ทรูอุบไต๋ ปิดปากเงียบ ไม่ยอมบอกลูกค้าที่ใช้พีซีทีโปรฯ “เม้าท์ไม่อั้น” “เม้ากันให้มันส์” ฟรี 1 ปี ว่าทุกคนยังคงมีสิทธิตามสัญญาเหมือนเดิม
ฉลาดซื้อฉบับที่แล้วได้นำเสนอเรื่องที่มีผู้ใช้บริการ PCT ของบริษัท เอเซีย ไวร์เรส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัทในเครือของทรู ร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้า we PCT ที่ซื้อ PLUS PHONE และ WE PHONE ในราคา 3,990 บาท และ 2,990 บาท โดยจะได้รับสิทธิโทรฟรีไม่จำกัดทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง นาน 12 เดือน นับแต่วันที่เริ่มเปิดใช้บริการ ซึ่งโปรโมชั่นนี้เริ่มในช่วงกลางปีที่ผ่านมา แต่ได้ใช้กันยังไม่ทันพ้นปี กรกฎาคมที่ผ่านมาทรูกลับแจ้งยกเลิกโปรโมชั่นโทรฟรีดังกล่าว โดยขีดเส้นตายวันที่ 1 ตุลาคม 2553 จะยกเลิกโปรโมชั่นโทรฟรีทั้งหมด และให้ลูกค้าเลือกโปรโมชั่นใหม่ 2 ทางเลือก คือ หนึ่ง ให้โทรฟรีได้เฉพาะเครือข่ายของทรูตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ เครือข่ายอื่นคิดนาทีละ 50 สตางค์ ตัวที่สอง Sim ถูก มูลค่า 49 บาท ค่าโทรทุกเครือข่ายนาทีแรก 2 บาท นาทีถัดไปนาทีละ 50สตางค์ โทรครบ 5 บาทโทรครั้งต่อไปนาทีแรก 2 บาท นาทีถัดไปนาทีละ 25 สตางค์นั้น
ปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีลูกค้า PCT ของทรูหลายรายโทรเข้ามาแจ้งกับมูลนิธิฯว่า ถูกระงับสัญญาณการโทรออกนอกเครือข่าย โทรได้เฉพาะแต่ในเครือข่ายของทรูเท่านั้น ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
“มีผู้บริโภครายหนึ่งแจ้งว่า ตนเป็นพนักงานฝ่ายบัญชีของบริษัทแห่งหนึ่ง ได้นำเสนอให้บริษัทซื้อ PCT Plus Phone มาให้พนักงานฝ่ายขายใช้ติดต่อลูกค้าจำนวน 10 เครื่อง ตนมารับทราบในวันที่ 4 ตุลาคมว่า PCT ถูกทรูระงับสัญญาณไม่ให้โทรออกนอกเครือข่ายได้โดยแจ้งเป็นข้อความว่าวงเงินไม่พอทำให้บริษัทของตนได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก”
แนวทางแก้ไขปัญหา
หลังร้องเรียนกับมูลนิธิฯ ผู้บริโภคหลายรายได้พยายามติดต่อไปที่ศูนย์รับร้องเรียนของทรูที่เบอร์โทรศัพท์ 02-900-8088 ปรากฏว่าเพียงแค่แจ้งยืนยันที่จะใช้บริการตามโปรโมชั่นโทรฟรีเดิมต่อไป ทรูจึงได้ยินยอมเปิดสัญญาณให้โทรออกนอกเครือข่ายได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ทั้งนี้เนื่องจาก ตามประกาศเรื่องสัญญามาตรฐานของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ได้ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคในด้านสัญญาไว้ว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะทำการเปลี่ยนแปลงสัญญาใดๆ ที่ทำไว้กับผู้บริโภคไม่ได้หากไม่ได้รับการยินยอมจากผู้บริโภคอย่างชัดแจ้ง และผู้ให้บริการจะต้องปฏิบัติตามสัญญาและโฆษณาอย่างครบถ้วน
ดังนั้นหากลูกค้า PCT ยังคงต้องการใช้โปรโมชั่นโทรฟรี 1 ปีอยู่ ผู้ให้บริการไม่มีสิทธิตัดหรือระงับสัญญาณโทรออก เบื้องต้นผู้บริโภคที่ประสบปัญหาขอให้แจ้งยืนยันความประสงค์ที่จะใช้โปรโมชั่นเดิมได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของทรู โทร. 02-900-8088 , 02-643-1071 โทรสาร 02-643-0540 และหากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาขอให้แจ้งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่โทร.02-248-3737 เพื่อช่วยเหลือดำเนินการฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป
แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ สัญญา โปรโมชั่น โทรศัพท์ ทรู
ปัจจุบันในโลกออนไลน์มีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมขายอย่างมากมาย พร้อมทั้งมีคำโฆษณาแบบเกินจริงของสรรพคุณที่นำมาหลอกล่อและกระตุ้นให้ผู้บริโภคอย่างเราซื้อสินค้า โดยที่ผู้ซื้อหลายคนก็คงไม่ทราบเลยว่า “ผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาสรรพคุณเกินจริงเหล่านั้น จะสามารถช่วยได้จริงอย่างที่โฆษณาไหม และมีผลอันตรายอะไรไหมหากเรากินเข้าไป” และยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริโภคหลายคนมักเลือกที่จะกินอาหารเสริมมากกว่าที่จะไปพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาที่ถูกต้อง เหมือนเรื่องราวของคุณเอก ที่มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเรื่องราวมีอยู่ว่าคุณเอกซึ่งมีอายุมากแล้ว มีอาการปวดข้อเข่ามาก วันหนึ่งเผอิญไปเห็นโฆษณาในเฟซบุ๊ก เป็นอาหารเสริม “เม็ดฟู่” มีชื่อขึ้นต้นด้วยตัว “B” มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดข้อเข่า พร้อมทั้งในเฟซบุ๊กที่ขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมตัวนี้นั้น มีรูปนายแพทย์ท่านหนึ่งโปรโมทอยู่เลยทำให้คุณเอกนั้น รู้สึกมั่นใจและเชื่อที่จะซื้ออาหารเสริมตัวนั้นเป็นจำนวน 3 หลอด แถมอีก 1 หลอด เป็นเงิน 3,490 บาท เมื่อเขาได้อาหารเสริมมารับประทานได้ 2 วัน ก็มีคุณพลอยซึ่งอ้างว่าเป็นพยาบาลโทรมาสอบถามถึงผลลัพธ์ของยา ต่อมาอีก 3-4 วัน ปรากฏว่าอาการของคุณเอกนั้นไม่ดีขึ้นเลยกลับมีผลข้างเคียง คือ ปัสสาวะบ่อยขึ้น 5-6 ครั้ง/คืน ซึ่งทางคุณเอกก็ได้บอกว่าเขารู้สึกว่ามันรบกวนเวลานอนพักผ่อนของเขาเป็นอย่างมาก เขาจึงพยายามที่จะติดต่อนายแพทย์ท่านนั้น ก็ไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งเมื่อเขาติดต่อนายแพทย์ท่านนั้นไม่ได้ก็เลยติดต่อคุณพลอยที่อ้างว่าเป็นพยาบาลและได้บอกกล่าวถึงอาการปัสสาวะบ่อยของเขา ทางพยาบาลคุณพลอยก็บอกว่ายอมรับว่าผลข้างเคียงคืออาการปัสสาวะบ่อย...อ้าวตอนขายไม่เห็นบอก และเธอบอกว่าจะแจ้งให้นายแพทย์ท่านนั้นทราบอีกครั้ง คุณเอกนึกสงสัยเลยถามถึงที่อยู่ของนายแพทย์ท่านนั้นและนำไปเช็กกับทางนิติบุคคลสถานที่ที่ได้ข้อมูลจากคุณพลอย แต่พบว่าไม่มีชื่อดังกล่าวอยู่ที่ตึกแห่งนั้นประกอบกับข้อมูลเดิมที่ทางคุณเอกไปเช็กว่าไม่ได้มีบุคคลดังกล่าวอยู่ในทำเนียบแพทย์สภาอีกด้วย ทำให้คุณเอกคิดได้ว่าเขาคงถูกหลอกลวงแน่ๆ พร้อมทั้งเมื่อลองดูทั้งผลิตภัณฑ์ก็พบว่าไม่มีเครื่องหมาย อย. และไม่มีเอกสารกำกับอะไรเลย ทางคุณเอกแน่ใจล่ะว่าโดนหลอกแน่นอน จึงได้ร้องเรียนมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคควรจะทำอะไรอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา เบื้องต้นทางคุณเอกได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจแล้ว พร้อมทั้งทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังออกหนังสือไปถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และกองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยากให้ผู้บริโภคหลายๆ คน ลองศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ ทางออนไลน์ สังเกตว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่กำลังจะซื้อ หรือมาแล้วนั้นมีเครื่องหมาย อย. หรือไม่ หากไม่มีก็ควรหลีกเลี่ยงที่จะรับประทาน นอกจากนี้ ถ้ามีการอ้างถึงบุคลากรทางการแพทย์ก็ควรตรวจสอบก่อนที่จะซื้อว่าในแพทย์สภา มีบุคคลดังกล่าวจริงหรือไม่ โดยส่วนมากอาหารเสริมหลอกลวงต่างๆ มักจะมีโฆษณาที่เกินจริงหายได้ภายในไม่กี่วันหรือในระยะเวลาสั้นๆ หากใครที่เห็นแบบนี้ก็ควรจะระมัดระวังและไม่หลงเชื่อโดยง่ายเพื่อความปลอดภัย
ภัยออนไลน์เดี๋ยวนี้มีมาสารพัดรูปแบบ หากไม่ระมัดระวัง อาจตกเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพได้ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ให้ลูกเล็กใช้มือถือดูการ์ตูนหรือเล่นเกมต่างๆ เด็กๆ อาจเผลอกดลิงก์อันตรายที่เด้งขึ้นมาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เหมือนอย่างลูกชายของคุณขวัญใจก็ได้ คุณขวัญใจเล่าว่า วันหนึ่งลูกชายวัย 2 ขวบ หยิบโทรศัพท์มือถือของเธอไปเล่น แล้วบังเอิญไปจิ้มกดโหลดแอปฯ เงินกู้เงินด่วนฟ้าผ่า ผ่านลิงก์จากโฆษณาในยูทูป หลังจากนั้นเธอก็โดนแอปฯ นี้ ดูดเอาข้อมูลส่วนตัวทุกอย่างในมือถือไปใช้ โดยพวกมิจฉาชีพได้โทรไปหลอกทุกคนที่มีรายชื่อในคลังเบอร์โทรศัพท์ของเธอว่า เธอได้กู้เงินจากแอปฯไปแล้วไม่ชำระคืน และยังพูดข่มขู่ให้พวกเขาจ่ายเงินคืนแทนเธอด้วย อีกทั้งยังนำรูปของเธอที่อยู่ในโทรศัพท์ไปโพสต์ประจานตามสื่อต่างๆ ทำให้เกิดความเสียหายมาก จนเธอต้องถูกไล่ออกจากงาน คุณขวัญใจจึงได้นำเรื่องนี้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา ในกรณีนี้คุณขวัญใจยังไม่สูญเสียเงินให้แก่มิจฉาชีพแต่อย่างใด ทางมูลนิธิฯ จึงแนะนำดังนี้ 1. รีบดำเนินการแจ้งความเพื่อดำเนินคดี ให้พนักงานสอบสวน ตำรวจ สืบหาผู้กระทำความผิด หรือมิจฉาชีพ หรือคนร้ายดังกล่าว ในการหลอกดูดข้อมูลคลังเบอร์โทรศัพท์ที่มีอยู่ในมือถือไปใช้ 2. รีบติดต่อทางไลน์ หรือทางเฟซบุ๊ก หรือโทรติดต่อกับทุกรายชื่อที่มีเบอร์บันทึกไว้ในมือถือ เพื่อแจ้งให้พวกเขารู้ว่า ตอนนี้มือถือของตัวเองถูกดูดข้อมูลไป ถ้ามีคนร้ายหรือมิจฉาชีพโทรไปขอให้โอนเงินมาใช้หนี้แทนตน อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด
การเจอสิ่งแปลกปลอมในอาหารเป็นเรื่องที่เจอกันบ่อยครั้ง เมื่อพบเจอจึงยิ่งต้องช่วยกันบอกเล่า เพื่อทำให้สังคมเราดีขึ้น เช่นเรื่องราวของคุณคิม เรื่องราวเริ่มเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม ทุกวันศุกร์ คุณคิมจะไปซื้อของกินของใช้ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้านแห่งหนึ่งเสมอ และอาหารที่ซื้อเป็นประจำคือซีเรียล เพื่อรับประทานเป็นอาหารเช้ากับกาแฟ เช้าวันต่อมา คุณคิมแกะซีเรียลยี่ห้อ ‘ซ’ กินเพียงคำแรกก็รู้สึกได้ถึงความผิดปกติที่ซีเรียลไม่กรอบเหมือนเช่นเคย คุณคิมจึงกินอีกคำต่อมา ช้าๆ แล้วยิ่งแน่ใจว่าซีเรียลไม่กรอบจริงๆ คุณคิมจึงหยุดกินและเทซีเรียลจากห่อลงในชามทั้งหมด เขี่ยๆ ดูพบก้อนดำๆ ขนาดใหญ่บนซีเรียลชิ้นหนึ่ง และจุดดำๆ กระจายคล้ายเชื้อราในอีกชิ้น คุณคิมเป็นคนรักสุขภาพมาก มักจะอาหารเป็นพิษเสมอๆ จึงระมัดระวังเรื่องอาหารเป็นพิเศษอยู่แล้ว เมื่อมาเจออาหารเป็นแบบนี้ คุณคิมจึงตกใจมาก คุณคิมดูวัน เดือน ปี ที่ผลิต พบว่ายังไม่หมดอายุคุณคิมก็เบาใจ แต่ยังเธอยังคงติดใจ กังวล เพราะซีเรียลยี่ห้อดังกล่าว เป็นยี่ห้อที่เธอรับประทานเป็นประจำทุกเช้า หากยังติดใจ คลายสงสัยไม่ได้ ทุกครั้งที่เธอรับประทานซีเรียลยี่ห้อนี้ในวันต่อไป เธอก็จะกังวลกลับมาคิดถึงก้อนดำๆ นี้ทุกครั้ง คุณคิมจึงไม่ปล่อยผ่านเข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา มูลนิธิฯ รับเรื่องร้องเรียนไว้และให้คุณคิม ทำบันทึกรายละเอียดการซื้อผลิตภัณฑ์ ปัญหาที่พบและแนะนำให้แจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันความเสียหาย นอกจากนี้ คุณคิมคิดว่าซูเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายสินค้านี้ก็ควรจะได้รับรู้ปัญหาด้วยเช่นกัน เย็นวันเดียวกันหลังจากร้องเรียนที่มูลนิธิฯ แล้ว เธอจึงกลับไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแจ้งปัญหาที่พบทันที ซูเปอร์มาร์เก็ตดังกล่าว ตื่นตัวมากหลังจากคุณคิมแจ้งเรื่องแล้ว ก็ติดต่อไปยังบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายซีเรียลโดยตรง และคุณคิมได้พูดคุยกับฝ่ายรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคของบริษัทซึ่งได้แจ้งให้คุณคิมนำสินค้ามาเปลี่ยน หรือขอรับเงินคืน ซึ่งคุณคิมไม่พอใจ เพราะสำหรับเธอแล้ว เธอไม่ได้อยากได้เงิน 40 กว่าบาทคืน แต่ในฐานะผู้บริโภค เธอเป็นห่วงสุขภาพตัวเอง เธออยากได้ความสบายใจ วางใจในความปลอดภัยทุกครั้งที่รับประทานอาหาร เธอจึงไม่รับข้อเสนอของเจ้าหน้าที่และแจ้งข้อเสนอของเธอ 2 ข้อคือ 1. ให้บริษัทพาเธอไปตรวจร่างกาย เพราะวันที่รับประทานซีเรียลที่มีปัญหา วันนั้นร่างกายของเธอแปรปรวนอย่างมาก ท้องเสียถึง 2 ครั้ง 2. ให้นำซีเรียลชิ้นที่พบก้อนดำ และจุดดำๆ คล้ายเชื้อรา ไปตรวจในห้องแล็บที่เชื่อถือได้ และแจ้งผลว่าคืออะไร วันต่อมาผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ก็โทรมาหาคุณคิมและขอโทษด้วยดีและให้คุณคิมเลือกโรงพยาบาลที่สบายใจที่สุดเพื่อไปตรวจสุขภาพ และบริษัทจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจทั้งหมด เย็นวันนั้นเองคุณคิมจึงเลือกโรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้านและไปตรวจสุขภาพกับตัวแทนของบริษัท ซึ่งคุณหมอได้แจ้งคุณคิมว่าร่างกายของเธอปกติดี และคุณคิมรับประทานซีเรียลที่มีปัญหาในปริมาณไม่มาก จึงไม่มีผลเป็นอันตรายต่อสุขภาพ คุณคิมให้คุณหมอยืนยันความเห็นเป็นหนังสือ รับรองไว้เพื่อเป็นหลักฐานทางการแพทย์ บริษัทจ่ายค่าตรวจสุขภาพให้คุณคิมราว 1,200 บาท ส่วนตัวอย่างซีเรียลชิ้นที่มีปัญหา บริษัทได้ส่งตรวจแล็บที่เชื่อถือได้ตามข้อเสนอของคุณคิมทุกประการ วันที่ตรวจสุขภาพ ตัวแทนของบริษัทแจ้งว่า วันรุ่งขึ้นจะส่งกระเช้าของขวัญไปขอโทษคุณคิมอีกครั้ง คุณคิมจึงนัดหมายบริษัทมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ชี้แจงกับตัวแทนของบริษัทว่า กรณีผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ไม่ปลอดภัยจากอาหาร มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย เยียวยาจากบริษัทได้ คุณคิมจึงตกลงกับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องค่าเสียหาย 5,000 บาท ตัวแทนของบริษัทนำเรื่องกลับไปหารือกับฝ่ายกฎหมายของบริษัทระหว่างนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ติอต่อประสานกับบริษัทยืนยันถึงสิทธิของผู้บริโภคที่สามารถได้รับการเยียวยา และภายใน 1 สัปดาห์ คุณคิมก็ได้รับเงินดังกล่าวเต็มจำนวนที่เรียกไป ใน 1 เดือนต่อมา บริษัทได้แจ้งผลการตรวจสอบจากในห้องแล็บมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคุณคิมผลการตรวจพบว่า ก้อนดำที่พบเป็นชิ้นส่วนที่เกิดจากการไหม้จากการอบซีเรียล ไม่ใช่เชื้อราแต่อย่างใด คุณคิมได้คำตอบที่คลายความกังวลใจ และภูมิใจที่การใช้สิทธิผู้บริโภคของเธอได้รับการตอบสนองด้วยดี
ข้อมูลจาก "กรมการขนส่งทางบก" ระบุว่า ป้ายแดงที่ถูกกฎหมายนั้นไม่มีขาย แต่มีอยู่ในความครอบครองของบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถที่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งมีไว้ใช้ติดรถเพื่อนำรถไปส่งให้ลูกค้า หรือนำรถไปซ่อมแซมเท่านั้น โดยต้องใช้ควบคู่กับสมุดคู่มือประจำรถด้วย ดังนั้น ถ้าใครซื้อรถใหม่ติดป้ายแดงมาแล้วไม่มีสมุดคู่มือประจำรถมาด้วย ไม่ว่าเซลล์จะอ้างอย่างไร ก็อย่าเพิ่งรับรถ ไม่อย่างนั้นอาจเสี่ยงเกิดความเสียหายอย่างคุณนพได้ ย้อนไปเมื่อกรกฎาคม 2565 คุณนพตั้งใจจะซื้อรถกระบะแบบมีคอกเอาไปใช้ขนส่งมะพร้าวแห้ง ได้เช็กโปรโมชั่นของหลายๆ ยี่ห้อ จนไปสะดุดตาโฆษณาบนเฟซบุ๊กที่เขียนว่า รีโวกระบะแต่งคอก รับรถเพียง 9,000 จึงโทร.ติดต่อไปคุยกับผู้จัดการศูนย์รถยนต์แห่งหนึ่งย่านตลิ่งชัน ทางผู้จัดการก็ได้ส่งให้คุยกับทางเซลล์ต่อ โดยเซลล์ขอให้แอดไลน์ส่วนตัวเพื่อส่งรูปภาพรถตัวอย่างมาให้ดู เมื่อได้คุยไลน์กับเซลล์เกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ เขาก็ประทับใจที่เซลล์คนนี้ดูมีความเชี่ยวชาญและเข้าใจความต้องการของลูกค้าดี และสรุปราคาทุกข้อตกลงกันเป็นที่น่าพอใจ เขาจึงเข้าไปที่โชว์รูม พอได้ทดลองขับรถจริงแล้วก็ยิ่งถูกใจ จึงตัดสินใจซื้อและได้นัดทำสัญญากับไฟแนนซ์เลย ต่อมาในวันที่ 21 สิงหาคม คุณนพไปรับรถที่ศูนย์ เซลล์ถามว่าจะให้ติดป้ายแดงเลยไหม เขาบอกให้ติดได้เลยและขอสมุดเล่มป้ายแดงด้วย แต่ทางเซลล์แจ้งว่ายังไม่มี เนื่องจากทางขนส่งทำไม่ทันเพราะติดโควิด และรับปากว่าถ้าเสร็จแล้วจะรีบส่งให้ โดยเซลล์ได้ให้ความมั่นใจว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นให้โทร.หาได้ตลอด ในวันนั้นคุณนพจึงขับรถกระบะป้ายแดงกลับบ้านโดยไม่ได้เอะใจอะไร แต่ขับรถป้ายแดงคันนี้ได้ไม่ถึงเดือน เขาก็โดนตำรวจจับข้อหาใช้ป้ายทะเบียนปลอม วันนั้นระหว่างที่เขาขับรถกลับจากต่างจังหวัดเพื่อมายังที่พัก โดยใช้เส้นทางบูรพาวิถี กม.6 ต. บางแก้ว อ. บางพลี จ. สมุทรปราการ ขณะที่กำลังเข้าช่องผ่านเงินเก็บค่าผ่านทาง ตำรวจโบกเรียกระหว่างออกจากช่องจ่ายเงิน และขอดูใบขับขี่ เขาจึงหยิบให้ดู แต่พอตำรวจขอดูสมุดคู่กับป้ายแดง เขาบอกไปว่าไม่มีเพราะเซลล์ไม่ได้ให้มา ตำรวจจึงให้ชิดช่องทางและเดินดูรถโดยรอบก่อนจะแจ้งว่าเขาใช้ป้ายทะเบียนปลอม พร้อมแจ้งข้อหาจับกุมในฐานปลอมแปลงเอกสารทางราชการ จากนั้นตำรวจก็ขับรถพาเขาไปที่จุดพักรถบนทางด่วน ถอดป้ายทะเบียนออกมาเป็นของกลาง เขียนบันทึกการจับกุมและอ่านให้เขาฟัง แล้วพาไปสอบสวนต่อที่พอสถานีตำรวจภูธรบางแก้ว เขาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาของตำรวจและได้โทร.หาเซลล์ให้รีบมาประกันตัวเขา ระหว่างนั้นเขาต้องเข้าไปนั่งในห้องขังประมาณ 3-4 ชั่วโมง กว่าเซลล์จะมาถึงและทำเรื่องประกันตัวจำนวน 50,000 บาท แล้วตำรวจยังบอกให้รอเรื่องที่กำลังส่งป้ายทะเบียนไปที่กรมการขนส่งทางบกเพื่อให้ตรวจสอบว่าจริงหรือปลอมด้วย ถ้าปลอมก็จะได้ทำสำนวนฟ้องศาลต่อไป คุณนพคิดว่าเขาไม่ได้เป็นคนผิด แต่ทางเซลล์ของโชว์รูมรถยนต์ต่างหากที่เป็นคนเอาทะเบียนปลอมมาติดให้ ทำให้เขาได้รับความเสียหาย จึงได้นำเรื่องมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหา ในกรณีนี้เกี่ยวข้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้คุณนพไปแจ้งความที่สถานีตำรวจตลิ่งชัน เกี่ยวกับป้ายทะเบียน ซึ่งทางศูนย์รถยนต์เป็นผู้ที่ให้มาไม่ใช่เป็นของคุณนพ ซึ่งการแจ้งความถือเป็นการหาพยาน ก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องจริงไม่ใช่เป็นการกล่าวหา เพราะถ้าโกหกก็ถือว่าแจ้งความเท็จ คดีแพ่ง –คุณนพเรียกค่าเสียหายจากบริษัทรถยนต์ โดยการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกัน แต่หากตกลงกันไม่ได้ ผู้ร้องก็ยังสามารถฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคได้ ซึ่งในเคสนี้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำหนังสือไปถึงกรรมการผู้จัดการของบริษัทรถยนต์ เพื่อให้เร่งเยียวยาค่าเสียหายให้กับทางผู้ร้องเรียบร้อยแล้ว (จากนั้นมีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกันหลายครั้ง และคุณนพได้เล่าเรื่องนี้ออกสื่อต่างๆ จนได้รับความสนใจ ในที่สุดคู่กรณีก็ตกลงกันได้แล้วเมื่อธันวาคม 2565) คดีอาญา – คุณนพถูกตำรวจตั้งข้อหาใช้ทะเบียนรถปลอม เข้าข่ายกรณีใช้เอกสารทางราชการปลอม เมื่อถึงศาลผู้ร้องจะต้องมีเงินวางประกัน เป็นจำนวนประมาณ 60,000 บาท แต่ถ้าไม่มีเงินประกันผู้ร้องจะต้องไปที่ศาลตรงชั้น 1 จะมีการซื้อประกันอิสรภาพ ซึ่งจะมีตัวแทนของประกันเช่น วิริยะประกันภัย ทิพยประกันภัย ช่วยในส่วนนี้ ซึ่งจะต้องเสียเงินประมาณไม่เกิน 20,000 บาท แต่ต้องมีบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ญาติมาเป็นคนค้ำประกันด้วย ซึ่งในส่วนของผู้ค้ำประกันนั้นบุคคลธรรมดาจะต้องมีตำแหน่งซี 3 ขึ้นไป และถ้าเป็นตำรวจจะต้องเป็นชั้นสัญญาบัตร และผู้ร้องต้องนำเอกสารต่าง ๆ เช่น สลิปเงินเดือนไปแสดงด้วย (ในคดีนี้ ทางอัยการจังหวัดสมุทรปราการได้เข้ามาช่วยเหลือเพื่อไม่ให้มีการสั่งฟ้อง)
ความคิดเห็น (0)