ฉบับที่ 146 น้ำแข็งไส

 

ไส หมายถึง การผลักไป รุนไป ไสน้ำแข็ง ก็คือการที่นำก้อนน้ำแข็งวางบนเครื่องไส ที่แบบบ้านๆ จะเป็นโต๊ะไม้เล็กๆ ที่มีใบมีดคมๆ หงายอยู่ตรงกลาง แล้วไถก้อนน้ำแข็งไปมาผ่านคมมีดเพื่อให้ได้เกล็ดน้ำแข็งฝอยๆ สำหรับกินกับ แตงไทย  เผือกลอดช่อง วุ้น เฉาก๊วย ขนมเชื่อมต่างๆ  อย่างลูกชิด มันเชื่อม หรืออื่นๆ แล้วราดด้วยน้ำเชื่อมหรือน้ำกลิ่นผลไม้ต่างๆ ขนมแบบนี้แหละที่เราเรียกมันว่า ขนมน้ำแข็งไส

ประเทศร้อนๆ อย่างเมืองไทยของเรา คนสมัยก่อนคงนึกไม่ออกว่า น้ำจะเป็นตัว ได้อย่างไร แต่กับคนในบ้านเมืองที่มีอากาศหนาวเย็นติดลบ น้ำแข็งไม่ใช่ของแปลก และการนำน้ำแข็งมาใช้ทั้งกินและถนอมอาหารก็ทำกันมานานเป็นพันปีแล้ว

เมื่อการค้าจากชาติที่มีทั้งอากาศหนาวเย็นและวัฒนธรรมการกินน้ำแข็งมาเยือนถึงถิ่นดินแดนเขตร้อน ราวศตวรรษที่ 19 น้ำแข็งจึงจัดเป็นสินค้าสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้นเพราะขนส่งมาไกลข้ามน้ำข้ามทะเลกันมาหลายเดือน คนไทยเราสั่งนำเข้าน้ำแข็งมาครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 จากประเทศสิงคโปร์เพื่อถวายพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง ต่อมาจึงกลายเป็นของกินที่ทั้งแปลกและหรูหราในสมัยนั้น

น้ำแข็งมากลายเป็นของธรรมดาก็เมื่อมีคนคิดค้นการผลิตน้ำแข็งขึ้นได้(ยุคแรกน้ำแข็งที่ใช้บริโภคเป็นน้ำแข็งที่เกิดตามธรรมชาติ) โรงงานน้ำแข็งแห่งแรกในประเทศไทยเป็นเจ้าเดียวกับคนที่ทำรถเมล์เจ้าแรก คือ นายเลิศ(พระยาภักดีนรเศรษฐ) ชื่อว่า น้ำแข็งสยาม

ณ เวลานี้  แม้น้ำแข็งไสแบบเดิมยังคงได้รับความนิยมอยู่ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ น้ำแข็งไส หรือ น้ำแข็งใส ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัยมากขึ้น เกล็ดน้ำแข็งที่ผ่านเครื่องไสแบบสมัยใหม่จะละเอียดจนเรียกว่า ปุยนุ่นหรือเกล็ดหิมะ แบบตักใส่ปากก็ละลายโดยไม่ต้องเคี้ยว และยังมีท้อปปิ้งหน้าตาสวยงามให้เลือกหลากหลาย แน่นอนราคาก็ไม่ธรรมดาตามไปด้วย บางเจ้าราคาไม่ต่ำกว่า 100 บาทด้วยซ้ำ

ว่าแต่...ร้อนๆ แบบนี้ได้น้ำแข็งไสสักถ้วยคงดีไม่น้อยนะ ว่าไหม?


แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ น้ำแข็งไส

ฉบับที่ 192 น้ำปลา

ผลิตภัณฑ์คู่ครัวไทยและอีกหลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา เป็นเครื่องจิ้มที่ขาดไม่ได้ เรียกว่าอร่อยทั่วภูมิภาคแต่ถ้าไปสืบค้นทางโบราณคดี การนำปลามาหมักเกลือนั้นเป็นการถนอมอาหารที่มีมานานแล้ว หลายชนชาติเขาก็ทำกันมา ในยุโรปกรีกเป็นชาติแรกที่ทำน้ำปลาเป็นผลิตภัณฑ์หรูหราระดับเลี้ยงชนชั้นสูง พวกโรมันก็รับไม้ต่อไป แต่การหมักปลาเพื่อเป็นน้ำปลานั้น กว่าจะย่อยปลาจนเป็นน้ำใสๆ ได้ ต้องหมักกันเป็นปี คนในแถบยุโรปเลยชอบกินแบบปลาหมักเกลือระยะกลางอย่างปลาเค็มฝรั่ง หรือ แองโชวี มากกว่า ส่วนบ้านเราการทำปลาหมักเกลือก็เป็นวิถีพื้นบ้านอยู่แล้ว ทั้งปลาร้า ปลาเจ่า ภาคใต้เองก็มีน้ำเคย ซึ่งใช้สร้างรสเค็มในอาหารแต่ดั้งเดิม น้ำปลาแบบปัจจุบันบางตำราจึงว่า อาจได้จากวิธีการของคนจีน แต่บางคนก็คิดว่า อาจจะเป็นการเผลอหมักปลาร้านานไปหน่อยก็ได้ จนปลาเปื่อยยุ่ยเป็นน้ำน้ำปลาอย่าไปคิดว่าพื้นที่ ที่ใกล้ทะเลจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะกล่าวกันว่าคนภาคกลางที่มีแม่น้ำสำคัญหลายสายนี่แหละเป็นตัวจริง เราคงเคยได้ยินว่าน้ำปลาจากปลาสร้อยอร่อยมาก แต่คงหากินไม่ง่ายแล้วเพราะปลาสร้อยแทบจะหาไม่ได้อีกแล้ว ปลาทะเลเลยเข้ามาแทนที่ ปลาทะเลไทยที่นิยมกันว่าทำน้ำปลาได้อร่อยก็ต้องยกให้ปลากะตักและปลาไส้ตัน โรงงานที่ทำน้ำปลาใส่ขวดจำหน่ายรายแรกมีอายุมากกว่า 100 ปีแล้ว ก็เริ่มจากการหมักปลากะตักนั่นเองน้ำปลาดี ต้องดีตั้งแต่ปลา วิธีการหมัก ระยะเวลา ตลอดจนอุณหภูมิและภาชนะที่หมักบ่ม ของเวียดนามน้ำปลาที่อร่อยนั้นถึงกับต้องฝังภาชนะลงดิน ในน้ำปลาจะมีโปรตีนเป็นสารอาหารหลัก และมีวิตามิน บี 12 สูง แต่สำหรับคนที่มีปัญหาโรคไต ความดัน ก็เพลาน้ำปลาลงนิดนึงเพราะโซเดียมก็สูงเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 185 มะขามเปียก

คือ เนื้อในฝักมะขามที่แก่จัด แกะเอาเมล็ดออก นำไปตากแดดให้หมาด เก็บไว้กินได้นาน มะขามเปียกที่นำมาปรุงอาหารและยา ต้องเป็นพันธุ์มะขามเปรี้ยวเท่านั้น ในเนื้อมะขามเปียกมีกรดอินทรีย์หลายชนิด มีฤทธิ์ช่วยระบาย หากท้องผูก ลองหยิบมะขามเปียกมาจิ้มเกลือรับประทานสักฝักสองฝักเป็นอันได้ผล  นอกจากนั้นยังมีกรดผลไม้ หรือ AHAs ที่ช่วยให้ผิวหนังชั้นนอกที่หยาบกระด้างหลุดลอกและกระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ๆ ทำให้ผิวหนังอ่อนวัยอยู่เสมอ จึงนิยมนำมาขัดผิวตั้งแต่สมัยโบราณ  มะขามเปียกยังเป็นสิ่งสำคัญประจำครัวไทย ช่วยสร้างรสเปรี้ยวให้กับอาหารที่ต่างจากรสมะนาวที่เปรี้ยวจี๊ด และบางทีก็ติดรสขมจากเปลือกเนื่องจากการบีบคั้น ส่วนรสเปรี้ยวจากมะขามเปียกจะนุ่มนวลกว่า มีรสหวานเล็กๆ ติดมาด้วย อาหารที่ปรุงด้วยมะขามเปียกจะมีเนื้อสัมผัสที่ข้นขึ้นเล็กน้อย แกงส้ม ต้มส้ม แกงเทโพ ต้องใช้มะขามเปียกจึงจะได้รสที่อร่อย หรือในบางฤดูที่มะนาวแพง การปรุงต้มยำก็ใช้น้ำมะขามเปียกแทนกันได้ มะขามเปียกแม้เก็บได้นาน แต่ก็ต้องระวังเรื่องความสะอาด หากเก็บไม่ดีอาจเกิดเชื้อราได้ง่าย มีคำแนะนำว่า หากได้มะขามเปียกมาอาจนำไปเข้าไมโครเวฟก่อน หรือควรเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น และไม่ซื้อมากักตุนไว้เยอะเกินไป

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 184 คาเวียร์

เป็นชื่อของไข่ปลาปรุงรส ทำมาจากปลาได้หลายชนิด แต่ที่นิยมกันมากคือไข่ปลาสเตอร์เจียน ที่มนุษย์ใช้เป็นอาหารมานานแล้ว คาเวียร์จากปลาสเตอร์เจียนยังนับเป็นอาหารราคาแพงที่สุดชนิดหนึ่งของโลกอีกด้วยสเตอร์เจียน เป็นปลาสองน้ำที่กำเนิดมาตั้งแต่ยุคโบราณ ตามธรรมชาติจะพบแต่เฉพาะซีกโลกทางเหนือซึ่งเป็นเขตหนาวเท่านั้น สถานะของปลาชนิดนี้ในธรรมชาติใกล้สูญพันธุ์เต็มที แต่ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วในบางชนิด จากความนิยมบริโภคไข่ของมันนั่นเองทำให้ต้องมีการออกกฎควบคุมการจับปลาในแหล่งธรรมชาติ เพราะขืนปล่อยไว้มีหวังปลาที่อายุเฉลี่ยมากกว่า 150 ปีและอยู่บนโลกมาร่วมร้อยล้านปีได้สูญพันธุ์แน่ ไข่จากปลาสเตอร์เจียนบางทีก็เรียกว่า คาเวียร์ดำ แบ่งเป็นหลายชนิด เช่น เบลูกา  เซฟรูกา ซึ่งเรียกจากปลาต่างอายุ ต่างสายพันธุ์ และแหล่งที่อยู่อาศัย ด้วยเหตุนี้ชนิด สี และรสชาติของคาเวียร์ดำจึงมีความหลากหลาย อะไรอร่อยสุด ดีสุด ก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้บริโภค   อย่างไรก็ตามคนที่จะบริโภคคาเวียร์ได้ต้องมีเงินทองเหลือใช้เท่านั้น จึงนิยมบริโภคกันเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง จัดเป็นอาหารหรูหราแสดงถึงฐานะและรสนิยมมาตั้งแต่ยุคศักดินา ยิ่งเป็นคาเวียร์ที่ได้จากปลาสเตอร์เจียนพันธุ์ที่หายากราคายิ่งแพงมากๆ คาเวียร์ที่ได้จากสเตอร์เจียนในทะเลสาบแคสเปียนคนส่วนใหญ่เชื่อว่า มีคุณภาพดีที่สุด ราคาจึงแพงที่สุด เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120,000 -  150,000 บาท แม้ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงได้ ราคาของคาเวียร์จากปลาเลี้ยงก็ยังอยู่ในระดับกิโลกรัมละ 40,000 - 50,000 บาท ปัจจุบันประเทศไทยก็สามารถเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนและนำไข่มาวางขายได้แล้วเช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 183 พะโล้

อาหารจีนที่อยู่ในวิถีชีวิตไทยมาเนิ่นนาน ไม่ว่าจะเป็นไข่พะโล้ เป็ดพะโล้ หรือข้าวขาหมู ที่เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของพะโล้  พะโล้ คือการเคี่ยวน้ำกับน้ำตาลทรายแดง เกลือและซีอิ๊วให้งวดพร้อมกับผงปรุงพะโล้ แล้วใช้ปรุงเนื้อสัตว์อย่างห่าน เป็ดหรือขาหมู หมูสามชั้น และเคี่ยวต่อให้งวดจนน้ำปรุงซึมเข้าไปในเนื้อสัตว์  เครื่องปรุงสำคัญคือผงพะโล้นั้น มีกันหลากหลายสูตรมากตามแต่ท้องถิ่นนิยม แต่ที่คุ้นกันทั่วไปจะเป็นผงพะโล้ที่ประกอบด้วยเครื่องเทศห้าชนิด ได้แก่ โป๊ยกั๊ก(เครื่องเทศรูปดาวแปดแฉก) อบเชย กานพลู ยี่หร่าและพริกหอมหรือชวงเจีย(บางที่อาจแทนด้วยลูกผักชี) ฝรั่งจึงเรียกผงพะโล้ว่า  เครื่องเทศห้าอย่าง (Five-Spice Powder) และหากจะเพิ่มความหอมอย่างไทยก็ต้องมีสามเกลอ ได้แก่ กระเทียม รากผักชีและพริกไทยใส่ปรุงไปด้วย     พะโล้ทำครั้งหนึ่งเก็บได้หลายวัน การอุ่นหรือเคี่ยวบ่อยๆ จะยิ่งทำให้น้ำปรุงซึมซาบเข้าไปในเนื้อสัตว์จนมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ โดยเฉพาะไข่พะโล้ที่ผ่านการอุ่นหลายครั้งรสชาติจะดีมากเพราะไข่จะรัดตัวมีความเหนียวหนึบเป็นพิเศษ พะโล้นอกจากเราจะได้คุณค่าจากไข่และเนื้อสัตว์แล้ว เรายังได้สรรพคุณดีๆ จากเครื่องเทศที่ประกอบเป็นผงพะโล้ด้วย ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า เครื่องเทศส่วนใหญ่จะช่วยขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ  อย่างไรก็ตามผงพะโล้สำเร็จรูป หากเก็บไว้นานๆ อาจเจอปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อราดังนั้นควรเลือกที่ผลิตใหม่ โรงงานได้มาตรฐานการผลิต และไม่ใช้ผงพะโล้เก่าเพราะอาจเสี่ยงต่อสารพิษจากเชื้อราได้  

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)