ฉบับที่ 164 เฝอ

ถ้าต้มยำกุ้งทำให้คนทั่วโลกคิดถึงประเทศไทย เฝอก็คืออาหารที่ทำให้คนทั่วโลกรู้เช่นเดียวกันว่า นี่คืออาหารประจำชาติของเวียดนาม

เฝอ (pho) มองผ่านๆ หน้าตาเหมือนก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กของไทย แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งมันมีความต่างทั้งเส้น น้ำซุปและเครื่องเคียง เส้นเฝอแท้ๆ จะไม่เหมือนเส้นเล็กบ้านเรา เพราะจะมีความนุ่มเหนียวมากกว่า ไม่ขาดง่าย ทิ้งไว้เส้นก็ยังไม่จับตัวเป็นก้อน น้ำซุปตามต้นฉบับแบบดั้งเดิมจะเคี่ยวจากกระดูกวัว หอมหัวใหญ่และเครื่องเทศหลายชนิด เนื้อที่ใช้ก็เป็นเนื้อวัวชิ้นนุ่มบาง สำคัญสุดเลยเฝอจะต้องกินพร้อมกับเครื่องเคียง อย่าง โหระพา ผักชีฝรั่ง ถั่วงอก มะนาว พริกผัด กะปิ และซอสพริกศรีราชา

ไม่เพียงรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น เฝอยังมีที่มาคลุมเครือด้วย บางสำนักก็ว่าเฝอได้มาจากประเทศจีน เพราะเส้นก๋วยเตี๋ยวแบบนี้มาจากจีนแน่ๆ แต่บางสำนักฟันธงว่า น่าจะเป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสในช่วงที่เข้ามายึดเวียดนามเป็นเมืองขึ้น เพราะคนเวียดนามจะไม่นิยมกินเนื้อวัว ด้วยเป็นแรงงานหลักในวิถีเกษตรกรรม แต่วัฒนธรรมฝรั่งเศสการต้มน้ำซุปด้วยกระดูกเนื้อพร้อมหอมใหญ่เป็นเรื่องปกติ เชื่อว่าช่วยบำรุงร่างกาย

ที่เวียดนามมีร้านขายเฝออยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นร้านแผงลอยเล็กๆ ข้างทาง ไปจนถึงบนห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และในโรงแรม คนเวียดนามกินเฝอเป็นอาหารได้ทุกมื้อ ซึ่งไม่เพียงแค่ชาวเวียดนามเท่านั้นที่นิยมรับประทานเฝอ คนไทยและคนทั่วโลกก็นิยมเช่นกัน เพราะไม่เพียงรสชาติที่อร่อย ยังมีผักเคียงหลากชนิดที่ทำให้ “เฝอ” กลายเป็นอาหารสุขภาพชั้นดีอีกด้วย

 

**เวียดนาม เรียกเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าว่า เฝอ ส่วนเส้นที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าหมักเคลือบด้วยแป้งมันสำปะหลังเรียก จ๋าว คนไทยเรียกจ๋าวว่า ก๋วยจั๊บญวน


แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ เฝอ

ฉบับที่ 192 น้ำปลา

ผลิตภัณฑ์คู่ครัวไทยและอีกหลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา เป็นเครื่องจิ้มที่ขาดไม่ได้ เรียกว่าอร่อยทั่วภูมิภาคแต่ถ้าไปสืบค้นทางโบราณคดี การนำปลามาหมักเกลือนั้นเป็นการถนอมอาหารที่มีมานานแล้ว หลายชนชาติเขาก็ทำกันมา ในยุโรปกรีกเป็นชาติแรกที่ทำน้ำปลาเป็นผลิตภัณฑ์หรูหราระดับเลี้ยงชนชั้นสูง พวกโรมันก็รับไม้ต่อไป แต่การหมักปลาเพื่อเป็นน้ำปลานั้น กว่าจะย่อยปลาจนเป็นน้ำใสๆ ได้ ต้องหมักกันเป็นปี คนในแถบยุโรปเลยชอบกินแบบปลาหมักเกลือระยะกลางอย่างปลาเค็มฝรั่ง หรือ แองโชวี มากกว่า ส่วนบ้านเราการทำปลาหมักเกลือก็เป็นวิถีพื้นบ้านอยู่แล้ว ทั้งปลาร้า ปลาเจ่า ภาคใต้เองก็มีน้ำเคย ซึ่งใช้สร้างรสเค็มในอาหารแต่ดั้งเดิม น้ำปลาแบบปัจจุบันบางตำราจึงว่า อาจได้จากวิธีการของคนจีน แต่บางคนก็คิดว่า อาจจะเป็นการเผลอหมักปลาร้านานไปหน่อยก็ได้ จนปลาเปื่อยยุ่ยเป็นน้ำน้ำปลาอย่าไปคิดว่าพื้นที่ ที่ใกล้ทะเลจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะกล่าวกันว่าคนภาคกลางที่มีแม่น้ำสำคัญหลายสายนี่แหละเป็นตัวจริง เราคงเคยได้ยินว่าน้ำปลาจากปลาสร้อยอร่อยมาก แต่คงหากินไม่ง่ายแล้วเพราะปลาสร้อยแทบจะหาไม่ได้อีกแล้ว ปลาทะเลเลยเข้ามาแทนที่ ปลาทะเลไทยที่นิยมกันว่าทำน้ำปลาได้อร่อยก็ต้องยกให้ปลากะตักและปลาไส้ตัน โรงงานที่ทำน้ำปลาใส่ขวดจำหน่ายรายแรกมีอายุมากกว่า 100 ปีแล้ว ก็เริ่มจากการหมักปลากะตักนั่นเองน้ำปลาดี ต้องดีตั้งแต่ปลา วิธีการหมัก ระยะเวลา ตลอดจนอุณหภูมิและภาชนะที่หมักบ่ม ของเวียดนามน้ำปลาที่อร่อยนั้นถึงกับต้องฝังภาชนะลงดิน ในน้ำปลาจะมีโปรตีนเป็นสารอาหารหลัก และมีวิตามิน บี 12 สูง แต่สำหรับคนที่มีปัญหาโรคไต ความดัน ก็เพลาน้ำปลาลงนิดนึงเพราะโซเดียมก็สูงเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 185 มะขามเปียก

คือ เนื้อในฝักมะขามที่แก่จัด แกะเอาเมล็ดออก นำไปตากแดดให้หมาด เก็บไว้กินได้นาน มะขามเปียกที่นำมาปรุงอาหารและยา ต้องเป็นพันธุ์มะขามเปรี้ยวเท่านั้น ในเนื้อมะขามเปียกมีกรดอินทรีย์หลายชนิด มีฤทธิ์ช่วยระบาย หากท้องผูก ลองหยิบมะขามเปียกมาจิ้มเกลือรับประทานสักฝักสองฝักเป็นอันได้ผล  นอกจากนั้นยังมีกรดผลไม้ หรือ AHAs ที่ช่วยให้ผิวหนังชั้นนอกที่หยาบกระด้างหลุดลอกและกระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ๆ ทำให้ผิวหนังอ่อนวัยอยู่เสมอ จึงนิยมนำมาขัดผิวตั้งแต่สมัยโบราณ  มะขามเปียกยังเป็นสิ่งสำคัญประจำครัวไทย ช่วยสร้างรสเปรี้ยวให้กับอาหารที่ต่างจากรสมะนาวที่เปรี้ยวจี๊ด และบางทีก็ติดรสขมจากเปลือกเนื่องจากการบีบคั้น ส่วนรสเปรี้ยวจากมะขามเปียกจะนุ่มนวลกว่า มีรสหวานเล็กๆ ติดมาด้วย อาหารที่ปรุงด้วยมะขามเปียกจะมีเนื้อสัมผัสที่ข้นขึ้นเล็กน้อย แกงส้ม ต้มส้ม แกงเทโพ ต้องใช้มะขามเปียกจึงจะได้รสที่อร่อย หรือในบางฤดูที่มะนาวแพง การปรุงต้มยำก็ใช้น้ำมะขามเปียกแทนกันได้ มะขามเปียกแม้เก็บได้นาน แต่ก็ต้องระวังเรื่องความสะอาด หากเก็บไม่ดีอาจเกิดเชื้อราได้ง่าย มีคำแนะนำว่า หากได้มะขามเปียกมาอาจนำไปเข้าไมโครเวฟก่อน หรือควรเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น และไม่ซื้อมากักตุนไว้เยอะเกินไป

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 184 คาเวียร์

เป็นชื่อของไข่ปลาปรุงรส ทำมาจากปลาได้หลายชนิด แต่ที่นิยมกันมากคือไข่ปลาสเตอร์เจียน ที่มนุษย์ใช้เป็นอาหารมานานแล้ว คาเวียร์จากปลาสเตอร์เจียนยังนับเป็นอาหารราคาแพงที่สุดชนิดหนึ่งของโลกอีกด้วยสเตอร์เจียน เป็นปลาสองน้ำที่กำเนิดมาตั้งแต่ยุคโบราณ ตามธรรมชาติจะพบแต่เฉพาะซีกโลกทางเหนือซึ่งเป็นเขตหนาวเท่านั้น สถานะของปลาชนิดนี้ในธรรมชาติใกล้สูญพันธุ์เต็มที แต่ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วในบางชนิด จากความนิยมบริโภคไข่ของมันนั่นเองทำให้ต้องมีการออกกฎควบคุมการจับปลาในแหล่งธรรมชาติ เพราะขืนปล่อยไว้มีหวังปลาที่อายุเฉลี่ยมากกว่า 150 ปีและอยู่บนโลกมาร่วมร้อยล้านปีได้สูญพันธุ์แน่ ไข่จากปลาสเตอร์เจียนบางทีก็เรียกว่า คาเวียร์ดำ แบ่งเป็นหลายชนิด เช่น เบลูกา  เซฟรูกา ซึ่งเรียกจากปลาต่างอายุ ต่างสายพันธุ์ และแหล่งที่อยู่อาศัย ด้วยเหตุนี้ชนิด สี และรสชาติของคาเวียร์ดำจึงมีความหลากหลาย อะไรอร่อยสุด ดีสุด ก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้บริโภค   อย่างไรก็ตามคนที่จะบริโภคคาเวียร์ได้ต้องมีเงินทองเหลือใช้เท่านั้น จึงนิยมบริโภคกันเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง จัดเป็นอาหารหรูหราแสดงถึงฐานะและรสนิยมมาตั้งแต่ยุคศักดินา ยิ่งเป็นคาเวียร์ที่ได้จากปลาสเตอร์เจียนพันธุ์ที่หายากราคายิ่งแพงมากๆ คาเวียร์ที่ได้จากสเตอร์เจียนในทะเลสาบแคสเปียนคนส่วนใหญ่เชื่อว่า มีคุณภาพดีที่สุด ราคาจึงแพงที่สุด เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120,000 -  150,000 บาท แม้ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงได้ ราคาของคาเวียร์จากปลาเลี้ยงก็ยังอยู่ในระดับกิโลกรัมละ 40,000 - 50,000 บาท ปัจจุบันประเทศไทยก็สามารถเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนและนำไข่มาวางขายได้แล้วเช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 183 พะโล้

อาหารจีนที่อยู่ในวิถีชีวิตไทยมาเนิ่นนาน ไม่ว่าจะเป็นไข่พะโล้ เป็ดพะโล้ หรือข้าวขาหมู ที่เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของพะโล้  พะโล้ คือการเคี่ยวน้ำกับน้ำตาลทรายแดง เกลือและซีอิ๊วให้งวดพร้อมกับผงปรุงพะโล้ แล้วใช้ปรุงเนื้อสัตว์อย่างห่าน เป็ดหรือขาหมู หมูสามชั้น และเคี่ยวต่อให้งวดจนน้ำปรุงซึมเข้าไปในเนื้อสัตว์  เครื่องปรุงสำคัญคือผงพะโล้นั้น มีกันหลากหลายสูตรมากตามแต่ท้องถิ่นนิยม แต่ที่คุ้นกันทั่วไปจะเป็นผงพะโล้ที่ประกอบด้วยเครื่องเทศห้าชนิด ได้แก่ โป๊ยกั๊ก(เครื่องเทศรูปดาวแปดแฉก) อบเชย กานพลู ยี่หร่าและพริกหอมหรือชวงเจีย(บางที่อาจแทนด้วยลูกผักชี) ฝรั่งจึงเรียกผงพะโล้ว่า  เครื่องเทศห้าอย่าง (Five-Spice Powder) และหากจะเพิ่มความหอมอย่างไทยก็ต้องมีสามเกลอ ได้แก่ กระเทียม รากผักชีและพริกไทยใส่ปรุงไปด้วย     พะโล้ทำครั้งหนึ่งเก็บได้หลายวัน การอุ่นหรือเคี่ยวบ่อยๆ จะยิ่งทำให้น้ำปรุงซึมซาบเข้าไปในเนื้อสัตว์จนมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ โดยเฉพาะไข่พะโล้ที่ผ่านการอุ่นหลายครั้งรสชาติจะดีมากเพราะไข่จะรัดตัวมีความเหนียวหนึบเป็นพิเศษ พะโล้นอกจากเราจะได้คุณค่าจากไข่และเนื้อสัตว์แล้ว เรายังได้สรรพคุณดีๆ จากเครื่องเทศที่ประกอบเป็นผงพะโล้ด้วย ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า เครื่องเทศส่วนใหญ่จะช่วยขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ  อย่างไรก็ตามผงพะโล้สำเร็จรูป หากเก็บไว้นานๆ อาจเจอปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อราดังนั้นควรเลือกที่ผลิตใหม่ โรงงานได้มาตรฐานการผลิต และไม่ใช้ผงพะโล้เก่าเพราะอาจเสี่ยงต่อสารพิษจากเชื้อราได้  

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)