ฉบับที่ 109 ไทยแอร์เอเซีย ชดใช้ผู้บริโภคเหตุเครื่องบินดีเลย์

image0040

เรื่องนี้...เป็นเรื่องยาวข้ามประเทศครับ

คุณรุจน์ และภรรยา มีกิจธุระที่ต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย และเลยไปท่องเที่ยวยังเมืองที่ชื่อว่า ย๊อกยาการ์ตา ซึ่งอยู่ในประเทศอินโดนีเซียเช่นกัน

ทั้งสองสามีภรรยาเลือกใช้บริการสายการบินราคาประหยัดไทยแอร์เอเซีย โดยซื้อตั๋วจากเว็บไซต์ของสายการบินแห่งนี้ ได้ตั๋วขาไปออกเดินทางในวันที่ 21 มีนาคม 2552 ออกจากกรุงเทพฯ เวลา 20.15 น. และถึงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียเวลา 23.45 น. และตั๋วขากลับเครื่องบินจะออกจากจาการ์ตาในวันที่ 29 มีนาคม 2552 เวลา 16.20 น. และถึงกรุงเทพฯ เวลา 19.45 น. ทั้งนี้เพื่อจะกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ ให้ทันในเช้าวันรุ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 29 มีนาคมซึ่งเป็นวันที่ต้องเดินทางกลับนั้น สองสามีภรรยายังอยู่ที่เมืองย๊อกยาการ์ตา เพื่อไม่ให้พลาดเที่ยวบินขากลับจากจาการ์ตาไปกรุงเทพฯ ทั้งสองจึงได้ซื้อตั๋วจากไทยแอร์เอเซียเที่ยวบินจากย๊อกยาการ์ตามาถึงจาการ์ตาในเวลา 12.45 – 13.45 น. อีกด้วย

คุณรุจน์และภรรยาทราบจากโฆษณาว่า สายการบินแอร์เอเซีย เป็นสายการบินที่ให้บริการแบบ “จุดต่อจุด” ไม่ได้ให้บริการเที่ยวบินต่อเนื่อง ผู้โดยสารต้องรับผิดชอบตัวเองในการไปเช็คอินให้ทันเที่ยวบินถัดไป คุณรุจน์จึงไม่ประมาทเพราะกลัวตกเครื่องบิน ก่อนออกเดินทางคุณรุจน์และภรรยาจึงช่วยกันเข้าอินเทอร์เน็ตเพื่อรวบรวมข้อมูลเที่ยวบินของสายการบินอื่นๆ ที่ให้บริการในเส้นทางย๊อกยาการ์ตา – จาการ์ตา ในเวลาใกล้เคียงกันกับเที่ยวบินของไทยแอร์เอเซียไว้เผื่อเหนียว

ขาไปไม่มีปัญหาอะไร ทำธุระและท่องเที่ยวอยู่ในอินโดนีเซียจนถึงวันที่ 26 มีนาคม 2552 จึงได้เดินทางมาถึงเมืองย๊อกยาการ์ตา ก่อนออกจากสนามบินย๊อกยาการ์ตาจึงได้นำตั๋วเครื่องบินเส้นทางย๊อกยาการ์ตา – จาการ์ตา และ จาการ์ตา – กรุงเทพฯ ที่ซื้อไว้แล้วไปยืนยันการเดินทางกับพนักงานไทยแอร์เอซีย พนักงานก็จิ้ม ๆ ดูข้อมูลในคอมพิวเตอร์แล้วบอกว่าเที่ยวบินที่สำรองที่นั่งไว้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ คุณรุจน์และภรรยาจึงออกจากสนามบินไปท่องเที่ยวและทำธุระในเมืองย๊อกยาการ์ตาอย่างสบายใจ

พอถึงวันเดินทางกลับในวันที่ 29 มีนาคม 2552 ซึ่งจะต้องบินออกจากย๊อกยาการ์ตาไปจาการ์ตาในเวลา 12.45 น. คุณรุจน์และภรรยา จึงรีบเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า เดินทางมาถึงสนามบินย๊อกยาการ์ตา และเช็คอินในเวลา 10.30 น. ได้ถามพนักงานไทยแอร์เอเซียว่าเที่ยวบิน “ตรงเวลา” หรือเปล่า ได้รับคำตอบจากพนักงานยืนยันว่าเที่ยวบินนี้ตรงเวลา

จนถึงเวลา 12.15 น. พนักงานของท่าอากาศยานได้ประกาศเรียกให้ผู้โดยสารของสายการบินไทยแอร์เอเซียเที่ยวบินที่จะไปจาการ์ตาเข้าไปรอที่หน้าประตูทางออก คุณรุจน์และภรรยาก็เบาใจว่าได้ขึ้นเครื่องบินตรงเวลาแน่ จึงได้ผ่านกระบวนการซื้อสิทธิการใช้ท่าอากาศยานและผ่านการตรวจค้นอาวุธเพื่อไปรอที่ประตูทางออก

รอกันอยู่ที่ประตูทางออกจนถึงเวลาที่เครื่องบินจะต้องออกคือเวลา 12.45 น. ไม่เห็นวี่แววจะมีเครื่องบินของไทยแอร์เอเซียมารับไปจาการ์ตาเสียที มองไปที่ลานบิน เห็นเครื่องบินของสายการบินอื่นที่ได้เล็งไว้เผื่อเป็นเที่ยวบินสำรองเวลามีเหตุฉุกเฉิน ก็ทยอยโผผินบินไปทีละลำๆ

โอย...นี่มันเหตุฉุกเฉินแล้วนี่ คุณรุจน์และภรรยามองหน้ากันเลิ่กลั่ก และทำสิ่งที่อาจหาญที่สุดเท่าที่เคยทำในชีวิตที่ผ่านมาด้วยการ ขออนุญาตพนักงานรักษาความปลอดภัยของสนามบินวิ่งย้อนออกไปถามข้อมูลเรื่องความล่าช้าของเที่ยวบินกับพนักงานไทยแอร์เอเซีย

กระทั่งเวลาบ่ายโมงเศษถึงได้รับข้อมูลว่า เครื่องบินที่จะใช้เดินทางนั้นเกิดความล่าช้าในการบินจากสนามบินสิงคโปร์มาสนามบินย๊อกยาการ์ตา ทำให้ต้องเลื่อนการเดินทางออกจากย๊อกยาการ์ตาเป็นเวลา 15.00 น. และถึงจาการ์ตา เวลา 16.00 น.

การที่พนักงานไทยแอร์เอเซียเพิ่งมาบอกข้อมูลการดีเลย์ของเที่ยวบิน ทำให้คุณรุจน์และภรรยาหมดสิทธิที่จะไปเช็คอินเที่ยวบินจาการ์ตา – กรุงเทพฯ ได้ทัน เพราะเครื่องบินจะออกเวลา 16.20 น. แต่ต้องเช็คอินก่อนเครื่องบินออกอย่างน้อย 45 นาที สองสามีภรรยาจึงได้แต่นั่งทำใจ

หลังจากนั่งทำใจอยู่ในสนามบินย๊อกยาการ์ตาจนเบื่อแล้วเบื่ออีก ท้ายที่สุด คุณรุจน์และภรรยาได้ขึ้นเครื่องจากย๊อกยาการ์ตาในเวลา 15.30 น. ล่าช้าไปกว่ากำหนดการเดิม 2 ชั่วโมงครึ่ง และถึงจาการ์ตาเวลา 16.30 น. ซึ่งเที่ยวบินที่ซื้อจองไว้โบยบินไปกรุงเทพฯ เรียบร้อยแล้ว

ทำให้คุณรุจน์และภรรยาต้องควักเงินซื้อตั๋วเครื่องบินหาทางกลับกรุงเทพฯ ใหม่ทั้งหมด และกลับมาถึงกรุงเทพฯ เกือบเที่ยงคืน นับเป็นการเดินทางที่ต้องใช้ความพยายามอย่างแสนสาหัสและต้องจดจำไปอีกนาน

แนวทางการแก้ไขปัญหา
หลังเกิดปัญหา คุณรุจน์และภรรยา ได้พยายามติดต่อไปที่ไทยแอร์เอเซียเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบใช้เวลาไปอีก 26 วัน ถึงจะได้คำตอบว่า ไทยแอร์เอเซีย ไม่จ่ายค่าชดเชยให้ โดยอ้างว่าความล่าช้าของเที่ยวบินที่เกิดขึ้น เป็นความล่าช้าจากระบบของสนามบินสิงคโปร์ที่ขัดข้องอย่างกะทันหัน ทำให้เครื่องบินของไทยแอร์เอเซียจากสิงคโปร์ไม่สามารถบินมารับผู้โดยสารที่ย๊อกยาการ์ตาได้ตรงตามเวลา

เมื่อเห็นการปัดความรับผิดชอบเช่นนั้น คุณรุจน์และภรรยาจึงอีเมลล์ไปสอบถามข้อเท็จจริงกับทางท่าอากาศยานสิงคโปร์ ไม่นานได้รับคำตอบกลับมาว่า เหตุล่าช้าของเที่ยวบินเจ้าปัญหานั้น เกิดความบกพร่องของสายการบินไทยแอร์เอเซียเอง ไม่ใช่ความผิดพลาดของสนามบินสิงคโปร์ คำตอบดังกล่าวทำให้ลิมิตความอดทนของคุณรุจน์และภรรยาขาดสะบั้น แบกความชอกช้ำระกำใจจูงมือกันมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยทำเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับไทยแอร์เอเซียให้หลาบจำเสียที

ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องทั้งสอง ยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายกับไทยแอร์เอเซีย โทษฐานผิดสัญญาการให้บริการ รวมเป็นเงิน 65,000 บาทเศษ

ศาลได้นัดเจรจาไกล่เกลี่ย ท้ายที่สุดไทยแอร์เอเซีย ยอมชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าตั๋วเครื่องบิน ค่ารถแท๊กซี่ ในการที่ต้องวิ่งวุ่นไปมา ตามจำนวนที่ถูกเรียกร้องมาทั้งหมดคือ 15,844 บาท และยังยอมชดใช้ค่าเสียความรู้สึกอีกเป็นเงิน 30,000 บาท จากที่เรียกร้องไปในส่วนนี้ 50,000 บาท ทำให้คุณรุจน์ได้รับการเยียวยาความเสียหายจากการเดินทางด้วยความทรมานของสายการบินไทยแอร์เอเซียเป็นเงินทั้งสิ้น 45,844 บาท

ถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับผู้โดยสารอื่นๆ ว่า ปัญหาเที่ยวบินดีเลย์แล้วไม่รับผิดชอบนั้น อย่าปล่อยให้สายการบินลอยนวลโดยเด็ดขาด

 

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

250 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ไทยแอร์ เครื่องบิน ดีเลย์ เดินทาง

ฉบับที่ 275 ประกันมะเร็งต้องอ่านเงื่อนไขดีๆ

        มะเร็งเป็นโรคร้ายแรงที่การรักษานั้นค่อนข้างยาก ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งมีสถิติที่พรากชีวิตคนไทยในแต่ละปีค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทประกันภัยหลายแห่งจัดรูปแบบกรมธรรม์เพื่อคุ้มครองเรื่องการรักษามะเร็ง มาเป็นตัวเลือกสำหรับผู้บริโภค         เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นข้อเตือนใจจากคุณน้ำ ซึ่งเข้ามาขอคำปรึกษาในคดีหนึ่ง แต่เรื่องที่เล่านี้เป็นประสบการณ์เก่าที่เธอเคยประสบจากการทำประกันโรคมะเร็ง ซึ่งผ่านมาหลายปีแล้ว เมื่อมองย้อนไปคุณน้ำพบว่าตัวเองพลาดที่ไม่ได้อ่านเงื่อนไขให้ดีจึงเสียโอกาสที่จะได้รับการคุ้มครองจากการทำประกันมะเร็ง ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงได้ขออนุญาตนำเรื่องนี้มีเล่าเพื่อฝากไว้ให้ผู้บริโภคได้ใช้เป็นบทเรียน         คุณน้ำ เริ่มต้นทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชน เธอจึงวางแผนการใช้เงินอย่างรัดกุม นอกจากค่าใช้จ่ายรายเดือน เธอได้วางแผนการออมเงินด้วย ทั้งออมเงินแบบฝากกับธนาคาร และการทำประกันชีวิตหลายฉบับเพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ โดยคาดการณ์ว่าเพื่อเป็นการใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบไม่ลำบาก ทั้งนี้ ประกันชีวิต  1 ฉบับในหลายฉบับที่ทำคือ ประกันมะเร็ง เพราะคิดว่า มะเร็งเป็นโรคที่ต้องใช้เงินในการรักษาสูงมาก หากเป็นหนึ่งในความเสี่ยงก็ควรทำประกันไว้ก่อน แม้ว่าค่าเบี้ยประกันจะค่อนข้างแพง         จากวันแรกๆ ที่เริ่มงานผ่านมาจนถึงหลังวัยเกษียณ เมื่อเธอเกษียณได้ไม่นาน แพทย์ตรวจพบว่าเธอเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น คุณน้ำตกใจแต่ก็รู้สึกว่า เอาน่ายังดีนะที่เธอได้ทำประกันมะเร็งเอาไว้ เธอจึงติดต่อตัวแทนบริษัทประกันเจ้าของกรมธรรม์ ต่อมาตัวแทนประกันซึ่งได้ขอเอกสารรายละเอียดที่หมอตรวจพบโรคมะเร็งพร้อมกับรายละเอียดการรักษาต่างๆ ไปจากเธอได้ไม่นานนัก ก็แจ้งกับเธอว่า บริษัทไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ได้ เพราะมะเร็งระยะที่กรมธรรม์คุ้มครองคือ ระยะที่ 2          คุณน้ำได้ฟังก็ถึงขั้นตกใจมาก เพราะที่เข้าใจมาตลอดคือ เมื่อตรวจเจอว่าเป็นมะเร็ง บริษัทจะคุ้มครอง ทันที แต่ตัวแทนบริษัทได้อธิบายว่า ในเอกสาร/เงื่อนไขสัญญาเขียนว่า จะคุ้มครองในระยะที่สอง ซึ่งคุณน้ำก็ได้แต่คิดว่า เมื่อแพทย์ตรวจพบมะเร็งแพทย์ก็ต้องเริ่มรักษาทันที ซึ่งไม่น่าจะมีใครรอให้โรคพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 2  จึงเริ่มรักษาเพื่อหวังให้ประกันคุ้มครองแน่นอน         นี่เป็นบทเรียนที่คุณน้ำประสบมา จึงขอนำมาฝากเตือนผู้บริโภคท่านอื่นๆ ว่า เมื่อจะทำประกันโรคร้ายแรง อย่างเช่น มะเร็ง ต้องอ่านรายละเอียดของประกันมะเร็งด้วยว่า มีความคุ้มครองครอบคลุมถึงประเด็นไหนบ้าง  เช่น มะเร็งทุกอวัยวะไหม หรือเฉพาะบางอวัยวะ หรือเจอมะเร็งจ่ายทันที คุ้มครองมะเร็งทุกระยะ รักษามะเร็งทุกขั้นตอน ฯลฯ ถามต่อตัวแทนประกันให้อธิบายอย่างละเอียด ตลอดจนซักถามตัวแทนประกันให้ละเอียดรอบคอบถึงข้อจำกัดต่างๆ  รวมทั้งต้องปรึกษาแพทย์เมื่อพบคำศัพท์เฉพาะทางทางการแพทย์ด้วย         ที่ควรพิจารณต่อมาคือ เรื่องเบี้ยประกันและวงเงินคุ้มครองเหมาะสมหรือเปล่า โดยต้องประเมินวงเงินคุ้มครองว่า หากเจ็บป่วยขึ้นมาวงเงินที่จะได้รับนั้น เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาลหรือการใช้จ่ายระหว่างการรักษาตัวหรือไม่ เช่น หากต้องการรักษากับโรงพยาบาลเอกชนก็จะต้องประเมินว่าค่าใช้จ่ายย่อมสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ เพื่อจะได้เลือกแผนประกันที่วงเงินคุ้มครองเหมาะสมที่สุด เป็นต้น         เลือกด้วยความรอบคอบว่าเราอยากได้เงินคุ้มครองลักษณะไหน เช่น ในกรณีที่เป็นการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล อาจเหมาะกับผู้ที่ยังไม่มีประกันสุขภาพและต้องการให้ประกันคุ้มครองเฉพาะการรักษาพยาบาลตลอดการรักษา ขณะที่ประกันแบบจ่ายเงินทันทีที่ตรวจพบมะเร็งนั้น อาจเหมาะกับผู้ที่มีประกันสุขภาพอยู่แล้วแต่ต้องการเงินก้อน เพื่อนำไปใช้ในการรักษาส่วนเกินจากประกันสุขภาพหรือนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นต้น         อย่างไรก็ดีสำคัญที่สุดคือ อย่าพลาดการอ่านเงื่อนไขสัญญาให้ละเอียดเพื่อให้สิทธิประโยชน์ที่เราจะได้รับนั้นคุ้มค่ากับการลงทุน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 เจอแมลงสาบในแพ็คน้ำดื่ม อีกแล้ววว

        ขึ้นชื่อว่า น้ำดื่มสะอาด ก็ต้องสะอาด เพราะเราบริโภคเข้าไปในร่างกายอยู่ทุกวันแต่กรณีของคุณหยาด เมื่อเธอซื้อน้ำดื่มบรรจุแพ็ค กลับเจอแมลงสาบเข้าไปอยู่ในแพ็คเสียอย่างนั้น แล้วแบบนี้จะจัดการอย่างไรดี        เรื่องนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ  คุณหยาดได้ซื้อน้ำดื่มตามปกติแต่ในครั้งนี้กลับพบแมลงสาบตัวเบ้อเริ่มเข้าไปนอนตายสนิทอยู่ในแพ็คน้ำดื่ม ... แถมยังอยู่ตรงใกล้ปากขวดน้ำเสียด้วย  คุณหยาดไม่มีความรู้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรเพราะแมลงสาบไม่ได้เข้าไปอยู่ในขวดน้ำดื่มแต่อยู่ในแพ็คน้ำซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากโรงงานที่ผลิต หรือทางร้านค้าที่จัดจำหน่าย แต่คุณหยาดมองว่าเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะผู้บริโภคควรได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคอาหารทุกชนิด เมื่อข้างขวดมีฉลากระบุข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน คุณหยาดจึงส่งเรื่องเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทันทีแนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณหยาดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำกับคุณหยาดว่า เมื่อพบเจอสินค้าอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่ปลอดภัย คุณหยาดสามารถแจ้งร้องเรียนได้ทั้งกับ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้ลงตรวจสอบสถานที่ไม่ว่าจะเป็นแหล่งจำหน่าย ร้านค้า และโรงงานที่ผลิตได้ ซึ่งหลังจากให้คำปรึกษากับคุณหยาดแล้ว มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  เพื่อขอให้ตรวจสอบสถานที่ผลิต รวมถึงสำเนาไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อตรวจสอบสถานที่จำหน่ายด้วย         ทั้งนี้ในเรื่องน้ำดื่มบรรจุแพ็คต้องสะอาดและถูกสุขลักษณะเป็นไปตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 ที่กำหนดให้น้ำบริโภคและเครื่องดื่มเป็นอาหารควบคุม ต้องมีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน ไม่พบจุลินทรีย์ที่อันตรายต่อสุขภาพ และต้องมีฉลากแสดงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง  ฉลาก ประชาชนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะกรรมการอาหารและยา > กองอาหาร > กฎหมายอาหาร >น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  https://food.fda.moph.go.th/food-law/f2-drinking-water

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 โดนคิดค่าสินค้าไม่ตรงกับป้ายราคา

        เชื่อว่าผู้บริโภคหลายๆ คน เมื่อถึงเวลาต้องจับจ่ายใช้สอยสินค้าเข้าบ้าน การไปเดินห้างค้าปลีกหรือเดินไปซูเปอร์มาร์เก็ตน่าจะเป็นตัวเลือกแรกๆ เพราะมีสินค้าครบครันในราคาที่อาจมีลด มีแถม แต่หากเมื่อถึงเวลาจ่ายเงิน “ราคาที่จ่าย ดันไม่ตรงกับราคาป้าย” คงเป็นเรื่องที่ไม่โอเคเลยใช่ไหมล่         เหมือนกับคุณจู ที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เธอเล่าว่าได้ไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งแถวบ้าน วันนั้นเธอได้ซื้อเห็ดชิเมจิ ยี่ห้อ Mao Xiong มา 1 ถุง ราคาที่ติดตามป้ายบนชั้นวาง 9 บาท แต่พอถึงเวลาจ่ายเงิน ราคาเห็ดที่ติดป้ายว่า 9 บาท ราคาจริงดัน 13 บาท อ้าว...ไม่ตรงตามป้ายที่ติดซะงั้น! เธอจึงมาสอบถามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าแบบนี้คือการหลอกลวงประชาชาชนหรือไม่ และควรทำอย่างไรดี?                แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ติดต่อไปหาผู้ร้อง เธอแจ้งว่าหลังเกิดเหตุการณ์ได้ให้พนักงานตรวจสอบราคาสินค้าอีกครั้ง เนื่องจากราคาไม่ถูกต้องและทางพนักงานก็ยอมแก้ไขใบเสร็จให้ถูกต้องและคืนเงินเรียบร้อยแล้ว เธอจึงไม่ติดใจอะไร เนื่องจากทางซูเปอร์มาร์เก็ตก็ได้แก้ไขปัญหาให้เธอแล้ว         แต่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยากแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้บริโภคบางรายที่เจอปัญหานี้เช่นกัน ดังนี้หากเจอกรณีราคาสินค้าไม่ตรงตามป้าย สามารถโทรร้องเรียนไปที่สายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทำการร้องเรียน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ อย่าลืมถ่ายรูปราคาบนป้ายสินค้า และเก็บใบเสร็จที่จ่ายเงินเพื่อเป็นหลักฐานอีกด้วยในการร้องเรียนอีกด้วย เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมาย         สำหรับ ผู้ที่แจ้งเบาะแสนั้น ทางหน่วยงานมีรางวัลนำจับให้ ในกรณีมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งผู้ร้องจะได้รับรางวัลนำจับร้อยละ 25 ของค่าปรับ         นอกจากนี้ อย่าลืมรักษาสิทธิผู้บริโภคของตัวเองด้วยการตรวจเช็กราคาความถูกต้อง สินค้าที่ซื้อครบถ้วนหรือไม่ ก่อนออกจากร้านทุกครั้งจะดีที่สุด              

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 ซิมฟรี ไม่มีอยู่จริง

        ในประกาศของ กสทช. ระบุไว้ชัดเจน เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 6 กำหนดให้ ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการใช้บริการโทรคมนาคมในของแต่ละบริการให้ชัดเจนและครบถ้วน และผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้ผู้บริโภคทราบและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ในการเข้าทำสัญญาและเลือกใช้บริการได้อย่างถูกต้อง         ถ้าทุกค่ายมือถือทำตามมาตรฐานนี้ คุณแก้วคงไม่ต้องมาเสียความรู้สึกจากความไว้วางใจในครั้งนี้         คุณแก้วเป็นลูกค้าของค่ายมือถือสีแดงมานานแล้ว จู่ๆ วันหนึ่งมีพนักงานค่ายมือถือนี้โทร.มาเสนอว่าจะส่งซิมโทรศัพท์มาให้ที่บ้าน เป็นแบบจ่ายรายเดือน 250 บาท ซึ่งถ้าได้รับแล้วยังไม่ใช้ก็ไม่เก็บเงิน สนใจไหม คุณแก้วเห็นว่าเป็นซิมฟรีถ้าไม่ใช้ก็ไม่เสียเงิน จึงตอบตกลง ก็มันฟรีเผื่อจะได้ใช้ประโยชน์ในวันหนึ่ง         หลังส่งสำเนาบัตรประชาชนให้ไปตามที่พนักงานบอกว่าจะใช้เป็นหลักฐานในการรับซิมแจกนี้ จากนั้น 2 อาทิตย์ พนักงานก็โทร.มาถามว่าได้รับซิมหรือยัง เธอก็ตอบไปว่าได้รับแล้ว คิดว่าเรื่องคงจบตรงนี้ใช่ไหม แต่ไม่นานเธอถูกเรียกเก็บเงินจากซิมเบอร์นี้ เป็นเงิน 89.70 บาท ทั้งๆ ที่เธอยังไม่เคยแกะซองและนำซิมมาใช้เลยด้วยซ้ำ         “ตอนแรกยังนึกไปออกว่าเป็นเบอร์ใครนะคะ แต่พอคิดไปคิดมาก็เลยไปหยิบซิมที่ได้แจกมาดู โป๊ะเชะ! เป็นเบอร์เดียวกัน” คุณแก้วเล่าแบบติดโมโห ไหนพนักงานบอกว่ายังไม่ใช้ซิมก็ยังไม่ต้องจ่ายไงล่ะ เธอจึงโทร.ไปถามคอลเซ็นเตอร์ทันที พนักงานตอบว่า “ถึงจะใช้หรือไม่ใช้ ถ้าเกินกำหนดเวลาก็ต้องเสียเงินค่ะ” รู้สึกเหมือนโดนหลอก เธอจึงขอยกเลิกซิมเบอร์นี้ แต่พนักงานไม่ยอมให้ยกเลิกจนกว่าเธอจะจ่ายเงินตามใบแจ้งหนี้เสียก่อน แม้เป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่เธอจะไม่ยอมถูกเอาเปรียบเด็ดขาด จึงโทร.มาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อพิจารณาในส่วนของสัญญาใช้บริการระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้บริโภคนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายได้แสดงเจตนาเสนอสนองถูกต้องตรงกัน แต่ในกรณีนี้ คุณแก้วไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับทางบริษัทแต่อย่างใด เธอให้สำเนาบัตรประชาชนไปก็เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการรับซิมแจกฟรีตามที่พนักงานบอกเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่เกิดเป็นสัญญาการให้บริการหรือใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการรายเดือนเกิดขึ้นระหว่างค่ายมือถือสีแดงกับคุณแก้ว         ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้คุณแก้วทำหนังสือบอกยกเลิกสัญญาและปฏิเสธการชำระเงินที่มีใบแจ้งหนี้ส่งมา โดยส่งถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทของค่ายมือถือนี้ เพื่อให้ยุติการเรียกเก็บค่าบริการพร้อมระบุเหตุผลว่า ตั้งแต่ได้รับซิมมายังไม่เคยได้ใช้ซิมแต่กลับมีใบแจ้งหนี้ส่งมา หรือการให้บริการไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ แล้วส่งไปแบบไปรษณีย์ตอบรับเท่านั้น เพื่อให้มีหลักฐานในการตอบรับจากค่ายมือถือ โดยสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ กสทช. ด้วย หรือจะโทรศัพท์แจ้งยกเลิกการบริการที่ศูนย์ของซิมฟรีนั้นก็ได้ แต่วิธีนี้จะไม่มีหลักฐานเหมือนกับการส่งจดหมาย

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)