ฉบับที่ 172 คุยปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาลแพงของโรงพยาบาลเอกชนกับ ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา

ฉลาดซื้อวันนี้จะพาท่านมาพบกับนักสู้มือเปล่า  จากชีวิตแม่บ้านคนหนึ่ง  ที่ลุกมาสู้เพื่อลูก   จนวันนี้สิ่งที่เธอสู้เรียกได้ว่า เพื่อทุกคน “ ปรียนันท์  ล้อเสริมวัฒนา”จุดเริ่มต้นที่พี่มาทำประเด็นเกี่ยวกับ รพ. เอกชน มีแรงบันดาลใจมาจากเรื่องอะไรคะ พี่ทำหน้าที่ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์มานาน 13 ปี รับเรื่องร้องเรียนจากคนไข้ที่ได้รับความเสียหายทั้งจากรพ.รัฐบาลและรพ.เอกชน  แต่คนไข้รพ.เอกชนมักพ่วงเรื่องค่ารักษาแพงเกินจริงมาด้วย  ยกตัวอย่าง คนไข้ชายเจ็บหน้าอกเข้ารพ.เอกชนที่โฆษณาว่ามีหมอหัวใจ 24 ชม. เข้าไปตั้งแต่สองทุ่มจนถึงเช้าก็ไม่มีหมอหัวใจมาดู  เมื่อคนไข้ตายญาติฟ้องคดีต่อศาล หมอผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจไปเบิกความเป็นพยาน พบว่าในบิลค่ารักษามีการเก็บค่าอะดรีนาลีน 148 หลอด หลอดละ 200 บาท เป็นเงิน 29,600 บาท  แต่ในเวชระเบียนระบุว่าใช้จริงประมาน 30 หลอด (ต้นทุนขณะนั้นหลอดละไม่ถึง 10 บาท) เมื่อญาติไปร้องเรียนแพทยสภา  กลับไปพบเจ้าของรพ.เอกชนแห่งนั้นซึ่งเป็น กรรมการแพทยสภา นั่งเป็นประธานสอบสวนกรณี รพ.ของตนเอง  จึงเกิดคำถามในใจว่า  ถ้าไม่เป็นคดีความจะรู้ไหมว่ามีการโกงค่ายา  และในประเทศไทยมีเพียงกรณีเดียวนี้หรือไม่  นี่ยังไม่นับรวมมีการเก็บค่ามอร์ฟีน และค่าฟอร์มาลีนฉีดศพขณะที่คนไข้ยังไม่ตายอีกด้วยประเทศไทยกลไกที่มีหน้าที่ตรวจสอบไม่มีความเป็นหนึ่งเดียว  บิลค่ารักษาใบเดียวต้องให้คนไข้และญาติวิ่งไปหลายหน่วยงาน  เช่น ค่าตรวจรักษาที่สงสัยว่าสูงเกินจริงต้องไปร้องแพทยสภา, ค่ายา-ค่าเวชภัณฑ์ต่างๆ ต้องไปร้องกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์, ไป สคบ., อย. หรือสำนักสถานพยาบาลฯ กระทรวงสาธารณสุข  เมื่อไม่มีหน่วยงานกลางที่เป็น one stop service จึงทำให้การตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพ  ประชาชนเข้าถึงความเป็นธรรมได้ยาก เท่ากับเอื้อให้มีการโกง การคิดค่ายาและค่ารักษาเกินจริงได้อย่างเสรีต่อมาปี 2555 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศนโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาได้ทุกที่ฟรีทุกสิทธิ ไม่ต้องถามสิทธิ ไม่ต้องสำรองจ่าย สปสช. จะเป็น clearing house จ่ายให้ทั้งหมด(ฟรีภายใน 72 ชม.) แต่กลับไม่มีผลในทางปฏิบัติ รพ.เอกชนส่วนใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือ  มีการเรียกเก็บค่ามัดจำและให้ญาติเซ็นรับผิดชอบค่าใช้จ่าย  ตลอดจนเซ็นรับสภาพหนี้หลักแสนถึงหลักล้าน  แม้ทาง สปสช.จะจ่ายแทนคนไข้ในอัตราที่คิดว่ารพ.เอกชนมีกำไรแล้ว  แต่รพ.เอกชนก็ปฏิเสธที่จะรับในอัตราที่ สปสช.จ่ายและยืนยันจะเก็บในราคาเต็ม ตัวอย่างที่พี่คิดว่าควรจะเป็นกรณีศึกษาได้เลย ความเดือดร้อนของประชาชนมีอย่างต่อเนื่อง  เช่น -กรณีคนไข้สิทธิฉุกเฉินถูกรพ.เอกชนฟ้องเรียกค่ารักษา พี่ไปศาลด้วยก็ไปพบคนไข้รายอื่น นำโฉนดที่ดินไปมอบให้ทนายของรพ.เอกชนแห่งนั้นเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล เพราะไม่มีศักยภาพที่จะจ่ายได้  ทั้งที่เข้าเงื่อนไขเจ็บป่วยฉุกเฉินทุกประการ  -กรณีที่รพ.เอกชนให้สามีคนไข้สำรองจ่ายไปก่อน  พี่พาไปฟ้องเรียกค่ารักษาคืนที่ศาลปกครอง  ผ่านมา 2-3 ปีคดีความก็ยังไม่จบ  สร้างความทุกข์ให้กับครอบครัวคนไข้อย่างแสนสาหัส  กรณีนี้สามีคนไข้เป็นครูเงินแสนยังไม่เคยมี  แต่ต้องวิ่งหยิบยืมเงินครึ่งล้านมาจ่ายให้รพ.เอกชนแห่งนั้นภายในครึ่งวัน  ไม่เช่นนั้นก็ย้ายภรรยาออกไปรพ.ตามสิทธิไม่ได้  หรือบางรายถ้าไม่จ่ายก็นำศพออกไปบำเพ็ญกุศลไม่ได้-กรณีรพ.เอกชน ให้ลูกชายคนไข้ ที่มีเงินเดือนเพียง 7 พันบาท เซ็นรับสภาพหนี้จำนวนเกือบ 8 แสนบาท  ทั้งที่เข้าเงื่อนไขสิทธิฉุกเฉินทุกประการ พี่เรียกนโยบายนี้ว่า “นโยบายลวงโลก”  แม้รัฐบาลจะยุบสภาไปแล้ว  แต่ก็ทิ้งกองไฟที่ก่อเอาไว้ล่อให้แมงเม่าบินเข้าไปตาย  พี่เรียกร้องให้ยกเลิกนโยบายดังกล่าว เพราะเชื่อว่ามีคนเจ็บป่วยฉุกเฉินทุกวัน  และทุกๆ วันจะต้องมีคนสิ้นเนื้อประดาตัวจากการหลงเข้าไปรพ.เอกชน  แต่ก็ไร้ผล  จึงคิดว่าเมื่อหยุดนโยบายนี้ไม่ได้  ก็จำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางเข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบ และกำหนดกติกาที่เป็นธรรม   อีกประการคือพี่สังเกตมานานว่า ในโลกโซเชียลออนไลน์ เมื่อใดที่มีคนโพสต์เรื่องค่ารักษาแพง จะเป็นประเด็นร้อนที่สังคมมีอารมณ์ร่วมอย่างมาก  พี่คิดว่าการบ่นไม่ได้ทำให้ความเป็นธรรมเกิด  จึงตัดสินใจทำแคมเปญรณรงค์ผ่าน Change.org ให้ผู้คนร่วมลงชื่อสนับสนุนให้ “ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคา รพ.เอกชน”   นั่นคือจุดเริ่มต้น หลังจากเคลื่อนไหวมีกระแสตอบรับอย่างไร ( ตอนนี้ทราบว่าก้าวแรกของเครือข่ายสำเร็จ ภาคประชาชนได้เข้าไปเป็นคณะกรรมการอำนวยการแก้ปัญหาค่ารักษารพ.เอกชนแพงแล้ว) เพียง 2 สัปดาห์ มีประชาชนร่วมลงชื่อมากถึง 3.3 หมื่นชื่อ  สะท้อนให้เห็นว่าปัญหามีอยู่จริง  และกลไกปกติยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงก่อให้เกิดปัญหาสะสม เรื่องนี้กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งและเป็นเรื่องใหญ่ ทันทีที่นายกรัฐมนตรีออกมาขานรับทุกข์ของประชาชน  ด้วยการให้สัมภาษณ์สื่อว่าค่ารักษารพ.เอกชนแพงจริงและสั่งให้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหา ส่งผลให้ทุกหน่วยงานต่างกระตือรือร้นอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน  ทำให้ประชาชนอุ่นใจและมีความหวังอย่างยิ่ง ว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ภายใต้รัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน   แต่ในระยะแรกภาคประชาชนไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม  ซึ่งเราเห็นว่าปัญหานี้ถูกสะท้อนโดยประชาชน  การแก้ไขปัญหาควรจะให้เราเข้าร่วมวงด้วย  จึงมีการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ล่าสุดพวกเราได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมแล้ว  แต่อยู่ระหว่างรอคำสั่งแต่งตั้งอย่างเป็นทางการข้อเสนอหลักๆ ของทางเครือข่ายที่เป็นหัวใจสำคัญของเรื่องนี้มีอะไรบ้าง 1. เรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน ภายใน 72 ชั่วโมงห้ามรพ.เอกชนเรียกเก็บค่ามัดจำหรือให้ญาติเซ็นรับผิดชอบค่ารักษา  เมื่อพ้น 72 ชั่วโมงให้ส่งตัวไปรพ.ตามสิทธิ โดยห้ามให้ญาติสำรองจ่าย หรือเซ็นรับสภาพหนี้ กรณีที่รพ.ตามสิทธิเตียงเต็ม จำเป็นต้องอยู่รพ.เอกชนต่อ ให้หน่วยงานตามสิทธิรับผิดชอบค่าใช้จ่าย  2. ขอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลางระดับชาติ ที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มาจากหน่วยงานเดิม ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจรพ.เอกชน  ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ทำหน้าที่ตรวจสอบ กำหนดนโยบาย ตั้งกติกา ที่จะให้ค่ายา ค่ารักษา ค่าเวชภัณฑ์ต่างๆ เป็นไปอย่างสมเหตุสมผลเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และต้องมีอำนาจที่จะลงโทษผู้ทำผิดได้3. ให้ยุบบอร์ดแพทยสภาที่มาจากการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน ที่แม้จะมีคนดีอยู่บ้างแต่กลุ่มที่มีอำนาจมากคือเจ้าของและผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับรพ.เอกชน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความเป็นธรรมของประชาชน แล้วตั้งคนกลางจริง ๆ เข้าไปทำหน้าที่แทน รวมทั้งต้องแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ให้มีบุคคลภายนอกเข้าไปเป็นกรรมการเพื่อคานอำนาจในสัดส่วน 50 : 50 และให้อยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย ป้องกันการมีอิทธิพลครอบงำหน่วยงานอื่น ๆ ในระดับนโยบาย  และให้ยกระดับมาตรฐานรพ.รัฐบาลให้เทียบเคียงรพ.เอกชน ที่สำคัญต้องปกป้องสวัสดิภาพของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน  ด้วยการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... ให้มีผลบังคับใช้ในเร็ววัน เพื่อลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้เรื่องนโยบายเมดิคัล ฮับ ของรัฐบาล พี่มีความคิดเห็นอย่างไร , และนโยบายนี้ประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างไร จำได้เมื่อปี 45 รัฐบาลจัดงาน “เมดิคอลฮับ” ที่เมืองทองธานี พี่ไปให้ความเห็นว่าปัดกวาดบ้านเราให้สะอาดก่อนไหมแล้วค่อยเริ่มนโยบายนี้  แต่ไม่มีใครฟัง  วันนี้นโยบายนี้ส่งผลกระทบชัดเจนต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว  นั่นคือบุคลากรทางการแพทย์ภาครัฐถูกดูดไปฟรี ๆ แบบชุบมือเปิบโดยไม่ได้ลงทุนผลิตเอง  เอาไปรักษาชาวต่างชาติ โกยกำไรเข้ากระเป๋าคนกลุ่มเดียวปีละนับแสนล้าน  ทำให้บุคลากรภาครัฐขาดแคลน  คนไข้รอคิวนาน  ส่งผลถึงมาตรฐานการตรวจรักษา  อีกทั้งเมื่อค่ารักษาในรพ.เอกชนแพง  ทำให้ภาครัฐต้องปรับขึ้นค่าใช้จ่ายต่างๆ ตาม ส่งผลกระทบต่องบประมาณของกองทุนต่างๆ ซึ่งในที่สุดผลร้ายก็จะตกแก่ประชาชนคนไทยโดยรวม”รัฐบาล” ควรพิจารณาทบทวนนโยบายระดับชาติ ที่มุ่งขับเคลื่อนให้มีการหารายได้จากต่างประเทศผ่านระบบรักษาพยาบาล เพราะการรักษาพยาบาลเป็นการประกอบวิชาชีพที่อยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม และบรรทัดฐานอันดีงามของสังคม  ไม่ใช่สินค้าที่จะหากำไรอย่างไร้ขีดจำกัด  แม้จะเน้นให้มีการหารายได้ผ่านระบบของเอกชน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อระบบสุขภาพโดยรวมของประเทศ ทั้งในเรื่องโครงสร้างราคา ปริมาณการใช้เวชภัณฑ์และครุภัณฑ์ รวมถึงปัญหาเรื่องกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศ  ทั้งในเรื่องปริมาณ คุณภาพ และเจตคติในระยะยาว ประชาชนทั่วไปจะมีส่วนร่วมกับเรื่องสิทธิการบริการสุขภาพอย่างไร พี่เห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการ ควรเพิ่มรายวิชาการคุ้มครองผู้บริโภคลงไปในการเรียนการสอน ให้ประชาชนรู้สิทธิของตนเองตั้งแต่เด็ก เรียนรู้ว่าควรส่วนร่วมในการปกป้องสังคมอย่างไร  มากกว่ารอให้ความเลวร้ายนั้นมาเคาะประตูหน้าบ้านตนเอง แล้วไม่รู้จะจัดการปัญหานั้นอย่างไร แต่เฉพาะหน้าไม่ว่าเรื่องค่ารักษารพ.เอกชนแพงก็ดี  เรื่องพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ก็ดี  อยากให้ประชาชนตระหนักว่านี่คือสิทธิของเรา  เมื่อขณะนี้มีคนช่วยจุดประกายและนำเรื่องเข้าสู่ระดับนโยบายให้แล้ว  ประชาชนทั่วไปต้องหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสาร  และหากมีการเคลื่อนไหวใด ๆ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ก็ต้องเสียสละแรงกายออกมาช่วยกันทำให้เป็นจริง   เพราะความเป็นธรรมใดๆ ก็ตามไม่ได้มาด้วยการบ่นเพียงอย่างเดียว  ต้องช่วยกันออกแรงด้วยค่ะพี่ต่อสู้เรื่องนี้มายาวนาน เวลาเกิดความท้อแท้ ให้กำลังใจตัวเองอย่างไร อยากให้พี่ช่วยให้กำลังใจแก่คนเล็กคนน้อยที่สู้เพื่อตัวเองและครอบครัว ทำอย่างไรให้จิตใจเข็มแข็งการต่อสู้ในเรื่องยากๆ  เหมือนว่ายน้ำอยู่กลางมหาสมุทรไม่รู้เมื่อไหร่จะถึงฝั่ง  ความท้อแท้นั้นมีบ้างยามเหนื่อยล้า แต่หากเรายืนหยัดบนความถูกต้อง และคิดเพื่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตน นานวันเข้าจะมีแนวร่วมมากขึ้นๆ และเราจะไม่สู้อย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป  วลีอมตะที่นักต่อสู้เพื่อสังคมควรท่องไว้ในใจเสมอคือ “กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว”  ต้องทั้งอึด อดทน และยืนหยัดประกอบกันค่ะจึงจะไปสู่เป้าหมายได้ในที่สุดปรียนันท์  ล้อเสริมวัฒนา  ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์  คุณแม่ลูก 2 ซึ่งประสบปัญหาจากการรักษาพยาบาลที่ผิดพลาดขณะทำคลอดลูกคนแรก น้องเซ้นต์ เป็นเหตุให้น้องต้องกลายเป็นคนพิการ ใช้ชีวิตอย่างลำบากจนถึงปัจจุบัน นับจากวันที่เริ่มต้นลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเพียงลำพัง ความมุ่งมั่นของเธอสร้างกำลังใจต่อเนื่องให้กับเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันอีกหลายคน และร่วมกันทำงานในนาม เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ (ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ.2545)  ด้วยจิตอาสาเสียสละเต็มรูปแบบ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เป็นเครือข่ายภาคประชาชนโดยแท้ ไม่ขึ้นกับหน่วยงานใด ลงขันช่วยเหลือกันเอง และมีกฎเหล็กห้ามรับเงินบริจาค ห้ามเรียกรับผลประโยชน์ใดๆ จากผู้เสียหายด้วยกัน และห้ามเรียกเก็บค่าหัวคิวจากทนายความ แต่มีเงื่อนไขว่า ”เราช่วยคุณ คุณต้องช่วยสังคม” แค่นั้น  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 171 การแก้ไขปัญหาตู้รถโดยสาร กรณี ม.ธรรมศาสตร์ “ทั้งหมดที่สำเร็จออกมาได้นี้คือต้องลงมือทำ”

จากการไปศึกษาดูงานเรื่อง ผู้ประกอบการรถโดยสารปลอดภัย ของโครงการเสริมพลังผู้บริโภคและผู้ประกอบการเพื่อรถโดยสารปลอดภัย ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจากทั่วประเทศ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา กองบรรณาธิการฉลาดซื้อได้มีโอกาสร่วมดูงานและรับฟังเรื่องราวดีๆ ของความพยายามในการจัดการกับปัญหารถตู้โดยสารสาธารณะของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ประกอบการรถตู้ที่มีจิตสำนึกดี พร้อมให้บริการด้วยความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นสำคัญ ฉลาดซื้อจึงขอนำเรื่องราวดีๆ มานำเสนอไว้ ณ ที่นี้   ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา             สิ่งที่ผมจะพูดเป็นเชิงนโยบายว่า ทำได้จริงนั้นต้องทำอย่างไร และอะไรเป็นปัญหาที่ยังทำไม่สำเร็จ ทั้งนี้เป็นบทเรียนว่าการที่จะได้ประโยชน์ การที่ท่านจะนำไปทำในพื้นที่ของตัวเองจะต้องทำอย่างไร ตอนนี้เห็นได้ว่ารถตู้นั้นเข้ามาแทนที่รถทัวร์ในเส้นทางใกล้ๆ การเดินทางในกรุงเทพฯ ก็เข้ามาแทนที่รถเมล์ และจังหวัดใกล้เคียง เช่น ฉะเชิงเทรา นครปฐม ก็เป็นรถตู้หมดแล้ว และตอนนี้มันไกลไปถึง จ. ประจวบฯ ไกลไปเรื่อยๆ ถึงภาคอีสาน ภาคเหนือ มีไปทั่วประเทศแล้วตอนนี้ มันสะดวกกว่าเพราะรถมีขนาดเล็ก การจอดก็ง่ายกว่า รถเต็มเร็วกว่า การลงทุนก็ง่ายกว่า เรียกว่าได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ค่าโดยสารก็ไม่แพง แต่ปัญหามันคือรถตู้นั้นไม่ได้ออกแบบมาเพื่อขนคน เขามีเพื่อขนของมากกว่า ปัญหาอีกเรื่อง(ของผู้ประกอบการ) คือ เพื่อให้ประหยัด ให้ได้กำไรมากขึ้น ก็เติมที่นั่งเข้าไปเยอะๆ มี 13 ที่นั่งยังพอทำเนา บางคัน 15 ที่นั่ง หนักกว่านั้นมียืนด้วย ไม่รู้ทำกันไปได้อย่างไร รถโรงเรียนอนุบาลนี้เอาเก้าอี้ออกแล้วให้เด็กนั่งอัดกันเข้าไป 20 – 30 คน พอเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาความสูญเสียมันสูง เพราะระบบของรถมันไม่ได้ออกแบบมาเพื่อขนคน และเพื่อให้ประหยัดน้ำมันก็มีการติดแก๊ส NGV เข้าไป ทำให้ศูนย์ถ่วงของรถมันเสียไป เวลาเกิดอุบัติเหตุจะควบคุมได้ยาก เพราะฉะนั้นรถตู้นั้นมีความสะดวกและแพร่หลายกันมาก แต่เวลามีอุบัติเหตุขึ้นมาความสูญเสียมันมาก   จุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ ธรรมศาสตร์(รังสิต) แห่งนี้ จุดเปลี่ยนเริ่มต้นเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ปี 2553 ผมจำวันที่ได้เลยเพราะเจ้าหน้าที่ของ มธ. บุคลากรของ สวทช. และ นศ. ต้องเสียชีวิตไป 9 คนจากอุบัติเหตุที่ไม่ควรจะเกิด ซึ่งเรามาสรุปสาเหตุกันได้ว่า การชนแค่นั้นไม่น่าเสียชีวิตมาก แต่ด้วยรถตู้ไม่ได้ออกแบบมาว่าเกิดอุบัติเหตุแล้วจะปลอดภัย ปกติรถยนต์เขาจะมีมาตรฐาน ต้องทดลองการชน แต่รถตู้ไม่มีการทดลองว่าถ้าชนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ก็เอารถออกมาวิ่งกันเลย มีการเสริมเก้าอี้เข้าไป ทางกรมขนส่งฯ ก็อนุญาต และถึงรถตู้จะอันตรายแต่ก็ยากที่จะหารถอื่นมาแทน เพราะฉะนั้นต้องทำอย่างไรจึงจะปลอดภัยที่สุด วิธีการพื้นฐานคือ ต้องขับความเร็วไม่เกิน 100 กม. / ชม. ถ้าไม่เร็วเกินเวลาเกิดอุบัติเหตุความสูญเสียมันก็จะน้อย ประการที่ 2 เข็มขัดนิรภัยต้องมี ประการที่ 3 คือคนขับ นี่คือสิ่งที่ได้สรุปขึ้นมาจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น โดยร่วมมือกับทางบริษัทเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน โดยมาตรการคือ ระบบ GPS ระบบเตือนเมื่อขับเร็วเกินและสามารถรู้ได้ว่าคันไหนขับเร็วเกินกำหนด เรื่องของคนขับนั้นก็จะมีเบอร์โทรศัพท์ เพราะปกติเรานั่งในรถตู้ถ้าขับหวาดเสียว ขับเร็วเกินเราจะไม่กล้าบอกคนขับ คนไทยขี้เกรงใจ คิดได้อีกทีก็ตายเลยถ้ามัวเกรงใจอยู่ วิธีการคือมีเบอร์โทรศัพท์ติดในรถ นศ. สามารถโทรมาได้ทันทีว่าคันนี้ขับเร็วเกิน ในช่วงแรกๆ นั้นก็มีโทรมาเยอะ ปัจจุบันนั้นมีอยู่แต่น้อยลงไปมาก สำคัญที่สุดคือเราคิดว่าการมีมาตรการบังคับใช้แล้วต้องมีการติดตามผลด้วย ถ้ามีใครฝ่าฝืนกติกาต้องมีการแก้ไขได้ ส่วนเรื่องเข็มขัดนิรภัยนั้นเป็นเรื่องยากที่สุด การติดเข็มขัดนิรภัยนั้นไม่ยากแต่การบังคับให้ นศ. คาดเข็มขัดนิรภัย เป็นเรื่องยาก ปัจจุบันจุดอ่อนก็เรื่องนี้ เรามีให้แต่ผู้โดยสารไม่ชอบคาดเข็มขัดนิรภัย อันนี้เป็นเรื่องสำคัญว่าควรจะทำอย่างไร   ก้าวต่อไป             ตอนนี้ที่ตรงนี้(บริเวณหน้าตึกสำนักงานอธิการบดี) เป็นสถานีที่กึ่งๆ ชั่วคราว เพราะเรามีสถานที่ใหม่และจะย้ายสถานีภายใน 1 ปีนี้ ซึ่งปัจจุบันมี 3 จุดใน มธ. ก็จะย้ายไปอยู่รวมกันเพื่อให้กลายเป็นสถานีเหมือนสถานีขนส่งของ มธ. เชื่อมต่อระหว่าง มธ. กับภายนอก และมาต่อรถในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแก๊ส NGV เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และเชื่อมต่อระบบ ยืม – คืน จักรยานเช่าเพื่อลดการใช้รถยนต์ด้วย ตอนนี้กำลังเป็นโครงการอยู่ ส่วนระบบรถตู้นั้นนโยบายของบริษัทเองก็เห็นด้วย รถตู้ไม่ได้สร้างมาเพื่อรองรับผู้โดยสารที่มีจำนวนมาก แผนของเราคือประมาณ 2 ปีจากนี้เราอยากเปลี่ยนรถตู้ให้เป็นรถมินิบัส 20 ที่นั่ง ซึ่งปลอดภัยกว่า เพราะมันคือรถโดยสารสร้างมาสำหรับโดยสาร และคิดไกลไปกว่านั้นคือถ้าทำทั้งทีอยากทำเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย รถโดยสารของเราอยากให้เป็นรถไฟฟ้าเลย ไม่ต้องใช้ NGV แล้ว ให้เป็นไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ สถานีโซล่าเซลล์ชาร์ทพลังงานแสงอาทิตย์ อันนี้ได้เรื่องสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยทุกสิ่งทุกอย่างหมดเลย อันนี้เป็นแผนแนวความคิดที่จะยังไม่ได้เกิดขึ้นใน 1- 2 ปีนี้ เพราะมันต้องลงทุน รถทั้งหมดจะถูกเปลี่ยนไปเป็นมินิบัส 20 ที่นั่ง ซึ่งเรื่องนี้มี ม. มหิดล ศาลายาเริ่มทำแล้วที่เปลี่ยนรถเป็นมินิบัส เราก็กำลังจะทำ ตอนนี้ก็นัดเข้าไปคุยกับทางกรมขนส่งฯ เพื่อจะให้ทำแล้วเป็นต้นแบบ ในระยะยาวนั้นประเทศไทยต้องเปลี่ยน รถตู้ต้องถือเป็นรถชั่วคราว ระยะยาวต้องเป็นมินิบัสแต่ตอนนี้ยังเปลี่ยนไม่ได้ก็ต้องทำอย่างไรให้รถตู้ปลอดภัยที่สุด 1. ขับความเร็วไม่เกิน 100 กม. / ชม. 2. คาดเข็มขัดนิรภัย 3. ถ้าคนขับขับเร็วต้องมีระบบการแจ้ง การเตือน อันนี้คือระบบของ มธ.   การนำรูปแบบนี้ไปทดลองทำในพื้นที่อื่น ประเด็นสำคัญที่สุดที่อยากบอก คือทั้งหมดที่สำเร็จออกมาได้นี้คือการลงมือทำ เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกอย่าง ตัวอย่างเช่น ของที่ขายเอาเปรียบผู้บริโภคจะขายไม่ได้เลยถ้าเราไม่ซื้อ แต่น่าเสียดายที่ผู้บริโภคไม่ตะหนักในอำนาจของเรา เรามัวรอรัฐบาลก็เลยเป็นแบบนี้ ดังนั้นเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มากที่ท่านได้มาทำเรื่องนี้ หัวใจของ มธ. ก็คือการลงมือทำเลยและผมเชื่อมั่นว่าทุกท่านสามารถทำได้เช่นกัน เริ่มต้นจากสิ่งที่ทำได้ก่อน ในจังหวัดของท่านดูว่าเริ่มต้นอย่างไร เริ่มจากมหาวิทยาลัยก็ดี คณะกรรมการขนส่งฯ จังหวัดก็ดี เริ่มต้นทดลองดูว่ารถตู้ในพื้นที่ทำอย่างไร เอาแค่ 3 เรื่องนี้พอ เข็มขัดนิรภัย การจำกัดความเร็ว และเบอร์โทร อันหลังนี้ง่ายสุดเลย เรื่องเข็มขัดนิรภัยก็มีกฎหมายบังคับใช้แล้วแต่จะทำอย่างไรให้คาด  การจำกัดความเร็วนั้นต้องมีอุปกรณ์ก็จะยากหน่อย   ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการรถตู้ คุณสรวีย์  พลตาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส ดับบลิว พี ออโต้เซอร์วิส จำกัด             ความเป็นมาของรถตู้ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต เกิดจากการที่ นักศึกษาต้องใช้บริการจำนวนมากในการเดินทางเข้ามาศึกษาใน มธ. เริ่มแรกเลยทาง มธ. ให้บริการรถบัสแต่เนื่องจากการเดินทางของ นศ. แต่ละท่านใช้เวลาไม่เหมือนกัน รถบัสแต่ละคันต้องมีผู้โดยสารจำนวนอย่างน้อย 30 คนขึ้นไปรถจึงจะออก ทาง มธ. จึงคิดว่าถ้ามี นศ. มาแล้ว 20 คนก็ต้องมารอคนอีกเพื่อให้รถเต็ม จึงมีรถตู้เข้ามาเพื่อให้บริการ โดยสายแรกคือเส้นทาง มธ. รังสิต – มธ. ท่าพระจันทร์ เส้นทางที่ 2 คือ มธ. รังสิต – อนุสาวรีย์ชัยฯ โดยเกิดเส้นทางนี้เพราะว่าการเดินทางด้วยรถเมล์นั้นไม่ค่อยสะดวก และอีกเส้นทางหนึ่งคือ มธ. รังสิต – ฟิวเจอร์ ปาร์ค รังสิต เนื่องจากไม่มีรถเข้าเมือง น.ศ.ที่จะไปฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต ก็ต้องใช้รถแท็กซี่ซึ่งไม่ค่อยปลอดภัย จึงมีเส้นทางนี้ขึ้นมาเป็นเส้นทางที่ 3             เมื่อเราได้เข้าไปให้บริการใน มธ. รังสิต เส้นทางของเราไม่เหมือนรถตู้ข้างนอก จะสังเกตได้เลยว่า 1. มีสติ๊กเกอร์ติดชัดเจนถึงเส้นทางที่จะวิ่ง 2. คนขับรถทุกคนแต่งกายสุภาพ ใส่ชุดซาฟารี ใส่รองเท้าหุ้มส้น และรถทุกคันของบริษัทจะต้องมีป้ายชื่อเพื่อบอกว่าขณะนี้ท่านนั่งอยู่บนรถสายอะไร เบอร์อะไร ขับโดยใคร ทะเบียนรถอะไร ตรงนี้ทำเพื่อคุ้มครองผู้รับบริการ เผื่อมีคนทำของหายจะได้แจ้งได้เลยว่าลืมไว้บนรถเบอร์อะไร เราเช็คของให้ท่านได้ทันที  ไม่ว่าจะเป็นไอแพด โน้ตบุ๊ค ถ้าอยู่บนรถได้คืน 100 % เพราะของ นศ. มีหายกันทุกวัน             “ของหายมีแค่ 2 กรณีเท่านั้น คือ หายบนรถเจอแน่นอน เพราะพนักงานขับรถทุกคนได้รับการอบรมจากบริษัทและจากทางมหาวิทยาลัย อีกกรณีคือ ทำของหล่นไว้แล้วผู้โดยสารท่านอื่นหยิบไป กรณีนี้ไม่ได้คืนแน่นอน เว้นจากเจอคนจิตใจดีซึ่งก็หายากในสังคมตอนนี้ ซึ่งถ้าใครทำดีเราก็ขึ้นป้ายให้เลย คนดีศรี SWP เคยเจอทองคำหนัก 1 บาทด้วย ผ่านไป 1 สัปดาห์ก็ยังหาเจ้าของไม่ได้ จนต้องไปประสานอาจารย์ให้ช่วยตามหาก็เจอเจ้าของ” บางคนอาจสงสัยพนักงานเป็นคนดีทุกคนเลยหรือ ในจำนวนคนขับรถเกือบร้อยคนนั้น เราจะหาคนคุณภาพทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ ขนาดนิ้วมือเรายังไม่เท่ากันเลย แต่เรามีวิธีของเรา มีขั้นตอนที่จะทำให้คนเกือบร้อยนั้นอยู่ในกฎกติกาให้ได้ กฎก็เหมือนระเบียบราชการเลย 1) ว่ากล่าวตักเตือนก่อน 2) ออกหนังสือเตือน บางคนคิดว่าเขาจะยอมหรือ คือต้องยอมเพราะนี่คือกฎบริษัทและของมหาวิทยาลัย แล้วคุณต้องให้บริการบุคลากรของมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นเราต้องมีกฎของเราเหมือนกัน สำหรับเรื่องร้องเรียน เพราะ น.ศ.จำนวนมากมาย เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีเรื่องร้องเรียน ส่วนใหญ่คือพูดจาไม่สุภาพ วิธีแก้คือเรียกมาอบรมว่าพูดอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ต้องพูด พูดให้น้อยที่สุด เพราะลักษณะการพูดของแต่ละคนแตกต่างกัน ในรถตู้ของเรามีป้ายแล้ว และรถทุกคันของบริษัทได้ติดระบบ GPS ทุกคัน มีระบบควบคุม GPS สามารถบอกได้เลยว่ารถคันนี้อยู่ตรงจุดไหน ใช้ความเร็วที่เท่าไร เปิดประตูหรือเปล่า ล็อคหรือยัง ซึ่งการลงทุนตรงนี้เราต้องทำเพื่อรองรับบุคลากร นศ. ที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป ซึ่งในห้องผู้โดยสารจะมีกล่องอยู่เพื่อทำหน้าที่เวลาความเร็วเกิน 100 กม. / ชม. จะมีเสียงออดดังขึ้น คนขับก็จะต้องชะลอความเร็วลงมาแล้ว ตรงนี้เพื่อกระตุ้นคนขับรถ และลดความเสี่ยงบนท้องถนน การขับช้าย่อมปลอดภัยกว่า ซึ่งการเกิดระบบทั้งหมดนี้มาจากคดีแพรวา คดีแพรวาเป็นโค้ดเรียกของที่นี่ ทุกคนคงจำได้ เมื่อก่อนนี้รถตู้ทั่วไปไม่ว่าข้างนอกหรือข้างในมหาวิทยาลัย ไม่มีเข็มขัดนิรภัยเลย พอเกิดคดีแพรวาขึ้นทางบริษัทร่วมกับทางมหาวิทยาลัยหารือกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการสูญเสียแบบนี้อีก ทาง มธ. ก็ปรึกษากันว่าให้ติดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งจะเป็นไปได้ไหม ซึ่งทางบริษัทคิดว่าการลงทุนตรงนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารเราก็ยอม พอติดเข็มขัดแล้วทาง มธ. ก็เรียกไปหารือว่าแค่นี้ยังไม่พอเพราะว่าคนขับยังขับเร็วอยู่ อยากให้ติด GPS ด้วย ซึ่งมันต้องติดโปรแกรมควบคุมระบบด้วย ตอนนั้นรับเรื่องมาเพื่อเช็คราคาอยู่ที่ 13,500 บาท แล้วรถมีตั้งเกือบร้อยคัน บริษัทลงทุนไม่ไหว จึงเรียกคนขับทุกคนมาคุยว่าจะทำอะไรคืนให้สังคมได้บ้าง ก็ตกลงกันได้ว่าคนละครึ่งทาง บริษัทออกคนละครึ่งกับพนักงาน ซึ่งเป็นภาระที่หนักมาก ตอนนั้นบริษัทก็ต้องกู้เงินมาลงทุน “แต่เราก็ทำตรงนี้เพื่อจะได้เป็นบริษัทต้นแบบ และสามารถดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารได้ ทางบริษัทก็ยินดี” ซึ่งความคิดนี้เป็นความคิดของทางมหาวิทยาลัย แต่ทางบริษัทรับมาทำ ติดเข็มขัดนิรภัยทุกคันทุกที่นั่ง พูดได้เลยว่าเป็นเจ้าแรกที่มีการติดระบบ GPS ควบคุมความเร็ว มีกล่องออดดังเมื่อความเร็วเกิน รถทุกคันมีห้องควบคุมโดยระบบ GPS ทั้งหมด ทุกสิ่งนี้คือสิ่งที่บริษัททำเพื่อ สังคมทั้งหมด  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 ลุงบัวพันธ์ บุญอาจ ปราชญ์ชาวบ้านแห่งเมืองหนองบัวลำภู

คุณลุงบัวพันธ์ บุญอาจ  ปราชญ์ชาวบ้านแห่งเมืองหนองบัวลำภู หรือพ่อบัวพันธ์ที่ชาวบ้านเรียก  ที่แม้ปีนี้อายุจะย่างเข้าสู่ปี  70   แต่แกก็เดินก้าวฉับๆ นำพวกเราชมสวนที่มีพื้นที่กว้างกว่า  60 ไร่  ดวงตาฉายแววถึงความภาคภูมิใจ พร้อมกับบอกเล่าถึงความเป็นมาของที่ดิน จากจุดเริ่มต้น จนมาถึงวันนี้ กว่า 40 ปีแล้ว ที่พ่อนำความรู้ด้านการเกษตรระดับมหาวิทยาลัย(ทั้งที่พ่อจบแค่ ม.3) ถ่ายทอดออกมาให้ฟังง่ายแบบชาวบ้านๆ เพื่อเป็นความรู้ให้แก่ผู้คนมากมายนับไม่ถ้วน “อันดับแรกแนะนำก่อนที่นี่ชาวบ้านเรียกศูนย์อบรม เพราะเป็นที่ให้ความรู้กับคนทั่วไป สิ่งที่เราทำเรายึดหลักตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนำมาใช้ควบคู่กับหลักทฤษฎีใหม่ เพราะฉะนั้นมันจะเกี่ยวข้องแบบคละๆ กัน ตัวชี้วัดเศรษฐกิจพอเพียงตัวแรกคือ ชี้วัดการกิน สอง ชี้วัดการใช้สอย  สาม ชี้วัดการอยู่ สุดท้ายชี้วัดการร่วมมือ เราเอาตัวชี้วัด 4 ตัวนี้มาทำ การทำคือทำตั้งแต่เรื่องของป่า เรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องของคน ทำควบคู่กันไป ต้นไม้ที่เราปลูกเราไม่ได้เน้นว่าดี ไม่ดี แต่เน้นว่าปลูกแล้วนำมาทำอาหารได้ไหม กินได้ไหม กินเป็นอาหารไม่ได้ก็กินเป็นยาได้ไหม ภูมิทัศน์ในนี้จึงเต็มไปด้วยของกิน ของที่ทำเป็นยาได้เป็นอันดับแรก และที่นี่ก็มีบ้านพักคนมีไฟ ชั้นล่างจะเป็นฐานเรียนรู้ เรียกว่า “ ฐานคนมีไฟ ” คนมีไฟ คือการเรียนรู้เรื่องของพลังงานทดแทน เรื่องสบู่ดำ มะเยากู้ชาติ (คนอีสานเรียกสบู่ดำว่า มะเยา คนเหนือ เรียก ละหุ่งฮั้ว โคราชเรียก สีหลอด คนใต้เรียกหงเทศ) ขี้วัว ขี้ไก่ เศษใบไม้แทนที่จะเผาทิ้ง เราก็มาผสมกันหมักทำปุ๋ยอินทรีย์แล้วก็นำไปใช้ได้ดีเลย แต่ที่นี่ไม่ได้เอาหลักวิชาการมาใช้เท่าไร เพราะถ้าใช้หลักการให้ทำตามอย่างนั้น อย่างนี้ ชาวบ้านจะไม่เข้าใจ ต้องแปลง่ายๆ ถ้าเราพูดถึงจุลินทรีย์ที่เราเอาเชื้อมาใช้ในการหมัก บอกว่าต้องเอา พด.2, พด. 1 (เป็นชื่อสูตรเร่งเชื้อจุลินทรีย์ของกรัมพัฒนาที่ดิน) นะ เขาก็จะจำไม่ได้ แล้วการเดินทางไปกรมพัฒนาที่ดินในตัวจังหวัดก็เสียเงินค่ารถอีก เราก็บอกจุลินทรีย์มีทั่วไปในอากาศ ในน้ำมีหมด แต่เราไม่ทราบว่ามันสายพันธุ์อะไรเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นการหมักพวกนี้ก็ถ้าเราจะหมักพืชสด หมักอะไรในถังข้าวหลังบ้านมีเต็มหมด ที่หมักไว้ระยะเวลาปีกว่าทั้งหมดใช้ได้ดีแล้ว ก็แนะนำชาวบ้านว่า ถ้าคุณมีวัตถุดิบพร้อม เอาไปผสมกากน้ำตาล กากน้ำตาลเป็นของหวาน ซึ่งเป็นอาหารของจุลินทรีย์ พอคุณผสมพืชวัตถุดิบเข้าไปแล้วจะหมักพืชสมุนไพรรสไหน รสจืด รสหวาน รสเมา เบื่ออะไรก็แล้วแต่ เติมน้ำเข้าไปตามอัตราส่วนแล้วคนให้ดี แล้วคุณก็ท่องคาถาเป่าเพี้ยงเรียบร้อย จุลินทรีย์ลงไปแล้ว (หัวเราะ) ปิดฝาเรียบร้อย”   เคยอ่านหนังสือบอกว่าให้เอาดินใต้ต้นไม้ที่อยู่ริมแม่น้ำมาทำหัวเชื้อ ยาก  ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ผมไม่เอา ชาวบ้านเขาไม่ทำหรอก ถามว่ารถเหยียบหมาตายอยู่ในถนน มันย่อยสลายอยู่แล้วเพราะมันมีจุลินทรีย์ในอากาศมันก็ย่อยของมันเอง แต่มันต้องเกิดความชื้น และความร้อน ร้อนชื้นบวกกันสิ่งมีชีวิตถึงจะเกิดแค่นั้นเอง เนื้อที่ตรงนี้  17 ไร่เป็นไผ่รวก ไผ่ตาล ไผ่ไร่ ปลูกปนกับไม้สัก จริงๆ ตอนแรกปลูกไม้สัก แต่การปลูกไม้สักเพื่อใช้เนื้อไม้นี้ใช้เวลาไม่น้อย ถ้าไม่ใช่คนมีเงินจริงๆ การบริหารจัดการป่าจะล้มไปเอง เพราะความอดทนไม่พอ เพราะฉะนั้นต้องปลูกให้ผสมผสาน ก็มีเตาเผาถ่าน ไว้เก็บน้ำส้มควันไม้ แล้วก็มีแปลงผักอินทรีย์ กะหล่ำปลี บร็อกโคลี่ มะเขือเทศมีหมด โดยใช้น้ำจากบ่อ พืชที่อยู่ในที่ดินทั้งหมดนี้ก็ไม่เคยเอาสารเคมีมาใช้เลย ที่ผมปลูกไผ่หลายสายพันธุ์นี้เพราะ ไผ่นั้นถ้าให้คน 100 คน แต่ละคนจะเอาคำตอบเดียวถึงคำถามที่ว่าไผ่มีประโยชน์อะไร หนึ่งร้อยคนนั้นจะได้คำตอบที่เยอะมาก แค่ใบไผ่นี้ก็เอาไปทำปุ๋ยได้แล้ว ดินใต้ร่มไผ่นี่ถ้าเป็นสิบปีขึ้นไปเขาเรียกว่าดินขุยไผ่ รากไผ่ที่แก่แล้วก็จะมีรากใหม่ออกมา มันทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้นเรียกว่า ดินขุยไผ่นี่เป็นดินที่เยี่ยมเลย หน่อไผ่นี่ก็มีแต่คนจะให้ทำหน่อไม้ส้มให้ มีหลักอะไรไหมในเนื้อที่ 1 ไร่ ควรจัดสรรอย่างไร ถ้าใช้เป็นทฤษฎีแนวใหม่ ก็ต้องแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วน ถ้าจะทำการเกษตร พระเจ้าอยู่หัวทรงบอกว่าต้องให้ความสำคัญกับน้ำเป็นอันดับ 1 โดย 30 % ต้องเป็นแหล่งน้ำ ถ้าคนกรุงเทพฯ อยากเริ่มปลูกควรจะเริ่มอย่างไรบ้างโดยมีที่ดิน 1 แปลงเล็กๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บอกว่าให้แบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน ส่วนแรกคือน้ำ 30 % ส่วนที่ 2 คือแหล่งอาหาร 30 % ส่วนที่ 3 ป่าไม้ 30 % ส่วนที่ 4 คือ 10% ที่อยู่อาศัยคอกสัตว์และพืชผักสวนครัว ถ้าใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงมันจะได้หมดเลย ดิน น้ำ ป่าครอบคลุมหมดเลย และถ้าได้ดิน น้ำ ป่า สุดท้ายก็จะได้ความสมดุลทางธรรมชาติ ความร่มรื่นก็จะเกิดขึ้น แถวนี้ก็จะมีผักหวานป่า ปลูกแซมกับไม้พยุง ไม้พยุงนี้กว่าจะใช้ได้ใช้เวลา 30 ปี แล้วลูกหลานจะกินอะไร เพราะฉะนั้นต้องปลูกพืชระยะสั้นไปด้วย อย่างผักหวานป่าเก็บกินได้ตลอด สำหรับบ้านที่แทบไม่มีที่เลยสามารถทำอย่างไรได้บ้าง ใช้หลักนี้แหละ เพียงแค่บังคับเนื้อที่ให้เล็กลงไป ลองนึกถึงพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมีมาตั้งแต่ปี 2517 แต่มีคนทำกี่คนในจำนวน 60 กว่าล้านนี้ ถ้าย่นเข้ามาย่านนี้มีกี่หลังคาเรือน แล้วทำกันกี่คน เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้แตกต่าง พอพูดเรื่องพอเพียงคนไม่ค่อยชอบ ถ้าพูดเรื่องรวยคนจะตาโตขึ้นมาเลย แต่เศรษฐกิจพอเพียงไม่อยากรวย ก็รวย มันรวยโดยอัตโนมัติ นั่นคือ รวยที่ใจ อย่างผักหวานนี่ถ้าอยู่ใต้ต้นตะขบ มันงามมาก ต้นที่ห่างออกไปจะไม่งาม เพราะผักหวานกับต้นตะขบเป็นไม้ที่ให้การเกื้อกูลกันและกัน   เป็นระบบรากและระบบร่ม คือเป็นพืชตระกูลถั่วแล้วรากมันอุ้มน้ำ ผักหวานจะได้น้ำจากรากตะขบอีกทีหนึ่ง สังเกตผักหวานที่กำลังงาม ถ้าตัดต้นตะขบออกนี้ผักหวานแทบจะตายตามเลย เรื่องสมุนไพรชงดื่มต่างๆ น้ำมันมะพร้าวกลั่นเย็น เอาจากก้นครัว เอาจากอะไรต่างๆ มาทำเอง พอเราทำเอง กินของเราเอง เรารู้ว่าปลอดภัยหรือไม่ของเราเอง แต่พอทำแล้วชาวบ้านก็จะถามว่าขายไหม ส่วนใหญ่ยังไม่ทันกลับบ้านก็ถามแล้วว่าขายไหม คือเอาสบาย นั่นคือจุดอ่อน เราไม่ได้พูดถึงเรื่องซื้อขายเลย เราสอนเพื่อให้เอากลับไปทำเองใช้เอง สบู่นี่ก็มีถามขายก้อนละเท่าไร มีหมดทั้งสบู่มะขาม สบู่สูตรน้ำผึ้ง สูตรเปลือกมังคุด สูตรน้ำส้มควันไม้ สูตรถ่านที่ทำจากเตาเผาต่างๆ มีหมด คนที่เข้ามาอบรม 50 คน ต้องได้อะไรอย่างน้อย 2 % เราตั้งเป้าไว้แค่นี้ ไม่ต้องเยอะ บางคนกลับไปบ้านแล้วพาแฟนมาอีก มาบอกให้เราอธิบายให้เขาได้เข้าใจ เพราะพอกลับไปแล้วเขาก็ไม่เข้าใจกัน อธิบายกันไม่เข้าใจ แล้วคุยกันไม่ได้ มาให้พ่ออธิบายให้หน่อย แต่คนเป็นเมียมานี่ดีกว่าผัวนะ ถ้าผัวมากลับไปบอกเมียแล้วเมียไม่สนใจแรงทัดทานจะเยอะกว่า แต่ถ้าเมียมานี้กลับไปบอกผัวไม่สนใจ เมียยังบังคับให้ผัวมาได้นะ (หัวเราะ) มีระบบสั่งการได้อยู่ เรื่องการลดสารเคมีลุงให้คำแนะนำกับชาวบ้านอย่างไรบ้าง บางคนปลูกโดยใช้สารเคมีไว้ขาย ส่วนที่กินเองปลูกไว้ต่างหาก ซึ่งมันไม่แฟร์ สิ่งที่เราจะช่วยได้คือ ทำอย่างไรจะให้ความรู้ชาวบ้าน ผมว่าปัญหานี้พอแก้ได้ ตอนนี้ก็เอามาร่วมเครือข่าย 2 – 3 รายอยู่ สิ่งแรกต้องสร้างศรัทธาให้เขา เพราะเขาไม่เชื่อว่าถ้าไม่ใช้สารเคมีมันจะขายได้ไหม เลยให้เขามาดูของที่นี่ มาดูว่ามันขายได้ไหม ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้สารเคมีเลย แถมต้นทุนยังถูกกว่าอีก เคยมีคนที่มาคุยว่ามีที่จำนวน 14 ไร่ มีการปลูกหมุนเวียนในที่ 14 ไร่นั้น รอบนี้ปลูก 4 ไร่ นอกนั้นปล่อยร้าง แล้วก็ปลูกทีละ 4  ไร่เวียนกัน อย่างนี้มันไม่ได้ นี่มันเวียนแปลงปลูก ถ้าไม่ปลูกพืชหมุนเวียนจะสู้กับโรคแมลงอะไรต่างๆ ไม่ได้ ถ้าซ้ำของเดิมเกิน 3 ครั้งนี่จบ มีนักเรียนมาดูงานบ่อยไหม มีบ้าง มากันเองก็มี ที่ครูบาอาจารย์พามาก็มี แต่ส่วนมากเป็นนักเรียนชั้นประถม คนดูงานก็มีมาบ่อยๆ ตอนหลังนี้ก็มีนิสิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มา 2 รุ่นแล้ว เพราะเขาไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน น.ศ.มีทั้งมาจากฟินแลนด์ จากอัฟริกา ถ้าของกรมป่าไม้พามาก็มีทางลาว พม่า เวียดนาม จีน พวกโซนเอเชียที่มา ที่ อบต. วังทองนี้นอกจากปลูกผักเพื่อรับประทานในท้องถิ่นแล้ว มีการปลูกเพื่อส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน อย่างลาวด้วยไหม มี แต่นั่นคือโครงการของผู้ว่าราชการกับนายอำเภอ แต่ก็ไม่ถึงขนาดเน้นแต่ส่งออกหรอก อันนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ว่ากับนายอำเภอคิดไว้ เพราะแหล่งนี้เป็นแหล่งที่ปลูกผักอยู่แล้ว ก็จะพัฒนาให้ได้ GMP แล้วก็ส่งออกไปประเทศลาว ระบบการซื้อขายผลิตภัณฑ์ของที่นี่มีรูปแบบอย่างไรบ้าง ผลิตภัณฑ์ต้องดูว่าเกี่ยวกับอะไร เพราะที่นี่ไม่ได้เน้นการทำเป็นธุรกิจ เน้นการถ่ายทอด ผักที่ปลูกก็ไปคุยกับโรงพยาบาลว่า รพ.รักษาโรคคนไข้ ดูแลเรื่องสุขภาพ แต่ผักที่เอาไปทำให้คนไข้กินมันก็เป็นผักที่มีสารเคมี มันสวนทางกัน ก็เลยเอาอย่างนี้ไหม ผมทำให้ ก็มีกลุ่มช่วยทำเพื่อจะเป็นต้นแบบก่อน ซึ่งก็จะมีหลายอำเภอมาดูงานแล้ว ลูกสาวผมก็มีแผงผักอยู่ในตลาด เป็นผักอินทรีย์ วันไหนไม่มีก็ไม่ไป ทุกวันศุกร์ก็จะมีตลาดสีเขียวในตัวเมือง แต่ของเราไม่สามารถจะมีไปได้ทุกวัน หลักในการบริหารผลผลิต คือ 1) กินให้ได้ก่อน 2) เหลือกินให้เอาไปแจก เหลือแจกให้แลก คนนี้มีไอ้นั้น คนนั้นมีไอ้นี้เอามาแลกกันกิน แล้ว 3) เหลือค่อยพูดถึงเรื่องขาย แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านมักจะพูดว่าจะเอาไปขายที่ไหน ถ้าเอาเรื่องขายเป็นตัวตั้งนั้นยาก อีกอย่างปัญหาชาวบ้านคือไม่มีเงินลงทุน ตลาดกับเงินลงทุนนี้เป็นปัญหา ถ้าผ่านสองอย่างนี้ได้ชาวบ้านเขาก็ทำ เอาเงินมาให้เขา พอเงินทุนหมดเขาก็หยุดทำ ถ้าทำเพราะเงินนั้นมันไม่ยั่งยืนอยู่แล้ว แต่ถ้าทำด้วยศรัทธาที่มาจากใจนั้นยั่งยืน ทุกวันนี้ก็เอาผักไปให้โรงครัวทำให้คนไข้ในโรงพยาบาล( รพ.นากลาง )กินทุกวัน เรามีสมาชิกในกลุ่ม 20 กว่าคนช่วยกันทำทุกวัน ก็จะเอามารวมกัน ใครมีอะไรก็เอามา แต่การไปส่งนั้นเวียนกันไป ราคาก็มีการตกลงเป็นกลางไว้เลย  ไม่มีขึ้นมีลง ถ้าช่วงผักราคา(ตลาด)ขึ้นก็ถือว่าเกษตรกรเสียหายนิดหน่อย แต่ถ้าผักราคา(ตลาด)ลงโรงพยาบาลก็อาจขาดทุน แต่ถ้าถามว่าคุ้มไหม มองในด้านธุรกิจไม่คุ้ม แต่เราทำเพื่อคนป่วย เราส่งวันต่อวันทุกวัน ทำให้คนป่วยได้มีอาหารที่ดีกิน   นายบัวพันธ์ บุญอาจ อายุ 70 ปี  ตำบลด่านช้าง  อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ลุงบัวพันธ์ ได้เริ่มทำการเกษตรบนที่ดิน 62  ไร่ มากว่า 40 ปี โดยในตอนนั้นยังไม่มีหน่วยงานใดๆ เข้ามาสนับสนุนเรื่องเกษตรผสมผสานหรือเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง แต่ลุงก็สนใจและทดลองทำตามแบบที่ตนเองคิดว่า น่าจะดี ด้วยความใฝ่รู้และสนใจศึกษาทดลองอย่างจริงจัง ทำให้ในที่สุดลุงได้เปลี่ยนพื้นที่แปลงนากว่า 60 ไร่ มาปลูกป่า  ปลูกผัก  ปลูกไม้ผล ทำบ่อเลี้ยงปลา  ฯลฯ ซึ่งในระยะเริ่มต้น การลองผิดลองถูกเช่นนี้เป็นเหตุให้ชาวบ้านทั่วไปมองว่า ลุงเป็นคนบ้า แต่ในที่สุดเมื่อสิ่งที่ลงทุนลงแรงไป ได้ก่อดอกผลอันน่าชื่นใจ ทุกคนก็ตระหนักและเริ่มเข้าใจหลักการเกษตรผสมผสานของลุง และในปี พ.ศ. 2550 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการคัดเลือกแต่งตั้งให้ลุงได้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน นอกจากนี้ลุงบัวพันธ์ยังได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการเกษตร จากอีกหลายสถาบันการศึกษา  ในทุกๆ ปี ทางกระทรวงฯ ยังจัดสรรงบประมาณให้มีการนำเกษตรกร นักเรียน นักศึกษาจากหลากหลายพื้นที่ มาอบรม ศึกษาดูงานในแปลงเกษตรของลุง  ปัจจุบันลุงมีทีมงานที่คอยให้คำแนะนำและคำปรึกษาทั้งหมด 9 คน   ซึ่งภายในพื้นที่ 62 ไร่แห่งนี้ มีทั้งไม้ยืนต้นอย่างต้นสัก พยุง ไม้ผล อย่าง ชมพู่  มะขาม มะปราง  มะพร้าว มะม่วง ตะขบ ตลอดจนพืชผักระยะสั้น เช่น ผักสลัด คะน้า  มะเขือเทศ  ฟักทอง และผักหวานป่าที่ปลูกแซมกับต้นสักและต้นตะขบ  ก่อให้เกิดรายได้ทั้งปี ทั้งยังเป็นแปลงเกษตรที่ปราศจากสารเคมีการเกษตรอีกด้วย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 169 ภก.พันธุ์เทพ เพชรผึ้ง คนแปลกแห่งลุ่มน้ำน่าน

ทุกคนมีสิทธิฉบับนี้เป็นคนในแวดวงสาธารณสุข(อีกแล้ว) แต่ทีมงานมั่นใจว่า อ่านไปทุกๆ ท่านจะชอบในแนวคิดแบบขวานผ่าซาก และเห็นด้วยว่าเขากล้าหาญ ทั้งๆ ที่หลายคนอาจจะมองว่าเพี้ยน  ภก.พันธุ์เทพ  เพชรผึ้ง  หรือหมอก้อง  ที่คนในอำเภอเวียงสา  จังหวัดน่านเรียกเขาอย่างคุ้นเคย หมอ(ยา)ก้อง เล่าให้ฟังว่า เขาเป็นคนกรุงเทพ ช่วงปิดเทอมใหญ่ของ ม.ต้น เขาได้มีโอกาสไปอยู่กับย่าที่ จ.นครสวรรค์ เลยติดใจบรรยากาศต่างจังหวัด เพราะเป็นคนไม่ชอบความวุ่นวายในเมืองหลวง ในที่สุดเลยย้ายมาเรียนมัธยมปลายที่นครสวรรค์  ชีวิตตอน ม.6 อยากเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์  และได้มีโอกาสสอบโควต้า แต่เหมือนโชคชะตาไม่เอื้ออำนวยทำให้วันที่ต้องสอบสัมภาษณ์นั้นไม่สบายจนต้องขาดสอบ จากนั้นเลยมุ่งมั่นที่จะสอบเอ็นทรานซ์ “ตอนแรกไม่ได้คิดจะสอบตรงเข้า มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) คิดว่าจะเอนฯ แต่มีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่าเขาจะไปสอบ มช. เพราะว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่สอบพร้อมมหาวิทยาลัยนเรศวร แล้วเพื่อนคนนั้นเขาอยากไปอยู่เชียงใหม่ แต่จริงๆ คือเขาสอบไม่ติดนั้นแหละ เขาก็เสียดายใบสมัครด้วย แล้วเราก็ซื้อใบสมัครไม่ทันเขาก็ขายใบสมัครให้เรา แล้วก็สอบได้ ไม่ได้ไปติวไปอะไรนะแต่ก็อ่านหนังสือมาหนักมากแล้ว พอรู้ว่ามีที่เรียนแล้วแต่ยังไม่ได้ไปรายงานตัว เพราะยังไม่มีทรานสคริปต์ ตอนอยู่กรุงเทพฯ ก็เริ่มไปดูมหาวิทยาลัยที่เราไปสอบ ปรากฏว่ารถมันติดมาก นั่งรถจากบ้านไปธรรมศาสตร์ก็ประมาณ 2 ชั่วโมง ไปเกษตรฯ ก็ประมาณ 1 ชั่วโมง หมายถึงว่าขับจากนครสวรรค์ไป ม.นเรศวร ประมาณชั่วโมงครึ่งมันเท่ากับจากบ้านที่รังสิตไปจุฬาฯ เลย ก็เลยไม่เอาแล้วไปเรียนที่ ม.นเรศวรแทน ก็มีเพื่อนที่อยู่แถวๆ บ้านไปเรียนที่ ม.นเรศวรด้วยก็ได้เป็นรูมเมทกัน   แล้วชอบไหมการเรียนเภสัช ก็ไม่ค่อยไปเรียน เกือบไม่จบ คือปกติไม่ใช่คนชอบอ่านหนังสือ แล้ววิชาคำนวณมันก็ต้องท่อง ก็รู้สึกไม่ชอบ พอจบปีหนึ่งก็อยากจะเอนฯ ใหม่ คือพอเข้ามหาวิทยาลัยมันเป็นสังคมที่เราไม่ต้องมีใครมาควบคุม ก็เลยเกเร เพื่อนที่อยู่กลุ่มเดียวกันก็มีไม่จบ โดนรีไทร์บ้าง หมายถึงเพื่อนที่ไปด้วยกันแต่ไปอยู่คณะอื่นนะ เพื่อนเภสัชนี่จบทุกคน ตอนเรียนก็อยู่ท็อป 5 ในด้านเลวร้าย ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ค่อยทำกิจกรรมที่เป็นของวิชาเรียน แต่ถ้าเพื่อนมีกิจกรรมเราก็จะไปเป็นลูกหม้อ ไม่ใช่ตัวตั้งตัวตีอะไรแต่ถ้ามีกิจกรรมก็จะทำ ให้เต้นเราก็เต้น แต่ไม่ได้ไปออกแบบอะไรกับเขา แต่ถ้าเป็นกิจกรรมของวิชาเรียนจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ไม่ค่อยไป แม้แต่แล็ปบางทีก็ไม่เข้า แต่พอหลังๆ ประมาณปีสามก็เริ่มเข้า มีติด ร. หนึ่งวิชา คือเพื่อนของพ่อเป็นอธิการฯ พ่อก็ฝากฝังลูกไว้เพราะกลัวจะเรียนไม่จบ อธิการก็เลยเรียกไปอบรมพร้อมคณบดี เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต พ่อเล่าให้ฟังว่าอธิการบดีเรียกคณบดีเข้าไปต่อว่า ว่าทำไมไม่ดูแลเด็กให้ดี ซึ่งคณบดีตอนนี้เป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา หลังจากนั้นก็เลยต้องตั้งใจเข้าไปเรียนหน่อย ไปเข้าเรียน ไปเข้าแล็ป แล้วก็อ่านหนังสือ ฟังดูไม่น่าทำงานเพื่อสังคมได้เลยนะ   แล้วเพื่อสังคมนี่มีตอนไหน สมัยเรียนมีไหม ไม่มีเลย คือออกค่ายนั้น เราเป็นลูกหม้อ พอเขาใช้เราก็ทำ แต่ไม่ได้เป็นอุดมการณ์ขนาดนั้น แต่แรงผลักดันเกิดจากการหมั่นไส้คนมากกว่า คือพอเรียนจบมาก็ทำงาน ที่สาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู ไม่กล้าไปทำงานโรงพยาบาลเพราะเรียนจบมาแบบกระท่อนกระแท่น ก็ไม่แน่ใจว่าโรงพยาบาลนั้นจะรับเราได้ไหม ซึ่งปัจจุบันเขาก็รับเราไม่ได้นะแต่เรามีงานด้านอื่นอยู่ ก็อยู่สาธารณสุขจังหวัดอยู่ประมาณหนึ่งปี ก็พอรู้ข้อจำกัด หรือข้ออ้างของราชการ การคอรัปชั่น เรียนรู้จนทำเป็น ทุกอย่างสามารถคอรัปชั่นได้หมดเพราะขั้นตอนการคอรัปชั่นไม่อยู่ในเอกสาร ในขณะที่ สตง. ตรวจเอกสารเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่ย่ามใจมากเอกสารคุณจะตรงเป๊ะ ยังไงก็ไม่สามารถที่จะจับได้ อย่างสมมติผมมีเงินสักหนึ่งล้าน สงสัยว่าผมมีเงินมาจากไหนก็ต้องไปเล่นกันให้ชี้แจงว่าเอาเงินมาจากไหน ซึ่งถ้าเกิดว่าฟอกเงินได้ก็จะอธิบายได้ คือแรงผลักดันจริงๆ นั้นเราไปเห็นที่ๆ เขาทำอะไรให้คนกิน ทุกอย่างเลยพอเราเห็นสถานที่เพราะเราเข้าไปบ่อย อยู่ สสจ. ก็มีโอกาสไปต่างจังหวัด ประชุมต่างจังหวัดบางทีเขาก็พาไปดูสถานที่ของจังหวัดอื่น เราก็จะเห็นว่าแพ็คเกจดีบางทีมันมาจากใต้ถุนบ้านบ้าง ทำในห้องส้วมบ้าง ทำริมถนนเลยก็มี เราก็เห็นว่าอะลุ้มอล่วย ไม่ได้มีการแก้ปัญหาตรงนี้ คือเราเป็นคนท้องเสียง่ายด้วย จะกินอะไรค่อนข้างระมัดระวัง อยู่ที่เวียงสานี่เคยนอนโรงพยาบาล 3 รอบ เป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเวียงสาแต่นอนโรงพยายาบาลเวียงสา 3 รอบ เป็นโรคท้องเสีย ต้องนอนโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือ ก็คือที่นี่มีเงื่อนไขว่าการทำงานที่นี่เราต้องทำงานคุ้มครองผู้บริโภค คือตอนนั้นโรงพยาบาลเวียงสามีเภสัชฯ แค่ 4 คนแล้วหัวหน้าเขาจะย้ายเข้า สสจ. เราก็เห็นความสำคัญของงานคุ้มครองผู้บริโภค ในโรงพยาบาลชุมชนยังไม่ค่อยยอมรับการไปทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เขาจะรู้สึกว่าเขาทำงานแบบบริหาร ก็เลยมีข้อแม้ว่าถ้าเราจะมาทำงานโรงพยาบาลเราต้องรับงานคุ้มครองผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากปกติที่โรงพยาบาลทำอยู่ คือต้องทำเต็มตัว มาตอนนั้นก็เพิ่งจบมาแค่ปีเดียวก็อาจจะยังไม่รู้เรื่องอะไรมาก แต่เนื่องจากเคยอยู่ สสจ. มาก่อน ก็ถือว่ายังรู้มากกว่าคนอื่น ถ้าเป็นเภสัชฯ คนอื่นไม่รู้เลย อย่าคิดว่าจะรู้ทุกคนเพราะมันเป็นงานเฉพาะมาก งานกฎหมายจะไม่มีใครรู้เลย เราก็ทำไปเรียนรู้ไป เพราะไอ้ที่รู้ก็ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด   งานคุ้มครองผู้บริโภคที่เวียงสามีด้านใดบ้าง ก็มีตรวจร้านชำ ตรวจโรงงานน้ำดื่ม ตรวจคลินิก คือจริงๆ จะมีแบบตรวจมาให้อยู่แล้วว่าต้องตรวจอะไรบ้าง ยาก็ตรวจ ส่วนหนึ่งคือเราไปเจอเรื่องยาที่มีเกือบทุกที่เลยนะที่ไม่ตรงตามมาตรฐาน ตรวจร้านยา ขย 2. ด้วย ขย 2. คือร้านขายยาที่ไม่มีเภสัชฯ แล้วก็ตั้งแต่สมัยไปเรียนจนถึงทำงานใหม่ๆ จนมาถึงปัจจุบันนี้ อย่างหนึ่งของเภสัชฯ ที่ค่อนข้างจะเป็นประเด็นมากคือเภสัชฯ ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ คือหนึ่งเรื่องจริยธรรม สองความปลอดภัยของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาโดยเภสัชกร เขาก็จะมีคำถามที่ปักหลังเภสัชกรอยู่ตลอด แต่เราก็มาอยู่สาธารณสุขจังหวัดที่เดิม เราก็คุ้นกับสภาพที่เภสัชฯ ขายป้าย คือเอาใบเภสัช ตัวเองไปไว้ แต่ว่าที่ สสจ. นั้นก็มีคนทำ ลักษณะอีกอย่าง คือว่าคนทั่วไปเปิดแล้วเอาป้ายไปไว้แล้วก็รับเงิน มีตั้งแต่ 5,000 จนถึง 10,000 บาทหรืออาจจะเยอะกว่านั้น แต่ถ้าเป็นที่ สสจ. นั้นเราจะเห็นว่าเภสัชฯ นั้นเป็นร้านของเราเอง ก็ไปอยู่บ้าน กลางวันก็ให้คนอื่นไปอยู่ พอมาอยู่นี่ก็รู้สึกคับข้องใจว่า สาธารณสุขจังหวัดนั้นได้มีใบนี้ไปอยู่ที่ร้านคนอื่น เนื่องจากว่าตอนนั้นสาธารณสุขจังหวัดกำลังตีความเรื่องป้ายประกาศ ก็จะมีร้านที่ ขย 1 . ซึ่งไม่ได้มีเภสัชฯ เป็นเจ้าของจะต้องปิดร้าน เพราะฉะนั้นสาธารณสุขจังหวัดรวมทั้งที่จังหวัดน่านก็จะให้มีคนเข้าไปที่ร้านเพื่อให้ร้านนั้นเปิดอยู่ได้ เราก็รู้สึกว่าคือเรื่องที่มันผิดนั้นเราจัดการมันไม่ได้ยังไม่เป็นปัญหาเท่ากับเราไปยอมรับว่าเรื่องที่ผิดมันถูก ก็เริ่มที่จะรับไม่ค่อยได้ คือเราก็ไม่ใช่คนที่ทำอะไรถูกต้องทุกอย่างแต่ว่าอะไรที่มันผิดนั้นมีการยอมรับว่ามันถูกต้องก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจ จากนั้นก็เลยเหมือนก่อขึ้นมา และอีกฝ่ายที่เขาเป็นฝ่ายน้ำดีของเภสัชฯ  กับอีกฝั่งที่เขาเป็นวิชาชีพอื่นเราเอากฎหมายไปบังคับใช้เขา เวลาเราไปตรวจคลินิกพยาบาลเขาก็จะมีคำถามกลับมาตลอดว่าแล้วเภสัชฯ ที่ไม่มีอยู่ที่ร้านไม่เห็นทำอะไรเขาเลย แต่เราไปคร่ำเคร่งกับพยาบาลกับหมอ เขาก็ถามว่าเพื่ออะไร มันจึงเป็นคำถามที่แทงใจ เวลาไปตรวจคลินิกหมอ แบบตรวจมีตั้ง 3-4 หน้า เขาก็จะถามว่าอะไรหนักหนา ถังดับเพลิงก็ต้องมีเหรอ ประมาณนี้ ซึ่งเราก็ตอบไม่ได้ อาจจะเป็นเพราะเรายังไม่อินว่ามันคืออะไร แต่คำถามที่หนักๆ คือเขาถามย้อนทันทีทุกครั้งที่ไปตรวจว่า “ทีร้านเภสัชฯ ที่ไม่มีเภสัชฯ ล่ะจะมาจ้ำจี้จ้ำไชเขาทำไม” เราก็จะหน้าแห้งเลย ก็ไม่ได้เป็นอย่างนี้ทุกร้านนะ จะมีพวกร้านที่เขาคงหมั่นไส้เรา อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้น   ความเป็นหมอก้องกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค มาเริ่มตอนปี 2552 ที่ สสจ. อีกแล้ว คือชวนเราไปประชุมกับอาจารย์วรรณา(ผศ.ภญ.ดร.วรรณา  ศรีวิริยานุภาพ )ของ คคส. (แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ) เราก็เป็นลูกหม้อเหมือนเดิม เขาใช้ให้ทำอะไรเราก็ทำ ก็ยังไม่ถึงขั้นตั้งใจมากหรอก ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรคือ คคส. ก็คิดว่าคงคล้ายๆ กับ อย. เวลาประชุมก็ไม่ค่อยได้ตั้งใจฟังหรอก เพราะทีม สสจ. ก็จะมีทีมของเขา เราก็รอเขาสั่งมาอย่างเดียวแล้วเราก็ไม่ได้อยู่ในส่วนที่เสนอความคิดเห็นไปแล้วเขาจะสนใจเท่าไรนัก ก็เลยเป็นนิสัยให้เราไม่ค่อยสนใจเท่าไร แต่ไม่เหมือนตอนนี้นะ(หัวเราะ) เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค เขาก็ให้เราเตรียมพื้นฐานชาวบ้านไว้ เราก็เตรียมๆ  ปรากฎว่าเราเตรียมไว้แล้ว เตรียมจะประชุมแล้ว เราก็ถามว่าจะเริ่มเมื่อไร เขาตอบว่า ไม่ทำแล้ว เราก็อึ้งไปแล้วก็เสียใจ และก็เริ่มไม่พอใจ คุณให้เราเตรียมไว้เยอะเลยแล้วมาประชุมบอกไม่ทำแล้ว คือถ้าไม่ถามก็ไม่บอกด้วย เขาบอกว่ามันไม่ชัดเจน ให้แก้นู่น แก้นี่ แล้วมันก็ไม่ตรงกับงานเรา ขอซื้อชุดตรวจฟอร์มาลีน ตรวจสารปนเปื้อน ทำไมถึงขอไม่ได้ในเมื่อเราทำงาน สสจ. คือโครงการที่ สสจ. ส่งไปมันเป็นเมล์กลุ่มซึ่งเราก็ไม่ได้เปิดอ่าน ตอนที่บอกให้เราเตรียมเราก็เตรียม ไปคุยกับชาวบ้านไว้แล้วด้วย ชาวบ้านก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอก ก็คิดว่าเป็นการประชุมๆ กัน ส่วนใหญ่ก็เป็น อสม. มีกิจกรรมอะไรเขาก็จะมาทำกัน ก็เลยเอาโครงการนั้นมาปัดๆ แล้วก็ส่งไปว่าเราจะทำเองก็ได้ ก็คือเอาโครงการ สสจ. มาแก้นิดๆ หน่อยๆ แล้วส่งกลับไป เขาก็แก้กลับมาแดงไปหมดเลย ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่ค่อยเข้าใจเลยตอนนั้น ก็ปรึกษารุ่นพี่เภสัชที่เรานับถือซึ่งทำงานกับทาง คคส. เราถามทีละข้อเลยมันคืออะไร พี่เขาก็ปรับวิธีคิดเรา แต่เราไม่เข้าใจนะวิธีคิดของพี่เขาตอนนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องการให้ทุนของ สสส. มากกว่า ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าทำอย่างไรให้เอกสารมันผ่านมากกว่า แต่มันมีข้อดีที่ว่า สสส. เขามีวิธีคิดของเขาที่มันจะดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่มันดีกว่าระบบราชการ คืออันนี้มันไปอยู่สำนักที่ค่อนข้างเฮี้ยบเรื่องของการใช้เงิน เราก็พยายามทำให้มันผ่าน หลังๆ ก็งงว่ามันไม่ต้องส่งหลักฐาน ตอนอยู่ สสจ. ใช้ชีวิตอยู่กับการเคลียร์บิล ทำหลักฐานเพื่อเคลียร์บิล พอมันอยู่ในมือเรามันเอื้อในการใช้เงินอย่างตรงไปตรงมา ไม่เหมือนระบบข้าราชการ ก็รู้สึกว่าใช้เงินได้อย่างปลอดโปร่ง ส่วนในแง่ของการทำงาน เราก็ไม่ได้มุ่งไปที่ผลิตภัณฑ์แล้ว เขาให้ทำเครือข่าย ก็ตามรุ่นพี่เป๊ะๆ เลย โดยที่เราก็ไม่ได้หวังผลว่ามันจะออกมาเป็นเหมือนเขา แต่ใช้วิธีการเขาไปก่อน ต้องสรุปประชุมอย่างไร เวลาสรุปประชุมเราก็เหมือนกับสอนว่าเราต้องได้ข้อมูลอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นประชุมครั้งต่อไปนั้นเราต้องปรับแล้วว่าทำอย่างไรถึงจะได้ข้อมูลอย่างนี้มา ก็เริ่มเปลี่ยนรูปแบบการทำงานออกไป ปัจจุบันก็อาจจะเห็นประเด็นมากขึ้นแต่รูปแบบเดิมก็อาจจะยังมีอยู่   เปลี่ยนไปเยอะมากไหมการทำงาน พอรูปแบบมันมาก็จะเป็นรูปแบบของเครือข่าย จะมีมุมมองจากชาวบ้านเข้ามา อีกส่วนหนึ่งก็คือการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยค่อนข้างอ่อน พอเราทำงานกับชาวบ้าน ชาวบ้านจะเริ่มพูดกับเราง่ายขึ้น พอง่ายขึ้นเขาก็จะเริ่มถามอะไรที่ไม่ต้องเกรงใจแล้ว เหมือนที่พยาบาลเคยถามว่าเราดูแลเภสัชฯ อย่างไร พวกนี้ทำไมไม่โดนจับ ทำไมแบบนี้ถึงขายได้ ประมาณนี้ ก็แทงใจเราอีกแล้ว เราก็รู้สึกว่าพอเรามาถึงจุดๆ หนึ่งเราต้องเลือกแล้ว ถ้าเราไม่ทำอะไรที่เป็นการแก้ปัญหา เช่น การบังคับใช้กฎหมาย หรืออะไรที่พอจะทำได้นั้น เราก็ควรจะเลิกทำงานกับชาวบ้านดีกว่า เพราะเราก็เหมือนไม่ได้ทำ คือถ้าเราจะทำต่อแล้วเราไม่ทำเรื่องนี้ก็เหมือนกับไม่มีหน้าไปหาเขา เราทำงานกับชาวบ้านที่ส่วนหนึ่งก็เป็น อสม. แล้วเราก็จะผ่านสถานีอนามัยเพราะเราไม่สามารถถึงชาวบ้านได้เอง ก็จะผ่านสถานีอนามัย คือเรื่องที่เป็นประเด็นกฎหมายถ้าเราไม่ทำเราก็จะตอบคำถามชาวบ้านไม่ได้ นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำอย่างไรที่คนผิดถูกดำเนินคดีทางกฎหมายได้ หรือถ้ามีอะไรที่มันเข้าโอกาสที่เราทำได้มากที่สุดเราก็จะทำ จากแต่ก่อนที่เราก็จะร้องไปที่ สสจ. อย่างเดียวเลย แต่ สสจ. ก็จะให้ไปเคลียร์ แต่ไม่ได้ดำเนินคดีทางกฎหมาย ทำให้เป็นที่กังขาของชาวบ้าน เรียกว่าเป็นแรงผลักดันเพราะเราก็มีอำนาจหน้าที่ที่สามารถทำได้   มีเคสไหนที่ประทับใจหรือรู้สึกสนุกๆ ไหม ก็ทุกเรื่อง มันมีแปลกๆ เยอะ แต่ว่าจริงๆ จุดเสี่ยงก็เป็นกรณีที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล คือ  อันอื่นเขาจะปรับตามเราหมดเวลาที่เราไปให้คำแนะนำ มีเคสนี้ที่บอกว่าไม่ได้ทำอะไรผิด  เป็นเคสขายตรง เราไปจับเขาในข้อหาที่ว่าด้วยเรื่องการรักษา แต่เขาเถียงว่าเขาไม่ได้ทำการรักษา เขาก็อธิบายว่าเขาไม่ได้รักษากระบวนการไม่เล่าก็แล้วกัน  เขาก็สู้คดี  เราคิดว่าเขาจะไม่สู้ ถ้าเราไม่มั่นใจเราจะไม่จับ เขาสู้ในคดีที่เขาไม่มีทางชนะ เหมือนกับเราเข้าเส้นชัยไปแล้ว เธอจะมาแข่งกับชั้นได้ยังไง สุดท้ายเขาก็รับสารภาพ ฝากอะไรกับฉลาดซื้อบ้างไหม อยากให้ทดสอบตัวอาหารสุนัข ถามว่าอยากรู้ไหมก็อยากรู้นะ คือถ้าถามว่าตอนนี้มีไรน่าเทสต์บ้าง เรื่องสารเคมีก็อยากรู้ที่สุด แต่คิดว่าน่าจะทำยากนะพวกสารเคมีในดิน ยาฆ่าหญ้า เพราะไม่มีแล็ปในประเทศไทย อันนี้เคยโทรถามที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์  แม้แต่ที่กรมทรัพยากรธรณีก็บอกว่าไม่รู้จัก ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าไม่มีหรือเขาไม่บอกเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 “สถานการณ์ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด”

ผศ.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  และเป็นรองประธานกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ( และผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ )   ซึ่งหน่วยงานนี้คือ สิ่งที่คนนอกรู้จักแบบง่าย ๆ ว่าเป็นองค์กรภาคจำลองที่ภาคประชาชนตั้งขึ้นเพื่อเป็นโมเดล  นอกจากอาจารย์จะช่วยผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว  สาเหตุที่อาจารย์สนใจเรื่องผู้บริโภคนั้นท่านเล่าว่า  “ในประเทศไทยทุกคนเป็นผู้บริโภค บางคนก็อยู่ใน 2 สถานะ คือเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจ คืออาจะเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการสร้างคอนโค อาคารชุด แต่คุณก็เป็นผู้บริโภคในการซื้อของในห้างสรรพสินค้า เลยทำให้คิดว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว เราก็ต้องมาดูว่าสิ่งที่ใกล้ตัวเราต้องระวังอะไรบ้าง ต้องป้องกันหรือแก้ไขอะไรบ้าง” นอกจากนี้ท่านยังมีความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ พ.ร.บ.ผู้บริโภค กฎหมายที่เดิมวาดฝันเอาไว้ว่าจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการทำงานของผู้บริโภค  เป็นเสมือนความหวังให้ผู้บริโภคใช้สิทธิได้อย่างง่ายดายนั้น   วันนี้มีสถานการณ์เป็นอย่างไร สถานการณ์เกี่ยวกับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ต้องบอกก่อนว่าสาเหตุที่ออกกฎหมายเพื่อให้ผู้บริโภคได้มีคุณภาพชีวิตในเรื่องของการใช้ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอุปโภค บริโภค หรือว่าทุกๆ สิ่ง ที่จะสามารถเท่าทันกับผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ได้หมายความว่าต้องไปแข่งกันนะ เท่าทันคือรู้ว่าอะไรควรจะมีให้ผู้บริโภค เมื่ออดีตมันออกมาแล้วเหมือนคนตัวใหญ่กับคนตัวเล็ก ซึ่งเวลามีปัญหาขึ้นมานั้นคนตัวเล็กก็ต้องแพ้ ด้วยเหตุนี้ก็จำเป็นต้องมี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคขึ้นมา จุดประสงค์หลักก็คือ ทำให้มีการดำเนินคดีในศาลร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภคในการทำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งในอดีตเวลามีคดีขึ้นสู่ศาล ผู้บริโภคจะแพ้เกือบ 100 % เลยต้องมีกฎหมายตัวนี้ แต่พอกฎหมายฉบับนี้ออกเมื่อปี 2551 แต่สภาพบังคับหรือวิธีปฏิบัติ การใช้จริงๆ จะเกิดประโยชน์มากน้อยขนาดไหน ต้องบอกว่าหลังจากมี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคหลังปี 2551 คดีผู้บริโภคนำขึ้นสู่ศาลนั้นเยอะกว่าตอนที่ยังไม่มีกฎหมาย ถ้าถามว่าทำไมมีกฎหมายแล้วยังมีการนำคดีขึ้นสู่ศาลในคดีผู้บริโภคมากกว่าเดิม ต้องมาดูว่าการบังคับใช้กฎหมายทำให้เกิดการบังคับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายจริงหรือไม่ จริงหรือไม่ที่ออกมาแล้วเกิดการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องบอกเลยว่าในความเป็นจริงแล้วนั้นมันก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติไม่ได้ 100 % บางอย่างก็ปฏิบัติได้ บางอย่างก็ไม่ได้ แต่ทั้งนี้นั้นกรณีหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้ให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค เมื่อไม่ให้ความสำคัญ จะมีหรือไม่มีเขาก็ปฏิบัติตามที่เขาต้องการที่จะทำ ก็เลยทำให้การบังคับใช้กฎหมายมันไม่เกิดประโยชน์ การที่ผู้ประกอบการใช้ช่องว่างในการฟ้องร้อง อยากให้ อ.ยกตัวอย่าง ก็มี อย่างแรกเลยกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคนั้น ใช้ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจอยู่ภายใต้กฎหมายนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าผู้บริโภคเห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจเอาเปรียบ เราก็ใช้สิทธิฟ้องได้ แต่ถ้าเกิดผู้ประกอบธุรกิจเห็นว่าผู้บริโภคเริ่มผิดนัดในเรื่องมูลหนี้อื่นๆ นั้น ผู้ประกอบธุรกิจก็ฟ้องผู้บริโภคได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นไม่ได้จำกัดว่าผู้บริโภคที่ใช้กฎหมายฉบับนี้ได้ฝ่ายเดียว ผู้ประกอบธุรกิจก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน อันนี้คือจุดเริ่มต้น ส่วนกระบวนการพิจารณาก็ต้องไปว่ากันอีกว่ามันมีตัวช่วยอะไรบ้าง แต่ทั้งนี้ถ้าถามว่าที่ผ่านมานั้นคดีที่ขึ้นสู่ศาลเกือบ 70 % เป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจฟ้องร้องผู้บริโภค เลยอาศัย พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนในการที่จะฟ้องคดี ก็กลายเป็นว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายเริ่มบิดเบือนไปจากความเป็นจริง อันนี้คือสภาพปัญหาที่ผู้บริโภคคิดว่ามีหรือไม่มีก็ไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไร สิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคคิดว่าเข้าถึงยากคือเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าจัดการ จริงๆ แล้วพ.ร.บ. นี้ก็ได้ออกแบบว่าผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิได้โดยไม่ต้องจ้างทนายความ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ไม่ต้องเสียค่าส่งหมายศาล หรือค่าใช้จ่ายอะไรต่างๆ นั้นผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายเลย แต่เมื่อฟ้องคดีไปแล้วเวลานำเข้ากระบวนการสืบพยาน ไม่ว่าจะพยานโจทย์ พยานจำเลย ในที่สุดก็ต้องใช้ทนายความ จริงๆ จะมีเจ้าพนักงานคดีผู้บริโภค ในทางความเป็นจริงแล้วเขาก็ไม่สามารถจะช่วยผู้บริโภคได้อย่างเต็มเวลา ฉะนั้นบ่อยครั้งที่เวลาคดีขึ้นไปสู่ศาล ผู้พิพากษาก็จะถามว่าผู้บริโภคมีทนายหรือเปล่า ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องของทางปฏิบัติ ในทางทฤษฎีอาจจะมองไม่เห็น แต่ในทางปฏิบัติเวลาเดินเรื่องไปผู้บริโภคต้องใช้ทนาย อย่างไรก็ต้องใช้ทนาย แม้ว่ากฎหมายจะออกแบบๆ ไม่ต้องใช้ทนายความ ก็ยังต้องใช้อยู่ดี แล้วค่าธรรมเนียม ค่าธรรมเนียมได้รับการยกเว้นอยู่แล้วครับ ไม่ต้องจ่าย ก็คือออกแบบมาอย่างเช่นเพื่อที่จะต้องการส่งหมาย เช่น ผู้บริโภคต้องการที่จะเรียกพยานคนที่ 1 คนที่ 2 มานั้นทางหน่วยงานของรัฐฯ ก็จะมีงบประมาณในเรื่องของการสนับสนุนเรื่องค่าส่งหมายอยู่แล้ว จึงไม่ต้องจ่ายแต่ว่ามันจะมีปัญหาตรงที่สืบพยาน ต้องใช้ทนาย หรือถ้าไม่มีทนายเขาต้องสืบเองซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ผู้บริโภคจะสืบเอง ถ้าอย่างนี้คนที่ไม่มีจริงๆ ต้องทำอย่างไร ถ้าในที่สุดไม่มีความช่วยเหลือเรื่องของตรงนี้จริงๆ ก็ต้องใช้เจ้าพนักงานคดีผู้บริโภคเป็นคนช่วยสืบพยานให้ ซึ่งน้อยครั้งที่พนักงานคดีผู้บริโภคจะว่างมาทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะงานเขาก็เยอะ ทีนี้ก็กลายเป็นว่าเราออกแบบกฎหมายจริงแต่ไม่ได้ออกแบบในเรื่องบุคลากรในการติดตามถึงความสำเร็จในการใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ อย่างนี้จะแก้ไขปัญหาในด้านกฎหมาย มีการเพิ่มเติมกับ พ.ร.บ. นี้อย่างไร จริงๆ คิดว่าสิ่งหนึ่งต้องเข้าใจเวลาพิจารณาคดีในศาลประกอบไปด้วย 3 ฝ่าย คือตัวศาล คือท่านผู้พิพากษาเอง ตัวฝั่งทนายความโจทย์หรือโจทย์คดีผู้บริโภค หรือฝ่ายจำเลย ผู้ประกอบธุรกิจ หรือทนายจำเลย เพราะฉะนั้นที่บอกว่าไม่ต้องจ้างทนายก็ได้ แต่ถ้าจ้างก็ต้องดูอีกว่าศาลมีอำนาจมากน้อยขนาดไหน จริงๆ ศาลมีอำนาจที่จะเรียกพยานหลักฐานที่ได้มาเองโดยไม่ต้องให้ทนายฝ่ายโจทย์หรือจำเลยไปเสาะหามา ซึ่งในทางกฎหมายเราเรียกว่าเป็นระบบไต่สวนแต่กฎหมายอื่นๆ จะเป็นระบบกล่าวหาก็คือต้องฟังอย่างเดียว แต่ถ้าเกิดกฎหมายฉบับนี้ก็คือผู้พิพากษาสามารถที่จะเรียกส่วนที่เกี่ยวข้องมาได้ แต่ในทางปฏิบัติ ณ ปัจจุบันนี้ผู้พิพากษาก็ยังไม่ได้ทำหน้าที่นี้อย่างสมบูรณ์ เลยเกิดการที่เรียกว่าทำให้ในมิติของท่านผู้พิพากษานั้นขาดหายไปในการพิจารณาคดี ตัวอย่างคดีผู้บริโภคที่ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นกำลังใจให้คนที่กำลังรู้สึกว่าเรื่องพวกนี้เข้าถึงยาก คือจริงๆ แล้วกระบวนการพิจารณาคดีในศาล ผมคิดว่านั้นกระบวนการที่สมบูรณ์และมีความสำเร็จและถือว่ามีประโยชน์สูงสุดก็คือ ในระบบของการไกล่เกลี่ยคู่ความก่อนที่จะมีการสืบพยาน ตรงนี้ถือว่าสำคัญมากเพราะทุกอย่างสามารถคุยกันได้ ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย มันไม่ใช่เรื่องฟันแทงกันมา เพราะฉะนั้นผมเข้าใจว่าตรงนี้นั้นช่วงหลังนโยบายของศาลยุติธรรมต่างๆ ก็จะมีนโยบายในเรื่องการไกล่เกลี่ยซึ่งระบบไกล่เกลี่ยนี้ที่ผ่านมาเคยเป็นทนายความบ้าง หรือเป็นธุระให้กับผู้บริโภคบ้าง เคยจบตรงนี้ก็มีหลายกรณี ซึ่งถ้าจบตรงนี้แล้วก็ถือว่าประสบความสำเร็จทั้ง 3 ฝ่าย ฝ่ายโจทย์ จำเลย และศาล แต่ถ้าไม่จบขึ้นมาในขั้นสืบพยาน หลักฐาน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ประมาณ 4 % น้อยมากๆ ส่วนใหญ่จะไกล่เกลี่ยกันได้ แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ผู้ไกล่เกลี่ยด้วยว่าสามารถที่จะคุยให้ทั้ง 2 ฝ่ายรอมชอมกันได้ไหม อยากให้ อ. แนะนำผู้บริโภคเวลามีคดีเกี่ยวกับผู้บริโภค คือผู้บริโภคที่เป็นข้อที่เสียเปรียบเวลานำคดีขึ้นสู่ศาลนั้น พวกหลักฐานต่างๆ นั้นผู้บริโภคจะไม่ค่อยเก็บ เช่น ใบเสร็จรับเงิน หรือว่าแผ่นพับรายละเอียดการโฆษณาต่างๆ หรือในกรณีของทรัพย์สินที่เกี่ยวกับเรื่องความเสียหายของผู้บริโภค ตรงนี้ไม่ได้เก็บ เป็นข้อที่เสียเปรียบ ในความหมายของคำว่าเก็บบางคนอาจจะคิดว่าเครื่องซักผ้าเสียจะให้เก็บอย่างไร ก็เก็บโดยการถ่ายรูปหรือเก็บในรูปแบบของไฟล์คอมพิวเตอร์ เป็นไฟล์ PDF ประมาณนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เสียเปรียบในตอนนี้ คือความไม่รู้ว่าผู้บริโภคต้องเก็บอะไรบ้างเวลานำคดีขึ้นมาสู่ศาล ตรงนี้ผู้บริโภคจะไม่ค้อยทราบ หรือถ้าทราบก็เก็บไว้ไม่ครบ ตรงนี้เป็นประเด็นที่ถือว่าสำคัญ เวลาขึ้นศาลพยานหลักฐานถือว่าสำคัญ อย่างนี้เวลาเราซื้อบ้านหรือคอนโดใหม่สิ่งที่เราควรทำคือ ถ้าซื้อใหม่ก็ใบโฆษณา ถ้ามีการออกสปอตรายการวิทยุ สถานีโทรทัศน์ เก็บไว้ได้ก็ดีเพราะว่าหลายรายการจะมีกรณีที่ว่าตอนโฆษณามีสระว่ายน้ำ แต่พอเสร็จแล้วสระว่ายน้ำไม่มีเพราะพื้นที่ไม่พอ แบบนี้ถือว่าเอาเปรียบผู้บริโภคเพราะบางทีเราซื้อเพราะมีสระว่ายน้ำ เพราะฉะนั้นตรงนี้ถือว่าต้องเก็บสัญญาซื้อ – ขาย ใบเสร็จการผ่อนค่างวดแต่ละงวด เหล่านี้สำคัญหมด แม้กระทั่งที่ตั้งของสำนักงานของผู้ประกอบธุรกิจว่าอยู่ที่ไหน อย่างไรเป็นเรื่องสำคัญ ที่สำคัญอีกอย่างคือเจ้าของโครงการแต่ละที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็จะเป็นในรูปของนิติบุคคล เพราะฉะนั้นไปดูหนังสือรับรองนิติบุคคลนั้นๆ ด้วยว่าในแต่ละปีมีการส่งงบดุลเป็นปัจจุบันหรือเปล่า อันนี้หมายถึงสถานะทางการเงินของเจ้าของโครงการเพื่อเราจะได้รู้ว่าตอนนี้อยู่ถึงไหน อย่างไร

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 167 เตรียมพร้อมเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ

ฉลาดซื้อเล่มนี้เบิกโรงศักราชใหม่ว่าด้วยเรื่องของการเตรียมพร้อมเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ โดยนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย อดีตอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก การเตรียมพร้อมเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพนั้นต้องเตรียมตัวอย่างไร ต้องเตรียมครอบคลุมทุกด้าน ทุกมิติของชีวิตมนุษย์ ได้แก่ 1) เรื่อง สุขภาพ 2) เรื่อง ความมั่นคงในชีวิต ทรัพย์สิน 3) เรื่อง การงาน และข้อสำคัญ คือ ทำอย่างไรไม่ให้เหงา   ควรเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่เมื่อใด โดยหลักการแล้ว การเตรียมตัวควรทำแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่เริ่มทำงานเลยเป็นดีที่สุด เวลานี้สำนักงาน กพ. มักเตรียมตัวข้าราชการเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุหลังเกษียณอายุตอนปีสุดท้ายของชีวิตราชการซึ่งไม่ถูกต้อง ช้าเกินไป เช่น เรื่องสุขภาพ ถ้าในวัยหนุ่ม-สาว ไม่ดูแลรักษาสุขภาพ ใช้ชีวิตแบบไม่บันยะบันยัง เมื่อสูงอายุก็มักจะมีโรคประจำตัวรุมเร้า เช่น กินอาหารไม่เป็นเวลา กินเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด จนเป็นโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง บั่นทอนชีวิตมากเลย หรือดูแลรักษาฟันไม่ดี ทำให้ฟันผุก็จะเป็นปัญหามาก หรือปล่อยตัว ให้อ้วน บั้นปลายชีวิตก็มักจะมีเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เข่าเสื่อม ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นต้น   สิ่งที่อยากให้รัฐบาลจัดหาเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ในแง่ของการเรียกร้องทางสังคม เช่น บริการสาธารณะ , หรือควรใช้สิทธิอะไรบ้าง ควรออมเงินหรือการทำประกันชีวิตอย่างไร จำเป็นหรือไม่( แค่เงินคนชราที่รัฐบาลให้พอหรือไม่ ) สิ่งที่รัฐควรทำเร่งด่วนขณะนี้ คือ นำ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 มาบังคับใช้โดยเร็ว กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ดีที่สุดที่จะช่วยแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุระยะยาว เป็นกฎหมายที่มีการดำเนินการมาอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน เริ่มจาก 1) มีการศึกษาวิจัยปัญหาและวิธีการแก้ไขของทั้งต่างประเทศและในประเทศมาอย่างดี 2) มีการประชุมสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เชิญทุกภาคส่วนทั้งประเทศมาร่วมประชุม โดยมีการเตรียมการอย่างเป็นขั้นตอน บนพื้นฐานของข้อมูลและเอกสารทางวิชาการ 3) มติของสมัชชา มีการนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในงานผู้สูงอายุแห่งชาติ 4) นายกรัฐมนตรีได้นำมติสมัชชาเข้าพิจารณา และผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ 5) คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน รับไปดำเนินการ ได้จัดทำร่างกฎหมายเสนอต่อรัฐบาล 6) รัฐบาลได้เสนอกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรได้รับความเห็นชอบ และได้ผ่านการเห็นชอบของวุฒิสภา จากนั้นได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงนามพระปรมาภิไธย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้แล้ว 7) กฎหมายให้เวลา 1 ปี ในการเตรียมการ แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ละเมิดกฎหมายไม่ยอมทำตามกฎหมาย แต่ไปแก้ไขกฎหมายประกันสังคมมาตรา 40 แทน ซึ่งผิดหลักการอย่างยิ่ง พรบ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 เป็นกฎหมายส่งเสริมการออม ส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนที่ไม่มีหลักประกันยามชรา คือ ไม่มีบำนาญจากราชการหรือประกันสังคม ให้มีบำนาญของตนเอง ถ้าออมเพียงเดือนละ 100 บาท รัฐบาลจะสบทบให้ 50 บาท หากเริ่มออมตั้งแต่เริ่มทำงานตอนอายุ 25 ปีขึ้นไป พออายุครบ 60 ปี จะมี “บำนาญของตัวเอง” เดือนละ 1,700 กว่าบาทบวกกับเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 บาท ก็จะพออยู่ได้ ถ้าออมมากกว่านี้ก็จะมีบำนาญของตัวเองมากกว่านี้ ถ้าเข้ารับราชการหรือเข้าประกันสังคม เงินนี้ก็ไม่หายไปไหน ส่วนประกันสังคมมาตรา 40 (3) ผิดหลักการเพราะเปิดโอกาสให้คนที่มีบำนาญอยู่แล้วได้เงินซ้ำซ้อน ต้องเลิก และเร่งทำตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติโดยเร็ว   เรื่องที่สอง ที่รัฐบาลควรทำ คือ เร่งรัดพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิงตามแผนยุทธศาสตร์ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเห็นชอบแล้ว แผนยุทธศาสตร์นี้มุ่งส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิง คือ กลุ่ม “ติดบ้าน” “ติดเตียง” โดยการดูแลที่บ้านและในชุมชนเป็นหลัก เป็นวิธีการส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของระบบการดูแลในครอบครัวและชุมชน ซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการดูแลในสถานสงเคราะห์หรือในโรงพยาบาลมาก และสอดคล้องกับวิถีชีวิตมนุษย์ที่ต้องอยู่ในครอบครัวและชุมชน   การดูแลสุขภาพ เช่น อาหารการกิน การออกกำลังกาย การรักษาพยาบาลเมื่ออยู่ในวัยชรา การดูแลสุขภาพในผู้สูงอายุมีหลักสำคัญ คือ “หลัก 5 อ.” ได้แก่ เรื่อง อาหาร ออกกำลังกาย อากาศ อารมณ์ และอุจจาระ ขยายความสั้นๆ คือ (1) เรื่องอาหาร ต้องถือหลัก “กินน้อย อยู่นาน” อย่ากินมากจนอ้วน อย่ากินอาหารรสจัด ทั้งหวานจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด (2) เรื่อง ออกกำลังกายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะธรรมชาติร่างกายมนุษย์ถูกออกแบบมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ให้ต้องออกกำลังกาย เพื่อไล่ล่าหาอาหาร และต่อสู้หรือหนีศัตรู ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป มีเครื่องทุ่นแรงและสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย จนมนุษย์ไม่ต้องออกกำลังกายเลยก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะฝืนธรรมชาติ กล้ามเนื้อจะอ่อนแรง ไข้ข้อจะไม่ดี สารเคมีที่ร่างกายหลั่งออกมา เมื่อไม่ได้ใช้จะทำให้เครียด ใจสั่น นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง เพราะฉะนั้น ต้องออกกำลังกาย ถ้าไม่ออกกำลังกายร่างกายจะทรุดโทรม เจ็บป่วย และอมโรค (3) เรื่องอารมณ์ ต้องฝึกให้มองโลกในแง่ดี มีเมตตากรุณาสูง ถือหลักท่าน พุทธทาส คือ บั้นปลายชีวิต ต้องมุ่ง “แจกของ ส่องตะเกียง” อย่าโลภ อย่าจู้จี้ เอาแต่ใจ ลูกหลานจะหนีห่าง ไม่เข้าหา (4) เรื่องอากาศ คือ การอยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี ถ้าอยู่ในห้องแอร์ต้องเปิดให้ลมโกรกหรือพัดผ่านเป็นประจำ และให้แสงแดดส่องถึงได้ แสงแดดจะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้มาก (5) เรื่องอุจจาระต้องระวังอย่าให้ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องเสียรุนแรงทำให้ผู้สูงอายุถึงตายได้ ท้องผูกทำให้เกิดริดสีดวงทวาร ท้องผูกเรื้อรังอาจทำให้เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อเจ็บป่วย ให้ไปใช้บริการตามสิทธิ ปัจจุบันคนไทยทุกคน ถ้าไม่มีสิทธิข้าราชการ ก็จะมีสิทธิบัตรทองให้ใช้ ไม่จำเป็นอย่าเข้าโรงพยาบาลเอกชน เพราะอาจถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัวได้โดยง่าย ผู้มีสิทธิบัตรทอง ถ้ามีปัญหาให้โทรปรึกษาหมายเลข 1330 ได้ทุกเวลา ถ้าเจ็บป่วยฉุกเฉินให้โทร 1669 เรียกรถพยาบาลมารับได้ตลอด 24 ชั่งโมง ฟรี เรื่องที่ขอแนะนำเพิ่มเติมมีอีก 2-3 เรื่อง คือ 1)    อย่าคิดรวยตอนแก่ เพราะแก่แล้ว บารมีสมัยยังรับราชการหรือทำงานหมดไปแล้ว ความว่องไวในการแก้ปัญหาก็ลดลง อย่าโลภไปลงทุนอะไรมากมาย จะมีโอกาสหมดตัวได้ 2)    ถ้ามีทรัพย์สมบัติ อย่าแบ่งให้ลูกหลานจนหมดตัว ถ้าทรัพย์สมบัติหมดเมื่อไร ลูกหลานโดยมากจะเริ่มห่าง หรือ ทิ้งไปเลย 3)     ขอย้ำเรื่องกินอีกครั้ง กินผักผลไม้ให้มาก ของมันของเค็มกินให้น้อย เวลากินอาหารอย่ากินจนอิ่ม กินแค่เกือบอิ่มแล้วดื่มน้ำให้อิ่มพอดี การกินจนอิ่ม เป็นการกินเกินความต้องการของร่างกาย กระเพาะอาหารของเรา ธรรมชาติสร้างให้กินได้เกิน เมื่ออาหารเต็มกระเพาะแล้ว จะกินต่อได้อีก 20 นาที จึงจะส่งสัญญาณไปที่สมองให้รู้ว่ากระเพาะเต็มแล้ว ธรรมชาติอันนี้จำเป็นสำหรับสมัยก่อนที่อาหารขาดแคลน ต้องกินเผื่อไว้มื้อต่อๆ ไป ปัจจุบันอาหารมีมากมาย ต้องรู้จักหยุด เคยมีการศึกษาทดลอง เลี้ยงหนู 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินอิ่มหมีพีมัน พวกนี้อายุสั้น อีกกลุ่มใหกินอดๆ อยากๆ ปรากฏว่าอายุยืนกว่ามาก   คำแนะนำสำหรับคนที่ต้องอยู่ร่วมกันกับผู้สูงอายุ ต้องเข้าใจและเห็นใจคนสูงอายุ ต้องเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของผู้สูงอายุ เช่น 1) ผู้สูงอายุยังต้องการรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า จึงต้องหาอะไรทำให้รู้สึกมีคุณค่า มีประโยชน์ อย่าให้ว่างหรือไม่มีบทบาทหน้าที่ จะเฉา 2) ต้องรู้ข้อจำกัดของผู้สูงอายุ เช่น อายุมากแล้ว นั่งส้วมแบบยองๆ ไม่ได้ ต้องนั่งแบบห้อยเท้า ถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนให้ 3) ต้องระวังดูแลอย่าให้ผู้สูงอายุเดินสะดุด ถ้าล้มจะแย่ พื้นต่างระดับหรือมีสิ่งเกะกะ กีดขวาง ต้องปรับแก้ไข อ่างอาบน้ำต้องเลิกใช้เลย เพราะมีโอกาสสะดุดหรือลื่นล้มหัวฟาดได้ง่าย หนุ่มๆ สาวๆ ที่สร้างบ้าน-ซื้อบ้าน ไม่ควรมีอ่างอาบน้ำ เพราะบ้านเราอาบน้ำทุกวัน แทบไม่มีความจำเป็นต้องใช้อ่างอาบน้ำเหมือนฝรั่งเลย 4) ผู้สูงอายุมักขี้ใจน้อย จะพูดจาหรือทำอะไรต้องระวัง 5) ผู้สูงอายุมักขี้เหงา ต้องหาอะไรให้ทำแก้เหงาหรือคอยชวนคุย จะทำอะไรก็อย่าตัดสินเอง ให้เกียรติปรึกษาหารือบ้าง เป็นต้น ให้ใช้ธรรมะ 3 หมวด คือ 1) พรหมวิหาร 4 โดยเฉพาะข้อแรก คือ เมตตา 2) สังคหวัตถุ 4 โดยเฉพาะข้อสอง ปิยวาจาคือ วาจาอ่อนหวาน และ 3) ขันติ-โสรัจจะ คือสุดท้ายต้องอดทน และโสรัจจะคือ ความเสงี่ยม ไม่แสดงท่าทางหรือท่าทีให้เกิดความน้อยใจ   สุดท้าย ถ้าเป็นลูกหลาน ต้องเข้าใจว่า พ่อแม่จะเห็นว่าเราเป็นเด็กอยู่เสมอ แม้เราจะอายุมากแล้ว ถ้าท่านจะสอนจะห่วงเราเหมือนเราเด็กๆ ก็ให้รับฟัง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 165 อิฐบูรณ์ อ้นวงษา “พลังงานเป็นเรื่องของทุกคน”

อิฐบูรณ์  อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันกำลังคร่ำเคร่งอยู่กับประเด็นเรื่องพลังงานอย่างจริงจัง ด้วยเขามองว่าพลังงาน เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ แต่คนยังขาดความเข้าใจอยู่มาก เพราะอาจดูเหมือนเข้าใจยาก แต่จริงๆ เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวแต่อย่างใด  ทุกๆ คน สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ทั้งการกำหนดนโยบายและการแสวงหาทางออกร่วมกัน   ทำไมถึงสนใจทำเรื่องพลังงาน เพราะว่ามันเป็นเรื่องวิกฤตที่สุดหรือ เพราะตอนทำกิจกรรมสมัยเป็นนักศึกษาก็เรียนรู้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างโรงไฟฟ้า ก็พัฒนาจากโรงไฟฟ้าค่า FT มาเป็นเรื่องของสายปิโตรเลียม เพราะมันเป็นสายเดียวกัน ก็ศึกษามาเรื่อยๆ   ช่วยเล่าสถานการณ์พลังงานในขณะนี้สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ติดตามข่าวอย่างง่ายๆ ระบบพลังงานประเทศไทยนั้น ไม่ว่ากลุ่มทุนด้านพลังงานประเภทฟอสซิล หรือพลังงานกลุ่มปิโตรเลียม น้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติ มีอิทธิพลสูงมากในการกำหนดนโยบายการใช้ การบริโภค การผลิตพลังงานของประเทศไทย และที่สำคัญมีการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่ตรงกับความเป็นจริงให้ประชาชนอยู่มาก เช่น บอกว่า คนไทยมีการบริโภคพลังงานมากกว่าที่เราผลิตได้ในประเทศหลายเท่าตัว ต้องเสียเงินนำเข้าพลังงานมาปีละหนึ่งล้านล้านบาท เป็นต้น หรือวันละแปดถึงเก้าแสนบาร์เรลต่อวัน แต่ข้อเท็จจริงคือ น้ำมันดิบที่นำเข้ามานั้นทั้งเพื่อการบริโภคภายในประเทศและเพื่อการส่งออกไปขายยังต่างประเทศด้วย ในขณะเดียวกันก็มีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปในรูปของน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ซึ่งการผลิตในประเทศไทยนั้นมันมากเกินกว่าความต้องการอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีการนำเข้าน้ำมันในรูปแบบนี้มา แล้วรวมเป็นเม็ดเงินที่นำมาบอกกับประชาชนว่านำเข้าเป็นเงินจำนวนมหาศาล เพราะฉะนั้นการให้ข้อมูลในภาพรวมแบบนี้ถือว่าไม่มีความเป็นธรรมกับประชาชน เมื่อแสดงข้อมูลแบบนี้ทำให้การกำหนดนโยบาย การวางทิศทาง การจัดหาพลังงานของประเทศนั้นมันผิดเพี้ยนได้ และด้วยอิทธิพลของกลุ่มทุนพลังงานที่มันมีมูลค่าในทางธุรกิจของเขา ในรูปแบบการจัดหาพลังงานมันมีตัวเลขหนึ่งล้านล้านบาททำให้เขามีอิทธิพลกับธุรกิจหลายๆ ตัว มีความสัมพันธ์กัน อย่างเช่น การใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาป้อนกับธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งใช้ทำพลาสติก ซึ่งเม็ดพลาสติกก็ไปเกี่ยวโยงกับธุรกิจขนาดใหญ่อีก 2 - 3 ตัว อย่างเช่น ธุรกิจประกอบรถยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ธุรกิจทำสินค้าไอที เครื่องคอมพิวเตอร์ มือถือ สมาร์ทโฟนต่างๆ ก็จะเห็นว่ามันมีความสัมพันธ์กัน แล้วก็ไปเกี่ยวร้อยกับธุรกิจอีกอันหนึ่งในรูปแบบของการเงินสนับสนุนภาคโฆษณา ก็ทำให้ประชาชนนั้นรับรู้ข่าวสารในเรื่องพลังงานที่ตรวจสอบโปร่งใสได้มันไม่เป็นอย่างที่ควรจะเป็นนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า “แบบนี้ถือว่าเป็นอันตรายมากทั้งต่อตัวประชาชนในฐานะผู้บริโภค ทั้งต่อตัวประเทศในรูปสังคมโดยรวม การถูกเอารัดเอาเปรียบ การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีความเป็นธรรม นี่คือสถานการณ์โดยภาพรวมที่เป็นอยู่”   ประเด็นคือประชาชนไม่รู้ความจริง ใช่ ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดนั้นคือ การกำหนดนโยบายทิศทางพลังงานของประเทศนั้น หากมันไปอยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของกลุ่มคนเล็กๆ แค่นั้นอย่างที่บอกไป มันก็พัง ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น เรื่องของพลังงานนั้นเกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรทั้งรูปแบบสิ้นเปลืองใช้แล้วหมดไป และแบบน้ำมันดิบ หรือทรัพยากรที่ส่วนใหญ่ใช้ ก็คือรูปของก๊าซธรรมชาติเอามาผลิตไฟฟ้าก็ดี อีกส่วนหนึ่งคือ ทรัพยากรที่ไม่มีวันหมด ทรัพยากรหมุนเวียน อย่างเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวลต่างๆ แต่ทีนี้ภาคสายฟอสซิลมันมีอิทธิพลอย่างที่ว่ามา มันก็จะทำให้เห็นว่าภาคฝั่งของพลังงานหมุนเวียนมันอ่อนเปลี้ย ไม่สามารถจะนำมาเป็นพลังงานหลักของประเทศได้ และก็มีการใส่ข้อมูลให้กับประชาชนว่าพลังงานแบบนี้เป็นพลังงานมวยรอง แต่ถ้าเปิดโลกให้ประชาชนในประเทศได้เห็นตัวอย่างจากประเทศใหญ่ๆ อย่าง เยอรมนี ซึ่งมีแสงแดดอ่อนกว่าประเทศไทยเยอะ ก็ยังวางทิศทางนโยบายในประเทศที่จะลดพลังงานนิวเคลียร์ ลดพลังงานที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมของเขา คือเขาไม่ได้มองแต่เรื่องความมั่นคง เขามองเรื่องของผู้บริโภค สุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม เขามองแบบนั้น ส่วนเรื่องไปรองรับเศรษฐกิจนั้นเขามองเป็นเรื่องรองมากกว่า นั่นคือแนวคิดของประเทศที่พัฒนาแล้วในระบบพลังงาน เพราะฉะนั้นเขาจึงกล้าวางทิศทางว่าจะเพิ่มพลังงานแสงอาทิตย์ในสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์เพื่อที่จะลดน้ำหนักของพลังงานสายนิวเคลียร์ หรือพลังงานสายฟอสซิลที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลก อย่างนี้เป็นต้น จะเห็นทิศทางของประเทศในยุโรปหรือประเทศใหญ่ๆ ที่ได้กำหนดแนวนโยบายพลังงานไว้ หรือแม้กระทั่งประเทศญี่ปุ่น ล่าสุดการประชุมของ UN เปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ ลดการใช้พลังงานที่มาจากฟอสซิล เพราะมองว่าพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานที่ทำลายสภาพภูมิอากาศของโลกก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ไม่ว่าจะการปล่อยก๊าซมีเทนหรือคาร์บอนไดออกไซด์ต่างๆ ออกมา หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นต้น อันนี้ก็จะมีผลโดยตรงของมัน การใช้น้ำมันของเราก็ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า UN จะมีการประกาศทิศทางที่ชัดเจน หรือประเทศใหญ่ๆ ที่พัฒนาแล้วก็จะมีนโยบายที่ลดพลังงานสายฟอสซิลลงไปด้วยเหตุผลสำคัญ คือ 1) เป็นทรัพยากรที่สิ้นเปลือง 2) เป็นทรัพยากรที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือทำลายสิ่งแวดล้อม เขามองว่าพลังงานกลุ่มนี้ไม่มั่นคง แต่มองว่าพลังงานหมุนเวียน คือพลังงานที่มั่นคง นำมาดูแลได้และมีแนวโน้มที่จะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นพลังงานหลักของประเทศนั้นๆ ได้   ประเทศไทยมีช่วงหนึ่งที่มีเรื่องพลังงานทดแทน แต่เหมือนไม่มีการรณรงค์จริงจังเท่าไหร่ การออกแบบนโยบายด้านพลังงานของเราเป็นการออกแบบที่ไม่เต็มรูปแบบ มันทำให้ถูกตอน ทำให้ไม่สามารถขยายตัวในทางธุรกิจของมันได้ หลักการของพลังงานหมุนเวียนที่ทำให้ประเทศเยอรมนีประสบความสำเร็จมีอยู่ 3 หลักการใหญ่ๆ คือ 1) พลังงานหมุนเวียนต้องขายพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบให้ได้เป็นลำดับแรกก่อน พอพลังงานหมุนเวียนช่วงนี้หมดเราถึงจะเอาพลังงานถ่านหิน พลังงานจากก๊าซเข้ามาเป็นลำดับต่อไปแต่ของบ้านเรานั้นลำดับแรกกลับทำเรื่อง โรงไฟฟ้าก๊าซ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าของ กฟผ. โรงไฟฟ้าต้องเข้าสู่ระบบก่อน ส่วนที่เหลือ ซึ่งมันไม่เคยเหลือจึงเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ แสงอาทิตย์บ้านเราจึงเป็นพลังงานเหลือต่อท้าย กลายเป็นพลังงานที่ไม่จำเป็นต่อระบบถ้าหากชั่วโมงนั้นพลังงานก๊าซ พลังงานถ่านหินยังทำงานของมันได้เต็มที่ ไม่มีการซ่อมแซม เพราะฉะนั้นพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานชีวมวลก็ต้องรอคิวไป การต้องรอคิวไปเรื่อยก็ส่งผลให้ไม่เกิดแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน ธนาคารก็ไม่ปล่อยกู้ อันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ ต่างประเทศเขากลับด้านกัน เป็นสัญญาระยะยาว คือ 20 – 25 ปี อย่างพลังงานแก๊ส พลังงานถ่านหินก็เป็นสัญญา 25 – 30 ปี ก็เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน อันนี้คือความมั่นคงทางด้านการลงทุนทำให้เกิดการขยายตัว ทำให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้พลังงานหมุนเวียนลด cost ของมันเองได้ เพราะว่าถ้าอุตสาหกรรมมันขยายตัวได้ มันก็ลด cost ได้ มันมีตัวเปรียบเทียบ พลังงานจากแสงอาทิตย์บางตัวนั้นส่งมาจากเยอรมันถูกกว่าส่งมาจากจีน ไม่ได้เกี่ยวว่ามันเดินทางมาไกลกว่า มันอยู่ที่ค่าการผลิต การส่งเสริมสนับสนุนของรัฐบาลนั้นๆ เช่น มีผู้ประกอบการพลังงานแสงอาทิตย์ในเมืองไทยนั้นเขาต้องย้ายฐานการผลิตของตัวเองไปอยู่ประเทศเยอรมัน เพราะว่านโยบายของภาครัฐไทยนั้นไม่มีความแน่นอน ทั้งเรื่องของกรอบระยะเวลาของการลงทุน ทำให้เขาไม่มั่นใจ ไม่ชัวร์ พอไม่ชัวร์หรือไม่จูงใจเขาก็ไปลงทุนที่เยอรมันแทน อย่างนี้เป็นต้น คนเก่งๆ ในประเทศไทยก็ไปลงทุนที่อื่น 2) คือว่ามีการสกัดกั้น มีคอรัปชั่น มีเส้นสาย ทีนี้ไอ้ 2 ตัวแรกมันก็โยงกับไอ้ที่ตัวสุดท้ายคือเรื่องของการสนับสนุนค่าไฟฟ้า แต่เดิมบ้านเราใช้ระบบแอดเดอร์ ก็คือไม่ว่าเราจะผลิตมากแค่ไหนคุณก็ได้ตามหน่วยไปแพงๆ ทีนี้มันก็มีช่องโหว่ในการที่จะมีการทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นได้ ในตอนหลังเขาเลยมาแก้เป็น Feed-in Tariff ขึ้นมา ขึ้นอยู่กับประเภทเชื้อเพลิงประมาณนี้เป็นต้น นี่คือข้อใหญ่ๆ ที่เป็นโครงสร้างที่ทำให้เยอรมันและประเทศในตะวันตกหรืออีกหลายๆ มลรัฐในอเมริกาประสบความสำเร็จ คือขายแข่งกับเขาได้ แต่ไม่ใช่ให้เราไปเริ่มต้นแข่งกับเขาเลยนะ พลังงานหมุนเวียนของไทยยังเป็นวุ้น รัฐฯ ต้องส่งเสริมอย่างมาก ข้อแรกที่สำคัญเลยคือว่า คิดกลับด้านเสีย พลังงานหมุนเวียน พลังงานชีวมวลขายเข้าโรงไฟฟ้าได้ก่อนจนคุณหมดเชื้อเพลิง คือพลังงานแสงอาทิตย์มันเหมาะสมกับเมืองไทยมาก เพราะว่าการใช้ไฟฟ้าช่วงพีคที่เกิดขึ้นทุกปีมักจะเกิดขึ้นในหน้าร้อนช่วงกลางวัน ตั้งแต่ประมาณบ่ายโมงถึงบ่ายสอง หน้าร้อนของเมืองไทยก็แดดดี อากาศก็แจ่มใสเพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทำหน้าที่ได้เต็มที่อยู่แล้วในเวลากลางวัน ก็เป็นการอุดช่องโหว่ของข้อกล่าวหาที่ว่าเซลล์แสงอาทิตย์ไม่สามารถทำงานกลางคืนได้ เพราะว่ากลางคืนก็ปล่อยให้พลังงานสายฟอสซิลทำงานไป ไม่เห็นจำเป็นต้องรัน(run) ฟอสซิลตลอดทั้งวัน คุณก็จะได้ลดการนำเข้า การซื้อเชื้อเพลิงที่คุณอ้างว่าเป็นล้านล้านบาทได้ คำถามคือว่านี่คือความจริงใจหรือไม่จริงใจ และท้ายที่สุดนั้น ด้วยพลังงานสายฟอสซิลมีอิทธิพลมากอยู่เบื้องหลังและมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทับซ้อนที่มีการช่วยกันเขียนให้เป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย ซึ่งในหลักสากลนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะมันนำไปสู่ปัญหาการทุจริตได้ แต่ของเราทำข้อทุจริตให้เป็นข้อถูกด้วยการเขียนกฎหมายให้ข้าราชการระดับสูงไปนั่งอยู่ในบริษัทน้ำมัน ไปนั่งอยู่ในกิจการโรงไฟฟ้าและก็รับผลประโยชน์กันที่มากกว่าอัตราเงินราชการที่ตัวเองรับ ก็ทำให้เกิดการบิดเบือนในการวางกรอบนโยบายได้ ทำให้ข้าราชการเหล่านั้นไม่มีความคิดที่อิสระในการกำหนดทิศทางนโยบายที่เอื้อประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติ มันก็ทำให้ประเทศชาติวนเวียนอยู่กับปัญหาเดิมๆ ว่า ประเทศเรานำเข้าพลังงานฟอสซิลเยอะ เราต้องเร่งขุดเจาะหาปิโตรเลียม ถ้าไม่เร่งขุดเจาะหาปิโตรเลียมโรงงานไฟฟ้าที่มีสัญญาอยู่กับแหล่งแก๊สต่างๆ นั้นพอสัญญาหมดก็จะขาดสัญญา ทำให้ขาดวัตถุดิบในการปั่นไฟ มันก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่มีทางออก สุดท้ายคนไทยในฐานะผู้บริโภคก็อยู่ในสถานะของภาคที่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าพลังงานในราคาที่สูงขึ้นๆ เรื่อยๆ เพราะว่าอัตราค่าพลังงานของประเทศไทยนั้นมันถูกโยง แม้ว่าก๊าซจะขุดในประเทศไทยแต่ก็ถูกโยงอยู่กับราคาน้ำมันดิบของตลาดโลก อันนี้ในส่วนของก๊าซนะ และมีค่าตอบแทนการลงทุนน่าจะสูงเกินควรมากๆ  ทำให้ผู้ประกอบการได้ผลกำไรที่ผู้บริโภคจ่ายไปสูงเกินควรมาก ไม่มีการกำกับดูแลในส่วนนี้ที่เหมาะสม เพราะอำนาจการกำกับดูแลการซื้อของก๊าซจากหลุมต้นทางนั้นไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ราคาน้ำมันดิบแม้ว่าน้ำมันดิบจะมาจากแหล่งเศรษฐกิจก็ถูกกำหนดไว้ว่า ถ้าจะซื้อน้ำมันดิบเอามาเข้าโรงกลั่นน้ำมันไทย ให้ไปอิงเหมือนเป็นราคานำเข้าจากตลาดโลก อย่างนี้เป็นต้น พอมาเป็นน้ำมันสำเร็จรูปก็มาบวกค่าขนส่งจากสิงคโปร์มาไทยทั้งๆ ที่ไม่มีการขนส่งจริง เป็นอย่างนี้เป็นทอดๆ ไป เพราะฉะนั้นผู้บริโภคก็อยู่ในสภาพของทาสที่ไม่สามารถมีข้อต่อสู้ใดๆ  เพราะทุกอย่างการปรับขึ้นราคาก็อ้างว่าทำตามระเบียบกฎหมายธุรกิจพลังงานที่วางกรอบเอาไว้   แล้วผู้บริโภคจะทำอย่างไรได้บ้าง ข้อมูลแบบนี้ผู้บริโภคจะต้องรู้ พอรู้จะได้เกิดปัญญา การกำหนดหาทิศทางของนโยบายที่เหมาะสม ซึ่งตอนนี้ก็มีประชาชนส่วนหนึ่ง ได้มองเห็นถึงปัญหาว่า ถ้าการจัดการปัญหาพลังงานของประเทศไทยก็ต้องลดอำนาจของพลังงานฟอสซิลลงหน่อย ให้มันมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐฯ ให้ได้ ตอนนี้เขาพยายามจะฉีกให้เป็นอิสระของเขาเต็มที่ เพราะรัฐฯ คือตัวแทนของประชาชน ถ้าเขาฉีกเป็นอิสระได้ ประชาชนก็ไม่สามารถไปควบคุมอะไรได้ ดังนั้นตอนนี้เลยมีการแก้ไข และยกเลิกกฎหมาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ออกไปแล้วเปลี่ยนเป็นระบบการให้ติดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีความเป็นธรรมต่อประเทศต่อประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ ที่เรียกว่าระบบแบ่งปันผลผลิต ใช้สำหรับแหล่งสำรวจแหล่งใหม่ แต่หากแหล่งไหนที่เป็นแหล่งใกล้จะหมดอายุแล้วหรือจะหมดสัญญาแล้วนั้น ก็เตรียมให้ใช้ระบบรับจ้างบริการ ซึ่ง 2 ระบบนี้จะทำให้รัฐกลับไปเป็นเจ้าของปิโตรเลียมนั้น และจะได้มีส่วนแบ่งที่เรียกว่า “เนื้อปิโตรเลียม” มากกว่าส่วนแบ่งในรูปของตัวเงิน การที่มีส่วนแบ่งในรูปของปิโตรเลียมก็ดี หรือมีประโยชน์ในส่วนที่ไม่ใช่ตัวเงินอื่นๆ เช่น สิทธิในการเป็นกรรมสิทธิ์ การได้เข้าถึงข้อมูลนั้น ก็เชื่อว่าจะทำให้แหล่งปริมาณสำรองของก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมันดิบของประเทศไทยจะมีอัตราที่สูงมากกว่า ที่มีการรายงานในปัจจุบันภายใต้ระบบสัมปทาน   ...กำลังสนุกใช่ไหมคะ เผอิญว่าจำนวนหน้าค่อนข้างจำกัด แต่เราไม่อยากให้เนื้อหาจำกัด จึงขออนุญาตนำบทสัมภาษณ์ของคุณอิฐบูรณ์ลงต่อเนื่องในฉบับหน้า ซึ่งจะว่าด้วยเรื่อง ระบบสัมปทานที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันมากในขณะนี้ อย่าพลาดนะคะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 166 อิฐบูรณ์ อ้นวงษา “พลังงานเป็นเรื่องของทุกคน” ตอน2

เนื้อหาที่เราสัมภาษณ์คุณอิฐบูรณ์ อ้นวงษา ค้างไว้ตรงเรื่องที่เกี่ยวกับการสัมปทาน ซึ่งเราขอนำลงต่อเนื่องในฉบับนี้นะคะ...ตอนนี้เลยมีการแก้ไข และยกเลิกกฎหมาย พรบ.ปิโตรเลียมที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ออกไปแล้วเปลี่ยนเป็นระบบการให้ติดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีความเป็นธรรมต่อประเทศต่อประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ ที่เรียกว่าระบบแบ่งปันผลผลิต ใช้สำหรับแหล่งสำรวจแหล่งใหม่ แต่หากแหล่งไหนที่เป็นแหล่งใกล้จะหมดอายุแล้วหรือจะหมดสัญญาแล้วนั้น ก็เตรียมให้ใช้ระบบรับจ้างบริการ ซึ่ง 2 ระบบนี้จะทำให้รัฐกลับไปเป็นเจ้าของปิโตรเลียมนั้น และจะได้มีส่วนแบ่งที่เรียกว่าเนื้อปิโตรเลียมมากกว่าส่วนแบ่งในรูปของตัวเงิน การที่มีส่วนแบ่งในรูปของปิโตรเลียมก็ดี หรือมีประโยชน์ในส่วนที่ไม่ใช่ตัวเงินอื่นๆ เช่นสิทธิในการเป็นกรรมสิทธิ์ การได้เข้าถึงข้อมูลนั้นก็เชื่อว่าจะทำให้แหล่งปริมาณสำรองของก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมันดิบของประเทศไทยจะมีอัตราที่สูงมากกว่าที่มีการรายงานในปัจจุบันภายใต้ระบบสัมปทาน...เนื้อปิโตรเลียมที่ขุดเจออันใหม่นี้จะไม่ถูกแบ่งผลประโยชน์หรือถ้าอยู่ภายใต้สัมปทาน ระบบสัมปทานก็คือ การให้สิทธิกับผู้รับสัมปทานกับเอกชนที่ได้รับสัมปทานตลอดอายุสัญญาสัมปทาน ซึ่งมีอายุถึง 39 ปี ถ้ามีการค้นพบแหล่งปิโตรเลียมนั้น ปิโตรเลียมทั้งหมดที่มีการค้นพบเป็นของผู้รับสัมปทาน 100% เต็ม แล้วจะเป็นของรัฐฯ ได้อย่างไร ก็คือต่อเมื่อ ถ้า ปตท.ไปทำเป็นสัญญาซื้อขายกับเอกชนนั้น แล้วถึงจะบอกว่า อันนี้คือแหล่งปริมาณสำรองของรัฐฯ แล้ว เพราะฉะนั้นคำว่า ปริมาณสำรองที่มีการรายงานต่อประชาชน จึงไม่ใช่ปริมาณสำรองที่แท้จริงทั้งหมด แต่มีการเซ็นสัญญากับรัฐฯ แล้ว เพราะฉะนั้นหมายถึงเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐฯ แค่ส่วนนี้เท่านั้น จะเห็นว่าระบบสัมปทานเป็นการยกกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมที่ค้นพบให้เอกชนไป แล้วรัฐฯ อยากจะได้มาก็ต้องไปทำสัญญาซื้อขายระยะยาว ซึ่งคนจ่ายไม่ใช่รัฐฯ แต่เป็นประชาชนทั้งประเทศที่เป็นคนจ่าย เพื่อให้ได้สิ่งที่เคยเป็นของตัวเองกลับมา นี้คือสิ่งที่เรียกว่าระบบสัมปทานแล้วมีเยอะแค่ไหนไม่มีใครบอกได้ในประเทศเพื่อนบ้านของเราใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต กระทั่งประเทศกัมพูชาซึ่งยังไม่มีการขุดเจาะ หรือผลิตปิโตรเลียมเลยก็เลือกที่จะใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต เพราะฉะนั้นการจะเลือกใช้ระบบสัมปทานหรือแบ่งปันผลผลิตไม่เกี่ยวว่าประเทศนั้น จะเป็นแหล่งเล็กหรือกระเปาะอย่างที่กล่าวอ้าง ไม่เกี่ยวกัน เป็นทางเลือกของรัฐฯ ที่อยากเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมหรือไม่ ถ้าหากดำเนินการขุดเจาะหรือผลิต อันนี้คือประเด็นที่หนึ่ง จะเห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เคยเป็นเมืองขึ้นแต่เก่าก่อนนั้น ไม่ปฏิเสธระบบสัมปทาน มาเลเซียก็เคยใช้ระบบสัมปทาน อินโดนีเซียก็เคยเพราะเขาเคยเป็นเมืองขึ้น ระบบสัมปทานมาจากยุโรป  อังกฤษ อเมริกาก็ใช้ แต่ของเขากฎหมายมันต่างกัน แต่ว่าประเทศเล็กๆ เหล่านี้ก็มีหลายๆ ประเทศแห่กันมาใช้ระบบแบ่งปัน ดังนั้นไม่ใช่ข้ออ้างที่ว่าการเปลี่ยนแปลงระบบแบ่งปันผลผลิตจะไม่มีใครมาลงทุน เพราะประเทศต่างๆ เหล่านี้ก็เคยไปลงทุนกับประเทศที่ใช้ระบบแบ่งปันมาแล้วหรือแม้กระทั่งบริษัทลูกของ ปตท. เองก็ไปทำระบบแบ่งปันผลผลิตกับมาเลเซีย กับเวียดนาม พม่า แต่ปรากฏว่าของเรากลับไม่ยอมยกระดับเจ้าของแหล่งปิโตรเลียมกลับคืนมา อันนี้ก็เป็นประเด็นมากที่ต้องให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ให้มากที่สุด ถ้ามันถึงจุดที่มีการรับรู้ที่มีความอิ่มตัวการเปลี่ยนแปลงมันก็จะเกิดขึ้นและการเคลื่อนไหวของประชาชนในขณะนี้ คือมีสภาปฏิรูปก็จะมีการผลักดันกฎหมายที่จะเสนอเข้าไปเป็นคู่แข่งของกฎหมายหรือแนวทางการปฏิรูปด้านพลังงานของสภาปฏิรูป ซึ่งทราบว่าสัดส่วนกรรมการที่มาจากสายพลังงานสายฟอสซิลนั้นเกือบ 99% ดังนั้นจำเป็นที่ประชาชนจะมีการผลักดันมาจากข้างนอกเพิ่มอีกทางหนึ่ง ที่มองไว้ก็คือ ประชาชนต้องมีความรู้มากขึ้น เกิดการตื่นรู้ที่จะเลือกทิศทางของตนเองในการจัดสรรทรัพยากรด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นโมเดลของการต่อสู้เรื่องพลังงานนั้นกำลังจะถูกใช้ไปยังโมเดลการจัดสรรทรัพยากรเรื่องอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหมืองแร่ หินแร่ต่างๆ ทองคำที่กระจัดกระจายและสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนทั่วประเทศ เพราะว่าคนในท้องถิ่นที่ขุดเจาะในแหล่งสัมปทานต่างๆ ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากผลประโยชน์ที่ได้รับ และยังรับเคราะห์ด้านสุขภาพ ด้านสังคม เรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของที่นาไม่สามารถทำการได้ปกติมีเยอะมากเรื่องที่ทำต่อคือการให้ความรู้เกี่ยวกับทางออกว่ามีแบบผลประโยชน์ร่วมข้อมูลความรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่จะสร้างทางเลือก สร้างวิสัยทัศน์ให้ประชาชนเห็นได้มากกว่าข้อมูลที่มันถูกครอบไว้อยู่ ทำให้เรารู้สึกว่าไม่มีหนทางออก จริงๆ มันมีทางออกอยู่ ส่วนการจะเลือกหรือไม่เลือกนั้นก็อยู่ที่ตัวประชาชนในการให้อำนาจของประชาชน ซึ่งแน่นอนก็มีกลุ่มของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบเพราะว่าตัวเองก็ได้รับผลประโยชน์ มีส่วนได้เสียเรื่องของหุ้นในธุรกิจพลังงานแบบเดิม แต่เราก็ต้องบอกว่ามิติแบบนี้สักวันมันต้องมีการเปิดกว้างมากขึ้นในหลายๆ ประเทศที่ผ่านการต่อสู้ การปะทะในทางเลือกแบบนี้ตลอดเวลาตัวอย่างจากประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซียประสบความสำเร็จมาก เขาให้บริษัท ปิโตนาส เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ มียอดขายใกล้เคียงกับ ปตท. เล็กน้อย แต่เมื่อหักต้นทุนจิปาถะต่างๆ แล้วปรากฏว่ามาเลเซียมีกำไรมากกว่า ปตท. หลายแสนล้านบาทเลย แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับ ปตท. ก็มีจดหมายชี้แจงหน้าเว็บไซต์ออกมาว่า เพราะมาเลเซียใช้ระบบแบบแบ่งปันผลผลิตทำให้เขาได้เป็นเจ้าของ และได้ส่วนแบ่งปิโตรเลียมโดยไม่ต้องจ่ายเงินซื้อคืนมา ในขณะที่ ปตท.นั้นใช้ระบบสัมปทาน ปิโตรเลียมที่ได้มาต้องจ่ายเงินซื้อไปจึงกลายเป็นเพิ่มต้นทุน พอปิโตรนาสได้กำไรเขาก็เอากำไรนั้นไปส่งเข้ารัฐ  รัฐก็เอาเงินบางส่วนมาอุดหนุนเป็นค่ารถ ค่าน้ำมันให้กับประชาชน ทำให้น้ำมันในมาเลเซียอยู่ที่ 20 กว่าบาทต่อลิตร เรื่องนี้ก็ถูกพวก ปตท. มาอ้างว่า ของมาเลเซียเขาก็ต้องใช้เงินอุดหนุน แต่เงินอุดหนุนดังกล่าวมาจากผลประกอบการที่ได้จากการใช้ทรัพยากรร่วมกันของประเทศชาติแต่ในขณะเดียวกันกำไรของ ปตท. ไม่เคยมาจัดการโดยตรงแบบรูปแบบของมาเลเซียเลย เงินอุดหนุนก็คือ ประชาชนควักกระเป๋าจ่ายกันเอง ดูแลกันเอง ซ้ำยังมากล่าวอ้างว่าเป็นบุญคุณของ ปตท. อย่างนี้มันต่างกันเยอะ ข้อมูลแบบนี้มันมีการกล่าวไม่ครบ ขนาดบอกว่า มาเลเซียมีการอุดหนุนแต่ไม่ได้บอกว่าเงินอุดหนุนนั้นมาจากไหน อันนี้เป็นตัวอย่างชัดเจนว่า ระบบแบ่งปันผลผลิตนั้น สามารถนำมาพัฒนาให้กับประเทศชาติได้ สามารถออกแบบได้อีกหลายอย่าง เช่น ประเทศนอร์เวย์ อาจจะใช้อีกระบบหนึ่งมันเป็นระบบสัมปทานของเขาแต่การออกแบบของเขาคือ รายได้จากปิโตรเลียมของเขานั้น ตั้งเป็นกองทุนเรียกว่า กองทุนมั่นคงแห่งชาติ เนื่องจากว่านอร์เวย์มีประชากรน้อยมาก แต่เขารวยน้ำมันขุดเจาะจากทะเลเหนือได้มาก เขาก็เลยเอาไปใส่เป็นกองทุน และไม่ใช้ เลยเรียกว่ากองทุนมั่งคั่ง เอาไว้ใช้ในยามวิกฤตอย่างเดียว เช่นถ้าหากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นมา เขาถึงจะเอามาใช้เพราะคนนอร์เวย์ก็รวยอยู่แล้ว อันนี้ก็เป็นอีกแบบหนึ่งไปแต่จริงๆ เราก็สามารถออกแบบผสมผสานได้ อย่างจะเป็นแบบมาเลเซีย ถ้าเห็นว่ามาเลเซียเอาเงินมาอุดหนุนโดยตรงเป็นค่าน้ำมันอาจจะไม่ดีในแง่ของการใช้ฟุ่มเฟือย ก็อาจจะมาเป็นเงินกองทุน เราก็เอามาประยุกต์ได้ อย่างของมาเลย์ เขาก็มีจุดอ่อน แต่ละประเทศก็จะมีจุดอ่อน อย่างอินโดนีเซียนั้นได้เงินจากน้ำมันมาก แต่ก็เกิดทุจริตคอรัปชั่น ทั้งที่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตเหมือนกัน เงินไม่ถึงประชาชน เพราะนั่นคือรูปแบบประเทศของเขา มาเลเซียก็เอาแบบอย่างมาแต่มาเลเซียอยู่ภายใต้สหพันธรัฐ 3 รัฐ และปิโตนาสมีหน้าที่ต้องแบ่งสันปันส่วนจากทรัพยากรของเขา เพราะตัวเองเป็นคนดูแลและแบ่งปันค่าใช้จ่ายไปให้รัฐ เพราะฉะนั้นเขาก็จะออกแบบเป็นเก็บเป็นกองกลางไม่ได้ เดี๋ยวรัฐจะโวยวายเอา เลยต้องจัดการออกมาแบบนี้ ให้คนที่เป็นดั้งเดิมของมาเลเซียเท่านั้นที่จะได้ผลประโยชน์จากราคาน้ำมันโดยตรงแบบนี้ถ้าเราเห็นว่าแบบนี้อาจจะไม่เหมาะกับเมืองไทย อาจจะเอาโมเดลบางส่วนของนอร์เวย์ คือการจัดตั้งเป็นกองทุนขึ้นมาก็ได้ เพราะตอนนี้เราก็มีกองทุน อย่างเช่น ทรัพยากรด้านสื่อสารก็มีการตั้งกองทุนขึ้นมา ได้เงินมาจากค่าใบอนุญาต ค่าประกอบการต่างๆ ก็กันส่วนหนึ่งมาเป็นกองทุน และวางกองทุนให้อยู่ภายใต้กฎหมายชัดเจนป้องกันการทุจริต แล้วก็บริหารกองทุนนั้นไป เป็นต้น ซึ่ง10 กองทุนแบบนี้ก็คล้ายกองทุนของสสส. ซึ่งหักจากภาษีเหล้า ก็มีคนช่วยกันคิดเหมือนกันว่า ถ้าได้เงินมาจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมนั้นได้มาจากแหล่งเดียว คือ แหล่งภาพทัพหลวง ซึ่งมันก็น้อยนิดมากเมื่อเทียบกับมูลค่าของมัน 30 กว่าปีที่ผ่านมาได้เพียงแค่ ? กว่าเปอร์เซ็นเท่านั้นเอง ก็คิดกันว่า หนึ่ง ถ้าเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต สอง นำรายได้ส่วนหนึ่งตั้งเป็นกองทุนขึ้นมาเรียกว่ากองทุนปิโตรเลียมเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ก็ออกแบบเลยว่า จะนำไปบำรุงดูแลท้องถิ่นโดยตรง หรือจะนำไปใช้ในเรื่องการศึกษา การให้ความรู้ในเรื่องของเรื่องพลังงานไม่ว่าจะเป็นพลังงานฟอสซิลหรือพลังงานหมุนเวียน หรือจะนำมาส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนหรือเกี่ยวกับเรื่องของระบบขนส่งสาธารณะที่จะทำให้ลดการใช้พลังงานลงได้ ก็ออกแบบกันได้เป็นต้น แต่ ณ วันนี้มันไม่มีจินตนาการใดๆ สำหรับประเทศไทยในการออกแบบ เพราะทุกอย่างอยู่ภายใต้อำนาจของสายธุรกิจฟอสซิลหมดเลย ภายใต้การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างที่ว่าไว้ การจัดตั้งกองทุนอนุรักษ์พลังงานก็ไม่ได้เกี่ยวพันอะไรกับการลดใช้ฟอสซิล ทำให้เรารู้สึกว่าเลิกยา(เสพติด) ไม่ได้แล้วถ้าเปรียบเทียบนะถ้าพูดถึงพลังงานฟอสซิลเป็นยาเสพติดนั้น คนไทยก็เหมือนมีคนจ่ายยาให้ตลอดเวลา แล้วก็เลิกยาไม่ได้ ถ้าเลิกคุณก็ลงแดงตาย สภาพก็คล้ายๆ ถ้าไม่ขุดเจาะปิโตรเลียม เราก็จะตายทั้งประเทศ ปิโตรเลียมเหมือนการหยอดยาบ้าให้คนไทยถ้ามีพลังงานไฟฟ้ามาใช้ได้จริง จะช่วยลดปัญหานี้ไหมเราอย่าเพิ่งคิดไกล ต้องรู้ว่าการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยกับรถยนต์นั้น อันที่ใช้เยอะที่สุดคือน้ำมันดีเซล วันละ 60 ล้านลิตร เบนซินรวมทุกประเภทไม่ว่าจะ 91 หรือ 95 วันละ 20 ล้านลิตร เราจะออกแบบลดการใช้พลังงานแล้วไปออกแบบเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับรถที่ใช้น้ำมันเบนซิน ซึ่งมีผลบวกเพียงส่วนน้อยที่ 20 ล้านลิตรเท่านั้น ทำไมเราไม่ไปออกแบบดีเซลที่ใช้ 60 ล้านลิตรแทน เราก็ออกแบบได้ว่า ดีเซลส่วนใหญ่เป็นรถเพื่อการขนส่งในเชิงพาณิชย์ ถ้าอยากลดระบบที่ส่วนใหญ่เป็นระบบล้อ คุณก็เปลี่ยนเป็นระบบราง เริ่มต้นจากระบบรางคู่ก่อน ซึ่งเห็นด้วยที่รัฐบาลเริ่มคิดที่จะพัฒนาระบบรถไฟรางคู่ ก็จะทำให้การขนส่งทางรถไฟนั้นมีศักยภาพมากขึ้น พอรถไฟรางคู่เกิดขึ้น การใช้ระบบทางล้อก็จะลดลงก็จะลดการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อการขนส่งทางล้อไปโดยปริยายแต่เพราะอะไรถึงยังมีการปล่อยให้ใช้ดีเซลที่วันละ 60 ล้านลิตรอยู่ เพราะว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยขายได้ราคาสูงกว่าการส่งออกไปขายที่ตลาดสิงคโปร์ เพราะการส่งออกไม่ได้รับค่าจูงใจเหมือนที่ขายในประเทศ เลยมีการเบี่ยงเบนประเด็นว่าใช้รถไฟฟ้าไหม ซึ่งต้นทุนยังไงมันก็ต้องใช้พลังงานเพื่อปั่นกระแสไฟฟ้าอยู่ดี แล้วมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และก็ผิดกลุ่มเป้าหมาย ในทางยุทธศาสตร์คุณต้องวางว่าใครที่มันกินมากที่สุดก็ทำงานตรงนั้น ซึ่งรัฐก็กำลังออกแบบมาเพื่อทำตรงนั้นแสดงว่าเริ่มมาถูกทางแล้วก็ปรับมาจากการใช้รถไฟความเร็วสูงเพื่อส่งคนในเชิงการท่องเที่ยวก็อาจจะโยงกับสายจีน ทำให้ไม่ได้เพื่อการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวแต่อาจเป็นเพื่อการขนส่งสินค้าด้วย เพราะเรามีสินค้าเยอะ และไทยเราเป็นประเทศที่เป็นตัวเชื่อมระหว่าง 2 ทะเล ก็มีสินค้าจากอินเดีย ตะวันออกกลางข้ามมหาสมุทรอินเดียมา ก็มาชนที่แหลมมลายู ขณะเดียวกันมหาสมุทรแปซิฟิกจากญี่ปุ่น จากจีน ก็มาชนที่ทะเลอ่าวไทย แต่ถ้าเราทำขนส่งทางรถ การดึงสินค้าจากจีนก็จะทำได้ดีขึ้น ตอนนี้มันมีการขนส่งทางเดียวคือทางแม่น้ำโขงก็คือทางเรือ ซึ่งจีนได้ไปหมดเพราะจีนล่องขึ้น แต่ไทยล่องลง เพราะฉะนั้นทางบกจึงยังเป็นสิ่งสำคัญ และสามารถเปิดเส้นทางได้อีกหลายประเทศ โดยเฉพาะเส้นทางขวางทุกทวีป คือจากเวียดนามไปพม่า เรียกเส้นทางขวางกลางประเทศไทย เพราะฉะนั้นเรื่องการท่องเที่ยวนั้นก็สบายแล้วเพราะไม่ต้องใช้รถยนต์ ซึ่งแต่ก่อนเราก็เคยมีเส้นทางขวาง อย่างเช่น เส้นเขมร คือเวียดนาม เขมร ไทย แต่เราไม่เคยทำเสร็จสักที ทีนี้เมื่อระบบรางเกิดขึ้นมันจะทำให้ระบบล้อลดการใช้โดยอัตโนมัติเพราะมันจะถูกกว่า ขนได้มากกว่า และปลอดภัยกว่า ความสูญเสียจะน้อยกว่า ก็อาจจะต้องรออีกสักหน่อยแต่ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่น่าเสียดายที่ว่าการลงทุนด้านขนส่งสาธารณะนี้ใช้วิธีกู้เงินมาลงทุน แทนที่จะเอารายได้จากการประกอบการกิจการปิโตรเลียมโดยตรงมาเป็นส่วนร่วมลงทุนก็ไม่ได้ จะเห็นว่าปิโตรเลียมไม่ได้มีความสัมพันธ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพประโยชน์โดยรวมเท่าไร แต่เป็นผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มอย่างเอาปิโตรเลียมมาทำปิโตรเคมีก็เป็นเฉพาะกลุ่มของเขาไป และจะเห็นว่าสินค้าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและเป็นสินค้าขยะ ไม่ว่าจะรถยนต์ 5 ปีก็หมดสภาพแล้วกลายเป็นขยะ เป็นเงินไหลออก หรือสินค้าพลาสติกทั้งหมดนั้นมีปัญหาอยู่ 2 อย่างคือเป็นขยะนี่แน่นอน และเป็นไหลออก และไม่ได้ส่งเสริมในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเลย เขาก็เลยจะแก้ปัญหาด้วยการสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะขึ้นมาให้ครบวงจร คือแทนที่จะลกการใช้ เขาคงไม่แฮปปี้ในด้านที่เราจะเอาขยะกลับมาใช้ใหม่ มารีไซเคิล เพราะมันจะลดปริมาณการใช้เม็ดพลาสติก เพราะฉะนั้นถ้าเขาสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาดักการรีไซเคิลของคุณเสีย มันก็ตัดทอนพลาสติกบางส่วนออกไปแล้วเติมพลาสติกใหม่ใส่เข้าไปในระบบ มองในระบบก็คงเกิดการหมุนเวียนเงินทุนเกิดขึ้นได้ ก็เป็นกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มเดียวกันเกิดขึ้นรู้สึกท้อบ้างไหมที่ต้องต่อสู้กับเรื่องใหญ่ขนาดนี้ไม่เลย ทุกวันนี้เห็นเป็นเชิงระบบมากขึ้น คือมันมีพัฒนาการทางการมองเห็นในโลกทัศน์ที่เพิ่มมากขึ้น อีกอย่างคือแต่ก่อนคนไทยก็ไม่ได้สนใจเรื่องพลังงาน แต่วันนี้กลายเป็นเรื่อง Talk of the town ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก แต่ปรากฏว่ามีคนไม่น้อยที่ให้ความสำคัญ และเห็นว่าเรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่ไม่คุยกันไม่ได้ และอยู่ในหนึ่งเรื่องของการปฏิรูปประเทศ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 164 รับมือสารตะกั่วในบ้านกับอาจารย์ ชาญณรงค์ ไวยพจน์

นอกจากเดือนตุลาคมจะเป็นเดือนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเราในหลายๆ เหตุการณ์ให้ได้ระลึกถึงแล้ว  เดือนนี้ยังเป็นเดือนที่มีการรณรงค์เกี่ยวกับความปลอดภัยจากสารตะกั่ว ชื่องานงานสัปดาห์ป้องกันภัยจากพิษตะกั่ว ปี 2557 ซึ่งในปีนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 22 ตุลาคม 2557 นิตยสารฉลาดซื้อจึงขออินเทรนกับสารตะกั่ว หลังจากได้ลงข้อมูลเกี่ยวกับสารตะกั่วในสีอัพเดทไปเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ถ้าจะกล่าวถึงเรื่องความปลอดภัยจากสารตะกั่ว รายชื่ออันดับต้นๆ ของนักวิชาการที่เคลื่อนไหวในเรื่องนี้คงนี้ไม่พ้น ชื่อ อ.ชาญณรงค์ ไวยพจน์ ประธานอนุกรรมการวิศวกรรมความปลอดภัย สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมความปลอดภัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่นอกจากท่านจะเฝ้าระวังเรื่องสารตะกั่วในสีแล้ว  อาจารย์ยังทำงานด้านที่เกี่ยวกับวิศวกรรมความปลอดภัย “ก็มีเรื่องสวนสนุก ตอนนี้ก็มีเรื่อง มอก. ความปลอดภัยในมาตรฐานเครื่องเล่นของเด็ก แล้วก็ที่ วสท. ก็เป็นประธานคณะอนุกรรมการวิชาการวิศวกรรมความปลอดภัย ก็ทำเรื่องมาตรฐานด้วยส่งให้ทาง สมอ. เรื่องสนามเด็กเล่นปลอดภัย ล่าสุดก็เครื่องเล่นปลอดภัยด้วย พวกเครื่องเล่นในสวนสนุก” แต่ถ้าเป็นงานในส่วนของการเลือกสีทาบ้านให้ปลอดภัยจากสารตะกั่ว อ.ชาญณรงค์  มีคำแนะนำสำหรับผู้บริโภคดังนี้ค่ะ ในบ้านของเรามีส่วนที่ต้องใช้สีทำไมถึงต้องใช้ตะกั่วเป็นส่วนผสม จำเป็นต้องใช้ไหมและเรามีวิธีป้องกันอย่างไร มันมี 2 แบบ แบบที่ตั้งใจกับแบบที่ปนเปื้อนมาในส่วนต่างๆ ข้อดีของมัน(สีผสมสารตะกั่ว) คือ ปกปิดผิวได้เรียบร้อยและทำให้สีอยู่ทนนาน รวมทั้งสะท้อนสีออกมาได้สว่างขึ้น สดใสขึ้น นี่คือข้อดีของเขา ถ้าเป็นลักษณะจงใจก็จะมีแค่นี้ คงทน สีสดใส ปกปิดผิวได้ดี แต่ข้อเสียคือมันมีผลต่อร่างกายของคนเรา ผู้ทาที่ได้รับโดยตรง จากไอที่ระเหยออกมา และที่ปนเปื้อนอยู่ที่มือถ้าไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกัน และผู้ใช้ที่อยู่บ้าน สีที่ผนังถ้าวันหนึ่งสีมันหลุดออกมาแล้วลูกหลานเผลอกินเข้าไปก็เป็นอันตรายต่อร่างกาย สาเหตุอีกข้อหนึ่งที่ว่าทำไมต้องใช้สารตะกั่ว จริงๆ มีมานานแล้วโดยเฉพาะสีน้ำมัน ช่วยให้มีความคงทนในเรื่องการทำสี ทำให้สีนั้นอยู่ได้นาน ทำให้สีสะท้อนออกมาได้ดี ช่วยในเรื่องการเกาะแน่น สีน้ำมันที่ทาในบ้านเราเจอจากพวกอะไรบ้าง เจอในพวกโลหะ รั้วกันตก ประตูหน้าต่าง และขอบวงกบที่ยังใช้สีน้ำมัน ซึ่งความจริงทาแค่นี้มันก็ไม่เยอะแต่ที่เยอะๆ คือเขาเอาไปทาภายใน แบบนี้ถึงจะอันตราย ซึ่งเกิดจากความเข้าใจผิด ที่ถูกคือการทาผิวปูนก็ควรเป็นสีน้ำ แต่ถ้าทาพวกพื้นไม้ หรือโลหะก็ยังนิยมใช้เป็นสีน้ำมันอยู่ ความเข้าใจที่ว่าถ้าทาสีน้ำมันจะทำให้ลบรอยเปื้อนได้ง่าย อย่างกรณีโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก นั้นคือเขามองด้านเดียว มองด้านที่ว่าทาแล้วมันลื่น แล้วก็ลบได้ ขีดเขียนแล้วลบง่าย ถ้าอยู่กลางแจ้งสีน้ำมันที่ทากับคอนกรีตนั้นเวลาโดนน้ำจะพองตัวออกมา ควรมีคำแนะนำในการใช้ไหม เรื่องสีทาภายนอก ภายใน เห็นควรว่าที่กระป๋องสีนั้นควรจะเขียนให้ชัดเจน ว่าเป็นสีที่ทาภายนอก บางยี่ห้อเขามีนะแต่ตัวมันเล็กไปหน่อย ควรเน้นสีให้ชัดเจนว่าใช้ทาภายนอก( แต่สีน้ำมันแพงกว่าสีน้ำ ) แพงกว่า สีน้ำที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับสีน้ำมันก็จะแพงกว่าอีก แกลลอนหนึ่งประมาณสองพันกว่าบาท แต่ถ้า 18 ลิตรก็พันกว่าบาท ถ้าเป็นสีเกรดพีเมียมนั้นก็สองพันขึ้นไป ถ้าเราจ้างผู้รับเหมาแล้วกำหนดยี่ห้อไปเลยแต่สีมันก็มีหลายเกรดอีก ต้องระบุไปเลยว่าขอสีเกรด A มันถึงจะมีความคงทน เกรด B นี่ทนทานประมาณ 5 ปี ถ้าเกรด A ก็อยู่ได้ 10 ปีขึ้นไป เวลาสีมันหมดอายุก็จะเป็นผงแป้ง ในโลกนี้มีไหมบริษัทสีที่ไม่ใช้สารตะกั่ว มีบ้างแต่น้อย ในทางปฏิบัติมันก็มีสอดแทรกไปบ้าง คือเราต้องทำให้คนมีความรู้ว่าสีที่มีสารตะกั่วนั้นมันมีประโยชน์และมีโทษอย่างไร เขาจะได้มีสิทธิเลือก  เวลาคนเลือกซื้อจะไม่ได้คำนึงถึงเรื่องสารตะกั่วแต่จะคิดถึงความสวยงามของสี คนซื้อขั้นแรกต้องนึกถึงสีก่อน สีอะไรสวย หลังจากนั้นก็มาดูยี่ห้อโดยไม่ได้ดูเกรด ไม่ดูคุณภาพเลย เราต้องดูควบคู่กันไปแต่บางทีมันก็ติดเรื่องราคาอีก มันต้องช่วยๆ กันในหลายๆ ฝ่าย แม้กระทั่งราชการก็ควรกำหนดให้ใช้สีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่มีสารตะกั่ว ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็เริ่มตื่นตัวกันแล้ว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนี่ต้องอย่างไรบ้างถึงจะเรียกว่าเป็นมิตร 1.ต้องไม่ทำลาย 2. ต้องไม่เป็นอันตรายต่อสภาพทั่วๆ ไป ถ้าพูดให้ชัดคืออยากให้ปลอดสารตะกั่ว  ซึ่งก็มีบางบริษัทมาบอกว่าสีคุณภาพนี้รุ่นนี้ยังไม่มีขอเปลี่ยนในรุ่นใหม่ เพราะว่าทั้งนี้ทั้งนั้นมีเฉพาะสีน้ำมันเท่านั้นที่มีสารตะกั่ว แต่ถ้าหากเราจะเลือกซื้อสีเบื้องต้นนั้น โดยทั่วไปก็ดูสีสันก่อน ต่อมาก็เลือกยี่ห้อ ยี่ห้อที่หลักๆ จากนั้นก็ดูที่คุณภาพแล้วก็เรื่องปลอดสาร เพราะฉะนั้นเรื่องที่เราอยากรณรงค์คือ ให้บริษัทสีทำให้ปลอดสารตะกั่ว และกำหนดให้ไม่เกิน 90 ppm แล้วติดฉลากให้ชัดเจนไปเลยว่ามีค่าสารตะกั่วเท่านี้ ผู้ซื้อจะได้เลือกได้ว่าค่าเท่านี้ควรจะใช้กับอะไร รวมทั้งประเภทของสีนั้นต้องทำให้ตัวใหญ่ขึ้น พวกของเล่นในสนามเด็กเล่นเป็นสีน้ำมันใช่ไหม สีน้ำมันทั้งนั้นเลย แล้วเวลาเด็กเล่นก็จะอม แทะ ต้องรณรงค์บริษัทผลิตเครื่องเล่นขายให้เขาไม่ใช้สีน้ำมัน ให้ใช้สีปลอดสาร ส่วนที่ยังวางอยู่ต้องทำให้หมดไปภายใน 2 ปี แล้วต่อไปก็ไม่ผลิตเครื่องเล่นที่ใช้สีน้ำมันออกมาขาย ต่อไปมันก็จะไม่มี อย่างนี้เวลาคนสร้างบ้านแล้วใช้สีน้ำมันมาทาภายในจะทำอย่างไร ด้วยความที่เข้าใจว่าสีน้ำมันลบง่าย มันลบง่ายก็จริง และไม่โดนน้ำก็อยู่ได้นาน แต่อีกด้านหนึ่งมันมีสารตะกั่ว ต้องลอกออกแล้วทาสีที่ปลอดสารเข้าไปใหม่ แต่ไม่ควรทำเองนะ ควรให้ช่างทำเพราะมันมีขั้นตอน และต้องรวบรวมเอาไปให้ กทม.ทิ้ง แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ก็เอาไปทิ้งตามกองขยะเลย ขยะพิษก็ไม่แยกกันให้ชัดเจน บางที่แยกไปแล้วก็โดนเอาไปทิ้งรวมกัน ทางที่ดีก็ใส่ถุงแยกไว้แล้วติดป้ายเลยว่าขยะเป็นพิษ ถ้าพูดเป็นทฤษฎีก็พูดได้นะแต่ส่วนใหญ่คนก็ไม่ค่อยทำ นี่คือวิธีการลอกด้วยการใช้น้ำฉีดแล้วปล่อยให้มันพองออกมา อีกวิธีคือใช้ความร้อนเป่า แต่วิธีนี้มันทำให้ผนังไม่ดี ต้องใช้กับพวกโลหะ แต่สีมันก็จะโดนเผาไปในตัว กลิ่นก็ออกมาด้วย ไม่ดีๆ หลังจากลอกแล้วก็ทำความสะอาด และตามด้วยการขัด ขัดเพื่อให้พื้นผิวมันเนียน แล้วจึงปรับสภาพปูนนิดหนึ่ง ความชื้นต้องไม่มาก ไม่เกิน 11 – 12 %  การใช้สารเคมีทาไปให้ร่อนก็เป็นการใช้ความร้อนอีกวิธีเหมือนกัน ทาไปแล้วมันจะร้อนแล้วก็ค่อยๆ ร่อนออกมา หลังจากปรับสภาพปูนแล้วค่อยทาสีใหม่ ทั้งนี้เจ้าของบ้านก็ควรมีความรู้เรื่องสีด้วย สีไม่ควรมีค่าเกิน 90 ppm ถึงจะดี ตอนนี้บริษัทผู้ผลิตรู้ คนใช้ก็รู้บ้างไม่รู้บ้าง อย่างนี้คนที่อาศัยอาคารเช่า แฟลต คอนโดจะทำอย่างไร อันนี้คือของเก่า ต้องของใหม่ที่เรารณรงค์ให้ใช้สีที่ปลอดสาร แต่วิธีแก้บางที่เขาไม่ใช้เลยก็มี ใช้วอลเปเปอร์แทน อาจารย์เคยรณรงค์กับบริษัทก่อสร้างใหญ่ๆ ไหม เคยแนะนำ แล้วมันต้องช่วยกันหลายทาง คุยกับสมาคมสีด้วยให้ช่วยกำหนดไม่ให้มีสารตะกั่ว อยากให้ช่วยแนะนำคนที่อาศัยอยู่ในอาคารเก่าที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรืออาจจะไม่รู้ว่ามันมีอันตรายว่าเขาควรทำอย่างไร ก็เหมือนตัวเรา ถ้าเราเพิ่งรู้ว่าสีที่ทามันมีสารตะกั่ว ก็ให้ใช้ชีวิตไปแบบปกติอย่าไปยุ่งกับผนัง อย่าไปลอกมัน แต่ตรวจสอบหน่อยว่าสีมันลอกออกมาไหม แล้วอย่าลืมใส่ถุงมือก่อนสัมผัส ถ้าสีลอกให้ทำการเปลี่ยนทันทีตามขั้นตอน เพราะถ้าสีลอกร่อนออกมานั่นคือสีหมดอายุแล้ว ต้องแจ้งผู้ดูแลอาคารให้ดำเนินการเลย ก็คือใช้ชีวิตไปตามปกติอย่าไปกังวลกับมัน แต่ต้องแจ้งคนในบ้านว่าอย่าไปลอกสี อย่าเอามือไปถูสี หรือลอกเอามาตรวจคุณภาพสีเลยก็ได้ แกะมาแค่ประมาณ 1 นิ้วก็พอ ถ้าหลีกเลี่ยงมาทาผนังด้วยสีขาส สีขาวมีสารตะกั่วน้อยกว่าสีอื่นๆ ไหม ก็น้อยกว่าสีอื่นแต่ก็เกินมาตรฐานเหมือนกัน และส่วนใหญ่คนที่ใช้สีน้ำมันจะชอบใช้สีสดๆ ยิ่งเจอ 2 อย่างเลยทั้งสารตะกั่วและปรอท ถ้าใช้สีอ่อนสารก็น้อยกว่าแต่ก็ยังเกินเกณฑ์ที่กำหนดอยู่ดี สีที่ผสมมาแล้วในปูนมอร์ต้าร์ ( ปูนซีเมนต์ผสมสำเร็จ สำหรับฉาบผนัง )ใช้ได้ไหม ได้ แบบนั้นไม่มีสารตะกั่ว เป็นสีฝุ่นผสมลงไปเลย ฉาบแล้วเป็นสีสันสวย แต่ราคามันค่อนข้างแพง อยากให้แนะนำว่าทำผนังบ้านอย่างไรให้ปลอดภัยจากสารตะกั่ว อย่างแรกเลย ใช้สีที่ปลอดสาร ข้อ 2 ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนไปใช้วอลเปเปอร์แทนหรือไม่ใช้สี ใช้ปูนขัดมันแทน ข้อ 3 ใช้ปูนเปลือยหรืออิฐเปลือย พวกปูนสีก็มี แล้วก่อผนังอิฐโชว์ลายเสีย นี่ก็เป็นทางออกได้ชัดเจนเลย ถ้าเป็นไม้ก็ทาแค่พวกน้ำยารักษาเนื้อไม้ที่ปลอดสารก็พอ อยากให้ อ.พูดถึงการที่จะหลุดจากกรอบเดิมๆ ที่ว่าบ้านต้องทาสีสดๆ ถึงจะสวย ไม่ต้องไปคำนึงถึงความนิยมให้นึกถึงความปลอดภัยเป็นหลักๆ ง่ายๆ เราจะฉลาดอยู่อย่างไร มันพูดยากนะ คนเรามันมีความเป็นศิลปะ มีความสุนทรีย์ แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ไปเอาอย่างคนอื่นเขา เราต้องนึกถึงความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะเราสามารถเลือกอย่างอื่นแทนได้ ไม่จำเป็นต้องใช้สีก็ได้ ในระหว่างที่เรายังไม่มีสีที่ปลอดสารทั้งหมดก็ใช้ทางเลือกอื่นไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 163 วาสนา ธนมิตรามณี สมาชิกฉลาดซื้อจากแดนใต้

...ก็เขียนย่อเอาไว้เกือบทุกเล่มเลย เพราะว่าเราอายุมากแล้วบางทีก็จำไม่ได้ ก็จะย่อๆ เอาไว้ จดเนื้อหา ก็จดทุกคอลัมน์นะ ฉลาดช้อป เรื่องอาหาร ข้อคิดในละคร อ่านทุกคอลัมน์ ทำให้เราเขียนหนังสือได้เร็วด้วย แต่ถ้าเรื่องไหนยาวมากๆ ก็ฉีกเก็บไว้เลย ขี้เกียจจด แต่เนื้อหามันดี ชอบก็ฉีกเก็บไว้ ฉลาดซื้อ ฉบับนี้ล่องใต้กันมาที่ เมืองแห่งดินแดนร้อยเกาะ  แค่ประโยคเดียวหลายๆ คนคงจะร้องอ๋อ และพูดประโยคต่อไปกันได้เลย  ถูกแล้วค่ะ  ฉลาดซื้อพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับสมาชิกที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี วาสนา ธนมิตรามณี สมาชิกนัมเบอร์ต้นๆ ของเรา  คุณวาสนาอ่านฉลาดซื้อ ตั้งแต่ทำงานเป็นพยาบาล ที่โรงพยาบาลศิริราช ที่เธอบอกกับเราว่า เวลาทำงานยุ่งมากๆ  จนเมื่อหนังสือมาส่งแล้ววางกองๆ ไว้ก่อน เมื่อพอมีเวลาจึงหยิบมาอ่านทีละเล่มๆ จนปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้วจึงย้ายกลับมาอยู่ที่บ้านใน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานีก็ยังคงติดตามฉลาดซื้อไม่ขาด รู้จักฉลาดซื้อได้อย่างไร จำไม่ได้แล้วว่ารับฉลาดซื้อมาตั้งแต่ฉบับไหน ไม่รู้ไปซื้อมาได้อย่างไรด้วย นานมาก ซื้อคู่กับหมอชาวบ้านเลย ชอบอ่าน อ่านทุกหน้า เมื่อก่อนเป็นพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชก็ไม่ค่อยมีเวลา แต่ตอนนี้เกษียณแล้วพอมีเวลาบ้างก็อ่านเป็นความรู้ ชอบคอลัมน์ไหนบ้างคะ ชอบเสียงผู้บริโภค อ่านเอาไว้เป็นตัวอย่าง แต่ยังไม่เคยเจอเรื่องไหนกับตัวเองนะ เคยเอาเนื้อหาอะไรจากหนังสือไปใช้บ้างไหม มีพวกเรื่องทดสอบต่างๆ บางทีก็บอกพี่สาวว่าอันนี้ๆ ดี แล้วก็เขียนย่อเอาไว้เกือบทุกเล่มเลย เพราะว่าเราอายุมากแล้วบางทีก็จำไม่ได้ ก็จะย่อๆ เอาไว้ จดเนื้อหา ก็จดทุกคอลัมน์นะ ฉลาดช้อป เรื่องอาหาร ข้อคิดในละคร อ่านทุกคอลัมน์ ทำให้เราเขียนหนังสือได้เร็วด้วย แต่ถ้าเรื่องไหนยาวมากๆ ก็ฉีกเก็บไว้เลย ขี้เกียจจด แต่เนื้อหามันดี ชอบก็ฉีกเก็บไว้ เมื่อก่อนเป็นพยาบาลก็ไม่มีเวลา บางเดือนก็ไม่ได้อ่าน ตอนนี้ได้อ่านทุกเล่ม บางทีลูกเขยก็เอาไปอ่าน อ่านทั้งครอบครัว พอไปกรุงเทพฯ ก็ไปสมัครสมาชิกไว้ทีละ 2 ปีเลย เพราะอยู่แถวนี้จะออกไปไปรษณีย์หรือธนาคารก็ยาก อาศัยตอนเข้ากรุงเทพฯ ก็สมัครไว้ สมัครคู่กับหมอชาวบ้าน แต่ฉลาดซื้อมาช้ากว่านะ บางทีหมอชาวบ้านมาแล้วแต่ฉลาดซื้อกลางเดือนแล้วยังไม่มา ก็ลองโทรไปสอบถาม ตอนนี้รู้แล้วว่าออกช้า คือกลัวว่ามันจะไปตกหล่นอยู่ที่ไปรษณีย์(แต่ก็ได้รับครบทุกเล่ม) สนใจอยากให้ทำเรื่องเป็นพิเศษบ้างไหม ก็ดีอยู่แล้วนะ คอลัมน์มีอะไรในละคร การวิจารณ์ตัวละครคนเขียนเขาช่างเขียนวิจารณ์เก่งจริงๆ เลย ส่วนเรื่องทดสอบก็มีพวกสินค้าบางอย่าง ราคาเดิมแต่ปริมาณมันลดลง แล้วก็มีเรื่องน้ำมันทอดซ้ำ มีร้านแถวๆ นี้ที่เวลาทอดไปแล้วก็เติมๆ น้ำมันลงไป แล้วขายดีมากเลยนะปาท่องโก๋ร้านเขา มันก็อยู่ที่สาธารณสุขจังหวัดด้วย เพราะถ้ามาตรวจมันก็ทำไม่ได้ทั่วทั้งหมด มีเรื่องพวกสารเคมีในผักผลไม้ ปกติซื้อในตลาด แม่ค้าเขาบอกเหมือนกันทั้งนั้น หาที่ไม่ฉีดยาไม่ได้แล้วสมัยนี้ เราก็ต้องซื้อมาล้างหลายน้ำแล้วก็ลวกเอา แต่อาหารทะเลไม่มีปัญหานะเพราะมาตรงเลยไม่ได้แช่แข็ง หนังสือที่อ่านเก็บไว้ทั้งหมดเลยไหม เมื่อก่อนตอนอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชพออ่านเสร็จแล้วก็เอาไปวางไว้ตามตึกต่างๆ ในโรงพยาบาล เพื่อให้คนอื่นๆ ได้อ่าน แต่หนังสือก็ไม่สมบูรณ์นะเพราะบางเล่มก็โดนเราฉีกบางหน้าไปเก็บ แต่ตอนนี้ก็เก็บไว้ หนังสือที่เก็บก็ตั้งๆ เรียงไว้ตาม พ.ศ. เอาไว้ คู่กับหมอชาวบ้าน  ส่วนเรื่องที่บันทึกเก็บเอาไว้เตือนความจำนั้น  เราเลือกเอาจากความสนใจ  คือ  อันไหนที่เราสนใจ  เราก็จะจดเอาไว้   วันนั้นทีมงานกับสมาชิกพูดคุยกันสนุกสนานมาก พวกเรารู้สึกปลื้มใจที่ฉลาดซื้อมีแฟนพันธุ์แท้ระดับตำนานมากมาย มีโอกาสจะไปเยี่ยมเยียนให้ทั่วถึงทุกภาคนะคะ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 162 รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ

ฉลาดซื้อฉบับที่ผ่านมา เราพาไปรู้จักกับบุคลากรด้านสาธารณสุขในหลายวิชาชีพ ในฉบับนี้จึงขอส่งท้ายอีกสักเล่ม เพราะหลายๆ ครั้งที่ชาวฉลาดซื้อไปออกบูธตามงานหนังสือ มักมีสมาชิกจำนวนไม่น้อยเลยที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพสายตา ยิ่งเดี๋ยวนี้มีข่าวอันตรายจากบิ๊กอายส์ เลนส์สี หรือบางคนก็ใส่คอนแทคเลนส์แบบไม่ถูกวิธี วันนี้จึงขอพาไปพูดคุยกับคุณหมอ รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ รองหัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา ฝ่ายบัณฑิตศึกษา  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณหมอท่านเป็นจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขากระจกตา  ซึ่งท่านเล่าให้ฟังว่า ที่เลือกเรียนในสาขานี้ เพราะเป็นความสนใจส่วนตัว  เนื่องจากคนเราต้องรับรู้เกือบทุกอย่างผ่าน หู ตา คอ จมูก แต่คุณหมอพบว่าตามันเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนมาก เลยรู้สึกสนใจเป็นพิเศษ และเทคโนโลยีเรื่องการรักษาตามันไปไกลมากเมื่อเทียบกับด้านอื่นๆ ก็เลยรู้สึกสนุกและติดตามด้านนี้อย่างต่อเนื่อง เรื่องตามันช่วยบ่งบอกเรื่องสุขภาพในด้านอื่นๆ ด้วยไหม โรคบางอย่างของร่างกายมันโชว์ที่ตานะ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือการได้รับยาบางอย่าง โรคเนื้องอกที่แพร่กระจายบางอย่างเราสามารถหาหลักฐานทางตาเอาไปช่วยสนับสนุนได้ อย่างเช่น เราเห็นว่ามีไขมันฝังอยู่ในตาของเด็กที่อายุน้อยเกินไป เพราะปกติอาการแบบนี้จะพบในคนอายุประมาณ 35 – 40 ปีขึ้นไป ถ้าตรวจเจอในอายุน้อยกว่านั้นเรารู้แล้วว่าคนนั้นมีภาวะไขมันในเลือดสูง หรือบางคนตาแห้ง ตาพอง ก็ส่งไปตรวจว่าเป็นไทรอยด์หรือเปล่า สถานการณ์เด่นๆ ของการเจ็บป่วยเกี่ยวกับดวงตา ในระยะ 2 – 3 ปีที่ผ่านมามีอะไรบ้าง ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาเรื่องที่จะเจอบ่อยๆ มีอยู่ 2 เรื่อง คือการใช้คอนแทคเลนส์ การใช้ Mobile Device หรือที่มีการเล่นไลน์กัน  2 ส่วนนี้ทำให้มีคนไข้มาหาเราเยอะมาก ในส่วนแรกเรื่องของคอนแทคเลนส์นั้น จริงๆ การใส่คอนแทคเลนส์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วส่วนใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการมองเห็น  แต่เนื่องจากว่ามีเรื่องของแฟชั่นเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น หรือการเลียนแบบดาราต่างประเทศ ทำให้หลายคนคิดว่าต้องมีตาดำที่โต ตาดำที่แหวกแนวแบบพวกดาราเหล่านั้น เพราะฉะนั้นคอนแทคเลนส์ก็เลยมีแบบสวยงามเพื่อใส่ตอนกลางวันทำงานออกมา แล้วก็มีแบบปาร์ตี้ แล้วการใช้คอนแทคเลนส์นั้น  เลนส์ยิ่งใหญ่มันจะทำให้ไปบดบังออกซิเจนไม่ให้เข้าตา ซึ่งลูกตาก็จะขาดออกซิเจนได้ แล้วก็จะทำให้เส้นเลือดเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตาแดงได้ คนไข้ก็มาเพราะไม่สบายตา อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วๆ ไป   แต่สิ่งที่สำคัญที่ลงหนังสือพิมพ์ในช่วง 1 – 2 ปีนี้คือ ตัวคอนแทคเลนส์นั้นกลับมาถูกเด็กเล็กในอายุสิบกว่าๆ ซึ่งอายุเท่านี้เป็นวัยที่สมัยก่อนต้องให้พ่อแม่พามาซื้อ แต่เดี๋ยวนี้มีขายเกลื่อนในท้องตลาดซึ่งทำให้ซื้อหาง่าย พอซื้อหาง่ายดูในทีวีสวยก็ซื้อมาใส่ แต่ด้วยปัจจัยของเด็กที่มีไม่ได้เยอะ ทำให้มีการเอามาแลกกันใส่โดยไม่ได้คำนึงถึงการที่มันพอดีกับสายตาของตนเอง เพราะลูกตาคนเราไม่เท่ากัน ไม่มีการเคิร์ฟของลูกตาดำว่าเท่าไร แล้วพอซื้อตามร้านก็ซื้ออะไรก็ไม่รู้ ทำให้เกิดความไม่คงที่ ทำให้ปวดตาได้ หรือความที่ไม่รู้ทำให้มาแลกกันใช้ ไม่มีการให้ความรู้ในเรื่องความสะอาด ปกติคอนแทคเลนส์ต้องล้างทุกวัน ด้วยล้างน้ำยา แต่เด็กพวกนี้ไม่ได้ทำเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเกิดการติดเชื้อที่ดุมาก คือเชื้อนี้เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อกระจกตา ทำให้กระจกตาทะลุ และอาจทำให้ตาบอดได้ เป็นอันตรายที่คิดว่าต้องหาทางป้องกัน การป้องกันต้องป้องกันในสองลักษณะคือ หนึ่ง เกิดจากเด็กที่ไม่มีความรู้ และสอง คือมีขายเกลื่อนตามท้องตลาด มันเข้าถึงง่ายเกินไป  ซึ่งอาจจะเป็นของที่ไม่ได้มาตรฐานด้วยซ้ำ การที่เด็กใช้คอนแทคเลนส์ไม่ถูกวิธี เพราะฉะนั้นเวลาติดเชื้อขึ้นมา การรักษาเนื่องจากเด็กเคืองตาแล้วปล่อยทิ้งไว้  ไม่ได้มาหาหมอทันที การรักษาก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง แล้วเรื่องที่เกี่ยวกับแสงจากโทรศัพท์มือถือ คนไข้ที่มาหาที่ห้องผู้ป่วยนอกมีเยอะมากเลย คือ เคืองตา ไม่สบายตา แสบตา ซักถามไปมาก็คือมันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยในปัจจุบันเพราะเราทุกคนต้องใช้ เด็กก็ใช้ คุณครูก็ใช้สั่งงานผ่านทาง Facebook แล้ว และเวลาเด็กเข้าไปทำงานเขาก็ไม่ได้เข้าผ่านจอคอมพิวเตอร์แล้วเขาใช้ผ่านมือถือ เพราะฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว ที่สหรัฐอเมริกา เขาทำการศึกษาเลยว่า การใช้โทรศัพท์มือถือ ไอแพด รวมทั้งคอมพิวเตอร์นั้น มีกี่เปอร์เซ็นต์ใช้เกิน 10 ชั่วโมง กี่เปอร์เซ็นต์ใช้เกิน 6 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นการใช้ของพวกนี้พบเลยว่า แสงจากหน้าจอทำให้แสบตา อันที่ 2 คือหน้าจอเครื่องพวกนี้มันมีความ Bright มาก คือ เวลาเราดูภาพอะไรเล็กๆ เราจะจ้องเขม็งไม่ได้กะพริบตา เคยมีการศึกษาโดยเอาเครื่องมือมาจับการกะพริบตาพบว่า การกะพริบตาของคนเราลดลงได้ 2 – 10 เท่าเลยทีเดียวในขณะจ้องอยู่หน้าจอพวกนี้ ยิ่งเวลาเล่นเกมยิ่งไม่กะพริบตาเลย กะพริบก็กะพริบเร็วๆ ไม่สุด เพราะฉะนั้นเมื่อตาอยู่อย่างนั้นน้ำตาก็ระเหย ตาก็จะแห้ง แล้วก็แสบตา การจ้องนานๆ กล้ามเนื้อทำงานเยอะนอกจากแสบตาและตาแห้งแล้ว การจ้องนานๆ กล้ามเนื้อไม่คลายทำให้ปวดตาและเห็นเป็นภาพซ้อน มองภาพแล้วเบลอ และถ้าเราหลีกเลี่ยงไม่ได้เราต้องให้ความรู้ในการที่จะใช้เครื่องมือพวกนี้ ต้องให้ทุกคตระหนักว่าการใช้เครื่องมือพวกนี้ทำอย่างไร มันก็มีเทคนิคการใช้เครื่องมือพวกนี้เหมือนกัน เวลาที่ใช้คอมพิวเตอร์เราไม่ควรใช้ติดต่อกันอย่างยาวนาน เพราะพบว่าการใช้ติดต่อกันยาวๆ นั้นก่อโรคแน่นอนเรียกว่า คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม(Computer vision syndrome) ซึ่งโรคพวกนี้เป็นกันอยู่แล้วคนทำงานออฟฟิศ นักเรียนหรือคนที่ทำงานต้องใช้คอมพิวเตอร์อยู่ตลอดเวลา จริงๆ เราสามารถใช้คอมพิวเตอร์วันละ 6 ชั่วโมง ได้ถ้าเราใช้ถูกต้อง ถูกต้องคือ เริ่มจากเลือกคอมพิวเตอร์ เลือกเก้าอี้ มือต้องวางระนาบ ตัวต้องสูงขึ้นมา ตาต้องหลุบมองแนวต่ำถ้าตาเบิกขึ้นไปน้ำตาจะระเหย คอมพิวเตอร์ต้องอยู่ต่ำกว่าสายตานิดหน่อย แล้วประมาณ 20 – 30 นาทีให้เบรกหรือพัก เบรกหมายถึง เบรกจากการมองคอมพิวเตอร์หรือการมองที่ใกล้ๆ ให้มองไปที่ไกลๆ เป็นระยะอนันต์เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว เมื่อกล้ามเนื้อคลายตัวประมาณ 5 – 10 นาที เช่นพักไปห้องน้ำ ไปชงกาแฟดื่ม อย่างนั้นจะทำงาน 6 หรือ 8 ชั่วโมง ก็ทำได้ และระหว่างนั้นแสงสว่างในห้องต้องดีด้วย ไม่อยู่ในที่มืดเวลาทำงาน หรือดูหนังในห้องแล้วปิดไฟ สำหรับตำแหน่งที่ตั้งของไฟไม่ตั้งให้ส่องไปที่คอมพิวเตอร์เพราะจะทำให้แสงสะท้อน ตั้งคอมพิวเตอร์ไว้ใกล้หน้าต่างแสงก็สะท้อนเข้ามาเหมือนกัน เรื่องความสว่าง(Bright) นี่ก็สำคัญ Resolution ความคม ตัวหนังสือ  Font เป็นอย่างไร แนะนำคือ ต้อง 3 เท่าของตัวหนังสือที่เล็กที่สุดที่เราพอมองเห็นได้ ระหว่างทำตำแหน่งเก้าอี้เราต้องพอดีกับตัวคีย์บอร์ด นิสัยของการใช้คอมพิวเตอร์ที่ดีคือ ต้องพยายามเบรกให้ได้ และกะพริบตาบ่อยๆ หมอต้องบังคับให้คนไข้กะพริบตาบ่อยๆ กะพริบตาอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังไงก็ยังมีอาการตาแห้งมาหาเรื่อยๆ  สิ่งที่หมอช่วยได้ ก็คือเติมน้ำตาเทียมเข้าไปเวลาที่รู้สึกล้าที่ดวงตา ไม่สบายตา เบรก เติมน้ำตาเทียม กะพริบตาบ่อยๆ ก็จะช่วยได้ ซึ่งการให้ความรู้พวกนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ปัญหาแบบเด็กสายตาสั้นก่อนวัยอันควรมีบ้างไหมคะ คนไข้ส่วนใหญ่ที่หมอพบ จะพบว่าคนมาหาเนื่องจากเคืองตา ไม่สบายตา ค่อนข้างเยอะ ทำให้สูญเสียเงินในการที่จะดูแล ต้องใช้ยา ส่วนปัญหาในเด็กที่พบคือ วุ้นตาเสื่อม ซึ่งอาการแบบนี้สมัยก่อนต้องอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป ถึงจะพบวุ้นตาเสื่อม ปัจจุบันในอายุ 20 – 30 ปีก็พบว่าเริ่มมีวุ้นตาเสื่อม แต่ยังไม่สามารถตอบได้ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะไม่ได้ทำการศึกษาเป็นตัวเลขไว้ แต่จากประสบการณ์คือมันเยอะกว่าในทฤษฎีที่เคยเรียนมา เป็นปรากฏการณ์ที่พบในปัจจุบัน มีข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่จะทำอย่างไรให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เข้ามาเกี่ยวกับเรื่องสายตา ต้องบอกว่าถ้าเราจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เราก็ต้องไล่ตามว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ให้รู้เท่าทัน เพราะมันมีทั้งคุณ และโทษ เราต้องรู้ว่า อะไรบ้างที่อาจจะเป็นปัญหากับสุขภาพเรา เช่น คอมพิวเตอร์ดีมากเลยเราจำเป็นต้องใช้ แต่เราต้องรู้ว่ามันจะส่งผลเสียกับตานะ ทำให้เกิดคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมได้นะ และยังมีผลกับร่างกายได้ด้วย เช่น ถ้าเราตั้งมือขึ้นมาพิมพ์คีย์บอร์ดเราก็จะปวดข้อมือ เพราะฉะนั้นมือเราต้องอยู่ในระดับระนาบ บางทีคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมมันทำให้เรารู้สึกเมื่อย เพลีย เหมือนเป็นคนป่วยเลยนะ เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ร่างกายเราอยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง ต้องติดตามว่าประสิทธิภาพในการใช้เครื่องมือพวกนี้เป็นอย่างไร ได้มาตรฐานไหม เพราะฉะนั้นเวลาจะซื้อมาใช้ก็ต้องคิดเหมือนกันว่า รุ่นนี้เมื่อก่อนจอคอมพิวเตอร์เป็นจอนูน ซึ่งมันปล่อยรังสีได้ แต่เดี๋ยวนี้เป็นจอแอลซีดีไม่มีใครใช้จอนูนแล้ว เรื่องของรังสีก็ปลอดภัยในระดับหนึ่ง   เรื่องแสงจ้านี้พวกฟิล์มกรองแสงช่วยได้บ้างไหม มันจะช่วยให้สบายตา ก็จะมีแว่นที่ช่วยกรองแสงจากคอมพิวเตอร์สำหรับคนที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์นานๆ ก็มีแว่นที่ช่วยป้องกันไม่ให้มัน Brightness เกินไป อาจจะเป็นสีเทา กรองแสงสีฟ้าไปด้วยในตัว ก็จะมีแว่นเฉพาะเพิ่มความสบายตาให้คนไข้ เพราะฉะนั้นผู้บริโภคที่ต้องใช้ของพวกนี้ก็ต้องไปสืบหาว่าใช้คอมพิวเตอร์วิธีที่ถูกต้องคืออะไร ซึ่งจริงๆ แล้วก็หาอ่านได้ทั่วๆ ไปทั้งในอินเตอร์เน็ตและหนังสือ ปัญหาเกี่ยวกับตาที่พูดมาจะนำไปสู่ปัญหาเรื่องตาอื่นๆ หรือไม่ เช่น พวกต้อหิน ต้อกระจก ไม่เกี่ยวกับต้อหิน แต่จะเกี่ยวกับกระจกตา ผิวตา คือปัญหาเรื่องตาแห้ง ตาออกแดงๆ ตลอดเวลา ต้องเติมน้ำตาเทียมตลอดเวลา ความไม่สบายตา ผิวตานั้นถ้าเป็นมากผิวตาจะร่อน และโอกาสที่จะติดเชื้อก็เพิ่มมากกว่าปกติ ในผู้สูงอายุปัญหาด้านสายตาที่มาจากเทคโนโลยีมีบ้างไหมคะ ก็มีคนไข้ที่อายุมากแล้วเหมือนกัน คือเขาทำงานประเภทเล่นหุ้นไง จ้องกันทั้งวัน ตาก็แดงก่ำ พอใส่คอนแทคเลนส์ ซึ่งคอนแทคเลนส์มันทำให้ตาแห้งได้ง่ายอยู่แล้ว แล้วใช้คอมพิวเตอร์ด้วยอันนี้เลยเหมือน 2 เด้ง และพวกผู้สูงอายุที่ใช้ไอแพด ซึ่งจริงๆ มันก็ช่วยพัฒนาสมองส่วนหนึ่งนะ แต่ด้วยการใช้ที่ไม่ถูกต้องก็เกิดปัญหาได้ มันจึงต้องทำให้ความรู้ตรงนี้มากขึ้น   การบริจาคดวงตา ยังมีความสำคัญไหม สถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง การบริจาคตามีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่กระจกตาพิการ กระจกตาเป็นส่วนใสๆ ที่อยู่ชั้นนอกสุดที่หักเหของแสง เป็นส่วนที่สำคัญมากเปรียบเทียบเหมือนเป็นจอทีวีเลย เมื่อแสงผ่านกระจกที่ไม่ใสเข้าไปได้คนไข้ตาก็มัว มองไม่เห็น เพราะฉะนั้นเราแก้ด้วยการเปลี่ยนกระจกใสๆ ก็สามารถช่วยได้ แต่ประเด็นคือทำไมถึงมีโรคพวกนี้เยอะ เพราะเป็นตั้งแต่เด็ก ทั้งเกิดอุบัติเหตุ และเมืองไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ชาวนา ชาวไร่โดนใบไม้ ใบหญ้าบาดเยอะมาก พอกระจกตาเสียไปจะกลายเป็นฝ้า แสงก็จะผ่านไม่ได้ พอแสงผ่านไม่ได้ภาพจะเบลอ แล้วการเปลี่ยนกระจกตานั้น มีคิวประมาณเจ็ดพันถ้าหมอจำไม่ผิด แล้วปีหนึ่งเราก็ผ่าตาได้ไม่เยอะ ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ก็มีการรับบริจาคกับสภากาชาดไทย แต่ว่าประเทศไทยก็มีการยึดติดเรื่องการบริจาคตาว่าถ้าตายไปแล้วจะกลับบ้านไม่ถูก ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง หรือถ้าแม่จะบริจาคแต่ลูกไม่ให้ก็ไม่มีสิทธิ ต้องบอกว่าปัจจุบันดวงตา 1 ดวงนั้นทำประโยชน์ให้กับคนไข้ได้หลายคนเลย กระจกตาชั้นนอกทำอย่าง ชั้นในทำอย่าง ตาขาวใช้ได้อีก แต่ก็ขาดแคลนอีกเยอะเลย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 161 ทันตแพทย์หญิงสถาพร ถิ่นบูรณะกุล

ยังอยู่ในช่วงเปิดใจสมาชิกฉลาดซื้อค่ะ เมื่อครั้งที่แล้วไปเยี่ยมพี่เภสัชกรมา ครั้งนี้ชวนมาพูดคุยสบายๆ กับหมอฟันบ้าง คุณหมอสถาพรหรือทันตแพทย์หญิงสถาพร ถิ่นบูรณะกุล สมาชิกรุ่นบุกเบิกเช่นกัน ในเย็นของวันฝนพรำ พวกเราหยุดยืนหน้าคลินิกทันตแพทย์แห่งหนึ่ง ย่านวงเวียนน้ำพุ บริเวณใกล้ๆ กับสถานีรถไฟนครลำปาง คุณหมอสถาพร ออกมาต้อนรับพร้อมใบหน้าเปื้อนยิ้ม คุณหมอเล่าว่านอกจากจะทำงานเป็นหมอฟัน(ปัจจุบันเป็นคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ทันตแพทยสภา) โดยเปิดคลินิกให้บริการในช่วงเย็นของทุกวันแล้ว  งานหลักของเธอยังทำงานที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะด้วย “อยู่ที่การไฟฟ้าแม่เมาะค่ะ เป็นลูกจ้างที่เข้าไปทำงานเป็นบางวัน เวลาไปทำงานก็จะถือฉลาดซื้อไปด้วย ไปให้คนอื่นได้อ่าน แต่รุ่นเก่าๆ ก็บริจาคไปเยอะแล้ว บริจาคให้ห้องสมุด แต่เล่มใหม่ๆ ก็ยังเก็บไว้เผื่อว่าจะซื้ออะไรก็จะไปค้นมา” คุณหมอช่างเป็นแฟนพันธุ์แท้ฉลาดซื้อตัวแม่จริงๆ  ไม่แค่อ่านฉลาดซื้อเท่านั้น ยังช่วยเป็นพรีเซนเตอร์ให้ด้วย   เข้าใจว่าบางอย่างเราไม่สามารถทำเองได้ โดยเราอาจจะไม่มีสถาบันที่ทำได้เท่าเขา ทำให้การทดสอบบางอย่าง สมมติว่าทดสอบผงซักฟอก ซึ่งบางยี่ห้อก็ไม่มีในบ้านเรานะ ที่บ้านเรามีขายเขาก็ไม่ได้มาทดสอบ ก็ไม่รู้จะอ่านไปทำไม ก็อยากให้พัฒนา อย่างเรื่องผงซักฟอกถ้าเรามีเครือข่ายอยู่ต่างประเทศ ก็ขอส่งผงซักฟอกของไทยสัก 2 ยี่ห้อไปทดสอบด้วยได้ไหม รู้จักฉลาดซื้อได้อย่างไร และชอบอ่านคอลัมน์ไหนบ้าง รู้จักมานานมาก และก็เป็นสมาชิกมาตลอด ชอบคอลัมน์เปรียบเทียบที่ทำเป็นตารางๆ จะชอบอ่านแบบนั้น ชอบอ่านผลิตภัณฑ์ที่เอามาทดสอบ แล้วก็ชอบเล่นเกมค่ะ เกมอักษรไขว้ด้านท้ายเล่ม   ฉลาดซื้อช่วยอะไรคุณหมอได้บ้างคะ ของบางอย่าง บางทีเรายังไม่สนใจไง ตรงไหนที่เรารู้สึกว่าเราสนใจก็จะรู้สึกว่ามันเป็นประโยชน์มาก แต่อย่างของบางอย่างอ่านผ่านๆ อาจยังไม่สนใจ แต่พอเราอยากได้เราก็จะไปคุ้ยๆ หนังสือมาดู(เพราะฉลาดซื้อทำทดสอบหลายเรื่อง) ก็จะได้ข้อมูลที่เคยทดสอบว่าอันไหนดี อันไหนไม่ดี เป็นเหมือนหนังสือคู่มือการเลือกซื้อของ  และชอบเรื่องที่ร้องเรียน “เสียงผู้บริโภค” อันนี้ทำให้เรารู้กว้าง และระมัดระวังว่าเคยมีคนเจอเรื่องแบบนี้มา ทำให้เราระมัดระวังมากขึ้น   อยากให้ปรับปรุงส่วนไหนบ้าง เนื้อหาที่อยากให้ปรับปรุงมีส่วนที่เอาข้อมูลจากเมืองนอกมา (การทดสอบจาก ICRT) ซึ่งก็เข้าใจว่าบางอย่างเราไม่สามารถทำเองได้ โดยเราอาจจะไม่มีสถาบันที่ทำได้เท่าเขา ทำให้การทดสอบบางอย่าง สมมติว่าทดสอบผงซักฟอก ซึ่งบางยี่ห้อก็ไม่มีในบ้านเรานะ ที่บ้านเรามีขายเขาก็ไม่ได้มาทดสอบ ก็ไม่รู้จะอ่านไปทำไม ก็อยากให้พัฒนา อย่างเรื่องผงซักฟอกถ้าเรามีเครือข่ายอยู่ต่างประเทศ ก็ขอส่งผงซักฟอกของไทยสัก 2 ยี่ห้อไปทดสอบด้วยได้ไหม เป็นลักษณะเครือข่ายไม่รู้จะเป็นไปได้ไหม   คุณหมอเคยมีประสบการณ์เรื่องการใช้สิทธิอะไรบ้างไหม เคยไปร้องเรียนทีหนึ่งนะ นานมากแล้ว ตอนนั้นเคยไปซื้อทัวร์แล้วโดนโกง เราก็ไม่รู้จะไปพึ่งใครก็ไปแจ้งความเพราะไม่รู้กระบวนการว่าควรต้องทำอย่างไร แล้วพอดีบริษัททัวร์เขาไปทำผิดซ้ำ เราก็ล่อซื้อแล้วก็จับได้ เพราะว่าเราไม่ได้โดนคนเดียว มีเพื่อน และเพื่อนของเพื่อนโดนด้วย ก็จับเข้าคุกไปแล้ว เรื่องอื่นๆ ก็มีเรื่องที่แนะนำเด็กๆ ไปคือ เด็กที่ไปโครงการ Work and travel ก็บอกให้น้องไปติดต่อเองเพราะเขาเป็นผู้เสียหาย ไม่รู้มีใครไปร้องเรียนหรือยัง น้องๆ เขาโดนโกงก็ให้เบอร์ติดต่อมูลนิธิฯ ไปแต่ไม่ได้ติดตาม ได้แต่ให้คำแนะนำเขาอย่างเดียว ในฐานะหมอฟันที่นี่มีปัญหาเรื่องหลอกลวง อย่างการจัดฟันแฟชั่นบ้างไหม ถ้ามีคนไข้ที่มาจากการจัดฟันแฟชั่นที่เกิดปัญหา หรือต้องการที่จะจัดฟันแฟชั่น  เราก็จะอธิบายถึง ข้อเสียให้เขาฟังว่า  มันเป็นอย่างไร  มันคืออะไร  มีผลกระทบอย่างไร  เช่น อาจจะทำให้ฟันผุ  เพราะว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรเลย อันนี้คือคนที่อยากจะทำ  แต่ว่ายังไม่ได้ทำ  แล้วในคนที่ทำแล้ว  แล้วเกิดปัญหา เราก็จะแนะนำให้เขาเอาออก  แต่บางคนยังอยากสวยอยู่   ไม่อยากเอาออก เราก็จะอธิบายให้เขาฟังว่า  ถ้ายังไม่เอาออก ก็จะทำให้ฟันผุ และเครื่องมือที่ไม่ได้มาตรฐานก็อาจจะเป็นอันตรายเพิ่มได้ ส่วนการเลือกการให้บริการที่คลินิกนั้น อย่างแรกที่เรามองคือ จะเหมาะกับร้านเราไหม อย่างเช่นร้านเราตั้งอยู่ต่างจังหวัด การทำรากฟันเทียม  แม้ว่าเราอยากจะทำ ก็ทำไม่ได้ เพราะว่าคนไข้ ซับพอร์ตราคาไม่ได้   เราต้องมองหลายๆ อย่าง  บางอย่างเราเลือกมันมาแล้ว  จะมีคนไข้ทำหรือไม่  อย่างที่กรุงเทพ ฯ จะโอเค  คนอาจจะไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย   ฉะนั้นการที่เราจะเลือกอะไรมาให้บริการที่ร้านเราจะต้องคำนึงถึงคนไข้ในพื้นที่ของเราด้วย ว่าเขาพร้อมหรือไม่ ในส่วนของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการทำฟันที่เรานำมาใช้นั้นเราจะเลือกเฉพาะที่ผ่านการรับรองและได้มาตรฐานตามที่มหาวิทยาลัยทำการทดสอบและเชื่อถือได้อยู่แล้ว  ในส่วนของที่ร้านจะรับปัญหาปลายทางมากกว่า  อย่างเรื่องจัดฟันแฟชั่นก็มีมากเป็นบางช่วงๆ ที่ฮิตๆ หรือมีการโปรโมทกัน ก็จะมีคนเข้ามามากหน่อย   ช่วงนี้ไม่ค่อยมีมาเท่าไร ก็จางๆ ไป   คุณหมอมีวิธีชักชวนคนมาอ่านฉลาดซื้ออย่างไร เอาหนังสือไปให้เขาอ่าน บางทีก็ถือไปที่ทำงานแล้วก็วางไว้ ก็มีคนเห็นแล้วสนใจก็ไปสมัครสมาชิกก็มีนะ  ส่วนเรื่องของสมนาคุณเมื่อสมัครเป็นสมาชิกฉลาดซื้อ  ชั้นวางของสมาชิก 5 ปีก็ดีนะ ตอนนี้ก็เอามาใช้แล้ว พวกกระเป๋าผ้ามันมีเยอะแล้วไง ถ้าไม่ใช่กระเป๋าก็ทำเป็นพวกพวงกุญแจ ทำให้น่ารักๆ หรือร่มก็ดี  ถ้าทำเป็นหนังสือแจแนวสุขภาพก็จะดีค่ะ   ท้ายนี้อยากจะฝากเรื่องอะไร ขอฝากเรื่องหนึ่งเพราะเป็นคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ทันตแพทยสภา บางทีมันมีข่าวที่เราอยากหาช่องทางประชาสัมพันธ์ เช่น ข่าวจัดฟันแฟชั่น ซึ่งบางข่าวเราแก้ตัวไม่ทันเลย อย่างที่มีข่าวสรยุทธออกมาว่ามีแมงในปาก เราก็อยากจะประชาสัมพันธ์ว่ามันไม่ใช่นะ ก็อยากให้ช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องพวกนี้ จะแทรกหรือฝากแปะในเว็บไซต์ก็ได้ ตรงนี้น่าจะช่วยกันได้เร็วขึ้น //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 160 คนฉลาดซื้อ...ภญ.วารุณี เจือสันติกุลชัย

ทุกคนมีสิทธิฉบับขึ้นปีที่ 21 นี้เราจะพาท่านไปพบกับสมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อที่อุดหนุนกันมาตั้งแต่ฉบับแรกๆ   ติดตามเป็นแฟนพันธุ์แท้กันมาตั้งแต่ปี 2537 มาจนปัจจุบัน   เป็นเภสัชกรหญิงที่เรียกได้ว่าทำงานเชิงพาณิชย์ผสมผสานกับงานชุมชนได้อย่างลงตัว เป็นทั้งคนขายยา ไปจนกระทั่งเสมือนญาติ พี่น้องของชาวบ้านร้านตลาดในบริเวณนั้น  เราเดินทางไปหา ภญ.วารุณี เจือสันติกุลชัย   ที่ร้านขายยาใจกลางกาดหลวง หรือตลาดวโรรส  ตลาดที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ ในบ่ายของเดือนที่เกือบร้อนที่สุดของปี งานที่ร้านยาของพี่เป็นอย่างไรบ้าง ร้านยาของเราเป็นประเภทที่เรียกว่า Stand alone คือ เจ้าของคนเดียว ไม่ใช่รูปแบบบริษัท ไม่ได้จ้างเภสัชกร เราเปิดร้านเอง ขายเอง มีธุระก็ปิดร้าน เลยไม่มีปัญหาที่ตอนนี้มีปัญหาว่าร้านยาไม่มีเภสัชฯ อยู่ แต่ข้อเสียก็มีบ้าง เช่นบางครั้งลูกค้าประจำอยากมาหาก็จะไม่เจอ เราก็ติดเบอร์โทรไว้ให้ลูกค้าสามารถติดต่อได้ อาชีพเภสัชฯ ก็เหมือนเป็นที่ปรึกษา สามารถปรึกษาได้ทุกเรื่อง บางคนไปหาหมอมาแล้วมีปัญหาคาใจ บางคนไปซื้อยามาหลายที่แล้วไม่หาย ก็หอบหิ้วยามาถามก็มี หลายๆ ครั้งก็พยายามไม่จ่ายยาเอง แต่จะแนะนำที่ๆ เรารู้จักหรือที่ๆ เขาควรจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง   การเลือกยาเข้าร้านมีหลักการในการเลือกอย่างไร ก่อนจะเปิดร้านยาเคยอยู่โรงพยาบาลและสาธารณสุขจังหวัด เพราะฉะนั้นค่อนข้างจะรู้ส่วนหนึ่งว่าการคัดเลือกยาเข้าโรงพยาบาล เขามีเกณฑ์ตั้งอะไรบ้าง ตัวไหนมี GMP ตัวไหนมีโรงงานเก่าแก่ รวมทั้งดูรูปลักษณ์ของยา appearance เม็ดยาสวยไหม บรรจุหีบห่อดีไหม แพ็กเกจให้ข้อมูลดีไหม บางอย่างดีหมดแต่ต้องให้เราสั่งมาทีละเยอะๆ สต็อกเก็บไว้ก็ไม่ไหว บางอันเขาตัดเป็นปริมาณเล็กๆ ให้เราสั่งมาขายได้เรื่อยๆ มันเสื่อมสภาพ หมดอายุไป เราสามารถเปลี่ยนได้ ก็จะค่อนข้างโอเคกับบริษัทพวกนี้มากกว่า   การให้ความรู้เรื่องยากับคนที่มาซื้อ เช่นเรื่องยาชื่อสามัญมีบ้างไหม ให้ข้อมูลทั้ง 2 อย่าง คือเขาควรรู้จักชื่อทางการค้าและชื่อสามัญด้วย เราก็พยายามให้ความรู้ไป แต่เวลาเขียนบนซองยาเราต้องเขียนเป็นชื่อการค้าด้วย เพราะถ้าเขียนเป็นชื่อสามัญเวลาลูกค้าหยิบไปซื้อที่อื่นก็จะกลายเป็นชื่อสามัญอะไรก็ไม่รู้ แล้วลูกค้าก็จะตอบไม่ได้ว่ายาที่เขาใช้อยู่คือยาอะไร แต่ถ้าเราเขียนชื่อการค้าด้วย ชื่อสามัญด้วย และเราแนะนำเขาไปด้วยนั้น เวลาเขาไปซื้อเขาจะเข้าใจว่า ยาไดโคลฟีแนคนะ ยี่ห้ออะไรก็ได้ เป็นต้น เภสัชกรเวลาแนะนำยาต้องอย่าไปดูที่ตัวยาอย่างเดียว เราต้องดูที่องค์รวมของคนไข้ด้วย  ทำให้เขาหายจากโรค บางครั้งต้องให้คำแนะนำเหมือนครูสอนสุขศึกษาว่า โรคที่เขาเป็นเกิดจากเชื้อโรค หรือเกิดจากความประพฤติที่ไม่ถูกต้อง และเราจะต้องแก้ไขตรงปัจจัยตรงไหนบ้าง เพื่อรักษาโรคที่เป็นอยู่ให้หายและป้องกันไม่ให้เป็นอีก อย่างเช่นโรคเชื้อราที่ผิวหนังต้องแก้จากชีวิตประจำวัน ประมาณนี้ เพราะหลายๆ ครั้งลูกค้าประจำที่เป็นพ่อค้า แม่ค้าอยู่ในตลาด ส่วนใหญ่ที่เป็นคือ ปวดหลัง ปวดเอว จากการยกของ มันเป็นเรื่องที่ต้องพักนะ กินยาแล้วก็ต้องหยุดพัก แต่พ่อค้า แม่ค้าเขาหยุดไม่ได้ เหมือนกับว่ากินยาบรรเทาแล้วก็ต้องทำงาน เราก็ต้องบอกว่าถ้ากินยาแล้วทำงานต่อคุณจะหายช้า มันจะเรื้อรัง เราต้องหาทางเลือกให้เขา เช่น ถ้าต้องยกของต้องช่วยกันยก 2 คน หรือบางคนอาการไม่ดีก็ต้องแนะนำให้ไปหาหมอ มีคนเข้ามาซื้อยาหรือขอความรู้จากที่เขาได้ฟังโฆษณาเกินจริงตามสื่อต่างๆ บ้างไหม จริงๆ บางอย่างเราก็เอามาขายนะ เพราะถ้าเราไม่ขายลูกค้ามาถามหาแล้วไม่มีเขาก็ไป เขาไม่ได้เปิดโอกาสในการคุย และบางครั้งถ้าของมันมีขายตามโฆษณาวิทยุ ตามสื่อท้องถิ่น เราเรียกอยู่ 2 อย่าง คือ หนึ่งมันถูกต้องไหม มันผิดที่ผลิตภัณฑ์ผิดหรือผิดที่วิธีการใช้ กับอีกอันคือผลิตภัณฑ์มันผิด ถ้าผลิตภัณฑ์มันผิดไม่เอามาขายแน่นอน แต่ถ้าสมมติว่าตัวยามันไม่ได้ผิด เช่น กาโน่ ตัวผลิตภัณฑ์มันไม่ผิดแต่วิธีใช้มันผิดหมดเลยตามโฆษณา การที่เราไม่มีขายเลยเราไม่มีโอกาสให้ความรู้ที่ถูกต้องในการใช้ยา แต่ถ้าเรามีมันเหมือนเราได้สอนเขาบ้าง ถ้าลูกค้าจะซื้อนั่นคือสิทธิของเขาแล้ว แต่ถ้าไม่มีขายเลยลูกค้าออกจากร้านเราเขาก็ไปซื้อร้านอื่น แต่การใช้ยาที่ผิดมันก็ยังคงอยู่ เมื่อลูกค้าเข้ามาแต่ไม่ได้ยากลับไป ทางร้านได้ให้คำแนะนำเขาไปอย่างไรบ้าง เยอะเลย ล่าสุดมีคุณป้าน้ำหนักตัวประมาณ 70 กก. มีอาการปวดเข่า ก็ซักถามข้อมูลเคยรับการรักษาจากคุณหมอ เคยกินยาแล้วแต่ไม่หาย เราดูก็รู้ว่าเกิดจากข้อเข่าเสื่อม ซึ่งคุณป้าก็รู้และรักษาโรงพยาบาลประจำอยู่ คุณหมอให้คุณป้าควบคุมน้ำหนักแต่คุณป้าคุมไม่ได้ กินยามาเยอะแล้วไม่อยากกินยาอีกจึงอยากได้ยาทา เราต้องบอกไปว่าคุณป้าอายุขนาดนี้ ทำงานแบบนี้ สาเหตุมันคือข้อเข่าเสื่อม ถ้ารักษากับหมอแล้วหมอให้ยา กินยาไม่หายต้องฉีด ถ้าฉีดไม่หายสุดท้ายต้องเปลี่ยนข้อเข่า คุณป้าก็ไม่ยอม ต้องบอกคุณป้าไปว่าถ้าปิดทางออกของตัวเองก็ต้องปวดต่อไป แล้วอีกหน่อยก็จะไปหายาแก้ปวดแรงๆ ยาสมุนไพรผสมสเตียรอยด์ เพราะฉะนั้นต้องทำความเข้าใจกับเขาว่าโรคที่เป็นอยู่นั้นเกิดจากพฤติกรรมการยืน การนั่ง การมีน้ำหนักตัวเยอะ การกินยามันจะช่วยบรรเทาชั่วครั้งคราว การแก้ไขปัญหาคือ จะต้องตั้งเป้าหมายร่วมกันว่า ต้องลดน้ำหนักได้ไหม ให้เขาตั้งเป้าหมาย ไม่อย่างนั้นปล่อยให้โรคมันเสื่อมไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะเดินไม่ได้ ต้องใช้ไม้เท้ามันจะเจ็บปวดกว่าตอนนี้ คุณป้าก็นั่งคิดนานมาก ก็จะให้คำปรึกษาประมาณนี้ แล้วก็มีเรื่องพวกผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสมรรถภาพทางเพศ เพราะบางทีเราให้ข้อมูลไปแต่ใจเขาคิดอีกอย่าง ซึ่งมันจะไม่ตรงกัน แล้วพวกที่มันเป็นผลิตภัณฑ์ไม่ถูกกฎหมายค่อนข้างจะมีเยอะ เราต้องอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจเพราะโรคพวกนี้เกี่ยวข้องกับจิตใจ บางคนมีโรคประจำตัวซึ่งต้องปรึกษาคุณหมอด้วย   เป็นสมาชิกฉลาดซื้อมาตั้งแต่ฉบับแรกๆ แสดงว่าฉลาดซื้อต้องมีประโยชน์กับพี่บ้าง เป็นสมาชิกมาเกือบ 10 ปีแล้ว กับอาชีพเภสัชกรนั้นมันทำให้เรารู้กว้างขึ้น เพราะไม่ค่อยได้เปิดวิทยุ หรือโทรทัศน์มาก เพราะว่าเปิดมาแล้วเจอแต่โฆษณาน่าเบื่อ แต่ฉลาดซื้อจะคัดกรองและเปรียบเทียบให้ ที่ชอบมากคือ เรื่องน้ำยาขัดห้องน้ำ เพราะชีวิตประจำวันเราก็ต้องใช้น้ำยาขัดห้องน้ำมาตั้งแต่เล็กจนโต เราก็รู้แค่ว่าอันนี้ฟู่หรือไม่ฟู่ อันนี้สะอาดหรือไม่สะอาด แต่เราไม่เคยมา differentiate อันไหนเป็นกรด เป็นด่าง อันไหนมีอันตรายมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าในท้องตลาดก็จะแบ่งแค่สีขาว สีชมพู สีม่วง เราก็ซื้อตามโฆษณาไป ซึ่งที่ทำเรื่องนี้ดีมากๆ อีกเรื่องคือรางปลั๊กไฟเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อันตรายมากๆ เพราะการที่เราเสียบแช่ไว้นานๆ ความร้อนที่มันเกิดขึ้นสามารถทำให้เกิดไฟไหม้ได้ แต่ที่ไม่เข้าใจก็มีอย่างพวกเรื่องกล้อง เพราะเราไม่ใช่คนเล่นกล้องก็จะไม่รู้ แต่เรื่องอื่นๆ เราก็ยังเปรียบเทียบได้ โดยรวมแล้วชอบตรงที่ไม่มีโฆษณาด้วย เพราะตอนนี้หนังสือดีๆ หลายเล่มแทรกโฆษณาไป 50 % เรารู้สึกว่าต้องจ่ายเงินไปกับสิ่งที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เปลืองทรัพยากรโดยไม่ใช่เหตุ หลังๆ ก็อ่านแล้วพยายามเก็บข้อมูลให้ได้แล้วนำหนังสือไปแจกตามห้องสมุดบ้าง กาชาดบ้าง ไม่อยากอ่านแล้วเก็บไว้คนเดียวมันไม่มีประโยชน์ เพราะว่าเราจะได้ใช้ก็คือการจุดประกายเป็นภูมิต้านทานให้กับลูกค้าเรา หรือว่านำมาสอนน้องๆ ได้เสริมให้คนอื่นที่ได้อ่านก็จะดี รู้จักฉลาดซื้อครั้งแรกที่ไหน จบเภสัชฯ แล้วไปใช้ทุนที่สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอนปี 2537 เป็นปีที่เริ่มฉลาดซื้อพอดี (หัวเราะ) ก็ได้เป็นข้อมูลเยอะแยะมากที่จะเอามาสอนงานคุ้มครองผู้บริโภค เพราะว่าตอนนั้นปัญหาค่อนข้างจะเยอะ ก็เลยรู้สึกว่าถึงแม้เราจะเป็นเภสัชกรนั้นแต่เรื่องอาหาร เรื่องยา เรื่องเครื่องสำอาง พวกเรื่อง DDT เรื่องวัตถุอันตรายในสาธารณสุขในบ้านที่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราไม่ค่อยจะรู้ อย่างเช่น เรื่องขนมปังที่ไม่มีวันขึ้นรา เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ซึ่งถ้าเรารู้ 1 คนเราสามารถจะสอนคนรอบข้างเราได้ มันช่วยให้ในอนาคตนั้นการเจ็บป่วยมันลดน้อยลง มากกว่าการที่เราไปหายาที่ดีๆ แรงๆ เทคโนโลยีทางการแพทย์ แล้วมาตามรักษาไม่ทัน   คอลัมน์โปรด ชอบคอลัมน์เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ อย่างเช่นสุ่มตรวจแหนม สุ่มตรวจผัก เพราะบางทีเราสงสัยอะไรเราไม่มีกำลังจะไปสุ่มตรวจส่งกรมวิทยาศาสตร์ฯ พวกครีมทาผิว ครีมทาฝ้า ครีมกันแดดแต่ละตัวเป็นอย่างไรบ้าง แม้กระทั่งการเปรียบเทียบราคาต่อซีซีเรื่องนี้เยี่ยมมาก และที่ได้ประโยชน์มากคือข้อร้องเรียน หลายครั้งที่เราเจอปัญหากับตัวเอง จะเป็นคนประเภทที่ ช่างมัน ไม่ค่อยร้องเรียนเรื่องอะไรเลย แต่จะเรียนรู้จากบทเรียนทำให้เรารัดกุมมากขึ้น แต่ถ้ามองอีกแบบหนึ่ง คนที่ช่างมันแบบเรานั้นมีเป็นล้านคน เพราะฉะนั้นมูลค่าของการเสียประโยชน์ และถูกบริษัทเอาเปรียบจากตรงนี้มันเยอะ ก็จะได้เรียนรู้ข้อกฎหมายจากตรงนี้ด้วย อย่างเช่นเรื่องบ้าน เรื่องคอนโดฯ ร้องเรียนเรื่องรถ เรื่องโทรศัพท์มือถือ ที่มีประโยชน์มากๆ ถ้าให้แนะนำคนอื่นเรื่องนิตยสารฉลาดซื้อ คือตัวเรามีลูก เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับเด็กก็เรื่องอาหารการกิน เรื่องโภชนาการ สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนข้อมูลที่เราจะเลือกประเภทอาหารกับขนมให้ลูกได้ พอเราเลือกได้เราก็จะสร้างนิสัยให้ลูกได้และมันก็จะติดกับตัวเขาไปจนโต โอกาสที่ลูกจะได้รับสารปรุงแต่งจากอาหารก็จะน้อย และรู้สึกว่าเขาจะไม่ชอบใช้ภาชนะที่ใช้แล้วทิ้ง รู้สึกว่าลูกมีความรักษ์โลกมากขึ้น ขยะตรงนี้เอามาใช้ได้อีก ขยะอันนี้กี่ปีถึงจะย่อยสลาย เขาก็มีความเข้าใจตรงนี้ได้ดี ถ้าเราสร้างพื้นฐานให้กับคนรุ่นใหม่ได้เราก็จะไม่ต้องห่วงสิ่งแวดล้อม เวลาดูโทรทัศน์ลูกแยกได้ว่าอันไหนจริง อันไหนไม่จริง ก็ขอแค่นี้ก็พอ เพราะว่าอย่าไปหวังพึ่งนโยบายอะไรใหญ่ๆ มาก บางครั้งมันช้า และสื่อที่มันเป็นโซเชียลเราไม่สามารถไปบังคับมันได้ อย่างเช่นการโฆษณาอาหารเสริมต่างๆ บน Facebook มันอันตรายเกินไป เด็กสมัยนี้จะไม่มีข้อมูลว่าที่โฆษณาว่าขาวไวภายใน 7 วัน มันเป็นไปไม่ได้ ตามหลักแล้วมันไม่เป็นจริง อย่างน้อยเด็กต้องได้รู้ว่าอันไหนมันสมเหตุสมผลก็จะช่วยกรองไม่ให้ถูกหลอก ตรงนี้ “ฉลาดซื้อ” ช่วยได้   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 159 ความมั่นคงด้านอาหารเป็นเรื่องของทุกคน

ฉลาดซื้อ ฉบับนี้จะพาไปพบกับนักกิจกรรมทางสังคมด้านการเกษตร แถวหน้าของประเทศไทย วิฑูรย์  เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ( BioThai ) ที่มีความฝันว่าวันหนึ่งเกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบต่างๆ จะเกิดขึ้นในสังคมบ้านเรา ประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอันดับต้น ๆ ของโลก แต่มีปัญหามากมายเหลือเกินที่ยังไม่มีการแก้ไข และทำให้ผู้ชายคนนี้ตัดสินใจเลือกจะเดินทางเพื่อเป็นนักกิจกรรมทางสังคมตั้งแต่ยังเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยจนเมื่อเรียนจบจึงตัดสินใจทำงานรณรงค์เป็นอาชีพ  และทำงานรณรงค์เรื่อยมาจนกระทั่งมีผลงานเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ต่อเนื่อง ยาวนาน  ผลงานที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง คือ เกาะติดการเจรจาเขตการค้าเสรี  หรือ FTA , การรณรงค์ไม่ใช้สารเคมีในพืชผัก และที่เป็นข่าวฮือฮาเมื่อกลางปี 2556 ที่ผ่านมาคือ การตรวจข้าวหอมมะลิ ในปีนี้มูลนิธิชีววิถีทำกิจกรรมหลักอะไรบ้าง ก็มี 3 เรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรกสุดคือ ฟื้นฟูทรัพยากรอาหาร เช่น พวกเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ เราใช้คำว่า ทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของเรื่องอาหาร คือระบบอาหารสมัยใหม่นั้น ถ้าใครสามารถยึดตัวพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ในทางชีวะได้ เขาจะสามารถกำหนดระบบการผลิตอาหารได้เลย เราเคยได้ยินเรื่องการตัดแต่งพันธุ์พืช ตัดแต่งพันธุกรรมใช่ไหม มันกำหนดได้ว่าจะต้องใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชยี่ห้ออะไร เป็นต้น เช่นเดียวกัน เราเปลี่ยนมาเป็นพันธุ์สัตว์ หรือพันธุ์ไก่สมัยใหม่ นอกเหนือจากซื้อพันธุ์มาแล้วเราต้องซื้ออาหาร อย่างเรื่องอาหาร มูลนิธิฯ จะเน้นทรัพยากรชีวภาพ พวกเราก็พยายามสนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่นให้ฟื้นฟูและพัฒนาพวกสายพันธุ์พืช สายพันธุ์สัตว์ต่างๆ ก็ทำครอบคลุมหลายพืช ตั้งแต่ข้าวไปจนถึงไก่พื้นเมือง แม้กระทั่งข้าวโพดที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ด้วย เราก็ไปสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยนั้นสามารถปรับปรุงพัฒนา และผลิตพันธุ์พืชเหล่านี้ได้เอง ก็ทำร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรในท้องถิ่นนะ อันนี้เป็นงานพื้นฐานสำคัญ   งานที่สองนั้น เป็นงานที่ว่าด้วยเรื่อง การผลิตที่ยั่งยืน หมายความว่าเกษตรกรรมที่ใช้ในปัจจุบันนั้นเป็นการเกษตรที่ใช้สารเคมีเยอะ การผลิตที่เกษตรกรรายย่อยในชุมชนนั้นไม่ได้ประโยชน์ และมีแนวโน้มจะถูกแทนที่โดยระบบเกษตรอุตสาหกรรม เกษตรกรรมแบบนี้นั้นต้องใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก ประเด็นนี้เราก็พยายามเสนอแนวทางในการปรับเปลี่ยนการผลิตที่ไม่ยั่งยืน อย่างเช่น เกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบต่างๆ  เกษตรอินทรีย์เป็นต้น ก็ทำมาตั้งแต่ปี 2530 จุดเริ่มต้นคือปี 2527 ก็เกือบ 30 ปีแล้วที่ทำงานพวกนี้มาตลอด ปัจจุบันก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเกษตรยั่งยืน แต่เดี๋ยวนี้คนเขาอาจจะฮิตเกษตรอินทรีย์กันซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของเกษตรยั่งยืนที่เป็นงานของเรานะ ส่วนอันที่สามนั้น คือเกี่ยวข้องกับ วิธีการจัดการอาหารเพื่อสุขภาพวิถีไทย งานที่ว่าด้วยเรื่องของการส่งเสริมการบริโภค การตลาดที่เกื้อกูล เอื้ออำนวยให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อชุมชนและสุขภาพของผู้บริโภค ก็เป็นแนวความคิดว่าเรื่อง กินเปลี่ยนโลก ส่งเสริมวิถีการบริโภคที่ดี เกื้อกูลต่อความยั่งยืน คำนึงถึงความเป็นธรรมทางสังคม และงานบริโภคนั้นมันจะเกี่ยวข้องกับการตลาด การตลาดเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าด้วยกัน เราเองก็พยายามส่งเสริมตลาดท้องถิ่น หรือตลาดเกษตรกรนะ (Farmer Market) เพราะเล็งเห็นว่าระบบตลาดสมัยใหม่นั้นมีแนวโน้มที่อาหารการกินจะมาจากระบบอุตสาหกรรม เน้นการผลิตที่ใช้สารเคมีจำนวนมาก รวมไปถึงระบบอาหารมันจะไม่หลากหลายอีกต่อไป ซึ่งปัญหาแบบนี้ในตะวันตกก็มี แต่จริงๆ มีงานส่วนที่สี่ด้วยนะ ว่าด้วยเรื่องนโยบาย ติดตามนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรและอาหารต่อเนื่องตั้งแต่ประมาณปี 2540 ประมาณ 17 ปี ที่ทำงานด้านนโยบายมาต่อเนื่อง เช่นเราก็ติดตามประเด็นเรื่องจำนำข้าว เป็นต้นนะ ก็ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตามดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น เมื่อข้าวถูกสต๊อกไว้จนมันเน่า ประเด็นเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เรามีเครือข่ายชื่อว่าไทยแพน ( Thai-Pan)  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็เป็นพาร์ทเนอร์ที่สำคัญในส่วนที่เป็นการเฝ้าระวัง การตรวจสอบข้าวสาร เรื่องผัก ไปจนถึงเรื่อง FTA ที่เราทำไปกับ EU นั้นประเด็นที่มีผลกระทบกับเกษตรและอาหาร หรือทรัพยากรชีวภาพ ก็มีการทำงานร่วมกับนักวิชาการ เครือข่ายเกษตรกร และรวบรวมปัจจัยต่างๆ ในการเคลื่อนไหวเรื่องนี้เพื่อให้รัฐบาลมีจุดยืนที่ถูกต้องในการเจรจา FTA ในภาพรวม งานก็ค่อนข้างเยอะแต่คนทำงานเราก็ไม่ได้มากมายนะ อาศัยที่ว่าเครือข่ายที่ทำง่านกับพวกเรานั้นมันมีมิตร มีเพื่อนที่เป็นเครือข่ายกัน งานมันก็เลยทำออกไปร่วมกันได้ อีกเรื่องเราพบความจริงว่าผักและผลไม้ที่ขายอยู่ในตลาดทุกระดับ ที่โฆษณาว่าเป็นผักผลไม้ปลอดสารได้มาตรฐาน GAP มันไม่ได้ปลอดภัยมากไปกว่าผักผลไม้ที่ขายอยู่ในตลาดสด ในหลายกรณีเราพบว่ามันแย่กว่าด้วยซ้ำ ขณะนี้ สาธารณการณ์ด้าน FTA , สารเคมีในผัก อยู่ ณ จุดไหน ประเด็นเรื่อง FTA นั้นเป็นนโยบายระดับประเทศ ซึ่งคนคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว การที่รัฐบาลจะไปเจรจากับ FTA กับใครอย่างไง คนคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของประชาชน ไม่ใช่หน้าที่ของผู้บริโภคที่จะไปให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ หลังจากที่เราติดตามเรื่อง FTA เราพบว่ากระทบโดยตรงกับเกษตรกรและผู้บริโภค ยกตัวอย่างที่ง่ายที่สุด คือว่า กรณีการเจรจา FTA แรกๆ ที่ประเทศไทยมีการเจรจา เช่น ในปี 2546 เราเจรจากับไทยและจีน ซึ่งมีการตกลงให้มีการเปิดเสรีผักและผลไม้ ปรากฏว่าเมื่อมีการลดภาษีเป็นศูนย์ ผักและผลไม้ที่มาจากจีนก็จะทะลักเข้ามาในประเทศ เกษตรกรที่ปลูกกระเทียม เป็นต้น ที่ได้รับผลกระทบ พื้นที่การผลิตลดลงฮวบฮาบ เหลือประมาณ 60 % เพราะกระเทียมจีนราคาถูกกว่า แต่ว่าเมื่อผ่านไประยะหนึ่งเมื่อเกษตรกรเลิกผลิตและไม่หวนกลับมาผลิตแล้ว กระเทียมจีนก็ราคาสูงพอๆ กับกระเทียมไทย ซึ่งจะว่าไปแล้วกระเทียมไทยมีคุณภาพมากกว่าด้วยซ้ำ ที่เราเคยคิดว่าการทำ FTA มีผลกระทบใบเชิงบวกต่อผู้บริโภคได้ในราคาที่ถูกลงก็ไม่ใช่ อีกกรณีที่เห็นชัดเจนตอนนี้ คือเรื่องส้ม เมื่อก่อนเรามีส้มไทยเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันส้มจีนทะลักเข้ามา แต่มันมีสาเหตุอื่นด้วยนะ คือ มีการเปลี่ยนพื้นที่การปลูกผลไม้ไปเป็นยางพาราก็มีผลต่อราคาผลไม้ แต่ว่าสาเหตุอีกอันก็คือเรื่อง FTA ส้มจีนราคาถูกกว่า ที่นี่ส้มไทยก็กลับมีราคาแพง แล้วถ้าไปดูการบริโภคผลไม้ท้องถิ่นของคนไทยนั้นเริ่มลดลงไปบริโภคผัก และผลไม้เมืองหนาวมากขึ้น ยกตัวอย่าง ตอนนี้ในขณะที่เราส่งออกทุเรียนหรือมังคุดนั้นได้ตัวเลขไปดูข้อมูลจากเฟซบุค ของมูลนิธิชีววิถี  ไบโอไทย ( BioThai ) แต่เรานำเข้าส้ม แอปเปิ้ล องุ่น จากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่เรานำเข้ามานั้นก็ผ่านเรื่อง FTA ด้วย ไม่ว่าจะเป็นส้มมาจากจีน แอปเปิ้ลจากจีนบ้าง จากออสเตรเลียบ้าง คนไทยแทนที่จะกินผลไม้ได้หลากหลายก็ต้องกินผลไม้ที่ไม่หลากหลาย มิหนำซ้ำยังไม่ถูกอย่างที่เราเคยตั้งใจ แล้วผักและผลไม้พวกนี้เราพบว่ามันมีปัญหาเรื่องมาตรฐานความไม่ปลอดภัยด้วย เพราะว่ากลไกการนำเข้ามานั้นมันมีการผลิตอยู่ในต่างประเทศ เรายิ่งไม่สามารถไปควบคุมได้ นี่เป็นปัญหาที่ยกตัวอย่างให้ฟังเรื่องการเจรจา FTA แต่ที่จริงมีอีกหลายเรื่องที่น่าห่วงใยมากกว่านี้ เช่น ไก่ รัฐบาลที่ผ่านมาเริ่มเจรจากับทาง EU ซึ่งมีการเจรจาเป็นรอบที่ 3 ทาง EU เรียกร้องให้ไทยยอมรับกฎหมายสิทธิบัตรพันธุ์พืช การใช้ระบบกฎหมายที่เรียกว่า ยูปอฟ (UPOV) 1991เข้ามาบังคับใช้ ซึ่งในระยะยาวจะมีผลทำให้ไม่สามารถเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อได้ ต่างประเทศสามารถเข้ามาใช้ทรัพยากรชีวภาพในประเทศ และในที่สุดจะส่งผลให้ผักนั้นราคาแพง ถูกผูกขาดยิ่งขึ้น อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ก็เบาใจที่ว่าการเจรจานี้เดินหน้าต่อไปไม่ได้เพราะปัญหาทางการเมือง ก็น่าเป็นห่วงว่าการเจรจาต่อจากนี้จะไปในทิศทางไหน ทีนี้เรื่องที่เราตามเรื่องสถานการณ์การใช้สารเคมีเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาล เกี่ยวเนื่องกับบทบาทของบริษัทสารเคมี เกี่ยวเนื่องกับกลไกของระบบราชการที่ว่าด้วยการจัดการสารเคมี เกี่ยวเนื่องกับผู้ประกอบการที่จำหน่ายผลผลิตอาหาร และแน่นอนเกี่ยวข้องกับเกษตรกรด้วย สารเคมีเป็นเรื่องใหญ่ที่พบว่าหลังจากที่เราทำเรื่องนี้อย่างจริงจังเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้วนั้น สถานการณ์ในประเทศเราย่ำแย่มากๆ  เราติดตามเฝ้าระวัง 2 ระดับ ระดับ 1 นี่คือดูปัญหาผัก ผลไม้ที่เราส่งออกว่ามันมีปัญหาอย่างไร คือประเทศไทยนั้นส่งออกผลไม้ซึ่งถือว่าเยอะพอสมควร แต่ว่าน้อยกว่าหลายประเทศ อย่างเช่น ตุรกี จีน แต่เรากลับพบว่าในหลายปีทางฝั่งยุโรปพบว่าสารตกค้างของไทยนั้นมันมากกว่าของประเทศที่เขาส่งออกมากกว่าเราหลายสิบเท่าตัว อันที่ 2 คือเรามาดูเรื่องของการตรวจสอบเฝ้าระวังตลาดในประเทศ ซึ่งทำงานร่วมกับฉลาดซื้อ สถานการณ์นี้ก็น่าสนใจมาก เราพยายามทำข้อมูลให้ต่อเนื่องเพื่อที่เราจะสามารถเปรียบเทียบได้ว่า ผักและผลไม้ที่ขายอยู่ในประเทศที่เราซื้ออยู่ในปัจจุบันนั้นประมาณ 30 % ขึ้นไปที่มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน อีกเรื่องเราพบความจริงว่าผักและผลไม้ที่ขายอยู่ในตลาดทุกระดับ ที่โฆษณาว่าเป็นผักผลไม้ปลอดสารได้มาตรฐาน GAP มันไม่ได้ปลอดภัยมากไปกว่าผักผลไม้ที่ขายอยู่ในตลาดสด ในหลายกรณีเราพบว่ามันแย่กว่าด้วยซ้ำ ที่ผู้บริโภคหลงเชื่อว่าการไปซื้อผักผลไม้ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ผักที่ติดตรา GAP จะได้รับความปลอดภัยมากกว่าแต่ผลการตรวจสอบมันไม่ใช่ นี่คือความจริงที่โหดร้ายนะที่สาธารณูปโภคทุกระดับมีความเสี่ยงภัยพอๆ กัน มันน่าจะเป็นสัญญาณให้เราจัดการกับการใช้เรื่องสารเคมีกันได้เสียที เพราะฉะนั้นนอกจากการตรวจสอบเฝ้าระวังเรายังทำงานอีก 2 อย่างควบคู่ไปด้วย อันที่ 1 คือ การควบคุมต้นทาง คือ รณรงค์ยกเลิกการใช้สารเคมี 4 ชนิด ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เมื่อรัฐบาลมีมติให้ยกเลิกสารเคมี 2 ชนิด คือ อีพีเอ็นและ ไดโครโตฟอส ส่วนอีก 2 ชนิดนั้นยังไม่มีการยกเลิกแต่กรมวิชาการเกษตรไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียน คือคาร์โบฟูรานและ เมโทมิล ถือว่าการทำงานของพวกเราก็บรรลุเป้าหมายระดับหนึ่ง แต่แน่นอนมันยังไม่พอแน่ๆ เพราะเราเคยประมวลว่าถ้าต้องมีการปฏิรูประบบการจัดการสารเคมีมันควรจะต้องแบสารเคมีมากกว่านี้ เพราะว่าทั้งในอเมริกาและยุโรปบางประเทศหลังจากปฏิรูประบบนั้น เขากวาดล้างสารเคมีที่เป็นอันตรายออกไปประมาณ 40 – 60 ชนิด ทางไทยแพนก็เลยทำงานร่วมกับนักวิชาการในหน่วยงานราชการ เช่น กรมการข้าว ,กรมควบคุมมลพิษ ,อย. และสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ เราพยายามดึงนักวิชาการการเกษตรให้เข้ามาทำงานตรงนี้ ล่าสุดคณะทำงานมีข้อเสนอให้มีการแบนสารเคมีเพิ่มเติม ซึ่งภายใน 2 – 3 ปีนี้เราจะเสนอการยกเลิกอีก 15 ตัว แต่ว่าในช่วง 7 – 10 ปี ข้างหน้านั้นเราจะเสนอให้ยกเลิก 70 – 90 ตัว ซึ่งจะมีการศึกษาข้อมูลโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง พลังของผู้บริโภคสำคัญกับการขับเคลื่อนงานอย่างไร พลังผู้บริโภคนั้นสำคัญมาก อาจจะสำคัญที่สุดก็ว่าได้ที่จะทำให้ระบบอาหารของเรามีความยั่งยืน ปลอดภัย และมีความเป็นธรรม เราพบว่าการทำงานร่วมกับที่สำนักงานเชิงนโยบายนั้นมันได้ผลส่วนหนึ่งแต่ว่าในปัจจุบันถ้าผู้บริโภคซึ่ง จะว่าไปแล้วผู้บริโภคทุกคนแม้กระทั่งผู้กำหนดนโยบาย เกษตรกรต่าง แม้แต่ผู้ประกอบการต่างๆ ก็ต่างใช้สารเคมีนะ คนเหล่านี้คือผู้บริโภค เราเล็งเห็นว่าถ้าผู้บริโภคได้รับรู้ว่ามีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น แล้วมันจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่อตัวเอง ต่อคนในครอบครัว เราเชื่อว่าผู้บริโภคนั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ข้อจำกัดของผู้บริโภคที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าผู้บริโภคอาจจะไม่ได้ข้อมูลที่เป็นจริงว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น การเลือกบริโภคของตัวผู้บริโภคเองนั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในกรณีที่ผักและผลไม้ แม้กระทั่งข้าวที่เห็นว่ามันไม่ปลอดภัยนั้น เราก็ไปเลือกซื้อไอ้ที่มันปลอดภัย อย่างที่เรารู้แล้วว่า GAP ที่เราคิดว่ามันปลอดภัยนั้นมันไม่ปลอดภัย สิ่งที่เราทำได้คือ ไปเลือกซื้อเกษตรระบบอินทรีย์เสีย ซึ่งตอนนี้ตลาดพวกนี้กำลังเติบโตมากขึ้นๆ ทุกที และการเติบโตนั้นก็มาจากการเลือกซื้อของเราด้วย การเลือกพวกนี้อาจจะไม่ง่ายเหมือนเลือกซื้อผลผลิตทั่วไป แต่ว่ามันก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อันที่ 2 คือว่าเราเองสามารถผลักดันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวระบบ เช่น เราพบว่าผักชี พริก ถั่วฝักยาว มะเขือที่เราซื้อจากห้างขนาดใหญ่ ราคามันแพงมากแต่คุณภาพเลวกว่า เรามีสิทธิที่จะไปเรียกร้องให้ห้างเหล่านี้เขาปรับปรุงต่อการผลิต การตรวจสอบคุณภาพได้ ยกตัวอย่างล่าสุดเราตรวจผักแต่ยังไม่แถลงข่าว แต่ก็ได้เชิญห้างค้าปลีก ตลาดสดมาคุยกันให้แก้ปัญหาตรงนี้ ซึ่งเขาก็รับรองกับเราว่าจะมีการปรับปรุง จะเห็นว่าถ้าผู้บริโภคมารวมตัวกันเคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องนี้ร่วมกัน เราก็จะมีระบบที่ดีได้ ซึ่งเรามองการบริโภคคือความปลอดภัย แต่ที่เราเห็นทุกวันนี้มันไม่ใช่แค่ความปลอดภัยอย่างเดียวมันมีความมั่นคงด้านอาหาร ระบบอาหารที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจนี้มันยั่งยืน มีความเป็นธรรมเกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมมันมีอีกหลายประเด็น เช่น ความไม่หลากหลายของอาหาร บางทีเราอาจลืมนึกไป เห็นว่าสะดวกสบายเข้าไปซื้อในห้าง แต่จะเห็นว่าอาหารพวกนี้มันไม่หลากหลายนะ เพราะฉะนั้นเราต้องผลักดันไปมากกว่านี้ คือมองไปที่ว่าทำอย่างไรจะสร้างระบบที่มันสามารถมีการผลิตที่หลากหลายขึ้นมาได้ ในต่างประเทศมันมีการขับเคลื่อนโดยผู้บริโภคและเกษตรกรบางราย บางกลุ่มร่วมกันทำตลาดที่เป็น Farmer Market ขึ้นมา โดยการเอาผลผลิตจากเกษตรกรที่มีความหลากหลาย มีความสด เอามาจัดจำหน่าย แล้วเกิดกระจายขึ้นมาหัวเมือง ชุมชนต่างๆ ระยะทางการขนส่งอาหารก็ใกล้ขึ้น มันก็จะสด เกษตรกรได้สัมพันธ์กับผู้บริโภคโดยตรง บางอย่างเราไม่เคยกิน เกษตรกรจะแนะนำได้ว่าผักเหลียงนั้นมันต้องปรุงอย่างไร คนในเมืองไม่เคยกิน กินแต่ผักบุ้งก็ได้กินผักเหลียงต้มกะทิ ผักเหลียงผัดไข่ มันเป็นอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการด้วย และยังปลอดภัยเพราะไม่มีการใช้สารเคมีเลย เป็นต้น เพราะฉะนั้นการที่ผู้บริโภคมาอุดหนุนตรงนี้นั้นมันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นี่คือจะทำให้เห็นว่าการกินเปลี่ยนโลก การกินของเรามันคือการตัดสินใจของเรา การเปลี่ยนแปลงของเรา  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 158 ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี

ข้าวที่ชาวบ้านปลูกนั้น เขาไม่กล้ากินเองเพราะกังวลเรื่องการปนเปื้อนสารเคมีที่ปนมาจากเหมืองอะไรพวกนี้ น้ำดื่มก็ไม่กล้าดื่มน้ำบ่อ น้ำประปาในชุมชนของเขาเอง เพราะเขาก็เกรงว่าน้ำนั้นมันถูกปนเปื้อนด้วย เลยกลายเป็นว่าต้องไปซื้อน้ำขวดมากิน นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวบ้านนะที่จะดำรงชีวิตได้ จะเห็นว่าพอมันมีเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามามันก็กระทบการเป็นอยู่ของประชาชน เภสัชกรบุคลิกสุภาพ อ่อนโยน ใจดียิ้มแย้ม พร้อมท่าทีเกรงอกเกรงใจแม้กระทั่งกับผู้อ่อนวัยกว่า  คือลักษณะเด่น ของผู้ชายวัยห้าสิบกว่า มองผ่านๆ อาจไม่เชื่อว่า  หมอยาท่านนี้คือ  ผู้ผลักดันและขับเคลื่อนกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขคนสำคัญของไทย ท่านเป็นหนึ่งในทีมงานที่โค่นระบบทุจริตยา(คดีคอร์รัปชั่นในตำนาน ปี 2540) เป็นผู้นำที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติเรื่องสารตะกั่วในตู้น้ำเย็นโรงเรียนจนขยับไปสู่การปลดแอกสารตะกั่วจากหม้อก๋วยเตี๋ยว  ทั้งยังผลักดันให้เกิดสารทดสอบค่าโพลาร์ในน้ำมันทอดซ้ำที่ได้ผลค่อนข้างดีในราคาไม่แพง ซึ่งช่วยให้การรณรงค์เรื่องน้ำมันทอดซ้ำง่ายขึ้นมาก นอกจากนี้ยังเฝ้าระวัง ดูแลความปลอดภัย ตลอดจนให้ความรู้ ในเรื่องปากท้องของชาวบ้าน อย่าง อาหารการกินประจำท้องถิ่น เช่น น้ำปลา หน่อไม้ปี๊บ จนล่วงเลยไปถึงถึงสินค้าข้ามพรมแดนจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเราที่ผ่านเข้ามาทางด่านชายแดนต้อนรับ AEC พื้นที่การทำงานในบทบาทของผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุดรธานี  ที่ท่านเพิ่งจะมารับตำแหน่ง  หลังจากที่ทำงานในจังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ใกล้เคียงมากกว่า 1 ทศวรรษ  “ ฉลาดซื้อ “ ฉบับนี้จึงขอนำแนวคิดที่น่าสนใจและมุมมองในการทำงานของ ภก.วรวิทย์  กิตติวงศ์สุนทร   ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี มาเล่าสู่กันฟัง   พอย้ายที่ทำงานใหม่มีปัญหาเหมือนที่เดิมไหมคะ ปัญหาที่พบแตกต่างนะพอย้ายจากอุบลฯ มาอุดรฯ ที่นี่มีการทำเหมืองแร่ทองคำ มีเรื่องแก๊ส ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมก็จะมากกว่าตอนอยู่อุบลฯ เพราะอุบลฯ นั้นไม่มีนิคมอุตสาหกรรม ไม่มีกิจการพวกนี้   ปัญหาเกี่ยวกับผู้บริโภคที่พบมีเรื่องอะไรบ้าง ดูแล้วมีปัญหากว่าภาคอีสานตอนใต้นะ เพราะว่าทางอุดรฯ มันต่อเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีการเข้า-ออกกันเยอะ สามารถเชื่อมไปถึงเวียดนามได้โดยสะดวก เพราะฉะนั้นเรื่องผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับผู้บริโภค โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพนั้นมีแนวโน้มอะไรที่ซับซ้อน นี่เป็น 1 เรื่อง เรื่องที่ 2 คือสิทธิของผู้บริโภคที่เขาควรจะมีหลักประกันว่าปัจจัย 4 ที่ประชาชนควรจะได้รับความปลอดภัย เนื่องจากเมื่อสักครู่พูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็จะพบว่าข้าวที่ชาวบ้านปลูกนั้น เขาไม่กล้ากินเองเพราะกังวลเรื่องการปนเปื้อนสารเคมีที่ปนมาจากเหมืองอะไรพวกนี้ น้ำดื่มก็ไม่กล้าดื่มน้ำบ่อ น้ำประปาในชุมชนของเขาเอง เพราะเขาก็เกรงว่าน้ำนั้นมันถูกปนเปื้อนด้วย เลยกลายเป็นว่าต้องไปซื้อน้ำขวดมากิน นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวบ้านนะที่จะดำรงชีวิตได้ จะเห็นว่าพอมันมีเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามามันก็กระทบการเป็นอยู่ของประชาชน นี่ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องอากาศนะ แต่ที่แน่ๆ มันมีปรากฏการณ์แล้วว่าชาวบ้านปลูกข้าวแล้วไม่กล้ากินข้าวที่ตัวเองปลูก น้ำดื่มต้องไปซื้อเขากินจากเมือง ซื้อเป็นน้ำขวดมาดื่ม   จากการที่เจอปัญหาในพื้นที่มามากนั้น  การทำงานในเชิงนโยบาย เช่นการบริหารในส่วนกลางจะช่วยแก้ปัญหาได้ดีกว่าหรือไม่ เป็นเรื่องความรู้สึกส่วนตัวและโดยความเชื่อด้วย ความรู้สึกส่วนตัวคือ ไม่ชอบกรุงเทพฯ รู้สึกว่าเป็นเมืองที่คุณภาพชีวิตมันแย่ และคิดว่าการที่เรามีฐานชนบทนั้นคิดว่าลักษณะที่ชาวบ้านอยู่จริงนั้น คิดว่าการที่เราอยู่ตรงโน้นนั้นมันช่วยให้เกิดนโยบายสาธารณะที่ดีทั้งในระดับพื้นที่ และในระดับประเทศได้ เลยคิดว่าอยู่ตรงโน้นถูกจริตตัวเองมากกว่านะ อันที่ 2 คิดว่าการที่เราอยู่กับฐานล่างนั้นที่มันจะส่งผลกับนโยบายสาธารณะในระดับประเทศ เลยไม่ได้สนใจที่จะอยู่ส่วนกลาง หรือกระทรวง ปัจจุบันก็เข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลแล้ว สื่อมันมีช่องทางมากขึ้น ตรงนี้คิดว่าเราจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีภูมิป้องกันจากเรื่องที่เข้ามาจากสื่อเหล่านี้ โดยส่วนตัวคิดว่าฐานชุมชนน่าจะเป็นคำตอบ เนื่องจากว่าสังคมทางอีสานนั้นถ้าเกิดระดับหมู่บ้านมันก็ยังมีความเป็นชนบทอยู่นะ แม้ว่าจะถูกพฤติกรรมการบริโภค การเข้าถึงสื่อ การคมนาคมที่คนจะเข้ามาปรึกษาหารืออะไรพวกนี้มันยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าเราทำให้ชุมชนเข้มแข็งรู้เท่าทัน ตระหนักว่ามันคือปัญหา และลุกขึ้นมาปรึกษาหารือกันได้ว่าจะจัดการอย่างไรไม่ให้คนในชุมชนถูกหลอกลวง คนในชุมชนนั้นส่วนหนึ่งก็เป็นคนที่ไปเอาของมาขาย มาบอกกล่าวในเรื่องที่ตัวเองก็อาจจะไม่รู้ว่ามันเป็นเท็จเพื่อจะขายของอะไรแบบนี้ โดยส่วนตัวก็คิดว่าฐานชุมชนเป็นจุดที่น่าสนใจ และชุมชนสมัยนี้ก็ไม่เหมือนสมัยก่อน คือทรัพยากรทั้งหลายก็ไปพอสมควร เช่นไปทางองค์กรปกครองท้องถิ่น และทางกระทรวงสาธารณสุขเราก็มีมีฐาน รพสต. อสม. เพราะฉะนั้นถ้าเราจะผสมผสานอะไรเหล่านี้ในชุมชนมันก็จะยั่งยืนในระยะยาว รัฐกลางนั้นเราก็สนับสนุนให้เขาทำในสิ่งดีนะแต่ว่าดูแล้วเงื่อนไขเขาเยอะมาก สถานีโทรทัศน์ 1,000 ช่อง วิทยุชุมชนอีก 1,000 กว่านั้น ถ้ามีปัญหาแค่ 10 % เขาก็แก้ไม่ไหวแล้ว ที่เราเห็นๆ กันอยู่ นี่ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องอินเตอร์เน็ต เรื่องอะไรต่อมิอะไรอีก ก็คิดว่ารัฐกลางคงไม่สามารถทำอะไรได้รวดเร็วนะ ส่วนใหญ่ก็ทำในหน้าที่ของเขาให้ดี เพราะว่าถ้าเขาทำได้ดีมันจะส่งผลในวงกว้าง   อย่างนี้การให้ความรู้ในชุมชนก็เป็นส่วนหนึ่งด้วยใช่ไหม ครับ  คือถ้าเรากระตุ้นให้ชุมชนเขารู้ก่อนว่าปัญหาอะไรบ้างที่เขาเจอมันคือปัญหา เพราะบางทีเขาก็ไม่รู้ที่ไปหลอกขายยา อาหารเสริมอะไรพวกนี้ ถ้าเราอาศัยพลังคือท้องถิ่น องค์กรท้องถิ่น รพสต. พี่น้อง อสม. และอาจจะมีปราชญ์ชาวบ้านมาเป็นแกนในการทำให้คนในชุมชนมาปรึกษาหารือกัน และตระหนักว่าเรื่องพวกนี้เราโดนหลอกนะ แล้วเราจะมีทางเลือกทางออกว่าจะจัดการอย่างไร น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และถ้าถามว่าถ้าเขาจะดูแลกันเองนั้นมันก็ต้องมีรัฐกลางที่มีหน้าที่บอกข้อมูลว่า ของพวกนี้ไม่ดี ชุมชนเรามีไหม ก็ไม่ต้องไปเสียเวลาไปหาไปค้น เขาก็เข้าใจได้ง่าย เพราะร้านในชุมชนก็ญาติพี่น้องกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นของพวกนี้เราต้องไม่เอามาขาย ครีมยี่ห้อนั้น ยี่ห้อนี่นะ ก็เรียกว่าเป็นเรื่องความพร้อมใจกันที่จะทำดีให้กับสังคมตัวเอง มันก็ยากนะเพราะเหมือนเราฝืนกระแสโลก เพราะกระแสโลกคือ กระตุ้นให้มีการบริโภค แต่เราให้เลือกบริโภคที่ดี และอะไรที่เราจะไม่บริโภค มันก็เป็นเรื่องที่ยากเป็นธรรมดา ถ้าเสนอก็มีว่า ได้มีโอกาสไปทำในหลายๆ ชุมชนนั้น มันมีตัวอย่างที่เป็นไปได้ และเขาลุกขึ้นมาจัดการกันเอง รถเร่ หนังขายยาไม่มีสิทธิได้เข้ามาพื้นที่เขาเลย เพราะฉะนั้นถ้าเขารู้ว่ามีเขาจะมีระบบของเขาเอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านรู้ก็จะบอกตำรวจ หรือไปคุยกับเขาดีๆ ว่าพื้นที่นี้ไม่ได้นะ ถ้ามันแข็งแรงเฉพาะบางพื้นที่ บางพื้นที่ไม่แข็งแรงนั้น ไอ้พวกที่จะหากินแบบนี้มันก็จะไปพื้นที่ที่ไม่แข็งแรง ซึ่งมันก็ไม่ดีหรอก ก็ไปสร้างภาระให้ประชาชนคนอื่นอีก   แล้วการเป็นพลเมืองธรรมดา ก็สามารถช่วยกันสร้างความเข้มแข็งให้การคุ้มครองผู้บริโภคแข็งแรงได้เหมือนกันใช่ไหมคะ ที่เราพูดถึงเรื่องชุมชน บางชุมชนที่ยกตัวอย่างซึ่งไม่ใช่ระดับสิบนะ หลักร้อยขึ้นเท่าที่เรารู้จักนะ แต่มันอาจจะมากกว่านี้ แต่เราไม่มีโอกาสได้เจอ จะเห็นว่าที่เขาดูแลกันเองได้นั้นก็ด้วยพลังของคนของเขาเอง ที่เราเรียกว่าพลเมืองเพราะหน้าที่ของพลเมืองนอกจากจะดูแลสิทธิตัวเอง ยังต้องดูแลสังคมที่ตัวเองอยู่ด้วย //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 157 คนไทยไร้พุงกับสง่า ดามาพงษ์

ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีคนไทยมีพุงเยอะรวมทั้งกองบรรณาธิการฉลาดซื้อด้วย เกิดอยากจะเป็นคนไทยไร้พุงบ้าง จึงไปรบกวนสัมภาษณ์ อาจารย์สง่า ดามาพงษ์  ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ  /ที่ปรึกษาสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย/กรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง ซึ่งถ้าเห็นรูปร่างหน้าตาท่านแล้วจะดูไม่ออกเลยว่าอาจารย์อายุเลยวัยเกษียณมาหลายปีแล้ว “ กินเกิน ( อาหาร) เพลินไม่ขยับ (ออกกำลัง ) บังคับสติตัวเองไม่ได้ ( อารมณ์ ) ” ฉลาดซื้อ : ช่วงนี้คนสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น อย่างห้องพันทิปก็มีห้องรักสวยรักงาม มีคนโพสต์ว่าลดความอ้วนสำเร็จ ใช้วิธีกินอาหารคลีน ใช้การออกกำลังกายคาร์ดิโอ แต่บางคนก็มาแบบจำกัดแคลอรี่ อย่างดาราท่านหนึ่ง เขาแนะนำว่าเขากินวันละ 500 แคลลอรี่ ซึ่งบางคนเขาก็เชื่อ แต่บางคนที่เขาคิดว่ามันไม่เป็นจริงนะ ถ้ากินแค่ 500 แคลอรี่มันจะเกิดผลกระทบ แต่ก็มีคนเชื่อเยอะเพราะเป็นวิธีที่ง่าย กินน้อยลงแต่ไม่ได้ดูว่าเรากินอะไรบ้าง อ.สง่า : จะมีอยู่ 3 ประเด็นนะ อันที่ 1 หลักการลดน้ำหนักที่ถูกวิธี อันที่ 2 การลดน้ำหนักให้อยู่ในวิถีชีวิตคนเมือง คนที่เร่งรีบ อันที่ 3 ต้องยกตัวอย่างให้เห็นว่าวิถีชีวิตของคนแบบนี้ถ้าจะลดน้ำหนักจะลดอย่างไร  พูดถึงประเด็นแรกจนถึงประเด็นสุดท้าย  ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเมืองหรือใครก็แล้วแต่ที่อ้วนแล้วต้องการลดน้ำหนักนั้นมันมีหลักการอยู่ว่า ข้อที่ 1 การลดน้ำหนักต้องไปหาต้นเหตุแห่งความอ้วนให้เจอแล้วไปแก้ไขที่ต้นเหตุ ข้อที่ 2 เมื่อหาเหตุได้แล้วการลดน้ำหนักจะต้องถาวรและยั่งยืน  ไม่กลับไปอ้วนใหม่ ไม่ใช่ลดน้ำหนักแค่ชั่วครั้งชั่วคราว   ข้อที่ 3 การลดน้ำหนักนั้นต้องอยู่ในวิถีชีวิตของทุกคน ไม่ใช่หักดิบไปลดน้ำหนักแบบที่แปลกๆ อดอาหาร กินข้าวน้อยลง ไปกินอะไรที่มันไม่อยู่ในวิถีชีวิต กินพวกกาแฟลดน้ำหนัก อาหารเสริม ถ้าลดน้ำหนักต้องอยู่ในวิถีชีวิต ข้อที่ 4 การลดน้ำหนักต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่าลดมากจนเกินไปมันจะกลับมาโยโย่ใหม่ การลดน้ำหนักมันต้องทำให้พฤติกรรมคุณเปลี่ยน จากเมื่อก่อนเคยกินอาหารหวานมัน กินข้าวเยอะกินผักน้อย ต้องเปลี่ยนนิสัยการกินของคุณให้ได้ เมื่อก่อนขี้เกียจออกกำลังกาย คราวนี้คุณกลายเป็นคนออกกำลังกายอยู่ในวิถีชีวิต บางคนที่ลดน้ำหนักได้ 17 กิโลกรัมแล้ว  แต่พฤติกรรมเหล่านี้ยังไม่อยู่ในวิถีชีวิตจะกลับมาอ้วนใหม่หมดเลย เพราะฉะนั้นเป้าหมายในการลดน้ำหนัก คือ พฤติกรรม 3 อ. (อาหาร , ออกกำลังกาย , อารมณ์ ) ย้อนไปดูที่ต้นเหตุแห่งความอ้วน ก็คือ กินเกิน ( อาหาร) เพลินไม่ขยับ (ออกกำลัง ) บังคับสติตัวเองไม่ได้ ( อารมณ์ ) ไขมันในช่องท้องจึงเกิน  สาธารณสุขจากเมื่อ 5 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันก็ยังยึดหลัก 3 อ. ในการลดน้ำหนักอยู่ เพราะมันเป็นต้นเหตุแห่งการทำให้อ้วน พอเราคุมอาหารได้ ออกกำลังกายได้ คุมอารมณ์ได้ แน่นอนลดได้ 100 % แต่ทุกวันนี้คนคิดว่าการลดน้ำหนักต้องหาทางลัด ไปกินยา แล้วอดอาหาร การลดน้ำหนักผิดๆ ที่เห็นชัดตอนนี้ มี 4 เรื่อง คือ กินยา อาหารเสริม อันนี้จัดเป็นประเภทที่ 1 ประเภทที่ 2 การอดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง หรือ 2 มื้อ ประเภทที่ 3 ที่เจอมากๆ เลยก็คือ กาแฟลดน้ำหนักซึ่งขอเอามากล่าวในข้อนี้ เพราะยาลดน้ำหนัก หรืออาหารเสริมมันเป็นการลดน้ำหนักที่จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะยาบางอย่างมันมีผลข้างเคียง ยาลดน้ำหนักที่กินเข้าไปมันมีกลไกทำให้ประสาทส่วนกลางไม่ทำงาน ทำให้ไม่เกิดความหิว พอไม่หิวก็ไม่กิน ไม่กินก็เลยผอม ทีนี้พอกินยาทุกวันๆ การทำงานประสาทส่วนกลางก็เพี้ยนไป เบลอ ปวดหัว ไม่มีแรง หัวใจเต้นเร็ว หน้ามืด เป็นลม ในที่สุดเสียชีวิต เยอะมาก นี่คือผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น แล้วพอหยุดกินประสาทส่วนกลางทำงานใหม่มากกว่าเดิม หิวมากกว่าเดิม กินมากกว่าเดิม อ้วนมากกว่าเดิม โยโย่เอ็ฟเฟ็กต์ แล้วน้ำหนักที่มันขึ้นมาหลังจากเลิกกินยามันเป็นไขมัน ลดยากมาก พอเกิดโยโย่แล้วร่างกายต้องใช้เวลานานมากในการปรับตัวที่จะกลับมาลดอีกรอบหนึ่ง พูดถึงกาแฟ ลำพังตัวกาแฟเองกล่าวอ้างว่าลดน้ำหนักได้นั้น ส่วนมาก อย.ไปไล่จับเจอสารไซบูทามีน สารตัวนี้เป็นสารที่ใช้ในการแพทย์ ซึ่งก่อนที่คุณจะใส่ลงไปในอาหารใดๆ นั้น คุณต้องขออนุญาต อย. ก่อน เพราะมันเป็นสารอันตราย พอใส่ในกาแฟ หรืออาหารลดน้ำหนัก มันจะทำให้คนเกิดความหิวน้อยลง ถ้ากินสารพวกนี้นานๆ เข้า มันก็เหมือนกับที่อธิบายเรื่องยาลดน้ำหนัก พอหยุดกินกาแฟก็กลับมาอ้วนใหม่ โยโย่ก็ตามมา ยาลดน้ำหนักกับกาแฟกลไกคล้ายกัน ตัวกาแฟจริงๆ แล้วมีคาเฟอีน ตัวคาเฟอีนช่วยลดน้ำหนักได้แต่ต้องกินกาแฟในปริมาณที่เยอะมากถึงจะลดน้ำหนักได้ด้วยคาเฟอีน วันหนึ่งต้องกินหลายสิบแก้ว ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ คนก็เลยแอบเอาสารสารไซบูทามีน ใส่เข้าไป อย. ก็ไล่จับ เจอเยอะไปหมดเลย เพราะฉะนั้นอย่าไปเชื่อว่ากาแฟลดน้ำหนักได้ ยกเว้นกาแฟที่ใส่สารลดน้ำหนักเข้าไป มันจึงลดได้แต่อันตราย ข้อสุดท้ายที่นิยมมากคือ อดอาหาร การอดอาหารเพื่อลดน้ำหนักมื้อใดมื้อหนึ่งนั้นเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง การลดที่ถูกต้องคือ ต้องกินอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ จะไม่ทำอะไรที่เพี้ยนไปจากวิถีชีวิต   ฉลาดซื้อ : บางคนทานอาหารไม่ครบ 3 มื้อ เช่น งดมื้อเช้าหรือมื้อเย็น  อาหารแต่ละมื้อมีความสำคัญอย่างไรคะ อ.สง่า : คนที่ไม่กินมื้อเช้ามักจะอ้วนด้วย 3 เหตุผล ข้อ 1 พลังงานที่สะสมไว้ตั้งแต่ตอนเย็นจนถึง 10 โมงหมด พอหมดก็โหย ตาลาย แล้วหากาแฟ ขนมหวานมากิน มันคือน้ำหวาน แป้ง น้ำตาล ที่เราเติมเข้าไปให้ร่างกายตอน 10 โมง – 11 โมง แต่ถ้าคุณกินข้าวราดแกงหรือก๋วยเตี๋ยว โจ๊ก ข้าวต้มตอน 7 โมง – 8 โมง ก่อนเข้าทำงาน คุณจะไม่หิวเลยตอน 10 โมง เพราะฉะนั้นคนที่ไม่กินมื้อเช้าจะไปกินจุบจิบเลยทำให้อ้วน ข้อที่ 2 ไม่กินมื้อเช้าแล้วกินชดเชยตอนมื้อเที่ยงและมื้อเย็น โดยเฉพาะมื้อเย็น กินแล้วนอนพลังงานไม่ได้ใช้เลยทำให้อ้วน ข้อสุดท้าย คนที่ไม่กินมื้อเช้าระบบการเผาผลาญในร่างกายจะลดลง 30 % เพราะฉะนั้นการอดมื้อเช้าไม่ใช่การลดน้ำหนักที่ถูกต้องลดได้ช่วงระหว่างคุณอด แต่คุณจะกลับมาโยโย่ใหม่ การลดน้ำหนักคือ ลดอาหารที่มีพลังงานสูง กินให้น้อยลง แล้วควบคุมปริมาณ และชนิดอาหาร ชนิดอาหารที่ต้องควบคุมคืออาหารประเภททอด ผัด อาหารที่มีไขมันสูง มีน้ำตาลมาก แป้งเยอะ เพราะฉะนั้นเราต้องควบคุม กินให้น้อยลง โปรตีนให้กินเท่าเดิม แต่ต้องเป็นเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และถั่วเมล็ดแห้ง ผัก ผลไม้ต้องกินมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องกินลดลง คือคาร์โบไฮเดรต กินแป้งให้น้อยลง คนที่ลดน้ำหนักต้อง Low Carb ( Low-carbohydrate ) แต่ต้องกินเพราะมันให้พลังงาน ไม่กินไม่ได้ คุณจะไปเอาพลังงานจากโปรตีนที่เป็นเนื้อสัตว์ไม่ได้ เอาพลังงานจากผักมันไม่พอ เมื่อก่อนเคยกินข้าวเย็น 3 ทัพพี ค่อยๆ ลดเหลือ 2 จาก 2 เหลือทัพพีครึ่ง ค่อยๆ ลดจนเหลือทัพพีเดียว ผู้หญิงมื้อเย็นกินทัพพีเดียวก็พอ เน้นกินผัก   ฉลาดซื้อ : โครงการคนไทยไร้พุงตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างคะ อ.สง่า : ตอนนี้โครงการฯ กำลังจะทำให้องค์กรต่าง ๆ มาร่วมลดน้ำหนัก ลดอ้วน ลดพุง คำว่าองค์กรคือ หน่วยงานราชการ บริษัท ห้างร้าน  โรงเรียน คือให้มีการลดน้ำหนักผ่านองค์กร  เป็นโครงการร่วมกับ สสส. การลดน้ำหนักผ่านองค์กร คือ ให้คนในองค์กรมาปฎิบัติตามหลัก 3 อ. คือ....อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ “ กินเกิน ( อาหาร) เพลินไม่ขยับ (ออกกำลัง ) บังคับสติตัวเองไม่ได้ ( อารมณ์ ) ” โดยเราจะไปให้ความรู้เรื่องการลดน้ำหนัก  นอกจากเราจะไปให้ความรู้เรื่องการลดน้ำหนักแล้ว  เราจะไปช่วยในการปรับพฤติกรรม  หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น ให้โรงอาหารมีเมนูลดน้ำหนัก  เราไปอบรมแม่ครัว  และที่สำคัญอีกอย่างคือ เราพยายามให้ทุกองค์กรเปลี่ยนการจัดเบรก  หรือ อาหารว่างเวลาประชุม  ให้เป็น  เฮลท์ตี้ เบรก  เป็นเบรกที่ดีต่อสุขภาพ  เช่น   เรามีผลไม้  พวกขนมหวานต้องพยายามให้มีน้อยมาก ๆ  แล้วก็ใช้น้ำเป่าแทนน้ำหวาน  อะไรอย่างนี้เป็นต้น   และนี่เป็นสิ่งที่เราทำร่วมกับ  สสส.  อยู่ในขณะนี้    นอกจากนี้  โครงการคนไทยไร้พุง กำลังออกมารณรงค์กับสื่อแนวกว้าง คือ ให้คนทั่วประเทศออกมาตื่นตัวกันอีกครั้ง  โดยการทำรายการผ่านทางช่อง ไทยพีบีเอส  ช่อง 9 และช่อง 11  เป็นรายการเรียลลิตี้  ชื่อ องค์กรซ่อนอ้วน 2  จะเริ่มออนแอร์ประมาณเดือนเมษายนนี้ จนกระทั่งถึงสิ้นปีเลย ส่วนองค์กรใดที่มีความสนใจโปรเจ็กนี้สามารถติดต่อสอบถาม ขอข้อมูลได้ที่ กรมอนามัย   กระทรวงสาธารณสุข , สสส.หรือ ที่เครือข่ายคนไทยไร้พุง   http://www.raipoong.com   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 156 “อยากรู้เหมือนกันว่าการได้ชนะพวกประกันนั้นมันเป็นอย่างไร ”

เรื่องราวของทุกคนมีสิทธิที่ ฉลาดซื้อ นำมาฝากเพื่อเป็นบทเรียนอันล้ำค่าคราวนี้ คือ เรื่องราวของคุณธาวิน หมี่เต หนุ่มอาข่า  ชาวเชียงใหม่ ทำงานเป็นหัวหน้าช่างที่บริษัทเกี่ยวกับเครื่องประดับในกรุงเทพฯ กับคุณกิติยา จุพิพันธ์ทอง หรือกุ้ง สาวนครสวรรค์  ภรรยาสาว ซึ่งเป็นผู้จัดการร้านทำฟัน ทั้งสองจะเล่าเรื่องราวการต่อสู้กับความเฉยชาของบริษัทประกันภัยที่ปฏิบัติราวกับคนใจหิน เมื่อคุณธาวิน คือ 1 ในผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถกรณีรถทัวร์ตกเหวลึกที่ลำปาง ธาวิน : ผมเดินทางไปเยี่ยมแม่ ไปอยู่กับแม่ได้สักพักก็กลับกรุงเทพฯ พอมาถึงลำปาง อ.เถิน ก็ประสบอุบัติเหตุรถโดยสาร ผมนั่งรถทัวร์ของบริษัทนิววิริยะฯ คนนั่งมาเต็มคันรถ   ช่วงเวลาที่เกิดเหตุประมาณเกือบเที่ยงคืน ตอนแรกหลับตาอยู่แต่ไม่ได้หลับนะพอรู้สึกตัวว่ารถเอียงเลยลืมตาขึ้นมา เห็นเลยว่ารถเอียงแล้วก็ล้มฝั่งที่ผมนั่งพอดี พอตั้งสติได้ก็เรียกให้คนช่วย คนที่อยู่ข้างนอกเข้ามาช่วยผมออกไปได้ แล้วรอบๆ ก็มีคนถูกคลุมผ้าขาว มีแต่เลือด ตอนแรกเขาพาไปโรงพยาบาลเถิน พอเอ็กซเรย์เสร็จก็ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลลำปางต่อ ซึ่งตอนนั้นผมไม่รู้เลยว่าผมเป็นอะไร เจ็บหนักขนาดไหน รู้แค่มีผู้เสียชีวิตเยอะ   ก่อนที่แฟนผมจะมาถึงโรงพยาบาล วันแรกเขาไม่ให้ผมกินอะไร ผมต้องนอนอยู่เหมือนคนป่วยไร้ญาติ ไม่มีใครมาดูแลอะไรเท่าไหร่ อาจจะเพราะคนป่วยเยอะด้วย เลือดเกรอะกรังเต็มตัวเลย ยังอยู่สภาพเดิมจากที่เกิดเหตุมา พออีกวันเขาก็ย้ายให้ไปนอนหน้าระเบียง แจ้งว่ามีคนเจ็บหนักกว่าต้องย้ายไปนอนข้างนอกนะ ตอนนั้นไม่มีใครเหลียวแลผมเลย นอนรออย่างเดียว พออีกวันก็ต้องผ่าตัด ไม่มีญาติก็ไม่มีใครเซ็นต์อนุญาต ต่อมาทราบภายหลังว่ามีผู้เสียชีวิต 8 คน คนเจ็บ คนตายส่วนใหญ่เป็นพวกชนเผ่าที่ถือบัตรเหมือนกัน แต่หลายคนผมคิดว่า คงได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี ไม่เป็นธรรม เพราะพวกเขาไม่ประสีประสาเรื่องกฎหมายกัน(ผมก็เกือบไปเหมือนกันโชคดีได้แฟน พี่ชายแฟนช่วย)  อาการผมสาหัส ต้องนอนโรงพยาบาล 4 วัน  และออกมาพักอยู่ข้างนอกอีก 2 – 3 วัน   กุ้ง : อยู่ รพ. 3 วันนี่เขา(รพ.)ให้เราออกเลย หนังหัวของธาวินเปิดมากนะต้องเย็บประมาณ 20 เข็ม ตอนนั้นธาวินก็ยังเบลอๆ อยู่ ทางแผนกการเงินเรียกเราไปคุยว่ามันหมดงบที่เขา(ประกันบุคคลที่ 3) คุ้มครองเราแล้วนะ เขาจะลองยื่นของบไปอีกแล้วจะแจ้งเราอีกที พอถัดมาวันเดียวหมอบอกว่าออกได้แล้ว แต่ธาวินยังไม่ดีขึ้นเลย ขนาดเดินยังเดินไม่ค่อยตรงเลย หมอบอกว่าไม่เป็นไรออกได้ แต่ใบรับรองแพทย์ยังไม่ได้ เราเลยต้องไปเช่าห้องพักอยู่ตรงข้ามกับโรงพยาบาลเพื่อรอหมอให้ออกใบรับรองแพทย์ให้ จากนั้นก็ไปที่สถานีตำรวจ อ.เถิน เพื่อตกลงกับตัวแทนประกันที่นั่น ตัวแทนประกันบอกว่าให้เราเต็มที่ไม่เกิน 15,000 บาท ให้ตามใบรับรองแพทย์เลย (ใบรับรองแพทย์คือให้ลาได้ 6 สัปดาห์) แล้วไปรักษาตัวต่อที่กรุงเทพฯ ส่วนเงินเดือนต้องให้ทางบริษัทส่งแฟ็กซ์มา เงินเดือน 13,500 บาท เขาให้เราได้เต็มที่แค่เดือนครึ่ง คือ 15,000 บาท พี่ชายของกุ้งเลยบอกว่า เขาเป็นคนมาส่งธาวินไม่รู้ตอนนี้สมองเขาเป็นอย่างไรบ้าง ทางประกันเลยบอกว่าจะขอเพิ่มให้อีก 5,000 บาท  พี่ชายจึงบอกไม่ให้ยอม อย่าเซ็นต์อะไรทั้งนั้น ตอนนั้นมีอีกคนหนึ่งที่เกิดอุบัติเหตุจากรถคันเดียวกัน เขามาไกล่เกลี่ยเหมือนกัน เป็นชาวเผ่าอะไรจำไม่ได้แล้ว ซึ่งเขาท้องอยู่แต่ลูกไม่ดิ้นแล้ว แล้วเงินเดือน 7,000 บาท ตัวแทนประกันก็บอกให้แค่ 7,000 เพราะในใบรับรองแพทย์เขียนไว้ว่าลาได้ 2 สัปดาห์ แต่ตัวแทนประกันจะจ่ายให้เต็มเดือนคือ 7,000 บาท ถ้าไม่เอาก็ไม่ต้องเอา เขาคุยกันอีกสักพักตัวแทนประกันบอกว่าจะคุยกับหัวหน้าให้เพิ่มเป็น 9,000 บาท เขาพูดว่า “ผมจะบอกไว้เลยไม่มีใครชนะประกันได้หรอก” ตอนนั้นพอกุ้งได้ยินก็รู้สึกว่าอยากรู้เหมือนกันนะว่าการได้ชนะประกันนั้นมันเป็นอย่างไร แล้วตัวแทนประกันคนนี้ก็เดินไปคุยกับหัวหน้าของเขา ซึ่งพี่ชายของกุ้งนั่งอยู่โดยที่พวกเขาไม่รู้ว่าเรามาด้วยกัน พี่ชายกุ้งได้ยินที่ตัวแทนประกันคนนั้นคุยกับหัวหน้าว่า เคสนี้จบแล้วที่ 9,000 บาท แต่ที่เราได้ยินเขาพูดคือบอกจะช่วยคุยกับหัวหน้าให้ ทำให้เรารู้เลยว่าเขาก็คงไม่ได้ช่วยเราอย่างที่เขาพูดหรอก พอกลับมาถึงกรุงเทพฯ ก็มีจดหมายของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคส่งมาว่าจะช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถโดยสาร แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้สนใจเพราะพี่ชายบอกว่าจะวิ่งเรื่องให้ ตอนหลังมีตัวแทนของนิววิริยะ(รถคันที่เกิดอุบัติเหตุ ) และตัวแทนประกันมาคุยว่า อย่าให้มีเรื่องฟ้องร้องกันเลย ให้ไกล่เกลี่ยกัน ก็คุยกันว่าขอ 40,000 บาท แล้วจะไม่มีการฟ้อง ไม่ต้องเดินเรื่องอะไรแล้ว 40,000 บาทนี่คือเราพอใจแล้ว ทีนี้รอมาเรื่อยๆ จนเกือบปี อยู่ๆ ก็มีเงินมาให้ 15,000 บาท เงินตรงนี้ไม่ทราบเหมือนกันว่ามาจากประกันหรือขนส่ง แต่พี่ชายบอกว่าให้รับไว้ก่อน แต่ไม่มีการเซ็นต์รับอะไรเพราะเรายังไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่ามาจากประกันหรือเปล่า พอหลังจากนั้นอีก 1 เดือนพี่ชายก็เริ่มวิ่งเรื่องแล้ว เพราะมันนานแล้วยังไม่ได้อะไรสักที ก็มีคนในขนส่งแนะนำว่าให้มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คนๆ นี้เขาพาพี่ชายมาที่มูลนิธิฯ เลย เราก็มารู้ทีหลังว่าอีกเดือนเดียวจะหมดอายุความ แล้วเราจะเรียกร้องอะไรจากบริษัทประกันภัยไม่ได้อีกเลย ที่บริษัทฯ เงียบไปเป็นเหมือนการดึงเวลา ซึ่งเราไม่รู้ว่าคดีมันหมดอายุความ แค่ 1 ปี เรารอมา 11 เดือน กับอีกไม่กี่วันก็จะครบปีแล้ว พอพี่ชายทราบจึงเดินเรื่องให้ ยื่นขอเป็น 10 ปี แล้วก็ให้เราเก็บหลักฐานทั้งหมด พูดถึงหลักฐานก็ทิ้งไปเยอะมาก เหลือแค่เอกสารของโรงพักและโรงพยาบาล โชคดีที่มีพี่คนหนึ่งถ่ายรูปบาดแผลเก็บไว้ให้เป็นอนุสรณ์ว่าเคยปางตาย พวกใบเสร็จก็ไม่มีเลย มีแต่ใบเสร็จที่กลับมารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ซึ่งตอนแรกคุณธาวินจะไม่ยอมรักษาต่อ กุ้งรู้สึกว่าอารมณ์เขาไม่ค่อยปกติ จนคนรอบๆ ข้างก็พูด เพราะปกติเขาเป็นคนเรียบร้อย นิ่งๆ เดี๋ยวนี้นึกจะโกรธก็โกรธ เลยช่วยกันคุยว่าต้องไปหาหมอนะเพราะมันเกี่ยวกับรูปคดี เขาเลยยอม หมอก็บอกว่ามันเกี่ยวกับสมองกระทบกระเทือน เขาใช้หลักจิตวิทยาคุยจนรู้ปม ตอนนี้อารมณ์ก็ค่อยๆ ดีขึ้น แต่จะมีเรื่องอาการขี้ลืม เบลอๆ ความจำแย่ลงแต่ว่าอารมณ์ดีขึ้น หมอบอกว่ามันเกี่ยวกันนะจะทำให้เขาลืมมันยาก เพราะตอนเกิดอุบัติเหตุเขามีสติสมบูรณ์ เห็นคนตาย เห็นทุกอย่าง บางทีเขาขับรถไปอยู่ดีๆ ก็หยุด เขาบอกว่ากลัวโดนรถชน ก็เลยบอกว่าเราต้องสู้นะ ต้องสู้ไปด้วยกัน ตอนพากันมาที่มูลนิธิฯ ตอนแรกก็กลัวนะคิดไปว่า “ใครจะมาช่วยเฉยๆ โดยที่ไม่ได้อะไร” แต่จำได้ว่าหลังเกิดอุบัติเหตุไม่นานมีซองเอกสารจากมูลนิธิฯ ส่งมาซึ่งเราได้ทิ้งไปแล้ว นี่ถ้าคุยตั้งแต่ต้น เรื่องอาจจบไปนานแล้วนะ มีคนบอกว่าตอนเกิดเรื่องใหม่เราจะได้เปรียบแต่นี่ปล่อยไว้นาน สรุปสุดท้ายคือเขายอมจ่ายที่ 170,000 บาท คือทางมูลนิธิฯ เขียนเรียกค่าเสียหายให้ใหม่เป็น 500,000 บาท ซึ่งทางมูลนิธิฯ บอกว่าอย่าไปคาดหวังนะ ซึ่งเขาก็ยอมที่ 170,000 บาท วันนี้ก็นัดรับเช็คแล้วก็ไม่ได้เลื่อนไปอีก ซึ่งเราต้องเป็นคนโทรตามเอง บทเรียนราคาแพง สิ่งที่ต้องทำ 1.เก็บทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรา ใบเสร็จทุกอย่าง ข่าวที่เกี่ยวกับเรา อันนี้เป็นบทเรียนเลยเพราะตอนแรกผมก็ไม่ได้คิดที่จะฟ้อง เลยไม่ได้เก็บ พอตอนหลังมีคดีความต้องใช้หลักฐานทุกอย่าง ถ้าไม่เกิดกับเราจะไม่รู้เลยว่ามันยุ่งยากขนาดนี้ แล้วการปฏิบัติกับเราทั้งคำพูด การดูถูก ทำเหมือนเราไม่ใช่คน คือการเปิดใจยอมรับมีน้อย แค่บอกว่าเป็นชาวเขาก็ดูถูกแล้ว เขาไม่สนใจว่าคุณเก่งแค่ไหน แค่ช่วงแรกที่เกิดอุบัติเหตุก็นั่งเจรจากัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขาที่มีบัตรประชาชน อย่างผมก็มีบัตร แต่ว่าเขาไม่ประสีประสาเรื่องกฎหมาย เหมือนผมตอนแรกก็ไม่รู้ มันทำให้โดนเอาเปรียบ คนอื่นเขาได้เงินแล้วก็เซ็นต์รับไป 2.อย่าลงลายมือรับข้อเสนอแรก ดีที่พี่ชายบอกว่าห้ามยอมความง่ายๆ  พอตัวแทนประกันบอกว่าไม่มีใครชนะประกันได้ พวกเราก็พยายามตามเรื่องกัน พอติดต่อไปทางประกันก็ทำเฉย บอกว่าไม่ใช่หน้าที่ที่เขาจะต้องมาติดต่อ หลังจากที่ไกล่เกลี่ยที่โรงพักแล้วสรุปว่าเราไม่ยอมความกัน เขาบอกว่าถ้าคุณไม่ยอมก็ต้องไปฟ้องเอา ไม่เกี่ยวกับเขาแล้ว พอลงมากรุงเทพก็มารักษาตัวต่อ เจรจาทีแรกไปขนส่งก็ตกลงกันได้ที่ 4 หมื่น รอมาครึ่งปีก็ไม่ได้ข่าวคราวอะไร รอมาเกือบปีก็ได้เงินหมื่นห้าโผล่มา ก็เห็นว่าไม่ได้เรื่องแล้ว โชคดีมีคนที่รู้จักกับพี่ชายเขาพามาที่มูลนิธิฯ 3.ห้ามท้อ บางทีมันก็ท้อนะ เพราะเขา(ประกัน) เห็นเราไม่ประสีประสาเขาก็มองข้ามไป เอาเปรียบได้ก็เอาเปรียบ ตอนแรกเขาให้ 25,000 บาท ผมไม่ยอม พอเจรจายอมที่ 4 หมื่น แต่ก็แล้วก็กลับมาให้หมื่นห้า อย่างนี้มันถูกแล้วหรือ จนต้องเป็นคดีความ ฟ้องร้องกันอีกเยอะแยะ เสียเวลาทั้งของเราและของเขา ซึ่งค่าเดินทาง ค่าโดนหักที่ต้องลางานนั้นมันออกใบเสร็จไม่ได้ เงิน 170,000 มันไม่คุ้มหรอก จริงๆ แล้วเราไม่ได้อยากให้เป็นคดีความ ไม่ได้อยากได้เงินเขาขนาดนั้น แต่อยากให้ประกันเอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง รู้เลยว่า เกิดเรื่องอย่างนี้มันพูดถึงจิตใจไม่ได้นะ เขายึดที่หลักฐานอย่างเดียว ไม่อย่างนั้นโดนเอาเปรียบแน่ ผมเข้าใจว่าพวกเขาต้องปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทฯ เขาเป็นเรื่องธรรมดา แต่ควรมองอีกมุมหนึ่งด้วยว่าเรื่องอย่างนี้ไม่มีใครอยากให้เกิด ไม่มีใครอยากเจ็บ อยากตาย แต่ถ้าเกิดแล้วเขาต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ปล่อยเลยตามเลย เขาเห็นเป็นชนเผ่า คงไม่คิดว่าจะสู้ขนาดนี้     //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 155 กรุณางดการใช้เสียงขณะอ่าน

ฉลาดซื้อฉบับต้นปีนี้จะพาไปสัมผัสว่าความเงียบดีอย่างไร ลดเสียงลงสักหน่อย สังคมจะมีความสุขเพียงไหน เราจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ไปพร้อมๆ กับ รู้จัก ดร.อรยา สูตะบุตร หรือ อ.ปุ้ม ผู้ประสานงานชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ  ที่นอกจากท่านจะเป็นอาจารย์พิเศษวิชาพลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กรรมการสถาบันธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  หรือทำงานแปล ไทย-อังกฤษ แล้ว    ยังเป็นสมาชิกกลุ่มบิ๊กทรี( กลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในเมือง ) ค่อยๆ หรี่เสียงตัวเราเอง สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว แล้วมาล้อมวงฟังเรื่องราวของชมรมหรี่เสียงกรุงเทพกันนะคะ   เกี่ยวกับชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร จริงๆ ชมรมนี้อยู่มาใกล้จะ 10 ปีแล้วแต่ก็เป็นชมรมเล็กๆ ตอนเริ่มต้นในกรุงเทพฯ ก็มีเสียงรบกวนอยู่หลายรูปแบบ แต่อันที่สะกิดใจก็คือ เสียงทีวีในรถไฟฟ้า เพราะว่ามันเป็นเสียงที่เราหนีไม่ได้ ไปหรี่เสียงมันก็ไม่ได้ ไปยืนตรงที่มันไม่มีเสียงก็ไม่มี เกิดคล้ายๆ ว่าแรงผลักดันที่จะทำอะไรสักอย่างก็เลยเป็นที่มาของชมรม   ชมรมว่าทำงานในส่วนใดบ้าง มีขอบข่ายอย่างไร เนื่องจากเป็นชมรมเล็กๆ นะคะ การใช้บทบาทในเรื่องที่เผยแพร่ข้อมูลไปถึงสาธารณะก็คือ ผ่านสื่อหลายๆ ช่องทาง โดยเน้นเรื่องอันตรายของเสียงดัง มีการตีพิมพ์บทความ ข้อมูลให้คนรู้ว่าจะต้องระวังภัยเสียงดังในพื้นที่ไหนบ้าง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ จะมีบางช่วงเวลาที่ระดมอาสาสมัครออกไปวัดเสียง ก็วัดกันเองด้วยเครื่องมือที่มีคนให้ยืม แล้วเราก็ตีพิมพ์ออกมาเป็นบทความว่าที่ไหนเสียงดังอย่างไร พร้อมกับให้ข้อมูลว่าค่าระดับเท่านี้ๆ มันทำอันตรายกับหูได้ในระยะเวลานานเท่าไร จะเป็นลักษณะใช้สื่อในการให้ข้อมูล และถ้าเป็นไปได้ก็เข้าไปตามสถานศึกษาบ้าง ก็มีการจัดคล้ายๆ เหมือนกับพาคนไปเที่ยวที่ที่มันเงียบสงบในกรุงเทพฯ  แล้วบรรยายให้ความรู้ไปในกิจกรรมพร้อมกันว่าการอยู่ในที่ที่มันสงบและไม่มีเสียงดังนั้นมันมีประโยชน์อย่างไร   นอกจากเสียงบนรถไฟฟ้า คิดว่าเสียงที่ไหนที่มันเป็นมลพิษอีกบ้าง ถ้าพูดถึงกลุ่มเฉพาะขนส่งมวลชนทั้งหลาย ก็จะมีทั้งรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน และพวกรถทัวร์ รถที่มันติดทีวีข้างในตัวรถ ซึ่งพวกนี้มันเป็นเสียงกลุ่มเดียวกัน ทำให้รู้สึกว่าจะหนีไม่ได้ ต่อให้อุดหูมันก็ยังช่วยไม่ได้ เพราะว่าโดยมากจะเปิดดังมาก และเป็นที่แคบมันก็ยังมีโอกาสสะท้อนมากเข้าไปอีก พอเป็นลักษณะที่ต้องทนอยู่ในที่หนีไม่ได้ ลดเสียงไม่ได้นี่ก็เป็นประเภทหนึ่ง อีก 2 ประเภทที่เจอคนร้องเรียนเข้ามาเยอะ คือเสียงจากที่ก่อสร้าง ซึ่งบางทีก็ทำแบบไม่เต็มเวลา ไหลไป 24 ชม.ก็มี แล้วเสียงก่อสร้างต่อให้เราไม่ต้องอยู่ใกล้มาก มันก็มีทั้งแรงสั่นสะเทือน มีทั้งเสียง นี่ไม่นับมลภาวะอื่นทางอากาศนะคะ อีกเรื่องคือพวกที่มีลักษณะเปิดดนตรีในที่สาธารณะในระดับที่เกินความจำเป็น ตั้งแต่คอนเสิร์ต ห้างสรรพสินค้า พวกคาราโอเกะแบบที่ไม่ปิดมิดชิด ตั้งเป็นเพิงขึ้นมาได้ก็ร้องแล้ว พวกนี้จะมีปัญหามากเพราะว่าเปิดกันดึกดื่น พอไม่มีการควบคุม ไม่ได้ขออนุญาต เป็นเพิงไม้เล็กๆ ตามข้างทางแล้วใช้เครื่องเสียงขนาดใหญ่ เลิกกันตอนเช้ามืดนั้น เป็นการใช้เสียงที่ไม่รับผิดชอบต่อคนที่อยู่รอบๆ อีกอย่างคือใช้เสียงในระดับที่สูงเกินไป ก็เลยจะกระทบคนเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาอันหลังสุดนี้มันกลายเป็นปัญหาที่ในต่างจังหวัดรุนแรงกว่ากรุงเทพฯ เสียอีก เพราะมันเหมือนเป็นธรรมเนียมที่ถ้าอยู่ในชุมชนเมือง มันมีโอกาสน้อยกว่าที่คาราโอเกะแบบนี้จะอยู่ได้โดยไม่มีใครไปว่าอะไรเขา แต่ว่าชานเมืองหรือต่างจังหวัด ต่อให้หนีไปโรงแรมที่ห่างไกล หรือสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ลี้ลับสุดๆ จะต้องมีบ้านชาวบ้านก็ต้องงานเลี้ยงอะไรของหมู่บ้านที่มีเครื่องเสียงเต็มเหนี่ยว แล้วมันไม่ใช่เพลงรื่นรมย์ เป็นเพลงแบบคนเมาจนถึงดึกดื่น ถึงเช้า ซึ่งมันสะท้อน 2 อย่าง คือ การไม่รู้อันตรายของระดับเสียงที่ดังเกินไป อันตรายทั้งในแง่ร่างกายและจิตใจ อันที่ 2 คือการที่เราละเลยความรับผิดชอบต่อผู้อื่นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา คิดว่านี่คือการทำอะไรชิลๆ แต่เราลืมดูว่าทำให้คนอื่นไม่ได้พักผ่อนหรือถูกรบกวนด้วยเสียงดัง   อาจต้องใช้การรณรงค์เรื่องจิตสำนึกหรือเปล่า เท่าที่ในประสบการณ์มีอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเสริม คือ คนกรุงเทพฯ เริ่มมีปัญหา และมีการแจ้งมาที่ชมรมบ่อย คือ การเป่านกหวีด (หัวเราะ) จะหมายถึงการเป่านกหวีดจราจร จริงๆ ตำรวจเป่าน้อยมาก ที่เป่าคือพวกดูแลจราจรตามหน้าอาคารต่างๆ ซึ่งถ้ามองจริงๆ แล้วจะพบว่ามันมีประโยชน์น้อยมาก คือเป็นสิ่งที่เข้าใจยากมากที่คนขับรถนั้นไม่ว่าจะเป็นที่ออกมาจากตึก หรือกำลังจะผ่านหน้าตึกจะแยกแยะไม่ได้หรอกว่าเป่านกหวีดอันนี้คือให้ไปหรือให้หยุด แล้วหมายถึงคันที่กำลังจะออกหรือคันที่กำลังจะผ่าน มันเหมือนกับเป็นเสียงปี๊ดๆ ไปไม่มีความหมายชัดเจน แค่ทำให้เกิดความสนใจแต่ไม่ได้แปลออกมาว่าให้ทำอะไร จะเห็นว่าหลายๆ ที่นั้น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรมหลายแห่งที่เขามีรถเข้าออกเยอะๆ เขาไม่ได้ใช้นกหวีดก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรมากไปกว่าหน่วยงานที่ใช้ ซึ่งนี่เป็นความเข้าใจว่านกหวีดเป็นเสียงก่อให้เกิดความรำคาญนั้นแต่ละเจ้าของก็จะไม่เหมือนกัน อย่างเซ็นทรัลชิดลมมีรถเลี้ยวเข้าเลี้ยวออกเยอะมากแต่ไม่มีนกหวีดและเขาก็ไม่เคยมีปัญหาอะไรในขณะที่ห้างอื่น โรงพยาบาล อาคารทั้งหลายจะบอกว่าไม่ได้ต้องใช้ ซึ่งเซ็นทรัลชิดลมเป็นหลักฐานที่ดีว่าไม่เห็นต้องใช้เลย ใช้อย่างอื่นแทนได้ ใช้ธง ใช้สัญญาณสีต่างๆ หรือใช้เครื่องมือเป็นแท่งที่มีแสงตอนกลางคืนแทนได้ ซึ่งจากที่ได้รับการร้องเรียนหลายๆ เรื่อง วิธีที่ดีที่สุดคือการเจรจากับคนที่เป็นฝ่ายทำเสียงโดยตรง หมายความว่าในการเจรจานั้นไม่ใช่แค่โทรไปด่าแล้วจบไป สมมติว่าหน่วยงานหรือตึกหนึ่ง ฝั่งคนที่ร้องเรียนถ้าจะให้ดีคือรวมๆ ตัวกัน แล้วคุยกันดี ชี้แจงเหตุผลกัน พบว่าได้ผลมากที่สุด ล่าสุดมีอีเมล์เข้ามาถามว่าเขาจะทำอย่างไรดีกับคอนโดฯ ฝั่งตรงข้ามบ้านเขาเป่านกหวีดตลอด  ซึ่งเขาปิดหน้าต่างแล้วก็ยังช่วยไม่ได้ เป่าทั้งวันเลย ก็บอกเขาว่าคุณอยู่คอนโดฯ เหมือนกัน ฝั่งของคุณไม่เป่านกหวีดเลย แล้วสิทธิมันก็พอๆ กันเพราะว่าถนนเดียวกัน ขอแนะนำให้รวมตัวกันแล้วขอนัดผู้จัดการทั้ง 2 ตึกเลยมาคุยกัน ใช้เหตุผลพูดคุยกันว่าทำไมตึกหนึ่งใช้ อีกตึกหนึ่งไม่ต้องใช้ ทดลองดูไหมว่าถ้าไม่ใช้แล้วมันดีอย่างไร ผลเสียอย่างไร เขาก็ไปลองดูนะ ปรากฏว่ายังไม่ทันได้รวมตัว แค่เดินเข้าไปคุยกับผู้จัดการคอนโดฯ ฝั่งที่เป่านกหวีด ได้ผลเรียบร้อยดี คือเหมือนกับว่าไม่มีใครไปบอกเขาว่าเป่าแล้วมันไม่มีประโยชน์ ถ้าเราเป็นคนที่ใส่ใจสุขภาพของคนอื่น นกหวีดเป็นอันตรายกับผู้เป่ามากที่สุด และความดังของเสียงนกหวีด ถ้าไม่อุดหูแล้วเป่าเต็มแรง เสียงพอๆ กับเครื่องบินไอพ่นเลย เกิน 90 เดซิเบลนะ เคยให้ยามคนหนึ่งเป่าแล้วใช้เครื่องวัดเสียงจ่อเลย เกิน 90 เดซิเบล ปกติคนเราฟังระดับ 70 เดซิเบลเป็นระดับที่ได้ยินพอดี ต้องไม่รู้สึกรำคาญ และถ้าเกิน 80 เดซิเบลเป็นเวลา 1 ชม.จะเริ่มทำให้หูเสื่อมได้   เรื่องกฎหมายในบ้านเราควบคุมได้ระดับไหน คิดว่าพอไหม หรือต้องรณรงค์อย่างไร ใช้กฎหมายไม่เวิร์ค มีกฎหมายเรื่องระดับเสียงซึ่งกรมควบคุมมลพิษประกาศใช้ แต่มันเป็นกฎหมายที่ใช้การไม่ได้ เพราะบอกว่าห้ามทำเสียงดังเกิน 80 เดซิเบลต่อ 24 ชม. หรือ ถ้าค่าเฉลี่ย 24 ชม.ไม่เกิน 80 เดซิเบลนั้นไม่เป็นไร แล้วเมื่อไรมันจะเกิน เพราะตอนตี 3 ตี 5 มันก็ไม่ค่อยดังแล้ว หรือถ้าดังไปถึง 100 เดซิเบลก็คงแป๊บเดียว ถ้าไปหาร 24 ชม.ค่าเฉลี่ยต่อชม.มันก็ไม่เกิน 80 เดซิเบล อย่างที่บอกว่าการเจรจาไกล่เกลี่ยหาข้อตกลงกันได้ผลกว่ากฎหมาย กฎหมายถ้ารอไปแก้คงไม่ทันได้ใช้นะคะ   จุดมุ่งหมายต้องไปขนาดนั้นเลยไหม ปัจจุบันจะทำควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาด้านอื่น แต่เรื่องกฎหมายนี้ต้องไปขนาดนั้นไหม ประเทศอื่นเขาจำกัดอยู่แค่ไหน คือกฎหมายเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับประเทศไทยในทุกเรื่อง คือกฎหมายถ้ามีการบังคับใช้นั้นก็จะดี จะเห็นผลนะ แต่เรามีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ เพราะฉะนั้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชมรม ขอเน้นเรื่องที่ 1 คือการสร้างความรู้ สร้างความตะหนัก เรื่องที่ 2 คือ เน้นการหันหน้าเข้าคุยกัน หาทางออกร่วมกันด้วยสันติวิธี ไม่ใช่ฝ่ายบ่นก็บ่นไปแต่ว่าไม่เคยได้เข้าไปทำความรู้จักมุมมองของคนที่เขาทำให้เกิดเสียง แล้วหาข้อยุติร่วมกัน ซึ่งวิธีหลังมันได้ผล แต่ในหลายกรณีมันก็ไม่ประสบความสำเร็จ รถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินก็ใช้วิธีเขียนจดหมายไปทั้ง 2 หน่วยงาน ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ อย่าง BTS เขาตอบนะแต่บอกว่าเขาวัดแล้วเสียงเขาไม่ดัง มีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้ BTS เขาบอกว่าชอบโฆษณาในรถ ส่วน MRT เราก็ไปตรวจเสียงให้เขาเห็นเลย เขาเห็นรู้เลยว่านี่คือเครื่องตรวจเสียง พนักงานเขาเดินมาหาบอกว่าคุณมาวัดเสียงคุณได้รับอนุญาตหรือยัง ไม่อย่างนั้นต้องเชิญคุณออกไปจากบริเวณ MRT ถ้าทางฉลาดซื้อสำรวจข้อมูลพวกนี้ วัดเสียงได้ ทำได้ทั้งในแง่สำรวจความคิดเห็นด้วย ถ้าช่วยกันก็จะเป็นประโยชน์มากๆ จะได้เป็นหน่วยงานคนกลาง อย่างกลุ่มหรี่เสียงฯ คนจะมองว่าอยู่ฝ่ายคนที่ร้องเรียน ถ้าเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเป็นลักษณะช่วยดูแลหลายๆ ในประเด็นของผู้บริโภคมากกว่า  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 154 “ รถเมล์..ทุกคนต้องขึ้นได้ทุกคัน ”

คุณสุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ 1 ในผู้นำเรื่องสิทธิของคนพิการแถวหน้าของเมืองไทย ประเด็นล่าสุด “ รถเมล์..ทุกคนต้องขึ้นได้ทุกคัน ” ที่มีภาพผู้ชายหลายๆ คน กำลังแบกคนพิการที่นั่ง Wheelchair ขึ้นบนรถเมล์ ปรากฏในหลายสื่อ  จนเป็นข่าวดัง เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คุณสุภรธรรม หรือ อ.ตั๋น  เลขามูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เริ่มเล่าประวัติส่วนตัวให้เราฟังว่า “ผมพิการมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วก็เรียนโรงเรียนคนพิการ เป็นคนหนองคาย แต่เนื่องจากต่างจังหวัดมันไม่มีโรงเรียนคนพิการ ผมเลยต้องเข้ามาเรียนโรงเรียนคนพิการศรีสังวาลย์ที่ปากเกร็ด ตั้งแต่ ป.1จนจบ ม.3 จบแล้วผมก็ไม่ได้เรียนต่อภาคปกติ เพราะว่ามันไม่มีที่ให้ไป ก็ได้ไปเรียนภาคค่ำ สุดท้ายได้เรียนโปรแกรมเมอร์ที่อาชีวะพระมหาไถ่ ที่เป็นฝึกอาชีพเพื่อคนพิการโดยคณะพระมหาไถ่ เป็นการฝึกอาชีพเพื่อคนพิการรุ่นแรก ผมฝึกอาชีพที่นั้นพอจบก็ทำงานที่นั่นเลย เป็นครูที่นั่นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี   2530 ตอนนี้ก็ 26 ปีโดยประมาณที่อยู่ที่นั่น ตั้งแต่เป็นครูน้อย เป็นหัวหน้าแผนกคอมพิวเตอร์ เป็นครูใหญ่ แล้วก็มาทำจัดหางาน และทำมูลนิธิฯ มูลนิธิก็ดูแลภาพรวมของงานด้านคนพิการของคณะมหาไถ่ที่มีงานอยู่ที่พัทยา และหนองคาย ก็คลุกคลีงานด้านคนพิการตั้งแต่ต้น เพราะว่าคนที่ก่อตั้งคือบาทหลวง พอเราทำโรงเรียนเสร็จก็ถามว่า คือโรงเรียนนั้นต้องถือว่าประสบความสำเร็จนะ เพราะคนที่จบการศึกษาทุกคนต้องมีงานทำ เพราะฉะนั้นในวงการคนพิการถือว่าโอเค”   แรงบันดาลใจของอาจารย์ที่อยากเห็นการพัฒนาคืออะไร ก็เผชิญปัญหาด้วยตัวเอง ที่เราเห็นปัญหา คลุกคลีกับมันเราก็รู้สึกว่ามันน่าจะมีหนทางที่ดีกว่านี้ น่าจะมีโอกาสที่ดีกว่านี้บวกกับสภาพแวดล้อมมันหล่อหลอม สภาพแวดล้อมในครอบครัวก็ดี ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ ที่อาชีวะพระมหาไถ่ สภาพแวดล้อมที่ไม่ให้เราคิดถึงตัวเราเอง ให้คิดถึงคนอื่น อย่างพ่อก็เป็นแบบอย่างของคนที่ทุ่มเทกับการทำงานเพื่อพัฒนางาน เพื่อช่วยเหลือคนอื่น อย่างการที่โรงเรียนของเราอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของสมเด็จย่า พระจริยวัตรของพระองค์ท่าน คำสอนของท่านมันถูกแทรกซึมเข้ามาในชีวิตโดยที่เราไม่รู้ตัวบวกกับสิ่งที่เราเห็นในความไม่เป็นธรรม แม้แต่เราอยู่ในโรงเรียนบางทีมันก็มีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น ซึ่งความไม่เป็นธรรมนั้นมันไม่ใช่เพราะใครอยากจะสร้างความไม่เป็นธรรม แต่มันเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ หรือมันเป็นข้อจำกัด อย่างเช่น คนพิการก็จะมีคนที่นั่งรถเข็นเหมือนผม คนที่เดินได้ แน่นอนคนที่เดินได้ก็มีโอกาสมากกว่าคนที่นั่งรถเข็น เช่นถ้ามีกิจกรรม จะเอาให้ง่ายก็เอาคนที่เดินได้ไป ให้คนที่นั่งรถเข็นไว้ทีหลังอย่างนี้เป็นต้น ก็คือความไม่เป็นธรรม แต่ถ้าถามผมนั่งรถเข็นพอช่วยเหลือตัวเองได้กับอีกคนหนึ่งนั่งรถเข็นแต่ต้องมีคนช่วยเข็น ช่วยป้อนข้าว คนกลุ่มนั้นก็ยิ่งแย่กว่าเรา ถามว่าใครจะดูแล ใครจะเป็นปากเป็นเสียงให้กับเขา เพราะฉะนั้นถามว่าทำไมถึงทำ ก็เพราะสภาพแวดล้อม และสิ่งที่เราเห็นมากกว่า ปัจจุบันของประเทศไทยมีเส้นทางที่เอื้อให้คนพิการมากน้อยแค่ไหน ถ้าพูดถึงการคมนาคม คงต้องมองเรื่องของคนพิการเป็นกลุ่มๆ คนพิการตามสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติคนพิการทั้งหมดประมาณล้านแปดล้านเก้า แต่ที่มีบัตรคนพิการนั้นมีประมาณล้านสี่เกือบล้านห้า ครึ่งหนึ่งเป็นคนพิการด้านร่างกาย หมายความว่าใช้ Wheelchair แขนขาดขาขาด นอกนั้นก็จะเป็นคนพิการหูหนวกประมาณสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ตาบอดประมาณ 12 – 15 เปอร์เซ็นต์และคนพิการอื่นๆ ในเรื่องการเดินทางนั้นที่ลำบากที่สุดคือคนที่พิการทางด้านร่างกาย เพราะว่าไม่สามารถใช้บริการสาธารณะได้โดยสะดวกโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ใช้ Wheelchair ต้องบอกว่าไม่สะดวกเลย จริงๆ ที่เห็นว่ามีหลายฝ่ายเริ่มให้ความสนใจคือปี 2538-2539 เป็นการให้ความสนใจเพราะถูกบังคับให้สนใจ ก็เมื่อกรุงเทพจะมีรถไฟลอยฟ้า ตอนนั้นมี 23 สถานี แต่ไม่มีการอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการเลย เราก็ได้ออกมารณรงค์ในเรื่องนี้ ในช่วงที่มีการณรงค์เราพบว่าสังคม และหน่วยงานอื่นก็ให้ความสนใจ ยกตัวอย่างเช่น ตอนนั้นทำรถลอยฟ้าก็ทำรถใต้ดินด้วย ทางใต้ดินก็สนใจ และตระหนักถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ แต่ถามว่าทำแล้วใช้งานได้จริงไหม ในเชิงระบบไม่สามารถใช้งานได้จริง อย่างเช่น รถไฟลอยฟ้ามีทั้งหมด 23 สถานี แต่มีลิฟต์สำหรับคนพิการแค่ 5 สถานี และ 5 สถานีนี้อย่างอ่อนนุชนั้นมีขาเดียว คือมีฝั่งเดียวปกติมันต้องมี 2 ฝั่งนะขาไปกับขากลับ ก็ยังไม่สมบูรณ์ หรือรถไฟใต้ดินอย่างที่บอกว่าสนใจ แต่เวลาทำจริงๆ นั้นก็เรียกว่าไม่สมบูรณ์ รถไฟฟ้าใต้ดินมีทั้งหมด 18 สถานี บางสถานีก็มี 2 มี 3 Exit มากสุดก็ 5 แต่รวมทั้ง 18 สถานีมีทั้งหมด 60 Exit มี Wheelchair ไปได้แค่ 31  Exit ยกตัวอย่างเช่น สถานีลาดพร้าวมี 4 ทางเข้าออก แต่ Wheelchair ไปได้แค่ทางเดียว เพราะฉะนั้นพูดถึงการใช้ระบบขนส่งรถไฟฟ้าใต้ดินในชีวิตประจำวัน มันเป็นไปไม่ได้ สมมติพักอาศัยอยู่ในฝั่งที่มีลิฟต์ เราก็ขึ้นลิฟต์ไปขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินไปทำงาน ขากลับก็กลับมาไม่ได้ ขากลับต้องไปโบกแท็กซี่เพื่อจะฝ่าจราจรกลับรถไปอีกฝั่งหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพ รถไฟลอยฟ้ายังมีปัญหา รถใต้ดินมีปัญหา ส่วนต่อขยายของ BTS อันนี้โอเค ส่วนต่อขยายทั้งหมดมีการติดตั้งลิฟต์ทั้ง 2 ฝั่ง แต่อาจมีปัญหาบ้างเรื่องของสภาพแวดล้อม เรื่องฟุตบาท ทางเท้า แต่ กทม.เองก็มีนโยบายที่จะติดตั้งลิฟต์ครบทุกสถานี บอกว่าจะทำครบตั้งแต่ปี 55 เราก็ตามแล้วตามอีกก็ยังไม่ครบ ทราบว่ากำลังดำเนินการ ส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าใต้ดินมีปัญหาอยู่บ้างบางสถานีที่ยังใช้คอนเซ็ปต์การออกแบบเหมือนเดิม เราก็พยายามเจรจา มีการปรับแก้ไปบ้างแต่ก็ยังไม่ครบถ้วน มี Airport Link (Airport Rail Link) ในเชิงระบบถือว่าโอเคแต่ว่าในการให้บริการนั้นยังมีปัญหา เช่น ระดับระหว่างแพลตฟอร์มมันห่างกันมาก มันอันตราย จะต้องมีระบบในการให้บริการที่เสริมเข้าไป อย่างมี Fiber เป็นสะพานเชื่อมระหว่างแพลตฟอร์มกับตัวรถเวลาคนพิการหรือคนที่ใช้ Wheelchair ไฟฟ้าใช้บริการจะต้องมีสะพานเชื่อมจะได้ไม่เกิดอันตราย เป็นต้น รถเมล์ไม่มีทาง ศูนย์เลย ใช้ไม่ได้ เรือก็ศูนย์ รถไฟระหว่างเมืองเพิ่งจะมีเป็นโบกี้นำร่อง แต่ให้บริการไม่ได้จริง เพราะว่าเป็นขบวนระหว่างกรุงเทพฯ – หนองคาย, กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ อยู่ในขบวนรถด่วนปรับอากาศชั้น 2 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง ถ้าจะไปเลือกชั้น 3 หรือขบวนอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นไปตามเวลาอีกก็ยังไม่สะดวก แต่เนื่องจากช่วงนี้ตกรางบ่อย ก็รอให้หายตกรางก่อนแล้วค่อยว่ากัน (555) อันนี้รถไฟ  ยังมีปัญหา รถ บขส. ก็เป็นทางเลือกที่ดีอีกทางเลือกหนึ่งแต่ไม่มีระบบบริการ มีเพียงการช่วยด้วยความเป็นคนไทย ด้วยความมีมนุษยธรรม ก็มีการช่วยตามสมควร แต่โดยระบบแล้วนั้นยังไม่เอื้อทั้งระบบ เครื่องบินถือว่าดีที่สุดแต่มันแพงยกเว้น Low Cost นะ ก็ยังไม่สามารถจะเอื้ออำนวยความสะดวกได้ และเวลาจองตั๋วมีการถูกปฏิเสธ เวลาไปใช้บริการ ไปเช็คอินมีการถูกปฏิเสธให้ความช่วยเหลือถามว่าเส้นทางหรือการเดินทางของคนพิการไม่ว่าจะเป็นทางถนน ทางน้ำ ทางอากาศ ทางรางยังมีปัญหา คนพิการจึงเดินทางไปตามสภาพ คือเจอปัญหาอะไรก็แก้ไปตามสภาพ ไม่ได้ขึ้นเครื่องก็โวยวายไป ไปขึ้นรถไฟจำเป็นต้องคลานขึ้นก็คลานขึ้น มีเพื่อนอุ้มขึ้นก็อุ้มขึ้น เป็นแบบนี้ชีวิตก็ลำบาก เพราะฉะนั้นชีวิตที่ลำบากนั้นหลายๆ คนก็เลือกที่จะไม่ออกมาสู่สังคม ไม่สามารถออกไปทำงานได้ ไม่สามารถไปเรียนหนังสือได้ สุดท้ายก็ต้องกลับไปอยู่บ้านที่ชุมชน ที่ผ่านมารัฐมีนโยบายที่เอื้อประโยชน์ในเรื่องคมนาคมต่อคนพิการแค่ไหน ถามว่ารัฐบาลสนใจไหม ก็ดูเหมือนจะสนใจนะตั้งแต่ปี 38 มีคนเริ่มให้ความสนใจ หลังจากนั้นก็มีตั้งคณะกรรมการอะไรขึ้นมาต่างๆ นานา แต่ภาคปฏิบัติจริงๆ นั้นน้อยมากๆ มีเฉพาะการปรับปรุงพวกอาคาร สถานที่ของสถานีขนส่ง สถานีรถไฟ บขส. ปรับปรุงไปทำไมเดินทางไม่ได้ แต่ที่ต้องทำเพราะมันมีกฎหมายว่าด้วยเรื่องอาคาร สถานที่ อันนั้นก็ถูกไฟลท์บังคับตรงนั้น แต่ถามว่ารัฐบาลให้ความสนใจเป็นจริงเป็นจังไหม ไม่มีเลย เพิ่งมีสมัยรัฐบาลนี้  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มีการทำรถไฟเป็นโบกี้นำร่อง ก็ทำเสร็จแล้ว ทดลองวิ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้เดินรถเป็นประจำ พอท่านดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาเป็นว่าการก็เลยเกิดโครงการนำร่องขึ้นมาเป็น “สะดวก ปลอดภัย คมนาคมยุคใหม่ ใส่ใจคนพิการ” แต่ที่มันเกิดดอกออกผลเยอะนั้นต้องยกให้เป็นเครดิตของเลขารัฐมนตรี คือท่านฐิติมา  ฉายแสง ที่ดำเนินเรื่องนี้ตามนโยบายของรัฐมนตรีอย่างจริงจัง แต่มันก็เป็นเพียงโครงการนำร่องนะ ระยะเวลาสั้นๆ โดยเลือกปรับปรุงบริการในเรื่อง 4 หมวด คือ รถทางบก คือทางถนน ไปปรับปรุง บขส. เลือกที่สถานีจตุจักรหรือว่าหมอชิต 2 และเลือก ขสมก. ไปปรับปรุงเขตการเดินรถที่ 8 ก็ปรับสภาพแวดล้อมภายใน อาคาร สถานที่ เอารถต้นแบบในแต่ละแบบนั้นมาดูว่าถ้ามีการใช้ปรับปรุงรถเมล์จะมีต้นแบบอะไรบ้าง ระบบทางน้ำก็ไปปรับปรุงท่าเรือสาทร ซึ่งเป็นท่าเรือท่องเที่ยวและจะมีการคุยกับผู้เดินเรือในการที่จะอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ ทางอากาศเลือกสนามบินดอนเมืองเป็นโครงการนำร่อง ส่วนทางรางเลือกหัวลำโพงและรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีลาดพร้าว ซึ่งโครงการนำร่องมันสะท้อนออกมาว่าการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทำอย่างไร ปัญหาอุปสรรคคืออะไร วิธีการให้บริการคนพิการในระบบขนส่งมวลชน บขส. เองก็มีนโยบายการปรับปรุงสถานีรถโดยสารอีก 8 แห่งทั่วประเทศและจะปรับปรุงบริการ คือวิธีการในการช่วยคนพิการ จริงๆ เราเสนอไปหลายอย่างนะ เช่น การจองตั๋ว การล็อกที่นั่งเอาไว้ให้คนพิการได้นั่งโดยไม่ต้องลากถูกันไปกลางรถ ท้ายรถ เพราะที่ผ่านมานั้นการจองตั๋วนั้นถ้าเราไม่ได้ที่นั่งด้านหน้า เวลาขึ้นไปจริงๆ เราก็ต้องไปขอผู้โดยสาร เขาก็ต้องย้ายให้ ซึ่งมันก็ได้ แต่ความรู้สึกเราก็ไม่ได้อยากเป็นภาระคนที่เขาชอบนั่งหน้าด้วยวิถีการเดินทางของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เขาก็จำเป็นต้องย้าย ซึ่งเวลาย้ายบางทีก็ย้ายไปไกล หรือถูกแยกกัน เขาจองมาเป็นคู่แต่เราไปคนเดียวก็ถูกแยกกันคนหนึ่งซึ่งมันเป็นปัญหา เลยเสนอว่ามันน่าจะมีระบบการจองตั๋ว การล็อกที่นั่ง สถานีสนามบินก็มีการขยายผลซึ่งก็มี สนามบินภูเก็ต เชียงใหม่ สงขลา นี่ก็ทำต่อเนื่องนะ มีการอบรมให้กับพนักงานการท่าให้กับแอร์เอเชีย   การรณรงค์เรื่องบริการรถเมล์ทำอย่างไรบ้าง เราตามตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายที่จะออกรถเมล์ใหม่ เราก็ตามตลอดว่ารถใหม่จะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการสามารถจะเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ทุกคัน ทุกคนต้องสามารถใช้ประโยชน์ได้ ไม่เอาสัดส่วน ไม่เอา 70 – 80 เปอร์เซ็นต์หรือแม้แต่ 50 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ใช่ รถโดยสารในกรุงเทพฯนั้นมีประมาณ 16,000 คัน ของ ขสมก. ก็ประมาณเกือบ 4,000 คัน นอกนั้นจะเป็นรถร่วม รถตู้ ถ้าสมมติ ขสมก. บอกว่าเอาไปครึ่งหนึ่ง ครึ่งหนึ่งแสดงว่ามีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของทั้งระบบ สมมติว่าเขาออกรถทุก 15 นาที คนพิการต้องรอ 150 นาทีรถคันต่อมาถึงจะมา เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันมันใช้ไม่ได้ แล้ว ขสมก.เป็นบริการของรัฐฯ ถ้าบริการของรัฐไม่เริ่ม ไม่ทำ คุณจะไปบอกให้รถร่วมทำได้อย่างไร เลยต้องบอกว่า ขสมก.ต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้า 100 เปอร์เซ็นต์เมื่อไรค่อยเคลื่อนไปรถร่วม โอเคเราไม่แตะรถเก่า แต่รถใหม่ที่ออกมาคุณจะต้องให้ความสะดวกสำหรับคนพิการ เราก็ติดตามโดยการทำหนังสือ พบรัฐมนตรี เข้าพบ ผอ.ขสมก.ตามลำดับแล้วก็ทำงานเชื่อมโยงกับสมาคมคนพิการและหน่วยงานต่างที่เขาสนใจในประเด็นนี้ เพราะฉะนั้นการขับเคลื่อนนั้นเราไม่ได้ขับเคลื่อนในนามมหาไถ่หรือหน่วยใดหน่วยหนึ่ง แต่เราขับเคลื่อนร่วมกัน ใครที่มีอุดมการณ์ มีแนวทางตรงกัน เพราะบางคนบางหน่วยงานเขาก็ขับเคลื่อนโดยใช้นโยบาย ใช้งานวิชาการ ประเด็นสำคัญก็คือรถเมล์ทุกคนต้องขึ้นได้ทุกคัน เราก็เอาประเด็นนี้เป็นตัวชูโรง เราก็รณรงค์มา ซึ่ง ณ นาทีนี้ทั้งรัฐบาลและ ขสมก.นั้นยอมที่จะให้รถเมล์ทุกคัน ทุกคนสามารถขึ้นได้ แต่ยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ งานของเราจะจบก็ต่อเมื่อรถเมล์คันสุดท้ายตามโครงการนี้ออกสู่ท้องถนนอันนี้ถึงจะจบ จบโครงการนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจบแล้วเรื่องของรถเมล์ นั่นหมายความว่า Next Step เราจะทำอย่างไรกับรถร่วม เรื่องฟุตบาท ทางเท้า เรื่องโครงข่ายที่จะโยงใยกันต่อ ซึ่งเราต้องทำงานต่อในเรื่องเหล่านี้   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 153 นโยบายเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์เป็นจริงได้แค่ไหน กับ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด

ลมหนาวพัดมาแบบนี้ เช้าๆ แดดอาจจะพออุ่น แต่สายๆ  เมื่อลมหนาวจางมีแสงแดดเข้าแทนที่ แดดแรงแบบนี้ทำให้คิดถึงพลังงานโซล่าร์เซลล์ พลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นมิตรทั้งกับสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นพลังงานสะอาด แถมบ้านเราก็มีแดดมากมายเหลือเฟือ ล่าสุดกระทรวงพลังงาน ส่งเสริมให้มีการติดตั้งโซล่าร์เซลล์และเปิดรับซื้อไฟฟ้า ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคไฟฟ้าที่คิดจะผันตัวเองไปเป็นผู้ขายไฟฟ้ากันอย่างมากมาย   ภาพฝันกับความเป็นจริงของเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นอย่างไร ฉลาดซื้อจึงอาสาพาไปหาความรู้ต่อกับ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   ทำอย่างไรเราจึงจะลดค่าไฟฟ้าโดยหันมาพึ่งพาพลังงานทดแทนอย่างโซล่าร์เซลล์ ไม่ คือทำอย่างไรเราจึงจะลดการพึ่งพาค่าใช้จ่ายของเราจากที่มันพึ่งพาหลวงนะใช้คำกว้างๆ แบบนี้ หรือเราต้องจ่ายให้การไฟฟ้าเราจะลดลงได้อย่างไร อันนี้คือแนวคำถามมันมาแนวนี้ แต่แนวที่หลวงให้การสนับสนุนอยู่นั้นเป็นคนละคำถามเลยมันกลายเป็นว่าจะขายไฟให้หลวงไหม เพราะฉะนั้นระบบ Solar cell ปัจจุบันนั้น มันคือระบบที่ผลิตได้เท่าไรก็ขายให้หลวงไปหมด ขายให้หลวงไปหมดแล้วได้เท่าไรก็เป็นเงินกลับมาที่เราแล้วเราจะซื้อไฟเท่าไรก็เป็นเรื่องของเรามันไม่ได้สัมพันธ์กันโดยตรงกับไฟที่เราขายให้หลวงนึกอออกไหมครับ เพราะฉะนั้นสมมติบ้านผมไม่มีใครใช้ไฟเลย ผมจะติด Solar cell ได้ไหม ผมก็ติดได้เพราะผมติดเพื่อหารายได้ มันเป็นระบบ Solar cell เพื่อหารายได้ ไม่ใช่ Solar cell เพื่อลดรายจ่ายเพราะฉะนั้นมันเลยกลายเป็นคนละโจทย์กันเลย   สมมติว่าเราไม่มีแอร์สักเครื่อง เราใช้ไฟน้อยมากแต่ถ้าเราอยากลงทุน อันที่จริงมันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือไม่ มันเลยไม่ได้ตั้งคำถามที่ว่าเป็นการประหยัดที่คุ้มค่าหรือไม่ มันเลยกลายเป็นคนละโจทย์กัน เพราะรัฐบาลไม่ให้การสนับสนุนผู้ที่ซื้อ Solar cell เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่าย เขาสนใจคนขายให้เขามากกว่า สมมติคุณไปซื้อ Solar cell มาติดนะ แล้วปรากฏว่าคุณไม่ต้องใช้ไฟหลวงเลยสักหน่วยเดียว โอเคมันเป็นเรื่องของคุณ แต่ที่เขาช่วยอยู่นั้นคือคุณได้มาเท่าไรคุณขายให้หลวงคุณได้ 7 บาทต่อหน่วย เสร็จเรียบร้อยเวลาคุณซื้อไฟหลวงก็แล้วแต่ว่าค่าไฟของการไฟฟ้าในขณะนั้นมันราคาเท่าไร ปัจจุบันก็ 3.7 บาทต่อหน่วย เพราะฉะนั้นมันกลายเป็นคนละระบบความคิด มันเลยกลายเป็นว่าบ้านนี้มีคนอยู่เท่านี้ๆ มันไม่เกี่ยวนะ คุณมีเงินสัก 2 แสนไหมแล้วคุณอาจจะได้เงินสักประมาณ 6 หมื่นคุณจะขายไหม รัฐบาลเขาอยากจะได้รูปแบบหน่อย เขาต้องการติดบนหลังคา ความจริงคือตามคอนเซ็ปวางบนพื้นก็ได้ แต่รัฐบาลอยากได้ภาพเขาก็เลยบอกว่าต้องติดบนหลังคา โจทย์มันขึ้นอยู่กับ 2 อย่าง หนึ่งคือมีเงินลงทุน อันที่สองคือมีหลังคาใหญ่แค่นั้นเอง ถ้าเกิดคุณมีหลังคาใหญ่คุณก็ติดไป ถ้าคุณมีเงินลงทุนคุณก็ติดไป โดยที่ไม่ต้องเกี่ยวกับเรื่องการใช้ไฟเลย   ทีนี้ถ้าเกิดถามว่าจะให้มันเกี่ยวมันก็มี 2 ประเด็นนะ มันเกี่ยวไม่ได้โดยตรงความหมายคือว่า เราก็ทำบัญชีของเราเองว่าเราเคยใช้เท่าไร จริงๆ มันใช้เท่าเดิมนะแต่ว่าเราขายได้เท่าไรแต่ที่ไม่ตรงคือถ้ามองเป็นตัวเงินตอนที่เราขายไปเราจะได้เงินมากกว่าตอนที่เราซื้อกลับมาซึ่งมันก็ชักแปลกๆ นะแต่เนื่องจากรัฐบาลให้การสนับสนุน เพราะฉะนั้นมองในแง่นี้มันไม่ใช่คำถาม คุณขายได้เท่าไรคุณขายไปเลยโดยไม่ต้องสนใจว่าใช้ไฟเท่าไร เพราะคุณทำขึ้นมาเพื่อต้องการจะขายคุณก็ขายให้ได้มากที่สุด ทำเท่าที่เงินคุณมี เท่าที่หลังคาคุณมีแล้วคุณก็ผลิตไปเลย สุดท้ายจะซื้อมาเท่าไรก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็ตอบได้ว่ามันเกี่ยวแต่ไม่โดยตรง อันนี้ต้องปรึกษากันแล้วว่าเราจะเขียนโพลไปทางไหน คือถ้าเขียนไปทางเดิมก็ได้แต่กลัวว่าคล้ายๆ กึ่งๆ ไม่จริงที่ถ้าคุณมีอย่างนี้แล้วคุณไปลงทุน Solar cell ก็ไม่ได้ถ้าพูดแบบสุดขั้วเลยนะถ้าคุณมีเงิน 2 แสนแล้วไปเช่าหลังคาใครก็ได้คุณก็ลงทุนได้   อย่างที่อาจารย์เล่าว่ามันไม่ใช่เหมือนภาพฝันที่บางคนคิด อย่างเช่นร้านกาแฟที่เชียงรายคือเขาไม่มีไฟฟ้าใช้เขาก็มีแผง Solar cell 8 แผงซึ่งใช้ได้จริงๆ แต่เขาก็ไม่ได้มีอะไรเยอะ มีหลอดไฟ เครื่องชงกาแฟ พัดลม ซึ่งเขาก็ไม่ต้องจ่ายค่าไฟเลยสักบาทเดียว ถ้าพูดในระบบนี้นะกลายเป็นว่าเขาไม่ควรเอาไฟมาใช้ เขาควรขายเข้าระบบเพราะว่าเขาจะได้เงินเพิ่มอีก คือระบบของรัฐบาลมันพิสดารนะ กลายเป็นว่าวิธีคิดพึ่งพาตนเองเป็นเรื่องรองจากวิธีคิดที่หากำไร ซึ่งผมไม่ได้ว่าวิธีวิธีการหากำไรของรัฐฯ นี่มันเสียหายนะ ผมเสียดายวิธีคิดของคนที่จะพึ่งพาตนเอง รัฐบาลเขาไม่สนใจมันก็เหมือนเขาซื้อของ เขามีงบประมาณเขาก็ซื้อของกันไป จะเป็นใคร จะคิดอย่างไร เขาไม่สนใจขอให้จ่ายไฟเข้ามาสู่ระบบเขาได้ก็ได้   อย่างนี้ก็เหมือนกับไปเอื้อประโยชน์กับการขายแผง มันก็เป็นผลจากข้อเรียกร้องของเรานะ คือแต่ก่อนเขาทำแบบนี้มาประมาณ 4-5 ปีแล้ว แต่เขาเน้นเฉพาะรายใหญ่คนก็ด่ากันมากว่าทำไมไม่สนับสนุนบ้านเรือน เขาก็เลยมาเน้นบ้านเรือน แต่เน้นโดยใช้ระบบเดียวกับรายใหญ่โดยไม่สนใจว่าบ้านเรือนจะคิดอย่างไร มันก็เลยกลายเป็นว่าคุณจะติด Solar cell เพื่อจะขายไหม จริงๆ เราก็ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับรายใหญ่เพียงแต่ว่าเราปฏิบัติในสากลที่ย่อลงมาเป็นหลังคาบ้านเราเท่านั้นเองเลยไม่ได้เป็นเหมือนร้านกาแฟที่พูดถึง ประเด็นต่อมาคือแล้วมันเอื้อกับการทำแผงไหม คือเรื่องที่รัฐบาลทำอยู่ที่ต่างประเทศเขาทำอยู่นะ แต่ฝั่งที่เขาทำคือผู้ที่ทำขายไอ้ที่เราคิดว่าทำขายเราก็ทำขายแต่ต่างประเทศเขามีการสนับสนุน อีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่ทำขายเขาก็สนับสนุนด้วย แต่ของเราประเภทที่สองจะไม่มี ต้องเคลียร์ก่อนว่าการสนับสนุนแบบนี้ไม่ใช่การสนับสนุนที่ผิดแต่ผมคิดว่าคนมีวิธีการจะช่วยเหลือ 2 วิธี วิธีที่ 1 คือลดของเราเอง อันที่ 2 คือขายไปเลย เพราะฉะนั้นควรช่วยทั้ง 2 วิธีแต่รัฐบาลเลือกเฉพาะเป็นการลงทุนขายเข้าระบบเท่านั้น อันต่อมาคือเรากำหนดขอบเขตของวันผมจำไม่ได้ว่าวันที่เท่าไรคือรับไม่เกิน 1 เดือนเองว่าให้มาสมัคร อันนี้คุณทำไปเพื่ออะไร ต่างประเทศไม่มีนะที่เขารับซื้อที่ 6.96 เขาก็จะประกาศเลยต่อจากนี้เป็นต้นไปถึงปีหน้าและปีถัดไป ถ้าคุณมาช้าก็ช่วยไม่ได้นะเหลือ 6.80 เขาก็ประกาศล่วงหน้าไปเลย เขาประกาศล่วงหน้าหลายปีคุณก็เลือกเอาเลยว่าคุณจะเข้าปีไหนแล้วแต่กำลังของคุณ แต่ว่าของเรารับซื้อแค่นี้ให้มาในเวลาเท่านี้ก็คืออยากได้ไหม 6.96 ถ้าอยากได้ให้ไปหาบริษัทที่ทำแผง บริษัทที่ทำแผงเค้าเป็นคนขายของเขาไม่สนใจหรอกว่าตอนนี้ราคาเท่าไร เขาก็ขึ้นราคาก่อนเพราะว่ามันขึ้นได้เต็มที่ แผงมันราคาเท่านี้คนที่ติดมันจะได้ราคาเท่าไรเขาก็ขึ้นราคาของเขาขึ้นมาเพราว่าทุกคนต้องรีบแล้ว เวลา 1 เดือนทุกคนรีบกันหัวขวิดเลย ผมคิดว่าวิธีนี้มันไม่ถูกแนวคิดที่ว่ามันต้องภายในเวลาเท่านี้ในที่สุดปรากฏว่าคนไทยด้วยความที่เราไม่คุ้นเคยคนจำนวนไม่น้อยก็เลยไม่เอาก็ได้ คือเงินมันก็ไม่ได้ดีขนาดว่ารถคันแรกที่ถ้าเราไม่เอาเราจะเสียสิทธิ คนไม่รู้สึกอย่างนั้นเลยเขาก็เลยไม่ได้บ้านตามเป้าไม่รู้เลยว่าเขาจะเปิดรอบใหม่เมื่อไร ปัญหาของเมืองไทยมันเป็นอย่างนี้คุณไม่จำเป็นต้องมีรอบเวลาเลยคุณเปิดไปยาวๆ ไปเลย การที่เปิดสั้นๆ แบบนี้ผมเข้าใจว่าเป็นตลาดเปิดยาวๆ ไปเลยจะรีบทำไมคุณก็เช็คบริษัทนั้น บริษัทนี้แต่นี่ไม่มีเลยทุกคนต้องรีบหัวขวิดเลย   ตอนนี้เขาขายไฟกันได้จริงใช่ไหม จริงครับเป็นนโยบายของรัฐ เขาพูดเลยในทางอ้อมว่าถ้าไม่ติดต่อบริษัทพวกนี้ทำเอกสารเองคุณอย่าหวังคือเขาไม่ได้ประกาศแบบนั้นนะแต่เป็นที่รู้กัน บริษัทที่ทำแผงเขาก็โฆษณาอย่างนั้น ลองไปทำเองได้แต่นานแน่ ผมก็เลยมีความรู้สึกว่ามันไม่ค่อยดีอย่างที่ควรจะเป็น ให้บริษัททำเอกสารให้ไม่มีปัญหาแต่อย่าล็อคเรื่องวัน ติดเรื่องวันเรื่องเดียวเพราะว่าถ้าไม่ล็อคเรื่องวันคุณก็ไปหาได้หลายบริษัท การทำเอกสารก็เหมือนบริการเสริมพอคุณล็อคเรื่องวันการทำเอกสารมันกลายเป็นเงื่อนไขทำให้คนอื่นไปทำไม่ได้ก็ต้องเข้ากับบริษัทไป เพราะฉะนั้นโครงการนี้จะเห็นว่ากระแสไม่ค่อยดีเหมือนที่หวังเพราะมันเป็นปัญหาของรัฐบาลเอง   อย่างนี้เราจะแนะนำคนที่เขาจะใช้พลังงานทดแทนอย่างไรดี แนะนำนักลงทุน ถ้าลงทุนขนาดนี้จะคุ้มหรือไม่คุ้มอย่างไร สมมติถ้าเราแนะนำคนอ่านไปอย่างที่เราอยากจะให้เป็น ขั้นที่ 1 คือ สนับสนุนให้เอา Solar cell มาเพื่อลดการใช้ในครัวเรือน ถามว่าลดอย่างไรก็คือลดง่ายๆ นะ ไฟแสงสว่างโดยเฉพาะส่วนที่อยู่ไกลบ้านค่าเดินสายไฟในกรุงเทพฯ เป็นหมื่นเลยแพงมาก ถ้าเราเอาแผง Solar cell เราเดินสายเองได้เลยเพราะมันเป็นไฟกระแสตรงแล้วมันติดอิสระ อันนี้ Solar cell อันนี้หลอดแค่นี้ ถ้าเราส่งเสริมลักษณะแบบนี้จะใช้ได้นะครับ ต่อมา Solar cellสำหรับเครื่องสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำนี่กินไฟเยอะเลย ถ้าเรามี Solar cell อันหนึ่งแล้วเอาไว้ใช้ในการสูบน้ำ ปั๊มน้ำ รดน้ำต้นไม้อะไรประมาณนี้ ปัจจุบันบ้านผมถ้าต้องใช้น้ำประปามารดน้ำมันต้องใช้เครื่องสูบน้ำก็กินไฟอีก แต่ถ้าเราใช้ Solar cell เราก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องใช้ไฟฟ้าในการใช้เครื่องสูบน้ำ นี่คือสิ่งที่ทำได้ ถามว่าแล้วไอ้พวกนี้จะได้เยอะไหมคำตอบก็คือจริงๆ แล้วก็ไม่ถึงกับเยอะนะ Solar cell ที่ใช้ในบ้านเป็นเรื่องของกระแสตรงและกระแสสลับ ปัญหานี้เป็นปัญหาระดับพื้นฐานเหมือนยกตัวอย่างแบตเตอรี่มือถือเป็นกระแสตรงหรือกระแสสลับ เราใช้กระแสตรงแต่ว่าเวลาเราไปเสียบบางบ้านต้องทำออกมาเป็นบ้านกระแสตรงเหมือนกับมีมีปลั๊กอะไรที่เป็นกระแสตรงก็ต้องเป็นกระแสตรง ทีวีข้างในก็เป็นกระแสตรง คอมพิวเตอร์ข้างในก็เป็นกระแสตรง มีที่ไม่เป็นกระแสตรงก็มีตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ พัดลม ที่ไม่เป็นกระแสตรง อย่างอื่นถ้าไม่ใช่พวกเกี่ยวกับความร้อนเป็นกระแสตรงหมดเลย บ้านจะลดได้เยอะก็ต่อเมื่อเราเปลี่ยนระบบไฟฟ้าให้มันเป็นกระแสตรง แสงสว่างก็เป็นกระแสตรง เป็นกระแสสลับที่สุดท้ายเปลี่ยนตรงขั้วหลอดให้เป็นกระแสตรงถ้าเป็นหลอดไฟแบบนี้เป็นกระแสตรงหมดแล้ว ในระยะยาวต้องมีการสร้างบ้านที่มีกระแสตรงในขณะเดียวกันก็อาจมีกระแสสลับเพียงแต่ว่าเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าบางส่วนเท่านั้นเองที่เสียบกระแสสลับ ถ้าแบบนั้น Solar cell จะได้ประโยชน์เยอะเลย ถ้าเป็นระบบนี้เราก็ต้องมาแปลงอีกเหมือนเราจะเปิดทีวี บ้านเรามี Solar cell เราก็ต้องเอา Solar cell ไปแปลงเป็นกระแสสลับแล้วเอาปลั๊กไฟทีวีไปเสียบไว้มันก็เป็นกระแสสลับเข้ามาแล้ว พอมันเข้ามาก็แปลงให้เป็นกระแสตรงอีก   พวกบริษัทขายแผง Solar cell เขาก็ไม่ได้แนะนำนะว่าบ้านใหม่จะติดแผงควรต้องต่อไฟอย่างไร ไม่ต้องแนะนำเพียงแต่ว่าคุณต้องเชื่อมต่อระบบไปเลย พูดง่ายๆ คือเขาไม่ได้ทำเหมือนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำ มันเหมือนกับคุณมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาติดไว้ที่บ้านเฉยๆ แล้วคุณก็ขายไฟฟ้าเข้าระบบไปทุนที่เหลือก็ยังเป็นเหมือนเดิมทุกประการ ก่อนหน้าที่เขาจะเปิดรับซื้อมีบ้านที่เขาติดในกรณีอย่างนั้นคือเขาติดเพื่อจะลดการใช้ของเขาแต่มีบางบ้านที่เขาติดเพราะไม่ได้รับการสนับสนุนมันก็ลงทุนแพง อย่างมูลนิธิฯ ติดไปแล้วก็ซื้อไฟน้อยลงก็มีจำนวนหนึ่งที่เขาใช้อยู่ พอเขารับซื้อแบบนี้ทุกอย่างก็เปลี่ยนหมดคือเราไม่ต้องสนใจแล้วว่าเราจะใช้อะไร เราก็ขายไปส่วนลดของเราก็ลดรายจ่ายไม่เกี่ยวกับรายได้ที่อยู่บนหลังคา คนที่จะติดได้ก็ต้องมีเงินนอนรอ 2 แสนโดยประมาณ 2 แสนนี้จริงๆ แล้วถ้าเทียบกับการใช้ไฟฟ้าในบ้านก็ประมาณนั้นเหมือนกัน ถ้าสมมติเราทำเพื่อที่จะใช้เองในบ้านประมาณ 2 แสนนี้ก็ถือว่าน่าจะพอได้เพราะก็ต้องทำเชื่อมกับระบบอีกอยู่ดี เพราะบางช่วงที่ไม่มีแสงแดดเราก็ต้องใช้จากระบบ ถ้าช่วงที่แดดเยอะเกินแต่เราไม่ได้อยู่บ้านเราก็ขายให้กับระบบเพราะฉะนั้นในช่วง 2 แสนก็ประมาณ 3 กิโลวัตต์นั้นก็เพียงพอสำหรับบ้านซึ่งไม่ได้ใช้แอร์ ถ้าใช้แอร์ก็ต้องดูว่าเครื่องใหญ่แค่ไหน มีกี่เครื่อง จำนวนคนไม่สำคัญเท่ากับแอร์นะครับเพราะว่าแอร์ส่วนใหญ่กินไฟอย่างน้อยเกือบครึ่งหนึ่งของไฟฟ้าในบ้าน เพราะฉะนั้นถ้ามีแอร์ปุ๊บโจทย์ก็จะเป็นอีกโจทย์หนึ่งเลย แอร์นั้นจริงๆแล้ว 2 กิโลวัตต์ก็น่าจะพอ ส่วนใหญ่ตอนนี้ที่เขาติดๆกันก็ประมาณ 3 กิโลวัตต์แต่มันมักไม่ใช่เป็นโจทย์ในเรื่องการใช้ แต่มันเป็นโจทย์ว่า 2 แสนคนชนชั้นกลางที่รายได้ดีหน่อยก็พอจะลงทุนแต่ถ้าจะลงทุน 4 แสน 5 แสนก็ได้หมด   ส่วนถ้าเป็นต่างจังหวัดที่เราทำงานด้วยที่เป็นเกษตรกรจริงๆ นั้นเขาใช้เยอะก็คือเครื่องสูบน้ำเพื่อการเกษตร แต่การสูบน้ำเพื่อการเกษตรกับการสูบน้ำของคนกรุงเทพฯมันต่างกันนะ การสูบน้ำเพื่อการเกษตรมันไม่ใช้กำลังเยอะเขาต้องการแค่ปั๊มยกขึ้นไปที่สูงไปเก็บไว้ พอตอนเช้ากับตอนเย็นที่เขาเปิดน้ำเขาก็จะให้น้ำมันไหลลงมาเพื่อให้มันมีแรงดันไปตามระบบชลประทานของเขาจึงง่ายมากที่จะทำ Solar cell ที่ไม่ต้องใช้กำลังที่ไม่ต้องใช้กำลัง Solar cell เยอะก็เหมือนกับไม่ต้องลงทุนเยอะ อีกอันหนึ่งที่ผมคิดว่าจำเป็นโดยปริยายคืออนาคตในสถานะเครื่องมือช่วยเรื่องของภัยพิบัติก็น่าจะใช้อันนี้ได้เพียงแต่ว่าเรายังไม่มีเซ็ตสำเร็จรูปว่าบ้าน 1 หลังชาร์จแบตฯ ได้อะไรประมาณนี้ อยู่ที่ถูกน้ำท่วมมันควรจะเป็นอย่างไร เครื่องปั๊มน้ำบ้านถ้าขายพ่วงแบบนี้แม้จะเป็นการขายเข้าระบบ แต่ถ้ามีตรงนี้ได้ถ้าถึงวันนั้นคุณจะขายเข้าระบบทำไม ไฟจากระบบไม่จ่ายมาคุณก็ไม่ต้องขายเข้าระบบคุณก็ตัดใช้ในบ้านคุณ ในวันที่น้ำท่วมถ้าคุณยังขายเข้าระบบแล้วระบบเขากลัวน้ำท่วมเกิดตัดไฟหรือระบบเกิดล่มคุณก็ต้องตัดไฟที่คุณขายให้มันมาลงที่บ้าน ทีนี้เรามีอุปกรณ์เสริมถ้าเราทำลักษณะแบบนี้คนที่อยู่บ้านก็จะใช้ประโยชน์ได้ เราไม่ได้เอาความคิดชุดนี้ไปร่วมด้วยเราก็จะใช้ความคิดว่าขายเพื่อไปเอาเงินมาอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วการมี Solar cell มันแปลว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมันจะอย่างนี้ได้ แต่คุณต้องแนะนำอย่างนี้ติดต่อกับเร้าเตอร์ได้เลย ถ้าเกิดเหตุอะไรเกิดขึ้นคุณก็สั่งอินเตอร์เน็ตได้เลยโดยที่คุณไม่ต้องไปพึ่งหรือมันมีอะไรสักอย่าง ผมไม่ได้เชี่ยวชาญการสื่อสารนะแต่ว่าคุณจะสื่อสารได้แน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าคุณมีแผง Solar cell แบบนี้เขาเรียกคล้ายๆตัว Hub ของ Wifi  ถ้าคุณขายคอนเซ็ปต์แบบนี้มันจะช่วยการใช้มันไปได้ดีกว่าการมองเรื่องการลงทุนอย่างเดียว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point