ไส้กรอกเป็นอาหารแปรรูปที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตที่ต้องพึ่งสารเคมีหลายตัวในการผลิต 1 ในนั้นคือ “ไนเตรท และ ไนไตรท์” ซึ่งเป็นสารที่ช่วยในการคงสภาพของไส้กรอก ทั้งเป็นสารกันบูดช่วยยืดอายุอาหารและช่วยทำให้สีของไส้กรอกดูสวยงามน่ารับประทาน ซึ่งเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นสารเคมีนอกจากจะไม่มีคุณค่าทางอาหารใดๆ ต่อร่างกายของเราแล้ว ยังอาจเป็นโทษต่อสุขภาพของเราถ้าหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป
เพราะปัจจุบันเรารับประทานไส้กรอกกันมากขึ้น “ฉลาดซื้อ” จึงขอนำเสนอผลทดสอบปริมาณสาร “ไนเตรท และ ไนไตรท์ ในไส้กรอก” ลองมาดูสิว่าเราเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายของ ไนเตรท และ ไนไตรท์ จากการรับประทานไส้กรอกยี่ห้อต่างๆ ที่วางจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไปมากน้อยแค่ไหน
สรุปผลการทดสอบ
- จากทั้งหมด 15 ตัวอย่าง มีเพียง 1 ตัวอย่างที่ไม่พบการเจือปนของ ไนเตรทและไนไตรท์ คือ ไทยซอสเซส ค๊อกเทลซอสเซส ของ บ.ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักท์ จำกัด
- พบ 3 ตัวอย่าง ที่มีการใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ รวมกันเกินกว่าค่าที่อนุญาตให้ตามข้อกำหนดของ โคเด็กซ์ ที่ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม คือ 1.ตราเอโร่ ไส้กรอกฮอทดอก พบไนเตรท 50.45 มก./กก. พบไนไตรท์ 40.82 มก./มก. รวมแล้วเท่ากับ 91.27 มก./กก., 2.NP ไบร์ทหมู พบไนเตรท 54.86 มก./กก. พบไนไตรท์ 77.47 มก./กก. รวมแล้วเท่ากับ 132.33 มก./กก. และ 3.บางกอกแฮม ไส้กรอกหมูคอกเทล พบไนเตรท 77.13 มก./กก. พบไนไตรท์ 71.48 มก./กก. รวมแล้วเท่ากับ 148.61 มก./กก.
- ข้อสังเกตสำคัญที่ได้จากการทดสอบครั้งนี้ก็คือ เรื่องการแสดงข้อมูลบนฉลาก ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ที่กำหนดไว้ว่าถ้าหากมีการใส่วัตถุเจือปนลงในอาหาร บนฉลากต้องมีการแสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับชื่อเฉพาะ หรือแสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับตัวเลขจำแนกชนิดวัตถุเจือปนอาหาร International Numbering System : INS for Food Additives ถ้ามีการใช้หรือมีวัตถุเจือปนอาหารติดมากับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหาร เป็นส่วนประกอบของอาหารในปริมาณที่เกิดผลตามวัตถุประสงค์ของการใช้วัตถุเจือปนอาหาร
จากตัวอย่างไส้กรอกที่สำรวจพบว่ามีแค่ 6 จาก 15 ตัวอย่าง ที่แสดงข้อมูลการใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ คือ 1.ไทยซอสเซส, 2. S&P, 3.เซเว่น เฟรช, 4.มิสเตอร์ ซอสเซส, 5.TGM และ 6.บุชเชอร์ แต่ทั้ง 6 ตัวอย่างแสดงข้อมูลว่า ใช้เพื่อ “เป็นสารคงสภาพของสี” และทุกตัวอย่างไม่ได้บอกว่าเป็น ไนเตรทและไนไตรท์ แต่ใช้รหัส INS for Food Additives หมายเลข 250 ซึ่งเป็นรหัสของ โซเดียมไนไตรท์ แทน
การแสดงข้อมูลแบบนี้ดูจะไม่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคสักเท่าไหร่ เพราะคงมีผู้บริโภคน้อยรายที่รู้เรื่องรหัสจำแนกชนิดวัตถุเจือปนอาหาร INS for Food Additives เท่ากับว่าผู้บริโภคที่รับประทานไส้กรอกก็ได้รับ ไนเตรทและไนไตรท์ ไปโดยไม่รู้ตัว แถมผลิตภัณฑ์ที่แสดงข้อมูลว่ามีการใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ มีเพียงแค่ 6 จาก 15 ตัวอย่าง ไม่ถึง 50% ซะด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่กฎหมายกำหนดว่าต้องแสดง
หมายเลข INS for Food Additives
ของ โฟเทสเซียไนไตรท์ คือ 249
ของ โซเดียมไนไตรท์ คือ 250
ของ โซเดียมไนเตรท คือ 251
ของ โฟเทสเซียมไนเตรท คือ 252
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/International_Numbering_System_for_Food_Additives#Numbering_system
- มีเพียงแค่ 1 ตัวอย่างจากตัวอย่างไส้กรอกทั้งหมดที่นำมาทดสอบ ที่แจ้งว่ามีการใช้สารกันบูด คือ ยี่ห้อ My Choice ไส้กรอกจูเนียร์ ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่มีการแจ้งเรื่องการใช้สารกันบูด แม้จะมีการใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ เพราะอย่างที่บอกไว้ว่าผลิตภัณฑ์ไส้กรอกส่วนใหญ่ แจ้งว่าใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ เพื่อทำหน้าที่เป็นสารคงสภาพสี
- อย่างที่ฉลาดซื้อเราเคยนำเสนอไปแล้วเรื่องการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์ไส้กรอกว่า ไส้กรอกในปัจจุบันหลายยี่ห้อทำจากเนื้อหมูผสมกับเนื้อไก่ ซึ่งจากการสำรวจก็พบว่ามี 6 ตัวอย่างจาก 15 ตัวอย่าง ที่แจ้งไว้บนฉลากว่าใช้ทั้งเนื้อหมูและเนื้อไก่เป็นส่วนประกอบ และมี 5 ตัวอย่าง ที่บอกว่าใช้เนื้อหมูเพียงอย่างเดียว
ที่น่าสังเกตคือมี 2 ตัวอย่าง ที่แจ้งเพียงว่า ใช้เนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบ แต่ไม่ได้บอกลายระเอียดว่าเป็นเนื้อสัตว์ชนิดใด คือ 1.ตราเอโร่ และ 2.เบทาโกร (บอกว่าใช้เนื้อสัตว์อนามัย) ส่วน บางกอกแฮม มีการแจ้งรายละเอียดส่วนประกอบอยู่ 2 ส่วน ตรงด้านหน้าแจ้งว่าใช้เนื้อหมู แต่ที่ด้านหลังซองแจ้งแค่ว่าใช้ เนื้อสัตว์
นอกจากนี้มีอยู่ 1 ตัวอย่าง คือ NP ไบท์หมู แม้ชื่อจะบอกว่าเป็น ไบท์หมู แต่บนบรรจุภัณฑ์ไม่มีจากแจ้งข้อมูลรายละเอียดส่วนประกอบใดๆ เลย
-ในการวิเคราะห์ตัวอย่างไส้กรอกครั้งนี้เราได้ดูเรื่องการปนเปื้อนของสีผสมอาหารด้วย ซึ่งผลออกมาว่า ไม่พบการปนเปื้อนของสีในทุกตัวอย่าง
ฉลาดซื้อแนะนำ
- ตัวอย่างไส้กรอกที่นำมาทดสอบส่วนใหญ่ยังใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ ในปริมาณที่ไม่เกินจากที่กฎหมายกำหนด เท่ากับว่าเรายังรับประทานไส้กรอกได้ตามปกติ แต่แน่นอนว่าต้องรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากเกินไป เพราะแม้จะปลอดภัยจาก ไนเตรทและไนไตรท์ แต่ก็เสี่ยงต่อการได้รับโซเดียมจากเครื่องปรุงรสที่อาจสูงเกินความจำเป็นของร่างกาย ส่วนประโยชน์จากโปรตีนก็เทียบไม่ได้กับเนื้อสัตว์ธรรมดาทั่วไป เพราะฉะนั้นต้องเลือกกินอาหารให้หลากหลาย อย่ากินจำเจ กินแต่พอดี
- องค์การอนามัยโลกออกคำเตือนตามคำแนะนำของหน่วยงานด้านวิจัยนานาชาติ (International Agency for Research) ว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น เบคอน ไส้กรอก แฮม ฯลฯ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งสำไส้และกระเพาะอาหาร ซึ่งสร้างความตกใจให้กับที่ชอบกิน เบคอน ไส้กรอก ทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลกต้องออกมาชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นแค่คำเตือนเพื่อให้ทุกคนกิน เบคอน ไส้กรอก ในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากเกินไป ไม่ได้เป็นการออกมาบอกว่าห้ามกินโดยเด็ดขาด นอกจากนี้สาเหตุของโรคมะเร็งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ใช่เพียงแค่การกินเบคอนและไส้กรอกเพียงอย่างเดียว
ข้อมูลประกอบบทความ :
1.แนวทางการใช้วัตถุเจือปนอาหารและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2556) สำนักงานอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา,
2.บทความพิเศษ อันตรายจากการรับประทานอาหารที่มีสารไนเตรทและไนไตรท์: แสงโฉม ศิริพานิช สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค,
3.บทความ ดินประสิว : ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต นิตยสารหมอชาวบ้าน www.doctor.or.th/article/detail/6552
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
ทำไม? ต้องใส่ ไนเตรทและไนไตรท์ลงในไส้กรอก
ไนเตรท และ ไนไตรท์ มีชื่อเรียกที่รู้จักกันหลายชื่อทั้ง โซเดียมไนเตรท โซเดียมไนไตรท์ หรือ โพแทสเซียมไนเตรท โพแทสเซียมไนไตรท์ และรวมถึงชื่อบ้านๆ ที่คนไทยเรารู้จักกันมานานอย่าง ดินประสิว ไนเตรทและไนไตรท์ สารทั้ง 2 ชนิด นอกจากจะถูกนำมาใช้เพื่อการถนอมอาหารแล้ว ยังใช้ในอุตสาหกรรมอย่างการทำดอกไม้ไฟ ทำดินปืน ใช้ชุบโลหะ นอกจากนี้ยังนิยมนำมาเป็นสารผสมในปุ๋ยเคมีเพื่อใช้ในการเกษตร
ไนเตรทและไนไตรท์ ถูกนำมาใช้ในอาหารเนื่องจากมีคุณสมบัติในการช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม คลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่มักจะเจริญเติบโตได้ดีในอาหารที่อยู่ในภาชนะปิดสนิท ไม่มีอากาศถ่ายเท เช่นพวกอาหารที่มีพลาสติกห่อปิดไว้อย่างเช่น ไส้กรอก หมูยอ ทำให้ช่วยยืดอายุของอาหารออกไปได้อีก นอกจากนี้ ไนเตรทและไนไตรท์ ยังมีคุณสมบัติในการรักษาสีของเนื้อสัตว์ให้ยังคงสีแดงสดสวยงามดูน่ารับประทาน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม ไนเตรทและไนไตรท์ ถึงเป็นที่นิยมนำมาใช้ในการผลิตเนื้อสัตว์แปรรูป ไม่เฉพาะแค่ ไส้กรอก แฮม หรือ เบคอน แต่ยังรวมถึงพวก เนื้อแห้ง หมู/ไก่ยอ แหนม กุนเชียง ปลาแห้ง
อันตรายของ ไนเตรทและไนไตรท์
แม้ว่ากฎหมายจะอนุญาตให้ใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ ในผลิตภัณฑ์อาหารได้ แต่ก็มีการควบคุมปริมาณที่ใช้อย่างเข้มงวด เพราะถ้ารับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย อันตรายของ ไนเตรทและไนไตรท์ จะส่งผลเสียต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว เวียนหัว รู้สึกปวดท้องรุนแรง ท้องร่วง ถ่ายเป็นเลือด
นอกจากนี้ ไนเตรทและไนไตรท์ เมื่อเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากยังส่งผลต่อการทำงานของ ฮีโมโกลบิน ในเม็ดเลือดที่ค่อยทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้การนำพาออกซิเจนในร่างกายมีปัญหา จะส่งผลให้ผิวหนังและริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ รู้สึกอ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว คนที่มีอาการรุนแรงมากๆ อาจถึงขั้นหมดสติหรือเสียชีวิตได้ เด็กๆ จะมีความความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่
ผลการทดสอบ
ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร
ไนเตรทและไนไตรท์ จัดเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่นำมาใส่เพื่อประโยชน์ในการผลิต การเก็บรักษา หรือปรุงแต่งรสชาติและเพิ่มสีสัน ส่วนใหญ่จะไม่มีคุณค่าทางสารอาหารใดๆ ซึ่ง ไนเตรทและไนไตรท์ ถูกใส่ลงในไส้กรอกก็เพื่อผลในการถนอมอาหารและเพิ่มสีสัน
ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ได้กำหนดให้กำหนดปริมาณการใช้ของวัตถุเจอปนอาหารโดยยึดตามเกณฑ์ของ โคเด็กซ์(Codex General
Standard for Food Additives) หรือ มาตรฐานอาหารสากล ฉบับล่าสุด ซึ่งผลิตภัณฑ์ไส้กรอก จัดอยู่ในกลุ่มอาหารเนื้อสัตว์แปรรูปสับบดที่ผ่านความร้อน (Heat-treated processed comminuted meat, poultry, and game products) ที่ได้มีการกำหนดปริมาณของ “ไนไตรท์” ได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม แต่ไม่ได้มีการกำหนดปริมาณของ “ไนเตรท” ที่อนุญาตให้ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเอาไว้ จึงต้องใช้การอ้างอิงจากมาตรฐานที่ในบ้านเราเคยกำหนดไว้ในท้ายประกาศของสำนักงานอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจอปนอาหาร ที่อนุญาตให้ใช้ ไนเตรท ในผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่ม ไส้กรอก และ แฮม ได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม
ทั้งนี้ในประกาศของสำนักงานอาหารและยาฉบับดังกล่าว ได้ระบุเพิ่มเติมไว้ว่า “การใช้วัตถุเจือปนอาหารในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ต้องมีปริมาณรวมกันแล้วไม่เกินปริมาณของวัตถุเจือปนอาหารชนิดที่กำหนดให้ใช้ได้น้อยที่สุด” หมายความว่า ถ้าผลิตภัณฑ์ไหนเลือกใช้ ไนไตรท์ เพียงอย่างเดียวก็ควรมีได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม หรือถ้าเลือกใช้ ไนเตรท เพียงอย่างเดียว ก็อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ถ้าผลิตภัณฑ์ใดมีการใช้ทั้ง ไนไตรท์ และ ไนเตรท ปริมาณที่ใช้เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม
ไนไตรท์ ใช้ได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม (ตามข้อกำหนดของโคเด็กซ์)
ไนเตรท ใช้ได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม (ตามประกาศของสำนักงานอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจอปนอาหาร)
แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ไนเตรท ไนไตรท์ ไส้กรอก อาหาร
สินค้าโอทอปอย่างหนึ่งของเมืองโคราชต้องมีผัดหมี่โคราชติดอันดับต้นๆ เป็นทั้งของที่ต้องกินและของฝากติดไม้ติดมือ และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นบ้านให้เป็น “หมี่โคราชพร้อมน้ำผัดสำเร็จรูป” เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่ต้องไปถึงโคราชก็หาสินค้านี้ได้ตามร้านค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป เรียกว่าเป็น เส้นกึ่งสำเร็จรูป ที่ได้รับความนิยมไม่น้อย นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมกับโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ผัดหมี่โคราชกึ่งสำเร็จรูปมาทดสอบเพื่อให้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค จำนวน 8 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไป ร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ตลอดจนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยนำส่งห้องปฎิบัติการเพื่อทดสอบปริมาณ Bacillus cereus และสารกันเสีย ในน้ำซอสปรุงของผลิตภัณฑ์ สรุปผลการทดสอบ 1.ไม่พบปริมาณ Bacillus cereus ทุกตัวอย่าง 2.มีการใช้วัตถุกันเสีย กรดเบนโซอิค (ในซอสปรุงรส) ดูรายละเอียดในตารางหน้าถัดไป ฉลาดซื้อแนะ 1.ผัดหมี่ มักจะมาในบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ ซึ่งในการทำหนึ่งครั้งอาจแบ่งกินได้ 3 – 4 คน หรือ 3 – 4 ครั้ง ดังนั้นควรเลี่ยงไม่รับประทานหมดห่อในครั้งเดียว ด้วยเสี่ยงต่อปริมาณโซเดียมที่สูงเกินไป 2.เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มี เลขสารบบอาหาร วันเดือนปี ผลิต/หมดอายุที่ชัดเจน และมีสถานที่ติดต่อหรือแหล่งผลิตแน่นอน 3. หากเปิดซองแล้วพบสภาพสินค้า ไม่สมบูรณ์ มีกลิ่นหืน ไม่ควรรับประทาน 4.อาหารกึ่งสำเร็จรูปมีข้อดีที่เก็บรักษาได้นาน ราคาย่อมเยา อย่างไรก็ตามจัดว่าเป็นอาหารที่มีปริมาณสารอาหารไม่มาก ดังนั้นอาจเพิ่มปริมาณโปรตีนด้วยเนื้อสัตว์ ผัก เพื่อเพิ่มคุณค่าของสารอาหาร
อาหารที่เรียกว่า กึ่งสำเร็จรูป คนไทยส่วนใหญ่จะรู้จัก “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” มากที่สุด เพราะคุ้นชินและมีความนิยมมากเมื่อมองจากมูลค่าการตลาดของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งสูงถึงสองหมื่นล้านบาทในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม “อาหารกึ่งสำเร็จรูป” ไม่ได้มีเพียงแค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเท่านั้นยังมีชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น โจ๊ก ข้าวต้มหรือซุป กึ่งสำเร็จรูป ที่วางจำหน่ายทั่วไป ทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และ โจ๊ก ข้าวต้ม กึ่งสำเร็จรูป นั้น “ฉลาดซื้อ” เคยสำรวจฉลากอยู่บ่อยครั้งเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการพิจารณาเลือกซื้อให้กับผู้อ่าน แต่สำหรับคราวนี้เราเลือกหยิบ “อาหารกึ่งสำเร็จรูป” อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อก่อนด้วยเทคโนโลยีการผลิตและความนิยมอาจจะทำให้มีผู้ผลิตไม่มากนัก ยากจะฝ่ากระแสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ แต่ด้วยยุคสมัยที่ก้าวหน้าทั้งการผลิตและช่องทางการจำหน่าย ปัจจุบันเราจะพบ “อาหารกึ่งสำเร็จรูป” ชนิด ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ เส้นหมี่ (หมี่โคราช) วางจำหน่ายในตลาดมากขึ้น โดยบางยี่ห้อก็สามารถทำยอดขายจากผลิตภัณฑ์ก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูปได้ถึงปีละ 100 ล้านซอง เรียกว่ากำลังเป็นตลาดที่น่าจับตา นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมกับโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปประเภท ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ เส้นหมี่ (ผัดโคราช) และยำขนมจีน จำนวนรวมทั้งสิ้น 19 ยี่ห้อ จากร้านค้าทั่วไป ร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ตลอดจนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อนำมาสำรวจฉลากของผลิตภัณฑ์ทั้งในเรื่อง การแสดงฉลากทั่วไป การแสดงคุณค่าทางด้านโภชนาการและราคา เพื่อให้เป็นชุดข้อมูลสำหรับผู้บริโภคไว้เปรียบเทียบและพิจารณาเลือกซื้อได้อย่างถูกต้อง ตรงใจ สรุปผลการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิดก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ เส้นหมี่และยำขนมจีน 1. ทุกตัวอย่างทั้ง 19 ยี่ห้อ มีเลขสารบบอาหาร (อย.) 2. การแสดงฉลากโภชนาการ - ก๋วยจั๊บสำเร็จรูป แสดงฉลากโภชนาการ 5 ตัวอย่าง ไม่มีการแสดงฉลากโภชนาการ 2 ตัวอย่าง - หมี่โคราช แสดงฉลากโภชนาการ 4 ตัวอย่าง ไม่มีการแสดงฉลากโภชนาการ 4 ตัวอย่าง - ยำขนมจีน แสดงฉลากโภชนการ 1 ตัวอย่าง ไม่มีการแสดงฉลากโภชนการ 1 ตัวอย่าง - ก๋วยเตี๋ยวเรือ แสดงฉลากโภชนาการ ตัวอย่าง 3. ปริมาณโซเดียมพบว่า อาหารกึ่งสำเร็จรูปมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง - ก๋วยจั๊บในขนาดซองเล็กที่ปริมาณ 50-75 กรัม จะมีโซเดียมระหว่าง 1280 – 1730 มก. - ผัดหมี่โคราชในหนึ่งหน่วยบริโภคที่ปริมาณ 100 กรัม จะมีโซเดียมระหว่าง 720 – 1330 มก. - ยำขนมจีนในหนึ่งหน่วยบริโภคที่ปริมาณ 120 กรัม จะมีโซเดียม 1990 มก. - ก๋วยเตี๋ยวเรือ ในหนึ่งหน่วยบริโภคที่ปริมาณ กรัม จะมีโซเดียม มก. 4. มีเพียง ห้าดาว หมี่โคราชพร้อมน้ำผัดสำเร็จรูป สูตรต้นตำรับโคราช ระบุไม่เจือสีและวัตถุกันเสีย 5. ราคาสินค้าอยู่ระหว่าง บาท ฉลาดซื้อแนะ 1.อาหารกึ่งสำเร็จรูปมีข้อดีที่เก็บรักษาได้นาน ราคาย่อมเยาและรสชาติที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามจัดว่าเป็นอาหารที่มีปริมาณสารอาหารไม่มาก ปริมาณโปรตีนต่ำและมีโซเดียมสูงซึ่งเกิดจากการปรุงรสให้กลมกล่อม ดังนั้นไม่ควรรับประทานบ่อย และในการปรุงควรเพิ่มปริมาณเนื้อสัตว์ ผัก เพื่อเพิ่มคุณค่าของสารอาหาร 2.ผัดหมี่ มักจะมาในบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ ซึ่งในการทำหนึ่งครั้งอาจแบ่งกินได้ 3 – 4 คน หรือ 3 – 4 ครั้ง ดังนั้นควรเลี่ยงไม่รับประทานหมดห่อในครั้งเดียว ด้วยเสี่ยงต่อปริมาณโซเดียมที่สูงเกินไป 3.เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มี เลขสารบบอาหาร วันเดือนปี ผลิต/หมดอายุที่ชัดเจน และมีสถานที่ติดต่อหรือแหล่งผลิตแน่นอน 4.หากเปิดซองแล้วพบสภาพสินค้า ไม่สมบูรณ์ มีกลิ่นหืน ไม่ควรรับประทาน
ทุกปีนิตยสารฉลาดซื้อยังคงมุ่งมั่นเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยในอาหาร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าอาหารการกินของเราได้รับการใส่ใจทั้งในภาคการเกษตร ประมงและภาคอุตสาหกรรมอาหาร เรื่องการตกค้างของยาปฏิชีวนะในอาหาร เป็นหนึ่งประเด็นที่ทางนิตยสารฉลาดซื้อ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดลำดับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากปัญหาการดื้อยายาต้านจุลชีพที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากการที่มีการนำยาปฏิชีวนะไปใช้ในการเกษตร ประมง หากวิธีการเลี้ยงตลอดจนการดูแลสัตว์ทำไม่ได้มาตรฐานย่อมก่อให้เกิดผลกระทบของการตกค้างของตัวยาปฏิชีวนะในวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารได้และอาจกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพ การดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) แสดงถึงภัยคุกคามระดับโลกที่สำคัญต่อมนุษย์ สัตว์ พืช อาหารและสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2019 มีการประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตเกือบ 5 ล้านคนที่เกี่ยวข้องกับ AMR จากแบคทีเรียรวมถึง 1.27 ล้านคนที่เสียชีวิตจากสาเหตุโดยตรง (ที่มา WHO) ในปีนี้ ฉลาดซื้อ ร่วมกับโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จากการสนับสนุนของ สสส. ดำเนินการเก็บตัวอย่าง “กุ้งขาว” สัตว์เศรษฐกิจของไทย ซึ่งมีการพบรายงานของการตกค้างในเนื้อกุ้งขาว ฉลาดซื้อจึงสุ่มตัวอย่างกุ้งขาว ในปี 2566 นี้เพื่อนำมาทดสอบหาการตกค้างของยาปฏิชีวนะเพื่อให้เป็นชุดการเฝ้าระวังในด้านวัตถุดิบอาหารจากที่เคยทำมาในปีก่อนหน้า ได้แก่ ฟาสต์ฟู้ด เนื้อหมู เนื้อไก่และเครื่องในไก่ น้ำส้มคั้น ปลาทับทิม เราเก็บตัวอย่างกุ้งขาวจากแหล่งที่เป็นตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ได้แก่ ตลาดธนบุรี ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดไท ตลาดท่าน้ำนนทบุรี ตลาดปากน้ำ สมุทรปราการ ตลาดมหาชัย สมุทธสาคร ตลาดคลองเตยและห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ได้แก่ กูร์เมต์ สยามพารากอน ทอปส์ บิ๊กซี ฟู้ดแลนด์ กูรเม่ต์ มาร์เกต เดอะมอลล์ ห้างโลตัส และห้างแมคโคร รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง นำส่งห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ISO 17025 เพื่อทดสอบหาตัวยา 4 กลุ่ม ได้แก่ Nitrofurans metabolites , Chloramphenicol , Veterinary drug residues (Tetracycline group) และ Malachite green ผลการทดสอบ เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะทั้ง 4 กลุ่ม
วันไหนร่างกายต้องเสียเหงื่อมาก จากการทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือการออกกำลังกาย หลายคนอาจเลือกดื่มน้ำเกลือแร่/ผสมเกลือแร่ แบบพร้อมดื่ม ที่มีส่วนประกอบหลักคือน้ำ น้ำตาล และแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย เช่น โซเดียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียม เพื่อเพิ่มพลังงาน ชดเชยการสูญเสียน้ำและ รักษาสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย มาช่วยแก้กระหาย และทำให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าได้โดยไว ปัจจุบันผู้ผลิตคิดสูตรให้มีรสชาติหอม หวาน อร่อย ใครเผลอดื่มบ่อยๆ ควรระวังปริมาณน้ำตาลด้วย รวมทั้งการได้รับโซเดียมและโพแทสเซียมที่อยู่ในเครื่องดื่มเกลือแร่มากเกินไป ก็มีผลต่อการทำงานของตับและไต การเต้นของหัวใจ การทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อผิดปกติได้ นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกเครื่องดื่มเกลือแร่/ผสมเกลือแร่ แบบขวดพร้อมดื่ม จำนวน 11 ตัวอย่าง 3 ยี่ห้อ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 มาสำรวจฉลากเพื่อดูปริมาณโซเดียม โพแทสเซียม น้ำตาล และข้อความที่ควรแสดงตามที่มาตรฐานกำหนด รวมทั้งเปรียบเทียบปริมาณพลังงาน น้ำตาล และราคา เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจฉลาก - ทุกตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมไม่เกิน 920 มิลลิกรัมต่อลิตร และโพแทสเซียมไม่เกิน 195 มิลลิกรัมต่อลิตร - มี 5 ตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมน้อยกว่า 460 มิลลิกรัมต่อลิตร ได้แก่ ยี่ห้อสปอนเซอร์ (แอคทีฟ + ซิ้งค์, แอคทีฟ สตรอเบอร์รี่ และแอคทีฟ กลิ่นมะนาว) และยี่ห้อเกเตอเรด (กลิ่นส้ม และกลิ่นมะนาว) - ยี่ห้อสปอนเซอร์ แอคทีฟ + ซิ้งค์ มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุดคือ 380 มิลลิกรัมต่อลิตร - ยี่ห้อสปอนเซอร์ โก ไม่มีน้ำตาล มีปริมาณโซเดียมมากที่สุดคือ 905 มิลลิกรัมต่อลิตร - พบปริมาณโพแทสเซียมระหว่าง 0 - 180 มิลลิกรัมต่อลิตร - มี 6 ตัวอย่างที่มีปริมาณน้ำตาลตามกำหนด คือมีซูโครสไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ของน้ำหนัก ได้แก่ ยี่ห้อสปอนเซอร์ (ออริจินัล จีดี, แอคทีฟ + ซิ้งค์, ออริจินัล) ยี่ห้อเอ็ม-สปอร์ต พลัส (เขียว) และยี่ห้อเกเตอเรด (กลิ่นมะนาว และกลิ่นบลูบลาส) - มี 4 ตัวอย่าง ที่ไม่ใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล ได้แก่ ยี่ห้อสปอนเซอร์ (ออริจินัล จีดี และออริจินัล) และยี่ห้อเกเตอเรด (กลิ่นมะนาว และกลิ่นบลูบลาส) - มี 5 ตัวอย่าง ที่แสดงข้อความคำเตือนตามประกาศ ข้อ 7(2) ได้แก่ ยี่ห้อสปอนเซอร์ (ออริจินัล จีดี และ ออริจินัล) ยี่ห้อเอ็ม-สปอร์ต พลัส (เขียว) และยี่ห้อเกเตอเรด (กลิ่นมะนาว และกลิ่นบลูบลาส) · เปรียบเทียบปริมาณพลังงานต่อ 1 หนึ่งหน่วยบริโภค - ยี่ห้อสปอนเซอร์ ออริจินัล มีพลังงานมากสุดคือ 100 กิโลแคลอรี - ยี่ห้อสปอนเซอร์ โก ไม่มีน้ำตาล มีพลังงานน้อยสุด คือ 30 กิโลแคลอรี - ยี่ห้อเกเตอเรด กลิ่นส้ม ไม่มีน้ำตาล ระบุพลังงานเป็น 0 กิโลแคลอรี · เปรียบเทียบปริมาณน้ำตาลต่อ 1 หนึ่งหน่วยบริโภค - ยี่ห้อสปอนเซอร์ ออริจินัล มีน้ำตาลมากสุด คือ 24 กรัม - ยี่ห้อเอ็ม-สปอร์ต (ฟ้า) มีน้ำตาลน้อยสุด คือ 9 กรัม - มี 2 ตัวอย่าง ระบุว่าไม่มีน้ำตาล ได้แก่ ยี่ห้อเกเตอเรด กลิ่นส้มและยี่ห้อสปอนเซอร์ โก · เปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร -ราคาแพงสุดคือ 0.06 บาท ได้แก่ ยี่ห้อสปอนเซอร์ (ออริจินัล จีดี และ ออริจินัล) -ราคาถูกสุดคือ 0.04 บาท ได้แก่ ยี่ห้อเอ็ม-สปอร์ต ((ฟ้า), พลัส(เขียว)) และยี่ห้อสปอนเซอร์ โก ไม่มีน้ำตาล ข้อสังเกต - มี 7 ตัวอย่าง ใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล - มี 3 ตัวอย่าง ระบุว่าไม่ใช้วัตถุกันเสีย ได้แก่ ยี่ห้อเกเตอเรด (กลิ่นส้ม กลิ่นมะนาว และกลิ่นบลูบลาส) ฉลาดซื้อแนะ - ควรเลือกซื้อเครื่องดื่มเกลือแร่/ผสมเกลือแร่ที่มีเครื่องหมาย อย. เพื่อความปลอดภัย - คนที่เสียเหงื่อมากจากการออกกำลังกายต่อเนื่องอย่างหนัก และต้องการเติมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ควรเลือกซื้อชนิดที่ได้ครบทั้งน้ำตาลและเกลือแร่ - คนที่ทำกิจกรรมเบาๆ มีเสียเหงื่อบ้าง ควรเลือกชนิดที่ให้น้ำตาลและเกลือแร่น้อยหรือปานกลาง หรือบางครั้งจะสลับดื่มน้ำเปล่าก็ทดแทนได้เช่นกัน - ควรดื่มน้ำเกลือแร่เมื่อร่างกายรู้สึกขาดน้ำจริงๆ ไม่ควรดื่มพร่ำเพรื่อ เพราะอาจมีผลเสียต่อร่างกาย เช่น ทำให้ฟันผุ เนื่องจากส่วนผสมของน้ำตาลและกรดต่างๆ จะไปกัดกร่อนสารเคลือบฟัน - หากมีอาการขาดน้ำจากท้องเสีย ให้ดื่มน้ำเกลือแร่แก้ท้องเสีย (ORS) โดยเฉพาะ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับการออกกำลังกายแทน เพราะอาจทำให้ถ่ายเหลวมากขึ้นได้ - การดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง แต่ถ้าไม่หายหรือรุนแรงขึ้นควรปรึกษาแพทย์ข้อมูลอ้างอิงข่าวจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ : เผยผลตรวจเครื่องดื่มเกลือแร่ (1 มิ.ย. 2563)https://www.pobpad.com : เครื่องดื่มเกลือแร่ เลือกอย่างไรให้ปลอดภัยต่อร่างกาย
ความคิดเห็น (0)