อย่างนี้ก็มีด้วย...โครงการบ้านเป็นฝ่ายบอกลดเงินจอง เงินทำสัญญาให้ ผู้บริโภคจึงตัดสินใจซื้อบ้าน จนมีการจ่ายเงินค่าบ้านค่าที่ดินและโอนรับบ้านกันเรียบร้อย แต่กลับถูกโครงการติดตามทวงหนี้ย้อนหลังอ้างยังได้เงินจองเงินทำสัญญาไม่ครบ
คุณศิริวรรณ ผู้บริโภคที่ประสบเหตุเล่าว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2551 ได้ไปชมโครงการหมู่บ้านพร้อมพัฒน์ ในเครือแสนสิริของบริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด โดยขอเข้าชมบ้านตัวอย่างของโครงการฯ โดยมีพนักงานขายพาชมบ้านตัวอย่าง
ดิฉันได้สอบถามข้อมูลเงินจองและเงินทำสัญญา พนักงานขายบอกว่า เงินจอง 20,000 บาท และเงินทำสัญญา 50,000 บาท ดิฉันบอกจะมาดูใหม่อีกครั้ง พนักงานขายจึงบอกว่าถ้าจองภายในวันนั้น เงินจองจะลดเหลือ 10,000 บาท และเงินทำสัญญาเหลือ 40,000 บาท ดิฉันจึงได้ตัดสินใจวางเงินจองบ้าน ด้วยราคา 10,000 อีกประมาณ 2 เดือนไปจ่ายเงินทำสัญญา 40,000 บาท (ใบเสร็จออกรวม 50,000 บาท )
จากนั้นได้ดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเรื่องให้ทางธนาคารพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ และจ่ายเงินก้อนสุดท้ายในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อถึงวันนัดโอนวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 คุณศิริวรรณได้ไปที่สำนักงานที่ดิน เพื่อทำธุรกรรมโอนกรรมสิทธิ์ และมีการส่งมอบโฉนดแลกเปลี่ยนกับเช็คด้วยจำนวนที่แจ้งไว้เป็นที่เรียบร้อย โดยพนักงานบริษัทฯ มิได้ท้วงติงถึงเรื่องเงินจองบ้านแต่อย่างใด
หลังจากนั้นไม่เท่าไหร่ ประมาณเดือนมกราคม 2552 คุณศิริวรรณได้รับโทรศัพท์แจ้งให้จ่ายค่าเงินจอง และเงินทำสัญญาที่ยังค้างอยู่ จำนวนเงินรวม 20,000 บาท คุณศิริวรรณรู้สึกแปลกใจจึงปรึกษากันกับคนที่บ้านว่า เป็นมิจฉาชีพในคราบของพนักงานขายหรือเปล่า เนื่องจากบ้านมีการโอนกรรมสิทธิ์จากเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ เรียบร้อยแล้ว และยอดเงินดังกล่าว พนักงานขายของบริษัทฯ บอกว่าเป็นส่วนลด หากยังค้างชำระเงินจองจริง บริษัทฯ ต้องแจ้งมาในใบรายละเอียดค่าใช้จ่าย หรือไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ให้ อย่างแน่นอน จากนั้นเรื่องก็หายเงียบไป
จนถึงเดือนกรกฎาคม 2553 คุณศิริวรรณได้รับจดหมายแจ้งเตือน ขอให้ชำระหนี้จำนวนรวม 20,000 บาท ให้แก่ บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด ภายใน 7 วัน ซึ่งจดหมายดังกล่าวไม่มีข้อความแจ้งแหล่งที่มาของจดหมาย ไม่มีชื่อบริษัทฯ ไม่มีตราประทับและไม่มีที่อยู่ให้ติดต่อกลับ เป็นเพียงซองสีขาวเปล่าๆ มีเพียงเบอร์โทรศัพท์มือถือ( Mobile)ไว้ให้เท่านั้น คุณศิริวรรณเกรงว่าจะเป็นมิจฉาชีพสวมรอยจึงมิได้ติดต่อกลับไป
จนถึงเดือนกันยายน 2553 บริษัท อาณาวรรธน์ได้ยื่นฟ้องคุณศิริวรรณเรื่องผิดสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดิน เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 20,000 บาทเศษ คุณศิริวรรณไม่รู้จะทำอย่างไรจึงได้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ
แนวทางแก้ไขปัญหา
หลังได้ตรวจสอบคำฟ้องของฝ่ายโจทก์คือ บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด แล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้มอบหมายให้ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคเข้าช่วยเหลือผู้ร้องโดยทันที โดยทนายความอาสาได้เขียนคำให้การให้กับผู้บริโภคเพื่อนำไปยื่นต่อศาล ด้วยตนเอง
โดยคำให้การของผู้บริโภคได้ยืนยันว่า ผู้บริโภคได้จ่ายเงินจองเป็นจำนวน 10,000 บาท และเงินทำสัญญาจำนวน 40,000 บาทตามจำนวนที่ได้รับส่วนลดจากพนักงานขายของบริษัทฯ โดยจ่ายผ่านบัตรเครดิตและเช็คตามลำดับ และในวันที่ทำสัญญาเมื่อจ่ายเงินทำสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว ทางโครงการยังมอบสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินของโครงการและในสัญญาได้ระบุอย่างชัดเจนว่า
ผู้บริโภคได้ชำระเงินจองและเงินทำสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในหนังสือสัญญาขายที่ดินก็ระบุว่าผู้บริโภคในฐานะผู้ซื้อได้ชำระและผู้ขายได้รับค่าที่ดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงขอให้ศาลได้พิจารณายกฟ้อง เมื่อเห็นคำให้การของฝ่ายผู้บริโภค ทนายความของผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องขอเลื่อนนัดศาลออกไปเพื่อขอตั้งหลัก เพราะไม่คิดว่าผู้บริโภคจะแข็งข้อลุกขึ้นต่อสู้คดีได้
ดังนั้น หากผู้บริโภครายใดเจอเหตุการณ์เช่นนี้ อย่าผลีผลามจ่ายเงินให้ผู้ประกอบธุรกิจ ควรตรวจสอบให้ถ้วนถี่และรีบติดต่อมาที่มูลนิธิฯ โดยทันที ผลของคดีนี้มีความคืบหน้าอย่างไร จะแจ้งให้ทราบเป็นบทเรียนโดยทั่วกัน
แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ บ้าน โอน เงินจอง สัญญา
วันนี้ฉลาดซื้อ มีเรื่องราวเกี่ยวกับการรับประทานอาหารบุฟเฟต์มาเล่าเป็นประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคหลายๆ คน ให้คอยระมัดระวังกัน โดยเรื่องราวมีอยู่ว่า คุณน้ำตาลได้มาเล่าให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่า 12 สิงหาคม ที่ผ่านมา เธอไปกินบุฟเฟต์ร้านดังที่กำลังฮิตอยู่ในตอนนี้กับเพื่อนหลายคน ซึ่งเธอก็ได้สั่งอาหารมากินแบบจัดหนักจัดเต็ม (ก็บุฟเฟต์นี่นะ) แต่...เมื่อเธอเริ่มกินอย่างเอร็ดอร่อยได้สักพัก ดันมีอาการหน้าบวม ตาบวมจนปิดขึ้นมาซะงั้น ทำให้เธอต้องไปโรงพยาบาลทันที ซึ่งในวันนั้นเธอได้สั่งแมงกะพรุนกับหมึกกรอบมารับประทาน (อาหารต้องสงสัย) เพราะว่าตัวเองนั้นชอบกินมาก แต่ในตัวเธอเองก็ได้ยืนยันว่าเธอไม่เคยมีประวัติแพ้มาก่อน ต่อมา เมื่อเธอถึงโรงพยาบาลแพทย์ก็ได้ทำการรักษา เช่น ฉีดยาแก้แพ้และรักษาตามอาการอื่นๆ แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น พร้อมทั้งแพทย์ยังตรวจพบว่าเธอมีหนองอยู่ในโพรงจมูก สืบเนื่องจากอาการแพ้อาหาร และเธอยังเคยเสริมจมูกมาทำให้ต้องผ่าตัดซิลิโคนออกเพื่อเอาหนองออกไป จนเมื่อเธอได้ออกจากโรงพยาบาลจึงได้ติดต่อมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อปรึกษาและขอคำแนะนำ แนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้น จากข้อมูลที่ทางผู้ร้องได้แจ้งมากับทางมูลนิธิฯ ได้ให้คำแนะนำ ดังนี้ 1. ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุ พร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเป็นเรื่องจริง ไม่ได้กลั่นแกล้งหรือใส่ความแต่ประการใด 2. ทำจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายกับทางร้านเป็นแบบไปรษณีย์ตอบรับ โดยสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยให้เงื่อนเวลากำกับสำหรับการชดเชยค่าเสียหายไว้ด้วย เช่น 15-30 วัน เป็นต้นไป 3.หากพ้นกำหนดตามเงื่อนเวลาดังกล่าว ทางมูลนิธิฯ อาจเรียกผู้ร้องและคู่กรณีมาทำการไกล่เกลี่ยอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้ายังไม่สามารถตกลงในรายละเอียดได้ ผู้ร้องอาจจะต้องฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค เพื่อให้ศาลตัดสินว่าผู้ร้องควรจะได้ค่าชดเชยเป็นจำนวนเงินเท่าไร ทั้งนี้ หลังจากที่ทางผู้ร้องรับทราบก็ได้มีการทำตามที่มูลนิธิฯ แนะนำ หลังจากนั้นมูลนิธิฯ ได้ติดต่อผู้ร้องไปอีกครั้งเพื่ออัปเดตเรื่องดังกล่าวที่ก่อนหน้านี้วันที่ 18 สิงหาคม มีการนัดไกล่เกลี่ยกับทางร้านซึ่งสรุปว่าทางร้านไม่มาตามที่นัดหมายไว้ อย่างไรก็ตามผู้ร้องได้ปรึกษาอีกว่าได้มีการร้องเรียนไปยังสำนักข่าวต่างๆ เพื่อขอให้ช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกด้วย แต่หลังจากข่าวแพร่ออกไปกับมีความคิดเห็นต่อผู้ร้องในแง่ลบ จึงอยากปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี? ทางเราจึงได้แนะนำให้เข้าคอร์สเพื่อตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยัน ซึ่งทางผู้ร้องเองก็ได้ไปตรวจมาเรียบร้อย และกำลังรอผลอีก 1 สัปดาห์ ขณะปิดต้นฉบับเรื่องราวของคุณน้ำตาลยังไม่จบเพราะยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่า เป็นเพราะสาเหตุอะไรกันแน่ คุณน้ำตาลจึงมีอาการดังกล่าว พร้อมทั้งยังไม่ได้ค่าชดเชยจากทางร้าน แต่อย่างไรก็ตาม ทางมูลนิธิฯ ก็อยากให้ทุกคนระมัดระวังในการรับประทานให้มาก เพราะยิ่งเป็นอาหาร เช่น หมึกกรอบแมงกระพรุนก็อาจจะทำให้เสี่ยงที่จะมีส่วนผสมของฟอร์มาลินได้ สามารถอ่านผลทดสอบหมึกกรอบได้ที่ : https://www.chaladsue.com/article/4269/ ทางที่ดีสอบถามทางร้านให้แน่นอนก่อนรับประทานเพราะมันคือสิทธิของเราที่จะถามว่าอาหารที่เรารับประทานมีแหล่งที่มาจากที่ไหนปลอดภัยและสะอาดหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง
เรื่องของคุณหนิงต่อจากนี้ แม้อาจฟังเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เชื่อว่าเมื่อเกิดขึ้น...ได้เจอกับตัวเองแล้ว ก็เสียความรู้สึกอย่างมากได้เช่นเดียวกัน เรื่องราวคือ เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คุณหนิงได้ตัดสินใจไปสมัครเป็นสมาชิกของ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง) เพื่อเข้าใช้บริการห้องฟิตเนส เพราะศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่นอยู่ห่างจากที่พักเพียง 2 กิโล ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง) ได้ประกาศเวลาการในการบริการรับสมัครสมาชิกไว้คือ วันจันทร์ เวลา 10.00 – 16.30 น. วันอังคาร - เสาร์ เวลา 10.00- 20.00 น. และวันอาทิตย์เวลา 13.00 – 20.00 น. โดยสมัครได้ที่ห้องประชาสัมพันธ์ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) เท่านั้น วันที่คุณหนิงตัดสินใจไปสมัคร เป็นวันพฤหัสบดี ที่ 17 สิงหาคม เมื่อเลิกงานเวลา 17.00 น. แล้ว คุณหนิงมีธุระต้องไปทำต่อที่ธนาคารในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ คุณหนิงจึงลังเลว่าจะเข้าไปสมัครสมาชิกทันไหม แต่เมื่อคิดว่าวันศุกร์เธอก็จะไม่สะดวกต้องเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดทันทีที่เลิกงาน หากจะรอถึงวันจันทร์ เธอก็ยังไม่สามารถสมัครได้อีก เพราะศูนย์ฯปิดให้บริการเวลา 16.30 น. ก่อนที่คุณหนิงจะเลิกงาน คุณหนิงจึงคิดว่า รีบทำธุระให้เสร็จแล้วเข้าไปสมัครสมาชิกให้ทันเลยจะดีกว่าเพื่อที่วันอังคารหน้าเมื่อเลิกงานแล้วเธอจะได้เข้ามาใช้บริการห้องฟิตเนสได้ทันก่อนที่จะปิดบริการเวลา 19.00 และไม่ต้องเสียเวลาไปในการสมัครสมาชิกอีก คุณหนิงจึงรีบทำธุระ แต่แล้วฝนก็ตกลงมา คุณหนิงจึงต้องเรียกบริการรถด่วน (Bolt) เพื่อกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ห้องพักก่อน เมื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จแล้ว เธอจึงเรียกรถไปสมัครสมาชิกที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น ต่อทันที ระหว่างนั่งรถไปครั้งนี้ฝนที่ซาก็เริ่มกลับมาตกอีกครั้ง เวลาก็ใกล้เข้า 2 ทุ่มขึ้นมาทุกที คุณหนิงคิดว่าจะไปทันไหม แต่ไหนๆ เมื่อนั่งรถมาขนาดนี้แล้ว ก็อยากไปให้ถึงจึงบอกให้รถขับต่อไปจนถึงศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง) คุณหนิงมาถึงหน้าห้องประชาสัมพันธ์ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) เวลา 19.57น. จึงเคาะหน้าต่างเลื่อนที่ช่องรับบริการและแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า “มาสมัครเป็นสมาชิกศูนย์ฯ ค่ะ” แต่เจ้าหน้าที่กลับตอบกลับมาว่า “ปิดรับสมัครแล้วค่ะ” “แต่ตามประกาศบอกว่ารับสมัครสมาชิกถึง 2 ทุ่มไม่ใช่หรือคะ” เจ้าหน้าที่มองนาฬิกาและพบว่าเป็นเวลา 20.00 น. พอดี จึงตอบคุณหนิงว่า “ก็ตอนนี้มันก็ 2 ทุ่มแล้วค่ะน้อง” “แต่ตอนที่เคาะบอกพี่ มันยังไม่ 2 ทุ่มนะคะ” “ก็ตอนนี้มัน 2 ทุ่มแล้วค่ะ” ถึงตอนนี้ คุณหนิงรู้สึกเสียความรู้สึกมากเหมือนเจ้าหน้าที่ไม่เต็มใจให้บริการ แต่เธอก็ตั้งใจมาสมัครเป็นสมาชิกแม้ฝนจะตกเธอก็ตัดสินใจแล้วว่าจะมาสมัครให้ได้ จึงตอบกลับเจ้าหน้าที่ว่า “จริงๆ ถ้าทางศูนย์ฯ ประกาศไว้ว่าจะให้บริการสมัครสมาชิกถึงตอน 2 ทุ่มก็ควรจะทำให้ได้ตามนั้นนะคะ” “ก็พี่ปิดเคาน์เตอร์ไปแล้ว รับเงิน ปิดรายงานไปแล้ว น้องจะให้พี่เปิดมาทำใหม่หรือคะ” คุณหนิงได้แต่ส่ายหัว รู้สึกเสียใจ เสียความรู้สึกเป็นอย่างมาก ถ้าไม่ติดว่า ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) อยู่ใกล้ที่พักที่สุด เธอไม่อยากจะกลับมาที่แห่งนี้อีกเลย แนวทางการแก้ไขปัญหา หลังเหตุการณ์วันนั้น คุณหนิงได้รับคำแนะนำจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ควรโทรไปที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) เพื่อร้องเรียนงานบริการที่คุณหนิงประสบปัญหา ดังนั้นเธอจึงได้โทรเข้าไปร้องเรียนที่ฝ่ายอำนวยการถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่แจ้งว่ารับเรื่องไว้แล้วจะสอบถามกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้คุณหนิงยังได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมว่า ให้ทำหนังสือร้องเรียนไปที่ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นหลักฐานถึงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องและผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ซึ่งมี เฟซบุ๊กเพจ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ประชาชนสามารถสื่อสาร ร้องเรียน การทำงานของหน่วยงานในสังกัดของกรุงเทพมหานครได้โดยตรงได้อีกด้วย เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ย้ำว่า หากคุณหนิงทำหนังสือ ร้องเรียนเรื่องราวถึงสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร จะทำให้ประชาชนคนอื่นๆ ได้รับประโยชน์ด้วย อีกทั้งเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย และการออกกำลังกายเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ให้บริการจึงยิ่งต้องเต็มใจและตั้งใจบริการให้ประชาชน ล่าสุดหลังจากได้โทรเข้าไปร้องเรียนแจ้งปัญหาแล้ว คุณหนิงจึงได้ทำการทดสอบเข้าไปใช้บริการที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) อีกครั้งในวันที่ เสาร์ที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยการไปถึงที่หน้าเคาเตอร์ในเวลา 19.58 น. ก็พบว่าเจ้าหน้าที่คนเดิมให้บริการรับสมัครสมาชิกให้ด้วยดี
แม้ปัจจุบันช่องทางการซื้อขายออนไลน์ผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครองมากขึ้นแล้ว แต่ยังอาจถูก ผู้ประกอบการสบช่องโหว่บางประการชวนให้คนเข้าซื้อสินค้า โดยอาจใช้วิธีการให้สิทธิพิเศษต่างๆ แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่สามารถใช้ได้จริง เช่น เรื่องราวของคุณฝ้ายที่ซื้อคูปองจากบริษัทแห่งหนึ่งที่โพสต์บน Facebook page ซึ่งมี เงื่อนไข เรียกแขก จูงใจมาก ... “ลดราคาร้านอาหารนานาชาติ Rooftop Mocktail และอื่นๆ อีกมากมายในราคาเพียง 99 บาท โปรโมชั่น Flash Sale เริ่มวันที่ xxx 2566 เวลา 00.00 น. เป็นต้นไป” คุณฝ้ายไม่รอช้า โปรโมชั่น Flash Sale เปิดให้จองเพียง 20 นาทีเท่านั้น และเพียงกดเข้าไป Voucher Flash sale ราคา 99 บาท อย่างด่วนๆ รอไม่นาน ก็ได้ E-MAIL แจ้งยืนยัน “รายการสั่งซื้อสำเร็จ” คุณฝ้ายนึกดีใจ รอวันใช้ Voucher ที่ร้านอาหารนานาชาติในราคาที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้โชคดีมากๆ แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เพจที่ขาย E-Voucher ส่งข้อความมาแจ้งว่า “ เนื่องจากปริมาณการซื้อ ช่วงจัดโปรโมชันมีจำนวนมากทำให้ ระบบ E-MAIL ยืนยัน Voucher ภายใน 24 ชั่วโมง มีความขัดข้องทำให้จำหน่ายเกินโควตาหลายเท่า ดังนั้นจึงขอแจ้งยกเลิก Voucher บริษัทอ้างเพราะระบบขัดข้องทำให้ต้องแจ้งยกเลิกการใช้ Voucher โดยแจ้งว่า บริษัทจะคืนเป็น Gift Card มูลค่า 100 และ 200 บาทแต่หากลูกค้าต้องการเงินคืน 100% ให้แจ้งความประสงค์ขอรับเงินคืนได้ที่แบบฟอร์มลงทะเบียนของเพจบริษัทซึ่งต้องทำภายใน 1 วันหลังจากที่บริษัทประกาศเท่านั้น คุณฝ้ายมองว่า ปัญหาลักษณะนี้อาจหลอกเอาเงินผู้บริโภคได้จำนวนมาก เพราะด้วยราคาไม่สูงมากจึงอาจทำให้มีผู้สนใจจำนวนมากที่แห่กดเข้าไปเมื่อทราบว่าตนเองไม่ได้สิทธิ การทำเรื่องขอเงินคืนบริษัทให้เวลาน้อยมาก ผู้บริโภคหลายคนน่าจะไม่อยากเสียเวลาเพื่อรับเงิน 99 บาทคืน จึงส่งเสียงร้องเรียนเรื่องนี้มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา หากผู้บริโภค เจอเหตุการณ์ ซื้อคูปอง/ดีล Flash Sale แล้วถูกยกเลิก ให้ผู้ร้องรวบรวมหลักฐาน มาให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยดำเนินการ ทำหนังสือไปยังผู้ประกอบการ แต่ผู้ร้องต้องมีหลักฐาน ดังนี้ 1.โฆษณาดีล/ Flash Sale ตามช่องทางต่างๆ ที่พบ 2.หมายเลขคำสั่งซื้อ/ดีลที่ซื้อ 3.หลักฐานการชำระเงิน 4.ประกาศแจ้งยกเลิก/ข้อมูลยกเลิกจากบริษัทฯ 5.มีการติดตามทวงถามหรือไม่ (ถ้ามีให้แนบมาด้วย) เมื่อมีหลักฐานแล้วต้องการรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ก็มีทั้ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และยังสามารถร้องเรียนออนไลน์ กับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่ เว็บไซต์ https://complaint.ocpb.go.th/ หรือแอปพลิเคชัน OCPB Connect ตลอด 24 ชั่วโมง หรือกับ แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ กับ ศาลแพ่ง “ได้ 24 ชั่วโมง ที่ เว็บไซต์ศาลแพ่งhttps://efiling3.coj.go.th/eFiling และหากจะฟ้องคดีแพ่งส่วนตัวก็จะต้องทำเป็นหนังสือแจ้งยุติเรื่องร้องทุกข์กับ สคบ. เสียก่อน เรื่องราวของคุณฝ้าย แม้จำนวนเงินอาจจะดูไม่เยอะ แต่เมื่อผู้เสียหายหลายราย คำนวณจึงเป็นเงินจำนวนมาก หากไม่ช่วยกันส่งเสียง อาจเกิดเหตุลักษณะนี้อีกต่อไปได้
การซื้อสินค้าทางออนไลน์นั้นจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบ ตั้งแต่ความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มและร้านค้า รายละเอียดและใบรับรองมาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้น แต่บางครั้งแม้เราจะเลือกจนแน่ใจว่าดีแล้ว ก็อาจไม่วายต้องผิดหวังหลังนำไปใช้เพราะการโฆษณาเกินจริงของร้านค้าต้นทาง เหมือนอย่างที่คุณวิชัยที่ซื้อเครื่องทำน้ำแข็งมาใช้ได้แค่ปีเดียวก็ไม่กล้าใช้ต่ออีกเลย ย้อนไปช่วงอากาศร้อนๆ ในปี 2565 คุณวิชัยซื้อเครื่องทำน้ำแข็งยี่ห้อ Smarttek จากร้านทางการของแบรนด์นี้ ผ่านทางแพลตฟอร์มช็อปปี้ แต่พอหมดอายุรับประกันครบ 1 ปีปั๊บบริเวณแท่งทำน้ำแข็งก็มีสนิมโผล่ขึ้นมาปุ๊บ เขาจึงถามไปยังร้านค้าที่ซื้อมาและได้คำตอบว่า แท่งทำน้ำแข็งผลิตจากทองแดงเคลือบนิกเกิล และที่เห็นน่าจะเป็นนิกเกิลหลุดไม่ใช่สนิมซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนมอเตอร์ด้านใน เพราะอาจเกิดการปนเปื้อนกับน้ำดื่มได้ คุณวิชัยคำนวณคร่าวๆ ถึงค่าใช้จ่าย ทั้งค่าขนส่งไป-กลับ และค่าเปลี่ยนมอเตอร์กับแท่งทำน้ำแข็ง แล้วมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000 บาท “ผมคิดว่าไม่คุ้ม เพราะเดี๋ยวใช้ๆ ไปก็คงเป็นสนิมอีก และมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย” จึงไม่เปลี่ยนอะไหล่และเลิกใช้เครื่องทำน้ำแข็งนี้ไปเลย แต่คุณวิชัยก็ยังติดใจอยู่คือ ทำไมเครื่องทำน้ำแข็งนี้มีอายุการใช้งานที่สั้นจัง ทั้งๆ ที่สินค้ายี่ห้อนี้มีการโฆษณาว่าได้รับมาตรฐานส่งออกต่างประเทศและมีใบรับรอง จึงพยายามลองหาข้อมูลเพิ่ม ก็ถึงบางอ้อเมื่อเข้าไปสืบค้นข้อมูลแล้วพบว่าจริงๆ แล้ว สินค้านี้ไม่มี มอก. และร้านค้าก็ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลมาตรฐานต่างๆ ของสินค้าเมื่อมีลูกค้าแชตถามด้วย เขาสงสัยว่านี่จะเป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ จึงร้องเรียนมาในไลน์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา ในเบื้องต้น ทางมูลนิธิฯ ได้ประสานกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และได้แนะนำว่าหากคุณวิชัยมีความประสงค์ที่จะตรวจสอบมาตรฐานของเครื่องทำน้ำแข็งที่สนิมขึ้นยี่ห้อนี้ ก็สามารถส่งไปได้ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) หรือสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้เช่นกัน
ความคิดเห็น (0)