แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค Voucher ร้านอาหาร อาหาร sale
วันนี้ฉลาดซื้อ มีเรื่องราวเกี่ยวกับการรับประทานอาหารบุฟเฟต์มาเล่าเป็นประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคหลายๆ คน ให้คอยระมัดระวังกัน โดยเรื่องราวมีอยู่ว่า คุณน้ำตาลได้มาเล่าให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่า 12 สิงหาคม ที่ผ่านมา เธอไปกินบุฟเฟต์ร้านดังที่กำลังฮิตอยู่ในตอนนี้กับเพื่อนหลายคน ซึ่งเธอก็ได้สั่งอาหารมากินแบบจัดหนักจัดเต็ม (ก็บุฟเฟต์นี่นะ) แต่...เมื่อเธอเริ่มกินอย่างเอร็ดอร่อยได้สักพัก ดันมีอาการหน้าบวม ตาบวมจนปิดขึ้นมาซะงั้น ทำให้เธอต้องไปโรงพยาบาลทันที ซึ่งในวันนั้นเธอได้สั่งแมงกะพรุนกับหมึกกรอบมารับประทาน (อาหารต้องสงสัย) เพราะว่าตัวเองนั้นชอบกินมาก แต่ในตัวเธอเองก็ได้ยืนยันว่าเธอไม่เคยมีประวัติแพ้มาก่อน ต่อมา เมื่อเธอถึงโรงพยาบาลแพทย์ก็ได้ทำการรักษา เช่น ฉีดยาแก้แพ้และรักษาตามอาการอื่นๆ แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น พร้อมทั้งแพทย์ยังตรวจพบว่าเธอมีหนองอยู่ในโพรงจมูก สืบเนื่องจากอาการแพ้อาหาร และเธอยังเคยเสริมจมูกมาทำให้ต้องผ่าตัดซิลิโคนออกเพื่อเอาหนองออกไป จนเมื่อเธอได้ออกจากโรงพยาบาลจึงได้ติดต่อมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อปรึกษาและขอคำแนะนำ แนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้น จากข้อมูลที่ทางผู้ร้องได้แจ้งมากับทางมูลนิธิฯ ได้ให้คำแนะนำ ดังนี้ 1. ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุ พร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเป็นเรื่องจริง ไม่ได้กลั่นแกล้งหรือใส่ความแต่ประการใด 2. ทำจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายกับทางร้านเป็นแบบไปรษณีย์ตอบรับ โดยสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยให้เงื่อนเวลากำกับสำหรับการชดเชยค่าเสียหายไว้ด้วย เช่น 15-30 วัน เป็นต้นไป 3.หากพ้นกำหนดตามเงื่อนเวลาดังกล่าว ทางมูลนิธิฯ อาจเรียกผู้ร้องและคู่กรณีมาทำการไกล่เกลี่ยอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้ายังไม่สามารถตกลงในรายละเอียดได้ ผู้ร้องอาจจะต้องฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค เพื่อให้ศาลตัดสินว่าผู้ร้องควรจะได้ค่าชดเชยเป็นจำนวนเงินเท่าไร ทั้งนี้ หลังจากที่ทางผู้ร้องรับทราบก็ได้มีการทำตามที่มูลนิธิฯ แนะนำ หลังจากนั้นมูลนิธิฯ ได้ติดต่อผู้ร้องไปอีกครั้งเพื่ออัปเดตเรื่องดังกล่าวที่ก่อนหน้านี้วันที่ 18 สิงหาคม มีการนัดไกล่เกลี่ยกับทางร้านซึ่งสรุปว่าทางร้านไม่มาตามที่นัดหมายไว้ อย่างไรก็ตามผู้ร้องได้ปรึกษาอีกว่าได้มีการร้องเรียนไปยังสำนักข่าวต่างๆ เพื่อขอให้ช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกด้วย แต่หลังจากข่าวแพร่ออกไปกับมีความคิดเห็นต่อผู้ร้องในแง่ลบ จึงอยากปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี? ทางเราจึงได้แนะนำให้เข้าคอร์สเพื่อตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยัน ซึ่งทางผู้ร้องเองก็ได้ไปตรวจมาเรียบร้อย และกำลังรอผลอีก 1 สัปดาห์ ขณะปิดต้นฉบับเรื่องราวของคุณน้ำตาลยังไม่จบเพราะยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่า เป็นเพราะสาเหตุอะไรกันแน่ คุณน้ำตาลจึงมีอาการดังกล่าว พร้อมทั้งยังไม่ได้ค่าชดเชยจากทางร้าน แต่อย่างไรก็ตาม ทางมูลนิธิฯ ก็อยากให้ทุกคนระมัดระวังในการรับประทานให้มาก เพราะยิ่งเป็นอาหาร เช่น หมึกกรอบแมงกระพรุนก็อาจจะทำให้เสี่ยงที่จะมีส่วนผสมของฟอร์มาลินได้ สามารถอ่านผลทดสอบหมึกกรอบได้ที่ : https://www.chaladsue.com/article/4269/ ทางที่ดีสอบถามทางร้านให้แน่นอนก่อนรับประทานเพราะมันคือสิทธิของเราที่จะถามว่าอาหารที่เรารับประทานมีแหล่งที่มาจากที่ไหนปลอดภัยและสะอาดหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง
เรื่องของคุณหนิงต่อจากนี้ แม้อาจฟังเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เชื่อว่าเมื่อเกิดขึ้น...ได้เจอกับตัวเองแล้ว ก็เสียความรู้สึกอย่างมากได้เช่นเดียวกัน เรื่องราวคือ เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คุณหนิงได้ตัดสินใจไปสมัครเป็นสมาชิกของ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง) เพื่อเข้าใช้บริการห้องฟิตเนส เพราะศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่นอยู่ห่างจากที่พักเพียง 2 กิโล ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง) ได้ประกาศเวลาการในการบริการรับสมัครสมาชิกไว้คือ วันจันทร์ เวลา 10.00 – 16.30 น. วันอังคาร - เสาร์ เวลา 10.00- 20.00 น. และวันอาทิตย์เวลา 13.00 – 20.00 น. โดยสมัครได้ที่ห้องประชาสัมพันธ์ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) เท่านั้น วันที่คุณหนิงตัดสินใจไปสมัคร เป็นวันพฤหัสบดี ที่ 17 สิงหาคม เมื่อเลิกงานเวลา 17.00 น. แล้ว คุณหนิงมีธุระต้องไปทำต่อที่ธนาคารในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ คุณหนิงจึงลังเลว่าจะเข้าไปสมัครสมาชิกทันไหม แต่เมื่อคิดว่าวันศุกร์เธอก็จะไม่สะดวกต้องเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดทันทีที่เลิกงาน หากจะรอถึงวันจันทร์ เธอก็ยังไม่สามารถสมัครได้อีก เพราะศูนย์ฯปิดให้บริการเวลา 16.30 น. ก่อนที่คุณหนิงจะเลิกงาน คุณหนิงจึงคิดว่า รีบทำธุระให้เสร็จแล้วเข้าไปสมัครสมาชิกให้ทันเลยจะดีกว่าเพื่อที่วันอังคารหน้าเมื่อเลิกงานแล้วเธอจะได้เข้ามาใช้บริการห้องฟิตเนสได้ทันก่อนที่จะปิดบริการเวลา 19.00 และไม่ต้องเสียเวลาไปในการสมัครสมาชิกอีก คุณหนิงจึงรีบทำธุระ แต่แล้วฝนก็ตกลงมา คุณหนิงจึงต้องเรียกบริการรถด่วน (Bolt) เพื่อกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ห้องพักก่อน เมื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จแล้ว เธอจึงเรียกรถไปสมัครสมาชิกที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น ต่อทันที ระหว่างนั่งรถไปครั้งนี้ฝนที่ซาก็เริ่มกลับมาตกอีกครั้ง เวลาก็ใกล้เข้า 2 ทุ่มขึ้นมาทุกที คุณหนิงคิดว่าจะไปทันไหม แต่ไหนๆ เมื่อนั่งรถมาขนาดนี้แล้ว ก็อยากไปให้ถึงจึงบอกให้รถขับต่อไปจนถึงศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง) คุณหนิงมาถึงหน้าห้องประชาสัมพันธ์ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) เวลา 19.57น. จึงเคาะหน้าต่างเลื่อนที่ช่องรับบริการและแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า “มาสมัครเป็นสมาชิกศูนย์ฯ ค่ะ” แต่เจ้าหน้าที่กลับตอบกลับมาว่า “ปิดรับสมัครแล้วค่ะ” “แต่ตามประกาศบอกว่ารับสมัครสมาชิกถึง 2 ทุ่มไม่ใช่หรือคะ” เจ้าหน้าที่มองนาฬิกาและพบว่าเป็นเวลา 20.00 น. พอดี จึงตอบคุณหนิงว่า “ก็ตอนนี้มันก็ 2 ทุ่มแล้วค่ะน้อง” “แต่ตอนที่เคาะบอกพี่ มันยังไม่ 2 ทุ่มนะคะ” “ก็ตอนนี้มัน 2 ทุ่มแล้วค่ะ” ถึงตอนนี้ คุณหนิงรู้สึกเสียความรู้สึกมากเหมือนเจ้าหน้าที่ไม่เต็มใจให้บริการ แต่เธอก็ตั้งใจมาสมัครเป็นสมาชิกแม้ฝนจะตกเธอก็ตัดสินใจแล้วว่าจะมาสมัครให้ได้ จึงตอบกลับเจ้าหน้าที่ว่า “จริงๆ ถ้าทางศูนย์ฯ ประกาศไว้ว่าจะให้บริการสมัครสมาชิกถึงตอน 2 ทุ่มก็ควรจะทำให้ได้ตามนั้นนะคะ” “ก็พี่ปิดเคาน์เตอร์ไปแล้ว รับเงิน ปิดรายงานไปแล้ว น้องจะให้พี่เปิดมาทำใหม่หรือคะ” คุณหนิงได้แต่ส่ายหัว รู้สึกเสียใจ เสียความรู้สึกเป็นอย่างมาก ถ้าไม่ติดว่า ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) อยู่ใกล้ที่พักที่สุด เธอไม่อยากจะกลับมาที่แห่งนี้อีกเลย แนวทางการแก้ไขปัญหา หลังเหตุการณ์วันนั้น คุณหนิงได้รับคำแนะนำจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ควรโทรไปที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) เพื่อร้องเรียนงานบริการที่คุณหนิงประสบปัญหา ดังนั้นเธอจึงได้โทรเข้าไปร้องเรียนที่ฝ่ายอำนวยการถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่แจ้งว่ารับเรื่องไว้แล้วจะสอบถามกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้คุณหนิงยังได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมว่า ให้ทำหนังสือร้องเรียนไปที่ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นหลักฐานถึงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องและผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ซึ่งมี เฟซบุ๊กเพจ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ประชาชนสามารถสื่อสาร ร้องเรียน การทำงานของหน่วยงานในสังกัดของกรุงเทพมหานครได้โดยตรงได้อีกด้วย เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ย้ำว่า หากคุณหนิงทำหนังสือ ร้องเรียนเรื่องราวถึงสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร จะทำให้ประชาชนคนอื่นๆ ได้รับประโยชน์ด้วย อีกทั้งเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย และการออกกำลังกายเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ให้บริการจึงยิ่งต้องเต็มใจและตั้งใจบริการให้ประชาชน ล่าสุดหลังจากได้โทรเข้าไปร้องเรียนแจ้งปัญหาแล้ว คุณหนิงจึงได้ทำการทดสอบเข้าไปใช้บริการที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) อีกครั้งในวันที่ เสาร์ที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยการไปถึงที่หน้าเคาเตอร์ในเวลา 19.58 น. ก็พบว่าเจ้าหน้าที่คนเดิมให้บริการรับสมัครสมาชิกให้ด้วยดี
การซื้อสินค้าทางออนไลน์นั้นจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบ ตั้งแต่ความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มและร้านค้า รายละเอียดและใบรับรองมาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้น แต่บางครั้งแม้เราจะเลือกจนแน่ใจว่าดีแล้ว ก็อาจไม่วายต้องผิดหวังหลังนำไปใช้เพราะการโฆษณาเกินจริงของร้านค้าต้นทาง เหมือนอย่างที่คุณวิชัยที่ซื้อเครื่องทำน้ำแข็งมาใช้ได้แค่ปีเดียวก็ไม่กล้าใช้ต่ออีกเลย ย้อนไปช่วงอากาศร้อนๆ ในปี 2565 คุณวิชัยซื้อเครื่องทำน้ำแข็งยี่ห้อ Smarttek จากร้านทางการของแบรนด์นี้ ผ่านทางแพลตฟอร์มช็อปปี้ แต่พอหมดอายุรับประกันครบ 1 ปีปั๊บบริเวณแท่งทำน้ำแข็งก็มีสนิมโผล่ขึ้นมาปุ๊บ เขาจึงถามไปยังร้านค้าที่ซื้อมาและได้คำตอบว่า แท่งทำน้ำแข็งผลิตจากทองแดงเคลือบนิกเกิล และที่เห็นน่าจะเป็นนิกเกิลหลุดไม่ใช่สนิมซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนมอเตอร์ด้านใน เพราะอาจเกิดการปนเปื้อนกับน้ำดื่มได้ คุณวิชัยคำนวณคร่าวๆ ถึงค่าใช้จ่าย ทั้งค่าขนส่งไป-กลับ และค่าเปลี่ยนมอเตอร์กับแท่งทำน้ำแข็ง แล้วมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000 บาท “ผมคิดว่าไม่คุ้ม เพราะเดี๋ยวใช้ๆ ไปก็คงเป็นสนิมอีก และมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย” จึงไม่เปลี่ยนอะไหล่และเลิกใช้เครื่องทำน้ำแข็งนี้ไปเลย แต่คุณวิชัยก็ยังติดใจอยู่คือ ทำไมเครื่องทำน้ำแข็งนี้มีอายุการใช้งานที่สั้นจัง ทั้งๆ ที่สินค้ายี่ห้อนี้มีการโฆษณาว่าได้รับมาตรฐานส่งออกต่างประเทศและมีใบรับรอง จึงพยายามลองหาข้อมูลเพิ่ม ก็ถึงบางอ้อเมื่อเข้าไปสืบค้นข้อมูลแล้วพบว่าจริงๆ แล้ว สินค้านี้ไม่มี มอก. และร้านค้าก็ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลมาตรฐานต่างๆ ของสินค้าเมื่อมีลูกค้าแชตถามด้วย เขาสงสัยว่านี่จะเป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ จึงร้องเรียนมาในไลน์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา ในเบื้องต้น ทางมูลนิธิฯ ได้ประสานกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และได้แนะนำว่าหากคุณวิชัยมีความประสงค์ที่จะตรวจสอบมาตรฐานของเครื่องทำน้ำแข็งที่สนิมขึ้นยี่ห้อนี้ ก็สามารถส่งไปได้ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) หรือสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้เช่นกัน
คุณศรีนวล ซื้ออาหารเสริมมากินเพราะเห็นคำโฆษณาและรีวิวต่างๆ แล้วสนใจ ตอนที่หยิบซื้อมาก็คิดว่า ตรวจสอบข้างกล่องอย่างดีแล้วนะ ยังไม่หมดอายุ เมื่อวางใจ จึงกินต่อเนื่องวันละเม็ด รวม 4 วัน เท่ากับ 4 เม็ด คือแกะจากแผง ก็เอาเข้าปากกลืนลงคอเลย ทว่าวันที่ 4 ได้ทดลองตรวจสอบสภาพสิ่งของที่กินเข้าไป เลยพบว่ามีอะไรขาวๆ ติดอยู่บนอาหารเสริมที่เป็นสีเทา คราวนี้จึงรู้สึกวิตกว่ามันจะเป็น “ เชื้อรา “ หรือเปล่าพอแกะเปลือกแคปซูล ปรากฏว่า ผงขาวๆ ข้างในมันแข็งตัวเป็นแท่ง โดย 10 แคปซูล ใน 1 แผง มีสภาพเหมือนกันหมด ปัญหาคือ อีก 3 กล่อง ที่ซื้อมาพอแกะดูทั้งหมด มีสภาพไม่ต่างกัน จึงอยากจะคืนสินค้าและขอเงินคืน จึงปรึกษามูลนิธิฯ ว่าต้องทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา 1.แนะผู้ร้องซึ่งบริโภคอาหารเสริมเข้าไปแล้ว 4 วัน ควรไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลก่อน เพราะสภาพสินค้าตามที่ผู้ร้องแจ้งมามีลักษณะเหมือนกับสินค้าหมดอายุ และหากพบความผิดปกติควรขอใบรับรองแพทย์ด้วย เพื่อใช้เจรจาหรือฟ้องร้องในกรณีที่เจรจากันไม่ได้ 2.แจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันกับทางสถานีตำรวจ อย่างน้อยเพื่อแสดงว่าตนเองไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ขายหรือผู้ผลิต 3.ตัวสินค้าแนะนำให้ผู้ร้องแจ้งกับทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอให้ตรวจสอบว่าเป็นสินค้าหมดอายุ สินค้าอันตรายหรือไม่ 4.ติดต่อบริษัทผู้ขาย (ตัวแทนขายตรง) เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค อาหารที่เสื่อมสภาพก่อนหมดอายุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำว่าผู้บริโภคอย่าปล่อยผ่าน เมื่อมีเหตุเสียหายจากผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าต้องรับผิดชอบ อย่าปล่อยให้คนทำผิดได้ใจ “ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง”
ความคิดเห็น (0)