ฉบับที่ 55 สังฆทานถังเหลือง


 เวลา 24 ชั่วโมงของคนในยุคนี้ กับเวลา 24 ชั่วโมงของคนสมัยอยุธยาดูมันจะหดแคบกว่ากันเยอะ เดี๋ยวนี้อะไร ๆ ก็ต้องด่วนไปหมด ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการทำบุญ

เรา มักจะอ้างว่าไม่ค่อยมีเวลาไปเข้าวัดฟังธรรม การทำสังฆทานเลยกลายเป็นทางเลือกหนึ่ง และกลายเป็นวิธีการทำบุญแบบเร่งด่วนไปโดยที่เราไม่รู้ตัว เดี๋ยวนี้ตามหน้าวัดหรือในวัดต่าง ๆ เราจะเห็นการจัดสังฆทานสำเร็จรูปในถังพลาสติกสีเหลืองไว้คอยบริการญาติโยม แต่เราเคยสำรวจกันไหมว่าในสังฆทานถังเหลืองเหล่านั้นจะมีของสักกี่ชิ้นที่จะ ก่อให้เกิดบุญก่อให้เกิดผลทั้งต่อผู้ให้และผู้รับที่เป็นพระสงฆ์องค์เจ้า จริง ๆ

ฉลาดซื้อ ฉบับนี้ได้ไปเก็บรวบรวมสังฆทานถังเหลืองตามที่ต่าง ๆ เพื่อจะดูว่า มีของอะไรบ้างที่ถูกใส่เข้าไป และในของเหล่านั้นมีของอะไรบ้างที่เราใส่เข้าไปแล้วจะก่อให้เกิดบุญเกิดผล และของอะไรบ้างที่เราควรจะลดละเลิกไม่ควรใส่เข้าไปในสังฆทานเพราะจะเกิดโทษ ภัยกับพระสงฆ์หรือกับคนอื่น ๆ ที่พระท่านมอบต่อให้ไป

 

สิ่งของที่สำรวจพบในสังฆทานสำเร็จรูป
(แสดงรูปประกอบเป็นกลุ่ม ๆ )
ก.      ภาชนะที่ใช้บรรจุสังฆทาน
 
ถังพลาสติกสีเหลือง
กล่องพลาสติกใสแบบมีฝาปิด
กระติกน้ำแข็ง
ขันเงินใบใหญ่
ถังน้ำพลาสติกขนาดใหญ่
ข. ผลิตภัณฑ์ในสังฆทาน กลุ่มอาหาร
น้ำปลาขวดเล็ก
น้ำผลไม้บรรจุขวด
ใบชา
เครื่องดื่มขิง
บะหมี่สำเร็จรูป
ผลไม้กระป๋อง
น้ำพริกเผาบรรจุขวด
ขนมคุ๊กกี้บรรจุกล่อง
เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูป
เครื่องดื่มรสช็อกโกแลต
ผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม
นมสดกระป๋อง
ปลากระป๋อง
น้ำดื่มบรรจุขวด
ข้าวสารแบ่งบรรจุ
ค. ผลิตภัณฑ์ในสังฆทาน กลุ่มสิ่งของเครื่องใช้
ผ้าขนหนูผืนเล็ก
ผ้าอาบน้ำฝน
อังสะ
ผงซักฟอก
สบู่
กล่องสบู่
ไฟฉายและถ่านไฟฉาย
ธูปเทียน
ไม้ขีดไฟ
แก้วน้ำพลาสติก
แปรงสีฟัน
ทิชชู่
น้ำยาล้างจาน
ร่ม
รองเท้าฟองน้ำ
ไม้จิ้มฟัน
ยาสีฟัน
ขันน้ำพลาสติก
ด้าย และเข็มเย็บผ้า
ง. ผลิตภัณฑ์ในสังฆทาน กลุ่มยา
ยาหอม
ยาสามัญประจำบ้าน

ทำไมเราควรจัดถังสังฆทานเอง
เหตุผลสำคัญที่เราควรจะจัดหาสิ่งของมาจัดเป็นสังฆทานด้วยตนเอง คือ
1.    สิ่งของที่อยู่ในสังฆทานสำเร็จรูปที่จำหน่ายโดยทั่วไปเกินกว่าครึ่ง เป็นของที่พระนำไปใช้ประโยชน์ได้น้อย
2.    การจัดสังฆทานเองนอกจากจะได้ของที่เกิดประโยชน์แน่นอนแล้ว เรายังสามารถคุมค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย
3.    สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งของที่คนชอบถวายจนพระใช้ประโยชน์ไม่ทันจนเหลือล้นวัดได้

การจัดสังฆทานที่ไม่ได้บุญ


สังฆทานที่แท้คืออะไร

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการทำสังฆทานจะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะส่งผลบุญไปถึงญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วใน002อีก ภพอีกชาติหนึ่งได้ แต่ความหมายที่แท้จริงของการทำสังฆทานก็คือ การถวายสิ่งของแก่หมู่พระภิกษุสงฆ์ โดยไม่จำเพาะเจาะจงภิกษุรูปหนึ่งรูปใด เมื่อเราถวายให้แล้วก็ถือว่า พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปมีสิทธิ์ใช้สอยสิ่งของเหล่านั้นตามสะดวก ซึ่งอาจจะมีเพียงตัวแทนสงฆ์เพียงรูปเดียวมารับประเคน ก็ถือว่าเป็นสังฆทานเหมือนกัน

ดังนั้นบุญที่เราเข้าใจว่าจะได้จากการ ทำสังฆทานก็คือ การที่หมู่ภิกษุสงฆ์ได้ประโยชน์จากสิ่งของที่เราทำทานให้ท่าน ยิ่งของที่เราให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มาก บุญก็จะเกิดมากตามไปด้วย แต่ถ้าของที่อยู่ในสังฆทานหาประโยชน์ไม่ได้ สังฆทานก็จะกลายเป็นขยะล้นวัดไป

การใส่ใจในสิ่งของที่จะทำสังฆทานจึง เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากเราให้ของไม่ดีไม่เกิดประโยชน์กับพระไป บุญที่จะได้ก็อาจจะกลายเป็นบาปก็ได้

 

 ทานที่ใหญ่กว่าสังฆทาน

 มีทานอีกรูปแบบหนึ่งที่คล้าย ๆ สังฆทาน เป็นทานที่มีอาณาเขตกว้างขวางกว่า คือ ทานที่ให้แก่หมู่พวกที่ไม่เฉพาะกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เรียก สาธารณทาน เป็นทานที่ไม่จำกัดเฉพาะในรั้ววัด เป็นการให้ที่ไม่มีขอบเขต สังฆทานเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณทานเช่นกัน

 

ทานที่น้อยกว่าสังฆทาน

การถวายทานที่ให้เฉพาะพระภิกษุสงฆ์รูป นั้นรูปนี้ เรียก ปาฏิปุคคลิกทาน มีอานิสงส์น้อยกว่าทานสองประเภทข้างต้น เพราะเป็นการจำกัดเฉพาะบุคคลว่าต้องเป็นคนนั้นคนนี้ การให้ทานแก่ส่วนรวมย่อมได้อานิสงส์มากกว่า

 

คำถวายสังฆทาน
การ ทำพิธีถวายสังฆทาน ไม่มีอะไรยุ่งยาก เมื่อนำสิ่งของไปและพระสงฆ์รู้ความประสงค์ ท่านก็จะให้จุด ธูป เทียน แล้วก็ว่า นโม 3 จบ แล้วกล่าวถวาย สังฆทาน ดังนี้

อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ
โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ
อิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

ข้า แต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ภัตตาหารกับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญฯ

 

บุญไม่ใช่แค่เรื่องการบริจาคทรัพย์ทำทาน

บุญ แปลว่า เครื่องชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด หรือ คุณสมบัติที่ทำให้บริสุทธิ์ ส่วนคำว่า "ทาน" แปลว่า การให้ การสละ การเผื่อแผ่แบ่งปัน จะมอบของให้ใคร หรือจะถวายของให้ใครก็เป็นบุญทั้งนั้น จะต่างกันก็เพียงว่าได้บุญมากบุญน้อยเท่านั้นเอง

 

ฉะนั้น เวลาพูดว่า ไปทำบุญทำทาน จึงหมายความว่าไปชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยการแบ่งปันสิ่งของซึ่งเป็นการแบ่งปันให้ใครก็ได้ และการทำบุญก็ไม่ได้มีความหมายแคบ ๆ แต่เพียงแค่การให้ทานบริจาคสิ่งของแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

  

ตามหลักพุทธศาสนา มีการทำบุญด้วยกัน ๑๐ วิธี เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ (สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ๑๐ ประการ) คือ

1. ให้ทาน แบ่งปันผู้อื่นด้วยสิ่งของ ไม่ว่าจะให้ใครก็เป็นบุญ (ทานมัย) การให้ทาน เป็นการช่วยขัดเกลา ความเห็นแก่ตัว ความคับแคบ ความตระหนี่ถี่เหนียว และความติดยึดในวัตถุ นอกจากนี้สิ่งของที่เราแบ่งปันออกไป ก็จะเป็นประโยชน์กับบุคคล หรือชุมชนโดยส่วนรวม สังฆทานก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำบุญในข้อนี้

2. รักษาศีล ก็เป็นบุญ (ศีลมัย) เป็นการฝึกฝนที่จะ ลด ละ เลิก ความชั่ว ไม่ไปเบียดเบียนใคร มุ่งที่จะทำความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น เป็นการหล่อเลี้ยงบ่มเพาะให้เกิดความดีงาม และพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่ให้ตกต่ำ

3. เจริญภาวนา ก็เป็นบุญ (ภาวนามัย) การภาวนา เป็นการพัฒนาจิตใจ และปัญญา ทำให้จิตสงบ ไม่มีกิเลส ไม่มีเรื่องเศร้าหมอง เห็นคุณค่าสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่ภาวนาอยู่เสมอย่อมเป็นหลักประกันว่า จิตจะมีความสงบ ชีวิตมีความสุข คุณภาพชีวิตดีขึ้น สูงขึ้น

4. อ่อนน้อมถ่อมตน ผู้น้อยอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็แสดงออกในความมีเมตตาต่อผู้น้อย และต่างก็อ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม รวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน ทั้งในความคิดความเชื่อ และวิถีปฏิบัติ ของบุคคลและสังคมอื่น เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นตัวตน ก็เป็นบุญ (อปจายนมัย)

5. ช่วยเหลือสังคมรอบข้าง ช่วยเหลือสละแรงกายเพื่องานส่วนรวม หรือช่วยงานเพื่อนบ้าน ที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็เป็นบุญ (ไวยาวัจจมัย)

6. เปิดโอกาสให้คนอื่น มาร่วมทำบุญกับเรา หรือในการทำงาน ก็เปิดโอกาสให้คนอื่น มีส่วนร่วมทำ - ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการอุทิศส่วนบุญ ให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย ก็เป็นบุญ (ปัตติทานมัย)

7. ยอมรับและยินดีในการทำความดี (หรือทำบุญ) ของผู้อื่น เป็นการเปิดโอกาสร่วมใจอนุโมทนา ในการกระทำความดีของผู้อื่น ก็เป็นบุญ (ปัตตานุโมทนามัย)

8. ฟังธรรม บ่มเพาะสติปัญญาให้สว่างไสว ฟังธรรมะ ฟังเรื่องที่ดี มีประโยชน์ต่อสติปัญญา หรือมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นความจริง ความดี ความงาม ก็เป็นบุญ (ธรรมสวนมัย)

9. แสดงธรรม ให้ธรรมะ และข้อคิดที่ดี กับผู้อื่น แสดงธรรม นำธรรมะไปบอกกล่าว เผื่อแผ่ให้คนอื่นได้รับฟัง ให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นเรื่องของความจริง ความดี ความงาม ก็เป็นบุญ (ธรรมเทศนามัย)

 10. ทำความเห็นให้ถูกต้อง และเหมาะสม มีการปรับทิฏฐิ แก้ไขปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น - ความเข้าใจให้ถูกต้องตามธรรม ให้เป็นสัมมาทัศนะอยู่เสมอ เป็นการพัฒนาปัญญาอย่างสำคัญก็เป็นบุญ (ทิฏฐุชุกรรม)

 ทิฏฐุชุกรรม หรือ สัมมาทัศนะ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำบุญทุกชนิด และทุกโอกาส จะต้องประกบและประกอบเข้ากับบุญกิริยาวัตถุข้ออื่นทุกข้อ เพื่อให้งานบุญข้อนั้น ๆ เป็นไปอย่างถูกต้องตามความหมายและความมุ่งหมาย พร้อมทั้งได้ผลถูกทาง

 

 อย่างไรที่เรียกว่า "ฉลาดทำบุญ"

พระพยอม กัลยาโณ

"การทำบุญตามหลักพุทธศาสนานั้น เราสรรเสริญคนที่ใคร่ครวญ คิดวินิจฉัยดีแล้วจึงทำบุญ ใครที่ทำบุญเก่งอย่างเดียว แต่คิดสังเกต ใคร่ครวญ ถึงประโยชน์ของบุญน้อยไป ก็จะเป็นพวกที่เรียกว่า หลงบุญ เมาบุญ บ้าบุญ คือ ทำดีไม่ถึงดี ทำดีไม่ถูกดี ทำดีไม่พอดี บางทีก็เป็นดีซ่านไป

 

ฉะนั้น จึงต้องวินิจฉัยว่า ประโยชน์ของการทำบุญในเวลานี้นั้น มันเกื้อกูลกับสังคมมนุษย์แค่ไหน เพราะบุญนั้นทำเพื่อให้มนุษย์สมบูรณ์ขึ้น พูดง่าย ๆ ว่าบุญนั้นต้องทำให้เกิดความสมบูรณ์ในความขาดแคลน เราจึงต้องมองว่าในเวลานี้อะไรขาดแคลนมากที่สุด เช่น มีเด็ก ๆ เป็นจำนวนมากที่ขาดสารอาหาร เราก็ควรทำบุญอาหารกลางวันเลี้ยงเด็กบ้าง ส่วนอาหารพระ เณร สังฆทานนั้น บางทีก็มากเกินไปแล้ว และของในสังฆทานบางครั้งก็ไม่จำเป็น เช่น เกลือ น้ำมันพืช บางครั้งก็มีมากเกินไป พระไม่ได้มีเวลาไปผัด ไปจิ้ม ไปทอดอะไรมากมาย หรืออย่างทำบุญปล่อยสัตว์ ปล่อยวัว ปล่อยควายเวลานี้ก็มากเกิน และบางวัดก็ทำไปในลักษณะหารายได้เข้าวัด ตัวเดียววนเวียนปล่อยอยู่ตั้งเป็นร้อยเจ้า หลายคนช่วยแต่ช่วยได้ชีวิตเดียว มันก็ไม่ฉลาด วัดรวยแต่สังคมก็ยังขาดแคลน

 ดีที่สุด ก็คือ การทำบุญเพื่อให้ศีลธรรมกลับมา เช่น เอาวัวควายไปให้ชาวนาที่ยากจน ไม่ติดอบายมุข ไม่ติดการพนัน พวกที่ติดเหล้า เที่ยวเตร่ เล่นการพนันก็ต้องเลิกถึงจะให้ยืมวัว ยืมควายไปใช้ เพราะถ้าทำบุญแล้วศีลธรรมไม่กลับมา บุญก็จะมิได้ช่วยโลก ช่วยชาติ ช่วยบ้าน ช่วยเมืองเท่าไรเลย อาตมาจึงอยากจะให้เปลี่ยนจากการทำบุญด้วยสังฆทานต่าง ๆ มาเป็นการทำบุญเพื่อให้ศีลธรรมกลับมา ให้เกิดความสมบูรณ์ ให้ความขาดแคลนของสังคมหายไป"

  

แหล่งข้อมูลจาก
หนังสือฉลาดทำบุญ เรียบเรียงโดย พระชาย  วรธมโม และพระไพศาล  วิสาโล