ฉบับที่ 272 ระบบการแจ้งเตือนภัย

        กระแสเสียงการถามหาระบบการแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินกลับมาดังกระหึ่มอีกครั้งหลังเกิดเหตุการณ์ร้ายที่พารากอน ห้างใหญ่และหรูหราใจกลางเมืองหลวงของประเทศ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา 
        เกิดประเด็นคำถามประเภทที่ว่า จะดีแค่ไหนหากประเทศไทยเรามีระบบเตือนภัยแบบที่ส่งข้อความตรงถึงประชาชนอย่างรวดเร็วทางเครื่องมือสื่อสารอย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือ “มือถือ” ที่ผู้คนต่างพกติดตัวอยู่แล้ว เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติหรืออาชญากรรมรุนแรง และจะได้สามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้องในการเตรียมพร้อมรับมือ หรือป้องกันหรือหลีกเลี่ยงจากภยันตรายและความเสียหาย 
        ตามด้วยคำถามสำคัญว่า เหตุใดประเทศไทยจึงยังไม่มีระบบเตือนภัยดังกล่าวดังเช่นนานาอารยประเทศ 
        หน่วยงานอย่าง กสทช. ได้รับการคิดถึงพร้อมกับการต่อว่าต่อขาน ส่วนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส (DES) รวมถึงรัฐบาล ดูจะไม่ถูกเรียกร้องเท่า อาจเพราะว่ามีการออกมาตอบสนองเร็ว ให้ข่าวและให้ข้อมูลว่ากำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำระบบการแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจง พร้อมอธิบายทั้งเรื่องของระบบ กระบวนการดำเนินงาน ความคืบหน้า ฯลฯ 
        สาระสำคัญคือการบอกว่า ในระยะเร่งด่วนภายใน 1 เดือนนั้น จะมีระบบส่ง SMS (Location Based Service) ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ จากเดิมที่มีใช้อยู่แล้วอย่างไม่ครอบคลุม และใช้ระบบอย่างไม่บูรณาการ ตลอดจนใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่วนในระยะปานกลางและยาวจะเป็นระบบ Cell Broadcast ซึ่งเป็นระบบการส่งข้อความแบบส่งตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องมือสื่อสารทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่ให้บริการนั้น พร้อมกันในคราวเดียว 
        ว่ากันว่า ข้อดีของระบบ Cell Broadcast ก็คือการส่งข้อมูลที่รวดเร็วและครอบคลุมทั้งพื้นที่โดยไม่ต้องการเบอร์โทรศัพท์ รวมทั้งสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ทางด้านประสิทธิภาพก็สูงกว่าระบบ SMS นั่นคือสามารถจะแจ้งเตือนแบบเจาะจงได้ทันที ในขณะที่ระบบ SMS จะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาทีในการประมวลผลว่ามี SIM โทรศัพท์หมายเลขใดอยู่ในพื้นที่บ้าง และใช้เวลาอีกประมาณ 120 นาทีในการส่งข้อความไปยังกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ให้ครบ นอกจากนั้น Cell Broadcast ยังมีการเตือนได้หลายรูปแบบ เช่น การสั่นของโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องมือสื่อสาร การเด้ง pop -up ของข้อความ


 
        ดีอีเอสอ้างว่า Cell Broadcast เป็นระบบที่ทั่วโลกใช้ ดังนั้นประเทศไทยจึงควรจะต้องพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา ทั้งนี้ได้ประกาศกรอบเวลาด้วยว่า คาดว่าจะใช้เวลาเร็วที่สุดภายใน 6 เดือน และอย่างช้าไม่เกิน 1 ปี 
        นอกจากทางดีอีเอสแล้ว ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ออกมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยพูดถึงการพัฒนาแพลตฟอร์ม “ทราฟี่ฟองดูว์” (Traffy Fondue) เพื่อให้กลายเป็น Traffy Fondue Plus นั่นคือการเพิ่มในส่วนของเมนู “การแจ้งเหตุ-เตือนภัย” เพื่อให้ประชาชนสามารถคลิกเพื่อรับข่าวสารฉุกเฉินและแจ้งเหตุฉุกเฉินได้ ซึ่งรวมถึงสภาพอากาศและสภาพการจราจร 
        อย่างไรก็ตาม ถ้าติดตามข่าวสารอย่างลงรายละเอียดจะพบว่า ทั้งรัฐบาลโดยดีอีเอสและ กทม. ต่างมีการประสานงานและหารือกับ กสทช. ไม่ว่าจะเป็นระบบส่ง SMS แบบ Location Based Service หรือระบบ Cell Broadcast ล้วนเป็นระบบแจ้งเตือนภัยที่ กสทช. ได้ดำเนินการพัฒนามาก่อนแล้ว กรอบระยะเวลาที่ดีอีเอสประกาศออกมาก็เป็นไปตามกรอบระยะเวลาแล้วเสร็จของการดำเนินการของ กสทช. นั่นเอง 
        เท่าที่มีการให้ข่าวสารข้อมูลจากทางฟาก กสทช. กลไกและการทำงานของระบบ Cell Broadcast จะประกอบด้วย 1) การทำ command center เพื่อให้โอเปอร์เรเตอร์หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรู้ว่าต้องรับคำสั่งจากใคร ส่งอย่างไร ซึ่ง กสทช. จะออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 2) การอัปเดตซอฟต์แวร์ที่กระจายส่งสัญญาณให้ใช้ cell broadcast ได้ นอกจากนั้นจะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์และปรับเปลี่ยนซอฟต์แวร์ของเสาสัญญาณที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ส่วนนี้จึงเป็นต้นทุนของทางผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาระบบที่ผ่านมาล่าช้า อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดกระแสเสียงเรียกหาระบบเตือนภัยขึ้นมาในระลอกล่าสุดนี้ กสทช. ก็ตั้งใจที่จะใช้งบประมาณจากกองทุน USO หรือกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ สนับสนุนในเรื่องนี้ 
        ดูเหมือนว่า ด้วยการยืนยันของรัฐบาลนำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ทำให้กระแสเสียงเรียกร้องแผ่วจางไป ส่วนหนึ่งอาจถือว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาของการรอคอยให้ถึงกำหนดเวลา 
        แน่นอนว่า หากถึงเวลาที่กำหนดและระบบแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินของประเทศไทยเกิดขึ้นได้จริง ย่อมเป็นเรื่องที่น่ายินดีและไม่มีอันใดต้องโต้แย้ง แต่หากพิจารณาจากสิ่งต่างๆ เท่าที่รัฐบาลและหน่วยงานรัฐให้ข้อมูล จุดเพ่งเล็งอยู่ที่ระบบในเชิงเทคนิคเป็นหลัก แต่ในส่วนของระบบการบริการจัดการข้อมูลข่าวสาร รวมถึงระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กลับไม่ได้มีการให้น้ำหนัก 
        มีเพียงรองผู้ว่า กทม. ผศ. ทวิดา กมลเวชช ที่กล่าวถึงมิติงานในด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน ทำนองว่า ในส่วนการบริหารจัดการฝั่งผู้ให้บริการทางเทคนิคจะมี กสทช. เป็นแกนกำหนดมาตรฐานการดำเนินงาน รวมถึงการสนับสนุนทางผู้ให้บริการในเรื่องการเชื่อมต่อระบบและการกระจายสัญญาณ แต่ในส่วนการสั่งการ ภาครัฐยังต้องไปหารือกันว่าจะเป็นใครหรือหน่วยงานใด โดยเฉพาะงานสำคัญอย่างการคัดกรองข้อความแจ้งเตือน และอีกส่วนที่สำคัญคือ การบริหารจัดการคนและพื้นที่เกิดเหตุให้สามารถรองรับได้ 
        ปัญหาคือ หากเป็นการดำเนินการโดย กทม. ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ก็คงทำได้ไม่ถึงระบบแห่งชาติ 
        ประเด็นข้อความต้นทางที่จะสื่อสารออกไปถือเป็นเรื่องสำคัญและมีความละเอียดอ่อนหลายมิติ จำเป็นต้องมีการคัดกรอง ไม่เพียงแต่ว่าจะเป็นเนื้อหาลักษณะใด หากแต่ต้องเลือกสรรตั้งแต่ในระดับว่าจะแจ้งเรื่องใดบ้าง แต่ละเรื่องเป็นลักษณะการเตือนภัยแบบใด ล่วงหน้าหรือฉุกเฉินย่อมต่างกัน 
        ส่วนข้อความก็ต้องมีทั้งความแม่นยำ ความน่าเชื่อถือ มีเนื้อหาอยู่ในกรอบที่สมดุลและเหมาะสม ในความหมายที่ว่ามีการให้ข้อมูลเพียงพอที่จะเป็นการเตือนภัยและให้คำแนะนำที่จำเป็น แต่ไม่ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจจนเกิดความสับสนอลหม่าน ยังไม่นับเรื่องปลีกย่อยเช่นเรื่องภาษาที่จะใช้ในการแจ้งและเตือนภัย 
        ยังไม่นับถึงต้นทางความมีอยู่ของข้อมูล ซึ่งสำหรับประเทศไทยอาจจัดได้ว่ายังมีความบกพร่องไม่น้อย ในบางด้านจัดได้ว่ายังขาดแคลนอยู่มาก ยกตัวอย่าง ในส่วนของอุบัติภัยด้านมลพิษและเคมี ยามที่เกิดไฟไหม้หรือการระเบิดในโรงงาน หน่วยงานรัฐไม่ได้มีฐานข้อมูลที่จะทราบได้โดยทันทีว่า โรงงานแห่งนั้นๆ มีสารเคมีใดอยู่บ้าง หรือเป็นแหล่งก่อเกิดมลพิษชนิดใด โดยทั่วไปข้อมูลพื้นฐานเช่นนี้ไม่ได้มีอยู่อย่างสมบูรณ์ เท่าที่มีก็เป็นส่วนๆ กระจัดกระจายอยู่กับหน่วยงานต่างๆ ดังนั้นการจะไปถึงขั้นให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตัวหรือป้องกันอันตรายแก่ผู้ประสบเหตุ ซึ่งต้องการข้อมูลเชิงองค์ความรู้ที่มากขึ้นไปอีก ยิ่งเป็นเรื่องเกินจะทำได้จริง 
        เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งในกรณี “โรงงานหมิงตี้ฯ” และ “โรงงานอินโดรามาฯ” ล้วนเป็นประจักษ์หลักฐานที่เด่นชัดถึงความขาดพร่องในเรื่องข้อมูลด้านนี้ การพัฒนาระบบ PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) หรือข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ จึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้เริ่มกระทั่งนับหนึ่ง เนื่องจากร่างกฎหมายที่เคยมีการนำเสนอก็ถูกนายกรัฐมนตรีคนก่อนปัดตกไป ในขณะที่ยังไม่เห็นวิสัยทัศน์ใดๆ ในเรื่องดังกล่าวของรัฐบาลนี้ 
        ความพร้อมในส่วนของเนื้อหาและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องจึงไม่ใช่สิ่งที่จะมองข้ามได้ เพราะถ้าประเทศไทยจะมีระบบแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินของประเทศเพียงส่วนของระบบสื่อสาร แต่ไม่มี “สาร” ดีๆ และเหมาะสมที่จะส่งออกไป ระบบดังกล่าวก็คงไม่มีความหมาย 
        เรื่องของการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินของประเทศจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของ กสทช. หรือแม้แต่ดีอีเอส แต่ต้องการการบูรณาการหลายหลากหน่วยงาน และต้องการเจ้าภาพที่ชัดเจนซึ่งดูแลงานในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน โดยต้องเริ่มจากการมีเจตจำนงที่ชัดเจนของรัฐบาล รวมถึงต้องมีความรู้ความเข้าใจครบถ้วนด้วย

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

0 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค Cell Broadcast กสทช SMS มือถือ แจ้งเตือน

ฉบับที่ 278 ‘ออมทอง’ vs ‘กองทุนทอง’ (1) ไม่ต้องมีเงินก้อนก็ซื้อทองได้

        ณ เวลาที่เคาะแป้นพิมพ์อยู่ ราคาขายทองรูปพรรณตกราวๆ บาทละ 41,000 บาทไปแล้ว ใครเห็นราคาแล้วเป็นต้องตกใจและเสียใจที่ไม่ได้ซื้อทองตอนราคาต่ำกว่านี้ ไม่ต้องเสียใจหรอก ไม่ว่ากับสินทรัพย์อะไรก็มักเป็นอย่างนี้เสมอแหละ         ทองคำจัดเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ถูกแนะนำให้มีติดพอร์ตไว้เพราะมันช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ ตอนปี 2540 ราคาทองคำคือ 4,869 บาท 27 ปีผ่านไปราคาพุ่งขึ้นมาเกือบ 10 เท่า เห็นได้ว่าทองคำมันก็ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามอัตราเงินเฟ้อ การถือครองทรัพย์สินเป็นทองคำจึงเท่ากับลดความเสี่ยงของพอร์ตสินทรัพย์ทั้งหมด        คำถามมีอยู่ว่า ถ้าฉันจะซื้อทองใส่พอร์ตต้องทำยังไง?         คำถามเหมือนง่าย...ก็เอาเงินไปซื้อทองสิ แต่คำตอบยากกว่าที่คิด สิ่งแรกคือคุณต้องมีเงินก้อนเกือบๆ ครึ่งแสนถ้าคิดจะซื้อทองรูปพรรณหนัก 1 บาท ใช่ว่าทุกคนจะมีเงินเยอะขนาดนั้น ปัญหาต่อมา สมมติว่าคุณมีเงินซื้อการเก็บรักษาทองคำให้ปลอดภัยก็ดูยุ่งยาก การแขวนไว้ที่คอเป็นทางเลือกแรกๆ ที่หลายคนคิด แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่ามันก็เหมือนแขวนเหยื่อล่ออาชญากรไว้ที่คอ หรือต่อให้เก็บไว้ที่บ้านก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะปลอดภัย คนรวยๆ เลยใช้วิธีเอาทองไปเก็บไว้ที่ธนาคารที่มีบริการตู้เซฟแบบที่เห็นในหนังนั่นแหละ ถามว่าคุณมีทองและเงินมากพอจะทำหรือเปล่า ถ้ามี การเก็บรักษาทองคำก็ไม่เป็นปัญหาอะไรนัก         แต่ระบบทุนนิยมก็ช่วยแก้ปัญหาให้คนที่อยากเก็บทองคำไว้ในพอร์ตโดยลดความยุ่งยากที่ว่ามาข้างต้น ปัจจุบันมีอยู่ 2 วิธีหลักๆ คือออมทองกับซื้อกองทุนทองคำ         โดยข้อดีของ 2 วิธีนี้ก็คือคุณไม่จำเป็นต้องมีเงินสี่ซ้าห้าหมื่นหอบไปซื้อทองที่ร้าน แต่สามารถค่อยๆ ซื้อตามกำลังเงินในมือได้ตามมูลค่าขั้นต่ำที่ร้านทองหรือกองทุนทองนั้นๆ กำหนด บางทีมีแค่ 100 เดียวก็ซื้อทองได้แล้ว         100 อาจจะได้ทองคำประมาณหนวดกุ้ง แต่คุณไม่ต้องสะดุ้งจนเรือนไหวกลัวใครจะปล้น ที่สำคัญคือคุณสามารถใช้วิธีเดียวกับการลงทุนหุ้นหรือกองทุนหุ้นได้ นั่นก็คือ DCA หรือ Dollar Cost Average หรือการซื้อทุกเดือนด้วยจำนวนเงินเท่าๆ กัน ซึ่งก็ได้ผลตอบแทนไปในทิศทางเดียวกับการซื้อทองคำแท่งด้วยตนเอง แต่สะดวกกว่า         ปัญหาอยู่ที่ว่าจะซื้อออมทองหรือทยอยซื้อทองทุกเดือนๆ หรือจะซื้อผ่านกองทุนทองคำดี         ไว้มาติดตามกันต่อตอนหน้า

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 278 ดังในเรื่องไม่ดี

        315 Gala รายการแฉผู้ประกอบการ “ยอดแย่” ประจำปีที่ออกอากาศในคืนวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมาหรือวันสิทธิผู้บริโภคสากล ทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของจีน (China Central Television หรือ CCTV) มีผู้ชมไม่ต่ำกว่า 70 ล้านคน ยังไม่นับอีกกว่า 1,560 ล้านวิวในเวยป๋อ         เป็นที่รู้กันว่าธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่ถูก “ฟีเจอร์” ในรายการนี้จะถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบดำเนินคดี แถมยังอาจถูกบอยคอตจากผู้บริโภคไปอีกนานด้วย        มาดูกันว่าปฏิบัติการซ่อนกล้องของ CCTV ประจำปี 2024 มีอะไรน่าสนใจบ้าง         เริ่มต้นกันที่ผลิตภัณฑ์อาหาร กระแสต่อต้าน “อาหารพร้อมทาน”​ ในประเทศจีนทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปีก่อน ทีมงานจึงเลือกเปิดโปงการใช้เนื้อหมูที่ชำแหละอย่างไม่ถูกต้องตามหลักอนามัยของผลิตภัณฑ์ “หมูสามชั้นตุ๋นผักดอง” ของผู้ประกอบการรายหนึ่ง         นักข่าวของ CCTV พบว่าเนื้อหมูที่ใช้เป็นส่วนที่อยู่ระหว่างส่วนหัวและตัวของหมู ซึ่งมีทั้งต่อมน้ำเหลืองและต่อมไทรอยด์ที่มีฮอร์โมนเป็นพิษต่อคนกิน กฎหมายจีนได้กำหนดกระบวนการเฉพาะเพื่อจัดการกับเนื้อส่วนดังกล่าวให้สะอาดปลอดความเป็นพิษ แต่โรงงานผลิตซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลอานฮุยและเคยถูกปรับจากความผิดนี้มาแล้วก็ยังไม่ปรับปรุงแก้ไข            เมนูนี้เป็นอาหารซิกเนเจอร์ของมณฑลกวางตุ้ง จึงสร้างความขุ่นเคืองใจให้ผู้คนในแถบนั้นที่ต้องเสียหน้าและผู้บริโภคทั่วประเทศที่ต้องเยงต่ออันตรายด้วย         จากเรื่องของอาหารมาดูที่เครื่องดื่มกันบ้าง ถ้าถามคนจีนตอนนี้สุราขาวที่ราคาแพงที่สุดของประเทศเขา มันไม่ใช่ “กุ้ยโจวเหมาไถ” ที่เรารู้จักกันดีเสียแล้ว           สุราหน้าใหม่ในบู๊ลิ้มที่เข้ามาชิงบัลลังก์สุราไฮเอนด์ได้แก่ “Ting Hua” ที่ขายปลีกในราคาขวดละไม่ต่ำกว่า 50,000 หยวน (ประมาณ 254,000 บาท) แบรนด์นี้ทำการตลาดหนักมาก ไม่ว่าจะไปไหนก็เห็นโฆษณาของเขา ทั้งในลิฟท์ นิตยสารบนเครื่องบิน แถมชาวเน็ตตาดียังบอกว่าแม้แต่ CCTV ที่กล่าวหาว่าเขาโฆษณาหลอกลวงก็ยังเคยฉายโฆษณาของเขาด้วยและที่เป็นประเด็นก็คือการโฆษณาเกินจริงของเขานี่เอง ทีมงาน 315 Gala ที่แยกย้ายกันไปไปสืบเสาะตามร้านค้าปลีกหลายแห่ง พบว่าพนักงานขายให้ข้อมูลกับลูกค้าว่าผลิตภัณฑ์นี้สามารถรักษาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ แถมยังบอกว่าส่วนผสมที่ “จดทะเบียนการค้า” เป็นส่วนผสมระหว่างแอลกอฮอลและสารให้ความเย็นชนิดหนึ่ง แต่เมื่อตรวจสอบกับหน่วยงานรัฐก็พบว่ามีเพียงการ “ยื่นขอ” จดทะเบียน แต่ยังไม่มีการ “รับจดทะเบียน” แต่อย่างใด และสารที่ว่าก็ไม่ใช่อะไรอื่น มันคือใบมินต์หรือสะระแหน่นั่นเอง         บริษัทรีบออกมาบอกกับสังคมว่าได้เก็บสินค้าทั้งหมดออกจากร้านค้าออนไลน์ และได้ตั้งทีมสืบสวนพิเศษเพื่อสืบหาการกระทำที่ผิดกฎหมายของลูกจ้างแล้ว ... แหม่         มาถึง “อุปกรณ์ช่วยโกง” แบบไฮเทคที่แม้จะน่ากลัวแต่กลับหาซื้อกันได้ไม่ยาก         ทีมสำรวจพบว่าเมนบอร์ดสำหรับโทรศัพท์มือถือที่สามารถควบคุมโทรศัพท์เครื่องอื่นได้ถึง 20 เครื่อง ที่มีหมายเลข IP ต่างกัน สามารถหาซื้อได้ในราคาตั้งแต่ 3,000 ถึง 6,000 หยวน (ประมาณ 15,200 ถึง 30,500 บาท) และถ้าเป็นมือสองก็อาจจะลดลงมาเหลือแค่ 100 หยวน (หรือ 500 บาท) เท่านั้น แถมยังพบว่าถ้าใช้เครื่องมือนี้หลายตัวพร้อมกันจะสามารถควบคุมเกม จำนวนโพสต์หรือแม้แต่การโหวตออนไลน์ได้ด้วย  เพราะมันใช้ง่ายเหมือนโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ จึงมีคนนิยมซื้อไปใช้เพื่อดึงดูดลูกค้า สร้างโฆษณาในแพลตฟอร์ม ทำคลิปวิดีโอและยังสามารถเปลี่ยน IP ของวิดีโอ ทำให้เจ้าของแพลตฟอร์มหรือหน่วยงานราชการไม่สามารถตรวจเจอ จึงสามารถส่งลิงก์จำนวนมากได้โดยไม่ถูกระงับการใช้งานด้วย เรียกว่างานหลอกลวงเป็นทางของเขาเลยทีเดียว          คราวนี้เรามาดู “อุปกรณ์” ที่ใช้ไม่ได้ตามที่ควรจะเป็นกันบ้าง         ประเทศจีนมีข่าวพาดหัวเกี่ยวกับเหตุการณ์เพลิงไหม้ค่อนข้างบ่อย ถังดับเพลิงจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าจับตาเป็นพิเศษ         ทีมงานปลอมตัวเป็นลูกค้าไปหาซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวจากร้านขายส่ง พวกเขาพบว่าหลายร้านจำหน่ายสินค้าที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เช่น จะต้องมีแอมโมเนียมดีไฮโดรเจนฟอสเฟตร้อยละ 75 แต่ผู้ค้าบางรายปรับลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 20 เพื่อจะได้ขายในราคาถูกลง         ตามกฎหมายของจีน อาคารและพื้นที่สาธารณะจะต้องมีถังดับเพลิง แต่เมื่อหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบออกไปตรวจสอบกลับพบว่าใบรับรองความปลอดภัยโดยผู้ผลิตนั้นเป็นของปลอม และถังดับเพลิงที่ติดตั้งนั้นจะมีทั้งแบบที่ผ่านและไม่ผ่านมาตรฐานปะปนกัน ประมาณว่าเอาไว้หลอกผู้ตรวจ ที่พีคสุดคือมีร้านหนึ่งบอกกับทีมงาน (ซึ่งเขาคิดว่าเป็นลูกค้า) ว่า “มันดับไฟไม่ได้หรอก ยิ่งพ่นไฟก็ยิ่งลาม” คนฟังก็ช็อคจนขำไม่ออก         แน่นอนว่าตอนนี้รัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจทุกร้านที่ถูกพาดพิงในวิดีโอดังกล่าวแล้ว         เรื่องสุดท้ายว่าด้วยค่าธรรมเนียมตามหาเนื้อคู่         หนุ่มสาวจีนหลายคนเลือกใช้บริการหาคู่ออนไลน์เพราะทำแต่งานจนไม่มีเวลาออกไปคบหาดูใจกับใคร แต่การสืบเสาะโดยทีมจาก CCTV พบว่าบริษัทเหล่านี้หลอกเอาเงิน (แม้จะเป็นจำนวนไม่มาก) จากผู้ใช้บริการด้วยการสัญญาว่าเขาหรือเธอจะได้เจอรักแท้ พ่อสื่อแม่สื่อมืออาชีพเหล่านี้ (ซึ่งดูไปคล้ายเซลล์ขายสินค้ามากกว่า) ถูกฝึกมาให้สืบหาพื้นหลังทางการเงินของลูกค้าก่อนจะรับเข้าเป็นสมาชิกผู้ใช้บริการ จากนั้นก็จะล้างสมองให้เชื่อว่าเว็บหาคู่ของเขานี่แหละคือทางออกสุดท้าย ว่าแล้วก็จัดหา “เนื้อคู่ทิพย์” ขึ้นมา         หลังถูกเปิดโปง เว็บ jiayuan.com ซึ่งเป็นพื้นที่พบปะกันระหว่างลูกค้ากับพ่อสื่อแม่สื่อได้ยุติการดำเนินการแล้ว ก่อนหน้านี้เว็บดังกล่าวเป็นสปอนเซอร์ให้กับรายการหาคู่ชื่อดัง “ถ้าเธอคือคนที่ใช่” ที่คนดูก็รู้กันอยู่ว่าเตี๊ยมกันมาทั้งนั้น         หลายคนมองว่าการซ่อนกล้อง ปลอมตัว หรือบุกจับ ของรายการนี้เป็นการเล่นใหญ่เพื่อเอาเรตติ้ง ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคอย่างยั่งยืน แต่อีกหลายคนก็สะใจที่เห็นคนทำผิดถูกลงโทษ อย่างน้อยมีสักครั้งในหนึ่งปีที่ผู้บริโภคได้รู้สึกว่า “คืนนี้เป็นคืนของฉัน”

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 3 เรื่องโซลาร์เซลล์บนหลังคา : จากบ้านตัวเองถึงเวียดนามและแอฟริกาใต้

หนึ่ง หลังคาบ้านตนเอง แบบไหนละติดตั้งแล้วคุ้มทุน        สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เคยทำข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลให้เร่งดำเนินการสนับสนุนให้ผู้บริโภคสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตนเองด้วยระบบที่เรียกว่า “หักลบหน่วยไฟฟ้า หรือ Net Metering” ซึ่งเป็นระบบที่ลงทุนที่ประหยัดที่สุด ที่ไม่ต้องติดตั้งมิเตอร์เพิ่ม แต่ใช้มิเตอร์ตัวเดิมแบบจานหมุนที่มีอยู่แล้วเพราะไฟฟ้าสามารถเดินได้ 2 ทางอยู่แล้ว พูดง่ายๆก็คือเป็นการแลกไฟฟ้ากันระหว่างเจ้าของบ้านกับการไฟฟ้า  เมื่อถึงเวลาคิดบัญชีรายเดือน หากไฟฟ้าจากสายส่งไหลเข้าบ้านมากกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากหลังคาบ้าน เจ้าของบ้านก็จ่ายเพิ่มเฉพาะในส่วนที่เกิน ระบบนี้มีการใช้กันประมาณ 68 ประเทศทั่วโลก  รัฐบาลไทยเราก็เคยมีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการไปแล้วเมื่อ 27 กันยายน 2565 แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างว่าไม่สามารถปฏิบัติได้และได้รายงานคณะรัฐมนตรีในเวลาต่อมา         ความจริงเมื่อประมาณ 4-5 ปีมาแล้ว กระทรวงพลังงานเคยออกระเบียบเพื่อรับซื้อไฟฟ้าที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ขายไฟฟ้าให้ผู้บริโภคในราคาประมาณ 4 บาทกว่าๆ นอกจากนี้ยังรับซื้อเป็นเวลาเพียง 7 ปีเท่านั้น (ภายหลังได้ขยายเพิ่มเป็น 10 ปี)  ทั้ง ๆที่อายุการใช้งานของโซลาร์เซลล์อยู่ได้นานถึง 25 ปี ดังนั้น โครงการนี้จึงไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน หรือเรียกว่าล้มเหลวก็ว่า เพราะ รับซื้อในราคาต่ำเกินไป ต่ำกว่าที่รับซื้อจากโซลาร์ฟาร์มเสียอีก และรับซื้อเพียง 10 ปีเท่านั้น         ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป 2 ประการ คือ (1) ค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าขายให้ผู้บริโภคมีราคาแพงขึ้นกว่าเดิม (2) ค่าติดตั้งโซลาร์เซลล์มีราคาลดลงจากเมื่อ 4-5 ปีก่อน   (3)  เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายอยู่ทุกวันนี้มีอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก อัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยจะยิ่งสูงขึ้น ดังนั้น หากเราติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองจำนวนหนึ่ง จึงถือเป็นการตัดยอดจำนวนไฟฟ้าที่ต้องซื้อลง  อัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยก็จะถูกตามลงมาด้วย ผมจึงขอเสนอแนวคิดที่ปฏิบัติได้จริงมาให้ผู้อ่านพิจารณา         ผมขอยกตัวอย่างจริงนะครับ สมมุติว่า เราใช้ไฟฟ้าจำนวน 800 หน่วยต่อเดือน (บ้านชนชั้นกลางที่อยู่กัน 4-5 คน) ถ้าเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.2 เราจะต้องจ่าย (ในช่วงเมษายน-กรกฎาคม) จำนวน  3,909.53  บาท เฉลี่ย  4.89 บาทต่อหน่วย แต่ถ้าเราใช้เพียง 470 หน่วย จะจ่ายค่าไฟฟ้า 2,207.98 บาท เฉลี่ย 4.70 บาทต่อหน่วย  ต่างกัน 19 สตางค์ต่อหน่วย จำนวนไฟฟ้าที่หายไป 330 หน่วย ทำให้เราจ่ายค่าไฟฟ้าลดลง 1,701.55 บาท (เฉลี่ย 5.16 บาทต่อหน่วย)  ไฟฟ้าส่วนที่หายไปนี้มาจากการคิดว่า เราสามารถผลิตได้จากโซลาร์เซลล์ขนาด 3 กิโลวัตต์ ซึ่ง 1 กิโลวัตต์จะผลิตได้ปีละ 1,320 หน่วย หรือเดือนละ 110 หน่วย นั่นเอง         คราวนี้เราเห็นแล้วนะครับว่า ยอดหน่วยไฟฟ้าที่อยู่บน(คือหน่วยที่ 471-800) ราคา 5.16 บาทต่อหน่วย ในขณะที่  470 หน่วยแรก มีอัตรา 4.70 บาทต่อหน่วย   การคิดจุดคุ้มทุนสำหรับผู้อยู่บ้านตอนกลางวันเป็นส่วนใหญ่         มี 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณา (1) เรามีการใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันมากแค่ไหน เพราะไฟฟ้าที่ผลิตได้อยู่ในช่วงที่ดวงอาทิตย์ส่องแสงถึง  ถ้าใช้ไฟฟ้าในช่วงนี้น้อยก็ไม่เกิดประโยชน์  (2) จะคุ้มทุนในเวลากี่ปี โดยสมมุติว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่เราสามารถผลิตได้เท่ากับ 5.16 บาทต่อหน่วย         เท่าที่ผมทราบต้นทุนในการติดตั้งขนาด 3 กิโลวัตต์ในปัจจุบันประมาณ 95,000 บาท ด้วยอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานที่ทางการไฟฟ้ารับรอง แผงโซลาร์มีอายุการใช้งาน 25 ปี แต่อุปกรณ์บางชิ้นมีอายุการใช้งานประมาณ 12 ปี อาจจะต้องเปลี่ยนหรือลงทุนใหม่เฉพาะอุปกรณ์ชิ้นนั้น (คือ อินเวิร์ทเตอร์ราคาประมาณ 2 หมื่นกว่าบาท) แต่เอาเถอะ ผมขอสมมุติว่าค่าลงทุนตลอดโครงการ 25 ปี ด้วยเงิน 95,000 บาท         ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ขนาด 1 กิโลวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,320 หน่วย ดังนั้น ในเวลา 4.7 ปี โซลาร์เซลล์ขนาด 3 กิโลวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าคิดเป็นมูลค่า 3X1,320X5.16X4.7 เท่ากับ 96,038 บาท  หรือคุ้มทุนภายใน 56 เดือน แต่ขอย้ำนะครับว่า โครงการนี้เหมาะสำหรับคนที่อยู่บ้านตอนกลางวันและพยายามใช้ไฟฟ้าที่ตนผลิตได้ให้หมด เช่น เปิดแอร์ ซักผ้า รีดผ้า ฯลฯ        คราวนี้มาคิดกรณีที่บางท่านอาจจะไม่มีเงินลงทุน ก็มีทางออกครับ มีธนาคารอย่างน้อย 2 แห่ง ปล่อยเงินกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ย 4.9% ต่อปี สมมุติว่าเรามีเงินดาวน์ 1.5 หมื่นบาท และผ่อนส่วนที่ต้องกู้ 80,000 บาทนาน 60 เดือน สิ้นเดือนแรกซึ่งเป็นเดือนที่ผ่อนมากที่สุดเท่ากับ 1,660 บาท(ในจำนวนนี้เป็นเงินต้น 1,333.33 บาท) เงินค่าไฟฟ้าที่เราลดลงมาได้เดือนละ 1,701.55 บาทก็เพียงพอกับค่าผ่อนครับ เมื่อครบ 60 เดือนเราก็ผ่อนหมด ที่เหลืออีก 20 ปีถือว่าเราได้ชุดโซลาร์เซลล์มาฟรีๆ น่าสนใจไหมครับ สอง รัฐบาลเวียดนามวางแผนส่งเสริมโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านและสำนักงาน 50% ภายใน 2030         จากเรื่องที่หนึ่ง เราจะเห็นว่ารัฐบาลไทยได้พยายามกีดกันการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์โดยผู้บริโภค แต่รัฐบาลเวียดนาม โดยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือ PDP8 (ประกาศใช้เมื่อพฤษภาคม 2023 และใช้งานในช่วง 2021-2030)  ได้กำหนดว่า “อย่างน้อย 50% ของบ้านพักอาศัยและอาคารสำนักงานต้องติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองภายในปี 2030” รวม 2,600 เมกะวัตต์ โดยใช้สายส่งที่มีอยู่แล้วซึ่งไม่จำเป็นต้องปรับปรุงใหม่แต่อย่างใด(หน้า 5)         เล่ามาแค่นี้ ทำให้เราเห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเวียดนาม หมายเหตุ ถึง บก. กรุณาอย่าเลื่อนภาพไปที่อื่น เพราะผู้อ่านจะไม่เข้าใจกับเนื้อหาที่เขียนครับ         เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2024 คุณ Geordin Hill-Lewis นายกเทศมนตรีเมือง Cape Town (มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน) ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านและอาคารพาณิชย์ทั้งหมดอย่างไม่จำกัดจำนวน ทั้งนี้เพื่อช่วยแก้ปัญหาไฟฟ้าดับเนื่องจากมีการใช้ไฟฟ้ากันมากเกินในบางช่วงเวลา (Loadshedding) ก่อนหน้านี้ (ในช่วง 15 เดือนของปี 2022-2023) ชาวเมือง Cape Town ได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพิ่มขึ้นถึง 349% (จาก 983 เมกะวัตต์เป็น 4,412 เมกะวัตต์-ข่าว Bloomberg)         นายกเทศมนตรียังกล่าวเสริมอีกว่า “Cape Town จะเป็นเมืองแรกที่ได้ปรับยุทธศาสตร์พลังงานอย่างเป็นทางการเพื่อยุติเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ และการกระทำที่สำคัญที่สุดคือการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยการจ้างงาน...ในระยะสั้นภายใน 2026 เราได้วางแผนป้องกันไฟฟ้าดับไว้ 4 ระยะคือ (1) เราได้เปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์ที่วางใจไม่ได้ (2) จากการใช้พลังงานฟอสซิลที่มีราคาแพงไปสู่การกระจายแหล่งอุปทาน (supply) ที่เชื่อถือได้ (3) ทำให้ราคาไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ และ (4) นำไปสู่แหล่งพลังงานที่ทำให้เป็นกลางทางคาร์บอน”         ผมได้นำเสนอใน 3 เรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์บนหลังคา คือ (1) การกีดกันโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านของรัฐบาลไทย ด้วยเหตุผลต่างๆนานา และทางออกของผู้บริโภครายบุคคล (2) การส่งเสริมที่เป็นแผนพลังงานชาติของรัฐบาลเวียดนาม และ (3) การส่งเสริมของรัฐบาลแอฟริกาใต้และนายกเทศมนตรีเมือง Cape Town ครบถ้วนแล้วครับเพื่อเป็นการตอกย้ำในข้อมูลดังกล่าว ผมจึงขอตบท้ายด้วยข้อมูลเชิงสถิติ ถึงจำนวนไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ต่อหัวประชากรของบางประเทศ ในปี 2014 กับ 2022  ดังภาพข้างล่างนี้         ท่านผู้อ่านรู้สึกอย่างไรกับข้อมูลนี้ครับ เมื่อปี 2014 เราเคยผลิตได้มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แต่อีก 8 ปีต่อมา เรากลับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึงกว่า 2 เท่าตัว  นอกจากนี้ ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ของไทย กว่าร้อยละ 98 ผลิตมาจากโซลาร์ฟาร์มซึ่งเป็นกลุ่มทุนพลังงาน แทนที่จะสนับสนุนผู้บริโภครายปัจเจกด้วยโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านของตนเองสาม ตัวอย่างจากเมือง Cape Town ประเทศแอฟริกาใต้ 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 เอาใจสายเทรด (2) ทำความรู้จักกราฟแท่งเทียน

        วันนี้ยังคงเอาใจสายเทรดกันต่อ ด้วยการทำความรู้จักแบบคร่าวๆ กับกราฟชนิดหนึ่ง ต่อให้เป็นคนที่ไม่สนใจการลงทุนหรือการเทรดก็มีโอกาสผ่านหูผ่านตากันมาบ้างตามหน้าสื่อธุรกิจ-เศรษฐกิจ เจ้ากราฟประเภทนี้แทบจะเป็นกติกาท่าบังคับที่สายเทรดต้องเรียนรู้ ไม่งั้นจะไปต่อยาก         กราฟนี้มีชื่อว่า Candlestick Chart หรือกราฟแท่งเทียน         มันก็คือกราฟที่เป็นแท่งๆ มีสีเขียวกับสีแดง ยาวบ้าง สั้นบ้าง ที่เรียงต่อๆ บางช่วงก็ไต่ขึ้น บางช่วงก็ทรงๆ ออกด้านข้าง บ้างช่วงก็ไต่ลง และด้านบนกับด้านล่างก็มักจะมีเส้นตรงขีดขึ้นหรือลงต่อจากตัวแท่งเทียนเลยถูกเรียกว่า ไส้เทียน นี่แหละที่เรียกว่ากราฟแท่งเทียนและสายเทรดทุกคนต้องทำความรู้จักและตีความนัยที่เจ้าแท่งสีเหล่านี้กำลังบอกแนวโน้มของราคาหุ้นในอนาคต         เจ้าแท่งเทียนนี่บอกอะไร? มันบอก 4 อย่างคือราคาซื้อขายแรกในช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่ใช้วาดแท่งเทียน, ราคาสุดท้ายที่มีการซื้อขายในช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่นำมาวาดแท่งเทียน, ราคาสูงสุด และราคาต่ำสุด         ตัวแท่งเทียนเป็นตัวบอกราคาเปิดและราคาปิดของหุ้นตัวหนึ่งๆ ในวันนั้นๆ ส่วนไส้เทียนคอยบอกว่าในวันนั้นๆ ราคาหุ้นที่นำมาวาดกราฟซื้อ-ขายกันที่ราคาสูงสุดและต่ำสุดเท่าไหร่ ถ้าราคาสุดท้ายของหุ้นในวันนั้นปิดสูงกว่าราคาเปิด แท่งเทียนก็จะเป็นสีเขียว (บางที่ใช้แท่งโปร่งๆ แทนสีเขียว) แต่ถ้าราคาสุดท้ายปิดต่ำกว่าราคาเปิด แท่งเทียนก็จะเป็นสีแดง         ทีนี้ก็จะมีคนถามว่า แล้วถ้าราคาปิดกับราคาเปิดเท่ากันล่ะ? กราฟแท่งเทียนของวันนั้นก็จะไม่มีตัวแท่งเทียน มีแค่ขีดแนวนอนพาดทับไส้เทียน รูปจะออกมาคล้ายกากบาท ซึ่งเส้นแนวนอนที่ว่าจะอยู่กลาง ค่อนไปทางด้านบน หรือค่อนไปทางด้านล่างก็ขึ้นกับการซื้อ-ขายหุ้นในวันนั้น         หรือพูดให้ง่ายๆ เข้า กราฟแท่งเทียนก็คือตัวบอกปริมาณความต้องการซื้อและขายหุ้นตัวหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง ทั้งยังบอกสภาพทางจิตวิทยาหรืออารมณ์ของตลาดต่อหุ้นตัวนั้น ซึ่งช่วยให้เห็นลักษณะการซื้อ-ขาย รวมถึงแนวโน้มในอนาคต เช่น แรงซื้อจำนวนมากทำให้ราคาหุ้นปิดสุดท้ายสูงกว่าราคาเปิด หรือถ้าราคาปิดของวันกับราคาต่ำสุดของวันก็แปลว่ายังมีแรงขายต่อเนื่อง แต่ตลาดหุ้นดันปิดทำการซะก่อน มันก็จะพอตีความได้ว่าวันรุ่งขึ้นอาจมีแรงขายทำให้หุ้นตัวนี้ราคาตกลงไปอีก เป็นต้น         พอเอากราฟแท่งเทียนของหุ้นสักตัวมาสร้างกราฟในช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้นเช่นสักหนึ่งสัปดาห์ หนึ่งเดือน หรือสามเดือน นักเทรดก็จะพอเห็นแนวโน้มในอนาคตแล้ววางแผนเทรดหุ้นเพื่อทำกำไร ...ก็ต้องลองไปหาหนังสืออ่านต่อกันเอง         แต่โปรดจำไว้ข้อหนึ่ง ไม่มีใครเดาใจตลาดได้ วันนี้เป็นแบบนี้ พรุ่งนี้กลับกลายเป็นหนังคนละม้วน ดังนั้น จงวางแผนเทรดให้ดี รู้ว่าจะเขาเมื่อไหร่และรู้ว่าเมื่อไหร่ถึงเวลาต้องออก

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)