเชื่อมั่นในตนเองซึ่งเงินที่ได้รับหรือที่สมาคมให้ไปนั้นเป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในของตนเอง 2 เดิมคนที่มีรายได้น้อยและได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลง คนเหล่านี้ เริ่มลงทุนในชีวิตอย่างฉลาดไม่ว่าจะลงทุนในการศึกษา มาเรียนเพิ่มวุฒิเพิ่มประสบการณ์หรือมีอาชีพอิสระ เริ่มยอมรับกับความเสี่ยงในการที่จะได้งานที่มีค่าตอบแทนสูงหรือเริ่มซื้อของใช้ที่เดิมอาจไม่มีกำลังซื้อ สำหรับคนที่มีรายได้ดีอยู่แล้วและได้รับการเช้าร่วมโครงการนี้ พบว่า ตนเองมีอิสระมากขึ้นและเมื่อย้อนกลับมาดูอดีตของตนที่ผ่านมาพบว่า ตนเองต้องเผชิญกับความเครียดและความกลัวในชีวิต ในช่วงปีที่ได้รับเงินจากโครงการชีวิตตนเองผ่อนคลายมีเวลาให้กับตนเองในการทบทวนบทบาทหน้าที่และมีความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าหลายๆ คนจะไม่ได้ใช้เงินจากโครงการนี้เลย (ข้อสรุปเดิมของปี 2023) 3 การมีหลักประกันทางรายได้ ทำให้คนที่ได้รับโอกาสมีอำนาจในการต่อรองกับหัวหน้างานของที่ทำงานเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้ มีหลายคนคิดที่จะเปลี่ยนงานแต่เมื่อได้รับโอกาสหลักประกันทางรายได้ก็ยังคงเลือกที่จะทำงานที่เดิมต่อไป ภายใต้อำนาจต่อรองและจิตวิญญาณของการทำงานแบบใหม่ กรณีที่เปลี่ยนที่ทำงานพบว่า ก็ใช้โอกาสนี้ในการเรียนต่อหรือศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยกระดับการทำงานในที่ทำงานหรือตำแหน่งใหม่ ไม่มีประเด็นเรื่องความขี้เกียจหรือเกี่ยงการทำงาน 4 ลดความเครียดจากการทำงานลง เมื่อมนุษย์ทำงานภายใต้เงื่อนไขการกดดัน มีความเครียดสะสมทำให้คนเราอยู่ในโหมดการเอาตัวรอด ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีคนรอบข้าง การหลบหลีก การหนีปัญหา หรือการแกล้งตาย ซึ่งเป็นโหมดของคนทำงานเพียงเพื่อขายผ้าเอาหน้ารอดแต่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง 5 การมีหลักประกันทางรายได้ ทำให้คนมีสุขภาพกายและใจดีขึ้นโดยเฉพาะในสังคมของประเทศเยอรมนีที่ 50% ของคนทำงานมีโอกาสเกิดอาการ Burn out และมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากโครงการนี้ว่า ผู้ที่ได้รับรางวัลหายขาดจากโรค ภาวะติดเชื้อในกระเพาะอาหารซึ่งมีสาเหตุมาจากสภาพการกดดันในที่ทำงาน 6 การมีหลักประกันทางรายได้ทำให้คนบริโภคน้อยลง แต่บริโภคอย่างมีสติซึ่งอาหารที่ผู้เข้าร่วมในโครงการนี้รับประทานเป็นอาหารที่อยู่ในกลุ่มชีววิถี (Bio) และเป็นผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ไม่ว่าจะมีแนวความคิดทางการเมืองใด เป็นคนเจนไหน ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่เงินแต่เป็นประเด็นของเสรีภาพและศักดิ์ศรีที่เกิดขึ้นในจิตใจ สำหรับกรณีของประเทศไทย ยังไม่มีการนำแนวความคิดนี้มาใช้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเรา ซึ่งในเบื้องต้นเสนอว่าการลองใช้การออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลมาจัดสรรรางวัล แบบไม่ให้เงินก้อนโต แต่จัดสรรเงินรางวัลแบบการประกันรายได้โดยไม่มีเงื่อนไข เป็นกรณีศึกษาเพื่อไม่ให้คนเราเกิดความโลภและใช้การเสี่ยงโชคในการที่จะยกสถานะของตัวเองจากหลายๆ กรณีที่ผ่านมาพบว่า จำนวนเงินไม่สามารถทำให้คนสามารถรักษาความมั่งคั่ง หรือความมั่นคงไว้ได้ยืนยาว ....................................แหล่งข้อมูล เวบไซต์ของสมาคม เพื่อหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานขึ้น (Mein Grundeinkommen e.V. Gemeinnützig)https://www.mein-grundeinkommen.de/erkenntnisse/was-ist-es
ความคิดเห็น (0)