เรื่องนี้เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ไม่นานมานี้เอง
สายของวันที่ 23 มิถุนายน 2554 คุณพงศ์วรัฐและคุณภูวนาถ เดินทางเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยสีหน้าบอกบุญไม่รับ
“เมื่อสามวันที่แล้วผมสองคนเพิ่งไปทำสัญญาจองรถกับบริษัทสปอร์ต คาร์มา เป็นรถฮอนด้าซีวิคกับรถโตโยต้า วีโก้ ป้ายแดงทั้งคู่ครับ” คุณพงศ์วรัฐเริ่มเรื่อง
“แล้วรู้จักมักจี่กับบริษัทนี้ยังไงคะถึงเข้าไปจองรถกับเขาได้” เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคถาม
“ก้อญาติของผมน่ะสิครับ เขาเพิ่งไปวางเงินจองรถนิสสัน มาร์ชกับเต๊นท์นี้มาเมื่อเดือนที่ผ่านมานี่เอง แต่เขายังไม่ได้รถนะครับ” คุณพงศ์วรัฐหมายถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ด้วยข้อเสนอจ่ายเงินดาวน์เพียง 15,000 บาท โดยวางเงินจอง 5,000 บาท และจ่ายที่เหลือในวันรับรถอีก 10,000 บาท แล้วออกรถได้เลย ทำให้คุณพงศ์วรัฐและคุณภูวนาถสองเพื่อนซี้ตาโต ควักเงินคนละ 5,000 บาทวางจองรถคันที่ต้องการทันทีในวันนั้น แม้จะผิดสังเกตและทักท้วงไปกับนายหน้าขายรถ ตรงที่ใบสัญญาจอง แทนที่จะระบุว่าเป็นสัญญาจองรถยนต์กับเขียนหัวกระดาษเป็นใบรับเงินค่าบริการที่มีข้อความว่าจะต้องเสียค่าบริการ 3,000 บาท ถ้าผู้จองรถไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากไฟแนนซ์ แต่ก็คิดว่าไม่เป็นอะไรเพราะตนเองไม่มีปัญหาด้านหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินต่างๆ อยู่แล้ว
“ผมได้ทักท้วงไปเหมือนกัน แต่เซลล์บอกว่าไม่มีปัญหา เพราะถ้าไฟแนนซ์ผ่าน เงินที่จ่ายมาก็เป็นค่าดาวน์ที่ต้องนำไปหักอยู่แล้ว” คุณพงศ์วรัฐว่า
ทำสัญญาจองรถไปเพียงแค่วันเดียววันรุ่งขึ้น วันที่ 21 มิถุนายน คุณพงศ์วรัฐได้รับโทรศัพท์สายหนึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ไฟแนนซ์แจ้งว่า เขาไม่ผ่านไฟแนนซ์ เพราะติดแบล็คลิสต์กับบริษัทบัตรเครดิต
“ผมก็เอะใจล่ะครับ เพราะผมไม่เคยทำบัตรเครดิตหรือสินเชื่ออะไรจะติดแบล็คลิสต์ได้ยังไง” คุณพงศ์วรัฐจึงแจ้นไปปรึกษากับคุณภูวนาถและญาติซึ่งทั้งคู่ก็บอกว่าโดนแจ้งว่าไฟแนนซ์ไม่ผ่านเพราะติดแบล็คลิสต์เหมือนกัน ทั้งสามก็เลยต้องร่วมมือกันวางแผนที่จะตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับแจ้งมาว่าจริงเท็จแค่ไหน
เริ่มแรก คุณพงศ์วรัฐให้ญาติและคุณภูวนาถขอชื่อบริษัทไฟแนนซ์จากเต๊นท์รถ เซลล์แจ้งว่าได้ส่งข้อมูลขอสินเชื่อของญาติของคุณพงศ์วรัฐไปที่บริษัท เซนเตอร์ ลิสซิ่ง และของคุณภูวนาถส่งไปที่บริษัท เอเซียลิสซิ่ง ญาติของคุณพงศ์วรัฐจึงได้ทำทีโทรศัพท์ไปสอบถามขอสินเชื่อกับบริษัทเอเซีย ลิสซิ่ง พนักงานบริษัทดังกล่าวแจ้งว่า เป็นเพียงเต๊นท์รถที่รับไถ่ถอนรถถูกยึด และรับจัดไฟแนนซ์เฉพาะรถมือสองเท่านั้น ไม่มีตัวแทนหรือนายหน้า ผู้ที่ใช้บริการต้องมาที่บริษัทเอง ส่วนนายภูวนาถก็สอบถามไปที่บริษัทเซนเตอร์ลิสซิ่งสลับกัน ก็ได้ข้อมูลทำนองเดียวกันว่าไม่รู้เรื่องการติดต่อขอสินเชื่อจากเต๊นท์รถที่ไปวางเงินมัดจำจองรถเลย คุณพงศ์วรัฐ จึงรู้ว่าถูกหลอกแน่และรีบเข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือเรียกเงินจองรถคืนทันที
แนวทางแก้ไขปัญหา
ทันทีที่ได้รับเรื่องร้องเรียนในวันที่ 23 มิถุนายน 2554 เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้พาผู้เสียหายทั้งสาม เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่เกิดเหตุทันที หลังจากร้อยเวรได้สอบสวนข้อเท็จจริงเรียบร้อย จึงลงบันทึกประจำวันรับแจ้งความไว้และขอให้ใช้วิธีเจรจาไกล่เกลี่ยกันก่อน ร้อยเวรได้ประสานไปที่สายตรวจให้เข้าไปที่เต๊นท์รถและแจ้งว่ามีผู้เสียหายมาแจ้งความและให้มาที่โรงพัก หลังจากนั้นประมาณ 14.00 น.ของวันเดียวกัน ตัวแทนของเต๊นท์รถจึงรีบแจ้นเดินทางมาที่โรงพักและขอคืนเงินทั้งหมดแก่ผู้เสียหายทั้ง 3 ราย รวมเป็นเงินจำนวน 15,000 บาทในทันที
“คนมีรายได้น้อยอย่างพวกเรา แต่อยากได้รถยนต์เห็นดาวน์ถูกก็เลยตกเป็นเหยื่อ แต่ถ้ารู้ตัวแล้วรีบแจ้งความเพื่อเอาผิดกับมิจฉาชีพพวกนี้ เราก็จะไม่สูญเสียทรัพย์สินไป อยากฝากเตือนไปถึงคนอื่นที่ต้องการมีรถ ขอให้ไปที่ตัวแทนจำหน่ายโดยตรงดีกว่า”คุณพงศ์วรัฐกล่าว
แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ รถยนต์ ป้ายแดง นายหน้า บริษัท
เรื่องนานขนาดผ่านไปเกือบยี่สิบปี แต่หากผู้บริโภคไม่ได้จัดการในเรื่องสัญญาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าให้เรียบร้อย ปัญหาก็อาจวนกลับมาให้เสียทรัพย์ได้ คุณก้อยติดต่อขอคำแนะนำมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า วันหนึ่งได้รับหมายเรียกของศาลจังหวัดปทุมธานี ตามที่มีคำฟ้องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอสามโคก ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2565 โดยยื่นฟ้องฐานค้างชำระหนี้ค่าไฟฟ้า 6 เดือน สิงหาคม - ธันวาคม 2563 และมกราคม 2564 มียอดหนี้พร้อมดอกเบี้ยรวม 10,300.51 บาท ซึ่งในคำฟ้องนี้ มีคุณก้อยเป็นจำเลยที่ 1 และผู้ใช้ไฟฟ้าคนปัจจุบันเป็นจำเลยที่ 2 เหตุนี้เกิดขึ้นจากเมื่อ 20 ปีก่อน (พ.ศ. 2544) นางสะอาด (นามสมมติ) ได้ซื้อบ้านหลังเกิดเหตุกับคุณก้อย ครั้งนั้นคุณก้อยไม่ได้ “สนใจ” ที่จะจัดการยกเลิกหรือเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองมิเตอร์ไฟฟ้าให้เรียบร้อย “ยอมรับค่ะว่าไม่ทันคิดอะไร หลังธุรกรรมเรื่องซื้อขายบ้านเรียบร้อย ดิฉันเซ็นมอบอำนาจให้นางสะอาดไปเพื่อให้เขาไปดำเนินการเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นชื่อนางสะอาดแทน” หลังจากที่คุณก้อยมอบอำนาจแล้วก็ไม่ได้สนใจอะไรอีก เพราะตลอดเวลาเกือบ 20 ปี ก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร ดังนั้นเมื่อได้หมายเรียกจากศาล จึงพยายามติดต่อนางสะอาดว่าเกิดอะไรขึ้น ได้ความแค่ว่า นางสะอาดขายบ้านหลังนี้ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าหรือเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 และไม่ได้ชำระค่าไฟฟ้าหลายเดือน จนเกิดหนี้ค่าไฟฟ้าขึ้น “ดิฉันถูกฟ้องด้วย เรื่องนี้ดิฉันต้องทำอย่างไรดีคะ” แนวทางการแก้ไขปัญหา จากการที่ละเลยไม่เปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าของคุณก้อยหลังการขายบ้าน จนกระทั่งผู้เป็นเจ้าของบ้านคนปัจจุบันค้างชำระค่าไฟฟ้านั้น ตามระเบียบของการไฟฟ้า ระบุว่า “ตามระเบียบว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ พ.ศ. 2562 ข้อ 32 ความรับผิดชอบในการชำระค่าไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับผิดชอบค่าไฟฟ้าตลอดไปจนกว่าจะแจ้งบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าเป็นลายลักษณ์อักษรหรือโอนเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าให้ผู้อื่น หากผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ได้บอกเลิกการใช้ไฟฟ้า แต่มีผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้า ให้ถือว่าผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกันชำระค่าไฟฟ้า” หลังจากขอรายละเอียดต่างๆ จากคุณก้อยผู้ร้องเรียนแล้ว ทางมูลนิธิฯ ได้ประสานไปที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพราะเกิดข้อสงสัยว่า ธรรมดาเมื่อผู้ใช้ไฟฟ้าค้างชำระค่าไฟฟ้า 1-2 เดือน การไฟฟ้าจะระงับการจ่ายไฟฟ้าหรือเรียกภาษาชาวบ้านว่า ตัดไฟ แล้วในกรณีนี้ทำไมจึงปล่อยให้มีการใช้ไฟฟ้าต่อไปจนถึง 6 เดือน ซึ่งเท่ากับทำให้ยอดค้างชำระมีจำนวนที่สูงตามจำนวนการใช้ไฟฟ้าไปด้วย คำถามนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอสามโคก ปทุมธานี ตอบว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลมีมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชน ดังนั้นการไฟฟ้าสามโคกในฐานะโจทก์จึงยังมิได้งดจ่ายกระแสไฟฟ้าหรือบอกเลิกสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้ากับจำเลย แต่ได้ติดตามทวงถามและแจ้งหนี้มาโดยตลอด แน่นอนว่าการทวงถามนี้คุณก้อยไม่เคยได้รับข้อมูล เนื่องจากเอกสารต่างๆ ส่งไปยังบ้านเลขที่ของบ้านที่เกิดการใช้ไฟฟ้าและปัจจุบันไม่สามารถติดตามตัวเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าได้ คุณก้อยกังวลใจมาก เพราะตามตัวผู้ใช้ไฟฟ้าหรือจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ทำให้คิดว่าตนอาจต้องรับผิดชอบเรื่องหนี้ก้อนนี้ทั้งหมดเองคนเดียว ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้แนะนำให้คุณก้อยไกล่เกลี่ยโดยขอร้องต่อศาลให้เลื่อนเวลาผ่อนผันออกไปก่อน เพื่อตามตัวผู้ใช้ไฟฟ้าหรือเจ้าของบ้านคนปัจจุบันให้ได้ เพื่อมารับผิดชอบหนี้ที่ก่อไว้ (ตอนนี้บ้านไม่มีผู้อาศัย) ขณะเดียวกันเสนอให้คุณก้อยยื่นคำให้การต่อศาลเป็นเอกสารชี้แจงลำดับเหตุการณ์ ซึ่งทางมูลนิธิฯ ยินดีช่วยร่างให้ พร้อมกับต้องไปคัดทะเบียนราษฎร์ที่เคยปรากฎชื่อตนเองว่าครอบครองบ้านหลังดังกล่าวก่อนขายเปลี่ยนมือเมื่อปี 2544 พร้อมหลักฐานการแจ้งย้ายออกแล้วนำยื่นต่อศาลเพื่อพิจารณา ซึ่งเรื่องราวจะจบลงอย่างไรจะได้นำเสนอต่อไป ทั้งนี้ฝากเป็นบทเรียนให้แก่ทุกท่าน เมื่อมีการซื้อขายเปลี่ยนมือไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโดมิเนียม ควรจัดการบอกยกเลิกสัญญาการใช้ไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ ต่างๆ ให้เรียบร้อย เพื่อมิให้ต้องเกิดปัญหาเช่นเดียวกับผู้ร้องทุกข์รายนี้
คุณน้ำตาล เจ้าของเรื่องราวที่มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เล่าว่า เมื่อ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา เธอไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง โดยเธอได้เลือกซื้อนมพร่องมันเนยยี่ห้อหนึ่งมา 1 แพ็ก ขนาด 225 มล. (แบบยูเอชที) หลังจากนั้นเมื่อเธอเดินทางกลับถึงบ้าน ก็นำนมที่ซื้อมาแช่เย็นไว้ในตู้เย็น ต่อมาเธอก็ได้หยิบนมดังกล่าวที่ซื้อมาดื่ม ขณะกำลังดื่มสายตาก็ดันเหลือบไปเห็นรายละเอียดวันหมดอายุบนกล่องนม อ้าว!! หมดอายุตั้งแต่ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ทำไมเอาของหมดอายุมาขายกันนะ ห้างก็ออกจะชื่อดังระบบแย่ขนาดนี้เลย คุณน้ำตาลยังดื่มนมไม่หมด แต่เธอก็กังวลเพราะดื่มเข้าไปแล้ว สำคัญคือเธอตั้งครรภ์อยู่ด้วย อย่างแรกที่ทำคือ เธอรีบติดต่อไปถึงห้างฯ ดังกล่าวเพื่อแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นทันที ซึ่งทางพนักงานรับเรื่องแจ้งเธอว่าจะติดต่อกลับมาภายในเวลา 3-5 วัน คำตอบนี้เธอไม่โอเค จึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรจะทำอย่างไรต่อดี แนวทางการแก้ไขปัญหา เบื้องต้นผู้บริโภคหากพบปัญหาลักษณะนี้สามารถดำเนินการได้ตามแนวทางที่เขียนในกรณีของคุณกุ้ง (ซื้ออาหารดองหมดอายุจากห้างค้าปลีก) กรณีคุณน้ำตาล วันที่ 15 มีนาคม 2566 ทางมูลนิธิฯ ได้ส่งหนังสือถึงบริษัทผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตขอให้ตรวจสอบและแก้ไขถึงปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นไม่นานทางผู้ร้องก็ได้แจ้งกับทางมูลนิธิฯ ว่าผู้ร้องได้รับการติดต่อจากบริษัทแล้ว โดยได้รับแจ้งว่า ทางบริษัทฯ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพทั้งหมด อย่างไรก็ตาม คุณน้ำตาลแม้ว่ารับประทานเข้าไปแล้วก็จริง แต่เธอไม่ได้มีอาการป่วยอะไร อาจเพราะเธอเห็นวันหมดอายุตอนที่ดื่มเข้าไปไม่มาก เธอจึงขอปฏิเสธที่จะรับเงินในส่วนนี้ไปแต่ขอให้บริษัทฯ ช่วยชดเชยเป็นค่าเสียเวลาให้เธอจำนวน 30,000 บาท ทางมูลนิธิฯ จึงให้ข้อมูลกับทางผู้ร้องว่า การเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินดังกล่าวนั้นเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะเรียกได้ และการจะได้รับค่าเสียหายตามที่เรียกร้องไปนั้นก็ขึ้นอยู่ที่ทางบริษัทฯ จะพิจารณาด้วยเช่นกัน ต่อมาเมื่อมีการเจรจาและทางบริษัทฯ ได้รับข้อเสนอคุณน้ำตาลไปพิจารณา ต่อมาได้รับการแจ้งจากผู้ร้องว่า บริษัทฯ ให้ไปรับเงินชดเชยจำนวน 5,000 บาท ที่สาขาที่ผู้ร้องใช้บริการ คุณน้ำตาลจึงข้อยุติเรื่องร้องเรียน
ผู้บริโภคต่างรู้กันอยู่แล้วว่าก่อนจะซื้อของกินทุกครั้งนั้น ต้องดูวันผลิตและวันหมดอายุอย่างรอบคอบ แต่บางทีถ้าซื้อเยอะๆ ใครจะไปตรวจดูได้ทุกชิ้น พอดูชิ้นสองชิ้นว่ายังไม่หมดอายุ ก็คิดเหมาว่าลอตเดียวกันน่าจะเหมือนกัน โดยไม่ได้เฉลียวใจเลยว่าจะมีของที่หมดอายุแล้วปะปนอยู่ในนั้นด้วยเหมือนอย่างที่คุณกุ้งเพิ่งเจอมากับตัวเอง เธอเล่าว่าไปซื้ออาหารทะเลดองจากห้างชื่อดังแห่งหนึ่งใกล้บ้านซึ่งเป็นห้างค้าปลีกที่ใช้บริการเป็นประจำ จำนวน 10 กระปุก จ่ายเงินไป 3,471 บาท แต่เมื่อนำมารับประทานแล้วเกิดท้องเสียอย่างรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วจึงกลับบ้านและเริ่มค้นหาสาเหตุที่ทำให้เสียทั้งสุขภาพและเงินจำนวนพอสมควร อย่างแรกคือของดองต้องสงสัย แล้วก็อย่างที่สงสัย เมื่อค่อยๆ พิจารณาดูฉลากบนกระปุกหอยดองที่เพิ่งเปิดกินไป ก็เจอแจ็กพอต!! เพราะระบุวันหมดอายุบนฉลาก ระบุว่าหมดอายุก่อนหน้าวันที่ซื้อไปถึงเดือนกว่าๆ (ซื้อสินค้าวันที่ 18 ก.พ. 66 แต่ของหมดอายุตั้งแต่ 1 ม.ค. 66) แถมพอไปดูที่ซื้อมาทั้งหมดก็พบว่ายังมีอีก 2 กระปุกที่หมดอายุนานแล้วเหมือนกัน เรียกว่าปนๆ กันไปกับของที่ยังอยู่ในสภาพไม่หมดอายุ คุณกุ้งจึงติดต่อไปทางห้างชื่อดังที่ขายของหมดอายุแล้วนี้และได้คุยกับทางผู้จัดการ คุณกุ้งขอให้ผู้จัดการช่วยออกค่ารักษาพยาบาลให้ก่อน แต่ทางนั้นจะขอเป็นคืนเงินค่าสินค้าทั้งหมดแทน ซึ่งเธอไม่รับข้อเสนอนี้ จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ ผ่านช่องทางไลน์ เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา หากใครเจอกรณีเช่นเดียวกับคุณกุ้งนี้ แนะนำให้ดำเนินการเบื้องต้น ดังนี้ 1. ถ่ายรูปฉลาก โดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้าและใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ขอให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย) 2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจในท้องที่เพื่อเป็นหลักฐาน 3. ให้ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งต้องคิดให้ดีว่าเราต้องการให้เขาดำเนินการอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น (เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน จ่ายค่าเสียเวลา ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น) 4. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ บรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงเจ้าของร้านค้านั้นๆกรณีคุณกุ้งอยู่ระหว่างไกล่เกลี่ยเมื่อมีความคืบหน้าจะได้นำเสนอต่อไป ยังมีอีกเรื่องที่ผู้บริโภคพบปัญหาดื่มนมที่หมดอายุ ซึ่งซื้อมาจากซูเปอร์มาร์เก็ตดัง
เตือนภัย ! นักช้อปออนไลน์ ระวังโจรในคราบพ่อค้าคนกลางบนเฟซบุ๊ก มิจฉาชีพเหล่านี้จะมาพร้อมข้อความโฆษณว่าขายสินค้าคุณภาพเลิศ ราคาเกินคุ้ม ส่งฟรี แถมเก็บปลายทางอีกต่างหาก เชิญชวนให้นักช้อปมือลั่นกดสั่งสินค้าไป โดยกว่าจะมารู้ตัวว่าถูกหลอกก็ตอนได้รับของไม่ตรงปกนี่แหละ แต่ใครจะคาดคิดว่าจะโกงกันได้แม้กระทั่ง “ต้นทุเรียน” คุณสายลมอยากปลูกทุเรียน“มูซังคิง” ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ราชาแห่งทุเรียนมาเลย์’ มากๆ ด้วยเห็นว่าทุเรียนพันธุ์นี้ได้รับความนิยมมากและขายกันในราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 500 บาท วันหนึ่งเห็นร้านหนึ่งโพสต์บนเฟซบุ๊กว่าขายต้นทุเรียน “มูซังคิง “ สายพันธุ์แท้จากมาเลเซีย ระบุว่ามี 3 ขา ใน 1 กระถาง ไซส์สูงกว่า 1 เมตร กำลังลดราคา 50 % พร้อมมีบริการเก็บเงินปลายทาง และรับประกันหากเกิดความเสียหายระหว่างขนส่งให้ด้วย รออะไรครับ...เขาจึงสั่งซื้อไป 6 ต้น เพื่อให้ได้โปรโมชันนี้ “แถมอีก 2 ต้น พร้อมปุ๋ย ราคารวมส่ง 950 บาท” พอสั่งไปแล้วทางร้านออนไลน์แจ้งกลับมาว่าให้รอประมาณ 5 วัน ต้นทุเรียนจะส่งไปถึงหน้าบ้าน แน่นอนว่าระหว่างนั้นเขาก็รออย่างใจจดใจจ่อ เมื่อถึงกำหนดส่ง ต้นทุเรียนมาส่งตามกำหนดไม่ได้หลอกลวง แต่ทว่าวันนั้นเขาไม่อยู่บ้าน จึงฝากให้คนที่บ้านจ่ายเงินและเซ็นรับของไว้ให้แทน ปัญหาอยู่ตรงนี้จริงๆ เพราะถ้าเขาอยู่บ้านจะไม่รับของเด็ดขาด “สภาพกล่องที่ใส่ต้นทุเรียนมันสั้นมาก” เขามองก็รู้แล้วว่าได้ของไม่ตรงปกแน่ มือเริ่มสั่นแล้วคราวนี้ ยิ่งเมื่อเขาเปิดกล่องก็พบว่าต้นทุเรียนทั้ง 6 ต้น มีแค่ขาเดียวและสูงแค่ 40 เซนติเมตรไม่เหมือนคำโฆษณาสักนิด คุณสายลมรีบติดต่อทางร้านทันทีแต่ก็ไร้สัญญาณตอบรับใดๆ และเขายังผิดสังเกตอีกอย่างด้วยว่า เขาสั่งซื้อสินค้าจากเพจเฟซบุ๊ก แต่ทำไมจ่าหน้าส่งมาจาก “แอปพลิเคชันชอปปิ้งสีส้ม” เขาคาดว่ามิจฉาชีพพวกนี้น่าจะสั่งซื้อทุเรียนพันธุ์ถูกๆ แล้วมาขายต่อเพื่อกินส่วนต่างอีกทีแน่ๆ เขาจึงโทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรทำอย่างไรต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา หลังจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ได้สอบข้อเท็จจริงและขอหลักฐานบางส่วนจากทางคุณสายลมแล้ว จึงแนะนำเบื้องต้นให้คุณสายลมทำตามขั้นตอนดังนี้ 1.รีบไปดำเนินการแจ้งความลงบันทึกประจำวัน เพื่อให้ตำรวจเอาผิดกับเจ้าของเฟซบุ๊กที่หลอกลวงขายสินค้า 2.ส่งหนังสือแจ้งไปยังบริษัทขนส่งที่มาส่งของให้โดยด่วนเพื่อให้ระงับยอดเงิน 950 บาท (ที่ยังค้างอยู่กับทางบริษัทขนส่ง) ไม่ส่งไปให้กับร้านค้าที่กระทำการส่งสินค้าไม่ตรงปกมาให้ อีกทั้งขอให้ทางบริษัทนส่งคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหาย เมื่อติดตามเรื่องจากคุณสายลมพบว่า ในระยะเวลา 1 เดือนภายหลังจากที่ได้ดำเนินการตาม ข้อ 1 และ 2 แล้ว ปรากฎว่ายังไม่คืบหน้า ทางมูลนิธิฯ จึงทำหนังสือสำทับไปยังบริษัทขนส่งอีกรอบ รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อขอให้ตรวจสอบเพจเฟซบุ๊กของมิจฉาชีพด้วย ปัจจุบันกรณีซื้อสินค้าแล้วได้รับของไม่ตรงปกนี้ อีกทางออกหนึ่งคือ ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องคดีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ได้ด้วย “ศาลยุติธรรมแผนกคดีซื้อขายออนไลน์” ได้เปิดระบบให้ผู้ร้องสามารถฟ้องคดีตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ร้องที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อขายออนไลน์สามารถยื่นเรื่องด้วยตัวเองและไม่จำกัดวงเงินมากน้อย แต่มีเงื่อนไขว่าต้องซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ร้องจะต้องมีหลักฐานประกอบเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขาย หลักฐานการสั่งซื้อสินค้า หลักฐานการชำระเงิน รวมถึงวิดีโอที่ถ่ายขณะเปิดกล่อง เป็นต้น เมื่อเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว ศาลจะดำเนินการสืบพยานและไกล่เกลี่ยผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด หากผู้ร้องประสงค์จะฟ้องคดีออนไลน์สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://efiling3.coj.go.th
ความคิดเห็น (0)