ฉบับที่ 169 เอทีเอ็มแบบธรรมดา ธนาคารยังมีบริการไหม

เปิดหัวเรื่องมาแบบนี้ เพราะมีคำถามจากผู้บริโภคจำนวนหนึ่ง ที่จำเป็นต้องเปิดบัญชีธนาคารพร้อมกับทำบัตรเอทีเอ็ม เพื่อไว้อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมต่างๆ แต่ปัญหาที่เป็นประสบการณ์ร่วมกันคือ ธนาคารมักเสนอบัตรเอทีเอ็มแบบที่มีลักษณะเป็นบัตรเดบิตไปด้วย(สามารถใช้บัตรรูดแทนเงินสดได้ตามจำนวนเงินที่มีในบัญชี) หรือไม่ก็เสนอบัตรที่มีการทำประกันภัยไปด้วย ทำให้ค่าธรรมเนียมในการทำบัตรพุ่งพรวดไปหลายร้อยบาท เรื่องนี้มิใช่เพิ่งมามีปัญหา แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เวลามีการโวยวายผ่านสื่อขึ้นมาสักครั้ง ทุกธนาคารก็ให้คำตอบประมาณว่า ธนาคารไม่มีการบังคับ(แบบตรงๆ) ว่าทุกคนต้องทำบัตรเอทีเอ็มชนิดพิเศษ ผู้บริโภคสามารถทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาๆ ได้ ซึ่งก็จริง แต่ในสถานการณ์จริง ผู้บริโภคมักถูกบังคับกลายๆ ให้ต้องเลือกทำบัตรเอทีเอ็มแบบพิเศษด้วยข้ออ้างประเภท “บัตรเอทีเอ็มธรรมดาหมด ต้องรอหลายอาทิตย์กว่าบัตรจะมา” หรือ...

สมาชิกอ่านต่อ...

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

150 point

LINE it!

ฉบับที่ 175 บัตรเดบิตพ่วงประกัน รู้ให้ทันก่อนใช้

เดี๋ยวนี้บัตรเดบิตไม่ได้มีไว้แค่กดเงินสดจากบัญชีของเราผ่านทางตู้ ATM เพียงอย่างเดียว แต่บัตรเดบิตใบเดียวยังทำได้อีกหลายอย่าง แต่ที่หลายๆ คนให้ความสนใจแถมยังเคยเป็นประเด็นร้อนแรงจนเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้ก็คือ “บัตรเดบิตที่มาพร้อมสิทธิด้านประกันอุบัติเหตุ”  ที่เคยผู้บริโภคออกมาโวยว่าถูกธนาคารเอาเปรียบบังคับให้ทำบัตรเดบิตพ่วงประกัน ซึ่งค่าธรรมเนียมแพงกว่าบัตรเดบิตทั่วไป ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาผู้อ่านไปดูกันสิว่า “บัตรเดบิตที่มาพร้อมสิทธิด้านประกันอุบัติเหตุ” (เราเลือกเฉพาะคุ้มครองด้านอุบัติเหตุ) มีข้อดี-ข้อเสียยังไง เป็นทางเลือกที่น่าสนใจแค่ไหน สำหรับคนที่อยากมีประกันอุบัติเหตุไว้ให้อุ่นใจเวลาเจอเหตุที่ไม่คาดฝัน แต่เดี๋ยวก่อน ข้อมูลเรื่องการใช้สิทธิเรามีมาฝากแน่ๆ แต่สิ่งที่เราอยากบอกคือ ลักษณะการให้บริการที่ไม่ตรงไปตรงมาของธนาคาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรปรับปรุงเพื่อมิให้ก่อปัญหาในอนาคต    โดยฉลาดซื้อได้ทดลองให้อาสาสมัครไปเปิดบัญชีธนาคารพร้อมกับสมัครบัตรเดบิตประเภทที่มีสิทธิประกันอุบัติเหตุกับธนาคาร 5 แห่งได้แก่ กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และออมสิน  พบว่าทุกธนาคารที่ทดสอบไม่มีกรมธรรม์มอบให้ทั้งในขณะที่ขอเปิดบริการ มีเพียง 3 ธนาคารที่ให้แผ่นพับข้อมูลรายละเอียดการใช้สิทธิ อย่างไรก็ตาม เพื่อดูว่าจะมีการส่งกรมธรรม์มาให้ในภายหลังหรือไม่ ฉลาดซื้อได้ทิ้งระยะเวลาไว้  1 เดือน ซึ่งก็ไม่พบว่า มีการส่งกรมธรรม์มาให้กับอาสาสมัครตามที่อยู่ในการเปิดใช้บริการ และเมื่ออาสาสมัครเดินทางกลับไปยังสาขาที่เปิดใช้บริการบัตรเดบิตพร้อมประกันภัยเพื่อขอกรมธรรม์ด้วยวาจา ก็ได้รับการปฏิเสธว่า ไม่มีกรมธรรม์ให้ ทั้งๆ ที่กรมธรรม์นั้น เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะก่อนที่เราจะใช้สิทธิเราควรรู้สิทธิประโยชน์ของเราก่อนว่ามีอะไรบ้าง รายละเอียด ข้อยกเว้น ฯลฯ ซึ่งควรเป็นรายละเอียดที่เราต้องได้พิจารณาจากกรมธรรม์ เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ ว่าจะยังคงทำสัญญากับบริษัทประกันภัยต่อไป หรือขอยกเลิกสัญญา เช่นเดียวกับการทำประกันภัยแบบอื่นๆ บัตรเดบิตท่านเลือกได้ว่าต้องการแบบใด เมื่อประมาณปีที่แล้วมีข่าวการร้องเรียนจากผู้ใช้บัตรเดบิตผ่านตามสื่อต่างๆ ว่าไปสมัครของใช้บัตร ATM หรือบัตรเดบิตแบบธรรมดาแล้วถูกทางธนาคารอ้างว่าไม่มีบัตรรุ่นพื้นฐานให้บริการ หรือต้องรอหลายวันถึงจะอนุมัติบัตรได้ พร้อมเสนอให้ทำบัตรที่ราคาสูงกว่า หรือบัตรที่มีสิทธิประกันอุบัติเหตุ โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา จนลูกค้าบางคนใจอ่อน แต่พอเมื่อรู้ว่าบัตรพ่วงประกันมีค่าธรรมเนียมที่สูงกว่า ทำให้ลูกค้าหลายคนปฏิเสธที่จะใช้บริการ แต่บางคนก็ต้องตกลงทำบัตรแบบจำยอมเพราะจำเป็นต้องใช้บัตรเดบิตในการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งเมื่อเรื่องดังกล่าวกลายเป็นกระแสหนักเข้า ทางผู้บริหารธนาคารก็ต้องออกมาชี้แจงว่าทางธนาคารไม่ได้มีนโยบายในการบังคับให้ผู้บริโภคต้องสมัครบัตรเดบิตที่มีการพ่วงสิทธิประกันอุบัติเหตุ และบัตรขั้นพื้นฐานก็ยังมีให้บริการตามปกติซึ่งจากที่ฉลาดซื้อได้ลองไปสำรวจล่าสุดเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่าน เรายังพบการให้ผู้บริโภคสมัครบัตรที่มีการพ่วงสิทธิประกันโดยไม่มีการสอบถามหรือชี้แจงก่อนจากพนักงานธนาคาร ซึ่งหากผู้บริโภคที่ไม่รู้เท่าทันหรือไม่มีข้อมูลเรื่องบัตรก่อนก็อาจหลงสมัครใช้บัตรเดบิตพ่วงประกันโดยไม่รู้ตัว ทำให้ต้องเสียเงินเป็นค่าธรรมเนียมบัตรที่สูงกว่าบัตรขั้นพื้นฐาน โดยบัตรเดบิตขั้นพื้นฐานจะมีค่าธรรมเนียมรายปีอยู่ที่ 200 บาทต่อปี ขณะที่บัตรเดบิตที่พ่วงสิทธิประกันอุบัติเหตุจะมีค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 500 – 4,000 บาทต่อปี ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ควบคุมดูแลการให้บริการธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ในประเทศไทย ได้กำหนดข้อบังคับไว้ในประกาศ เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิต ว่าห้ามธนาคารพาณิชย์บังคับให้ลูกค้าทำประกันทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นประกันวินาศภัย ประกันอุบัติเหตุ ประกันชีวิต รวมทั้งห้ามใช้วิธีบังคับขายประกันคู่กับผลิตภัณฑ์ของธนาคาร หรือตั้งเป็นเงื่อนไขว่าต้องทำประกันก่อนจึงอนุมัติการทำธุรกรรมอื่นๆ ของธนาคาร เช่น ให้ผู้บริโภคต้องซื้อประกันผ่านทางธนาคารก่อนเพื่อเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาการขอสินเชื่อแต่ธนาคารสามารถให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ประกันได้ แต่ต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนชัดเจน และต้องไม่บังคับผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ส่วนข้อกำหนดเรื่องการให้แยกเคาน์เตอร์ขายผลิตภัณฑ์ด้านประกันออกจากเคาน์เตอร์ที่ให้บริการรับฝากถอนเงิน โดยมีป้ายบ่งบอกหรือสัญลักษณ์ที่ให้ผู้บริโภคเห็นได้อย่างชัดเจนนั้น ในทางปฏิบัติดูแล้วยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะดูเป็นเพิ่มภาระให้กับธนาคาร ที่สำคัญในข้อบังคับเองก็ยังเปิดช่องว่างว่าหากเป็นการทำธุรกรรมที่ต่อเนื่องกัน อย่างการทำบัตรเดบิตที่มีสิทธิประกันอุบัติเหตุ ธนาคารก็สามารถให้บริการต่อเนื่องกันได้เลย ถือว่าเป็นไปในลักษณะการบริการแบบ One Stop Serviceฉลาดซื้อแนะนำ-สำรวจตัวเองว่ามีความจำเป็นต้องใช้บัตรเดบิตที่มีสิทธิประกันอุบัติเหตุหรือไม่ สำหรับคนที่มีประกันจากแหล่งอื่นอยู่แล้ว เช่น มีประกันชีวิตอยู่แล้ว หรือมีประกันอุบัติเหตุที่ที่ทำงานทำไว้ให้ หรือใครที่พอใจกับสิทธิการรักษาพยาบาลของประกันสังคม หรือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็ไม่มีความจำเป็นต้องสมัครบัตรเดบิตพ่วงประกันเพิ่มอีก ใช้บัตรเดบิตแบบธรรมดาก็พอไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย-แต่ถ้าใครสนใจอยากจะสมัครใช้บัตรเดบิตที่ให้สิทธิเรื่องประกันอุบัติเหตุ ก็ต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบครบถ้วน ดูเรื่องค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่าย วงเงินในการคุ้มครอง โรงพยาบาลที่อยู่ในสิทธิ์ เงื่อนไขในการคุ้มครอง และเหตุที่จะทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครอง ขั้นตอนการใช้สิทธิ์ โดยเราสามารถศึกษาข้อมูลเหล่านี้ได้กับธนาคารโดยตรง หรือทางหน้าเว็บไซต์ของธนาคาร (บางธนาคารมีเอกสารกรมธรรม์ให้ดาวน์โหลด เพื่อใช้ศึกษาข้อมูลและเป็นหลักฐานอ้างอิงในการขอรับสิทธิ)  หรือจะสอบถามที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทรสายด่วน 1213 www.1213.or.th ซึ่งที่นี่เราสามารถร้องเรียนปัญหาจากการใช้บริการสถาบันการเงินต่างๆ ได้ด้วย-ส่วนใครที่เจอปัญหาธนาคารบังคับให้ทำบัตรเดบิตที่พ่วงประกัน โดยอ้างเหตุผลต่างๆ ว่าไม่สามารถออกบัตรเดบิตแบบธรรมดาหรือบัตร ATM ได้ ให้รู้ไว้เลยว่าธนาคารกำลังหลอกลวงเราอยู่ ปัจจุบันธนาคารเกือบทุกธนาคารยังมีบัตรเดบิตแบบธรรมดาให้บริการอยู่ ให้แจ้งยืนยันกับทางธนาคารว่าเราต้องการบัตรแบบธรรมดาเท่านั้น หากธนาคารยังแจ้งว่าไม่มีให้บริการ ให้ปฏิเสธการใช้บริการแล้วเปลี่ยนไปใช้บริการกับสาขาอื่น หรือธนาคารเจ้าอื่นแทน รู้ก่อนทำบัตรเดบิตพร้อมสิทธิประกันอุบัติเหตุจุดเด่นของบัตรเดบิตที่ให้สิทธิเรื่องประกันอุบัติเหตุก็คือ แค่เราเปิดบัญชีทำบัตรเดบิตเหมือนปกติทั่วไป แต่ได้รับการคุ้มครองเวลาที่เราได้รับอุบัติเหตุ ได้รับการดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาล พิการหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุญาติพี่น้องของเราได้รับเงินชดเชยตามวงเงินที่บัตรกำหนดไว้ เพียงแต่ค่าธรรมเนียมรายปีที่เราต้องจ่ายให้กับบัตรเดบิตพ่วงประกันอุบัติเหตุก็จะสูงกว่าบัตรธรรมดาทั่วไป ตั้งแต่ปีละ 500 บาทจนไปถึงหลักหลายพันบาทคุ้มครองอะไรบ้าง?บัตรเดบิตที่เพิ่มสิทธิประโยชน์เรื่องการประกันอุบัติเหตุมาด้วย จะมีการระบุวงเงินชดเชยกรณีที่ผู้ถือบัตรเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ย้ำว่าเฉพาะจากอุบัติเหตุเท่านั้น ถ้าหากสาเหตุมาจากโรคภัยไข้เจ็บ ปวดหัว ตัวร้อน บอกเลยว่าหมดสิทธิ ซึ่งวงเงินที่บัตรเดบิตของแต่ละธนาคารจะจ่ายให้อยู่ที่ตั้งแต่ 100,000 – 500,000 บาท ซึ่งวงเงินชดเชยนี้ครอบคลุมทั้ง การเสียชีวิต การได้รับอุบัติเหตุถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร และการสูญเสียการมองเห็น นอกจากนี้ยังมีการจ่ายชดเชยให้กรณีเข้ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลจากอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากอุบัติเหตุ ตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท ต่อการเข้ารักษาพยาบาล 1 ครั้ง ไม่จำกัดจำนวนตลอดอายุการถือครองบัตร ซึ่งหากค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าวงเงินที่บัตรระบุไว้ ผู้ใช้สิทธิจะต้องจ่ายเองในส่วนเกิน บางธนาคารมีเงินชดเชยการขาดรายได้ขณะเข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลให้ด้วย ถ้าจะใช้สิทธิต้องทำยังไง?สำหรับวิธีการใช้สิทธิเมื่อต้องการเข้ารักษาตัวจากอาการบาดเจ็บทำได้โดย แสดงบัตรเดบิตที่ให้สิทธิเรื่องประกันอุบัติเหตุ พร้อมกับบัตรประชาชน หรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่ายและออกโดยหน่วยงานราชการ ถ้าหากมีการเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุล ต้องแสดงหลักฐานการเปลี่ยนการทางสถานพยาบาลด้วย ซึ่งสามารถใช้สิทธิได้ทันทีกับสถานพยาบาลที่เป็นคู่สัญญาผูกอยู่กับบัตรเดบิตที่เราถืออยู่ โดยจะรับการชดเชยค่ารักษาพยาบาลตามวงเงินที่กำหนดไว้ ไม่ต้องสำรองจ่าย แต่ถ้าเกินวงเงินเราต้องจ่ายเองแต่หากเป็นในกรณีที่เราเข้ารักษาพยาบาลกับสถานพยาบาลที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับทางธนาคาร ผู้ถือบัตรก็ยังมีสิทธิในการเรียกร้องค่าชดเชย แต่ต้องสำรองจ่ายเองไปก่อน แล้วค่อยทำเอกสารขอรับสิทธิไปยังบริษัทประกันที่ดูแล โดยเอกสารที่ต้องใช้ มีตั้งแต่ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาบัตรเดบิตตามสิทธิ แบบคำร้องขอชดเชยค่ารักษาพยาบาล ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลที่เราเข้ารับบริการ **การขอรับค่าชดเชยจากการรักษาพยาบาลกับสถานพยาบาลที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับธนาคาร ธนาคารมักจะให้สิทธิเฉพาะกับโรงพยาบาลเท่านั้น ส่วนคลินิกกับสถาเวชกรรมจะถูกยกเว้นเรียกร้องขอรับค่าชดเชยไม่ได้ส่วนการเรียกร้องค่าชดเชยเมื่อเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และชดเชยการขาดรายได้ระหว่างที่เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล มีเงื่อนไขว่าต้องจัดส่งเอกสารสำคัญให้กับบริษัทประกัน ไม่ว่าจะเป็นแบบฟอร์มคำร้องขอค่าชดเชย ใบรับรองแพทย์ สำเนาใบมรณะบัตร สำเนาบัตรประชาชน สำเนาบัตรเดบิตตามสิทธิ ฯลฯ โดยต้องจัดส่งเอกสารทั้งหมดภายใต 30 วัน นับจากวันที่ผู้เอาประกันเสียชีวิตหรือจากวันที่แพทย์ลงความเห็นว่าทุพพลภาพยกเลิกได้มั้ย?บัตรเดบิตที่มาพร้อมสิทธิเรื่องประกันอุบัติเหตุจะมีการต่ออายุบัตรเป็นรายปี โดยการหักเงินค่าธรรมเนียมอันโนมัติจากยอดเงินคงเหลือที่อยู่ในบัญชี เช่นเดียวกับบัตรเดบิตทั่วไป เพราะฉะนั้นหากต้องการยกเลิกใช้บัตรให้แจ้งยกเลิก หรือทำให้เงินคงเหลือในบัญชีน้อยกว่าค่าธรรมเนียมรายปีของบัตร เมื่อครบกำหนดธนาคารไม่สามารถหักค่าธรรมเนียมรายปีจากบัตรของเราได้ บัตรก็จะถูกยกเลิกโดยอันโนมัติ หากอยากยกเลิกบัตรก่อนครบกำหนดก็สามารถไปแจ้งยกเลิกได้ทันทีที่ธนาคารสาขาที่เราสมัครไว้ โดยเรามีสิทธิได้รับค่าธรรมเนียมบัตรคืนตามสัดส่วนระยะเวลาการใช้บัตรข้อจำกัดที่จะทำให้เรา “ไม่ได้รับการคุ้มครอง”-อุบัติเหตุที่เกิดขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์จะได้รับการชดเชยที่น้อยกว่าอุบัติเหตุจากอุบัติเหตุทั่วไป เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยง บริษัทประกันจึงประเมินจ่ายค่าชดเชยให้น้อยกว่าอุบัติเหตุทั่วไป (ประกันอุบัติเหตุบางเจ้าถึงขั้นกำหนดเงื่อนไขไม่จ่ายกรณีอุบัติเหตุจากการขับขี่และโดยสารจักรยานยนต์)-การเจ็บป่วยใดๆ ที่ไม่ได้สืบเนื่องหรือมีสาเหตุจากอุบัติเหตุ-อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นขณะผู้เอาประกันอยู่ในอาการมึนเมาจากการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ สารเสพติด ยาเสพติดให้โทษตามกฏหมาย-การเจ็บป่วยจากอาการติดเชื้อโรคต่าง หรือติดเชื้อจากบาดแผลที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ-การรักษาทางเวชกรรม หรือศัลยกรรม เว้นแต่แพทย์วินิจฉัยว่าต้องทำเนื่องจากอุบัติเหตุ-การแท้งลูก-การรักษาฟันที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ-อาหารเป็นพิษ-อุบัติเหตุที่เกิดจากสถาการณ์ความไม่สงบทางการเมือง การก่อจลาจล สงคราม การก่อการร้าย-การฆ่าตัวตาย หรือความพยายามใดๆ ที่จงใจให้ตัวเองได้รับบาดเจ็บ-อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นขณะผู้เอาประกัน ทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น แข่งรถ แข่งเรือ ชกมวย โดดร่ม โดยสารอยู่บนบอลลูน เครื่องร่อน เล่นบันจี้ จัมพ์ ปีนเขา ดำน้ำ ฯลฯ-อุบัติเหตุขณะโดยสารเครื่องบินที่ไม่ใช่เครื่องบินทางการพาณิชย์-    อุบัติเหตุจากการทะเลาะวิวาท-ตำรวจ ทหาร หรือแม้แต่อาสาสมัคร ที่ประสบอุบัติเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปราม หรืออยู่ในสงคราม***ข้อจำกัดที่จะทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองอาจแตกต่างกันไปในบัตรของแต่ละธนาคาร 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point

ฉบับที่ 173 จับตา “ราคาสินค้า”

ในสถานการณ์ปัจจุบัน หลายเสียงต่างบอกตรงกันว่า เศรษฐกิจประเทศเราเวลานี้ ไม่ใช่ช่วงอู้ฟู่ เพราะกำลังซื้อจากภาคประชาชนดูเหมือนหดหายไปเยอะ งานอีเว้นท์เพื่อส่งเสริมการขายทั้งหลายดูจะมีคนเดินเข้างานกันน้อยลง ไม่เว้นกระทั่งงานกาชาด ที่ประชาชนเคยให้ความสนใจมาก ผู้ผลิตหลายรายก็บ่นว่า “ปีนี้ยอดขายไม่ดี” หรือถึงแม้ว่าหลายคนกำลังทรัพย์ในกระเป๋าไม่ได้หดหายไปไหน แต่ก็คงสัมผัสได้ถึง “พลังงานบางอย่าง” ทำให้ไม่มีอารมณ์ในการจับจ่ายใช้เงิน ส่วนคนที่มีภาระหนี้สินติดตัว ไม่ว่าจะผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือผ่อนหนี้บัตร อันนี้ก็คงไม่ต้องหวังให้จับจ่ายเพิ่ม เพราะคงต้องประหยัดกันสุดฤทธิ์     จริงๆ ของบางอย่างประหยัดได้ ก็เห็นว่าจำเป็นต้องประหยัด แต่ของอีกหลายอย่างโดยเฉพาะที่เป็นสินค้าในชีวิตประจำวัน ประเภทเครื่องอุปโภค บริโภคในครัวเรือนนั้น มันก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ อย่างไรเสียก็ต้องซื้อต้องใช้  ซึ่งสินค้าในกลุ่มนี้หลายชนิดเป็นสินค้าควบคุมราคาโดยภาครัฐ(กระทรวงพาณิชย์) หากจะปรับราคา ก็ต้องเข้าไปคุยกับหน่วยงานเพื่อขออนุมัติก่อน ส่วนสินค้าจำเป็นหลายรายการที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุม บางทีก็ต้องระวัง เพราะอาจถือโอกาส ปรับสูตรเปลี่ยนไซส์ เพื่อขึ้นราคาทางอ้อมได้      ฉลาดซื้อเราก็เป็นนักช้อปตัวยง(ช้อปมาทดสอบนะคะ) ไหนๆ ก็เดินห้างสรรพสินค้าบ่อย จึงถือโอกาส จับตาสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน เพื่อดูว่ามีการปรับตัวกันแค่ไหน อย่างไร เราทดลองเก็บตัวอย่างสินค้าหลายรายการ เลือกยี่ห้อที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงในอันดับต้นๆ ของแต่ละกลุ่มรายการสินค้า โดยเริ่มเก็บตัวอย่างครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2557 และเก็บตัวอย่างสินค้า(ยี่ห้อเดียวกันกับครั้งแรก) อีกครั้งในเดือน พฤษภาคม 58 ที่ผ่านมา โดยเลือกซื้อจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ 2 แห่ง จากนั้นเปรียบเทียบราคา ณ จุดขาย พบว่า ส่วนใหญ่ราคายังคงที่ แต่หลายรายการก็พบว่า มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก เช่น สบู่ก้อนปรับราคาขึ้นไปถึงประมาณร้อยละ 30-40 ส่วนน้ำมันพืชมีการปรับราคาขึ้นประมาณร้อยละ 10-20          

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 133 เงินทองของมายา เปรียบเทียบปัญหาด้านการเงินจากทั่วโลก

  เนื่องในโอกาสวันผู้บริโภคสากล 15 มีนาคม เราขอพาคุณเปลี่ยนบรรยากาศไปทัวร์ 1 วัน 10 ประเทศ อัพเดทเรื่องเงินๆทองๆ รอบโลกกัน ผู้บริโภคชั้นแนวหน้าอย่างพวกเรา รู้จัก “สิทธิในการเลือก” เป็นอย่างดี แต่เราอาจลืมสังเกตไปว่า ในบรรดาสิทธิผู้บริโภคทั้ง 8 ข้อ(แบบสากล) นั้น “สิทธิในการเลือก” ของเราถูกละเมิดโดยบริการการเงินการธนาคารมากที่สุด แม้ค่าธรรมเนียมจะแพงสักเท่าไร บริการจะแย่สักแค่ไหน เราก็ (ยินดี?) ทนกันต่อไป จะมีสักกี่คนที่อยากจะเป็นธุระเปลี่ยนไปใช้บริการจากธนาคารเจ้าใหม่ เพราะรู้สึกไม่พอใจกับเจ้าเดิม หรือเพราะเห็นข้อเสนอของเจ้าใหม่ที่ดีกว่า  เรื่องของเรื่อง ... ดูไม่ออกจริงๆ ว่าใครให้บริการหรือข้อเสนอที่ดีกว่ากัน ฝรั่งเศส ที่นี่เขามีสถิติยืนยันว่า ใน 100 คน มีถึง 15 คน ที่ “อยาก” จะเปลี่ยนธนาคาร แต่ “เปลี่ยน” จริงๆแค่ 5 คนเท่านั้นข่าวบอกมาว่า ที่นี่มีจำนวนผู้ประกอบการค่อนข้างจำกัด แถมยังมีค่าบริการแพงเป็นอันดับต้นๆของยุโรป แต่คนฝรั่งเศสกลับมีการรับรู้เรื่องการเปลี่ยนธนาคารน้อยมาก (ยืนยันโดยงานสำรวจเมื่อ 2 ปีก่อน โดยองค์กรผู้บริโภค UFC-Que Choisir) บรรดาธนาคารที่นี่ไม่มีการอำนวยความสะดวกใดๆ ให้แก่ผู้ที่ต้องการจะย้ายบัญชีเงินฝากไปอยู่กับเจ้าใหม่ ในขณะเดียวกันก็ไม่สนใจจะรับลูกค้าที่เปลี่ยนจากเจ้าอื่นมาที่ตนเองเช่นกัน หลักๆ แล้วเขาเน้นการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพิ่มเติมให้กับลูกค้าเก่ามากกว่า  นอกจากนี้เขายังคิดค่าธรรมเนียมสำหรับบริการที่มีคู่แข่งน้อย เช่น บัตรเดบิต สูงมากด้วย   สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว Bank of America ประกาศจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายเดือน เดือนละ 5 เหรียญ (ประมาณ 150 บาท) จากผู้ใช้บัญชีเงินฝากที่รองรับบัตรเดบิต ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2012 เป็นต้นไป โดยมีธนาคารอีก 3 แห่ง (JP Morgan Chase / Wells Fargo และ Sun Trust) ตั้งท่าว่าจะทำเช่นเดียวกัน อเมริกันชนฟังแล้วขมขื่น เป็นลูกค้ากันมาก็นาน แล้วทำไมถึงยังต้องเสียเงินเพื่อเข้าไปใช้เงินในบัญชีเงินฝากของตัวเองอีก ว่าแล้วผู้บริโภคกว่า 40,000 คน ก็ร่วมกันเขียนอีเมล์ถึงสภาคองเกรส ร้องขอให้มีการตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่ ในที่สุดแผนการนี้ล้มเลิกไปในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา  ------------------------------------------------------------------------------------------------------- สถิติความอัดอั้นตันใจ อังกฤษ   ครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2553 มีเรื่องร้องเรียนบริการการเงิน/ธนาคาร กว่า 1,700,000 เรื่อง อินเดีย  ระหว่าง ปี พ.ศ. 2552 – 2553 มีเรื่องร้องเรียนบริการการเงิน/ธนาคาร เกือบ 80,000 เรื่อง จีน  มากกว่าร้อยละ 40 ของผู้ใช้บริการธนาคาร ไม่พอใจกับค่าธรรมเนียมอัตราปัจจุบันบราซิล  เรื่องร้องเรียนยอดฮิตอันดับสอง ของ “สคบ.” ที่นั่นคือ บริการการเงิน/ธนาคาร-------------------------------------------------------------------------------------------------------เปลี่ยน ... วันนี้เธอแค่เปลี่ยน  ลองมาดูสถิติการ “เปลี่ยน” ของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ระหว่างปี พ.ศ. 2550 – 2551 ร้อยละ 25  “เปลี่ยน” ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตร้อยละ 22  “เปลี่ยน” ผู้ให้บริการประกันรถยนต์ร้อยละ 9  “เปลี่ยน” ผู้ให้บริการธนาคาร -------------------------------------------------------------------------------------------------------   สวีเดน ที่นี่เขาเท่จริงไรจริง มีการคงสิทธิหมายเลขบัญชีธนาคารด้วยระบบที่ชื่อว่า BankGiro ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกที่จะไปใช้บริการของธนาคารไหน เมื่อไรก็ได้ ถ้าพบผลิตภัณฑ์หรือข้อเสนอที่น่าสนใจกว่า ด้วยการอ้างอิงหมายเลขบัญชีเดิม แต่เดี๋ยวก่อน องค์กรผู้บริโภคของสวีเดน Sveriges Konsumenter บอกว่าผู้ที่ใช้ประโยชน์จากระบบ BankGiro นี้ส่วนใหญ่เป็นองค์กรธุรกิจ ส่วนผู้บริโภคทั่วไปนั้นยังมีความเชื่อว่าการเปลี่ยนไปใช้บริการจากธนาคารอื่นนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก แถมสุ่มเสี่ยงอีกต่างหาก ทั้งๆ ที่มีระบบรองรับแต่คนก็ยังไม่ “เปลี่ยน” เรื่องนี้สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นในระบบธนาคารของคนสวีเดน มีสถิติยืนยันว่าความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินนั้นลดลงอย่างฮวบฮาบในระหว่างปี พ.ศ. 2552 – 2553 -------------------------------------------------------------------------------------------------------ความจริงแล้วคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมธนาคารแห่งยุโรป ได้ประกาศใช้แนวปฏิบัติในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องการโอนย้ายบัญชีเงินฝากของตนไปอยู่กับธนาคารอื่นในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปทั้งหมด รวมถึงนอร์เวย์ มาตั้งแต่เมื่อสามปีก่อน แต่จนทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถจัดการได้ลงตัวในทางปฏิบัติ-------------------------------------------------------------------------------------------------------   เนเธอร์แลนด์ ด้วยระบบ OVERSTAPSERVICE ที่มีใช้กันมาตั้งแต่ปี 2548 ที่กำหนดให้ธนาคารเดิมโอนประวัติการจ่ายเงินในช่วงเวลาย้อนหลัง 13 เดือน ไปยังบัญชีของผู้บริโภคที่ทำไว้กับธนาคารเจ้าใหม่ ทำให้คนที่นี่สามารถใช้สิทธิในการเลือกของตนเองได้สะดวกกว่าที่อื่น งานสำรวจขององค์กรผู้บริโภค Consumentenbond พบว่าผู้มีบัญชีธนาคารกว่า 1,900 คน มีการใช้บริการนี้ประมาณ 80,000 – 100,000 ครั้งต่อปี และผู้บริโภคมีความพึงพอใจต่อบริการธนาคารโดยรวมเพิ่มขึ้น จากที่เคยให้ 7 เต็ม 10 เมื่อปี 2549 ก็เพิ่มเป็น 8.5 เต็ม 10 ในปี 2554 แม้จะย้ายกันได้สะดวก แต่ก็ยังไม่สามารถใช้หมายเลขบัญชีเดิมได้อยู่นั่นเอง   ออสเตรเลีย ตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้เป็นต้นมา สถาบันการเงินที่ให้บริการรับจำนองบ้าน จะต้องมีข้อมูลให้กับผู้บริโภคในรูปแบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยต้องแจกแจงข้อมูลต่อไปนี้ในภาษาที่เข้าใจได้ง่าย ให้จบภายใน 1 หน้ากระดาษ • เงื่อนไขเงินกู้ / จำนวนงวดที่ต้องผ่อนชำระ• อัตราดอกเบี้ย • จำนวนเงินที่ต้องจ่ายทั้งหมด เมื่อจ่ายจนครบทุกงวด• ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ธนาคารจะเรียกเก็บ -------------------------------------------------------------------------------------------------------ธนาคารใหญ่ขึ้น ทางเลือกผู้บริโภคน้อยลงอังกฤษ ธนาคารใหญ่ 5 อันดับแรก ยึดครองส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 87  แค่ Lloyds ธนาคารเดียวก็คุม 1 ใน 4 ของบัญชีเงินฝากทั้งประเทศแล้ว อีกร้อยละ 20 ของลูกค้าที่กู้ซื้อบ้านก็อยู่กับธนาคารนี้เช่นกันฝรั่งเศส  ร้อยละ 90 ของบัญชีเงินฝาก ร้อยละ 80 ของบัญชีเงินกู้ และร้อยละ 60 ของกรมธรรม์ประกันชีวิต อยู่กับธนาคาร 6 อันดับแรก อเมริกา ส่วนแบ่งการตลาดของ 50 ธนาคารอันดับต้นในปี  2553 เท่ากับส่วนแบ่งการตลาดของธนาคาร 150 อันดับแรก ในปี 2551ออสเตรเลีย ธนาคาร 4 อันดับต้น มีส่วนแบ่งร้อยละ 78 ของบัญชีเงินฝาก และมากกว่าร้อยละ 80 ของบัญชีเงินกู้บราซิล  ร้อยละ 75 ของบัญชีเงินฝาก อยู่กับธนาคาร 5 อันดับแรกเยอรมนี ร้อยละ 78 ของบัญชีเงินฝาก อยู่กับธนาคาร 6 อันดับแรก  -------------------------------------------------------------------------------------------------------   อังกฤษ คงจำกันได้ว่าที่นี่เขาพยายามกอบกู้ธนาคารขนาดใหญ่ที่อาการเข้าขั้นโคม่า ด้วยเงินภาษีของประชาชน นอกจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เป็นธรรม (แต่จำเป็น) ในเรื่องนี้แล้ว ขณะนี้เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้มีการแยกให้ชัดเจนระหว่างธนาคารทั่วไป และธนาคารเพื่อการลงทุน เพราะระดับความเสี่ยงมันต่างกันลิบลับ เมื่อธนาคารเพื่อการลงทุน (ซึ่งสมควรเป็นผู้เชี่ยวชาญ) เก็งกำไรผิด ตัดสินใจพลาดเอง รัฐก็สมควรปล่อยให้ล้มไปเอง ไม่ต้องนำเงินสาธารณะเข้าไปอุ้มการลงทุนส่วนบุคคล -------------------------------------------------------------------------------------------------------ทำงานแทบตาย หายไปกับค่าโอนในแต่ละปี เงินจำนวนไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จะถูกโอนจากแรงงานข้ามชาติไปยังประเทศบ้านเกิด (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา) เพื่อจุนเจือคนในครอบครัว เป็นค่าซ่อมบ้าน ค่าเล่าเรียนลูก เป็นต้น โดยเฉลี่ยแล้วคนเหล่านี้จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการโอนมากกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่โอน บางครั้ง มากกว่าร้อยละ 20 ด้วยซ้ำ ผู้บริโภคมีทางเลือกที่ค่อนข้างจำกัดเพราะไม่มีข้อมูล ในขณะที่ธนาคารก็ยังไม่มีความโปร่งใสในมาตรฐานการตั้งราคาด้วยเช่นกัน แม้แต่ ธนาคารโลก World Bank เองก็เคยบอกว่า ถ้าธนาคารลดค่าธรรมเนียมการโอนให้ร้อยละ 5   จะมีเงินกลับไปสู่ครอบครัวในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้น 15,000 ล้านเหรียญต่อปีเลยทีเดียว-------------------------------------------------------------------------------------------------------   เนื่องในโอกาสวันคุ้มครองผู้บริโภคสากล World Consumer Rights Day ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มีนาคม ของทุกปี สหพันธ์ผู้บริโภคสากลและองค์กรสมาชิก 220 องค์กรใน 115 ประเทศ (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ของเราก็เป็นสมาชิกอยู่ด้วย) จะร่วมกันรณรงค์เรียกร้องให้เกิดบริการทางการเงินการธนาคารที่หลากหลาย โปร่งใส และเป็นธรรมต่อผู้บริโภคมากขึ้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 125 เงินฝากดอกเบี้ยสูง... แค่จูงใจหรือได้จริง!?

 การฝากเงินกับธนาคารของใครหลายคนอาจไม่ใช่เพียงแค่การออมเงิน แต่เป็นการต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับเงินที่นำไปฝาก ด้วยผลกำไรที่ได้จาก “ดอกเบี้ย”  การฝากเงินไว้กับธนาคารแล้วปรารถนาดอกเบี้ยสูงแทบเป็นไปได้น้อยในบัญชีประเภท ออมทรัพย์ ดังนั้นทางเลือกที่น่าสนใจที่สุดก็คือ เลือกฝากกับ “บัญชีเงินฝากประจำ” ซึ่งให้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ธรรมดา แถมช่วงนี้กระแสฝากเงินรับดอกเบี้ยสูงกำลังมาแรง ธนาคารหลายเจ้าใช้กลยุทธ์ดึงดูดใจลูกค้าด้วยตัวเลขดอกเบี้ยสูงปี๊ด แบบที่ใครเห็นก็ต้องตะลึง รู้สึกใจเต้นตึงตัง อยากควักเงินจากกระเป๋าเอาไปเข้าบัญชีแบบเดี๋ยวนั้นทันที   สงครามเงินฝากดอกเบี้ยสูง!!!  ช่วงนี้แต่ละธนาคารกำลังทำสงครามแย่งชิงเม็ดเงิน (ฝาก) จากลูกค้ากันอย่างหนัก โดยต่างก็ชูเรื่องเงินฝากดอกเบี้ยสูงมาเป็นจุดขาย ซึ่งส่วนใหญ่เลือกใช้กลยุทธ์ดอกเบี้ย 7% มาเป็นตัวเรียกแขก ให้หลายคนเกิดแรงบันดาลใจหันมาออมเงินกันวันนี้เพื่ออนาคตที่ดีในวันหน้า ไม่ว่าจะเป็น ธ.นครหลวงไทย กับโปรโมชั่นเงินฝากประจำพิเศษ super grow up 10 เดือน, ธ.ไทยพาณิชย์ เงินฝากประจำดอกเบี้ยก้าวกระโดด 11 เดือน, ธ.กสิกรไทย เปิดบัญชีเงินฝากประจำดอกเบี้ยพุ่งพรวด 13 เดือน ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเพื่อนที่ 7.50% หรือแม้แต่ ธ.ออมสิน ก็มีเงินฝากประจำ 11 เดือน ให้ดอกเบี้ย 7% เป็นทางเลือกให้กับคนที่อยากฝากเงินไว้กินดอก  ลองมาดูกันหน่อยสิว่าแต่ละธนาคารใช้โปรโมชั่นอะไรมาจูงใจคนที่รักการออมอย่างเรากันบ้าง   ธ.นครหลวงไทย เงินฝากประจำพิเศษ super grow up 10 เดือน ดอกเบี้ย 7%อัตราดอกเบี้ย (ต่อปี)เดือนที่ 1 – 6 = 2.00%เดือนที่ 7 – 8 = 2.50%เดือนที่ 9 - 11 = 7.00%อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย = 3.10% เงื่อนไข-ต้องมีสมุดบัญชีคู่ฝากอีกหนึ่งบัญชี-ฝากขั้นต่ำ 10,000 บาท ไม่จำกัดวงเงิน-จ่ายดอกเบี้ย 3 ครั้ง เดือนที่ 6 เดือนที่ 8 และเดือนที่ 10-ฝากไม่ครบ 6 เดือนไม่ได้ดอกเบี้ย-บัญชีไม่สามารถใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อ-หากจะถอนต้องถอนทั้งยอดฝาก ยอดฝากใดก็ได้----------   ธ.กสิกรไทย เงินฝากประจำดอกเบี้ยพุ่งพรวด 13 เดือน ดอกเบี้ย 7.50%อัตราดอกเบี้ย (ต่อปี)เดือนที่ 1 – 3 = 2.00%เดือนที่ 4 – 6 = 2.50%เดือนที่ 7 – 9 = 3.25%เดือนที่ 10 – 11 = 5.75%เดือนที่ 12 – 13 = 7.50%อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย = 3.827%เงื่อนไข-ฝากขั้นต่ำ 10,000 บาท-จ่ายดอกเบี้ยเดือนที่ 3 เดือนที่ 6 เดือนที่ 9 เดือนที่ 11 และเดือนที่ 13-ผู้ฝากต้องมีบัญชีออมทรัพย์หรือบัญชีกระแสรายวันอีกหนึ่งบัญชี เพื่อใช้ผูกกับบัญชีใหม่ไว้สำหรับรองรับการโอนดอกเบี้ยตามช่วงเวลาที่ครบกำหนด-ถ้าถอนเงินก่อนครบกำหนด จะได้รับดอกเบี้ย 2.00% ต่อปี-ถ้าถอนเงินต้นบางส่วนก่อนครบกำหนด เงินต้นส่วนที่เหลือเมื่อฝากจนครบกำหนดยังคงได้รับดอกเบี้ยตามปกติ-----------    ธ.ไทยพาณิชย์ เงินฝากประจำดอกเบี้ยก้าวกระโดด 11 เดือน ดอกเบี้ย 7%อัตราดอกเบี้ย (ต่อปี)เดือนที่ 1 – 4 ดอกเบี้ย 2%เดือนที่ 5 – 8 ดอกเบี้ย 3%เดือนที่ 9 – 11 ดอกเบี้ย 7%อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย = 3.727% ต่อปีเงื่อนไข-ฝากขั้นต่ำ 10,000 บาท ฝากครั้งต่อไปขั้นต่ำ 1,000 บาท-ไม่จำกัดวงเงินสูงสุด -ฝากไม่ครบ 3 เดือน ไม่ได้รับดอกเบี้ย-ฝากเกิน 3 เดือน แต่ไม่ครบ 11 เดือน จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราเดียวกับบัญชีออมทรัพย์ ------------   ธ.ทหารไทย เงินฝากประจำ Up & Up 24 เดือน ดอกเบี้ย 7%อัตราดอกเบี้ย (ต่อปี)เดือนที่ 1 – 6 = 2.00%เดือนที่ 7 -12 = 3.00%เดือนที่ 13 – 18 = 4.00%เดือนที่ 19 – 24 = 7.00%อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย = 3.1875% ต่อปีเงื่อนไข-เปิดบัญชีครั้งแรกและการฝากครั้งต่อไปกำหนดขั้นต่ำที่ 25,000 บาท -จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือนพร้อมหักภาษี ณ ที่จ่าย-ถอนเงินก่อนครบกำหนดต้องถอนเต็มจำนวนเงินของแต่ละรายการที่ฝาก คิดดอกเบี้ยตามระยะเวลาฝากในเดือนที่ถอน-ถอนเงินได้เฉพาะกับสาขาที่เปิดบัญชีไว้เท่านั้น และต้องมีสมุดคู่ฝากด้วย------------------------------   ธ.ออมสิน เงินฝากประจำ 11 เดือน ดอกเบี้ย 7%อัตราดอกเบี้ย (ต่อปี)เดือนที่ 1 – 3 = 2.50%เดือนที่ 4 – 6 = 3.00%เดือนที่ 7 – 9  = 3.50%เดือนที่ 10 – 11 = 7.00%อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.7273% เงื่อนไข -ฝากขั้นต่ำ 10,000 บาท -คิดดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดระยะเวลาฝาก-ฝากไม่ครบ 3 เดือน ไม่ได้รับดอกเบี้ย-ฝากครบ 3 เดือน แต่ไม่ครบ 11 เดือน คำนวณดอกเบี้ยให้ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 11 เดือน ตามระยะเวลาที่ฝากไว้จริง-ไม่สามารถถอนบางส่วนของเงินฝากแต่ละรายการได้ ให้ถอนปิดทั้งรายการฝากนั้น-ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ หรือค้ำประกันบุคคลได้--------   ความจริงในเลข 7 ต้องยอมรับว่าดอกเบี้ย 7% ต่อปี ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก ยิ่งถ้านำไปเทียบกับดอกเบี้ยที่ได้จากการฝากประจำแบบ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 12 เดือน ที่ได้ดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกิน 3.75% ต่อปี (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย) ยิ่งกับบัญชีออมทรัพย์ธรรมดายิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะคิดดอกเบี้ยให้แค่ปีละ 0.75% เท่านั้น  ดอกเบี้ย 7% ที่ธนาคารนำมาเป็นจุดขายยั่วใจให้เรายอมควักเงินไปนอนนิ่งๆ อยู่ที่ตู้เซฟของธนาคาร ในความเป็นจริงแล้วเรา 7% ที่ว่าอาจเป็นแค่ตัวเลขลวงตา เพราะเมื่อมาพิจารณาในเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยที่แต่ละธนาคารกำหนดไว้จะพบว่าดอกเบี้ยที่เราจะได้รับจริงๆ อาจได้ไม่ถึง 7% เนื่องจากบัญชีเงินฝากที่บอกว่าจะคิดดอกเบี้ยให้เราสูงถึง 7% ต่อปีนั้น   จะใช้หลักการคิดดอกเบี้ยแบบขั้นบันได หมายถึงดอกเบี้ยจะมีการเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของการฝากตามแต่ที่เงื่อนไขของบัญชีเงินฝากนั้นๆ จะกำหนดไว้ เช่น 10 เดือน หรือ 11 เดือน โดยในช่วง 3 เดือนแรก เราจะได้รับดอกเบี้ยจากการฝากเงินอยู่ที่ประมาณ 2 – 3% ต่อปี   หลังจากนั้นมูลค่าของดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้นตามช่วงเวลาของการฝาก 6 เดือน 8 เดือน จนในช่วงเดือนท้ายๆ เราถึงจะมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยสูงสุดที่ 7% เมื่อเฉลี่ยตลอดช่วงเวลาการฝากเงินเราจะได้รับดอกเบี้ยสุทธิจริงๆ อยู่ที่ประมาณ 3 – 4% เท่านั้น   ซึ่งตัวเลขนี้ก็ยังไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิจริงๆ ที่เราได้ เพราะดอกเบี้ยที่ทางธนาคารแจ้งกับเรานั้นเป็นดอกเบี้ยที่เฉลี่ยต่อปี แต่บรรดาบัญชีเงินฝากประจำให้ดอกเบี้ยสูงทั้งหลายที่แต่ละธนาคารส่งมาประชันกันนั้นถือเป็นบัญชีแบบพิเศษ คือจะเป็นการเปิดให้ฝากในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นและอายุของบัญชีที่ใช้คิดปันผลดอกเบี้ยของบางบัญชีก็ไม่ถึง 1 ปี ซึ่งนั่นก็ทำให้ตัวเลขดอกเบี้ยเฉลี่ยที่แจงไว้ก็ต้องลดลงไปอีกเมื่อถึงเวลาที่คิดยอดรวม แถมยังต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายในส่วนของดอกเบี้ยที่ได้รับอีกด้วย ------------------------------------------------------   วิธีการคำนวณหาดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้จริงๆ จากการฝากเงินในบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูง  หลายคนอาจจะคิดว่าการคำนวณหาอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารเป็นเรื่องยาก เห็นตัวเลขมากๆ แล้วอาจจะตาลาย แต่ความจริงแล้วการคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากนั้นง่ายนิดเดียว  สูตรที่ใช้ในการคำนวณก็คือ ระยะเวลาการฝาก × อัตราดอกเบี้ย ÷ ด้วย 12 ซึ่งก็จำนวนเดือนใน 1 ปี  ตัวอย่างธนาคารให้ดอกเบี้ยสูงสุดที่ 7% ระยะเวลาการฝาก 10 เดือน โดยคิดดอกเบี้ยเป็นขั้นบันได แบ่งการจ่ายเป็น 3 ครั้ง ช่วงเดือนที่ 1 – 5 ให้ดอกเบี้ย 2% ต่อปี เดือนที่ 6 – 8 ให้ดอกเบี้ย 3% ต่อปี และในเดือนที่ 9 – 10 ให้ดอกเบี้ย 7% ต่อปี ถ้าสมมุติว่าเรามีเงินต้นอยู่ 10,000 บาท เราก็จะสามารถคิดดอกเบี้ยจริงด้วยการคำนวณดังต่อไปนี้ เดือนที่ 1 – 5 ดอกเบี้ย 2.00% ต่อปี = 2.00 คูณ 5 หาร 12 = 0.83% เป็นดอกเบี้ยที่ได้ใน 5 เดือนแรกเดือนที่ 6 – 8 ดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี = 3.00 คูณ 3 หาร 12 = 0.75% เป็นดอกเบี้ยที่ได้ใน 3 เดือนต่อมาเดือนที่ 9 – 10 ให้ดอกเบี้ย 7.00% ต่อปี = 7.00 คูณ 2 หาร 12 = 1.16% เป็นดอกเบี้ยที่ได้ในอีก 2 เดือนต่อมา รวมฝากเงิน 10 เดือนจะได้ดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.74% ไม่ใช่ 7% อย่างที่ธนาคารโฆษณาไว้ ------------------------------------------------------   เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับเงินฝากประจำพิเศษดอกเบี้ยสูง  -ต้องดูที่ดอกเบี้ยเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการฝาก อย่าเชื่อตัวเลขดอกเบี้ยที่ธนาคารเอามาโฆษณา ซึ่งดอกเบี้ยเฉลี่ยจะมีการแจ้งไว้ในเงื่อนไขรายละเอียดจากคิดดอกเบี้ยอยู่แล้ว  -เงินฝากประจำดอกเบี้ยสูงให้ดอกเบี้ยสูงกว่าในระยะเวลาที่สั้นกว่า ถ้าเทียบกับเงินฝากประจำทั่วไป  -แม้การฝากประจำระยะยาวจะได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าการฝากระยะสั้นหรือฝากแบบออมทรัพย์ แต่ก็ส่งปัญหาต่อสภาพคล่องของผู้ฝาก เพราะไม่สามารถถอนออกมาใช้ได้สะดอก ถ้ามีการถอนก็จะมีการปรับลดดอกเบี้ยทันที แถมยังอาจเสียสิทธิได้รับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น หากในอนาคตข้างหน้าเกิดมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดก่อนถึงวันที่ครบกำหนดฝาก  -เงินฝากประจำดอกเบี้ยสูงฝากขั้นต่ำที่ 1 หมื่นบาท ได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการฝาก ส่วนเงินฝากประจำทั่วไปดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นตามวงเงินฝาก ซึ่งส่วนใหญ่ต้องเป็นวงเงินที่สูงมากระดับหลายล้านบาท  -อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยบัญชีฝากประจำ 3 เดือนอยู่ที่ 1.50 – 3.45% ต่อปี, 6 เดือนอยู่ที่ 1.70 – 3.50% ต่อปี, 12 เดือนอยู่ที่ 1.90 -3.75% ต่อปี และ 24 เดือนอยู่ที่ 2.40 – 4.45% ต่อปี (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย)-เงินฝากประจำที่มีการแบ่งจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปในรอบระยะเวลาการฝากแต่ละประเภท ถ้าผู้ฝากถอนเงินก่อนครบกำหนด โดยธนาคารได้มีการแบ่งจ่ายดอกเบี้ยไปแล้ว ธนาคารจะดำเนินการเรียกคืนดอกเบี้ยที่จ่ายไปแล้วคืนตามสัดส่วนที่คำนวณจากยอดเงินต้น และไม่คืนภาษีเงินที่ได้เสียไปแล้ว ------------------------------------------------------  พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก  พ.ร.บ ที่จะช่วยให้อุ่นใจว่าเงินที่เราฝากไว้มีคนคอยดูแล หากวันหนึ่งธนาคารที่เราฝากเงินไว้เกิดเรื่องไม่คาดฝันถูกปิดกิจการ เงินของเราจะได้รับการคุ้มครอง ทั้งเงินฝากประเภทออมทรัพย์ กระแสรายวัน เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับเงินฝากที่เป็นเงินบาท เฉพาะของธนาคารพาณิชย์  สำหรับวงเงินที่ได้รับการคุ้มครองตามประกาศของ พ.ร.บ. คือ11 ส.ค.53 – 10 ส.ค. 54 คุ้มครองเต็มจำนวนเงินฝาก11 ส.ค.54 – 10 ส.ค.55 คุ้มครองไม่เกินวงเงิน 50 ล้านบาท11ส.ค.55 เป็นต้นไป คุ้มครองไม่เกินวงเงิน 1 ล้านบาท  (*หลังจาก 11ส.ค.55 ถ้าหากมีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท เงินส่วนที่มาต้องรอการชดเชยจากการขายทรัพย์สินของธนาคารหรือสถาบันการเงินนั้นๆ) ------------------------------------------------------ เงินฝากประเภทอื่นๆ ที่น่าสนใจ  เงินฝากทวีทรัพย์ ดอกเบี้ย 3% ต่อปี (ธ.กสิกรไทย)วงเงินฝาก 1,000 – 25,000 บาท โดยต้องฝากเงินเท่าๆ กันทุกเดือนติดต่อกัน 24 เดือน ถึงจะได้รับดอกเบี้ย 3% ต่อปี แถมยังได้ดอกเบี้ยพิเศษอีก 2.50% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ ในความพยายามที่สามารถฝากมาจนครบ 2 ปี แต่ถ้าขาดฝากแค่ 1 งวด ก็จะถูกปรับให้ได้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เท่านั้น (ปัจจุบันอยู่ที่ 0.75% ต่อปี)  เงินออมปลอดภาษี ดอกเบี้ย 3.35% ต่อปี (ธ.นครหลวงไทย)ข้อดีคือไม่ต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 15% สำหรับดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ต้องทำตามเงื่อนไขคือ ฝากเงินจำนวนเท่าๆ กัน ติดต่อกันทุกเดือน นาน 24 เดือน หรือ 36 เดือน โดยถ้าฝากครบตามกำหนดจะมีโบนัสดอกเบี้ยเพิ่มให้ ฝาก 24 เดือนจะได้ดอกเบี้ยเพิ่มอีก 5% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ ส่วน 36 เดือนจะได้เพิ่มอีก 6 % ของดอกเบี้ยที่ได้รับ สำหรับวงเงินในการฝากกำหนดไว้ที่ 500 – 600,000 บาท แต่ถ้าฝากช้าเกิน 2 ครั้งจะถูกตัดสิทธิการเป็นบัญชีปลอดภาษี และห้ามถอนเงินจนกว่าจะครบกำหนดฝาก  เงินฝากไม่ประจำ ทีเอ็มบี ดอกเบี้ยสูง ดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี (ธ.ทหารไทย)ไม่จำกัดวงเงินในการฝาก จ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง แต่ว่ามีข้อห้ามหลายอย่าง ทั้งไม่สามารถใช้บัตร ATM หรือบัตรเดบิตไม่ได้ ใช้ชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ได้ แถมถ้าถอนเงิน โอนเงินที่เคาน์เตอร์ของธนาคารมากกว่า 2 ครั้งใน 1 เดือน ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายการละ 50 บาท แต่ทำผ่านระบบออนไลน์ไม่เสียค่าธรรมเนียม   ออมทรัพย์ฟรีค่าธรรมเนียม  ดอกเบี้ย 0.75% ต่อปี (ธ.ทหารไทย)บัญชีเงินฝากประเภทนี้แม้จะให้ดอกเบี้ยเท่ากับบัญชีออมทรัพย์ทั่วๆ ไป แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่สามารถใช้ทำธุรกรรมต่างๆ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ทำให้สามารถช่วยประหยัดเงินในบัญชีได้เยอะ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมผ่านเครื่อง ATM ผ่านะระบบอินเตอร์เน็ท ผู้ถือบัญชีนี้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม รวมถึงค่าธรรมเนียมจากการผ่อนซื้อสินค้าโดยการหักบัญชี และค่ารักษาบัญชี แต่มีเงื่อนไขอยู่ว่าต้องมีเงินอยู่ในบัญชีไม่น้อยกว่า 2 หมื่นบาท ไม่งั้นจะถูกหักค่าธรรมเนียมเดือนละ 50 บาท (อ้าว!ไหนว่าฟรีค่าธรรมเนียม)-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------  ***หมายเหตุ: อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมทั้งหมดที่ระบุในบทความ มาจากประกาศล่าสุดของแต่ละธนาคารในเดือน กรกฎาคม 2554 ตัวเลขอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามประกาศอื่นๆ ในอนาคต

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ความคิดเห็น (0)