แหล่งข้อมูล: ภาณุโชติ ทองยัง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคาม กนกพร ธัญมณีสิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ไซบูทรามีน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารเสริม
ในช่วงหน้าทำนายาอันตรายที่กำลังฮิตในกลุ่มพี่น้องเกษตรกรทางอิสานคงหนีไม่พ้นยาแก้ปวดเมื่อย ช่วงนี้มียาฮิตตัวใหม่มีการนำมาเร่ขายตามบ้าน รู้กันในชื่อ สูตรเข้มข้นx2 Extra และมีการบอกต่อๆกันจนขายดิบขายดี ทั้งๆ ที่ราคาก็ไม่ธรรมดา ราคาต่อขวดมากกว่าหนึ่งพันบาท นอกจากชื่อที่บอกเข้มข้นแล้ว อันตรายมันก็เข้มขึ้นไม่แพ้กัน ผู้ที่นำไปรับประทานหวังแก้อาการปวดเมื่อย หลายรายเกิดอาการไม่พึงประสงค์แถมมาด้วย ส่วนใหญ่จะเกิดอาการบวมที่เท้า ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่มักจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีการใช้ยาที่มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์ สำหรับเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน เมื่อทราบข้อมูลจึงได้ขอยาจากชาวบ้านมาทดสอบและก็แม่นยิ่งกว่าถูกหวยเสียอีก เป็นไปตามคาดเพราะเมื่อทดสอบด้วยชุดทดสอบสารสเตียรอยด์เบื้องต้น ผลปรากฏว่าให้ผลบวก หมายถึงพบการปลอมปนสารสเตียรอยด์อยู่ในผลิตภัณฑ์นี้จริงๆ ไหนๆ ก็เล่ามาแล้ว ขอย้ำเตือน อันตรายจากสเตียรอยด์ที่เราพอจะสังเกตเองได้เอง เผื่อจะได้ช่วยกันสอดส่องคนใกล้ตัวว่า หลงไปใช้ยาที่มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์โดยไม่รู้ตัวหรือไม่ อาการที่จะพบได้บ่อยๆ คืออาการที่เรียกว่า “คุชชิ่ง ซินโดรม (Cushing Syndrome)” คือ ใบหน้ากลมคล้ายพระจันทร์ มีไขมันพอกที่ต้นคอ ด้านหลังเป็นหนอก ผิวหนังบาง มีรอยแตกสีม่วงแดงตามผิวหนังที่หน้าท้องและต้นขา อันตรายที่น่ากลัวยังมีมากกว่านี้ การได้รับสเตียรอยด์ในขนาดสูงเป็นเวลานานมันจะไปกดภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงลดลง ผู้ที่ใช้ยาที่มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์จึงติดเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ได้ง่าย นอกจากนี้ยังทำให้เยื่อบุในกระเพาะอาหารบางลงและยังไปยับยั้งการสร้างเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารใหม่ อาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุหรือเลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยไม่มีอาการปวดท้องมาก่อนด้วยซ้ำ และอีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือทำให้กระดูกพรุน ในผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ยิ่งอันตราย ผู้ป่วยเบาหวานจะไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในช่วงปกติได้ ผู้ป่วยความดันโลหิตจะไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในช่วงปกติได้เช่นกัน มักจะมีระดับความดันโลหิตสูงแต่ไม่มีอาการเตือน จึงเปรียบเสมือนภัยเงียบที่อาจทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองแตก เสี่ยงเป็นอัมพฤต-อัมพาตได้ และที่ต้องย้ำคือ ถ้าพบว่ายาที่ใช้มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์ อย่าหยุดใช้เองโดยทันที เพราะเมื่อร่างกายได้รับสารสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ร่างกายจะหยุดสร้างสเตียรอยด์ตามธรรมชาติที่ร่างกายเคยสร้างเองได้ เมื่อผู้ป่วยหยุดใช้อย่างกะทันหันจะทำให้ร่างกายขาดสเตียรอยด์อย่างฉับพลัน อาจเกิดภาวะช็อกหมดสติและเสียชีวิตได้หากนำส่งโรงพยาบาลไม่ทัน หากมีปัญหาเนื่องจากการใช้ยาที่ปนเปื้อนสารสเตียรอยด์แล้ว ขอให้รีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาที่ถูกต้องจะปลอดภัย
ผู้บริโภคที่ซื้ออาหารเสริมมากิน อาจแบ่งคร่าวๆได้เป็น 2 กลุ่มหลัก กลุ่มแรกกินเพราะต้องการเสริมอาหารเพราะคิดว่าตัวเองกินไม่พอ ขาดสารอาหาร เช่น คนที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ไม่มีเวลากินข้าว หรือผู้ป่วยที่กินอาหารได้น้อย และอีกกลุ่มคือกลุ่มที่คาดหวังสรรพคุณบางอย่างจากอาหารเสริม โดยเฉพาะสรรพคุณในการรักษาโรคเหมือนการกินยา กลุ่มหลังเป็นกลุ่มที่มักจะตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาหลอกลวงได้ง่ายมาก “ประสบการณ์ในพื้นที่ ผมเคยเจอการที่ผู้ขายพยายามทำให้อาหารเสริมมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรค กรณีแรกเป็นข้าวสารธรรมดาๆ แต่กลับอ้างสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและรักษาโรคเบาหวานได้ คนขายพยายามนำผู้ป่วยเบาหวานที่กินข้าวนี้มาเป็นตัวอย่างและแอบอ้างเกินจริงว่ากินแล้วน้ำตาลลดลง จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า มันคือข้าวที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ คือกินแล้วน้ำตาลจะขึ้นช้ากว่าข้าวทั่วไป จึงอาจเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน (แต่ไม่ได้ช่วยรักษาเบาหวาน) การกินข้าวแบบนี้โดยไม่ควบคุมนอกจากจะไม่ช่วยรักษาเบาหวานแล้วอาจจะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงจนเบาหวานขึ้นได้ อีกกรณีเป็นการหลอกลวงให้ตรวจสุขภาพด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่อ้างว่าสามารถวิเคราะห์สุขภาพผู้ตรวจได้ทุกระบบ (โดยไม่ต้องเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ เพียงแต่ถืออุปกรณ์ที่นำมาแอบอ้าง แค่นั้นเอง) พอผลตรวจ (ที่ถูกอุปโลกน์) ออกมาก็หลอกขายอาหารเสริมให้กับชาวบ้านที่มาตรวจ” ที่ผ่านมาเราก็เคยพบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางอย่างจงใจปลอมปนยาแผนปัจจุบันเข้าไป เพื่อหวังสรรพคุณทางยา ที่ผู้ใช้บอกต่อกันปากต่อปาก ในชุมชนเรามักจะตรวจพบน้ำผลไม้สกัดเข้มข้นบางยี่ห้อที่แอบขายให้ชาวบ้านปลอมปนสเตียรอยด์ หรือ ข่าวใหญ่โตคือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ปลอมปนยาลดความอ้วน (ไซบูทรามีน) ที่กินแล้วผอมจริง ตายจริง ตามที่ปรากฏในข่าว จนต้องปราบปรามกันในระดับประเทศ ภาพลวงตาเหล่านี้คืออุปสงค์ (demand) ของผู้บริโภคที่มาตรงกับอุปทาน (supply) ของธุรกิจอาหารเสริมพอดิบพอดี ธุรกิจอาหารเสริมเข้าใจตรงนี้ดี จึงมีความพยายามที่จะโฆษณา เพื่อเบี่ยงเบนหรือแม้กระทั่งชี้นำให้ผู้บริโภคคิดเอาเองว่า อาหารเสริมนั้นมีสรรพคุณเหมือนการกินยา ข้อเท็จจริงคือ อาหารเสริมตามกฎหมายต้องขึ้นทะเบียนเป็นอาหารที่ต้องมีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) และห้ามโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นยา และต้องมีคำเตือนว่าไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสามารถกินแทนอาหารปกติได้ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะการโฆษณาอ้างสรรพคุณทางยา มีความผิดตามกฎหมายหลายมาตราที่มีโทษทั้งจำคุกและปรับ
เมื่อเรารับยาจากเภสัชกรโรงพยาบาลหรือจากร้านขายยา ส่วนใหญ่เราจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับยานั้นๆ ทั้งชื่อยา สรรพคุณ ขนาด วิธีใช้ และข้อควรระวัง ซึ่งนอกจากเภสัชกรจะอธิบายแล้วข้อมูลเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะปรากฏบนฉลากยาให้อีกด้วย แต่ข้อมูลแค่นี้ยังไม่เพียงพอสำหรับการใช้ยาอย่างถูกต้องปลอดภัย เพราะเราควรจะต้องสอบถามเภสัชกรเพิ่มอีกว่า ยาที่ตนได้รับนั้น ชนิดใดที่ต้องกินหรือใช้ต่อเนื่องจนยาหมดหรือชนิดใดที่ต้องกินหรือใช้เฉพาะเวลามีอาการเท่านั้น ซึ่งเราจะต้องถามให้ละเอียดทั้งยากินยาใช้ภายนอกหรือยาฉีด ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ผู้ป่วยรายที่ 1 เป็นไข้หวัด ไอ เจ็บคอติดเชื้อแบคทีเรีย เภสัชกรจ่ายยาให้กิน 4 ชนิด ได้แก่ ยาพาราเซตามอล เพื่อแก้ปวดลดไข้ ยาซีพีเอ็มเพื่อลดน้ำมูก ยาแอมบรอกซอลเพื่อแก้ไอและยาอะม็อกซี่ซิลินเพื่อฆ่าเชื้อโรค จากตัวอย่างนี้ยาที่จะต้องกินต่อเนื่องจนยาหมด คือ อะม็อกซี่ เพราะต้องการผลในการฆ่าเชื้อโรคให้หมด ส่วนยาแก้ไข้ ยาลดน้ำมูกและยาแก้ไอให้กินเฉพาะเวลามีอาการเท่านั้น ถ้าเกิดมีอาการแพ้หรือผลข้างเคียงที่รุนแรงไม่ว่าจะเป็นยาตัวใดก็ตามให้หยุดทันทีและรีบไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ผู้ป่วยรายที่ 2 มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เภสัชกรจ่ายยา 2 ชนิด ได้แก่ ไอบูโพรเฟนเพื่อกินแก้ปวด และยานวดแก้ปวด ในกรณีนี้ยาทั้ง 2 ตัวจะใช้เฉพาะเวลามีอาการ ถ้าอาการปวดดีขึ้นอาจลดขนาดยาลง เช่น เดิมกินยา ครั้งละ 1 เม็ด 3 เวลา อาจลดเหลือวันละ 2 เวลา หรือ 1 เวลาก็ได้ ถ้าหายดีแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาต่อจนหมด โดยยาที่เหลือสามารถเก็บไว้ใช้เวลาที่มีอาการครั้งต่อไป (แต่ก่อนใช้ต้องตรวจสอบก่อนว่า ยายังไม่หมดอายุ) ผู้ป่วยรายที่ 3 มีโรคความดันโลหิตสูงและโรคกรดไหลย้อน เภสัชกรจ่ายยา 3 ชนิด ได้แก่แอมโลดิปีน กินเพื่อรักษาความดันโลหิตสูง ยาเบต้าฮิสติดีนกินเพื่อรักษาอาการวิงเวียน ยาโอมีพราโซลและดอมเพอริโดน กินเพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อน กรณีนี้ยาแอมโลดิปีนและโอมีพราโซลให้กินต่อเนื่อง แต่ยาเบต้าฮิสติดีนให้กินเฉพาะเวลาวิงเวียน ส่วนยาดอมเพอริโดนอาจกินเฉพาะเวลามีอาการกรดไหลย้อนหรือกินต่อเนื่องขึ้นกับความรุนแรงของโรค (ในกรณีนี้ต้องปรึกษาเภสัชกร) ผู้ป่วยรายที่ 4 มีอาการผื่นคันจากการสัมผัสฝุ่นละออง เภสัชกรจ่ายยา 2 ตัว ได้แก่ ลอราตาดีนและยาทาเพรดนิโซโลน ในกรณีนี้ยาลอราตาดีนให้กินเฉพาะเวลามีอาการหรือกรณีได้สัมผัสตัวกระตุ้น หากผู้ป่วยมีอาการแพ้เรื้อรังให้กินต่อเนื่องตามระยะเวลาของการรักษา ส่วนเพรดนิโซโลนทาให้ทาเฉพาะเวลามีอาการผื่นคันเท่านั้น ผู้ป่วยรายที่ 5 เป็นโรคความดันโลหิตสูง ได้รับยา 2 ตัว ได้แก่ แอมโลดิปีนและอีนาแลบพริล ยาทั้ง 2 ตัวนี้ให้กินต่อเนื่องและต้องไปรับยาตามที่นัด แต่ในระหว่างกินยาแล้วเกิดอาการไอแห้งๆ ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพราะถ้าอาการไอนั้นเป็นผลข้างเคียงของยาอีนาแลบพริล แพทย์อาจพิจารณาเปลี่ยนยาชนิดอื่นให้ เช่น ลอซาแทน กรณีนี้จะเห็นว่าแม้ยาที่ต้องทานต่อเนื่องถ้าเกิดผลข้างเคียงที่สำคัญก็จำเป็นต้องหยุดหรือเปลี่ยนยา ทั้งนี้ต้องปรึกษาแพทย์ เภสัชกร ก่อนเพื่อความปลอดภัย
Power Gel หรือ Energy Gel เป็นอาหารชนิดหนึ่งที่อยู่ในรูปของเจลคาร์โบไฮเดรต โดยแต่งเติมกลิ่นและรสชาติเข้าไปเพื่อให้สะดวกแก่การรับประทาน Power Gel เป็นแหล่งให้พลังงานสูงทำให้ร่างกายฟื้นฟูสภาพได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยสารอาหารจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว เป็นแหล่งพลังงานของร่างกายและช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดโดยทั่วไป Power Gel จะไม่มีไขมัน มีโปรตีนไฟเบอร์เป็นส่วนประกอบเพื่อช่วยระบบย่อยและดูดซึมอาหารทำงานได้เร็วที่สุด กลุ่มนักกีฬาประเภทที่ใช้พลังงานต่อเนื่องเป็นเวลานานอย่างวิ่งมาราธอน ว่ายน้ำ มักจะหา Power Gel ชนิดและยี่ห้อต่างๆ มาใช้และมีความนิยมกันเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีข้อที่ต้องระมัดระวังในการใช้อยู่ด้วย ดังนั้นผลิตภัณฑ์ต้องได้มาตรฐานต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดและประเภทที่เหมาะกับตนเอง เมื่อปี 2019 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศหนึ่งได้ออกประกาศเตือนภัยให้แก่ผู้บริโภคในประเทศของตนให้หลีกเลี่ยงการซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์ Power Gel ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หากจะเปรียบเทียบในประเทศเราก็คือประกาศแจ้งเตือนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้หลีกเลี่ยงการใช้และบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีเครื่องหมาย อย. ไม่มีข้อความแสดงในฉลากเป็นภาษาไทย เพราะเมื่อบริโภคจะมีความเสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจากส่วนประกอบที่อาจมีอันตรายหรือไม่ได้มาตรฐานและอาจเกิดพิษสะสมเมื่อรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งปัจจุบันพบผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นจำนวนไม่น้อยในงานวิ่งรายการต่างๆ ร้านค้าออนไลน์ นอกจากนี้ยังมี Power Gel อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องระมัดระวังในการบริโภคคือ Power Gel ที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน ที่ใส่เข้าเพิ่มมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการตื่นตัว รู้สึกตื่นตัว เชื่อว่าช่วยให้ร่างกายทนทานต่อความเมื่อยล้าเพิ่มมากแต่อาจไม่เหมาะกับบางคนรวมถึงเด็กเล็ก เพราะผลข้างเคียงให้เกิดอาการปวดหัวหรือกระวนกระวายใจได้ในบางคน องค์กร European Food Safety Authority แนะนำว่าปริมาณการบริโภคคาเฟอีนของผู้ใหญ่แต่ละครั้งไม่ควรเกิน 200 mg. และต่อวันไม่ควรเกิน 400 mg (ต้องกิน Power Gel ถึง 8 ซอง) แต่ในบางคนที่ไวต่อการกระตุ้น เช่น เด็ก หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวข้องกับความดัน หัวใจ แม้การกินคาเฟอีนที่ปริมาณไม่เกินกำหนดก็อาจทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ ใจสั่นได้ง่ายขึ้นได้ทันทีหรือความดันอาจจะเพิ่มขึ้นได้บ้าง โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้กินเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมคาเฟอีนเป็นประจำ นอกจากนี้ก็มีฤทธิ์เป็นยาระบายและยาขับปัสสาวะผลต่อการขับปัสสาวะที่บ่อยขึ้นเกิดผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำ นักกีฬาที่จะหา Power Gel มาทานจึงควรใส่ใจ อ่านฉลากซองผลิตภัณฑ์ให้ละเอียด 1) มีเลข อย. และมีข้อความภาษาไทย ระบุแหล่งผลิต วันเดือนปีที่หมดอายุ 2) ตรวจสอบส่วนประกอบในฉลากว่า มีส่วนผสมของคาเฟอีนหรือไม่ โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับตัวเอง และ 3) เลือกชนิดและประเภทของ Power Gel ที่เหมาะกับสภาพร่างกายของตนเอง ซึ่งสามารถปรึกษากับเภสัชกรที่ร้านยาทุกแห่งหรือผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ Power Gel
ความคิดเห็น (0)